บริษัททุ่งคำฟ้องนักข่าวเยาวชนและไทยพีบีเอส

อัปเดตล่าสุด: 16/08/2562

ผู้ต้องหา

วันเพ็ญ ชื่อเล่นว่า พลอย

สถานะคดี

อื่นๆ

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นบริษัทในเครือของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับสิทธิในการสำรวจและพัฒนาแหล่งแร่ทองคำ และได้ประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ทองคำและทองแดง กระทรวงอุตสาหกรรม ในพื้นที่อำเภอวังสะพุง อำเภอเมือง จังหวัดเลย และมีสำนักงานสาขาอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต บริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีกรรมการหกคน คือ นายชนะ วงศ์สุภาพ นายปราโมทย์ บันสิทธิ์ นายบัณฑิต แสงเสรีธรรม นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล นายวิชัย เชิดชีวศาสตร์ และนายธนภูมิ เดชเทวัญดำรง

สารบัญ

สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) เผยแพร่ รายการนักข่าวพลเมือง ตอน ค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ เมื่อ วันที่ 1 กันยายน 2558 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการทำเหมืองแร่ทองคำในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
 
บริษัท ทุ่งคำ เจ้าของประทานบัตรเหมืองแร่ แจ้งความดำเนินคดีกับวันเพ็ญ หรือพลอย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ปรากฏเสียงอยู่ในรายการ ที่สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี และยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ขณะเดียวกันก็ยื่นฟ้องสถานีไทยพีบีเอส นักข่าว และผู้บริหารสถานี ต่อศาลอาญา ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
คดีของเยาวชน สถานพินิจและคุ้มครองเด็กมีคำสั่ง "ไม่เห็นด้วย" กับการดำเนินคดี ส่วนคดีของสถานีไทยพีบีเอส เบื้องต้นศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่ง "ไม่รับฟ้อง" แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์สั่งแก้ไขให้รับฟ้องไว้พิจารณา
 
ในชั้นศาลฝ่ายโจทก์และผู้บริหารสถานีไทยพีบีเอส เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย โดยสถานียินดีทำสกู๊ปข่าวเผยแพร่ข้อเท็จจริงจากฝั่งโจทก์​และขึ้นข้อความตัววิ่ง ช่วงข่าวเที่ยง การไกล่เกลี่ยใช้เวลาถึง 6 นัด ก่อนฝ่ายโจทก์จะยอมถอนฟ้องในที่สุด
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

วัญเพ็ญ หรือ พลอย เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ขณะเกิดเหตุอายุ 15 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่
 
คดีที่บริษัททุ่งคำยื่นฟ้องต่อศาลอาญา มี จำเลย 5 คน ประกอบด้วย
1. วิรดา แซ่ลิ่ม ผู้ดำเนินรายการช่วงข่าวพลเมือง
2. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)
3. สมชัย สุวรรณบรรณ อดีต ผอ.ส.ส.ท.
4. ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว
5. โยธิน สิทธิบดีกุล ผู้อำนวยการสำนักโทรทัศน์และวิทยุ 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คดีที่บริษัท ทุ่งคำ ยื่นฟ้องวันเพ็ญ หรือพลอย ประชาไท เผยแพร่หนังสือขออนุญาตฟ้องเด็กหรือเยาวชนลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งระบุว่า พลอย อายุ 15 ปี ในฐานะนักข่าวเยาวชนให้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่หรือนักข่าวภาคสนามประจำสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ขณะออกค่ายเยาวชนที่วัดโนนสว่าง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยซึ่งจัดระหว่างวันที่ 28 – 30 สิงหาคม 2558  ในทำนองว่า 
 
"ลำน้ำฮวยได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ โดยลำน้ำฮวยมีสารปนเปื้อน ทำให้ใช้ดื่มใช้กินไม่ได้” 
 
เทปบันทึกคำให้สัมภาษณ์ของพลอยออกอากาศทั่วประเทศทางโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558  รวมทั้งเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เป็นเหตุให้บริษัททุ่งคำได้รับความเสียหายและเป็นความเท็จ เพราะเหมืองแร่ของบริษัทได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่มีสารปนเปื้อน และลำน้ำฮวยไม่ได้ไหลผ่านเหมือง 
 
ส่วนคดีที่บริษัท ทุ่งคำ ยื่นฟ้องสถานีไทยพีบีเอส นักข่าว และผู้บริหารสถานี ตามคำฟ้องของบริษัททุ่งคำฯ ระบุว่า ไทยพีบีเอสได้นำเสนอข่าวสิ่งแวดล้อมและผลกระทบเกี่ยวกับออกค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ตอน นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆ แน๊ว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 ส.ค. 2558 ที่วัดโนนสว่าง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งมีการระบุว่าลำน้ำฮวยได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ ทำให้ใช้ดื่ม ใช้กินไม่ได้ 
 
โจทก์ฟ้องว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ เป็นการใส่ร้ายทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และเกิดผลกระทบต่อธุรกิจให้ได้รับความเสียหาย ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 50 ล้านบาท ให้ ส.ส.ท.หยุดประกอบกิจการโทรทัศน์เป็นเวลา 5 ปี
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

วันที่ 22 ธันวาคม 2558 ญาติของพลอยเป็นผู้รับหมายเรียกซึ่งออกเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ระบุให้พลอยไปที่สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรีในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 เวลา 10.00 น. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.3756/2558

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
1 กันยายน 2558 
 
รายการ นักข่าวพลเมือง ตอน ค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ออกอากาศในช่วงข่าวค่ำของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เนื้อหาของรายการนำเสนอการออกค่ายเยาวชน ตอน “นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆ แน๊ว” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้เยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในชุมชนและมีการพูดถึงผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยด้วย
 
4 กันยายน 2558 
 
ประชาไทรายงานข้อมูลซึ่งได้รับจากพลอยว่า มีผู้ใหญ่บ้านมาพบที่บ้านหลังเลิกเรียนโดยขอดูบัตรประชาชนและถ่ายรูปเก็บไว้โดยให้เหตุผลว่า ต้องนำรูปไปให้ทางบริษัททุ่งคำดู เนื่องจากบริษัทเตรียมจะฟ้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดค่ายเยาวชนและการรายงานข่าวดังกล่าว
 
6 กันยายน 2558 
 
ประชาไทรายงานว่า เวลา 11.00 น. พลอยและสมาชิกในครอบครัวเดินทางไปพบผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนสามคนจากบริษัททุ่งคำและรองนายก อบต.เขาหลวง ตามที่ได้รับการนัดหมายไว้ ตัวแทนบริษัทกล่าวว่า ทางบริษัทจะดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดค่ายครั้งนี้ทุกคน ตั้งแต่ผู้ประกาศข่าว ไทยพีบีเอส รวมทั้งตัวพลอย เพราะข่าวดังกล่าวทำให้บริษัทสูญเสียความน่าเชื่อถือทั้งที่เหมืองไม่มีสารพิษและลำน้ำฮวยก็ไม่ได้ไหลผ่านเหมือง
 
ตัวแทนบริษัทยังแนะนำให้พลอยไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันว่าถูกทีมงานบังคับให้รายงานข่าวเพื่อจะได้ไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีไปด้วย 
 
พลอยเล่าให้ผู้สื่อข่าวประชาไทฟังว่า ตอนแรกตกใจมากและร้องไห้ ทำอะไรไม่ถูก โดยเฉพาะตอนที่ถูกผู้ใหญ่บ้านถ่ายรูปไปให้ทางเหมือง แต่ไม่คิดว่าตัวเองทำอะไรผิดจึงจะไม่ไปแจ้งความตามที่ตัวแทนบริษัทแนะนำ
 
14 กันยายน 2558 
 
เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส รายงานว่า  เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งเป็นผู้จัดค่ายเยาวชนที่อำเภอวังสะพุง อ่านแถลงการณ์เรื่อง “หยุดทำลายเสรีภาพ หยุดปิดกั้นการเรียนรู้เยาวชน” ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) พร้อมตั้งคำถามกับสังคมไทยว่า

หากการจัดค่ายเยาวชนเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาเยาวชนให้รักบ้านเกิด กลับถูกคุกคามคัดค้านโดยผู้มีอำนาจ แล้วสังคมไทยจะเหลือเสรีภาพให้ทำอะไรได้บ้าง
 
คณะผู้จัดค่ายแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรวมสี่ข้อได้แก่
 
1. หยุดคุกคาม ข่มขู่หรือกระทำการใดๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดความหวาดกลัวของเยาวชน ครอบครัว และประชาชนในพื้นที่
2. เจ้าหน้าที่รัฐต้องเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่ถูกรับรองโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้
3. ทางคณะผู้จัดขอยืนยันว่า จะจัดกิจกรรมต่อเนื่องต่อไปตามแผนการเรียนรู้ที่ได้ออกแบบไว้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชน
4. เหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการจัดค่ายเยาวชนฯ ครั้งนี้ ถือเป็นความรับผิดชอบของคณะผู้จัดในนามของเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมเท่านั้น
 
19 พฤศจิกายน 2558 
 
เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส รายงานว่า เจ้าหน้าที่ไทยพีบีเอสได้รับหมายนัดไต่ส่วนมูลฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ อ.3756/2558 ซึ่งบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง วิรดา แซ่ลิ่ม ผู้ดำเนินรายการนักข่าวพลเมือง และพวกรวมห้าคน ประกอบด้วย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส), สมชัย สุวรรณบรรณ, ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ และโยธิน สิทธิบดีกุล ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารและโทรทัศน์ นัดไต่สวนมูลฟ้อง 21 มีนาคม 2559
 
12 ธันวาคม 2558 
 
เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส รายงานว่า  พลอยได้รับหนังสือจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2558 เชิญไปให้ถ้อยคำต่อพนักงานคุมประพฤติในวันที่ 21 ธันวาคม 2558 เวลา 09.00 น. เพื่อให้ถ้อยคำว่าข้อกล่าวหาของบริษัท ทุ่งคมีมูลสมควรอนุญาตให้ฟ้องคดีหรือไม่ 
 
13 ธันวาคม 2558
 
เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส รายงานว่า  ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดหกหมู่บ้านเดินทางไปให้กำลังใจพลอยและครอบครัวที่บ้าน โดยยืนยันว่า จะอยู่เคียงข้างกันเพื่อต่อสู้กับคดีความที่อาจเกิดขึ้นและเมื่อพลอยต้องเดินทางไปที่สถานพินิจฯจังหวัดเลยในวันที่ 21 ธันวาคม 2558 ก็จะร่วมเดินทางไปให้กำลังใจด้วย
 
15 ธันวาคม 2558 
 
สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ออกแถลงการณ์ถึงกรณีที่บริษัท ทุ่งคำยื่นฟ้องเยาวชนนักข่าวพลเมืองในความผิดฐานหมิ่นประมาทว่า หากบริษัทไม่มีเจตนาอื่นใดนอกเหนือจากการรักษาสิทธิของบริษัท การฟ้องร้องไทยพีบีเอสก็น่าจะเพียงพอ เพื่อไม่ให้บริษัทถูกสังคมมองว่ามีเจตนาอื่นแอบแฝงจึงเสนอให้บริษัททุ่งคทบทวนการฟ้องร้องเยาวชน
 
ในวันเดียนกัน ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า อัญชนา จ้อนเมือง รักษาราชการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดเลยและเจ้าหน้าที่อีกสี่นาย ลงพื้นที่เพื่อสอบถามและอธิบายข้อกฎหมายแก่พลอยและครอบครัว ขณะที่บุษศา ประพันธ์ ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดเลย ให้สัมภาษณ์ว่า พลอยยังไม่ต้องมาให้ถ้อยคำที่สถานพินิจฯ ในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ เพราะทางสถานพินิจฯ จะสอบทางบริษัทซึ่งเป็นผู้ร้องให้เรียบร้อยก่อน
 
16 ธันวาคม 2558 
 
เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส รายงานว่า คณะทำงานด้านเด็ก 22 องค์กร ออกแถลงการณ์  ต่อกรณีการฟ้องดำเนินคดีกับเยาวชนของบริษัททุ่งคำ โดยสนับสนุนให้สถานพินิจฯ และโรงเรียนให้การคุ้มครองเด็ก พร้อมเสนอให้บริษัททุ่งคำถอนฟ้องและเร่งพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณะ
 
18 ธันวาคม 2558 
 
เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส รายงานว่า สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะพร้อมทีมทนาย ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับพลอย ขณะที่ทีมทนายของบริษัททุ่งคำก็เข้าให้ถ้อยคำต่อผู้อำนวยการสถานพินิจฯจังหวัดเลยในวันนี้เช่นกัน
 
19 ธันวาคม 2558
 
เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส รายงานว่า  สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยเผยแพร่เอกสารเรียกร้องให้บริษัททุ่งคำทบทวนการฟ้องเยาวชนในข้อหาหมิ่นประมาทจากการแสดงความเห็นต่อผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำโดยระบุว่า
 
หากทางบริษัทเห็นว่าความเห็นของเยาวชนไม่ตรงกับข้อเท็จจริงก็ควรชี้แจงหรือให้ข้อมูลแก่สาธารณะเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง แทนที่จะเลือกใช้วิธีการฟ้องร้องทางกฎหมาย 
 
เอกสารของสมาคมนักข่าวฯยังเรียกร้องต่อผู้อำนวยการสถานพินิจฯด้วยว่า ให้พิจารณากรณีนี้โดยคำนึงถึงการปกป้องสิทธิในการแสดงความเห็นและสิทธิในการปกป้องวิถีชีวิตเป็นสำคัญ
 
22 ธันวาคม 2558 
 
เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส รายงานว่า ญาติของเยาวชนนักข่าวพลเมืองเป็นผู้รับหมายเรียกซึ่งออกเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ระบุให้ผู้ต้องหาไปที่สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรีในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 เวลา 10.00 น. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ จากการรายงานข่าวในรายการนักข่าวพลเมือง ตอน ค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ซึ่งออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม จากการทำเหมืองแร่ทองคำในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
 
23 ธันวาคม 2558 
 
เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่แถลงการณ์โดยระบุว่า สิทธิในการแสดงความเห็นของเด็กได้รับการคุ้มครองทั้งตามกฎหมายไทยและตามกติการะหว่างประเทศพร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหาทางออกโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ  
 
ขณะที่เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ก็ตั้งแคมเปญรณรงค์ “เรียกร้องให้บริษัททุ่งคำและผู้ถือหุ้นถอนฟ้องน้องพลอย นักข่าวพลเมือง”  บนเว็บไซต์ Change.org โดยขอรายชื่อผู้สนับสนุน 25,000 โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 มกราคม 2559 มีผู้ลงชื่อสนับสนุน 17,216 คน 
 
28 ธันวาคม 2558 
 
เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส รายงานว่า  จิระศักดิ์ ชัยชนะทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนของพลอยเปิดเผยว่า ที่ปรึกษากฏหมายของบริษัททุ่งคำมาพบและเสนอให้ทางโรงเรียนพาพลอยไปที่สถานพินิจฯจังหวัดเลย ในวันที่ 29 ธันวาคม 2558 เวลา 10.00 น. หากพลอยกล่าวขอโทษก็จะถอนแจ้งความ ผู้อำนวยการจึงตกลงจะประสานให้ 
 
29 ธันวาคม 2558 
 
เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส รายงานว่า  ชาวบ้านประมาณ 50 คน เดินทางไปที่โรงเรียนของพลอย พร้อมถือป้ายที่มีข้อความ “I am Ploy” หรือ ฉันคือพลอย เพื่อให้กำลังใจเพราะเห็นว่าการรายงานข่าวของพลอยเป็นการช่วยปกป้องชุมชน
 
เกี่ยวกับข้อเสนอการขอโทษเพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี พลอยยืนยันกับผู้อำนวยการโรงเรียนต่อหน้าชาวบ้านว่า จะไม่รับข้อเสนอ ผู้อำนวยการจึงกล่าวว่าจะไม่ยุ่งเรื่องนี้แล้วหากจะมีคดีก็ให้ว่ากันตามกฎหมาย
 
30 ธันวาคม 2558 
 
เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส รายงานว่า  พ.ต.ท.ดรุณี ประเสริฐ รองผู้กำกับส.น.มีนบุรี ชี้แจงว่า จะเลื่อนการสอบปากคำพลอยออกไปก่อน เพราะอยู่ในชั้นรวบรวมพยานหลักฐาน โดยหลังปีใหม่จะต้องลงพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย เพื่อสืบข้อเท็จจริงทั้งหมด และพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องคดีนี้หรือไม่ 
 
15 มกราคม 2559
 
เว็บไซต์ทรานส์บอร์เดอร์ นิวส์  รายงานว่า ที่ศาลากลางจังหวัดเลย คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในกสม. เชิญผู้เกี่ยวข้องร่วมชี้แจงกรณีข้อร้องเรียนของชาวบ้านรอบเหมืองทองในตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง
 
รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยกล่าวว่า จะรับเรื่องบริษัททุ่งคำฟ้องร้องเยาวชนไปพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว โดยจะฝากผู้แทนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ซึ่งคุ้นเคยกับบริษัททุ่งคำไปพูดคุยกับบริษัทเพื่อให้ถอนฟ้อง 
 
ขณะที่สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม รายงานว่า คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ลงพื้นที่เหมืองเพื่อรับฟังข้อมูลจากตัวแทนบริษัททุ่งคำ โดยที่ปรึกษาส่วนตัวของประธานบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ซึ่งเป็นบริษัทต้นสังกัดเปิดเผยว่า บริษัททุ่งคำไม่มีเจตนาจะฟ้องร้องเยาวชนแต่ทำไปเพราะกฎหมายบังคับเอาไว้ ที่ผ่านมาพยายามประสานกับผู้อำนวยการโรงเรียนของเยาวชน และผู้อำนวยการก็พร้อมจะเป็นตัวกลางเจรจา แต่ก็มีประชาชน ไปกดดันไม่ให้ผู้อำนวยการเข้ามายุ่งเรื่องนี้  
 
บริษัททุ่งคำยินดีที่จะถอนฟ้องเยาวชนโดยไม่มีเงื่อนไข หาก กสม. เข้ามาเป็นคนกลางนำตัวพลอยมาเจรจากับบริษัท หรืออาจเชิญทางสถานพินิจฯ เข้ามาร่วมด้วย 
 
ด้านประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรกล่าวว่า สิทธิเด็กได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของรัฐไทยและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ดังนั้น กสม.จึงไม่จำเป็นต้องนำตัวเด็กมาเจรจากับบริษัททุ่งคำ เพราะเด็กจะถูกกดดันมากขึ้น แต่ กสม. ขอเป็นตัวแทนเยาวชนรายดังกล่าวในการเจรจา โดยจะนัดหมายเจรจากับบริษัททุ่งคำที่กรุงเทพฯ
 
 
21 มีนาคม 2559 
 
นัดไต่สวนมูลฟ้อง คดีฟ้องไทยพีบีเอส ที่ศาลอาญา
 
เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง รายงานว่า วันนี้ทนายความและผู้แทนบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในฐานะโจทก์ได้ขอเลื่อนการไต่สวนคดี เนื่องจากยังไม่ได้รับเอกสารการทำเหมืองแร่ที่เกี่ยวกับลำน้ำฮวยซึ่งได้ยื่นขอต่อสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จ.เลย ไว้ ส่วนทนายจำเลยไม่คัดค้านหากเป็นเอกสารสำคัญ ศาลจึงเลื่อนนัดไต่สวนมูลฟ้องไปเป็นวันที่ 30 พ.ค.59 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป
 
ทั้งนี้ ศาลกำชับให้โจทก์เตรียมพยานมาให้พร้อมสืบในนัดหน้า ไม่เช่นนั้นศาลจะสั่งตามเห็นสมควร
 
30 พฤษภาคม 2559

นัดไต่สวนมูลฟ้อง พยานโจทก์คนที่ 1 นายสรพงษ์ ลิมปัชโยพาส ตำแหน่งรักษาการกรรมการบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ครั้งที่ 1 เบิกความต่อศาล
 
2 มิถุนายน 2559 
 
เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง รายงานว่าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย มีหนังสือถึงน้องพลอย ระบุว่า สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลยมีความเห็นไม่อนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องน้องพลอยต่อศาลเยาวชนและครอบครัว 
 
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 99 วางหลักว่า ห้ามมิให้ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาซึ่งมีข้อหาว่าเด็กและเยาวชนกระทำความผิดต่อศาลเยาวชนและครอบครัว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ
 
1 กรกฎาคม 2559
 
นัดไต่สวนมูลฟ้อง พยานโจทก์คนที่ 1 นายสรพงษ์ ลิมปัชโยพาส ตำแหน่งรักษาการกรรมการบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เบิกความต่อศาลต่อ เป็นครั้งที่ 2
 
25 กรกฎาคม 2559
 
นัดไต่สวนมูลฟ้อง พยานโจทก์คนที่ 1 นายสรพงษ์ ลิมปัชโยพาส ตำแหน่งรักษาการกรรมการบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เบิกความต่อศาลต่อ เป็นครั้งที่ 3 ทนายจำเลยซักค้านหมดทั้ง 5 คนแล้ว
 
3 ตุลาคม 2559
 
นัดไต่สวนมูลฟ้อง พยานโจทก์คนที่ 1 นายสรพงษ์ ลิมปัชโยพาส ตำแหน่งรักษาการกรรมการบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เบิกความต่อศาลต่อ เป็นครั้งที่ 3 โดนให้ทนายโจทก์เป็นฝ่ายถามติง และนัดไต่สวนมูลฟ้อง พยานโจทก์คนที่ 2
 
10 ตุลาคม 2559
 
นัดไต่สวนมูลฟ้อง พยานโจทก์คนที่ 2 อีกครั้ง แต่พยานไม่มาศาล ต่อมาศาลแถลงคดีเสร็จสิ้นการไต่สวน และนัดฟังคำสั่งรับหรือไม่รับฟ้อง
 
16 พฤศจิกายน 2559

เวลา 9 นาฬิกา ที่ห้องพิจารณาคดี 812 ศาลอาญาสั่งยกฟ้อง ศาลพบว่า หลายหน่วยงานระบุตรงกันถึงการตรวจพบสารไซยาไนด์ในแหล่งน้ำ ทำให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ไม่ได้ และศาลยืนยันจำเลยทำหน้าที่สื่อนำเสนอปัญหา เป็นการวิจารณ์โดยสุจริต ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

 
20 มีนาคม 2561
 
เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส รายงานว่า  ที่ห้องพิจารณาคดี 812 ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งลงวันที่ 23 มกราคม 2561 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กับรับฟ้องโจทก์ในคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา นอกจากที่ให้แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาชั้นต้น
 
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ให้ความเห็นว่าข้อเท็จจริงตามมูลฟ้องของโจทก์ ถ้อยคำที่ว่า “6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง แห่งนี้เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ โดยลำน้ำฮวยมีสารปนเปื้อนทำให้ใช้ดื่มใช้กินไม่ได้” มีลักษณะในการยืนยันข้อเท็จจริงที่ทำให้ประชาชนทั่วไปที่รับชมทางโทรทัศน์เข้าใจได้ว่าเหมืองแร่ทองคำของโจทก์เป็นต้นเหตุ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คดีมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วนเป็นการติชมโดยสุจริตหรือไม่ต้องรับฟังในชั้นพิจารณาต่อไป
 
ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โจทก์ไม่มีหลักฐานเพียงพอให้รับฟังว่า เป็นการกระทำของจำเลย คดีนัดพร้อมอีกครั้งวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 เวลา 9.00 น.ให้ออกหมายเรียกจำเลยให้มาในวันนัด
 

21 พฤษภาคม 2561 

 

สำนักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอสรายงานว่า นัดพร้อมคดี จำเลยทั้ง 5 คน เดินทางมาศาล ประกอบด้วย 1.วิรดา แซ่ลิ่ม ผู้ดำเนินรายการช่วงข่าวพลเมือง 2.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (...) โดยรศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล เป็นผู้แทน 3.สมชัย สุวรรณบรรณ อดีต ผอ.... 4.ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว และ 5.โยธิน สิทธิบดีกุล ผู้อำนวยการสำนักโทรทัศน์และวิทยุ

 

จำเลยทั้ง 5 แถลงขอให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ตลอดข้อกล่าวหา พร้อมยื่นขอพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ผู้บริหารไทยพีบีเอส แถลงต่อศาลยืนยันในภารกิจของไทยพีบีเอสที่นำเสนอข้อมูลที่สมดุล ให้เสียงของประชาชนได้มีโอกาสพูดโดยสุจริตใจ ศาลได้แจ้งให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่าย ไกล่เกลี่ยหาข้อยุติในคดี เนื่องจากข้อหานั้นไม่ร้ายแรงและเป็นความผิดที่ยอมความกันได้ โดยเริ่มวันนัดไกล่เกลี่ยเป็นวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.00 .

 

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายจำเลยในคดีกล่าวว่า แนวทางต่อสู้คดีของจำเลยจะเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยเป็นสื่อสาธารณะ และเป็นองค์กรที่ต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ และสะท้อนปัญหาเรื่องของคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมของประชาชนซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญ ถือว่าเป็นประเด็นสาธารณะที่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอต่อประชาชน

 

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผอ.... กล่าวว่า ในฐานะสื่อสาธารณะ เราต้องยืนยันในภารกิจของเรา ในเรื่องของการเสนอข้อมูลที่สมดุล และการให้เสียงของประชาชนที่เขาได้รับผลกระทบจากเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของทรัพยากรได้มีโอกาสที่จะได้พูดโดยสุจริตใจ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของไทยพีบีเอสก็คือมาแสดง มายืนยันในภารกิจนี้ของสื่อสาธารณะ

 

 

13 กรกฎาคม 2561

 

นัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งที่ 1

 

สำนักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอสรายงานว่า บุคคลที่เดินทางมาศาล ประกอบด้วย ทนายความของจำเลยทั้ง 5 คน, นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข รอง ผอ.... ในฐานะผู้แทนไทยพีบีเอส, นางสาววิรดา แซ่ลิ่ม จำเลยที่ 1, นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผอ.สำนักข่าว จำเลยที่ 4, นางสลิลโรจน์ โชติลภัส ในฐานะผู้แทนนายประกัน, นายสมเกียรติ จันทรสีมา ผอ.สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ขณะที่ฝั่งโจทก์มีเพียงนายฐปนรรฆ์ คามวัลย์ ทนายโจทก์ที่มาศาล ส่วนผู้บริหารของ บริษัท ทุ่งคำ ไม่ได้มาศาล

 

ทนายโจทก์พูดคุยกับทนายจำเลยและจำเลยว่า ทางบริษัท ทุ่งคำ ตอนนี้มีผู้บริหารเข้ามาใหม่ ซึ่งยังไม่ได้พูดคุยในรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรเกี่ยวกับคดีนี้ แต่มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะมีทางตกลงกันได้ที่จะหาทางออกร่วมกันเพราะคดีนี้เป็นคดีกันมาหลายปีแล้ว ประกอบกับผู้บริหารใหม่อาจมีแนวทางที่ดีที่จะนำเสนอให้ทุกฝ่ายพอใจ จึงขอเลื่อนการไกล่เกลี่ยไปอีกครั้งในวันที่ 2 สิงหาคม 2561 เวลา 13.30 .

 
 

2 สิงหาคม 2561 

 

นัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งที่ 2 

 

โจทก์และจำเลยได้พูดคุยกันเพื่อหาทางออกทางคดี โดยฝ่ายจำเลยนำเสนอให้มีการทำข่าวเล็กๆ เบื้องต้น เพื่อเปิดโอกาสให้โจทก์ได้ชี้แจงข้อสงสัยกับชาวบ้านในพื้นที่ และยินดีที่จะทำข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงที่ทางโจทก์ต้องการนำเสนอกับชาวบ้านให้ได้รับทราบ จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการพูดคุยและนำเสนอกรรมการของฝ่ายโจทก์ จึงขอเลื่อนการไกล่เกลี่ยไปอีกครั้งในวันที่ 21 กันยายน 2561 เวลา 9.00 . และในการเจรจาครั้งนี้ทางโจทก์ยินดีที่จะถอนคำร้องทุกข์ต่อ ..วันเพ็ญ หรือน้องพลอยซึ่งเป็นคดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนด้วย


 

28 สิงหาคม 2561

 

บริษัททุ่งคำฯ เปิดพื้นที่เหมืองทองให้กลุ่มชาวบ้านเข้าเก็บภาพและข้อมูลในพื้นที่สัมปทานการทำเหมืองแร่ของบริษัท และยังได้เปิดโอกาสให้ไทยพีบีเอสเข้าร่วมเก็บภาพและสัมภาษณ์ผู้บริหารเพื่อสื่อสารผ่านช่องทางสื่อสาธารณะด้วย

 

การลงพื้นที่ดังกล่าว สืบเนื่องจากการไกล่เกลี่ยในคดีที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ 165 คน ทำการฟ้องคดีกับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ต่อศาลจังหวัดเลย ในคดีหมายเลขดำที่ สว.() 1/2561 ให้บริษัทฯ ดำเนินการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนมาใกล้เคียงกับสภาพเดิม รวมทั้งการตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และดำเนินการชดเชยค่าเสียหายและค่าขาดรายได้จากการสูญเสียของระบบนิเวศ แหล่งอาหาร แหล่งน้ำ สุขภาพจิต และสุขภาพกาย

 
 

21 กันยายน 2561 

 

นัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งที่ 3 

 

หลังการลงพื้นที่ในวันที่ 27-29 .. 2561 โจทก์และจำเลยหารือกันเกี่ยวกับสกู๊ปข่าวความยาว 10 นาที ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 ในรายการบ่ายโมงตรงประเด็น ทั้งนี้ ทางกรรมการบริษัทโจทก์รับว่าในวันที่ 27 กันยายน 2561 จะนำเรื่องที่ได้พูดคุยกันไปนำเสนอกรรมการชุดใหม่ เพื่อลงความเห็นว่าควรต้องฟ้องจำเลยหรือไม่ และจะนำมติมาบอก จึงขอเลื่อนการไกล่เกลี่ยไปอีก 1 นัด ไปเป็นวันที่ 10 ตุลาคม 2561 เวลา 09.00 .

 

 

10 ตุลาคม 2561 

 

นัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งที่ 4 

 

โจทก์ระบุว่า การลงพื้นที่สัมภาษณ์และนำเสนอข่าวทำให้ทางกรรมการผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ได้เห็นความจริงใจในการแก้ไขข้อผิดพลาดของจำเลยและเห็นด้วยในการถอนฟ้องคดี แต่มีเงื่อนไขให้ลงข้อความเป็นตัววิ่ง

 

ทั้งนี้ การพูดคุยนำไปสู่การร่างข้อความตัววิ่งที่บริษัทต้องการชี้แจงต่อสังคมและให้มีการกำหนดที่แน่ชัดว่า เมื่อนำเสนอไปแล้วบริษัทฯ จะดำเนินการถอนฟ้องคดี โดยตัววิ่งจะถูกเผยแพร่ผ่านหน้าจอไทยพีบีเอสในวันที่ 11 ตุลาคม 2561 ช่วงข่าวเที่ยง เป็นจำนวน 2 รอบ นอกจากนี้นายไพโรจน์ นวานุช ผู้พิพากษา ในฐานะผู้ประนีประนอม ได้ให้เลื่อนการไกล่เกลี่ยออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 24 ตุลาคม 2561 เวลา 09.00 .

 

24 ตุลาคม 2561 

 

นัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งที่ 5 

 

ผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท ทุ่งคำ จำกัดไม่ได้เดินทางมาศาลเนื่องจากมีนัดสืบพยานในคดีที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด .เลย ฟ้องบริษัททุ่งคำ จำกัด ข้อหาหรือฐานความผิดละเมิด เรียกค่าเสียหาย ในขณะที่ทนายจำเลยที่ 3, 4 และ 5 ติดภาระกิจไม่ได้มาศาลเช่นกัน แต่ได้แถลงไว้ในการไกล่เกลี่ย ครั้งที่ 4 แล้วว่า ไม่คัดค้านหากโจทก์ต้องการถอนฟ้อง

 

ทั้งนี้ จากการที่โจทก์ไม่ได้เดินทางมาศาลในวันนี้และยังไม่ได้เห็นข้อความตัววิ่งที่มีการออกอากาศไปแล้ว จึงขอให้เลื่อนนัดไกล่เกลี่ยไปอีก 2 สัปดาห์ ทนายจำเลยที่ 2 และทนายโจทก์จึงตกลงกันต่อหน้าผู้ประนีประนอมให้เลื่อนนัดไกล่เกลี่ยไปเป็นวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 เวลา 9.00 .

 

13 พฤศจิกายน 2561 

 

นัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งที่

 

นายสิริพงศ์ สะอาดบุตร ผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และนายฐปนรรฆ์ คามวัลย์ ทนายโจทก์ ไม่ได้เดินทางมาศาล แต่มีผู้รับมอบฉันทะทนายโจก์เดินทางมาศาล ในขณะที่ทนายจำเลยที่ 3 และ 4 ติดภารกิจไม่ได้มาศาลเช่นกัน แต่ได้แถลงไว้ในการไกล่เกลี่ยครั้งที่ 4 แล้วว่า ไม่คัดค้านหากโจทก์ต้องการถอนฟ้อง  

 

ผู้รับมอบฉันทะทนายโจก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้ง 5 โดยในรายงานกระบวนการพิจารณา ระบุว่า นัดไกล่เกลี่ยวันนี้ศาลและผู้ประนีประนอมได้ทำการไกล่เกลี่ยแล้ว คดีสามารถตกลงกันได้ โจทก์ถอนฟ้องเนื่องจากจำเลยทั้ง 5 สามารถปฏิบัติได้ตามที่ตกลงกันไว้ และฝ่ายโจทก์จะไปถอนคำร้องทุกข์ในกรณีของน..วันเพ็ญ หรือน้องพลอยที่สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี ภายใน 15 วัน

 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีสามารถตกลงกันได้ จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยทั้ง 5 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

 

 

 

 

คำพิพากษา

คำสั่งยกฟ้องของศาลอาญา
 
เหตุแห่งคดีนี้ เกิดจากการจัดค่ายเยาวชนในพื้นที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ระหว่างกิจกรรมรายการนักข่าวพลเมืองซึ่งเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมค่ายและชาวบ้านบางส่วนซึ่งระบุว่ามีสารปนเปื้อนในลำน้ำฮวย โจทก์เห็นว่า ไม่เป็นความจริงเพราะพื้นที่เหมืองและลำน้ำอยู่ห่างกัน จึงฟ้องว่า จำเลยนำเนื้อหาซึ่งเป็นข้อมูลเท็จเผยแพร่ในโทรทัศน์และผ่านทางเว็บไซต์ยูทูป ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1) 
 
สำหรับประเด็นแรกที่ศาลวินิจฉัยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ คดีนี้แม้โจทก์จะมอบอำนาจให้ผู้ฟ้องคดี ดำเนินการฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญา คดีหมิ่นประมาททางแพ่ง และคดีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยไม่ระบุชือของผู้ถูกฟ้องและระบุเพียงแต่ให้ฟ้องผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตรายการนักข่าวพลเมือง แต่การมอบอำนาจไม่จำเป็นต้องระบุชื่อผู้ถูกฟ้องก็ได้ เมื่อโจทก์มอบอำนาจให้ผู้ฟ้องคดีโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง 
 
สำหรับประเด็นที่ว่าข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่นั้น หลังมีกรณีบ่อเก็บกากแร่ทรุดตัว ได้มีชาวบ้านร้องเรียนไปที่หน่วยงานราชการว่าน้ำมีการปนเปื้อนสารพิษหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเข้าไปทำการตรวจสอบ พบว่ามีชาวบ้านที่มีสารไซยาไนต์ตกค้างในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐานกว่า 20 คน ซึ่งสารไซยาไนต์เป็นสารที่ใช้ในการทำเหมืองทอง โดยในบริเวณที่ลำน้ำมีการปนเปื้อนก็มีอุตสาหกรรมเหมืองของโจทก์ดำเนินกิจการเพียงแห่งเดียว 
 
นอกจากนี้ก็มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำในลำน้ำฮวยและลำน้ำใกล้เคียง พบว่ามีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน สาธารณสุขจังหวัดเคยประกาศห้ามชาวบ้านใช้น้ำจากแหล่งน้ำสำหรับการบริโภคและการเกษตรกรรม กรมควบคุมมลพิษเคยเข้ามาตรวสอบและสั่งให้โจทก์แก้ไขพร้อมชี้แจงให้ประชาชนทราบ รวมทั้งเคยมีการสั่งให้เหมืองทองคำยุติการทำกิจการเป็นการชั่วคราว และแม้มีการอนุญาตให้กลับมาทำเหมืองใหม่หน่วยในท้องถิ่นก็กำชับให้โจทก์ต้องตรวจสอบคุณภาพน้ำและรายงานผลเป็นระยะ 
 
เสียงของประชาชนในท้องถิ่นที่พูดถึงมลพิษในลำน้ำฮวยมาจากคำถามของผู้สื่อข่าวที่ไม่มีลักษณะเป็นการชี้นำ และเสียงของเยาวชนมาจากการร่วมกิจกรรมค่ายเรียนรู้เรื่องสายน้ำ ซึ่งพูดไปในทางเดียวกันว่ามีการปนเปื้อนในลำน้ำ สอดคล้องกับผลการตรวจคุณภาพน้ำและประกาศเตือนของทางราชการ ซึ่งประกาศเตือนครอบคลุมพื้นที่บ้านของวันเพ็ญ หรือน้องพลอยด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนักข่าวของไทยพีบีเอสก็พูดซ้ำคำพูดของวันเพ็ญเท่านั้น 
 
รายการโทรทัศน์ตอนดังกล่าว เกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สังคมให้ความสนใจ เพราะเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตของทุกคน เมื่อจำเลยทั้งห้าในฐานะสื่อมวลชนนำเสนอปัญหาให้ประชาชนทราบ โดยได้ไปสืบสวนหาข้อเท็จจริงมาไม่ได้สร้างขึ้นเอง และรายงานตามที่ชาวบ้านผู้อยู่ในพื้นที่สะท้อนออกมา จึงถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตอันเป็นการติชมอันวิสัยที่ประชาชนพึงกระทำ ไม่เกินขอบเขต ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา พิพากษายกฟ้อง
 
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา