วัฒนา เมืองสุข: คดีพ.ร.บ.คอมฯ วิจารณ์พล.อ.ประวิตร

อัปเดตล่าสุด: 22/07/2564

ผู้ต้องหา

วัฒนา เมืองสุข

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

เจ้าหน้าที่ทหาร เป็นผู้กล่าวหา อัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นโจทก์

สารบัญ

1 มีนาคม 2559 วัฒนาโพสต์เนื้อหาบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ Watana Muangsook วิจารณ์การให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประวิตร กรณีทหารไปตามถ่ายรูปยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่าไม่ให้เกียรติและเหยียดหยามทางเพศ พร้อมวิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองในยุคคสช. เป็นเหตุให้ทหารบุกไปควบคุมตัววัฒนาจากบ้านในเช้าวันรุ่งขึ้น

หลังถูกควบคุมตัว วัฒนาถูกปล่อยตัวในช่วงดึกและถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

วัฒนา เมืองสุข  เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี
 
นอกจากคดีนี้ วัฒนายังถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัว ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 39/2557 เป็นอีกคดีหนึ่ง จากกรณีที่โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับเสรีภาพในการพูดเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญรณี
 
วัฒนา ถูกคสช.เรียกให้ไปรายงานตัวหลายครั้ง การเรียกในคดีนี้เป็นการเรียกรายงานตัวครั้งที่ 3 โดยครั้งแรก วัฒนาถูกเรียกรายงานตัวเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 โดยคำสั่งคสช. ฉบับที่ 3/2557 ในยุครัฐบาลคสช. วัฒนาใช้เฟซบุ๊ก Watana Muangsook แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง จนถูกเรียกรายงานตัวครั้งที่สองในวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 และการจับกุมตัวในคดีนี้เป็นการถูกควบคุมตัวครั้งที่ 3 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

วันที่ 1 มีนาคม 2559 วัฒนาโพสต์เนื้อหาบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ Watana Muangsook โดยเป็นภาพที่มีทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ์ โดยเริ่มต้นว่า "อีคิวต่ำไปหน่อย" เนื้อหาเป็นการวิจารณ์การให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประวิตร กรณีทหารไปตามถ่ายรูปยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในงานศพว่า "ไม่ได้ไปคุกคาม แค่ส่งไปดูแล ที่บุกถ่ายรูปคงเห็นว่าสวย" ว่าเป็นคำพูดที่แสดงถึงการกดขี่และเหยียดหยามทางเพศ แปลกใจว่าที่บ้านและสถานที่ที่เคยเรียนมาไม่ได้อบรมสั่งสอนท่านในเรื่องการให้เกียรติสุภาพสตรี พร้อมอ้างอิงคำสอนของพล.อ.ชาติชาย ที่เคยกล่าวไว้ว่า "นักการเมืองจะพูดอะไรต้องคิดก่อน ถ้าเงียบคนเค้ายังไม่รู้ว่าโง่"
 
ในการโพสต์ครั้งนี้วัฒนา ยังวิจารณ์ คสช. ด้วยว่า นับจาก คสช ยึดอำนาจการปกครอง ด้วยข้ออ้างเพื่อสร้างความปรองดองและการปฏิรูปประเทศ บ้านเมืองตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน สังคมมีความแตกแยกมากขึ้นเพราะรัฐบาลและ คสช. ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง 

การโพสต์ครั้งนี้เป็นเหตุให้วัฒนาถูกจับกุมตัวในวันรุ่งขึ้นและถูกดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

 

พฤติการณ์การจับกุม

เช้าวันที่ 2 มีนาคม 2559 เจ้าหน้าที่ทหารบุกไปที่บ้านของวัฒนา เมืองสุข ย่านเขตประเทศ กรุงเทพมหานคร โดยเจ้าหน้าที่ทหารแบ่งกำลังกันหลายส่วนนั่งรอในบ้าน ขณะที่วัฒนา ยังอยู่ข้างบนบ้านไม่ยอมลงมาพบ ทหารบางส่วนอยู่บริเวณหน้าหมู่บ้านกั้นไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวด้านใน และให้เจ้าหน้าที่ รปภ.หมู่บ้านตรวจค้นรถทุกคันที่เข้าไป เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ทหารใช้เวลาในการตรวจค้นและพูดคุยกับวัฒนา นานกว่า 2 ชั่วโมง จึงนำตัววัฒนา ขึ้นรถตู้หมายเลขทะเบียน ฮท-2807 กทม.ออกจากหมู่บ้าน พร้อมด้วยรถติดตามอีก 3 คัน เพื่อจะนำตัวไปสอบ และปรับทัศนคติที่มณฑลทหารบกที่ 11

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.1244/2559

ศาล

ศาลอาญากรุงเทพใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
2 มีนาคม 2559
 
ทีเอ็นเอ็น รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 8.00 น. ทหารจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย นำกำลังบุกเข้าไปควบคุมตัววัฒนา เมืองสุข ถึงในบ้านย่านเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เพื่อนำตัวไปปรับทัศนคติ เนื่องจากวัฒนา โพสต์เฟซบุ๊กต่อว่า พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าพูดจาไม่ให้เกียรติยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีที่ถูกทหารบุกเข้าถ่ายภาพกลางงานศพ
 
ทหารรีบนำตัววัฒนาจากบ้าน ขึ้นรถไปยังมลฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) เพื่อปรับทัศนคติ 
 
เวลา 23.10 น. วัฒนา ถูกปล่อยตัวพร้อมเปิดเผยว่า ได้ถูกควบคุมตัวตั้งแต่เวลา 11.30 – 21.30 น. จากนั้นทหารนำตัวมาส่งพนักงานสอบสวนสน. นางเลิ้ง เพื่อแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อเสร็จแล้วทหารได้ไปส่งตนถึงบ้านพัก โดยในวันรุ่งขึ้น พนักงานสอบสวนได้นัดให้ไปพบที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เวลา 9.30 น. เพื่อฝากขังและจะประกันตัวสู้คดีต่อไป 
 
3 มีนาคม 2559
 
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง นำตัววัฒนา เมืองสุข มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรก เป็นเวลา 12 วัน เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยาน 6-7 ปาก ศาลสอบถามผู้ต้องหาแล้วไม่คัดค้าน พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีตามคำร้องของพนักงานสอบสวน เป็นความผิดอาญาที่มีโทษร้ายแรง ทั้งการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จึงอนุญาตให้ฝากขังมีกำหนด 12 วัน ตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ
 
ภายหลังวัฒนา ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 100,000 บาทเพื่อขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยตีราคาหลักประกัน 100,000 บาท มีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อน พร้อมให้ผู้ต้องหามารายงานตัวต่อศาลตามนัด
 
 
15 มีนาคม 2559
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 08.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ วัฒนา เข้ารายงานตัวกับศาลครั้งแรก หลังครบกำหนดฝากขังผลัดแรก โดยพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ยื่นคำร้องฝากขังผลัด 2 และศาลนัดนายวัฒนามารายงานตัวอีกครั้งตามกำหนด
 
28 มีนาคม 2559
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 08.30 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้วัฒนา เมืองสุข เดินทางมารายงานตัวกับศาลตามเงื่อนไข โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ยื่นคำร้องฝากขังครั้งที่ 3 อีกเป็นเวลา 12 วัน เนื่องจากยังดำเนินการสอบสวนพยานไม่แล้วเสร็จเหลือพยานอีก 1 ปาก จึงมีความจำเป็นต้องยื่นฝากขังครั้งที่ 3 นี้ ทั้งนี้ศาลนัดให้นายวัฒนา มารายงานตัวอีกครั้ง 8 เมษายน
 
20 เมษายน 2559
 
นิวส์รูม รายงานว่า นรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความของวัฒนา เมืองสุข เดินทางมาศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อรายงานตัวตามที่ศาลนัดส่งตัวนายวัฒนาให้อัยการ ซึ่งในวันที่ครบกำหนดรายงานตัวครั้งที่ 4 ของคดีนี้ วัฒนายังถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวเพื่อปรับทัศนคติอยู่จากกรณีแสดงความเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถมารายงานตัวตามที่ศาลนัดได้ ทางทนายความจึงต้องเข้ารายงานตัวต่อศาลแทน เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง เพราะวัฒนา ไม่ได้จงใจหลบเลี่ยง หรือ ผิดเงื่อนไขประกันตัว แต่ถูกทหารควบคุมตัวไว้โดยไม่ทราบวันเลาที่แน่ชัดในการปล่อยตัว ตามที่ปรากฏเป็นข่าวให้รับรู้กันโดยทั่วไป
 
นรินทร์พงศ์ เปิดเผยหลังเข้ารายงานตัวต่อศาลว่า ได้มีนายทหารมายื่นคำร้องต่อศาล อ้างว่าควบคุมตัววัฒนาไว้ ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 โดยศาลได้เลื่อนนัดไปเป็นวันจันทร์ที่ 25 เมษายน 
 
 
25 เมษายน 2559
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า เวลาประมาณ  09.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ วัฒนา เมืองสุข เดินทางมารายงานตัวตามเงื่อนไขการประกันตัวของศาล พร้อมสอบคำให้การ คดีที่อัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นโจทก์ ยื่นฐานกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่นายวัฒนา เดินทางมาด้วยชุดสูทสีดำ สีหน้ายิ้มแย้ม สดใส โดยมีนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมาย เดินทางมากับนายวัฒนาด้วย
 
วัฒนา กล่าวสั้นๆ ก่อนขึ้นรายงานตัวต่อศาลว่า จะให้การปฏิเสธ พร้อมต่อสู้ เพราะไม่ได้ทำผิดอะไร  
 
15 กันยายน 2559
 
สืบพยานโจทก์
ปากที่หนึ่ง พ.อ. ธีระ ยินดี นายทหารพระธรรมนูญ
 
ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พยานโจทก์วันนี้ คือ พ.อ. ธีระ นายทหารพระธรรมนูญ กองทัพภาคที่ 1 กองทัพบก มีอำนาจเป็นที่ปรึกษากฎหมายแก่ผู้บังคับบัญชาและกองกำลัง พ.อ. ธีระ เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ เหตุเกิดจากเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 วัฒนานำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้  ข้อความในโพสต์เฟซบุ๊กของวัฒนาที่โจทก์นำฟ้องต่อศาล สร้างความเสียหายแก่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่ในคดีนี้ พล.อ. ธีระได้รับมอบหมายในการร้องทุกข์จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเท่านั้น ข้อความเท็จที่ฟ้องร้องในคดีนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน
 
ส่วนแรกคือ “…ยึดอำนาจไปจากประชาชนจนสร้างความเสียหายให้กับประเทศมหาศาล คนพวกนี้ยังไม่เคยละอายอวดอ้างบุญคุณกับประชาชนมาตลอด แถมแสดงความหนาด้วยการจะไม่คืนอำนาจให้อีกต่างหาก…” ซึ่งความจริง ขณะเกิดเหตุคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังร่างรัฐธรรมนูญเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตามแผนที่ได้วางไว้  ซึ่ง พ.อ. ธีระ ชี้ว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการไปตามแผนที่วางไว้แล้ว ข้อความดังกล่าวจึงเข้าข่ายความเท็จ
 
 
ส่วนที่สองโจทก์ฟ้องร้องว่าเป็นความเท็จคือ “…คสช. เรียกร้องให้ผู้คนเคารพกฎหมายและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ คสช. และคณะกลับไม่เคยแสดงให้เป็นตัวอย่างถึงความรับผิดชอบ ไม่เคารพกฎหมายและเลือกปฏิบัติ คสช. ไม่เคยปฏิเสธการล้างผิดและพร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบ แต่กลับหนีการตรวจสอบทุกวิธี ไม่ว่าจะด้วยการใช้อำนาจตามมาตรา 44 นิรโทษกรรมให้ตัวเองและพรรคพวกในสิ่งทำผิดมา ล่าสุดคือการใช้มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยล้างผิดให้ตัวเองและคณะทั้งหมด…”
 
 
ในส่วนนี้ พ.อ.ธีระ เบิกความต่อศาลว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ เพราะความจริงคือ คสช. ไม่เคยใช้มาตรา 44 หรือมาตรา 270 ในร่างฯของบวรศักดิ์ที่ตรงกับมาตรา 279 ในร่างฯของมีชัยนิรโทษกรรมหรือล้างผิด ไม่ปรากฏคำว่า “นิรโทษกรรม” ในทั้ง 2 มาตรา  
 
วัฒนา จำเลยถามค้าน
 
พ.อ. ธีระทราบว่า วัฒนาเคยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมาตลอดก่อนที่จะเกิดคดีความนี้ แต่ถูกดำเนินคดีในคดีนี้คดีเดียวเท่านั้น ลักษณะการแสดงความคิดเห็นของวัฒนาเป็นการต่อสู้ตามแนวทางความคิดทางการเมือง อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ พ.อ. ธีระ เคยกล่าวต่อวัฒนาเป็นการส่วนตัวว่า ขอให้วัฒนาเฉยก่อน ขอให้ คสช. ทำงานก่อน
 
 
พ.อ. ธีระ เห็นตามที่วัฒนาถามว่า รัฐธรรมนูญแก้ไขหลายครั้ง ในครั้งแรกไม่มีการลงประชามติ แต่ต้องปรับปรุงใหม่ กำหนดเวลาที่เลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2559 และมีรัฐบาลภายในมิถุนายน 2559 จึงเลื่อนออกไป ขณะเกิดเหตุอยู่ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ ไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน ขณะที่รัฐธรรมนูญไม่ระบุว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป รวมทั้งคำว่า “จะไม่คืนอำนาจ” มีลักษณะของการคาดคะเน
 
วัฒนา ถามพ.อ. ธีระ ว่า คำสั่งที่ 3/2558 ให้อำนาจเจ้าพนักงานที่มียศตั้งแต่ ร้อยตรี เรือตรี และเรืออากาศตรีขึ้นไปในการควบคุมตัวตามความผิดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงในราชอาณาจักร ความผิดตามกำหมายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ ซึ่งไม่ครอบคลุมความผิดในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
 

16 กันยายน 2559

สืบพยานโจทก์

ปากที่สาม ร.ต.อ. ปรีชา ยาสูงเนิน

ก่อนหน้านี้พยานเคยปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนที่ สน.นางเลิ้ง ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 9.00 น. พบว่า วัฒนา โพสต์ข้อความพิพาทลงในเฟซบุ๊ก ต่อมา 2 มีนาคม 2559 เวลา 13.00 น. ข้อความดังกล่าวไม่สามารถเข้าไปค้นหาได้  จากข้อความที่วัฒนาโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้รับความเสียหาย

ต่อมา ร.ต.อ. ปรีชาจึงสอบปากคำ พ.อ. ธีระ ยินดี หนึ่งในผู้ร้องทุกข์ในคดีนี้ เขายืนยันว่า ข้อความที่วัฒนาโพสต์ลงในเฟซบุ๊กตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นความเท็จ ต่อมาจึงตรวจสอบเฟซบุ๊กปรากฏว่าเป็นของ วัฒนา เมืองสุข จำเลยในคดีนี้จริง จึงรวบรวมเอกสารเพื่อใช้ดำเนินคดี

ข้อความที่สร้างความเสียหายต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีรายละเอียดดังนี้ 

 “. . . ยึดอำนาจไปจากประชาชนจนสร้างความเสียหายให้กับประเทศมหาศาล คนพวกนี้ยังไม่เคยละอายอวดอ้างบุญคุณกับประชาชนมาตลอด แถมแสดงความหนาด้วยการจะไม่คืนอำนาจให้อีกต่างหาก. . .ไม่เคารพกฎหมายและเลือกปฏิบัติ คสช ไม่เคยปฏิเสธการล้างผิดและพร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบ แต่กลับหนีการตรวจสอบทุกวิธี ไม่ว่าจะด้วยการใช้อำนาจตามมาตรา 44 นิรโทษกรรมให้ตัวเองและพรรคพวกในสิ่งทำผิดมา ล่าสุดคือการใช้มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยล้างผิดให้ตัวเองและคณะทั้งหมด. . .”

 

ปากที่สี่ พ.ต.อ. ภูมิยศ เหล็กกล้า

ตำแหน่งปัจจุบันผู้กำกับการสอบสวน กองบังคับการนครบาล 1 เดิมเป็นพนักงานสอบสวนที่ สน. นางเลิ้ง  เบิกความว่า วันที่ 2 มีนาคม 2559 พ.อ. ธีระ ยินดี นายทหารพระธรรมนูญเดินทางมาร้องขอให้ดำเนินคดีกับวัฒนา เมืองสุข ตามมาตรา 14 (1) ของพ.ร.บ.คอมฯ จากกรณีโพสต์ข้อความพิพาทลงในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 พ.อ. ธีระ กล่าวหาว่า ข้อความที่วัฒนาโพสต์เป็นเท็จ ทำให้ได้รับความเสียหาย

พ.ต.อ. ภูมิยศ เบิกความต่อว่า ช่วงกลางดึกของวันที่ 2 มีนาคม 2559 เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัววัฒนาไปพบพนักงานสอบสวน ซึ่งเขาเป็นผู้รับตัวจำวัฒนา ขณะที่ปฏิเสธไม่แสดงความคิดเห็นต่อการยึดอำนาจและความคิดเห็นว่า ข้อความในคดีนี้เป็นเท็จหรือไม่ แต่ พ.ต.อ. ภูมิยศ ก็ทราบว่า สื่อมวลชนมีการวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะนี้

 

ปากที่ห้า ร.ต.อ. จีระศักดิ์ ชัยเดช

ร.ต.อ. จีระศักดิ์ ชัยเดช รับราชการในตำแหน่ง รองสารวัตรจราจร สน. นางเลิ้ง ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาและมีอำนาจจับกุมสอบสวนผู้กระทำความผิดในคดีอาญา  ร.ต.อ. จีระศักดิ์ เป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบในคดีนี้ วันที่ 2 มีนาคม 2559 เวลา 14.00 น. ขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ พ.ต.ท. อนุรักษ์ พิมพา สารวัตรสืบสวน สน. นางเลิ้ง แจ้งความว่า เฟซบุ๊กของวัฒนา เมืองสุขโพสต์ข้อความพิพาท เฟซบุ๊กดังกล่าวเปิดเป็นสาธารณะ

พยานกล่าวว่า พ.ต.ท. อนุรักษ์ แจ้งว่า โพสต์เฟซบุ๊กนี้ ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้รับความเสียหาย 2 ส่วนคือ

ส่วนที่ 1 ข้อความว่า “. . . ยึดอำนาจไปจากประชาชนจนสร้างความเสียหายให้กับประเทศมหาศาล คนพวกนี้ยังไม่เคยละอายอวดอ้างบุญคุณกับประชาชนมาตลอด แถมแสดงความหนาด้วยการจะไม่คืนอำนาจให้อีกต่างหาก. . .”  ซึ่งตามจริงแล้ว ในเวลานั้นมีการร่างรัฐธรรมนูญและมีการวางแผนที่จะทำตามโรดแมปที่วางไว้ ร.ต.อ. จีระศักดิ์ จึงรวบรวมเอกสารทั้งหมดไว้ในสำนวน

ส่วนที่ 2 คือข้อความว่า “. . . ไม่เคารพกฎหมายและเลือกปฏิบัติ คสช. ไม่เคยปฏิเสธการล้างผิดและพร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบ แต่กลับหนีการตรวจสอบทุกวิธี ไม่ว่าจะด้วยการใช้อำนาจตามมาตรา 44 นิรโทษกรรมให้ตัวเองและพรรคพวกในสิ่งทำผิดมา ล่าสุดคือการใช้มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยล้างผิดให้ตัวเองและคณะทั้งหมด. . .” ซึ่งตามจริงแล้วในมาตรา 44 ไม่ได้กล่าวถึงการนิรโทษกรรม โดยการบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีหน่วยงานที่คอยตรวจสอบการทำงาน

ร.ต.อ. จีระศักดิ์ บันทึกลงในรายงานประจำวัน ลงลายมือชื่อไว้และสอบปากคำ พ.ต.ท. อนุรักษ์ ที่เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ ก่อนจะเชิญตัว วัฒนา มารับทราบข้อกล่าวหา นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ  วัฒนาปฏิเสธข้อกล่าวหา ต่อมาในชั้นสอบสวน ร.ต.อ. จีระศักดิ์ แจ้งข้อกล่าวหาเดิมต่อวัฒนา เจ้าตัวยังคงให้การปฏิเสธ แต่ยอมรับว่า เป็นผู้โพสต์  ร.ต.อ. จีระศักดิ์ จึงรวบรวมและสรุปสำนวนสั่งฟ้อง  นอกจากนี้เขายังเห็นว่า ข้อความพิพาทในคดีนี้เป็นความเท็จเพราะขณะเกิดเหตุอยู่ระหว่างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ได้จะไม่คืนอำนาจ ขณะเดียวกัน ไม่ปรากฏการนิรโทษกรรมในมาตรา 44

ทนายจำเลยถามค้าน

เมื่อทนายถามค้าน ร.ต.อ. จีระศักดิ์ กล่าวว่า วันที่ 2 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 22.00 น. มีทหารควบคุมตัววัฒนามาดำเนินคดีที่ สน. นางเลิ้ง โดยแจ้งข้อกล่าวหาและลงบันทึกประจำวัน และวัฒนาไปที่ สน. นางเลิ้งเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น ร.ต.อ. จีระศักดิ์ ไม่ทราบว่า วัฒนา เคยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊กมาก่อนหน้านี้เรื่อยมาจนเกิดเหตุในคดี  ทราบเพียงว่า หลังการยึดอำนาจมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ทั้งหนังสือพิมพ์ นักศึกษา อาจารย์และนักวิชาการ โดยเฉพาะประเด็นที่พูดกันบ่อยครั้งคือ ทำท่าจะอยู่ยาวและสืบทอดอำนาจ

ก่อนจะส่งสำนวนฟ้อง ร.ต.อ. จีระศักดิ์ ไม่ได้สอบสวนเองว่า ข้อความพิพาทเข้าข่ายความเท็จ แต่ พ.อ. ธีระ นายทหารพระธรรมนูญ และ พ.ต.ท. อนุรักษ์ พิมพา สารวัตรสืบสวน สน. นางเลิ้ง สองผู้กล่าวหาในคดีนี้เป็นผู้ระบุว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความเท็จ ในการสอบสวนข้อความเท็จคำว่า “ยึดอำนาจ ทำให้บ้านเมืองเสียหาย” ร.ต.อ. จีระศักดิ์ ไม่ได้สอบสวนเพราะว่าไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการเมือง อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้ระบุว่า คำว่าดังกล่าวเป็นเท็จอย่างไร แต่เห็นว่า ข้อความเท็จคือ "การไม่มีคืนอำนาจ" ในทำนองที่ไม่มีการเลือกตั้ง  อีกส่วนคือ การนิรโทษกรรม จะเห็นได้ว่า ยังไม่เคยมีการนิรโทษกรรม ไม่เคยมีการล้างผิดจึงเห็นว่า เข้าข่ายความเท็จ

การชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนเป็นความผิดอาญา และนำข้อความเท็จไปส่งต่อถือว่าผิดทั้งสิ้น แต่เหตุที่ไม่มีการดำเนินคดีต่อพุทธอิสระและพวกที่ไปชุมนุม และหนังสือพิมพ์ที่นำข้อความไปโพสต์บนเว็บไซต์ เพราะไม่มีผู้กล่าวหา เมื่อถามว่า อาญาแผ่นดินไม่จำเป็นต้องมีผู้กล่าวหา ทำไมจึงไม่ดำเนินการ ร.ต.อ. จีระศักดิ์ ตอบว่า ไม่ทราบ ในส่วนที่ไม่ดำเนินคดีต่อนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์ในทำนองเดียวกัน เนื่องจากว่า เป็นความทางการเมือง

เมื่อถามว่า เหตุใดคดีนี้จึงสอบสวนผู้กล่าวหาฝ่ายเดียว ร.ต.อ. จีระศักดิ์ ตอบว่า ในการสอบวัฒนา จำเลย ให้การปฏิเสธและจะนำสืบพยานในชั้นศาล โดยตนไม่ทราบว่า สาเหตุที่วัฒนาไม่สามารถมาศาลในวันนัดฟ้องเพราะถูกทหารควบคุมตัวที่ค่ายทหาร

อัยการถามติง

ร.ต.อ. จีระศักดิ์ เบิกความต่อศาลว่า ในการสั่งฟ้องตนต้องดูเอกสารประกอบข้อกล่าวหาหรือไม่จึงสั่งฟ้อง โดยยังคงยืนยันว่า การนิรโทษกรรมในข้อความพิพาทนั้นเป็นความเท็จ และเหตุที่ไม่มีการสอบสวนผู้เชี่ยวชาญทางด้านรัฐศาสตร์เพราะมีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้วพบว่า เป็นความเท็จ ส่วนการดำเนินคดีอาญาแผ่นดิน ในทางปฏิบัติพนักงานสอบสวนไม่สามารถดำเนินคดีได้เอง ต้องมีผู้กล่าวหา พยานหลักฐานมาประกอบ อยู่ๆจะไปทำไม่ได้   

 
22 กันยายน 2559

นัดสืบพยานจำเลย

ปากที่่หนึ่ง วัฒนา เมืองสุข (จำเลย)

วัฒนาเบิกความต่อศาลว่า ไม่ได้ทำความผิดตามคำฟ้อง สิ่งที่แสดงความคิดเห็นนั้น เขามีสิทธิโดยชอบตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 4 และสิทธิที่ปวงชนชาวไทยพึงมีเช่น เสรีภาพในการในการพูดและการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งพันธกรณีระหว่างประเทศ คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

และเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กชื่อเพจ Watana Muangsook ที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ข้อความพิพาทเนื่องจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจปกครองประเทศ อ้างว่า ให้ความสงบกลับคืนสู่ประเทศ สร้างความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่ายตามประกาศ คสช. ที่ 1/2557 แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จึงถอยหลังให้กับคณะทำงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ แล้วเมื่อผ่านไปสักระยะ ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ ประกาศให้วัน เวลาทวีคูณ ผลตรงนี้ทำให้ใช้เงินเกือบ 1 แสนล้านบาท

รัฐบาลทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ดังนั้นข้ออ้างเรื่องปรองดองจึงเกิดขึ้นไม่ได้ ขณะที่กระบวนการคืนอำนาจด้วยการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เนื้อหาสาระเป็นการสืบทอดอำนาจ เขาจึงออกมาวิพากษ์วิจารณ์การสืบทอดอำนาจผ่านสื่อ แต่ยังไม่ได้เปิดใช้งานเฟซบุ๊ก จากนั้นแสดงความคิดเห็นเรื่อยมา กระทั่งต้นปี 2559 จึงเปิดเฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ว่า การยึดอำนาจทำให้ประเทศเสียหาย หรือ คสช. จะไม่คืนอำนาจ ซึ่งสื่อมวลชนก็วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

หลังจากแสดงความคิดเห็น ก็ถูกข่มขู่คุกคามโดยตลอดจาก คสช. และถูกเรียกรายงานตัวครั้งแรกวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ที่กองทัพภาคที่ 1 จากการแสดงความคิดเห็นเรื่องกลุ่มนักศึกษาดาวดิน เจ้าหน้าที่ขอร้องไม่ให้แสดงความคิดเห็น ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีและห้ามไม่ให้เดินทางไปต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้รับปาก หลังจากนั้นได้ยื่นคำร้องขอเดินทางไปต่างประเทศ แต่ถูกระงับการพิจารณา จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง แต่ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องจึงอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด ศาลพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง การฟ้องร้องสร้างความไม่พอใจให้แก่หัวหน้า คสช.

หลังจากนั้นอีกระยะก็มีเหตุการณ์ ถูกทำร้ายร่างกายที่สนามฟุตบอล สืบทราบได้ว่า พาหนะของคนร้ายมีเจ้าของเป็นทหารยศสิบเอก จนกระทั่งวันที่ 1 มีนาคม 2559 ได้แสดงความเห็นต่อคำกล่าวของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีทีพาดพิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเห็นว่า เป็นคำพูดที่ไม่ให้เกียรติสุภาพสตรี มีลักษณะเหยียดหยามทางเพศ จึงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พล.อ. ประวิตรใช้คำพูดไม่เหมาะสม ไม่มีวุฒิภาวะ นอกจากนี้ ยังวิพากษ์วิจารณ์ คสช. อันเป็นข้อความพิพาทในคดีนี้

เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าล้อมบ้านในวันถัดมา อ้างตามประกาศ คสช. ที่ 38/2558 ก่อนจะควบคุมตัวไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 โดยมี พ.อ. ธีระ ยินดี หนึ่งในผู้กล่าวหาในคดีนี้มาสอบถามว่า "เป็นคนโพสต์ข้อความใช่ไหม จึงตอบว่า ใช่ " หลังจากนั้น พ.อ. ธีระบอกว่า พล.อ.ประวิตร โกรธมาก และบอกว่า รอบนี้อาจจะต้องอยู่ยาว โดยระหว่างควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการจิตวิทยาสร้างความหวาดกลัว เช่น เอาผ้าคลุมหัว, ปิดตา ,กระชากขึ้นลำปืน จนกระทั่งเวลา 21.30 น. ทหารนำตัวไปที่ สน. นางเลิ้ง ก่อนจะไปส่งที่บ้าน

หลังถูกดำเนินคดี ยังคงแสดงความคิดเห็นเรื่อยมาและถูกควบคุมตัวอีกครั้ง จากการแสดงความเห็นสอดคล้องกับ วรชัย เหมะ และอีกครั้งในวันที่ 13 เมษายน 2559 จากที่โพสต์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ แต่ขณะนั้นไม่อยู่ที่บ้านจึงขอเลื่อนไปรายงานตัววันที่ 18 เมษายน 2559 แทน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการสังเกตการณ์ขององค์กรระหว่างประเทศ โดยเรื่องนี้ ได้ยืนยันกับสื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจควบคุมตัวเพราะประกาศไม่ครอบคลุมมูลฐานความผิด พ.ร.บ.คอมฯ ถ้าจะควบคุมตัวต้องแจ้งข้อกล่าวหา เมื่อไปรายงานตัวที่มณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการกองพันทหารราบกล่าวกับตนในทำนองว่า ไม่ให้แสดงความเห็นว่าไม่รับ (ร่างรัฐธรรมนูญ)

ต่อมา ทหารนำตัววัฒนาไปที่กองพลทหารราบที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี แต่กลับขับเลยกองพลฯไปทาง อำเภอไทรโยค ราว 200-300 กิโลเมตร ผ่านป่า ประมาณ 21.00 น. พบว่า ระหว่างทางมีทหารด้านนอกรถพรางหน้า ใส่ชุดทหารพร้อมอาวุธครบมือ สร้างความหวาดกลัว สุดท้ายทหารพาไปที่ศูนย์เกษตรกรรมของทหาร คุมขังไว้เป็นเวลา 3 วัน จนกระทั่งกำหนดนัดรายงานตัวที่ศาลวันที่ 20 เมษายน 2559 แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่า เป็นเรื่องของเขาเอง เดี๋ยวเขาจัดการเอง 

หลังจากนั้น วันที่ 21 เมษายน 2559 เจ้าหน้าที่นำตัวกลับมายังกรุงเทพมหานคร และให้นายทหารพระธรรมนูญมาดำเนินคดี ขัดคำสั่ง คสช. เคลื่อนไหวทางการเมืองที่ศาลทหาร ก่อนจะประกันตัว นอกจากนี้ ตนทราบว่า การวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ พล.อ.ประวิตร โกรธและบอกว่า ถ้าพูดร้อยครั้ง ท่านจะจับร้อยครั้ง

ส่วนคดีที่ถูกฟ้องที่ศาลทหาร สิ่งที่แสดงความเห็นไม่ได้เป็นความเท็จ เพราะว่าถ้าจะเป็นความจริงหรือความเท็จต้องเป็นเรื่องของการยืนยันข้อเท็จจริง แต่การแสดงความคิดเห็น อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หากทำให้เสียหาย เรื่องนี้ตนไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์เพียงคนเดียว ซึ่งครั้งหนึ่ง มีชัย ฤชุพันธุ์เองเคยออกมาแก้ต่างว่า คสช. ไม่สืบทอดอำนาจ แสดงว่า มีคนพูดจนต้องออกมาแก้ต่าง ในประเด็นการเลือกปฏิบัติและนิรโทษกรรมเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ใช้คำสั่งเป็นกฎหมายล้างผิดให้ใครก็ได้ ถือเป็นการหนีการตรวจสอบ

คดีนี้ เจ้าหน้าที่ถามเพียงครั้งเดียวและดำเนินคดี และได้ร้องขอความเป็นธรรมไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดว่า ไม่ได้ทำผิดตามฟ้อง แต่แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยบุคคลที่พาดพิงหรือวิจารณ์เป็นบุคคลที่ทำงานกินภาษีประชาชนจึงน่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เพื่อประโยชน์สูงสุด ประเด็นนี้จึงต้องการข่มขู่ให้ตนหวาดกลัว

วัฒนาตอบอัยการถามค้านว่า ก่อนเกิดเหตุทราบว่ามีโรดแมปการทำงานของคสช. แต่เลื่อนออกไปเรื่อยๆ มาตรา 44 ตนทราบว่า ไม่มีข้อความบัญญัตินิรโทษกรรมโดยตรง แต่โดยผลของอำนาจมาตราดังกล่าว

 

ปากที่สอง โภคิณ พลกุล

โภคิณ พลกุล เบิกความต่อศาลว่า ได้ติดตามอ่านข้อความที่วัฒนา โพสต์เฟซบุ๊ก เห็นว่า ที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นในการบริหารราชการของผู้มีอำนาจหน้าที่ การวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในยุคกฎหมายสมัยใหม่ และการวิพากษ์วิจารณ์ตามโจทก์ฟ้องเป็นไปตามกฎหมาย 2 ฉบับคือ กฎหมายระหว่างประเทศเช่น กฎบัตรสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่บัญญัติไว้ชัดว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้รับการคุ้มครองตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

โภคินเห็นว่า ข้อความพิพาทเป็นการวิพากษ์วิจารณ์คำกล่าวของบุคคลไม่ได้นำความเท็จมากล่าว และการยึดอำนาจเป็นความเสียหาย ประการแรกคือ ชื่อเสียงของประเทศไทยที่เป็นที่ยอมรับจากประเทศอื่นว่า เป็นประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชน  ประการที่สองคือ ส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศเช่น เขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปถูกเลื่อนออกไปส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

ส่วนเรื่องไม่คืนอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งขาติ ที่บอกว่า จะให้มีเลือกตั้งในปี 2558 หรือปี 2559 ต่อมาเลื่อนออกไปเป็นปี 2560 ขณะเดียวกัน ระหว่างประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ มีคำถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะทำอย่างไร คำตอบไม่ชัดเจนเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม หลังรัฐธรรมนูญผ่านประชามติจำต้องพิจารณาทำกฎหมายลูกอีก 240 วัน และสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาประกอบรัฐธรรมนูญอีก 60 วัน และจัดให้มีเลือกตั้งภายใน 150 วัน รวม 450 วัน ซึ่งจะเลยปี 2560 ออกไปอีก

การไม่คืนอำนาจให้กับประชาชนอาจสร้างกลไกตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ผู้บริหารประเทศสืบทอดอำนาจต่อ เห็นได้จาก ระบบการเลือกตั้ง ไม่มีพรรคใดได้รับเสียงข้างมากอีกต่อไป รัฐบาลจะเป็นรัฐบาลผสม ประเด็นต่อมาคือ คำถามพ่วงให้สมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้งจำนวน 250 คนมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ในคำอธิบายประเทศไทยมียุทธศาสตร์ 20 ปี จะเดินต่อไปได้นายกรัฐมนตรีต้องบริหารต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี เห็นได้ชัดว่า มีความพยายามเสนอนายกรัฐมนตรีคนนอก การสืบทอดอำนาจคือการไม่คืนอำนาจตามปกติที่ควรจะเป็น

ข้อความที่ว่า คสช. เลือกปฏิบัติ หนีการตรวจสอบ นิรโทษกรรมในมาตรา 44 และมาตรา 270 ของร่างฯบวรศักดิ์ หรือ มาตรา 279 ของร่างฯมีชัย มีความเห็นว่า เลือกปฏิบัติชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งไปประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา หลังจากที่อุปทูตวิจารณ์เกี่ยวกับประชาธิปไตย กปปส.ไปชุมนุม แต่ไม่มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่นักศึกษาไปรณรงค์ที่ราชบุรี มีนักข่าวไปสังเกตการณ์กลับถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ส่วนการวิจารณ์มาตรา 270  ว่า นิรโทษกรรมตนเองและพวกพ้อง เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ และเคยแสดงความเห็นทำนองเดียวกันต่อร่างรัฐธรรมนูญของบวรศักดิ์ ในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นอาจจะไปละเมิดเขา แต่การที่ผู้ใดผู้หนึ่งกล่าวถึง คำพูดหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้กลับสู่ประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้ยึดอำนาจของประชาชนโดยมิชอบ เพื่อไม่ต้องการให้ผู้มีอำนาจออกกฎหมายล้างผิด ทั้งบุคคลที่วิจารณ์เป็นบุคคลสาธารณะ ประชาชนย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ได้ ในการสืบพยานโภคิณ พลกุล อัยการไม่ถามค้าน

 
 
23 กันยายน 2559
 
สืบพยานจำเลย
ปากที่สาม จาตุรนต์ ฉายแสง
 
จาตุรนต์ ฉายแสงเบิกความว่า วัฒนาแสดงความคิดความเห็นทางการเมืองอยู่เป็นประจำผ่านช่องทางผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ตัวเขาเองเคยอ่านบทความของวัฒนาหลายครั้ง เห็นว่าข้อความพิพาทในคดีนี้มาจากวัฒนาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การเมือง
 
โดยปกติก็มีคนแสดงความเห็นเช่นนี้อยู่ไม่น้อยทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน และความเห็นลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องข้อเท็จจริงว่า ใครทำอะไร แต่เป็นการแสดงความเห็นไม่อาจบอกได้ว่าเท็จหรือไม่
 
ส่วนที่วัฒนา ถูกทหารควบคุมตัวไปจากบ้าน เขาเองได้โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว มีความรู้สึกว่า ข้อความพิพาทเป็นเรื่องจริงที่มีผู้คิดแบบนั้น แต่ไม่ปรากฏว่ามีการฟ้องร้อง ทำให้คิดต่อไปว่า ประเด็นที่ทำให้การแสดงความคิดเห็นของวัฒนาก่อนถูกควบคุมตัวไป น่าจะเกิดเพราะวิพากษ์ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีว่า เหยียดหยามเพศ เป็นเหตุให้ พล.อ. ประวิตรโกรธและควบคุมตัววัฒนาไป
 
จาตุรนต์กล่าวต่อไปว่า การแสดงความเห็นของวัฒนาเป็นความเห็นทางการเมืองต่อผู้มีอำนาจ ใช้อำนาจปกครองประเทศในฐานะที่เป็นประชาชนหรือนักการเมืองต้องแสดงความเห็นอยู่แล้ว สำหรับสังคมไทยช่วงที่มีประชาธิปไตยถือว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า ผู้มีอำนาจจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ หากไม่มีจะทำให้เกิดการลุแก่อำนาจเป็นผลเสีย ดังนั้นการแสดงความคิดเห็นจึงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ  ทั้งยังเห็นว่า ข้อความพิพาทที่วัฒนา แสดงความเห็นไม่มีลักษณะใส่ร้าย และนำความเท็จมาสร้างความเสียหายแก่ผู้ใด การแสดงความเห็นดังกล่าวต้องได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 4
 
เมื่อทนายถามว่า ข้อความพิพาททำให้ผู้ใดได้รับความเสียหายหรือไม่ จาตุรนต์ตอบว่า การวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ เมื่อไม่มีการใส่ร้าย ใช้เรื่องที่ไม่ผิดจากข้อเท็จจริงก็ไม่เกิดความเสียหาย หากแต่จะเป็นประโยชน์ รัฐประหารทำให้เกิดผลเสีย คนส่วนใหญ่ทราบดี ว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงหาทางนิรโทษกรรม ขณะที่ การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ลงโทษข้าราชการเป็นการเลือกปฏิบัติทั้งสิ้น เมื่อมีการวิจารณ์จะทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ระมัดระวังในการใช้อำนาจของตนเอง จึงไม่มีความเสียหายต่อผู้ถูกพูดถึง
หลังสืบพยานจาตุรนต์ ฉายแสง เสร็จสิ้น อัยการไม่ถามค้าน
 
ปากที่่สี่พิชัย นริพทะพันธุ์
 
พิชัย นริพทะพันธุ์ เบิกความต่อศาลว่า 
ส่วนตัวก็ได้แสดงความคิดเห็นทางเศรษฐกิจ เพราะการรัฐประหารส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยพึ่งพิงกับเศรษฐกิจโลก ทำให้การเจรจาทางการค้าเดินต่อไม่ได้ มีการเสียภาษีมากขึ้น จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงให้เห็นว่า การลงทุนในปีที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 90 ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ลดลงร้อยละ 100
 
พิชัยยังเบิกความอีกว่าเคยถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติทั้งหมด 7 ครั้ง ไม่เคยถูกควบคุมตัวยกเว้นครั้งที่ 7 ที่คุมขังไว้ 7 วัน และไม่เคยถูกดำเนินคดี ครั้งแรกๆทหารจะถามความคิดเห็นเรื่องเศรษฐกิจ และขอร้องไม่ให้แสดงความคิดเห็น มาตรการที่ใช้กับผู้แสดงความคิดเห็น ทำให้ตนหยุดวิพากษ์วิจารณ์
หลังสืบพยาน พิชัย เสร็จสิ้นอัยการก็ไม่ถามค้าน สืบพยานครั้งหน้า 29 กันยายน 2559 
 
29 กันยายน 2559
 
ปากที่ห้า สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ 
 
สุนัยเบิกความตอบศาลว่า ฮิวแมน ไรท์ วอทช์เป็นองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน โดยเป็นหนึ่งในสององค์กรสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่ของโลก มีบทบาทในการสังเกตการณ์สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนใน 90 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งรณรงค์เพื่อปรับปรุงสถานการณ์ผ่านการเสนอแนะและผลักดันนโยบายของประเทศนั้นๆ
 
 
ประเทศไทยแสดงเจตจำนงร่วมเป็นภาคีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปี พ.ศ. 2490 และเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในปี 2540 ซึ่งทั้งสองต่างเป็นเสาหลักที่สำคัญของการเป็นอารยะในกติการะหว่างประเทศสมัยใหม่ที่ถือว่า ทุกคนเท่าเทียมกัน รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิได้ โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนาหรือการเมือง  การแสดงความเห็นตามกติการะหว่างประเทศต้องไม่อ้างอิงความรุนแรง และเป็นไปโดยปราศจากความรุนแรง ดังที่ ปรากฏอยู่ในข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
 
สุนัยตอบทนายต่อว่า การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในปี พ.ศ. 2557 องค์กรสิทธิมนุษยชน บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ และมิตรประเทศที่สำคัญของไทย ต่างแสดงความเป็นกังวลต่อการลิดรอนเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามกติกาสากล และอ้างถึงคำสัญญาสาธารณะในการดำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชน โดยพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยให้คำมั่นว่า ไม่ว่าสถานการณ์ของไทยจะเป็นอย่างไรจะเคารพหลักการสิทธิมนุษยชน 
 
ผลกระทบในกรณีที่มีการละเมิดกติการะหว่างประเทศ คือการเสียชื่อเสียงในเวทีระหว่างประเทศ ความเป็นอารยะถูกบั่นทอน รวมทั้งการถูกลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  การเป็นประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นเงื่อนไขพื้นฐานในการตกลงกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศทางการเมืองและด้านอื่นๆ เช่น  ความร่วมมือทางการทหารและการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของไทยถูกระงับไป จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
 
สหรัฐอเมริกาเป็นมิตรประเทศที่ทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับไทยมากว่าร้อยปี ด้านการค้าก็เป็นตลาดสำคัญของไทย ผลกระทบที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมหลังรัฐประหารคือ สหรัฐฯลดระดับความร่วมมือ สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ  สังคมและความมั่นคงของไทย ขณะที่ ก่อนหน้านี้ไทยเคยได้รับสถานะที่สูงส่งมากในเวทีสหประชาชาติ แต่หลังจากรัฐประหาร ไทยแพ้ให้กับคาซัคสถานในการสมัครสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
 
สำหรับข้อความที่เป็นข้อพิพาทพิพาทในคดีนี้ สุนัยกล่าวว่า มองตามกรอบของฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ถือว่าเป็นการแสดงความเห็นตามกรอบที่ได้รับการรับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่ไทยรับรองมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2490 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลทุกรัฐบาลยอมรับพันธกรณีนี้ รวมทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อ้างอิงจากถ้อยแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า ประเทศไทยกำลังมีการเปลี่ยนผ่าน แต่ยังส่งเสริมการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศตามพันธกรณี
 
ลักษณะประเด็นที่ข้อความซึ่งเป็นข้อพิพาทนำเสนอนำมีความสอดคล้องกับความกังวลของนานาชาติโดยเฉพาะสหประชาชาติ คณะทูตานุทูตของประเทศประชาธิปไตยกว่า 20 ประเทศได้ออกแถลงการณ์ร่วมให้ไทยคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยการไม่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก โดยในข้อความของวัฒนา จำเลยในคดีนี้สะท้อนสิ่งที่องค์กรระหว่างประเทศมีความกังวลและมองเห็นในทางเดียวกัน การรัฐประหารส่งผลเสียต่อประเทศไทย โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับนานาชาติ ไม่ได้ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และคสช.เสียหาย
 
ในทัศนะของฮิวแมน ไรท์ วอทช์ มองว่า เป็นการแสดงความเห็นที่เป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะไม่ใช่เรื่องที่ก่อความเสียหายต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทั้งยังไม่ปรากฏความวุ่นวายในภายหลัง เนื้อหาที่จำเลยเผยแพร่เป็นไปด้วยสันติ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเกลียดชังแต่อย่างใด และไม่เป็นความเท็จตามกรอบกติการะหว่างประเทศคือ 1. มีความเสียหายให้เห็นเป็นรูปธรรม  2. แม้คสช.จะสัญญาว่าจะทำตามโรปแมปเรื่องการคืนอำนาจโดยการเลือกตั้ง แต่ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ และคณะทูตานุทูตก็ยังไม่เห็นว่ามีการประกันสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟูประชาธิปไตย 3. รัฐธรรมนูญชั่วคราวและฉบับประชามติมีลักษณะปกป้องไม่ให้เอาผิดต่อการกระทำต่างๆทุกกรณี ทำให้ในอนาคตจะไม่สามารถเอาผิดต่อ คสช. ได้
 
อัยการไม่ถามค้าน
 
การสืบพยานปากนี้เป็นการสืบพยานปากสุดท้ายในคดี ศาลนัดวัฒนาฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 เวลา 9.00 น.
 
 
31 ตุลาคม 2559
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดวัฒนาฟังคำพิพากษาในเวลา 9.00 น. วัฒนาเดินทางมาถึงศาลคนเดียวตั้งแต่ก่อนเวลา 8.30 น. โดยขณะนั้นด้านนอกศาลยังไม่ปรากฎว่ามีผู้สื่อข่าวมารอฟังคพิพากษา
 
วัฒนาเดินเข้าห้องพิจารณาคดี ในเวลาประมาณเก้านาฬิกาเศษซึ่งเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งว่าให้รอสักครู่เพราะศาลกำลังปรึกษาสำนวนคดีกันอยู่แต่ไม่มีข้อมูลว่าเป็นการปรึกษาคดีของวัฒนาหรือคดีอื่น ในห้องพิจารณาคดีขณะนั้นนอกจากวัฒนาก็มีทนายของวัฒนาและผู้สื่อข่าวจากมติชนหนึ่งคนมานั่งรอฟังคำพิพากษาด้วย 
 
ศาลนั่งบัลลังก์ในเวลาประมาณ 9.20 น.และเริ่มอ่านคำพิพากษาคดีของวัฒนาทันที โดยมีคำพิพากษายกฟ้องวัฒนาโดยเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นเหตุแห่งคดีนี้ เป็นการใช้เสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 4
 
ศาลยังวินิจฉัยข้อความที่โจทก์ฟ้องด้วยว่า ที่จำเลยโพสต์ข้อความทำนองว่า คสช. ไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชนซึ่งโจทก์เห็นว่าเป็นข้อความเท็จเพราะ คสช. มีโรดแมปที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งอันเป็นการคืนอำนาจแล้วนั้น ศาลเห็นว่า โรดแมปเป็นเพียงกรอบแผนงานซึ่งอาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น หรืออาจเปลี่ยนแปลงได้ ข้อความของจำเลยจึงไม่เป็นความเท็จ
 
และที่จำเลยโพสต์ข้อความว่าคสช.จะนิรโทษกรรมให้พวกพ้องและโจทก์เห็นว่าเป็นข้อความเท็จเพราะคสช.ไม่เคยใช้อำนาจนิรโทษกรรมผู้ใดและไม่มีคำว่า "นิรโทษกรรม" อยู่ในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวหรือมาตรา 279 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยนั้น ศาลเห็นว่าเนื้อหาของมาตรา 279 บัญญัติให้การกระทำใดๆของคสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีลักษณะเป็นการละเว้นความผิด ข้อความของจำเลยจึงไม่เป็นความเท็จ จึงพิพากษายกฟ้อง
 
หลังฟังคำพิพากษา วัฒนาเปิดเผยว่า คำพิพากษานี้ทำให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมยังเป็นที่พึ่งได้ และยืนยันว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจริงๆแล้วคดีนี้ไม่ควรจะต้องมาสู่ศาลด้วยซ้ำ และระบุด้วยว่าการจับกุมตนด้วยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 เป็นการใช้อำนาจที่ผิดเพราะพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ใช่ความผิดที่อยู่ภายใต้อำนาจของคำสั่งดังกล่าว จึงเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบแต่ตนก็คงไปฟ้องร้องอะไรไม่ได้ เพราะแม้วันนี้ศาลจะรับฟ้องแต่เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ศาลก็ต้องยกฟ้องคดีโดยผลแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 279
 
 
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา