ชญาภา: โพสต์เฟซบุ๊กข่าวลือปฏิวัติซ้อน

อัปเดตล่าสุด: 14/01/2560

ผู้ต้องหา

ชญาภา

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

สารบัญ

ชญาภา อายุ 48 ปี เป็นพนักงานบัญชีของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า จะมีการปฏิวัติซ้อนและเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตำรวจและทหารบุกเข้าจับกุมที่บ้านเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 ระหว่างการพิจารณาคดีชญาภาไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

อัยการฟ้องชญาภา เป็นความผิด 5 กรรม ต่อมาศาลทหารพิพากษาให้จำคุก 14 ปี 60 เดือน ลดเหลือ 7 ปี 30 เดือน ชญาภาถูกพาตัวไปที่ศาลและให้การรับสารภาพโดยไม่แจ้งกำหนดนัดล่วงหน้าและไม่มีทนายความอยู่ร่วมด้วย

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ชญาภา อายุ 48 ปี  อาชีพเป็นพนักงานบัญชีของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แต่งงานมีบุตรชาย 1 คน อายุ 25 ปี สามีปัจจุบันแยกกันอยู่ เป็นโรคความดันโลหิตสูง, ข้อเข่าเสื่อม, และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำฟ้องของอัยการศาลทหารกรุงเทพ ชญาภา ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดหลายกรรม ตามกฎหมายหลายบท ดังนี้
 
1) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 จำเลยโพสต์ภาพลงบนเฟซบุ๊กชื่อบัญชี Chanisa Boonyajinda (นินจารักสีแดง) เป็นภาพรถถังและรถหุ้มเกราะ พร้อมข้อความประกอบ ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จที่อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์
 
2) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 จำเลยโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กชื่อบัญชี Chanisa Boonyajinda (นินจารักสีแดง) เป็นข้อความวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน และถามความเห็นเพื่อนบนเฟซบุ๊ก โดยมีข้อความที่ตีความได้ว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา
 
3) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 จำเลยโพสต์ภาพลงบนเฟซบุ๊กชื่อบัญชี Chanisa Boonyajinda (นินจารักสีแดง) เป็นภาพรถถังและรถหุ้มเกราะ และโพสต์ข้อความประกอบทำนองว่า กำลังเคลื่อนเข้ากรุง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าการเคลื่อนกำลังพลของทหารอาจเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในกรุงเทพมหานคร หรืออาจเกิดการปฏิวัติซ้อนโค่นล้มรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และการเคลื่อนกำลังพลของทหารเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน
 
4) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2558 จำเลยโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กชื่อบัญชี Chanisa Boonyajinda (นินจารักสีแดง) เป็นข้อความมีเนื้อหาทำนองว่า มีการกดดันผบ.ทบ.ให้ทำปฏิวัติซ้อน ประชาชนอ่านแล้วย่อมเข้าใจว่าเกิดความขัดแย้งรุนแรงในหมู่นายทหารผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จ 
 
5) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2558 จำเลยโพสต์ภาพลงบนเฟซบุ๊กชื่อบัญชี Chanisa Boonyajinda (นินจารักสีแดง) เป็นภาพรถหุ้มเกราะ มีข้อความทำนองว่ารถหุ้มเกราะ 30 กว่าคันมุ่งหน้าจากบางนาไปแถวนวมินทร์ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าการเคลื่อนกำลังพลของทหารอาจเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในกรุงเทพมหานคร หรืออาจเกิดการปฏิวัติซ้อน 
 
การกระทำของจำเลยเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (2) และ (5) 
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

19 มิถุนายน 2558  มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจปอท.และทหารใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าจับกุมชญาภาที่บ้านโดยไม่มีหมายจับใดๆมาแสดง  ก่อนนำตัวไปสอบสวนที่ค่ายทหารราบ 11 และส่งให้ตำรวจในวันที่ 23 มิถุนายน โดยในตอนแรกแจ้งเพียงข้อหาปลุกปั่นยั่วยุให้เกิดความกระด้างกระเดื่องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เท่านั้น ภายหลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเฟซบุ๊กจึงแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ  และขอหมายจับจากศาลทหารในภายหลัง
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

154/2558

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

– “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 ข้อหาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในยุครัฐบาลคสช.

– ทำความเข้าใจ "โทษ 7 ปี 30 เดือน" ของชญาภา

 

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
 
19 มิถุนายน 2558  
 
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจปอท.และทหารใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าจับกุมชญาภาที่บ้านโดยไม่มีหมายจับใดๆ มาแสดง ก่อนนำตัวไปสอบสวนที่ค่ายทหารราบ 11 
 
25 มิถุนายน 2558
 
ตำรวจนำตัวชญาภามาฝากขังครั้งแรกที่ศาลทหารกรุงเทพ โดยชญาภายื่นประกันตัวแบบไม่มีคำร้องประกอบ วงเงิน 400,000 บาท แต่ศาลไม่ให้ประกัน
 
 26 มิถุนายน 2558  
 
ฝากขังผัดที่ 2 ได้เข้าพบครั้งแรก ชญาภามีอาการหวาดกลัวที่เจอทนายความ
 
 27 มิถุนายน 2558  
 
ฝากขังผัดที่ 3 ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง
 
 4 กันยายน 2558   
 
ฝากขังผัดที่ 7 ทนายได้เข้าพบและพูดคุยกับชญาภา และให้ข้อมูลว่า เจ้าตัวยังกึ่งรับกึ่งสู้ในเรื่องคดี 
 
15 ธันวาคม 2558

นัดสอบคำให้การ  

เฟซบุ๊กศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แจ้งว่า ในชั้นสอบคำให้การวันนี้(15 ธันวาคม 2558) ชญาภาถูกพาตัวมาที่ศาล โดยไม่มีทนายความหรือญาติมาด้วย และชญาภาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลงโทษจำคุก 14 ปี 60 เดือน รับสารภาพ ลดโทษจำคุก เหลือ 7 ปี 30 เดือน
 
หลังจากนั้นช่วงบ่ายทนายความยื่นคำร้องขอคัดค้านกระบวนการพิจารณาที่มิชอบด้วยกฎหมาย เพราะเห็นว่าศาลไม่ได้แจ้งหมายนัดกับทนายความทำให้ชญาภาเสียสิทธิในการมีทนายความแก้ต่าง หรือปรึกษาทนายความ

ทนายความยื่นคำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณา ที่มีองค์คณะตุลาการ คือ น.อ.สฤษดิ์ อนันต์วิเชียร์ ร.น. น.อ.วีระยุทธ โรจรุจิพงษ์ ร.น. และ พ.อ.ชนะณรงค์ ทรงวรวิทย์ โดยอ้างว่า กระบวนพิจารณาของศาลวันนี้ต้องมีทนายความร่วมด้วย

และที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยไม่มีทนายความไม่ชอบด้วยมาตรา 173 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ระบุว่า คดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลแต่งตั้งทนายความให้

นอกจากนี้ ชญาภายังไม่ได้รับหมายนัดและไม่ได้รับแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เพิ่งแจ้งให้ทราบว่าจะต้องเดินทางมาศาลในคืนวันที่ 14 ธันวาคม 2558 โดยชญาภาถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำ จึงไม่สามารถแจ้งญาติหรือทนายความได้ทัน

ขณะเดียวกัน ทนายความยังไม่ได้รับหมายนัด หรือได้รับแจ้งนัดสอบคำให้การจากศาลทหารกรุงเทพ ทั้งที่วันที่ 14 ธันวาคม 2558 ทนายความเดินทางมาศาลทหารกรุงเทพ เพื่อคัดค้านคำร้องขอฝากขังในคดีหมายเลขดำที่ ฝพ.38/2558  และขอรับหมายนัดสอบคำให้การจำเลยในคดีนี้ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลตรวจสอบแล้ว แจ้งทนายความว่าคดีของชญาภายังไม่กำหนดวันนัด หากมีจะโทรแจ้งทนายความให้ทราบล่วงหน้าอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทนายความยังไม่ได้รับแจ้งนัดจากศาลแต่อย่างใด แต่กลับทราบจากจำเลย ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อนุญาตให้โทรศัพท์แจ้งทนายความว่าต้องการความช่วยเหลือหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว

ซึ่งโดยหลักการแล้ว ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยย่อมได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การปฏิบัติต่อจำเลยจึงต้องเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน จำเลยมีสิทธิที่จะมีทนายความ มีสิทธิที่จะปรึกษาทนายความ และมีสิทธิที่จะพบญาติ อันเป็นหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง ซึ่งรัฐไทยได้ให้การรับรอง รวมถึงระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
 
นอกจากนี้ ทนายความเคยยื่นคำร้องขอคัดถ่ายสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 แต่ศาลทหารไม่อนุญาต โดยอ้างว่าต้องส่งคำฟ้องให้จำเลยอยู่แล้ว ก่อนจะได้รับคำฟ้องเมื่อขอคัดถ่ายซ้ำอีกครั้งในวันที่ 8 ตุลาคม 2558 และติดตามการนัดหมายคดีมาโดยตลอด แต่เจ้าหน้าที่ศาลไม่แจ้งวันนัด ทั้งที่แต่งทนายความเข้ามาในคดีแล้ว

 

คำพิพากษา

15 ธันวาคม 2558

คำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด 5 กรรม 

สองกรรม เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและความมั่นคงของประเทศ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1), (2) และ (5) ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำคุกตามมาตรา 112 ในฐานะบทกฎหมายที่หนักที่สุด กรรมละ 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี ลดโทษลงครึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพเหลือ จำคุกกรรมละ 2 ปี 6 เดือน รวม 4 ปี 12 เดือน

สามกรรม เป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่น เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและความมั่นคงของประเทศ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1), (2) และ (5) ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำคุกตามมาตรา 116 ในฐานะบทกฎหมายที่หนักที่สุด กรรมละ 3 ปี รวมจำคุก 9 ปี ลดโทษลงครึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพเหลือ จำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวม 3 ปี 18 เดือน

รวมแล้วให้จำคุกจำเลย 7 ปี 30 เดือน ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง

 

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา