สุรพันธุ์: คดีหมิ่นประมาท+พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ศาลแม่สอด

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

สุรพันธุ์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นบริษัทในเครือของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับสิทธิในการสำรวจและพัฒนาแหล่งแร่ทองคำ และได้ประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ทองคำและทองแดง กระทรวงอุตสาหกรรม ในพื้นที่อำเภอวังสะพุง อำเภอเมือง จังหวัดเลย และมีสำนักงานสาขาอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต บริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีกรรมการหกคน คือ นายชนะ วงศ์สุภาพ นายปราโมทย์ บันสิทธิ์ นายบัณฑิต แสงเสรีธรรม นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล นายวิชัย เชิดชีวศาสตร์ และนายธนภูมิ เดชเทวัญดำรง ในการฟ้องร้องคดีนี้ โจทก์มอบอำนาจให้นายสมชาย ไกรสุทธิวงศ์ เป็นผู้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดี

สารบัญ

สุรพันธุ์  หรือ ‘พ่อไม้’ เลขาธิการกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดเลยมานานหลายปี  ถูกฟ้องโดยโดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด หลังเฟซบุ๊กเพจ ‘เหมืองแร่ เมืองเลย’ โพสต์ข้อความว่า บริษัทฯ ได้ประทานบัตร 6 แปลงเพื่อการทำเหมืองแร่โดยมิชอบ บริษัทฯ เห็นว่าข้อความดังกล่าวอาจทำให้ลูกค้าไม่แน่ใจในกิจกรรมและสินค้าของบริษัท ทั้งทำให้ประชาชนอาจเข้าใจไปว่าบริษัทขาดสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและดำเนินกิจการผิดกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ สุรพันธุ์ถูกฟ้องโดยบริษัทฯ มาแล้วกว่า 5 คดี และคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดแม่สอด
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สุรพันธุ์  หรือ ‘พ่อไม้’ เลขาธิการกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดเลยมานานหลายปี  ถูกฟ้องโดยโดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จากเหตุที่เฟสบุ๊คแฟนเพจ ‘เหมืองแร่ เมืองเลย’ มีการโพสต์ข้อความซึ่งมีใจความว่า บริษัทฯ ได้ประทานบัตร 6 แปลงเพื่อการทำเหมืองแร่โดยมิชอบ บริษัทฯ เห็นว่าข้อความดังกล่าวอาจทำให้ลูกค้าไม่แน่ใจในกิจกรรมและสินค้าของบริษัท ทั้งทำให้ประชาชนอาจเข้าใจไปว่าบริษัทขาดสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและดำเนินกิจการผิดกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ สุรพันธุ์ถูกฟ้องโดยบริษัทฯ มาแล้วกว่า 5 คดี และในคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดแม่สอด
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

18 ธันวาคม 2557  สุรพันธุ์ถูกกล่าวหาว่า โพสต์หนังสือร้องเรียนของกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เพื่อให้ตรวจสอบสินแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ ‘เหมืองแร่เมืองเลย’ หมิ่นประมาทบริษัททุ่งคำ มีใจความว่า บริษัทได้ประทานบัตร 6 แปลงเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำและแร่พลอย บนภูทับฟ้าและภูซำป่าบอนโดยมิชอบ  ทำให้ให้สินแร่ที่ได้จากการทำเหมืองแร่นั้นมิชอบด้วย  ทำให้ลูกค้าของบริษัทไม่แน่ใจทั้งในกิจการและสินค้าของบริษัท  และอาจทำให้ประชาชนเข้าใจ ว่าบริษัทขาดความรับผิดชอบต่อสังคมและดำเนินกิจการอย่างผิดกฎหมาย
 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

1430/2558

ศาล

ศาลจังหวัดแม่สอด

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

ปี 2538

บริษัททุ่งคำได้ประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ มีการระเบิดภูเขาเพื่อขุดแร่ในแปลงประทานบัตรไปแล้ว 6 แปลง คิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 1,300 ไร่ รวมถึงโรงแต่งแร่และโรงประกอบโลหกรรมซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 และยังมีที่อีก 106 แปลง รวมพื้นที่นับหมื่นไร่ในจังหวัดเลย ที่บริษัทได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจและผลิตแร่ทองคำแล้ว และมีการทยอยยื่นขอประทานบัตรอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่บริษัททุ่งคำเริ่มดำเนินกิจการในพื้นที่ตำบลวังสะพุง มีรายงานว่าสารเคมีที่เป็นพิษ ไซยาไนด์ และโลหะหนักหลายชนิด ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างน้อย 6 หมู่บ้านรอบเหมือง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของชุมชนรอบเหมืองมาโดยตลอด

8 กุมภาพันธ์ 2554

คณะรัฐมนตรีมีมติ “ให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตรของบริษัททุ่งคำ จำกัด แปลงที่ 104/2538 และแปลงอื่นๆ ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน ผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และผลการประเมินผลด้านสุขภาพ หรือ HIA” แต่มติดังกล่าวไม่ได้รับการปฏิบัติแต่อย่างใด

ตุลาคม ปี 2555

คันเขื่อนของบ่อเก็บกักหางแร่ที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อนจำนวนมากและเป็นส่วนหนึ่งของโรงประกอบโลหกรรมได้พังทลายลง ซึ่งหากมีการขยายพื้นที่ทำเหมืองแร่หมายความว่าจะมีการนำแร่จำนวนมากขึ้นเข้าไปยังโรงประกอบโลหกรรมและมีน้ำเสียปนเปื้อนจำนวนมากขึ้นในบ่อที่มีปัญหาดังกล่าว

23 ธันวาคม 2555 และ 8 กันยายน 2556

บริษัททุ่งคำได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือเวที Public Scoping แต่มีการใช้กองกำลังทหารและตำรวจปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านรอบๆ เหมืองทองและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเข้าร่วมเวทีดังกล่าว

ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองจึง ออกประกาศระเบียบชุมชน ควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกที่ใช้ถนนของชุมชนไม่ให้เกิน 15 ตัน และห้ามนำสารเคมีอันตรายเข้าเขตชุมชน เพื่อเป็นมาตรการป้องกันตนเองจากผลกระทบจากกิจการของเหมือง และนำไปสู่การก่อสร้างกำแพงขึ้นครอบถนนสายบ้านนาหนองบงเพื่อขวางรถบรรทุกที่จะผ่านหมู่บ้านเพื่อไปยังเหมืองแร่ทองคำ หรือที่เรียกว่า “กำแพงใจ”  

15 พฤษภาคม 2557

เวลากลางดึก ชายฉกรรจ์อำพรางใบหน้าประมาณ 300 คน เข้าไปยังพื้นที่บ้านนาหนองบง จ.เลย ปิดล้อมจุดตรวจของชาวบ้าน และจับชาวบ้านเป็นตัวประกันระหว่างทำลายแนวกั้นและขนแร่ออกจากเหมืองโดยใช้ทางสาธารณะของชุมชน จากเหตุตะลุมบอนที่เกิดขึ้นมีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีองค์กรสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อหาข้อเท็จจริงจำนวนมาก

27 ตุลาคม 2557

สุรพันธุ์ทำหนังสือร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดเลยให้ตรวจสอบบริษัททุ่งคำ  โดยลงนามในฐานะเลขาธิการกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด

18 ธันวาคม 2557

เฟซบุ๊ก ‘เหมืองแร่เลย’ โพสต์ข้อความว่า บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ประทานบัตรทั้ง 6 แปลง  เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำและแร่พลอยได้อื่นบนเขตเหมืองแร่ภูทับฟ้าและภูซำป่าบอนจนนำมาซึ่งการได้สินแร่มีกระบวนการประทานบัตรที่มิชอบ

26 ธันวาคม 2557

ตัวแทนบริษัททุ่งคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแม่สอด

10 มิถุนายน 2558

บริษัท ทุ่งคำ ยื่นฟ้องสุรพันธุ์ในข้อหาหมิ่นประมาท และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ต่อศาลจังหวัดแม่สอด

10 สิงหาคม 2558

ศาลจังหวัดแม่สอดนัดไต่สวนมูลฟ้อง  พยานโจทก์ สมชายไกรสุทธิวงศ์ และจิตภู นุ่มน้อย เข้าเบิกความ และส่งเอกสารประกอบการไต่สวนจำนวน 16 ฉบับ

20 สิงหาคม 2558

ศาลจังหวัดแม่สอดพิจารณารับฟ้อง ด้วยเห็นว่าคดีของโจทก์มีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ม.14(1)

25 พฤศจิกายน 2558

ศาลจังหวัดแม่สอด นัดตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันสืบพยาน จากเดิมกำหนดเป็นวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ซี่งในวันดังกล่าวมีการสืบพยานในคดีอื่นที่ศาลจังหวัดเลย

เวลาประมาณ 10.30 น.ศาลขึ้นบังลังก์และอ่านคำฟ้องให้คู่ความฟัง จากนั้นศาลถามสุรพันธุ์ว่าจะให้การอย่างไร สุรพันธุ์ให้การ “ปฏิเสธ” โดยจำเลยจะต่อสู้ใน 3 ประเด็น คือ 1.ไม่ได้โพสต์ข้อความตามที่โจทก์ฟ้อง 2.พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่สามารถนำมาใช้ในการฟ้องคดีลักษณะนี้ และ 3.ความเสียหายที่โจทก์อ้างว่าตนได้รับนั้น ไม่มีอยู่จริง

ศาลนัดสืบพยานวันที่ 10-11 มีนาคม 2559 ที่ศาลจังหวัดแม่สอด โดยจะสืบพยานโจทก์ 2 ปาก คือ สมชาย ไกรสุทธิวงศ์ เกี่ยวข้องเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทย์ และจิตภู นุ่มน้อย พนักงานของโจทก์ที่พบข้อความ ด้านพยานของสุรพันธุ์มี 5 ปาก ได้แก่ ตัวจำเลยเอง, พรทิพย์ซึงเป็นชาวบ้านในกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด, สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักวิชาการด้านการใช้กฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้คอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ทนายของสุรพันธุ์ได้ขอให้ศาลส่งประเด็นไปสืบพยานที่ภูมิลำเนาของตัวพยาน เพราะพยานไม่สะดวกเดินทางมาให้การที่ศาลจังหวัดแม่สอด อีกทั้งสุรพันธุ์เป็นเพียงเกษตรกรแต่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของพยานทั้งหมด แต่ศาลเห็นว่าเป็นหน้าที่ของสุรพันธุ์และพยานที่จะต้องมาให้การตามที่ศาลนัดหมายอยู่แล้ว ส่วนการออกค่าใช้จ่ายให้นั้น ศาลจะจ่ายให้เฉพาะกรณีสำคัญเท่านั้น หากพยานไม่สะดวกเดินทางมาที่ศาลจังหวัดแม่สอด ศาลอาจจะใช้ระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์แทน

สำหรับบรรยากาศการนัดตรวจพยานหลักฐานวันนี้ มีตัวแทนจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล หรือ ไอซีเจ เข้าร่วมสังเกตการณ์ มีประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลยจำนวน 7 คนมาให้กำลังใจสุรพันธุ์ ขณะเดียวกันชาวบ้านกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่นประมาณ 10 คน ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการใช้มาตรา 44 เวนคืนที่ดินก็เดินทางมาให้กำลังใจและมอบพวงมาลัยให้สุรพันธุ์ด้วยเช่นกัน

9 มีนาคม 2559

สุรพันธ์และภัทราภรณ์รับทราบคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการจังหวัดแม่สอด

ก่อนหน้านี้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้เนินการทางคดีจากการโพสต์ข้อความเดียวกันนี้ 2 ทาง คือการฟ้องศาลจังหวัดแม่สอด และแจ้งความกับสถานีตำรวจภูธรแม่สอด โดยกรณีที่แจ้งความกับสถานีตำรวจภูธรแม่สอดนั้น บริษัทฯ ฟ้อง สุรพันธุ์กับภัทราภรณ์ ในข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาโดยประการทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ซึ่งต่อมาอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องลงวันที่ 15 ตุลาคม 2558 และวันนี้สุรพันธุ์กับสุภาภรณ์ได้เดินทางมาเซ็นรับทราบคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ที่สถานีตำรวจภูธรแม่สอด

ในคำสั่งดังกล่าว มีคำวินิจฉัยว่า หนังสือร้องเรียนของสุรพันธ์โดยมีภัทราภรณ์เป็นผู้พิมพ์หนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย มีข้อความประมาณว่าบริษัทฯ ได้ประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำและแร่พลอยมาโดยมิชอบ ให้ตรวจสอบคณะทำงานสำรวจและกำหนดสินแร่ว่า มีส่วนพัวพันมัวหมองต่อสินแร่ที่ได้มาโดยมิชอบหรือไม่ เป็นหนังสือแสดงความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับ จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ติชมด้วยความเป็นธรรม ตามวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม อีกทั้งไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลการใช้งานและ IP Address ได้ ประกอบกับผู้ต้องหาทั้งสองให้การปฏิเสธ คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

10 มีนาคม 2559

นัดสืบพยาน แต่โจทก์ขอถอนฟ้อง

ที่ศาลจังหวัดแม่สอด วันนี้ศาลนัดสืบพยาน ศาลขึ้นบัลลังก์เวลา 9.40 น. ก่อนการสืบพยาน ศาลถามทนายโจทก์และจำเลยว่าต้องการไกล่เกลี่ยกันหรือไม่ เพราะการสู้คดีนี้ไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายใด และศาลอยากให้แยกคดีนี้ออกจากเรื่องอื่นๆ ที่โจทก์กับจำเลยมีคดีความกัน เพื่อไม่ให้ความบาดหมางเพิ่มขึ้น

หลังการไกล่เกลี่ย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และทนายโจทก์แถลงว่า ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีนี้กับจำเลยอีก โดยประสงค์จะให้จำเลยลงข้อความในโซเชียลมีเดียระบุว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ลงภาพเอกสารที่ปรากฏข้อความตามฟ้องในคดีนี้ แต่หากจำเลยไม่ดำเนินการดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ โจทก์จะเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าวเอง จึงขอถอนฟ้องคดีนี้ ขอให้ศาลโปรดอนุญาต

ด้านจำเลยและทนายจำเลยแถลงว่า ไม่คัดค้านที่โจทก์ขอถอนฟ้อง และไม่ประสงค์จะโพสต์ข้อความลงในโซเชียลมีเดียตามที่โจทก์แถลง แต่หากโจทก์ประสงค์จะเผยแพร่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงการดำเนินคดีนี้ก็สามารถดำเนินการได้ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลย ประกอบกับจำเลยและทนายจำเลยแถลงไม่คัดค้านการถอนฟ้อง จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และสั่งให้จำหน่ายคดีออกสารบบความ

ทั้งนี้ ในวันนี้ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยได้เตรียมพยานมาสืบพยานหลายปาก เช่น พรทิพย์ ซึงเป็นชาวบ้านในกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ส่วนบรรยากาศภายในศาล มีชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเดินทางจากจังหวัดเลย มาให้กำลังใจสุรพันธุ์ 8 คน รวมถึงภรรยาและลูกสาวของสุรพันธุ์ด้วย
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา