คดีสติกเกอร์โหวตโน

อัปเดตล่าสุด: 26/04/2562

ผู้ต้องหา

ปกรณ์

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานสอบสวนสภ.บ้านโป่ง

สารบัญ

10 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่เชิญตัว 3 นักกิจกรรมประชาธิปไตยใหม่ ได้แก่ ปกรณ์,อนันต์,อนุชา  รวมทั้งทวีศักดิ์ ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไท ไปสอบปากคำ หลังจากรับแจ้งจากทางวิทยุสภ.บ้านโป่ง เกี่ยวกับการบรรทุกสิ่งของเกี่ยวกับการต่อต้านการลงประชามติในรถยนต์ ต่อมาช่วงค่ำ  ภานุวัฒน์  นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ก็ถูกคุมตัวมาจากบ้านพักใน จังหวัดราชบุรีมาที่ สภ.บ้านโป่งอีกด้วย
 
ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาผิด พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ควบคุมตัวในห้องขัง สภ.บ้านโป่งเพื่อรอการสอบสวน  วันที่ 11 กรกฎาคม ศาลจังหวัดราชบุรีอนุญาตให้ประกันตัวทั้งห้าคน โดยวางเงินเป็นหลักประกันคนละ 140,000 บาท
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ทวีศักดิ์  หรือ ‘อ๊อฟ’ จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าวของเว็บไซต์ประชาไท ที่ติดตามข่าวเกี่ยวกับนักกิจกรรม และประเด็นสิทธิมนุษยชน
 
ปกรณ์  หรือ แมน  ปกรณ์ อารีกุล อดีตนิสิต มหาวิทยาลัยบูรพา ในอดีตเคยเคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และ คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลังรัฐประหารผันตัวมาทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 
 
อนุชา เป็นนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ จบการศึกษาจากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
 
อนันต์   นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อนันต์เป็นคนที่สนใจประเด็นทางสังคมและการเมือง จึงเข้าทำกิจกรรมในชมรมค่ายอาสาพัฒนารามอีสาน ซึ่งต่อมาอนันต์ได้เป็นประธานชมรม 
 
ภานุวัฒน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตแพร่เฉลิมพระเกียรติ 
 

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ, พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61
ขัดขืนไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ อันเป็นความผิดตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอัมีพระมหากษั

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรค 2
 
และเจ้าหน้าที่ระบุรายการสิ่งของตรวจยึด 14 รายการในบันทึกการจับกุม ประกอบด้วย รถยนต์กระบะ, แผ่นป้ายไวนิล ข้อความ ‘นายกไทย ใครๆ ก็โดนล้อ’ 1 แผ่น, ลำโพงและไมโครโฟน, ที่คั่นหนังสือ ‘Vote No’, เอกสาร ‘ 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ’, จุลสารการออกเสียงประชามติ, เอกสารความเห็นแย้ง, เอกสาร ‘ปล่อย 7 นักโทษประชามติฯ’, แถลงการณ์นิติราษฎร์ฉบับลงประชามติ, เอกสารแนะนำการใช้สิทธิ์นอกเขต และสติ๊กเกอร์ ‘Vote No’
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

10 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับแจ้งจากประชาชนและศูนย์วิทยุ สภ.บ้านโป่ง ว่ามีบุคคลใช้รถยนต์กระบะเชฟโรเลท  บรรทุกอุปกรณ์สิ่งของท้ายรถมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมาทำการแจกเอกสาร แผ่นพับ ใบปลิวในเรื่องรณรงค์ต่อต้านการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในเขต อำเภอบ้านโป่ง ต่อมาจากการสืบสวนพบว่ารถยนต์คันดังกล่าวจอดอยู่ถนนทรงพล เทศบาลเมืองบ้านโป่ง
 
เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวขอตรวจค้นรถดังกล่าว ของปกรณ์ โดยมี อนุชา อนันต์ และทวีศักดิ์ร่วมโดยสารรถมาด้วย ก่อนเจ้าหน้าที่เข้าคุมตัวไปที่ สน.บ้านโป่ง และช่วงเย็นวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็คุมตัว ภานุวัฒน์ จากบ้านพักในจังหวัดราชบุนีมาที่ สภ.บ้านโป่งอีกด้วย
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล


หมายเลขคดีดำ

2418/2559

ศาล

ศาลจังหวัดราชบุรี

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง


แหล่งอ้างอิง


10 กรกฎาคม 2559
 
ประชาไท รายงานว่า เวลา 11.30 น. ที่ สภ.บ้านโป่ง ขณะที่ ปกรณ์ อารีกุล,อนุชา,และอนันต์ เดินทางมาให้กำลังใจชาวบ้านที่บ้านโป่ง ซึ่งถูกเรียกรายงานตัวหลังจากเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาตามฐานความผิด ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558  ขณะเดินทางกลับไปขึ้นรถ เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจค้นท้ายรถกะบะ พบว่ามีเอกสารเกี่ยวกับการรณรงค์ประชามติอยู่ จึงขอเชิญตัวเข้ามาสอบสวน รวมถึงทวีศักดิ์ ผู้สื่อข่าวประชาไท ที่ติดรถไปเพื่อทำการสัมภาษณ์พิเศษ ก็ถูกนำตัวเข้าไปสอบสวนด้วย
 

Vote no sticker, evidence that used to prosecute 5 defendants in the Vote No sticker at Ban Pong Police Station case

สติกเกอร์โหวตโนที่ถูกใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับจำเลยทั้งห้า
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานต่อไปว่า เจ้าหน้าที่ร่วมกันตรวจยึดของกลาง พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับกุมทราบว่า “ร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง”
 
อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรค 2
 
และเจ้าหน้าที่ระบุรายการสิ่งของตรวจยึด 14 รายการในบันทึกการจับกุม โดยประกอบด้วย รถยนต์กระบะ, แผ่นป้ายไวนิล ข้อความ ‘นายกไทย ใครๆ ก็โดนล้อ’ 1 แผ่น, ลำโพงและไมโครโฟน, ที่คั่นหนังสือ ‘Vote No’, เอกสาร ‘ 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ’, จุลสารการออกเสียงประชามติ, เอกสารความเห็นแย้ง, เอกสาร ‘ปล่อย 7 นักโทษประชามติฯ’, แถลงการณ์นิติราษฎร์ฉบับลงประชามติ, เอกสารแนะนำการใช้สิทธิ์นอกเขต และสติ๊กเกอร์ ‘Vote No’
 
 
 
กระทั่งประมาณ 18.00 น. เจ้าหน้าที่นำตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ควบคุมตัวเข้าห้องขัง สภ.บ้านโป่ง และปฏิเสธการให้ประตัวในชั้นสอบสวน โดยแจ้งว่า จะทำการสอบสวนในคืนนี้ และนำตัวไปขออำนาจฝากขังต่อศาลจังหวัดราชบุรีในเช้าวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 โดยทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง
 
เวลา 20.20 น. มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังเข้าล้อมบ้านภาณุวัฒน์   ซึ่งเดิมเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่เข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านโป่ง จากกรณีจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหาเดียวกันกับทั้ง 4 คนก่อนหน้านี้
 
11 กรกฎาคม 2559
 
เว็บไซต์ไทยพีบีเอส รายงานว่า เวลา 09.45 น. ตำรวจสภ.บ้านโป่ง นำตัว ทั้ง 5 คนไปขออำนาจฝากขังต่อศาลจังหวัดราชบุรี พนักงานสอบสวน ยื่นคำร้องขอฝากขัง 5 ผู้ต้องหาแล้ว ระบุว่าต้องสอบพยานเพิ่ม 5 ปากและรอผลตรวจสอบประวัติจึงขอฝากขัง 12 วัน ส่วนทวีศักดิ์  ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไทยืนยันไม่ขอประกันตัว เนื่องจากเห็นว่าการเดินทางไปทำข่าวไม่ใช่ความผิด
 
ประชาไท รายงานต่อว่า เมื่อเวลาประมาณ 16.45 น. ศาลจังหวัดราชบุรีอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา 5 รายที่ถูกจับกุมเนื่องจากมีเอกสารประชามติในครอบครองและมีพฤติการณ์เชื่อว่าจะมีการแจกเอกสารถูกตั้งข้อหาความผิดตามมาตรา 61 วรรค 2 พ.ร.บ.ประชามติ ศาลกำหนดให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินสดรายละ 140,000 บาท รวมเป็นเงิน 700,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ต้องหาซึ่งเป็นนักศึกษาและนักกิจกรรมรวม 4 รายใช้เงินสดจากกองทุนการประกันตัวที่อานนท์ นำภา ทนายความ เปิดระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีการเมือง ขณะที่ทวีศักดิ์ ใช้เงินจากองค์กรต้นสังกัด
 
Accused in the Vote No Pamphlet at Banpong case were brought to the Ratchaburi Provincial Court 11 July 2016 credit Banrasdr Photo
 
ผู้ต้องหาทั้งห้าถูกนำตัวมาที่ศาลจังหวัดราชบุรีเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ภาพจาก Banrasdr Photo
 
29 สิงหาคม 2559
 
นัดส่งตัวให้อัยการ
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า พนักงานอัยการ จ.ราชบุรี มีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน ได้แก่  ปกรณ์ อารีกุล,อนุชา รุ่งมรกต, อนันต์ โลเกตุ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท ต่อศาลจังหวัดราชบุรี ตามความผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 
 
โดยคำฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งห้าได้บังอาจร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความและภาพเป็นรูปลอก(สติ๊กเกอร์)สีน้ำเงิน มีข้อความระบุว่า “7 สิงหา ร่วมกัน VOTE NO ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” ซึ่งมีความหมายให้ร่วมกันออกเสียงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้น ซึ่งกำหนดให้มีการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ดังกล่าว ด้วยการแจกจ่ายรูปลอก(สติ๊กเกอร์) ซึ่งมีข้อความให้แก่ประชาชนทั่วไป และพรรคพวกของจำเลย ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิออกเสียง อันเป็นการดำเนินการเผยแพร่ข้อความในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง อันมีลักษณะเป็นการปลุกระดมโดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างนึ่งหรือไม่อกเสียง อันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ในการกระทำการก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย  
 
ซึ่งเหตุดังกล่าวเกิดจากกรณีที่จำเลยที่ 1-4 ได้แก่ ปกรณ์ อารีกุล,อนุชา รุ่งมรกต, อนันต์ โลเกตุ และทวีศักดิ์ เกิดโภคเดินทางไปยังจังหวัดราชบุรีและถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นรถและพบเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ และรณรงค์โหวตโนหลายรายการในรถดังกล่าวจึงจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาโดยระบุว่า "มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะแจกจ่ายเอกสาร" 
 
ส่วนจำเลยที่ 5 ถูกจับกุมในภายหลังตอนช่วงกลางคืน เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า มีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิด ขณะนายภานุวัฒน์ขนเอกสารรณรงค์ของ NDM แต่ในการตรวจค้นบ้านพักของนายภานุวัฒน์ไม่พบเอกสารรณรงค์ของ NDM แต่อย่างใด
 
นอกจากนี้ จำเลยที่ 1-4 ยังถูกฟ้องในข้อหาตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 25 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา เนื่องจาก ไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติการต้องโทษทางอาญาซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
อย่างไรก็ดี จำเลยทั้งหมดขอยื่นประกันตัวและศาลให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เดิมในขั้นตอนการสอบสวนเป็นเงินคนละ หนึ่งแสนสี่หมื่นบาท โดยศาลนัดสมานฉันท์วันที่ 21 กันยายน 2559 และ นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การวันที่ 17 ตุลาคม 2559
 
21 กันยายน 2559 
 
นัดสมานฉันท์
 
เวลา 9.30 น. ปกรณ์ อารีกุล และพวกรวม 5 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แจกจ่ายสติกเกอร์รณรงค์โหวตโนที่จังหวัดราชบุรี และถูกตั้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 ได้เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ณ สำนักงานอัยการภาค 7
 
เนื่องจาก เห็นว่าการดำเนินคดีในครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อรัฐในการสร้างบรรยากาศการปรองดรอง อีกทั้ง รัฐธรรมนูญยังเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศซึ่งมีความสำคัญโดยตรงต่อชีวิตจึงจำเป็นจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและเปิดกว้าง 
 
นอกจากนี้ การดำเนินคดีดังกล่าว ยังกระทบต่อผลประโยชน์สำคัญของประเทศในด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และ พ.ร.บ.ประชามติฯ ก็ได้ให้การรับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติไว้ในมาตรา 7 อีกด้วย
 
เมื่อสิ้นสุดการยื่นหนังสือดังกล่าว ผู้ต้องหาและทนายความได้เดินทางไปพบอัยการที่ศาลจังหวัดราชบุรีต่อ ตามที่มีการนัดสมานฉันท์ไว้ที่ศาลจังหวัดราชบุรี
 
เวลา 10.30 น. จำเลยทั้ง 5 ในคดีครอบครองเอกสารและน่าเชื่อว่าจะแจก "สติกเกอร์โหวตโน" ที่จังหวัดราชบุรี ได้เข้าห้องพิจารณาคดีในนัดสมานฉันท์
 
ทั้งนี้ กระบวนการสมานฉันท์เป็นขั้นตอนใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาในกระบวนการดำเนินคดี เพื่อให้ศาลชี้แจงสิทธิ หน้าที่และประโยชน์ต่างๆ แก่คู่ความให้เข้าใจและตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินคดีในชั้นศาล รวมถึงสิทธิประโยชน์หากเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์ ซึ่งบางกรณีที่โจทก์และจำเลยเห็นชอบร่วมกันก็อาจทำให้คดีจบเร็วขึ้น
 
โดยนัดครั้งนี้ ศาลได้อธิบายให้จำเลยทราบว่า แนวทางนับจากนี้คือ จำเลยจะรับสารภาพ หรือยืนยันที่จะต่อสู้คดีต่อ ทั้งนี้ ศาลอธิบายว่า โทษในคดี พ.ร.บ.ประชามติฯ ไม่ใช่โทษสูง และข้อกฎหมายยังเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการลงโทษได้กว้าง หากจำเลยรับสารภาพศาลก็สามารถพิจารณาลงโทษให้เหมาะสมกับจำเลยได้
 
อย่างไรก็ดี ทนายจำเลยได้ชี้แจงต่อศาลว่า การรับสารภาพข้อกล่าวหาอาจจะไม่เหมาะสมกับข้อเท็จจริงในคดีนัก เนื่องจาก สติ๊กเกอร์รณรงค์โหวตโนเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน อีกทั้ง กกต. นำโดย สมชัย ศรีสุทธิยากร ได้แถลงต่อสาธารณะว่าการแจกจ่ายสติ๊กเกอร์รณรงค์โหวตโนไม่เป็นความผิด
 
นอกจากนี้ การดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาใช้สิทธิรณรงค์ประชามติยังถูกท้วงติงโดยข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งทนายความได้ชี้แจงเอกสารดังกล่าวต่อศาลเพื่อให้เห็นว่าการดำเนินคดีดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อรัฐในการนำประเทศสู่การปรองดองและเคารพสิทธิมนุษยชน
 
ในชั้นศาล ปกรณ์ อารีกุล จำเลยที่ 1 ให้การต่อศาลเพื่อยืนยันอีกครั้งว่า การแจกจ่ายเอกสารเพื่อแสดงความคิดเห็นนั้นควรเป็นสิ่งที่ทำได้ มิเช่นนั้นจะเท่ากับว่า ประชาชนไม่สามารถคิดเห็นแตกต่างจากรัฐได้เลย ด้าน ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท ก็ได้ชี้แจงต่อศาลด้วยเช่นกันว่า ตนเป็นผู้สื่อข่าวที่เดินทางมากับแหล่งข่าว แต่กับถูกตั้งข้อหาในคดีนี้ไปด้วย 
 
เมื่อสิ้นสุดการชี้แจง ศาลจะนำคดีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการปกติ โดยศาลนัดพร้อมเพื่อพิจารณาคดีต่อในวันที่ 17 ตุลาคม 2559
 
17 ตุลาคม 2559
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ศาลจังหวัดราชบุรีนัดตรวจพยานหลักฐาน แต่ฝ่ายจำเลยยังไม่พร้อมจึงแถลงต่อศาลขอให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปก่อน ศาลอนุญาตและนัดตรวจพยานหลักฐานใหม่ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559
 
14 พฤศจิกายน 2559
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ศาลจังหวัดราชบุรีนัดตรวจพยานหลักฐาน ฝ่ายโจทก์แถลงขอนำพยานบุคคลเข้าสืบรวมห้าปาก ฝ่ายจำเลยแถลงขอนำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 12 ปาก มีจำเลยทั้งห้าและบุคคลสำคัญอื่นๆเช่น จีรนุช เปรมชัยพร ผอ.สำนักข่าวประชาไท อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง เป็นต้น หลังเสร็จสิ้นการตรวจพยานหลักฐาน ศาลนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 21 – 24 มีนาคม 2560 
 
21 มีนาคม 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.ต.ท.เนรมิต งามขำ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม
 
ศาลจังหวัดราชบุรีเริ่มการสืบพยานในเวลาประมาณ 10.20 น. เนื่องจากมีการพิจารณาคดีอื่นก่อน และผู้พิพากษาหลักติดวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ 

พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่าเขารับราชการตำรวจสังกัดสำนักกองบัญชาการตำรวจสันติบาล มีหน้าที่สืบสวน สอบสวน หาข่าวเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ โดยมีหน้าที่รับผิดชอบให้ดูแลพื้นที่จังหวัดราชบุรี สำหรับสถานที่ทำงานเรียกว่าว่า “เซฟเฮาท์” อยู่ที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี
 
เกียวกับคดีนี้วันที่ 10 กรกฎาคม 2559 เวลาประมาณก่อนเที่ยงวัน ขณะที่พ.ต.ท.เนรมิตอยู่ที่บ้านก็ได้รับแจ้งจากสายลับผ่านทางแอพฟิเคชั่นไลน์ว่า มีการเผยแพร่เอกสารโหวตโนบริเวณสภานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ช่วงเวลานั้นเกิดขึ้นก่อนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการอออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 บัญญัติห้ามผู้ใดเผยแพร่เอกสารหรือกระทำการใด ทำให้เกิดการชี้นำให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
 
พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความต่อว่าสายลับได้ส่งรูปคนที่มีสติ๊กเกอร์โหวตโนติดที่อยู่ที่บริเวณหน้าอกมาให้ดู ซึ่งคนที่ติดสติ๊กเกอร์ที่หน้าอกคือ บริบูรณ์ เป็นผู้มีเป็นส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่จังหวัดราชบุรี เมื่อ 9 มิถุนายน 2559 ซึ่ง สภ.บ้านโป่ง ตั้งข้อหาเป็นการชี้นำให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งวันดังกล่าวบริบูรณ์ได้เข้าไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน ที่สถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง
 
เมื่อทราบเหตุพ.ต.ท.เนรมิตจึงได้แจ้งต่อพ.ต.อ.สุพัฒน์ เชยชิด รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรีในขณะนั้น เมื่อพ.ต.ท.เนรมิตเดินทางไปถึง สภ.บ้านโป่ง มีการค้นพบเอกสารจากรถกระบะคันหนึ่ง เมื่อทราบเรื่องดังกล่าวจึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ และทำการยึดรถคันดังกล่าว

หลังการยึดรถได้มีการติดตามหาเจ้าของรถจนทราบว่าเจ้าของรถคันดังกล่าวเป็นผู้ที่มาให้กำลังใจบริบูรณ์ โดยมีบุคคลที่เป็นเจ้าของรถ และบุคคลที่โดยสารมาในรถคันดังกล่าวรวมสี่คน 
 
พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความต่อว่าในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นรถคันดังกล่าว พบ ตู้ลำโพง ไมค์ เอกสารจุลสารเกี่ยวกับการทำประชามติ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสี่ในข้อหาร่วมกันเผยแพร่เอกสารขัดพ.ร.บ.ประชามติฯ ในชั้นจำกุมทั้งสี่ให้การปฏิเสธ พ.ต.ท.เนรมิตได้ร่วมลงชื่อในบันทึกการจับกุมผู้ต้องหาด้วย
 
เมื่ออัยการนำเอกสารแสดงภาพบุคคลให้ดู พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่า ในภาพถ่ายคือ ภานุวัฒน์ ทราบว่าถูกจับภายหลัง เนื่องจากยกเอกสารลงจากรถกระบะคันที่จะมีการตรวจค้น แต่ภานุวัฒน์ไม่ใช่หนึ่งในสี่คนที่เป็นเจ้าของรถ หรือนั่งโดยสารมาในรถกระบะ ตัวและพ.ต.ท.เนรมิตไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจับกุม ภานุวัฒน์
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่า ตัวเขาจบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่าในการได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ราชบุรี เขาได้รับเอกสารคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ไม่ได้ส่งเอกสารดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนเนื่องจากไม่มีการร้องขอ ในตัวคำสั่งระบุวันเริ่มปฏิบัติหน้าที่แต่ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด
 
พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุสายลับแจ้งว่ามีการแจกเอกสารโหวตโน แต่ไม่ได้บอกว่าบุคคลใดเป็นผู้แจก สำหรับสายลับเป็นชายไทย แต่ไม่อาจเปิดเผยชื่อได้ โดยพ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่าเขารู้จักกับสายลับมากว่าสองปี พ.ต.ท.เนรมิตกล่าวต่อว่า เมื่อเดินทางไปถึง สภ.บ้านโป่ง พบว่าจำเลยทั้งสี่ซึ่งเกี่ยวข้องกับรถกระบะคันดังกล่าวมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะก่อการแจกเอกสาร แต่สายลับไม่ได้ส่งภาพที่มีการแจกจ่ายให้กับพยาน
 
ทนายจำเลย ถามพ.ต.ท.เนรมิตถึงคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ที่พูดผ่านรายการคืนความสุข ว่าจะไปออกเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ว่าผิดพ.ร.บ.ประชามติหรือหรือไม่ พ.ต.ท.เนรมิตเห็นว่าไม่ผิดเนื่องจากเป็นความเห็นส่วนตัว เมื่อถามว่าที่ไม่ผิดเพราะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ตามพ.ร.บ.ประชามติฯ หรือไม่ พ.ต.ท.เนรมิตไม่ขอตอบคำถามนี้
 
เนื่องจากการสืบพยานล่วงเลยมาถึงเวลาเที่ยง แต่ทนายจำเลยยังคงมีคำถามจำนวนมากจึงขอเลื่อนไปถามค้านพยานโจทก์ต่อไปในช่วงบ่าย
ซึ่งเริ่มในเวลา 13.30 น.

ทนายจำเลยถามต่อว่า ข้อความคำพูดของพลเอกประยุทธ์ เป็นการปลุกระดม เป็นการโน้มน้าวให้ไปรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ พ.ต.ท.เนรมิตตอบว่าไม่แน่ใจ

ส่วนสติ๊กเกอร์โหวตโน เป็นการรณรงค์จูงใจให้ผู้คนไปลงมติออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่พ.ต.ท.เนรมิตคิดว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อความที่ก้าวร้าว หยาบคาบ และรุนแรง ส่วนจะเป็นการปลุกระดมหรือไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนเอกสารที่พบถ้าพบเป็นจำนวนมากก็จะเป็นการปลุกระดม ทนายจำเลยถามว่าผริมาณมากหมายถึงเท่าไหร่ พ.ต.ท.เนรมิตตอบว่าปริมาณมากคือจำนวน 50 แผ่นขึ้นไป
 
ทนายจำเลยถามว่า ก่อนการออกเสียงประชามติจะมีการแจกจ่ายเอกสารสรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่า เอกสารสรุปสาระสำคัญรณรงค์ให้ประชาชนไปลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้ผู้อ่านเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าทราบหรือไม่ว่ามาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และรับรองพันธกรณีระหว่างประเทศ พ.ต.ท.เนรมิตตอบว่าทราบ แต่ไม่ทราบละเอียดว่ามีอะไรบ้าง
 
ทนายจำเลยนำนำข้อความคำให้สัมภาษณ์ของนักการเมือง และนักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นสนับสนุนและคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญมาให้ดู พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่า การแสดงความคิดเห็นของนักการเมือง นักวิชาการ เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก เช่นเดียวกับข้อความในสติ๊กเกอร์โหวตโน
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า ทราบหรือไม่ว่าที่มาของนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นอย่างไร พ.ต.ท.เนรมิตตอบว่าทราบ ทนายจำเลยถามต่อว่า ที่มาของ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของคสช.ทั้งหมด พ.ต.ท.เนรมิตมีความกังวลหรือไม่ พ.ต.ท.เนรมิตตอบไม่กังวล เนื่องจากเชื่อว่าบุคคลที่แต่งตั้งเข้ามามีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบได้ภายหลัง และเชื่อว่าคนที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาน่าจะเป็นคนดี แต่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย 
 
การสืบพยานปากแรกดำเนินมาจนหมดเวลาราชการแต่ทนายจำเลยยังถามคำถามไม่เสร็จ ทนายจำเลยขอเลื่อนไปถามพยานปากนี้ต่อในวันถัดไป อัยการไม่คัดค้าน ศาลจึงอนุญาตให้ไปถามค้านพยานต่อ และได้มีการกำชับให้ทนายจำเลยถามค้านให้กระชับรัดกุมและตรงประเด็นในระหว่างการถามค้านด้วย 
 
22 มีนาคม 2560

นัดสืบพยานโจทก์

สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.ต.ท.เนรมิต งามขำ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม (สืบต่อจากนัดวันที่ 21 มีนาคม 2560)

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ศาลจังหวัดราชบุรีสืบพยานต่อโดยเป็นการถามค้านของทนายจำเลยต่อ พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความตอบทนายจำเลยต่อว่า ข้อความในสติกเกอร์บนอกเสื้อของบริบูรณ์ ที่เขียนว่า "7 สิงหา ร่วมกันโหวตโนไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" นั้นจะเป็นการปลุกระดมตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับปริมาณ หากพบมากกว่า 50 แผ่นขึ้นไปอาจถือได้ว่าเป็นการปลุกระดม
 
ทนายจำเลยขอส่งเอกสารเป็นหลักฐานให้ศาลซึ่งเป็นภาพถ่ายบัตรประชามติ พ.ต.ท.เนรมิตยืนยันหลักฐานดังกล่าวว่าเป็นของจริงเนื่องจากได้ไปลงประชามติด้วย ทนายจำเลยถามต่อว่า พ.ต.ท.เนรมิตทราบหรือไม่ว่าในบัตรประชามติมีคำถามพ่วงด้วย พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่าทราบ

ทนายจำเลยอ่านคำถามพ่วงให้พ.ต.ท.เนรมิตฟังว่า 'ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา' แล้วถามว่า พ.ต.ท.เนรมิตเข้าใจความหมายของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาหรือไม่ พ.ต.ท.เนรมิตตอบว่าทราบ พ.ต.ท.เนรมิตได้ศึกษาและทราบมาว่าที่ประชุมร่วมหมายถึงสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับสมาชิกวุฒิสภาจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภาจะลงคะแนนส่วนหนึ่งเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี

ทนายจำเลยถามพ.ต.ท.เนรมิตต่อว่า ที่เบิกความข้างต้นว่า สมาชิกวุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้นจะมีความหมายไปในทางเดียวกันกับข้อความในสติ๊กเกอร์ที่ว่า "ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.เนรมิตตอบว่า ใช่

พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความต่อว่า จากข้อมูลที่ได้รับแจ้งมาจากสายลับ ไม่มีข้อมูลว่าจำเลยที่หนึ่งมีส่วนร่วมในการนัดประชุมหรือตกลงในการแจกจ่ายเอกสารหรือสติ๊กเกอร์แต่อย่างใด

ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.ท.เนรมิตทราบหรือไม่ว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเคยเรียกร้องขอให้ประเทศไทยยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีต่อนักกิจกรรมการเมืองและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พ.ต.ท.เนรมิตตอบว่าเคยได้ยินแต่จำรายละเอียดไม่ได้

พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่าเหตุที่จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีนี้ เนื่องจากมีการแจกจ่ายเอกสารที่เป็นสติ๊กเกอร์เพียงอย่างเดียว สำหรับทรัพย์รายการอื่นที่เจ้าพนักงานได้ตรวจยึด ถึงแม้มีการแจกจ่ายแล้วก็ไม่มีความผิด

พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความยอมรับว่า ตอนนี่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดของกลางและทำบันทึกการตรวจยึด  พ.ต.ท.เนรมิตไม่ได้ลงมือชื่อไว้ด้วย ตามที่ปรากฎในเอกสารหลักฐาน และภาพถ่ายของบริบูรณ์ที่มีกลุ่มบุคคลมาให้กำลังใจที่โจทก์ส่งเป็นหลักฐาน พ.ต.ท.เนรมิตก็ไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ และสายลับก็ไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้

พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความต่อว่า ลายมือชื่อของพนักงานสอบสวนที่ปรากฎในเอกสารหลักฐาน จะเป็นการลงลายมือชื่อในวันเวลาเดียวกับที่มีการสอบสวนหรือไม่พ.ต.ท.เนรมิตไม่ทราบ ทราบแต่ว่าในขณะเกิดเหตุพ.ต.ท.เนรมิตได้ไปให้ถ้อยคำแก่ร้อยตำรวจเอกยุทธนา ภูเก้าแก้ว แต่เหตุใดลายมือชื่อของพนักงานสอบสวนจะลงยศพันตำรวจโท พ.ต.ท.เนรมิตนไม่ทราบ

เนื่องจากการสืบพยานดำเนินมาถึงในเวลาเกือบ 12.00 น. ทนายจำเลยจึงขอเลื่อนไปถามค้านพยานโจกท์ปากนี้ต่อในช่วงบ่าย อัยการไม่คัดค้าน ศาลจึงให้ไปสืบพยานต่อในช่วงบ่าย

ทนายจำเลยถามคำถามต่อในช่วงบ่ายว่า เอกสารหลักฐานของโจทก์ที่มีการทำเครื่องหมายดอกจันสีแดง พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่าไม่ทราบว่าเครื่องหมายดังกล่าวทำทับภาพบุคคลใด ทราบว่าบุคคลที่ทำสัญลักษณ์เครื่องหมายดอกจันสีแดงเป็นใคร และบุคคลดังกล่าวไม่ได้กระทำการแจกสติ๊กเกอร์และไม่มีสติกเกอร์ติดอยู่ที่บริเวณร่างกายหรือเสื้อผ้า
 
ทนายจำเลยถามว่าขณะเกิดเหตุสายลับที่อ้างถึงอยู่ที่ใด พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่า สายลับอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง ตั้งแต่ก่อนบริบูรณ์ เกียงวรางกูร จะเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน โดยมีกลุ่มมวลชนกลุ่มหนึ่งมาให้กำลังใจ เมื่อถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร่วมกันตรวจค้นรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ สายลับได้ส่งภาพถ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์มาให้พ.ต.ท.เนรมิตดู

พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่า ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นต่างได้เช่นกัน โดยสามารถแสดงความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

ทนายจำเลยได้นำสติ๊กเกอร์งดเหล้าในวันเข้าพรรษาให้พ.ต.ท.เนรมิตดูพร้อมถามว่า เป็นการปลุกระดมหรือรณรงค์อย่างไร พยานตอบว่า เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนทำสิ่งที่ดี หากมีการแจกจ่ายเกิน 50 แผ่นก็ไม่ถือเป็นการปลุกระดมแต่อย่างใด

พ.ต.ท.เนรมิตยืนยันว่า ข้อความที่ปรากฎในสติ๊กเกอร์ในคดีนี้ถือได้ว่าเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งขัดต่อกฎหมาย แต่เมื่อพ.ต.ท.เนรมิตได้ดูกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชาชนมติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่า มาตรา 61 วรรคสอง ก็ปรากฎว่ามีข้อความใดปรากฎว่าห้ามรณรงค์และเชิญชวนให้ประชาชนไปลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความยืนยันว่า ข้อความที่ปรากฎในสติ๊กเกอร์โหวตโน ไม่ใช่ข้อความที่รุนแรงก้าวร้าว หรือหยาบคาย และเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า หากแจกจ่ายสติ๊กเกอร์โหวตโนดังกล่าวเกิน 50 ใบที่มีข้อความที่ไม่รุนแรง ก้าวร้าว หรือหยาบคายดังกล่าว ก็ไม่เป็นความผิดใช่หรือไม่ พ.ต.ท.เนรมิตตอบว่าไม่ใช่

ทนายจำเลยให้พ.ต.ท.เนรมิตดูภาพถ่ายที่เป็นเอกสารหลักฐานและถามว่า ไม่ปรากฎว่ามีภาพของอนันต์ โลเกตุ จำเลยคดีที่สามในคดีนี้ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.เนรมิตดูภาพถ่ายทั้งหมดแล้วตอบว่าใช่
พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่า ภาพถ่ายที่เป็นเอกสารหลักฐานเป็นภาพเดียวกัน และบุคคลในภาพถ่ายทั้งสองภาพ ไม่มีผู้ใดติดสติ๊กเกอร์โหวตโนที่ร่างกายและบนเสื้อผ้า

พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่า ตามภาพถ่ายที่เป็นเอกสารหลักฐาน มีบุคคลสวมเสื้อขาวถือเอกสารอยู่ แต่ไม่ปรากฎว่ามีจำเลยที่สามถือเอกสารอยู่ในภาพทั้งสอง และในภาพถ่ายอีกแผ่นหนึ่งก็ไม่ปรากฎว่ามีภาพจำเลยที่สามเช่นกัน

พ.ต.ท.เนรมิตทราบว่า ประชากรในประเทศไทยมีประมาณ 65 ล้านคน และหากนำจำนวนดังกล่าวมาเทียบกับสติ๊กเกอร์ 50 แผ่น ถือว่าน้อยมาก แต่เมื่อทนายจำเลยที่สามถามว่า ปริมาณสติ๊กเกอร์เท่าใด จึงจะสามารถปลุกระดมคนจำนวน 65 ล้านได้ พ.ต.ท.เนรมิตตอบว่าไม่ทราบ

พ.ต.ท.เนรมิตทราบว่า ผลการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ คะแนนเสียงส่วนใหญ่ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างจากข้อความที่ปรากฎในสติ๊กเกอร์โหวตโน และพื้นที่ที่พ.ต.ท.เนรมิตดูแลไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใดใดเกิดขึ้น

ทนายจำเลยให้พ.ต.ท.เนรมิตดูภาพถ่ายที่เป็นเอกสารหลักฐาน พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่า ไม่มีภาพของอนุชา รุ่งมรกต จำเลยคดีที่สี่ ในคดีนี้ และตามเอกสารหลักฐานหมายอีกแผ่นหนึ่งพ.ต.ท.เนรมิตได้ลงลายมือชือไว้เป็นพยานในบันทึกการจับบกุมจำเลยที่ หนึ่งถึงที่สี่ด้วย แต่ในเอกสารดังกล่าวไม่มีข้อความระบุว่า จำเลยที่สี่ได้กระทำการแจกจ่ายเอกสารหรือสติ๊กเกอร์แต่อย่างใด

พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่า เอกสารตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันเผยแพร่ข้อความระบุ "7 สิงหาร่วมกันโหวตโน ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" นั้น พยานไม่เห็นจำเลยที่สี่แจกจ่ายเอกสารหรือสติ๊กเกอร์ แต่สายลับบอกว่ามีการแจกจ่ายเอกสารดังกล่าว ซึ่งพยานไม่สามารถเปิดเผยชื่อและนามสกุลของสายลับได้

ก่อนเกิดเหตุ พ.ต.ท.เนรมิตทราบว่า บริบูรณณ์ ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่มีการจัดตั้งเวทีปราศรัยของมวลชนที่แสดงความคิดเห็นต่าง ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และพ.ต.ท.เนรมิตก็ทราบว่า บริบูรณ์เคยไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย

ส่วนบริบูรณ์จะได้สติ๊กเกอร์โหวตโนมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือไม่ พ.ต.ท.เนรมิตไม่ทราบ แต่ตัวเขาได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำกิจกรรมรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก่อนวันลงประชามติในเขตพื้นที่ที่เขารับผิดชอบ

พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่า สาเหตุที่ ภานุวัฒน์ จำเลยที่ห้าในคดีนี้ ถูกดำเนินคดีเนื่องจากมีพยานหลักฐานเชื่อได้ว่า จำเลยที่ห้าได้กระทำการแจกจ่ายเอกสารที่เกี่ยวกับความเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สำหรับพ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่าเขาเป็นผู้รายงานว่า มีเหตุการณ์แจกจ่ายเอกสารไปที่ตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรีและร่วมกันเข้าจับกุม จำเลยที่หนึ่งถึงที่สี่เท่านั้น

พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความต่อว่า ก่อนที่เขาจะร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยทีหนึ่งถึงที่สี่ พ.ต.ท.เนรมิตเคยอ่าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ไม่ได้อ่านละเอียด และไม่ได้อ่านมาตรา 7 ของกฎหมาย

ในขณะที่จับกุมจำเลยทีหนึ่งถึงที่สี่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดแจ้งสิทธิแก่จำเลย ในมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

ทนายจำเลยให้พ.ต.ท.เนรมิตอ่านข้อความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีใจความสำคัญว่า ให้บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย

ทนายจำเลยถามพ.ต.ท.เนรมิตว่า รู้จักแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือไม่ พ.ต.ท.เนรมิตตอบว่าไม่รู้จัก แต่เคยได้ยิน ส่วนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะปรากฎอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ พ.ต.ท.เนรมิตไม่ทราบ

พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่าเขาไม่กังวลที่สมาชิกวุฒิสภาจะเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเขา เชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภาที่ได้มาจะได้คนดีเข้ามา แต่ในประเด็นนี้ประชาชนสามารถเห็นต่างได้

พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่า หากมีการรณรงค์ไปในทางในดีจะไม่ใช่การปลุกระดม แต่หากมีการรณรงค์ให้ประชาชนไปทำในสิ่งที่ไม่ดี ก็เป็นการปลุกระดม

เมื่อทนายจำเลยถามว่าการรณรงค์ให้คนไปรับร่างรัฐธรรมนูญ หรือรณรงค์ให้ไม่รับร่างเป็นความผิดหรือไม่ พ.ต.ท.เนรมิตตอบว่าการรณรงค์ทั้งสองถือว่าขัดต่อกฎหมาย

ทนายจำเลยถามว่า กรณีที่นายกรัฐมนตรีแถลงว่าจะไปรับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีจำนวนคนที่รับฟังมาก มีผลต่อการปลุกระดมหรือไม่ พ.ต.ท.เนรมิตตอบว่ามีผล เวลาที่นายกรัฐมนตรี พูดผ่านโทรทัศน์มีจำนวนคนฟังมากกว่า 50 คน แต่นายกรัฐมนตรีให้เหตุผลในการพูดทุกครั้ง ส่วนการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของผู้คนที่เคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรม ตัวเขาเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุผล

พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่า มาตรา 61 วรรค 2 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีข้อความว่าจูงใจ

ตอบอัยการถามติง

อัยการให้พ.ต.ท.เนรมิตอ่านข้อความในมาตรา 61 วรรคสองของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แล้วถามพ.ต.ท.เนรมิตว่า หากมีการกระทำดังกล่าวตามถ้อยคำว่าโหวตโน หรือโนโหวตก็เป็นความผิดใช่หรือไม่ พ.ต.ท.เนรมิตตอบว่า ใช่

พ.ต.ท.เนรมิตยืนยันว่าสติ๊กเกอร์สีน้ำเงินเขียนข้อความโหวตโนเป็นสติ๊กเกอร์แบบเดียวกันที่มีข้อความว่า "7 สิงหา ร่วมกันโหวตโน ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" ส่วนทรัพย์สินรายการอื่นที่อยู่นอกเหนือจากบัญชีของกลาง ผู้ใดมีไว้ครอบครองก็ไม่เป็นความผิด นอกเสียจากจะไปแจกจ่ายข้อความหรือสิ่งของดังกล่าว โดยมุ่งหวังเพื่อเป็นการแผนแพร่จึงจะเป็นความผิด

ส่วนที่พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในส่วนที่นักวิชาการ นักการเมือง ที่มาให้ความคิดเห็นหรือความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผิดต่อกฎหมายนั้น พ.ต.ท.เนรมิตเบิกความว่าเป็นเพราะบุคคลดังกล่าวยังไม่ได้กระทำการแจกจ่ายหรือเผยแพร่เอกสาร ซึ่งจะเป็นการขัดต่อกฎหมาย

พ.ต.ท.เนรมิตเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นโดยส่วนตัวเกี่ยวกับการลงประชามติไม่ผิด แต่เหากมีการจูงใจให้รับหรือไม่รับร่างรัฐูรรมนูญ การกระทำดังกล่าวก็จะเป็นความผิด

ทนายจำเลยขออนุญาตศาลถามคำถามเพิ่มเติม ศาลอนุญาต ทนายจำเลยถามพ.ต.ท.เนรมิตว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีแถลงข่าวและมีการเผยแพร่ทางโทรทัศน์ว่าจะไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดหรือไม่ พ.ต.ท.เนรมิตตอบว่าไม่ผิด เนื่องจากเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว
 
หลังสืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่งเสร็จ ศาลสั่งให้นำพยานปากที่สองขึ้นเบิกความต่อทันที
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง ร.ท.คเณศ เจี้ยมดี เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม
 
ร.ท.คเณศเบิกความว่า เขารับราชการทหาร ตำแหน่งรองผู้บังคับการกองร้อยทหารช่างสนาม กองพันทหารช่างที่ 52 กรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ จังหวัดราชบุรี ขณะเกิดเหตุเขามีตำแหน่งหัวหน้าชุดมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่อำเภอบ้างโป่ง จังหวัดราชบุรี และดูแลเกี่ยวกับการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและปฏิบัติตามคำสั่งของคสช.
 
ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 บริบูรณ์ เกียงวรางกูร ต้องมารายงานตัววต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง เกี่ยวกับคดีตั้งศูนย์ปราบโกงซึ่งขัดต่อคำสั่งของคสช. ตัวเขาได้รับมอบหมายให้มาดูแลความสงบ
 
เมื่อเดินทางมาถึงสถานีตำรวจ เขาพบผู้ใต้บังคับบัญชา และได้ทราบว่า มีการพบสติ๊กเกอร์โหวตโนพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญภายในรถยนต์กระบะ ยี่ห้อเชฟโรเล็ตสีบรอนซ์เงิน ไม่ทราบคันหมายเลขทะเบียน ซึ่งจอดอยู่ในบริเวณสถานีตำรวจ

ร.ท.คเณศได้รับแจ้งว่ามีผู้ต้องหาจำนวน 4 คน ซึ่งพนักงานตำรวจได้เชิญขึ้นไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจภูธร แต่พยานไม่ได้เข้าร่วมการสอบสวน แต่ร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นรถยนต์กระบะโดยมีผู้ต้องหาเดินทางไปตรวจค้นด้วย แต่ก่อนจะไปตรวจค้นรถ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปิดภาพวิดีโอให้พยานดู ซึ่งมีจำเลยที่ 5 ภานุวัฒน์ อยู่ด้วย โดยจำเลยที่ 5 ได้นำเอกสารจำนวนหนึ่งให้แก่หญิงคนหนึ่ง โดยเอกสารดังกล่าวเป็นสติ๊กเกอร์โหวตโน และตอนนั้นมีจำเลยที่ 4 อยู่ด้วย
พยานเบิกความว่า ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเชิญตัวจำเลยที ่1 ถึง 4 ไปสถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 1 ถึง 4 ว่า แพร่ข้อความ ภาพ เสียงฯ ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย อันก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปตามความเรียบร้อย โดยพยานร่วมลงลายมือชื่อในฐานะผู้ร่วมจับกุ่ม
หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่ามีภาพถ่ายของจำเลยที่ 5 อยู่ในภาพวิดีโอ พยานได้เดินทางไปบ้านของจำเลยที่ 5 ที่จังหวัดนครปฐม เพื่อเชิญตัวและตรวจสอบว่าจำเลยที่ 5 มีเอกสารอื่นไว้ในครอบครองหรือไม่ โดยเดินทางไปกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองรวม 10 กว่าคน เมื่อไปถึงได้แจ้งกับจำเลยที่ 5 ว่าขอเข้าตรวจค้นภายในบ้านและจำเลยที่ 5 ยินยอม แต่ไม่พบเอกสารหรือสิ่งของอื่นใดที่ขัดต่อความสงบ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเชิญมาสถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง
พยานเบิกความหลังอัยการให้ดูภาพถ่ายสติ๊กเกอร์โหวตโน พยานตอบว่ามีลักษณะเหมือนกับสติ๊กเกอร์ที่พบเห็นจากการตรวจค้นรถกระบะ และตรงกับสติ๊กเกอร์ที่จำเลยที่ 4 และ 5 ยื่นให้หญิงคนหนึ่ง
ศาลให้ทนายความจำเลยทั้ง 5 ไปถามค้านต่อในช่วงบ่าย
ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน
พยานเบิกความว่า คสช. กำหนดให้มีวันออกเสียงลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 โดยมีการรณงค์ให้ประชาชนใช้สิทธิออกเสียง ขณะนั้นมีจุลสารรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเอกสารดังกล่าวคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นคนจัดทำ ซึ่งเป็นเอกสารที่พบในเอกสารของกลางที่ยึดในคดีนี้ด้วย
ในคดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ มีแต่สติ๊กเกอร์ข้อความ "๗ สิงหา ร่วมกันโหวตโน ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" แต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ระบุว่ามีการแจกจ่ายเอกสารหรือสิ่งของอย่างอื่น
ในวันเกิดเหตุ พยานไม่ได้พบว่าจำเลยทั้ง 5 แจกจ่ายเอกสารหรือสติ๊กเกอร์ด้วยตัวเอง และผู้ใต้บังคับบัญชาก็ไม่ได้เหตุการณ์ด้วยตนเองเช่นกัน ส่วนพฤติการณ์แห่งคดีที่ระบุตอนจับกุมมีว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งว่ามีบุคคลใช้รถยนต์กระบะบรรทุกอุปกรณ์สิ่งของมาท้ายรถ และมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมาทำการแจกจ่ายเอกสารแผ่นผับ ใบปลิว เกี่ยวกับการรณรงค์ต่อต้านการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ
พยานไม่เห็นจำเลยทั้งห้า ได้ทำการแจกจ่ายสติ๊กเกอร์ให้กับ บริบูรณ์ เกียงวรางกูร ทั้งไม่ได้รับแจ้งจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่าพบเห็นการกระทำดังกล่าว
พยานเบิกความว่าข้อความในสติ๊กเกอร์โหวตโน ไม่ใช่ข้อความที่ก้าวร้าว รุนแรง หรือหยาบคาย เมื่อพยานดูความหมายของคำว่าปลุกระดมตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เข้าใจความหมายว่า เร้าใจและยุยงให้ประชาชนลุกฮือ
พยานเห็นว่า การแถลงผ่านสื่อมวลชนของ พล.อ.ประยุทธ และคำสัมภาษณ์ของอภิสิทธิ์ และสุเทพ เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ไม่ใช่การปลุกระดม ซึ่งแตกต่างกับข้อความที่ปรากฎในสติ๊กเกอร์ และหากทนายจำเลยที่ 1 มีสติ๊กเกอร์โหวตโนไปสัมภาษณ์สื่อทางโทรทัศน์จะไปลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่เป็นความผิด
พยานสงสัยในส่วนที่เขียนว่า ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก แต่เข้าใจข้อความในบัตรออกเสียงประชามติในส่วนหัวข้อเพิ่มเติมที่ว่า ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หมายถึงให้ที่ประชุมร่วมได้แก่ ส.ว. และ สส. เลือกนายกฯ ซึ่งพยานทราบว่า ส.ว. แต่งตั้งตามที่คสช. ถวายคำแนะนำพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังให้ ส.ว. มาจากผู้ที่ได้รับตำแหน่งโดยไม่ต้องเลือกตั้งอีก 6 คน แต่พยานเบิกความ เรื่องดังกล่าวไม่สอดคล้องกับข้อความที่ว่า ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก เพราะ ส.ว. 6 ตำแหน่ง เป็นเพียงจำนวนน้อย และที่ประชุมร่วมมีเสียงส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้ง
ส่วน ส.ว. ซึ่งดำรงตำแหน่งสำคัญในการบริหารประเทศไม่ได้มาจากการเลือกตั้งขัดต่อระบอบประชาธิปไตยที่ให้อำนาจสูงสุดเป็นของปวงชนใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ใช่
ส่วนกรณีมีกลุ่มนักวิชาการแถลงให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนค้านไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยนักวิชาการดังกล่าวได้สวมเสื้อแบบเดียวกับที่ปรากฎในตัววัตถุพยาน พยานเห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่ถือว่าผิดต่อกฎหมาย
พยานทราบว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ให้การรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย รวมถึงพันธกรณีซึ่งเป็นกติการะหว่างประเทศ เช่นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และพยานเคยได้ยินที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกข้อกล่าวหาที่มีต่อนักกิจกรรมทางการเมืองและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องจากแสดงความคิดเห็นต่างในร่างรัฐธรรมนูญ
ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน
พยานไม่ทราบว่าบุคคลที่ยืนอยู่ข้าง บริบูรณ์ เกียงวรางกูร ในเอกสารพยานหลักฐานหมาย จ.12 เป็นจำเลยที่ 2 และประกอบอาชีพเป็นนักข่าว แต่ทราบเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งและจำเลยที่ 2 ได้แสดงบัตรนักข่าวให้พยานดู และตามภาพถ่ายในเอกสารหมาย จ.12 ก็ปรากฎจำเลที่ 2 กำลังจดบันทึกถ้อยคำของบริบูรณ์ และไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 ติดสติ๊กเกอร์หรือแจกจ่ายสติ๊กเกอร์ให้กับผู้ใด และเอกสารภาพถ่ายดังกล่าวก็ไม่ปรากฎว่า จำเลยที ่1 ถึง 4 แจกจ่ายเอกสารหรือสติ๊กเกอร์ รวมทั้งไม่ได้ขนลงจากรถแต่อย่างใด
พยานทราบภายหลังว่า จำเลยที่ 2 มาทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวไม่ได้มาให้กำลังใจบริบูรณ์ และพยานเห็นว่า หากมีการให้ความเห็นเกี่ยวกับการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนเพื่อประกอบการตัดสินใจเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากเป็นการให้ข้อมูลและความแก่ประชาชนในการตัดสินใจ
การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเป็นรายบุคคล เช่นกรณีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น หรือ อภิสิทธิ์ เวชาชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ น่าจะกระทำได้ ไม่เป็นความผิดแต่การแสดคงความคิดเห็นเปนรายกลุ่มพยานไม่แน่ใจ
พยานตอบทนายจำเลยว่า ข้อความตามสติ๊กเกอร์โหวตโน อาจแปลได้สองความหมายคือ เชิญชวน กับอีกทางหนึ่งคือ สื่อให้เห็นว่า จะไปร่วมกันโหวตโน ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องสนับสนุนกลุ่มที่มีความเห็นต่างกันทั้งรับและไม่รับรัฐธรรมนูญ พยานไม่แน่ใจ แต่เอกสารในบัญชีของกลางที่ยึดในคดีมีเอกสารที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้จัดทำ
ตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้าน
พยานเบิกความว่าการจับกุมจำเลยทั้งห้าในคดีนี้ เนื่องจากมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมีการแจกจ่ายเอกสาร ซึ่งเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยอำนาจคำสั่งหัวหน้าคสช. ในการจับกุมจำเลยที่ 5 แต่จำเลยที่ 1 ถึง 4 ใช้กฎหมายปกติ
ทนายจำเลยที่ 3 ให้พยานดูว่าคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 13/2558 มีการระบุความผิดเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไว้หรือไม่ พยานตอบว่าไม่มี
ตอบทนายจำเลยที่ 4 ถามค้าน
พยานเบิกความว่า ก่อนวันออกเสียงลงประชามติ พยานได้รับคำสั่งเพียงว่า ห้ามมิให้มีการกระทำอันเป็นการปลุกระดมในพื้นที่ แต่ไม่ได้รับคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องการรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และพยานเห็นว่า การกระทำเพียงแค่แจกจ่ายสติ๊กเกอร์ก็น่าจะเป็นความผิดในขณะเกิดเหตุแล้ว แต่ในวันที่พยานเดินทางไปสถานีตำรวจ พยานไม่เห็นจำเลยทั้ง 5 ข่มขู่ให้ผู้ใดมีความเห็นรับหรือไม่ร่างรัฐธรรมนูญ
พยานเบิกความว่า ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 กำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และความคิดเห็นอาจจะมาในรูปแบบของข้อความหรือสิ่งพิมพ์ก็เป็นไปได้
ตอบทนายจำเลยที่ 5 ถามค้าน
พยานตอบทนายจำเลยที่ 5 ว่า พยานแยกแยะได้ว่า การกระทำใดเป็นการกระทำที่เรียกว่ารณรงค์หรือปลุกระดม ถ้าทำในสิ่งที่ถูกกฎหมายเรียกว่ารณรงค์ ผิดกฎหมายเรียกปลุกระดม การไปใช้สิทธิไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย
ทนายจำเลยถามต่อว่า เมื่อพยานได้ดูสติ๊กเกอร์โหวตโน พยานเกิดความรู้สึกอยากจะไปทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย ลุกฮือ หรือก่อความวุ่นวายหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่
ตอบอัยการถามติง
พยานเบิกความว่า วันที่ 7 สิงหาคม 2559 ถูกกำหนดให้เป็นวันออกเสียงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ การออกเสียงในวันดังกล่าวเป็นการกระทำในระบอบประชาธิปไตย พยานมีสิทธิที่จะเลือกหรือไม่เลือกรับร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ หากพยานได้รับสติ๊กเกอร์โหวตโน แล้ว พยานเห็นว่าน่าจะเป็นการปลุกระดมให้พยานไปใช้สิทธิไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
ตามภาพถ่ายหลักฐานหมาย จ.12 แผ่นที่ 3 และ 5 พยานไม่ทราบว่าเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง แต่ทราบว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ถึง 4 ยังไมไ่ด้เดินทางมาให้กำลังใจบริบูรณ์ บริบูรณ์ยังไม่มีการติดสติ๊กเกอร์ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึง 4 มาถึง จึงปรากฎสติ๊กเกอร์บนเสื้อของบริบูรณ์
 
24 มีนาคม 2560

นัดสืบพยานโจทก์

สืบพยานโจทก์ปากที่สาม พ.ต.ท.สรายุทธ บุรีวชิระ ผู้จับกุมจำเลย
 
พ.ต.ท.สรายุทธเบิกความว่า ขณะเบิกความรับราชการในตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวน หัวหน้างานสืบสวน สภ.บ้านโป่ง มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย
 
พ.ต.ท.สรายุทธเบิกความว่า วันที่ 10 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุคดีนี้ ได้รับแจ้งจากพ.ต.อ.สุพัฒน์ เชยชิด รองผู้บังคับการสภ.บ้านโป่งว่า มีกลุ่มบุคคลเดินทางโดยรถกระบะเข้ามาแจกเอกสารและแผ่นพับในบริเวณสภ.บ้านโป่ง พร้อมทั้งให้รายละเอียดเกี่ยวกับรถกระบะต้องสงสัยมาด้วย

เมื่อได้รับแจ้งเหตุจึงตรวจสอบว่ามีรถกระบะลักษณะตรงกับที่ได้รับแจ้งจอดอยู่ที่ลานจอดรถสภ.บ้านโป่ง จึงแจ้งผู้บังคับบัญชาพร้อมทั้งประสานเจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายปกครองเข้าตรวจสอบ เหตุที่ต้องประสานเจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายปกครองมาร่วมตรวจสอบด้วยเป็นเพราะคดีนี้เป็นคดีความมั่นคง

พ.ต.ท.สรายุทธเบิกความต่อว่า เมื่อมาถึงที่รถต้องสงสัยพบว่ามีลำโพง ไมคโครโฟน และเอกสารอยู่ที่บริเวณท้ายรถโดยมีแผ่นไวนิลคลุมทับสิ่งของดังกล่าวไว้

พ.ต.ท.สรายุทธและพวกจึงเฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณนั้นเพื่อดูว่าจะมีบุคคลใดมาที่รถคันดังกล่าว หลังจากนั้นประมาณห้านาที ปกรณ์ ทวีศักดิ์ อนันต์และอนุชา ซึ่งเป็นจำเลยที่หนึ่งถึงที่สี่ในคดีนี้เดินมาเข้าที่รถ เมื่อเข้าไปสอบถามจึงทราบว่า ปกรณ์เป็นเจ้าของรถ ส่วนจำเลยอีกสามคนร่วมเดินทางมากับรถคันดังกล่าว

เกี่ยวกับจุดประสงค์ในการเดินทางมาที่สภ.บ้านโป่งของจำเลยทั้งสี่ พ.ต.ท.สรายุทธเบิกความว่าปกรณ์ อนันต์และอนุชาอ้างว่ามาที่สภ.บ้านโป่งเพื่อให้กำลังใจบริบูรณ์กับพวกซึ่งมีกำหนดเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีชุมนุมทางการเมืองในวันนั้น ส่วนทวีศักดิ์อ้างว่า มาที่สภ.บ้านโป่งเพื่อทำข่าวการมารายงานตัวของบริบูรณ์กับพวก

พ.ต.ท.สรายุทธเบิกความต่อว่า หลังพบเจ้าของรถและสอบถามเบื้องต้นแล้วจึงดำเนินการตรวจสอบสิ่งของบนรถกระบะคันดังกล่าวพบสิ่งของหลายรายการ เช่น แผ่นป้ายไวนิลมีข้อความทางการเมืองซึ่งใช้คลุมสิ่งของที่อยู่บนรถเพื่อกันฝน ที่คั่นหนังสือเขียนข้อความโหวตโน ตู้ไมค์ ลำโพง ธงเขียนข้อความว่า "7 สิงหาร่วมกันโหวต ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" และเอกสารอื่นๆ

ระหว่างการเบิกความ พ.ต.ท.สรายุทธ ได้เดินออกจากคอกพยานมาบริเวณที่นั่งประชาชน ซึ่งพ.ต.ท.สรายุทธวางธงและเอกสารอื่นๆ ที่ยึดจากจำเลยมาก่อนหน้านี้เอาไว้ เพื่อจะนำไปแสดงให้ศาลดู แต่เนื่องจากของกลางดังกล่าวไม่ได้ถูกส่งเข้ามาในสำนวนตั้งแต่ต้น ทนายจำเลยจึงค้านต่อศาลว่า หลักฐานดังกล่าวไม่อาจรับฟังในชั้นศาลได้ ศาลจึงขอให้พ.ต.ท.สรายุทธกลับมาเบิกความต่อโดยไม่บันทึกเกี่ยวกับของกลางที่พ.ต.ท.สรายุทธนำมาแสดงต่อศาลเพิ่มเติม

พ.ต.ท.สรายุทธเบิกความว่า ได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายความมั่นคงเกี่ยวกับการเดินทางมาในพื้นที่ของจำเลยทั้งสี่หรือไม่ ซึ่งทหารและสันติบาลทราบว่า ทั้งสี่เดินทางมาในพื้นที่เพื่อแจกจ่ายเอกสารให้กับกลุ่มของบริบูรณ์

ในเวลาต่อมาพ.ต.ท.เนรมิต งามขำ ได้เปิดภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดให้ดู ซึ่งปรากฎภาพปกรณ์ อนุชา และภานุวัฒน์ซึ่งเป็นจำเลยที่ห้าในคดีนี้ขนเอกสารจากท้ายรถกระบะต้องสงสัยไปยังรถเก๋งอีกคันหนึ่ง
 
พ.ต.ท.สรายุทธเบิกความต่อว่า หลังทำการตรวจสอบรถต้องสงสัยได้รายงานผลการตรวจสอบให้ผู้บังคับบัญชาและประสานเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าการกระทำของจำเลยเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่กกต.เห็นว่า น่าจะเข้าข่ายความผิดจึงได้แจ้งความเห็นดังกล่าวไปยังผู้บังคับบัญชา และแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันเผยแพร่ข้อความ ภาพ หรือเสียงที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะก้าวร้าวหยาบคายหรือปลุกระดม โดยมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิไม่ไปใช้สิทธิหรือใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ กับจำเลยที่หนึ่งถึงที่สี่ ซึ่งทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
 
เกี่ยวกับของกลางบนรถซึ่งถูกตรวจยึด พ.ต.ท.สรายุทธเบิกความว่า ของกลางที่ตรวจพบและยึดจากรถของปกรณ์ได้แก่ หนังสือ "ในนามความอยุติธรรมของคสช." จำนวน 30 เล่ม กล่องรับเงินบริจาคซึ่งมีสติกเกอร์โหวตโนติดอยู่ที่มุมกล่อง จากการตรวจสอบภายหลังพบว่ามีเงินประมาณ 2000 บาทเศษ ซึ่งปกรณ์อ้างว่าเป็นเงินบริจาคเพื่อการรณรงค์ประชาธิปไตย รวมทั้งเอกสารอื่นๆ ซึ่งของกลางดังกล่าวหลังตรวจยึดแล้ว ได้มอบให้กับพนักงานสอบสวนสภ.บ้านโป่ง
 
สำหรับภานุวัฒน์จำเลยที่ห้าซึ่งไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุระหว่างการตรวจค้นรถ แต่ปรากฎในภาพจากกล้องวงจรปิดว่า เป็นผู้ถือกล่องจากท้ายรถของปกรณ์ไปใส่ท้ายรถเก๋งอีกคันหนึ่ง พ.ต.ท.สรายุทธเบิกความว่า ผู้บังคับบัญชาได้สั่งให้ขยายผลซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครปฐม แต่ตัวเขาไม่ได้เดินทางไปจับกุมจำเลยที่ห้าด้วย
 
พ.ต.ท.สรายุทธเบิกความต่อไปว่า หลังเกิดเหตุคดีนี้ได้ขยายผลการสืบสวนโดยการตรวจสอบเฟซบุ๊กและบ้านพักของบริบูรณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่อาจเข้าทำการตรวจค้นในบริเวณบ้านได้ แต่เมื่อมองจากรั้วเข้าไปก็พบรถยนต์ลักษณะตรงกับคันที่ภานุวัฒน์นำกล่องจากท้ายรถกระบะของปกรณ์ไปใส่ไว้ จากการตรวจสอบพบว่า เป็นรถของญาติของภรรยาของบริบูรณ์ 
 
สำหรับการตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างบริบูรณ์กับจำเลยในคดีนี้ พ.ต.ท.สรายุทธเบิกความว่า บนเฟซบุ๊กส่วนตัวของบริบูรณ์ซึ่งเผยแพร่ต่อสาธารณะมีภาพบริบูรณ์ขณะเข้าเยี่ยมอนันต์ระหว่างถูกควบคุมตัวที่สภ.บ้านโป่ง และพบภาพขณะบริบูรณ์เข้าเยี่ยมจำเลยที่หนึ่งถึงที่สี่ในคดีนี้ด้วย
 
พ.ต.ท.สรายุทธอธิบายภาพที่ปรากฏในกล้องวงจรปิดว่า ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 เวลา 8.40 น. ปรากฎภาพรถกระบะต้องสงสัยขับเข้ามาจอดที่ลานจอดรถสภ.บ้านโป่งโดยมีจำเลยที่หนึ่งถึงที่สี่ลงมาจากรถคันดังกล่าว หลังจากนั้นในเวลา 10.30 น.ปรากฎภาพปกรณ์และภานุวัฒน์เดินมาที่รถและเปิดไวนิลที่คลุมกระบะก่อนจะขนเอกสารออกจากท้ายรถ
 
สำหรับรถเก๋งต้องสงสัยที่ในภายหลังมีการขนเอกสารบางส่วนไปใส่ไว้ พบว่าขับเข้ามาที่ลานจอดรถในเวลาประมาณ 8.30 น. หลังจากนั้นในเวลา 10.30 น.ปรากฎภาพปกรณ์ อนุชาและภานุวัฒน์ขนเอกสารไปที่รถคันดังกล่าว โดยมีอารีรัตน์ซึ่งเป็นคนสนิทและเคยถ่ายภาพกับบริบูรณ์เป็นผู้เปิดท้ายรถให้จำเลยทั้งสามนำเอกสารใส่โดยตามภาพอารีรัตน์มีท่าทีวิตกกังวลเหมือนกับเปิดท้ายรถไม่เป็น
 
พ.ต.ท.สรายุทธเบิกความด้วยว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ไม่เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งห้าหรือบริบูรณ์มาก่อน

อัยการแถลงหมดคำถาม
 
หลังสืบพยานโจทก์ปากนี้เสร็จในเวลาประมาณ 16.00 น. ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าหลักฐานที่โจทก์อ้างส่งในวันนี้ ได้แก่ แผ่นซีดีบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐานที่โจทก์ไม่ได้นำมาแสดงในนัดตรวจพยานหลักฐาน โดยที่อัยการทราบถึงการมีอยู่ของภาพหลักฐานดังกล่าว จึงถือว่าเป็นหลักฐานนอกสำนวน ขัดต่อประมวลวิธีพิจารณาความอาญา
 
อัยการแถลงว่าเพิ่งจะทราบถึงการมีอยู่ของหลักฐานดังกล่าวในวันนี้ แต่หลักฐานดังกล่าวผ่านการตรวจสอบโดยพนักงานสอบสวนมาแล้วจึงไม่ขัดต่อประมวลวิธีพิจารณาความอาญาดังที่ทนายจำเลยอ้าง
 
ทนายจำเลยแถลงว่า มีคำถามที่จะต้องถามพยานปากนี้หลายคำถามประกอบกับต้องทำการตรวจสอบแผ่นบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิด ซึ่งมีความยาวประมาณหนึ่งชั่วโมง ไม่สามารถถามค้านพยานปากนี้ได้ในวันนี้ จึงขอเลื่อนไปถามค้านในนัดหน้าวันที่ 1 พฤษภาคม 2560
 
ศาลอนุญาตเจ้าหน้าทีฝ่ายคอมพิวเตอร์ของศาลคัดลอกแผ่นซีดีบันภาพจากกล้องวงจรปิดด้วยคอมพิวเตอร์ในห้องพิจารณา เพื่อให้ทนายจำเลยไปทำการตรวจสอบตามที่ทนายจำเลยร้องขอ  

Defendants and lawyer of the Vote no sticker at Ban Pong case 24 March 2017

จำเลยคดีประชามติบ้านโป่งและทีมทนายถ่ายภาพร่วมกันหลังการสืบพยานวันที่ 24 มีนาคม 2560

1 พฤษภาคม 2560

นัดสืบพยานโจทก์

ศาลจังหวัดราชบุรีนัดสืบพยานโจทก์ต่อในเวลา 13.30 น. ตามกำหนดการเดิมคู่ความมีกำหนดสืบพยานโจทก์โดยจะเป็นการถามค้านพยานโจทก์ปากที่สาม อัยการแถลงต่อศาลว่าพยานโจทก์ที่มีกำหนดมาเบิกความในวันนี้ติดราชการด่วน ไม่สามารถมาศาลได้จึงขอให้ศาลเลื่อนการสืบพยานออกไปก่อน ทนายจำเลยไม่คัดค้านแต่ขอให้ศาลกำชับให้พยานมาศาลในนัดหน้า

ศาลเห็นว่าคดีนี้มีจำเลยห้าคน แต่ละคนต่างมีทนายของตัวเอง และคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจ เพื่อให้โอกาสจำเลยซักค้านต่อสู้คดีอย่างเต็มที่จึงอนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานนัดนี้ออกไปก่อนและให้คู่ความไปนัดวันเพื่อพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่อง ในภายหลังคู่ความตกลงนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 26 – 27 กันยายน 2560 และนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 3 – 5 ตุลาคม 2560

26 กันยายน 2560

นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม พ.ต.ท.สรายุทธ บุรีวชิระ ผู้จับกุมจำเลย
 
การสืบพยานนัดนี้เป็นการถามค้านของทนายเนื่องจากการสืบพยานปากนี้ในนัดวันที่ 24 มีนาคม 2560 เสร็จสิ้นเพียงแค่การถามความของอัยการ
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
พ.ต.ท.สรายุทธตอบทนายจำเลยว่า เขาทราบว่าเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาล และทำให้รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ.2550 ถูกยกเลิกไปและมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ชั่วคราว พ.ศ. 2557 แทน แต่เขาไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร

เมื่อทนายจำเลยให้พ.ต.ท.สรายุทธดูรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและถามว่าในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ยังมีการรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามประเพณีการปกครองของไทยและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยได้ลงนามเอาไว้

นอกจากนั้นตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9 ก็ยังได้บัญญัติเรื่องการจับกุมควบคุมตัวจะทำโดยอำเภอใจไม่ได้และในข้อ 19 บุคคลทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง เอาไว้ด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธเบิกความยืนยันว่ามีการระบุเอาไว้ตามเอกสารของทนายความ

ทนายจำเลยถามพ.ต.ท.สรายุทธต่อว่าพ.ต.ท.สรายุทธเข้าใจใช่หรือไม่ว่าการที่ประเทศไทยได้ลงนามในพันธกรณีระหว่างประเทศต่างๆ เอาไว้ ประเทศไทยก็จะต้องมีการอนุวัติกฎหมายไทยให้เข้ากับพํนธกรณีเหล่านั้นด้วย พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าเข้าใจ

พ.ต.ท.สรายุทธเบิกความถึงเหตุการณ์ในช่วงก่อนเกิดเหตุคดีว่า คสช.ได้มีการกำหนดวันลงประชามติไว้ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 และ กกต.ได้มีการกออกจุลสารรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติเพื่อให้เป็นการให้ความรู้ถึงข้อดีของรัฐธรรมนูญและมีตัวอย่างบัตรออกเสียงประชามติ

ทนายจำเลยถามว่าตามบันทึกตรวจยึดของกลาง จุลสารของ กกต. ดังกล่าวก็เป็นของกลางส่วนหนึ่งที่ตรวจยึดมาได้ในวันเกิดเหตุใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธยืนยันว่าใช่ ทนายจำเลยต่อถามว่า ดังนั้นเอกสารที่ตรวจยึดมาได้ก็เป็นเอกสารที่ไม่ผิดกฎหมายใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าใช่ ไม่ผิดกฎหมายแต่เป็นเอกสารที่เชื่อมโยงแล้วเป็นการชักจูงให้ผู้ออกเสียงอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งก็คือการ No Vote
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าสติกเกอร์ดังกล่าวเขียนว่า Vote No พ.ต.ท.สรายุทธเห็นแล้วเข้าใจว่าอย่างไร พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าตัว No ใหญ่กว่าคำว่าโหวต คนทั่วไปอ่านแล้วก็เข้าใจได้ว่าเป็น No Vote
 
ทนายจำเลยนำสำเนาข่าวการให้สัมภาษณ์ของสมชาย ศรีสุทธิยากร ให้พ.ต.ท.สรายุทธดูแล้วถามพ.ต.ท.สรายุทธว่าทราบหรือไม่ว่าสมชายเคยให้ข่าวว่าการแจกสติกเกอร์ Vote No ไม่น่าเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ เอาไว้ พ.ต.ท.สรายุทธยืนยันตามเอกสารของทนายจำเลย แต่ตอบว่าตัวเขาไม่เคยได้ยินข่าวดังกล่าว
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าแล้วพ.ต.ท.สรายุทธเคยได้เห็นการให้สัมภาษณ์ของวิษณุ เครืองาม ที่พูดถึงเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ว่าสามารถทำได้เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว อีกทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชายังแสดงความเห็นผ่านสื่อว่าจะไปออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอดีตนายกรัฐมนตรีก็เคยแสดงความเห็นผ่านสื่อเช่นกันว่าตนจะไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าไม่เคยเห็นข่าวเหล่านี้

ทนายจำเลยถามว่าการให้ความเห็นผ่านสื่อของพล.อ.ประยุทธ์ และอภิสิทธิ์ก็ไม่ถือว่าเป็นการปลุกระดม ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นหรือเป็นการชี้นำให้ประชาชนออกเสียงทางใดทางหนึ่งใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าไม่เป็น

ทนายจำเลยกล่าวว่าหนึ่งในประเด็นที่จำเลยสู้ในคดีนี้คือเหตุผลที่พวกเขามีความคิดเห็นว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามข้อความในสติกเกอร์ว่า “ไม่รับ กับอนาคตที่ไม่ได้เลือก”

ทนายจำเลยถามถึงรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดว่าตามมาตรา 259 ที่มีประเด็นอยู่ว่าให้ คสช. เป็นผู้เสนอชื่อสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ทั้ง 250 คน ให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งได้ ซึ่งสว.ซึ่งมีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎร บทบัญญัติดังกล่าวขัดต่อระบอบประชาธิปไตยหรือไม่จากการที่สว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าเป็นไปตามเอกสาร

ทนายจำเลยถามต่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 269 (1) ให้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหา สว. โดยให้ คสช. เป็นคนตั้งคณะกรรมการดังกล่าวและในมาตราเดียวกันข้อ ค. ก็ยังระบุให้มีผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นสว.โดยตำแหน่งด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่าตามมาตรา 272 เรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่ไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้จากรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอมาก็ให้ที่ประชุมร่วมกันของทั้งสองสภาสามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากบัญชีหรือไม่ก็ได้ พ.ต.ท.สรายุทธเข้าใจว่าอย่างไร พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าคือการที่ให้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้

ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.ท.สรายุทธเข้าใจหรือไม่ว่า ข้อความในสติกเกอร์ “อนาคตที่ไม่ได้เลือก” คือการที่ สว.มาจากการแต่งตั้งอีกทั้งนายกรัฐมนตรีก็อาจจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าเข้าใจ หลังจากที่ทนายความอธิบายให้ฟังเมื่อสักครู่ ก่อนหน้านี้ตัวเขาก็ไม่เข้าใจมาก่อนว่าข้อความดังกล่าวมีความหมายว่าอย่างไร
 
ทนายจำเลยถามว่านอกจากนั้นตามมาตรา 265 ก็ยังระบุว่าให้ คสช. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทำงานต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ และคสช. ก็ยังสามารถใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 ต่อไปแม้ว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติแล้วก็ตาม

ซึ่งมาตรา 44 ให้อำนาจหัวหน้าคสช.ในการระงับยับยั้งอำนาจของทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และตุลาการได้ ซึ่งมาตราดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คัดค้านใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามต่อว่าในทางวิชาการแล้วถือว่ามาตราดังกล่าวนี้ถือเป็นการให้อำนาจเกินขอบเขตใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าขอไม่ออกความเห็นต่อคำถามนี้

ทนายจำเลยถามต่อว่า การที่ คสช. ใช้มาตรา 44 ปลดผู้ว่าราชการกรุงเทพ การสั่งย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดในหลายจังหวัด แม้แต่การที่สั่งย้ายผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็สามารถทำได้ การบัญัติเอาไว้แบบนี้ขัดกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าตามกฎหมายแล้วสามารถทำได้

พ.ต.ท.สรายุทธ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า การกรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และการรณรงค์ว่าให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สามารถทำได้ แต่ที่มีการโน้มน้าวชี้นำให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่สามารถทำได้ ซึ่งก็คือการที่มีคำว่า No อยู่ด้วย

ทนายจำเลยถามต่อว่าในการรณรงค์ของ กกต. ไม่ได้มีการบอกถึงข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้มีการลงประชามติเลย มีเพียงแต่การพูดถึงข้อดีเท่านั้น ถือว่าเป็นการชี้นำหรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าไม่ได้เป็นการชี้นำ
 
ทนายจำเลยถามว่าในมาตรา 61 พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ ไม่ได้มีคำว่า “ชี้นำ” อยู่ด้วยนั้นพ.ต.ท.สรายุทธทราบหรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าไม่ยืนยัน แต่เขาเห็นว่าการชี้นำเป็นการปลุกระดมประชาชน ทนายจำเลยถามต่อว่าการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนได้มีช้อมูลในการตัดสินใจถือเป็นเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าใช่
 
พ.ต.ท.สรายุทธ เบิกความตอบทนายจำเลยในประเด็นการเปรียบเทียบการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาของ สสส. และการรณรงค์ Vote No ว่าถ้าเป็นการรณรงค์ก็ควรจะมีสติกเกอร์ทั้ง Vote Yes และ  Noแจกด้วยกัน ถ้าอย่างนั้นการรณรงค์งดเหล้าก็ควรจะมีสติกเกอร์ให้ดื่มเหล้าด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าเปรียบเทียบกันไม่ได้เพราะพ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคง
 
ทนายจำเลยถามว่าตามที่พ.ต.ท.สรายุทธได้เบิกความก่อนหน้านี้ว่าพึ่งเข้าใจความหมายของ “อนาคตที่ไม่ได้เลือก” ในวันนี้ ก่อนหน้านี้พ.ต.ท.สรายุทธเห็นแล้วไม่เข้าใจใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าตอนนี้เข้าใจแล้วแต่ก็ยังเห็นว่าการ Vote No เป็นการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ใช่แค่มาตราใดมาตราหนึ่งตามที่ทนายจำเลยอธิบาย
 
ทนายจำเลยถามว่าตามที่จำเลยที่สอง ทวีศักดิ์แจ้งไว้กับพ.ต.ท.สรายุทธว่าเป็นผู้สื่อข่าวที่มาทำข่าวและจากภาพถ่ายที่ให้พ.ต.ท.สรายุทธดู ทวีศักดิ์ ก็กำลังทำการสัมภาษณ์บริบูรณ์  (จำเลยในคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติฯ ราชบุรี) พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าไม่ทราบว่าในภาพดังกล่าวทวีศักดิ์กำลังสัมภาษณ์ในฐานะนักข่าวอยู่หรือไม่ แต่คล้ายกับมีการพูดคุยกันและมีการจดบันทึกการคุย
 
ทนายจำเลยถามว่าการชี้นำที่พ.ต.ท.สรายุทธพูดหมายถึงต้องเป็นไปตามพฤติการณ์ในมาตรา 61 วรรค 2 ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าขณะเกิดเหตุคดีนี้มาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว และมาตรา 7 ในพ.ร.บ.ประชามติฯ รับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอยู่ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่าจากสติกเกอร์ข้อความใดที่เป็นการแสดงออกที่มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าขอไม่ออกความเห็น
 
ทนายจำเลยจึงถามต่อว่าเป็นความเข้าใจของพ.ต.ท.สรายุทธเองว่าข้อความในของกลางมีลักษณะดังกล่าวใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าเห็นว่าเป็นการปลุกระดม
 
ทนายจำเลยถามว่า การรณรงค์คือการชักชวนให้ประชาชนออกไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าใช่ ทนายจำเลยจึงถามต่อว่าการปลุกระดมคือการชักชวนให้คนไปทำผิดกฎหมายใช่หรือไม่ อย่างเช่นการชักชวนไปเผาศาลากลางใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าใช่ ทนายจำเลยจึงถามว่า แล้วข้อความใดในสติกเกอร์ที่เป็นการปลุกระดม พยานตอบว่าการที่มีคำว่า No ใหญ่ ก็ถือว่าเป็นการปลุกระดม
 
ทนายจำเลยถามว่าการปลุกระดมพ.ต.ท.สรายุทธเข้าใจว่ามีความหมายอย่างไร พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่า คือการให้ไปทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร ทนายจำเลยจึงถามต่อว่าแล้วการเชิญชวนคนไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นการปลุกระดมอย่างไร พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าในเวลานั้นถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเพราะถือว่าไม่เหมาะควร
 
ทนายจำเลยถามว่าแล้วการแสดงความคิดเห็นว่าไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทำได้หรือไม่ พ.ต.ท.สรายุทธตอบว่าถ้าเขาไปทำในสถานที่ที่กำหนดไว้ก็ถือว่าเหมาะควรแล้ว และถ้าเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวก็สามารถทำได้
 
27 กันยายน 2560
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ พ.ต.ต.ยุทธนา ภูเก้าแก้ว พนักงานสอบสวน

พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความตอบอัยการว่า ในวันเกิดเหตุวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 เวลา 10.00น. ตัวเขาปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนอยู่ที่สภ.บ้านโป่ง ชุดสืบสวนและทหาร ได้นำจำเลยที่ที่หนึ่งถึงที่สี่มาส่งให้ และภายในหลังมีการจับกุมจำเลยที่ห้ามาส่งเพิ่มอีกหนึ่งคน โดยมีการส่งของกลางเป็นสติกเกอร์ No Vote และเอกสารอื่นๆ โดยชุดสืบสวนได้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยในข้อหาตามที่ฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

เกี่ยวกับเอกสารในสำนวนคดีนี้ พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความว่า เอกสารในสำนวนคดีบางส่วนเป็นการจัดทำของตัวเขา โดยมีบางส่วนเป็นของตำรวจชุดจับกุมทำส่งมาให้ในส่วนนี้จะเป็นภาพถ่ายต่างๆ หลังสอบคำปากคำเสร็จตัวเขาจะดำเนินการพิมพ์ลายนิ้วมือแต่จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมพิมพ์จึงมีการแจ้งข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานเพิ่ม ส่วนจำเลยที่ห้ายอมพิมพ์จึงไม่มีการแจ้งข้อหานี้กับจำเลยที่ห้า

พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความต่อว่าในเวลาต่อมาตัวเขาได้รับหลักฐานเพิ่มเติมคือภาพจากกล้องวงจรปิดของสภ.บ้านโป่ง ซึ่งเป็นภาพที่ลานจอดรถของสถานี ปรากฎภาพจำเลยที่ห้ากำลังขนย้ายของกลางจากรถกระบะไปใส่ที่รถเก๋งของผู้หญิงคนหนึ่ง โดยของที่อยู่ในภาพเป็นสติกเกอร์ที่เป็นของกลางและกล่อง

จากนั้นสันติบาลได้นำภาพถ่ายของบริบูรณ์ (หนึ่งในผู้มารับทราบข้อกล่าวหาคดีขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 จากการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่อำเภอบ้านโป่ง) สวมเสื้อสีขาวตอนที่บนหน้าอกยังไม่มีสติกเกอร์ และภาพบริบูรณ์หลังจากที่มีสติกเกอร์ No Vote ติดอยู่บนอกมาให้กับเขา
 
สำหรับภาพถ่ายในสำนวนที่อัยการนำมาให้ดู พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความว่าเขาไม่ได้เป็นผู้จัดทำเอง แต่เข้าใจว่าเป็นภาพเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดซึ่งถูกพิมพ์ออกมาเป็นภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหววิดีโอจากกล้องวงจรปิด พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความด้วยว่าตำรวจชุดจับกุมและทหารได้ขอภาพถ่ายบางส่วนเพื่อนำไปใช้ทำรายงานส่งผู้บังคับบัญชาด้วย
 
พ.ต.ต.ยุทธนาเรียกมารดาของปกรณ์จำเลยที่หนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของรถกระบะมาสอบคำให้การ แต่ไม่ได้เรียกเจ้าของรถเก๋งมาสอบคำให้การด้วย รวมทั้งได้เรียกตำรวจสันติบาล ทหาร พ.ต.ท.สรายุทธ และพยานที่จำเลยที่สองขอให้สอบคำให้การไว้ในประเด็นที่จำเลยที่สองเป็นผู้สื่อข่าวที่มาปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุมาสอบปากคำด้วย

พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความด้วยว่าได้เรียกบริบูรณ์มาให้การในคดีนี้ด้วย โดยมีการส่งหมายไปที่บ้านพักในจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งบริบูรณ์ได้มาให้ปากคำตามที่เรียก

ระหว่างที่พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความตอบคำถามอัยการ ทนายจำเลยแถลงค้านไม่ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารภาพถ่ายต่างๆ ของอัยการที่ส่งต่อศาลในการสืบพยานครั้งนี้ เนื่องจากเอกสารดังกล่าวอยู่นอกบัญชีพยานหลักฐานที่ไม่ได้มีการส่งในวันตรวจพยานหลักฐาน ทำให้ฝ่ายจำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ศาลบันทึกคำโต้แย้งของทนายจำเลยไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาคดีในภายหลัง

พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความต่อว่าจากการสอบสวนของเขาสรุปได้ว่าในวันเกิดเหตุ พนักงานสอบสวนในอีกคดีหนึ่งเรียกผู้ต้องหามารายงานตัวที่ สภ.บ้านโป่ง มีประชาชนมามอบดอกไม้ให้กำลังใจแก่ผู้ต้องหา ซึ่งจำเลยทั้งห้าได้มาในที่เกิดเหตุด้วยและมีการรณรงค์ให้คนไม่ไปออกเสียงประชามติ โดยใช้สติกเกอร์ No Vote โดยเห็นจากภาพว่าตอนที่บริบูรณ์ (หนึ่งในผู้ต้องหาอีกคดีหนึ่ง) ตอนที่มาถึงสถานีตำรวจยังไม่มีสติกเกอร์ติดอยู่ แต่หลังจากจำเลยทั้งห้ามาแล้วจึงมีสติกเกอร์ติด

พ.ต.ต.ยุทธนาทราบจากเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนว่ามีการเข้าตรวจค้นรถกระบะด้วยเนื่องจากมีพลเมืองดีแจ้งแบะแสกับเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน จึงทำการตรวจค้นแล้วพบสติกเกอร์และเอกสารของกลางในคดีนี้
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความตอบทนายจำเลยว่า คดีนี้ไม่มีประะจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะที่จำเลยทั้งห้าทำการจ่ายแจกสติกเกอร์หรือเอกสารของกลางใดๆ อยู่เลย และจากคำให้การของพยานที่ตัวเขาได้ทำการสอบเอาไว้ก็ให้การว่าน่าจะมีการแจกจ่ายเท่านั้น แล้วก็ไม่มีพยานคนใดที่เห็นว่าจำเลยทั้งห้าได้นำสติกเกอร์ไปมอบให้กับบริบูรณ์ด้วย

พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความต่อว่าบริบูรณ์ได้ให้การเอาไว้ว่าสติกเกอร์ที่ติดบนอกเสื้อเป็นสติกเกอร์ที่ได้รับแจกมาจากกิจกรรมที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนำมาติดเพื่อแสดงความออกว่าตัวบริบูรณ์จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ในส่วนของกลาง พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความตอบทนายจำเลยว่า เอกสารที่ยึดมาส่วนหนึ่งเป็นจุลสารของ กกต. จำนวนมาก ซึ่งเป็นเอกสารที่ใช้รณรงค์ให้ประชาชนออกไปแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญว่าจะรับหรือไม่รับ หรือไม่ออกความเห็น ซึ่งเอกสารเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย
 
ทนายจำเลยถามว่าการที่อภิสิทธ์ให้ข่าวว่าจะออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและพล.อ.ประยุทธ์ให้ข่าวว่าจะออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ การแสดงออกของทั้งสองคนเป็นการแสดงความคิดเห็น ไม่ได้เป็นการชี้นำใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งสามารถทำได้

ทนายจำเลยถามต่อว่า ข้อความบนสติกเกอร์เป็นการเชิญชวนคนไปออกเสียง Vote No ไม่ได้เป็นการยั่วยุ ปลุกระดม เป็นเพียงการให้ข้อเท็จจริงใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าข้อความดังกล่าวสามารถตีความได้ว่าเป็นการชี้นำให้ไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ไม่ไปออกเสียงก็ได้ แล้วแต่คนอ่านจะตีความ แต่ไม่ได้มีข้อความที่เป็นไปในลักษณะข่มขู่ ทนายจำเลยถามต่อว่าเป็นข้อความที่เข้าข่ายการปลุกระดมหรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าไม่เข้าข่าย

ทนายจำเลยถามว่าการที่พล.อ.ประยุทธ์พูดว่าจะไปรับร่างรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการชี้นำหรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามว่าเมื่อพ.ต.ต.ยุทธนาได้อ่านข้อความบนสติกเกอร์แล้วรู้สึกอยากไปทำอะไรที่ผิดกฎหมายหรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าอ่านแล้วรู้สึกว่าต้องการไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ ตอนแรกที่ได้เห็นก็เห็นคำว่า No ผู้ที่ได้เห็นก็จะเข้าใจว่าให้ไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้วจะรับหรือไม่รับก็ได้
ทนายจำเลยถามว่าเมื่อเห็นข้อความแล้วพ.ต.ต.ยุทธนาเชื่อตามหรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าไม่เชื่อ และคนที่มีสิทธิออกเสียงตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป ก็สามารถใช้วิจารณญาณว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้

ทนายจำเลยนำรายงานข่าวการให้สัมภาษณ์ของสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งให้พ.ต.ต.ยุทธนาดูและถามว่าสมชัยเคยให้สัมภาษณ์ว่าการแจกสติกเกอร์อย่างเดียวไม่เป็นความผิดดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ ใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าใช่ แต่เสริมว่าเขาไม่เคยเรียกสมชัยมาสอบในฐานะพยาน ได้แต่เคยให้ กกต.ราชบุรีมาให้ความเห็นเรื่องนี้กับพนักงานสอบสวนแต่พยานคนดังกล่าวไม่ได้ให้ความเห็น
 
ทนายจำเลยถามว่าระเบียบปฏิบัติเวลาพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเข้ามาในสำนวนก็จะต้องมีการลงลายมือชื่อของพนักงานสอบสวนผู้ทำสำนวนเอาไว้ด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าใช่และเบิกความต่อว่า ถ้าเขาเป็นคนจัดทำเอกสารขึ้นมาก็จะมีการลงลายมือชื่อไว้ แต่ CD ที่บันทึก VDO จากกล้องวงจรปิดมาตัวเขาไม่เคยเห็นมาก่อนก็เลยไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ และไม่มีพนักงานสอบสวนที่ร่วมการสอบสวนลงชื่อไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้จัดทำ CD ดังกล่าวเป็นตำรวจชุดจับกุม แต่เขาจำไม่ได้แล้วว่าใครเป็นผู้จัดทำ และไม่ได้มีการทำบันทึกเอาไว้ว่าใครเป็นจัดทำ

ทนายจำเลยถามต่อว่าพยานหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายตอนที่พ.ต.ท.สรายุทธเข้าตรวจยึดของกลางและภาพจากกล้องวงจรปิดที่พิมพ์ออกมา รวมถึงลำดับเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิด1 เป็นพยานหลักฐานที่อยู่นอกสำนวนการสอบสวนใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าใช่

ทนายจำเลยถามพ.ต.ต.ยุทธนาถึงประวัติอาชญากรรมของจำเลยทั้งห้า พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความว่าจากการสอบปากคำไม่ทราบว่าจำเลยทั้งห้ามีประวัติอาชญากรรมมาก่อนหรือไม่เพราะจำเลยไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ เขาทราบเพียงว่ามีจำเลยหนึ่งคนที่ยังมีสถานภาพนักศึกษาอยู่ในขณะนั้นแต่จำไม่ได้แล้วว่าคนไหน แต่จำเลยทั้งหมดก็ได้ให้ความร่วมมือในการสอบสวนโดยไม่มีการขัดขืน

พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความอีกว่าในส่วนของทวีศักดิ์จำเลยที่สองได้ให้การว่าเป็นผู้สื่อข่าว แต่ตัวเขาจำไม่ได้แล้วว่ามีการแสดงบัตรผู้สื่อข่าวให้ดูหรือไม่ และได้มีสอบคำให้การหัวหน้างานของจำเลยที่สองไว้เป็นพยานด้วย ซึ่งได้ให้การยืนยันว่าจำเลยที่สองเป็นผู้สื่อข่าวของประชาไท โดยมีการรายงานข่าวของบริบูรณ์ซึ่งเขาได้นำเข้าสำนวนแล้วและส่งให้อัยการ

ทนายจำเลยถามต่อว่า ตามที่พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความว่า กกต. ราชบุรีไม่ให้ความเห็นเรื่องเอกสารของกลางเป็นความผิดหรือไม่เพราะอะไร พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าเพราะกกต. ราชบุรีไม่กล้าให้ความเห็น ถ้าจะขอความเห็นต้องไปขอจาก กกต.กลาง

ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.สรายุทธไม่เคยส่ง VDO เหตุการณ์ที่บริบูรณ์ติดสติกเกอร์ให้ พ.ต.ต.ยุทธนาใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความว่า ไม่เคย ตัวเขาเคยเห็นเพียงภาพนิ่งของบริบูรณ์เท่านั้น

พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความตอบทนายจำเลยว่าตัวเขาไม่ทราบเรื่องขณะเกิดเหตุในคดีนี้เนื่องจากตัวเขาทำงานอยู่ที่ชั้นบนของสถานี เมื่อทนายจำเลยถามเรื่องลำดับเหตุการณ์ พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความว่าตัวเขาจำลำดับเหตุการณ์ไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าเข้าไปให้กำลังใจบริบูรณ์ก่อนแล้วค่อยลงมาที่รถหรือไม่อย่างไร

ทนายจำเลยนำภาพถ่ายของทวีศักดิ์ไปให้พ.ต.ต.ยุทธนาดูและถามว่าเป็นภาพผู้สื่อข่าวกำลังสัมภาษณ์บริบูรณ์ใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าใช่

เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความว่าในระบอบประชาธิปไตยประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้รวมถึงวิจารณ์ผู้บริหารประเทศได้ แต่ในช่วงที่มีการรัฐประหารเสรีภาพนั้นจะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือไม่พ.ต.ต.ยุทธนาไม่ทราบ

พ.ต.ต.ยุทธนาตอบคำถามทนายจำเลยเกี่ยวกับภาพถ่ายที่ทนายจำเลยนำมาให้ดูว่า ในภาพถ่ายที่มีการวงด้วยปากกาแดงเป็นภาพถ่ายของอนันต์ขณะที่อนันต์ถูกเชิญตัวไปสอบปากคำ ไม่ใช่ภาพขณะที่มีการขนย้ายของ และส่วนอีกภาพเป็นภาพของอนันต์ขณะที่ถูกตำรวจเรียกตัวไปตรวจสอบของในรถ

ทนายจำเลยถามว่าในวันออกเสียงประชามติมีเหตุวุ่นวายใดๆเกิดขึ้นหรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าไม่มี  ทนายจำเลยถามต่อว่าแล้วพ.ต.ต.ยุทธนาทราบหรือไม่ว่าประชาชนในจังหวัดราชบุรีออกเสียงรับร่างประชามติถึง 64% และออกเสียงไม่รับเพียง 20% พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามพ.ต.ต.ยุทธนาเกี่ยวกับเอกสารที่เป็นภาพถ่ายว่า หลังจากวันที่ 21 มีนาคม 2560 (วันที่มีการสืบพยานคดีนี้) พ.ต.ท.เนรมิต งามขำ ตำรวจสันติบาล ซึ่งได้ขึ้นเบิกความไปก่อนแล้ว ได้เล่าให้พ.ต.ต.ยุทธนาฟัง เพื่อเตรียมการสอบสวนคดีนี้เพิ่มและนำหลักฐานมาอ้างส่งในคดีใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าพ.ต.ท.นิรมิต ไม่ได้มาเล่าอะไรให้ฟังและไม่ได้มีการจัดเตรียมเอกสารใดๆ

ทนายจำเลยถามว่าตามเอกสารมีการระบุวันที่พิมพ์เอาไว้ว่าเป็นวันที่ 21และ 22 มีนาคม 2560 พ.ต.ต.ยุทธนาทราบหรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าเขาไม่ได้เป็นผู้จัดทำเอกสารดังกล่าว ทนายจำเลยถามต่อว่า การที่มีการสืบพยานไปแล้วฝ่ายสืบสวนยังไปหาพยานหลักฐานมาเพิ่มแล้วนำส่งศาลถือเป็นเรื่องปกติหรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าไม่ขอออกความเห็น แต่การทำงานของฝ่ายสืบสวนสามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ

พ.ต.ต.ยุทธนายืนยันกับทนายจำเลยว่า เอกสารที่มีลายมือชื่อของเขาไม่ได้มีการตัดต่อ แต่เอกสารที่เขาไม่ได้ลงลายมือชื่อเอาไว้นั้น ตัวเขาไม่ยืนยันว่ามีการตัดต่อหรือไม่ ทนายจำเลยถามว่าตามที่พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความว่ามีตำรวจและทหารมาขอพยานหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายไปทำรายงานส่งผู้บังคับบัญชา ได้มีการทำหนังสือแจ้งกับตัวพ.ต.ต.ยุทธนาหรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าเป็นการขอด้วยวาจา

ทนายจำเลยถามว่า ที่มีการออกหมายเรียกบริบูรณ์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 เพื่อมาเป็นพยานในคดีนี้ ตัวบริบูรณ์ไม่ได้เป็นผู้รับหมายแต่บริบูรณ์มาให้การในวันที่ 24 สิงหาคม 2559  ถือว่าบริบูรณ์ได้ให้ความร่วมมือด้วยอย่างดีหรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่าในคำให้การของพ.ต.ท.สรายุทธระบุว่าได้มีการไปกดดันด้วยวิธีต่างๆในการเข้าตรวจค้นบ้านบริบูรณ์หมายถึงอย่างไร พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามต่อว่าพ.ต.ต.ยุทธนาทราบหรือไม่ว่าบริบูรณ์ถูกแจ้งความด้วยข้อหาหมิ่นประมาทจากการโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารพยายามเข้าตรวจค้นบ้านของเขา พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

ตอบอัยการถามติง

อัยการถามว่าเหตุใดพ.ต.ต.ยุทธนาจึงมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งห้าในคดีนี้ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่า ชุดจับกุมได้รับแจ้งจากประชาชนว่ามีการแจกสติกเกอร์ จึงเข้าทำการจับกุมจำเลย และยังปรากฏภาพของบริบูรณ์ที่ติดสติกเกอร์บนอกเสื้อ

พยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ให้การกับพ.ต.ต.ยุทธนามาจากคนละหน่วยงานกัน มาให้การกับพ.ต.ต.ยุทธนาคนละเวลาแต่ให้การสอดคล้องกัน โดยพ.ต.ท.เนรมิต งามขำ ให้การว่าได้รับแจ้งจากแอพพลิเคชั่น Line และให้การว่านอกจากบริบูรณ์ที่ติดสติกเกอร์แล้วก็ยังมีคนอื่นๆ อีก โดยมีการส่งภาพกันทาง Line

อัยการถามว่าเอกสารนอกสำนวนที่พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความตอบทนายความไปคืออะไร พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าคือการนำเอกสารเข้ามาในสำนวนโดยไม่มีการเรียงลำดับเลขเท่านั้น ตัวพ.ต.ต.ยุทธนาได้รับเอกสารมาหมดแต่มีการคัดออกอยู่บ้างเนื่องจากซ้ำกัน เอกสารทั้งหมดผ่านการสอบสวนแล้วแต่ไม่ได้นำเข้ามาในสำนวน ส่วนภาพถ่ายระบุวันที่พิมพ์อยู่ในช่วงวันที่ 21-22 มีนาคม 2560 แต่เป็นภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ

พ.ต.ต.ยุทธนายืนยันว่าตัวเขาสามารถมีความเห็นแย้งกับรัฐบาลได้แต่ต้องทำภายใต้กรอบของกฎหมาย

พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความว่าสติกเกอร์ถ้าไม่ได้เปิดเผยหรือมีการแจกจ่ายก็ไม่เป็นความผิด แต่ถ้านำมาแจกจ่าย มีการชี้นำให้คนเห็นด้วยก็เป็นความผิด เข้าข่ายเป็นการชักชวนชี้นำให้คนไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในประเด็นการส่งเอกสารให้อัยการ พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความว่านอกจากเอกสารที่เขาส่งให้อัยการแล้ว อัยการได้ขอให้ส่งเอกสารซึ่งส่วนนั้นจะไม่มีลายมือชื่อของเขาอยู่ด้วย

ทนายจำเลยแถลงศาลขอถามพ.ต.ต.ยุทธนาอีกหนึ่งคำถาม ศาลอนุญาต ทนายจำเลยถามว่าในคดีนี้อัยการมีการส่งหนังสือสั่งการให้พ.ต.ต.ยุทธนานำส่งหลักฐานหรือสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนาตอบว่าไม่มี เป็นการสั่งการด้วยวาจาเท่านั้น

หลังเสร็จสิ้นสืบพยานโจทก์ ศาลนัดสืบพยานจำเลย 3-5 ตุลาคม 2560
 
3 ตุลาคม 2560
 
นัดสืบพยานจำเลย

ที่ห้องพิจารณาคดี 3 ศาลจังหวัดราชบุรี ศาลนัดสืบพยานจำเลยเป็นวันแรก 
 
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง ปกรณ์ จำเลยที่หนึ่งเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง

ปกรณ์ นักกิจกรรมขบวนประชาธิปไตยใหม่ เบิกความว่า ในความเห็นของเขา การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาฝ่ายรัฐเพียงแต่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อดีในร่างรัฐธรรมนูญโดยละเลยไม่พูดถึงจุดอ่อน ขณะที่การประชาสัมพันธ์ในสื่อก็มีไม่แพร่หลายนัก ปกรณ์เบิกความด้วยว่าการประชาสัมพันธ์เรื่องการลงประชามติที่ไม่ทั่วถึงส่งผลให้ประชาชนบางคนไม่รู้แม้กระทั่งวันที่จะมีการออกเสียงประชามติ

เมื่อทนายถามถึงข้อน่ากังวลของร่างรัฐธรรมนูญ ปกรณ์เบิกความว่ามีหลายข้อได้แก่ เรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และที่มาของนายกรัฐมนตรีที่มีการเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ ซึ่งเป็นการขัดกับหลักการประชาธิปไตย  ประการต่อมา ร่างรัฐธรรมนูญยังเปิดช่องให้ หัวหน้าคสช. ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ต่อไป แม้ว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่เปิดให้มีการลงประชามติแล้วก็ตาม นอกจากนี้ตัวร่างยังมีบทบัญญัติที่ตัดสิทธิของประชาชนด้วย เช่น สิทธิในด้านการศึกษา ที่ตัดการเรียนฟรีเหลือเพียงเก้าปี

ปกรณ์เบิกความต่อว่าเหตุผลที่ยกมาข้างต้นคือสาเหตุที่ทำให้ตัวเขาออกมารณรงค์และแสดงความคิดเห็นในเรื่องการออกเสียงประชามติโดยให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ภาครัฐไม่ได้ให้ และตัวเขาก็เห็นว่าการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะในขณะนั้นมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็มีผลบังคับใช้อยู่ ทั้งมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ก็รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเอาเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติเอาไว้ด้วย

เกี่ยวกับข้อความ “ 7 สิงหาร่วมกัน Vote No ไม่รับ กับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” บนสติกเกอร์ ปกรณ์เบิกความว่าไม่ได้เป็นข้อความที่มีความก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ สำหรับคำว่า "อนาคตที่ไม่ได้เลือก" มีที่มาจากคำถามพ่วงที่ถามว่าในช่วง 5 ปีนับแต่มีสภาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ ส.ส. และส.ว. เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งๆที่สว.ไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้ง 
 
ปกรณ์เบิกความด้วยว่าสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่าการแจกสติกเกอร์ไม่น่าจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ และวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเอกสารความเห็นแย้งของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ก็สามารถเผยแพร่ และแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญได้

สำหรับวันเกิดเหตุ 10 กรกฎาคม 2559 ปกรณ์เบิกความว่าเขาเดินทางไปที่สภ.บ้านโป่ง เนื่องจากทราบข่าวว่าชาวบ้านที่เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่บ้านโป่ง ถูกพนักงานสอบสวนเรียกรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ตัวเขาเห็นว่าประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบกระบวนการการออกเสียงประชามติ ทั้งตัวเขาเองก็รณรงค์เรื่องการออกเสียงประชามติ จึงเดินทางไปให้กำลังใจชาวบ้านที่ถูกเรียกรายงานตัว 

สำหรับเหตุที่ปกรณ์ถูกดำเนินคดีในข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วนั้น ปกรณ์เบิกความว่าในวันเกิดเหตุ การจับกุมและการแจ้งข้อกล่าวหาไม่เป็นไปตามขั้นตอน และพ.ต.ท.สรายุทธ บุรีวชิร รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สภ.บ้านโป่ง ก็เพียงแต่เชิญตัวเขาและพวกไปคุยที่ห้องบนสถานีโดยแจ้งว่าจะมีการทำบันทึกประจำวันเอาไว้เท่านั้น แต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่ได้รับการปล่อยตัวกลับ และมีการแจ้งข้อกล่าวหาตามมาในภายหลัง

ตอบอัยการถามค้าน

ปกรณ์ตอบอัยการว่าเอกสารของกลางในคดีนี้ ตัวเขาไม่ได้นำมาเพื่อแจกที่สภ.บ้านโป่ง และไม่ได้มีการแจกจ่ายในวันนั้น แต่เป็นเอกสารที่ติดรถมาตั้งแต่วันที่มีการแถลงข่าวเรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากในวันแถลงข่าวมีเพียงตัวเขาเองเท่านั้นที่มีรถกระบะที่สามารถบรรทุกเอกสารได้จึงมาคนนำเอกสารมาฝากไว้

อัยการถามปกรณ์ถึงความหมายบนสติกเกอร์ว่าหมายถึงอะไร และหวังว่าให้คนที่ได้รับสติกเกอร์ ไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ปกรณ์ตอบว่าหวังให้คนที่ได้รับ ได้ใช้ดุลยพินิจของตน ซึ่งบางคนเมื่อได้รับไปแล้ว ก็บอกกับตนว่าจะไปออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ บางคนก็บอกว่าจะไปออกเสียงไม่รับ  นอกจากนั้นในการแจกสติกเกอร์ก็ได้มีการแจกเอกสารให้ความรู้ประกอบไปด้วย

สืบพยานจำเลยปากที่ 2  ทวีศักดิ์ จำเลยที่สองเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง
 
ทวีศักดิ์เบิกความว่าเขาเป็นผู้สื่อข่าวโต๊ะการเมืองของสำนักข่าวประชาไท จึงติดตามประเด็นทางการเมืองมาโดยตลอด โดยเท่าที่ติดตามข่าวเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติ พบว่ามีการรายงานข่าวค่อนข้างน้อย และเน้นไปที่ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากฝ่ายรัฐ ขณะที่สื่อหลักก็ไม่ได้ให้พื้นที่ในการนำเสนอกับกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมากนัก

เกี่ยวกับวันเกิดเหตุทวีศักดิ์เบิกความว่า ก่อนหน้าที่จะเดินทางมาที่สภ.บ้านโป่ง เขาได้ไปทำข่าวการรณรงค์ซึ่งจัดโดยกลุ่มของปกรณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปกรณ์บอกเขาว่าจะเดินทางมาให้กำลังใจชาวบ้านที่สภ.บ้านโป่ง จึงขอติดรถมาด้วยเพื่อทำข่าว

ทวีศักดิ์เบิกความต่อว่าเมื่อมาถึงสภ.บ้านโป่ง เขาได้ถ่ายภาพที่หน้าสถานีและเข้าไปสัมภาษณ์ผู้ต้องหา จากนั้นก็ไปสัมภาษณ์ภานุวัฒน์ซึ่งเป็นจำเลยที่ห้าในคดีนี้กับอนันต์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ต่อ เพื่อทำสกู๊ปข่าว ทวีศักดิ์เบิกความยืนยันว่าในวันเกิดเหตุเขาแสดงตัวชัดเจนว่าเป็นผู้สื่อข่าวและได้แสดงบัตรผู้สื่อข่าวให้เจ้าหน้าที่ดูด้วย

หลังจากสัมภาษณ์เสร็จเขาเดินไปที่รถของปกรณ์ เพื่อเตรียมเดินทางกลับ แต่ทาง พ.ต.ท.สรายุทธ บุรีวชิร พร้อมกับตำรวจอีกหลายนาย เข้ามาตรวจค้นรถ ระหว่างนั้น พ.ต.ท.สรายุทธ ได้สอบถามเขาว่าเป็นพวกสนับสนุน Vote No ใช่หรือไม่ และยังพูดกับปกรณ์ในลักษณะว่า Vote No ไม่ได้ ผิดกฎหมาย ต้อง Vote Yes เท่านั้น ซึ่งตัวเขาเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถพูดแบบนี้ได้ เพราะเท่ากับเป็นการบังคับให้ต้องออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

ทวีศักดิ์เบิกความต่อว่าหลังการตรวจค้นรถเจ้าหน้าที่ก็เชิญตัวพวกเขาขึ้นไปบนสถานีตำรวจ  โดยไม่ได้บอกว่าเป็นการจับกุม แต่เมื่อขึ้นไปบนสถานีกลับมีการแจ้งข้อกล่าวหาและควบคุมตัว

ทวีศักดิ์เบิกความว่าช่วงแรกที่ถูกควบคุมตัวพวกเขายังสามารถใช้โทรศัพท์ได้  ตัวเขาจึงได้โทรศัพท์ไปสอบถามสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง เพื่อสัมภาษณ์เรื่องสติกเกอร์ สมชัยระบุว่าการมีสติกเกอร์ไม่น่าเป็นความผิดตามกฎหมาย และถ้าไม่ใช่การขึ้นเวทีปราศรัย ไม่ได้เป็นการให้ข้อมูลเท็จ ไม่ได้เป็นการยุยงปลุกปั่นก็สามารถทำได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตำรวจด้วย จากนั้นเขาจึงส่งสายของสมชัยให้ รองผู้กำกับการสอบสวน สภ.บ้านโป่ง พูดคุยด้วย

ทวีศักดิ์เบิกต่อว่า ตอนที่เขาแสดงตัวว่าเป็นผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวประชาไท ตำรวจอาจไม่เชื่อว่าเป็นสำนักข่าวจริงๆ เนื่องจากประชาไทเป็นสำนักข่าวออนไลน์ ไม่ได้มีโรงพิมพ์ของตัวเอง แต่เจ้าหน้าที่ก็อาจจะเข้าใจว่าเอกสารของกลางเป็นของประชาไท เพราะหลังจากเขาถูกควบคุมตัว พ.ต.ท.สรายุทธก็ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.สุทธิสารที่กรุงเทพ เพื่อให้เข้าตรวจค้นที่สำนักงานของประชาไท แต่เนื่องจากในวันนั้นไม่มีใครอยู่ที่สำนักงาน เจ้าหน้าที่จึงไม่ได้ทำการตรวจค้น คนที่สำนักงานประชาไทมาทราบเรื่องการมาของเจ้าหน้าตำรวจในภายหลังจากคำบอกเล่าของสำนักงานอื่นที่อยู่ในอาคารเดียวกับสำนักข่าวประชาไท

ทวีศักดิ์เบิกความด้วยว่าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการตรวจสอบสถานะของเขาว่าเป็นผู้สื่อข่าวจริงหรือไม่ ก็ควรโทรศัพท์ถึงหัวหน้างานของเขามากกว่า การควบคุมตัวและตั้งข้อกล่าวหาเช่นนี้เป็นการคุกคามการทำงานของสื่อมวลชน

สำหรับจุดยืนของสำนักข่าวประชาไท ทวีศักดิ์เบิกความว่าสำนักข่าวประชาไทมีจุดยืนไม่ยอมรับการรัฐประหาร ทั้งในครั้งปีพ.ศ. 2549 และครั้งนี้ เพราะเห็นว่าการทำรัฐประหารเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเป็นสื่อมวลชนย่อมไม่สามารถเห็นด้วยกับรัฐประหารได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิเดียวกันกับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน

สำหรับกรณีที่เขาปฏิเสธที่จะพิมพ์ลายนิ้วมือ ทวีศักดิ์เบิกความว่าเป็นเพราะเห็นว่าการควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้น ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาตั้งแต่ตอนที่มีการเชิญตัว อีกทั้งพ.ต.ท.สรายุทธ ยังแสดงออกอย่างเห็นได้ชัดว่ามีอคติทางการเมืองตั้งแต่ต้น และเมื่อได้อ่านบันทึกจับกุมแล้ว ก็เห็นว่าข้อเท็จจริงตามบันทึกก็ไม่ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกด้วย คือมีการบรรยายพฤติการณ์ว่าน่าเชื่อว่ามีการแจกจ่ายเอกสารบนสถานีตำรวจ แต่ข้อเท็จจริงคือไม่ได้มีการแจกเอกสารใด

นอกจากนั้น ทวีศักดิ์ทราบว่าเขามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ แต่ตลอดเวลาที่ถูกควบคุมตัว เขากลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยซักถามตลอดเวลา ผู้กำกับคนเก่าของสภ.บ้านโป่ง ยังได้เข้ามาพูดอีกด้วยว่า “จะไม่เซ็นไม่พูดก็ได้ แต่คอยดูว่ากูจะเอาพวกมึงเข้าคุกได้หรือเปล่า” ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นการคุกคาม เขาจึงไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ

ทวีศักดิ์เบิกความถึงการโดยสารรถของปกรณ์ด้วยว่า การที่เขาอาศัยรถของปกรณ์ไปทำข่าว ไม่ได้หมายความว่าเขาเห็นด้วยกับปกรณ์ทั้งหมด หรือต้องไปรายงานข่าวในลักษณะเป็นประโยชน์ต่อใคร เขายังคงมีความเป็นอิสระในการรายงานข่าวตามจรรยาบรรณของผู้สื่อข่าว

หลังสืบพยานจำเลยทั้งสองปาก ทนายจำเลยแถลงว่าพยานที่มาสืบในวันนี้หมดแล้ว ศาลจึงให้ไปสืบพยานต่อในวันที่ 4 ตุลาคมตามที่นัดไว้
 
4 ตุลาคม 2560
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม ชำนาญ จันทร์เรือง พยานผู้เชี่ยวชาญ
 
ชำนาญเบิกความต่อศาลว่าเขาเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นอดีตประธานกรรมการองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชำนาญเบิกความด้วยว่าเขาเคยเป็นปลัดอำเภอ และเคยได้รับผิดชอบให้ดูแลการจัดการเลือกตั้งมาก่อน และในเมื่อปี 2558 เคยได้รับเชิญให้ไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีและการทำประชามติที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
 
ชำนาญเบิกความว่าในทางรัฐศาสตร์ การทำประชามติคือรูปแบบของประชาธิปไตยทางตรงที่ไม่ต้องผ่านตัวแทน การทำประชามติที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องให้ผู้ที่ออกเสียงได้รับความรู้ ความเข้าใจ และข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ และต้องเผยแพร่อย่างทั่วถึง จนทำให้ประชาชนสามารถตัดสินใจเองได้ว่าจะออกเสียงอย่างไร ซึ่งการให้ความรู้นั้นไม่จำเป็นต้องมาจากฝ่ายรัฐเท่านั้น แต่ประชาชนยังสามารถช่วยกันรณรงค์เผยแพร่ความรู้ได้ หากมีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นก็จะทำให้การทำประชามติขาดความสมบูรณ์และความชอบธรรม

ชำนาญเบิกความถึงการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2550 ด้วยว่า มีความเปิดกว้างมากกว่า และไม่มีการปิดกั้นการแสดงออกและบรรยากาศสนุกสนานกว่าการออกเสียงประชามติครั้งนี้

สำหรับที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 และ 2560 ชำนาญเบิกความว่ามีที่มาคล้ายกัน คือถูกร่างขึ้นมาจากคณะรัฐประหาร โดยทั่วไปแล้วเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น ก็จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา และการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ไม่ได้มีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่าง

ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตั้งกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา โดยมีบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการร่าง แต่ร่างนี้ก็ถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติตีตกไป จากนั้นก็มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีก โดยมี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และในฉบับหลังนี้ ก็ได้ให้ประชาชนออกเสียงประชามติ แต่เก็มีการออกพ.ร.บ.ประชามติฯ มารปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน
 
ในช่วงที่เกิดคดีนี้ ชำนาญเห็นว่าฝ่ายรัฐบาลให้ข้อมูลเพียงด้านดีของรัฐธรรมนูญเพียงด้านเดียว ไม่ได้ให้ข้อมูลของร่างรัฐธรรมนูญที่ครอบคลุมครบถ้วน ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดต่อร่างรัฐธรรมนูญได้
 
ชำนาญมีความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ลดทอนอำนาจของประชาชนลงเป็นอย่างมาก ทั้งในประเด็นเรื่องที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งทั่วไปจากระบบเดิมของไทยที่ให้เลือกแยกพรรคกับคนออกจากกัน เพราะประชาชนอาจจะอยากลงคะแนนให้พรรคหนึ่งแต่ไม่อยากเลือก ส.ส. ของพรรคนั้นก็ได้ เป็นให้เหลือการเลือกเพียงพรรคหรือคนเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ทำให้ตัดสินใจในการเลือกได้ยาก และยังเป็นการลดแรงจูงใจของคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง
 
ชำนาญยังเบิกความต่อว่าในฐานะที่เขาเป็นคนผลักดันร่างพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร แต่ก็เกิดรัฐประหารขึ้นเสียก่อน ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ทำให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนทำได้ยาก และยังจำกัดการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมาก
 
ชำนาญเบิกความถึงเรื่องยุทธศาสตร์ชาติว่า ประเทศอื่นก็มีการทำแผนยุทธศาสตร์ แต่ก็เป็นการวางกรอบอย่างกว้างๆเอาไว้ และไม่ได้มีการบีบบังคับให้รัฐบาลต้องทำ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีการลงรายละเอียดสิ่งที่รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมา จะต้องทำเอาไว้ และถ้าหากรัฐบาลไม่ทำก็ยังมีโทษ อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวก็ยังมาจากรัฐบาลที่มีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย
 
รัฐธรรมนูญใหม่นี้ ยังให้ คสช. มีอำนาจอยู่ต่อ จนกว่าจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งคสช.สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ได้ผ่านการใช้มาตรา 265 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาตราดังกล่าวได้ให้อำนาจทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการแก่ คสช. ในช่วงที่ผ่านมา คสช. ก็มีการใช้มาตรา 44 ในการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน สปก. ในการลงทุนได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยให้ใช้ที่ดิน สปก. เพื่อการเกษตรได้เท่านั้น ทำให้การใช้อำนาจลักษณะนี้เป็นการแทรกแซงอำนาจของตุลาการ ทั้งยังมีการใช้มาตรา 44 ในการปลดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การสั่งยุบคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายซึ่งเป็นองค์กรอิสระอีกด้วย เป็นต้น
 
ในทางพฤตินัยแม้จะมีการเลือกตั้งแล้ว คสช.ก็ยังมีอำนาจอยู่ต่อจากการที่เป็นผู้เลือกบุคคลเข้ามาเป็น ส.ว. ซึ่ง ส.ว. ยังเป็นผู้ที่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ถึง 2 สมัย และประกาศคำสั่งของคสช.ต่างๆ ก็ยังคงอยู่จนกว่าจะมีการออกกฎหมายมายกเลิกการใช้ประกาศคำสั่งเหล่านั้น
ชำนาญสรุปว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย เนื่องจากอำนาจถูกผูกขาดอยู่กับ คสช. ความเสียหายที่ตามมา ก็คือทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือต่อการบังคับใช้กฎหมาย
 
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังแก้ไขได้ยากมาก เนื่องจากต้องให้พรรคการเมืองทุกพรรครวมกันออกเสียงอย่างน้อยร้อยละ 10 และเสียงยังต้องเป็นเอกฉันท์ ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากมาก เมื่อผ่านสภาแล้วก็ยังต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าการแก้ไขดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ชำนาญเห็นว่าเป็นเรื่องประหลาดเนื่องจากการแก้ไขเนื้อหาในรัฐธรรมนูญย่อมต้องขัดกับเนื้อหาเดิมอยู่แล้ว การให้ศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาว่าเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ย่อมทำให้เป็นไปได้ยากที่ศาลจะพิจารณาว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และสุดท้ายหากผ่านศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็ยังต้องกลับมาทำประชามติอีกครั้งด้วย
 
ชำนาญระบุว่าเมื่อตอนที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ให้มีการรวบรวมความคิดเห็นเพื่อนำมาใช้ในการร่าง และเปิดให้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง แต่ในครั้งนี้ กลับมีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น มีการจับกุมดำเนินคดีด้วยข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มีการนำ พ.ร.บ.ประชามติฯ มาใช้ในการปิดกั้นการแสดงออก และกระบวนการยุติธรรมถูกนำมาใช้ในการสร้างภาระให้แก่ผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น การแจ้งความดำเนินคดีเกิดขึ้นโดยไม่ได้มีการหวังผลทางคดี เพียงแต่ต้องการสร้างภาระให้คนต้องมาขึ้นโรงขึ้นศาล ซึ่งการกระทำแบบนี้จะกลายเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อไปในอนาคต
 
ชำนาญเบิกความถึงคดีประชามติคดีอื่นด้วยว่า เขาได้ไปสังเกตการณ์ในคดีแจกใบปลิวเขียนข้อความ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าข้อความไม่ได้ขัดต่อ พ.ร.บ.ประชามติฯ ชำนาญเห็นว่าหากเปรียบเทียบกันข้อความในคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ยกฟ้องยังจะดูรุนแรงกว่าถ้อยคำบนสติกเกอร์ในคดีนี้เสียอีก ชำนาญเบิกความด้วยว่าคนที่มีสิทธิออกเสียงประชามติต้องมีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ก็น่าจะสามารถใช้วิจารณญาณที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อการโฆษณาได้ด้วยตัวเอง
 
ตอบอัยการถามค้าน
 
อัยการถามว่าชำนาญเคยแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ชำนาญตอบว่าเคยไปแสดงความเห็นตามเวทีวิชาการต่างๆ จากการที่เขาไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ และเขาก็ไม่เคยถูกดำเนินคดีจากการไปแสดงความคิดเห็น
 
เกี่ยวกับการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชน ชำนาญตอบคำอัยการว่ามีการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญในเวลาที่ค่อนข้างกระชั้นกับวันออกเสียงประชามติ ชำนาญเบิกความต่อว่า กกต.อ้างว่ามีร่างรัฐธรรมนูญเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อยู่ นอกจากนี้ภายหลังการลงประชามติยังมีสำรวจความเห็นผู้ออกเสียงซึ่งปรากฎว่ามีกลุ่มตัวอย่างเพียง 3% เท่านั้นที่ได้อ่านร่าง แสดงให้เห็นว่าการเข้าถึงข้อมูลจำกัดมาก
 
อัยการถามว่าถ้ามีการชักชวนให้ไปรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญยังเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือไม่ หรือเป็นการชักชวน-ชี้นำ ชำนาญตอบว่าเป็นการรณรงค์ และทำให้คนที่ได้พบเห็นข้อความบนสติกเกอร์ได้กลับไปศึกษาว่าทำไมคนที่ติดสติกเกอร์ถึงจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยเหตุผลอะไร แต่ไม่ได้มีผลทำให้คนที่พบเห็นด้วยทันทีว่าไม่รับร่าง
 
อัยการถามต่อว่าหากมีคนมาออกเสียงไม่รับเยอะกว่ารับร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร ชำนาญตอบว่าเขาก็ไม่ทราบ เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ไม่ได้มีการระบุเอาไว้ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะต้องทำอย่างไร แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องร่างใหม่ แต่ใครจะเป็นผู้ร่าง อาจจะเป็นกลุ่มคนเพียง 4-5 คน ร่างขึ้นมาใหม่
 
อัยการถามถึงประเด็นเกี่ยวกับคดีแจกใบปลิวที่จังหวัดเชียงใหม่ว่าสิ้นสุดแล้วหรือยัง ชำนาญตอบว่าไม่ทราบ แต่เข้าใจว่าน่าจะสิ้นสุดแล้ว เพราะตอนนี้ก็สิ้นสุดระยะเวลาที่จะอุทธรณ์คดีแล้ว โดยใบปลิวดังกล่าวมีข้อความไม่เหมือนกันกับคดีนี้ เพราะเขียนว่า “7 ส.ค. Vote No” ซึ่งก็เป็นการแสดงความคิดเห็นของคนแจก แต่เจตนาของผู้ที่แจกใบปลิวในคดีนั้นกับของจำเลยในคดีนี้ ก็เป็นเจตนาเดียวกันคือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

อัยการถามคำถามสุดท้ายว่าในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 การทำประชามติครั้งนั้นมีกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติเหมือนครั้งนี้หรือไม่ ชำนาญตอบว่ามี แต่จำได้ว่าในกฎหมายฉบับนั้น ไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษแบบใน พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ. 2559 หรือไม่

หลังการสืบพยานปากนี้เสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานจำเลยสองปากสุดท้ายในวันที่ 5 ตุลาคม 2560

สืบพยานจำเลยปากที่สี่ ธีระ สุธีวรางกูร พยานผู้เชี่ยวชาญ 
 
ธีระ เบิกความว่าในฐานะที่ตัวเขาสอนวิชานิติศาสตร์ ได้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้มีการออกเสียงประชามติ และพ.ร.บ.ประชามติฯ ด้วย ซึ่งเขาและนักวิชาการหลายคนมีความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญว่าไม่ควรผ่านการลงประชามติครั้งนี้ ด้วยเหตุผลหลายประการ
 
ประการแรก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาไม่ชอบ เพราะมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ด้วยวิธีการนอกระบบกฎหมาย ซึ่งปกติแล้วการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปตามระบบของรัฐธรรมนูญ
 
ประการต่อมา เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาในหลายประเด็น แต่ที่สำคัญคือเนื้อหาบางส่วนยังคงรองรับการใช้อำนาจแบบตามอำเภอใจของ คสช. ซึ่งบัญญัตเอาไว้ในมาตรา 265 ที่ให้ คสช. สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ต่อไปได้ 
 
นอกจากนี้ก็มีเรื่องที่มาของส.ว.ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จากเดิมในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ส.ว.จะต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็ยังคงกำหนดให้มีการให้เลือกตั้งส.ว.บางส่วนและมีบางส่วนมาจากการสรรหา แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะให้ลงประชามติครั้งนี้กลับกลายเป็นการแต่งตั้ง ส.ว. เข้ามาทั้งหมดโดยคณะกรรมการสรรหา ซึ่งคณะกรรมการก็มาจากคัดเลือกโดย คสช. อีกที และเมื่อคณะกรรมการสรรหาได้รายชื่อผู้ที่จะมาเป็น ส.ว. แล้ว คสช. ก็ยังเป็นผู้เลือกในขั้นตอนสุดท้าย

ที่สำคัญยังมีการกำหนดให้มี ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
 
ในประเด็นต่อมาธีระเบิกความถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติว่า มาจากการคัดเลือกของสองสภา คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่ง ส.ว. ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เลือกนายกรัฐมนตรีได้ นอกจากนั้นในกรณีที่ทั้งสองสภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีที่มีรายชื่อในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอได้ ก็ให้ทั้งสองสภาเลือกผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีจากนอกบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอได้อีกด้วย หรือก็คือการเลือกนายกฯคนนอก
 
ธีระเบิกความสรุปว่าที่มีความเห็นว่าไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะปัญหาเรื่องที่มาและเนื้อหา โดยในหมู่นักนิติศาสตร์เห็นว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้เพราะเป็นการขัดต่อนิติรัฐและนิติธรรม และในประเด็นข้างต้น ทางกลุ่มนิติราษฎร์ซึ่งเขาเป็นสมาชิกอยู่ก็เคยออกแถลงการณ์เอาไว้ด้วย 
 
ธีระเบิกความต่อว่าในช่วงที่เกิดเหตุคดีนี้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมีการบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพเอาไว้ตามมาตรา 4 และยังรับรองพันธกรณีที่ไทยเคยลงนามไว้ คือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 จึงมีสถานะบังคับ เพราะทั้งในรัฐธรรมนูญก็ได้มีการเขียนสอดรับกัน
 
ในประเด็นเรื่องประเพณีการปกครองของไทยก็มีการรับรองสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว เพราะมีการเขียนรับรองในรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ดังนั้นถึงจะไม่มีการเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพเอาไว้ในรัฐธรรมนูญเอาก็ยังถือว่าประเด็นนี้เป็นประเพณีการปกครองของไทยด้วย  อีกทั้ง พ.ร.บ.ประชามติฯ ก็ยังรับรองเสรีภาพการแสดงออกไว้อยู่ในมาตรา 7 ด้วย
 
ธีระเบิกความถึงการรณรงค์และเผยแพร่ความเห็นที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญต่อบุคคลอื่น เพื่อให้ประชาชนได้นำเอาไปคิดพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้
 
ทนายจำเลยถามธีระว่าข้อความ “Vote No ไม่รับ กับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” เป็นข้อความที่มีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือเป็นข้อความที่เป็นเท็จ อย่างไร ธีระกล่าวว่าถ้าหากอนาคตที่ไม่ได้เลือก หมายถึงการที่ ส.ว. หรือนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนแล้ว ข้อความดังกล่าวก็ไม่ได้ผิดไปจากความเป็นจริง
 
ธีระเบิกความถึงประเด็นเกี่ยวที่จำเลยที่หนึ่งถึงที่สี่ถูกแจ้งข้อหาขัดคำสั่งพนักงานสอบสวนที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ตาม ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25/2549 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ว่าประกาศดังกล่าวหากพิจารณาตามกฎหมายธรรมชาติแล้ว ถือว่าที่มาของกฎหมายดังกล่าวนี้ไม่ชอบ

แต่ในทางพฤตินัยแล้ว การที่ศาลมีการพิจารณาใช้ประกาศฉบับนี้มาก่อนแล้ว ก็ถือว่าเป็นกฎหมายที่ใช้ได้ใช่หรือไม่ ธีระตอบว่า หากพิจารณาว่าการขัดคำสั่งเจ้าพนักงานที่เคยมีโทษจำคุกเพียง 10 วัน แต่มีการปรับโทษเพิ่มในประกาศฉบับนี้เป็นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน การเพิ่มโทษนี้สมควรแก่เหตุหรือไม่ เมื่อเทียบกับกฎหมายที่มีลักษณะเดียวกัน อีกทั้งที่มาของกฎหมายฉบับนี้ ก็เป็นการประกาศใช้โดย คปค. ที่มาจากการรัฐประหาร กฎหมายไม่มีการตรวจสอบจากสภาก่อน จึงเห็นได้ชัดว่าขัดต่อหลักยุติธรรมทางอาญา
 
เกี่ยวกับกับจำเลยทั้งห้า ธีระเบิกความว่ารู้จักกับจำเลยตามที่ปรากฎในหน้าสื่อเท่านั้น พึ่งเคยพบกันครั้งแรกที่ศาลในคดีนี้ 
 
ตอบอัยการถามค้าน
 
อัยการถามว่าที่ธีระเคยออกแถลงการณ์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเขาเคยถูกดำเนินคดีหรือไม่ ธีระตอบว่าเขาไม่เคยถูกดำเนินคดีจากการที่ไปร่วมกับคณะนิติราษฎร์การออกแถลงการณ์ต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนักวิชาการท่านอื่นๆ ก็ไม่มีคนใดที่ถูกดำเนินคดี
 
อัยการถามธีระว่าข้อความว่า "ไม่รับ" บนสติกเกอร์หมายถึงการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ธีระตอบว่าใช่ หมายถึงการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาว่าไม่สามารถเลือกตั้ง ส.ว. ได้ อัยการถามต่อว่าคนที่ได้รับสติกเกอร์จะมีกี่คนที่เข้าใจตามที่ธีระอธิบาย ธีระตอบว่าเขาไม่ทราบว่าการแจกสติกเกอร์มีการอธิบายประกอบด้วยหรือไม่ แต่ถ้ามีแต่สติกเกอร์ข้อความนี้ก็ไม่ชัดเจนนัก แต่หากมีการแจกเอกสารประกอบด้วยก็จะชัดเจน
 
อัยการถามว่าข้อความบนสติกเกอร์เป็นการชักชวน จูงใจหรือไม่ ธีระตอบว่าเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าคนที่ได้รับสติกเกอร์ใช้ดุลยพินิจแล้วเห็นตรงกันกับคนแจกก็เป็นการชักจูง แต่ถ้าใช้ดุลยพินิจแล้วไม่เห็นด้วย ก็ไม่รับ
 
หลังจบการสืบพยานปากนี้ ศาลให้สืบพยานปากต่อไปในภาคบ่าย

สืบพยานจำเลยปากที่ห้า ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข หัวหน้างานของทวีศักดิ์ จำเลยที่สอง 
 
ชูวัสเบิกความว่าตัวเขาเป็นบรรณาธิการบริหารของสำนักข่าวออนไลน์ประชาไท และเป็นหัวหน้างานของทวีศักดิ์ จำเลยที่สอง 

ชูวัสเบิกความถึงเป้าหมายการทำงานของสำนักข่าวประชาไทว่า ประชาไทมีจุดประสงค์ในการเป็นปากเสียงให้ผู้ด้อยโอกาสและสร้างพื้นที่ให้แก่เสียงที่แตกต่างหลากหลายซึ่งถูกสื่อกระแสหลักละเลย เช่น ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเด็นทรัพยากร แรงงาน โดยเป็นการนำเสนอในอีกมุมหนึ่งเพื่อให้มีการนำเสนอข่าวสารอย่างรอบด้าน
 
เกี่ยวกับการติดตามเรื่องการออกเสียงประชามติ ชูวัสเบิกความว่าช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 ประชาไทติดตามการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นประเด็นเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งจะมีสถานการณ์การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในทุกรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ ทางประชาไทจึงมีการติดตามเรื่องนี้โดยการส่งผู้สื่อข่าวออกไปติดตาม
 
ชูวัสเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นกติกาของประเทศที่จะใช้ในการจัดสรรความสัมพันธ์ภายในประเทศ ดังนั้นไม่ว่าจะมีการให้ไปออกเสียงหรือไม่ก็ตาม ก็ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประชาชนในประเทศ
 
ในส่วนของทวีศักดิ์ จำเลยที่สองในคดีนี้ ชูวัสเบิกความว่าเข้ามาทำงานกับประชาไทตั้งแต่ปี 2557 ในตำแหน่งผู้สื่อข่าวสายสิทธิพลเมือง การเมือง และภาคประชาสังคม โดยตัวเขาเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของทวีศักดิ์

ในการมอบหมายงานจะมีการให้ประเด็นอย่างกว้างตามที่กล่าวไป ซึ่งรวมไปถึงการติดตามนักกิจกรรมที่ถูกละเมิดสิทธิ แล้วแต่หน้างานในขณะนั้นว่าเกิดอะไรขึ้น ก็จะให้ทวีศักดิ์เสนอประเด็นมา เพื่อทำการพิจารณาว่าจะให้มีการติดตามทำข่าวในประเด็นนั้นๆ ต่อหรือไม่
 
ชูวัสเบิกความต่อว่าในฐานะที่ตัวเขาเป็นบรรณาธิการ หากมีการเสนอประเด็นมาแล้ว ก็จะมีการพิจารณาอนุมัติให้ทำข่าว แล้วนักข่าวก็จะทำข่าวกลับมาส่ง จากนั้นก็จะมีการทำการตรวจสอบอีกครั้งว่าข่าวดังกล่าวนำเสนอได้ครอบคลุมรอบด้านตามประมวลจริยธรรมของสำนักข่าวแล้วหรือไม่ ก่อนที่จะนำเสนอสู่สาธารณะ ซึ่งตัวเขาเองสามารถทำการแก้ไขข่าวที่นักข่าวส่งมาให้ได้

ในวันเกิดเหตุทวีศักดิ์ได้มีการนำเสนอประเด็นมาก่อนแล้ว จากนั้นก็มีการส่งข่าวกลับมาที่กองบรรณาธิการด้วย ซึ่งข่าวดังกล่าวก็ได้มีการนำเสนอสู่สาธารณะ ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของประชาไท
 
ทนายจำเลยถามชูวัสว่าภายหลังจากทวีศักดิ์ถูกดำเนินคดีจากการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ชูวัสตอบว่าตามประมวลจริยธรรมแล้วการเซนเซอร์ตัวเอง เป็นเรื่องต้องห้ามในการทำงานข่าว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ก็ทำให้เสียความมั่นใจในการทำหน้าที่ของสื่อไป

ชูวัสเห็นว่าการดำเนินคดีครั้งนี้เป็นการคุกคามและละเมิดสิทธิในการทำหน้าที่ของสื่อ แล้วหลังจากที่ทวีศักดิ์ถูกจับกุม ก็มีตำรวจจาก สน.สุทธิสารนำหมายค้นมาตรวจค้นที่สำนักงานอีกด้วย ชูวัสเบิกความด้วยว่าในวันเกิดเหตุไม่มีตำรวจโทรศัพท์มาหาเพื่อสอบถามยืนยันว่าทวีศักดิ์เป็นนักข่าวของประชาไทหรือไม่
 
สำหรับพฤติกรรมของทวีศักดิ์ ชูวัสเบิกความอีกว่าเป็นคนมีความประพฤติดี มีความรับผิดชอบ มีวินัย ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี มีความสามารถในการจับประเด็นข่าว และเป็นนักข่าวมือรางวัลจากการทำข่าวในประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในปี 2557

ตอบอัยการถามค้าน
 
อัยการถามว่าในการลงพื้นที่ทำข่าวแต่ละครั้ง ประชาไทจะส่งทีมงานไปกี่คน ชูวัสตอบว่าปกติแล้วนักข่าวประชาไทจะไปลงพื้นที่ทีละคน โดยจะต้องเป็นทั้งคนหาข่าวและถ่ายภาพด้วยตัวเอง
 
อัยการถามว่าจากการที่สำนักข่าวติดตามข่าวเรื่องความเห็นที่ขัดแย้งกับรัฐบาล เคยถูกดำเนินคดีหรือไม่ ชูวัสตอบว่าสำนักข่าวไม่เคยถูกดำเนินคดี แล้วการทำข่าวก็มีการเสนอข่าวทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ที่มีความเห็นขัดแย้งด้วย ชูวัสตอบเบิกความกับอัยการด้วยว่านอกจากกรณีที่ทวีศักดิ์ถูกดำเนินคดีและมีการเข้าตรวจค้นที่สำนักงานแล้ว ก็ไม่ได้มีการคุกคามอื่นอีกและก่อนหน้าเกิดเหตุคดีนี้ทางประชาไทก็ไม่เคยถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
 
อัยการถามว่าเคยพบว่าทวีศักดิ์ไปเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ นายชูวัสตอบว่าไม่มี แต่เมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมืองทวีศักดิ์ต้องไปทำข่าว
 
อัยการถามต่อว่าการทำงานของทวีศักดิ์มีวันหยุดหรือไม่ ชูวัสตอบว่าไม่มีระบุวันหยุดชัดเจน นักข่าวต้องเลือกวันหยุดเอาเอง ในวันที่ไม่มีข่าวต้องทำ บางทีทำงาน 3 สัปดาห์ติดกันแล้วหยุด 3 วันก็มี แต่ในความเป็นจริงแล้วก็แทบไม่มีวันหยุด
 
เกี่ยวกับกรณีที่ทวีศักดิ์เดินทางร่วมกับปกรณ์จำเลยที่หนึ่ง ชูวัสเบิกความกับอัยการว่าการเดินทางลงพื้นที่เป็นไปตามความสะดวกของตัวผู้สื่อข่าวเอง อย่างตอนที่เขาไปทำข่าว ก็เคยมีทั้งการเดินทางไปกับเครื่องบินของทหารหรือรถของศาล

ถ้าเป็นการเดินทางในกรุงเทพก็มีการใช้รถประจำทางบ้าง แต่ถ้าเป็นการเดินทางในต่างจังหวัด ผู้สื่อข่าวจะต้องแจ้งหัวหน้างาน ซึ่งก็คือตัวชูวัสเอง เพื่อให้อนุมัติ ซึ่งก็จะมีการเบิกจ่ายค่าเดินทางได้ แต่ถ้าเป็นเดินทางไปกับแหล่งข่าวหรือเดินทางไม่ไกลนัก ก็จะไม่ต้องเบิกค่าเดินทาง
 
ตอบทนายจำเลยถามติง

ทนายจำเลยถามติงเกี่ยวกับกรณีที่ผู้สื่อข่าวโดยสารรถแหล่งข่าวว่าจะกระทบต่อการทำข่าวหรือไม่ ชูวัสตอบว่าในวันเกิดเหตุทวีศักดิ์เดินทางไปที่สภ.บ้านโป่งเพื่อทำข่าวตามหน้าที่ ส่วนการที่ผู้สื่อข่าวเดินทางไปกับแหล่งข่าว ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการนำเสนอข่าว เพราะนักข่าวก็จะต้องเขียนข่าวส่งมาให้กองบรรณาธิการ โดยจะมีผู้สื่อข่าวอาวุโสตรวจข่าวที่ส่งมาก่อนมีการเผยแพร่ เพื่อตรวจสอบว่าเนื้อหาข่าวถูกต้องหรือไม่ ครอบคลุมรอบด้านหรือยัง

ผู้สื่อข่าวที่ไปติดตามทำข่าวกิจกรรมทางการเมืองอยู่เสมอ ก็อาจจะถูกบุคคลที่พบเห็นหรือเจ้าหน้าที่เข้าใจผิดได้ว่าไปร่วมกิจกรรม เพราะตัวผู้สื่อข่าวอาจไม่ได้แขวนบัตรประจำตัว แต่หากติดตามดูก็จะพบว่าผู้สื่อข่าวจะมีการจดบันทึก อัดเสียง ถ่ายภาพ

แม้ว่าในเวลานี้อาจจะไม่ได้มีการพกกล้องถ่ายรูปแล้ว  แต่ก็มีการใช้โทรศัพท์มือถือในการถ่ายภาพแทน และการเกาะติดแหล่งข่าวก็ถือว่าเป็นการทำข่าวที่ดี เพราะยิ่งใกล้ชิดแหล่งข่าวก็ยิ่งได้ข่าวที่ลึกมากขึ้นด้วย
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าหมดพยานที่จะนำสืบแล้ว และขออนุญาตศาลในการส่งคำแถลงปิดคดีภายใน 30 วัน ศาลอนุญาตและนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 มกราคม 2561 โดยศาลให้เหตุผลว่าเนื่องจากศาลมีคดีที่จะต้องพิจารณาคดีหลายคดี และคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จึงต้องส่งคำพิพากษาให้อธิบดีศาลภาค 7 ดูก่อนวันนัดฟังคำพิพากษา 29 มกราคม 2561
 
29 มกราคม 2561
 
ศาลนัดฟังคำพิพากษา
 
เวลา 10.40 น. ศาลจังหวัดราชบุรีอ่านคำพิพากษายกฟ้องห้าจำเลยที่ถูกกล่าวหาร่วมกันแจกจ่ายหรือเผยแพร่เอกสารที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิไม่ไปใช้สิทธิหรือไปใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง
 
โดยศาลให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอที่จะระบุว่าจำเลยทั้งห้ามีเจตนาที่จะแจกจ่ายเอกสาร และเผยแพร่ข้อความสติกเกอร์โหวตโนตามที่โจทก์ฟ้อง เพราะโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่าจำเลยทั้งห้าแจกจ่ายเอกสารต่อบุคคลอื่น ลำพังการที่จำเลยเคยทำกิจกรรมร่วมกันหรือมีแนวคิดเหมือนกันนั้นไม่เพียงพอที่จะระบุว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำผิดตามฟ้อง
 
สำหรับจำเลยที่หนึ่งถึงที่สี่ซึ่งถูกกล่าวหาว่าไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าพนักงานอันเป็นความผิดตามคำสั่งคปค ฉบับที่ 25/2549 อีกกระทงหนึ่งนั้น ให้ลงโทษจำคุกปรับ 1000 บาทแต่จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษเหลือปรับ 500 บาท แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสี่ถูกคุมขังในสภ.บ้านโป่งแล้วหนึ่งคืน จึงไม่ต้องชำระค่าปรับ
 
2 กรกฎาคม 2561
 
อัยการอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์
 
11 เมษายน 2562
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
จำเลยทั้งห้ามาถึงศาลตั้งแต่ก่อนเวลา 9.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ศาลนัด นอกจากจำเลยทั้งห้าแล้ววันนี้ยังมีประชาชนอีกห้าคนเดินทางจากกรุงเทพมาให้กำลังใจที่ศาลจังหวัดราชบุรีด้วย ระหว่างรอศาลขึ้นบัลลังก์เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีเตือนให้จำเลยและคนที่มาให้กำลังใจงดใช้เสียง หากจะคุยให้ออกไปคุยกันด้านนอกห้องพิจารณาคดี นอกจากนั้นยังบอกให้ปกรณ์ หนึ่งในจำเลยถอดผ้าขาวม้าที่ใช้คาดเอวออกพร้อมทั้งเตือนให้แต่งตัวให้เรียบร้อย
.
เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 9.50 น. ก็แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีใส่กุญแจมือจำเลยทั้งห้าจากนั้นจึงอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลแจ้งว่าจะอ่านคำพิพากษาโดยย่อ ส่วนคำพิพากษาฉบับเต็มให้จำเลยหรือทนายความไปคัดสำเนากันในภายหลัง
 
จากนั้นศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยทั้งห้าในความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง โดยให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังได้ว่ามีการแจกจ่ายสติกเกอร์ตามฟ้องจริง เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานโจทก์ที่มีน้ำหนักพอฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้าเป็นผู้แจกจ่ายเอกสารในที่เกิดเหตุ 

ทั้งถ้อยคำบนสติกเกอร์ก็เป็นเพียงการเชิญชวนให้ประชาชนไปออกเสียงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการกระทำตามกรอบของกฎหมายไม่ได้เป็นการเร้าใจให้ประชาชนลุกฮือหรือฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมือง
 
ส่วนความผิดฐานไม่ยอมพิมพ์ลายหนิ้วมือของจำเลยที่หนึ่งถึงที่สี่ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ปรับจำเลยคนละ 1000 บาทแต่ลดโทษให้เหลือปรับ 500 บาทเพราะจำเลยให้การเป็นประโยชน์
 
หลังศาลมีคำพิพากษา จำเลยทั้งห้าร่วมกันให้สัมภาษณ์ที่บริเวณหน้าศาล ภานุวัฒน์ จำเลยที่ห้าระบุว่าการดำเนินคดีนี้กับพวกเขาจากการที่พวกเขาเพียงแต่รณรงค์ให้ประชาชนออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติคือหลักฐานชั้นดีที่ยืนยันว่าการออกเสียงประชามติที่ผ่านมาเป็นประชามติที่ไม่ชอบธรรม 
 
ขณะที่ทวีศักดิ์ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวก็แสดงความเห็นว่าในการต่อสู้คดีเขาสู้ในแนวทางว่าตัวเองเพียงแต่มาทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน แต่ทั้งศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไว้ในคำพิพากษา จึงเป็นที่น่าเสียดายว่า คำพิพากษานี้ไม่ได้วางบรรทัดฐานคุ้มครองการทำงานของสื่อเอาไว้ซึ่งก็หวังว่าเพื่อนร่วมอาชีพคนอื่นๆจะช่วยกันผลักดันประเด็นนี้ต่อไป
 
 

 

คำพิพากษา

29 มกราคม 2561
 
ศาลจังหวัดราชบุรีอ่านคำพิพากษายกฟ้องห้าจำเลยที่ถูกกล่าวหาร่วมกันแจกจ่ายหรือเผยแพร่เอกสารที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิไม่ไปใช้สิทธิหรือไปใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง
 
โดยศาลให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอที่จะระบุว่าจำเลยทั้งห้ามีเจตนาที่จะแจกจ่ายเอกสาร และเผยแพร่ข้อความสติกเกอร์โหวตโนตามที่โจทก์ฟ้อง เพราะโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่าจำเลยทั้งห้าแจกจ่ายเอกสารต่อบุคคลอื่น ลำพังการที่จำเลยเคยทำกิจกรรมร่วมกันหรือมีแนวคิดเหมือนกันนั้นไม่เพียงพอที่จะระบุว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำผิดตามฟ้อง
 
สำหรับจำเลยที่หนึ่งถึงที่สี่ซึ่งถูกกล่าวหาว่าไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าพนักงานอันเป็นความผิดตามคำสั่งคปค ฉบับที่ 25/2549 อีกกระทงหนึ่งนั้น ให้ลงโทษปรับ 1000 บาทแต่จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษเหลือปรับ 500 บาท แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสี่ถูกคุมขังในสภ.บ้านโป่งแล้วหนึ่งคืน จึงไม่ต้องชำระค่าปรับ 
 
สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
จำเลยทั้งห้าถูกฟ้องว่าทำความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค สอง ซึ่งกำหนดให้การเผยแพร่ข้อความด้วยภาพเสียงหรือช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง เป็นความผิด 
 
ข้อนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่า วันเกิดเหตุเป็นวันที่บริบูรณ์กับพวกซึ่งทำกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองมีกำหนดมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สภ.บ้านโป่ง ปกรณ์ ทวีศักดิ์ อนันต์ และอนุชา จำเลยทีหนึ่งถึงที่สี่ในคดีนี้เดินทางมาที่สภ.บ้านโป่งเพื่อให้กำลังใจกลุ่มดังกล่าว 
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารรวมสามนายซึ่งเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้เบิกความสอดคล้องกันว่า ได้รับรายงานในทางลับว่าจะมีกลุ่มบุคคลเข้ามาแจกใบปลิวในที่เกิดเหตุ เมื่อทำการตรวจสอบรถยนต์ตามที่ได้รับรายงานซึ่งเป็นรถที่จำเลยที่หนึ่งถึงที่สี่โดยสารมาก็พบสติกเกอร์ของกลางในคดีนี้ซึ่งมีข้อความ "7 สิงหา ร่วมกัน Vote No ไม่รับ กับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" อยู่ในรถรวมกับเอกสารรณรงค์อื่นๆ นอกจากนั้นยังพบกล่องรับบริจาคเงินเครื่องเสียงและแผ่นป้ายไวนิลที่มีข้อความทางการเมืองด้วย 
 
เมื่อทำการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณลานจอดรถสภ.บ้านโป่งก็พบว่าปรากฎภาพจำเลยที่ห้า เคลื่อนย้ายกล่องเอกสารจากรถที่จำเลยที่หนึ่งถึงสี่โดยสารมาไปใส่ในรถอีกคันหนึ่งโดยมีบุคคลใกล้ชิดของบริบูรณ์ ผู้ต้องหาคดีชุมนุมทางการเมืองอีกคดีหนึ่งที่มารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุเป็นผู้เปิดรถให้เก็บเอกสารดังกล่าว และมีภาพถ่ายของบริบูรณ์ที่ก่อนจำเลยที่หนึ่งถึงที่สี่จะนำสติกเกอร์เข้ามาในที่เกิดเหตุไม่มีสติกเกอร์ติดบนอกเสื้อแต่ในภายหลังมีสติกเกอร์รณรงค์โหวตโนติดบนอกเสื้อ
 
แต่ไม่มีพยานโจทก์คนใดเบิกความหรือมีหลักฐานยืนยันว่าเห็นจำเลยที่หนึ่งถึงที่ห้าทำการแจกจ่ายสติกเกอร์ และไม่มีการเบิกความว่าจำเลยทั้งห้ามีพฤติการณ์ปลุกระดมใดๆ นอกจากนั้นคำว่าปลุกระดมก็ต้องดูความหมายซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่าเป็นการเร้าใจให้ประชาชนลุกฮือ ซึ่งตามความหมายดังกล่าวต้องหมายถึงการให้ประชาชนทำการฝ่าฝืนกฎหมายแต่สติกเกอร์ของกลางเป็นเพียงการณรงค์ให้ประชาชนไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้นซึ่งเป็นการกระทำที่อยู่ในกรอบของกฎหมายจึงเป็นสิทธิที่ทำได้ตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 7 พิพากษายกฟ้อง 
 
ในส่วนของข้อหาไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งคปค. ซึ่งจำเลยที่หนึ่งถึงที่สี่ถูกฟ้องเป็นอีกหนึ่งข้อหาและได้มีการรับสารภาพและชำระค่าปรับตามคำพิพากษาไปแล้วแต่อัยการขอให้วินิจฉัยว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลดโทษให้จำเลยเพราะให้การเป็นประโยชน์นั้นชอบแล้วหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นคำพิพากษาที่ชอบแล้วจึงพิพากษายืนให้จำเลยทั้งห้าชำระค่าปรับ 1000 บาทแล้วลดให้กึ่งหนึ่งเหลือ 500 บาท

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา