ปิยะ: คดีที่ 2 ส่งอีเมล์ให้ธนาคารกรุงเทพ

อัปเดตล่าสุด: 01/08/2565

ผู้ต้องหา

ปิยะ

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

ปิยะ อายุ 48 ปี อดีตโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น ถูกกล่าวหาว่า ส่งอีเมล์โดยใช้ชื่อ Vicent Wang สองอีเมล์ที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ไปยังผู้รับคือธนาคารกรุงเทพ (info@bangkokbank) และอีเมล์ของเว็บไซต์อื่นๆ  ซึ่งก่อนหน้านี้ปิยะถูกจับกุมและดำเนินคดี ด้วยข้อหาเดียวกันในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ  

คดีนี้ศาลสั่งพิจารณาคดีโดยลับ โดยล็อคประตูและให้ทุกคนฝากโทรศัพท์มือถือ ไม่ให้คัดถ่ายสำเนาคำเบิกความและคำพิพากษา ต่อมาพิพากษาให้จำคุก 8 ปี ปิยะยื่นอุทธรณ์แต่ต่อมาเปลี่ยนใจขอถอนอุทธรณ์และคดีสิ้นสุด

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ปิยะ อายุ 48 ปี จบการศึกษาสาขาบริหารธุรกิจ เคยมีอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดหลักทรัพย์ ทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น
ไม่เคยทำกิจกรรมทางการเมืองและไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มใดมาก่อน 
 
ก่อนถูกดำเนินคดีนี้ปิยะถูกจับและคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ อีกคดีหนึ่ง  จากข้อกล่าวหาว่าเขาโพสต์รูปภาพและข้อความเป็นเฟซบุ๊ก ซึ่งในคดีก่อนหน้านี้ปิยะยอมรับว่าเคยเปลี่ยนชื่อเป็นพิศลย์ วิวรรธ และเคยใช้ชื่อพงศธร บันทอน มาก่อน
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ในคำฟ้องที่อัยการยื่นต่อศาลระบุว่า ปิยะทำความผิดหลายกรรมดังนี้
 
1. เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 ปิยะส่งอีเมล์โดยใช้ชื่อว่า Vincent Wang มีเนื้อหากล่าวหาและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ถือเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด อีเมล์ฉบับนี้ส่งไปยัง webmaster@kanchacapisek, [email protected], foundation@au และสำเนาถึง info@bangkokbank
 
2. ต่อมา 14 มิถุนายน 2551 ปิยะส่งต่ออีเมล์ดังกล่าวไปที่อีเมล์ของผู้รับชื่อ Vicent Wang อีกครั้ง (ผู้รับและผู้ส่งชื่อเดียวกัน)
 
3.  30 กรกฎาคม 2553 ปิยะส่งอีเมล์โดยใช้ชื่อว่า จุ๊บ (Vincent Wang) มีเนื้อหาทำนองตัดพ้อว่า ถูกคนกลุ่มหนึ่งบังคับให้เขียนอีเมล์หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เพื่อแลกกับชีวิตภรรยา จึงต้องพยายามเมาเหล้าก่อนเขียน และรู้สึกเสียใจมาก โดยได้ยกข้อความส่วนหนึ่งของอีเมล์ที่ถูกบังคับให้เขียนมาเล่าไว้ด้วย ข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาลักษณะหมิ่นประมาทสมเด็จพระพี่นาง และสมเด็จย่า และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึงข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ อีเมล์ฉบับนี้ส่งไปยังผู้รับคือ Info BangkokBank
 
4. ในวันเวลาเดียวกับข้อ 3. ปิยะส่งต่อข้อมูลที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในข้อ 3.
 
ในคำขอท้ายฟ้องขอให้ศาลลงโทษปิยะในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14 
 

พฤติการณ์การจับกุม

ปิยะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีในคดีนี้ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯในอีกคดีหนึ่ง 
 
ก่อนหน้านี้คดีแรกปิยะถูกจับกุมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 เวลาประมาณ 11.00 น. ขณะกำลังเดินออกจากบ้านพัก ย่านลาดพร้าว โดเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบแสดงตัวและถามเขาว่าชื่อปิยะ ใช่หรือไม่ เมื่อปิยะตอบว่าใช่ ก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกประมาณ 30 คน ค่อยๆ แสดงตัวออกมาและแสดงเอกสารให้ดู แต่ไม่ใช่หมายจับ หลังจากนั้นปิยะจึงถูกควบคุมตัวไปดำเนินคดีและถูกคุมขังอยู่ตลอดระหว่างการพิจารณาคดี
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

หมายเลขคดีดำ อ.3739/2558

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
28 มกราคม 2558
 
พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ให้จำเลยทราบที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขณะปิยะ ถูกคุมขังอยู่ในคดีก่อนหน้านี้  ในชั้นสอบสวนปิยะให้การปฏิเสธ
 
12 พฤศจิกายน 2558
 
ปิยะถูกพาตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพไปศาลอาญา  เพื่อสอบคำให้การในคดีนี้ หลังอัยการยื่นฟ้องต่อศาลลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ปิยะให้การปฏิเสธต่อศาล ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559
 
29 กุมภาพันธ์ 2559
 
นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ และตรวจพยานหลักฐาน
 
จำเลย พ่อของจำเลย และทนายจำเลยมาศาล ศาลสอบถามคำให้การ ปิยะแถลงว่า ขอให้การปฏิเสธเพราะไม่ได้เป็นผู้ส่งอีเมล์ตามฟ้อง และอีเมล์ตามฟ้องไม่ใช่อีเมล์ของตัวเอง
 
อัยการอ้างส่งพยานเอกสาร 12 รายการและยื่นบัญชีพยานที่ประสงค์จะนำเข้าสืบ 23 ปาก ฝ่ายทนายจำเลยอ้างพยานที่จะต้องสืบ 3 ปาก แต่อัยการที่มาศาลในวันนี้แถลงว่า อัยการเจ้าของสำนวนไม่สามารถมาศาลได้ เนื่องจากมารดาเสียชีวิต จึงขอเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปก่อน ฝ่ายจำเลยไม่คัดค้าน
 
ศาลให้นัดตรวจพยานหลักฐานใหม่ วันที่ 7 มีนาคม 2559
 
7 มีนาคม 2559
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
อัยการโจทก์ จำเลย และทนายจำเลยมาศาล อัยการโจทก์แถลงขอสืบพยาน  23 ปาก และยื่นเอกสารเป็นหลักฐานอีก 14 รายการ ทนายจำเลยตกลงยอมรับข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อของจำเลย ศาลจึงให้ตัดพยานออกได้บางส่วน เหลือพยานของฝ่ายโจทก์ที่ต้องนำสืบจริงๆ 9 ปาก ศาลกำหนดให้สืบพยานในสองวัน ฝ่ายทนายจำเลยยื่นบัญชีพบานขอนำพยานเข้าสืบ 3 ปาก ศาลกำหนดให้สืบพยานในครึ่งวัน
 
ทนายจำเลยสอบถามอัยการว่า คดีนี้ฟ้องเป็นความผิดกี่กรรม อัยการดูสำนวนคำฟ้องแล้วอธิบายว่า คดีนี้ฟ้องเป็นความผิด 4 กรรม จากการส่งอีเมล์ 2 ฉบับ เนื่องจากเมื่อพิมพ์ข้อความลงในคอมพิวเตอร์ ก็ถือเป็นการนำเข้าข้อมูลซึ่งเป็นความผิดสำเร็จแล้วหนึ่งกรรม และเมื่อกดส่งก็เป็นความผิดฐานเผยแพร่ต่างหากอีกหนึ่งกรรม 
 
ทนายจำเลยโต้แย้งว่า การพิมพ์ข้อความลงในคอมพิวเตอร์ยังไม่ใช่ความผิด เพราะยังไม่มีบุคคลที่สามมาเห็นจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ของมาตรา 112 แต่อัยการยืนยันว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้วเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ยังไม่จำเป็นต้องมีบุคคลที่สามมารับรู้ การแสดงความอาฆาตมาดร้ายแม้เพียงพิมพ์ลงในคอมพิวเตอร์ของตัวเองก็เป็นความผิดได้ โดยอัยการยกตัวอย่างแนวคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืนมาชึ้แจงประกอบด้วย
 
ทั้งสองฝ่ายตกลงกำหนดวันนัดสืบพยานเป็นวันที่ 27-29 กันยายน 2559
 
27-28 กันยายน 2559
 
นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย
 
ศาลอาญานัดสืบพยาน ก่อนเริ่มสืบพยานศาลสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ ไม่อนุญาตให้คนนอกรวมทั้งพ่อของจำเลยเข้าฟังการพิจารณา
 
เมื่อเริ่มสืบพยาน ศาลให้อัยการโจทก์ตัดพยานปากที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีออกหลายปาก ทำให้สุดท้ายพยานที่เหลือต้องสืบมีพยานโจทก์สี่ปาก ได้แก่ ตำรวจที่ทำหน้าที่เป็นผู้กล่าวหา เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของธนาคารกรุงเทพ และพนักงานสอบสวนสองคน ส่วนฝ่ายจำเลยสืบพยานสองปาก ได้แก่ ตัวจำเลยเองและผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์
 
ตลอดสองวันของการสืบพยานในคดีนี้ ศาลยังสั่งห้ามทนายความจำเลยคัดถ่ายเอกสารที่เกี่ยวข้องในคดี รวมทั้งคำเบิกความของพยาน แต่เพื่อใช้ในการต่อสู้คดี ศาลอนุญาตให้ทนายความมาคัดลอกคำเบิกความออกไปนอกห้องพิจารณาได้ด้วยลายมือของทนายความเอง 
 

 

10 ตุลาคม 2559 

ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษา ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุกจำเลย 8 ปี 

การอ่านคำพิพากษาคดีนี้ก็เป็นการอ่านคำพิพากษาโดยลับเช่นกัน และศาลไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยคัดถ่ายคำพิพากษา แต่อนุญาตให้คัดลอกด้วยลายมือไปได้ เพื่อใช้ในการยื่นอุทธรณ์

หลังศาลอาญาพิพากษาคดีนี้ จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์ แต่หลังรอคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อยู่ 3-4 เดือน ในช่วงกลางปี 2560 จำเลยตัดสินใจยื่นขอถอนอุทธรณ์เพื่อให้คดีถึงที่สุด และทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษต่อไป

 

ปิยะรับโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และได้โอกาสลดโทษและอภัยโทษตามวาระโอกาสต่างๆ ก่อนได้ปล่อยตัวประมาณเดือนตุลาคม 2563 รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังในเรือนจำสองคดี ประมาณ 5 ปี 10 เดือน

คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา จากที่ปิยะถูกฟ้องว่ากระทำความผิด 4 กรรม ตามฟ้องข้อ 1.1-1.4 ศาลเห็นว่า พ.ต.ท.อุดมวิทย์ พนักงานสอบสวนตอบคำถามว่า ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามคำฟ้องข้อ 1.1 และ 1.2 ให้จำเลยทราบในชั้นสอบสวน สอดคล้องกับที่จำเลยเบิกความว่า ทราบข้อกล่าวหานี้ครั้งแรกเมื่อถูกฟ้องที่ศาลนี้ เท่ากับมิได้ปฏิบัติตามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นฟ้องตาม มาตรา 120 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหานี้
 
เนื้อหาที่เขียนในข้อความตามคำฟ้องข้อ 1.1 และ 1.3 มีลักษณะโจมตีมุ่งร้าย ทำให้เสียต่อพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ในเนื้อหามีข้อความว่า ว่าภริยาป่วยด้วยโรคเอดส์ ลงชื่อว่า Vincent Wang (วินเซนต์ หวัง) และ “เพราะผมพยายามเมาเหล้าก่อนที่จะทำตามที่พวกมันบังคับเพื่อแลกกับชีวิตภรรยาผม" ลงชื่อ จุ๊บ (Vincent Wang) ซึ่งจำเลยก็รับว่าชื่อ วินเซนต์ หวังนั้นจำเลยใช้ในวงการธุรกิจระหว่างประเทศ
 
แสดงให้เห็นได้ชัดว่า ผู้เขียนข้อความทั้งหมดนี้ตกอยู่ในห้วงอารมณ์จิตที่มีโมหะ ซึ่งผู้เขียนก็ชื่อวินเซนต์ หวัง เดียวกัน จึงเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำของบุคคลเดียวกัน ปกติคนที่ลุ่มหลงสุรายาเสพติดจนมีอาการมึนเมา มักกระทำการใดๆ ที่ขาดสติยั้งคิด ไม่คิดหน้าคิดหลังถึงผลดีผลร้ายที่จะตามมาภายหน้า เชื่อว่าผู้เขียนข้อความดังกล่าวมีความกล้าพอที่จะใช้นามแฝงของตนจริงๆ ซึ่ง พ.ต.ท.อุดมวิทย์ สอบถามอดีตภรรยาของจำเลยทราบว่าป่วยเป็นโรคเอดส์ ตรงกับที่เขียนลงในข้อความนั้น
 
สิทธิศักดิ์ หลานของจำเลยให้ปากคำกับตำรวจว่า จำเลยเป็นคนมีนิสัยชอบพูดคนเดียว อารมณ์หงุดหงิด ด่าบ่นไปเรื่อย สอดคล้องกับที่อดีตภรรยาให้การไว้ว่า ช่วงหลัง จำเลยไม่ได้ทำงาน เริ่มเสพยาเสพติด ดื่มสุรา มีอารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย ทั้งเคยทะเลาะทำร้ายตบตีภรรยาถึงขั้นหมดสติไป เนื้อหาพยานหลักฐานโจทก์สอดรับกันดีมีน้ำหนักมาก เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวพันถึงเรื่องราวส่วนตัวของจำเลย ยากที่บุคคลอื่นจะล่วงรู้ได้ ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดมุ่งใส่ความให้ร้ายจำเลย จึงเชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเขียนข้อความดังกล่าวและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จตามคำฟ้องจริง
 
โจทก์ไม่นำสืบให้ปรากฏว่า ข้อความตามคำฟ้องข้อ 1.3 ที่จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น จำเลยได้เผยแพร่หรือส่บต่อไปให้บุคคลอื่น วันเวลาใด และใช้วิธีการอย่างไร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเผยแพร่หรือส่งต่อ ตามคำฟ้องข้อ 1.4 ได้ 
 
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุกจำเลย 8 ปี
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา