ฐิตารีย์: แปะโพสต์อิทบนสกายวอล์ก

อัปเดตล่าสุด: 30/01/2560

ผู้ต้องหา

ฐิตารีย์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีแขวง 4

สารบัญ

เย็นวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 ฐิตารีย์ร่วมทำกิจกรรมโพสต์-สิทธิ กับกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่สกายวอล์ค สถานีบีทีเอสช่องนนทรีเพื่อเรียกร้องให้ประชาชนต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องให้ปล่อยตัวแอดมินเพจเรารักพล.อ.ประยุทธทั้งแปดคนที่ถูกควบคุมตัว

เมื่อสิรวิชญ์ นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับซึ่งถูกดำเนินคดีในความผิดฐานทิ้งสิ่งปฏิกูลในที่สาธารณะจากกิจกรรมเดียวกันโปรยกระดาษโพสต์อิทลงบนพื้น ฐิตารีย์ก็เก็บกระดาษมาเขียนข้อความแล้วติดบนเสาของสกายวอลค์ เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวไปที่สน.ทุ่งมหาเมฆก่อนจะตั้งข้อหาติดใบปลิวในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต เบื้องต้นฐิตารีย์ให้การปฏิเสธและขอสู้คดีในชั้นศาล ศาลแขวงพระนครใต้นัดสืบพยานคดีนี้ระหว่างวันที่ 9 – 11 พฤศจิกายน 2559 หลังการสืบพยานเสร็จสิ้นศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 27 ธันวาคม 2559 เวลา 13.30 น.

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ฐิตารีย์ขณะถูกจับกุมอายุ 60 ปี อาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี ประกอบอาชีพค้าขาย ก่อนถูกจับในคดีนี้เคยร่วมชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นักศึกษาที่ถูกจับกุมจากการทำกิจกรรมทางการเมือง

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ฐิตารีย์เขียนข้อความบนกระดาษโพสต์อิทแล้วนำไปปะบนทางเดินสกายวอล์คสถานีบีทีเอสช่องนนทรีย์ เข้าข่ายเป็นความผิดฐานปิดข้อความโฆษณาในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ

พฤติการณ์การจับกุม

ฐิตารีย์ถูกนำตัวมา สน. ทุ่งมหาเมฆ หลังติดโพสต์อิทในกิจกรรม ‘โพสต์-สิทธิ’ ซึ่งเป็นกิจกรรมเขียนข้อความ – ติดกระดาษโพสต์อิทของกลุ่มพลเมืองโต้กลับเพื่อเรียกร้องให้คสช.ปล่อยตัวแปดแอดมินเพจเรารักพล.อ.ประยุทธที่ถูกทหารบุกจับกุมตัวในช่วงเช้าวันที่ 27 เมษายน 2558 หลังถูกตั้งข้อกล่าวหาฐิตารีย์ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางเงินประกัน

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

1620 / 2559

ศาล

ศาลแขวงพระนครใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

1 พฤษภาคม 2559

มติชนออนไลน์ รายงานว่า ในเวลา16.00 น. กลุ่มพลเมืองโต้กลับนัดหมายประชาชนทำกิจกรรม “โพสต์-สิทธิ” ร่วมเขียนข้อความประกาศเสรีภาพของประชาชนที่สกายวอร์คสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี

ในช่วงเวลาใกล้ๆกับเวลานัดหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ยานนาวา และ สน.ทุ่งมหาเมฆ วางกำลังหนึ่งกองร้อยในบริเวณสกายวอล์คและนำรั้วเหล็กมาปิดล้อมลานที่ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับนัดทำกิจกรรม โดยเว้นช่องทางส่วนหนึ่งให้ประชาชนสัญจรไปมา นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วในบริเวณสถานที่นัดหมายยังมีเจ้าหน้าที่จากองค์การสหประชาชาติมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ในเวลาต่อมา ฐิตารีย์หนึ่งในผู้ชุมนุมถูกนำไปที่ สน. ทุ่งมหาเมฆหลังเขียนข้อความลงบนกระดาษโพสต์อิทแล้วนำไปติดบนเสาของสกายวอล์ก บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรี

ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ในเวลา 16.30 น. ที่ห้องศูนย์ปฎิบัติการสน.ทุ่งมหาเมฆ พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม ผบก.น.5 พร้อมด้วย พ.ต.ท.ณรงค์ ยิ้มปั่น รอง ผกก. (สอบสวน) สน.ทุ่งมหาเมฆ พ.ต.ท.สุธี เสน่ห์ลักษณา รอง ผกก.ป.สน.ทุ่งมหาเมฆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทุ่งมหาเมฆ ร่วมกันควบคุมตัว ฐิตารีย์ มาทำการสอบสวนเพิ่มเติมภายหลังร่วมกิจกรรม "โพสต์-สิทธิ" ที่บริเวณสกายวอล์กสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี โดยมีอานนท์ นำภา และกิตติธัช สุมาลย์นพ หรือแชมป์ 1984 เข้าร่วมรับฟังในครั้งนี้อีกด้วย

การสอบสวนใช้เวลานานกว่าห้าชั่วโมง โดยระหว่างนั้นบริเวณด้านหน้าสน.ทุ่งมหาเมฆมีประชาชนพร้อมด้วยสื่อมวลชนมาเฝ้าติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าประมาณ 100 คน

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาแก่ฐิตารีย์ในข้อหา "โฆษณาด้วยการปิด ทิ้ง หรือโปรยแผ่นประกาศ หรือใบปลิวที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต" แต่ฐิตารีย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

5 กรกฎาคม 2559

นัดสอบคำให้การ

ศาลแขวงพระนครใต้นัดฐิตารีย์สอบคำให้การ ฐิตารีย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลนัดสืบพยานวันที่ 9 – 11 พฤศจิกายน 2559
 
9 พฤศจิกายน 2559

นัดสืบพยานโจทก์

สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง ร.ต.อ. บุญทัน ศรีสุภานนท์ ผู้ทำการจับกุม

ศาลนัดสืบพยานคดีนี้เป็นวันแรก ในห้องพิจารณาคดีนอกจากคู่ความแล้วมีเพียงเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจำนวนสองคนและเจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนอีกหนึ่งคนมาร่วมฟังการพิจารณาคดี ต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาคดี พยานโจทก์ปากที่หนึ่งคือ ร.ต.อ.บุญทัน ศรีสุภานนท์ ผู้ทำการจับกุม เขาเบิกความต่อศาลว่า ปัจจุบันรับราชการตำรวจอยู่ที่กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท แต่ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 ขณะที่เกิดเหตุคดีนี้ เขารับราชการอยู่ที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 5

ร.ต.อ.บุญทันเบิกความตอบคำถามอัยการว่า ในวันเกิดเหตุได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาว่าจะมีผู้มาเรียกร้องสิทธิที่บริเวณทางเดินสกายวอล์ค สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรี ให้ร.ต.อ.บุญทันไปดูแลความปลอดภัยและดูแลจับกุมผู้กระทำความผิด อัยการถามต่อว่า ผู้ชุมนุมเรียกร้องสิทธิจากใคร ร.ต.อ.บุญทันตอบว่า เรียกร้องจากคสช.และรัฐบาล ต่อมา ร.ต.อ. บุญทัน เดินทางไปถึงที่เกิดเหตุในเวลาประมาณ 16.40 น. ซึ่งในที่เกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่มาประจำการเพื่อดูแลความสงบและสังเกตการณ์จากหลายหน่วยงานประมาณ 30 – 40 คน สำหรับตัว ร.ต.อ.บุญทันยืนประจำการอยู่ติดกับกลุ่มผู้ชุมนุม

เวลาประมาณ 17.00 น. ผู้ชุมนุมเริ่มเอากระดาษกระดาษโพสต์อิทติดบริเวณเสาและราวสะพานของสกายวอล์ค สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรี เมื่อมีการติดกระดาษโพสต์อิทเป็นจำนวนมาก ผู้บังคับบัญชาของ ร.ต.อ. บุญทัน จึงพูดกับผู้ชุมนุมว่าไม่ให้ติดแล้ว ผู้ชุมนุมบางส่วนเมื่อได้ยินคำสั่งก็หยุดการติดกระดาษโพสต์อิท แต่ก็มีบางส่วนที่ยังคงติดกระดาษโพสต์อิทต่อไป รวมทั้ง ฐิตารีย์ จำเลยในคดีนี้ ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับบริเวณที่ร.ต.อ.บุญทันยืนประจำการอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้บังคับบัญชาของร.ต.อ.บุญทันจึงสั่งให้เชิญตัวจำเลยไปสน.ทุ่งมหาเมฆ อัยการให้ร.ต.อ.บุญทันชี้ว่าในห้องพิจารณาคดีมีจำเลยนั่งอยู่ด้วยหรือไม่ ร.ต.อ.บุญทันตอบว่าอยู่ด้วยและหันมาชี้ตัวให้ดู

ศาลถาม ร.ต.อ.บุญทันขณะทำการจับกุมจำเลยกำลังติดกระดาษโพสต์อิทอยู่ใช่หรือไม่ ร.ต.อ. บุญทันรับว่าใช่ ศาลถามต่อว่าข้อความที่เขียนคือคำว่าอะไร ร.ต.อ.บุญทันรับว่า จำข้อความไม่ได้ ทราบแต่เพียงเป็นข้อความเรียกร้องสิทธิหรือขอให้ปล่อยประชาชน อัยการถามต่อว่า ในที่เกิดเหตุมีผู้ที่ติดกระดาษโพสต์อิทจำนวนมาก เหตุใดจึงจับกุมจำเลยแต่เพียงคนเดียว ร.ต.อ.บุญทันตอบว่าเป็นเพราะจำเลยติดกระดาษโพสต์อิทต่อหน้า ร.ต.อ.บุญทันจึงทำการเชิญตัว

อัยการให้ร.ต.อ.บุญทันดูภาพถ่ายกระดาษโพสต์อิทสีชมพูสองแผ่นและถามว่าเป็นภาพถ่ายกระดาษโพสต์อิทของจำเลยซึ่งร.ต.อ.บุญทันลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นของกลางในคดีนี้ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.บุญทัน รับว่าใช่ ทนายจำเลยลุกขึ้นแถลงคัดค้านว่าอัยการไม่ได้อ้างส่งเอกสารในนัดตรวจพยานหลักฐาน แต่ศาลบอกว่า ได้บันทึกให้แล้วในนัดตรวจพยานหลักฐานและให้อัยการถามคำถามต่อ อัยการถามต่อว่า ร.ต.อ.บุญทันเชิญตัวจำเลยไปทีใด ร.ต.อ.บุญทันตอบว่า เชิญตัวไปที่ สน.ทุ่งมหาเมฆเพื่อทำบันทึกการจับกุม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถาม ร.ต.อ.บุญทันว่ารับราชการตำรวจมากี่ปีแล้ว ร.ต.อ.บุญทันรับว่า 24 ปี ทนายจำเลยถามต่อว่าที่ ร.ต.อ.บุญทันเชิญตัวจำเลยมาที่สน. ใครเป็นผู้ร้องทุกข์ให้จับกุม ร.ต.อ.บุญทันตอบว่า ไม่มีผู้ใดร้องทุกข์ ทนายจำเลยจึงถามว่าที่เชิญตัวจำเลยไปที่สน.โดยยังไม่มีข้อกล่าวหาแล้วไปทำบันทึกการจับกุม ร.ต.อ.บุญทันใช้อำนาจตามกฎหมายใด ระหว่างที่ทนายจำเลยกำลังถามประเด็นนี้ ศาลก็ถามสรุปว่าร.ต.อ.บุญทันทำการเชิญตัวเพราะเห็นจำเลยทำความผิดซึ่งหน้าใช่หรือไม่ ร.ต.อ.บุญทันรับว่าใช่ ทนายถามต่อว่าในการเชิญตัวจำเลย ร.ต.อ.บุญทันใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯหรืออำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร.ต.อ.บุญทันตอบว่า อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ทนายจำเลยถามร.ต.อ.บุญทันว่า ตลอดเวลาที่รับราชการมาเคยจับกุมตัวบุคคลด้วยความผิดตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดหรือไม่ ร.ต.อ.บุญทันตอบว่าไม่เคย ทนายจำเลยย้อนถามไปถึงสภาพที่เกิดเหตุว่ามีการกั้นแผงเหล็กสีเหลืองบริเวณที่จะมีการชุมนุมใช่หรือไม่ ร.ต.อ.บุญทันตอบว่าเป็นการกั้นเพื่อแยกผู้ชุมนุมและผู้สัญจรไปมา ทนายจำเลยถาม ร.ต.อ.บุญทันว่าที่เบิกความกับอัยการว่าผู้บังคับบัญชาสั่งให้ประชาชนหยุดติดกระดาษโพสต์อิท เป็นการสั่งผ่านเครื่องขยายเสียงหรือไม่ ร.ต.อ.บุญทันตอบว่าเป็นการสั่งด้วยเสียงปกติ ไม่ได้ใช้เครื่องขยายเสียง

ทนายจำเลยจึงถามร.ต.อ.บุญทันว่าที่ผู้ชุมนุมไม่หยุดการติดกระดาษโพสต์อิทเป็นเพราะไม่ได้ยินคำสั่งใช่หรือไม่ ร.ต.อ.บุญทันตอบว่า ไม่ทราบว่าที่ผู้ชุมนุมไม่หยุดเป็นเพราะอะไรแต่ทราบว่ามีหลายส่วนที่หยุด ทนายจำเลยถามต่อว่าในวันเกิดเหตุนอกจากประชาชนและผู้สื่อข่าวแล้ว ในพื้นที่มีทหารในเครื่องแบบประจำการด้วยหรือไม่ ร.ต.อ.บุญทันตอบว่าไม่มี ทนายจำเลยถามต่อว่าแต่มีทหารนอกเครื่องแบบยืนปะปนอยู่ด้วยใช่หรือไม่ ร.ต.อ.บุญทันตอบว่ามียืนสังเกตการณ์รักษาความสงบ

ทนายจำเลยถามต่อว่า จำเลยเขียนข้อความว่าอะไร ร.ต.อ.บุญทันตอบว่าจำข้อความไม่ได้ ทนายจำเลยถามว่าในบริเวณนั้นมีคนอยู่ใกล้กับจำเลยหลายคน เหตุใดจึงจับจำเลยเพียงคนเดียว ร.ต.อ.บุญทันตอบว่า หลังผู้บังคับบัญชามีคำสั่ง ผู้ชุมนุมหลายคนก็หยุดติดกระดาษโพสต์อิท แต่จำเลยซึ่งยืนห่างออกไปประมาณสองเมตรและน่าจะได้ยินคำสั่งกลับยังติดกระดาษโพสต์อิทต่อไป ทนายจำเลยถามต่อว่า ร.ต.อ.บุญทันทราบถึงพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯหรือไม่ ร.ต.อ.บุญทันรับว่าพอจะทราบอยู่บ้าง ทนายจำเลยถามต่อว่าร.ต.อ.บุญทันทราบหรือไม่ ตามพ.ร.บ.นี้หากผู้กระทำความผิดนำแผ่นกระดาษที่ติดออกตามคำสั่งเจ้าพนักงานให้ถือว่าคดีเป็นอันเลิกต่อกัน ร.ต.อ.บุญทันตอบว่า ไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามต่อว่า หลังผู้บังคับบัญชาของร.ต.อ.บุญทันสั่งให้ผู้ชุมนุมหยุดติดกระดาษโพสต์อิทแล้ว มีผู้ชุมนุมตะโกนกลับมาว่าเดี๋ยวเอาออกให้ ร.ต.อ.บุญทันตอบว่าไม่ได้ยิน ทนายจำเลยให้ร.ต.อ.บุญทันดูข้อความ "ปล่อยปชช" ซึ่งหมายถึงปล่อยประชาชนที่อยู่ในกระดาษโพสต์อิทที่อัยการนำส่งศาลและถามว่าข้อความนี้มีลักษณะเป็นการโฆษณาหรือไม่ ร.ต.อ.บุญทันตอบว่า ในความเห็นของตนเห็นว่าเป็นการโฆษณา ทนายจำเลยถาม ร.ต.อ.บุญทันว่า การโฆษณาหมายถึงอะไร ร.ต.อ.บุญทันตอบว่าหมายถึงการป่าวประกาศให้คนทราบโดยทั่วกัน โดยข้อความบนกระดาษโพสต์อิท ร.ต.อ.บุญทันเห็นว่าต้องการประกาศให้รัฐบาลและประชาชนทั่วไปรับทราบ

ทนายจำเลยให้ร.ต.อ.บุญทันดูภาพถ่ายและให้ยืนยันว่าในภาพถ่ายที่เป็นหลักฐานของโจทก์มีภาพจำเลยหรือไม่ ร.ต.อ.บุญทันตอบว่ามีภาพจำเลยเป็นคนสวมหมวกปีกกว้าง แม้ภาพถ่ายจะไม่ชัดแต่ตนยืนยันว่าเป็นจำเลย เพราะวันเกิดเหตุตนอยู่กับจำเลยตลอดเวลาและเป็นคนพาจำเลยไปเข้าห้องน้ำจึงจำได้ ทนายจำเลยให้ร.ต.อ.บุญทันยืนยันว่ากระดาษที่จำเลยแปะเป็นสีชมพู ร.ต.อ.บุญทันเบิกความยืนยันว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่า แต่ตามภาพที่อัยการอ้างส่งต่อศาลจำเลยกำลังเขียนข้อความไม่ใช่ติดกระดาษ ร.ต.อ.บุญทันตอบว่า จำเลยเป็นผู้ติดกระดาษกระดาษโพสต์อิท แต่ไม่มีภาพถ่ายขณะที่จำเลยกำลังติด ทนายจำเลยถามว่า ร.ต.อ.บุญทันทราบหรือไม่ว่าเจตนาที่จำเลยนำกระดาษโพสต์อิทไปติดคืออะไร ร.ต.อ.บุญทันตอบว่าไม่ทราบ น่าจะเป็นการเรียกร้องความสนใจจากประชาชน

ทนายจำเลยถามต่อว่า เป็นเรื่องการเมืองใช่หรือไม่ ศาลถามทนายจำเลยว่า คำว่า "การเมือง" หมายถึงอะไรเพราะเป็นคำที่แต่ละคนให้ความหมายไม่เหมือนกัน ทนายจำเลยกล่าวว่าในความเข้าใจของเขาหมายถึงการเรียกร้องกับผู้มีอำนาจซึ่งกรณีนี้เป็นการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ จากนั้นทนายจำเลยจึงถามร.ต.อ.บุญทันอีกครั้งว่าข้อความที่จำเลยติดเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ ร.ต.อ.บุญทันตอบว่าเป็นข้อความเรียกร้องที่ส่งถึงรัฐบาลและประชาชนทั่วไปแต่จะเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ ไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามร.ต.อ.บุญทันว่ามีการตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือบนกระดาษโพสต์อิทเพื่อยืนยันว่าเป็นของจำเลยหรือไม่ ร.ต.อ.บุญทันตอบว่าไม่ทราบว่ามีการตรวจหรือไม่ ศาลถามทนายจำเลยถึงประเด็นการสู้คดีโดยชี้ว่า คดีนี้หากต้องการสู้เพื่อพิสูจน์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิที่จะทำได้หรือไม่ก็ควรยอมรับข้อเท็จจริงว่า เป็นคนติด หากมาต่อสู้เรื่องการพิสูจน์ลายนิ้วมือ แม้ศาลจะยกฟ้องแต่ก็จะไม่มีการวินิจฉัยว่าตกลงการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิที่จะกระทำได้หรือไม่ เท่ากับว่า การสู้คดีครั้งนี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร จากนั้นศาลก็แจ้งว่าจะไม่บันทึกในประเด็นนี้

ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการไม่ถามติง ศาลจึงให้นำพยานปากที่สองเข้าสืบโดยก่อนการสืบพยานศาลถามทนายจำเลยว่าจะรับข้อเท็จจริงที่พยานปากนี้ให้การในชั้นสอบสวนได้หรือไม่เพราะเป็นพยานผู้ทำการจับกุมจึงน่าจะเบิกความประเด็นเดียวกับพยานปากที่หนึ่งเพื่อจะได้ไม่เสียเวลา อย่างไรก็ตามทนายจำเลยแถลงติดใจจะสืบพยานปากนี้ศาลจึงให้อัยการนำพยานเข้าเบิกความ

สืบพยานโจทก์ปากที่สอง ด.ต.มล.วรชัย ชยางกูร ผู้ทำการจับกุม

ด.ต.มล.วรชัย ชยางกูร ผู้ทำการจับกุม เบิกความต่อศาลว่า ปัจจุบันรับราชการตำรวจอยู่ที่สน.ทุ่งมหาเมฆ แต่ในวันเกิดเหตุ 1 พฤษภาคม 2559 รับราชการฝ่ายสืบสวนที่สน.ทุ่งมหาเมฆ มีหน้าที่สืบสวนและผู้กระทำความผิดคดีอาญาทั่วไป วันดังกล่าวผู้บังคับบัญชาบอกกับตนว่าจะมีกลุ่มบุคคลมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิ (ในการเบิกความด.ต.มล.วรชัยใช้คำว่ามาแสดงสิทธิ) ที่สกายวอล์ค สถานีบีทีเอสช่องนนทรี ตนจึงได้รับคำสั่งให้ร่วมกับชุดปฏิบัติการของร.ต.อ.บุญทัน พยานโจทก์ปากที่หนึ่งไปประจำการในที่เกิดเหตุโดยเดินทางไปถึงในเวลาประมาณ 16.50 น.

ด.ต.มล.วรชัยเบิกความถึงสภาพที่เกิดเหตุว่า เมื่อไปถึงพบกลุ่มคนประมาณ 50 คน ยืนกระจายในพื้นที่ หลายคนจับกลุ่มคุยกันแต่จะคุยอะไรไม่ทราบ นอกจากนั้นก็เห็นว่ามีบางคนให้สัมภาษณ์สื่อขณะที่บางคนนำกระดาษกระดาษโพสต์อิทไปติดที่เสา อัยการถาม ด.ต.มล.วรชัยว่า ทราบหรือไม่ว่าคนที่มารวมตัวมาเพราะเหตุใด ด.ต.มล.วรชัยตอบว่ามาเรียกร้องสิทธิเรื่องที่มีคนถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับตัวไป

ด.ต.มล.วรชัยเบิกความว่า ประมาณ 17.00 น. มีคนในบริเวณลานสกายวอร์คหนาแน่นขึ้น ป้ายที่ติดก็มีมากขึ้น ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งผู้ชุมนุมด้วยวาจาว่าให้หยุดติดกระดาษโพสต์อิทเพราะทำให้สกปรก หลังได้ยินคำสั่งผู้ชุมนุมบางส่วนก็หยุดติดกระดาษโพสต์อิท แต่บางส่วนยังติดต่อไปรวมถึงจำเลย จึงเชิญตัวจำเลยไปที่สน.ทุ่งมหาเมฆ โดยที่ด.ต.มล.วรชัยไม่เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน

อัยการแถลงหมดคำถาม ศาลจึงถามด.ต.มล.วรชัยว่าเมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งให้หยุดติดกระดาษโพสต์อิทแล้วมีคนหยุด ด.ต.มล.วรชัยเข้าใจว่าเหตุใดคนเหล่านั้นจึงหยุด เขาตอบว่าน่าจะหยุดดูว่าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามด.ต.มล.วรชัยว่า รับราชการตำรวจมากี่ปี และตลอดเวลาที่รับราชการเคยจับกุมผู้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯมาก่อนหรือไม่ ด.ต.มล.วรชัยเบิกความว่ารับราชการตำรวจมาเกือบ 25 ปีแล้ว และยังไม่เคยจับกุมผู้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯมาก่อน ทนายจำเลยถามต่อว่าในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจทหารในและนอกเครื่องแบบกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรมใช่หรือไม่ ด.ต.มล.วรชัยเบิกความว่ามีการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจากหลายหน่วย โดยทนายจำเลยถามต่อว่านอกจากเจ้าหน้าที่แล้วก็มีผู้สื่อข่าวอยู่ในพื้นที่การชุมนุมด้วยใช่หรือไม่ ด.ต.มล.วรชัยตอบว่าเห็นว่ามีผู้สื่อข่าวแต่ไม่ทราบว่ามาจากสำนักข่าวใดบ้าง

ทนายจำเลยถาม ด.ต.มล.วรชัยว่าทราบหรือไม่ว่าเป็นเพราะมีเหตุการณ์ใดจึงมีการมาชุมนุมกัน ด.ต.มล.วรชัยเบิกความว่า ทราบจากการรายงานข่าวของสื่อว่าผู้ชุมนุมมาเรียกร้องกรณีเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมบุคคล ทนายจำเลยถาม ด.ต.มล.วรชัยว่าทราบข่าวว่าจะมีการจัดชุมนุมครั้งนี้จากที่ใด ด.ต.มล.วรชัยตอบว่าทราบมาจากเฟซบุ๊ก ทนายจำเลยนำภาพการประชาสัมพันธ์กิจกรรมซึ่งเผยแพร่บนเฟซบุ๊กของกลุ่มพลเมืองโต้กลับมาให้ด.ต.มล.วรชัยดูแล้วถามว่าเคยเห็นหรือไม่ ด.ต.มล.วรชัยปฏิเสธว่าไม่เคย

ทนายจำเลยนำภาพเอกสารกระดาษโพสต์อิทสีชมพูพร้อมข้อความซึ่งอัยการอ้างส่งต่อศาลมาให้ด.ต.มล.วรชัยดูแล้วถามว่าข้อความดังกล่าวเขียนว่าอะไร ด.ต.มล.วรชัยตอบว่าเขียนว่า "ปล่อยปชช" ทนายจำเลยถามต่อว่าข้อความดังกล่าวมีลักษณะแตกต่างจากข้อความเชิญชวนสมัครบัตรเครดิตหรือกู้เงินที่ติดตามตู้โทรศัพท์หรือเสาไฟฟ้าใช่หรือไม่ ด.ต.มล.วรชัยรับว่า ต่างกัน ทนายจำเลยถามด.ต.มล.วรชัยต่อว่า ทราบหรือไม่ว่าเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯมีไว้เพื่อดูแลความสะอาดของบ้านเมืองและดูแลไม่ให้มีการทิ้งขยะสกปรกแต่ไม่ได้มุ่งหวังให้ใช้จัดการกับการชุมนุมทางการเมืองด.ต.มล.วรชัยไม่ได้ตอบ แต่ก็ไม่คัดค้าน

ทนายจำเลยถามว่า ที่มีการสั่งห้ามติดกระดาษโพสต์อิทเป็นเพราะกลัวว่าจะมีคนออกมามากขึ้นใช่หรือไม่ ด.ต.มล.วรชัยตอบว่าไม่ทราบ ทราบแต่ว่ามีคำสั่งมา ทนายจำเลยถามว่าด.ต.มล.วรชัยได้ยินที่ผู้ชุมนุมตะโกนตอบผู้บังคับบัญชาของ ด.ต.มล.วรชัยหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่นหลังมีคำสั่งห้ามติดว่าจะเก็บกระดาษโพสต์อิทหลังกิจกรรมยุติหรือไม่ ด.ต.มล.วรชัยตอบว่าไม่ได้ยิน ทนายจำเลยถามว่าด.ต.มล.วรชัยอยู่ในที่เกิดเหตุจนถึงประมาณ 17.00 น. จึงไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมเก็บกระดาษโพสต์อิทออกไปหลังเลิกกิจกรรม และด.ต.มล.วรชัยก็ไม่ได้กลับมาดูที่เกิดเหตุอีกใช่หรือไม่ ด.ต.มล.วรชัยรับว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่าทราบหรือไม่ว่าตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ หากเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ติดประกาศเก็บประกาศออกแล้วผู้ติดปฏิบัติตามให้ถือว่าคดีเป็นอันเลิกกัน ด.ต.มล.วรชัยรับว่า ทราบแต่กรณีนี้เจ้าหน้าที่สั่งให้จำเลยหยุดแล้วไม่หยุดจึงมีการเชิญตัวไปตั้งข้อหา โดยใช้อำนาจในฐานะเจ้าพนักงานที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ทนายจำเลยถามต่อว่าคดีนี้การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิทางการเมืองใช่หรือไม่ ด.ต.มล.วรชัยรับว่าใช่แต่การกระทำของจำเลยก็สร้างความสกปรก ทนายจำเลยแถลงหมดคำถามและอัยการไม่ถามติงในการสืบพยานโจทก์ปากที่สองนี้

เมื่อเสร็จสิ้นการสืบพยานในภาคเช้าศาลให้ฝ่ายโจทก์นำพยานปากที่เหลือเข้าสืบในช่วงบ่าย โดยศาลเห็นว่าคดีนี้ไม่ซับซ้อนในข้อเท็จจริงจึงอยากให้กระชับการสืบพยาน หากจำเลยสามารถรับข้อเท็จจริงในบางส่วนได้ก็อยากให้รับเพื่อจะได้ตัดพยาน จำเลยแถลงว่ารับได้ว่าอยู่ในที่เกิดเหตุจริงแต่ไม่รับว่าเป็นเจ้าของกระดาษโพสต์อิทที่นำมาฟ้องในคดีนี้

ต่อมาเวลาประมาณ 13.00 น. จำเลยและทนายจำเลยขึ้นมาที่หน้าห้องพิจารณาคดีอัยการนำสำนวนของพนักงานสอบสวนซึ่งมีทั้งหมดสองปากมาให้จำเลยดูพร้อมถามว่าจะรับข้อเท็จจริงได้หรือไม่ว่าพนักงานสอบสวนอีกคนหนึ่งเป็นผู้ร่วมสอบปากคำเพื่อจะได้ตัดพยานปากพนักงานสอบสวนออกหนึ่งปากเพื่อความกระชับ ทนายจำเลยขอดูสำนวนและปรึกษากับจำเลยก่อนจะรับข้อเท็จจริงว่าพนักงานสอบสวนปากดังกล่าวร่วมทำการสอบสวนจริง อัยการจึงแจ้งว่าจะแถลงต่อศาลว่าไม่ติดใจสืบพยานปากดังกล่าว

สืบพยานโจทก์ปากที่สาม ร.ต.ท.เจษฎาพร วรรณโคตร พนักงานสอบสวน

เวลาประมาณ 13.30 น. ศาลกลับขึ้นบัลลังก์และสั่งให้เริ่มการสืบพยานโจทก์ต่อเนื่องจากภาคเช้า ร.ต.ท.เจษฎาพร เบิกความตอบศาลว่า ขณะเบิกความอายุ 24 ปี ประกอบอาชีพรับราชการตำรวจที่สน.ทุ่งมหาเมฆ

ร.ต.ท.เจษฎาพร เบิกความตอบอัยการว่าจำไม่ได้ว่าวันเกิดเหตุเป็นวันที่เท่าไหร่ ทราบแต่ว่าเป็นเดือนพฤษภาคม โดยขณะนั้นตนรับราชการในตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวนอยู่ที่สน.ทุ่งมหาเมฆ มีหน้าที่สอบสวนคดีในช่วงที่รับผิดชอบ (เข้าเวร) เวลาประมาณ 17.00 น. มีเจ้าหน้าที่คือ ร.ต.อ. บุญทันซึ่งเป็นพยานโจทก์ปากที่หนึ่งในคดีนี้พร้อมพวก นำตัวจำเลยจากบริเวณที่ชุมนุมมายังสน.ทุ่งมหาเมฆ อัยการถามร.ต.ท.เจษฎาพรว่า ร.ต.อ. บุญทันแจ้งว่า นำตัวจำเลยมาด้วยเหตุใด ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบว่า จำเลยถูกนำตัวมาเพราะเขียนโพสต์อิทติดกำแพง อัยการถามร.ต.ท.เจษฎาพรว่า จำหน้าตาจำเลยได้หรือไม่ ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบว่าจำได้พร้อมหันไปชี้ตัวจำเลยซึ่งนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วย

อัยการถาม ร.ต.ท.เจษฎาพรว่า เมื่อร.ต.อ. บุญทันนำตัวจำเลยมาส่งแล้วดำเนินการต่ออย่างไร ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบว่า ตนได้รับมอบบันทึกการจับกุมจาก ร.ต.อ. บุญทัน หลังจากนั้นจึงแจ้งข้อหาโฆษณาหรือปิดทิ้งหรือโปรยโฆษณาในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาคดีอาญาต่อจำเลย แล้วจึงดำเนินการสอบปากคำโดยมี พ.ต.ท.ณรงค์ ยิ้มปั่น ร่วมสอบสวนด้วย จำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา สำหรับหลักฐานที่ใช้ยืนยันการกระทำของจำเลย ร.ต.ท.เจษฎาพรเบิกความว่า กล้องวงจรปิดบันทึกภาพขณะจำเลยเขียนข้อความบนกระดาษโพสต์อิทไว้ได้ หลังการรวบรวมพยานหลักฐานร.ต.ท.เจษฎาพรมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยในความผิดตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถาม ร.ต.ท.เจษฎาพรว่า ที่ตอบอัยการว่าจากการสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลย ทาง ร.ต.ท.เจษฎาพรมีการเรียกตัวบุคคลใดมาสอบปากคำบ้าง ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบว่า มีการสอบปากคำตัวจำเลยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำการจับกุม ทนายจำเลยถามต่อว่า มีการสอบสวนเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯด้วยหรือไม่ ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบว่า ไม่มี ทนายจำเลยถาม ร.ต.ท.เจษฎาพรว่าทราบหรือไม่ว่า การจัดกิจกรรมและการนำกระดาษโพสต์อิทไปติดมีการขออนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯหรือไม่ ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบว่า ไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามร.ต.ท.เจษฎาพรว่า ได้สอบถามทางบีทีเอสหรือไม่ว่าพื้นที่สกายวอล์คเป็นพื้นที่ซึ่งบริษัทเจ้าของรถไฟฟ้าบีทีเอสได้รับสัมปทานหรือเป็นพื้นที่สาธารณะ ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบว่าไม่ได้สอบถาม ทนายจำเลยถามว่ากระดาษโพสต์อิทมีลักษณะเป็นการติดถาวรหรือชั่วคราว ร.ต.ท.เจษฎาพรรับว่า มีลักษณะเป็นการใช้งานชั่วคราว ทนายจำเลยถามว่า การจับกุมตัวจำเลยเกิดขึ้นระหว่างที่กิจกรรมกำลังดำเนินไป ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบว่า ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุจึงไม่ทราบ  และถามต่อในประเด็นที่หลังกิจกรรมผู้ชุมนุมมีการแกะกระดาษโพสต์อิทที่นำมาติดไว้ออกไปหรือไม่ ร.ต.ท.เจษฎาพรรับว่าไม่ทราบ ก่อนจะเบิกความเสริมว่า ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจเก็บกระดาษโพสต์อิทมาจำนวนหนึ่งแต่ไม่ได้นำมารวมไว้ในสำนวนนี้เพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับคดี ทนายจำเลยถามว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้เก็บกระดาษโพสต์อิทมาทั้งหมดเลยหรือไม่ ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบว่า ไม่ทราบแต่ทราบว่าเก็บมาหลายใบ

ศาลถาม ร.ต.ท.เจษฎาพรว่า ภาพถ่ายที่อัยการอ้างส่งซึ่งมีการระบุว่าเป็นภาพของจำเลย ทางตำรวจได้รับมาจากไหน ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบศาลว่า เป็นภาพถ่ายที่บันทึกมาจากภาพเคลื่อนไหว(วิดีโอ) ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจน่าจะเป็นผู้ถ่ายแต่ร.ต.ท.เจษฎาพรไม่ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่คนใด ศาลถามต่อว่า นอกจากภาพที่ปรากฏว่าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุแล้วบันทึกเหตุการณ์อะไรมาได้อีก ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบว่ามีภาพขณะจำเลยเขียนโพสต์อิท แต่ไม่ทราบว่าจริงๆแล้วจำเลยเขียนโพสต์อิทกี่ครั้งเพราะกล้องวงจรปิดเคลื่อนไปถ่ายเหตุการณ์อื่นด้วย ศาลถามร.ต.ท.เจษฎาพรต่อว่า ตามภาพซึ่งอัยการอ้างส่งเห็นจำเลยถือกระดาษโพสต์อิทสีอะไร ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบว่าสีเหลือง ศาลถามต่อว่า แล้วเหตุใดจึงมีกระดาษสีชมพูมาอ้างส่งด้วย ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบว่า กระดาษสีชมพูทั้งสองแผ่นเป็นกระดาษที่เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมจำเลยจากที่เกิดเหตุเป็นผู้นำมามอบให้

ทนายจำเลยถามว่า ร.ต.ท.เจษฎาพรเคยเห็นเอกสารโฆษณากู้ยืมเงินหรือขายสินค้าอื่นๆที่ติดตามตู้โทรศัพท์หรือไม่ ร.ต.ท.เจษฎาพรรับว่า เคย ทนายจำเลยถามต่อว่าแล้วข้อความที่ปรากฏบนกระดาษโพสต์อิทเหมือนหรือต่างกับข้อความโฆษณา ร.ต.ท.เจษฎาพรรับว่าข้อความบนกระดาษโพสต์อิทมีเนื้อหาต่างจากใบปลิวโฆษณาสินค้าทั่วไป

ทนายจำเลยถามร.ต.ท.เจษฎาพรถึงรายละเอียดกิจกรรมการชุมนุมว่าก่อนเกิดเหตุ ร.ต.ท.เจษฎาพร อยู่ที่ใดและทราบเรื่องกิจกรรมการชุมนุมได้อย่างไร ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบว่า ก่อนเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สน. ทราบเรื่องการชุมนุมจากหน้าเฟซบุ๊ก ทนายจำเลยนำภาพโฆษณากิจกรรมจากเฟซบุ๊กเพจของกลุ่มพลเมืองโต้กลับมาให้ร.ต.ท.เจษฎาพรดูแล้วถามว่า เคยเห็นโฆษณากิจกรรมจากเฟซบุ๊กเพจนี้หรือไม่ ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบว่าไม่เคยเห็น ทนายจำเลยถามต่อว่า ที่จำเลยนำโพสต์อิทไปติดจำเลยมีเจตนาต้องการแสดงออกทางการเมืองหรือไม่ ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบว่า ไม่ทราบ

ทนายจำเลยให้ ร.ต.ท.เจษฎาพร ดูรูปภาพของปกรณ์ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมติดโพสต์อิทและจะมาเป็นพยานจำเลยในคดีนี้ว่า รู้จักหรือไม่  ร.ต.ท.เจษฎาพรดูและตอบว่าไม่รู้จัก แต่เคยพบเห็นครั้งหนึ่งที่สน.ทุ่งมหาเมฆเมื่อครั้งที่จำเลยในคดีนี้ถูกนำตัวมาที่สน. ศาลพูดกับทนายว่าประเด็นนี้ให้ไว้สืบในช่วงพยานจำเลยน่าจะดีกว่า

ทนายจำเลยถาม ร.ต.ท.เจษฎาพรว่าก่อนที่จะมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลย ในขั้นตอนการสอบสวนมีการสอบปากคำพยานรวมทั้งสิ้นกี่ปาก ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบว่ามีการสอบรวมทั้งสิ้นสามปาก ได้แก่ตัวจำเลย ผู้ทำการจับกุมและผู้กล่าวหา ศาลบอกทนายจำเลยว่าคำถามนี้จะไม่บันทึกให้เนื่องจากทนายจำเลยได้ถามคำถามนี้ไปก่อนและศาลบันทึกให้แล้ว ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

ตอบอัยการถามติง

อัยการถาม ร.ต.ท.เจษฎาพรว่า เหตุใดจึงนำกระดาษโพสต์อิทสีชมพูมาเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ทั้งที่ตามภาพถ่ายจำเลยเขียนกระดาษสีเหลือง ร.ต.ท.เจษฎาพรตอบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำการจับกุมจำเลยยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ติดกระดาษทั้งสองแผ่น

อัยการแถลงหมดคำถามและแถลงต่อศาลว่าเนื่องจากฝ่ายจำเลยรับข้อเท็จจริงว่าพ.ต.ท.ณรงค์ ยิ้มปั่น เป็นพนักงานสอบสวนที่ร่วมสอบสวนจำเลยจริง จึงไม่ติดใจจะสืบพยานปากพ.ต.ท.ณรงค์อีก และแถลงต่อศาลว่าหมดพยาน ศาลจึงนัดหมายกับจำเลยว่าการสืบพยานจำเลยให้สืบในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 เลย พร้อมกับกำชับกับทนายจำเลยว่าให้กำหนดแนวทางการต่อสู้ให้ชัดเจน หากต้องการสู้คดีว่าการกระทำของจำเลยเป็นสิทธิที่จะกระทำได้ก็ให้ยอมรับข้อเท็จจริงเรื่องว่าจำเลยกระทำจริง หากสู้ในประเด็นว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำแม้สุดท้ายศาลจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย แต่ก็จะไม่มีการวินิจฉัยในประเด็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นสิทธิที่จะกระทำได้หรือไม่และการสู้คดีครั้งนี้ก็อาจไม่เกิดผลอะไรเลย 

ระหว่างการสืบพยานวันนี้ศาลยังถามผู้สังเกตการณ์ซึ่งมาจากไอลอว์และศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนด้วยว่ามาจากที่ไหนกัน

10 พฤศจิกายน 2559

นัดสืบพยานจำเลย

เวลาประมาณ 9.45 ศาลขึ้นบัลลังก์และให้ทนายจำเลยนำพยานเข้าสืบทันทีโดยในวันนี้ฝ่ายจำเลยมีกำหนดนำพยานเข้าเบิกความรวมสามปากคืออานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ฐิตารีย์ จำเลย และปกรณ์ นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันเกิดเหตุ

สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง อานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรม

อานนท์ นำภาเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ก่อนเกิดเหตุแห่งคดีนี้มีกรณีที่วัฒนา เมืองสุข ถูกทหารควบคุมตัวเพราะวิพากษ์วิจารณ์คสช. รวมทั้งกรณีประชาชนซึ่งถูกสงสัยว่าเป็นผู้ทำเฟซบุ๊กเพจล้อเลียนรัฐบาลถูกควบคุมตัว กลุ่มพลเมืองโต้กลับจึงประกาศเชิญชวนประชาชนมาร่วมกิจกรรมโพสต์สิทธิ เขียนข้อความบนกระดาษโพสต์อิทเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประชาชนที่ถูกควบคุมตัว โดยการประกาศเชิญชวนนี้ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับใช้เฟซบุ๊กเพจของกลุ่มเป็นช่องทางในการประกาศเชิญชวน โดยก่อนจัดกิจกรรมที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ ทางกลุ่มเคยจัดกิจกรรมลักษณะคล้ายๆกันที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ เมื่อจัดกิจกรรมเสร็จก็มีการเก็บกระดาษโพสต์อิทออกจากที่จัดกิจกรรมและไม่เคยถูกดำเนินคดี

สำหรับในวันเกิดเหตุ อานนท์เบิกความว่า ทางกลุ่มเลือกใช้ลานสกายวอล์ค บีทีเอสช่องนนทรีย์เป็นที่จัดงานเพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่กว้าง สามารถทำกิจกรรมได้ขณะที่คนที่เดินสัญจรไปมาก็ยังสามารถเดินผ่านทางได้ตามปกติ ก่อนการจัดกิจกรรมมีการประสานไปที่สน.ยานาวาเพื่อแจ้งการจัดกิจกรรมโดยสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้แจ้งเจ้าหน้าที่โดยเป็นการแจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ

อานนท์เบิกความต่อว่า เนื่องจากลานสกายวอล์คถูกแบ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของสถานีตำรวจสองสถานี สถานีหนึ่งคือสน.ยานนาวา อีกสถานีหนึ่งคือสน.ทุ่งมหาเมฆ ตั้งแต่ก่อนเวลาชุมนุมเจ้าหน้าที่ได้กั้นพื้นที่ลานสกายวอล์คในส่วนที่อยู่ในพื้นที่สน.ยานนาวา ทำให้ผู้ชุมนุมต้องไปจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของสน.ทุ่งมหาเมฆซึ่งทางผู้จัดกิจกรรมไม่ได้มีการประสานงานไว้ โดยในพื้นที่นอกจากจะมีผู้ชุมนุมแล้วก็มีเจ้าหน้าที่ ผู้สื่อข่าว และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศรวมอยู่ด้วย

ในส่วนของคดีนี้หลังเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจำเลยและควบคุมสิรวิชญ์ไปที่สน. อานนท์เบิกความว่าตนเองได้ติดตามทั้งสองไปที่สน.ในทันทีโดยไปในฐานะทนายความเพื่อร่วมฟังการสอบสวน ในระหว่างการสอบสวนเจ้าหน้าที่นำกระดาษโพสต์อิทสีชมพูมาให้จำเลยลงลายมือชื่อ ซึ่งจำเลยปฏิเสธเพราะกระดาษโพสต์อิทที่เจ้าหน้าที่นำมาให้ดูจำเลยไม่ใช่ผู้เขียนและผู้ติด ทนายจำเลยให้อานนท์อ่านข้อความบนกระดาษโพสต์อิท อานนท์อ่านว่า ปล่อยประชาชน เบื้องต้นศาลแจ้งว่าจะไม่บันทึกข้อความให้เพราะบันทึกไปแล้ว แต่ทนายทักท้วง ศาลจึงบันทึกให้ว่าข้อความที่เขียนเป็นการเรียกร้องสิทธิให้ปล่อยประชาชน

อานนท์เบิกความต่อว่าหลังเกิดเหตุ ไทยรัฐออนไลน์ และสำนักข่าวประชาไทเผยแพร่ข่าวเรื่องกิจกรรมที่เกิดขึ้นรวมทั้งการจับกุมประชาชน ทนายจำเลยถามว่าในการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายข้อใด อานนท์เบิกความว่าเป็นการใช้สิทธิตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองรวมทั้งสิทธิตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ทนายจำเลยถามต่อว่า เหตุใดจึงใช้กระดาษโพสต์อิทในการทำกิจกรรม อานนท์ตอบว่าเพราะเคยเห็นตัวอย่างในต่างประเทศและกระดาษโพสต์อิทเป็นกระดาษที่ดึงออกง่ายโดยไม่ทิ้งร่องรอย นอกจากนี้ในการทำกิจกรรมก็เลือกติดที่เสาเพียงต้นเดียวไม่ได้ติดโดยทั่วไป กิจกรรมนี้จึงเป็นกิจกรรมที่ทำได้ตามขอบเขตของกฎหมาย ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

ตอบอัยการถามค้าน

อัยการถามว่าในวันเกิดเหตุผู้มาร่วมทำอะไรบ้าง อานนท์ตอบว่า มีบางส่วนจับกลุ่มคุย บางส่วนยืนอ่านหนังสือหรือยืนเฉยๆ บางส่วนติดกระดาษโพสต์อิท โดยผู้นำในการติดกระดาษโพสต์อิทคือสิรวิชญ์หรือจ่านิว ส่วนจำเลยในคดีนี้เป็นเพียงผู้เข้าร่วมไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม ทนายจำเลยถามว่ากิจกรรมเริ่มเวลากี่โมงและจบลงกี่โมง อานนท์ตอบว่าตามประกาศของกลุ่มนัดหมายให้คนมาพบกันในเวลา 16.00 น. แต่ผู้คนก็ทยอยกันมาเรื่อยๆ อัยการถามต่อว่ามีหลักฐานมายืนยันหรือไม่ว่า ผู้จัดแกะโพสต์อิทออกเมื่อเลิกกิจกรรม อานนท์ตอบว่ามีเจ้าหน้าที่เก็บไปอีกส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งปกรณ์ซึ่งเป็นผู้ร่วมกิจกรรมที่มีรายชื่อเป็นพยานจำเลยแกะโพสต์อิทจากกำแพงมาติดตามร่างกายตัวเอง แต่อานนท์ไม่สามารถยืนยันได้ว่ากระดาษโพสต์อิทถูกแกะออกจากเสาทั้งหมดเลยหรือไม่

อัยการให้อานนท์ดูภาพที่บันทึกจากเหตุการณ์แล้วถามอานนท์ว่าแผ่นสี่เหลี่ยมที่มีลักษณะเป็นกระดานซึ่งผู้ชุมนุมเอากระดาษโพสต์อิทไปติดเป็นบอร์ดที่ผู้ชุมนุมเตรียมมาหรือเป็นส่วนหนึ่งของราวกั้นทางเดินบีทีเอส อานนท์ตอบว่าดูไม่ออก อัยการถามว่าทางผู้จัดมีการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ในการติดโพสต์อิทหรือไม่ อานนท์เบิกความว่ามีการแจ้งสน.ยานนาวาแต่เป็นการแจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ซึ่งผู้แจ้งคือสิรวิชญ์ อานนท์เบิกความต่อว่าโดยปกติพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯมุ่งคุ้มครองความสะอาดของบ้านเมือง ศาลแจ้งกับอานนท์ว่าส่วนของข้อกฎหมายเป็นหน้าที่ของศาลที่จะวินิจฉัย และไม่บันทึกคำเบิกความของอานนท์ในส่วนนี้

ตอบทนายจำเลยถามติง

ทนายจำเลยถามว่า เหตุใดผู้จัดกิจกรรมจึงเลือกใช้กระดาษโพสต์อิท อานนท์ตอบว่าเพราะเป็นกระดาษที่ดึงออกง่ายโดยไม่มีร่องรอย ทนายจำเลยถามว่า ตามที่ประกาศเริ่มกิจกรรมเวลา 16.00 น. ผู้ร่วมกิจกรรมมากันกี่โมง อานนท์ตอบว่า ตามประกาศแจ้งให้มาเวลา 16.00 น. แต่ผู้เข้าร่วมทยอยกันมาบางส่วนก็มาหลังจากนั้น ทนายจำเลยถามต่อว่าหลังจำเลยถูกจับอานนท์อยู่ที่ไหน อานนท์ตอบว่าตนเองเร่งตามไปที่สน.โดยมีผู้สื่อข่าวส่วนหนึ่งตามไปด้วยแต่ผู้สื่อข่าวบางส่วนก็ยังอยู่ในพื้นที่จัดกิจกรรม

ทนายจำเลยให้อานนท์ดูเอกสารซึ่งเป็นการรายงานข่าวแล้วถามว่าตามรายงานข่าวที่ปรากฏมีการรายงานข่าวเวลา 17.30 น.ไม่มีการจัดกิจกรรมและกระดาษโพสต์อิทถูกเก็บออกไปแล้ว อานนท์รับว่า เป็นตามรายงานข่าว ทนายจำเลยถามว่าทางผู้จัดมีการขออนุญาตเจ้าหน้าที่หรือไม่ อานนท์ตอบว่า ไม่สามารถยืนยันว่ามีการขออนุญาตตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ หรือไม่ แต่ตนเองเป็นผู้ร่างเอกสารแจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯให้สิรวิชญ์นำไปยื่นสน.ยานนาวา ทนายถามอานนท์ว่าเหตุใดจึงไม่ยื่นขออนุญาตตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ อานนท์ตอบว่าเพราะเห็นว่ากิจกรรมไม่เข้าข่ายที่จะต้องขออนุญาตตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ

ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม ศาลให้นำพยานจำเลยปากที่สองซึ่งเป็นตัวจำเลยเข้าเบิกความ  

สืบพยานจำเลยปากที่สอง ฐิตารีย์ จำเลย เบิกความเป็นพยานให้ตนเอง

ฐิตารีย์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ในวันเกิดเหตุตนเองเดินทางไปร่วมกิจกรรมโพสต์-สิทธิที่สกายวอล์ค สถานีบีทีเอสช่องนนทรีย์ โดยทราบข่าวกิจกรรมดังกล่าวจากเฟซบุ๊ก ก่อนหน้านี้ตนเคยร่วมกิจกรรมลักษณะคล้ายๆกัน เช่น กิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อย 14 นักศึกษา ทั้งที่หน้าสน.ปทุมวัน และ หน้าสน.พระราชวัง

ฐิตารีย์เบิกความต่อว่า สำหรับกิจกรรมในวันเกิดเหตุจัดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวแปดแอดมินเพจเรารักพล.อ.ประยุทธ์กับวัฒนา เมืองสุข โดยทราบล่วงหน้าว่าเป็นกิจกรรมติดโพสต์อิท ซึ่งหลังกิจกรรมยุติผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องแกะกระดาษโพสต์อิทออกไปด้วย สำหรับกระดาษโพสต์อิท ฐิตารีย์เบิกความว่า ไม่ได้นำไปเองแต่ขอจากผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่น โดยในวันนั้นเดินทางไปถึงที่ชุมนุมในเวลาประมาณ 16.00 น. เมื่อไปถึงก็ไปยืนคุยกับผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่นที่มาถึงก่อน ทนายจำเลยให้ฐิตารีย์ดูภาพถ่ายซึ่งเป็นหลักฐานของฝ่ายโจทก์และถามว่า เป็นภาพของฐิตารีย์ใช่หรือไม่ ฐิตารีย์รับว่าเป็นตนเอง ทนายจำเลยถามต่อว่าในวันเกิดเหตุได้เขียนข้อความบนกระดาษโพสต์อิทหรือไม่ ฐิตารีย์รับว่า เขียน แต่จะเขียนว่าอะไรจำไม่ได้

ทนายจำเลยนำกระดาษโพสต์อิทสีเหลืองซึ่งอยู่ในสำนวนของอัยการมาให้ฐิตารีย์แล้วถามว่ากระดาษแผ่นนี้ฐิตารีย์เป็นผู้เขียนใช่หรือไม่ ฐิจารีย์รับว่ากระดาษโพสต์อิทสีเหลืองแผ่นนี้น่าจะเป็นของตนเอง แต่กระดาษโพสต์อิทสีชมพูอีกสองแผ่นไม่ใช่ของตนเอง ทนายจำเลยถามว่า ฐิตารีย์นำโพสต์อิทไปติดกับกำแพงด้วยหรือไม่ ฐิตารีย์รับว่า ตนเองติดโพสต์อิทด้วย และถูกจับทันทีที่นำไปติด

ทนายจำเลยถามว่า ฐิตารีย์เคยใช้กระดาษโพสต์อิทหรือไม่ ฐิตารีย์รับว่าเคยใช้เพราะเป็นกระดาษที่ไม่ทิ้งร่องรอย (คำถามนี้ศาลไม่ได้บันทึก) ทนายจำเลยถามว่าในวันเกิดเหตุ ทำไมจึงไม่นำกระดาษโพสต์อิทออก ฐิตารีย์เบิกความว่าที่ไม่เก็บเป็นเพราะถูกจับตัวเสียก่อน หากไม่ถูกจับก็จะเก็บกระดาษเมื่อเลิกกิจกรรมโดยจะเก็บไว้เป็นที่ระลึก ทนายจำเลยถามต่อว่าเมื่อถูกจับกุมตัวไปมีทนายตามไปให้ความช่วยเหลือหรือไม่ ฐิตารีย์ตอบว่า มีทนายชื่ออานนท์ตามไปด้วย

ทนายจำเลยถามว่า ในวันเกิดเหตุทำไมจึงให้การปฏิเสธ ฐิตารีย์ตอบว่า ให้การปฏิเสธเพราะกระดาษโพสต์อิทที่เจ้าหน้าที่นำมาให้ดูเป็นสีชมพูซึ่งไม่ใช่ของตน ทนายจำเลยถามฐิตารีย์ว่า ที่นำกระดาษไปติดมีเจตนาจะสร้างความสกปรกใช่หรือไม่ ฐิตารีย์ตอบว่าไม่เจตนา เพราะเป็นการทำกิจกรรมทางการเมืองและเมื่อจบกิจกรรมก็จะเอาออก (ศาลไม่บันทึกให้โดยบอกว่าบันทึกไปแล้วก่อนหน้านี้) ทนายจำเลยหมดคำถาม

ตอบอัยการถามค้าน

อัยการถามฐิตารีย์ว่า ตอนที่นำกระดาษโพสต์อิทมาปะที่กำแพง ได้ขออนุญาตหรือไม่ ฐิตารีย์รับว่า ไม่ได้ขอ อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามติง

ทนายจำเลยถามว่า ที่ตอบอัยการว่าไม่ได้ขออนุญาตเป็นเพราะเหตุใด ฐิตารีย์ตอบว่าที่ตนเองไม่ได้ขออนุญาตเป็นเพราะเข้าใจว่าสิรวิชญ์ขออนุญาตแล้ว และเข้าใจว่าการกระทำของตนไม่ใช่ความผิดตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ทนายจำเลยโทรศัพท์หาปกรณ์ซึ่งจะต้องมาเบิกความเป็นพยานจำเลยปากที่สาม แต่ปกรณ์ไม่สามารถเดินทางมาได้ ทนายจำเลยจึงแถลงต่อศาลว่าไม่ติดใจสืบพยานปากนี้และแถลงหมดพยาน หลังจากนั้น ศาลนัดคู่ความฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ธันวาคม 2559

27 ธันวาคม 2559

นัดฟังคำพิพากษา

เวลาประมาณ 13.50 น. ศาลขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษา ในห้องพิจารณา่คดีนอกจากฐิตารีย์ซึ่งเป็นจำเลยแล้วก็มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหนึ่งนายมานั่งฟังคำพิพากษาด้วยแต่อัยการไม่ได้มาฟังคำพิพากษา 

ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยโดยให้เหตุผลว่า การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงออกทางการเมือง ไม่ใช่เป็นการติดโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพ.ร.บ.ความสะอาดเพราะการโฆษณาย่อมต้องหวังผลในการค้าซึ่งไม่ใช่พฤติการณ์ของจำเลยคดีนี้

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่ามีการชุมนุมทางการเมืองที่สกายวอล์คช่องนนทรีย์ จึงนำกำลังไปที่เกิดเหตุ ในเวลา 17.00 น. ผู้ชุมนุมเริ่มเขียนกระดาษติดที่เสารถไฟฟ้าบีทีเอส ต่อมาเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ชุมนุมเลิก บางส่วนหยุดเขียน แต่มีส่วนหนึ่งรวมทั้งจำเลยยังไม่หยุดการกระทำ จึงทำการจับกุมจำเลย
 
จำเลยต่อสู้ว่า วันเกิดเหตุไปร่วมกิจกรรรรมโพสต์อิทเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เป็นการใช้สิทธิทางการเมืองที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ กิจกรรมในลักษณะเดียวกันนี้เคยจัดมาแล้วและมีการเก็บกระดาษหลังเสร็จกิจกรรม กระดาษที่ใช้ติดมีลักษณะใช้ติดชั่วคราวไม่ก่อให้เกิดความสกปรก
 
ศาลเห็นว่า พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ไม่ได้กำหนดนิยามคำว่าโฆษณาเอาไว้ จึงต้องใช้ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต ซึ่งให้ความหมายว่าการโฆษณาการทำให้ปรากฎเพื่อประโยชน์ทางการค้า ซึ่งการกระทำของจำเลยไม่ใช่การแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า แต่เป็นการใช้สิทธิทางการเมือง ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด พิพากษายกฟ้อง

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา