แปดแอดมินเพจ ‘เรารักพล.อ. ประยุทธ์’

อัปเดตล่าสุด: 05/11/2565

ผู้ต้องหา

ศุภชัย

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

เช้าวันที่ 27 เมษายน 2559 ผู้ต้องหาแปดคนและบุคคลอื่นอีกหนึ่งคนที่ไม่ถูกดำเนินคดี ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนำกำลังบุกจับที่บ้านของแต่ละคนในเวลาไล่เลี่ยกัน  

หลังการจับกุมบุคคลทั้งเก้าคนถูกนำตัวไปที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในทันที ต่อมานิธิ ผู้จัดการร้านราเม็งของหฤษฎ์ หนึ่งในผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวออกมาจากค่ายในคืนเดียวกันโดยไม่ถูกดำเนินคดี 

บุคคลทั้งแปดถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารเป็นเวลาหนึ่งคืนก่อนจะถูกนำตัวมาที่กองบังคับการปราบปรามในช่วงเย็นวันที่ 28 เมษายน 2556 ในการแถลงข่าวผู้ต้องหาทั้งแปดและผู้ต้องหาอีกหนึ่งคนซึ่งยังไม่ถูกจับกุมตัวถูกกล่าวหาว่าทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯจากการทำเพจเฟซบุ๊ก "เรารักพล.อ.ประยุทธ์" 

ในวันที่ 29 เมษายน 2559 ผู้ต้องหาทั้งแปดถูกนำตัวไปขออำนาจศาลทหารฝากขังและถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลางเป็นเวลา 12 วันหลังศาลทหารมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพราะพฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรงและทำเป็นขบวนการ

อย่างไรก็ตามในวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ศาลทหารก็อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งแปดคนด้วยหลักทรัพย์คนละ 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศหรือมีพฤติการณ์ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

ต่อมาปี 2562 คดีนี้ถูกโอนย้ายจากศาลทหารกรุงเทพมาดำเนินการพิจารณาที่ศาลอาญา แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้การพิจารณาคดีเนิ่นช้าออกไปจนถึงปี 2565 วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 การสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

หฤษฎ์ จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสามารถทางด้านการเขียนนิยาย โดยใช้นามปากกาว่า "ฟ้าไร้ดาว" นิยายเรื่อง "ทูตแห่งเซนทาเรียกับมงกุฎสายรุ้ง"ของเขาเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศลำดับสองจากสำนักพิมพ์แจ่มใสและตีพิมพ์ออกสู่ตลาด ปัจจุบันเขาประกอบกิจการร้านอาหารญี่ปุ่นที่ จังหวัด ขอนแก่น และเปิดร้านข้าวมันไก่ที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว 

ธนวรรธ อายุ 24 ปี พื้นเพเดิมเป็นชาวอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ บวชเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่ง  กระทั่งจบการศึกษาจากคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณ์ หลังจากนั้นจึงสึกและรับจ้างเป็นฟรีแลนซ์ทั่วไป ก่อนหน้านี้เคยเป็นโปรดิวเซอร์รายการที่ Peace TV ไม่มีความสนใจในประเด็นทางการเมืองและไม่เคยตั้งใจไปร่วมชุมนุมทางการเมืองนอกจากต้องไปทำงานที่ได้รับมอบหมาย

โยธิน อายุ 37 ปี จบการศึกษาจากคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ประกอบอาชีพขายของตามตลาดนัดและฟรีแลนซ์ทั่วไปเกี่ยวกับงานศิลปะทั่วไปและงานปั้น มีความสนใจทางการเมืองและติดตามข่าวสารทางการเมืองจากสถานีโทรทัศน์เช่น ASTV และ NATION
 
กัณสิทธิ์ อายุ 34 ปี เป็นชาวอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ประกอบอาชีพเป็นผู้ช่วยผู้จัดการร้านอาหาร มีความสนใจทางการเมืองโดยจะติดตามผ่านเว็บไซต์ข่าวเช่น ไทยรัฐ มติชน เป็นต้น แต่ไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง
 
วรวิทย์ อายุ 32 ปี เป็นชาว จังหวัดสมุทรปราการ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนแห่งหนึ่ง ประกอบอาชีพเป็นฟรีแลนซ์ รวมทั้งรับหน้าที่ติดตามและถอดเทปให้กับ Peace TV เป็นเวลากว่า 1 ปี วรวิทย์มีความตื่นตัวทางการเมือง ติดตามข่าวสารจากทั้งกลุ่ม กปปส. และ นปช.
 
ศุภชัย อายุ 29 ปี พื้นเพเป็นชาวกรุงเทพฯ จบการศึกษาชั้น ปวช. ประกอบอาชีพเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ รับถ่ายงานรับปริญญาและงานแต่งงาน มีความสามารถในการทำกราฟฟิค มีความสนใจและติดตามข่าวสารทางการเมือง
 
ณัฏฐิกา พื้นเพเป็นชาว จังหวัดนนทบุรี จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเคมีสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ก่อนหน้านี้เคยประกอบอาชีพพนักงานบริษัทมาก่อนและลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์รับจ้างทำเพจ แต่ในกรณีของเพจ เรารักพล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกสั่งฟ้องในคดีนี้เป็นเพจที่ทำขึ้นมา โดยไม่ได้รับเงินจากแหล่งใดทั้งสิ้น
 

 

 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

จำเลยทั้งแปดและผู้ต้องหาอีกหนึ่งคนที่ยังไม่ถูกจับกุมตัว ถูกกล่าวหาว่า รับจ้างทำเพจเฟซบุ๊ก “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งเนื้อหามีลักษณะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและการทำงานของรัฐบาล การกระทำของผู้ต้องหาทั้งหมดเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (2) และ (3) และข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 

 

ตามคำฟ้องของอัยการลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 บรรยายว่า จำเลยทั้งแปดกับชัยชวัช ที่ยังหลบหนีจับกุมไม่ได้ ร่วมกันกระทำความผิดแบ่งหน้าที่กันทำ กล่าวคือ จำเลยทั้งแปดกับพวกร่วมกันเปิดเพจเฟซบุ๊ก “เรารักพลเอกประยุทธ์” มีเนื้อหาโจมตีการทำงานของรัฐบาลและพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จำเลยที่ 1,2,4 และ 5 ทำหน้าที่เป็นแอดมิน จำเลยที่ 6 จัดหาข้อมูลสำหรับตัดต่อรูปภาพ จำเลยที่ 3 ตัดต่อรูป จำเลยที่ 7 เผยแพร่เนื้อหาและรูปภาพที่ตัดต่อ ส่วนจำเลยที่ 8 และชัยธวัช ทำหน้าที่ควบคุมสั่งการและจ่ายค่าจ้างให้จำเลยที่ 1-7 

 
จำเลยกระทำความผิดในระหว่างประกาศคสช.บังคับใช้ กลางเดือนพฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 7 เมษายน 2559 จำเลยทั้งแปดและพวกโพสต์ภาพใบหน้าของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีตัดต่ออยู่บนกระทงกับข้อความว่า “ลอยกระทงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล 20 พ.ย. 18.00 น. เป็นต้นไป ลานปรีดี พนมยงค์ มธ.ท่าพระจันทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 18.00 รำวงสืบสานวิถีราษฎร 19.00 ประกวดโฉมงามประชาธิปไตย 20.00 ร่วมกันลอยกระทงยักษ์ ขับไล่เผด็จการ (อัปมงคล)”
 
ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงภายแห่งราชอาณาจักร ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จำเลยทั้งแปดกับพวกรู้อยู่แล้วว่า ภาพและข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลที่เข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับตวามมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ภาพและข้อความปรากฏบนเพจจนถึงวันที่ 7 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าหน้าที่พบภาพ การกระทำของจำเลยทั้งแปดกับพวกเข้าข่ายมาตรา 116 และมุ่งประสงค์เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นภาพและอ่านข้อความดังกล่าวออกมาร่วมขับไล่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน ความกระด้างกระเดื่องขึ้นในหมู่ประชาชนถึงขนาดก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

พฤติการณ์การจับกุม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า การจับกุมผู้ต้องหาทั้งแปดคน เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 27 เมษายน 2559

กรณีของณัฏฐิกา

แม่ของณัฏฐิกาให้ข้อมูลว่า ช่วงเช้าระหว่างที่ตนและลูกสาวกำลังนอน มีทหารในเครื่องแบบสองนายและนอกเครื่องแบบราวห้านายกดกริ่งที่หน้าบ้านหลายครั้งก่อนจะปีนเข้ามาจากหลังบ้านและงัดบานเกร็ดเข้ามา  ทำการตรวจค้น ยึดโทรศัพท์มือถือสองเครื่องและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะสี่เครื่อง และควบคุมตัวณัฎฐิกาออกไปโดยที่ตลอดกระบวนการไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือแสดงหมายจับและหมายค้น

ในเวลาต่อมาแม่ของณัฏฐิกาได้รับการติดต่อจากเพื่อนของณัฏฐิกาว่า ณัฏฐิกาใช้โทรศัพท์ของทหารโทรศัพท์มาแจ้งว่า ไม่ทราบว่าตนเองอยู่ที่ไหนเพราะถูกปิดตาหลังจากถูกควบคุมตัวไป

กรณีของหฤษฎ์และนิธิ
 
เวลา 06.00 ทหารประมาณ 20 นายพร้อมอาวุธบุกไปที่บ้านพักของหฤษฏ์และนิธิในจังหวัดขอนแก่นทำค้นบ้าน ยึดโทรศัพท์มือถือ,คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คและหนังสือเดินทางของหฤษฏ์ไปโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาก่อนจะควบคุมตัวทั้งสองออกจากบ้านไป
 
กรณีของธนวรรธ 
 
เวลา 06.05 น. เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมธนวรรธ ที่อพาร์ตเมนท์แห่งหนึ่งที่ ซอยวชิระ 33 โดยขอให้ผู้หญิงที่เป็นเจ้าของหอพักมาเคาะประตูห้อง อ้างว่า มีคนถอยรถมาชนรถของธนวรรธ อยากจะให้ออกมาช่วยเคลียร์ เมื่อเปิดประตูมาพบว่า มีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบยืนอยู่ 3-4 นาย และเจ้าหน้าที่จาก บก.ปอท. 5 นาย ด้านล่างมีรถยนต์จอดอยู่ราว 5 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่มีอาวุธครบมืออีกประมาณ 3-4 นาย
 
ต่อมาตำรวจได้เข้ามาพูดปากเปล่าว่า มาจับกุมโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44  ไม่จำเป็นต้องมีหมายจับกุม และดำเนินการค้นห้อง กล่องเอกสาร คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เมมการ์ดและเอทานอล ฮาร์ดิสก์ รวมทั้งคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กและโทรศัพท์ของเพื่อน หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตรวจค้นห้องพักเป็นเวลา 1 ชั่วโมงจึงได้ควบคุมตัวธนวรรธไปขึ้นรถที่รออยู่ด้านล่าง ระหว่างทางได้ใช้เสื้อคลุมปิดหน้าธนวรรธไว้
 
 
กรณีของนพเก้า
 
ยายของนพเก้าเล่าว่า เวลาประมาณ 7.00 น.ขณะที่ตนเองกำลังนอนหลับก็ได้ยินเสียงเหมือนคนกำลังงัดประตูบ้านจึงออกมาดูและเห็นเจ้าหน้าที่กำลังงัดประตูบ้านทั้งด้านหน้าและประตูมุ้งลวดด้านหลัง เมื่อขอดูหมายค้นเจ้าหน้าที่แจ้งว่า การบุกค้นในครั้งนี้เป็นการทำตามหน้าที่โดยมีอำนาจรองรับ ไม่ต้องมีหมายค้นหรือหมายจับ เจ้าหน้าที่ทหารทำการค้นบ้านพร้อมกับงัดเข้าไปในห้องของนพเก้าแล้วคุมตัวเขาออกไปโดยบอกว่าจะนำตัวไปที่ มทบ.11

กรณีของศุภชัย

ที่บ้านพักของศุภชัย ย่านพญาไท กรุงเทพฯ ทหารทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบมาที่บ้านพักและบอกอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยว่า เอาโทรศัพท์มา และถามต่อว่า" มึงเป็นแอดมินเพจไหน ไอ้โยนะโดนแล้วนะ"  ก่อนจะเข้าค้นบ้านพักโดยไม่บอกว่าอาศัยอำนาจใดในการบุกค้น โดยยึดคอมพิวเตอร์จำนวน 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือจำนวน 3 เครื่องฮาร์ดดิสก์ แฟลชไดร์ฟ และเมมโมรีการ์ด
ก่อนจะพยายามควบคุมตัวไปขึ้นรถยนต์ของเจ้าหน้าที่
 
แต่ศุภชัยต่อรองขอให้รอพ่อของตนกลับมาจากการทำงานเสียก่อนสุดท้ายจึงให้ทหาร 1 นายอยู่เฝ้าบ้านของศุภชัยจนกว่าพ่อของศุภชัยจะกลับมาและควบคุมตัวศุภชัยไปที่ มทบ.11  ภายหลังพ่อของศุภชัยเดินทางไปเยี่ยมลูกชายที่มทบ.11 แต่เจ้าหน้าที่ทหารไม่ให้เข้าเยี่ยม บอกแต่เพียงว่าศุภชัยถูกควบคุมตัวที่มทบ.11 จริง
 
 
กรณีของโยธิน
 
เวลา 06.00 น. ขณะที่โยธินกำลังนอนหลับได้ยินเสียงคนตะโกนเรียกหน้าบ้าน จึงเปิดประตูและพบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารราว 30 นาย ไม่เห็นว่ามีอาวุธ เจ้าหน้าที่รายหนึ่งเข้ามาถามว่า โยธินใช่ไหม แอดมินใช่ไหม แต่โยธินไม่ได้ตอบว่าเป็นแอดมิน หลังจากนั้นบอกให้โยธินยอมขึ้นรถไปกับเจ้าหน้าที่บอกว่า มาเถอะ ผู้ใหญ่บอกว่าผิดแน่  
 
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกว่ามาจับกุมโดยอาศัยอำนาจหรือมีหมายจับมาแสดง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ไปที่บ้านของแฟนโยธินอีกด้วย
 
กรณีของกัณสิทธิ์
 
 ที่หอพักแห่งหนึ่งใน จังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราว 7 นายมาเคาะประตูห้องพักของกัณสิทธิ์ เมื่อเปิดประตูเจ้าหน้าที่บอกให้กัณสิทธิ์คุกเข่าและไพล่มือไปทางด้านหลัง ก่อนจะถามกัณสิทธิ์ว่า ทำอะไรผิด รู้ตัวไหม กัณสิทธิ์ตอบว่า ผมไม่ได้ค้ายา ผมไม่ได้ฆ่าคนตาย  เจ้าหน้าที่ตอบกลับว่า มีอำนาจตามคำสั่งคสช.  ในการค้นห้องพัก เจ้าหน้าที่ใช้เวลาค้นประมาณ 15 นาที ก่อนยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโทรศัพท์มือถือ Note 4 ไป  
 
หลังจากนั้นจึงนำตัวไปขึ้นรถเดินทางไปยังสถานที่หนึ่งคาดว่า จะเป็นมณฑลทหารเชียงราย เจ้าหน้าที่สอบถามข้อมูลส่วนตัวของกัณสิทธิ์และเรื่องทั่วไปอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมงและให้ขึ้นรถอีกครั้งไปยังกรุงเทพฯ มีการปิดตาตอนนั่งอยู่บนรถยนต์และเปิดตาในช่วงที่แวะพักรับประทานอาหารระหว่างทาง

 

กรณีของวรวิทย์

 ที่บ้านพักของวรวิทย์ใน จังหวัดนนทบุรี เจ้าหน้าที่มาเคาะประตูห้องบอกว่า มาจับกุมผู้ต้องหาคดีการพนัน วรวิทย์จึงเปิดประตูออกไป เจ้าหน้าที่จึงขอดูบัตรประชาชน เมื่อแน่ใจว่า เป็นวรวิทย์จึงค้นห้องและยึดโทรศัพท์ยี่ห้อซัมซุงจำนวน 2 เครื่อง คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก เอทานอล ฮาร์ดไดร์ฟ และทัมพ์ไดร์ฟ 2 อัน รวมทั้งสมุดบัญชีและบัตรเอทีเอ็ม สำหรับเจ้าหน้าที่ที่มาจับกุมครั้งนี้มี ทหารในเครื่องแบบจำนวน 2 คน เจ้าหน้าที่จาก ปอท.จำนวน 3 คน เจ้าหน้าที่กองปราบ 2 คน และทหารนอกเครื่องแบบอีกประมาณ 5 คน จากนั้นจึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ควบคุมตัวไปสอบสวน วรวิทย์กล่าวว่า ระหว่างการสอบสวนมีการบังคับให้สารภาพผิด

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

3036/2562

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
27 เมษายน 2559 
 
ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ในช่วงเช้าตั้งแต่เวลาประมาณ 5.00 น. มีการส่งต่อข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ว่าเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวบุคคลทั้งในกรุงเทพมหานครและในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นรวมแปดคน โดยพฤติการณ์การควบคุมตัวของบุคคลที่ศูนย์ทนายฯยืนยันได้อย่างน้อยห้ารายมีลักษระคล้ายคลึงกันคือเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบหลายนายมาที่บ้านในช่วงเช้าตรู่และทำการตรวจค้น จับกุม โดยไม่แสดงเอกสารใดๆ

28 เมษายน 2559

เดลินิวส์รายงานว่า ในเวลาประมาณ 10.00 น. พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามขอให้ศาลทหารกรุงเทพออกหมายจับบุคคลรวมเก้าคนได้แก่ ณัฏฐิกา, หฤษฎ์, นพเก้า, วรวิทย์, โยธิน, ธนวรรธ,ศุภชัย,กัณสิทธิ์ และชัยธัชซึ่งหลังศาลทหารอนุมัติหมายจับ เจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวบุคคลทั้งแปดที่อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ยกเว้นชัยธัชที่ยังจับตัวไม่ได้ไปพบพนักงานสอบสวนที่กองบังคับปราบปราม เพื่อตั้งข้อกล่าวหา และสอบปากคำเพิ่มเติม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลาประมาณ 11.00 น.ญาติของสี่ผู้ต้องหาได้แก่ นพเก้า, ศุภชัย, ณัฏฐิกา และหฤษฏ์ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอให้ปล่อยตัวทั้งสี่คนเนื่องจากเห็นว่าเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ระบุว่า พฤติการณ์ที่เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวบุคคลทั้งสี่โดยไม่มีการแจ้งเหตุแห่งการควบคุมตัว,ไม่แจ้งข้อกล่าวหา,ไม่แสดงหมายจับ และการแสดงหมายค้น

เวลา 15.00 น. ศาลลงบัลลังค์เพื่อพิจารณาไต่สวนพยานผู้ร้อง ทนายได้แถลงต่อศาลว่า ขณะนี้ญาติของผู้ต้องหาเดินทางไปยังกองบังคับการปราบปรามเนื่องจากทราบข่าวว่าจะมีการนำตัวผู้ถูกควบคุมไปแถลงยังกองปราบฯ จึงขอให้ศาลไต่สวนทนายผู้ร้องแทน ศาลได้นัดฟังคำสั่งว่าคดีมีมูลหรือไม่ในวันที่ 29 เม.ย. เวลา 10.00 น.

ดูสรุปคำร้องได้ที่ https://tlhr2014.wordpress.com/2016/04/28/arbitary-detention-4-people/

 

เวลา 15.50 น. ที่กองปราบปรามฯ มีรถตู้ติดสติกเกอร์บอกสังกัดว่า พัน.ร.มทบ.11 โดยมีรถฮัมวี่สองคันประกบหน้าหลังขับเข้ามาที่กองปราบฯ และทั้ง 8 ถูกนำตัวลงมาจากรถและพาขึ้นไปที่ห้องปราศจากศัตรู ชั้น 3 เพื่อสอบปากคำ โดยเจ้าหน้าที่ได้นำแผนผังการกระทำความผิดของผู้ต้องหามาแสดงต่อสื่อมวลชนได้รับทราบด้วย

 

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพร้อมญาติของณัฏฐิกา นพเก้า ศุภชัย และหฤษฏ์ ขอเข้าเข้าร่วมรับฟังการสอบปากคำ แต่ไม่ได้รับอนุญาต โดยพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ได้ไล่ทนายความและญาติออกจากห้อง แม้ว่าทนายความจะยืนยันว่าญาติได้มาขอให้ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องหาทั้งสี่คนแล้วก็ตาม จากนั้น พล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจนครบาลหก แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาทั้งแปดคนว่า ผู้ต้องหาได้ร่วมกันเผยแพร่ภาพและข้อความทางเพจเฟซบุ๊กมีเนื้อหาต่อต้านการทำงานของคสช. ในลักษณะที่มีการจ้างทำจ่ายเป็นรายเดือน นอกจากนี้ในกรณีของหฤษฏ์และณัฏฐิกา เมื่อตรวจสอบเว็บไซต์ส่วนบุคคลยังพบว่า มีข้อความก้าวล่วงพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งทาง พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฎหมายเฉพาะกิจปฏิบัติการข่าวและรักษาความสงบแห่งชาติ ได้พิจารณาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

 

29 เมษายน 2559

ฝากขัง 8 ผู้ต้องหาผลัดแรก

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลา 9.00 น. พนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปรามนำตัวผู้ต้องหาแปดรายมาที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อขอฝากขังผลัดแรก 12 วัน ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 10 พฤษภาคม 2559 โดยให้เหตุผลว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นเพราะยังรอการพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหา รอสอบปากคำเพิ่มเติมและรอการตรวจสอบจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

 

ทนายความขอยื่นคัดค้านการฝากขัง และยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยตัวโดยให้เหตุผลว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีร้ายแรง ทั้งศาลเคยมีบรรทัดฐานแล้วว่า การหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ถือเป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่นจนก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักรตาม มาตรา 116

 

ขณะที่หฤษฎ์ ผู้ต้องหาที่แปดแถลงต่อศาลเพื่อขอคัดค้านการฝากขังว่า ในช่วงที่อยู่ในค่ายทหารนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารผลัดกันสอบสวนอยู่ตลอดเวลาและเจ้าหน้าที่ตำรวจเองได้กล่าวกับผู้ต้องหาทั้งหมดว่า สอบสวนจนเสร็จสิ้นหมดแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงมองว่า การฝากขังเพื่อสอบปากคำเพิ่มเติมไม่น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอรวมถึงพวกตนไม่ได้มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี  ทั้งยังมีความยินดีให้ความร่วมมือมาให้ปากคำเพิ่มเติม ด้านพนักงานสอบสวนได้ทำคำร้องขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า คดีนี้มีอัตราโทษสูงและเป็นคดีความผิดต่อความมั่นคงและเกรงว่าจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน

 

เวลา 10.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำสั่ง กรณีที่ญาติสี่ ผู้ต้องหายื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวเพราะทหารเข้าควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การเข้าจับกุมและควบคุมตัวกระทำในเวลากลางวันกระทำโดยทหาร และช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ระหว่างการบังคับใช้ประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและข้าราชการทหารปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งดังกล่าว ตามที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. และจากการไต่สวนเพิ่มเติมได้ความว่า ผู้ถูกจับกุมถูกควบคุมตัวในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งเป็นความผิดตามคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 3 (2) และเมื่อนับจากวันถูกจับถึงวันยื่นคำร้องยังไม่เกินระยะเวลาเจ็ดวัน ตามคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อหกถือว่าการเข้าจับกุมและควบคุมตัวเป็นการกระทำตามกฎหมายโดยเปิดเผยและโดยสุจริต จึงไม่ถือเป็นการจับกุมและควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 

 

เวลา 16.00 น. ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรง ทำกันเป็นขบวนการ ศาลจึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว

มติชนออนไลน์รายงานว่า ช่วงเย็นวันที่ 29 เมษายน 2559 ศาลทหารกรุงเทพได้อนุมัติหมายจับหฤษฏ์และณัฏฐิกา ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  หลังพบหลักฐานมีการสนทนากันในโซเชียลมีเดียเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการอายัดตัวและดำเนินคดีต่อไป

2 พฤษภาคม 2559

มติชนออนไลน์รายงานว่า จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, ธิดา ถาวรเศรษฐ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.),   สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว, อานนท์ นำภา และวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความได้เดินทางเข้าเยี่ยม 8 ผู้ต้องหาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

จตุพรกล่าวว่า ในคำบรรยายฟ้องผู้ต้องหายังมีการเชื่อมโยงอ้างว่าสนิทสนมกับตน แล้วกล่าวหาว่าสนิทกับนายพานทองแท้ ชินวัตร เลยโอนเงินให้ มองว่าเป็นการกล่าวหาโดยปราศจากข้อมูล ตนรู้สึกผิดหวังกับการทำหน้าที่ทั้งของพล.ต.วิจารณ์ จดแตง และพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ

3 พฤษภาคม 2559

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลา 15.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ ทนายความได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องหาทั้งแปดคนเป็นหลักทรัพย์เงินสดคนละ 150,000 บาท ต่อศาลทหารกรุงเทพ รวมเป็น 1,200,000 บาท

คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวคือ พฤติการณ์การกระทำความผิดยังไม่มีการนำพยานหลักฐานเข้าสืบจึงถือได้ว่าฝ่ายพนักงานสอบสวนกล่าวหาทั้งผู้ต้องหาทั้งแปดเพียงฝ่ายเดียว ขณะที่พนักงานสอบสวนเองเพิ่งรับตัวผู้ต้องหาจากทหารมาก่อนวันขังเพียงหนึ่งวันไม่มีการสอบสวนพยานบุคคลและพยานวัตถุก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบจึงไม่อาจรับฟังได้ การคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราวนั้น เป็นเพียงการคาดการณ์ว่าผู้ต้องหาทั้งแปดคนจะหลบหนีโดยไม่มีพฤติการณ์หรือพยานหลักฐานชัดแจ้ง และพยานหลักฐานในคดีก็ถูกเก็บโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างปลอดภัยแล้ว ผู้ต้องหาจึงไม่สามารถไปยุ่งกับพยานหลักฐานได้

เวลา 16.00 น. ศาลทหารกรุงเทพยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนเพิ่มเติมที่จะทำให้มีเหตุเปลี่ยนเเปลงดุลพินิจเดิมจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัว  ขณะที่ พ.ต.ท.ชัยพร นิตยภัตร์ พนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปราม แจ้งข้อกล่าวหาในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อหฤษฏ์และณัฏฐิกา จากการที่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ตรวจพบข้อความในกล่องข้อความเฟซบุ๊กของบุคคลทั้งสอง

10 พฤษภาคม 2559

ฝากขังผลัดที่สอง

ประชาไทรายงานว่า เวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ และพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม นำตัวทั้งแปดคน ประกอบด้วย ณัฏฐิกา , นพเก้า , วรวิทย์ , โยธิน , ธนวรรธน์ , ศุภชัย , หฤษฏ์ และกัณสิทธิ์ เพื่อขออำนาจศาลทหาร ฝากขังผลัดสองตามคำร้องของพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 – 22 พ.ค. 2559 ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดใส่ชุดของกรมราชทัณฑ์พร้อมกับถูกตีโซ่ตรวนมือและเท้าเดินทางมาด้วยรถตู้ของกรมราชทัณฑ์

เวลา 14.40 น. วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายของ แปดผู้ต้องหาเปิดเผย ว่าศาลทหารกรุงเทพให้ประกันตัวทั้งแปดผู้ต้องหาแล้ว ตีราคาหลักประกัน คนละ 200,000 บาท มีเงื่อนไข ห้ามผู้ต้องหากระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง กระทบต่อความเสียหายหรือความสงบเรียบร้อย และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

เวลา 19.00 น.ผู้ต้องหาทั้งแปดคนได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิง อย่างไรก็ตาม หฤษฎ์และณัฎฐิกา สองผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหา 112 มีรายงานว่า จะถูกนำตัวไปกองบังคับการปราบปรามทันที คาดว่าเจ้าหน้าที่จะคุมตัวไปฝากขังที่ศาลทหารวันที่ 11 พฤษภาคม 2559

11 พฤษภาคม 2559

อายัดตัวหฤษฎ์และณัฏฐิกา ฝากขังผลัดแรก

ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า  เวลา 09.00 น. ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พ.ต.ท.ชัยพร นิตยภัตร์ สว.สอบสวน กก.1 บก.ป. ได้คุมตัวหฤษฎ์ ไปห้องพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. เพื่อสอบปากคำเพิ่มเติมเป็นเวลา 2 ชั่วโมง 30 นาที

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความกล่าวว่า ได้รับการประสานจากพนักงานสอบสวนของกองปราบเมื่อคืนวาน หลังจากศาลทหารมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาแปดคน โดยมีสองคนที่ถูกแจ้งข้อหา 112 ตำรวจได้อายัดตัวมายังกองปราบทันที วันนี้มีการสอบปากคำเพิ่มเติม หากข้อกล่าวหาหรือหลักฐานไม่ชัดเจนก็คงต้องให้การปฏิเสธ  และหลังจากนี้ตำรวจจะนำตัวทั้งสองไปฝากขัง ซึ่งจะขอยื่นประกันตัวเป็นเงิน 500,000 บาท  ต่อมาเวลา 12.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ป.คุมตัว หฤษฎ์และณัฏฐิกาเพื่อไปฝากขังผลัดแรกเป็นเวลา 12 วัน 

บีบีซีไทยรายงานผลการพิจารณาขอประกันตัวว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูงประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้าน หากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองอาจจะหลบหนี หรือไปยุ่งกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุภัยอันตรายประการอื่น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวนได้ ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาต 

19 พฤษภาคม 2559

ฝากขังหฤษฎ์และณัฏฐิกาผลัดที่สอง

ประชาไทรายงานว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวหฤษฎ์และณัฏฐิกา ผู้ต้องหา 2 คนในคดีมาตรา 112 มาศาล เพื่อให้พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขังเป็นผลัดที่สอง ทนายความจำเลยได้ยื่นขอประกันตัวโดยให้วางหลักทรัพย์รายละ 700,000 บาท ต่อมาศาลทหารมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันเพราะเป็นคดีร้ายแรง มีอัตราโทษสูง เกรงจะหลบหนีและไปยุ่งกับพยานหลักฐาน อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนไม่อยู่ให้ศาลไต่สวน แต่ก็ได้คัดค้านการประกันตัวไว้ในเอกสารคำร้องแล้ว และศาลได้นำไปพิจารณาประกอบ

3 มิถุนายน 2559

ฝากขังหฤษฎ์และณัฏฐิกาผลัดที่สาม

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า  ศาลทหารกรุงเทพไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหฤษฏ์และณัฏฐิกา โดยศาลเห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวนในชั้นนี้ จึงให้ยกคำร้อง

วันเดียวกันครอบครัวของทั้งสองได้เดินทางเข้าถวายพระพรพร้อมทูลเกล้ายื่นถวายฎีกากับสำนักราชเลขาธิการ ขอให้ผู้ต้องหามีสิทธิ์ประกันตัว พร้อมกับยืนยันว่า หากทั้งสองคนได้รับการประกันตัวจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อต่อสู้คดีต่อไป

16 มิถุนายน 2559

ฝากขังหฤษฎ์และณัฏฐิกาผลัดที่สี่

มติชนออนไลน์รายงานว่า ศาลทหารกรุงเทพได้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา มาตรา 112 เหตุผลว่า ขณะยื่นคำร้อง พนักงานสอบสวนไม่อยู่ และติดต่อไม่ได้ แต่พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไว้ ตามคำร้องขอฝากขังฉบับลงวันที่ 15/6/59 ศาลได้นำมาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว ซึ่งพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาจะหลบหนี ซึ่งจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายในชั้นนี้จึงให้ยกคำร้อง

21 มิถุนายน 2559

นพเก้า หนึ่งในเก้าผู้ต้องหาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ในคดีความผิดมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญาอัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องเนื่องจากยังสรุปสำนวนไม่เสร็จให้มาฟังคำชี้ขาดในวันพรุ่งนี้ (22 มิถุนายน 2559) นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความรู้สึกว่า หลังจากตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ชีวิตตนมีความเปลี่ยนไป มีเพื่อนหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็สูญเสียเพื่อน คนรู้จักไปเช่นกัน  พร้อมยังขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจเขาตลอดมา

22 มิถุนายน 2559

นพเก้า หนึ่งในเก้าผู้ต้องหาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ในคดีความผิดมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญาอัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องเนื่องจากยังสรุปสำนวนไม่เสร็จ โดยจะชี้ขาดการยื่นสั่งฟ้องในวันที่ 22 กรกฎาคม 2559

22 กรกฎาคม 2559

นัดฟังคำสั่งอัยการ

นพเก้า หนึ่งในผู้ต้องหาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า อัยการทหารเลื่อนการสั่งคดีออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 23 สิงหาคม 2559 เนื่องจากทนายของผู้ต้องหายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559

23 สิงหาคม 2559

นัดฟังคำสั่งอัยการ

ที่ศาลทหารกรุงเทพ เวลา 10.00 น. ผู้ต้องหาคดี 8 แอดมินเพจเรารักพล.อ. ประยุทธ์ประกอบด้วย ณัฏฐิกา, หฤษฏ์, นพเก้า, วรวิทย์ , โยธิน, ธนวรรธ, ศุภชัยและกัณสิทธิ์เดินทางมารอคำสั่งฟ้องฐานความผิดมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  ต่อมาเวลา 14.00 น. อัยการศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 คน  วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจึงได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาลโดยใช้หลักทรัพย์เดิมที่เคยใช้ในการประกันตัวในชั้นสอบสวนคือคนละ 200,000 บาท ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพช่วงค่ำของวันเดียวกัน จำเลยแอดมินเพจ'เรารักพลเอกประยุทธ์' ปฏิเสธข้อหา ปลุกปั่นยั่วยุฯ ตามม.116 ด้านทนายยันคดีนี้ไม่เข้าข่ายผิดตามฟ้องฯ 

 
 
6 ธันวาคม 2559 
 
นัดสอบคำให้การ
 
ที่ศาลทหารกรุงเทพ ราว 10.00 น. ผู้ต้องหาคดี 8 แอดมินเพจเรารักพล.อ. ประยุทธ์ประกอบด้วย ณัฏฐิกา, หฤษฏ์, นพเก้า, วรวิทย์ , โยธิน, ธนวรรธ, ศุภชัยและกัณสิทธิ์เดินทางมาศาลในนัดสอบคำให้การ คดีความผิดมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายฯและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
 
ในห้องพิจารณาคดีที่ 5 ศาลเริ่มพิจารณาคดี  โดยเริ่มจากอ่านคำบรรยายที่โจทก์ฟ้องว่า ถูกกล่าวหาว่า รับจ้างทำเพจเฟซบุ๊ก “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งเนื้อหามีลักษณะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและการทำงานของรัฐบาล การกระทำของผู้ต้องหาทั้งหมดเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (2) และ (3) และข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  จากนั้นถามคำให้การจำเลย ไล่เรียงทีละคนตั้งแต่จำเลยที่ 1 ศุภชัยจนไปถึง คนสุดท้าย ทุกคนต่างให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดีทุกข้อกล่าวหา  
 
หลังจำเลยให้การเสร็จสิ้น ศาลนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปเป็นนัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 24 เมษายน 2560   ด้านทนายความขอปรึกษาหารือกับศาลเรื่องว่า คดีนี้ไม่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และจะขอส่งเรื่องไปให้ศาลอาญาพิจารณาวินิจฉัยเขตอำนาจศาล ศาลจึงให้จดคำให้การวันนี้ก่อน ส่วนเรื่องส่งเรื่องวินิจฉัยเขตอำนาจศาล ให้ทนายทำคำร้องยื่นมาในนัดหน้า วันที่ 24 เมษายน 2560 จะได้ส่งเรื่องและระงับการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว  
 
24 เมษายน 2560 
นัดตรวจพยานหลักฐาน 
 
เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลทหารได้พิจารณาในนัดตรวจพยานหลักฐาน โดยพบว่า โจทก์และจำเลยยินยอมในพยานหลักฐานที่ต่างฝ่ายนำเข้าตรวจในวันนี้จึงนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2 และ 11 สิงหาคม 2560  สำหรับพยานโจทก์ปากแรกที่จะนำสืบคือ พล.ต. วิจารณ์ จดแตง นายทหารพระธรรมนูญ ผู้ร้องทุกข์ในคดีนี้
 
2 สิงหาคม 2560
นัดสืบพยานโจทก์
 
 
 
5 มีนาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
 
ณัฏฐิกา จำเลยที่สอง และกัณสิทธ์ จำเลยที่เจ็ด ไม่มาศาลตามนัด วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลยและนายประกันแถลงต่อศาลว่า วันนี้ถือเป็นการผิดนัดครั้งที่สองของณัฏฐิกาและคิดว่า นัดครั้งต่อไปคงไม่สามารถตามตัวณัฏฐิกามาศาลได้อีก ขอศาลใช้ดุลพินิจในการออกหมายจับเพื่อไม่ให้คดีล่าช้าไปมากกว่านี้ ส่วนกัณสิทธ์ไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากจำวันนัดสืบพยานผิด ศาลพิเคราะห์ว่า ณัฏฐิกาไม่มาศาลเป็นครั้งที่สองแล้ว เป็นเหตุสมควรพอที่จะออกหมายจับ จึงให้วิญญัติ ในฐานะนายประกันนำเงินประกันจำนวน 200,000 บาทมาชำระต่อศาลภายในวันที่ 26 มีนาคม 2561 และให้เลื่อนการสืบพยานในนัดนี้ออกไปก่อนเพราะจำเลยมาศาลไม่ครบ ส่วนนัดสืบพยานนัดหน้าที่เคยนัดไว้ในวันที่ 2 เมษายน 2561 ให้เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2561 แทน เนื่องจากยังไม่ครบเวลาหนึ่งเดือนของการออกหมายจับ ส่วนกรณีกัณสิทธ์เห็นว่าเป็นการผิดนัดศาลครั้งแรกจึงให้โอกาสอีกครั้ง
 
 
14 มิถุนายน 2561
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์คดียุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของแปดแอดมินเพจเฟซบุ๊ก เรารักพลเอกประยุทธ์ วันนี้เป็นการถามค้านพยานคือ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ผู้ร้องทุกข์คดี ต่อจากที่ได้เบิกความไปก่อนแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2560
 
เวลาประมาณ 10.40 น. ศาลขึ้นบัลลังก์และได้ขานชื่อจำเลยที่มาศาลมีทั้งหมดเจ็ดคน ณัฏฐิกา จำเลยที่สอง ไม่มาศาล ศาลมีคำสั่งให้จำหน่วยคดีของณัฏฐิกา เป็นการชั่วคราว เพื่อให้กระบวนพิจารณาคดีดำเนินต่อได้ เนื่องจากศาลออกหมายจับครบ 1 เดือนแล้วแต่ยังตามตัวไม่ได้ และศาลได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องที่ทนายจำเลยที่ 1-8 ได้ยื่นคำร้องเรื่องเขตอำนาจศาลว่าคดีนี้อาจจะอยู่ในเขตอำนาจศาลอาญาหรือไม่ และการนำคดีนี้มาพิจารณาในศาลทหารขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลให้เหตุผลว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 จะยื่นคำร้องขอย้ายศาลนั้นต้องทำก่อนที่จะมีการเริ่มสืบพยานปากแรก ซึ่งในคดีนี้ได้เริ่มทำการสืบพยานไปแล้วศาลจึงยกคำร้องดังกล่าวของทนายจำเลยที่ 1-8
 
ทนายแถลงต่ออัยการทหารว่าขอถามค้านพยานปากนี้ทั้งวันได้หรือไม่ เนื่องจากการถามค้านมีทนายจำเลยหลายคนจึงอยากให้สืบพยานต่อเนื่อง อัยการทหารแถลงว่าพยานมีนัดประชุม 13.00 น. จึงไม่สามารถอยู่สืบพยานทั้งวันได้
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย
 
การถามค้านพยานโจทก์เริ่มขึ้น โดยทนายความของจำเลยที่ 1 เป็นผู้เริ่มถามค้านก่อน ทนายจำเลยถามว่า พลตรีวิจารณ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับคคีนี้อย่างไร พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่ามีความเกี่ยวข้องกับคดีนี้ตั้งแต่ก่อนการจับกุม แต่ไม่ทราบว่าการจับกุมจะเป็นอย่างไร และไม่ทราบว่าจำเลยทั้งแปดคนถูกนำตัวไปค่ายทหาร ทนายจำเลยถามต่อว่า พลตรีวิจารณ์เป็นผู้จัดทำเอกสารบันทึกการรับมอบตัวหรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่า เอกสารที่อ้างส่งศาลที่เป็นบันทึกการรับมอบตัวนั้น ไม่ได้เป็นคนทำขึ้นและไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพียงเซ็นต์ส่งมอบเท่านั้น และไม่ทราบว่าจำเลยทั้งแปดคนจะมีร่องรอยการทำร้ายร่างกายในระหว่างควบคุมตัวหรือไม่ แต่เห็นเพียงจากเอกสารการตรวจของแพทย์ซึ่งรายงานว่าไม่มีร่องรอยการทำร้ายร่างกาย ในส่วนของบันทึกพยานหลักฐานก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าวเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้จัดทำ
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าพยานเป็นผู้เข้าร่วมซักถามปากคำในการทำบันทึกการพูดคุย และไม่มีการแจ้งสิทธิผู้ต้องหา ไม่มีการให้ทนายความหรือผู้ไว้วางใจเข้าร่วมในการซักถามดังกล่าว ใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่าในส่วนของบันทึกการพูดคุยกับจำเลยที่ 1 ได้เข้าร่วมเป็นผู้ซักถามปากคำด้วย และมีการลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าว ลงวันที่ 27 เมษายน 2558 และในการซักถามดังกล่าวไม่มีการแจ้งสิทธิผู้ต้องหา และไม่มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจอยู่ในการซักถามจำเลยที่ 1 เนื่องจากเป็นการซักถามตามอำนาจคำสั่งหัวหน้า คสช. ยังไม่ใช่ในสถานะผู้ต้องหา เป็นการสอบถามเพื่อเอาข้อมูลจึงไม่ต้องแจ้งสิทธิและมีทนายความ
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าหลังจากการจับกุมจำเลยมีการชุมนุมก่อความไม่สงบเกิดขึ้นหรือไม่
 
พล.ต.วิจารณ์ ตอบทนายว่าหลังจากเกิดเหตุในคดีนี้ขึ้นมีการเดินขบวนชุมนุมเกิดขึ้นประปราย แต่การชุมนุมไม่เกี่ยวข้องกับเหตุในคดีนี้ ทนายจำเลยถาม พล.ต.วิจารณ์ว่า ข้อความในอินเทอร์เน็ตที่เป็นเหตุในคดีนี้นั้นมีข้อความสองส่วนคือ 1. เรื่องอุทยานราชภักดิ์ 2. โปสเตอร์ชวนลอยกระทงให้ คสช. ออกไป ใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่า ใช่
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า  ในการยึดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย คสช. นั้นมีหลักการสำคัญหลักหนึ่งคือการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ใช่หรือไม่
 
พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่า ใช่ โดยการปราบปรามการทุจริตเจาะจงไปที่ข้าราชการที่ทุจริตเท่านั้น และการที่ข้าราชการทุจริตและประพฤติมิชอบทำให้เกิดผลกระทบต่อรัฐบาล คสช. และทนายจำเลยถามต่อว่าเมื่อประชาชนพบการทุจริตต้องทำอย่างไร พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่าหน้าที่ของประชาชนคนไทย เมื่อพบการทุจริตประพฤติมิชอบมีหน้าที่ต้องแจ้งให้รัฐตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบแล้วหากพบว่ามีการทุจริตจริงๆ ต้องดำเนินการตามกฎหมาย
 
ทนายจำเลยถาม พล.ต.วิจารณ์ ว่า เนื่องจากเรียนจบจากคณะนิติศาสตร์ เข้าในคำว่า "คดีมีมูล" หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่า เข้าใจคำว่า "คดีมีมูล"
 
ทนายจำเลย ถามต่อว่า ในการสร้างอุทยานราชภักดิ์ มีมูลเรื่องการทุจริต คอรัปชันใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่า ในช่วงการสร้างอุทยานราชภักดิ์ไม่มีมูลเรื่องการทุจริตการสร้างไม่โปร่งใส มีเพียงข่าวการทุจริตแต่ตรวจสอบแล้วไม่มีมูล เนื่องจาก ปปช. ไม่ชี้มูลความผิด ส่วนคำว่า คอรัปชัน กับเงินทอนส่วนต่าง นั้นจะถือว่าคอรัปชันหรือไม่อยู่ที่ข่ายการกระทำว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องไหม ไม่เกี่ยวกับคำพูด ในส่วนของเรื่องที่ทนายถามว่าใครเป็นคนส่งเรื่องให้ ปปช. พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่าไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่ทราบจากข่าวว่า ปปช. ไม่ชี้มูลความผิด
 
ทนายจำเลย ถามว่า พยานรู้ไหมว่าใครเป็นคนรับผิดชอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่า รู้จัก พล.อ.อุดมเดช สีหบุตร ว่าเป็นผู้รับผิดชอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ส่วนเงินที่นำมาสร้างอุทยานราชภักดิ์นั้นจะมีที่มาอย่างไรไม่ทราบรายละเอียดเลย และไม่ทราบข่าวตามที่ทนายจำเลยถามว่า พล.อ.อุดมเดช ได้ยอมรับว่ามีเงินเกินจริงและได้แถลงข่าวว่าบริจาคคืนมูลนิธิไปแล้ว
 
ทนายจำเลย ถามว่า การที่ประชาชนแจ้งว่ามีการทุจริต เป็นเรื่องดีหรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่า การที่ประชาชนแจ้งว่ามีการทุจริตของข้าราชการเป็นเรื่องดี แต่ต้องร้องไปในหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ ทนายจำเลยถามต่อว่า ทราบหรือไม่ว่าในเรื่องหมู่บ้านป่าแหว่งประชาชนเคยร้องเรียนตามวิธีการตามกฎหมายมากกว่า 5 ปี ก่อนที่จะมีสื่อมวลชนไปทำข่าวและเป็นกระแสขึ้นมา พล.ต.วิจารณ์ ตอบทนายว่าไม่ทราบมาก่อน และทนายจำเลยได้ถามถึงเรื่องอุทยานราชภักดิ์ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่าไม่ทราบข้อเท็จจริงเรื่องอุทยานราชภักดิ์ ทนายจำเลยได้ถามว่าพยานเป็นคนแจ้งข้อหากับจำเลยใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ใช่
 
ทนายจำเลย ถามพยานว่า การใช้กำลังทางทหารประทุษร้ายต่อระบอบประชาธิปไตย หรือรัฐประหารนั้นเป็นกบฏหรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่า การใช้กำลังทางทหารประทุษร้ายต่อระบอบประชาธิปไตยไม่เป็นกบฏ ยกเว้นในบางกรณีที่ยึดอำนาจแล้วแพ้ถือว่าเป็นกบฏ ซึ่งของ คสช. เองศาลก็ยังไม่พิพากษาว่าเป็นกบฏ และการยึดอำนาจของ คสช. ในปี 2557 นั้นถูกกฎหมายเนื่องจากมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมรองรับและมีกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ ทนายจำเลยถาม พล.ต.วิจารณ์ ต่อว่าทราบหรือไม่ว่า ในรัฐธรรมนูญ ทั้งปี 2550 และ 2560 มีบทบัญญัติให้ประชาชนปกป้องรัฐธรรมนูญ และปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระทหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเห็นว่าการกระทำใดๆ ก็ตามที่มีกฎหมายในรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้รองรับสามารถทำได้โดยให้อยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ทราบว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
 
ทนายจำเลยถามว่า การยึดอำนาจของ คสช. ทำเพื่อสิ่งใด พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่า การยึดอำนาจของ คสช. ว่ามีเจตนารมณ์ในการยึดอำนาจคือ 1. ยึดอำนาจเพื่อไม่ให้ประเทศเกิดความวุ่นวายและให้เกิดความสงบเรียบร้อย 2. เพื่อการนำประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 
ทนายจำเลย ถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่าประเพณีลอยกระทงนั้นเป็นการลอยเคราะห์ ลอยโศกไปกับสายน้ำ พล.ต.วิจารณ์ ทราบว่าการลอยกระทงนั้นเป็นการลอยเคราะห์ ลอยโศกไปกับสายน้ำ และเห็นว่าจากโพสต์ชวนลอยกระทงดังกล่าว ไม่ใช่เพียงให้ คสช. ออกไปเพื่อขับทุกข์โศก แต่โพสต์นั้นมีเจตนาถึงขั้นขับไล่ให้ คสช. ออกไป และเห็นว่าข้อความในโปสเตอร์ดังกล่าวมีข้อความยุยงปลุกปั่น ทนายจำเลยถามต่อว่าชื่อเพจ เรารัก พล.อ.ประยุทธ์ นั้นทราบหรือไม่ว่า หมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ไหม พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่า ทราบว่าหมายถึง รัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ไม่ทราบว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร
 
ทนายจำเลยถาม พล.ต.วิจารณ์ ว่าการวินิจฉัยว่าข้อความใดเป็นการหมิ่นประมาท หรือยุยงปลุกปั่น มีหลักเกณฑ์อย่างไร พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่า การวินิจฉัยว่าข้อความใดเป็นการหมิ่นประมาท หรือยุยงปลุกปั่น เป็นดุลพินิจของศาล แต่ พล.ต.วิจารณ์ ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา คือ พล.ท.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา ตำแหน่งรองเสนาธิการทหารบก และเป็นหัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจ คสช. และมีผู้บัญชาการสูงสุดคือ ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นเลขานุการ คสช. บังคับบัญชามาอีกที ให้ดำเนินคดีดังกล่าว แต่ผู้บังคับบัญชาไม่ได้เป็นผู้ให้ข้อกล่าวหามา ในส่วนของข้อกล่าวหานั้น พนักงานสอบสวนเป็นคนแจ้งเอง พล.ต.วิจารณ์ มีหน้าที่พียงบอกพฤติการไปเท่านั้น ส่วนการบอกพฤติการจะมีการสรุปความเห็นในด้านกฎหมายก่อนที่จะแจ้งความดำเนินคดี ในขั้นตอนสรุปความเห็นว่าผิดข้อกฎหมายใดนั้น ผู้สรุปความเห็นคือ คณะกรรมการด้านกฎหมายของ คสช. ซึ่ง พล.ต.วิจารณ์ เป็นหนึงในคณะนั้นด้วย เมื่อลงความเห็นกันแล้วจึงนำเรียนผู้บังคับบัญชาแล้วจึงจะมอบอำนาจให้ พล.ต.วิจารณ์ มาฟ้องคดีกับตำรวจ ในส่วนของคดีนี้ทนายถามว่า ในสำนวนไม่มีหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี พล.ต.วิจารณ์ เบิกความว่า จำไม่ได้ว่าในคดีนี้มีหนังสือมอบอำนาจหรือไม่ สิ้นสุดการสืบพยาน

การสืบพยานดำเนินไปจนถึงเวลาเกือบจะ 12.00 น. อัยการทหารแถลงต่อศาลว่าพยานมีราชการตอน 13.00 น. อยากให้ทนายหยุดการถามค้านพยานไว้เพียงเท่านี้ก่อน ทนายของจำเลยที่ 1 จึงถามค้านพยานต่ออีกเล็กน้อยจึงสิ้นสุดการสืบพยานในวันนี้
 
ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ฝ่ายโจทก์ส่งเอกสารเอกสารสำคัญสองฉบับเพิ่มเติม คือ 1. บันทึกการแจ้งข้อกล่าวของตำรวจ 2. ความเห็นของคณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. ว่ามีความเห็นต่อคดีนี้อย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารสำคัญที่โดยปกติโจทก์ต้องแนบเข้ามาในสำนวนแต่แรกอยู่แล้วแต่ในคดีนี้ไม่ได้มีการแนบเข้ามาศาลรับคำร้องของทนายจำเลย
 
โดยคดีนี้นัดครั้งต่อไปยังเป็นนัดสืบพยานโจทก์ปากแรก คือ พลตรีวิจารณ์ จดแตง ต่ออีกสองวัน ในวันที่ 24 สิงหาคม และ 5 กันยายน 2561 เวลา 8.30 น.
 
 
24 สิงหาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย
 
จำเลยทั้งเจ็ดมาถึงห้องพิจารณาคดีที่ 3 ศาลทหารกรุงเทพในเวลาประมาณ 10.00 น. เมื่อจำเลยมาถึงห้องพิจารณาคดีศาลก็ขึ้นบัลลังก์และเริ่มกระบวนพิจารณาทันที สำหรับกระบวนการในนัดนี้เป็นการถามค้านของทนายจำเลยที่หนึ่งต่อ
 
ตอบทนายจำเลยที่หนึ่งถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า คำว่า มอบหมายและมอบอำนาจแตกต่างกันหรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่ามีความแตกต่างกัน ทนายจำเลยถามว่า ในการแจ้งความร้องทุกข์ พล.ต.วิจารณ์มีเอกสารรับมอบอำนาจมาแสดงกับพนักงานสอบสวนหรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ไม่มี พร้อมกล่าวต่อไปว่า คดีอาญาแผ่นดินได้รับมอบหมายก็สามารถร้องทุกข์ได้ ทนายจำเลยถามว่า พล.ต.วิจารณ์ มีส่วนเกี่ยวข้องในการสอบสวนจำเลยที่หนึ่งทั้งหมดหรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ตามเอกสารบันทึกการซักถาม พล.ต.วิจารณ์ไม่ได้เป็นผู้สอบสวนจำเลยที่หนึ่งทั้งหมด ยกเว้นในเอกสารบันทึกการซักถาม หน้า 4-7 ที่ตัวเขาร่วมสอบสวนด้วย โดยเขาได้ลงนามรับรองไว้ในเอกสารดังกล่าวด้วย
 
ทนายจำเลยถามว่า ในการสอบสวน พล.ต.วิจารณ์ไม่ได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา และจำเลยก็ไม่มีทนายความหรือผู้ที่จำเลยไว้ใจอยู่ร่วมกระบวนการด้วยใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า หลังรัฐประหารมีการล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 ใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า เป็นการยกเลิกไม่ใช่ล้มล้าง ทนายจำเลยถามว่า ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มีการรับรองเรื่องสิทธิพลเมืองไว้ด้วยใช่หรือไม่  พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่า ใช่
ทนายจำเลยถามว่า การลอยกระทงถือเป็นประเพณีของไทยใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า ตามภาพในเอกสารท้ายฟ้องภาพล่างซึ่งเป็นภาพกระทงที่ด้านในเป็นหน้าของพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรเป็นเพียงจินตนาการใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่า ใช่ แต่มีนัยของการยุยงปลุกปั่น ข้อความในภาพเป็นข้อความที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับระบอบเผด็จการ ไม่มีข้อความที่ยุยงปลุกปั่นโดยตรง แต่มีลักษณะเป็นการเชิญชวนให้คนมาร่วมงานลอยกระทง
ทนายจำเลยถามว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลังมีการโพสต์ภาพดังกล่าวไม่เคยมีเหตุการณ์รุนแรงใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า มีการออกมาชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง แต่ไม่รุนแรงเนื่องจากสามารถควบคุมได้และไม่ได้มีการกระด้างกระเดื่องเกิดขึ้น
 
ทนายจำเลยถามว่า ในการแจ้งความร้องทุกข์ต่อจำเลยทั้งหมดในคดีนี้ พล.ต.วิจารณ์ตัดสินใจร่วมกับบุคคลใดบ้าง พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่า มีการพูดคุยร่วมกับคณะทำงานด้านกฎหมายของคสช.และมีความเห็นพ้องว่า การกระทำของจำเลยเข้าข่ายการยุยงปลุกปั่น ทนายจำเลยถามว่า ในการประชุมแต่ละครั้งมีหลักฐานการประชุมหรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ที่ผ่านมาประชุมด้วยวาจา ไม่เคยมีการจดบันทึกการประชุมไว้ ไม่มีรายชื่อของคณะกรรมการในเอกสารหลักฐาน
 
 
ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า คณะทำงานด้านกฎหมายที่พล.ต.วิจารณ์กล่าวถึง มีตุลาการศาลทหารเป็นสมาชิกหรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ไม่มีตุลาการศาลทหารเป็นสมาชิกมีเพียงแต่นายทหารพระธรรมนูญเท่านั้น ทนายจำเลยถามต่อว่า ในการแจ้งข้อกล่าวหาต่อจำเลยทั้งแปดคน คณะทำงานมีมติเป็นเอกฉันท์หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ ตอบว่าในการประชุมแต่ละครั้งมีคณะทำงานบางคนเห็นแย้ง ทนายจำเลยถามต่อว่า มติจึงไม่เอกฉันท์ใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้นและอธิบายว่า ในการประชุมแต่ละครั้งมีคณะทำงานบางคนเห็นแย้งก็จริง แต่ในท้ายที่สุดก็มีความเห็นสรุปว่า ควรแจ้งข้อกล่าวหา ทนายจำเลยถามว่า มีการลงมติหรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ไม่มีการลงมติใดๆ
ทนายจำเลยถามว่า พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรคือ รัฐใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ไม่ใช่ ทั้งสองคนเป็นผู้นำรัฐบาล ศาลถามว่า ทนายต้องการถามถึงสิ่งใด ขอให้ถามเข้าประเด็นไปเลย ไม่ให้อ้อมค้อม ทนายจำเลยตอบว่า ต้องการถามเพื่อให้แยกความมั่นคงของรัฐและบุคคลอย่างชัดเจน ศาลย้ำว่าให้ถามเข้าประเด็นไปเลย ศาลบันทึกให้เยอะแล้ว ทนายจำเลยตอบศาลว่าเขาเคยถามความพยานปากนี้ในคดีอื่นๆมาแล้วและจำเป็นต้องถามความในลักษณะนี้
 
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า ตามภาพในเอกสารท้ายฟ้องภาพบนซึ่งเป็นภาพของอนุสาวรีย์ที่อุทยานราชภักดิ์ เขียนว่า อุทยานแดกสะพัด เหตุการฉ้อโกงดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับพ.อ.คชาชาติ บุตรดี คนสนิทของพลเอกอุดมเดข สีตบุตร ใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า เรื่องการฉ้อโกง เห็นว่า ป.ป.ช.ชี้ไม่มีมูลความผิด ทนายจำเลยถามย้ำอีกครั้งว่า พ.อ.คชาชาติมีความเกี่ยวข้องกับพล.อ.อุดมเดชใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ไม่ทราบเพราะตัวเขาไม่สนิทกับพ.อ.คชาชาติ ทนายจำเลยถามต่อว่า กรณีดังกล่าวทำให้พล.ต.วิจารณ์ ต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพล.อ.คชาชาติในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และศาลทหารแห่งนี้เป็นผู้ออกหมายจับใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่ามีการร้องทุกข์จริงแต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดี 112
 
อัยการทหารลุกขึ้นแถลงต่อขอให้ทนายจำเลยรวบรัดคำถามและตัดคำถามเกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีออกไป ทนายจำเลยลุกขึ้นแถลงว่า รายละเอียดเกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์เป็นการแนบภาพตามเอกสารท้ายฟ้อง อัยการทหารแย้งว่า ขอให้ดูที่คำบรรยายฟ้องเท่านั้น ทนายจำเลยตอบว่า หากอัยการทหารยอมถอนภาพนี้ออกจากสำนวนจะไม่ถามคำถามนี้ ไม่เช่นนั้นจะขอให้เป็นดุลพินิจศาล หลังทนายจำเลยแถลงเช่นนั้นศาลหันไปปรึกษากันแล้วแจ้งกับคู่ความว่า ดูเนื้อหาแล้วภาพด้านบนเกี่ยวข้องกับอุทยานราชภักดิ์ส่วนภาพด้านล่างเป็นภาพลอยกระทงหน้าของพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกันอยู่
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า พล.ต.วิจารณ์เห็นภาพลอยกระทงแล้วคิดเห็นอย่างไร พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า มีลักษณะของการยุยงปลุกปั่น ทนายจำเลยให้พล.ต.วิจารณ์ดูภาพข่าวพล.อ.ประยุทธ์ที่กล่าวถึงการปัดเป่าสิ่งอัปมงคลและถามว่า คำว่า อัปมงคลมีความหมายเช่นเดียวกันกับสิ่งที่เขียนในภาพตามฟ้องหรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่าคำดังกล่าวตามภาพหลักฐานหมายถึงสิ่งที่ไม่ดี แต่อัปมงคลที่พล.อ.ประยุทธ์กล่างถึงนั้นตัวเขาไม่แน่ใจว่าเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่
 
เวลา 11.30 น. พล.ต.วิจารณ์แถลงต่อศาลขอเลื่อนไปสืบพยานต่อในไปนัดหน้า เนื่องจากติดเขาภารกิจในช่วงบ่าย  
 
5 กันยายน 2561
ศาลทหารกรุงเทพยกเลิกนัดการสืบพยานโจทก์ในวันนี้ เนื่องจากนพเก้ามีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่บริเวณสกายวอล์ค ปทุมวัน
 
 
6 ธันวาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ผู้กล่าวหา พยานโจทก์ปากที่หนึ่ง
 
ทนายจำเลยที่สองถามค้าน
 

ทนายจำเลยถามว่า ในภาพตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลขสอง ซึ่งเป็นภาพตัดต่อพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรอยู่บนกระทงไม่ได้มีการเขียนข้อความอย่างชัดเจนว่า ให้พลเอกประยุทธ์ และพลเอกประวิตรออกจากตำแหน่ง พล.ต.วิจารณ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยให้พล.ต.วิจารณ์ดูภาพข่าวที่เสนอภาพล้อเลียนผู้นำในประเทศเช่น อเมริกา และรัสเซีย และถามว่า ภาพล้อเลียนเป็นเรื่องที่ในสังคมประชาธิปไตยกระทำกันใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ขึ้นอยู่กับกรอบของกฎหมายของแต่ละประเทศ ทนายจำเลยถามใหม่อีกครั้งว่า คำถามไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมายของแต่ละประเทศ แต่พล.ต.วิจารณ์รับตามเอกสารดังกล่าวหรือไม่ว่า มีการตัดต่อภาพล้อเลียน พล.ต.วิจารณ์รับเอกสารดังกล่าว แต่จะมีการฟ้องร้องหรือไม่นั้นไม่อาจทราบได้ ทนายจำเลยนำส่งต่อศาลเป็นพยานหลักฐานในคดี
 
ทนายจำเลยถามว่า พล.ต.วิจารณ์ไม่เคยเห็นภาพตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลขสอง ซึ่งเป็นภาพตัดต่อพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรอยู่บนกระทงมาก่อน จนกระทั่งวันที่ 27 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งแปดคนถูกควบคุมตัวแล้วใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า หลังจากมีการโพสต์ภาพดังกล่าวจนถึงปัจจุบันไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น พล.ต.วิจารณ์รับว่า ไม่มี มีเพียงการชุมนุมบ้างประปราย
 
ทนายจำเลยถามว่า ในการควบคุมตัวจำเลยทั้งแปดคนไปสอบสวนในค่ายทหารมีการคลุมปิดใบหน้าของจำเลยด้วยใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ทราบว่า ไม่มีการกระทำดังกล่าว ทนายจำเลยถามว่า ใครเป็นผู้เล่าให้ฟัง พล.ต.วิจารณ์ไม่ตอบ เมื่อทนายจำเลยถามย้ำอีกครั้ง อัยการโจทก์จึงค้านว่า คำถามเกี่ยวข้องกับการจับกุม แต่พยานปากนี้เป็นพยานผู้กล่าวหา ขอให้ทนายจำเลยไปถามเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม ทนายจำเลยชี้แจงว่า จำเป็นต้องถามเพื่อเปิดประเด็นคำถามไว้ ทนายจำเลยถามว่า การคลุมหน้าเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อสร้างความหวาดกลัวใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ไม่ใช่ ที่ทำไปเพราะอยากได้ข้อมูล
 
ทนายจำเลยถามว่า พล.ต.วิจารณ์ได้ร่วมสอบปากคำจำเลยที่สองใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ใช่ โดยมีการลงนามไว้ในหน้าที่สิบของบันทึกการซักถามจำเลยที่สอง ทนายจำเลยถามว่า ในการซักถามมีทหารจำนวนมากมาอยู่ที่บริเวณซักถามใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ไม่ใช่แบบนั้น จะอธิบายให้ฟังว่า ห้องที่ซักถามเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ และนำที่กั้นมาแบ่งซอยเป็นห้องย่อยๆ ภายในห้องมีทหารไม่กี่คน และมีทหารที่รักษาความปลอดภัยอยู่ด้วย ทนายจำเลยถามว่า ในบันทึกการซักถามจำเลยที่สอง หน้า 14-20 ซึ่งเป็นเนื้อหาจากข้อมูลคอมพิวเตอร์ พล.ต.วิจารณ์ไม่ได้เป็นผู้ตรวจสอบใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ใช่ ตนไม่ได้เป็นผู้ตรวจคอมพิวเตอร์ แต่ฝ่ายข่าวเป็นผู้ตรวจพบ
 
ทนายจำเลยถามว่า ก่อนสอบปากคำในค่ายทหาร เจ้าหน้าที่มีการตรวจร่างกายจำเลยก่อนใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ใช่ เป็นการตรวจโดยแพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และหลังจากที่ส่งตัวให้ตำรวจ จะมีแพทย์จากฝ่ายตำรวจมาตรวจร่างกายซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

เวลา 11.00 น. ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม ศาลสอบถามว่า ในช่วงบ่ายทนายจำเลยทั้งหมดติดภารกิจจึงไม่สามารถสืบพยานต่อใช่หรือไม่ ทนายจำเลยตอบว่า ใช่ ศาลจึงนัดหมายให้มาสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 21 ธันวาคม 2561
 
 
21 ธันวาคม 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
เวลา 09.00 น. ทนายจำเลยและจำเลยเดินทางมาถึงศาลทหารกรุงเทพ ในวันนี้ทนายจำโดยไม่สามารถติดต่อจำเลยที่สามนพเก้า และ จำเลยที่เจ็ดกัณสิทธิ์ ได้  ระหว่างที่รอ ให้จำเลยทุกคนมาศาลอัยการทหารเดินมาแจ้งว่าขณะนี้ พยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พล.ต.วิจารณ์ จดแตง มาถึงแล้ว ให้จำเลยเตรียมตัว เนื่องจากจำเลยเดินทางมาศาลไม่ครบ ทนายจำเลยจึงปรึกษากับจำเลยที่อยู่ในห้องพิจารณาทั้งหมดว่าจะดำเนินการอย่างไรและได้ข้อสรุปว่า จะขอให้ศาลเลื่อนการสืบพยานออกไป
 
เวลา 10.00 น. ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาคดี ทนายจำเลยแถลงว่าเนื่องจากจำเลยที่สามและจำเลยที่เจ็ดเกิดขัดข้องทำให้ไม่สามารถมาศาลได้ ขอให้ศาลมีการเลื่อนสืบพยานนี้ ศาลสอบอัยการทหารไม่ค้าน  จึงให้ทั้งสองฝ่ายตกลงนัดหมายกัน ทั้งสองฝ่ายร่วมกันกำหนดวันนัดใหม่ในวันที่ 11 มีนาคม 2562 เวลา 08.30 น. 
 
 
11 มีนาคม 2562

นัดสืบพยานโจทก์

25 กรกฎาคม2562
นัดสืบพยานโจทก์

9.00 น. จำเลยทั้งเจ็ดคนพร้อมด้วยวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลยทยอยเดินทางมาที่ศาลทหารกรุงเทพจนกระทั่งเวลา 10.00 น. จึงขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดีที่สาม ต่อมาเวลาประมาณ 10.15 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ อัยการโจทก์แถลงต่อศาลว่า วันนี้พลตรีวิจารณ์ จดแตง พยานโจทก์มาศาล ตุลาการท่านหนึ่งจึงกล่าวยิ้มๆว่า วิจารณ์เขาเป็นพลเอกแล้วนะ  วิญญัติทนายจำเลยกล่าวว่าผมเจอท่านวิจารณ์ตั้งแต่ปี 2553 รู้จักกันตั้งแต่ยังเป็นพันเอกอยู่เลย ตุลาการท่านดังกล่าวจึงตอบว่า "นี่ไงเขาเป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์"

จากนั้นก่อนจะเริ่มสืบพยานศาลแจ้งว่า คดีนี้จะต้องโอนย้ายไปที่ศาลยุติธรรมก่อนจะเรียกชื่อจำเลยทีละคนจนครบเจ็ดคนแล้วถามว่า ณัฏฐิกาจำเลยอีกคนหนึ่งในคดีนี้ยังหลบหนีอยู่ใช่หรือไม่? วิญญัติ ทนายจำเลยรับว่าใช่

ศาลอ่านกระบวนพิจารณาคดีว่าเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งของคสช. ที่หมดความจำเป็น กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้งดการสืบพยานจำเลยในวันนี้และงดการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมกับจำหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้ ให้มีหนังสือไปสำนักงานศาลยุติธรรมสัญญาประกันให้มีผลต่อไป

เสร็จสิ้นการพิจารณาคดีในวันนี้ คดีนี้ใช้เวลาในศาลทหารนานสี่ปี โดยที่สืบพยานไม่เสร็จแม้แต่ปากเดียว
 
18 พฤศจิกายน 2562
 
อัยการนัดฟ้องคดี หลังจากคดีถูกโอนย้ายมาจากศาลทหารกรุงเทพ
 
27 มกราคม 2563
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
 
16 มีนาคม 2563 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
23 มีนาคม 2563
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2564
 
ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์และจำเลย แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้การสืบพยานต้องเนิ่นช้าออกไปเป็นปี 2565 
 
21 กันยายน 2565
นัดสืบพยานโจทก์
 
7 ตุลาคม 2565
นัดสืบพยานโจทก์
 
2 พฤศจิกายน 2565
นัดสืบพยานจำเลย
 
4 พฤศจิกายน 2565 
นัดฟังคำพิพากษา
 
เวลา 13.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 813 ทนายจำเลยและจำเลยทยอยเดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดี นอกจากนี้ยังมีนพ. ทศพร เสรีรักษ์และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ รวมถึงสมณดาวดินและกลุ่มผู้ชุมนุมมาติดตามฟังคำพิพากษาด้วย เมื่อถึงเวลานัดหมายในเวลา 13.30 น. อัยการโจทก์และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาพร้อมที่ห้อง ขาดแต่เพียงหฤษฎ์ จำเลยที่แปด เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ขอให้ทนายจำเลยและจำเลยช่วยกันติดตามหฤษฎ์เพื่อมาฟังคำพิพากษา แต่ไม่สามารถติดต่อได้ 
 
จนกระทั่งเวลา 14.25 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์และกล่าวทำนองว่า คดีนี้ศาลพยายามจะทำให้ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอย เป็นคดีที่ต้องปรึกษาระดับอธิบดีแต่ประเด็นที่ปรึกษาเป็นเรื่องระยะเวลาที่ยาวนานของคดีนี้ที่เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 ซึ่งเป็นเหตุสืบเนื่องจากการลอยกระทงปี 2558  ด้วยเหตุนี้ศาลพยายามพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วและคำพิพากษาที่เร่งทำอย่างเต็มที่หลังจากที่ศาลเพิ่งสืบพยานปากสุดท้ายเสร็จเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 แต่ท้ายที่สุดไม่สามารถอ่านได้ในวันนี้
 
หลังจากพูดคุยกันครู่หนึ่ง ศาลจึงบันทึกกระบวนพิจารณาคดีระบุว่า นัดฟังคำพิพากษา ศาลสั่งจำหน่ายคดีของณัฏฐิกา จำเลยที่หนึ่งซึ่งหลบหนีไปก่อนหน้า ทนายความของหฤษฎ์ จำเลยที่แปดไม่สามารถติดต่อหฤษฎ์ได้ เมื่อหฤษฎ์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องถือว่า มีพฤติการณ์หลบหนี ให้ออกหมายจับเพื่อมาฟังคำพิพากษา นายประกันไม่สามารถส่งตัวจำเลยที่แปดตามนัดถือว่า ผิดสัญญาประกัน ให้ปรับเต็มตามสัญญาประกัน  และให้เลื่อนไปฟังคำพิพากษาวันที่ 15 ธันวาคม 2565 เวลา 9.00 น. พร้อมกำชับว่า ระหว่างที่ศาลออกหมายจับ ถ้าติดตามพากันมาได้ให้มาที่ศาลและยื่นคำร้องให้ศาลออกนั่งพิจารณาคดี
 
เวลาประมาณ 18.00 น. ได้รับแจ้งว่า สามารถติดต่อจำเลยที่แปดได้แล้วและจะไปฟังคำพิพากษาที่ศาลอีกครั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 เวลา 9.00 น.
 
7 พฤศจิกายน 2565
นัดฟังคำพิพากษา

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา