พรทิพา: ฟ้าให้ทีวี

อัปเดตล่าสุด: 28/03/2560

ผู้ต้องหา

พรทิพา สุพัฒนุกูล (ดีเจฟ้า)

สถานะคดี

อัยการสั่งไม่ฟ้อง

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.อ. บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ

สารบัญ

สถานีวิทยุโทรทัศน์ ฟ้าให้ทีวี (Fah Hai TV) ที่มีพรทิพา หรือ ดีเจฟ้า ผู้เคยร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่ม  กปปส.  เป็นเจ้าของ ถูกเจ้าหน้าที่นำโดยพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เข้าตรวจค้นและยึดอุปกรณ์ของทางสถานี โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558
 
หลังตรวจค้น เจ้าหน้าที่นำบุคคล 5 คนที่เกี่ยวข้องซึ่งจับจากที่เกิดเหตุไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวน กองกํากับการ 2 กองบังคับการปราบปราม ในข้อหา ร่วมกันประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดอันไม่ใช่การกระทำภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

บริษัท ฟ้าคุ้ม จำกัด เป็นนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของสถานีวิทยุโทรทัศน์ ฟ้าให้ทีวี (Fahai TV) เป็นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม มีพรทิพาหรือดีเจฟ้าเป็นเจ้าของ ออกอากาศรายการข่าวและรายการบรรเทาทุกข์ประชาชน
 
ผู้ที่ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 116 มีดังนี้
 
1. พรทิพา หรือ ดีเจฟ้า เจ้าของสถานีวิทยุโทรทัศน์ ฟ้าให้ทีวี เคยร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มกปปส และเคยไปร้องทุกข์กล่าวโทษอั้มเนโกะในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
 
2. ชัยวัฒน์
 
3. ขุนน้ำ 

4. ณรงค์ฤทธิ์

5. วริศ

6. ปัณณธร หรือ ดีเจ.ปันปัน

7. พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวสเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระหว่าง1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 – 8 เมษายน พ.ศ. 2551 และเคยเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ในปี 2550 ด้วย
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

นิติบุคคล และบุคคลทั้ง 7 ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันออกอากาศรายการทีวีที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 นอกจากนี้ สถานีก็ยังออกอากาศโดยไม่มีใบอนุญาตด้วย จึงเข้าข่ายเป็นการขัดต่อมาตรา 7 ของ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  พ.ศ.2551
 

พฤติการณ์การจับกุม

เย็นวันที่ 18 พฤศจิกายน 2558  พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ และพ.อ.นรินทรักษ์ เชษฐศิริ รองผู้บัญชาการ กองพันทหารสื่อสารที่ 1 นำกำลังทหารเข้าตรวจค้นสถานีวิทยุโทรทัศน์ ฟ้าให้ทีวี (Fahai TV) โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558  เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ ประกอบรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 44 
 
การตรวจค้นเกิดขึ้นหลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า รายการทีวีรายการหนึ่งที่ออกอากาศทางสถานี  อาจมีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน นอกจากนี้ก็พบว่า สถานีดำเนินการออกอากาศโดยไม่มีใบอนุญาต จึงยึดอุปกรณ์ของทางสถานีเป็นของกลาง 
 
หลังการตรวจค้น เจ้าหน้าควบคุมตัวบุคคลทั้ง 5 รายที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ยกเว้น ปัณณธร หรือดีเจ.ปันปัน และ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร. ที่ยังไม่สามารถจับกุมได้ ไปที่ กองกํากับการ 2 กองบังคับการปราบปราม เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ หลังการสอบสวน พนักงานสอบสวนให้ผู้ต้องหาทั้ง 5 ก็ให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 20,000 บาท    
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
18 พฤศจิกายน 2558 
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า ในช่วงเย็น พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ และ พ.อ.นรินทรักษ์ เชษฐศิริ รองผู้บัญชาการ กองพันทหารสื่อสารที่ 1เดินทางไปตรวจค้นที่สำนักงานฟ้าให้ทีวี หลังพบว่าเนื้อหาของรายการที่ออกอากาศทางสถานีรายการหนึ่ง อาจเข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน 
 
หลังการตรวจค้นเจ้า่หน้าที่นำตัว พรทิพา และบุคคลอีก 4 คน ได้แก่ ชัยวัฒน์ ขุนน้ำ ณรงค์ฤทธิ์ และ วริศ ถูกควบคุมตัวไปที่กองกํากับการ 2 กองบังคับการปราบปราม เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 นอกจากนี้ ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทหารทำการตรวจค้น ได้ขอดูใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์จากพรทิพาซึ่งเป็นเจ้าของสถานี แต่พรทิพาไม่สามารถนำเอกสารมาแสดงได้ เจ้าหน้าที่ทหารจึงกล่าวโทษข้อหาออกอากาศโดยไม่มีใบอนุญาตเพิ่มด้วย หลังการสอบสวน ผู้ต้องหาทั้ง 5 ได้รับการประกันตัวด้วยเงินสดคนละ 20,000 บาท   
 
พรทิพา เจ้าของสถานีเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ก่อนหน้านี้มีผู้ใหญ่ซึ่งตนให้ความเคารพขอใช้สถานีจัดรายการ ซึ่งตนก็ยินดีให้ดำเนินการ หลังมีการจัดรายการที่เป็นปัญหา ตนเคยขอร้องให้ยุติการจัด และเคยแจ้งกับผู้อำนวยการสถานี ให้สั่งระงับการออกอากาศ แต่ก็พบว่ายังมีการออกอากาศตามปกติ จนเกิดปัญหา
 
พรทิพา กล่าวเสริมด้วยว่า ช่วงที่มีการออกอากาศรายการซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดจนถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ ตนไม่ได้อยู่ที่สถานีและไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องใดๆ นอกจากนี้ยังเคยใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ แจ้งถึงผู้ใหญ่ที่เคารพ ขอให้ระงับการถ่ายทำและออกอากาศรายการ ซึ่งข้อความที่เป็นหลักฐานยังอยู่ในโทรศัพท์ของตน 
 
21 พฤศจิกายน 2558 
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า ในเวลาประมาณ 16.30 น.  พรทิพา เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 4 เพื่อขอยื่นหนังสือถึงพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ให้คืนสถานีโทรทัศน์และอุปกรณ์ในการผลิตรายการให้กับช่องฟ้าให้ทีวี หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเข้าจับกุมและยึดอุปกรณ์ทั้งหมด 
 
พรทิพา กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สถานีโทรทัศน์ฟ้าให้ทีวีเป็นของตน มีพนักงาน 40 คน ลงทุนด้วยเงินกว่า 7,000,000 บาท รายการที่ออกอากาศในสถานีส่วนใหญ่เป็นรายการสุขภาพ และ รายการข่าว ในภาพรวม เนื้อหาของรายการที่ออกอากาศในสถานีจะสนับสนุนการทำงานทหาร แต่ในวันเสาร์ที่ 14 ซึ่งเป็นวันที่มีการออกอากาศรายการที่เป็นปัญหา ตนไม่ได้ตรวจสอบและเจ้าหน้าที่ควบคุมก็ปล่อยให้ออกอากาศ จนทำให้ถูกเจ้าหน้าที่บุกจับที่บ้านและถูกคุมขัง 1 คืน ซึ่งตนเสียใจมากรู้สึกช็อกและร้องไห้ไม่หยุด
 
พรทิพากล่าวด้วยว่า ฟ้าให้ทีวีเป็นของตน แต่กลับถูกเข้าใจผิดว่าเป็นของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ซึ่งจริงๆแล้ว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เพียงแต่มาอาศัยสถานีของตนจัดรายการทุกวันเสาร์ ครั้งละ 1 ชั่วโมง เท่านั้น แต่ทหารกลับเข้าใจผิดว่าสถานีเป็นของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในวันนี้ตนจึงมาเพื่อยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่เคยรู้สึกอคติหรือเกลียดทหาร แต่การยึดเครื่องมือของสถานีครั้งนี้เป็นเหมือนการตัดแขนตัดขาของตนซึ่งหัวหน้าครอบครัวต้องเลี้ยงดูลูกหลาน และลูกน้องจำนวนมาก
 
พรทิวากล่าวต่อไปว่า จะนั่งอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลจนถึงวันจันทร์ เพื่อขอพบนายกรัฐมนตรี เพราะตนสู้เพื่อชาติมามากแล้ว จะขอสู้เพื่อตัวเองและครอบครัวบ้าง ตนยินดีจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ขอให้นายกมอบอุปกรณ์ในการผลิตรายการทีวีคืนเพื่อใช้ในการต่อสู้คดี 
 
พรทิพาทิ้งท้ายด้วยว่า ที่ผ่านมาตนทั้งรักชาติ และรักทหารมาตลอด เคยไปกล่าวโทษเรื่องอั้มเนโกะหมิ่นสถาบันฯ ด้วย แต่กลับต้องมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ ทั้งนี้ตนจะประท้วงอดข้าว อดน้ำ อยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลโดยไม่มีกำหนด จนกว่าจะได้รับความเป็นธรรม
 
22 พฤศจิกายน  2558
 
พรทิพา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กชื่อ ฟ้า พรทิพา ข่าวเพื่อประชาชน ถึง สุเทพ เทือกสุบรรณในทำนองน้อยใจที่ไม่สามารถติดต่อสุเทพได้ ในยามที่ตัวเองเดือดร้อน ในฐานะคนที่เคยช่วยเหลือกันมาก็น่าจะเห็นใจกันบ้าง
 
23 พฤศจิกายน 2558
 
พรทิพา ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์  ในนามฟ้าให้ทีวี แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดพล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ โดยชี้ว่า ทางสถานีมีจุดยืนเป็นสถานีข่าวเพื่อช่วยชาวบ้าน สนับสนุนแนวทางทำงานของ คสช. ที่ให้พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ มาร่วมทำรายการด้วยเพราะเห็นว่าเป็นผู้ใหญ่ แต่ตอนนี้พอสังคมมองว่าสถานีผิด และสถานีถูกปิด พล.ต.อ.เอกเสรีพิสุทธ์ก็ยังไม่ออกมาพูดอะไรเลย จึงอยากให้เสรีพิสุทธ์ออกได้ออกมาแถลงความเป็นจริงบ้าง เพราะทางสถานีไม่มีนโยบายให้พาดพิงถึงรัฐบาลและทหาร 
 
ก่อนหน้านี้ทางสถานีไม่มีเวลาไปตรวจสอบเนื้อหา และรายการทุกรายการจะอยู่ในนโยบายของทางสถานีหมด สำหรับรายการของพล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ ช่วงแรกก็เป็นรายการเล่าประวัติศาสตร์ทั่วๆไป เช่น ช่วงเหตุการณ์ที่นาแก ทางสถานีเลยไว้ใจว่าคงไม่มีเนื้อหาที่พูดพาดพิงให้ร้ายใคร
 
สำหรับเหตุที่เจ้าหน้าที่เข้ามาสถานีครั้งนี้ ก็เนื่องมาจาก พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ ไม่ทำตามนโยบายของสถานี จนเกิดผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ของสถานี จึงอยากให้ออกมาชี้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า สถานีไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ และอยากให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบ ว่าสถานีไม่ได้ทำอะไรผิด และให้การสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลและทหารมาโดยตลอดจึงขอให้รัฐบาลเห็นใจครอบครัวฟ้าให้ทีวี
 
18 พฤษภาคม 2559
 
สำนักข่าวเบนาร์นิวส์ รายงานว่า พรทิพา เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนที่กองปราบปราม และไปพบอัยการทหาร ที่ศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งวันนี้ อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหา เป็นความผิดตามมาตรา 116
 
 
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา