กำพล: คดีหมิ่นประมาทนักวิจัยขี้เถ้าถ่านหิน

อัปเดตล่าสุด: 31/03/2560

ผู้ต้องหา

กำพล

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พยอม รัตนมณี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมจากสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งในภาคใต้ ผู้วิจัยการใช้ปะการังเทียมผสมขี้เถ้าถ่านหินลิกไนต์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

สารบัญ

กำพล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคใต้ โพสต์ข้อความรณรงค์คัดค้านการนำขี้เถ้าถ่านหินมาทำเป็นปะการังเทียมบนเฟซบุ๊กส่วนตัวในเดือนกันยายน 2557 
 
ต่อมา พยอม รัตนมณี นักวิจัยที่ค้นคว้าเรื่องการทำปะการังเทียม เห็นว่าสเตตัสของกำพลพาดพิงและทำให้เขาเสียหาย จึงฟ้องศาลให้ดำเนินคดีกับกำพลในความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

กำพลเป็นพนักงานของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง ทำงานด้านการป้องกันภัยพิบัติในพื้นที่ภาคใต้ นอกจากประกอบอาชีพในหน่วยงานรัฐแล้ว กำพลยังเคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ภาคใต้ด้วย โดยทำงานกับโครงการปกป้องปักษ์ใต้ซึ่งเป็นองค์กรอาสาสมัครที่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  
 
กำพลถูกดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) โดยถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทนักวิจัยที่ค้นคว้าเกี่ยวกับการนำขี้เถ้าถ่านหินมาทำปะการังเทียมบนเฟซบุ๊กส่วนตัว

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

กำพลโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กรวมสองข้อความ ข้อความที่หนึ่งมีใจความทำนองว่า พยอมได้รับผลประโยชน์จำนวน 2,800 ล้านบาท ในการศึกษาวิจัยว่าการนำขี้เถ้าถ่านหินมาทำเป็นปะการังเทียมถมทะเลเป็นการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ส่วนข้อความที่สองมีใจความทำนองว่า พะยอมกำลังแปรรูปขี้เถ้าถ่านหินเป็นปะการังเทียมและนำมาทิ้งที่ทะเลภาคใต้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อท้องทะเล 
 
การกระทำของกำพลทำให้พะยอมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทั้งยังเป็นการปลุกระดมให้ผู้คนต่อต้านการทำหน้าที่นักวิจัยของพยอม 
 
คดีนี้พยอมเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลเอง โดยฟ้องว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90, 91, 326 และ 328 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2), (5) และ มาตรา 16     

พฤติการณ์การจับกุม

คดีนี้ไม่มีการจับกุมเพราะโจทก์เป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลเองโดยไม่ผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพียงแต่ไปรายงานตัวตามที่ศาลนัดในเดือนตุลาคม 2557 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

3846/2557

ศาล

ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
2552
 
จากคำบอกเล่าของกำพล โครงการวิจัยเพื่อนำขี้เถ้าถ่านหินไปแปรรูปเป็นปะการังเทียมเพื่อป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่ง เริ่มดำเนินการประมาณปี 2552
 
2557
 
มีข่าวว่าจะมีการนำโครงการปะการังเทียมไปขยายผลนำร่องในห้าพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ จากคำบอกเล่าของกำพล หากโครงการนำร่องประสบความสำเร็จ โครงการนี้จะถูกนำไปขยายผลในพื้นที่ชายฝั่งอื่นๆ ทั่วประเทศ 
 
กำพลรณรงค์ให้ยุติโครงการ โดยเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดจากโครงการปะการังขี้เถ้าถ่านหินให้ประชาชนทราบ เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้
 
กันยายน 2557
 
กำพลเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการปะการังเทียมผลิตด้วยขี้เถ้าถ่านหิน จากการให้ข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักรู้เป็นการรณรงค์ให้ยุติโครงการโดยตรงแทน โดยโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นคัดค้านโครงการนี้บนเฟซบุ๊กส่วนตัวหลายครั้ง ตั้งแต่ช่วงก่อนวันที่ 20 กันยายน แม้จะมีคนติดต่อเข้ามาขอให้เขาหยุดเคลื่อนไหวประเด็นนี้ แต่กำพลปฏิเสธและยังคงรณรงค์ต่อไป
 
20 กันยายน 2557
 
กำพลโพสต์ข้อความภาพตามฟ้องลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ภาพดังกล่าวปรากฎหน้าของพยอมพร้อมเงิน 2,800 ล้าน และชื่อของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 
พยอมทราบจากเพื่อนว่าถูกพาดพิงในโพสต์ของกำพลจึงเข้าไปดูและส่งข้อความไปทางกล่องข้อความของกำพลเพื่อชี้แจง 
 
เมื่อได้รับการชี้แจงจากพยอม กำพลก็โพสต์แก้ไขข้อมูลเป็นคอมเมนท์ใต้ภาพที่เป็นข้อพิพาท นอกจากนี้กำพลก็ยังบอกกับพยอมในกล่องข้อความด้วยว่า 
 
อยากจะเชิญพยอมมาร่วมเป็นวิทยากรในเวทีให้ข้อมูลเรื่องขี้เถ้าถ่านหินที่กำลังจะจัดขึ้น จากคำบอกเล่าของกำพล การสนทนาของเขากับพยอมเป็นไปด้วยดีไม่ได้มีลักษณะทะเลาะหรือมีปัญหากัน 
 
21 กันยายน 2557
 
พยอมส่งข้อความมาทางกล่องสนทนาเฟซบุ๊กของกำพลเพื่อขอให้ลบข้อความที่เป็นข้อพิพาทออก แต่กำพลไม่ได้ใช้เฟซบุ๊กในวันดังกล่าวจึงไม่เห็นข้อความ
 
22 กันยายน 2557
 
กำพลเปิดเฟซบุ๊กพบข้อความของพยอม ประกอบกับมีผู้เตือนว่าให้ลบข้อความเพราะกังวลความปลอดภัย กำพลจึงลบข้อความที่เป็นข้อพิพาทโดยไม่ได้แคปหน้าจอเก็บข้อความต้นฉบับไว้ กำพลยังโพสต์ข้อความชี้แจงอีกครั้ง 
 
เงินจำนวน 2,800 ล้านบาทซึ่งปรากฎบนโพสต์ เป็นโครงการของกรมทรัพยากรชายฝั่งทางทะเล ที่จะนำ "โดมทะเล" ไปวางตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยในจังหวัดที่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 
ขณะที่โครงการวิจัยเพื่อการนำเถ้าลอยลิกไนต์จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มาเป็นส่วนผสมปูนซีเมนต์เพื่อทำปะการังเทียมป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของกฟผ.ใช้งบประมาณ 10.17 ล้านบาท 
 
นอกจากจะชี้แจงเรื่องแหล่งทุนที่คลาดเคลื่อนแล้วกำพลยังขอโทษบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโพสต์ดังกล่าวด้วย
  
 
ตุลาคม 2557
 
หลังโพสต์ข้อความได้ประมาณหนึ่งเดือน มีหมายส่งมาที่บ้านของกำพล แจ้งว่ากำพลถูกฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลนัดให้กำพลไปรายงานตัวที่ศาลในวันที่ 20 ตุลาคม 2557 เพื่อไต่สวนมูลฟ้อง
 
19 ตุลาคม 2557
 
พยอมยื่นฟ้องกำพลความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ในกรณีนี้พยอมแต่งทนายฟ้องต่อศาลด้วยตัวเอง
 
กำพลได้รับหมายศาลช่วยปลายเดือนตุลาคม 2557 ระบุให้เขาไปรายงานตัวต่อศาล เพื่อนัดไต่สวนมูลฟ้อง
 
ต้นเดือนพฤศจิกายน
 
นัดไต่สวนมูลฟ้อง
 
กำพลเดินทางไปศาลเพื่อไต่สวนมูลฟ้อง ก่อนการไต่สวนศาลพยายามไกล่เกลี่ยให้กำพลและพยอมประนอมข้อพิพาทกันแต่ไม่สำเร็จ ศาลจึงให้ไต่สวนมูลฟ้อง พยอมแถลงต่อศาลว่ายังไม่พร้อมไต่สวนมูลฟ้อง ขอให้ศาลเลื่อนการไต่สวนออกไปก่อน 
 
20 เมษายน 2558  
 
นัดไต่สวนมูลฟ้อง
 
ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง ศาลให้คู่ความไกล่เกลี่ยเพราะเห็นว่าเป็นคดีเล็กน้อย การเป็นคดีความไม่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย พยอมแถลงต่อศาลว่า ข้อความที่กำพลโพสต์ก่อให้เกิดความเสียหาย และยืนยันว่าจะดำเนินคดี เมื่อไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ศาลจึงให้ไต่สวนมูลฟ้อง 
 
โจทก์แถลงต่อศาลว่า ต้องการนำพยานเข้าเบิกความรวม 20 ปาก จึงขอให้เลื่อนการไต่สวนมูลฟ้องไปนัดหนึ่งก่อนเพื่อพยอมจะดำเนินการเตรียมพยาน ศาลไม่อนุญาตตามที่พยอมขอ โดยอนุญาตให้ตัวพยอมซึ่งเป็นผู้เสียหายเบิกความต่อศาลเพียงปากเดียวและให้ไต่สวนมูลฟ้องในนัดนี้เลย ในการไต่สวนมูลฟ้องศาลขอให้กำพลออกจากห้องไปก่อน
 
ไต่สวนพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง ผศ.พยอม รัตนมณี ผู้กล่าวหาจำเลย
 
พยอมเบิกความตอบศาลถึงประวัติส่วนตัวว่า ขณะเบิกความอายุ 45 ปี รับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
 
พยอมเบิกความตอบทนายโจทก์ว่า เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ด้านการทำงานนอกจากงานสอนก็ศึกษาการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และเป็นที่ปรึกษากรมเจ้าท่า   
ก่อนเกิดคดี ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยให้เป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัยศึกษาและทดลองประยุกต์ใช้ปะการังเทียมผสมเถ้าลิกไนต์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและฟื้นฟูทรัพยากรประมง 
มีพื้นที่วิจัยอยู่ที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร งานวิจัยนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยต้นสังกัดซึ่งมอบหมายให้พยอมเป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัย 
โดยว่าจ้างด้วยวงเงินประมาณ 10 ล้านบาท วัตถุประสงค์ของงานวิจัยคือศึกษารูปแบบการกัดเซาะชายฝั่งโดยใช้ปะการังเทียมเป็นตัวรับแรงกระแทกคลื่น  
 
เกี่ยวกับการนำเถ้าลอยจากถ่านหินมาผสมกับคอนกรีต พยอมเบิกความว่าในประเทศไทยมีการนำเถ้าลอยมาผสมในคอนกรีตมากกว่า 50 ปีแล้วและมีวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป 
คอนกรีตที่ผสมทำลอยจะมีความแข็งแรงและต้านทานการกัดกล่อนของเกลือได้ดี และถูกนำมาใช้สร้างเขื่อนหรือท่าเทียบเรืออยู่แล้ว นอกจากนี้งานวิจัยของพยอมก็ใช้คอนกรีตที่จำหน่ายในท้องตลาด ไม่ได้ใช้ขี้เถ้าลอยจากถ่านหินแม่เมาะมาใช้ตามที่จำเลยเข้าใจ
 
สำหรับการทำวิจัย คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการนำแท่งคอนกรีตผสมขี้เถ้าลอยไปวางที่หน้าทะเลในอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ซึ่งทางอุทยานฯอนุญาตให้ทำอย่างถูกต้อง พยอมเบิกความด้วยว่าคณะผู้วิจัยกำลังจะนำโครงการที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรมาวิจัยในทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยด้วย 
สำหรับผลการวิจัยพบว่าแนวคอนกรีตที่เป็นปะการังเทียมสามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้และการทดลองในห้องวิจัยไม่พบว่ามีสารปนเปื้อนออกมาและค่าโลหะหนักที่ออกมาก็ไม่เกินมาตรฐาน 
นอกจากนี้งานวิจัยก็พบว่าบริเวณปะการังเทียมมีสัตว์ทะเลหลายชนิดมาอาศัยอยู่ และจากการให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการตอบแบบสำรวจก็พบว่าร้อยละ 97 เห็นด้วยที่จะมีแนวปะการังเทียม
 
ส่วนข้อพิพาทในคดี พยอมเบิกความว่าวันที่ 27 กันยายน 2557 ขณะที่การวิจัยยังไม่เสร็จสิ้น พยอมได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนบอกว่ามีการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของจำเลย 
พาดพิงทำนองว่า พยอมเกี่ยวข้องกับโครงการมูลค่า 2,800 ล้านบาท ที่จะนำขี้เถ้าถ่านหินลิกไนต์จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะมาแปรรูปถมทะเลโดยอาศัยข้ออ้างทำเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล 
โดยจำเลยใช้ภาษาในลักษณะที่เป็นการให้ร้ายจำเลย เมื่อทราบเรื่องพยอมก็ทำการตรวจสอบจึงพบข้อความตามฟ้อง
 
พยอมเบิกความต่อว่าข้อความตามฟ้องไม่เป็นจริง เช่น เงิน 2,800 ล้านบาทไม่เกี่ยวข้องกับโครงการของพยอม ทั้งเถ้าลอยที่ใช้ในงานวิจัยก็ไม่ใช่การนำเถ้าลอยมาใช้โดยตรง แต่เป็นเถ้าลอยที่ผสมอยู่ในคอนกรีตสำเร็จรูป 
ที่จำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าว ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเขารับเงิน 2,800 ล้านบาท เพื่อให้วิจัยขี้เถ้าลอยจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะได้ประโยชน์จากการขายเถ้าลอย 
จนทำให้มีคนมาโพสต์ข้อความใต้ภาพของจำเลย เช่น จะไม่ส่งลูกมาเรียนที่มหาวิทยาลัยต้นสังกัดของโจทก์ ทำให้พยอมได้รับความเสียหายทั้งในแง่เกียรติยศส่วนตัวและความน่าเชื่อถือต่องานวิจัย 
 
งานวิจัยของพยอมเป็นงานที่ยังไม่แล้วเสร็จ เมื่อเสร็จแล้วจะต้องส่งรายงานให้นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและผู้เชี่ยวชาญของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง 
ซึ่งหากผู้ตรวจสอบมีข้อสงสัยก็สามารถเรียกพยอมและคณะทำงานไปชี้แจงได้ นอกจากนี้หากงานวิจัยแล้วเสร็จและผ่านความเห็นชอบก็จะเปิดเผยต่อสาธารณะซึ่งสามารถวิพากษ์วิจารณ์รายงานของพยอมได้ 
นอกจากนี้งานวิจัยก็เป็นการว่าจ้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และเป็นเพียงข้อเสนอในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้กับหน่วยงานราชการเท่านั้น ไม่มีผลผูกมัดแต่อย่างใด
 
พยอมเบิกความอีกว่า เห็นข้อความของจำเลยที่ที่ทำงานในจังหวัดสงขลา และที่สำนักงานทนายความในจังหวัดนครศรีธรรมราช เหตุในคดีนี้เกิดทั่วราชอาณาจักรเพราะบุคคลทั่วไปสามารถดูข้อความของจำเลยได้จากอินเทอร์เน็ต  
 
หลังการไต่สวนมูลฟ้อง ศาลแจ้งกับกำพลว่าคดีมีมูลจึงรับฟ้อง ศาลถามกำพลว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ กำพลให้การปฏิเสธและขอสู้คดี หลังสอบคำให้การ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวกำพลลงไปกักที่ห้องควบคุมใต้ถุนศาลระหว่างยื่นคำร้องขอประกันตัว เบื้องต้นกำพลจะใช้ตำแหน่งข้าราชการของพี่สาวเป็นหลักประกัน แต่เงินเดือนของพี่สาวหลังหักหนี้ไม่เพียงพอที่จะเป็นหลักประกัน กำพลจึงต้องรออยู่ในห้องควบคุมใต้ถุนศาลเป็นเวลาห้าชั่วโมงระหว่างที่ญาติและทนายไปรวบรวมเงินสด 100,000 บาทมาใช้เป็นหลักประกัน
 
ศาลนัดสืบพยานวันที่ 18 และ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ต่อเนื่องกัน โดยให้เวลาฝ่ายละหนึ่งวัน
 
18 กุมภาพันธ์ 2559
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
คู่ความขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดี 5 ตั้งแต่เวลาประมาณ 09.00 น. ฝ่ายโจทก์มีพยอมซึ่งเป็นโจทก์ ทนายโจทก์ และพยานโจทก์อีกคนหนึ่งมาที่ศาล ขณะที่ฝ่ายจำเลยมีกำพลทนายจำเลยสองคนจากสภาทนายความซึ่งเป็นทนายที่ชำนาญด้านคดีสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ก็มีพยานของฝ่ายจำเลยอีกสี่คนมานั่งฟังการสืบพยานโจทก์ด้วย
เวลาประมาณ 09.30 น. หน้าบัลลังก์แจ้งคู่ความว่าศาลเชิญให้ลงไปไกล่เกลี่ยอีกครั้งหนึ่งก่อนเพราะไม่อยากให้เป็นคดีความกัน คู่ความจึงลงไปไกล่เกลี่ยกันแต่ก็ไม่เป็นผลเพราะโจทก์ยืนยันว่าความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว 
ตั้งกับตัวโจทก์และมหาวิทยาลัยที่เป็นต้นสังกัดของโจทก์ เมื่อไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จศาลจึงให้โจทก์นำพยานเข้าสืบในช่วงบ่าย ซึ่งศาลเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลา 13.35 น.
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง ผศ.พยอม รัตนมณี ผู้ฟ้องคดี
 
พยอมเบิกความต่อศาลถึงประวัติส่วนตัวว่า ขณะเบิกความอายุ 46 ปี ประกอบอาชีพรับราชการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เนื่องจากพยอมเคยให้การต่อศาลชั้นชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว 
การสืบพยานปากนี้จึงเริ่มที่การถามค้านโดยทนายจำเลย 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามพยอมว่าใช้เฟซบุ๊กหรือไม่อย่างไร พยอมตอบว่าใช้โดยใช้บัญชีซึ่งเป็นชื่อของตัวเอง ทนายจำเลยถามต่อว่า หากเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความไปแล้วเห็นว่าไม่ดีและลบออก 
บุคคลอื่นรวมทั้งตัวเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กจะยังเห็นข้อความนั้นหรือไม่ พยอมตอบว่าไม่เห็น 
 
เมื่อสืบพยานมาถึงช่วงนี้ทนายโจทก์เห็นพยานจำเลยที่นั่งฟังการพิจารณาคดีกำลังจดอะไรบางอย่างจึงเดินมาถามว่าจดอะไรขออนุญาตศาลหรือยัง 
หลังทนายโจทก์เดินกลับไปนั่งศาลจึงถามว่าจดอะไร พยานจำเลยจึงลุกขึ้นถามศาลว่าขออนุญาตจดได้หรือไม่ ศาลตอบว่าไม่อนุญาตให้จด ก่อนกลับไปดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อ 
เนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้จดบันทึกการสืบพยาน บันทึกคำเบิกความพยานของไอลอว์ในคดีนี้จึงเป็นการสรุปความจากเอกสารคำเบิกความของศาล รวมทั้งคำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งไอลอว์ไม่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
 
ทนายจำเลยถามพยอมเกี่ยวกับงานวิจัยที่เกี่ยวกับคดีนี้ว่าเป็นเรื่องอะไร พยอมตอบว่าเป็นงานวิจัยการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ศึกษาและประยุกต์ใช้ปะการังเทียมผสมเถ้าลอยถ่านหินลิกไนต์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง 
ทนายนำงานวิจัยฉบับสมบูรณ์มาให้พยอมดูแล้วอ้างส่งเป็นหลักฐานต่อศาล ทนายจำเลยนำเอกสารมาให้พยอมดูแล้วถามว่าเป็นเอกสารอะไร พยอมตอบว่าเป็นเอกสารที่แจกให้ประชาชนระหว่างที่ไปบรรยายหัวข้อภัยพิบัติจากคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง 
ทนายถามพยอมต่อว่า งานวิจัยที่อ้างส่งต่อศาลเกี่ยวข้องกับคดีนี้อย่างไร พยอมตอบว่าไม่เกี่ยว และไม่เกี่ยวกับรูปที่จำเลยโพสต์บนเฟซบุ๊กซึ่งเป็นเหตุแห่งคดีนี้ 
 
ทนายถามมพยอมว่าตอนทดลอง สัดส่วนของปูนซีเมนต์ที่นำมาผสมกับเถ้าลอยอยู่ที่ 95 ต่อ 5 เปอร์เซ็นต์ ใช่หรือไม่ พยอมตอบว่าไม่ทราบ
 
ตอนทำวิจัย พยอมต้องออกไปทำประชาคมกับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่วิจัยใช่หรือไม่ พยอมรับว่าใช่ ทนายให้พยอมดูเอกสารแล้วถามว่าเป็นเอกสารอะไร พยอมตอบว่าเป็นเอกสารที่นำไปแจกชาวบ้านในอำเภอท่าชักและอำเภอเมือง 
จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างไปทำประชาคม โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการนำวัสดุมาสร้างเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่เอกสารไม่ได้ระบุส่วนผสมของวัสดุที่นำมาใช้สร้าง
 
สำหรับการบรรยายระหว่างการทำประชาคมที่อำเภอท่าชัก พยอมเบิกความว่าพูดถึงการใช้เถ้าลอยจากถ่านหินมาผสมเป็นวัสดุป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งชาวบ้านในที่ทำประชาคมเกือบทั้งหมดเห็นด้วย  
แต่เมื่อทำประชาคมเสร็จครู่หนึ่งก็มีชาวบ้านประมาณ 30 คน มาคัดค้าน พยอมจึงชี้แจงและจัดทำประชาคมใหม่ และชี้แจงจนชาวบ้านเห็นด้วย การประชาคมที่ท่าชักเกิดวันที่ 8 กันยายน 2557 ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้
 
จากนั้นทนายให้พยอมดูภาพท่อพีวีซีปักอยู่ในทะเลแล้วถามว่าเป็นโครงการทดลองแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของพยอมใช่หรือไม่ พยอมตอบว่าบริเวณในภาพถ่ายน่าจะเป็นชายทะเลท่าชักซึ่งเขามีโครงการอยู่ 
แต่ท่อนี้ไม่ใช่ของเขาและเขาไม่ได้สั่งให้คนนำไปติดตั้ง ทนายอ้างส่งภาพถ่ายต่อศาล และถามต่อว่าพยอมเคยโพสต์ภาพถ่ายการใช้แนวไม้ไผ่ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ภาพที่โพสต์เกี่ยวข้องกับภาพที่ทนายจำเลยเพิ่งให้ดูและอ้างส่งศาลหรือไม่ 
พยอมตอบว่าไม่ใช่ ภาพที่โพสต์เป็นโครงการวิจัยที่จังหวัดสมุทรปราการ
 
ทนายให้ดูภาพจากกล่องสนทนาของเฟซบุ๊กซึ่งมีพยอมโพสต์ข้อความกับผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ณ ขจร ในวันที่ 20 กันยายน มีข้อความว่าผลการศึกษาขั้นที่สาม ทดลองใช้งานจริง อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร 
ชี้ชัดว่าการนำเถ้าลอยมาเสริมประมาณห้าเปอร์เซ็นต์จะทำให้คอนกรีตไม่สึกกร่อนโดยไม่มีผลกระทบแล้วถามว่าหมายความว่าอย่างไร พยอมเบิกความว่าหมายถึงหากนำเถ้าลอยผสมกับผงซีเมนต์ประมาณห้าเปอร์เซ็นต์
จะทำให้คอนกรีตไม่สึกกร่อนเพราะน้ำทะเลและไม่ก่อให้เกิดมลพิษในทะเล
 
สำหรับข้อความบนหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ตามที่ทนายจำเลยให้ดู พยอมรับว่าเขาและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเคยให้ข่าวกับหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์จริง แต่ที่ระบุว่าค่าใช้จ่ายของโครงการคือ 2,800 ล้า่นบาทนั้น
ไม่ได้ให้ข่าวและไม่ทราบว่าตัวเลขมาจากไหน เท่าที่ทราบคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำวิจัยมูลค่าประมาณ10 ล้านบาท ส่วนตัวเลข 2,800 ล้านบาท 
และชื่อของกรมทรัพยากรชายฝั่งที่ปรากฎตามข่าวไม่ทราบว่ามาจากไหน และที่ระบุว่าเตรียมการจะนำโดมทะเลไปวางตามชายฝั่งอ่าวไทยก็เป็นความเท็จเพราะตัวเขาไม่เคยจัดทำแผนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยมาก่อน 
และข่าวที่ทนายนำมาให้ดูเป็นข่าวที่พยอมไม่เคยเห็นมาก่อน จึงไม่ได้ฟ้องคดีหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
 
ทนายถามพยอมเกี่ยวกับงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ของที่อุทยานนานาชาติสิรินธรของพยอมว่ามีหน่วยงานใดให้การรับรองว่านำไปปฏิบัติได้โดยไม่มีผลกระทบใดๆหรือยัง พยอมเบิกความว่ายังไม่มีแต่งานวิจัยผ่านการตรวจสอบว่าเป็นการทำวิจัยตามหลักวิชาการแล้ว 
พยอมเบิกความต่อว่า งานวิจัยของเขามีการนำปะการังเทียมรูปโคมไปทิ้งทะเลที่ภูเก็ตตามภาพถ่ายและข้อมูลที่ทนายจำเลยให้ดูจริง แต่การวางปะการังเทียมที่ผลิตจากคอนกรีตก็มีมาตั้งแต่ปี 2535 แล้ว
 
ทนายถามพยอมถึงข้อความตามฟ้องซึ่งระบุทำนองว่าให้จดจำหน้าของพยานซึ่งเป็นนักวิชาการ ข้อความจริงไม่ใช่ความเท็จใช่หรือไม่ พยอมรับว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่า ภาพของพยอมที่จำเลยนำมาโพสต์ 
 
เป็นภาพจริงที่ไม่ได้มีการตัดต่อใช่หรือไม่ พยอมรับว่าใช่ ทนายถามต่อว่าตัวเลข 2,800 ล้านบาทที่อยู่ในโพสต์ของจำเลยปรากฎในหน้าเว็บหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ที่อ้างส่งศาลใช่หรือไม่ 
พยอมตอบว่าตัวเลขนั้นปรากฎตามที่ทนายจำเลยอ้างแต่ไม่ทราบเงินจำนวนนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไรและไม่ใช่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
 
ทนายจำเลยให้พยอมดูพยานเอกสารฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นภาพคัดลอกหน้าจอข้อความของจำเลยที่พยอมคัดลอกมาเก็บไว้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2557 ข้อความนี้พยอมเห็นตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2557 ระหว่างที่อยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในวันที่ 21 กันยายน 2557 พยอมส่งข้อความในกล่องสนทนาหากำพล ซึ่งปรากฎตามเอกสารหลักฐานของจำเลย ข้อความส่วนหนึ่งพยอมบอกกับจำเลยว่า 
ไม่มีกิจกรรมใดที่เกี่ยวกับถ่านหิน หากกำพลไม่สบายใจให้สอบถามมาซึ่งพยอมยินดีจะอธิบาย ข้อความนี้พยอมรับว่าส่งหาจำเลยจริง เป็นการชี้แจงการทำงานโครงการที่ปากพญา อำเภอท่าชัก 
ในวันที่ 21 กันยายน 2557 พยอมส่งข้อความหาจำเลยด้วยว่าขอให้ปิดโพสต์ พยอมกล่าวด้วยว่าตั้งแต่วันแรกที่เห็นข้อความ เขาขอให้จำเลยปิดโพสต์แต่จำเลยพึ่งมาปิดให้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557 
ทนายถามต่อว่า ที่จำเลยไม่ปิดให้เป็นเพราะวันที่ 21 กันยายน เป็นวันอาทิตย์ ไม่ได้เปิดเฟซบุ๊ก เมื่อเปิดมาวันจันทร์ จำเลยก็ปิดข้อความให้ ซึ่งพยอมก็ส่งข้อความไปขอบคุณใช่หรือไม่ พยอมรับว่าใช่ 
 
ทนายจำเลยถามพยอมว่า ที่เคยเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า มีเพื่อนแจ้งว่ามีการโพสต์ข้อความซึ่งเป็นข้อพิพาทในคดีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 เพื่อนคนนั้นชื่ออะไร พยอมเบิกความว่า 
ข้อความในบันทึกน่าจะคลาดเคลื่อนเพราะวันที่เพื่อนโทรมาแจ้งเป็นวันที่ 21 กันยายน 2557  ไม่ใช่ 27 โดยเพื่อนที่โทรมาแจ้งชื่อมานพ ปทุมทอง ซึ่งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ ทนายถามต่อว่า 
หากเพื่อนไม่ได้โทรมาแจ้ง พยอมก็ทราบว่ามีการโพสต์ข้อความดังกล่าวใช่หรือไม่ พยอมตอบว่าทราบเรื่องเมื่อเพื่อนโทรมาแจ้ง สำหรับการเดินทางไปพบทนายเพื่อดำเนินคดี
 พยอมจำไม่ได้ว่าไปพบเมื่อใดแต่เป็นช่วงหลังจากจำเลยปิดโพสต์ไปแล้ว
 
ทนายจำเลยหมดคำถาม
 
ตอบทนายโจทก์ถามติง 
 
พยอมเบิกความตอบคำถามทนายโจทก์ว่าเถ้าลอยเป็นส่วนผสมในปูนซีเมนต์ โดยมีการผสมกันในลักษณะนี้มาประมาณ 50 ปีแล้ว ในการทำวิจัย พยอมไม่เคยนำเถ้าลอยมาผสมเองแต่จะผสมกับคอนกรีตเอง จะใช้เพียงคอนกรีตที่มีขายในท้องตลาด ซึ่งปูนซีเมนต์บรรจุถุงที่ซื้อมา ซึ่งบนถุงไม่มีอัตราส่วนเถ้าลอยระบุไว้ การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในทะเลก็ใช้คอนกรีตที่มีส่วนผสมของเถ้าลอยมาก่อนหน้านี้แล้ว 
ทนายโจทก์ถามพยอมถึงข่าวจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ซึ่งทนายจำเลยนำมาให้ดูว่าเคยเห็นมาก่อนไหม พยอมตอบว่าไม่เคยเห็นมาก่อน 
สำหรับโครงการจัดวางปะการังเทียมที่จังหวัดภูเก็ตซึ่งปรากฎตามภาพที่ทนายจำเลยนำมาให้ดู พยอมตอบทนายว่ากรมทรัพยากรชายฝั่งเป็นผู้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปะการังเทียมรูปโดมไปทิ้งทะเลแต่ภาพนั้น
ไม่เกี่ยวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต งานวิจัยของพยอมเป็นงานวิจัยที่อาจมีนักวิชาการคนอื่นโต้แย้งได้ และไม่มีผลผูกพันให้หน่วยราชการต้องนำไปดำเนินการตามผลการวิจัย
 
ทนายโจทก์หมดคำถาม
 
หลังการสืบพยานปากพยอมเสร็จสิ้น ศาลให้พยานโจทก์ปากที่สองเข้าเบิกความต่อทันที
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง ประพันธ์ สุวรรณ์ ผู้เห็นข้อความแล้วโทรไปสอบถามโจทก์ 
 
ประพันธ์เบิกความตอบศาลถึงประวัติส่วนตัวว่าขณะเบิกความอายุ 53 ปี ประกอบอาชีพเป็นนักจัดรายการวิทยุสังกัดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช 
 
เกี่ยวกับคดีนี้ ประพันธ์เบิกความว่าเห็นข้อความของกำพล จึงโทรไปหาพยอมเพื่อสอบถามข้อมูล ทนายซักประพันธ์ว่าเมื่อเห็นข้อความและภาพที่กำพลโพสต์รู้สึกอย่างไร ประพันธ์ตอบว่าหากข้อความที่โพสต์เป็นจริงก็ถือว่าโจทก์เป็นคนเลว 
ซึ่งเมื่อติดต่อโจทก์ไปโจทก์ก็ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง แต่ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้นไม่อาจยืนยันได้ ทนายโจทก์ถามประพันธ์ว่าเปิดดูข้อความของกำพลที่ไหน ประพันธ์ตอบทนายว่าเปิดดูที่ที่ทำงานซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายจำเลยให้ประพันธ์ดูข้อความที่จำเลยโพสต์แก้ไขชี้แจงข้อผิดพลาดแล้วถามว่าเคยเห็นหรือไม่ ประพันธ์ตอบว่าไม่เคยเห็น ทนายจำเลยถามต่อว่าข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นประโยชน์ต่อใคร 
ประพันธ์เบิกความว่าหากมีการโพสต์ข้อความดังกล่าวจริงก็ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อโจทก์ ทนายจำเลยถามประพันธ์ว่า หลังตรวจสอบข้อเท็จจริงไปที่พยอมแล้วได้สอบถามเรื่องจากทางจำเลยด้วยหรือไม่ ประพันธ์รับว่าไม่ได้สอบถาม
 
19 กุมภาพันธ์ 2559
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง บุญเยียน รัตนวิชา ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง
 
ปกติการสืบพยานจำเลย ตัวจำเลยจะต้องขึ้นให้การเป็นพยานจำเลยปากแรก แต่เนื่องจากบุญเยียนมีภาระกิจช่วงบ่าย ทนายจึงนำบุญเยียนเข้าสืบก่อน  
 
บุญเยียนเบิกความถึงประวัติส่วนตัวว่า ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง และเป็นผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนังด้วย
 
บุญเยียนเบิกความอีกว่า เกษตรกรที่ประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้ง หากต้องการเลี้ยงกุ้งเพื่อส่งออก จะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานของทางราชการ ซึ่งหนึ่งในข้อกำหนดคือน้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งจะต้องสะอาด
ไม่มีสารปนเปื้อนซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพกุ้งและไม่มีสารตกค้างที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค 
 
บุญเยียนเบิกความกับทนายถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่จะมีผลกระทบต่ออาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก่อนหน้าคดีนี้ว่า 
เคยมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอหัวไทร ซึ่งบุญเยียนเคยไปร่วมคัดค้านเพราะทราบมาว่าหากมีการก่อสร้าง มลพิษที่เกิดจากการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินจะส่งผลกระทบต่ออาชีพของตัวเองและเพื่อนเกษตรกร
 
ส่วนความเกี่ยวข้องกับตัวจำเลย บุญเยียนเบิกความว่ารู้จักกำพลในฐานะนักวิชาการที่ทำงานด้านภัยพิบัติ ก่อนหน้านี้กำพลเคยติดต่อมาที่สหกรณ์เพื่อขอให้สหกรณ์ช่วยเผยแพร่ข้อมูลสภาพภูมิอากาศให้สมาชิกรับทราบ
เพื่อเตรียมตัวรับมือกรณีที่เกิดภัยพิบัติหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่จะกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง  ข้อมูลที่กำพลให้กับทางสหกรณ์เป็นข้อมูลที่ตรงกับข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา
แต่จะลงรายละเอียดสภาพอากาศหรือภัยพิบัติในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชลึกกว่าของกรมอุตุฯ นอกจากนี้ก็มีความแม่นยำ 
ปรากฎการณ์ใดที่หน่วยงานของกำพลแจ้งเตือนมาก็มักจะเกิดขึ้นจริงจึงเชื่อว่าข้อมูลที่กำพลให้มีที่มาที่ไปและน่าเชื่อถือ 
บุญเยียนให้กำพลเข้ามาอยู่ในกลุ่มไลน์ของสหกรณ์ฯด้วย เพื่อให้การแจ้งข่าวเป็นไปอย่างรวดเร็ว สำหรับความประพฤติของกำพล เท่าที่ทราบไม่เคยได้ยินว่ากำพลมีปัญหาหรือมีคดีกับใคร
 
ทนายโจทก์ไม่ถามค้าน
 
สืบพยานจำเลยปากที่สอง กำพล จิตตะพนัง จำเลยเบิกความเป็นพยานเอง
 
กำพลเบิกความตอบศาลถึงประวัติส่วนตัวว่า ขณะเบิกความอายุ 41 ปี ประกอบอาชีพเป็นพนักงานองค์กรของรัฐ
 
กำพลเบิกความตอบทนายว่า ปัจจุบันทำงานเป็นเจ้าหน้าที่บริหารทั่วไปของศูนย์บริการวิชาการ รับผิดชอบแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหาร 
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีโครงการยุทธศาสตร์รวมสิบโครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการชุมชนปกป้องพื้นที่พื้นที่ความมั่นคงทางด้านอาหาร จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งกำพลเป็นผู้รับผิดชอบอยู่ 
นอกจากการทำงานในฐานะพนักงานของรัฐ ยังทำโครงการอาสาสมัครเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย 
วิธีทำงานคือเข้าไปให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ในช่วงปี 2543 
ที่มีโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองกลายกำพลก็เข้าไปให้ข้อมูลว่าโครงการดังกล่าวมีข้อดีข้อเสียอย่างไรเพื่อให้ชาวบ้านกำหนดท่าทีต่อโครงการ ตั้งแต่ปี 2551 
จนถึงปัจจุบันก็ให้ความรู้กับชุมชนเรื่องผลดีผลเสียของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยขี้เถ้าถ่านหินเป็นประเด็นหนึ่งที่กำพลได้ให้ความรู้ด้วย
 
สำหรับเกียรติประวัติการทำงาน กำพลเคยได้รับรางวัลจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีและเคยได้เชิญไปออกรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
 
กำพลเบิกความเกี่ยวกับคดีนี้ว่า ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2557 ขณะที่ทำงานในโครงการปกป้องพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในพื้นที่ตำบลท่าชัก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 
เขาเข้าร่วมประชาคมในโครงการที่จะมีการเปลี่ยนแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากไม้ไผ่เป็นซีเมนต์ผสมขี้เถ้าถ่านหิน ชุมชนไม่เห็นด้วยจึงมาปรึกษาเขาว่าจะโต้แย้งโครงการ ชุมชนสามพญา 
(กำพลระบุภายหลังว่าชื่อชุมชนสามพญาที่ศาลบันทึกน่าจะคลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็นปากพญา) ตำบลท่าชัก มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรง จึงนำไม้ไผ่มาทำเป็นแนวป้องกันชายฝั่ง 
โดยได้รับสนับสนุนจากมูลนิธิรักษ์ไทย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้เงินสนับสนุนเพื่อซ่อมแซมและเพิ่มเติมแนวป้องกันผ่านโครงการที่กำพลเป็นผู้รับผิดชอบ
 
หลังกำพลทราบเรื่องจากชาวบ้านก็เริ่มศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของการนำซีเมนต์ผสมขี้เถ้าถ่านหินมาผสมเป็นวัสดุทดแทนไม้ไผ่เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง 
และพบว่าการใช้วัสดุดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในการศึกษาหาข้อมูล 
กำพลเบิกความว่าเขาปรึกษากับรศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านผลกระทบของมลพิษจากมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย 
 
หลังตรวจสอบข้อมูลโดยรอบด้าน กำพลเชื่อว่าโครงการใช้ซีเมนต์ผสมขี้เถ้าถ่านหินมาทำเป็นวัสดุป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมจึงนำข้อค้นพบเผยแพร่ในเฟซบุ๊กตั้งแต่วันที่
 17 – 19 กันยายน 2557 ตามเอกสารที่อ้างส่งต่อศาล กำพลเบิกความด้วยว่า มีคนชื่อพิเชษฐ์ ติดต่อสอบถามมาทางกล่องสนทนาเฟซบุ๊กเกี่ยวกับโครงการที่อำเภอท่าชักซึ่งกำพลโพสต์ลงในเฟซบุีกพร้อมกับบอกว่า
พยอมเคยทำโครงการลักษณะเดียวกันที่จังหวัดเพชรบุรีมาก่อน โดยพิเชษฐ์ซึ่งเคยรับงานจากโจทก์บอกด้วยว่าโครงการดังกล่าวใช้ส่วนผสมระหว่างซีเมนต์กับเถ้าลอยในอัตรา 70 ต่อ 30 เปอร์เซนต์ 
ในการสนทนากับพิเชษฐ์ทางกล่องสนทนาเฟซบุ๊กในวันที่ 18 กันยายน 2557 พิเชษฐ์ระบุว่า วัสดุป้องกันชายฝั่งในโคร
 งการของพยอมที่จังหวัดเพชรบุรีมีการใช้ซิเมนต์ ทราย และขี้เถ้าถ่านหินเป็นส่วนผสม ผลการวิจัยออกมาดีแต่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสารปนเปื้อนต้องรอการตรวจสอบ
 
เมื่อทราบข้อมูลจากพิเชษฐ์ กำพลก็ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งพบว่าในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ที่อ้างส่งต่อศาลไปแล้ว ระบุว่าพยอมเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโครงการทำปะการังเทียมจากเถ้าลอย 
ซึ่งมีการทำโครงการนำร่องไปแล้วที่จังหวัดเพชรบุรี และมีข่าวว่ามีการเตรียมนำโดมทะเลไปวางตามชายฝั่งอีกหลายแห่งใช้งบประมาณ 2,800 ล้านบาท ตามข่าวยังปรากฎด้วยว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
ให้งบประมาณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการทำวิจัยและปะการังเทียมมีส่วนผสมของขี้เถ้าถ่านหินในอัตราร้อยละ 30 
 
กำพลเบิกความต่อว่า หลังทำการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้นำข้อมูลตามที่เบิกความข้างต้นไปพูดคุยกับชุมชนผู้ประกอบอาชีพประมง ทำให้ชุมชนเกิดความวิตกกังวลว่าหากมีการนำวัสดุผสมขี้เถ้าถ่านหินมา
ใช้จะมีผลกระทบต่ออาชีพและสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 20 กันยายน 2557 กำพลโพสต์ข้อความตามฟ้องโดยไม่มีเจตนาทำให้พยอมผู้เป็นโจทก์เสื่อมเสียแต่ต้องการให้ผู้ที่ประกอบอาชีพประมง
และผู้ที่ทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้รับทราบข่าวสารและร่วมปกป้องสภาพแวดล้อมในพื้นที่ กำพลเบิกความด้วยว่า เนื่องจากทราบจากพิเชษฐ์ว่าโครงการของพยอมที่จังหวัดเพชรบุรียังไม่มีการศึกษาเรื่องผลกระทบอย่างเพียงพอ 
เขาจึงมีความกังวลมากเป็นพิเศษเมื่อทราบว่ากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกับมหาวิทยาลัยสงขลานคินทร์มีแผนที่จะนำโครงการนำร่องมาขยายผลในพื้นที่สี่จังหวัดของภาคใต้
 
 และในวันเดียวกับที่โพสต์ข้อความตามฟ้อง พยอมแนะนำตัวมาทางกล่องสนทนาเฟซบุ๊กและพูดคุยกับตนเองตามปกติ พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่าโครงการที่ตำบลท่าชักไม่มีการนำขี้เถ้าถ่านหินมาใช้ 
รวมทั้งเรียกกำพลอย่างสนิทสนมว่าน้องด้วย การสนทนาเป็นไปด้วยดี กำพลเชิญพยอมมาเป็นวิทยากรในเวทีสาธารณะที่กำลังจะจัดขึ้นด้วย ในวันเดียวกันพยอมได้สนทนาทางกล่องข้อความเฟซบุ๊กกับ
ณขจร จันทวงศ์ ซึ่งเคยสัมภาษณ์พยอมก่อนหน้านี้แล้วพยอมไม่ได้บอกว่าใช้เถ้าลอยเป็นส่วนผสมในโครงการที่ท่าชัก วันที่ 21 กันยายน พยอมส่งข้อความมาขอให้ลบโพสต์ที่เป็นข้อพิพาท 
แต่วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ที่กำพลจะไม่เล่นเฟซบุ๊กเพราะต้องการให้เวลากับครอบครัวจึงไม่เห็นข้อความ ในวันถัดมาซึ่งเป็นวันจันทร์พอกำพลเปิดมาเห็นข้อความของพยอมก็ลบให้ 
 
กำพลเบิกความต่อว่า ในวันที่ 20 กันยายน 2557 ณขจร จันทวงศ์ ผู้สื่อข่าวผู้จัดการคุยกับพยอมผ่านกล่องสนทนาเฟซบุ๊กว่า ที่เคยสัมภาษณ์กับพยอมก่อนหน้านี้ พยอมบอกว่าจะไม่ใช้ขี้เถ้าถ่านหิน 
ซึ่งพยอมชี้แจงตอบว่าจากการทดลองพบว่าการผสมเถ้าลอยในสัดส่วนห้าเปอร์เซ็นต์จะทำให้คอนกรีตไม่ถุกกัดกล่อนโดยง่ายและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 
ในบทสนทนาดังกล่าวพยอมยังพูดถึงความขัดแย้งระหว่างตัวพยอมกับกำพลด้วยว่าที่กำพลคัดค้านก็เป็นเรื่องที่ควรแล้ว
 
การสืบพยานดำเนินมาถึงเที่ยง ศาลสั่งให้พักการพิจารณาและสั่งให้สืบพยานปากกำพลต่อในช่วงบ่าย
 
ประมาณ 13.30 น. ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาต่อ
 
ทนายถามกำพลว่าก่อนหรือหลังลบข้อความตามที่พยอมขอได้ดำเนินการอะไรบ้าง กำพลตอบว่า ก่อนจะลบข้อความที่เป็นข้อพิพาทได้โพสต์ชี้แจงว่างบประมาณ 2,800 ล้านบาท เป็นของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 
แต่เงินในโครงการวิจัยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตคือสิบล้านบาท พร้อมขออภัยในความผิดพลาด กำพลเบิกความต่อว่า หลังลบโพสต์ที่เป็นข้อพิพาทก็ได้โพสต์ข้อความชี้แจงข้อผิดพลาดอีกครั้งเพื่อให้ผู้อ่านที่ยังอาจจะเข้าใจผิดเข้าใจให้ถูกต้อง 
กำพลบอกด้วยว่าหลังลบข้อความแล้วตัวเขาและพยอมก็ยังคุยกันตามปกติ ไม่มีข้อพิพาทอะไรอีก 
 
ทนายให้กำพลดูภาพท่อพีวีซีปักในทะเลที่เคยให้พยอมดูแล้วถามกำพลว่าเป็นภาพอะไร กำพลตอบว่าเป็นภาพวัสดุทดแทนไม้ไผ่เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่ทำจากท่อพีวีซีหล่อด้วยซิเมนต์ซึ่งปักอยู่ที่ชายทะเล
ในตำบลท่าชักซึ่งจากที่ได้ไปดูในพื้นที่ไม่มีความแข็งแรง
 
ตอบทนายโจทก์ถามค้าน
 
พยอมเบิกความตอบทนายโจทก์ว่าตนเองสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและมีความรู้ความเข้าใจในการทำวิจัย
 
ทนายโจทก์ถามว่า พยอมเป็นข้าราชการสังกัดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การกำกับของมหาวิทยาลัยใช่หรือไม่ กำพลรับว่าใช่
 
ทนายโจทก์ถามว่าพยอมเป็นข้าราชการ จึงมีรายได้จากเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง สิทธิประโยชน์ตามระเบียบกระทรวงการคลังใช่หรือไม่ กำพลตอบว่าไม่ใช่ พยอมมีรายได้สองส่วนคือ รายได้ตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่ปกติจากมหาวิทยาลัย 
และส่วนที่สองจากการทำวิจัย ทนายโจทก์ถามย้ำว่ารายได้ทั้งสองส่วนอยู่ในระเบียบกระทรวงการคลังใช่หรือไม่ กำพลรับว่าใช่ 
 
ทนายโจทก์ถามว่า ข้อความและภาพที่ปรากฎในเฟซบุ๊ก พยอมเป็นผู้นำลงเองใช่หรือไม่ พยอมรับว่าใช่ 
 
ทนายโจทก์ถามว่า การนำผลการวิจัยไปใช้ โดยนำขี้เถ้าถ่านหินไปทิ้งทะเล ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของพยอมใช่หรือไม่เพราะพยอมเพียงแต่มีหน้าที่วิจัยทางวิชาการ กำพลตอบว่าไม่ใช่ 
เพราะพยอมเป็นผู้ให้ข่าวว่ากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะทำการนำปะการังเทียมจากขี้เถ้าถ่านหินไปใช้ในชายทะเลในสี่จังหวัดภาคใต้ 
ทางมหาวิทยาลัยย่อมต้องให้พยอมเป็นผู้ดำเนินการ
 
ทนายถามว่า กำพลยืนยันได้ไหมว่าพยอมเป็นผู้ให้ข่าวจริง กำพลตอบว่าเชื่อว่าจริงเพราะจากการตรวจสอบนอกจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ก็มีศูนย์ข่าวชายแดนภาคใต้ก็นำข่าวนี้ไปเผยแพร่ 
นอกจากนี้ก็ได้ทราบจากพิเชษฐ์ว่าพยอมมีโครงการวิจัยที่จังหวัดเพชรบุรี
 
ทนายโจทก์ถามว่าหลังงานวิจัยของพยอมเสร็จสิ้น กำพลได้ตรวจสอบต่อหรือไม่ ว่ามีการใช้งบประมาณ 2,800 ล้านบาทในการทำปะการังเทียมตามผลงานวิจัยของพยอมหรือไม่ 
กำพลตอบว่ายังไม่มีแต่ทราบว่ามีโครงการที่น่าจะเชื่อมโยงกับโครงการของพยอม คือโครงการทำแนวปะการังเทียมที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 
ซึ่งมีลักษณะเดียวกับงานวิจัยของพยอม ซึ่งพบว่ามีการนำข้อมูลดังกล่าวไปลงไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ของทั้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต พยอมตอบทนายโจทก์ด้วยว่าในทางวิชาการ 
งานวิจัยของพยอมยังๆไม่เป็นที่ยุติ จึงยังไม่มีหน่วยงานใดสามารถนำไปใช้ได้ แต่ในทางปฏิบัติก็อาจไม่เป็นเช่นนั้น
 
สำหรับการโพสต์ข้อความตามฟ้อง กำพลตอบทนายโจทก์ว่าถูกโพสต์ระหว่างที่งานวิจัยของพยอมยังไม่แล้วเสร็จ ก่อนลงข้อความ ยังไม่ได้สอบถามข้อมูลไปทางพยอมแต่ได้พูดคุยกับพิเชษฐ์ซึ่งอ้างว่าทำงานให้โจทก์พยอม 
แต่พิเชษฐ์ไม่มีชื่ออยู่ในรายงานการวิจัยของพยอม
 
ตอบทนายจำเลยถามติง
 
กำพลตอบทนายจำเลยว่า ที่เบิกความตอบทนายโจทก์ว่ากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนำโดมทะเลไปวางที่ชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต เป็นไปตามข่าวที่อ้างส่งต่อศาลเป็นพยานเอกสารฝ่ายจำเลย 
 
กำพลตอบทนายจำเลยว่า เท่าที่ทราบ งานวิจัยเกี่ยวกับเถ้าลอยถ่านหินในประเทศไทยมีแต่ของพยอมเท่านั้น ขณะที่ปูนซีเมนต์ที่ใช้ก่อสร้างทั่วไปมีส่วนผสมของเถ้าลอย แต่ก็ไม่ได้ใช้กับงานก่อสร้างในทะเล
 
ทนายจำเลยแถลงหมดคำถามติง ศาลให้นำพยานปากต่อไปเข้าเบิกทันที
 
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม ประยุทธ แซ่ลิ้ม กรรมการกลุ่มประมงพื้นบ้านปากพญา
 
ประยุทธเบิกความตอบศาลเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวว่าประกอบอาชีพเป็นชาวประมง เกี่ยวกับคดีนี้ ในวันที่ 8 กันยายน 2557 พยอมเข้าไปที่ชุมชนซึ่งประยุทธอาศัยอยู่เพื่อทำประชาคมเรื่องโครงการสิ่งเทียมไม้ไผ่เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง 
เนื่องจากในวันประชาคมพยอมไม่ได้ระบุปริมาณขี้เถ้าถ่านหินที่ใช้ผสมในคอนกรีตให้ชัดเจนชาวประมงในพื้นที่จึงมีความกังวลใจ มีการจัดหารือกันพร้อมกับเชิญกำพลซึ่งเป็นนักวิชาการที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาปรึกษาด้วย 
ภายหลังการหารือ ชาวบ้านส่งหนังสือไปที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพื่อขอให้พยอมเดินทางมาชี้แจงเรื่องปริมาณขี้เถ้าถ่านหินอีกครั้ง
 
ทนายจำเลยให้ประยุทธดูภาพท่อพีวีซีปักในทะเลซึ่งเป็นภาพชุดเดียวกับที่ทนายจำเลยให้พยอมและกำพลดูแล้วถามประยุทธว่า ทราบหรือไม่เป็นภาพอะไร ประยุทธตอบทนายว่าเป็นท่อที่ใช้ในโครงการซึ่งพยอมเป็นผู้รับผิดชอบ 
แต่ผู้ที่นำท่อเข้ามาในพื้นที่คือนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ส่วนตัวพยอมไม่ได้เดินทางมาด้วย ประยุทธเข้ามาเกี่ยวข้องกับท่อในภาพเพราะได้รับการว่าจ้างด้วยเงิน 300 บาท เพื่อให้พายเรือนำท่อออกไปปักในจุดที่กำหนด ประยุทธเบิกความด้วยว่าท่อที่นำไปปักไม่ค่อยแข็งแรงและมีบางอันหัก ประยุทธจึงนำไม้ไปเค้ายันท่อไว้ตามภาพเพราะเกรงนักศึกษาจะถูกพยอมตำหนิ ศาลถามย้ำประยุทธว่ายืนยันคำเบิกความใช่ไหมว่าพยอมเป็นผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว ประยุทธตอบศาลว่ายืนยัน
 
ทนายโจทก์ไม่ถามค้าน
 
สืบพยานจำเลยปากที่สี่ รศ.เรณู เวชรัชต์พิมล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
 
เรณูเบิกความตอบศาลถึงประวัติส่วนตัวว่า ขณะเบิกความรับราชการอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ โดยมีความเชี่ยวชาญเรื่องมลพิษและสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
 
ทนายถามเรณูถึงเรื่องทำวิจัยว่ามีหลักในการทำงานอย่างไร เรณูตอบว่างานวิจัยจะมีการกำหนดขอบเขตการศึกษานอกจากนี้การทำวิจัยก็จะต้องคำนึงถึงสัญญาที่ทำกับผู้ให้ทุน สำหรับงานวิจัยของโจทก์ 
เรณูอ่านสัญญาที่ทนายให้ดูให้ศาลฟังว่า สัญญาของงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า ผู้วิจัยต้องทำปะการังเทียมโดยอาศัยส่วนผสมระหว่างคอนกรีตกับขี้เถ้าถ่านหินจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะหรือขี้เถ้าถ่านหินนำเข้า 
ทนายถามเรณูว่าตามหลักการทำวิจัย หากผู้วิจัยต้องการเปลี่ยนแปลงสัญญาจะต้องทำอย่างไร เรณูตอบทนายว่า การเปลี่ยนแปลงสัญญาต้องแจ้งผู้ว่าหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นลายลักษณ์อักษร
 
ทนายถามถึงผลกระทบของการใช้ปะการังเทียมที่มีส่วนผสมของขี้เถ้าถ่านหิน เรณูตอบทนายโดยอ้างอิงงานวิจัยที่ทำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนว่า เคยมีการนำขี้เถ้าถ่านหินไปผสมเป็นปะการังเทียมแช่ในทะเลเมดิเต
 อร์เรเนียน เมื่อแช่ในทะเลประมาณ 21 – 33 วันก็เก็บตัวอย่างไปทดสอบในห้องทดลองซึ่งพบว่า ปริมาณสารตกค้างในวัตถุตัวอย่างลดลง จึงเชื่อว่าสารตกค้างน่าจะถูกชะลงไปในทะเล 
งานวิจัยที่เรณูนำมาอ้างทนายจำเลยได้นำส่งศาลเป็นเอกสารหลักฐานของฝ่ายจำเลย เรณูเบิกความถึงงานวิจัยชิ้นที่อ้างส่งศาลว่า เป็นงานวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะจัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยอ้อกซ์ฟอร์ด 
 
สำหรับงานวิจัยของโจทก์ เรณูเห็นว่าควรมีการทดสอบเรื่องความปลอดภัยเพิ่มเติม เพราะโจทก์มีพื้นฐานเป็นวิศวกร จึงให้ความสำคัญกับความแข็งแรงของโครงสร้างวัสดุเป็นหลัก 
 
จากนั้นทนายให้เรณูดูข้อความซึ่งบันทึกภาพหน้าจอมาจากเว็บไซต์ของกฟผ.และให้อ่านให้ศาลฟัง เรณูอ่านข้อความซึ่งระบุว่าการผลิตปะการังเทียมโดยใช้ขี้เถ้าถ่านหินผสมกับปูนซีเมนต์ในอัตราส่วน 30 ต่อ 70 มีความปลอดภัย 
โดยมีงานวิจัยของพยอมรับรอง นอกจากนี้ยังมีตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปรากฎบนหน้าเว็บที่จำเลยบันทึกภาพหน้าจอไว้ด้วย 
 
ทนายโจทก์ถามค้านว่า การทำวิจัยโดยปกติผู้วิจัยก็จะทำไปโดยสุจริตใช่หรือไม่ ศาลท้วงว่าการถามลักษณะเช่นนี้พยานคงจะตอบไม่ได้ เรณูตอบว่าไม่ทราบว่าจะใช้อะไรมายืนยันว่าบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ 
ทราบเพียงว่าการทำวิจัยต้องเป็นไปตามกรอบการวิจัยที่วางไว้และเงื่อนไขของผู้ให้ทุนวิจัย
 
สืบพยานจำเลยปากที่ห้า ประเสริฐ คงสง เกษตรกรและนักวิจัยชาวบ้าน
 
ประเสริฐเบิกความตอบศาลเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวว่าประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร นอกจากนี้ก็ใช้เวลาส่วนหนึ่งทำงานอาสาสมัคร ให้ความรู้ชาวบ้านในเรื่องสิ่งแวดล้อมและเคยได้รับรางวัลจากเครือเนชัน
 
ประเสริฐเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ก่อนหน้านี้เคยศึกษาเรื่องผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อสิ่งแวดล้อม และเคยให้ข้อมูลกับชาวบ้านทั้งข้อมูลด้านประโยชน์ของโรงไฟฟ้าและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 
สำหรับผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อสิ่งแวดล้อม เท่าที่ประเสริฐทราบได้แก่ ปัญหามลภาวะจากฝุ่นละออก และสารพิษตกค้างที่จะซึมลงไปอยู่กับน้ำใต้ดิน 
 
สำหรับตัวจำเลย ประเสริฐเบิกความว่าไม่ได้รู้จักกับกำพลเป็นการส่วนตัวทราบแต่เพียงว่าเป็นคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เคยแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เท่าที่ทราบ ไม่เคยได้ยินว่ากำพลเคยทะเลาะหรือมีคดีกับใคร
 
 
สืบพยานจำเลยปากที่หก สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน สัตว์น้ำอินทรีย์
 
สุภาภรณ์เบิกตอบศาลเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวว่า ขณะเบิกความเป็นผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน สัตว์น้ำอินทรีย์
 
สุภาภรณ์เบิกความตอบทนายเกี่ยวกับโครงการประมงพื้นบ้าน สัตว์น้ำอินทรีย์ว่า การทำประมงแบบอินทรีย์ เป็นการทำประมงที่ให้ความสำคัญกับความสะอาดและความปลอดภัย 
ผู้ที่จะผ่านเกณฑ์การทำประมงอินทรีย์ จะต้องปฎิบัติตามข้อกำหนดซึ่งรวมถึง การจับปลาและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำประมงต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเลี้ยงในน้ำธรรมชาติที่ไม่ปนเปื้อน 
โดยราคาของสัตว์น้ำอินทรีย์จะสูงกว่าราคาสัตว์น้ำธรรมดาเกือบหนึ่งเท่าตัว  
 
ทนายจำเลยถามว่าเหตุใดจึงมาเบิกความเป็นพยานให้กำพล สุภาภรณ์เบิกความว่า มีสองเหตุผลมาเบิกความเป็นพยานในคดีนี้ ประการแรก หากมีการนำขี้เถ้าถ่านหินมาทำเป็นสิ่งเทียมปะการังจะทำให้น้ำเกิดการปนเปื้อน
ซึ่งจะส่งผลให้ชาวประมงที่ทำการประมงแบบอินทรีย์ไม่ผ่านมาตรฐานทำให้เสียโอกาส ประการที่สองคือเพื่อยืนยันว่ากำพลลงข้อความดังกล่าวในฐานะนักอนุรักษ์ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม  
หลังสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช นัดฟังคำพิพากษา วันที่ 17 มีนาคม 2559
 
17 มีนาคม 2559 
 
นัดฟังคำพิพากษา

ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช พิพากษาจำคุกกำพลหนึ่งปี ปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้สองปี

6 ธันวาคม 2559

นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าการแสดงความคิดเห็นของจำเลยเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

7 กุมภาพันธ์ 2560

กำพลแจ้งว่าฝ่ายโจทก์ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกา คดีจึงเป็นที่สุดโดยกำพลได้รับการยกฟ้องโดยผลของคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
คดีนี้รับฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นได้ว่า โจทก์รับราชการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในระหว่างวันที่ 20 กันยายน 2557 ถึง 22 กันยายน 2557 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยนำข้อมูลเข้าสู่เว็บไซต์เฟซบุ๊กมีข้อความว่า "พยอม รัตนมณี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่กับเงิน 2,800 ล้านบาท กับการแปรรูปขี้เถ้าถ่านหินจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะเพื่อถมทะเลผ่านข้ออ้างแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในทะเลอ่าวไทย – ปัจจุบันทำเสร็จแล้วที่ทะเลเพชรบุรี"
 
และข้อความว่า "ชีวิตแลกกับทุกชีวิตที่กินกุ้งหอยปูปลาจากทะเล จดจำใบหน้านักวิชาการคนนี้เอาไว้ (มีภาพโจทก์) เงิน 2,800 ล้านบาทของกฟผ. เขากำลังแปรรูปขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาเพื่อถมทะเลภาคใต้ หยุดเขาก่อนทะเลภาคใต้จะย่อยยับอย่างยั่งยืน" โจทก์และบุคคลอื่นได้อ่านและทราบข้อความดังกล่าวแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือไม่
 
โจทก์มีตัวโจทก์และประพันธ์ สุวรรณ์ เบิกความถึงข้อความที่เป็นข้อพิพาท ขณะที่จำเลยรับว่า เป็นผู้นำข้อมูลตามฟ้องเข้าสู่เว็บไซต์เฟซบุ๊กจริง  เมื่อพิจารณาถึงถ้อยคำซึ่งมีภาพของโจทก์ ผู้อ่านทั่วไปจะเข้าใจได้ทันทีว่า โจทก์เป็นนักวิชาการที่ไม่มีอุดมการณ์ รับเงินจากการไฟฟ้าแลกกับการทำโครงการแปรรูปขี้เถ้าถ่านหินมาถมทะเลโดยอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในภาคใต้ แต่ที่จริงแล้วเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของกฟผ. ซึ่งหากโครงการของโจทก์ทำสำเร็จจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ทั้งที่โครงการของโจทก์ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาวิจัย ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะนำมาใช้จริง และงบประมาณ 2,800 ล้านบาท ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโจทก์โดยตรง
 
ข้อความของจำเลยจึงเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามด้วยการโฆษณา โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง โดนดูถูกและเกลียดชัง และเป็นการลงข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

แม้จำเลยจะนำสืบว่า จำเลยได้เข้าร่วมทำประชาคมในโครงการที่มีการจัดทำแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยเปลี่ยนวัสดุไม้ไผ่ไปใช้ปูนซิเมนต์ผสมขี้เถ้าถ่านหิน ซึ่งทางชุมชนไม่เห็นด้วยจึงมาปรึกษาจำเลย จำเลยจึงศึกษาค้นคว้าข้อมูลและพบว่าขี้เถ้าถ่านหินผสมซิเมนต์มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นอกจากนี้จำเลยยังติดต่อรับรองข้อมูลกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญผลกระทบมลพิษด้วย จำเลยจึงเชื่อว่าวัสดุทดแทนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงนำข้อมูลลงในระบบคอมพิวเตอร์โปรแกรมเฟซบุ๊ก
 
แต่ข้อความที่จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ไม่ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม และที่นำสืบว่าก่อนที่จำเลยจะลบข้อความพิพาท จำเลยได้ลงข้อความชี้แจงโดยกล่าวคำขอโทษโจทก์และชี้แจงงบประมาณ 2,800 ล้านบาทไม่ใช่ของกฝผ.แต่เป็นของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ส่วนงบประมาณในการวิจัยเป็นของกฝผ. ประมาณสิบล้านบาท เห็นว่าเกิดขึ้นหลังจำเลยกระทำความผิดแล้ว ไม่อาจให้จำเลยพ้นผิดได้
 
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328  พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2)(5) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2)(5) ซึ่งมีบทลงโทษหนักที่สุด จำคุกหนึ่งปี และปรับ 40,000 บาท แต่เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนดสองปี
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา