บุรินทร์: แชทเฟซบุ๊ก

อัปเดตล่าสุด: 01/04/2565

ผู้ต้องหา

บุรินทร์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

บุรินทร์ เข้าร่วมกิจกรรมยืนเฉยๆ กับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ในวันที่ 28 เมษายน 2559 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวประชาชนแปดคนที่ถูกควบคุมตัวไปก่อนหน้านี้ 

ขณะนั้น  บุรินทร์ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.พญาไทก่อนถูกอายัดตัวไปไว้ที่ค่ายทหาร ก่อนถูกฟ้องในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยอ้างว่า เจ้าหน้าทีติดตามสังเกตการณ์โพสต์เฟซบุ๊กของเขามาสักระยะหนึ่งแล้ว กระทั่งพบว่า มีการโพสต์ข้อความโจมตี คสช. และแชทพูดคุยกับบุคคลอื่นโดยมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

บุรินทร์ถูกศาลทหารพิพากษาจำคุก 10 ปี 16 เดือน ปล่อยตัวในเดือนมีนาคม 2565 รวมระยะเวลาจำคุกจริงประมาณ 5 ปี 11 เดือน

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

บุรินทร์ ประกอบอาชีพเป็นช่างเชื่อมอยู่ย่านคลองเตย เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ในฐานะมวลชน โดยเข้าร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับตั้งแต่ 19 กันยายน 2558 แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มใดโดยตรง
 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังนี้

 

1. เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2559 จำเลย และพัฒน์นรี (แม่จ่านิว) ร่วมกันกระทำความผิดหมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท โดยจำเลยและพัฒน์นรี ร่วมกันพิมพ์ข้อความโต้ตอบกันผ่านเว็บไซต์ Facebook โดยมีข้อความว่า “อยู่ยากจริงๆ บ้านเมืองทุกวันนี้” มันจะยากยิ่งกว่านี้เพราะตอนนี้เขากำลัง….” และข้อความอื่นๆ อีกเกี่ยวกับการแย่งชิงราชบัลลังก์ อันเป็นการนำข้อความบทสนทนาดังกล่าวซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยจำเลยและพัฒน์นรีรู้อยู่แล้วว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เมื่อได้อ่านบทสนทนาดังกล่าวทั้งหมดแล้วย่อมเข้าใจได้ว่า คำว่า “ในหลวง” หมายถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช การกระทำดังกล่าวของจำเลย และพัฒน์นรี เป็นไปโดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาท
 

2. เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 จำเลยบังอาจหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ โดยพิมพ์ข้อความในเฟซบุ๊ก ชื่อ Burin Intin ซึ่งเป็นของจำเลยว่า “อยากให้มันรู้ว่ากูลำบากเพราะมึงไอ้…”​ ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งเมื่อบุคคลที่สามได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้ว ย่อมเข้าใจได้ว่าเหตุที่เกิดความลำบากอยู่ทุกวันนี้เกิดขึ้นจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นเท็จ ซึ่งความจริงแล้วพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายอันทรงคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง การะกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการมิบังควรโดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง และถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

 

 

พฤติการณ์การจับกุม

28 เมษายน 2559 เวลาประมาณ 18.00 น. บุรินทร์ เข้าร่วมกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” กับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องทหารปล่อยตัวประชาชน 8 คน ที่ถูกจับไปไว้ที่ค่ายทหาร 
 
ต่อมาบุรินทร์และผู้ร่วมกิจกรรมอีก 15 คนถูกตำรวจคุมตัวไปที่ สน.พญาไท เวลา 20.40 น. ในระหว่างการสอบประวัติ ทหารใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 ควบคุมตัวบุรินทร์จากห้องสอบสวนของ สน.พญาไท ขึ้นรถตู้ของกองพันทหารสื่อสารที่ 2 รักษาพระองค์ โดย พ.ท.พีรยุทธ เศวตเศรนี เนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

187/2559

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
28 เมษายน 2559

บุรินทร์ถูกอายัดตัวจาก สน.พญาไท

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า บุรินทร์ อินติน เข้าร่วมกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องทหารปล่อยตัวประชาชน 8 คน ที่ถูกจับไปไว้ที่ค่ายทหาร
 
เวลาประมาณ 18.30 น. บุรินทร์ และผู้ร่วมกิจกรรมอีก 15 ถูกตำรวจคุมตัวไปที่ สน.พญาไท โดยพนักงานสอบสวนได้ทำประวัติเอาไว้และไม่ได้แจ้งข้อหาบุรินทร์ 
 
เวลา 20.40 น. ระหว่างการสอบประวัติ บุรินทร์ ถูกทหารควบคุมตัวไปจาก สน.พญาไท โดยถูกนำตัวขึ้นรถตู้ของกองพันทหารสื่อสารที่ 2 รักษาพระองค์  โดยพ.ท.พีรยุทธ เศวตเศรนีเนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 
 
29 เมษายน 2559
 
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า พลเอกบุรินทร์ ทองประไพ เสนาธิการผู้บังคับบัญชา คณะทำงานพิเศษฝ่ายกฎหมาย คสช. ได้นำตัวบุรินทร์อินติน ผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ส่งให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินคดี
 
พ.อ.บุรินทร์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามพฤติกรรมบุรินทร์ มาตลอด หลังจากสายข่าวพบการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “Burin Intin” ในลักษณะต่อต้านการบริหารงานของรัฐบาล และ คสช. รวมทั้งมีการแชตพูดคุยกับบุคคลอื่นโดยมีข้อความลักษณะกล่าวว่าร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเข้าข่ายผิด ป.อาญา ม.112 กระทั่งวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา เวลา 12.13 น. บุรินทร์ได้โพสต์คลิปวิดีโอ พร้อมข้อความ “นู๋อยากโดนอุ้ม#ปล่อยเพื่อนเราที่โดนอุ้ม” ก่อนจะมีบุคคลเข้ามาแสดงความคิดเห็นในคลิปดังกล่าว และในเย็นวันที่ 27 นั้นบุรินทร์ได้ร่วมกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” กับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ และถูกคุมตัวมาที่ สน.พญาไท ก่อนที่จะถูกทหารนำตัวไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ต่อมาวันที่ 28 เมษายน ทหารมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอท. เพื่อขอให้ดำเนินคดีกับ บุรินทร์
 
พ.อ.บุรินทร์ กล่าวอีกว่า  ทหารคุมตัวบุรินทร์ไปตรวจค้นบ้านพักที่อาศัยอยู่กับญาติ ซึ่งเป็นร้านอัดรูปสปอร์ตดิจิตอลโฟโต้ ปากซอยปลูกจิตร 1 ถ.พระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ และได้ยึดซีพียูคอมพิวเตอร์ จำนวน 3 เครื่อง เพื่อตรวจสอบว่า มีการใช้เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือไม่ และขันแดง 1 ใบที่ได้มาจากการไปชุมนุมในกลุ่มพลเมืองโต้กลับด้วย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่พบโทรศัพท์มือถือของบุรินทร์ จากการสอบถาม บุรินทร์บอกว่าฝากเพื่อนที่ชื่อ “ว่าน” (นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นเพื่อน สิรวิชญ์ เสรีวัฒน์ หรือ จ่านิว) ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามตัว
 
30 เมษายน 2559

ฝากขังบุรินทร์ผลัดแรก
 
พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) นำตัวบุรินทร์ มายื่นคำร้องขออำนาจศาลทหารฝากขัง เนื่องจากยังต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมในสำนวนคดี ต่อมาศาลทหารได้อนุญาตในการฝากขังผู้ต้องหาเป็นเวลา 12 วัน บุรินทร์จึงได้ถูกนำตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 
 
 
11 พฤษภาคม 2559

ฝากขังบุรินทร์ผลัดที่ 2 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ศาลทหารกรุงเทพ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมายื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นครั้งที่ 2 ต่อศาลทหารกรุงเทพ เนื่องจากต้องทำการสอบสวนพยานบุคคลอีก 6 ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์เครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหา รวมถึงรอผลตรวจสอบประวัติลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหา
 
แม้ทนายความผู้ต้องหาจะยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนต่อศาลทหารโดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธและขอให้การในชั้นศาลเท่านั้น จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องควบคุมผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวน รวมถึงผู้ต้องหามีที่อยู่แน่นอน ไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี 
 
แต่ศาลทหารกรุงเทพก็มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนโดยมีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 – 23 พฤษภาคม 2559 และให้ยกคำร้องคัดค้านการฝากขังของผู้ต้องหา ทั้งนี้เหตุที่ทนายความผู้ต้องหายังไม่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเนื่องจากอยู่ในระหว่างรวบรวมหลักทรัพย์
 
23 พฤษภาคม 2559 

ฝากขังบุรินทร์ผลัดที่ 3

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวบุรินทร์มาขออำนาจศาลทหารฝากขังเป็นผลัดที่สาม ศาลอนุญาตให้ฝากขังต่อเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2559 ต่อมาทนายของบุรินทร์ยื่นคำร้องขอประกันตัวพร้อมวางเงินประกัน 300,000 บาท แต่ศาลทหารเห็นว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง หากให้ปล่อยตัวเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว
 
16 มิถุนายน 2559 

ฝากขังบุรินทร์ผลัดที่ 5
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ พนักงานสอบสวนนำตัวนายบุรินทร์ อินติน ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มายื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นครั้งที่ 5 ส่วนทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เป็นคดีร้ายแรงและมีอัตราโทษสูง หากปล่อยชั่วคราวแล้วผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี จึงยกคำร้องขอปล่อยตัว 
 
 
22 กรกฎาคม 2559
 
นัดส่งฟ้อง
 
อัยการทหารยื่นฟ้องบุรินทร์และพัฒน์นรีต่อศาลทหารกรุงเทพ เนื่องจากการนัดฟ้องเป็นการนัดแบบกระทันทางทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งบังเอิญอยู่ที่ศาลทหารในวันนี้พอดีจึงขออัยการเลื่อนนัดส่งตัวพัฒน์นรีใหม่เป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2559 เวลา 10.30 น.  
 
 
25 พฤศจิกายน 2559
 
นัดสอบคำให้การ
 
อานนท์ นำภา ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตามที่ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การบุรินทร์ในวันนี้ ทางฝ่ายจำเลยแถลงต่อศาลขอเลื่อนการสอบคำให้การไปก่อนเนื่องจากจำเลยพึ่งแต่งตั้งอานนท์เป็นทนายในการสู้คดี จึงต้องการเวลาในการปรึกษาแนวทางคดีก่อนที่จะให้การต่อศาล ศาลทหารอนุญาตและนัดบุรินทร์มาสอบคำให้การใหม่ในวันที่ 24 มกราคม 2560 
 
 
24 มกราคม 2560

นัดสอบคำให้การ 
 
 
ที่ศาลทหารกรุงเทพ เวลา 10.30 น. ศาลสอบคำให้การของคดี บุรินทร์ จำเลยคดี 112 โดยศาลเริ่มจากการอ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง มีเนื้อหาสรุปได้ว่า จำเลยเป็นบุคคลพลเรือน ได้กระทำความผิดต่อองค์พพระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา 112 และมีการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 จำเลยได้กระทำความผิดในระหว่างที่ประกาศ คสช.ทั้ง 2 ฉบับบังคับใช้ กล่าวคือ 
 
ข้อ 1.
ก) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2559 เวลากลางคืน จำเลยและนางสาวพัฒน์นรี ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้กระทำความผิดร่วมกัน คือ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาท โดยการพิมพ์ข้อความสนทนาโต้ตอบกันผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊ก และข้อความดังกล่าวยังคงปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ ชื่อบัญชีของจำเลยตลอดมา จนถึงวันที่ 27 เมษายน 2559 อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานซึงเป็นบุคคลที่สามได้เปิดพบข้อความดังกล่าวในเฟซบุ๊กจากบัญชีของจำเลยเอง 
 
ข) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 เวลากลางวัน จำเลยได้ทำการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ โดยการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านระะบบอินเทอร์เน็ตลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก
 
เหตุตามฟ้องข้อ 1. ก) ข) เกิดที่แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และทั่วราชอาณาจักรต่อเนื่องกัน
 
ข้อ 2. ก่อนคดีนี้จำเลยเคยกระทำความผิดต้องคำพพิพากษาถึงที่สุดของศาลจังหวัดพะเยาว์ ในข้อหาอื่น มีกำหนดโทษ 4 ปี 6 เดือน และพ้นโทษเมื่อดวันที่ 5 ธันวาคม 2554 แล้วมากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ นับว่าไม่เข็ดหลาบ ขอให้ศาลเพิ่มโทษในคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 92
 
การที่จำเลยได้กระทำตามข้อความที่กล่าวมานั้นถือว่าโจทก์มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112,83,91,92 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ฉบับที่ 41) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 
 
หลังจากได้ฟังการอ่านคำร้องแล้ว บุรินทร์ให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ศาลจึงนัดฟังพิพากษาในวันที่ 27 มกราคม 2560 
 
 
27 มกราคม 2560
 
นัดฟังคำพิพากษา 
 
เวลาประมาณ 13.30 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ ศาลทหารพิพากษาว่าบุรินทร์มีความผิด 2 กรรม กรรมแรก คือ ฐานดูหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาท จากการโต้ตอบกันในกล่องสนทนา ลงโทษจำคุก 7 ปี เนื่องจากบุรินทร์เคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษมาไม่ถึงห้าปี จึงให้เพิ่มโทษ 1 ใน 3 รวมเป็นจำคุก 9 ปี 4 เดือน เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน
 
กรรมที่สอง ความผิดฐานหมิ่นประมาณพระมหากษัตริย์ จากการโพสต์บนเฟซบุ๊ก ลงโทษจำคุก 10 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 ปี 8 เดือน รวมทั้งสองกรรมแล้วบุรินทร์จะต้องรับโทษจำคุก 10 ปี 16 เดือน

 

23 มีนาคม 2565

บุรินทร์ ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ รวมระยะเวลาถูกคุมขังประมาณ 5 ปี 11 เดือน

 

 

คำพิพากษา

ศาลทหารพิพากษาว่าบุรินทร์มีความผิด 2 กรรม กรรมแรก คือ ฐานดูหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาท จากการโต้ตอบกันในกล่องสนทนา ลงโทษจำคุก 7 ปี เนื่องจากบุรินทร์เคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษมาไม่ถึงห้าปี จึงให้เพิ่มโทษ 1 ใน 3 รวมเป็นจำคุก 9 ปี 4 เดือน เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน
 
กรรมที่สอง ความผิดฐานหมิ่นประมาณพระมหากษัตริย์ จากการโพสต์บนเฟซบุ๊ก ลงโทษจำคุก 10 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 ปี 8 เดือน รวมทั้งสองกรรมแล้วบุรินทร์จะต้องรับโทษจำคุก 10 ปี 16 เดือน

 

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา