เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ จังหวัดอุดรธานี

อัปเดตล่าสุด: 22/08/2562

ผู้ต้องหา

วาสนา, ภริตภร, สุรินทร์ และสิขณินภ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

อัยการทหาร ศาลมณฑลทหารบกที่ 24 เป็นโจทก์ในคดีนี้

สารบัญ

ก่อนการลงประชามติ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2559 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในหลายจังหวัดทั่วประเทศจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ซึ่งที่อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานีมีการจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นที่บ้านของวาสนาและมีผู้เข้าร่วมประมาณ 20 คน
 
หลังจากเสร็จกิจกรรมภริตพรโทรศัพท์แจ้งทหารว่าได้เปิดศูนย์ฯ แล้ว ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ 4 คน ถูกเรียกไปปรับทัศนคติที่สถานีตำรวจโดยเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ดำเนินการและให้ทำข้อตกลงห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ภายหลังจำเลยสี่คนถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
 
วันที่ 19 มกราคม 2560 ศาลทหารอุดรธานีนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 ซึ่งเป็นทหารที่เข้าแจ้งความดำเนินคดี แต่จำเลยทั้ง 4 ได้แถลงขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ 
 
ศาลทหารอุดรธานีจึงมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 4 คน ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป โดยให้ลงโทษจำคุกคนละ 3 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 เดือน 15 วัน ปรับคนละ 2,500 บาท แต่จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยทั้ง 4 ได้กลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกมีกำหนดคนละ 1 ปี 
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

วาสนา เป็นอดีตเหรัญญิกสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทยและเป็นเจ้าของบ้านที่ใช้จัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติในกรณีนี้
 
ภริตพร เป็นอดีตที่ปรึกษาสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงฯ และเป็นแกนนำจัดกรรมในครั้งนี้ ส่วนสุรินทร์ และสิขณินภ์เป็นสามีและลูกของภริตพร

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

19 มิถุนายน 2559  เวลากลางวัน จำเลยทั้งสี่คนกับพวกรวม 23 คน ได้ร่วมกันมั่วสุมชุมนุมกับบุคคลอื่นอีกหลายคน บริเวณภายในบ้าน ตำบลบุ่งแก้ว อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี โดยมีการจัดตั้งและเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

พฤติการณ์การจับกุม

ในวันที่ 19 มิถุนายน 2559 ซึ่งมีกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ หลังชาวบ้านทยอยกลับบ้านกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญทั้งสี่คนไปสถานีตำรวจภูธรโนนสะอาดและแจ้งข้อกล่าวหา

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

70/2559

ศาล

ศาลมณฑลทหารบกที่ 24 (ศาลทหารอุดรธานี)

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
19 มิถุนายน 2559

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า จำเลยทั้งสี่คนกับประชาชนประมาณ 20 คนทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติภายในบ้าน ตำบลบุ่งแก้ว อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี โดยต่างสวมเสื้อสีดำพร้อมคำขวัญของศูนย์ฯ ว่า “ประชามติต้อง ไม่โกง ไม่ล้ม ไม่อายพม่า” และมีการถ่ายภาพร่วมกับป้ายศูนย์ฯ เช่นเดียวกับในจังหวัดอื่นๆ
 
หลังจากชาวบ้านแยกย้ายกันกลับไปเหลือเพียงภริตพร, สามี ลูกชายและวาสนาซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน ภริตพรโทรศัพท์แจ้งทหารว่าได้เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติแล้ว จากนั้นเวลาประมาณ 09.00 น. ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรโนนสะอาดเดินทางมาที่บ้านของวาสนาซึ่งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมแล้วเชิญตัวไปที่สถานีตำรวจฯ และแจ้งข้อกล่าวหา สอบปากคำโดยทั้งสี่ให้การปฏิเสธก่อนได้รับการปล่อยตัวในเวลา 18.30 น. และนัดหมายให้มาพบอีกครั้งในวันที่  11 กรกฎาคม 2559 
 
11 กรกฎาคม 2559
 
จำเลยทั้งสี่ขอเลื่อนการนัดหมายเนื่องจากติดภารกิจส่วนตัว พนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะส่งตัวไปอัยการทหารภายในวันที่ 18 กรกฎาคม 2559 
 
13 กรกฎาคม 2559
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรโนนสะอาด 4-5 นายไปที่บ้านของวาสนา หนึ่งในจำเลยสี่คนในคดีนี้ โดยแจ้งให้นัดชาวบ้านที่อยู่ในภาพถ่ายกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติไปที่สถานีตำรวจ ในวันรุ่งขึ้น โดยตำรวจนำรถมารับที่ศาลากลางบ้านบ้านหนองโก ก่อนมีหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการส่งตามมาในภายหลัง เมื่อวาสนาขอให้แสดงเอกสารนี้
 
14 กรกฎาคม 2559
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ตำรวจเรียกชาวบ้านที่ร่วมถ่ายภาพในกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติจำนวน 19 คนมาสอบปากคำที่สถานีตำรวจภูธรโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี ในวันดังกล่าวมีการแจ้งข้อกล่าวหา ให้ลงลายมือชื่อรับสารภาพ แจ้งว่าจะอบรมเพียงครึ่งวันและจะยุติการแจ้งความให้ดำเนินคดี พล.ต.อำนวย จุลโนนยาง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 24 เดินทางมาเปิดการอบรมพร้อมทหารในเครื่องแบบอีกสี่นาย นอกจากนี้ยังให้ลงลายมือชื่อในเอกสารข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง และหากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีและระงับธุรกรรมทางการเงิน โดยอาศัยอำนาจของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 
 
 
10 สิงหาคม 2559
 
อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 24 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่ต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 24 โดยกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หลังอัยการทหารยื่นฟ้อง จำเลยทั้งสี่คนยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสดคนละ 10,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และถูกควบคุมตัวไปขังที่เรือนจำกลางอุดรธานีตั้งแต่เวลา 14.00 น.ระหว่างรอคำสั่งศาล กระทั่งเวลา 16.30 น. จึงได้รับอนุญาตให้ประกันตัวและปล่อยตัวที่เรือนจำในเวลา 19.00 น. โดยมีเงื่อนไขห้ามจำเลยชุมนุมและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองทั้งโดยตรงและโดยอ้อม พร้อมนัดหมายมาให้การในวันที่ 14 ตุลาคม 2559
 
14 ตุลาคม 2559 
 
ศาลมณฑลทหารบกที่ 24 จังหวัดอุดรธานี นัดฟังคำให้การของจำเลยทั้ง 4 คน โดยจำเลยทุกคนให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและขอสู้คดี  โดยศาลทหารอุดรธานีได้นัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปวันที่ 19 มกราคม 2560 เวลา 08.30   น.
 
19 มกราคม 2560
 
ศาลมณฑลทหารบกที่ 24 (มทบ.24) จังหวดอุดรธานี นัดสืบพยานโจทก์นัดแรก โดยพยานโจทก์ปากที่ 1 คือทหารที่เข้าแจ้งความดำเนินคดี แต่ทว่าก่อนการสืบพยานจำเลยทั้ง 4 ได้แถลงขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ 
 
จำเลยทั้ง 4 คน ได้ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษจำคุก เนื่องจากจำเลยเป็นเพียงเกษตรกร ประกอบอาชีพสุจริต และเป็นเสาหลักของครอบครัว
 
ศาลทหารจึงอ่านคำพิพากษา ให้ลงโทษจำคุกคนละ 3 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 เดือน 15 วัน ปรับคนละ 2,500 บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยทั้ง 4 ได้กลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกมีกำหนดคนละ 1 ปี 
 
โดยก่อนหน้านี้ แกนนำทั้ง 4 ยืนยันไม่รับสารภาพในชั้นสอบสวนและให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่ในที่สุดจำเลยได้เปลี่ยนใจยอมรับสารภาพในชั้นศาล เนื่องจากเห็นว่ามีเพียงโทษปรับ และการสืบพยานต่อไปจะสร้างความยากลำบากให้กับครอบครัว ซึ่งต่างมีผู้สูงอายุต้องดูแล และมีภาระในการหารายได้
 

คำพิพากษา

19 มกราคม 2560 
 
ศาลมณฑลทหารบกที่ 24 (มทบ.24) จังหวดอุดรธานี อ่านคำพิพากษาหลังจำเลยทั้ง 4 ได้แถลงขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ พร้อมกับได้ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษจำคุก เนื่องจากจำเลยเป็นเพียงเกษตรกร ประกอบอาชีพสุจริต และเป็นเสาหลักของครอบครัว 
 
ศาลทหารมีคำพิพากษาว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2559 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 4 กับพวกรวม 23 คน ได้ร่วมกันมั่วสุมชุมนุมกับบุคคลอื่นอีกหลายคน บริเวณภายในบ้าน ตำบลบุ่งแก้ว อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี โดยมีการจัดตั้งและเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ อันเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
 
ศาลจึงให้ลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 3 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท แต่จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 เดือน 15 วัน ปรับคนละ 2,500 บาท แต่จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยทั้ง 4 ได้กลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกมีกำหนดคนละ 1 ปี 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา