ธเนตร: โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์รัฐบาลและกองทัพ

อัปเดตล่าสุด: 27/02/2564

ผู้ต้องหา

ธเนตร

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พล.ต. วิจารณ์ จดแตง

สารบัญ

ธเนตร นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อ 13 ธันวาคม 2558 และถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดตาม ม.116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3) จากการโพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่ภาพ ข้อความ แสดงความคิดเห็น และแชร์เฟซบุ๊กของผู้อื่น โจมตีรัฐบาล, กองทัพ และประเด็นการทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยระหว่างฝากขัง เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ระบุว่าข้อความใดบนเฟซบุ๊กที่เป็นพฤติการณ์ให้ถูกดำเนินคดี 
 
18 ธันวาคม 2558 ธเนตรได้รับการประกันตัวและปล่อยตัวจากเรือนจำ แต่ 20 มกราคม 2559 ธเนตร ผู้ต้องหาไม่มาตามกำหนดนัดไว้ ศาลทหารกรุงเทพจึงยึดหลักทรัพย์ประกัน 26 กรกฎาคม 2559 ธเนตรเข้ามอบตัวและนัดส่งตัวให้ศาลทหารในอีก 2 วันถัดไป จากนั้น 17 ตุลาคม 2559 ธเนตรถูกฟ้อต่อศาลทหารกรุงเทพ เป็นความผิดจากการโพสต์เฟซบุ๊ก จำนวน 5 ครั้ง เขาไม่ได้ประกันตัวและถูกคุมขังเรื่อยมาระหว่างที่การพิจารณาคดีเดินไปอย่างล่าช้า จนกระทั่งหลัง คสช. ออกคำสั่งยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารคดีของธเนตรจึงถูกโอนไปพิจารณาต่อที่ศาลพลเรือน ในวันที่ คสช. หมดไปแล้ว เขายังถูกขังในเรือนจำทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษา
 
เมื่อขึ้นศาลอาญา ศาลนัดพิจารณาคดีและสืบพยาน จนกระทั่งวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้อง เพราะพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอว่าจำเลยกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในราชอาณาจักรตามมาตรา 116 และ ความผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ธเนตร เป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด และครั้งล่าสุดก่อนที่จะถูกจับ เขาได้ร่วมเดินทางกับกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา เพื่อไปตรวจสอบการทุจริตโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ในวันที่ 7 ธันวาคม 2558 และเขาประกอบอาชีพขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2559 อัยการทหาร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลทหารกรุงเทพ กล่าวหาว่า ธเนตร กระทำความผิดฐานยุยงปลุกปั่น และนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความั่นคงของประเทศสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จากการโพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ “ธเนตร อนันตวงษ์ รักเสื้อแดง ตลอดไป” ระหว่างวันที่ 16 กันยายน – 10 ธันวาคม 2562 จำนวน 5 ครั้ง ดังนี้
 
วันที่ 16 กันยายน 2558 โพสต์ภาพและข้อความว่า “ไปบ้านหมาเปรมตัดสินจำคุก ไม่เกี่ยวกับประชาชน กปปส. ยึดปิดสถานที่ราชการรอด? ประชาชนเดือดร้อน” และ “ประเทศ ไทยเอย ทำไม่เธอ มัน (หน้าหีจริงจริง)”
 
วันที่ 9 กันยายน 2558 โพสต์ข้อความในเชิงคาดการณ์ว่า มีกระบวนการสักอย่างเกิดขึ้นกับ “หมอหยอง” หรือ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ ซึ่งอาจเป็นการข่มขู่ทรมานจนได้ความลับ หรือ ซัดทอดมากเกินไป จนไปเกี่ยวโยง คสช. จึงต้อง “ปิดปากหมอหยอง”
 
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 แชร์โพสต์ข้อความชวนเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรม “ลอยกระทงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล” ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558
 
วันที่ 1 ธันวาคม 2558 โพสต์ภาพและข้อความว่า “กรณี.โหนเจ้าหาแดกอุทยานราชภักดิ์ ภาษามวยเขาเรียกว่า แผลแตกเล็กน้อย ไม่ได้โกงเยอะมากมายแต่มันอยู่ที่หัวคิ้ว ชัดเจน เราแค่ต่อยย้ำๆ ให้มันขยาย ตอนนี้ เลือดแม่งเขา้ตาออกหมัดมั่วไปหมดสะใจกูจริงๆ 555” 
 
ครั้งที่ห้า วันที่ 1 ธันวาคม 2558 โพสต์ภาพและข้อความว่า “รณรงค์ใส่เสื้อแดงไปเที่ยวอุทยานราชภักดิ์ วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม” 
 
โจทก์กล่าวหาว่า ภาพและข้อความเหล่านี้ทำให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังและต่อต้านรัฐบาล และค สช. ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต จึงฟ้องต่อศาลว่า ธเนตรกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 92 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

พฤติการณ์การจับกุม

12 ธันวาคม 2558 
 
มติชน รายงานว่าพนักงานสอบสวน บก.ป.ยื่นคำร้องขออำนาจศาลทหารออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มเติม 1 ราย ทราบชื่อ ธเนตร อายุ 25 ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112,116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
13 ธันวาคม 2558 
 
ธเนตรถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัด ควบคุมตัวไปจากโรงพยาบาลสิรินธร ขณะรักษาอาการลำไส้อักเสบและกำลังรอเข้ารับการผ่าตัด โดยมีเพื่อนอีก 2 คน กำลังไปเยี่ยมธเนตรที่โรงพยาบาลและเห็นขณะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนายธเนตรไป  
 
โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งชื่อ-นามสกุล ต้นสังกัด และไม่แจ้งว่าจะควบคุมตัวธเนตรฯ ไปที่ใด และควบคุมตัวเพราะเหตุใด อีกทั้งไม่ได้แสดงหมายจับของศาลขณะเข้าควบคุมตัว
 
ทั้งนี้ ผู้ใช้เฟสบุ๊กชื่อ Piyarat Chongthep โพสต์ข้อความว่า เมื่อธเนตรทราบว่ามีหมายจับจึงไม่คิดจะหนีและแสดงเจตนาที่จะมอบตัวเพื่อพิสูจน์ตัวเอง และยังรายงานเพิ่มเติมอีกว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวธเนตรลงลิฟท์จากชั้น 7 ไป ก่อนขึ้นรถ โดยใช้รถแท๊กซี่สีเขียวเหลืองไม่ติดป้ายทะเทียน และกระจกก็ถูกปิดด้วยกระดาษ
 
อย่างไรก็ดี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รอง ผบ.ตร. กลับออกมาชี้แจ้งพฤติการณ์จับกุม ว่า "ไม่ได้เป็นการควบคุมตัวออกจากเตียงที่รักษาตามที่มีการโพสต์กันในโลกออนไลน์แต่อย่างใด แต่เป็นการควบคุมตัวโดยถูกต้องตามหมายจับของศาลขณะที่ผู้ต้องหากำลังจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล และมีพฤติกรรมคาดว่าจะหลบหนีไป ทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้จากเอกสารหลักฐานต่างๆ"
 
นอกจากนี้ ปิยรัฐ จงเทพ ยังได้เขียนข้อโต้แย้ง กรณี “รอง ผบ.ตร. แถลงสรุปว่า ธเนตร อนันตวงษ์ ถูกจับเพราะเตรียมหลบหนี ไว้ว่า ธเนตรไม่ได้คิดจะหนี เพราะโดยสภาพแล้ว ธเนตรมีอาการป่วย และไม่มีเงิน ไม่มีเครื่องมือสื่อสาร ไม่มีแม้แต่รองเท้าจะใส่ เพราะต้องให้คนหามมา รพ. แบบฉุกเฉิน แม้ว่าคณะจับกุม ปิยรัฐจะไม่ได้อยู่ด้วย เนื่องจากจัดการค่ารักษาพยาบาล แต่เบอร์โทรศัพท์ที่ธเนตรติดต่อมาเป็นเบอร์จากห้องของผู้ป่วย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าการจับกุมเกิดขึ้นที่เตียงผู้ป่วย ไม่ใช่ขณะจ่ายค่ายาอย่างที่ตำรวจได้แถลงไป

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

273/2559

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
13 ธันวาคม 2558 
 
ธเนตรถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปจากโรงพยาบาลสิรินธร
 
14 ธันวาคม 2558 
 
สิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เพื่อนของ "ธเนตร" ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวเพราะการควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็น คดี ษ. 98/2558 
 
ทนายยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวเพราะ เป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวไม่แสดงตน ไม่แจ้งสังกัด และไม่แสดงหมายจับของศาล ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญาและไม่ใช่กรณีการกระทำผิดซึ่งหน้า ที่เจ้าพนักงานจะควบคุมตัวได้โดยไม่มีหมายจับ 
 
และในวันเดียวกัน เพื่อนของธเนตรได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 แขวงถนนนครชัยศรี เขตดุสิต  กรุงเทพมหานคร ให้นำยาไปให้นายธเนตรได้ แต่ไม่อนุญาตให้เยี่ยมหรือติดต่อกับธเนตรแต่อย่างใด
 
15 ธันวาคม 2558 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอาญามีคำสั่งให้ยกคำร้อง ที่ขอให้้ไต่สวนกรณีควบคุมตัวธเนตร ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะศาลเห็นว่าสิรวิชญ์ ผู้ร้อง เพียงแต่ได้รับคำบอกเล่าจากเพื่อนอีกต่อหนึ่ง โดยไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริงว่าธเนตรถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจริงหรือไม่ อีกทั้ง มีข้อความในคำร้องว่า ธเนตรต้องการจะมอบตัวหลังเห็นหมายจับที่เพื่อนนำมาให้ธเนตรดูผ่านมือถือ ศาลเห็นว่าประเด็นนี้ขัดแย้งกับประเด็นในคำร้องที่ระบุว่าธเนตรถูกคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
 
16 ธันวาคม 2558 
 
สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เดินทางไปศาลอาญารัชดาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวธเนตร เนื่องจากการควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 เป็นครั้งที่สอง โดยอ้างเหตุว่า เจ้าพนักงานผู้เข้าควบคุมตัวธเนตร อ้างว่าเป็นการจับกุมตามหมายจับ แต่ไม่ได้นำตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนของท้องที่ที่ถูกจับในทันที และควบคุมตัวเป็นระยะเวลานานถึง 4 วัน โดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ ไม่ได้แสดงหมายจับ และไม่ได้แจ้งด้วยว่ามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ 
 
17 ธันวาคม 2558 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลมีคำสั่งให้ "ยกคำร้อง" เป็นครั้งที่สอง โดยให้เหตุผลว่า การจับกุมและการควบคุมตัว "ธเนตร" ตามที่ผู้ร้องอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นไม่ได้เกิดขึ้น เพราะเป็นการจับกุมด้วยอำนาจตามประกาศของ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ประกาศให้ความผิดที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐให้อยู่ในอำนาจศาลทหาร และยังมีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ซึ่งให้เจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน ฉะนั้นการควบคุมตัวนายธเนตรจึงไม่ใช่การควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย 
 
18 ธันวาคม 2558  
 
พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ควบคุมตัวธเนตรมาที่กองบังคับการปราบปรามเพื่อตั้งข้อหาและแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงว่า ธเนตรเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารที่ 64/2558 มีอาชีพขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พฤติการณ์แห่งความผิด คือ ใช้เฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาต่อต้านรัฐบาล กองทัพ และบุคคลสำคัญ เคยมีประวัติเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหลายครั้ง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาฐานปลุกปั่นยั่วยุ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อหาฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 
 
จากนั้น เวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปราม พร้อม พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ควบคุมตัว ธเนตร มาขออำนาจศาลทหารฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ในเวลาประมาณ 15.00 สิรวิชญ์พร้อมกับพ่อของธเนตรเดินทางมาที่ศาลทหาร แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ จึงมีการเจรจากันเพราะพ่อของธเนตรเดินทางมาจากจังหวัดอุทัยธานีเพื่อมาขอพบลูกชาย ทหารอนุญาตให้พ่อของธเนตรเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ ส่วนคนอื่นให้รออยู่ด้านนอก
 
ในห้องพิจารณาคดี พนักงานสอบสวนขออนุญาตฝากขัง โดยในคำร้องระบุเพียงว่า ผู้ต้องหาโพสต์เผยแพร่ ภาพ ข้อความ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นด้วยตนเอง และแชร์จากเฟซบุ๊กของผู้อื่น และแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เป็นเหตุให้รัฐบาลและกองทัพได้รับความเสียหาย โดยมี พล.ตรี วิจารณ์ จดแตง เป็นผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี แต่ยังไม่ได้ระบุว่าเป็นโพสต์ใดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร
 
อย่างไรก็ดี ทนายของธเนตร ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง โดยอ้างเหตุว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ นอกจากนั้นผู้ต้องหามีอาการป่วย และต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม ศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังธเนตรเป็นเวลา 12 วัน ระบุว่า "มีเหตุให้เห็นชอบตามคำร้องของพนักงานสอบสวน"
 
หลังศาลทหารอนุญาตให้ฝากขัง ทนายจึงยื่นขอประกันตัวธเนตรด้วยเงินสด 400,000 บาท ศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัวธเนตร ด้วยวงเงิน 100,000 บาท ธเนตรได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 
 
4 มกราคม 2559

ศาลทหารมีคำสั่งให้นายประกันของธเนตรนำเงิน 100,000 บาท มาชำระเนื่องจากธเนตรไม่มาศาลตามนัด
 
12 พฤษภาคม 2559
 
หลังจากทนายความยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลอาญาต่อศาลอุทธรณ์ โดยให้เหตุผลว่า ศาลชั้นต้นไม่ได้ไต่สวนทั้งที่ข้อเท็จจริงมีมูลพอที่จะให้ศาลไต่สวน การยกคำร้องทันที จึงเป็นการทำคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกควบคุมตัว 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนใหม่
 
20 มิถุนายน 2559

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ในวันนี้นางสาวภาวิณี ชุมศรี ทนายความ ได้แจ้งต่อศาลว่านายธเนตรได้รับการปล่อยตัวแล้วตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 58 หลังจากนั้นธเนตรได้เดินทางไปยังต่างประเทศไม่สามารถติดต่อได้ ศาลจึงมีคำสั่งว่า “ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่ากรณีตามคำร้องเมื่อผู้ต้องต้องถูกควบคุมตัวได้รับการปล่อยตัวแล้ว จึงไม่มีเหตุไต่สวนคำร้องขอให้ปล่อยตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 อีก ให้ยกคำร้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ”
 
26 กรกฎาคม 2559

เข้ามอบตัว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 11.00 น. ธเนตร เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน ที่กองบังคับการปราบปราม ภายหลังรายงานตัวเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวธเนตรกลับและนัดส่งตัวให้อัยการศาลทหารในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ที่ศาลทหารกรุงเทพ
 
17 ตุลาคม 2559 

นัดฟังคำสั่งอัยการทหาร

อัยการทหาร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพ กล่าวหาว่า ธเนตร กระทำความผิดตามประมวลอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น และตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความั่นคงของประเทศสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จากการโพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ “ธเนตร อนันตวงษ์ รักเสื้อแดง ตลอดไป” ระหว่างวันที่ 16 กันยายน – 10 ธันวาคม 2562 จำนวน 5 ครั้ง 
ครั้งแรก วันที่ 16 กันยายน 2558 โพสต์ภาพและข้อความว่า “ไปบ้านหมาเปรมตัดสินจำคุก ไม่เกี่ยวกับประชาชน กปปส. ยึดปิดสถานที่ราชการรอด? ประชาชนเดือดร้อน” และ “ประเทศ ไทยเอย ทำไม่เธอ มัน (หน้าหีจริงจริง)”
 
ครั้งที่สอง วันที่ 9 กันยายน 2558 โพสต์ข้อความในเชิงคาดการณ์ว่ามีกระบวนการสักอย่างเกิดขึ้นกับ “หมอหยอง” หรือ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ ซึ่งอาจเป็นการข่มขู่ทรมานจนได้ความลับ หรือ ซัดทอดมากเกินไป จนไปเกี่ยวโยง คสช. จึงต้อง “ปิดปากหมอหยอง”
 
ครั้งที่สาม วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 แชร์โพสต์ข้อความชวนเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรม “ลอยกระทงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล” ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558
 
ครั้งที่สี่ วันที่ 1 ธันวาคม 2558 โพสต์ภาพและข้อความว่า “กรณี.โหนเจ้าหาแดกอุทยานราชภักดิ์ ภาษามวยเขาเรียกว่าแผลแตกเล็กน้อย ไม่ได้โกงเยอะมากมายแต่มันอยู่ที่หัวคิ้ว ชัดเจน เราแค่ต่อยย้ำๆ ให้มันขยาย ตอนนี้ เลือดแม่งเขา้ตาออกหมัดมั่วไปหมดสะใจกูจริงๆ 555” 
 
ครั้งที่ห้า วันที่ 1 ธันวาคม 2558 โพสต์ภาพและข้อความว่า “รณรงค์ใส่เสื้อแดงไปเที่ยวอุทยานราชภักดิ์ วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม” 
 
คำฟ้องระบุว่า ภาพและข้อความเหล่านี้ทำให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังและต่อต้านรัฐบาล และคสช. ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต 
 
คำขอท้ายฟ้อง ระบุอีกด้วยว่า ถือว่าเป็นความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 92 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และขอให้ศาลนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีดำที่ 221/2559 ของศาลทหารกรุงเทพ หรือ “คดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์” กับขอไม่ให้หักวันคุมขังจำเลยในคดีนี้ที่ทับซ้อนกับวันคุมขังในคดีดังกล่าวออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาด้วย

 
25 มกราคม 2560

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลทหารนัดสอบคำให้การ ธเนตร ในคดีร่วมกิจกรรม “นั่งรถไฟไปราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ชุมนุมการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป ทั้งนี้ ธเนตรให้การรับสารภาพในชั้นศาล ตุลาการศาลทหารจึงได้อ่านคำพิพากษา ให้จำคุกจำเลย 6 เดือน โดยมีการเพิ่มโทษตามมาตรา 92 (กระทำผิดซ้ำภายในห้าปี) อีก 2 เดือน เป็น 8 เดือน จากการที่จำเลยเคยถูกศาลพิพากษาในคดีชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และทำให้เสียทรัพย์ แต่จำเลยให้การรับสารภาพลดเหลือ 4 เดือน ทั้งนี้ จำเลยได้ถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้วตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2559 ซึ่งถูกคุมขังเกินโทษจึงสั่งให้ปล่อยตัวในคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. นี้
 
อย่างไรก็ดี ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายของจำเลย กล่าวว่า ศาลทหารกรุงเทพยังควบคุมตัวธเนตรอยู่ในคดีความผิด มาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และเป็นการขังระหว่างพิจารณาคดีและไม่อนุญาตให้ประกันตัว
 
14 กุมภาพันธ์ 2560

นัดสอบคำให้การ 

อัยการทหาร ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเพิ่มเติมต่อศาล ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกที่ศาลทหารกรุงเทพได้มีคำพิพากษาแล้วว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 มีกำหนดโทษ 4 เดือน ในคำขอท้ายฟ้องเกี่ยวกับการขอให้นับโทษต่อ ขอให้ไม่ให้หักวันคุมขังจำเลยในคดีนี้ทับซ้อนกับวันคุมขังในคดีก่อนหน้านี้ 
 
18 พฤษภาคม 2560

นัดสอบคำให้การ

ทนายความจำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญา ซึ่งทนายยื่นคำร้องวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาลขอให้ศาลทหารกรุงเทพส่งสำนวนคดีนี้เพื่อให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
 
คำร้องจำเลยได้อ้างว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันประกอบด้วยหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 ทำให้ประกาศ คสช. ที่ให้พลเรือนอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหารขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไทยและกติการะหว่างประเทศ และไม่มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย
 
ตามฟ้องของโจทก์ การที่จำเลยโพสต์ภาพ ทั้ง 5 ภาพ ไม่มีภาพใดที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เนื่องด้วยคดีนี้ พฤติกรรมความผิดเพียงการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามให้เกิดความเสียหายโดยการโฆษณา อันเป็นความผิดตามประมวลอาญา มาตรา 328 
 
คดีจำเลยไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารกรุงเทพ คดีของจำเลยอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลพลเรือน
 
31 พฤษภาคม 2560

โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องของจำเลย สรุปได้ว่า รัฐภาคีสามารถเลี่ยงพันธกรณีภายใต้กติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตามข้อ 14 ได้ในภาวะฉุกเฉินสาธารณะ ซึ่งประเทศไทยได้ทำหนังสือแจ้งต่อองค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 อีกทั้ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 บัญญัติให้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/ 2557 และ ฉบับที่ 38/2557 ที่ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจาณาพิพากษาคดีอาญา ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด
 
9 ตุลาคม 2560 

ศาลทหารกรุงเทพได้ส่งความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลในคดีนี้ให้ศาลยุติธรรมพิจารณา โดยมีความเห็นว่า ความผิดตามฟ้องเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร 
 
1 กุมภาพันธ์ 2561 

นัดฟังคำสั่งเรื่องเขตอำนาจศาล
 
 
12 มีนาคม 2561
 
นัดสอบคำให้การ
 
ธเนตรถูกควบคุมตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมาถึงศาลทหารกรุงเทพในเวลาประมาณ 8.00 น. หลังจากนั้นเขาก็ถูกนำตัวขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดี 4 ก่อนที่ศาลจะเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลา 9.30 น.
 
ศาลถามธเนตรว่า ได้รับสำเนาคำฟ้องแล้วหรือยัง ธเนตรตอบว่าได้รับแล้ว ศาลอ่านคำฟ้องให้ฟังโดยสรุปอีกครั้งหนึ่งและถามธเนตรว่าเข้าใจฟ้องโจทก์หรือไม่ ธเนตรตอบว่า เข้าใจ 
 
หลังจากนั้นศาลถามว่าเธนตรจะให้การอย่างไร ธเนตรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและแถลงขอต่อสู้คดี หลังจากนั้นศาลสอบถามธเนตรกับทนายของเขาเกี่ยวกับวันที่ธเนตรถูกควบคุมตัวโดยอำนาจของทหาร ทนายจำเลยแถลงยืนยันให้ศาลเริ่มนับวันที่จำเลยถูกคุมขังตั้งแต่วันที่จำเลยถูกทหารควบคุมตัว ไม่ใช่วันที่เขาถูกส่งเข้าเรือนจำ ศาลอนุญาตตามที่ทนายจำเลยแถลง และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 เวลา  8.30 น.
 
30 เมษายน 2561

อัยการศาลทหารกรุงเทพ ฝ่ายโจทก์ ยื่นคำขอต่อศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 เวลา 8.30 น. และขอยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน และขอส่งเอกสารที่ใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานโจทก์
 
4 พฤษภาคม 2561

ทนายจำเลย ขอศาลออกหมายเรียกพยานเอกสาร เพื่อใช้ในวันตรวจพยานด้วย
 
16 พฤษภาคม 2561 
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลสั่งตัดพยานบุคคลของฝ่ายจำเลยได้แก่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ประธานจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ และพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งให้ตัดพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์  ทนายจำเลยเห็นว่าการใช้ดุลพินิจของศาลทำให้จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงแถลงขอให้เปลี่ยนองค์คณะตุลาการใหม่ ศาลจึงสั่งให้เลื่อนการตรวจพยานหลักฐานคดีนี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนดเพื่อรอการแต่งตั้งองค์คณะตุลาการใหม่

 
13 มิถุนายน 2561
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน 

ทนายความจำเลย ไม่เห็นด้วยกับการที่ศาลสั่งไม่รับพยานเอกสาร และพยานบุคคลจำเลย ลำดับที่ 4 พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร และ ลำดับที่ 5 พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา เพราะเป็นพยานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคดี 
ทนายความจำเลย ขอให้ศาลส่งสำนวนและคำร้องฉบับนี้ให้หัวหน้าศาลทหารกรุงเทพหรือเจ้ากรมพระธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาและแต่งตั้งองค์คณะตุลาการคณะใหม่
 
ทั้งนี้ จำเลยถูกจองจำเป็นระยะเวลานานแล้วเพื่อพิจารณาคดีโดยเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม ขอศาลได้โปรดพิจารณาโดยเร็ว
 
12 ตุลาคม 2561
 
ฟังคำสั่งศาล

ผู้พิพากษาศาลออกนั่งพิจารณาคดีเวลาประมาณ 9.40 น. ตามที่ทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้หัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ หรือเจ้ากรมพระธรรมนูญสั่งเพิกถอนกระบวนการพิจารณา และแต่งตั้งองค์คณะตุลาการคณะใหม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า การพิจารณาคดีตลอดถึงการที่จะมีคำสั่งใด ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลทหารโดยเฉพาะจึงให้ยกคำร้อง และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 20 ธันวาคม 2561
 
20 ธันวาคม 2561 
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน

ผู้พิพากษาศาลทหารออกพิจารณาคดี 10.00 น. ศาลนำพยานหลักฐานให้ทนายจำเลยตรวจสอบ จากนั้นอัยการทหาร ฝ่ายโจทก์แถลงแนวทางการสืบพยาน มีพยานบุคคลทั้งหมด 6 ปาก ได้แก่
 
1. พลตรีวิจารณ์ จดแตง ผู้กล่าวหาในคดี และผู้ซักถามปากคำจำเลย
2. พล.ต.ตรี สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ผู้ซักถามปากคำจำเลย
3. ร้อยตำรวจโท วีระบุตร บุตรดีขันธ์ พยานผู้ตรวจสอบเฟสบุ๊คของจำเลย
4. รศ.ดร. เจษฎ์ โทณะวนิก ผู้ให้ความเห็นทางด้านกฎหมาย
5. พ.ต.ท. นิเวศ สิงห์วงษ์ พยานผู้ตรวจร่างกายจำเลย
6.ร.ต.อ. ธิติ เปฏะพันธ์ุ พนักงานสอบสวน
 
และพยานเอกสาร 13 รายการ อีกทั้ง โจทก์ได้ยื่นพยานเอกสารลำดับที่ 7- 19 ประกอบการสืบพยาน ด้านทนายความจำเลยแถลงปฏิเสธข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ และแถลงแนวทางการสืบพยานของตน มีพยานบุคคล ได้แก่
 
1. จำเลย เป็นพยานให้ตนเอง
2. ผศ.สาวตรี สุขตรี นักวิชาการด้านกฎหมาย
3. อ.อิสสระ ชูศรี นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ 
 
และขอให้ศาลนัดพยานจำเลย 4-5 และพยานเอกสารลำดับที่ 17,19 – 25
ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์ปาก พล.ต. วิจารณ์ จดแตง และ พล.ต.ต. สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ในวันที่ 22 มีนาคม 2562 อีกทั้ง เพิ่มวันนัดพิจารณาในวันที่ 19 เมษายน 2562, นัดที่ 2 ในวันที่ 24 เมษายน 2562, นัดที่ 3 ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2562, นัดที่ 4 ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 และนัดที่ 5 ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ซึ่งทุกนัดเริ่มพิจารณาเวลา 8.30 น.
 
22 มีนาคม 2562
 
นัดสืบพยานโจทก์

ผู้พิพากษาศาลทหารออกนั่งพิจารณาคดี เวลาประมาณ 9.00 น. อัยการศาลทหาร ฝ่ายโจทก์แถลงว่า พยานโจทก์ 2 ปาก คือ พลโท วิจารณ์ จดแตง และ พลตำรวจตรี สุรศักดิ์ ขุนณรงค์  ไม่มาศาล เพราะ ติดราชการจำเป็นเร่งด่วน ไม่สามารถมาเป็นพยานในวันนี้ได้  
 
โจทก์ต้องการสืบพยานทั้งสองอยู่ ขอเลื่อนสืบพยานทั้งสองไปในนัดหน้าและนัดถัดไป ในวันที่ 19 เมษายน และ 24 เมษายน ตามลำดับนัดพิจารณา 8.30 น. ขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานทั้งสอง ทางทนายความจำเลยไม่ค้าน 
 
24 เมษายน 2562
 
นัดสืบพยานโจทก์

ผู้พิพากษาศาลทหารออกนั่งพิจารณาคดี เวลาประมาณ 9.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 10.30 น. อัยการทหาร ฝ่ายโจทก์ ขึ้นซักถาม พล.ต.ต สุรศักดิ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ซักถามธเนตร ร่วมกับ พล.ต. วิจารณ์ จดแตง และเป็นผู้กล่าวหาจำเลยในคดีนี้
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 1: พล.ต.ต สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ผู้ซักถามจำเลยในชั้นจับกุม
 
พล.ต.ต.สุรศักดิ์เบิกความว่า ระหว่างวันที่ 16 กันยายน – 10 ธันวาคม 2558 หน่วยข่าวภายในมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ตรวจพบข้อความเฟซบุ๊กของจำเลยซึ่งเป็นความผิด นอกจากนี้ จำเลยยังเป็นผู้ร่วมชุมนุมกับกลุ่มต่อต้านการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งชักชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาล คสช. ในวันที่ 7 ธันวาคม  2558
 
จากการสืบสวนและซักถามจำเลย พล.ต.ต.สุรศักดิ์พบว่า จำเลยทำหน้าที่เป็นการ์ด หรือ ผู้รักษาความปลอดภัย ให้กับ สิรวิญ เสรีธิวัฒน์ และในช่วงปี 2553 เป็นต้นมา จำเลยยังเคยร่วมกับชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งมีลักษณะชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ก่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และก่อความรุนแรง
 
พล.ต.ต.สุรศักดิ์ ได้ร่วมกับ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนของทหาร ตรวจสอบเฟซบุ๊กและการโพสต์ข้อความของจำเลย ก่อนจำเลยเข้าร่วมกิจกรรมตรวจสอบการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ก่อนพบการโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องและต่อต้านรัฐบาล คสช. บนเฟสบุ๊คส่วนตัวของเขาชื่อว่า “ธเนตร อนันตวงษ์ รักเสื้อแดง ตลอดไป” และส่วนใหญ่โพสต์ระหว่างวันที่ 16 กันยายน 2558 – 10 ธันวาคม 2558 
 
ตัวอย่างเช่น วันที่ 16 กันยายน 2558 ธเนตร โพสต์ภาพ 2 ภาพ ระบุข้อความว่า “ไปบ้านหมาเปรมตัดสินจำคุก ไม่เกี่ยวกับประชาชน กปปส. ยึดปิดสถานที่ราชการรอด? ประชาชนเดือดร้อน” และข้อความประกอบภาพว่า “ประเทศ ไทยเอย ทำไม่เธอ มัน (หน้าหีจริงจริง)” ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบการชุมนุมของนปช. หรือ คนเสื้อแดง กับการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ว่า ยึดสถานที่ราชการเหมือนกันแต่กลับไม่ติดคุก ทำให้ประชาชนมีความคิดต่อต้านรัฐบาล
 
ภาพต่อมา จำเลยโพสต์ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2558 พร้อมข้อความตั้งข้อสังเกตการเสียชีวิตปริศนาของ “หมอหยอง” ว่า “ผมเชื่อว่าคงมีกระบวนการอะไรสักอย่างที่กระทำกับหมอหยองภายในคุกทหาร มทบ.11 แขวงนครไชยศรี ตั้งแต่รอบแรกที่ถูกจับและไม่มีใครได้เห็นหน้าอีกเลย จากนั้นค่อยมีข่าว ‘รายชื่อคนใหญ่คนโต’ ในกองทัพและ สตช. ออกมากว่า 50 รายชื่อ คนมียศใหญ่โต และแหล่งข่าวระบุว่า “หมอหยองซัดทอด” … คงมีการกระทำอะไรบางอย่างกับหมอหยองในห้องลับปิดตายเหนือการตรวจสอบของสาธารณะห้องนั้นเช่นเดียวกับที่ปรากรมโดนถึงได้การซัดทอดครั้งใหญ่นี้ออกมา …” พยานเห็นว่า ภาพและข้อความดังกล่าวได้ชักชวนประชาชนให้ออกมาต่อต้านรัฐบาล และอาจจะนำมาซึ่งความวุ่นวายจนไม่สามารถควบคุมได้
 
ในวันที่ 1 ธันวาคม 2558 จำเลยยังโพสต์ภาพบุคคลและข้อความว่า “กรณีโหนเจ้าหาแดกอุทยานราชภักดิ์ ภาษามวยเขาเรียกว่าแผลแตกเล็กน้อย ไม่ได้โกงเยอะแยะมากมายแต่มันอยู่ที่หัวคิ้ว ชัดเจน เราแค่ต่อยย้ำๆ ให้มันขยาย ตอนนี้ เลือดแม่งเข้าตาออกหมัดมั่วไปหมดสะใจกูจริงๆ 555” ซึ่งข้อความนี้สร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน โดยกล่าวหารัฐบาลและกองทัพว่า ทำการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์
อัยการทหาร นำสืบต่อว่า คำว่าแชร์ “share” พยานแปลว่าอะไร พล.ต.ต.สุรศักดิ์ตอบว่า คือ การเผยแพร่ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2558 จำเลยได้แชร์โพสต์ข้อความระบุว่า “ลอยกระทงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล 25 พ.ย. 2015 18.00 น. เป็นต้นไป ลานปรีดี พนมยงค์ มธ.ท่าพระจันทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา…”
 
ภายหลังพล.ต.ต.สุรศักดิ์ได้ซักถามจำเลยเสร็จแล้ว จึงไปแจ้งความจำเลย โดยมีคำสั่งจาก คสช. ให้ พล.ต.วิจารณ์ เข้าแจ้งความ และพยานได้บันทึกการสอบปากคำ และขอให้ศาลทหารออกหมายจับ อีกทั้ง ก่อนการจับกุม พบว่า จำเลยได้ส่งรหัสผ่านอีเมลไปยังปิยรัฐ จงเทพ เพื่อนของจำเลย โดยอ้างว่า จะมีการจับกุมจำเลย จึงให้ฝากรหัสอีเมลไว้ที่ปิยรัฐ
ทนายความจำเลย ถามค้านพยานถึงสิทธิแห่งการต่อต้านรัฐประหารของจำเลย โดยถามว่า การยึดอำนาจของ คสช. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และถามต่อว่า พยานบอกได้หรือไม่ว่าการกระทำใดเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนั้นชอบด้วยกฎหมาน พยานไม่ขอยืนยันทั้งสองคำถาม แต่เบิกความว่า อำนาจของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาได้มาโดยชอบ 
 
พล.ต.ต.สุรศักดิ์จำไม่ได้ว่า ระหว่างรัฐประหารในปี 2557 รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ถูกฉีกบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ทราบว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่ทราบว่า กฎหมายฉบับใดอนุญาตให้ผู้บัญชาการทหารยึดอนาจและตั้งตัวเป็นนายกรัฐมนตรีได้
 
ทนายความจำเลยถามว่า การยึดอำนาจของคณะรัฐประหารของ คสช. ถือเป็นการก่อกบฎหรือไม่ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ไม่ให้ความเห็น
สำหรับโพสต์ข้อความที่ระบุว่า “ลอยกระทงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล 25 พ.ย. 2015 18.00 น. เป็นต้นไป ลานปรีดี พนมยงค์ มธ.ท่าพระจันทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา…” พล.ต.ต.สุรศักดิ์เบิกความว่า การลอยกระทงถือเป็นประเพณีไทย แต่ไม่ทราบว่าการลอยกระทงมีความเชื่อว่าเป็นการลอยสิ่งอัปมงคลออกไปจากชีวิต ซึ่งในโพสต์นั้นมีรูปของ พล.อ. ประยุทธ์ และพล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณด้วย 
 
ต่อประเด็นอื่นในโพสต์นั้น พยานไม่มีความเห็นว่า กิจกรรมร้องคาราโอเกะ ร้องเพลง 3 ช่า เป็นกิจกรรมที่มีความรุนแรงหรือไม่ อีกทั้ง พยานไม่ได้ไปสังเกตการณ์กิจกรรมในวันนั้น รวมถึงไม่ได้ซักถามหรือเรียกตัว ผู้โพสต์ข้อความต้นทางที่ธเนตรแชร์มาเพื่อให้ปากคำหรือดำเนินคดี
 
ขณะที่ทนายความจำเลยถามค้านจนถึง 12.30 น. แล้วแถลงว่ามีประเด็นที่จะซักถามพยานปากนี้อีกจำนวนมาก ขอเลื่อนไปซักถามไปในวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ศาลพิจารณาเห็นสมควรด้วย และนัดสืบพยานโจทก์ปาก ร้อยตำรวจโท วีระบุตร บุตรดีขันต์ ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2562
 
7 พฤษภาคม 2562

นัดสืบพยานโจทก์
 
ผู้พิพากษาศาลทหารออกพิจารณาคดี 9.30 น. อัยการทหาร ฝ่ายโจทก์ แถลงว่า ร.ต.ท. วีรบุตร บุตรดีขัน พยานโจทก์ที่นัดไว้วันนี้ ไม่มาศาล เนื่องจากติดราชการจำเป็นเร่งด่วน ไม่สามารถมาเป็นพยายนในวันนี้ได้ แต่ต้องการนำพยานปากนี้เข้าสืบอยู่ ขอเลื่อนสืบพยานโจทก์ปากนี้ออกไปก่อน
 
16 พฤษภาคม 2562
 
นัดสืบพยานโจทก์ (ต่อ)
 
อัยการทหาร ฝ่ายโจทก์ นำ พล.ต.ต. สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ให้ทนายจำเลยถามค้าน ต่อจากนัดวันที่ 24 เมษายน 2562 
 
พล.ต.ต. สุรศักดิ์ เบิกความว่า การออกหมายจับธเนตรเป็นการออกหลังจากได้ส่งข้อมูลให้กับพนักงานสอบสวนแล้ว และการที่ทหารนำตัวจำเลยไปควบคุมตัวเป็นเรื่องของทหารไม่เกี่ยวกับตน และตนไม่ได้โต้แย้งเจ้าหน้าที่ทหารเพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของ คสช. การซักถามไม่ใช่การสอบสวนจึงไม่ได้แจ้งสิทธิและให้พบกับทนายความ แต่ได้แจ้งด้วยวาจาว่า จะใช้เป็นพยานหลักฐานต่อศาล และการซักถามไม่มีการขู่เข็ญ
 
พล.ต.ต. สุรศักดิ์ ระบุว่า การวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถทำได้ และประโยคที่ว่า “ประเทศไทยเอย ทำไม เธอ มัน (หน้าหีจริงจริง)” เป็นข้อความที่กระทบต่อความมั่นคง เป็นการยุยงปลุกปั่น ชักชวนให้เกลียดชังรัฐบาล ส่วนข้อความเกี่ยวกับการตายของหมอหยอง และเรื่องที่เกี่ยวข้อง ตนไม่ทราบ และจำไม่ได้
 
เมื่ออัยการทหารถามติง พล.ต.ต. สุรศักดิ์ เบิกความว่า ตนเกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยได้รับคำสั่งจาก คสช. ให้หาข่าว สืบสวนหาข้อเท็จจริงและซักถามผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนอำนาจในการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน และความเห็นในการสั่งคดีเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ในการสืบพยานคดีวันนี้ เจ้าหน้าการฑูตสหภาพยุโรป(EU) ลักเซมเบิร์ก และออสเตรีย ฯลฯ เข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีด้วย 
 
 
31 กรกฎาคม 2562
 
นัดฟังคำสั่งโอนคดี
 
ผู้พิพากษาศาลทหารออกพิจารณาคดี 9.30 น. ศาลแจ้งว่า ปัจจุบันได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ซี่งให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่หมดความจำเป็น ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ข้อ  2 กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังคำสั่งนี้ใช้บังคับให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลยุติธรรม จึงให้งดการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวและให้โอนคดีไปยังยุติธรรม
 
ศาลจึงยกเลิกนัดพิจารณาในวันที่ 20, 21, 29 สิงหาคม 2562 และวันที่ 10,17 กันยายน 2562 ตามที่นัดไว้เดิมแต่ในระหว่างการโอนคดีไปยังศาลยุติธรรรมให้หมายขังจำเลยระหว่างพิจารณายังบังคับใช้ต่อไป 
 
 
11 ธันวาคม 2562
 
เวลา 09.55 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี ศาลแจ้งคู่ความว่าได้รับโอนคดีจากศาลทหารเมื่อวันที่ 18 พฤศิจกายน 2562 จากนั้นได้ประชุมปรึกษากับอัยการ และทนายจำเลย ถึงขั้นตอนพิจารณาคดีในศาลทหารที่ผ่านมา และเตรียมความพร้อมต่อการพิจารณาคดีต่อไป
 
ทั้งนี้ ในกระบวนพิจารณาของศาลทหารสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 2 ปาก โดยในนัดนี้คู่ความแถลงว่าสามารถรับข้อเท็จจริงในพยานปาก พ.ต.ท. นิเวศ สิงห์วงษ์ ผู้ตรวจร่างกายจำเลยได้ 
 
จากนั้นศาลนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์อีก 3 ปาก และฝ่ายจำเลยอีก 3 ปาก ในวันที่ 12, 13 และ 14 พฤษภาคม 2563
 
13 พฤษภาคม 2563

นัดสืบพยานโจทก์ 

ศาลเริ่มการพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 9.35 น. อัยการแถลงต่อศาลขอนำพยานปากร.ต.อ.ธิติ เปฏะพันธ์ุ พนักสอบสวนเข้าเบิกความ

สืบพยานโจทก์ปากร.ต.อ.ธิติ เปฏะพันธ์ุ พนักสอบสวน

ร.ต.อ.ธิติ เบิกความว่า คดีนี้เหตุเกิดในวันที่ 10 ธันวาคม 2558 ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ จากนั้นวันที่วันที่ 11 ธันวาคม 2558 พล.ต.วิจารณ์ จดแตง เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับเขาว่า จำเลยโพสต์ข้อความโจมตีรัฐบาล ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลยซึ่งใช้ชื่อว่า “ธเนตร อนันตวงษ์ รักเสื้อแดง ตลอดไป” 

ร.ต.อ.ธิติเบิกความต่อว่า ข้อความที่เป็นปัญหาในคดีนี้จำเลยนำภาพของบุคคลอื่นมาใช้ แต่จำเลยเป็นคนเขียนข้อความบรรยายภาพ โดยที่คำบรรยายภาพดังกล่าวมีเนื้อหาที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลไม่มีความเที่ยงธรรม มีความโน้มเอียง และไม่ชัดเจนในกระบวนการยุติธรรม มีข้อความเรื่องการทำร้ายร่างกายประชาชนเกิดขึ้นจนมีประชาชนเสียชีวิต (กรณีของสุริยัน หรือ 'หมอหยอง') ประชาชนที่มาอ่านแล้วไม่ทราบข้อเท็จจริง อาจเข้าใจว่ารัฐบาลโหดร้าย ไม่ยุติธรรม และเกิดความหวาดกลัว การกระทำของจำเลยจึงถือเป็นการยุยงให้ประชาชนมารวมตัวกันขับไล่รัฐบาล ส่วนข้อความที่จำเลยโพสต์เกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นแล้ว ทั้งที่เรื่องยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ร.ต.อ.ธิติเบิกความต่อว่า ในวันที่ พล.ต.วิจารณ์มาร้องทุกข์กล่าวโทษ เขาได้ทำบันทึกประจำวันไว้และได้ขออำนาจศาลออกหมายจับจำเลยในวันที่ 12 ธันวาคม 2558 ก่อนที่จำเลยจะถูกจับกุมตัวในวันที่ 18 ธันวาคม 2558 เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ควบคุมตัว จำเลยมา

อัยการขอให้ร.ต.อ.ธิติ ชี้ตัวจำเลยวว่าอยู่ในห้องพิจารณาคดีหรือไม่  ร.ต.อ.ธิติหันมาชี้ตัวจำเลยและเบิกความต่อว่าได้แจ้งสิทธิตามกฎหมายและแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ต่อจำเลยโดยชอบแล้ว

ร.ต.อ.ธิติเบิกความต่อว่าเขาได้ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊ก “ธเนตร อนันตวงษ์ รักเสื้อแดง ตลอดไป” พบว่าเป็นเฟซบุ๊กของจำเลยจริง การสมัครใช้งานเฟซบุ๊กจะต้องยืนยันตัวตนด้วยอีเมลหรือหมายเลขโทรศัพท์หรืออีเมล ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่เป็นของจำเลยจริงเพราะการยืนยันสมัครเฟซบุ๊กต้องใช้เบอร์โทรหรืออีเมลจึงให้เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบและพบว่าหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้สมัครบัญชีเฟซบุ๊กในคดีนี้ตรงกับหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยโดยยืนยันได้จากข้อมูลทะเบียนราษฎรที่ใช้ในการลงทะเบียนใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ 

ร.ต.อ.ธิติเบิกความต่อว่าหลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 มีการขออำนาจศาลออกหมายจับจำเลยอีกครั้งหนึ่งเพราะจำเลยหลบหนี  ร.ต.อ.ธิติเบิกความด้วยว่าเขาไม่เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน
 
13 พฤษภาคม 2563

นัดสืบพยานโจทก์ 


ศาลเริ่มการพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 9.35 น. อัยการแถลงต่อศาลขอนำพยานปากร.ต.อ.ธิติ เปฏะพันธ์ุ พนักสอบสวนเข้าเบิกความ

สืบพยานโจทก์ปากร.ต.อ.ธิติ เปฏะพันธ์ุ พนักสอบสวน

ร.ต.อ.ธิติ เบิกความว่า คดีนี้เหตุเกิดในวันที่ 10 ธันวาคม 2558 ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ จากนั้นวันที่วันที่ 11 ธันวาคม 2558 พล.ต.วิจารณ์ จดแตง เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับเขาว่า จำเลยโพสต์ข้อความโจมตีรัฐบาล ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลยซึ่งใช้ชื่อว่า “ธเนตร อนันตวงษ์ รักเสื้อแดง ตลอดไป” 

ร.ต.อ.ธิติเบิกความต่อว่า ข้อความที่เป็นปัญหาในคดีนี้จำเลยนำภาพของบุคคลอื่นมาใช้ แต่จำเลยเป็นคนเขียนข้อความบรรยายภาพ โดยที่คำบรรยายภาพดังกล่าวมีเนื้อหาที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลไม่มีความเที่ยงธรรม มีความโน้มเอียง และไม่ชัดเจนในกระบวนการยุติธรรม มีข้อความเรื่องการทำร้ายร่างกายประชาชนเกิดขึ้นจนมีประชาชนเสียชีวิต (กรณีของสุริยัน หรือ 'หมอหยอง') ประชาชนที่มาอ่านแล้วไม่ทราบข้อเท็จจริง อาจเข้าใจว่ารัฐบาลโหดร้าย ไม่ยุติธรรม และเกิดความหวาดกลัว การกระทำของจำเลยจึงถือเป็นการยุยงให้ประชาชนมารวมตัวกันขับไล่รัฐบาล ส่วนข้อความที่จำเลยโพสต์เกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นแล้ว ทั้งที่เรื่องยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ร.ต.อ.ธิติเบิกความต่อว่า ในวันที่ พล.ต.วิจารณ์มาร้องทุกข์กล่าวโทษ เขาได้ทำบันทึกประจำวันไว้และได้ขออำนาจศาลออกหมายจับจำเลยในวันที่ 12 ธันวาคม 2558 ก่อนที่จำเลยจะถูกจับกุมตัวในวันที่ 18 ธันวาคม 2558 เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ควบคุมตัว จำเลยมา

อัยการขอให้ร.ต.อ.ธิติ ชี้ตัวจำเลยวว่าอยู่ในห้องพิจารณาคดีหรือไม่  ร.ต.อ.ธิติหันมาชี้ตัวจำเลยและเบิกความต่อว่าได้แจ้งสิทธิตามกฎหมายและแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ต่อจำเลยโดยชอบแล้ว

ร.ต.อ.ธิติเบิกความต่อว่าเขาได้ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊ก “ธเนตร อนันตวงษ์ รักเสื้อแดง ตลอดไป” พบว่าเป็นเฟซบุ๊กของจำเลยจริง การสมัครใช้งานเฟซบุ๊กจะต้องยืนยันตัวตนด้วยอีเมลหรือหมายเลขโทรศัพท์หรืออีเมล ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่เป็นของจำเลยจริงเพราะการยืนยันสมัครเฟซบุ๊กต้องใช้เบอร์โทรหรืออีเมลจึงให้เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบและพบว่าหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้สมัครบัญชีเฟซบุ๊กในคดีนี้ตรงกับหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยโดยยืนยันได้จากข้อมูลทะเบียนราษฎรที่ใช้ในการลงทะเบียนใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ 

ร.ต.อ.ธิติเบิกความต่อว่าหลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 มีการขออำนาจศาลออกหมายจับจำเลยอีกครั้งหนึ่งเพราะจำเลยหลบหนี  ร.ต.อ.ธิติเบิกความด้วยว่าเขาไม่เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่า จำเลยมีภูมิหลังเป็นชาวบ้านธรรมดาที่ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มนักศึกษาในการตรวจสอบการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และหลังเกิดคดีนี้ขึ้นมาร.ต.อ.ธิติก็เคยนำตัวจำเลยกับพวกที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้มาสอบปากคำใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธิติรับว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่าระหว่างการสอบปากคำพล.ต.วิจารณ์ จดแตง ได้ถามพล.ต.วิจารณ์หรือไม่ว่าการดำเนินคดีนี้เป็นการจงใจใช้กฎหมายปิดปากประชาชนหรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าไม่ได้สอบถามประเด็นดังกล่าว 

ทนายจำเลยถามว่าร.ต.อ.ธิติเป็นคนเลือกรศ.ดร. เจษฎ์ โทณะวนิกมาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ให้ความเห็นด้านกฎหมายด้วยใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่า ใช่ พร้อมขยายความว่าการเชิญเจษฎ์มาเป็นพยานเขาทำโดยปรึกษาผู้บังคับบัญชาและตัวเจษฎ์ก็สะดวกจึงเชิญมาเป็นพยาน ทนายจำเลยถามว่าเคยเชิญเจษฎ์มาให้การในคดีที่เกี่ยวข้องกับคสช.คดีอื่นๆหรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าเคยเชิญตัวมาในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทนายจำเลยถามว่า จำชื่อจำเลยในคดีดังกล่าวได้หรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าจำไม่ได้

ทนายจำเลยถามว่า ทราบหรือไม่ว่าเจษฎ์ มีผลประโยชน์และมีส่วนเกี่ยวข้องคสช. ร.ต.อ.ธิติตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่าทราบหรือไม่ว่าคสช.แต่งตั้งเจษฎ์เป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามต่อว่า ร.ต.อ.ธิติได้พิจารณาเลือกนักวิชาการทางด้านภาษาศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์คนอื่นมาเป็นพยานด้วยหรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าตอบว่าไม่ได้พิจารณา

ทนายจำเลยถามว่า ที่จำเลยโพสต์ข้อความเพื่อสื่อให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความยุติธรรม ไม่มีส่วนใดระบุว่าเป็นรัฐบาลใด และที่จำเลยเขียนข้อความด่าประเทศด้วยภาษาบ้านๆ ว่า “ประเทศหน้าหี” ถึงจุดนี้ร.ต.อ.ธิติกล่าวแทรกขึ้นว่า ประเทศก็หมายถึงรัฐบาล ทนายจำเลยทวนคำถามอีกครั้งว่า ข้อความที่จำเลยไม่มีส่วนใดที่ระบุว่าหมายถึงรัฐบาลใดและคำที่กล่าวก็เป็นภาษาบ้านๆ ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธิติรับว่า ใช่

ทนายจำเลยถามว่า หากจะวิจารณ์ประเทศควรจะต้องใช้ภาษาสุภาพ ตรงตามหลักวิชาการ เพื่อไม่ให้มีความผิดใช่หรือไหม พยานตอบว่า ไม่จำเป็น ทนายจำเลยถามว่า ประโยคตามฟ้องที่ว่า “ประเทศไทยเอย ทำไมเธอมันหน้าหีจริงจริง” กระทบความมั่นคงหรือไม่ ร.ต.อ. ธิติ ตอบว่า กระทบ ทนายจำเลยถามว่า ร.ต.อ. ธิติ เคยเห็นคนด่ากันว่า “ไอ้หน้าหี” ใช่ไหมและเป็นคำด่าทั่วไปใช่หรือไม่ ร.ต.อ. ธิติ ตอบว่า ใช่

ทนายจำเลยถามว่า ร.ต.อ.ธิติได้นำประโยค “ประเทศไทยเอย ทำไมเธอมันหน้าหีจริงจริง” ไปถามเจษฎ์และพล.ต.วิจารณ์หรือไม่ว่าข้อความเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นและกระทบความมั่นคงหรือไม่และอย่างไร ร.ต.อ.ธิติตอบว่าได้สอบถามเจษฎ์ซึ่งตอบว่าเข้าข่ายยุงยงปลุกปั่น แต่จำไม่ได้ว่า พล.ต.วิจารณ์ตอบว่าอย่างไร

ทนายจำเลยถามว่า ร.ต.อ.ธิติได้นำข้อความตามฟ้องไปสอบถามหน่วยงานความมั่นคงหรือไม่ว่ากระทบความมั่นคงหรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าไม่ได้ถาม ทนายจำเลยถามว่า ร.ต.อ.ธิติได้นำข้อความ “ประเทศไทยเอย ทำไมเธอมันหน้าหี จริงจริง” ไปถามชาวบ้านทั่วไปว่ากระทบความมั่นคงหรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าไม่ได้ถาม

ทนายจำเลยถามว่า ร.ต.อ.ธิติได้เรียกคำสั่งศาลที่ไต่สวนการตายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ “หมอหยอง” และ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา มาในสำนวนคดีหรือไม่ ร.ต.อ. ธิติตอบว่าไม่ได้เรียก ทนายจำเลยถามว่าได้เรียกใบมรณบัตรและเอกสารทางการแพทย์มาหรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าไม่ได้เรียก ทนายจำเลย ถามว่า ได้เรียกบันทึกการซักถามในชั้นทหารที่พล.ต. วิจารณ์ ที่ซักถามของทั้งสองคน (สุริยัน สุจริตพลวงศ์ และพ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา) ก่อนตายเข้ามาในสำนวนหรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าไม่ได้เรียก
 
ทนายจำเลยถามว่า ร.ต.อ.ธิติทราบหรือไม่ว่าสุริยันและพ.ต.ต.ปรากรมเสียชีวิตในเรือนจำ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่าร.ต.อ.ธิติได้รวบรวมข่าวการเสียชีวิตของสุริยันและพ.ต.ต.ปรากรม เข้ามาในชั้นสอบสวนหรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าไม่ได้รวบรวม

ทนายจำเลยให้ร.ต.อ.ธิติดูภาพโปสเตอร์ที่ใช้ในการเชิญชวนประชาชนไปลอยกระทงขับไล่เผด็จการซึ่งเพจที่เป็นต้นทางของโพสต์คือเพจของกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาแล้วถามร.ต.อ.ธิติว่าภาพดังกล่าวไม่ได้ระบุชื่อจำเลยในภาพใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่า ไม่ได้ระบุชื่อจำเลยแต่จำเลยแชร์ภาพมา
 
ทนายจำเลยถามว่า พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร เข้าสู่อำนาจด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยประชาธิปไตย คือทำการรัฐประหาร ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่า กิจกรรมลอยกระทงขับไล่เผด็จการที่จัดโดยนักศึกษาเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่ากิจกรรมดังกล่าวก็ไม่มีรายงานว่ามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าไม่มี ทนายจำเลยถามว่าร.ต.อ.ธิติได้เชิญ “จ่านิว” หรือสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ผู้จัดกิจกรรมมาสอบสวนหรือไม่ว่าจุดประสงค์ของกิจกรรมนี้คืออะไร ร.ต.อ.ธิติตอบว่าไม่ได้เรียกสิรวิชญ์มาสอบปากคำ

ทนายจำเลยถามเกี่ยวกับข้อความที่ธเนตรโพสต์เรื่องโครงการอุทยานราชภักดิ์ว่า ร.ต.อ.ธิติได้เรียกพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบกขณะเกิดเหตุและผู้รับผิดชอบโครงการมาสอบสวนเกี่ยวกับการทุจริตหรือไม่ ร.ต.อ.ธิติ ตอบว่าไม่ได้เรียกมา ทนายจำเลยถามว่า ร.ต.อ.ธิติได้เรียกพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นมาสอบสวนหรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าไม่ได้เรียก ทนายจำเลยถามว่าร.ต.อ.ธิติได้เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับอุทยานราชภักดิ์ทั้งหมดมาสอบสวนหรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าไม่ได้เรียก
 
ทนายจำเลยถามว่า ร.ต.อ.ธิติทราบหรือไม่ว่าพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ได้ให้ข่าวว่าเกิดการหักคิวจริงแต่ได้บริจาคคืนไปแล้ว ร.ต.อ.ธิติตอบว่าไม่ทราบ จากนั้นทนายจำเลยขอศาลเปิดคลิปวิดีโอข่าวที่พล.อ.อุดมเดช ให้สัมภาษณ์และนำเอกสารถอดเทปข่าวดังกล่าวให้ร.ต.อ.ธิติอ่านว่าข้อความเป็นไปตามนั้นหรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่าวันอาทิตย์สีอะไร ร.ต.อ.ธิติตอบว่าวันอาทิตย์สีแดง ทนายจำเลยถามว่า การรณงค์ใส่เสื้อแดงไปเที่ยวอุทยานราชภักดิ์วันอาทิตย์ใส่ตรงตามวันถูกต้องไหม ร.ต.อ.ธิติ ตอบว่าเขาไม่เข้าใจคำถาม ทนายจำเลยถามร.ต.อ. ธิติว่าไม่มีปัญหากับสีแดงใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่าไม่มี ทนายจำเลยถามว่าร.ต.อ.ธิติมีอคติกับคนเสื้อแดงหรือไม่ ร.ต.อ.ธิติตอบว่า ไม่มี
 
หลังการสืบพยานปากนี้แล้วเสร็จอัยการแถลงหมดพยาน ศาลพักการพิจารณาชั่วคราวและนัดสืบพยานจำเลยต่อในช่วงบ่าย
 
25 มิถุนายน 2563
 
นัดฟังคำพิพากษา 

ที่ห้องพิจารณาคดี 908 ศาลอาญารัชดานัดธเนตร มาฟังคำพิพากษา
เวลาประมาณ 9.25 น.  เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พาธเนตรซึ่งถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีมาถึงห้องพิจารณาซึ่งมีประชาชนมาให้กำลังใจธเนตรอยู่ก่อนแล้วประมาณสิบคน 
 
“สบายดีครับ เสียใจอย่างเดียวที่พ่อไม่ได้มา” ธเนตร กล่าวทักทายกับผู้มาร่วมสังเกตการณ์อ่านคำพิพากษาคดีของเขาก่อนที่ศาลจะร่วมกระบวนพิจารณา
 
ห้านาทีหลังธเนตรถูกนำตัวมา ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาซึ่งสรุปความได้ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่มีนำหนักมั่นคงพอที่จะนำสืบได้ว่าจำเลยกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ ความผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ตามฟ้อง ศาลพิพากษายกฟ้อง

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
โจทก์ฟ้องว่าธเนตรโพสต์ข้อความและภาพในเฟซบุ๊กรวมถึงแชร์ข้อความบนเฟซบุ๊กของบุคคลอื่นที่มีเนื้อหาโจมตีรัฐบาลคสช. และกองทัพจำนวน 5 ข้อความ บนเฟซบุ๊กของตัวเอง ได้แก่ 
 
➊ วันที่ 16 กันยายน 2558 โพสต์ภาพและข้อความว่า “ไปบ้านหมาเปรมตัดสินจำคุก ไม่เกี่ยวกับประชาชน กปปส. ยึดปิดสถานที่ราชการรอด? ประชาชนเดือดร้อน” และ “ประเทศ ไทยเอย ทำไม่เธอ มัน (หน้าหีจริงจริง)”
➋ วันที่ 9 กันยายน 2558 โพสต์ข้อความในเชิงคาดการณ์ว่า มีกระบวนการบางอย่างเกิดขึ้นกับ “หมอหยอง” หรือ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ ซึ่งอาจเป็นการข่มขู่ทรมานจนได้ความลับ หรือ ซัดทอดมากเกินไป จนไปเกี่ยวโยง คสช. จึงต้อง “ปิดปากหมอหยอง”
➌ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 โพสต์ภาพบุคคลประกอบข้อความ "ลอยกระธงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล" ซึ่งเป็นการนัดหมายทำกิจกรรา 
➍ วันที่ 1 ธันวาคม 2558 โพสต์ภาพและข้อความว่า “กรณี.โหนเจ้าหาแดกอุทยานราชภักดิ์ ภาษามวยเขาเรียกว่า แผลแตกเล็กน้อย ไม่ได้โกงเยอะมากมายแต่มันอยู่ที่หัวคิ้ว ชัดเจน เราแค่ต่อยย้ำๆ ให้มันขยาย ตอนนี้ เลือดแม่งเข้าตาออกหมัดมั่วไปหมดสะใจกูจริงๆ 555”
➎ วันที่ 1 ธันวาคม 2558 โพสต์ภาพและข้อความว่า “รณรงค์ใส่เสื้อแดงไปเที่ยวอุทยานราชภักดิ์ วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม”
 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก แม้จะมีความเห็นต่างกับฝ่ายผู้มีอำนาจในขณะนั้น แต่ก็ได้กระทำไปตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ น่าเชื่อว่าการแสดงความคิดเห็นของจำเลยไม่ได้มีเจตนานำไปสู่ความปั่นป่วนหรือความกระด่างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดนำไปสู่ความไม่สงบในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน แต่เป็นการกระทำเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต 
 
พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอที่จะนำสืบได้ว่าจำเลยกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ ความผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ตามฟ้อง ศาลพิพากษายกฟ้อง
 
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา