วางแผนป่วน Bike for Dad

อัปเดตล่าสุด: 24/08/2562

ผู้ต้องหา

จ.ส.ต.ประธิน

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คณะทำงานกฎหมาย คสช. เป็นผู้กล่าวหา

สารบัญ

ผู้ต้องหา 9 คน ถูกออกหมายจับในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในลักษณะร่วมกันวางแผนก่อความวุ่นวายในกิจกรรม Bike for Dad และเตรียมประทุษร้ายบุคคลสำคัญทางการเมือง 2 คน ผู้ต้องหาคดีนี้ถูกควบคุมในเรือนจำพิเศษในมทบ.11 ซึ่งทนายความประสบปัญหาถูกคุมคามเวลาเข้าเยี่ยม
 
ธนกฤต ผู้ต้องหารายหนึ่งถูกตั้งข้อหาทั้งที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีอื่นตลอดมา ทำให้มีการแจ้งความฐานหมิ่นประมาทและแจ้งความเท็จกลับกันไปมาระหว่างทหารกับทนายความของธนกฤต ขณะที่ฉัตรชัย ผู้ต้องหาอีกรายถูกจับไปแล้วปล่อยตัวออกมา ก่อนที่ฝาแฝดของเขาจะถูกจับกุมไปแทน
 
ต่อมาผู้ต้องหา 5 คนถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการพูดคุยกันขณะถูกคุมขังในเรือนจำ ไม่เกี่ยวกับกิจกรรม Bike for Dad คดีถูกโอนไปพิจารณายังศาลทหาร ในจ.ขอนแก่น คดีพิจารณาไปอย่างล่าช้าและจำเลยไม่ได้ประกันตัว จนกระทั่งมีคำสั่ง คสช. ยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร และโอนคดีกลับศษลพลเรือน

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ผู้ต้องสงสัย 9 รายถูกจับกุมในคดีนี้ ได้แก่
 
1. จ.ส.ต.ประธิน อายุ 60 ปี ภูมิลำเนาอยู่จังหวัดขอนแก่น เป็นอดีตตำรวจตระเวนชายแดน
2. ณัฐพล อายุ 26 ปี ภูมิลำเนาอยู่จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันช่วยแม่ขายอาหารตามสั่ง มีลูกอายุ 9 ปี
3. พิษณุ อายุ 58 ปี ภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงใหม่
4. วัลลภ อายุ 33 ปี ภูมิลำเนาอยู่จังหวัดขอนแก่น
5. ฉัตรชัย อายุ 24 ปี ภูมิลำเนาอยู่จังหวัดมหาสารคาม
6. มีชัย อายุ 49 ปี ภูมิลำเนาอยู่จังหวัดร้อยเอ็ด
7. ธนกฤต อายุ 49 ปี ภูมิลำเนาอยู่จังหวัดขอนแก่น ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำจังหวัดขอนแก่นจากคดีปลอมแปลงเอกสาร มาตั้งแต่พฤษภาคม 2557
8. วีรชัย อายุ 33 ปี ภูมิลำเนาอยู่จังหวัดขอนแก่น
9. พาหิรัณ อายุ 44 ปี ภูมิลำเนาอยู่จังหวัดบึงกาฬ
 
ผู้ต้องหา 4 ราย ได้แก่ ประธิน, มีชัย, ธนกฤต และพาหิรัณ เป็นจำเลยในคดีขอนแก่นโมเดล ซึ่งถูกจับกุมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 และเคยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดขอนแก่นช่วงเวลาหนึ่ง ในคดีขอนแก่นโมเดล ก่อนจะได้ประกันตัว ส่วนณัฐพล เป็นนักโทษในคดียาเสพติดที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในช่วงเวลาเดียวกัน
 
จากผู้ถูกจับกุมทัั้งหมด 9 คน ประธิน, วีระชัย, วัลลภ, พาหิรัณ และธนกฤต เป็นผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 112

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการกองแผนงานอาชญากรรม (ผบก.ผอ.) ระบุในการแถลงข่าวการจับกุม เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2558 ว่า ตำรวจได้รับการประสานข้อมูลจาก คสช. ว่า จ.ส.ต. ประธิน ร่วมกับพวกอีกอย่างน้อย 8 คน ส่งข้อความเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ทั้งไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูบ นอกจากนี้ กลุ่มดังกล่าวยังปรึกษาหารือกันตระเตรียมอาวุธที่จะใช้ก่อเหตุในช่วงเทศกาลและกิจกรรมสำคัญต่างๆ ในหลายพื้นที่

เมื่อขึ้นสู่ชั้นศาล ข้อกล่าวหาที่ระบุในคำฟ้องไม่เกี่ยวข้องกับการเตรียมอาวุธเพื่อก่อเหตุในช่วงเทศกาลสำคัญแต่อย่างใด แต่เป็นคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากบทสนทนาของจำเลยทั้ง 5 คน ที่พูดคุยกันขณะถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดขอนแก่น ในคดีขอนแก่นโมเดล

พฤติการณ์การจับกุม

วิญญัติ ชาติมนตรี หนึ่งในทนายความที่รับผิดชอบคดีนี้ ให้ข้อมูลว่า วันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 เจ้าหน้าที่ทหารมาขอตรวจค้นบ้านของ จ.ส.ต.ประธิน โดยยึดโทรศัพท์ 1 เครื่อง และโน้ตบุ๊ก 2 เครื่อง ซึ่งเป็นของจำเลยและของลูกชาย ต่อมาจำเลยถูกนำตัวไปคุมขังในค่ายทหารแห่งหนึ่งประมาณ 2 วัน โดยจำเลยไม่ทราบว่าเป็นที่ไหนเพราะถูกปิดตาระหว่างเดินทาง แต่จากระยะเวลาที่ใช้ คาดว่าน่าจะยังอยู่ในจังหวัดขอนแก่น จากนั้นจำเลยจึงถูกนำตัวมายังค่ายทหารในกรุงเทพฯ ซึ่งประธินคาดว่าเป็นมทบ.11 แต่ไม่สามารถยืนยันได้ เนื่องจากถูกปิดตาระหว่างการย้ายที่คุมขัง 
 
คล้ายกับณัฐพล ซึ่งถูกคุมขังที่ค่ายทหารในจังหวัดขอนแก่น 2 วัน ก่อนถูกนำตัวมาที่กรุงเทพฯ โดยทนายวิญญัติเปิดเผยผ่านประชาไทว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2558 มีรถทหาร 3-4 คันมาที่บ้านของจำเลย เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องตรวจโลหะและสุนัขเพื่อค้นหาอาวุธสงคราม แม้จะไม่พบอะไร แต่ก็นำตัวจำเลยไป จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงกลับมาตรวจค้นอีกวันหนึ่ง แต่ยังคงไม่พบอะไร และบอกแม่ของจำเลยว่า “ขอยืมลูกชายหน่อยเด้อ เดี๋ยวเอามาคืน”
 
ขณะที่ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า วีรชัย ซึ่งตอนแรกหลบหนีการจับกุม ขอเข้ามอบตัวที่ค่ายเปรมติณสูลานนท์ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

1 ก./2559

ศาล

ศาลทหารขอนแก่น

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
21 พฤศจิกายน 2558 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบซึ่งส่วนหนึ่งเป็นทหารจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดขอนแก่น (กกล.รส.จว.ขอนแก่น) ประมาณ 10 นาย นั่งรถตู้ติดฟิล์มกรองแสงเข้าไปที่บ้านพักของ จ.ส.ต.ประธิน หนึ่งในจำเลยคดีขอนแก่นโมเดล และพูดคุยอยู่เป็นเวลานาน ก่อนควบคุมตัว จ.ส.ต.ประธิน ขึ้นรถออกไป โดยแจ้งว่าจะพาไปค่ายศรีพัชรินทร (มทบ.23) ใช้เวลาไม่นาน แล้วจะพากลับมาส่ง 
 
24 พฤศจิกายน 2558 
 
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า หน่วยงานความมั่นคงรายงานว่า จ.ส.ต.ประธิน ที่ถูกควบคุมตัวพร้อมพยานหลักฐานการสนทนาทางไลน์และสมุดบันทึก ยอมรับเรื่องเตรียมการก่อความวุ่นวายและประทุษร้ายบุคคลสำคัญทางการเมือง จึงมอบหมายให้ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของ คสช. เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับประธิน, พิษณุ และณัฐพล ในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากนั้นพนักงานสอบสวน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลทหารกรุงเทพ เพื่อขอออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งสาม
 
25 พฤศจิกายน 2558 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ออกคำสั่ง ตร. ที่ 682/2558 แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ที่มี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้า ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของทหาร รวบรวมพยานหลักฐานจนเป็นที่แน่ชัดและเชื่อได้ว่า มีกลุ่มบุคคลร่วมกระทำความผิดรวม 9 คน จึงขออนุมัติหมายจับจากศาลทหารกรุงเทพ ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ
 
26 พฤศจิกายน 2558 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวประธินและณัฐพล มาแถลงข่าวการจับกุม ระบุว่าทั้ง 2 คน รวมถึงคนที่ถูกออกหมายจับและอยู่ระหว่างติดตามตัวอีก 7 คน เป็นขบวนการที่เตรียมก่อเหตุป่วนงานสำคัญในกรุงเทพฯ และต้องการลอบทำร้ายบุคคลสำคัญในรัฐบาล 2 คน จากนั้นจึงนำตัวผู้ต้องหาทั้งสองไปฝากขังที่ศาลทหาร และควบคุมตัวที่เรือนจำชั่วคราวใน มทบ.11 โดยก่อนการแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวทั้งสองเพื่อสอบสวนในค่ายทหาร เมื่อวันที่ 21 และ 23 พฤศจิกายน 2558 ตามลำดับ
 
วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความตามไปที่ศาลทหารกรุงเทพ เพื่อคัดค้านการฝากขัง แม้ผู้ต้องหาจะยืนยันว่าวิญญัติเป็นทนายความของตน แต่เจ้าหน้าที่ศาลปฏิเสธไม่ให้ทนายเข้าถึงตัวผู้ต้องหา โดยอ้างว่าศาลยังไม่ได้แต่งทนายในคดีนี้ ต่อมาทนายขออนุญาตศาลคุยกับผู้ต้องหาก่อนการไต่สวน แต่ศาลไม่อนุญาต ทำให้ทนายแถลงคัดค้านได้เพียงข้อกฎหมาย หลังศาลออกจากห้องพิจารณาแล้ว ทนายจึงได้คุยกับผู้ต้องหาเพียงไม่กี่นาที ก่อนผู้ต้องหาจะถูกนำตัวไปยังเรือนจำชั่วคราวฯ
 
27 พฤศจิกายน 2558
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่นำตัววัลลภและพาหิรัณ มาฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพ โดยควบคุมตัวจากบ้านพักที่จังหวัดขอนแก่นและบึงกาฬ ตามลำดับ ก่อนนำตัวขึ้นรถมากรุงเทพฯ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองไปขังไว้ที่เรือนจำชั่วคราวฯ
 
วิญญัติเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทั้งสองและได้พูดคุยกันกว่าสองชั่วโมง แต่มีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ด้วยตลอดเวลา นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่าอาคารที่จัดให้ทนายพบผู้ต้องขังแยกต่างหากจากอาคารที่ควบคุมตัว โดยผู้ต้องขังถูกใส่กุญแจมือและเท้า ถูกปิดตาในระหว่างทางที่ถูกนำตัวมาจากที่คุมขัง และมีเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวมาทางรถยนต์
 
29 พฤศจิกายน 2558
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า เบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความของธนกฤต หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดขอนแก่นมาตั้งแต่ปี 2558 เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับพล.ต.วิจารณ์ จดแตง และ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. รวมถึงพนักงานสอบสวนคดีนี้ทั้งหมด ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และแจ้งความเท็จ จากกรณีแถลงจับผู้ต้องหาป่วนกิจกรรม Bike for Dad โดยมีชื่อธนกฤต เป็น 1 ในผู้ต้องหา ทั้งที่ธนกฤตยังอยู่ในเรือนจำ
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ค่ำวันเดียวกัน หลังการแจ้งความ ตำรวจจากกองปราบโทรศัพท์หาเบญจรัตน์ให้เข้าไปแก้ไขเอกสารและให้การเพิ่มเติมที่กองปราบ เบญจรัตน์ปฏิเสธและแจ้งว่าจะเข้าไปเมื่อมีเวลาว่าง แต่เจ้าหน้าที่โทรมาอีกเกือบ 10 ครั้ง โดยบอกว่าจะมาพบที่บ้าน เบญจรัตน์จึงปฏิเสธไปอีก
 
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุด้วยว่า ฉัตรชัยถูกจับกุมได้เป็นรายที่ 5 โดยถูกนำตัวจากจังหวัดขอนแก่นมาควบคุมตัวที่กองปราบปราม
 
30 พฤศจิกายน 2558
 
ประชาไทรายงานว่า เวลา 10.30 น. เบญจรัตน์เดินทางไปเรือนจำ มทบ.11 โดยขอเข้าพบผู้ต้องขัง 4 คน ได้แก่ ประธิน, พาหิรัณ, วัลลภ และฉัตรชัย เพื่อสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ซึ่งเจ้าหน้าที่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม แต่ไม่อนุญาตให้นำโทรศัพท์เข้าไป ปรากฏว่ามีผู้ต้องหาออกมาพบ 3 คน ยกเว้นประธิน ทนายจึงสอบข้อเท็จจริงผู้ต้องหาทั้งสามโดยมีเจ้าหน้าที่ทหารนั่งฟังตลอดเวลา หลังจากผู้ต้องหากลับเข้าที่คุมขังแล้ว ทหารที่เฝ้าอยู่ซึ่งมียศร้อยเอกและทหารยศต่ำกว่าอีก 2 คน แจ้งให้ทนายรอประธินออกมา 
 
เบญจรัตน์นั่งรอจนถึงเวลาเที่ยง จึงแจ้งทหารว่ามีนัดที่ศาลอาญาตอน 13.30 แต่นายทหารยศร้อยเอกล็อคประตูห้องและสั่งให้เธออยู่พบ "นาย" ก่อน ต่อมาตำรวจจากกองปราบ 2 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน มาขอรับตัวเบญจรัตน์ไปที่กองปราบ ทหารจึงยอมให้เธอออกมา โดยเบญจรัตน์ขอไปศาลก่อน ตำรวจหญิงจึงนั่งรถไปด้วย ส่วนตำรวจอีกนายขับรถตามหลัง เมื่อทนายออกจากห้องพิจารณาคดี ตำรวจก็นำบันทึกที่มีเนื้อความว่า เบญจรัตน์เดินทางไปกองปราบด้วยความสมัครใจ มาให้เซ็น 
 
เบญจรัตน์ให้ปากคำอยู่ที่กองปราบจนถึงประมาณ 21.00 น. โดยพนักงานสอบสวนแจ้งว่า “นาย” ต้องการให้ถอนแจ้งความ แต่เธอปฏิเสธ
 
ขณะที่ทนายวิญญัติเปิดเผยว่า เขาเดินทางมาที่เรือนจำชั่วคราวฯ เพื่อเข้าเยี่ยมและสอบข้อเท็จจริงลูกความเช่นกัน แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไปพร้อมทนายเบญจรัตน์ และให้เขานั่งรออยู่อีกห้องหนึ่ง โดยมีทหาร 2 นายเฝ้าอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังไม่อนุญาตให้ใช้โทรศัพท์และห้ามออกจากห้อง 
 
ช่วงบ่ายวิญญัติจึงได้พบผู้ต้องหา แต่ได้คุยกันประมาณ 5 นาทีเท่านั้น ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ด้วยตลอด หลังจากผู้ต้องหาถูกนำตัวกลับที่คุมขัง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ขอให้วิญญัติกลับไปก่อน โดยอ้างว่าสถานการณ์ไม่แน่นอนและฝ่ายความมั่นคงไม่อนุญาตให้พูดคุยต่อ
 
1 ธันวาคม 2558 
 
ประชาไทรายงานว่า เบญจรัตน์ได้รับแจ้งจากครอบครัวของฉัตรชัยว่า เจ้าหน้าที่ทหารนำตัวฉัตรชัยไปส่งที่บ้านแล้ว โดยแจ้งว่าเป็นการจับผิดตัว แต่ยังมีทหารติดตามอยู่ตลอด และในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทหารกลับจับกุมฉัตรชนก น้องชายฝาแฝดของฉัตรชัย จากร้านอาหารที่ฉัตรชนกเป็นลูกจ้างทำงานอยู่ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการแถลงข่าวการจับกุมอย่างเป็นทางการ และครอบครัวไม่สามารถติดต่อฉัตรชนกได้ 
 
แม้ฉัตรชนกจะไม่มีชื่ออยู่ในหมายจับที่ตำรวจแถลงข่าว แต่ประชาไทได้รับเอกสารยืนยันการส่งตัวฉัตรชนก ในฐานะผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2558 
 
3 ธันวาคม 2558
 
ประชาไทรายงานว่า เบญจรัตน์เข้าเยี่ยมธนกฤตในเรือนจำขอนแก่น โดยธนกฤตแจ้งว่า หลังมอบอำนาจให้ทนายไปแจ้งความกลับกับเจ้าหน้าที่ ก็มีชุดตำรวจทหารจากกรุงเทพฯ เดินทางมาเพื่อสอบสวนเขาถึง 4 รอบ โดยคณะผู้สอบสวนขอให้เขาถอนแจ้งความเพื่อแลกกับการที่เจ้าหน้าที่จะไม่แจ้งข้อหาตามมาตรา 112 และเจ้าหน้าที่ยังกล่าวหาว่าเขาพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ในเรือนจำ สุดท้ายเขาจึงยินยอมเซ็นชื่อถอนแจ้งความ แต่เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 เจ้าหน้าที่แถลงข่าวว่าจะเอาผิดธนกฤตในคดีเตรียมป่วนกรุงเช่นเดิม เขาจึงเปลี่ยนการตัดสินใจและมอบหมายให้ทนายฟ้องเอาผิดต่อเจ้าพนักงานผู้กล่าวโทษอีกครั้งหนึ่ง
 
4 ธันวาคม 2558
 
ประชาไทรายงานว่า เบญจรัตน์เดินทางไปที่กองปราบ เพื่อขอเข้าพบ พ.ต.ท.มิ่งมนตรี ศิริพงษ์ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคดีที่เธอแจ้งความกล่าวโทษคณะพนักงานสอบสวนที่ออกหมายจับธนกฤต โดยเบญจรัตน์กล่าวว่า ขอให้ตำรวจมีท่าทีที่ชัดเจนภายใน 7 วัน ว่าจะไม่แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 กับจำเลย ไม่เช่นนั้นตนจะแจ้งความเอาผิดกับ พล.ต.วิจารณ์ และพล.ต.อ.ศรีวราห์ อีกครั้ง
 
ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ควบคุมตัวจ.ส.ต.ประธิน และณัฐพล มาฝากขังผัด 2 ที่ศาลทหาร และนำตัวผู้ต้องหากลับเรือนจำชั่วคราวฯ ทันที โดยทนายวิญญัติและทนายเบญจรัตน์ไม่ได้คัดค้านการฝากขัง แต่แถลงต่อศาลถึงการคุกคามทนายและผู้ต้องหา ทั้งยังแถลงข้อเรียกร้องไปถึงหัวหน้าคสช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 4 ข้อ ได้แก่ 1.ขอให้ตรวจสอบกรณีคุกคามทนายที่เกิดขึ้น 2.ให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้ความสะดวกในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมในเรือนจำชั่วคราว มทบ.11 3.ขอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ต้องหาในฐานะที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ และ 4.ขอยืนยันว่า การทำงานของกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ได้ต้องการเคลื่อนไหวทางการเมือง
 
6 ธันวาคม 2558
 
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า ประมาณ 09.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ควบคุมตัววีรชัย มาขออำนาจศาลทหารฝากขังผัดที่ 1 เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่ 6 ธันวาคม-17 ธันวาคม 2558 โดยก่อนหน้านี้วีรชัยหลบหนีการจับกุม และขอเข้ามอบตัวเมื่อ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ค่ายเปรมติณสูลานนท์ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น แล้วจึงถูกนำตัวส่งพนักงานสอบสวนกองปราบปราม
 
8 ธันวาคม 2558
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีของธนกฤตว่า การสืบสวนของตำรวจพบว่าผู้ต้องหาผิดจริง การทำผิดขณะที่ผู้ต้องขังยังอยู่ภายในคุกก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และเป็นไปไม่ได้ที่ทนายความของผู้ต้องหาจะมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับตนในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน เพราะตนยังไม่ได้รับคำสั่งอย่างเป็นทางการให้สอบสวนคดีนี้
 
ส่วนผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เวลา 11.00 น. ที่กองปราบ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง และ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเบญจรัตน์ ทนายความของธนกฤต ในความผิดฐานแจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวน โดยนำหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวกรณีป่วนงาน Bike for Dad มามอบให้พนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน
 
ขณะที่ประชาไทรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารนำตัวฉัตรชนกมาส่งที่บ้านแล้ว โดยฉัตรชนกขออนุญาตไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสาเหตุการจับกุมและเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างควบคุมตัว นอกจากนี้ ทางครอบครัวแจ้งว่า แม้ทั้งฉัตรชัยและฉัตรชนกจะได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ยังถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามอยู่ตลอด
 
15 ธันวาคม 2558
 
สำนักข่าวไทยรายงานว่า เบญจรัตน์เดินทางไปที่ศาลอาญารัชดา เพื่อยื่นฟ้อง พล.ต.วิจารณ์ จดแตง และพ.ต.ท.มิ่งมนตรี ศิริพงษ์ พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ในข้อหาแจ้งความเท็จ และหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา จากกรณีร่วมกันแจ้งความดำเนินคดีกับตน ในข้อหาแจ้งความเท็จ เบื้องต้นศาลรับคำร้องไว้ และนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 เวลา 13.30 น.
 
17 ธันวาคม 2558
 
เดลินิวส์ออนไลน์รายงานว่า เวลา 09.55 น. พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัววีรชัย มาจากเรือนจำชั่วคราวฯ เพื่อขออำนาจศาลทหารฝากขังผัดที่ 2 
 
18 ธันวาคม 2558 
 
เดลินิวส์ออนไลน์รายงานว่า เวลาประมาณ 09.50 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ พนักงานสอบสวน นำตัวประธิน, ณัฐพล, วัลลภ และพาหิรัณ มาจากเรือนจำชั่วคราวฯ เพื่อขออำนาจศาลทหารฝากขังผัดที่ 3 โดยทนายวิญญัติมายื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง หลังจากศาลอนุญาต ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกควบคุมตัวกลับเรือนจำทันที ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ทหาร
 
ทนายวิญญัติชี้แจงว่า จากการสอบข้อเท็จจริง ผู้ต้องหาทั้ง 4 คนให้การปฏิเสธ ยืนยันว่าไม่ได้รับสารภาพตามที่เป็นข่าว แต่มี 1 ใน 4 คนยอมรับว่าส่งข้อความที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งตนไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ทนายยังแจ้งต่อศาลถึงการถูกกีดกันไม่ให้เข้าพบลูกความและถูกเจ้าหน้าที่ปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม ศาลทหารจึงออกข้อกำหนดให้ทนายเข้าพบผู้ต้องหาได้ 
 
5 มกราคม 2559
ประชาไทรายงานว่า เบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความของ ธนกฤต แจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่จากเรือนจำ จังหวัดขอนแก่น โทรศัพท์มาแจ้งว่ากำลังจะย้ายตัวธนกฤตไปคุมขังไว้ที่ เรือนจำชั่วคราวมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ถ.พระราม 5 แขวงถนนนครไชยศรี กรุงเทพ โดยยังไม่ทราบว่าจะย้ายเมื่อใด
 
 
 
6 มกราคม 2559
ไอเอ็นเอ็นและประชาไทรายงานว่า เบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความผู้รับมอบอำนาจของธนกฤต ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยืนยันการดำเนินคดีต่อ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง, พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล พร้อมคณะ ในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่สำนักงานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) อีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ธนกฤตได้ถอนแจ้งความไปแล้วสองครั้ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่เสนอให้เขาถอนแจ้งความ แลกกับการถอนหมายจับในคดีเตรียมการป่วน Bike for Dad แต่เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีอาญาแผ่นดินซึ่งไม่สามารถยอมความได้ ทางกองปราบฯ จึงได้ส่งเรื่องไปที่ ป.ป.ช. เพื่อให้พิจารณาว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป
 
8 มกราคม 2559
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เบญจรัตน์ ทนายความของ ธนกฤต กล่าวว่า ได้ยื่นคำร้องถึงศาลทหารกรุงเทพฯ ไม่ให้นำตัวนายธนกฤตมาที่ฝากขังที่เรือนจำชั่วคราว มทบ.11 แขวงถนนนครไชยศรี เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัยของนายธนกฤต เพราะเห็นว่า คสช. เป็นคู่กรณีในคดีนี้ โดยให้ส่งประเด็นคำถามไปที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จ.ขอนแก่น เพื่อทำการไต่สวนแทน แต่ตุลาการศาลทหารได้ยกคำร้องเนื่องจากเห็นว่าสำนวนคดีของนายธนกฤตยังไม่ถูกส่งมาที่ศาลทหารกรุงเทพฯ
 
11 มกราคม 2559
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เบญจรัตน์ ทนายความของ ธนกฤต ได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ คัดค้านการย้ายตัวนายธนกฤตมาฝากขังที่เรือนจำชั่วคราว มทบ.11 แขวงถนนนครไชยศรี ซึ่งทางราชทัณฑ์ได้แจ้งว่าถ้าหากคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ต้องหาจะถูกควบคุมตัวที่เรือนจำใด
 
เบญจรัตน์กล่าวว่า จากการสอบถามกับทางเรือนจำกลางขอนแก่นทราบว่า ธนกฤต ยังไม่ถูกนำตัวมาฝากขังที่เรือนจำชั่วคราว มทบ.11 แขวงถนนนครไชยศรี กรุงเทพฯ หลังจากเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 ได้รับแจ้งจากเรือนจำกลางขอนแก่นว่าธนกฤตกำลังจะถูกย้ายไปฝากขังที่เรือนจำชั่วคราว มทบ.11
 
28 มกราคม 2559 
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เบญจรัตน์ ทนายความของ ธนกฤต เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่กองบังคับการปราบปราบ เนื่องจากเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกองปราบฯ กล่าวหาเบญจรัตน์ข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวน โดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำผิดเกิดขึ้น และเป็นการแกล้งให้บุคคลใดได้รับโทษ และข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173, 174, 181 และ 328 โดยตำรวจอ้างว่าธนกฤตไม่ได้ประสงค์จะแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่
 
เบญจรัตน์กล่าวว่า วันนี้ตนมามอบตัวพร้อมนำหลักฐานการมอบอำนาจจากธนกฤต ซึ่งระบุให้ตนเป็นผู้แจ้งความแทน มาให้พนักงานสอบสวนเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และขอยืนยันว่าตนเพียงแค่ทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจจากธนกฤตในฐานะทนายเท่านั้น หากคณะพนักงานสอบสวนต้องการแจ้งความเอาผิดจริงก็ต้องดำเนินคดีต่อนายธนกฤตซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจด้วย
 
มีรายงานว่า หลังสอบคำให้การเสร็จสิ้นพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวเบญจรัตน์เพราะเห็นว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
 
23 กุมภาพันธ์ 2559 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความ เข้าเยี่ยมณัฐพล วัลลภ และวีรชัย ที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ถนนพระราม 5 เพื่อแจ้งให้ลูกความทราบว่า อัยการศาลทหารกรุงเทพสั่งฟ้องในคดีของพวกเขาว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว
 
เบญจรัตน์ยังกล่าวถึงข้อมูลที่หนึ่งในผู้ต้องหาแจ้งให้ทราบว่า มีผู้ต้องหาคนหนึ่งถูกหลอกให้มามอบตัวเพื่อเป็นพยาน จึงเชื่อและเข้ามารายงานตัวตามคำสั่งเรียก แต่ไม่คิดว่าสุดท้ายจะต้องกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ด้วย
 
ส่วนบรรยากาศในการเข้าเยี่ยม เบญจรัตน์กล่าวว่า ขณะพูดคุยกับลูกความยังคงมีเจ้าหน้าที่ทหารสองนายมายืนควบคุมอยู่ด้วย ซึ่งผิดหลักการที่ทนายความสามารถอยู่กับลูกความได้โดยลำพัง ทำให้ลูกความไม่มีเสรีภาพที่จะแจ้งข้อมูลหรือแสดงความเห็นใด ๆ กับทนายได้ตามกระบวนการยุติธรรม
 
7 เมษายน 2559
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จ.ขอนแก่น นัดสอบคำให้การ จ.ส.ต.ประธิน  และพวกรวม 5 คน ในข้อหา ร่วมกันหมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หมายเลขคดีดำที่ 1 ก./2559
 
เวลาประมาณ 10.10 น. ผู้พิพากษาอ่านบรรยายฟ้องของโจทก์ให้จำเลยทั้งห้าฟัง ความโดยสรุปว่า ระหว่างเดือนสิงหาคม 2557 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 เวลาใดไม่ปรากฏชัด เหตุเกิดที่ตำบลในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น  จำเลยทั้ง 5 กับพวกที่หลบหนี ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันสนทนาข้อความที่มีลักษณะหมิ่นพระมหากษัตริย์ และรัชทายาท จำนวน 3 ข้อความ ต่อหน้าบุคคลผู้มีชื่อ จำนวน 2 คน ซึ่งการกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้ง 5 กับพวกเป็นไปโดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน และรัชทายาท เสื่อมเสียพระเกียรติ ทรงถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง
 
ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 5 ให้การปฏิเสธ และขอต่อสู้คดี อัยการทหารฝ่ายโจทก์จึงแถลงต่อศาลขอนัดวันเพื่อสืบพยานโจทก์ แต่ทนายจำเลยคัดค้าน โดยขอให้กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยาน
 
อัยการแถลงว่า โจทก์มีเพียงพยานบุคคล ซึ่งมีหลักฐานเป็นบันทึกคำให้การ บันทึกการชี้ตัวและชี้รูป ซึ่งไม่ต้องให้คู่ความตรวจสอบ ทนายจำเลยจึงขอให้โจทก์ยื่นบัญชีพยาน ศาลจึงมีคำสั่งให้นัดตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยาน ในวันที่ 9 มิถุนายน 2559 โดยให้คู่ความแต่ละฝ่ายยื่นบัญชีพยานก่อนวันนัดไม่น้อยกว่า 7 วัน
 
ในวันเดียวกันนี้ ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จ.ส.ต.ประธิน และพาหิรัณ เนื่องจากจำเลยทั้งสองมีโรคประจำตัว ต่อมาในช่วงบ่ายศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต
 
 
5 กรกฎาคม 2559 
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลทหารขอนแก่นนัดตรวจพยานหลักฐานในวันนี้ หลังจากอัยการทหารและทนายจำเลยทั้งห้าตรวจพยานหลักฐานแล้ว ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า ทนายจำเลยประสงค์ตรวจพยานเอกสารของโจทก์ลำดับที่ 1-15 ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำส่ง โจทก์แถลงว่า พยานเอกสารดังกล่าวเป็นบันทึกคำให้การพยาน โจทก์ไม่จำเป็นต้องนำส่ง ศาลชี้ว่า ทนายจำเลยมีสิทธิตรวจพยานเอกสารของโจทก์ทุกฉบับ แต่คัดถ่ายไม่ได้ เมื่อตรวจเสร็จแล้วต้องส่งคืน โจทก์คัดค้านว่า พยานเอกสารที่เป็นบันทึกคำให้การ หรือที่มีชื่อที่อยู่ของพยาน โจทก์ไม่ต้องนำส่งเพื่อให้ทนายจำเลยตรวจได้ แต่ศาลยืนยันว่า หากโจทก์ไม่ส่งให้ทนายจำเลยตรวจก็ไม่มีสิทธินำส่งเพื่อสืบเป็นพยานหลักฐาน โจทก์จึงขออนุญาตศาล ส่งบันทึกคำให้การพยานให้ทนายจำเลยตรวจ
 
จากนั้น โจทก์แถลงขอนำพยานหลักฐานเข้าสืบ เป็นพยานเอกสารรวม 30 ฉบับ และพยานบุคคลรวม 14 ปาก โดยพยานโจทก์ปากที่ 1 คือ  พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คสช. ผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้ พยานปากอื่นๆ ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา จำนวน 2 ปาก, ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา  1 ปาก, เจ้าหน้าที่ผู้ทำการจับกุม 4 ปาก, พนักงานสอบสวน 4 ปาก และประจักษ์พยาน 2 ปาก ซึ่งเป็นผู้ต้องหาและบุคคลที่ถูกควบคุมตัวจากกรณีที่เจ้าหน้าที่สืบสวนพบการเตรียมการป่วนกิจกรรม Bike for Dad
 
ด้านทนายจำเลยแถลงขอนำพยานเข้าสืบ เป็นพยานเอกสารรวม 29 ฉบับ และพยานบุคคลจำนวนหลายปาก โดยจำเลยทั้งห้า นอกจากจะอ้างตนเอง บุคคลในครอบครัว และเพื่อนบ้านเป็นพยานแล้ว ยังอ้างพยานเป็นเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางขอนแก่น จำเลยในคดีเดียวกัน และผู้ที่เคยต้องขังในเรือนจำกลางขอนแก่นด้วยกันในช่วงที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด
 
โจทก์แถลงอีกว่า พยานโจทก์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ หรือต้องปฏิบัติราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่สะดวกมาเบิกความที่ศาลฯ นี้ และไม่สามารถสืบพยานโดยวิธีอื่น โจทก์ประสงค์ขอส่งประเด็นไปสืบที่ศาลทหารกรุงเทพ โดยโจทก์จะตามไปว่าความร่วมกับอัยการศาลทหารกรุงเทพฯ ด้านทนายจำเลยทั้งห้าไม่ค้าน ขอตามประเด็นไปว่าความที่ศาลทหารกรุงเทพเช่นกัน หากทนายจำเลยไม่ไปถือว่าไม่ติดใจถามค้าน ส่วนจำเลยทั้งห้าไม่ประสงค์ตามประเด็นไปด้วย
 
จากนั้น โจทก์แถลงต่อศาลว่า คดีนี้หากพิจารณาโดยเปิดเผยจะกระทบต่อความสงบเรียบร้อย จึงขออนุญาตให้พิจารณาลับทั้งคดี ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นสมควรอนุญาตให้ทำการพิจารณาลับทั้งคดี อนุญาตให้เฉพาะโจทก์ จำเลยทั้งห้า ทนายจำเลย พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และพนักงานรักษาความสงบอยู่ในห้องพิจารณาคดีเท่านั้น
 
ทั้งนี้ ในนัดหน้า โจทก์แถลงขอสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 คือ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ในวันที่ 4 สิงหาคม 2559
 
4 สิงหาคม 2559
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พล.ต.วิจารณ์ จดแตง คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของ คสช. ผู้กล่าวหาในคดีนี้
 
4 ตุลาคม 2559
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 คือ ณัฐพล ซึ่งเป็นจำเลยคดีมาตรา 112 อีกคดี และเป็นนักโทษที่ถูกคุมขังพร้อมกับจำเลยในคดีนี้ ซึ่งจะมาเบิกความยืนยันว่า ได้ยินจำเลยทั้งห้าพูดคุยกันตามฟ้องหรือไม่
 
ศาลนัดสืบพยานเวลา 8.30 น. ทนายจำเลยและญาติของจำเลยมาถึงศาลตั้งแต่เช้า แต่จำเลยคนแรกที่ถูกนำตัวมาถึงศาลทหารขอนแก่น คือ ธนกฤต มาถึงในเวลาประมาณเกือบ 10.00 น. และอีกไม่กี่นาทีต่อมา จำเลยอีก 4 คน คือ ประธิน พาหิรัณ วีรชัย และวัลลภ ก็ถูกพาตัวมาถึง
 
เจ้าหน้าที่ศาลทหารขอนแก่นแจ้งว่า พยานในวันนี้ คือ ณัฐพล ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในอีกคดีหนึ่ง แต่ยังไม่ถูกนำตัวมาจากกรุงเทพ และได้ประสานงานไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพพบว่า เกิดความผิดพลาดขึ้น ทำให้ณัฐพล ไม่ถูกเบิกตัวออกมจากจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพในวันนี้ นัดสืบพยานวันนี้จึงต้องเลื่อนออกไปก่อน 
 
เจ้าหน้าที่ศาล อัยการโจทก์ และทนายจำเลยตกลงหาวันนัดใหม่ได้เป็นวันที่ 8 ธันวาคม 2559 
 
8 ธันวาคม 2559 
 
สืบพยานโจทก์ ปากที่ 2 ณัฐพล ซึ่งถูกคุมขังอยู่ตามคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง  ถูกเบิกตัวมาเป็นพยาน โดยณัฐพลเป็นนักโทษในคดียาเสพย์ติดที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพร้อมกับจำเลยในคดีนี้ ในช่วงเวลาที่จำเลยถูกกล่าวหาว่า พูดคุยกันด้วยเนื้อหาที่เป็นความผิด แต่ณัฐพลเบิกความว่า ไม่ได้ยินจำเลยในคดีนี้คุยกันตามที่ถูกฟ้อง 
 
สำหรับเอกสารคำให้การของณัฐพลในชั้นสอบสวน ที่ณัฐพลเคยลงชื่อรับรองไว้ว่า ได้ยินจำเลยพูดคุยกันจริง ณัฐพลเบิกความว่า ขณะที่ลงลายมือชื่อนั้น ถูกทหารควบคุมตัวไว้ในเริอนจำพิเศษในค่าย มทบ.11 ที่กรุงเทพฯ และถูกทำร้ายร่างกาย จึงต้องยอมลงชื่อ 
 
9 กุมภาพันธ์ 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นตำรวจชุดจับกุมจำเลย ศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ โดยผู้สังเกตการณ์และญาติพี่น้องของจำเลยไม่สามารถเข้าฟังได้ ศาลใช้เวลาสืบพยานตั้งแต่ประมาณ 10.00 ถึง 11.20 น. และนัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไปในวันที่ 3 พฤษภาคม 2560
 
20 กุมภาพันธ์ 2560
 
ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ถูกนำตัวไปศาลทหารขอนแก่นในคดีขอนแก่นโมเดล พ่อของวีรชัย นำหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดิน ตีราคาได้ 7.5  แสนบาท มายื่นขอประกันตัว แต่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว
 
9 กุมภาพันธ์ 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์นัดแรก ที่ศาลทหารขอนแก่น ในเวลา 13.00 ประธินและณัฐพล ถูกนำตัวมาที่ศาลทหารขอนแก่นในเวลาประมาณ 9.30 เนื่องจากมีนัดสืบพยานโจทก์ในคดีวางแผนป่วนกิจกรรม Bike for Dad ในช่วงเช้า แต่เมื่อมาถึงศาล เจ้าหน้าที่ศาลทหารก็แจ้งว่า การสืบพยานในคดีนี้จะต้องเลื่อนออกไป เพราะพยานโจทก์ในวันนี้ คือ พ.ต.วิจารณ์ จดแตง ติดราชการ ไม่สามารถมาศาลได้ และให้นัดสืบพยานโจทก์ใหม่ ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2560
 
 
23 สิงหาคม 2562
 
ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ออกหมายเรียกให้จำเลยที่เป็นพลเรือนสามคดีมาศาลพร้อมกัน โดยศาลเรียกว่า เป็น "นัดพร้อมเพื่อฟังคำสั่ง" ที่นัดพิเศษขึ้นมาต่างหากจากนัดที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งทั้งสามคดีจำเลยมีความเกี่ยวข้องกัน จึงนัดให้มาพร้อมกันในวันนี้
 
คดีของพลเรือนทั้งสามคดดี ได้แก่ คดีนี้, คดีขอนแก่นโมเดล และคดีของประธินกับณัฐพล
 
วันนี้จำเลยทั้ง 5 คนที่ถูกคุมตัวอยู่ถูกพาตัวจากเรือนจำมาที่ศาล และจำเลยอีก 18 คน เดินทางมาศาล พร้อมทนายความจากสหพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ที่เช่ารถตู้เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ส่วนจำเลยอีก 2 คน เสียชีวิตแล้วระหว่างการพิจารณาคดียังไม่เสร็จ และจำเลยอีก 2 คน หลบหนี ไม่มาตามนัดหมายของศาลเป็นเวลากว่าสองปีแล้ว 
 
เนื่องจากคดีนี้มีจำเลย และทนายความจำนวนมาก ห้องพิจารณาคดีที่ศาลทหารขอนแก่นเล็กเกินไปสำหรับปริมาณคนที่ต้องเข้าไปในห้อง ทางเจ้าหน้าที่ศาลจึงกั้นพื้นที่ชั้นหนึ่งของอาคารศาลขึ้นมาใหม่ และเอาโต๊ะเก้าอี้เข้ามาวางเพื่อใช้เป็นห้องพิจารณาคดีชั่วคราว พร้อมติดเครื่องปรับอากาศเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าไปในห้องได้โดยไม่อึดอัดจนเกินไป จำเลยทั้งสามคดีถูกพาตัวเข้าไปในห้องพิจารณาชั่วคราวนี้พร้อมกัน โดยเจ้าหน้าที่ศาลใช้วิธีการเช็คชื่อจำเลยทีละคนตั้งแต่เช้า และให้จำเลยติดป้ายระบุหมายเลขว่า เป็นจำเลยคนที่เท่าไรไว้ที่หน้าอกเสื้อ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว
 
ตุลาการทหารขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 10.30 น. ตุลาการไม่ได้ขานชื่อจำเลยทีละคนในคดีขอนแก่นโมเดล แต่เรียกชื่อจำเลยอีกสองคดีทุกคนที่อยู่ในชุดนักโทษให้ยืนขึ้น เสร็จแล้วศาลแจ้งว่า จำเลยทุกคนในคดีนี้เป็นพลเรือน แต่ต้องมาพิจารณาคดีที่ศาลทหารตามประกาศของ คสช. และบัดนี้ คสช. ได้มีคำสั่งยกเลิกการให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารแล้ว หลังจากนี้ก็ขอให้ทุกคดีกลับไปพิจารณาคดีที่ศาลพลเรือน และถามทุกคนว่า ทราบแล้วใช่หรือไม่ จำเลยบางคนพยักหน้ารับ 
 
จากนั้นศาลจึงอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดีที่เตรียมไว้แล้ว ระบุว่า "เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 เรื่องการยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับที่หมดความจำเป็น กำหนดให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป คำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้งดการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว กับให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา และจำหน่ายคดีออกจากสารระบบความในศาลนี้ ให้มีหนังสือไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม และเพื่อให้การโอนคดีเป็นไปด้วยความเรียบร้อยจึงให้สัญญาประกันและหมายขังของจำเลยยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป ก่อนส่งสำนวนให้ศาลถ่ายสำเนาสำนวนและเอกสารต่างๆทั้งหมดเก็บไว้ที่ศาลนี้ด้วย”
 
หลังจากนั้นตุลาการลุกขึ้นและจะเดินออกจากห้องพิจารณาคดีชั่วคราวทันที แต่หนึ่งในทีมทนายความยกขึ้น และขออนุญาตศาลว่า จะขอกล่าวอะไรสักหน่อย ทุกคนจึงนั่งลงฟัง ทนายแถลงว่า ตลอดเวลาห้าปีเต็มที่ต้องมาขึ้นศาลแห่งนี้เพื่อการพิจารณาคดี ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าหน้าที่และศาลทุกคน เป็นบรรยากาศที่รู้สึกว่า ไม่ได้เป็นศัตรูกัน ไม่ได้สร้างความกดดันให้กัน แม้การพิจารณาคดีจะช้าไปสักหน่อย จนท่านอัยการทหารบางคนจากไป และจำเลยบางคนก็จากไปก่อนคดีจะเสร็จ ขอขอบคุณทั้งศาลและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่อำนวยความสะดวกให้และช่วยเหลือกันเสมอมา โดยหวังว่า จะไม่ต้องกลับมาที่นี่กันอีก
 
ด้านศาลก็กล่าวตอบว่า ศาลนี้ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร ศาลเพียงแต่ต้องทำตามคำสั่งของ คสช. บัดนี้คำสั่งของ คสช. ยกเลิกแล้วก็ขอให้ทุกคนโชคดี
 
 
 
 
 
 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา