อานนท์: ยืนเฉยๆ คดีที่หนึ่ง

อัปเดตล่าสุด: 28/06/2560

ผู้ต้องหา

อานนท์ นำภา

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 19 เมษายน 2559 กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรม"ยืนเฉยๆ"ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้คสช.ปล่อยตัววัฒนา เมืองสุขที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2559 
 
หลังทำกิจกรรมไปได้ประมาณ 20 นาที เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงทำการกันตัวนักกิจกรรมสี่คนรวมทั้งอานนท์ไปที่สน.พญาไทก่อนจะปล่อยตัวทั้งสี่ในเวลา 19.00 น. ต่อมาในวันที่ 27 เมษายน 2559 พนักงานสอบสวนนัดอานนท์เข้าพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า 
 
อานนท์ให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีในชั้นศาล ระหว่างได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องประกัน ศาลแขวงดุสิตพิจารณาคดีแล้วชี้ว่า อานนท์มีความผิดให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อานนท์ นำภา จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา
 
เมื่อประกอบอาชีพ ทนายอานนท์เคยว่าความคดีสิทธิให้ชาวบ้านหลายคดี เช่น คดีชาวบ้านชุมนุมค้านโรงถลุงเหล็ก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชาวบ้านค้านท่อแก๊สที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และคดีความจากการชุมนุมอีกหลายคดี 
 
นอกจากนี้ เขายังเป็นทนายความให้กับจำเลยในคดีการเมืองและคดีมาตรา 112 เช่น คดีอากง เอสเอ็มเอส ด้วย
 
หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อานนท์เป็นหนึ่งในทีมทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และว่าความให้กับจำเลยคดีการเมืองหลังรัฐประหารหลายคดี เช่น คดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช. และ คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ของสิรภพ
 
และอานนท์เองตกเป็น 1 ใน 4 ของจำเลยข้อหาชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. หลังจัดกิจกรรม เลือกตั้งที่(รัก)ลัก ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

อานนท์ เป็นหนึ่งในผู้จัดกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในวันที่ 19 เมษายน 2559  เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการควบคุมตัววัฒนาเมืองสุขในค่ายทหารและเรียกร้องให้คสช.ทำการปล่อยตัว การทำกิจกรรมครั้งนี้อานนท์ไม่ได้แจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ จึงเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 

พฤติการณ์การจับกุม

วันที่ 19 เมษายน 2559 ในเวลา 18.00 น. อานนท์กับพวกทำกิจกรรมยืนเฉยๆเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัววัฒนา เมืองสุข บริเวณสกายวอล์คอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังเริ่มกิจกรรมได้ครู่เดียวตำรวจปราบจลาจลเข้าควบคุมสถานการณ์ โดยได้ล้อมกลุ่มผู้ชุมนุม ก่อนจะควบคุมแกนนำในการชุมนุมสี่คนไปที่ส.น.พญาไทได้แก่ อานนท์ นำภา สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว ณัทพัช อัคฮาด และ วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ทั้งสี่ถุกควบคุมตัวที่สน.พญาไท จนถึงเวลาใดไม่แน่ชัดแต่อานนท์นำภาเปิดเผยภายหลังในมีเจ้าหน้าที่ทหารนำตนกับพวกอีกสี่คนไปปล่อยที่ห้างบิ๊กซีสะพานควายในเวลาประมาณ 20.00 น. โดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาหรือเซ็นข้อตกลงใดๆ
 
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.1106/2559

ศาล

ศาลแขวงดุสิต

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
19 เมษายน 2559

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ในเวลาประมาณ 18.00 น. อานนท์และพวกรวมสี่คนถูกควบคุมตัวไปที่สน.พญาไท หลังจัดกิจกรรมยืนสงบนิ่งที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อเรียกร้องให้คสช.ปล่อยตัววัฒนา เมืองสุข อย่างไรก็ตามอานนท์และพวกได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 20.00 น.โดยไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหา  

27 เมษายน 2559
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาอานนท์ในความผิดฐานเป็นผู้จัดการชุมนุมแต่ไม่แจ้งการชุมนุมตามที่กฎหมายกำหนด โดยอานนท์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเดียวกันในสองการกระทำ ทั้งการจัดชุมนุมในวันที่ 19 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัววัฒนาเมืองสุขที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร กับการจัดกิจกรรมในวันที่ 27 เมษายน 2559 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวประชาชนเก้าคนที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร โดยการชุมนุมทั้งสองครั้งจัดที่สกายวอล์กอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเหมือนกัน โดยพนักงานสอบสวนนัดนัดส่งตัวอานนท์ต่ออัยการในวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 
 
27 พฤษภาคม 2559
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3  (ดุสิต) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอานนท์ต่อศาลแขวงดุสิต ในความผิดฐานจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ให้รับทราบก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ทั้งที่จำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องแจ้งความประสงค์จัดการชุมนุมสาธารณะต่อหัวหน้าสถานที่แห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ
 
ศาลแขวงดุสิตนัดอานนท์สอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานคดีนี้ในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ เวลา  9:00 น. ในคดีนี้อานนท์ไม่ต้องวางเงินประกันตัวแต่ทำประวัติและสาบานตนว่าจะมาตามนัดแทนโดยศาลเห็นว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง 
 
8 สิงหาคม 2559
 
นัดสอบคำให้การ
 
อานนท์ให้การปฏิเสธ ศาลนัดสืบพยานคดีนี้วันที่ 22 ธันวาคม 2559
 
22 ธันวาคม 2559
 
นัดสืบพยานโจทก์ 
 
ก่อนเริ่มสืบพยาน อานนท์แถลงต่อศาลว่า ตนเองพูดคุยกับอัยการและตกลงกันว่า เนื่องจากพยานโจทก์คดีนี้เป็นพยานชุดเดียวกับคดียืนเฉยๆคดีที่สอง อานนท์กับอัยการจึงตกลงกันว่าเพื่อให้ประหยัดเวลาในการสืบพยาน ขอให้ศาลนำคำเบิกความพยานจากคดียืนเฉยๆคดีที่สองมาใช้ แต่ให้มีการแก้วันที่ วัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม และรายละเอียดในบางส่วน
 
อัยการแถลงว่าติดใจประเด็นการควบคุมซึ่งในสำนวนคดียืนเฉยๆคดีที่สองมีการบันทึกคำว่าจับกุมเอาไว้ ซึ่งคดีนี้อัยการเห็นว่าไม่มีการจับกุมจึงให้ตัดคำดังกล่าวออกจากคำพยานส่วนที่จะมาใช้เป็นสำนวนในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่า
 
คดีนี้เป็นคดีที่ฟ้องในศาลแขวงซึ่งตามระเบียบหากจำเลยถูกจับกุมตัวพนักงานอัยการตั้งสั่งฟ้องภายใน 48 ชั่วโมง หากไม่ฟ้องภายในเวลาที่กำหนดต้องผัดฟ้องต่อศาล หากอัยการไม่ฟ้องผู้ต้องหาภายในเวลาที่กำหนดโดยไม่ขอผัดฟ้อง อัยการจะไม่มีอำนาจฟ้องคดียืนเฉยๆ 
 
หลังคู่ความแถลงเรื่องการใช้คำพยานคดีที่สองบางส่วนต่อศาลและศาลอนุญาต ศาลก็ให้เริ่มสืบพยาน
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.ต.อ.ชณาวิน พวงเพชร ผู้กำกับสน.ปากคลองสาน 
 
พ.ต.อ.ชณาวินเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการตำรวจเป็นผู้กำกับสน.พญาไท ในวันที่เกิดเหตุได้รับแจ้งจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่าอานนท์จะไปจัดกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในเวลาประมาณ 18.00 น. อย่างไรก็ตามตัวพ.ต.อ.ชณาวิณไม่ได้รับการแจ้งจากผู้จัดว่าจะมีการจัดชุมนุมในพื้นที่ดูแลของสน.พญาไท
 
ตอบจำเลยถามค้าน
 
อานนท์ซึ่งเป็นจำเลยถามค้านพ.ต.อ.ชณาวินด้วยตัวเอง โดยเริ่มถามถึงมาตรการในการจัดการการชุมนุมของสน.พญาไทว่าเป็นอย่างไร พ.ต.อ.ชณาวินตอบว่าสน.พญาไทมีการออกคำสั่งเป็นการภายในว่าหากมีการแจ้งจัดการชุมนุมมาถึงสถานีจะต้องมีการสรุปสาระสำคัญของการชุมนุมเพื่อส่งให้ผู้บังคับบัญชา อย่างไรก็ตามคำสั่งภายในนี้ไม่ได้ส่งมอบให้แก่พนักงานสอบสวนคดีนี้ ในส่วนของวิธีปฏิบัติในการดูแลการชุมนุมไม่ได้ออกเป็นระเบียบไว้แต่จะพิจารณาตามความเหมาะสม
 
พ.ต.อ.ชนาวินเบิกความตอบจำเลยต่อว่า คดีนี้ไม่มีคำสั่งเป็นการเฉพาะจากคสช. การดำเนินการเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเท่านั้น จำเลยถามพ.ต.อ.ชนาวินต่อว่า ทราบหรือไม่ว่าขณะเกิดเหตุคสช.ประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ชนาวินตอบว่าใช่ อานนท์ถามต่อว่า พ.ต.อ.ชนาวินทราบหรือไม่ว่าหากเกิดการชุมนุมทางการเมืองแล้วไม่ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวเจ้าหน้าที่ก็จะมีความผิดด้วย พ.ต.อ.ชนาวินตอบว่าทราบแต่คดีนี้ไม่มีการร้องทุกข์ดำเนินคดีในความผิดตามคำสั่งดังกล่าว
 
พ.ต.อ.ชนาวินเบิกความตอบอานนท์ต่อว่า การชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯไม่ได้หมายถึงการชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น การมีผู้มาชุมนุมตั้งแต่สองคนขึ้นไปก็เป็นการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่จะเป็นการชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 หรือไม่ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานไม่อาจสันนิษฐานไว้ก่อนได้และทางสถานีก็ไม่ได้วางระเบียบว่าการชุมนุมแบบใดถึงเป็นการชุมนุมทางการเมือง แต่การยืนเฉยๆโดยแสดงสัญลักษณ์ถือว่าเป็นการชุมนุมที่มีความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้
 
พ.ต.อ.ชณาวินตอบคำถามอานนท์ในประเด็นการปฏิบัติงานในวันเกิดเหตุว่า สน.พญาไทจัดกำลังดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่จะมีการชุมนุม แต่ไม่ได้มีการประชุมวางแผนเอาไว้ก่อน เมื่อทราบว่าจะมีการจัดการชุมนุมก็โทรศัพท์ประสานผู้ใต้บังคับบัญชาไปดำเนินการและประสานรองผู้บังคับการกองบัญชาการตำรวจนครบาลหนึ่ง เพื่อขอกำลังจากกองร้อยควบคุมฝูงชน การปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.พญาไทและกองร้อยควบคุมฝูงชนเพียงสองหน่วย
 
พ.ต.อ.ชณาวินเบิกความตอบอานนท์ต่อว่า ได้รับแจ้งว่าจะมีการชุมนุมในตอนเช้าจากผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้บอกตนว่าทราบเรื่องมาจากไหน และตนเองเองก็ไม่ได้ประสานกับผู้จัดการชุมนุมหรือจำเลยแต่อย่างใด โดยตัวพ.ต.อ.ชณาวินสั่งให้หน่วยข่าวลงพื้นที่หาข่าวบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 19 เมษายน 2559 แล้ว
 
อานนท์ถามต่อว่าการดำเนินการจับกุมหรือสลายการชุมนุมจะต้องขอหมายศาลก่อนหรือไม่ พ.ต.อ.ชณาวินเบิกความตอบว่าผู้ใต้บังคับบัญชารายงานมาว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นความผิดซึ่งหน้าจึงดำเนินการเชิญตัวจำเลยและพวกไปที่สน.พญาไท ในส่วนของการจับกุมผู้ใต้บังคับบัญชาจะดำเนินการอย่างไรบ้างตนไม่ทราบ
 
อานนท์ถามพ.ต.อ.ชณาวินว่าทราบหรือไม่ว่าประเด็นของการทำกิจกรรมยืนเฉยๆครั้งนี้คืออะไรพ.ต.อ.ชณาวินตอบว่าเป็นการเรียกร้องให้ปล่อยตัว วัฒนา เมืองสุขซึ่งสามารถทำได้ตามระบอบประชาธิปไตยและการยืนเฉยๆก็เป็นไปโดยสงบแต่ก็เป็นกิจกรรมที่ทำโดยไม่ได้มีการแจ้งการจัดชุมนุม
 
อานนท์ถามว่าการแจ้งการชุมนุมสามารถทำได้โดยระบบอิเล็กโทรนิกใช่หรือไม่ พ.ต.อ. ชนาวินตอบฟว่าใช่และเป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ คือเป็นการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงผู้รับแจ้งโดยตรง อานนท์ถามต่อว่าการแจ้งการชุมนุมโดยการโพสต์เฟซบุ๊กเป็นสาธารณะแล้วมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบเห็นถือว่าเป็นการแจ้งแล้วหรือไม่และเป็นการแจ้งที่สะดวกหรือไม่ พ.ต.อ. ชนาวินยืนยันตามประกาศสำนักนายกฯ ว่าต้องเป็นการแจ้งมาที่เจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งโดยตรง
 
อานนท์ให้พ.ต.อ.ชนาวินดูภาพแล้วถามว่าใช่ภาพที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ชุมนุมหรือไม่ พ.ต.อ.ชนาวิน ตอบว่าภาพถ่ายที่อานนท์นำมาให้ดูเป็นภาพถ่ายเหตุการณ์ที่มีการชุมนุม มีการแสดงสัญลักษณ์ยืนเฉย ๆ อานนท์ถามพ.ต.อ.ชนาวินว่าขณะถูกควบคุมตัว จ้าหน้าที่ทำการจับกุมการเสร็จสิ้นหรือยัง พ.ต.อ.ชนาวิน ตอบว่าไม่ทราบว่าจำเลยทำกิจกรรมเสร็จหรือยัง แต่ในขณะนั้นเริ่มมีประชาชนมามุงดู ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าแล้ว
 
อานนท์ถามพ.ต.อ.ชนาวินว่าในวันเกิดเหตุตัวของตัวของอานนท์ลงชื่ลายมือชื่อในเอกสารของพนักงานสอบสวนหรือไม่ พ.ต.อ.ชนาวินตอบว่า จำไม่ได้ว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อหรือไม่ แต่ทราบว่ามีการทำประวัติจำเลยและมีการบันทึกภาพจำเลยไว้ด้วย
 
อานนท์ถามว่ากรณีที่ประชาชนพบเห็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่สามารถชุมนุมเรียกร้องได้หรือไม่ และการเรียกร้องนี้เป็นการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ชณาวินตอบว่าทำได้
 
ตอบอัยการถามติง
 
อัยการถามพ.ต.อ.ชณาวินว่าเห็นบันทึการจับกุมคดีวันที่ 19 เมษายน 2559หรือไม่ พ.ต.อ.ชนาวินตอบว่า เห็นบันทึกการจับกุมของวันที่ 27 เมษายน 2559 ส่วนคดีนี้ไม่มีบันทึกการจับกุม 
 
อัยการถามพ.ต.อ.ชณาวินว่าเหตุใดจึงยังไม่มีการดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 กับอานนท์ พ.ต.อ.ชณาวินตอบว่าความผิดตามข้อหาดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนซึ่งยังไม่เสร็จ จึงเพียงแต่แจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯไปก่อน
 
อัยการถามพ.ต.อ.ชณาวินว่า นิยามของการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นอย่างไรและการแจ้งจัดชุมนุมทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ตามประกาศสำนักนายกฯเป็นอย่างไร พ.ต.อ.ชณาวินตอบว่าให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทางโทรศัพท์ โทรสาร หรืออีเมล ในส่วนของสน.พญาไทก็มีร้อยเวรคอยรับแจ้งการชุมนุมด้วย
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง พ.ต.ท.พิศิษฐ์ กิติพัฒน์ธารากุล แผนกยุทธศาสตร์และแผนงาน กองบังคับการตำรวจนครบาล 2
 
พ.ต.ท.พิศิษฐ์เบิกความตอบศาลว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นพนักงานสืบสวน สน.พญาไท ก่อนการชุมนุมการข่าวพบว่าอานนท์โพสต์เฟซบุ๊กว่า จะชุมนุมที่ลานวิคตอรี่ พ้อยท์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัววัฒนา เมืองสุขและมีการประกาศชักชวนให้คนเข้ามาร่วมชุมนุม
 
เมื่อพ.ต.ท.พิศิษฐ์ทราบเรื่องการชุมนุมก็จัดกำลังไปที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น. ต่อมาในเวลา 18.00น. พ.ต.ท.พิศิษฐ์เห็นอานนท์และพวกรวมสี่คนปรากฏตัวที่ลานวิคตอรี่ พ้อยท์โดยทั้งสี่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการยืน
 
พ.ต.ท.พิศิษฐ์ถามอานนท์ว่า มีการแจ้งการชุมนุมหรือไม่ อานนท์ตอบว่าไม่ได้แจ้ง จากนั้นพ.ต.ท.พิศิษฐ์จึงนำตัวอานนท์กับพวกขึ้นรถไปที่สน. พญาไท หลังจากนั้นมีทหารมานำตัวอานนท์กับพวกไปโดยที่ยังไม่มีการดำเนินคดี
 
ตอบจำเลยถามค้าน
 
อานนท์ถามว่า พ.ต.ท.พิศิษฐ์เห็นโพสต์ที่เชิญชวนคนมาร่วมทำกิจกรรมหรือไม่ พ.ต.ท.พิศิษฐ์ตอบว่าทราบจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่ามีการโพสต์ในวันที่ 18 เมษายน 2559 แต่ไม่ทราบเวลาโพสต์ เนื้อหาคือเชิญชวนคนให้มาแสดงความไม่เห็นด้วยที่ทหารจับกุมวัฒนา เมืองสุข แต่ตัวพ.ต.ท.พิศิษฐ์ไม่ได้เป็นผู้พบเห็นข้อความด้วยตัวเอง
 
อานนท์ถามพ.ต.ท.พิศิษฐ์ต่อว่า ข้อความเชิญชวนไม่ได้เป็นการเชิญชวนคนมาก่อความไม่สงบใช่หรือไม่ พ.ต.ท.พิศิษฐ์ ตอบว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการกีดขวางทางเดินของประชาชนเพราะสถานที่เกิดเหตุเป็นลานกว้าง พ.ต.ท.พิศิษฐ์เบิกความต่อว่าเมื่อทราบเรื่องการชุมนุมก็วางกำลังตำรวจชุดจับกุมไว้โดยรอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพราะเกรงว่าข่าวที่ได้รับมาอาจจะเป็นข่าวลวงแล้วมีการไปจัดกิจกรรมในจุดอื่นแทน
 
พ.ต.ท.พิศิษฐ์เบิกความต่อว่า ขณะที่สังเกตการณ์อยู่เห็นอานนท์เชิญชวนคนที่ผ่านไปมาให้เข้าร่วมกิจกรรม ผู้ชุมนุมเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่มีอาวุธ อานนท์ถามพ.ต.ท.พิศิษฐ์ต่อว่าการชุมนุมเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พ.ต.ท.พิศิษฐ์ตอบว่าใช่แต่ก็มีการออกกฎหมายว่าการจัดชุมนุมต้องมีการแจ้งกับเจ้าหน้าที่ก่อน
 
อานนท์ถามพ.ต.ท.พิศิษฐ์ต่อว่าทราบถึงเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.การชุมนุมฯหรือไม่ พ.ต.ท.พิศิษฐ์ตอบว่าไม่ทราบแต่คิดว่าเพื่อให้เกิดความสงบเพราะก่อนหน้านี้ก็มีการชุมนุมขึ้นแล้วเกิดความวุ่นวายจนเกิดผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
 
อานนท์ถามต่อว่า การแจ้งเป็นไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนใช่หรือไม่ พ.ต.ท.พิศิษฐ์ตอบว่าแจ้งเพื่อขออนุญาตต่อผู้กำกำกับของสถานีตำรวจในท้องที่เพื่อพิจารณาว่าจัดชุมนุมได้หรือไม่ เช่น การชุมนุมจัดใกล้โรงพยาบาลหรือไม่ เมื่อจัดแล้วประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนหรือไม่
 
พ.ต.ท.พิศิษฐ์เบิกความว่าในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมราว 5-10 นาทีก่อนจะเข้าไปแจ้งอานนท์ว่า การชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อานนท์อ่านมาตรา 21 วรรคสองในพ.ร.บ.ชุมนุมฯแล้วถามพ.ต.ท.พิศิษฐ์ว่ามีการร้องขอต่อศาลหรือไม่ พ.ต.ท.พิศิษฐ์ตอบว่ากรณีนี้ไม่มีการขอหมายศาลและไม่ได้มีการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุม ส่วนการจับกุมตัวไม่มีหมายจับเพราะเป็นความผิดซึ่งหน้า
 
อานนท์ถามพ.ต.ท.พิศิษฐ์อีกว่าแล้วทราบหรือไม่ว่าความผิดตามข้อหาที่ตนได้ทำการจับกุมนี้มีโทษจำคุกหรือไม่ พ.ต.ท.พิศิษฐ์ตอบว่าไม่ทราบ
 
อานนท์ถามพ.ต.ท.พิศิษฐ์ว่าทราบหรือไม่ว่าในวันที่ 19 เมษายน 2559 ซึ่งอานนท์ถูกเชิญตัวไปที่สน.พญาไท อานนท์ได้ลงชื่อในเอกสารที่เจ้าหน้าที่ทำมาหรือไม่ พ.ต.ท.พิศิษฐ์ตอบว่าทราบว่าอานนท์ถูกเชิญตัวมาแต่จำไม่ได้ว่ามีการลงชื่อหรือไม่

อานนท์ถามว่าในวันเกิดเหตุมีการแจ้งสิทธิจำเลยที่ถูกควบคุมตัวหรือไม่ พ.ต.ท.พิศิษฐ์ตอบว่ามีการแจ้งสิทธิในที่เกิดเหตุ สำหรับเอกสารคำร้องผัดฟ้องเป็นของพนักงานสอบสวนแต่เอกสารดังกล่าวน่าจะเป็นการจัดทำขึ้นมาด้วยความเข้าใจผิดเพราะวันเกิดเหตุจำเลยไม่ได้ถูกจับกุมตัวแต่ถูกเชิญตัวไปที่สน.พญาไท อานนท์ถามต่อว่าพ.ต.ท.พิศิษฐ์เห็นบันทึกการจับกุมหรือหมายจับของคดียืนเฉยๆซึ่งเกิดในวันที่ 27 เมษายน 2559 หรือไม่ พ.ต.ท.พิศิษฐ์ตอบว่าไม่เห็นเอกสารทั้งสองอย่าง 

ตอบอัยการถามติง

อัยการถามพ.ต.ท.พิศิษฐ์ว่า เมื่อมีการแจ้งให้อานนท์ทราบว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วจำเลยได้ยุติการชุมนุมหรือไม่ อานนท์ตอบว่าเมื่อแจ้งให้ยุติการชุมนุมแล้วอานนท์ยังคงยืนต่อไป แต่เมื่อตนเชิญตัวไปที่สน.พญาไทแล้วอานนท์ก็ไปตามคำเชิญจึงไม่ต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลอีก
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม ด.ต.ปรีชา ตันติพงษ์ศิริกุล ผู้บังคับการหมู่สืบสวน สน.พญาไท
 
ด.ต.ปรีชาเบิกความว่าขณะเกิดเหตุรับราชการตำรวจอยู่ที่สน.พญาไท ในวันที่ 18 เมษายน 2559 อานนท์โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัววัฒนา เมืองสุข 
 
ผู้บังคับบัญชาสั่งด.ต.ปรีชาให้วางกำลังบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯตั้งแต่เวลาประมาณ17.00น.ของวันที่ 19 เมษายน 2559 ในเวลาประมาณ 18.00น.อานนท์และพวกรวมสี่คนเดินทางมาถึงและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการยืนเรียงเป็นแถวโดยไม่ทำอย่างอื่น 
 
ตอบจำเลยถามค้าน
 
ด.ต.ปรีชาเบิกความว่าทราบจะมีการชุมนุมจากโพสต์เฟซบุ๊กของอานนท์แต่ด.ต.ปรีชาไม่ได้เห็นโพสต์เองแต่ทราบเพราะหน่วยข่าวแจ้งมา ด.ต.ปรีชาตอบอานนท์ถึงเหตุการณ์การจับกุมว่า อานนท์ยืนอยู่เฉยๆแต่ยืนอยู่ไม่นานและไม่ได้กระทบความสงบ สำหรับเหตุที่ทำการจับกุมอานนท์และพวกเป็นเพราะอานนท์ไม่ได้แจ้งการชุมนุม โดยในขณะทำการจับกุมก็แจ้งสิทธิกับอานนท์และพวกในที่เกิดเหตุ
 
อานนท์ถามว่าที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯกำหนดให้แจ้งก่อนจัดการชุมนุมเพื่อให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนใช่หรือไม่ ด.ต.ปรีชาตอบว่าการชุมนุมครั้งนี้อานนท์ไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานี แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ทราบว่าจะมีการชุมนุมจากเฟซบุีกจึงจัดกำลังไปที่ลานวิคตอรี่พ๊อยท์ อานนท์ถามต่อว่าเท่ากับว่าด.ต.ปรีชาทราบว่าจะมีการชุมนุมใช่หรือไม่ ด.ต.ปรีชาตอบว่าใช่แต่อานนท์ไม่ได้แจ้งจัดการชุมนุม
 
ด.ต.ปรีชาตอบคำถามอานนท์ถึงขั้นตอนปฏิบัติในวันเกิดเหตุว่า เจ้าหน้าที่มีการประกาศให้เลิกการชุมนุมก่อนที่ที่จะมีการเชิญตัวอานนท์กับพวกไปสน.พญาไท  อานนท์ถามต่อว่ามีการขอหมายศาลหรือไม่ ด.ต.ปรีชาตอบว่ากรณีนี้ไม่มีการขอหมายศาล ไม่มีการประกาศพื้นที่ควบคุม และไม่มีการขอหมายจับเพราะเป็นความผิดซึ่งหน้าโดยในวันเกิดเหตุจำเลยไม่มีหมายจับในคดีอื่นมาก่อน
 
อานนท์ถามว่าหลังด.ต.ปรีชานำตัวอานนท์กับพวกมาที่สถานีตำรวจ มีกลุ่มนักศึกษาประชาชนมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวจำเลยหรือไม่ ด.ต.ปรีชาตอบว่าหลังจากเชิญตัวอานนท์มามีนักศึกษาและประชาชนประมาณ 100 คนมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวอานนท์และพวกโดยมีการจุดเทียน ซึ่งขณะนั้นมีทหารรับตัวอานนท์กับพวกออกไปแล้ว
 
หลังเสร็จการสืบพยานปากนี้ อัยการแถลงหมดพยาน อานนท์แถลงไม่ติดใจจะนำพยานจำเลยเข้าเบิกความ หลังเสร็จการสืบพยานศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 9.00 น.
 
10 กุมภาพันธ์ 2560
 
นัดฟังคำพิพากษา 
 
เวลา 10.15 น. ที่ศาลแขวงดุสิต ห้องพิจารณาคดีที่ 1 อานนท์ นำพา พร้อมทนาย มาฟังคำพิพากษาคดี "ยืนเฉย ๆ" คดีที่ 1
ตามที่อัยการสั่งฟ้อง อานนท์ ว่าจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ในท้องที่ ผิด พ.ร.บ. การชุมนุม ฯ นั้น ศาลพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10 วรรค 1 มาตรา 12 วรรค 1 และมาตรา 28  ลงโทษปรับ 1000 บาท
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษา

 
 
สรุปคำพิพากษาศาลแขวงดุสิต
 
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลวินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบว่า ในวันเกิดเหตุตำรวจเชิญตัวจำเลยกับพวกไปที่สน.พญาไท โดยไม่มีการจับ ไม่มีการแจ้งข้อหา และไม่มีการควบคุมตัวจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ในวันเกิดเหตุวันที่ 19 เมษายน 2559 ยังไม่มีการจับจำเลย พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 จึงเป็นกรณีตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 วรรคสาม กรณีที่ไม่มีการจับแต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว และหากไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาได้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาได้รับแจ้งข้อหา พนักงานสอบสวนต้องยื่นคำร้องผัดฟ้องต่อศาล 
 
เมื่อปรากฏตามคำร้องว่า พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอผัดฟ้องแล้ว โดยวรรคสามมิได้บัญญัติว่า พนักงานสอบสวนที่ยื่นคำร้องขอผัดคำฟ้องจะร้องเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และเมื่อศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องได้ถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2559 โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 อันเป็นระยะเวลาภายในกำหนดที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
 
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลวินิจฉัยว่า เนื่องจากจำเลยได้มีการโพสต์หรือเผยแพร่ข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในที่สาธารณะที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในวันที่ 19 เมษายน 2559 เวลา 18 นาฬิกา ถือได้ว่า จำเลยเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะดังกล่าวต่อหัวหน้าสถานีตำรวจพญาไท ซึ่งเป็นท้องที่ที่จำเลยจะจัดการชุมนุมสาธารณะภายในกำหนดเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงก่อนเริ่มการชุมนุม หรือหากไม่สามารถแจ้งการชุมนุมได้ทันกำหนดเวลาดังกล่าว จะต้องยื่นคำขอผ่อนผันก่อนเริ่มการชุมนุม แต่จำเลยก็ไม่ได้กระทำการดังกล่าว 
 
แม้ว่าในวันและเวลาดังกล่าวจำเลยกับพวกจะยืนบริเวณที่เกิดเหตุโดยไม่มีการกระทำอื่นอีก ก็ถือเป็นการชุมนุมสาธารณะแล้ว เนื่องจากเป็นการกระทำเพื่อเรียกร้องคัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่ 
 
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10, 12, 28 ลงโทษปรับ 1,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอื่น เมื่อลงโทษปรับจึงไม่อาจนับโทษต่อตามที่โจทก์ขอได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้
 
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา