ปิยรัฐ: ฉีกบัตรประชามติ

อัปเดตล่าสุด: 01/09/2565

ผู้ต้องหา

ปิยรัฐ

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ปิยรัฐ ชายอายุ 25 ปีเดินทางไปออกเสียงประชามติที่หน่วยเลือกตั้งในสำนักงานเขตบางนา หลังรับบัตรปิยรัฐฉีกบัตรลงคะแนนพร้อมตะโกนว่า“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เจ้าหน้าที่จึงจับกุมและนำตัวปิยรัฐพร้อมกับทรงธรรมและจิรวัฒน์ที่ถ่ายคลิปวิดีโอเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตไปที่สถานีตำรวจบางนา 
 
เบื้องต้นปิยรัฐถูกแจ้งถูกตั้งข้อกล่าวหาก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนนประชามติ และข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนนตามพ.ร.บ.ประชามติฯ รวมทั้งความผิดฐานทำลายเอกสารและทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วมทรงธรรมและจิรวัฒน์ถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนนประชามติตามพ.ร.บ.ประชามติฯ
 
การสืบพยานคดีนี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 16 มิถุนายน และ 8 สิงหาคม 2560 อัยการนำพยานโจทก์เข้าเบิกความต่อศาลรวม 14 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบรวมสามปากคือตัวของจำเลยทั้งสาม ในวันที่ 26 กันยายน 2560 ศาลจังหวัดพระโขนงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามในข้อหาร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติ ในส่วนของปิยรัฐผู้ฉีกบัตรลงคะแนน ศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลาสองเดือนปรับสองพันบาทโดยให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้หนึ่งปี 

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ปิยรัฐ จงเทพ  เป็นชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ สมัยที่ปิยรัฐศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือเคยทำกิจกรรมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้าน Sotus ในมหาวิทยาลัย หลังการรัฐประหารปี 2557 ปิยรัฐเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองในบางโอกาส ในปี 2559 เขาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการฉีกบัตรออกเสียงประชามติจนทำให้ถูกดำเนินคดีในความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ต่อมาในปี 2561 ปิยรัฐเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีในความปิดฐานยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

ในการเลือกตั้งปี 2562 ปิยรัฐลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตหนึ่ง ของพรรคอนาคตใหม่ โดยได้คะแนนเป็นลำดับที่ 3 ในปี 2563 ปิยรัฐเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มราษฎรและได้ก่อตั้งกลุ่มมวลชนอาสา “We Volunteer” ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นฝ่ายดูแลความปลอดภัยและสนับสนุนด้านเทคนิคในพื้นที่การชุมนุม

ทรงธรรมหรือเดฟ เป็นอดีตนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ นอกจากคดีนี้ ทรงธรรมยังถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมของหัวหน้าคสช. 3/2558 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยร่วมกับนักกิจกรรมอีก 13 คน (คดีขบวนการประชาธิปไตยใหม่) นอกจากนี้ทรงธรรมยังถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมฉบับที่ 3/2558 จากการร่วมชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพอีกด้วย 

จิรวัฒน์ เคยทำกิจกรรม "เรือนจำพิเศษประเทศไทย" สวมชุดนักโทษเดินที่ห้างเพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไร้เสรีภาพเหมือนอยู่ในเรือนจำ
 

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 59 และ 60 (9) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 และ 358

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ปิยรัฐฉีกบัตรลงประชามติ พร้อมกับตะโกนคำว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ"
จึงถือว่ามีเจตนาฉีกทำลายบัตรลงคะแนนประชามติ เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติมาตรา 59 ฐานทำลายบัตรลงคะแนนโดยไม่มีอำนาจ มาตรา 60 (9) ฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 ทำลายเอกสารของผู้อื่น และมาตรา 358 ทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นหรือทรัพย์สินที่ผู้อื่นร่วมเป็นเจ้าของ
 
สำหรับทรงธรรมและจิรวัฒน์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ประชามติฯมาตรา 60(9) ฐานก่อนความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนนเพราะทั้งสองร่วมกันถ่ายวิดีโอการกระทำของปิยรัฐระหว่างที่ปิยรัฐฉีกบัตรออกเสียง ก่อนจะนำวิดีโอที่บันทึกไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์
 

พฤติการณ์การจับกุม

ปิยรัฐ ทรงธรรม และจิรวัฒน์ ถูกควบคุมตัวที่หน่วยเลือกตั้งในสำนักงานเขตบางนา หลังปิยรัฐฉีกบัตรประชามติในหน่วยเลือกตั้ง ทั้งสามถูกนำตัวไปควบคุมที่สน.บางนาตั้งแต่เวลาประมาณ14.00 น. จนถึงเวลาประมาณตีสามจึงได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.5952/2559

ศาล

ศาลจังหวัดพระโขนง

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
7 สิงหาคม 2559
 
เวลาประมาณเที่ยง ปิยรัฐเดินทางไปที่หน่วยลงคะแนนประชามติซึ่งตั้งอยู่ในสำนักงานเขตบางนา หลังรับบัตรออกเสียงปิยรัฐฉีกบัตรลงคะแนนพร้อมตะโกนว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ปิยรัฐถูกควบคุมตัวในที่เกิดเหตุทันทีที่ฉีกบัตร ทรงธรรมและจิรวัฒน์ ซึ่งมากับปิยรัฐและเป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ขณะปิยรัฐฉีกบัตรเผยแพร่ในโลกออนไลน์ก็ถูกจับตัวด้วย ทั้งสามถูกนำตัวไปควบคุมตัวที่สน.บางนา 
 
ในเวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งกับปิยรัฐว่าเขาจะถูกดำเนินคดีรวมสามข้อหา ได้แก่ข้อหาทำลายเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 ข้อหาทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นหรือทรัพย์สินที่ผู้อื่นร่วมเป็นเจ้าของด้วยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 และ ข้อหาทำลายบัตรลงคะแนนตามประชามติตามมาตรา 59 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ เจ้าหน้าที่ระบุด้วยว่าทรงธรรมและจิรวัฒน์อาจถูกดำเนินคดีด้วย
 
พนักงานสอบสวนเริ่มสอบปากคำปิยรัฐในเวลาประมาณ 18.00 น. ปิยรัฐให้การปฏิเสธ สำหรับทรงธรรมและจิรวัฒน์พนักงานสอบสวนระบุว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 60 (9) ในความผิดฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติ เนื่องจากทั้งสองคนมาพร้อมกับปิยรัฐ และใช้โทรศัพท์ถ่ายวิดีโอตั้งแต่ก่อนที่ปิยรัฐจะฉีกบัตรลงประชามติ สำหรับปิยรัฐ หลังการสอบสวนพนักงานสอบสวนยังไม่ให้ประกันตัวเพราะเขาอาจถูกตั้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ประชามติมาตรา 60 (9) เพิ่มเติมด้วย
 
ในเวลาประมาณ 20.45 น. พนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหากับปิยรัฐ ทรงธรรรม และจิรวัฒน์ ในความผิดฐานร่วมกันก่อความวุ่นวานในหน่วยลงคะแนนออกเสียงประชามติ ตามพ.ร.บ.มาตรา 60 (9) เจ้าหน้าที่ยังยึดโทรศัพท์ของทรงธรรม และจิรวัฒน์ไปตรวจสอบด้วย
 
ในเวลาประมาณ 22.56 น. หลังการสอบปากคำเสร็จสิ้น ปิยรัฐได้รับอนุญาตให้ประกันตัวโดยวางประกัน 20,000 บาท สำหรับปิยรัฐจะให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษ์อักษรอีกครั้ง 
 
8 สิงหาคม 2559
 
เวลาประมาณ 3.30 น. ทรงธรรม และจิรวัฒน์ ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนโดยวางเงินประกันคนละ 10,000 บาท 
 
23 สิงหาคม 2559 
 
ในเวลาประมาณ 09.00 น. ปิยรัฐ จิรวัฒน์  และทรงธรรม เดินทางไปที่ สน. บางนา เพื่อเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน ในเวลาประมาณ 10.00 น. พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาทั้งสามไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดพระโขนง เพื่อส่งสำนวนคดีและส่งตัวผู้ต้องหาแห่งอัยการ
 
เวลาประมาณ 12.00 น. พนักงานสอบสวนแจ้งผู้ต้องหาทั้งสามว่า จะยังไม่ส่งตัวให้อัยการเพราะสำนวนคดียังไม่เรียบร้อย และจัดนัดทั้งสามมาพบอีกครั้งเพื่อส่งตัวให้อัยการภายใน 15 วัน
 
ปิยรัฐแจ้งกับพนักงานสอบสวนว่าหากไม่มีการส่งตัววันนี้ก็จะไม่มารายงานตัวอีก เพราะต้องลางานมา หากพนักงานสอบสวนจะนัดใหม่ก็ขอให้นัดหลังมีการเลือกตั้งปีหน้า ส่วนถ้าพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกใหม่แล้วตนไม่มาก็ให้พนักงานสอบสวนออกหมายจับได้เลย
 
23 พฤศจิกายน 2559
 
ศูนย์ทนายความเพือสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 อัยการศาลจังหวัดพระโขนงได้อนุญาตให้เลื่อนยื่นฟ้องคดีต่อศาลเนื่องจาก ผู้ต้องหาเตรียมเงินประกันมาไม่เพียงพอ ซึ่งในคดีนี้ต้องใช้เงินประกันคนละ 200,000 บาท โดยปิยรัฐได้เตรียมเงินประกันมา 20,000 บาท และผู้ต้องหาอีก 2 คน เตรียมเงินประกันมาคนละ 10,000 บาท 
 
ทั้งนี้ศาลจังหวัดพระโขนงได้เลื่อนส่งตัวผู้ต้องหาและสำนวนของคดีนี้ไปเป็น วันที่ 13 ธันวาคม 2559
 
13 ธันวาคม 2559

ประชาไทรายงานอ้างอิงจากการสัมภาษณ์ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำสั่งรับฟ้องในคดีที่ปิยรัฐและพวกรวมสามคน ถูกฟ้องร้องฐานละเมิด พ.ร.บ.ประชามติฯ ทนายจำเลยจึงได้ยื่นประกันตัวปิยรัฐและพวกรวมสามคนในชั้นศาล โดยใช้ตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยสองคนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยก่อนหน้านี้มีอาจารย์จาก ม.เกษตรศาสตร์อีกหนึ่งคนใช้ตำแหน่งยื่นประกันด้วยแต่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าเอกสารไม่ครบและตำแหน่งอาจารย์เพียงสองคนก็ครอบคลุมวงเงินที่ต้องใช้ประกันทั้งสามคนแล้ว

ต่อมาในช่วงบ่ายศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทั้งสามคนโดยให้เหตุผลว่า อาจารย์ไม่ใช่ญาติพี่น้องและไม่ใช่นายจ้างของผู้ต้องหา จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้ทั้งสามคนถูกควบคุมตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงเย็น

14 ธันวาคม 2559

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลจังหวัดพระโขนงให้ประกันตัว ปิยรัฐและพวก พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำร้องผู้ร้องเป็นอาจารย์มีความสัมพันธ์กับจำเลย ถือได้ว่ามีส่วนได้เสีย อนุญาตให้ปล่อยจำเลย ตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท แม้ว่าวานนี้ศาลจะไม่อนุญาตให้บุญเลิศและนักวิชาการอีกคนใช้ตำแหน่งประกันให้โตโต้และเพื่อนด้วยเหตุผลว่า นักวิชาการทั้งไม่ใช่ญาติและนายจ้างของจำเลย จึงไม่ให้ใช้ตำแหน่งราชการมาเป็นหลักทรัพย์ประกันก็ตาม

30 มกราคม 2560

นัดสอบคำให้การ

ศาลจังหวัดพระโขนงนัดจำเลยทั้งสามสืบคำให้การในเวลา 9.00 น. วันนี้จำเลยทั้งสามมาศาลพร้อมด้วยทีมทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอีกสามคน ศาลเริ่มประบวนพิจารณาคดี้ในเวลาประมาณ 10.00 น.

ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาโดยอ่านฟ้องให้จำเลยฟังก่อนจำถามคำให้การ จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ศาลถามว่าจำเลยได้ทำการฉีบบัตรจริงหรือไม่เพราะในวันเกิดเหตุก็มีภาพโพสต์บนเฟซบุ๊กของจำเลยเอง ปิยรัฐแถลงต่อศาลว่าในสำนวนคดีมีข้อความบางส่วนที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงจึงประสงค์จะสู้คดี  

ศาลถามอัยการว่าประสงค์จะนำพยานเข้าสืบกี่ปาก อัยการแถลงว่ามีทั้งหมด 14 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำหน่วยลงคะแนนประชามติอีกส่วนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาลบอกอัยการว่าพยานหลายคนน่าจะเบิกความประเด็นเดียวกัน หากนำพยานมาสืบทั้งหมดจะทำให้เสียเวลา จึงอยากให้คู่ความไปตกลงกันดูว่าจะรับข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนของพยานปากไหนได้บ้างเพื่อจะได้ประหยัดเวลาในการสืบพยาน

ศาลถามปิยรัฐอีกครั้งว่าวันเกิดเหตุปิยรัฐฉีกบัตรจริงหรือไม่ปิยรัฐตอบว่าจริงแต่สู้คดีเพราะเห็นว่าการฉีกบัตรลงคะแนนไม่เป็นการทำลายทรัพย์สินของทางราชการเพราะเป็นบัตรของตัวเอง ศาลแย้งว่าบัตรลงคะแนนไม่ได้เป็นบัตรที่ให้ขาดเพราะสุดท้ายจะต้องส่งคืนเจ้าหน้าที่ ศาลถามปิยรัฐอีกครั้งด้วยว่าวันเกิดเหตุได้ตะโกนประโยค "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" จริงหรือไม่ ปิยรัฐรับว่าจริงแต่เชื่อว่าการกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นการก่อความวุ่นวายในหน่อยลงคะแนนและตนเองมีแนวทางสู้คดีแล้ว

ทนายของจำเลยทั้งสามแถลงว่าอยากจะขอนัดตรวจพยานหลักฐานสักหนึ่งนัดก่อน ศาลอนุญาตโดยสั่งให้คู่ความส่งบัญชีพยานหลักฐานให้กับศาล 7 วันก่อนถึงวันนัดและให้คู่ความกำหนดวันนัดกันเอง อัยการกับทนายตกลงกันว่าจะตรวจพยานหลักฐานกันในวันที่ 7 มีนาคม 2560 แต่ศาลเห็นว่าจะเป็นการทิ้งระยะเวลานานเกินไปขอให้คู่ความนัดวันกันภายในเดือนกุมภาพันธ์ แต่เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาวันว่างตรงกันได้ศาลจึงอนุญาตให้ตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 7 มีนาคม 2560 เวลา 9.00 น. และให้คู่ความส่งบัญชีพยานหลักฐานให้ศาลเจ็ดวันก่อนถึงวันนัด

7 มีนาคม 2560

นัดตรวจพยานหลักฐาน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า โจทก์แถลงขอนำพยานเข้าสืบรวม 14 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียงและเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำการจับกุม ฝ่ายจำเลยมีจำเลยสามคนเบิกความเป็นพยานให้ตัวเองและมีนักวิชาการกับเจ้าหน้าที่กกต.มาเบิกความเป็นพยาน โดยศาลนัดสืบพยานในวันที่ 13 – 16 มิถุนายน 2560 โดยให้เวลาสืบพยานฝ่ายละสองนัด

13 มิถุนายน 2560

นัดสืบพยานโจทก์

ศาลจังหวัดพระโขนงนัดสืบพยานโจทก์เป็นวันแรก ก่อนเริ่มสืบพยานศาลถามจำเลยทั้งสามอีกครั้งว่า เคยให้การปฏิเสธในวันที่ 30 มกราคม 2560 แต่ต่อมาปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่งให้การรับสารภาพในข้อกล่าวหาฉีกบัตรลงคะแนนตามพ.ร.บ.ประชามติฯแต่ให้การปฏิเสธในข้อหาทำเลยเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญาถูกต้องหรือไม่  จำเลยทั้งสามรับว่าใช่

ศาลถามปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่งว่า หากรับสารภาพในข้อหาฉีกบัตรตามมาตรา 59 ของพ.ร.บ.ประชามติฯแต่ศาลไปพิพากษาลงโทษในข้อหาทำให้เสียทรัพย์หรือทำลายเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญาจะไม่ได้รับประโยชน์จากคำรับสารภาพจะยืนยันตามเดิมหรือไม่  ปิยรัฐยืนยันคำให้การเดิม

สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง จารุวรรณ ศรีทองชัย ผู้กล่าวหา

จารุวรรณเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการครูที่โรงเรียนศรีเอี่ยมอนุสรณ์ เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะได้รับแต่งตั้งเป็นประธานหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดหน่วยที่สาม เขตบางนา โดยได้รับแต่งตั้งในวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 อัยการให้จารุวรรณยืนยันคำสั่งแต่งตั้งและถามว่าตามคำสั่งแต่งตั้งนี้มีระบุหน้าที่หรือไม่ จารุวรรณตอบว่าไม่ได้มีการแบ่งหน้าที่กันเป็นการเฉพาะ โดยคำสั่งดังกล่าวระบุว่าให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 7 สิงหาคม 2557 โดยก่อนหน้าวันออกเสียงประชามติผู้ปฏิบัติหน้าที่จะต้องเข้ารับการอบรมก่อน
 
จารุวรรณเบิกความตอบอัยการถึงขั้นตอนการออกเสียงประชามติว่า ขั้นตอนแรกผู้มีสิทธิออกเสียงจะต้องตรวจสอบรายชื่อของตัวเองที่บอร์ดรายชื่อก่อน หลังจากนั้นจึงมาให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยออกเสียงตรวจดูรายชื่อ พิมพ์ลายนิ้วมือ หลังทำการตรวจสอบเจ้าหน้าที่จะฉีกบัตรออกจากต้นขั้วก่อนจะพับแล้วส่งให้ผู้มีสิทธินำไปลงคะแนนในคูหา

อัยการถามจารุวรรณว่าในวันเกิดเหตุจารุวรรณปฏิบัติหน้าที่ในส่วนไหน จารุวรรณเบิกความว่าปฏิบัติหน้าที่ดูแลหีบบัตร อัยการถามจารุวรรณว่ากรรมการประจำหน่วยที่นั่งตรงโต๊ะตรวจรายชื่อจะต้องทำหน้าที่ใครหน้าที่มันโดยตลอดหรือสามารถสลับตำแหน่งกันได้

จารุวรรณตอบว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ตรวจรายชื่อ พิมพ์ลายนิ้วมือ หรือส่งบัตรให้ผู้มาใช้สิทธิสามารถปฏิบัติหน้าที่แทนกันได้ในกรณีที่มีคนไปเข้าห้องน้ำหรือทำธุระส่วนตัว
 
อัยการถามจารุวรรณว่าหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดหน่วยที่สาม เขตบางนาตั้งอยู่ที่ใด จารุวรรณตอบว่าอยู่ในสำนักงานเขตบางนา อัยการถามจารุวรรณต่อว่า ในสำนักงานเขตบางนามีหน่วยออกเสียงกี่หน่วย จารุวรรณตอบว่ามีสี่หน่วย เป็นหน่วยออกเสียงนอกเขตจังหวัดทั้งสี่หน่วย
 
อัยการถามจารุวรรณว่าวันเกิดเหตุมาถึงที่เกิดเหตุกี่โมง จารุวรรณตอบว่ามาถึงตั้งแต่ 6 โมงเช้าเพื่อมาจัดสถานที่ โดยการจัดหน่วยทำตามแผนผังที่กกต.กำหนดมา แต่มีการปรับเปปลี่ยนบ้างตามความเหมาะสมของสถานที่จริง โดยวางหีบไว้ตรงกลางหน่วย

ด้านหน้าหน่วยมีบอร์ดรายชื่อผู้มีสิทธิ โต๊ะของกรรมการอยู่ด้านหน้าหน่วยออกเสียงหากหันหน้าเข้าหน่วยออกเสียงโต๊ะของกรรมการจะอยู่ด้านซ้าย สำหรับสถานที่ตั้งของหน่วยออกเสียง จารุวรรณตอบว่าน่าจะเป็นลานจอดรถของสำนักงานเขตบางนาแต่มีการเอาเตนท์มากาง
 
อัยการถามจารุวรรณว่ามีการกั้นเขตระหว่างหน่วยออกเสียงอย่างไร จารุวรรณตอบว่ามีการใช้แถบพลาสติกกั้นและบอร์ดกั้นระหว่างหน่วยออกเสียง จารุวรรณเบิกความต่อว่าการเดินมาหน่วยออกเสียงที่สามจะต้องผ่านหน่วยออกเสียงที่หนึ่งและสองก่อน โดยทางเดินจะอยู่ด้านนอกเต้นท์หน่วยออกเสียง

อัยการถามต่อว่าผู้ใดมีสิทธิเดินเข้ามาในหน่วยออกเสียงบ้าง จารุวรรณตอบว่าเจ้าหน้าที่และผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วย อัยการถามต่อว่าหากผู้มาออกเสียงมีผู้ติดตามมาด้วยจะต้องรอที่ใด จารุวรรณตอบว่าจะต้องรอด้านนอก

อัยการถามว่าบริเวณหน่วยออกเสียงหมายถึงพื้นที่บริเวณไหนบ้าง จารุวรรณตอบว่านับจากด้านในบอร์ดที่มีรายชื่อผู้มีสิทธิติดอยู่เป็นต้นไป แต่ทางเดินถือว่าอยู่นอกหน่วยออกเสียง
 
อัยการขอให้จารุวรรณเล่าถึงเหตุการณ์ในคดี จารุวรรณตอบว่า ประมาณเที่ยงมีชายคนหนึ่งซึ่งต่อมาทราบว่าเป็นปิยรัฐ เดินเข้ามาในหน่วยออกเสียงและเข้ามาตรวจรายชื่อตามปกติ แต่ก็เห็นความผิดปกติเพราะมีชายสองคนยืนถือโทรศัพท์ในลักษณะถ่ายภาพหรือวิดีโออยู่ด้านในเต็นท์ซึ่งเป็นบริเวณด้านในหน่วยออกเสียง

เมื่อจารุวรรณเห็นดังนั้นจึงห้ามทั้งสองว่าไม่ให้ถ่ายภาพในหน่วย ชายหนึ่งในสองคนบอกว่าจะมาถ่ายรูปเพื่อน จารุวรรณจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียงที่สี่ เจ้าหน้าที่นายนั้นจึงกันชายทั้งสองคนออกไปด้านนอกบอร์ดติดรายชื่อผู้มีสิทธิ
 
จารุวรรณเบิกความต่อว่า ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกันตัวชายสองคนนั้นออกไปตนเดินตามไปด้วยโดยขณะเดินหันหน้าออกจากหน่วยออกเสียง เมื่อหันหน้ากลับมาที่หีบบัตรอีกครั้งก็เห็นปิยรัฐออกจากคูหาแล้วเดินเลยหีบบัตรมาโดยไม่หย่อนบัตรลงในหีบ จากนั้นปิยรัฐชูบัตรขึ้นและตะโกนว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" พอพูดจบก็ฉีกบัตร แต่ตนไม่ทราบว่าปิยรัฐฉีกบัตรจนขาดเป็นสองท่อนเลยหรือไม่

จารุวรรณเบิกความต่อว่าหลังจากปิยรัฐฉีกบัตรก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งแต่จำไม่ได้ว่าเป็นคนไหนเข้าไปประชิดตัวเพื่อควบคุมตัว อัยการถามว่าระหว่างเกิดเหตุชายสองคนที่ทำท่าเหมือนถ่ายรูปได้บันทึกภาพเหตุการณ์หรือไม่ จารุวรรณตอบว่าไม่ทราบเนื่องจากขณะนั้นตนเองหันกลับมาดูเหตุการณ์ที่จำเลยที่หนึ่งฉีกบัตรลงคะแนน
 
จารุวรรณเบิกความต่อว่า หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่เชิญตัวไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจโดยอยู่ที่นั่นประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงกลับมาที่หน่วยออกเสียงในเวลาก่อน 16.00 น. เพื่อช่วยนับคะแนน อัยการย้อนถามว่าระหว่างที่ให้การกับพนักงานสอบสวนจารุวรรณให้การว่าอย่างไร จารุวรรณตอบว่าจำไม่ได้ว่า ให้การว่าอะไรบ้าง

 อัยการย้อนถามว่าตอนให้การกับพนักงานสอบสวนจารุวรรณเบิกความว่า ปิยรัฐฉีกบัตรลงคะแนนเป็นสองท่อนจะยืนยันหรือไม่ จารุวรรณเบิกความว่าเห็นหตุการณ์ขณะฉีกไม่ชัดเจนว่าบัตรที่ปิยรัฐฉีกจะขาดเป็นสองท่อนเลยหรือไม่

สำหรับคำให้การในชั้นสอบสวนและข้อกล่าวหาที่ตั้งกับจำเลยทั้งสาม จารุวรรณลงชื่อรับรองคำให้การตามที่พนักงานสอบสวนพิมพ์มา  ในคำให้การฉบับดังกล่าวจารุวรรณเบิกความว่าตนเองลงนามในฐานะผู้กล่าวหาเนื่องจากประธานหน่วยออกเสียงต้องเป็นผู้กล่าวหาในกรณีที่มีการกระทำผิดในหน่วยออกเสียง
 
อัยการให้จารุวรรณดูผังการจัดหน่วยลงออกเสียงของกกต. จารุวรรณเบิกความว่า ผังการจัดหน่วยแบบที่สองคล้ายกับการจัดหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดหน่วยที่สาม เขตบางนา แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียวเนื่องจากในสถานที่จริงมีความจำเป็นต้องปรับบางส่วนเพื่อความเหมาะสม

อัยการถามจารุวรรณว่า ทราบหรือไม่ว่าจิรวัฒน์จำเลยที่สองและทรงธรรมจำเลยที่สามนั่งอยู่บริเวณที่นั่งใกล้ๆหน่วยออกเสียงนานแล้วก่อนเดินมาถ่ายภาพ จารุวรรณเบิกความว่า เรื่องที่จำเลยทั้งสองนั่งอยู่บริเวณนั้นนานแล้วจึงลุกมาถ่ายภาพหรือวิดีโอ ตนเพียงได้ยินจากเจ้าหน้าที่คนอื่น แต่ตนเองเห็นทั้งสองเฉพาะตอนที่ทำท่าเหมือนถ่ายภาพหรือวิดีโอเท่านั้น
 
เกี่ยวกับบัตรลงคะแนนที่เป็นของกลาง จารุวรรณเบิกความว่าไม่ทราบว่าบัตรดังกล่าวมีมูลค่าเท่าใด ส่วนบัตรที่ลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นหลักฐาน เป็นบัตรที่เจ้าหน้าที่นำมาให้ลงชื่อและแจ้งว่าเป็นบัตรที่เก็บมาจากที่เกิดเหตุแต่ตนเองไม่เห็นเหตุการณ์ขณะที่เจ้าหน้าที่ยึดหรือเก็บบัตรมา
 
จารุวรรณเบิกความว่า หลังวันเกิดเหตุได้ไปร่วมในการจำลองเหตุการณ์วันเกิดเหตุ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เป็นพยานผู้เห็นเหตุการณ์มาร่วมในการจำลองเหตุการณ์ แต่จำเลยทั้งสามไม่ได้มาด้วย ในการจำลองเหตุการณ์มีคนสองคนทำท่าเหมือนถ่ายภาพหรือวิดีโอแต่เท่าที่ตนเห็นในวันเกิดเหตุมีเพียงหนึ่งในสองที่เป็นผู้ถ่ายภาพ

อย่างไรก็ตามในการทำภาพจำลองเหตุการณ์วันเกิดเหตุไม่ได้มีใครลงชื่อคัดค้าน จารุวรรณเบิกความต่อว่า คลิปวิดีโอที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ ไม่ทราบว่ามาจากไหน แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นของจริงเพราะเห็นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยที่ร่วมงานกับตนอยู่ในภาพด้วยและเป็นภาพเหตุการณ์ในที่เกิดเหตุจริง

อัยการแถลงหมดคำถาม เนื่องจากขณะนั้นเวลาใกล้เที่ยงและทนายจำเลยแถลงว่ามีคำถามที่จะถามค้านพยานปากนี้มาก ศาลจึงให้ไปสืบพยานต่อในช่วงบ่าย

ในเวลาประมาณ 14.00 น. ศาลเริ่มสืบพยานต่อในช่วงบ่ายโดยเป็นการถามค้านของทนายจำเลย

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่า หน่วยออกเสียงที่จารุวรรณดูแล เป็นหน่วยออกเสียงปกติหรือหน่วยออกเสียงที่ตั้งขึ้นเฉพาะ จารุวรรณตอบว่าหน่วยออกเสียงที่ตนเองปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยออกเสียงของผู้ขอใช้สิทธินอกเขตจังหวัด ซึ่งผู้มีสิทธิลงคะแนนในหน่วยนี้มีเฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้าเท่านั้น

ทนายจำเลยถามว่า ทราบหรือไม่ว่าทรงธรรม จำเลยที่สามเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนในหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดหน่วยที่สาม จารุวรรณตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่าจารุวรรณเคยเห็นระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เรื่องห้ามถ่ายภาพหรือไม่ จารุวรรณตอบว่าไม่เคยเห็นแต่มีการแจ้งในที่อบรมว่าห้ามถ่ายภาพ
 
ทนายจำเลยขออนุญาตศาลเปิดคลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ พร้อมทั้งถามจารุวรรณว่า ตามคลิปวิดีโอ ชายที่หน้าตาคล้ายทรงธรรม กำลังยืนอยู่หลังด้านนอกบอร์ดติดป้ายชื่อลงคะแนนใช่หรือไม่ และจากมุมกล้องคนที่ถ่ายคลิปนี้น่าจะยืนถ่ายจากด้านนอกหน่วยออกเสียงใช่หรือไม่ จารุวรรณตอบว่าตามคลิปน่าจะเป็นเช่นนั้น

ทนายจำเลยถามจารุวรรณว่า ขณะเกิดเหตุการออกเสียงยังดำเนินต่อไปใช่หรือไม่ จารุวรรณรับว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่าหลังปิยรัฐฉีกบัตรลงคะแนนถูกเจ้าหน้าที่พาตัวไปไหน จารุวรรณตอบว่าเห็นว่าเจ้าหน้าที่พาตัวปิยรัฐไป แต่จะพาไปที่ใดไม่ทราบ
 
ทนายจำเลยถามว่า จารุวรรณเบิกความกับอัยการว่า ขณะที่ปิยรัฐฉีกบัตรลงคะแนนก็หันไปมองจึงหันหลังให้ชายสองคนที่ทำท่าเหมือนถ่ายภาพ แล้วจารุวรรณทราบได้อย่างไรว่า ชายทั้งสองคนถ่ายภาพ

จารุวรรณตอบว่า ทราบเพราะอมรินทร์ ผู้อำนวยการหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่สามแจ้งกับตนว่า เห็นชายสองคนคือจิรวัฒน์ และทรงธรรม ยืนอยู่ตรงจุดที่ถูกกันตัวออกไปและทำท่าทางเหมือนถ่ายภาพหรือวิดีโอ แต่จะถ่ายอยู่จริงหรือไม่ ไม่ทราบ
 
ทนายจำเลยถามจารุวรรณว่า ตามที่ได้รับการอบรม การถ่ายภาพบริเวณหน่วยออกเสียงประชามติทำได้หรือไม่ จารุวรรณตอบว่า การถ่ายภาพในหน่วยออกเสียงทำไม่ได้ แต่การยืนถ่ายจากนอกหน่วยออกเสียงเข้ามาจะทำได้หรือไม่ ไม่ทราบ

จารุวรรณเบิกความต่อว่าในฐานะที่ตนเป็นประธานฯ หากจำเลยทั้งสองถ่ายภาพจากด้านนอกหน่วยออกเสียงจะไม่ห้าม

ทนายจำเลยถามว่า ในวันเกิดเหตุจารุวรรณเคยให้การกับพนักงานสอบสวนสองครั้ง ครั้งแรกช่วงกลางวันหลังเกิดเหตุครั้งที่สองช่วงกลางคืนหลังปิดหีบและนับคะแนนเรียบร้อยแล้ว ในการให้การรอบแรกจารุวรรณไม่ได้พูดถึงคลิปวิดีโอ แต่มาให้การในการสอบสวนรอบสองช่วงกลางคืน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น จารุวรรณตอบว่าเป็นเพราะเพิ่งมาทราบว่ามีคลิปวิดีโอดังกล่าวในภายหลัง
 
ทนายจำเลยเปิดวิดีโอคลิปข่าวที่นักแสดงคนหนึ่งไปออกเสียงประชามติซึ่งตามคลิปปรากฎภาพเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียงใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพดาราให้จารุวรรณดูจากนั้นถามจารุวรรณว่า ในคลิปวิดีโอที่เปิดให้ดูมีคนถ่ายภาพในหน่วยออกเสียงประชามติใช่หรือไม่

จารุวรรณตอบว่าใช่แต่ชี้แจงต่อว่า ตนเองได้รับแจ้งจากการอบรมของเขตบางนาว่า การถ่ายภาพในหน่วยออกเสียงทำไม่ได้ แต่ไม่ทราบว่าหน่วยออกเสียงอื่นมีแนวปฏิบัติอย่างไร
 
ทนายจำเลยถามจารุวรรณว่าขณะเกิดเหตุ ปิยรัฐไม่ได้มีพฤติการณ์ด่าทอบุคคลใด และเมื่อเจ้าหน้าที่จะทำการควบคุมตัวปิยรัฐเองก็ยอมให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวแต่โดยดีใช่หรือไม่ จารุวรรณรับว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่าขณะเกิดเหตุผู้ที่มีใช้สิทธิก็ลงคะแนนตามปกติใช่หรือไม่ จารุวรรณรับว่า ใช่ และอธิบายต่อว่า

ขณะเกิดเหตุมีคนที่มาออกเสียงบางส่วนหันมามอง และปิยรัฐก็ไม่ได้ฉีกบัตรเงียบๆแต่มีการตะโกนเสียงดัง ทนายจำเลยถามว่าจารุวรรณได้แจ้งจับจิรวัฒน์และทรงธรรม หรือไม่ จารุวรรณรับว่า ตนไม่ได้เป็นคนแจ้ง แต่จะมีบุคคลใดไปแจ้งหรือไม่ ไม่ทราบ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

ตอบอัยการถามติง

อัยการถามว่า ขณะที่ปิยรัฐฉีกบัตรลงคะแนน จิรวัฒน์ และทรงธรรมฃจะอยู่ด้านในหรือด้านนอกหน่วยออกเสียงจารุวรรณไม่ทราบใช่หรือไม่ จารุวรรณรับว่า ไม่ทราบเนื่องจากขณะนั้นหันหลังให้ทั้งสอง

อัยการถามต่อว่า ขณะเกิดเหตุจิรวัฒน์และทรงธรรมบันทึกภาพอยู่หรือไม่ จารุวรรณตอบว่า ไม่ทราบ อัยการถามว่า การอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยออกเสียงมีการอบรมเฉพาะหน่วยของจารุวรรณหรือเขตบางนาทั้งเขต จารุวรรณเบิกความว่า เป็นการอบรมเจ้าหน้าที่ทั้งเขต

อัยการถามว่า ตามกฎหมายที่ทนายจำเลยให้จารุวรรณดูคลิปเหตุการณ์ขณะ ปิยรัฐก่อเหตุและคลิปข่าวนักแสดงไปออกเสียงประชามติ ทั้งสองคลิปเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

จารุวรรณตอบว่า ทั้งสองกรณีถือว่าผิดระเบียบ การเข้าไปถ่ายภาพในหน่วยออกเสียงก่อให้เกิดความวุ่นวาย ส่วนกรณีของจำเลยที่หนึ่งการฉีกบัตรถือว่าผิดกฎหมายและก่อให้เกิดความวุ่นวาย

อัยการแถลงหมดคำถาม

หลังสืบพยานปากที่หนึ่งเสร็จ ศาลสั่งให้นำพยานโจทก์ปากที่สองเข้าสืบต่อทันที

สืบพยานโจทก์ปากที่สอง อมรินทร์ นนทะโคตร ผู้อำนวยการหน่วยออกเสียงนอกเขตจังหวัดที่สาม เขตบางนา

อมรินทร์ เบิกความว่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการหน่วยออกเสียงนอกเขตจังหวัดที่สาม เขตบางนา โดยมีหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวกและประสานงานในหน่วยออกเสียงซึ่งหลังได้รับแต่งตั้งก็ต้องเข้าประชุมเพื่อรับทราบแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่เขตเช่น การตรวจสอบหีบบัตร การนับบัตรออกเสียง

อมรินทร์ อธิบายต่อว่าในวันที่ 7สิงหาคม 2559 รับหน้าที่ดูแลการทำงานหน่วยออกเสียงนอกเขตจังหวัดที่สามในภาพรวมโดยไม่ได้ถูกมอบหมายให้ประจำที่จุดใดจุดหนึ่ง โดยเริ่มตนเริ่มมาปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลาประมาณ 4.00 น. ส่วนหน่วยออกเสียงเริ่มเปิดให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนตั้งแต่เวลา 8.00 น.

อมรินทร์เบิกความว่าหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด ซึ่งตั้งอยู่ในสำนักงานเขตบางนา มีทั้งหมดสี่หน่วย โดยการจะเดินมาหน่วยออกเสียงที่สามซึ่งตนปฏิบัติหน้าที่จะต้องเดินผ่านหน่วยที่หนึ่งและสองก่อน

อมรินทร์เบิกความว่าในเวลาประมาณ 12.00 น. ขณะที่ตนยืนอยู่ข้างนุชนภา หนึ่งในพยานโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการประจำหน่วยออกเสียงที่กำลังทำหน้าที่ยื่นบัตรลงคะแนนให้กับผู้มาใช้สิทธิ ก็เห็นชายสองคนเดินเลยบอร์ดติดรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ามาแล้วยกโทรศัพท์ขึ้นทำท่าเหมือนถ่ายภาพหรือวิดีโอ

ในฐานะผู้อำนวยหน่วยอมรินทร์จึงเดินไปหาและบอกว่า ถ่ายไม่ได้ ห้ามถ่าย แต่ชายสองคนซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นจิรวัฒน์ จำเลยที่สองและทรงธรรม จำเลยที่สามในคดีนี้บอกว่า ขอถ่ายรูปเพื่อนตอนที่ใช้สิทธิหน่อย และไม่ยอมถอยออกไป

จารุวรรณซึ่งเป็นประธานหน่วยออกเสียงได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยมาช่วยกันตัวออกไป โดยตำรวจนายนั้นเป็นเจ้าหน้าที่อีกนายหนึ่งไม่ใช่ด.ต.สมพรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยออกเสียงที่สาม

อมรินทร์เบิกความต่อว่าระหว่างนั้นมีชายคนหนึ่งซึ่งทราบในเวลาต่อมาว่าคือปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่งในคดีนี้เดินอ้อมคูหามายืนด้านหน้าห่างจากหีบบัตรประมาณหนึ่งเมตร พูดว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" แล้วฉีกบัตรลงคะแนน

อัมรินทร์เบิกความด้วยว่าตนตกใจกับเหตุการณ์นั้นและจำไม่ได้ว่าจำเลยที่หนึ่งพูดประโยคดังกล่าวก่อนหรือหลังการฉีกบัตร อัมรินทร์เบิกความต่อว่าหลังจำเลยที่หนึ่งฉีกบัตรก็ขยำและปล่อยลงพื้น

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบทำการควบคุมตัวปิยรัฐ พร้อมเก็บบัตรที่ถูกฉีกไปด้วย ส่วนจิรวัฒน์และทรงธรรมยังยืนอยู่ที่บอร์ดรายชื่อและถือโทรศัพท์ในลักษณะถ่ายภาพหรือวิดีโอแต่ทั้งสองจะถูกควบคุมตัวเลยหรือไม่ ตนไม่ทราบ

อมรินทร์เบิกความถึงเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวปิยรัฐว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวปิยรัฐไปนั่งบนเก้าอี้ซึ่งอยู่ในเขตหน่วยออกเสียงที่สาม หลังเกิดเหตุตนไม่ได้ประสานหรือรายงานเหตุไปที่เขตบางนา แต่เขตบางนาได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่มาคอยดูแลอยู่แล้ว

เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉีกบัตรเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้จารุวรรณ ซึ่งเป็นประธานหน่วยออกเสียงไปร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำหรับเหตุการณ์หลังจากนั้นมีผู้มาใช้สิทธิตามปกติและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมารับตัวปิยรัฐไปส่วนจิรวัฒน์และทรงธรรมจะไปที่ใดตนไม่ทราบ

อมรินทร์เบิกความต่อว่า เหตุการณ์ที่จำเลยที่สองและสามถูกผลักออกไปเป็นเหตุการณ์ที่เกิดต่อเนื่องกับการฉีกบัตรของจำเลยที่หนึ่ง ซึ่งเกิดห่างกันไม่นาน

อัยการถามอมรินทร์ว่าบุคคลใดบ้างที่มีสิทธิเข้าไปในหน่วยออกเสียง อัมรินทร์เบิกความว่ามีกรรมการประจำหน่วย และผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยนั้นๆ ส่วนบุคคลอื่นไม่มีสิทธิเข้ามา

ในกรณีที่ผู้มีสิทธิมีผู้ติดตามจะต้องให้ผู้ติดตามรออด้านนอกหน่วยออกเสียง อัยการถามอมรินทร์ว่านอกจากนี้มีข้อห้ามอื่นอีกหรือไม่ อมรินทร์เบิกความว่ามีข้อห้ามไม่ให้ถ่ายภาพหรือวิดีโอ อมรินทร์เบิกความด้วยว่าการกระทำของจำเลยที่สามเข้าข่ายเป็นการก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียง

อัยการให้อมรินทร์ดูบัตรลงคะแนนแล้วถามว่าใช่ของที่ปิยรัฐฉีกในวันเกิดเหตุใช่หรือไม่ อมรินทร์ตอบว่าเป็นบัตรลักษณะเดียวกัน อมรินทร์เบิกความรับกับอัยการว่าตนอยู่ร่วมทำแผนจำลองวันเกิดเหตุด้วย แต่ตำแหน่งที่ระบุในเอกสารดังกล่าวระบุจุดที่จิรวัฒน์และทรงธรรมยืนผิดโดยขณะเกิดเหตุทั้งสองยืนอยู่ที่บอร์ดแล้ว แต่ตามแผนจำลองระบุว่าทั้งสองยืนอยู่ด้านในหน่วยออกเสียง

อมรินทร์ชี้แจงว่าตำแหน่งตามภาพเป็นตำแหน่งที่จำเลยทั้งสองคนเข้ามาขอถ่ายภาพก่อนจะถูกกันตัวไปข้างนอก

อัมรินทร์เบิกความต่อว่า หลังเกิดเหตุตนยังปฏิบัติหน้าที่ต่อตามปกติ หลังนับคะแนนเสร็จจึงได้ไปที่สน.บางนาเพื่อให้ปากคำ

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่าถ้อยคำที่อมรินทร์เบิกความกับพนักงานสอบสวนและที่เบิกความต่อศาลตรงกันหรือไม่ อมรินทร์ตอบว่า ตรงกัน

ทนายจำเลยถามต่อว่า ที่อมรินทร์กล่าวว่า ห้ามถ่ายรูปในหน่วยออกเสียงมีการติดข้อความที่ชัดเจนไว้หรือไม่ อมรินทร์ตอบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีคู่มือและมาตราระบุไว้ ซึ่งก่อนวันลงประชามติมีการจัดอบรมว่า กฎหมายให้ทำอะไรได้บ้าง

ทนายจำเลยถามต่อว่า จากการอบรมมาตรา 60 ของพ.ร.บ.ประชามติฯไม่มีข้อห้ามเรื่องการถ่ายภาพใช่หรือไม่ พร้อมทั้งให้อมรินทร์อ่านรายละเอียดในมาตรา 60 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ และขอให้ศาลบันทึกว่า มาตรา 60 ไม่มีข้อห้ามการถ่ายรูปในหน่วยออกเสียงและไม่มีข้อห้ามให้บุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในหน่วยออกเสียง

ทนายจำเลยขอศาลให้เปิดคลิปวิดีโอเหตุการณ์วันเกิดเหตุแล้วถามอมรินทร์ว่าเป็นภาพเหตุการณ์วันเกิดเหตุใช่หรือไม่

อมรินทร์เบิกความว่าเป็นภาพขณะที่ปิยรัฐกำลังฉีกบัตร และมีตนเองปรากฎในคลิปนี้ด้วยโดยยืนอยู่ตรงบอร์ดรายชื่อและกำลังหันไปไปดูปิยรัฐ แต่ผู้ใช้สิทธิคนอื่นยังใช้สิทธิตามปกติโดยไม่ได้หันมามองเหตุการณ์

อัมรินทร์เบิกความด้วยว่าจากคลิปวิดีโอเห็นทรงธรรมยืนอยู่ด้านข้างบอร์ด ซึ่งอยู่นอกหน่วยออกเสียง อมรินทร์เบิกความต่อว่า ขณะที่ปิยรัฐฉีกบัตร ตนเองยืนหันหลังให้จิรวัฒน์และทรงธรรมและไม่ได้ยินว่าทั้งสองพูดจาหรือตะโกนแต่อย่างใด

ทนายจำเลยถามว่า หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจพาปิยรัฐไปนั่งบนเก้าอี้ที่อยู่ในหน่วยออกเสียง เห็นหรือไม่ว่าจิรวัฒน์และทรงธรรมอยู่ที่ใด อมรินทร์ตอบว่าไม่ได้สนใจว่าทั้งสองอยู่ที่ใด และไม่ได้คุยกับทั้งสองหรือจารุวรรณซึ่งเป็นประธาน

ทนายจำเลยถามว่าที่อมรินทร์ให้การว่าจิรวัฒน์และทรงธรรมเป็นผู้ถ่ายวิดีโอ อมรินทร์ไม่ได้เห็นเองใช่หรือไม่ อมรินทร์รับว่าไม่ได้เห็นเองแต่ฟังจากคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุบอกมา

ทนายจำเลยถามว่าอมรินทร์พอจะระบุได้หรือไม่ว่ารับฟังมาจากผู้ใด อมรินทร์ตอบว่าผู้ที่บอกตนเป็นกรรมการจากหน่วยออกเสียงอื่น

อมรินทร์ขอศาลเบิกความใหม่ด้วยว่า หลังจากจำเลยที่หนึ่งฉีกบัตรแล้ว มีกรรมการจากหน่วยออกเสียงอื่นบอกว่า มีคนถ่ายคลิป ตนจึงหันไปดูและเห็นจิรวัฒน์และทรงธรรม

ทนายจำเลยถามว่า จากภาพที่ปรากฏในวิดีโอ จิรวัฒน์และทรงธรรมอยู่ด้านนอกหน่วยออกเสียง การถ่ายภาพหรือวิดีโอถือเป็นความผิดหรือไม่ อมรินทร์ตอบว่า การถ่ายรูปนอกเขตหน่วยออกเสียงไม่ถือเป็นความผิด และเบิกความต่อว่า

ตอนที่จิรวัฒน์และทรงธรรมเข้ามาในหน่วยออกเสียงครั้งแรก ไม่แน่ใจว่าทั้งสองได้บันทึกภาพหรือวิดีโอไว้หรือไม่ ทนายจำเลยถามต่อว่าหลังปิยรัฐถูกนำตัวไปที่สน.อมรินทร์ได้ตามไปหรือไม่ อมรินทร์ตอบว่าไม่ได้ไป  หลังจากมีการควบคุมตัวปิยรัฐแล้ว อมรินทร์ไม่ได้ตามไป

ทนายจำเลยถามว่าอมรินทร์เป็นผู้แจ้งให้จารุวรรณดำเนินคดีกับจิรวัฒน์และทรงธรรมใช่หรือไม่ อมรินทร์ตอบว่าไม่ใช่และในชั้นสอบสวนตนก็ไม่ได้พูดถึงทั้งสองเลย

ทนายจำเลยถามว่าพนักงานสอบสวนได้ให้อมรินทร์ดูวิดีโอคลิปขณะเกิดเหตุเหมือนที่ทนายจำเลยให้ดูวันนี้หรือไม่ อมรินทร์ตอบว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้ให้ดูและไม่เคยเห็นคลิปดังกล่าวสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารที่เป็นภาพนิ่งซึ่งตัดมาจากคลิปวิดีโอขณะเกิดเหตุซึ่งอัยการอ้างส่งศาล ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

ตอบอัยการถามติง

อัยการถามอมรินทร์ย้ำว่าการกระทำของจิรวัฒน์และทรงธรรมเป็นการก่อความวุ่นวายอย่างไร อมรินทร์ตอบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ผลักดันทั้งสองออกจากเขตหน่วยออกเสียงก่อนที่ทั้งสองจะอ้อมมาถ่ายภาพ

การกระทำของทั้งสองก่อให้เกิดความวุ่นวายในหน่วยออกเสียง เพียงแค่การที่ทั้งสองเข้ามาก็ถือเป็นการรบกวนแล้ว อมรินทร์เบิกความด้วยว่าการถ่ายรูปไม่ใช่พฤติกรรมที่ควรจะทำในขณะนั้น ซึ่งในทางปฏิบัติ ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ไม่ควรเข้าไปรบกวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

อัยการขอให้อมรินทร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ยืนยันกับทนายจำเลยว่า การถ่ายภาพนอกหน่วยออกเสียงไม่เป็นความผิด หมายความว่าอย่างไร อมรินทร์ตอบว่าขณะที่ปิยรัฐฉีกบัตร จิรวัฒน์และทรงธรรมจะอยู่ในหน่วยออกเสียงหรือไม่ตนไม่ทราบ แต่ในความเห็นของตน ถ้าหากมีการยื่นส่วนใดส่วนหนึ่งเข้ามาในหน่วยออกเสียง เช่นยื่นแขนเข้ามาในเขตหน่วยออกเสียงเพื่อถ่ายภาพก็ถือเป็นความผิดแล้ว

อัยการแถลงหมดคำถาม การสืบพยานปากนี้เสร็จในเวลาประมาณ 18.30 น.

หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ ศาลถามโจทก์ว่าเหลือพยานที่ต้องนำเข้าสืบอีกกี่ปาก อัยการตอบว่าเหลือ 12 ปาก ศาลฝ่ายจำเลยว่าพอจะรับข้อเท็จจริงคำให้การพยานในชั้นสอบสวนบางปากได้หรือไม่เพื่อจะได้ลดจำนวนพยานเป็นการกระชับการพิจารณา

ทนายจำเลยแถลงว่าไม่สามารถรับและติดใจขอถามค้านพยานทุกปาก

ศาลกล่าวต่อว่าวันนัดสืบพยานของโจทก์และจำเลยนัดไว้น้อยเกินไปทำให้ไม่สามารถสืบได้ทันตามนัด และอาจต้องเลื่อนการสืบพยานโจทก์บางปากไปนัดขอจำเลยและต้องไปหาวันนัดสืบพยานฝ่ายจำเลยใหม่ ทำให้การนัดจะไม่เป็นการนัดแบบต่อเนื่อง ซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกระบวนการยุติธรรมในรัฐธรรมนูญ

ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ในวันที่ 15 มิถุนายน 2560 พยานจำเลยที่อยู่ต่างจังหวัดได้ซื้อตั๋วเครื่องบินมากรุงเทพเพื่อเข้าเบิกความต่อศาลแล้ว

ศาลถามว่าพยานจำเลยเป็นใคร ทนายจำเลยตอบว่า เป็นอาจารย์นิติศาสตร์จะมาพูดในเรื่องข้อกฎหมาย ศาลตอบว่าถ้ามาให้ความเห็นเรื่องกฎหมายศาลจะไม่รับฟัง เพราะคดีอาญาเป็นคดีที่ต้องพิจารณาตามตัวบทเท่านั้น

14 มิถุนายน 2560

ศาลนัดสืบพยานโจทก์ต่อเป็นวันที่สองโดยเริ่มในเวลาประมาณ 9.30 น.

สืบพยานโจทก์ปากที่สาม สุภักตราพรรณ สุวรรณศรี พยานผู้เห็นเหตุการณ์

สุภักตราพรรณเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการครูอยู่ที่โรงเรียนศรีเอี่ยมอนุสรณ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากเป็นพยานผู้เห็นเหตุการณ์โดยในวันและเวลาเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดหน่วยที่สาม เขตบางนา

สุภักตาพรรณเบิกความว่า ตนเองได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประชามติหน่วยที่สาม ซึ่งมีจารุวรรณ พยานโจทก์ปากที่หนึ่งเป็นประธาน

ในคำสั่งแต่งตั้งระบุว่าให้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการประจำหน่วยในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่หน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดหน่วยที่สาม เขตบางนา ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานเขตบางนา

อัยการถามว่าก่อนการปฏิบัติหน้าที่สุภักตราพรรณต้องเข้ารับการอบรมใดๆหรือไม่ สุภักตราพรรณเบิกความว่า ต้องเข้าประชุมที่สำนักงานเขตบางนาเพื่อกำหนดข้อตกลงในการปฏิบัติงานร่วมกัน

โดยในการประชุมดังกล่าวมีผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการประจำหน่วยออกเสียงทั้งหมดในเขตบางนามาประชุมร่วมกัน วันดังกล่าวที่ประชุมมีการแจ้งข้อกำหนดเรื่องห้ามถ่ายภาพด้วย

สุภักตราพรรณเบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุเดินทางมาถึงหน่วยออกเสียงตั้งแต่ก่อนเวลา 6.00 น.เพื่อเตรียมความพร้อมของหน่วย สุภักตราพรรณเบิกความต่อว่าในบริเวณสำนักงานเขตบางนามีหน่วยออกเสียงประชามติรวมสี่หน่วย คือหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่หนึ่งถึงสี่

การเดินไปหน่วยออกเสียงประชามติที่สามซึ่งเธอปฏิบัติหน้าที่ต้องผ่านหน่วยที่หนึ่งและสองก่อน อัยการถามสุภักตราพรรณว่า ในช่วงเช้าปฏิบัตหน้าที่ตรงจุดใด สุภักตราพรรณเบิกความว่าปฏิบัติหน้าที่ตรงบอร์ดตรวจบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ

อัยการถามต่อว่า ขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่ตรงจุดดังกล่าวหรือไม่ สุภักตราพรรณเบิกความว่า ไม่ใช่เนื่องจากเพื่อนร่วมงานที่มีหน้าที่ตรวจรายชื่อผู้มาใช้สิทธิบริเวณโต๊ะจ่ายบัตรออกไปเข้าห้องน้ำ ตนจึงเข้าไปปฏิบัติหน้าที่บริเวณโต๊ะจ่ายบัตรแทน

อัยการให้สุภักตราพรรณเล่าเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ สุภักตราพรรณเบิกความว่า ในเวลาประมาณ 12.00 น. มีชายคนหนึ่งซึ่งต่อมาทราบว่าเป็นปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่งเดินเข้ามาตรวจรายชื่อผู้มีสิทธิเพื่อรับบัตรลงคะแนน

ระหว่างที่ปิยรัฐตรวจรายชื่อเพื่อรับบัตรก็ได้ยินเสียงคนพูดว่า ห้ามถ่ายรูป จึงเงยหน้าขึ้นดูเหตุการณ์ ก็เห็นชายสองคนถือโทรศัพท์ในลักษณะถ่ายภาพหรือวิดีโอ และเห็นจารุวรรณซึ่งเป็นประธานหน่วยออกเสียง อัมรินทร์ ผู้อำนวยการหน่วยออกเสียงที่สาม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งช่วยกันกันตัวชายทั้งสองคนออกไปที่บริเวณบอร์ดติดรายชื่อผู้มีสิทธิ

สุภักตราพรรณเบิกความต่อว่า เนื่องจากขณะนั้นยังมีผู้มาออกเสียงตามปกติ ตนจึงละสายตาจากเหตุการณ์กลับมาตรวจรายชื่อผู้ใช้สิทธิต่อ

สุภักตราพรรณเบิกความต่อว่า ระหว่างที่ละสายตากลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติก็ได้ยินเสียงปิยรัฐพูดว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ"

เมื่อได้ยินเสียงจึงเงยหน้าขึ้นดูเห็นปิยรัฐฉีกบัตรและเกิดความชุลมุน และเห็นชายสองคนซึ่งทราบในเวลาต่อมาว่าเป็นจิรวัฒน์ จำเลยที่สองและทรงธรรม จำเลยที่สามยกโทรศัพท์ในลักษณะถ่ายภาพหรือวิดีโอ แต่ไม่แน่ใจว่าทั้งสองยืนอยู่ด้านในหรือด้านนอกหน่วยออกเสียง

ขณะเกิดเหตุแม้จะมีผู้มาใช้สิทธิตามปกติแต่ก็มีเสียงดังและมีประชาชนเงยหน้าดู สุภักตราพรรณเบิกความต่อว่าหลังเกิดเหตุจารุวรรณซึ่งเป็นประธานต้องไปให้ปากคำที่สน.บางนา แต่ตนเองยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่หน่วยออกเสียง

สุภักตราพรรณเบิกความต่อว่า หลังปิดหีบมีเพื่อนร่วมงานที่โรงเรียนส่งคลิปวิดีโอขณะเกิดเหตุมาให้ทางไลน์ อัยการขออนุญาตศาลเปิดคลิปขณะเกิดเหตุให้สุภักตราพรรณดูแล้วถามว่าเป็นคลิปขณะเกิดเหตุใช่หรือไม่ สุภักตราพรรณรับว่าใช่

อัยการถามสุภักตราพรรณว่า หลังปิดหีบไปที่ไหนต่อ สุภักตราพรรณตอบว่าไปให้ปากคำที่สน.บางนาร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียงคนอื่นๆ

อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่า สุภักตราพรรณเคยเป็นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียงประชามติ หรือหน่วยเลือกตั้งมาก่อนหรือไม่ สุภักตราพรรณรับว่า เคยแต่จำไม่ได้ว่าเป็นการลงประชามติหรือการเลือกตั้งครั้งใด

ทนายจำเลยถามต่อว่า การห้ามถ่ายภาพในหน่วยออกเสียงเป็นข้อตกลงที่แจ้งในการอบรมกรรมการหน่วยออกเสียงที่โรงเรียนพาณิชย์บางนาใช่หรือไม่ สุภักตราพรรณรับว่าใช่

ทนายจำเลยถามสุภักตราพรรณต่อว่า ในหน่วยออกเสียงมีการติดป้ายห้ามทำการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือมีข้อความว่าห้ามถ่ายภาพหรือไม่ สุภักตราพรรณรับว่า ไม่มี

ทนายจำเลยถามว่า ลักษณะการติดรายชื่อผู้มีสิทธิเป็นการติดบอร์ดที่อยู่ด้านในหน่วยออกเสียง และผู้มีสิทธิต้องเดินเข้ามาในหน่วยออกเสียงเพื่อตรวจดูใช่หรือไม่ สุภัคตราพรรณรับว่าใช่

ทนายจำเลยให้สุภักตราพรรณดูเอกสารที่เป็นบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติซึ่งจัดทำโดยกกต.แล้วถามว่าเอกสารนี้เป็นเอกสารที่กกต.จัดทำซึ่งระบุว่าทรงธรรม มีสิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่เขตบางนาใช่หรือไม่ สุภักตราพรรณตอบว่า ไม่ทราบว่า ทรงธรรม เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่หนึ่งถึงสี่นี้หรือไม่

ทนายจำเลยถามสุภักตราพรรณว่า ช่วงเวลา 12.00 น. สุภักตราพรรณปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดใด สุภักตราพรรณตอบว่า ตนประจำอยู่บริเวณบอร์ดรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติประจำหน่วยที่สาม ซึ่งบริเวณดังกล่าวแม้จะอยู่ด้านในหน่วยออกเสียงประชามติแต่ประชาชนสามารถเข้ามาตรวจสอบรายชื่อได้ แต่ก็ไม่ทราบว่า ทรงธรรม ได้เข้ามาตรวจสอบรายชื่อหรือไม่

ทนายจำเลยให้สุภักตราพรรณดูคลิปเหตุการณ์ขณะปิยรัฐฉีกบัตรซึ่งตอนท้ายปรากฎภาพชายคล้ายทรงธรรมอยู่ในคลิปและถามว่าตามภาพชายคนดังกล่าวอยู่ด้านในหรือด้านนอกบอร์ดป้ายชื่อ สุภักตราพรรณตอบว่าตามภาพเข้าใจว่าอยู่ด้านนอกบอร์ด

ทนายจำเลยถามต่อว่า การถ่ายภาพตามคลิปเกิดขึ้นนอกบอร์ดจึงถือว่าทำได้ใช่หรือไม่ สุภักตราพรรณตอบว่าการถ่ายภาพการออกเสียงประชามติทำไม่ได้ไม่ว่าจะถ่ายด้านในหรือด้านนอกหน่วยออกเสียง

ทนายจำเลยถามว่า ตามคลิปวิดีโอการออกเสียงประชามติยังคงดำเนินไปอย่างปกติมีภาพประชาชนกำลังตรวจสอบรายชื่อใช่หรือไม่ สุภักตราพรรณรับว่า ใช่ แต่ก็มีเสียงคนตะโกนห้ามซึ่งถือเป็นความวุ่นวาย ทนายจำเลยถามว่า ตามคลิปแม้ขณะเกิดเหตุก็ปรากฎว่ามีประชาชนตรวจรายชื่อเพื่อใช้สิทธิตามปกติ สุภักตราพรรณรับว่า ใช่

ทนายจำเลยถามว่าที่มาปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประชามติ สุภักตราพรรณเคยรู้จักหรือได้ยินชื่อสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งหรือไม่ สุภักตราพรรณตอบว่าทราบว่าสมชัยอยู่ในคณะกรรรมการการเลือกตั้งแต่ไม่ทราบว่าดำรงตำแหน่งใด

ทนายจำเลยถามต่อว่าที่สุภักตราพรรณเบิกความว่า เคยเข้ารับการอบรมก่อนปฏิบัติหน้าที่ ในวันที่มีการอบรมดังกล่าวสมชัยมาอบรมให้หรือไม่และมีการแจกเอกสารประกอบใดๆหรือไม่ สุภักตราพรรณเบิกความว่าสมชัยไม่ได้มาอบรมให้พวกตนและไม่มีการแจกเอกสารใดๆ

ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

ตอบอัยการถามติง

อัยการถามว่า ที่สุภักตราพรรณเบิกความว่าขณะเกิดเหตุกำลังตรวจรายชื่อผู้มาใช้สิทธิ สุภักตราพรรณเห็นเหตุการณ์ได้อย่างไร สุภักตราพรรณตอบว่าเห็นเพราะทำงานไปด้วยเหลือบดูเหตุการณ์ไปด้วย

อัยการถามว่าที่ตอบว่า ทนายจำเลยว่าประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาดูรายชื่อที่บอร์ดบัญชีรายชื่อได้ ประชาชนทั่วไปที่ว่าหมายถึงใคร สุภักตราพรรณตอบว่าหมายถึงผู้มีสิทธิออกเสียง

อัยการถามว่า ทราบหรือไม่ว่าเหตุดังที่ประชุมจึงกำหนดกติกาห้ามการถ่ายรูป สุภักตราพรรณตอบว่าเข้าใจว่าเป็นไปเพื่อความสะดวกและความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติและเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย

อัยการแถลงหมดคำถาม หลังสืบพยานปากนี้เสร็จศาลใฟ้นำพยานปากต่อไปเข้าสืบต่อทันที

สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ สุกานต์ดา ขนุนทอง พยานผู้เห็นเหตุการณ์

สุกานต์ดาเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการครูอยู่ที่โรงเรียนศรีเอี่ยมอนุสรณ์ โดยเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดหน่วยที่สาม เขตบางนา โดยหน่วยดังกล่าวมีจารุวรรณ พยานโจทก์ปากที่หนึ่งเป็นประธาน

สุกานต์ดาเบิกความว่า ผู้ที่มาปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการประจำหน่วยของเขตบางนารวมทั้งตนเองต้องเข้ารับการอบรม โดยเนื้อหาในการอบรมได้แก่ระยะเวลาและขั้นตอนการปฏิบัติงาน สุกานต์ดาเบิกความว่าในหน่วยออกเสียงประชามติที่สาม ตนรับหน้าที่เป็นผู้ปั้มลายนิ้วมือผู้มีสิทธิ

ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ ตนเดินทางมาที่หน่วยออกเสียงตั้งแต่ก่อนหกโมง เพื่อมาจัดสถานที่และทบทวนความพร้อมรอบสุดท้าย

สุกานต์เบิกความต่อว่าหน่วยออกเสียงเปิดให้ประชาชนใช้สิทธิระหว่างเวลา 8.00 – 16.00  โดยกรรมการประจำหน่วยที่ทำหน้าทีทำหน้าที่บริเวณโต๊ะตรวจลายนิวเมือ ลงชื่อ หรือจ่ายบัตร สามารถสลับหน้าที่กันได้ในกรณีที่เจ้าหน้าที่บางคนไปทำธุระส่วนตัว

สุกานต์ดาเบิกความว่าตั้งแต่เช้าเหตุการณ์ที่หน่วยออกเสียงเป็นไปอย่างปกติ จนกระทั่งช่วงเที่ยงมีชายคนหนึ่งซึ่งทราบทีหลังว่าเป็นปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่งเดินเข้ามาตรวจรายชื่อรับบัตรตามปกติ ขณะนั้นมีเสียงคนพูดว่า "ห้ามถ่ายรูป" แต่ไม่ทราบว่าเป็นเสียงใคร

จากนั้นจึงเห็นว่ามีการกันตัวคนที่ยืนทำท่าเหมือนถ่ายภาพแต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนกัน เห็นแต่เพียงว่ากันไปที่บอร์ด หลังจากนั้นครู่หนึ่งจึงเห็นปิยรัฐที่พึ่งมารับบัตรก่อนหน้านี้เดินมาที่หน้าหีบแล้วพูดขึ้นมาว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ"

สุกานต์ดาเบิกความว่าระหว่างที่ได้ยินเสียงยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่แต่ก็ชำเลืองมองและเห็นเหตุการณ์วุ่นวาย เห็นคนใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพและมีเจ้าหน้าที่กันตัวออกไป รวมทั้งเห็นปิยรัฐถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวไปนั่งที่เก้าอี้

อัยการย้อนถามว่า ที่สุกานต์ดาเบิกความว่าเห็นคนทำท่าเหมือนถ่ายภาพ เข้าใจว่าทั้งสองบันทึกภาพไว้ตลอดเลยหรือไม่ สุกานต์ดาเบิกความว่าเข้าใจว่าน่าจะถ่ายไว้ตลอด

อัยการถามต่อว่าการถ่ายภาพถือว่าผิดระเบียบหรือไม่ สุกานต์ดาตอบว่าเป็นการผิดกฎหมาย การถ่ายภาพทำให้เกิดความวุ่นวาย เป็นอุปสรรคเพราะทำให้คนไม่สามารถมาใช้สิทธิได้โดยสะดวก

อัยการถามว่าหลังเกิดเหตุเห็นชายสองคนที่ถ่ายภาพหรือไม่ สุกานต์ดาตอบว่าเห็นว่าเจ้าหน้าที่กันตัวไปแต่หลังจากนั้นจะถูกพาตัวไปไหนไม่ทราบ

อัยการถามว่าสุกานต์ดาเคยไปให้การที่ไหนอย่างไร สุกานต์ดาตอบว่าเคยถูกเชิญไปที่สน.บางนาเพื่อให้การหลังนับคะแนนเสร็จเรียบร้อย

อัยการย้อนถามว่าชายสองคนที่สุกานต์ดาเห็นว่าถ่ายภาพ ขณะถ่ายยืนอยู่จุดใด สุการต์ดาตอบว่าเห็นว่าเข้ามาในหน่วยออกเสียงบริเวณใกล้โต๊ะกรรมการ สำหรับคลิปภาพเหตุการณ์วันเกิดเหตุ สุการต์ดาเบิกความว่าได้ดูในวันเกิดเหตุหลังนับคะแนนโดยมีเพื่อนครูที่โรงเรียนส่งมาให้ดู

อัยการถามว่าบุคคลใดบ้างที่สามารถเข้ามาในหน่วยออกเสียงได้ สุการต์ดาตอบว่ามีเพียงกรรมการ เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยและผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยเท่านั้น ผู้ติดตามไม่สามารถเข้ามาในหน่วยได้แต่จะมีเก้าอี้ให้นั่งรอนอกหน่วยออกเสียง อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยเปิดคลิปดาราคนหนึ่งไปลงคะแนนให้สุกานต์ดาดูแล้วถามว่า ลักษณะการจัดหน่วยออกเสียงในคลิป เหมือนลักษณะการจัดเหมือนหน่วยออกเสียงที่สุกานต์ดารับผิดชอบที่เขตบางนาหรือไม่ สุกานต์ดารับว่าเหมือน ทนายจำเลยต่อว่าคลิปดังกล่าวปรากฎภาพอะไร สุกานต์ดาตอบว่ามีภาพนักแสดงคนหนึ่งเข้ามาตรวจรายชื่อเพื่อใช้สิทธิเหมือนบุคคลอื่น

ทนายถามต่อว่าตามคลิปดังกล่าวปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ในหน่วยใช้โทรศัพท์บันทึกภาพดาราที่มาออกเสียงใช่หรือไม่ สุกานต์ดารับว่าใช่และกล่าวต่อว่าเท่าที่ตนเองได้รับการอบรม การถ่ายภาพในหน่วยออกเสียงทำไม่ได้

ทนายจำเลยถามต่อว่าผู้มาทำการอบรมให้สุกานต์ดากับผู้ปฏิบัติงานคนอื่นเป็นเจ้าหน้าที่กกต.หรือเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตบางนา สุกานต์ดาตอบว่าเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตบางนา

ทนายจำเลยถามว่าสุกานต์ดาเคยได้ยินชื่อสมชัย ศรัสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งหรือไม่ สุการต์ดาตอบว่าเคยได้ยินชื่อสมชัยและทราบว่าเป็นกรรมการการเลือกตั้ง

ทนายจำเลยถามต่อว่าสุกานต์ดาทราบเรื่องที่สมชัยเคยบอกว่าการถ่ายภาพการออกเสียงประชามติสามารถทำได้หรือไม่ สุกานต์ดาตอบว่าไม่ทราบว่าสมชัยเคยออกมาพูดเรื่องนี้ และไม่ทราบว่าหน่วยออกเสียงอื่นจะมีแนวปฏิบัติอย่างไร ทราบแค่ว่าตามที่ตนได้รับการอบรมไม่สามารถทำได้

ทนายจำเลยเปิดคลิปวิดีโอเหตุการณ์ขณะที่ปิยรัฐฉีกบัตรแล้วถามสุกานต์ดาว่า ตามคลิปวิดีโอขณะเกิดเหตุมีผู้มาตรวจรายชื่อเพื่อใช้สิทธิตามปกติใช่หรือไม่ สุกานต์ดารับว่าใช่

ทนายจำเลยถามต่อว่าขณะเกิดเหตุสุกานต์ดายังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติใช่หรือไม่ สุกานต์ดารับว่าได้ยินเสียงของปิยรัฐแต่ตนเองยังปฏิบัติหน้าที่อยู่

ทนายจำเลยถามต่อว่าหากดูจากคลิปไม่ปรากฎว่ามีคนมามุงดูและที่ปรากฎภาพชายคล้ายจำเลยที่สามในคลิป ตำแหน่งที่ชายคนดังกล่าวยืนก็น่าจะอยู่นอกหน่วยออกเสียงใช่หรือไม่ สุกานต์ดารับว่าใช่

ทนายจำเลยถามต่อว่าตามที่ได้รับการอบรมมา การถ่ายภาพหากถ่ายจากนอกเขตหน่วยออกเสียงสามารถทำได้หรือไม่ สุกานต์ดารับว่าสามารถทำได้

ทนายจำเลยถามสุกานต์ดาว่าขณะที่ได้ยินเสียงห้ามถ่ายภาพปิยรัฐอยู่ตรงไหน สุกานต์ดาตอบว่าตอนนั้นปิยรัฐกำลังตรวจรายชื่อที่โต๊ะแต่ยังไม่ได้ปั้มลายนิ้วมือ

ทนายจำเลยถามว่าขณะที่เจ้าหน้าที่ห้ามชายสองคนคือจิรวัฒน์จำเลยที่สองและทรงธรรมจำเลยที่สามถ่ายภาพ ทั้งสองมีอาการขัดขืนเจ้าหน้าที่หรือไม่ สุกานต์ดาตอบว่าทั้งสองไม่มีการขัดขืนส่วนระหว่างนั้นทั้งสองจะถ่ายเหตุการณ์หรือไม่นั้นไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามสุกานต์ดาว่าหลังปิยรัฐก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ดำเนินการควบคุมตัวอย่างไร สุกานต์ดาตอบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวปิยรัฐไปนั่งที่เก้าอี้บริเวณบอร์ดรายชื่อผู้มีสิทธิซึ่งอยู่ในหน่วยออกเสียง แต่นั่งตรงนั้นเพียงคู่เดียวก็พาตัวออกไปนอกหน่วยออกเสียง

ส่วนปิยรัฐกับเจ้าหน้าที่จะพูดอะไรกันไม่ทราบเพราะตนยังปฏิบัติหน้าที่ต่อ เช่นเดียวกับกรรมการประจำหน่วยคนอื่นๆที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ทนายจำเลยถามสุกานต์ดาว่า รายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงติดอยู่ด้านในหรือด้านนอกหน่วยออกเสียง สุกานต์ดาตอบว่าอยู่ด้านในหน่วย ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

ตอบอัยการถามติง

อัยการถามสุกานต์ดาว่า ที่ทนายจำเลยให้ดูคลิปดาราไปลงคะแนน แล้วมีคนถ่ายภาพในหน่วยออกเสียง ตามที่สุกานต์ดาได้รับการอบรมมาสามารถทำได้หรือไม่ สุกานต์ดาตอบว่าทำไม่ได้

อัยการถามว่าถ้าเปรียบเทียบเหตุการณ์ระหว่างคลิปนักแสดงมาใช้สิทธิ กับเหตุในคดีนี้มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร สุกานต์ดาตอบว่าเหตุการณ์ในคลิปดารามาใช้สิทธิไม่มีการฉีกบัตรลงคะแนน ทนายจำเลยค้านอัยการว่าประเด็นนี้ไม่ได้ถามค้านไว้ ศาลจึงไม่บันทึกคำถามนี้

อัยการถามสุกานต์ดาว่าที่ตอบทนายจำเลยว่าในคลิปวิดีโอขณะเกิดเหตุไม่มีประชาชนมามุงดู สุกานต์ดาเห็นหรือไม่ว่าในมุมอื่น บริเวณอื่นหรือด้านหลังกล้องมีคนดูเหตุการณ์นี้หรือไม่ สุกานต์ดาเบิกความว่าด้านหลังกล้องมีประชาชนบางส่วนหันมองเหตุการณ์

อัยการถามว่าตอนที่จิรวัฒน์และทรงธรรมบันทึกภาพเหตุการณ์ ทั้งสองยืนอยู่ด้านในหรือด้านนอกหน่วย สุกานต์ดาตอบว่าขณะนั้นไม่ได้สังเกตว่าทั้งสองยืนอยู่ด้านในหรือด้านนอกหน่วยออกเสียง เห็นแต่เพียงว่ามีคนถือโทรศัพท์ทำท่าเหมือนกำลังถ่ายเหตุการณ์ขณะที่ปิยรัฐกำลังฉีกบัตรลงคะแนน อัยการแถลงหมดคำถาม

การสืบพยานปากนี้เสร็จในเวลาประมาณ 12.00 น. ศาลจึงสั่งพักการพิจารณาและสืบพยานปากต่อไปในช่วงบ่ายโดยเริ่มการพิจารณาในเวลาประมาณ 14.00 น.

สืบพยานจำเลยปากที่ห้า นุชนภา ตุนชัยภูมิ พยานผู้เห็นเหตุการณ์

นุชนภาเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการครูที่โรงเรียนศรีเอี่ยมอนุสรณ์ เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีเนื่องจากได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่สาม เขตบางนา โดยในคำสั่งแต่งตั้งระบุให้มาปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559

อัยการถามนุชนภาว่า ก่อนวันเกิดเหตุต้องเข้ารับการอบรมใดๆหรือไม่ นุชนภาเบิกความได้เข้ารับการอบรมเรื่องการใช้สิทธิและระเบียบการปฏิบัติงานของกกต.

อัยการถามว่าในที่ประชุมมีการชี้แจงข้อห้ามเรื่องใดหรือไม่ นุชนภาตอบว่า มีข้อห้ามเรื่องการถ่ายรูปและการบันทึกเสียงเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย

นุชนภาเบิกความต่อว่า หลังการอบรมมีการแบ่งหน้าที่ระหว่างกรรมการที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดหน่วยที่สาม โดยตนเองรับหน้าที่เป็นผู้พับและจ่ายบัตรออกเสียงให้ผู้มาใช้สิทธิ

อัยการถามว่า กรรมการที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำโต๊ะตรวจรายชื่อ พิมพ์ลายนิ้วมือ พับบัตรและจ่ายบัตร สามารถสลับหน้าที่กันได้ใช่หรือไม่ นุชนภาตอบว่ากรรมการที่ทำหน้าที่ประจำโต๊ะสามารถสลับหน้าที่กันได้หากมีเจ้าหน้าที่คนใดไปห้องน้ำหรือทำธุระส่วนตัว

อัยการถามนุชนภาว่าวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุมาถึงที่เกิดเหตุกี่โมง นุชนภาตอบว่ามาถึงในเวลาประมาณ 6.00 น.เพื่อมาจัดสถานที่ นุชนภาเบิกความต่อว่า การออกเสียงประชามติในวันเกิดเหตุเปิดให้ประชาชนมาใช้สิทธิระหว่างเวลา 8.00 – 16.00 น. โดยตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเที่ยงเหตุการณ์ในหน่วยเป็นไปอย่างปกติ

นุชนภาเบิกความว่าช่วงเวลาประมาณ 12.00 น. มีชายคนหนึ่งซึ่งต่อมาทราบว่าเป็น ปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่งเข้ามาตรวจรายชื่อเหมือนผู้ใช้สิทธิทั่วไป ระหว่างที่ปิยรัฐตรวจรายชื่อมีเสียงคนพูดว่า "ไม่ให้ถ่ายรูป" ดังขึ้น จึงเงยหน้าขึ้นมองเห็นชายสองคนถือโทรศัพท์ในลักษณะถ่ายภาพหรือวิดีโอ และเห็นคนเดินไปกันคนทั้งสองออกไป

นุชนภาเบิกความต่อว่าเหตุการณ์ในขณะนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตนเห็น ปิยรัฐ เดินไปทางคูหาลงคะแนนและเดินออกมาแต่ไม่ทราบว่า ปิยรัฐได้ลงคะแนนหรือไม่ จากนั้นปิยรัฐก้าวเลยหีบบัตรลงคะแนนแล้วพูดว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" จากนั้นจึงฉีกบัตรลงคะแนน

อัยการถามนุชนภาว่าขณะที่ ปิยรัฐฉีกบัตร ชายสองคนที่ถือโทรศัพท์ในลักษณะถ่ายภาพหรือวิดีโอยืนถ่ายจากด้านนอกหรือด้านในหน่วยออกเสียง นุชนภาเบิกความว่าทั้ งสองยืนอยู่บริเวณบอร์ดรายชื่อ แต่ไม่ทราบว่ายืนอยู่ด้านในหรือด้านนอกหน่วยออกเสียง นุชนภาเบิกความเสริมว่า ขณะนั้นไม่ได้ลุกขึ้นดูเพราะมีคนอื่นมาใช้สิทธิ

อัยการถามว่า นุชนภาเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุยังปฏิบัติหน้าที่อยู่และเหตุการณ์ทั้งหมดก็เกิดขึ้นในเวลาอย่างรวดเร็ว แล้วนุชนภาเห็นเหตุการณ์ทันได้อย่างไร นุชนภาตอบว่า เห็นเหตุการณ์เพราะขณะเกิดเหตุผู้มาใช้สิทธิยังอยู่ระหว่างตรวจรายชื่อที่โต๊ะยังมาไม่ถึงจุดที่ตนเองปฏิบัติหน้าที่อยู่ จึงเห็นเหตุการณ์

อัยการถามว่า เมื่อปิยรัฐฉีกบัตรแล้วเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น นุชนภาตอบว่าทีตำรวจคนหนึ่งพาปิยรัฐไปนั่งที่เก้าอี้ หลังจากนั้นก็เห็นตำรวจพาปิยรัฐออกไปนอกหน่วยออกเสียง นุชนภาเบิกความด้วยว่า ขณะเกิดเหตุมีคนมาใช้สิทธิไม่มาก ตนจึงเห็นเหตุการณ์

อัยการถามนุชนภาว่าผู้ใดบ้างที่มีสิทธิเข้าไปบริเวณหน่วยออกเสียง นุชนภาตอบว่าผู้มีสิทธิเข้ามาในหน่วยได้แก่กรรมการประจำหน่วย และผู้มีสิทธิออกเสียงที่หน่วย อัยการถามว่าหากผู้มาใช้สิทธิมีผู้ติดตาม ผู้ติดตามสามารถเข้ามาได้หรือไม่ นุชนภาตอบว่าเข้ามาไม่ได้ต้องนั่งรอที่หน้าหน่วย

อัยการถามว่าทราบหรือไม่ว่าจิรวัฒน์จำเลยที่สองและทรงธรรมจำเลยสามซึ่งเป็นคนที่ถือกล้องในลักษณะถ่ายภาพ เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยที่สามหรือไม่ นุชนภาตอบว่าไม่ทราบ

อัยการถามว่าการขอใช้สิทธินอกเขตต้องลงชื่อล่วงหน้าหรือไม่และมีขั้นตอนการลงทะเบียนอย่างไร นุชนภาตอบว่าต้องมีการลงทะเบียนล่วงหน้าแต่ขั้นตอนการลงทะเบียนจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ

อัยการถามว่าทราบหรือไม่ว่าบัตรออกเสียงที่ ปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่งฉีกอยู่ที่ไหน นุชนภาตอบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้เก็บไป อัยการถามว่าหลังเกิดเหตุได้ไปให้การที่ไหนอย่างไร นุชนภาตอบว่าไปให้ปากคำที่สน.บางนา

นุชนภาเบิกความด้วยว่าหลังปิดหีบก่อนที่จะมาให้การที่สน. บางนามีเพื่อนนำคลิปขณะเกิดเหตุมาให้ดู นุชนภายืนยันด้วยว่าหลักฐานที่คัดลอกมาจากคลิปวิดีโอขณะเกิดเหตุเป็นภาพในวันเกิดเหตุและภาพจำลองเหตุการณ์วันเกิดเหตุเป็นภาพจริง แต่จำไม่ได้ว่าการทำเหตุการณ์จำลองจัดทำในวันใด อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่า นุชนภาทราบหรือไม่ว่าวันเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่ในนามคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นุชนภาตอบว่าทราบ

ทนายจำเลยขอศาลเปิดคลิปวิดีโอรายการซึ่งสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนจากนั้นถามนุชนภาว่า ในคลิปวิดีโอคือสมชัยใช่หรือไม่ นุชนภารับว่า ใช่

ทนายจำเลยถามว่านุชนภาทราบหรือไม่ว่าสมชัยดำรงตำแห่งใดในคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นุชนภาตอบว่า ไม่ทราบ

นุชนภายืนยันว่าตามคลิปที่ทนายจำเลยเปิดให้ดู สมชัยพูดว่าในหน่วยออกเสียงจะมีการใช้เส้นพลาสติกสีเหลืองกั้นเขตและตามคลิปดังกล่าวด้านนอกเส้นสีเหลืองถือว่าอยู่นอกเขตหน่วยออกเสียงสามารถถ่ายภาพได้

ทนายจำเลยถามว่า ระหว่างที่ปิยรัฐตรวจรายชื่อได้ยินเสียงจิรวัฒน์และทรงธรรม ถามเจ้าหน้าที่ว่า "ขอถามรูปเพื่อนได้ไหม" หรือไม่ นุชนภาตอบว่า ไม่ได้ยินเสียงคนขออนุญาตถ่ายภาพ ได้ยินแต่เสียงเจ้าหน้าที่พูดว่าทำนองว่า "ถ่ายภาพไม่ได้" และได้ยินเสียงจิรวัฒน์และทรงธรรมพูดว่าขอถ่ายภาพเพื่อน

ทนายจำเลยถามว่า เมื่อเจ้าหน้าที่สั่งว่าห้ามถ่ายภาพจิรวัฒน์และทรงธรรมที่ทำท่าเหมือนถ่ายภาพมีท่าทางขัดขืนเจ้าหน้าที่หรือไม่ นุชนภาตอบว่า ไม่มีการขัดขืน

ทนายจำเลยถามว่า นุชนภาเคยเห็นคลิปวิดีโอวันเกิดเหตุที่มีการถ่ายตั้งแต่ตอนปิยรัฐ เข้ามาตรวจรายชื่อที่หน่วยออกเสียงที่สามหรือไม่ นุชนภาตอบว่าไม่เคยดูคลิปที่มีภาพตั้งแต่ปิยรัฐเข้ามาตรวจรายชื่อ

ทนายจำเลยถามรายชื่อผู้มีสิทธิติดบนบอร์ดด้านไหน ด้านที่หันหน้าเข้าหีบบัตรออกเสียงหรือด้านนอก นุชนภารับว่าติดอยู่ด้านในหน่วยออกเสียง หันหน้าเข้าหาหีบบัตร

ทนายจำเลยถามว่าเมื่อรายชื่อติดอยู่ด้านใน ประชาชนก็สามารถเดินเข้ามาตรวจรายชื่อได้ใช่หรือไม่ นุชนภารับว่า ได้ ทนายจำเลยถามต่อว่า ทราบหรือไม่ว่าจิรวัฒน์ หรือทรงธรรมเป็นผู้มีสิทธิในหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตที่สามหรือไม่ นุชนภาตอบว่า ไม่ทราบ

ทนายจำเลยนำเอกสารแสดงว่าจำเลยที่สามเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติที่หน่อยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่เขตบางนามาให้นุชนภาดู นุชนภาตอบว่าตามเอกสารทรงธรรมเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงที่หน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่เขตบางนา ทนายจำเลยถามต่อว่าทรงธรรมจึงมีสิทธิเข้ามาตรวจสอบรายชื่อได้ใช่หรือไม่ นุชนภารับว่า ใช่

ทนายจำเลยให้นุชนภาดูคลิปเหตุการณ์แล้วถามว่า ตามคลิปมีเพียงตำรวจเข้าไปห้ามปิยรัฐ ส่วนจิรวัฒน์และทรงธรรมยืนถ่ายคลิปอยู่ด้านนอกบอร์ดและไม่ปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่เข้ามาห้ามขณะมีการบันทึกคลิปวิดีโอใช่หรือไม่ นุชนภารับว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่าขณะมีเสียงตะโกนด่าทอหรือไม่ นุชนภาตอบว่า ไม่มี แต่มีคนชะงักดูเหตุการณ์ รวมทั้งมีคนในหน่วยออกเสียงที่สองและสี่หันมาดูเหตุการณ์

นุชนภาเบิกความเพิ่มเติมว่า ภาพคนหันมองเหตุการณ์ไม่ได้อยู่ในมุมกล้องวิดีโอ และเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุการออกเสียงยังดำเนินไปตามปกติ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

ตอบอัยการถามติง

อัยการถามว่า ที่ทนายจำเลยให้ดูคลิปที่สมชัยให้ข้อมูลกับสื่อ นุชนภาทราบหรือไม่ว่าคลิปดังกล่าวเผยแพร่ในการออกเสียงครั้งใด  ออกอากาศในวันที่เท่าไหร่ และเคยดูคลิปดังกล่าวหรือไม่ นุชนภาตอบว่า ไม่ทราบและไม่เคยดู

อัยการถามว่านุชนภาทราบหรือไม่ว่าเส้นพลาสติกสีเหลืองเป็นเส้นที่กั้นเขต นุชนภาตอบว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ทราบแต่เพียงว่าห้ามถ่ายภาพภายในหน่วยออกเสียง

อัยการถามว่า ในการอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ทำการอบรมพูดเรื่องแนวกั้นเขตที่อนุญาตให้ถ่ายภาพตามที่สมชัยพูดหรือไม่ นุชนภาตอบว่า ไม่มี

อัยการถามว่า ทราบหรือไม่ว่าสมชัยให้ข้อมูลกับสื่อก่อนหรือหลังเกิดเหตุคดีนี้ นุชนภาตอบว่า ไม่ทราบ อัยการถามว่าเอกสารที่ทนายจำเลยให้ดูที่ระบุว่า ทรงธรรมมีสิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขต นุชนภาเคยเห็นมาก่อนหรือไม่ นุชนภาตอบว่า ไม่เคยเห็น

อัยการถามว่า ที่ทนายจำเลยถามว่าได้ยินจิรวัฒน์หรือทรงธรรมพูดว่าขอถ่ายภาพเพื่อน เป็นการพูดก่อนหรือหลังเจ้าหน้าที่ห้ามถ่ายภาพ นุชนภาตอบว่าได้ยินเจ้าหน้าที่พูดว่าห้ามถ่ายก่อน อัยการแถลงหมดคำถาม

หลังสืบพยานปากนี้เสร็จศาลให้อัยการนำพยานปากต่อไปเข้าสืบต่อทันที

สืบพยานโจทก์ปากที่หก ศรัณย์ ปรีชา ผู้จัดการแผนกส่วนงานกฎหมาย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด

ศรัณย์เบิกความขณะเกิดเหตุประกอบอาชีพรับจ้างเป็นผู้จัดการแผนกส่วนงานกฎหมาย ที่บริษัทแอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส)

เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมาขอข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นของจำเลยในคดีนี้

อัยการขอให้ศรัณย์เล่าเหตุการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่มาประสานงานขอข้อมูล ศรัณย์เบิกความว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางนาทำหนังสือมาถึงเอไอเอส ขอข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงทะเบียนในเครือข่ายเอไอเอสจำนวนสามหมายเลขได้แก่

หมายเลขที่จดทะเบียนในชื่อของปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่ง, จิรวัฒน์ จำเลยที่สองและทรงธรรม ทรงธรรม จำเลยที่สาม ตั้งแต่วันที่  1-18 สิงหาคม 2559 ตนจึงได้รวบรวมข้อมูลและส่งหนังสือรายการการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เจ้าหน้าที่หลังได้รับหนังสือ  

อัยการถามว่า ศรัณย์พบอะไรบ้างจากการตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์ทั้งสามหมายเลข ศรัณย์ตอบว่า โทรศัพท์ทั้งสามหมายเลขจดทะเบียนโดยปิยรัฐ,จิรวัฒน์และทรงธรรม

ในวันที่ 7 สิงหาคม 2560 เวลาประมาณ 9.40 น. หมายเลขโทรศัพท์ของปิยรัฐโทรออกไปหาทรงธรรม ต่อมาเวลา 10.19 น. ทรงธรรมได้โทรออกไปหาจิรวัฒน์

อัยการถามต่อว่า จากการดูข้อมูลเห็นความสอดคล้องของข้อมูลอย่างไร ศรัณย์ตอบว่า ถ้าดูจากการใช้งานพบว่า ทั้งสามมีการติดต่อหากัน นอกจากนี้จากการตรวจสอบทั้งสามหมายเลขยังสามารถดูได้ว่า ใช้เสาสัญญาณต้นใดจึงสามารถบ่งบอกได้ว่า บริเวณการใช้งานอยู่ที่ใดบ้าง

อัยการแถลงหมดคำถาม

ทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่า ศรัณย์มีความรู้ทางด้านนิติศาสตร์เป็นอย่างดีใช่หรือไม่ ศรัณย์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่า การทำงานฝ่ายกฎหมาย ศรัณย์มีการติดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรคมนาคมอยู่ตลอดหรือไม่ ศรัณย์ตอบว่า ใช่

ทนายจำเลยถามว่าในการขอข้อมูลการสื่อสารส่วนบุคคล จะมีขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายใช่หรือไม่ ศรัณย์ชี้แจงว่า ประกาศกสทช.ระบุว่า หากมีเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมายเกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีมาติดต่อสามารถให้ข้อมูลได้ ซึ่งตนเห็นว่าผู้มาขอเป็นตำรวจมีอำนาจตามกฎหมายจึงให้ข้อมูลดังกล่าวแก่ตำรวจ

ทนายจำเลยถามศรัณย์ว่าโดยปกติเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจขอข้อมูลการติดต่อส่วนบุคคลจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมายเฉพาะเช่น กองบังคับการปราบปรามอาชกรรมทางเทคโนโลยี, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และกรมสอบสวนคดีพิเศษใช่หรือไม่

ศรัณย์แย้งว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132 เจ้าหน้าที่มีอำนาจรวบรวมพยานหลักฐานได้ ส่วนกรณีที่ทนายชี้ว่าการเข้าถึงข้อมูลต้องอาศัยหมายศาล นั่นเป็นข้อมูลในระดับเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับหลักฐานในคดีนี้ซึ่งเป็นประวัติการใช้โทรศัพท์ที่พิมพ์ออกมาเป็นเอกสาร

ทนายจำเลยศรัณย์ว่า ตามประมวลวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 132 พนักสอบสวนมีอำนาจรวบรวมอะไร ศรัณย์ตอบว่า ตามมาตรา 132 อนุสาม กำหนดให้มีอำนาจรวมรวมเฉพาะสิ่งของ

ระหว่างนั้นศาลบอกกับทนายจำเลยว่า พยานยืนยันว่าการรวบรวมพยานเอกสารนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทนายจำเลยชี้แจงต่อศาลว่า จะถามคำถามต่อในประเด็นการตีความของกฤษฎีกาในกรณีการส่งข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์ในคดีที่ศาลทหารกรุงเทพ ศาลบอกให้ทนายจำเลยอ้างส่งเอกสารต่อศาลเลยเพราะศรัณย์ในฐานะพยานไม่ทราบถึงประเด็นดังกล่าว

ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

ตอบอัยการถามติง

อัยการถามว่า เหตุใดศรัณย์จึงรวบรวมส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่สน.บางนา ศรัณย์ตอบว่า ตนเชื่อว่า พนักงานสอบสวนมีอำนาจในการรวบรวมเอกสารและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีจึงส่งมอบเอกสารดังกล่าวให้

อัยการแถลงหมดคำถาม

หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ซึ่งเป็นปากสุดท้ายของวัน ศาลขอหารือกับคู่ความเรื่องวันนัด เนื่องจากวันนัดสืบพยานโจทก์ที่นัดไว้เดิมหมดแล้ว และเหลือการสืบพยานอีกสองนัดในวันที่ 15 และ 16 มิถุนายน ซึ่งเป็นนัดสืบพยานจำเลย แต่โจทก์ยังนำพยานเข้าสืบไม่หมดและฝ่ายจำเลยก็แถลงว่าติดใจขอสืบพยานโจทก์ทุกปาก

ศาลให้คู่ความตกลงกันว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร อัยการและทนายตกลงกันว่านัดสืบพยานจำเลยที่เหลือสองนัดให้โจทก์นำพยานของโจทก์เข้าสืบต่อ หากโจทก์สืบเสร็จแล้วยังเหลือเวลาก็ให้ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบต่อเลย แต่หากไม่เสร็จก็ขอให้ศาลนัดวันใหม่ ศาลอนุญาตให้ดำเนินการตามนั้นพร้อมกับกำชับคู่ความให้สืบพยานโดยกระชับ

15 มิถุนายน 2560

นัดสืบพยานโจทก์

เบื้องต้นการสืบพยานในวันนี้เป็นนัดของฝ่ายจำเลยแต่เนื่องจากโจทก์ยังนำพยานเข้าสืบไม่หมดและฝ่ายจำเลยติดใจขอถามค้าน ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงให้นำพยานโจทก์ที่เหลือมาถามต่อในนัดนี้

การพิจารณาในวันนี้เริ่มประมาณสิบนาฬิกาเศษโดยเหตุที่เริ่มการสืบล่าช้าเนื่องจากหนึ่งในจำเลยมาถึงศาลช้า

สืบพยานโจทก์ปากที่เจ็ด ด.ต.สมพร ภักวงษ์ทอง ผู้จับกุม ปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่ง

ด.ต.สมพรเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการตำรวจเป็นผู้บังคับหมู่งานจราจรสน.บางนา

เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะในวันเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดหน่วยที่สาม เขตบางนา โดยปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้รักษาความปลอดภัยภายในหน่วยออกเสียง

ด.ต.สมพรเบิกความด้วยว่าวันเกิดเหตุตนมาถึงที่สำนักงานเขตบางนาประมาณ 5.00 น. เพื่อดำเนินการรับหีบบัตรจากสำนักงานเขต

อัยการถามว่า ลักษณะหน่วยออกเสียงประชามติที่เกิดเหตุเป็นอย่างไร ด.ต.สมพรตอบว่า เป็นเตนท์ยาวแบ่งเป็นสี่ช่อง 

อัยการถามว่า ด.ต.สมพรได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ที่หน่วยออกเสียงใด ด.ต.สมพรตอบว่าได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่หน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดหน่วยที่สาม

อัยการถามว่า บรรยากาศการลงคะแนนในช่วงเช้าเป็นอย่างไร ด.ต.สมพรตอบว่า ตั้งแต่เวลา 8.00-12.00 น. บรรยากาศการลงคะแนนไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติ

ด.ต.สมพรเล่าถึงเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุว่า ในเวลาประมาณ 12.00 น. มีชายซึ่งทราบภายหลังว่าเป็น ปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่ง เดินเข้ามาในหน่วยออกเสียง ส่วนจิรวัฒน์ จำเลยที่สอง และทรงธรรม จำเลยที่สามนั่งเก้าอี้อยู่ด้านหน้าหน่วยออกเสียง

ระหว่างที่ปิยรัฐตรวจรายชื่อที่โต๊ะกับเจ้าหน้าที่ ด.ต.สมพรยืนอยู่บริเวณบอร์ดที่กั้นเขตระหว่างหน่วยออกเสียงที่สามกับสี่ โดยยืนอยู่กับด.ต.วิรัตน์ชัย อุ่นสมัย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหน่วยออกเสียงที่สี่

ระหว่างที่ยืนคุยกันจารุวรรณ ซึ่งเป็นประธานหน่วยออกเสียงเดินมาบอกกับพวกตนว่า มีคนมาถ่ายรูปขอให้ไปห้ามหน่อย

เมื่อหันไปดูที่หน้าหน่วยออกเสียง ก็เห็นชายสองคนซึ่งทราบภายหลังว่า เป็นจิรวัฒน์และทรงธรรมยืนถือโทรศัพท์ในลักษณะถ่ายภาพหรือวิดีโอ ด.ต.วิรัตน์ชัยจึงเข้าไปห้ามจิรวัฒน์และทรงธรรมโดยกันตัวออกไป

ด.ต.สมพรเบิกความต่อว่า ระหว่างที่ด.ต.วิรัตน์ชัยดันตัวจิรวัฒน์และทรงธรรมออกไปได้หันกลับมามองที่หีบบัตรลงคะแนน เห็นปิยรัฐเดินเลยไปด้านหน้าของหีบบัตรออกเสียงแล้วชูบัตรออกเสียงขึ้นแล้วตะโกนว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" จากนั้นจึงฉีกบัตรออกเสียงและปล่อยลงพื้น

ด.ต.สมพรจึงเข้าไปจับแขนปิยรัฐ จากนั้นจึงจูงปิยรัฐไปนั่งที่เก้าอี้ แล้วขอตรวจบัตรประชาชนและโทรแจ้งผู้บังคับบัญชาว่ามีเหตุประชาชนฉีกบัตร จากนั้นจึงแจ้งศูนย์วิทยุบางนาให้ประสานหน่วยเคลื่อนที่เร็วมารับตัวปิยรัฐ

ด.ต.สมพรเบิกความว่า หลังให้ปิยรัฐนั่งในหน่วยออกเสียงครู่หนึ่งก็พาตัวออกมานั่งข้างนอกและถ่ายภาพปิยรัฐไว้ พร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิกับปิยรัฐ

ด.ต.สมพรเบิกความด้วยว่า เมื่อหน่วยเคลื่อนที่เร็วมาถึงด.ต.สมพรได้แจ้งว่าจิรวัฒน์และทรงธรรมน่าจะรู้จักกับปิยรัฐเพราะเห็นทั้งสองเข้าไปถ่ายรูปปิยรัฐ หลังจากนั้นหน่วยเคลื่อนที่เร็วก็ควบคุมตัวปิยรัฐออกไป แต่ไม่ทราบว่าหลังจากนั้นจิรวัฒน์และทรงธรรมไปที่ไหน

อัยการถามว่าหลังเกิดเหตุ สถานการณ์ในหน่วยออกเสียงเป็นอย่างไร ด.ต.สมพรตอบว่าเหตุการณ์ทั่วไปเป็นปกติ หลังเวลา 16.00 น. จึงมีการนับคะแนน หลังการปิดหีบผู้บังคับบัญขาให้เจ้าหน้าที่นายอื่นมาเปลี่ยนเพื่อให้ตนกลับไปให้ปากคำที่สน.บางนา

อัยการถามว่าตอนที่ด.ต.วิรัตน์ชัยเข้าไปกันไม่ให้จิรวัฒน์และทรงธรรมถ่ายภาพ ด.ต.สมพรได้ยินจำเลยทั้งสองพูดคุยกับด.ต.วิรัตน์ชัยหรือไม่ ด.ต.สมพรตอบว่า ได้ยินทรงธรรมพูดทำนองว่าขอถ่ายรูปเพื่อนออกเสียงหน่อยครับ แต่จำไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นประโยคนี้เลยหรือไม่

อัยการถามว่าหลังวันเกิดเหตุด.ต.สมพรได้มาร่วมทำแผนจำลองวันเกิดเหตุหรือไม่ ด.ต.สมพรรับว่ามาร่วมทำด้วย โดยตามภาพการทำเหตุการณ์จำลอง มีภาพที่ด.ต.สมพรนำปิยรัฐไปนั่งด้านนอกระหว่างหน่วยออกเสียงที่สามและสี่ ด.ต.สมพรรับด้วยว่าได้ร่วมลงชื่อในการทำภาพจำลองเหตุการณ์

อัยการถามว่าหลังปิยรัฐฉีกบัตรออกเสียง บัตรที่ถูกฉีกอยู่ที่ไหน ด.ต.สมพรตอบว่าปิยรัฐปล่อยบัตรลงบนพื้น ด.ต.วิรัตน์ชัยเป็นผู้เก็บจากพื้นและไปนำถุงมาใส่ ด.ต.สมพรได้นำบัตรประชาชนของปิยรัฐใส่ถุงไปด้วยและมอบให้ชุดเคลื่อนที่เร็วที่มารับตัวปิยรัฐ

อัยการให้ด.ต.สมพรดูบันทึกการจับกุมและให้เล่าถึงการจัดทำเอกสารดังกล่าว ด.ต.สมพรตอบว่าเมื่อไปถึงสน.บางนามีการทำบันทึกการจับกุมไว้แล้ว ตนเองเพียงแต่ลงชื่อในเอกสาร โดยขณะที่ลงชื่อ ไม่ทราบว่ามีใครลงชื่อในเอกสารแล้วบ้าง ทราบแต่เพียงปิยรัฐยังไม่ได้ลงชื่อ

ด.ต.สมพรเบิกความด้วยว่าเห็นจิรวัฒน์และทรงธรรมอยู่ที่สน.บางนาด้วย โดยด.ต.สมพรเป็นผู้อ่านบันทึกการจับกุมให้จิรวัฒน์และทรงธรรมฟัง ทั้งสองให้การปฏิเสธและแจ้งว่าไม่ประสงค์จะลงชื่อในเอกสาร

ด.ต.สมพรเบิกความด้วยว่า ตนให้ปากคำที่สน.บางนาเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 22.00 น. จึงกลับบ้านแล้วมาร่วมทำแผนจำลองเหตุการณ์ในวันที่ 8 สิงหาคม 2559

อัยการถามว่าเหตุใดด.ต.สมพรจึงเชื่อว่า ตนเองมีอำนาจจับกุมปิยรัฐ ด.ต.สมพรตอบว่าเชื่อว่า ตนเองมีอำนาจทำการจับกุมเพราะตามคำสั่งแต่งตั้งตนมีอำนาจระงับเหตุในหน่วยออกเสียงซึ่งรวมถึงบริเวณทางเดินและด้านหน้าบอร์ดติดรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงด้วย

อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่าด.ต.สมพรเคยปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยออกเสียงมาก่อนหรือไม่ ด.ต.สมพรตอบว่าเคย ทนายจำเลยถามว่าเท่าที่เคยปฏิบัติหน้าที่หน้า บอร์ดติดรายชื่อผู้มีสิทธิจะติดอยู่ด้านนอกหน่วยหรือติดด้านในหันหน้าเข้าหน่วยออกเสียง

ด.ต.สมพรตอบว่า ปกติจะติดอยู่ด้านนอก แต่ครั้งนี้ติดด้านในหันหน้าเข้าหน่วยออกเสียง ทนายจำเลยถามว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นคนทั่วไปจริงมีสิทธิเข้ามาด้านในเพื่อตรวจรายชื่อได้ใช่หรือไม่ ด.ต.สมพรรับว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่า ด.ต.สมพรเคยดูคลิปวันเกิดเหตุหรือไม่ ด.ต.สมพรตอบว่า เคย ทนายจำเลยของศาลเปิดคลิปให้ด.ต.สมพรดูแล้วถามว่าตามคลิปขณะเกิดเหตุก็มีผู้มาใช้สิทธิตามปกติใช่หรือไม่ ด.ต.สมพรรับว่า ใช่

ทนายจำเลยถามว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยมีท่าทางขัดขืนการจับกุมหรือไม่ ด.ต.สมพรตอบว่าจำเลยยินยอมให้จับกุมโดยดี

ทนายจำเลยถามว่าจิรวัฒน์และทรงธรรมทำท่าทางเหมือนถ่ายภาพหรือวิดีโอ ด.ต.สามารถยืนยันได้หรือไม่ว่าทั้งสองกำลังถ่ายภาพหรือวิดีโออยู่ ด.ต.สมพรตอบว่าไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามว่าตามคลิปวิดีโอมีภาพเจ้าหน้าที่ผลักดันไม่ให้จำเลยทั้งสองถ่ายภาพหรือไม่ ด.ต.สมพรตอบว่า ตามคลิปไม่มี แต่วันเกิดเหตุเห็นว่าด.ต.วิรัตน์กางมือกันไม่ให้ทั้งสองบันทึกภาพ แต่จะมีการถูกเนื้อต้องตัวหรือไม่ ตนไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามว่า ขณะที่มีการกันตัวจำเลยทั้งสองมีเหตุการณ์วุ่นวายหรือไม่ ด.ต.สมพรรับว่าไม่มี ทนายจำเลยถามว่า ขณะที่มีการกันตัวจิรวัฒน์และทรงธรรม ปิยรัฐฉีกบัตรหรือยัง ด.ต.สมพรตอบว่า ยัง

ทนายจำเลยถามว่า ด.ต.สมพรได้ควบคุมตัวจิรวัฒน์และทรงธรรมหรือไม่ ด.ต.สมพรตอบว่าไม่ได้ทำการจับกุม ทนายจำเลยถามว่าด.ต.สมพรทราบได้อย่างไรว่า มีข้อห้ามถ่ายภาพในหน่วยออกเสียง ด.ต.สมพรตอบว่า ทราบจากกรรมการประจำหน่วยที่เป็นครู

ทนายจำเลยถามว่าด.ต.สมพรเคยเข้ารับการอบรมก่อนปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ด.ต.สมพรตอบว่า เคยเข้ารับการอบรม ทนายจำเลยถามว่า ระเบียบห้ามถ่ายภาพปรากฎอยู่ตามกฎหมายใด ด.ต.สมพรตอบว่าไม่ทราบว่าเป็นกฎหมายใด

ทนายจำเลยให้ด.ต.สมพรดูเอกสารคู่มือเจ้าหน้าที่ของกกต. ด.ต.สมพรตอบว่า ตนไม่เคยเห็นเอกสารที่ทนายจำเลยให้ดู ทนายจำเลยถามว่า ตามบันทึกการจับกุมจิรวัฒน์และทรงธรรม ด.ต.สมพรเป็นผู้จับกุม แต่ด.ต.สมพรเบิกความต่อศาลว่าไม่ได้เป็นผู้จับกุมจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร ด.ต.สมพรตอบว่า เป็นไปตามที่เบิกความต่อศาล

ทนายจำเลยถามว่า เอกสารและภาพจำลองเหตุการณ์วันเกิดเหตุที่ด.ต.สมพรร่วมลงชื่อด้วย ด.ต.สมพรได้อ่านเอกสารก่อนลงชื่อหรือไม่ ด.ต.สมพรตอบว่าไม่ได้อ่านข้อความก่อน ด.ต.สมพรเบิกความรับรองว่าเอกสารบันทึกการจับกุมและคำให้การชั้นสอบสวนของตนถูกต้องยกเว้นประเด็นที่ตนเป็นผู้จับกุมจิรวัฒน์และทรงธรรม

ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

ตอบอัยการถามติง

อัยการถามว่า ตอนที่ด.ต.สมพรเข้ารับการอบรม เจ้าหน้าที่แจกเอกสารคู่มือใดๆให้หรือไม่ ด.ต.สมพรตอบว่า ไม่มี

อัยการถามด.ต.สมพรว่า บุคคลใดเป็นผู้ทำการอบรมให้และมีกรรมการประจำหน่วยที่สามคนอื่นร่วมอบรมด้วยหรือไม่

ด.ต.สมพรตอบว่าจำไม่ได้ว่าหน่วยงานใดเป็นผู้จัดอบรมและจำไม่ได้ว่ามีกรรมการหน่วยออกเสียงที่สามคนอื่นร่วมอบรมด้วยหรือไม่ เท่าที่จำได้ตนเข้ารับการอบรมเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยในหน่วยออกเสียง

อัยการถามว่าภาพจำลองเหตุการณ์ทำขึ้นหลังวันเกิดเหตุซึ่งจำเลยทั้งสามถูกตั้งข้อกล่าวหาไปแล้วใช่หรือไม่ ด.ต.สมพรรับว่าใช่

อัยการถามว่าเหตุใดด.ต.สมพรจึงลงชื่อรับรองเอกสารการจัดทำเหตุการณ์จำลอง ด.ต.สมพรตอบว่าที่ลงชื่อรับรองเพราะเห็นว่าเอกสารการจัดทำเหตุการณ์จำลองถูกต้องเพียงแต่ไม่ได้อ่านข้อความ

อัยการถามว่า ที่ด.ต.สมพรตอบทนายจำเลยว่าประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาดูรายชื่อที่บอร์ดได้ ในวันเกิดเหตุมีประชาชนเข้ามาตรวจรายชื่อแล้วพบว่า ไม่มีชื่อจึงเดินไปหน่วยอื่นต่อหรือไม่ ด.ต.สมพรอบว่าไม่มีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้น

อัยการแถลงหมดคำถาม

หลังสืบพยานปากนี้เสร็จ ศาลสั่งให้เลื่อนไปสืบพยานปากต่อไปในช่วงบ่ายเนื่องจากขณะนั้นเป็นเวลา 12.00 น.แล้ว โดยศาลเริ่มสืบพยานโจทก์ต่อในเวลา 13.20 น.

สืบพยานโจทก์ปากที่แปด ด.ต.วิรัตน์ชัย อุ่นสมัย เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่สี่ สำนักงานเขตบางนา

ด.ต.วิรัตน์ชัยเบิกความขณะเกิดเหตุรับราชการตำรวจที่ส.น.บางนาในตำแหน่งผู้บังคับการหมู่งานจราจร มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดในคดีจราจรและคดีอาญา

เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากอยู่ในที่เกิดเหตุและเป็นผู้เข้าไปห้ามจิรวัฒน์ จำเลยที่สองและทรงธรรม จำเลยที่สาม ไม่ให้ถ่ายภาพ

ด.ต.วิรัตน์ชัยเบิกความเล่าว่าในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ ตนเองปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้รักษาความปลอดภัยประจำหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่สี่ เขตบางนา ซึ่งตั้งอยู่ในสำนักงานเขตบางนา โดยได้รับการแต่งตั้งตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง

อัยการไม่ได้อ้างส่งคำสั่งแต่งตั้งให้ด.ต.วิรัตน์ชัยปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยออกเสียงประชามติต่อศาลแต่ด.ต.วิรัตน์ชัยเบิกความรับรองว่าเอกสารแต่งตั้งของตนมีลักษณะเดียวกับเอกสารของ ด.ต.สมพร ภักวงษ์ทอง พยานโจทก์ปากที่เจ็ดซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาความปลอดภัยประจำหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่สาม สำนักงานเขตบางนา

ด.ต.วิรัตน์ชัยเบิกความต่อว่าหน่วยออกเสียงเปิดให้ประชาชนมาใช้สิทธิตั้งแต่เวลา 8.00 น. ในช่วงเช้าเหตุการณ์โดยทั่วไปเป็นปกติ

ด.ต.วิรัตน์ชัยเบิกความต่อว่าช่วงก่อนเกิดเหตุในเวลาประมาณ 12.00 น. ตนเองยืนคุยกับด.ต.สมพรอยู่บริเวณบอร์ดที่กั้นระหว่างหน่วยออกเสียงที่สามและสี่ ระหว่างที่ยืนคุยกันอยู่จารุวรรณ ศรีทองชัยซึ่งเป็นประธานหน่วยออกเสียงที่สามเดินเข้ามาหาพวกตนและบอกว่ามีคนมาถ่ายภาพในหน่วยให้ไปห้าม

เมื่อได้รับแจ้งด.ต.วิรัตน์ชัยไปด้านหน้าหน่วยออกเสียงก็พบชายสองคนซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นจิรวัฒน์และทรงธรรมยกโทรศัพท์มือถือในลักษณะกำลังถ่ายภาพหรือวิดีโอแต่ด.ต.วิรัตน์ชัยไม่สามารถยืนยันได้ว่าขณะนั้นชายทั้งสองบันทึกภาพหรือวิดีโอแล้วหรือยัง

อัยการถามว่าจุดที่ชายทั้งสองยืนอยู่คือจุดไหน ด.ต.วิรัตน์ชัยตอบว่าอยู่ในหน่วยออกเสียงโดยยืนห่างจากบอร์ดเข้ามาด้านในประมาณหนึ่งเมตร

เมื่อเห็นพฤติการณ์ของชายทั้งสอง ด.ต.วิรัตน์ชัยจึงเดินเข้าไปหาพร้อมกับกางมือและบอกชายทั้งสองว่าห้ามถ่ายภาพโดยขณะที่พูดจาห้ามปรามด.ต.วิรัตน์ชัยยืนยันว่าไม่มีการสัมผัสตัวกับชายทั้งสอง

สำหรับพฤติการณ์ของจิรวัฒน์และทรงธรรมในขณะนั้น ด.ต.วิรัตน์ชัยเบิกความว่าทั้งสองเดินถอยหลังไปด้านนอกบอร์ดออกจากหน่วยเมื่อตนเดินเข้าไปหาแต่ยังถือโทรศัพท์ในลักษณะถ่ายภาพหรือวิดีโอส่วนจะถ่ายอยู่หรือไม่ไม่สามารถยืนยันได้

ด.ต.วิรัตน์ชัยเบิกความต่อว่าเมื่อกันจิรวัฒน์และทรงธรรมออกไปด้านนอกบอร์ดบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์  ก็หันมาก้มดูโทรศัพท์มือถือเพื่อจะเปิดดูข้อกฎหมายที่ห้ามการถ่ายรูป

แต่ยังไม่ทันจะดูก็ได้ยินเสียงชายอีกคนซึ่งมาทราบในภายหลังว่าเป็นปิยรัฐจำเลยที่หนึ่งตะโกนว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" จึงเงยหน้าดูก็เห็นปิยรัฐฉีกบัตรลงคะแนน

ด.ต.วิรัตน์ชัยเบิกความต่อว่าหลังปิยรัฐฉีกบัตรก็ทิ้งบัตรลงกับพื้น ด.ต.สมพรวิ่งเข้ามาจับมือขวาของปิยรัฐ ส่วนบัตรที่ถูกฉีกและทิ้งไว้บนพื้น ด.ต.วิระชัยเป็นผู้เก็บขึ้นมาจากพื้น แต่ไม่แน่ใจว่าในภายหลังส่งต่อให้ใคร เป็นด.ต.สมพรหรืออัมรินทร์ นนทะโคตรซึ่งเป็นผู้อำนวยการหน่วยออกเสียงที่สาม

ด.ต.วิรัตน์ชัยเบิกความตอบอัยการถึงการดำเนินการของด.ต.สมพรว่า ด.ต.สมพรให้จำเลยนั่งที่เก้าอี้พร้อมทั้งใช้วิทยุสื่อสารและโทรศัพท์มือถือติดต่อบุคคลอื่นแต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าติดต่อใคร

อัยการถามด.ต.วิรัตน์ชัยว่าขณะเกิดเหตุทราบหรือไม่ว่าจำเลยทั้งสามรู้จักกันมาก่อน ด.ต.วิรัตน์ชัยตอบว่าขณะนั้นยังไม่ทราบ พึ่งมาทราบภายหลังว่าทั้งสามรู้จักกัน

อัยการถามต่อว่าทราบหรือไม่ว่าโทรศัพท์ที่จำเลยทั้งสองใช้ถ่ายภาพคือโทรศัพท์รุ่นใดยี่ห้อใด ด.ต.วิรัตน์ชัยตอบว่าไม่ทราบ  

อัยการถามด.ต.วิรัตน์ชัยว่าที่ได้รับการอบรมมาอาณาเขตของหน่วยออกเสียงเริ่มตั้งแต่บริเวณไหน ด.ต.วิรัตน์ชัยตอบว่าตั้งแต่ด้านในบอร์ดบัญชีรายชื่อไปจนถึงบริเวณที่มีแนวล้อมไว้  อัยการถามด.ต.วิรัตน์ชัยว่าในช่วงเกิดเหตุมีคนลงคะแนนเยอะหรือไม่ ด.ต.วิรัตน์ชัยตอบว่ามีประมาณสองสามคน

อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามด.ต.วิรัตน์ชัยว่า การกั้นหน่วยออกเสียงจะมีการเว้นช่องว่างบริเวณบอร์ดติดรายชื่อผู้มีสิทธิ ทำให้ผู้ที่ต้องการตรวจสอบรายชื่อสามารถเดินทะลุจากหน่วยลงออกเสียงที่หนึ่งถึงที่สี่ได้ใช่หรือไม่ ด.ต.วิรัตน์ชัยรับว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่าในหน่วยออกเสียงที่สามและสี่มีการปะข้อห้ามว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ไว้หรือไม่ ด.ต.วิรัตน์ชัยตอบว่าไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามด.ต.วิรัตน์ชัยว่า ที่ตอบอัยการว่าหันมาเปิดโทรศัพท์เพื่อดูข้อห้ามถ่ายรูป ด.ต.วิรัตน์ชัยดูโทรศัพท์เพราะไม่แน่ใจว่ามีข้อห้ามดังกล่าวอยู่หรือเปล่าใช่หรือไม่ ด.ต.วิรัตน์ชัยตอบว่าขณะนั้นไม่แน่ใจ        

ทนายจำเลยถามว่าขณะที่มีการโต้ตอบกัน มีอยู่ตอนหนึ่งที่จิรวัฒน์และทรงธรรมพูดว่าขอถ่ายรูปเพื่อนได้หรือไม่ ใช่หรือไม่ ด.ต.วิรัตน์ชัยตอบว่าไม่ได้ยินว่าทั้งสองพูดเช่นนั้น

ทนายจำเลยถามว่าขณะที่ปิยรัฐฉีกบัตรลงคะแนน การออกเสียงประชามติในหน่วยที่สามยังดำเนินไปอย่างปกติใช่หรือไม่ ด.ต.วิรัตน์ชัยรับว่าใช่

ทนายจำเลยถามด.ต.วิรัตน์ชัยต่อว่าหลังปิยรัฐถูกควบคุมตัวก็ไม่ได้แสดงอาการขัดขืนใช่หรือไม่ ด.ต.วิรัตน์ชัยตอบว่าปิยรัฐไม่ได้แสดงอาการขัดขืนใดๆ

ทนายจำเลยถามด.ต.วิรัตน์ชัยว่าบัตรที่ถูกฉีกมีการลงคะแนนแล้วหรือยัง ด.ต.วิรัตน์ชัยตอบว่าไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามต่อว่าขณะที่ปิยรัฐฉีกบัตร จิรวัฒน์และทรงธรรมยืนถ่ายภาพหรือวิดีโอจากด้านในหรือด้านนอกหน่วยออกเสียง ด.ต.วิรัตน์ชัยตอบว่าไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามว่าด.ต.วิรัตน์ชัยทราบหรือไม่ว่าจำเลยทั้งสามรู้จักหรือมีความสัมพันธ์กัน ด.ต.วิรัตน์ชัยตอบว่าขณะเกิดเหตุไม่ทราบว่าทั้งสามเกี่ยวข้องกัน มาทราบภายหลัง

ทนายจำเลยถามด.ต.วิรัตน์ชัยว่า ขณะที่กันตัวจิรวัฒน์และทรงธรรมออกไป มีการถูกเนื้อต้องตัวกันหรือไม่ ด.ต.วิรัตน์ชัยตอบว่าไม่มี

ทนายจำเลยถามว่าขณะเกิดเหตุที่มีเสียงดังเป็นเสียงของเจ้าหน้าที่ที่ร้องด้วยความตกใจใช่หรือไม่ ด.ต.วิรัตน์ชัยรับว่าใช่

ตอบอัยการถามติง

อัยการถามด.ต.วิรัตน์ชัยว่า ที่ตอบทนายจำเลยว่าบริเวณด้านในบอร์ดรายชื่อผู้มีสิทธิ์ที่สามารถเดินทะลุกันได้ตั้งแต่หน่วยที่หนึ่งถึงหน่วยที่สี่ นอกจากจิรวัฒน์และทรงธรรมแล้วมีบุคคลที่ไม่มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนในหน่วยออกเสียงที่สามนี้เข้ามาเดินในบริเวณดังกล่าวเหมือนทั้งสองหรือไม่ ด.ต.วิรัตน์ชัยตอบว่าไม่มี

อัยการขออนุญาตศาลถามคำถามที่ลืมถามพร้อมทั้งระบุว่าหากตนเองถามคำถามไม่รัดกุมและภายหลังศาลพิพากษายกฟ้อง อาจถูกผู้บังคับบัญชาตำหนิ ศาลอนุญาตให้ถาม

อัยการให้ด.ต.วิรัตน์ชัยดูภาพการจำลองเหตุการณ์วันเกิดเหตุ และให้ด.ต.วิรัตน์ชัยยืนยันว่าเป็นบุคคลที่ทำท่าก้มเก็บบัตรลงคะแนนประชามติบนพื้นใช่หรือไม่ ด.ต.วิรัตน์ชัยรับว่าใช่

อัยการถามต่อว่าด.ต.วิรัตน์ชัยไม่ได้ลงชื่อในภาพการทำแผนฉบับดังกล่าวใช่หรือไม่ ด.ต.วิรัตน์ชัยตอบว่าตนไม่ได้ลงชื่อในการทำภาพจำลองเหตุการณ์ ทนายจำเลยไม่ติดใจถามติงประเด็นนี้

สืบพยานโจทก์ปากที่เก้า ส.ต.ท.มนตรี ศรีกรมราช ผู้ตรวจสอบการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของจำเลยที่สองและสาม

ส.ต.ท.มนตรีเบิกความว่าขณะเกิดเหตุรับราชการตำรวจในตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานปราบปราม ส.น.บางนา มีหน้าที่หาข่าวและปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากในวันเกิดเหตุได้รับรายงานว่าปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่งในคดีนี้ฉีกบัตรลงคะแนนประชามติที่หน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่สาม เขตบางนา และได้รับรายงานว่ามีชายสองคนคือจิรวัฒน์ จำเลยที่สองและทรงธรรม จำเลยที่สามใช้โทรศัพท์บันทึกเหตุการณ์ไว้

ส.ต.ท.มนตรีเบิกความว่าในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เวลาประมาณ 18.00 น. ได้รับคำสั่งให้ตรวจสอบกรณีการเผยแพร่คลิปขณะปิยรัฐฉีกบัตรประชามติในอินเทอร์เน็ต จึงใช้โทรศัพท์มือถือตรวจสอบเฟซบุ๊กของทรงธรรมโดยพิพ์ชื่อของทรงธรรมบนแอพลิเคชันเฟซบุ๊ก ก็พบบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กของทรงธรรม

เมื่อทำการตรวจสอบพบว่ามีการเผยแพร่คลิปวิดีโอขณะที่ปิยรัฐก่อเหตุ จึงนำไปให้ผู้กำกับสน.บางนาดู พร้อมทั้งทำการบันทึกหลักฐาน โดยใช้โทรศัพท์ของผู้กำกับ บันทึกภาพที่เปิดจากโทรศัพท์ของตนเอง

ส.ต.ท.มนตรีเบิกความด้วยว่า ได้ทำการตรวจสอบเฟซบุ๊กของจิรวัฒน์ด้วยโดยใช้วิธีเดียวกัน แต่ไม่ได้ทำการตรวจสอบเฟซบุ๊กของปิยรัฐ

อัยการเปิดแผ่นซีดี ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอที่ถ่ายโทรศัพท์ของผู้กำกับสน.บางนา ซึ่งเปิดคลิปขณะที่ปิยรัฐกำลังฉีกบัตร ให้ ส.ต.ท.มนตรี ดู ส.ต.ท.มนตรีเบิกความว่าคลิปดังกล่าวตนทำขึ้นและมอบให้พนักงานสอบสวนเพื่อเป็นหลักฐานว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันก่อเหตุโดยปิยรัฐเป็นผู้ฉีกบัตรลงคะแนน ส่วนจิรวัฒน์และทรงธรรมเป็นผู้บันทึกเหตุการณ์และเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่าส.ต.ท.มนตรีใช้เฟซบุ๊กหรือไม่ ส.ต.ท.มนตรีตอบว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่าการตั้งชื่อเฟซบุ๊กจะตั้งชื่ออะไรก็ได้ใช่หรือไม่ ส.ต.ท.มนตรีรับว่าใช่ แต่ที่เชื่อว่าบัญชีผู้ดังกล่าวเป็นของจำเลยจริงเนื่องจากภาพโปรไฟล์ของบัญชีดังกล่าวเป็นภาพของจำเลย

ทนายจำเลยถามต่อว่าส.ต.ท.มนตรีเป็นผู้ตรวจสอบเฟซบุ้กแต่เพียงผู้เดียวใช่หรือไม่ ส.ต.ท.มนตรีรับว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่าส.ต.ท.มนตรีได้ทำการตรวจสอบวิดีโอคลิปจากโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสามหรือไม่ ส.ต.ท.มนตรีตอบว่าไม่ได้ตรวจสอบ แต่ทำการตรวจสอบจากเฟซบุ๊กเพียงอย่างเดียว

ทนายจำเลยถามว่าตามวิดีโอคลิปปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่มาห้ามไม่ให้ทำการบันทึกภาพหรือไม่ ส.ต.ท.มนตรีตอบว่าไม่มี มีเพียงภาพการจับกุมจำเลยที่หนึ่ง ทนายจำเลยถามต่อว่ารูปโปรไฟล์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กสามารถนำรูปใดมาตั้งก็ได้ใช่หรือไม่ ส.ต.ท.มนตรีรับว่าใช่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถามค้าน อัยการแถลงต่อศาลว่าไม่ติดใจถามติงพยานปากนี้ ศาลจึงให้นำพยานปากต่อไปเข้าสืบต่อ

สืบพยานปากที่สิบ ร.ต.ท.คำสอน ไมสุวรรณ ผู้ควบคุมตัวจำเลยที่สองและสามไปส.น.บางนา

ร.ต.ท.คำสอน เบิกความว่าขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นรองสารวัตรปราบปรามที่สน.บางนา ในวันเกิดเหตุได้รับมอบหมายให้เป็นชุดเคลื่อนที่เร็ว เตรียมพร้อมรับเหตุกรณีมีเหตุวุ่นวายหรือเกิดความไม่สงบในการออกเสียงประชามติ 
 
ร.ต.ท.คำสอนเบิกความถึงขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ในวันออกเสียงประชามติว่า หากมีเหตุวุ่นวายหรือมีการกระทำความผิดเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียงจะวิทยุไปที่ศูนย์วิทยุบางนา ซึ่งจะแจ้งเหตุมาที่หน่วยเคลื่อนที่เร็วอีกต่อหนึ่ง
 
ร.ต.ท.คำสอน เบิกความถึงเหตุการณ์ในคดีนี้ว่า ในเวลาประมาณ 12.00 น. ตนเองได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุบางนาว่ามีการฉีกบัตรลงคะแนนประชามติที่หน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่สาม ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสำนักงานเขตบางนา จึงจัดกำลังไปยังที่เกิดเหตุ เมื่อไปถึงพบว่าด.ต.สมพร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียงที่สามกำลังควบคุมตัวปิยรัฐจำเลยที่หนึ่งในคดีนี้
 
ร.ต.ท.คำสอนเบิกความต่อว่าได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในที่เกิดเหตุว่าปิยรัฐเป็นผู้ฉีกบัตรลงคะแนน ส่วนจิรวัฒน์ จำเลยที่สองและทรงธรรม จำเลยที่สามมีพฤติการณ์ยกโทรศัพท์มือถือในลักษณะเหมือนถ่ายรูปหรือวิดีโอ ซึ่งเป็นการก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียง 
 
ร.ต.ท.คำสอนเบิกความว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้ทำการจับกุมปิยรัฐ แต่เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติกับจิรวัฒน์และทรงธรรม และได้แจ้งสิทธิกับทั้งสองด้วย ร.ต.ท.คำสอนเบิกความต่อว่าตนเป็นผู้ควบคุมตัวจิรวัฒน์และทรงธรรมไปที่สน.บางนา 
 
เนื่องจากจิรวัฒน์นำรถยนต์ส่วนตัวมาจึงขอนำรถไปที่สน.บางนาด้วย ร.ต.ท.คำสอนและผู้ใต้บังคับบัญชาจึงนั่งรถของจิรวัฒน์ไปที่สน.บางนา สำหรับปิยรัฐ ร.ต.ท.คำสอนเบิกความว่าฝ่ายสืบสวนเป็นผู้ทำการจับกุม
 
ร.ต.ท.คำสอนเบิกความต่อว่า เมื่อรถของจิรวัฒน์ไปถึงสน.บางนา ตนได้ส่งตัวจิรวัฒน์และทรงธรรมให้กับร.ต.อ.ณรงศักดิ์ วงศ์สิงห์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนเป็นผู้ดำเนินการทางคดีต่อ 
 
ร.ต.ท.คำสอนเบิกความด้วยว่าไม่ได้ลงชื่อในบันทึกการจับกุมของจิรวัฒน์และทรงธรรมเนื่องจากหลังส่งตัวจำเลยทั้งสองแล้วต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่ต่อ
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามร.ต.ท.คำสอนว่า ทราบหรือไม่ว่าผู้ใดเป็นผู้แจ้งเหตุคดีนี้ ร.ต.ท.คำสอนตอบว่าไม่ทราบเพราะตนเองเพียงแต่รับเรื่องมาจากศูนย์วิทยุบางนาอีกทอดหนึ่ง
 
ระหว่างการถามค้านทรงธรรมแถลงต่อศาลว่าขอให้ทนายจำเลยซักพยานปากนี้โดยละเอียดเนื่องจากคำให้การของพยานปากนี้เนื่องจากมีความสำคัญต่อการพิสูจน์ความบริสุทธิ์พวกตน
 
ทนายจำเลยถามร.ต.ท.คำสอนว่า ขณะที่ร.ต.ท.คำสอนไปถึงที่เกิดเหตุ จิรวัฒน์และทรงธรรมยังไม่ถูกควบคุมตัวหรือแจ้งข้อกล่าวหา และกรณีที่ร.ต.ท.คำสอนโดยสารไปกับรถของจิรวัฒน์ เป็นการขอติดรถไปใช่หรือไม่ ร.ต.ท.คำสอนตอบว่าเมื่อตนไปถึงที่เกิดเหตุ ร.ต.อ.ณรงศักดิ์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนไปถึงที่เกิดเหตุก่อนตนแล้วและเป็นผู้ควบคุมตัวจิรวัฒน์และทรงธรรม โดยตนเป็นผู้แจ้งสิทธิกับทั้งสอง

สำหรับการโดยสารรถของจิรวัฒน์ ร.ต.ท.คำสอนเบิกความว่าเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้จำเลย แต่ขณะนั้นได้ควบคุมตัวทั้งสองไว้แล้ว ทนายจำเลยถามย้ำเรื่องการโดยสารรถของจิรวัฒน์อีกครั้ง ร.ต.ท.คำสอนตอบว่าไม่ได้ขอโดยสารแต่เป็นการควบคุมตัว ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการแถลงต่อศาลว่าไม่ติดใจถามติงพยานปากนี้ ศาลจึงสั่งให้สืบพยานปากที่ 11ต่อทันที
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 11 ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ วงศ์สิงห์ ผู้แจ้งข้อกล่าวหากับจำเลยที่สองและสาม
 
ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์เบิกความว่าขณะเกิดเหตุรับราชการตำรวจในตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสน.บางนา มีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดในคดีอาญา เกี่ยวกับคดีนี้ ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์เบิกความว่าในวันเกิดเหตุ 7 สิงหาคม 2559 ตนได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ดูแลความสงบในพื้นที่เขตบางนา เป็นชุดสนับสนุนชุดเคลื่อนที่เร็ว
 
ในเวลาประมาณ 12.00น. ได้รับแจ้งเหตุจากศูนย์วิทยุบางนา ว่ามีประชาชนฉีกบัตรลงคะแนน ที่หน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดหน่วยที่สาม ซึ่งตั้งอยู่ในสำนักงานเขตบางนา 
 
ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์เบิกความต่อว่าเมื่อได้รับแจ้งเหตุตนพร้อมพวกได้เดินทางไปที่สำนักงานเขตบางนา โดยไปถึงที่เกิดเหตุก่อนชุดเคลื่อนที่เร็ว เมื่อไปถึงด.ต.สมพร เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียงที่สามแจ้งกับตนว่า ปิยรัฐคือผู้ที่ฉีกบัตรลงคะแนนพร้อมทั้งส่งมอบหลักฐานเป็นบัตรลงคะแนนที่ถูกฉีกใส่อยู่ในถุงพลาสติกใส
 
ด.ต.สมพรเล่าให้ตนฟังด้วยว่ามีชายสองคนคือจิรวัฒน์จำเลยที่สองและทรงธรรมจำเลยที่สามถ่ายภาพเหตุการณ์ด้วย รวมทั้งได้แจ้งให้ดำเนินคดีกับปิยรัฐ จิรวัฒน์และทรงธรรม  อัยการถามว่าร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์พบกับจำเลยทั้งสามบริเวณใด ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ตอบว่าพบจำเลยทั้งสามที่บริเวณมุมตึกสำนักงานเขตบางนา ด้านนอกหน่วยออกเสียง
 
อัยการถามร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ต่อว่าได้พูดคุยกับปิยรัฐหรือไม่ ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ตอบว่าได้สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งปิยรัฐรับกับตนว่าเป็นผู้ฉีกบัตรจริง ซึ่งตนได้แจ้งข้อหาทำลายเอกสารกับปิยรัฐ ส่วนจิรวัฒน์และทรงธรรมแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันก่อความวุ่นวาย พร้อมทั้งแจ้งสิทธิกับทั้งสาม
 
อัยการถามว่าทางเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจำเลยไปสน.บางนาอย่างไร ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ตอบว่าหลังตนมาถึงที่เกิดเหตุไม่นาน ชุดเคลื่อนที่เร็วซึ่งมีร.ต.ท.คำสอน ไมสุวรรณอยู่ด้วยก็ตามมาถึง ตนกับพวกควบคุมตัวปิยรัฐไปที่สน.บางนา ส่วนจิรวัฒน์และทรงธรรมร.ต.ท.คำสอนกับพวกเป็นผู้ควบคุมตัวไปแต่จะไปรถคันใด ไม่ทราบ
 
อัยการนำบันทึกการจับกุมมาให้ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ดูและถามว่าร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ได้ลงลายมือชื่อไว้หรือไม่ ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์รับว่าลงไว้ด้วยและตนเองเป็นผู้จัดทำบันทึกการจับกุมนี้ อัยการถามว่าขณะทำการจับกุมเจ้าหน้าที่มีเอกสารอะไรแสดงต่อจำเลยหรือไม่ ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ตอบว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซึ่งหน้าจึงไม่ต้องขอหมายศาล
 
อัยการถามเรื่องข้อหาที่มีการแจ้งกับปิยรัฐซ้ำอีกครั้งหนึ่้ง ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ตอบว่ามีข้อหาทำลายบัตรประชามติตามพ.ร.บ.ประชามติฯและข้อหาทำลายเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา อัยการถามว่าตัวปิยรัฐให้การว่าอย่างไรและได้ลงชื่อในเอกสารของเจ้าหน้าที่หรือไม่ ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ตอบว่าปิยรัฐรับว่าฉีกบัตรลงคะแนนจริง แต่ปฏิเสธที่จะลงชื่อในเอกสาร
 
อัยการถามร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ว่าทราบเรื่องการกระทำของจิรวัฒน์และทรงธรรมได้อย่างไร ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ตอบว่าทราบจากด.ต.สมพร จึงได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียง แต่ทั้งสองปฏิเสธที่จะลงชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์เบิกความต่อว่าตนและด.ต.สมพรเป็นผู้อ่านพฤติการณ์และบันทึกการจับกุมให้จิรวัฒน์และทรงธรรมฟัง อัยการถามว่าขณะนั้นทั้งสองมีทนายหรือไม่ ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ตอบว่าจำไม่ได้ 
 
อัยการถามว่า ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ทราบหรือไม่ว่าจำเลยทั้งสามมาที่เกิดเหตุด้วยกันหรือรู้จักกันมาก่อนหรือไม่ ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ตอบว่าไม่ทราบ แต่เชื่อว่าทั้งสามน่าจะรู้จักกันมาก่อนดูจากพฤติการณ์ที่มีการแชร์เนื้อหาทางการเมืองร่วมกัน
 
อัยการถามร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ว่าทราบหรือไม่ว่ามีคลิปวิดีโอการฉีกบัตรเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์  ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ตอบว่าทราบว่ามีคลิปดังกล่าวโดยมีเจ้าหน้าที่นำมาให้ดู และเบิกความว่าตนเองไม่ได้เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสามมาก่อน
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่าร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์มาถึงจุดเกิดเหตุในเวลากี่โมง ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ตอบว่ามาถึงในเวลาประมาณบ่ายโมง ทนายจำเลยถามต่อว่ามาถึงก่อนหน้าหรือภายหลังชุดของร.ต.ท.คำสอนมากน้อยขนาดไหน ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ตอบว่ามาถึงภายหลังชุดของร.ต.ท.คำสอนไม่เกินหนึ่งนาที
 
ทนายจำเลยถามว่าเมื่อมาถึงที่เกิดเหตุจำเลยทั้งสามถูกควบคุมตัวแล้วหรือยัง ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ตอบว่าตามคำบอกของด.ต.สมพร ทั้งสามถูกควบคุมตัวแล้ว ทนายจำเลยถามว่าใครเป็นผู้แจ้งสิทธิกับจำเลย ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ตอบว่าตนเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาปิยรัฐ ส่วนร.ต.ท.คำสอนเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาจิรวัฒน์และทรงธรรม แต่ตามบันทึกการจับกุม จารุวรรณซึ่งเป็นประธานหน่วยออกเสียงเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา
 
ทนายจำเลยถามว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้ลงชื่อในบันทึกการจับกุมใช่หรือไม่  ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ตอบว่าไม่ได้ลงซึ่งก็เป็นสิทธิของผู้ต้องหา  ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ขออนุญาตศาลเบิกความแก้ไขว่าด.ต.สมพรเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาจำเลยทั้งสาม ส่วนตนคือผู้แจ้งสิทธิกับจำเลยทั้งสาม
 
ร.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ขออนุญาตย้อนไปเบิกความเรื่องเวลามาถึงที่เกิดเหตุใหม่ด้วยว่าเป็นเวลา 12.26 น. ตามเวลาที่ปรากฎบนภาพถ่ายที่เป็นหลักฐานในคดีนี้
 
หลังเสร็จการสืบพยานปากนี้ ศาลสั่งให้ไปสืบพยานต่อในวันถัดไปเนื่องจากพยานโจทก์ที่จะมาเบิกความในวันนี้หมดแล้ว 
 
16 มิถุนายน 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์

ศาลเริ่มการสืบพยานในเวลาประมาณ 10.00 น.

สืบพยานโจทก์ปากที่ 12 ร.ต.อ. ณัฐวัฒน์ ทารักษ์ รองสารวัตรสอบสวน ช่วยงานราชการสอบสวน สน.บางนา

ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เบิกความว่าขณะเกิดเหตุรับราชการตำรวจที่สน.บางนา ในตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งเป็นหมายเลขของจำเลยทั้งสามคนในคดีนี้ รวมทั้งหมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์ (IMEI) ของโทรศัพท์ทั้งสามเครื่องด้วย

จากการตรวจสอบกับเอไอเอสซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายของทั้งสามหมายเลขพบว่า โทรศัพท์ทั้งสามหมายเลขเป็นของจำเลยทั้งสามจริง อัยการขอให้ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์ชี้ตัวจำเลยทั้งสามในคดีนี้ ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์หันมาชี้ตัวจำเลยทั้งสามคน

สำหรับข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์ทั้งสามหมายเลขในวันเกิดเหตุ ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์เบิกความว่าก่อนเกิดเหตุปิยรัฐโทรไปหาจิรวัฒน์สี่ครั้ง โดยตำแหน่งการใช้งานโทรศัพท์เริ่มจากพื้นที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการเคลื่อนที่ไปยังหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่สาม เขตบางนา

สำหรับตำแหน่งการใช้งานของจิรวัฒน์ มีการติดต่อจากตลาดสดปู่เจ้าสำโรง จ.สมุทรปราการ มุ่งหน้าไปยังหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดหน่วยที่สาม ส่วนตำแหน่งการใช้โทรศัพท์ของทรงธรรมเคลื่อนที่จากหมู่บ้านนภาลัย เขตบางนา ไปที่หน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด หน่วยที่สาม เขตบางนา

เมื่อทำการเชื่อมโยงข้อมูลจึงพบว่าหมายเลขโทรศัพท์ทั้งสามหมายเลขน่าจะเกี่ยวข้องกันและมีลักษณะเป็นการนัดกันเนื่องจากมีลักษณะเป็นการเริ่มต้นจากคนละจุดแล้วมุ่งหน้าสู่สถานที่เดียวกัน

ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์เบิกความด้วยว่าเมื่อใช้โปรแกรมค้นหาความเชื่อมโยงไอทู (I2) วิเคราะห์การใช้โทรศัพท์ของจำเลยทั้งสาม พบว่าระหว่างวันที่ 1 – 18 สิงหาคม 2559 หมายเลขโทรศัพท์ทั้งสามหมายเลขมีการติดต่อกันตลอด

มีรายละเอียดคือ ปิยรัฐโทรออกหาทรงธรรม 11 ครั้ง ทรงธรรมโทรหาปิยรัฐจำนวนห้าครั้ง ปิยรัฐโทรออกหาจิรวัฒน์ 14 ครั้ง ส่วนจิรวัฒน์โทรออกหาปิยรัฐจำนวนเจ็ดครั้ง

ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์เบิกความด้วยว่าข้อมูลการใช้งานที่เบิกความต่อศาลนี้ปรากฎตามรายงานการสืบสวนลงวันที่ 21 สิงหาคม 2559 อัยการแถลงหมดคำถาม

ทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามร.ต.อ. ณัฐวัฒน์ว่า ก่อนหน้านี้เคยตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ในคดีอื่นๆหรือไม่ ร.ต.อ. ณัฐวัฒน์ตอบว่าเคย

ทนายจำเลยถามต่อว่าที่ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์ชี้ตัวจำเลยทั้งร.ต.อ.ณัฐวัฒน์เคยเห็นทั้งสามเมื่อใด ร.ต.อ. ณัฐวัฒน์ตอบว่าเคยเห็นหน้าทั้งสามขณะที่ถูกควบคุมตัวที่ห้องสืบสวนที่สน.บางนาในวันที่ 7สิงหาคม 2559

ทนายจำเลยถามร.ต.อ.ณัฐวัฒน์ว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ของจำเลยทั้งสามที่เบิกความตอบอัยการก่อนหน้านี้ได้รับข้อมูลมาจากที่ใด ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์ตอบว่า ได้มาจากเอกสารการใช้โทรศัพท์ตามที่ได้เบิกความไว้ ซึ่งการตรวจดังกล่าวตนเองไม่ได้เป็นทำการผู้ตรวจสอบจากโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสามโดยตรง และข้อมูลที่ตรวจสอบมามีเฉพาะการติดต่อระหว่างหมายเลขของจำเลยทั้งสามเท่านั้น

ทนายจำเลยให้ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์อธิบายถึงตำแหน่งที่ระบุในข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยทั้งสาม ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์เบิกความกับอัยการก่อนหน้านี้ ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์อธิบายว่าตามเอกสาร ตำแหน่งที่เบิกความไปเป็นตำแหน่งของเสาที่ถ่ายทอดสัญญาณโทรศัพท์ที่ใกล้ที่สุด แต่ไม่ใช่ตำแหน่งที่ผู้ใช้โทรศัพท์ยืนอยู่จริงๆ

หากเสาสัญญาณของผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์หนาแน่นหรือเต็ม จะต้องใช้เสาสัญญาณของเครือข่ายอื่นที่ใกล้ที่สุด ในกรณีนี้เสาสัญญาณของของเครือข่ายอื่นจะต้องส่งสัญญาณกลับมาที่เสาสัญญาณที่เป็นเครือข่ายของผู้ใช้โทรศัพท์อีกครั้ง ซึ่งการระบุตำแหน่งในลักษณะนี้สามารถระบุตำแหน่งผู้ใช้ได้อย่างกว้างๆเท่านั้น

ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์เบิกความแก้ไขรายละเอียดในเอกสารการสอบสวนที่ระบุว่าในวันเกิดเหตุ ปิยรัฐโทรออกไปหาทรงธรรมทั้งหมดห้าครั้ง ว่าที่จริงแล้วโทรออกเพียงสี่ครั้งเท่านั้น โดยที่ขอแก้ไขเป็นเพราะตนเองพิมพ์เอกสารผิด

ทนายจำเลยถามต่อว่าในวันเกิดเหตุปิยรัฐใช้งานโทรศัพท์ไปยังปลายสายอื่นๆจำนวน 32 ครั้ง ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์ได้ตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์อื่นๆหรือไม่เช่น ร.ต.อ. ณัฐวัฒน์ตอบว่า ตนไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวและไม่ได้ตรวจสอบการใช้งานโทรศัพท์ของจิรวัฒน์และทรงธรรมด้วยว่าวันเกิดเหตุใช้งานโทรศัพท์ไปทั้งหมดกี่ครั้ง รวมทั้งไม่ได้เป็นผู้เกี่ยวข้องในการตรวจสอบการใช้งานโทรศัพท์ระหว่างจำเลยทั้งสามกับบุคคลอื่น

ทนายจำเลยขอให้ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์อธิบายการทำงานของโปรแกรมไอทู ร.ต.อ. ณัฐวัฒน์ตอบว่าโปรแกรมไอทูเป็นโปรแกรมที่สามารถหาความเชื่อมโยงของหมายเลขโทรศัพท์ โดยจะต้องใส่หมายเลขโทรศัพท์ที่ต้องการตรวจสอบลงไปในเครื่อง สำหรับระยะเวลาการประมวลผลจะขึ้นอยู่กับจำนวนหมายเลขโทรศัพท์ที่ต้องการตรวจสอบ

ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์เบิกความด้วยว่าข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสามระหว่างวันที่ 1-18 สิงหาคม 2559 ที่เบิกความไปนั้น ตนเองไม่ได้เป็นผู้ตรวจสอบเอง เป็นการเบิกความตามเอกสารซึ่งไม่ทราบว่าทั้งสามคนจะมีการใช้โทรศัพท์ติดต่อบุคคลอื่นหรือไม่เพราะตนไม่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการตรวจสอบ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

อัยการถามติง

อัยการถามว่าข้อมูลที่ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์ได้มามีลักษณะใด ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์ตอบว่า ตนได้รับข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์เป็นเอกสารและไฟล์เอกเซล(Excel) อัยการถามต่อว่าเสาสัญญาณแต่ละเสาครอบคลุมพื้นที่เท่าไหร่ ร.ต.อ. ณัฐวัฒน์ตอบว่าไม่ทราบ อัยการแถลงหมดคำถาม

เนื่องจากการสืบพยานปากนี้เสร็จในเวลาใกล้เที่ยง ศาลจึงสั่งให้ไปสืบพยานปากที่เหลือต่อในช่วงบ่ายต่อ โดยศาลเริ่มสืบพยานช่วงบ่ายในเวลาประมาณ 13.00 น.

สืบพยานปากที่สิบสาม พ.ต.ต.อภิโชค ขนบดี พนักงานสารวัตรสืบสวน สน.บางนา
 
พ.ต.ต.อภิโชค เบิกความว่าขณะเกิดเหตุรับราชการในตำแหน่งสารวัตรสืบสวน สน.บางนา เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสามในคดีนี้ เนื่องจากมีคลิปวีดีโอเหตุการณ์ขณะที่ปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่ง ฉีกบัตรลงคะแนนประชามติที่หน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดหน่วยที่สาม เขตบางนา เผยแพร่ในเฟซบุ๊กชื่อ “ตั้ม จิรวัฒน์” ซึ่งเป็นของจิรวัฒน์ จำเลยที่สองในคดีนี้

จากการตรวจสอบพบว่าเป็นเฟซบุ๊กของจิรวัฒน์จริง และมีการติดป้ายชื่อไปยังเฟซบุ๊กของปิยรัฐและเฟซบุ๊กของทรงธรรมจำเลยที่สามในคดีนี้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง การแสดงออกทางการเมือง และมีข้อความว่า “มารอเพื่อน” ในวันออกเสียงประชามติ 
 
พ.ต.ต.อภิโชคเบิกความต่อว่า นอกจากทำการตรวจสอบการโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับเหตุแห่งคดีนี้แล้วยังได้ทำการตรวจสอบการใช้เฟซบุ๊กของจิรวัฒน์?ย้อนหลังไปอีกห้าเดือนและพบว่าจำเลยทั้งสามมีการแสดงออกทางการเมืองร่วมกัน แต่ส่วนมากจะปรากฏในเฟซบุ๊กของจิรวัฒน์และติดป้ายชื่อไปยังเฟซบุ๊กของปิยรัฐและทรงธรรม
 
พ.ต.ต.อภิโชคเบิกความว่าทราบว่าเฟซบุ๊กชื่อ “ตั้ม จิรวัฒน์” เป็นของจิรวัฒน์จริงเนื่องจากเมื่อใช้เบอร์โทรศัพท์ที่จิรวัฒน์ให้ไว้ไปค้นหาในช่องสืบค้นของเว็บไซต์เฟซบุ๊กก็พบกับบัญชีเฟซบุ๊กข้างต้น ในที่เสิชเฟซบุ๊กและพบเฟซบุ๊กดังกล่าว และที่ทราบว่าเฟซบุ๊กที่ทำการติดป้ายชื่อ(Tag)  ไปยังเฟซบุ๊กของปิยรัฐและทรงธรรม โดยเฟซบุ๊กของจิรวัฒน์มีการถ่ายทอดสดและเห็นภาพ ประกอบกับตนเคยเห็นจำเลยทั้งสามมาก่อนแล้วหลังจากเกิดเหตุ ที่ สน.บางนา จึงเชื่อว่าเฟซบุ๊กทั้งสามรายชื่อเป็นของจำเลยทั้งสามจริง
 
พ.ต.ต.อภิโชคเบิกความว่า ในวันเกิดปรากฎข้อความว่า “มารอทำข่าวเพื่อนๆครัช” บนเฟซบุ๊กของจิรวัฒน์และในวันเดียวกันก็มีการโพสต์คลิปขณะปิยรัฐกำลังฉีกบัตรลงคะแนนประชามติ โดยมีเฟซบุ๊กสำนักข่าวมติชนได้แบ่งปันคลิปดังกล่าวไปบนเฟซบุ๊กเพจของตนเองและอ้างอิงว่าคลิปดังกล่าวแบ่งปันมาจากเฟซบุ๊กของจิรวัฒน์ ต่อมาเมื่อปิยรัฐถูกจับจึงมีการลบคลิปดังกล่าว
 
พ.ต.ต.อภิโชคเบิกความว่า หลังเกิดเหตุเฟซบุ๊กของจิรวัฒน์ได้แบ่งปันข้อมูลแถลงการณ์ของปิยรัฐที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการฉีกบัตรลงคะแนนประชามติ ขณะที่เฟซบุ๊กของทรงธรรมก็มีการกดแบ่งปันคลิปวิดีโอขณะปิยรัฐฉีกบัตรไปด้วยเช่นกัน จึงเชื่อว่าจำเลยทั้งสามรู้จักกันมาก่อนและมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกัน
 
ทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายจำเลยถาม พ.ต.ต.อภิโชค ว่า ก่อนได้รับมอบหมายให้สอบสวนคดีนี้เคยตรวจสอบและเป็นเพื่อนกับจำเลยทั้งสามบนเฟซบุีกมาก่อนหรือไม่ พ.ต.ต.อภิโชค ตอบว่าไม่เคย ทนายจำเลยถามต่อว่าที่เห็นโพสต์ของจิรวัฒน์เป็นเพราะเฟซบุ๊กดังกล่าวเปิดสาธารณะใช่หรือไม่ พ.ต.ต.อภิโชครับว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าลักษณะเช่นนั้นจิรวัฒน์จึงตั้งใจให้สาธารณะชนดูไม่ใช่แค่ปิยรัฐหรือทรงธรรมเท่านั้นใช่หรือไม่ พ.ต.ต.อภิโชค ตอบว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่า คลิปวิดีโอที่จิรวัฒน์เป็นผู้โพสต์จะไม่ปรากฎบนหน้าเฟซบุ๊กของปิยรัฐหรือทรงธรรม จนกว่าทั้งสองจะได้กดอนุญาตให้ติดป้ายชื่อใช่หรือไม่ พ.ต.ต.อภิโชคตอบว่า ใช่
 
ทนายจำเลยถามว่า จำเลยทั้งสามมีการร่วมกันทำกิจกรรมการเมืองร่วมกันกี่ครั้ง พ.ต.ต.อภิโชคตอบว่า ตนไม่ทราบว่ากี่ครั้งแต่น่าจะมากกว่าหนึ่งครั้ง โดยตนทราบว่าทั้งสามทำกิจกรรมร่วมกันจากการตรวจสอบเฟซบุ๊กเท่านั้น เท่าที่ตรวจสอบเห็นว่าจำเลยทั้งสามมีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในทางตรงกันข้ามกับรัฐบาล
 
ทนายจำเลยถามว่า ทราบหรือไม่ว่า จำเลยทั้งสามไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจค้าส่งพลาสติก พ.ต.ต.อภิโชคตอบว่า ตนไม่ได้ตรวจสอบว่าจำเลยทั้งสามเคยมีความผิดเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมาก่อนและไม่ทราบว่าจำเลยทั้งสามเป็นหุ้นส่วนประกอบธุรกิจค้าส่งพลาสติก
 
ทนายจำเลยถามว่า ทราบหรือไม่ว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสามนัดกันไปพบลูกค้า พ.ต.ต.อภิโชคตอบว่า ตนเปิดในเฟซบุ๊ก ของจำเลยทั้งสามและไม่พบว่านัดแนะกัน ทนายจำเลยถามต่อว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าทั้งสามอาจจะนัดกันไปพบลูกค้าแต่ไม่ได้เปิดสาธารณะไว้ พ.ต.ต.อภิโชค ตอบว่าไม่ทราบ

สืบพยานโจทก์ปากที่ 14 พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ พลิคามินทร์ รองผู้กำกับการสอบสวน สน.บางนา

พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์เบิกความว่าขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนเวร มีหน้าที่สอบสวนคดีอาญาและคดีจราจร ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 12.00 น. ได้ยินเสียงเรียกวิทยุว่า มีการฉีกบัตรลงคะแนนประชามติ จากนั้นมีเจ้าหน้าที่นำตัวปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่ง พร้อมบันทึกการจับกุมเข้ามาที่สน.บางนา 

อัยการถามพ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ว่า ในบันทึกการจับกุมมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ตอบว่า บันทึกการจับกุมระบุว่าปิยรัฐถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในข้อหาทำลายบัตรออกเสียงประชามติ ข้อหาทำให้เสียทรัพย์และทำลายซึ่งเอกสารของผู้อื่น โดยประการที่น่าจะเกิดตวามเสียหาย เมื่อตนได้รับมอบตัวปิยรัฐจึงได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้ทราบ และสอบข้อเท็จจริงกับปิยรัฐ แต่ปิยรัฐปฏิเสธที่จะให้การ

อัยการขอให้พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์เล่าเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุต่อ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์เบิกความต่อว่าในวันเดียวกันมีการจับกุมจิรวัฒน์ จำเลยที่สองและทรงธรรม จำเลยที่สาม ในข้อกล่าวหาร่วมกันสร้างความวุ่นวาย หรือทำให้เกิดอุปสรรคในระหว่างเวลาการออกเสียง หลังได้รับตัวทั้งสองตนได้แจ้งสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาและแจ้งข้อกล่าวหา จิรวัฒน์และทรงธรรมปฏิเสธที่จะให้การเช่นเดียวกับปิยรัฐ 
 
พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์เบิกความต่อว่า บันทึกการจับกุมที่เจ้าหน้าที่นำมาส่งมอบให้ตนพร้อมกับจำเลยทั้งสองระบุว่ามีโทรศัพท์มือถือสองเครื่อง
 
เป็นของกลางด้วย แต่เจ้าหน้าที่ผู้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไม่ได้มอบโทรศัพท์ดังกล่าวให้กับตน ตนจึงสอบกับจำเลยทั้งสองซึ่งทรงธรรมได้ส่งมอบโทรศัพท์ให้ตนในวันเกิดเหตุเลยส่วนจิรวัฒน์นำมามอบให้ในวันที่ 9 สิงหาคม 2560

พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์เบิกความด้วยว่าเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่ผู้บังคับบัญชาให้ความสนใจ จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อทำการสอบสวนและความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
 
สำหรับการสอบปากคำพยาน พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์เบิกความว่าในวันเกิดเหตุได้สอบปากคำจารุวรรณ ประธานหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดหน่วยที่สามซึ่งกล่าวหาปิยรัฐว่า

ปิยรัฐซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในหน่วยดังกล่าวได้มาแสดงตัวรับบัตร แต่ไม่ได้กากบาทลงคะแนนตามปกติแต่กลับเดินอ้อมคูหาลงคะแนนมายืนหน้าหีบบัตรก่อนจะทำการฉีกบัตรโดยมีจิรวัฒน์และทรงธรรมถ่ายวิดีโอไว้และเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จารุวรรณยังมอบหนังสือคำสั่งแต่งตั้งเป็นประธานหน่วยออกเสียงให้กับตนด้วย  
 
พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์เบิกความต่อว่า หลังสอบปากคำจารุวรรณในวันเกิดเหตุผู้บังคับบัญชาก็สั่งให้ตนสอบปากคำจารุวรรณเพิ่มเติม จึงได้เรียกตัวจารุวรรณมาสอบสวนอีกครั้งหนึ่งซึ่งจารุวรรณได้นำแผนผังของหน่วยออกเสียงของกกต.มามอบให้ด้วยและบอกกับตนว่าการจัดหน่วยออกเสียงที่เกิดเหตุคล้ายกับการจัดหน่วยออกเสียงตามแผนผังของกกต.แบบที่สองมากที่สุดแต่ไม่เหมือนเสียทีเดียวเนื่องจากต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบตามข้อจำกัดของสถานที่จริง  

นอกจากจารุวรรณ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์เบิกความว่ามีการสอบสวนพยานปากอื่นๆด้วย ได้แก่ด.ต. สมพร เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่สามซึ่งได้ให้การยืนยันตัวบุคคลที่ถูกจับกุมซึ่งตนได้ให้ด.ต.สมพรลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย  
 
เกี่ยวกับการจัดทำแผนจำลองเหตุการณ์วันเกิดเหตุ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์เบิกความว่าได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้จำลองเหตุการณ์วันเกิดเหตุในสถานที่จริง ซึ่งตนได้ลงพื้นที่เองและบันทึกภาพการจำลองเหตุการณ์วันเกิดเหตุ

ในการทำแผนได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงเป็นจำเลยทั้งสาม โดยการจำลองเหตุการณ์เริ่มตั้งแต่ก่อนจนถึงตอนที่ปิยรัฐก่อเหตุและจิรวัฒน์กับทรงธรรมบันทึกภาพเหตุการณ์ โดยในการทำแผนจารุวรรณในฐานะประธานหน่วยออกเสียง ด.ต.สมพรในฐานะผู้ทำการจับกุมปิยรัฐและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆได้ลงลายมือชื่อกำกับแผนจำลองเหตุการณ์วันเกิดเหตุไว้ด้วย
 
นอกจากการทำแผนจำลองเหตุการณ์ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์เบิกความว่าได้มีการรวบรวมหลักฐานจากแผ่นซีดีภาพเคลื่อนไหวขณะเกิดเหตุซึ่งได้มีการบันทึกภาพหน้าจอเป็นภาพรวมเก้าภาพ นอกจากนี้ยังมีภาพที่บันทึกจากการจำลองเหตุการณ์ขณะที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอีกสองภาพด้วย 

พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์เบิกต่อว่า หลังเสร็จสิ้นการรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น ได้มีการรวบรวมพยานเอกสารจากบริษัทเอไอเอสซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสาม เพื่อตรวจสอบว่าตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ จำเลยทั้งสามมีพฤติการณ์การติดต่อกันอย่างไร และได้สอบสวนศรัณย์ ผู้จัดการฝ่ายกฎหมายของเอไอเอสเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงของการใช้งานโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสามด้วย             
 
หลังรวบรวมพยานบุคคล พยานเอกสารและพยานวัตถุ พ.ต.ท.ศักดิ์พัฒน์เห็นว่าพยานหลักฐานมีน้ำหนัก จึงมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งสามในข้อหาร่วมกันก่อความวุ่นวายในเขตออกเสียงหรือรบกวนเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียงในเวลาการออกเสียงตามมาตรา 60(9) ของพ.ร.บ.ประชามติฯ ส่วนปิยรัฐซึ่งเป็นผู้ฉีกบัตรได้สั่งฟ้องในข้อหาทำลายบัตรออกเสียงตามมาตรา 59 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ และทำให้เสียหายและทำลายซึ่งเอกสารตามมาตรา 188 ของประมวลอาญาเพิ่มเติมด้วย อัยการแถลงหมดคำถาม

ของพ.ร.บ.ประชามติฯ ส่วนปิยรัฐซึ่งเป็นผู้ฉีกบัตรได้สั่งฟ้องในข้อหาทำลายบัตรออกเสียงตามมาตรา 59 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ และทำให้เสียหายและทำลายซึ่งเอกสารตามมาตรา 188 ของประมวลอาญาเพิ่มเติมด้วย อัยการแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามพ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ว่า พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์อยู่ร่วมในการสอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ทุกปากหรือไม่ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ตอบว่า ตนเป็นผู้สอบสวนกรรมการหน่วยออกเสียงและผู้อำนวยการหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่สาม แต่จะครบทุกคนหรือไม่ ไม่แน่ใจ นอกจากนั้นตนยังได้ทำการสอบสวน ด.ต.วิรัตน์ชัย และพ.ต.ท.อภิโชค ไว้ด้วย
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า ตามบันทึกการจับกุม จิรวัฒน์และทรงธรรมมาถึงที่สน.บางนาภายหลังปิยรัฐใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ตอบว่า ตามบันทึกการจับกุมจิรวัฒน์และทรงธรรมถูกส่งตัวมาในเวลา 20.00 น. ส่วนปิยรัฐมาถึงสน.ในเวลากี่โมงไม่แน่ใจทราบแต่เพียงว่ามาถึงก่อน 14.00 น. 
 
พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์เบิกความต่อว่า ตามบันทึกการจับกุมระบุว่าโทรศัพท์ของจิรวัฒน์และทรงธรรมเป็นของกลาง แต่ในความเป็นจริงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ส่งตัวจำเลยทั้งสองไม่ได้มอบโทรศัพท์ให้ตน การส่งมอบโทรศัพท์ของทรงธรรมในวันเกิดเหตุกับการส่งมอบโทรศัพท์ของจิรวัฒน์ในวันที่ 9 สิงหาคม ตนเป็นผู้บอกให้จำเลยนำมาส่งมอบเอง 
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าพ.ต.ท.ศักดิพัฒน์จำได้หรือไม่ว่า อมรินทร์ ผู้อำนวยการหน่วยออกเสียงที่เกิดเหตุได้มาให้ปากคำในชั้นสอบสวนหรือไม่ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ตอบว่าไม่แน่ใจ

ทนายจำเลยให้พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์อธิบายถึงคำให้การของจารุวรรณที่มีการกล่าวหาจิรวัฒน์และทรงธรรมเพิ่มเติมในภายหลัง พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ตอบว่า ตามคำให้การในครั้งแรกของจารุวรรณไม่ได้ให้การว่า จิรวัฒน์และทรงธรรมร่วมก่อความวุ่นวายกับปิยรัฐ จารุวรรณมาให้การเพิ่มเติมในภายหลังว่าทั้งสองเข้ามาถ่ายรูปหรือวิดีโอในหน่วยออกเสียง

ตามคำให้การ จารุวรรณไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเองและไม่ได้ระบุว่าได้รับคำบอกเล่ามาจากบุคคลที่สามคืออมรินทร์ ส่วนคณะกรรมการในหน่วยออกเสียงคนอื่นๆจะให้การว่า เป็นผู้เห็นว่าจิรวัฒน์และทรงธรรมเป็นผู้ถ่ายรูปหรือไม่ตนจำไม่ได้
 
ทนายจำเลยขออนุญาตศาลเปิดวิดีโอคลิปเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุให้พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ดู พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์เบิกความว่าภาพในคลิปที่ทนายจำเลยเปิดให้ดูเป็นภาพเหตุการณ์ที่ตนเคยดูจากคลิปของฝ่ายสืบสวนและจากภาพเห็นได้ว่า ทรงธรรมยืนอยู่ด้านหลังบอร์ด ส่วนผู้ถ่ายภาพจะยืนหลังบอร์ดหรือไม่ ไม่แน่ใจ 
 
พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์เบิกความต่อว่าตามภาพในคลิปวิดีโอไม่ปรากฏว่าจิรวัฒน์และทรงธรรมเข้าไปถ่ายภาพปิยรัฐในขณะที่กาบัตรออกเสียง ทนายจำเลยอธิบายว่า คลิปวิดีโอที่เปิดให้ดูเป็นเหตุที่จารุวรรณกล่าวหาว่า จิรวัฒน์และทรงธรรม ก่อความวุ่นวายร่วมกันกับปิยรัฐ และถามต่อว่า จุดที่จิรวัฒน์และทรงธรรมยืนอยู่นั้นขัดแย้งกับแผนจำลองเหตุการณ์อย่างไร พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ตอบว่า จากคลิปวิดีโอที่ดู จุดที่จิรวัฒน์และทรงธรรมยืนอยู่ไม่ตรงกับจุดระบุว่าเป็นตำแหน่งยืนของจิรวัฒน์และทรงธรรมตามแผนจำลองเหตุการณ์
 
พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ยืนยันด้วยว่าตามคำให้การของจารุวรรณ ไม่ปรากฎว่ามีความวุ่นวายนอกจากการฉีกบัตร และตามวิดีโอคลิปปรากฎว่าขณะเกิดเหตุประชาชนยังมาใช้สิทธิตามปกติและปิยรัฐก็ไม่ได้ขัดขืนการจับกุม
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า ตอนที่พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์สอบปากคำอัมรินทร์ได้มีการสอบในประเด็นอาณาเขตของหน่วยออกเสียงและประเด็นเส้นพลาสติกกั้นอาณาเขตสีเหลืองหรือไม่ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ตอบว่าไม่ได้สอบในเรื่องเส้นเหลือง

พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์เบิกความด้วยว่าการบรรยายภาพจำลองเหตุการณ์สองภาพที่เบิกความไปข้างต้นว่าเป็นภาพจำลองเหตุการณ์ขณะจับกุมจำเลยเป็นการบรรยายที่เกินความจริงโดยภาพดังกล่าวเป็นภาพที่จิรวัฒน์และทรงธรรมถูกเชิญออกไปจากหน่วยออกเสียง
 
ทนายจำเลยถามว่าในการตรวจสอบการใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสามที่ปรากฎว่ามีการติดต่อกันหลายครั้ง จำเลยทั้งสามประกอบธุรกิจร่วมกันการติดต่อหากันถือเป็นเรื่องปกติใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ตอบว่า ตนไม่ทราบว่าทั้งสามประกอบธุรกิจร่วมกันเพราะทั้งสามไม่ประสงค์ที่จะให้การในชั้นสอบสวน

สำหรับการติดต่อกันในเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสาม พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์เบิกความว่าทราบว่าเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสามคนมีลักษณะเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งหากดูตามเอกสารตรวจสอบการใช้งานเฟซบุ๊ก ตนเห็นจำเลยทั้งสามทำกิจกรรมทางการเมืองด้วยการสวมชุดนักโทษไปเดินที่สยามสแควร์เพียงครั้งเดียว
 
ทนายจำเลยถามว่า ถ้าหน่วยออกเสียงมีอาณาเขตตามเส้นขอบสีเหลือง จุดที่จิรวัฒน์และทรงธรรมยืนจะอยู่ภายนอกเขตหน่วยออกเสียงใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่า พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ได้ทำหนังสือไปสอบถามกกต.ว่า การถ่ายรูปหรือวิดีโอนอกหน่วยออกเสียงทำได้หรือไม่ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ตอบว่าไม่ได้ทำ
 
ทนายจำเลยให้พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ดูภาพพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ถ่ายรูป ขณะหย่อนบัตรออกเสียง และถามว่า การถ่ายรูปเช่นนี้ผิดหรือไม่ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ตอบว่า ลักษณะดังกล่าวอาจเป็นการถ่ายภาพเพื่อโปรโมทประชามติและตนไม่ทราบว่าเป็นการถ่ายภาพในวันออกเสียงประชามติครั้งนี้หรือไม่
 
ทนายจำเลยถามเกี่ยวกับภาพถ่ายพล.อ.ประยุทธต่อแต่พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ไม่ประสงค์จะตอบคำถามในประเด็นนี้ ศาลบอกทนายจำเลยว่า ให้ถามประเด็นอื่นต่อ ทนายจำเลยชี้แจงตอบศาลว่าที่ต้องถามเปรียบเทียบเพราะต้องการจะแสดงให้เห็นว่าคนทุกคนเท่ากัน การดำเนินคดีตามกฏหมายต้องเป็นไปอย่างเสมอกัน

ศาลตั้งข้อสังเกตว่าพยานน่าจะไม่ประสงค์จะตอบคำถามในประเด็นนี้เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานในอนาคต ทนายจำเลยตอบศาลว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพของหัวหน้าคสช. ทำไมคนหนึ่งทำไม่ผิด อีกคนหนึ่งทำถึงผิด ศาลตอบทนายจำเลยว่า หากต้องการถามในประเด็นนี้ศาลจะบันทึกให้ว่า พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ไม่ขอตอบ ทนายจำเลยตอบว่า ไม่ประสงค์จะถามต่อ
 
ทนายจำเลยถามพ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ต่อว่าได้ตรวจสอบหรือไม่ว่าจิรวัฒน์และทรงธรรมเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงประชามติที่เกิดเหตุหรือเปล่า พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ตอบว่าได้สอบปากคำจารุวรรณในประเด็นนี้ แต่จารุวรรณตอบว่าไม่ทราบ ตนจึงไม่ได้สอบสวนประเด็นนี้เพิ่มเติม 

ทนายจำเลยถามต่อว่า คนที่มีสิทธิออกเสียงก็มีสิทธิเข้าไปในหน่วยออกเสียงใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ตอบว่า ถ้าหากทั้งสองมีสิทธิออกเสียงก็จะสามารถเข้าไปที่หน่วยออกเสียงได้ แต่ต้องเป็นหน่วยที่ตนมีรายชื่อ
 
ทนายจำเลยให้พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ดูเอกสารแสดงสิทธิว่าทรงธรรมเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่อยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด เขตบางนาแล้วถามพ.ต.ท.ศักดิ์พัฒน์ว่าตามเอกสารนี้ทรงธรรมเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด เขตบานาใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ศักดิ์พัฒน์รับว่าใช่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบอัยการถามติง
 
อัยการถามว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถถ่ายภาพในหน่วยออกเสียงได้หรือไม่ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ตอบว่าผู้มีสิทธิออกเสียงแม้จะเข้าไปในหน่วยออกเสียงได้ก็ไม่สามารถถ่ายภาพภายในหน่วยออกเสียงได้ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ยืนยันกับอัยการด้วยว่าการถ่ายภาพหรือวิดีโอเป็นส่วนหนึ่งของการก่อความวุ่นวาย
 
อัยการถามพ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ถึงสาเหตุที่ไม่ทำหนังสือสอบถามถึงกกต.เรื่องความผิดในการถ่ายภาพ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ตอบว่าตนเชื่อว่าจารุวรรณในฐานะประธานหน่วยทราบถึงข้อกำหนดและระเบียบต่างๆอยู่แล้วจึงไม่ได้สอบถาม
 
อัยการแถลงต่อศาลว่ามีคำถามบางส่วนตกหล่นขออนุญาตสอบถามเพิ่มเติม ศาลอนุญาต อัยการให้พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ ดูบันทึกประจำวัน ซึ่งพ.ต.ท.ศักดิพัฒน์เบิกว่าในบันทึกดังกล่าวระบุคำให้การของจารุวรรณ และบันทึกว่ามีการจับกุมจิรวัฒน์และทรงธรรมในเวลา 20.00 น.และระบุถึงการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม
 
ทนายจำเลยแถลงขอศาลถามค้านในประเด็นที่อัยการพึ่งถามเพิ่มเติมโดยถามว่า ตอนหนึ่งของบันทึกประจำวันมีข้อความระบุว่ามีเหตุทำลายบัตรเลือกตั้ง กระทำการก้าวร้าวและมีการขีดฆ่า พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ตอบว่าตามบันทึกเป็นเช่นนั้นแต่ในบันทึกฉบับดังกล่าวตนไม่ได้ลงชื่อและไม่ทราบว่าใครเป็นคนขีดฆ่าข้อความดังกล่าว 
 
อัยการแถลงหมดพยาน ศาลนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 13 กรกฎาคม 8 สิงหาคมและ 22 สิงหาคม 2560
 
13 กรกฎาคม 2560

นัดสืบพยานจำเลย

ศาลจังหวัดพระโขนงนัดสืบพยานจำเลย โดยนัดนี้เป็นนัดที่ศาลนัดเพิ่มเติมเนื่องจากวันที่ศาลนัดไว้เดิมการสืบพยานโจทก์ยังไม่แล้วเสร็จ ศาลจึงให้สืบพยานโจทก์ต่อในนัดของจำเลยแล้วนัดสืบพยานจำเลยในวันนี้แทน

ในนัดนี้ทนายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความต่อศาลรวมสามปากได้แก่จำเลยทั้งสามเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง

สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง ปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่งเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง

ปิยรัฐเบิกความว่า ประกอบอาชีพเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจสังกัดการไฟฟ้านครหลวงและประกอบธุรกิจส่วนตัว สำหรับประวัติด้านการศึกษา ปิยรัฐเบิกความว่าเขาสำเร็จศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือและกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับการทำงานด้านสังคม ปิยรัฐเบิกความว่าขณะศึกษาระดับปริญญาตรีตนเองเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มปฏิรูปการรับน้อง (Anti-Sotus) และในปัจจุบันก็ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเพื่อเพื่อน ซึ่งมีภารกิจติดตามให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมือง

ทนายจำเลยถามถึงการประกอบธุรกิจของปิยรัฐ ปิยรัฐเบิกความว่าตนเองร่วมหุ้นกับเพื่อนประกอบธุรกิจขายสินค้าพลาสติกเบ็ดเตล็ด โดยจดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อเพื่อน วิสาหกิจเพื่อสังคม โดยบริษัทดังกล่าวตนเองเป็นผู้ถือหุ้น ส่วนทรงธรรมเป็นกรรมการ

ปิยรัฐเบิกความต่อว่าตนเองรู้จักกับจิรวัฒน์ จำเลยที่สองซึ่งประกอบอาชีพเป็นเซลล์ได้ประมาณหนึ่งปี ส่วนทรงธรรมจำเลยที่สามรู้จักหลังทำกิจกรรมร่วมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2557

ทนายจำเลยถามว่า ปิยรัฐมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เหตุใดจึงลงทะเบียนเพื่อออกเสียงนอกเขตจังหวัดที่เขตบางนา ปิยรัฐตอบว่า ตนเองทำงานและอาศัยอยู่ที่เขตบางนาจึงขอใช้สิทธินอกเขตจังหวัดเพื่อความสะดวก

ทนายจำเลยถามปิยรัฐว่า วันเกิดเหตุเดินทางมาที่หน่วยออกเสียงอย่างไร ปิยรัฐตอบว่าตนเองเดินทางมาที่หน่วยออกเสียงซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานเพียงคนเดียวด้วยรถจักรยานยนต์

ทนายจำเลยถามว่า ก่อนเดินทางมาปิยรัฐได้ติดต่อกับจิรวัฒน์และทรงธรรมหรือไม่ ปิยรัฐเบิกความว่าโทรศัพท์คุยกับจิรวัฒน์และทรงธรรม โดยเป็นการคุยเรื่องธุรกิจเนื่องจากตนเองนัดหมายกับจิรวัฒน์และทรงธรรมไว้ว่า หลังการออกเสียงประชามติแล้วจะไปคุยธุรกิจกันต่อ

ปิยรัฐเบิกความต่อว่า วันเกิดเหตุตนเองมาถึงสำนักงานเขตบางนาในเวลาประมาณ 11.30 น. เมื่อมาถึงก็เห็นจิรวัฒน์บริเวณลานจอดรถ จึงเข้าไปทักทายจิรวัฒน์อยู่ครู่หนึ่งแล้วแยกตัวไปตรวจรายชื่อที่เตนท์อำนวยการ หลังจากนั้นจึงเดินไปที่หน่วยออกเสียงที่สาม เมื่อไปถึงก็เห็นทรงธรรมกำลังตรวจรายชื่ออยู่ที่บอร์ด จึงทักทายกันตามปกติจากนั้นจึงเข้าไปในหน่วยออกเสียง รับบัตรและเดินอ้อมคูหาลงคะแนนโดยไม่ได้เข้าไปกาบัตรลงคะแนน

ทนายจำเลยให้ปิยรัฐดูบัตรลงคะแนนที่ถูกฉีกในสำนวนแล้วถามว่าใช่บัตรที่ปิยรัฐฉีกหรือไม่ ปิยรัฐรับรองว่าใช่ จากนั้นจึงเบิกความต่อว่า ก่อนจะทำการฉีกบัตรได้ชูบัตรขึ้นเหนือศีรษะจากนั้นพูดว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" และจึงฉีกบัตร ทนายจำเลยถามว่า ขณะฉีกบัตรปิยรัฐเห็นจิรวัฒน์และทรงธรรมหรือไม่ ปิยรัฐตอบว่า ตนไม่ได้สังเกต

ปิยรัฐเบิกความเล่าเหตุการณ์หลังฉีกบัตรลงคะแนนต่อว่า หลังทำการฉีกบัตร ด.ต.สมพรเข้ามาจับแขนตนพร้อมถามว่า ทราบหรือไม่ว่าการฉีกบัตรลงคะแนนเป็นความผิด จึงตอบไปว่า ทราบว่าเป็นความผิดตามมาตรา 59 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ ปิยรัฐเบิกความต่อว่า รู้ว่าการฉีกบัตรเป็นความผิดเนื่องจากเคยศึกษากฎหมายมาก่อนและเคยฟังกกต.สมชัยพูดว่าการฉีกบัตรเป็นความผิด

หลังถูกควบคุมตัว ด.ต.สมพรให้ปิยรัฐนั่งรอบนเก้าอี้ที่อยู่ในหน่วยออกเสียง ซึ่งปิยรัฐได้ขอให้ด.ต.สมพรพาไปนั่งนอกหน่วยออกเสียงเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้มาใช้สิทธิคนอื่น

ทนายจำเลยถามว่า ขณะเกิดเหตุมีคนมาใช้สิทธิมากน้อยแค่ไหน ปิยรัฐตอบว่าเนื่องจากขณะนั้นเป็นเวลาพักกลางวัน จึงมีผู้มาใช้สิทธิไม่มาก ส่วนผู้ที่ใช้สิทธิใช้สิทธิตามปกติ

ทนายจำเลยให้ปิยรัฐดูภาพในสำนวน ปิยรัฐดูและเบิกความว่า เป็นภาพขณะที่ตนถูกนำตัวไปควบคุมบริเวณมุมตึกสำนักงานเขตบางนา ซึ่งในขณะนั้นทรงธรรมได้เดินมาถ่ายภาพตนด้วย

ปิยรัฐเบิกความต่อว่า ในขณะที่ตนถูกควบคุมตัวหลังก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ตั้งข้อกล่าวหากับตนเพียงผู้เดียวและบอกว่าจะให้จิรวัฒน์และทรงธรรมไปที่สน.เพื่อเป็นพยาน   

ทนายจำเลยถามต่อว่า ในหน่วยออกเสียงมีการติดประกาศข้อห้ามว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ไว้ที่หน่วยหรือไม่ ปิยรัฐตอบว่า ไม่มี

ทนายจำเลยขอให้ปิยรัฐเล่าถึงเหตุการณ์ขณะที่ถูกควบคุมตัวไปสน.บางนา ปิยรัฐเบิกความว่าเจ้าหน้าที่พาตนไปที่สน.บางนา โดยรถยนต์ของเจ้าหน้าที่โดยขณะนั้นตนเองถูกนำตัวไปเพียงคนเดียว จิรวัฒน์และทรงธรรมไม่ได้ถูกพาไปตัวด้วย ปิยรัฐเบิกความด้วยว่า รถที่ใช้ควบคุมตนเองไปสน.บางนายังมีที่นั่งว่างอยู่

ปิยรัฐเบิกความต่อว่า เมื่อตนเองถูกควบคุมตัวไปถึงสน.บางนา ก็ถูกพาตัวขึ้นไปชั้นสองเพื่อไปรอพบพนักงานสอบสวน โดยในขณะที่ตัวปิยรัฐไปถึงสน.เจ้าหน้าที่กำลังสอบปากหญิงคนหนึ่งซึ่งฉีกบัตรลงคะแนนเช่นเดียวกับตน

ปิยรัฐเบิกความต่อว่าระหว่างที่รอพนักงานสอบสวนก็มีเจ้าหน้าที่พาตนไปที่ห้องรับรองมีนายตำรวจระดับผู้การนั่งรออยู่และมีเจ้าหน้าที่แจ้งกับตนว่า การสอบสวนครั้งนี้จะมีการถ่ายทอดไปถึงคสช.ด้วย หลังจากถูกสอบปากคำในห้องรับรองปิยรัฐก็ถูกพาตัวไปอีกห้องหนึ่งซึ่งพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 59 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ ทนายจำเลยถามว่า ปิยรัฐให้การกับพนักงานสอบสวนอย่างไร ปิยรัฐตอบว่า ยังไม่ให้การ

ปิยรัฐเบิกความต่อว่า ในเวลาประมาณ 18.00 น. พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหากับตนเพิ่มเติม ได้แก่ข้อหาทำลายทรัพย์สินราชการ และทำให้เสียทรัพย์ หลังจากนั้นในเวลาประมาณ 19.00 น. มีการแก้ไขสำนวนคดีอีกครั้งโดยมีการเพิ่มข้อหาร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติตามมาตรา 60 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ ร่วมกับจิรวัฒน์และทรงธรรม

ปิยรัฐเบิกความย้อนไปถึงเหตุการณ์ช่วงหลังการจับกุมว่า หลังถูกนำตัวมาที่สน.บางนา เจ้าหน้าที่พาตนกลับไปที่สำนักงานเขตบางนาครั้งหนึ่งเพื่อทำการตรวจค้นรถจักรยานยนต์ของปิยรัฐแต่ไม่พบเอกสารหรือสิ่งผิดกฎหมายใดๆ หลังทำการตรวจค้นเจ้าหน้าที่เป็นผู้ขี่จักรยานยนต์ของตนไปที่สน.บางนา

ปิยรัฐเบิกความด้วยว่าในการตรวจค้นรถจักรยานยนต์ อภิชาต ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมเพื่อเพื่อนได้มาสังเกตการณ์การค้นรถจักรยานยนต์ของปิยรัฐด้วย

ทนายจำเลยถามปิยรัฐว่าเหตุใดจึงฉีกบัตรลงคะแนน ปิยรัฐเบิกความว่า เนื่องจากการออกเสียงประชามติครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่บีบคั้น ผู้ที่แสดงความคิดเห็นในทางไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญถูกดำเนินคดีหรือถูกปรับทัศนคติ ขณะเดียวกันคนที่แสดงออกในลักษณะเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่ถูกดำเนินคดี

ปิยรัฐเบิกความเพิ่มเติมด้วยว่าประโยค "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ที่ตนพูดขณะก่อเหตุเป็นคำพูดของครอง จันดาวงศ์ ที่พูดก่อนถูกจอมพลสฤษดิ์ประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 ในประเด็นเกี่ยวกับความคิดทางการเมืองของจำเลยศาลไม่ได้บันทึกในสำนวน

ทนายจำเลยขออนุญาตศาลให้จำเลยดูคำพิพากษาฎีกาคดีอื่น ซึ่งมีประเด็นว่ากรณีที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติการกระทำใดการกระทำหนึ่งซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายทั่วไปด้วย ให้ถือว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายเฉพาะเท่านั้น แต่ศาลไม่อนุญาตโดยชี้แจงว่าการตีความข้อกฎหมายเป็นหน้าที่ของศาล ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

ตอบอัยการถามค้าน

อัยการถามปิยรัฐว่าบริษัทเพื่อเพื่อนก่อตั้งก่อนหรือหลังเกิดเหตุ และทรงธรรมเข้ามาเป็นกรรมการเมื่อใด ปิยรัฐตอบว่า บริษัทเพื่อเพื่อนก่อตั้งในเดือนกรกฎาคม 2559 ส่วนทรงธรรมเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นวันก่อนเกิดเหตุ

อัยการขอให้ปิยรัฐเล่าถึงความสัมพันธ์กับจิรวัฒน์และทรงธรรมว่ารู้จักกันมานานเท่าไหร่และมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ปิยรัฐตอบว่า ตนรู้จักกับจิรวัฒน์มาประมาณหนึ่งปีโดยมีเพื่อนอีกคนเป็นผู้แนะนำ โดยความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับจิรวัฒน์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องธุรกิจ สำหรับทรงธรรม ปิยรัฐเบิกความว่ารู้จักกันตั้งแต่ก่อนปี 2557

อัยการถามว่า ในวันเกิดเหตุปิยรัฐมาถึงที่เกิดเหตุกี่โมง ปิยรัฐตอบว่ามาถึงในเวลาประมาณ 11.30 น. อัยการถามว่า ที่ปิยรัฐเบิกความว่า เข้าไปที่เตนท์อำนวยการเข้าไปเพื่อทำอะไร อัยการยังขอให้ปิยรัฐระบุตำแหน่งเตนท์อำนวยการบนแผนที่จำลองที่เกิดเหตุด้วยเนื่องจากไม่มีเต็นท์ดังกล่าวบนแผนผัง

ปิยรัฐระบุตำแหน่งเต็นท์ดังกล่าวบนแผนที่และเบิกความว่าเหตุที่ไปที่เต็นท์อำนวยการเนื่องจากต้องการถามว่าหากไม่ใช้สิทธิจะมีผลทางกฎหมายหรือไม่และจะขอตัดชื่อตัวเองออกจากรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ แต่เจ้าหน้าที่ประจำเตนท์อำนายการไม่อาจให้คำตอบได้จึงเดินไปที่หน่วยออกเสียงที่สามซึ่งเป็นหน่วยที่ตนมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิ

อัยการถามว่าปิยรัฐใช้เวลาอยู่ที่เตนท์อำนวยการนานเท่าใดและหลังจากนั้นไปไหนต่อ ปิยรัฐตอบว่า ใช้เวลาไม่นาน เมื่อทราบว่า เจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้คำตอบได้ก็เดินมาที่หน่วยออกเสียงที่สามและพบจิรวัฒน์และทรงธรรมอยู่ที่หน้าหน่วยออกเสียง จึงได้ฝากกระเป๋าไว้แล้วเดินเข้าไปในหน่วยออกเสียงเพื่อใช้สิทธิ

อัยการถามว่า ตอนที่ปิยรัฐเข้าไปใช้สิทธิ ทราบหรือไม่ว่าจิรวัฒน์และทรงธรรมได้บันทึกภาพของปิยรัฐไว้ ปิยรัฐตอบว่าไม่ได้สังเกตว่า จิรวัฒน์และทรงธรรมเดินตามตนเองเข้าไปในหน่วยออกเสียงหรือไม่ แต่ได้ยินเสียงจิรวัฒน์พูดว่า ขอถ่ายภาพเพื่อนและได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่คนหนึ่งพูดว่าตรงนี้ถ่ายไม่ได้ แต่ตอนนั้นตนเองไม่ได้หันไปดูเหตุการณ์

อัยการถามว่าระหว่างที่ปิยรัฐฉีกบัตรลงคะแนนได้สังเกตหรือไม่ว่า ตอนนั้นยืนอยู่ในเขตเส้นเหลืองหรือเปล่า ปิยรัฐตอบว่าไม่ได้สังเกตเส้นพลาสติกสีเหลือง แต่ก็ทราบว่าอยู่นอกเขตเพราะตนเดินเลยหีบบัตรมาแล้วจึงจะทำการฉีก

อัยการถามว่าระหว่างนั้นปิยรัฐเห็นหรือไม่ว่าจิรวัฒน์และทรงธรรมยืนอยู่ตรงจุดใด ปิยรัฐตอบว่าเห็นว่ายืนอยู่หลังบอร์ดรายชื่อ อัยการให้ปิยรัฐดูแผนผังจำลองที่เกิดเหตุ ปิยรัฐตอบว่าผังจำลองที่อัยการให้ดูระบุตำแหน่งไม่ตรงกับวันเกิดเหตุจริง

อัยการถามว่าตอนที่เจ้าหน้าที่ให้ปิยรัฐนั่งเก้าอี้ในหน่วยออกเสียง บริเวณที่นั่งอยู่ด้านในหรือด้านนอกแนวเส้นพลาสติกสีเหลือง ปิยรัฐตอบว่าตนเองนั่งอยู่ด้านนอกเส้นสีเหลือง

อัยการให้ปิยรัฐดูภาพถ่ายซึ่งบันทึกภาพขณะที่ปิยรัฐอยู่ด้านนอกหน่วยออกเสียงกับเจ้าหน้าที่ ปิยรัฐรับว่าเป็นภาพของตนและบอกว่าขณะนั้นตนถูกแจ้งข้อกล่าวหาแต่เพียงผู้เดียว

อัยการถามปิยรัฐว่า ในวันเกิดเหตุปิยรัฐชักชวนเพื่อนมาบันทึกภาพขณะฉีกบัตรใช่หรือไม่ ปิยรัฐตอบว่าไม่ใช่และเสริมว่าหากมีการวางแผนที่จะก่อเหตุร่วมกับเพื่อน ตนคงจะประสานให้ผู้สื่อข่าวมาทำข่าวแล้ว

ปิยรัฐเบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่จะให้จิรวัฒน์และทรงธรรมเป็นพยานในคดีเนื่องจากทั้งสองเป็นผู้มีคลิปหลักฐานและเจ้าหน้าที่เองก็ขอไฟล์วิดีโอจากจิรวัฒน์และทรงธรรมด้วย ปิยรัฐเบิกความด้วยว่า ขณะที่ตนเองถูกคุมตัวไปในรถยังมีที่ว่างแต่ไม่ทราบว่าจิรวัฒน์และทรงธรรมถูกคุมตัวไปสน.บางนาอย่างไร

อัยการถามปิยรัฐว่า ที่เบิกความว่าระหว่างการสอบสวนมีการถ่ายทอดวิดีโอไปที่คสช. ปิยรัฐยืนยันได้หรือไม่ว่ามีเจ้าหน้าที่คสช.ดูอยู่จริง ปิยรัฐตอบว่า ทราบจากคำบอกของเจ้าหน้าที่เท่านั้นแต่ไม่ได้เห็นเองว่ามีการถ่ายทอดจริงหรือไม่

อัยการถามว่าเรื่องเตนท์อำนวยการปิยรัฐไม่ได้เบิกความไว้ในชั้นสอบสวนใช่หรือไม่ ปิยรัฐรับว่า ใช่ อัยการถามว่าในชั้นสอบสวนได้ให้การไว้หรือไม่ ปิยรัฐตอบว่าในชั้นสอบสวนไม่ได้ให้การ ปิยรัฐย้ำกับอัยการว่า ตนเพียงแต่มีเจตนาฉีกบัตรลงคะแนนแต่ไม่ได้มีเจตนาก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียง อัยการแถลงหมดคำถามค้าน

ตอบทนายจำเลยถามติง

ทนายจำเลยถามว่า ที่ปิยรัฐทราบว่าจิรวัฒน์และทรงธรรมยังไม่ถูกควบคุมตัวตอนที่อยู่ในที่เกิดเหตุทราบได้อย่างไร ปิยรัฐตอบว่า พอตนถูกควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ก็ห้ามใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพ แต่จิรวัฒน์และทรงธรรมยังคงใช้โทรศัพท์บันทึกภาพขณะตนถูกควบคุมตัวได้อยู่

นอกจากนี้ตอนที่ตนเองแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า นำรถจักรยานยนต์มา จะขอนำจักรยานยนต์ไปที่สน.ด้วยตนเองเจ้าหน้าที่ก็ไม่อนุญาต แต่ในกรณีของจิรวัฒน์และทรงธรรมกลับให้นำรถไปได้ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

เนื่องจากการสืบพยานปากนี้เสร็จในเวลาเกือบ 12.00 น. ศาลจึงให้นำพยานปากที่สองและสามเข้าสืบต่อในช่วงบ่าย โดยศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 13.30 น.

สืบพยานจำเลยปากที่สอง จิรวัฒน์ จำเลยที่สองเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง

จิรวัฒน์เบิกความว่าตนเองสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ประกอบอาชีพเป็นพนักงานฝ่ายขายของบริษัทแห่งหนึ่ง ตนรู้จักกับปิยรัฐจำเลยที่หนึ่งเพราะมีเพื่อนอีกคนหนึ่งแนะนำให้รู้จัก

การติดต่อระหว่างตนเองกับปิยรัฐส่วนใหญ่เป็นการพูดคุยเรื่องธุรกิจ โดยติดต่อกันวันละหนึ่งถึงสองครั้ง โดยมีการติดต่อกันทั้งทางโทรศัพท์และสื่อสังคมออนไลน์

ในวันเกิดเหตุตนนัดกับปิยรัฐว่าจะคุยกันเรื่องธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ โดยนัดกันว่าเมื่อปิยรัฐออกเสียงเสร็จจะไปหาที่คุยกัน จิรวัฒน์เบิกความด้วยว่า ตนได้ไปใช้สิทธิที่หน่วยออกเสียงแถวบ้าน แล้วจึงเดินทางมาที่สำนักงานเขตบางนา

จิรวัฒน์เบิกความต่อว่า เมื่อมาถึงหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่สำนักงานเขตบางนาก็พบกับทรงธรรม จำเลยที่สามจึงพูดคุยกัน ทรงธรรมบอกกับตนว่า ตัวของทรงธรรมเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนที่หน่วยออกเสียงนี้และได้ขอตัวไปตรวจสอบรายชื่อ เมื่อทรงธรรมเดินจากไปตนจึงเดินไปที่ลานจอดรถและพบปิยรัฐ

จิรวัฒน์เบิกความต่อว่าเมื่อพบกันตนคุยกับปิยรัฐเพียงครู่เดียว ปิยรัฐก็ขอตัวไปที่เตนท์อำนวยการ เมื่อปิยรัฐแยกตัวออกไปจิรวัฒน์ก็เดินตามทรงธรรมไปที่หน่วยออกเสียงที่สาม

จิรวัฒน์เบิกความว่า เมื่อมาถึงหน่วยออกเสียงที่สาม ได้ถามกรรมการประจำหน่วยว่าสามารถจะถ่ายรูปได้ตรงไหนบ้าง กรรมการประจำหน่วยบอกว่า ให้ไปถ่ายด้านนอกหน่วยออกเสียงและยังบอกตนเองว่าให้ไปถามเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วย เมื่อจิรวัฒน์ไปถามด.ต.สมพร ก็ได้คำตอบว่าให้ออกไปถ่ายด้านนอกบอร์ดรายชื่อ

จิรวัฒน์เบิกความต่อว่า เมื่อด.ต.สมพรแนะนำให้ไปถ่ายภาพด้านนอก ก็ได้เดินออกมาเพื่อเตรียมถ่ายภาพปิยรัฐขณะใช้สิทธิซึ่งขณะนั้นปิยรัฐก็เดินออกมาและฉีกบัตร ตนจึงบันทึกภาพไว้

เมื่อปิยรัฐถูกพาตัวไปด้านนอกหน่วยออกเสียง จิรวัฒน์เบิกความว่าได้เดินตามไปด้วยและบันทึกภาพขณะที่ปิยรัฐพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ จิรวัฒน์เบิกความด้วยว่า ระหว่างที่บันทึกภาพมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถามและขอเบอร์โทรศัพท์เพื่อที่จะติดต่อขอคลิปวิดีโอซึ่งจิรวัฒน์ก็ให้ไป

ทนายจำเลยนำภาพถ่ายของปิยรัฐขณะที่นั่งอยู่มุมตึกสำนักงานเขตบางนามาให้ดูซึ่งจิรวัฒน์เบิกความรับว่าตนเองเป็นผู้ถ่าย

ทนายจำเลยขอให้จิรวัฒน์เล่าเรื่องหลังปิยรัฐถูกพาตัวไปที่สน.บางนาให้ฟัง จิรวัฒน์เบิกความว่าระหว่างที่ตนเดินไปที่ลานจอดรถเพื่อขับรถตามปิยรัฐไปที่สน. มีชายสองคนอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและแสดงบัตรประจำตัวให้ดูและถามว่าจะไปที่ไหน จึงตอบไปว่าจะไปที่สน.บางนา เจ้าหน้าที่สองคนขอติดรถไปด้วย พร้อมทั้งให้เหตุผลที่ขออาศัยรถของตนว่ารถที่เจ้าหน้าที่นำมาที่เต็มแล้ว

ทนายจำเลยถามว่า ขณะนั้นจิรวัฒน์ถูกควบคุมตัวหรือยัง จิรวัฒน์ตอบว่าขณะนั้นยังไม่ถูกควบคุมตัว

จิรวัฒน์เล่าต่อว่า เมื่อไปถึงสน.บางนาก็ยังไม่ถูกควบคุมตัว ตนสามารถเดินไปไหนมาไหนได้ปกติ ต่อมาเมื่อเริ่มมีสื่อมวลชนมาเจ้าหน้าที่ก็มาขอให้ไปรอที่ห้องรับรอง

เมื่อใกล้ถึงเวลา 20.00 น. ได้ยินว่ากระบวนการในคดีของปิยรัฐใกล้เสร็จแล้ว ตนจึงเดินไปที่รถยนต์เพื่อรอให้ปิยรัฐมาจะได้เดินทางกลับ แต่ระหว่างนั้นก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาแสดงตัวและบอกว่ายังกลับไม่ได้เพราะเขาถูกดำเนินคดี แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้แจ้งว่าเป็นข้อหาใด

ทนายจำเลยถามว่า ทราบหรือไม่ว่าปิยรัฐจะมาฉีกบัตร จิรวัฒน์ตอบว่าไม่ทราบมาก่อนว่าปิยรัฐจะมาฉีกบัตร ตนเพียงทราบว่าก่อนหน้านี้มีกรณีที่มีคนไปขีดชื่อตัวเองออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง ตนเข้าใจว่าปิยรัฐจะไปทำเช่นนั้น

ทนายจำเลยถามว่า ในช่วงระหว่างเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุการออกเสียงเป็นไปโดยปกติหรือไม่ จิรวัฒน์ตอบว่ามีผู้มาออกเสียงตามปกติ ทนายจำเลยถามว่า ระหว่างที่ถ่ายคลิปยืนอยู่ตรงจุดใด จิรวัฒน์ตอบว่าตนยืนอยู่ด้านหลังบอร์ดรายชื่อ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

ตอบอัยการถามค้าน

อัยการถามว่า ในการประกอบอาชีพเซลล์จิรวัฒน์ขายสินค้าประเภทใด จิรวัฒน์ตอบว่าตนเป็นเซลล์ค้าไม้ อัยการถามว่าร้านค้าของปิยรัฐขายพวกสินค้าพลาสติกเหตุใดจึงมาคุยกับจิรวัฒน์ จิรวัฒน์ตอบว่าปิยรัฐมีแนวคิดที่จะทำธุรกิจเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ จึงมาปรึกษาตนซึ่งมีความรู้ด้านนี้

อัยการถามว่า จิรวัฒน์พบกับปิยรัฐบ่อยแค่ไหน จิรวัฒน์ตอบว่าเจอกันประมาณเดือนละสองถึงสามครั้ง อัยการถามว่า ในวันเกิดเหตุทำไมจิรวัฒน์กับพวกจึงนัดกันที่หน่วยออกเสียง

จิรวัฒน์ตอบว่าที่นัดกันที่หน่วยออกเสียงเป็นเพราะทรงธรรมไม่มีรถยนต์และเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนที่หน่วยออกเสียงเดียวกับปิยรัฐ จึงได้นัดพบกันที่หน่วยออกเสียงเพื่อจะได้รับทรงธรรมไปทำธุระด้วยกันต่อเมื่อออกเสียงเสร็จ

อัยการถามว่า จิรวัฒน์รู้จักทรงธรรมเมื่อใด จิรวัฒน์ตอบว่า รู้จักช่วงเวลาไล่เลี่ยกับปิยรัฐ อัยการให้จิรวัฒน์ดูแผนผังจำลองเหตุการณ์วันเกิดเหตุ จิรวัฒน์ตอบว่าผังจำลองเหตุการณ์ที่อัยการให้ดูไม่ถูกต้องตามเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ และในวันเกิดเหตุตนขออนุญาตเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะถ่ายภาพ

จิรวัฒน์เบิกความตอบอัยการด้วยว่าตามภาพจำลองซึ่งเป็นภาพขณะที่ปิยรัฐถูกควบคุมตัวอยู่นอกหน่วยออกเสียง จิรวัฒน์ยังไม่ถูกจับกุม จิรวัฒน์เบิกความด้วยว่าตนเองไม่ได้ลงชื่อในภาพจำลองเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่จัดทำขึ้น

อัยการถามว่า ทราบหรือไม่ว่าปิยรัฐจะมาฉีกบัตร จิรวัฒน์ตอบว่าตนคาดว่าปิยรัฐจะมาขีดชื่อออกจากบัญชีรายชื่อจึงเตรียมจะถ่ายคลิปขณะที่ปิยรัฐขีดชื่อออกจากบัญชีรายชื่อ

อัยการถามว่าขณะที่จิรวัฒน์ถ่ายวิดีโอ ในมุมกล้องที่ถ่ายปรากฎภาพว่ามีคนมาใช้สิทธิตามปกติ แต่เหตุการณ์นอกมุมกล้องจิรวัฒน์ไม่เห็นใช่หรือไม่ จิรวัฒน์ตอบว่าตนเห็นภาพนอกมุมกล้องด้วยและขณะนั้นในที่เกิดเหตุก็ไม่มีเสียงวุ่นวาย พร้อมทั้งยืนยันว่าตนไม่ได้นัดแนะกับปิยรัฐมาก่อเหตุ

อัยการถามว่า จิรวัฒน์เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกับเจ้าหน้าที่หรือพยานโจทก์ที่มาเบิกความหรือไม่ จิรวัฒน์ตอบว่าไม่เคย อัยการแถลงหมดคำถามค้าน

ตอบทนายจำเลยถามติง

ทนายจำเลยถามว่า ที่ตอบอัยการว่ามีการติดต่อกับปิยรัฐ จิรวัฒน์ติดต่อถี่แค่ไหน จิรวัฒน์ตอบว่า ติดต่อเฉพาะเวลาต้องพูดคุยเรื่องธุรกิจเท่านั้น และไม่ได้ติดต่อบ่อยเหมือนติดต่อเพื่อนคนอื่น

ทนายจำเลยถามว่าที่ ตอบอัยการว่าไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับพยานโจทก์มาก่อน คิดว่าเหตุใดพยานโจทก์จึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี จิรวัฒน์เบิกความว่าอาจเป็นเพราะการแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองของตนบนเฟซบุ๊กที่มีลักษณะเห็นต่างจากคสช.

ทนายจำเลยถามว่าที่ตอบว่าไม่ได้เตรียมการกับปิยรัฐมาก่อน เหตุใดจึงถ่ายคลิปขณะปิยรัฐก่อเหตุ จิรวัฒน์ตอบว่าตนเป็นคนที่ถ่ายภาพขึ้นเฟซบุ๊กเป็นประจำอยู่แล้ว และหากการกระทำครั้งนี้มีการเตรียมการตนก็จะแจ้งสื่อและไปยืนถ่ายภาพข้างหลังสื่อ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม ศาลให้ทรงธรรมขึ้นเบิกความต่อทันที

สืบพยานจำเลยปากที่สาม ทรงธรรม ทรงธรรมเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง

ทรงธรรมเบิกความว่าตนเองสำเร็จการศึกษาระดับปวช.วิทยาลัยเทคโนโลยีพระรามหก ปัจจุบันประกอบธุรกิจส่วนตัว ทรงธรรมเบิกความว่า ตนรู้จักกับปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่งผ่านเฟซบุ๊กเพจแอนตี้โซตัสที่ปิยรัฐเคยเป็นเลขาธิการ

หลังเกิดการรัฐประหารในปี 2557 ตนกับปิยรัฐก็เคยทำกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหารร่วมกัน นอกจากการทำกิจกรรมทางการเมืองปิยรัฐกับตนก็ทำธุรกิจร่วมกันด้วยโดยเปิดร้านขายของใช้เบ็ดเตล็ดราคาชิ้นละ 10 – 20 บาท มาตั้งแต่ปี 2558

ทนายจำเลยถามว่า ตามปกติทรงธรรมกับปิยรัฐติดต่อกันอย่างไร ทรงธรรมตอบว่า ใช้ทั้งโทรศัพท์และติดต่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ช่วงวันเสาร์อาทิตย์ปิยรัฐจะมารับตนที่สถานีรถไฟฟ้าบางนาเพื่อเข้าไปดูร้าน

ทรงธรรมเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเดินทางมาที่สำนักงานเขตบางนาเพื่อมาใช้สิทธิเนื่องจากตนเองเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยดังกล่าวโดยขามาเดินทางมาคนเดียว เมื่อมาถึงสำนักงานเขตบางนาก็ไปที่เตนท์อำนวยการก่อนเพื่อตรวจรายชื่อว่าต้องไปใช้สิทธิที่หน่วยออกเสียงที่เท่าไหร่ แต่ตอนเช้ายังหาไม่เจอชื่อของตัวเอง

ทรงธรรมเบิกความเพิ่มเติมถึงลักษณะหน่วยออกเสียงว่า ตอนที่เดินตรวจรายชื่อสามารถเดินทะลุจากหน่วยออกเสียงที่หนึ่งถึงที่สี่เพื่อตรวจรายชื่อได้ และในหน่วยออกเสียงก็ไม่มีการติดป้ายห้ามทำการใดๆ ทรงธรรมเบิกความต่อว่า ตนพบจิรวัฒน์ จำเลยที่สองบริเวณหน่วยออกเสียงในเวลาประมาณ 9.00 น.

ทนายจำเลยถามทรงธรรมว่า พบกับปิยรัฐในเวลาประมาณกี่โมง ทรงธรรมตอบว่าพบในเวลาประมาณ 12.00 น. ทนายจำเลยถามว่า ทรงธรรมได้ใช้สิทธิหรือยังก่อนที่ปิยรัฐจะมา ทรงธรรมตอบว่า ช่วงเช้ามีคนมาใช้สิทธิเยอะจึงตัดสินใจรอปิยรัฐมาก่อนเพื่อใช้สิทธิพร้อมกันและจะได้ไปทำธุระกันต่อ

ทนายจำเลยถามว่าทรงธรรมพบปิยรัฐบริเวณไหน ทรงธรรมตอบว่าบริเวณบอร์ดรายชื่อ เมื่อพบกันก็ทักทายกันตามปกติ ปิยรัฐบอกว่าพบรายชื่อแล้วและจะเข้าไปใช้สิทธิในหน่วยออกเสียงที่สาม

ทรงธรรมเบิกความต่อว่า ตนได้ถามเจ้าหน้าที่ว่าจะขอถ่ายภาพเพื่อนได้ไหม ทนายจำเลยถามว่า จุดที่ยืนถ่ายคือจุดใด ทรงธรรมตอบว่าเป็นบริเวณหลังบอร์ดรายชื่อ โดยขณะที่ถ่ายตั้งใจจะถ่ายตอนปิยรัฐใช้สิทธิและตนเองก็ไม่ทราบมาก่อนว่าปิยรัฐจะฉีกบัตร และเมื่อปิยรัฐฉีกตนก็ไม่ได้ทำท่าทางสนับสนุนหรือยินดีแต่อย่างไร

ทนายจำเลยถามถึงเหตุการณ์ในหน่วยออกเสียงโดยทั่วไปขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ ทรงธรรมตอบว่าสถานการณ์โดยทั่วไปปกติ ไม่มีคนแสดงอาการแตกตื่นและใช้สิทธิกันตามปกติ ทนายจำเลยถามว่า หลังเจ้าหน้าที่จับกุมปิยรัฐ ทรงธรรมถูกควบคุมตัวหรือไม่ ทรงธรรมตอบว่า ไม่

ทรงธรรมเบิกความว่าหลังปิยรัฐถูกจับ เจ้าหน้าที่นำเก้าอี้มาให้เขานั่งในหน่วยออกเสียงที่สามอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะพาไปนั่งด้านนอก ด.ต.สมพรผู้จับกุมปิยรัฐสอบถามตนว่าปิยรัฐเป็นใครและได้ขอเบอร์โทรศัพท์ของตนไปด้วย ด.ต.สมพรยังได้ต่อโทรศัพท์ถึงผู้บังคับบัญชาและยื่นโทรศัพท์ให้ตนพูดคุยกับผู้บังคับบัญชาด้วย

ทนายจำเลยให้ทรงธรรมดูภาพถ่ายขณะที่ปิยรัฐถุกควบคุมในรถ ทรงธรรมเบิกความว่าภาพดังกล่าวตนเป็นผู้ถ่ายขณะปิยรัฐถุกควบคุมตัวบนรถของเจ้าหน้าที่ ซึ่งขณะนั้นที่นั่งบนรถยังว่าแต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้สั่งให้ตนตามขึ้นรถไปแต่อย่างใด

ทรงธรรมเบิกความต่อว่า หลังจากปิยรัฐถูกเอาตัวไปตนก็ไปเข้าห้องน้ำ เมื่อออกมาเห็นจิรวัฒน์เดินไปที่ลานจอดรถโดยมีชายสองคนท่าทางมีพิรุธเดินตามไปด้วย จึงเร่งตามไปด้วยความเป็นห่วงเพราะหลังการรัฐประหารมีกรณีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจับตัวคนไปโดยไม่ให้พบทนายความอยู่บ่อยๆ

เมื่อตามไปถึงรถยนต์ปรากฎว่าประตูปิดแล้ว จึงตัดสินใจเปิดประตูและขึ้นไปนั่งบนรถจึงทราบว่าชายทั้งสองคนเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ โดยขณะที่นั่งก็ไม่มีการแจ้งข้อหาหรือแจ้งสิทธิแต่อย่างใด

ทนายจำเลยให้ทรงธรรมเล่าถึงเหตุการณ์ที่สน.บางนา ทรงธรรมตอบว่าพวกตนไปถึงสน.บางนาประมาณ 13.00 น. เมื่อไปถึงก็ไม่มีการควบคุมตัวสามารถเดินไปไหนมาไหนได้ ตนจึงรีบตามหาปิยรัฐเพราะเป็นห่วง และต้องการแจ้งปิยรัฐว่าอย่าพึ่งให้การจนกว่าจะมีทนายความ

เบื้องต้นตนเองเดินหาปิยรัฐบริเวณชั้นล่างของสน.แต่ไม่เจอตัว จึงขึ้นไปที่ชั้นสอง เห็นห้องรับรองมีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบสองคนนั่งเฝ้าอยู่หน้าห้อง ตนพยายามเปิดประตูเข้าไปเห็นมีตำรวจชั้นผู้ใหญ่นั่งอยู่หลายนาย

นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ถามด้วยลักษณะไม่พอใจว่าตนเป็นใครเปิดประตูเข้ามาได้อย่างไร ตำรวจชั้นผู้น้อยคนหนึ่งที่อยู่ในห้องก็คว้าโทรศัพท์ของตนไปและบอกว่าจะเอาไปลบรูป แต่ขณะนั้นตนยังไม่ได้ถ่ายรูปอะไร

ทรงธรรมเบิกความต่อว่า หลังจากนั้นตนก็ยังเดินไปไหนมาไหนได้ตามปกติ จนเมื่อใกล้เวลา 20.00 น.จึงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาแจ้งว่าตนถูกตั้งข้อกล่าวหาก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงด้วยการถ่ายคลิปวิดีโอขณะปิยรัฐก่อเหตุโพสต์บนโลกออนไลน์ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

ตอบอัยการถามค้าน

อัยการถามทรงธรรมว่า ภูมิลำเนาของทรงธรรมอยู่ที่บางบัวทองเหตุใดจึงมาขอใช้สิทธินอกเขตจังหวัดที่สำนักงานเขตบางนา ทรงธรรมตอบว่า ตนเองลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตเนื่องจากวันเกิดเหตุจะต้องเดินทางมาที่แถวบางนาเพื่อพูดคุยธุรกิจกับปิยรัฐและจิรวัฒน์อยู่แล้ว

อัยการถามว่าวันเกิดเหตุมีใครมารับทรงธรรมหรือไม่ ทรงธรรมตอบว่า ในวันเกิดเหตุปิยรัฐติดธุระในช่วงเช้าตนจึงเดินทางมาที่สำนักงานเขตบางนาด้วยตัวเอง

อัยการถามว่า ทรงธรรมเบิกความตอบทนายโจทก์ว่า มาถึงที่เกิดเหตุแต่เช้าแล้วเหตุใดจึงไม่ใช้สิทธิ ทรงธรรมตอบว่าในช่วงเช้ามีคนมาใช้สิทธิมาก ตนจึงตั้งใจจะรอใช้สิทธิพร้อมปิยรัฐเพราะคิดว่าเมื่อปิยรัฐมาถึงคนน่าจะซาแล้ว

อัยการถามว่า สรุปแล้วในวันเกิดเหตุทรงธรรมได้สิทธิหรือไม่ ทรงธรรมตอบว่าไม่ได้ใช้ เนื่องจากตอนเช้าตนรอปิยรัฐเพื่อใช้สิทธิพร้อมกัน แต่เมื่อปิยรัฐถูกจับตนก็เป็นห่วงจึงตามไปที่สน.ทำให้ไม่ได้ใช้สิทธิ

อัยการถามทรงธรรมว่า ทราบเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติหรือไม่ ทรงธรรมตอบว่า ได้ศึกษากฎหมายมาบ้างแต่เชื่อว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิด

อัยการถามว่า เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียงรวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นพยานในคดีนี้เคยมีเหตุโกรธเคืองกับทรงธรรมหรือไม่ ทรงธรรมตอบว่า ไม่เคย

อัยการถามต่อว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นเหตุใดจึงมาเบิกความเป็นพยานปรักปรำทรงธรรม ทรงธรรมเบิกความว่า แม้ตนไม่เคยรู้จักพยานโจทก์มาก่อน แต่การที่พยานโจทก์หลายคนเป็นข้าราชการก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีผู้มีอำนาจกดดันให้ปรักปรำตนซึ่งเป็นคนทีแสดงออกในลักษณะเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ

อัยการให้ทรงธรรมดูภาพถ่ายที่บันทึกมาจากภาพวิดีโอคลิปกับภาพจำลองเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่จัดทำ  ทรงธรรมรับรองภาพถ่ายที่บันทึกหน้าจอมาจากภาพวิดีโอคลิป แต่ไม่รับรองภาพจำลองเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่จัดทำขึ้นโดยระบุว่าภาพดังกล่าวผิดจากข้อเท็จจริงในวันเกิดเหตุ

อัยการให้ทรงธรรมดูข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของทรงธรรมที่พยานโจทก์ซึ่งจัดทำโดยผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณเอไอเอสแล้วถามว่าทรงธรรมได้โทรติดต่อกับปิยรัฐในวันเกิดเหตุหรือไม่ ทรงธรรมตอบว่าตนติดต่อกับปิยรัฐจริง แต่ไม่ขอรับรองเอกสารที่อัยการให้ดูเพราะเอกสารดังกล่าวเป็นไฟล์เอ็กเซล (Excel) ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงทำปลอมได้

อัยการถามว่าที่ตามคลิปวิดีโอไม่มีเหตุการณ์วุ่นวาย  แต่ทรงธรรมก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเหตุการณ์นอกมุมกล้องจะมีความวุ่นวายใช่หรือไม่ ทรงธรรมตอบว่าสามารถยืนยันได้เนื่องจากตนมองเหตุการณ์รอบข้างไปด้วยขณะบันทึกวิดีโอ

อัยการถามว่าพฤติการณ์ของทรงธรรมกับพวกซึ่งมีการโพสต์ข้อความเรื่องการเมือง  มีการฉีกบัตรและการถ่ายภาพลงสื่อสังคมออนไลน์ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการก่อเหตุในลักษณะแบ่งงานกันทำใช่หรือไม่  ทรงธรรมตอบว่า ตนนัดหมายกับจิรวัฒน์ที่สามมาพบที่สำนักงานเขตจริง  แต่ไม่ได้นัดหมายมาถ่ายภาพ

อัยการถามว่าในชั้นสอบสวนทรงธรรมให้การว่าอย่างไร ทรงธรรมตอบว่า ไม่ได้ให้การเพราะประสงค์จะให้การในชั้นศาล 

อัยการถามว่า ตอนที่เจ้าหน้าที่ขึ้นรถจิรวัฒน์ทราบได้อย่างไรว่าไม่ใช่การควบคุมตัว ทรงธรรมเบิกความว่า ทราบเพราะตอนจิรวัฒน์ไปขึ้นรถเป็นการเดินที่รถด้วยตนเองแล้วเจ้าหน้าที่เดินตามหลังไป  ไม่ใช่ถูกควบคุมตัวไปที่รถและหากมีการจับกุมจิรวัฒน์คงไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถไปสน.บางนา อัยการแถลงหมดคำถามค้าน

ตอบทนายจำเลยถามติง

ทนายจำเลยถามว่า เหตุใดทรงธรรมจึงเลือกมาใช้สิทธินอกเขตจังหวัดที่เขตบางนา ทรงธรรมตอบว่า เนื่องจากหน่วยออกเสียงนี้อยู่ใกล้ร้านที่ตนต้องไปเฝ้า

ทนายจำเลยถามว่า นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว ทรงธรรมโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องอื่นด้วยหรือไม่  ทรงธรรมตอบว่า โพสต์เรื่องอื่นด้วยแต่เจ้าหน้าที่บันทึกภาพหน้าจอมาเฉพาะเรื่องการเมือง 

ทนายจำเลยถามว่าเหตุใดทรงธรรมจึงเห็นว่า ภาพจำลองเหตุการณ์ไม่ถูกต้องและไม่ยอมลงชื่อ ทรงธรรมตอบว่า เนื่องจากภาพจำลองถูกจัดทำขึ้นหลังวันเกิดเหตุลับหลังตน ทั้งที่เจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกตนมาร่วมทำภาพจำลองเหตุการณ์ได้

ทนายจำเลยแถลงหมดคำถามและแถลงว่าหมดพยานที่จะนำสืบในวันนี้ ศาลนัดสืบพยานจำเลยต่อในวันที่ 8 สิงหาคม 2560 โดยกำชับให้คู่ความถามคำถามอย่างกระชับ
 

8 สิงหาคม 2560

นัดสืบพยานจำเลย

ในวันนี้ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลาประมาณ 9.45 น. ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าขอตัดพยานที่กำหนดจะนำเข้าสืบในวันนี้เนื่องจากสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งติดภารกิจไม่สามารถมาศาลได้และทางจำเลยไม่ติดใจสืบพยานปากนี้แล้ว

ส่วนพยานจำเลยอีกปากหนึ่งคือ สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางจำเลยก็ไม่ติดใจจะสืบพยานแล้วเช่นกันและฝ่ายจำเลยไม่ประสงค์นำพยานเข้าเบิกความต่อศาลแล้ว ศาลจึงสั่งให้ยกเลิกนัดสืบพยานในวันนี้

ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าจำเลยทั้งสามประสงค์จะส่งคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรภายในสามสิบวันแต่ศาลเห็นว่านานเกินไปจึงขอให้ส่งคำแถลงปิดคดีภายในสิบห้าวันแทนและนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 กันยายน 2560

ปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่งแถลงต่อศาลว่า ในวันที่ศาลนัดติดภารกิจไม่สามารถมาศาลได้ ศาลจึงสั่งให้เลื่อนไปฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 กันยายน 2560 แทน พร้อมทั้งให้เหตุผลที่ใช้เวลานานในการนัดฟังคำพิพากษาว่า เนื่องจากต้องรอจำเลยส่งคำแถลงปิดคดีและต้องส่งร่างคำพิพากษาให้สำนักงานอธิบดีภาคหนึ่งตรวจ

defendants in a referendum ballot tearing case at the Phar Khanong Provincial Court

จำเลยทั้งสามถ่ายภาพร่วมกันที่หน้าศาลจังหวัดพระโขนงในวันที่ 8 สิงหาคม 2560 หลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน

หลังเสร็จการพิจารณาปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่งให้สัมภาษณ์สั้นๆว่า ตนไม่กังวลข้อกล่าวหาฉีกบัตรตามพ.ร.บ.ประชามติฯที่ตนรับสารภาพไปแล้ว แต่กังวลข้อกล่าวหาร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียง มีโทษจำคุกสูงถึงสิบปี ซึ่งขณะเกิดเหตุตนก็ไม่ได้ก่อความวุ่นวายหรือขัดขวางบุคคลอื่นในการใช้สิทธิแต่อย่างใด

ด้านจิรวัฒน์ จำเลยที่สองระบุว่ามั่นใจในพยานหลักฐานที่ฝ่ายตนนำสืบต่อสู้คดีและหวังว่าศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องพวกตนในที่สุด เนื่องจากการกระทำของตนเป็นเพียงการถ่ายภาพเหมือนที่สื่อมวลชนทำ ไม่ได้ก่อความวุ่นวายหรือขัดขวางการใช้สิทธิของผู้ใด

ขณะที่ทรงธรรม จำเลยที่สามระบุว่ามั่นใจว่าการกระทำของตนกับจิรวัฒน์ไม่น่าจะเป็นความผิด และหวังว่า ศาลจะพิจารณาลงโทษสถานเบากับจำเลยที่หนึ่งในข้อหาฉีกบัตรออกเสียงตามพ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ปิยรัฐรับสารภาพไปแล้ว

16 กันยายน 2560
 
ปิยรัฐโพสต์ภาพหมายนัดศาลจังหวัดพระโขนงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะพร้อมเขียนบรรยายโดยสรุปได้ว่า ศาลจังหวัดพระโขนงส่งหมายมาถึงตนแจ้งว่าจะเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาจากเดิมวันที่ 19 กันยายน 2560 เป็นวันที่ 26 กันยายน 2560 ตามภาพหมายศาลฉบับดังกล่าวออกตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2560 แต่ปิยรัฐระบุว่าตนเองพึ่งได้รับหมายนัดสามวันก่อนถึงวันนัดฟังคำพิพากษา
 
26 กันยายน 2560
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
ตั้งแต่เวลา 8.30 น. จำเลยทั้งสามทยอยเดินทางมาที่ศาลเพื่อฟังคำพิพากษา โดยมีประชาชนประมาณ 15 – 20 คนเดินทางมาร่วมสังเกตการณ์โดยในจำนวนนั้นมีฐิตารีย์ จำเลยที่ถูกฟ้องคดีพ.ร.บ.ความสะอาดฯจากการร่วมกิจกรรมแปะโพสต์อิทที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรีและพัฒน์นรี แม่ของสิรวิชญ์หรือนิว นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย นอกจากนี้ก็มีผู้สื่อข่าวจากช่องว๊อยซ์ทีวีและทีวี24 มารอติดตามผลการพิจารณา 
 
ในเวลาประมาณ 9.30 น. เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งว่าศาลขอให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ออกจากห้องพิจารณาไปให้หมด เมื่อหนึ่งในผู้มารอฟังคำพิพากษาถามเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ว่าศาลมีคำสั่งพิจารณาลับใช่หรือไม่เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ตอบว่าไม่ใช่แต่ขอให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกจากห้องไป เมื่อผู้มาสังเกตการณ์ออกจากห้องพิจารณาได้ประมาณห้านาทีสิรวิชญ์หรือนิว นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับก็เดินทางมาถึงและเข้าไปนั่งฟังคำพิพากษาร่วมกับจำเลยทั้งสามโดยไม่ถูกสั่งให้ออกจากห้องพิจารณา
 
ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาราวสิบนาที หลังเสร็จสิ้นกระบวนการทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 60(9) เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นการก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงทั้งพยานโจทก์ก็เบิกความว่าระหว่างและหลังเกิดเหตุการออกเสียงประชามติในหน่วยที่เกิดเหตุก็ดำเนินไปตามปกติ
 
สำหรับปิยรัฐซึ่งเป็นผู้ฉีกบัตรประชามติ ศาลพิพากษายกฟ้องปิยรัฐในข้อหาทำลายเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 เนื่องจากปิยรัฐยังไม่ได้ทำเครื่องหมายกากบาทในบัตรลงคะแนนประชามติของกลางที่ถูกฉีก แต่พิพากษาว่าปิยรัฐมีความผิดในข้อหาทำลายบัตรลงคะแนนประชามติโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 59 และความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ของผู้อื่นหรือทรัพย์ที่ผู้อื่นร่วมเป็นเจ้าของอยู่ด้วยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358
 
การกระทำของปิยรัฐเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด พิพากษาจำคุกเป็นเวลาสี่เดือน ปรับสี่พันบาท ปิยรัฐให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกสองเดือนปรับสองพันบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนดหนึ่งปี 
 
Three defendant in the referendum ballot tearing case took a photo together at the Phar Khanong Provincial Court

จิรวัฒน์ ทรงธรรม และปิยรัฐ (จากซ้ายไปขวา) ถ่ายภาพร่วมกันหลังฟังคำพิพากษาที่ศาลจังหวัดพระโขนง

หลังศาลมีคำพิพากษาจิรวัฒน์ จำเลยที่ 2 ให้สัมภาษณ์สั้นๆว่า ตามหลักการคดีนี้ไม่ควรนำมาฟ้องเป็นคดีตั้งแต่ต้น แต่เมื่อถูกดำเนินคดีแล้วตนก็ต่อสู้ตามกระบวนการเพื่อพิสูจน์ว่าการกระทำของตนและพวกไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของบุคคลใด สำหรับการประชามติที่เกิดขึ้นในฐานะที่เคยศึกษาวิชารัฐศาสตร์ ตนมองว่าเป็นความพยายามของผู้ยึดอำนาจในการสถาปนาความชอบธรรม เป็นการโอนอำนาจที่ได้จากการยึดอำนาจไปเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อผู้ออกเสียงส่วนใหญ่ยอมรับรัฐธรรมนูญนี้ตนก็เคารพและยอมรับการตัดสินใจดังกล่าว
 
ส่วนปิยรัฐ จำเลยที่ 1 เห็นว่าการต่อสู้ครั้งนี้น่าจะพิสูจน์ให้สาธารณะได้รับรู้ว่า แม้จะต้องต่อสู้คดีในบรรยากาศที่ทุกอย่างอยู่ภายใต้อำนาจของคสช. แต่หากประชาชนมั่นใจว่าการกระทำของตนเป็นการกระทำที่บริสุทธิ์และมีหลักฐานหนักแน่น การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ก็เป็นสิ่งที่พอทำได้ 

Piyarat showed recipe and money that was returned by the court official

ปิยรัฐโชว์ใบเสร็จรับเงินค่าปรับและเงิน 500 บาทที่ได้รับคืนเพราะถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลาหนึ่งคืน

ปิยรัฐระบุด้วยว่าเมื่อตนไปจ่ายค่าปรับจำนวนสองพันบาทตามคำสั่งศาล เจ้าหน้าที่ศาลคืนเงินให้ตนห้าร้อยบาทเพื่อชดเชยที่ตนถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างรอพิจารณาคดีเป็นเวลาหนึ่งคืน

15 สิงหาคม 2561

นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ปิยรัฐและทรงธรรมเดินทางมาถึงศาลจังหวัดพระโขนงเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตั้งแต่ก่อนเวลา 8.30 น. โดยมีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถูกดำเนิคดีชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จำนวนหนึ่งมาให้กำลังใจจำเลยทั้งสามที่ศาล

ประมาณ 8.50 น. จำเลยทั้งสามและทนายจำเลยจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกมาถ่ายภาพร่วมกันที่หน้าศาลจังหวัดพระโขนง แต่ยังไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ โดยแจ้งว่าจะให้สัมภาษณ์หลังฟังคำพิพากษาแล้ว 

ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 9.35 น. แต่ยังไม่อ่านคำพิพากษาคดีนี้ ระหว่างที่ศาลอ่านคำพิพากษาและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอื่นก็มีประชาชนอีกเดินทางมาสมทบที่ห้องพิจารณาคดี 11 แต่เนื่องจากวันนี้ศาลนัดพิจารณาคดีที่ห้องพิจารณาคดี 11 พร้อมกันหลายคดีที่นั่งจึงไม่พอ กลุ่มคนที่มาให้กำลังใจจำเลยทั้งสามส่วนหนึ่งจึงออกจากห้องพิจารณาคดีไปรอฟังผลอยู่ด้านนอกเพื่อให้ผู้ที่มีนัดคดีกับศาลคดีอื่นมีที่นั่ง
 
ในเวลาประมาณ 9.55 น. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีนี้โดยก่อนเริ่มอ่าน ศาลแจ้งจำเลยว่า จะอ่านโดยย่อเท่านั้นเพราะศาลมีคดีที่ต้องพิจารณาหลายคดี โดยก่อนอ่านคำพิพากษาศาลแจ้งให้จำเลยทั้งสามนำบัตรประชาชนส่งให้กับเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ด้วยหลังจากนั้นศาลจึงเริ่มอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
ศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามร่วมก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติ ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละหกเดือน ปรับคนละ 6,000 บาท การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพืจารณาลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกสี่เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้หนึ่งปี

ส่วนจำเลยที่หนึ่งที่ศาลชั้นต้นเคยแยกความผิดฐานฉีกบัตรออกจากความผิดฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าการกระทำความผิดฐานฉีกบัตรและฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายเป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวกัน มีลักษณะเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ไม่ใช่การกระทำที่แยกจากกัน 
 
นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาแก้ในส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การฉีกบัตรของจำเลยที่หนึ่งเป็นความผิดฐานทำลายทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ด้วยว่าความผิดฐานฉีกบัตรประชามติเป็นความผิดที่มีการออกกฎหมายมาเป็นการเฉพาะ จึงต้องปรับโทษตามพ.ร.บ.ประชามติฯ เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องปรับโทษตามกฎหมายทั่วไป  
 
หลังศาลมีคำพิพากษาและชำระค่าปรับเรียบร้อยแล้ว จำเลยทั้งสามลงมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่หน้าป้ายศาลจังหวัดพระโขนง ปิยรัฐ จำเลยที่หนึ่งผู้ฉีกบัตรกล่าวว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ออกมาในวันนี้น่ากังวลว่า อาจจะเป็นบรรทัดฐานให้คดีเกี่ยวกับประชามติคดีอื่นที่ยังต่อสู้กันอยู่ และเกรงว่า การเลือกตั้งที่ยังไม่เห็นอนาคตข้างหน้าอาจจะมีกฎหมายออกมาจำกัดสิทธิในการเคลื่อนไหวแบบการทำประชามติครั้งก่อน
 
ปิยรัฐกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้คาดหวังอะไรกับคำพิพากษาอยู่แล้ว เพราะเมื่อตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ได้เตรียมใจเรื่องการเข้าเรือนจำอยู่แล้ว หลังจากนี้ก็ยังคงต้องทำกิจกรรมต่อไป และจะมีการเคลื่อนไหวต่อในเดือนกันยายน เนื่องจาก คสช. เคยสัญญาว่า จะปลดล็อกพรรคการเมือง แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะดำเนินการตามที่พูด
 
จิรวัฒน์ จำเลยที่สอง กล่าวว่า การกระทำของเขาเป็นแค่การไปถ่ายภาพกิจกรรมของเพื่อน ซึ่งเป็นการทำตัวเหมือนกับผู้สื่อข่าวภาคพลเมือง ไม่น่าจะมีความผิด ไม่คิดว่า ตัวเองทำความผิด และภูมิใจในสิ่งที่ทำลงไป คดีนี้สร้างผลกระทบทำให้ต้องออกจากงาน เพราะนายจ้างไม่อยากรับลูกจ้างที่มีคดีทางการเมือง
 
ทรงธรรม จำเลยที่สามให้สัมภาษณ์กับไอลอว์สั้นๆ ในภายหลังด้วยว่า ส่วนตัวรู้สึกแปลกใจเล็กน้อยกับคำพิพากษาที่ออกมา เพราะการต่อสู้คดีในส่วนของเขาและจิรวัฒน์จำเลยที่สองเป็นการต่อสู้แบบชนะขาดในศาลชั้นต้น แต่ก็พอเข้าใจว่า การต่อสู้กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมการในสภาวะที่บ้านเมืองเป็นแบบนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้
 
17 มีนาคม 2563 
 
ปิยรัฐ โพสต์ภาพหมายเรียกจำเลยฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา บนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาคดีนี้วันที่ 23 เมษายน 2563
 
7 เมษายน 2563
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่าศาลฎีกายกเลิกนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 23 เมษายน 2563 และกำหนดวันนัดใหม่เป็นวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากในเดือนเมษายนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในประเทศ ยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่ากังวล
 
 21 กรกฎาคม 2563

นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา


 
จำเลยทั้งสามคนมาถึงศาลและขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดีตั้งแต่ก่อนเวลา 9.00 น. ในวันนี้มาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างเข้มงวด สังเกตเห็นรถของเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกูวัตถุระเบิดอย่างน้อยสองคันจอดอยู่ในบริเวณศาลและสังเกตเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบประจำอยู่ในพื้นที่ศาลรวมทั้งมีหนึ่งนายที่คอยตรวจกระเป๋าบริเวณทางเข้าออกด้วย

จากการสอบถามประชาชนที่มาร่วมสังเกตการณ์ในศาลได้ข้อมูลว่าวันนี้ศาลจังหวัดพระโขนงนัดพิจารณาคดีสำคัญคดีอื่นด้วยศาลจึงวางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

สำหรับคดีของปิยรัฐ ศาลไม่ให้บุคคลอื่นนอกจากทนายความหรือจำเลยเข้าไปในห้องพิจารณาคดี แต่ได้ถ่ายทอดสดการอ่านคำพิพากษามาที่โถงชั้นล่างของศาลเพื่อให้ประชาชนที่มีรอสังเกตการณ์ฺได้ฟังคำพิพากษาไปพร้อมกับที่มีการอ่านคำพิพากษาในห้อง
 
ในเวลาประมาณ 9.20 น. ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตส.ส.ของอดีตพรรคอนาคตใหม่มาที่ศาลและได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปบนห้องพิจารณาคดีแต่ผู้ติดตามไม่ได้ขึ้นไปด้วยต้องรออยู่ด้านล่างห้องพิจารณาคดี จากนั้นในเวลาประมาณ 9.25 น. ศาลขึ้นบัลลังก์และเริ่มอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งศาลพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติ ให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน ปรับเป็นเงิน 4000 บาท แต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้มีกำหนดหนึ่งปี
 
หลังฟังคำพิพากษา จิรวัฒน์ จำเลยที่สองให้สัมภาษณ์ว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าวันนั้นตัวเขาไม่ได้ไปก่อความวุ่นวายตามที่รูปคดีออกมา แต่เมื่อคำพิพากษาออกมาเช่นนี้ก็คงแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว คดีนี้ตั้งแต่เกิดเหตุในเดือนสิงหาคม 2559 จนถึงวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาก็กินเวลาประมาณ 3 ปี 11 เดือน ซึ่งชีวิตของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างเพราะตอนเกิดคดีนี้มันเป็นข่าว จึงไปกระทบกับหน้าที่การงาน เพราะมีสถานประกอบการบางแห่งที่ไม่ยอมให้สมัครงานเพราะเห็นว่าเขามีคดี ทำให้หางานยาก แต่เขาถือว่าเป็นราคาที่ต้องจ่ายไปและก็รู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำไป 
 
เมื่อถามถึงแนวทางการทำกิจกรรมทางการเมืองต่อไปในอนาคต จิรวัฒน์ระบุว่า
 
"ก็คงเคลื่อนไหวต่อไปหากมีประประเด็นอะไรที่น่าสนใจเพราะมันเป็นagenda ของเราที่เราต้องผลักดันให้ประเทศนี้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ระบอบประชาธิปไตยที่เต็มรูปแบบเสียที เหมือนอย่างที่หลายๆคนพูดว่าอยากให้มันจบในรุ่นเรา อยากให้สำเร็จมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบในรุ่นนี้ ในรุ่นของเรา"
 
"คิดว่าจริงๆแล้วการมีคดี หรือการถูกดำเนินคดี การมีโทษติดคุก ในช่วงที่ระบอบเผด็จการครองอำนาจมันเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ อยากจะฝากถึงน้องๆนักศึกษาหลายๆท่านที่ออกมาม็อบที่ผ่านมาหรือต่อไปในอนาคต ไม่ได้เชิญชวนแต่อยากบอกว่าการต่อสู้กับอำนาจอยุติธรรม การต่อสู้กับเผด็จการมันเป็นหน้าที่ของเรา"  

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสามแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ระหว่างเวลาที่มีการเปิดให้ประชาชนออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 จำเลยที่หนึ่งซึ่งเป็นผู้มีสิทธิออกเสียง ณ หน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดหน่วยที่สาม สำนักงานเขตบางนา ได้มารับบัตรจากคณะกรรมการประจำหน่วย จากนั้นได้เดินอ้อมคูหามาที่หน้าหีบบัตรโดยไม่ได้เข้าไปกาบัตร แล้วจำเลยฉีกบัตรจนขาด โดยมีจำเลยที่สองและสามบันทึกวิดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวไว้แล้วต่อมามีการเผยแพร่บนเฟซบุ๊ก
 
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยที่หนึ่ง กระทำความผิดฐานทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียงหรือจงใจกระทำด้วยประการใดๆ ให้บัตรออกเสียงชำรุดหรือเสียหาย ตามมาตรา 59 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ฐานทำให้เสียหายหรือทำลายเอกสารผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 และความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ตามฟ้องหรือไม่
 
จำเลยที่หนึ่งให้รับการสารภาพ ว่ามีเจตนาจะทำให้บัตรออกเสียงประชามติเสียหาย จึงฟังได้ว่าจำเลยที่หนึ่งทำความผิดฐานทำลายบัตรที่มีไว้ใช้เพื่อการประชามติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 จริง ส่วนความผิดฐานทำลายเอกสารของผู้อื่นและทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งจำเลยที่หนึ่งให้การปฏิเสธ เห็นว่า

จำเลยที่หนึ่งให้การรับสารภาพว่ามีเจตนาที่จะทำลายบัตรออกเสียงประชามติ และบัตรดังกล่าวเป็นทรัพย์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงถือว่าจำเลยมีความผิดดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 
 
ส่วนความผิดฐานทำลายเอกสารของผู้อื่น เห็นว่า บัตรออกเสียงประชามติที่จำเลยที่หนึ่งฉีกเป็นเพียงแบบพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติเพราะยังไม่มีการทำเครื่องหมายลงไปบนบัตร จึงไม่ถือเป็นเอกสารตามบทนิยามของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (7) จึงไม่ถือว่าจำเลยที่หนึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188
 
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายหรือกระทำการอันใดเป็นการรบกวนต่อการออกเสียงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงตามประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตามฟ้องหรือไม่       
 
โจทก์มีจารุวรรณ ศรีทองชัย ประธานกรรมการประจำที่ออกเสียง และอัมรินทร์ นนทะโคตร ผู้อำนวยการประจำที่ออกเสียง เบิกความทำนองเดียวกันโดยมีสุพักตราพรรณ สุวรรณศรี สุกานต์ดา ขนุนทอง และนุชนภา ตุนชัยภูมิ กรรมการประจำที่ออกเสียง เบิกความสนับสนุนเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่หนึ่งว่า
 
ในวันเกิดเหตุ หลังจากจำเลยรับบัตรออกเสียงประชามติแล้ว ไม่ได้เข้าไปทำเครื่องหมายในคูหา แต่เดินอ้อมคูหามาหยุดที่หน้าหีบบัตรก่อนจะชูบัตรขึ้นและพูดว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”แล้วฉีกบัตรออกเสียงประชามติจนฉีกขาด หลังจากฉีกบัตรแล้ว จำเลยที่หนึ่งได้มอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ทันทีโดยไม่มีการขัดขืน และการออกเสียงประชามติดำเนินไปตามปกติ  
 
ในส่วนของวัตถุพยานซึ่งคือวิดีโอ พยานโจทก์ปากอัมรินทร์ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่าเป็นภาพของจำเลยที่หนึ่งกำลังฉีกบัตรออกเสียงประชามติ โดยที่ผู้มีสิทธิออกเสียงคนอื่นยังคงตรวจดูรายชื่อตามปกติไม่ได้หันไปมอง
 
ขณะที่พยานโจทก์ปากสุพักตราพรรณเบิกความว่ามีผู้มาออกเสียงบางคนเงยหน้าขึ้นดูเหตุการณ์บ้างแต่ภาพตามคลิปวิดีโอมีประชาชนมาออกเสียงตามปกติโดยไม่ได้หันมองเหตุการณ์ขณะจำเลยที่หนึ่งฉีกบัตร พยานโจทก์ปากด.ต.สมพร ภักวงษ์ทอง ผู้จับกุมเบิกความตอบคำถามค้านว่า หลังจำเลยที่หนึ่งฉีกบัตรก็ยอมให้จับกุมโดยดี เห็นว่า 
 
ในขณะเกิดเหตุมีจำนวนผู้ใช้สิทธิไม่มากและการกระทำของจำเลยนั้นเป็นการกระทำสั้นๆ โดยสันติ และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการควบคุมตัวจำเลยที่หนึ่งก็ยินยอมให้ควบคุมตัวแต่โดยดีไม่มีการขัดขืน เช่นนี้แล้ว พฤติการณ์แห่งคดี ยังไม่พอฟังถึงขนาดว่า การกระทำของจำเลยที่หนึ่งเป็นการก่อความวุ่นวายหรืออุปสรรคแก่การออกเสียง
 
ส่วนการกระทำของจำเลยที่สองและสาม โจทก์มีจารุวรรณและอัมรินทร์ เบิกความทำนองเดียวกันว่า ขณะที่จำเลยที่หนึ่งกำลังตรวจบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ จำเลยที่สองและสามเดินเข้ามาในหน่วยออกเสียงและยกโทรศัพท์ขึ้นทำท่าเหมือนถ่ายภาพหรือวิดีโอ พยานทั้งสองจึงบอกว่าห้ามถ่ายรูปในหน่วยออกเสียง
 
ส่วนพยานโจทก์ปากด.ต.วิชัย อุ่นสมัย ก็เบิกความว่าได้ยกมือห้ามจำเลยทั้งสองไม่ให้ถ่ายภาพและกันตัวออกไปจนพ้นบอรืดบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง เห็นว่าพยานโจทก์เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการไปตามหน้าที่โดยไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงเชื่อว่าจำเลยที่สองและสามเข้ามาถ่ายภาพหรือวิดีโอในหน่วยออกเสียงจริงก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่กันตัวออกไป 
 
อย่างไรก็ตามพยานโจทก์ปากอัมรินทร์ก็ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ไม่มีบทบัญญัติห้ามไม่ให้ถ่ายภาพภายในหน่วยออกเสียง และไม่มีข้อห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปในหน่วยออกเสียง ด.ต.สมพรเบิกความด้วยว่า ได้ยินจำเลยที่สามพูดว่าขอถ่ายภาพเพื่อนออกเสียงอันเป็นลักษณะขออนุญาตถ่ายภาพหรือวิดีโอ แต่เมื่อถูกห้ามและกันตัวออกไป จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้ขัดขืน               
 
จำเลยที่สองและสามนำสืบต่อสู้ว่า ได้ทำการถ่ายภาพและบันทึกวิดีโอไว้จริง แต่จุดที่ทั้งสองยืนทำการบันทึกภาพหรือวิดีโออยู่ด้านนอกหน่วยออกเสียง และเมื่อพิจารณาตำแหน่งการยืนของจำเลยที่สองและสามจากแผนที่สังเขปจำลองที่เกิดเหตุก็พบว่าบริเวณที่จำเลยทั้งสองยืนอยู่นอกเขตหน่วยออกเสียง นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการประจำที่ออกเสียงได้ปิดประกาศข้อห้ามหรือคำเตือนในการกระทำอันเป็นความผิดในบริเวณที่ออกเสียง รวมถึงข้อห้ามถ่ายรูปหรือบันทึกวิดีโอ และข้อห้ามมิให้บุคคลภายนอกเข้าไปในหน่วยออกเสียง
 
พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่พอฟังว่า จำเลยที่สองและสามได้ก่อความวุ่นวายหรือกระทำการใดเป็นการรบกวนหรืออุปสรรคแก่การออกเสียง ส่วนจำเลยที่สองและสามใช้โทรศัพท์บันทึกวิดีโอ แล้วนำไปเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก ก็ไม่ใช่การกระทำในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนน จึงไม่เป็นความผิด พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบไม่มีน้ำหนักมั่นคงให้ฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันก่อความวุ่นวายหรือกระทำการใดอันเป็นการรบกวนหรืออุปสรรคแก่การออกเสียงตามฟ้อง
 
ทั้งนี้ในระหว่างการพิจารณาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎอาญา(ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ยกเลิกอัตราโทษของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 เดิม และกำหนดอัตราโทษใหม่ แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่หนึ่ง  
 
พิพากษาว่า จำเลยที่หนึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 (เดิม) พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักที่สุด ลงโทษจำคุกสี่เดือน ปรับ 4,000 บาท 
 
จำเลยที่หนึ่งรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำคุกสองเดือน ปรับ 2,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดหนึ่งปี ส่วนข้อหาอื่นให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่สองและสาม
 

สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติเบื้องต้นมีอยู่ว่า ในวันเกิดเหตุซึ่งเป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างที่มีการเปิดให้ประชานลงคะแนนเสียง จำเลยที่หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัดในหน่วยออกเสียงที่สาม สำนักงานเขตบางนา จำเลยที่หนึ่งรับบัตรจากกรรมการประจำหน่วยแล้วเดินอ้อมมาหยุดที่หน้าหีบบัตรโดยไม่ได้ทำเครื่องหมายกากบาท แล้วทำการฉีกบัตร ส่วนจำเลยที่สองและสามซึ่งมาพร้อมกับจำเลยที่หนึ่ง ได้ใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกวิดีโอเหตุการณ์ไว้ ซึ่งวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก
 
สำหรับปัญหาแห่งคดีที่จะต้องวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์เห็นควรพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยไปพร้อมกัน
 
โจทก์อุทธรณ์ว่า การฉีกบัตรประชามติของจำเลยที่หนึ่งเป็นความผิดฐานทำลายเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 ส่วนจำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมายที่มีการบัญญัติเป็นการเฉพาะ คือ พ.ร.บ.ประชามติฯ แล้ว จึงต้องปรับโทษตามกฎหมายเฉพาะโดยไม่ต้องปรับบททั่วไป

ข้อนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า การฉีกบัตรออกเสียงประชามติของจำเลย เป็นทั้งการทำลายทรัพย์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นการทำลายบัตรที่มีไว้เพื่อการออกเสียงประชามติโดยไม่มีอำนาจกระทำได้ และเป็นการทำลายเอกสารของผู้อื่น แต่จำเลยที่หนึ่งกระทำการในคราวเดียวโดยมีเจตนาทำลายบัตรออกเสียงประชามติ 
 
แม้การกระทำของจำเลยที่หนึ่งอาจจะต้องด้วยองค์ประกอบความผิดของกฎหมายทั้งสามบท แต่เมื่อพิจารณาจากบทกำหนดโทษซึ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 ฐานทำลายเอกสาร และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ฐานทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นจะมีโทษสูงกว่า โทษตามพ.ร.บ.ประชามติฯ จำเลยที่หนึ่งจึงย่อมถูกลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวบทใดบทหนึ่ง

เช่นนี้ก็จะไม่อาจนำโทษตามพ.ร.บ.ประชามติมาตรา 59 วรรคหนึ่ง มาบังคับใช้ได้เลย จึงย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการบัญญัติพ.ร.บ.ประชามติฯ ขึ้นเป็นพิเศษ เมื่อการทำลายบัตรประชามติมีการบัญญัติไว้ในกฎหมายเป็นการเฉพาะแล้ว การปรับโทษจำเลยที่หนึ่งจึงต้องปรับตามโทษที่บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะโดยไม่ต้องปรับบททั่วไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 และ 358 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
 
ในส่วนของปัญหาที่ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 60 หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนนี้ว่าจำเลยที่สองและสามซึ่งไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงนี้ได้เดินเข้ามาในหน่วยออกเสียงและใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกวิดีโอขณะจำเลยที่หนึ่งกระทำการอันเป็นการรบกวนหรือก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียง และเมื่อเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียงห้ามปรามจำเลยที่สองและสามก็ไม่ฟัง

ส่วนจำเลยที่หนึ่งเมื่อรับบัตรลงคะแนนก็ไม่ได้นำไปใช้สิทธิตามหน้าที่หรือตามสิทธิ แต่กลับนำไปฉีกทำลายพร้อมทั้งตะโกนคำว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" จากนั้นจำเลยทั้งสามร่วมกันนำวิดีโอคลิปเหตุการณ์ดังกล่าวเผยแพร่ในเฟซบุ๊กของจำเลยที่สองและสามต่อสาธารณะเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายและโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการร่วมกันก่อความวุ่นวายหรือกระทำการอันเป็นการรบกวนในหน่วยออกเสียง
 
โจทก์มีพยานสี่ปากที่เป็นประธานหน่วยออกเสียง ผู้อำนวยการหน่วยออกเสียง และเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียงสองนายเบิกความว่า จำเลยที่สองและสามเดินตามจำเลยที่หนึ่งมาที่หน่วยออกเสียง เมื่อเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ถ่ายภาพในหน่วยไม่ได้จำเลยทั้งสองก็ตอบมาว่าจะถ่ายรูปเพื่อนใช้สิทธิ

จากนั้นจึงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยออกเสียงมากันตัวทั้งสองออกไป นอกจากนี้โจทก์ก็มีพยานซึ่งเป็นกรรมการประจำหน่วยออกเสียงมาเบิกความว่า จำเลยที่สองและสามไปที่บอร์ดติดรายชื่อผู้มีสิทธิเพื่อถ่ายวิดีโอจำเลยที่หนึ่งขณะก่อเหตุ นอกจากนี้พยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำการตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสามมายืนยันว่า จำเลยทั้งสามมีการแชร์วีดีโอตามฟ้องในคดีนี้ร่วมกัน และเมื่อทำการตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสามก็พบว่า มีความเชื่อมโยงกันและมีการแสดงออกทางการเมืองร่วมกันมาโดยตลอด

พยานโจทก์ที่มาเบิกความต่อศาลเป็นเพียงเจ้าพนักงานตามหน้าที่ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงเชื่อว่าเบิกความไปตามจริง เมื่อฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามมีพฤติการณ์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองร่วมกันมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ และในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสามก็ไปถึงสถานที่ออกเสียงในเวลาไล่เลี่ยกัน จำเลยที่สองและสามมีพฤติการณ์จะเข้าไปถ่ายรูปจำเลยที่หนึ่งในหน่วยออกเสียง และเมื่อถูกกันตัวออกจากหน่วยออกเสียงทั้งสองก็ยังรอจะถ่ายวิดีโอ และได้บันทึกเหตุการณ์ขณะที่จำเลยฉีกบัตรและพูดว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" และนำวิดีโอดังกล่าวไปเผยแพร่ในเฟซบุ๊กของจำเลยที่สองและสาม

พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามจึงมีลักษณะเป็นการตระเตรียมการร่วมกัน เพื่อหวังผลแห่งการกระทำของจำเลยที่หนึ่ง ในลักษณะเป็นตัวการร่วม เมื่อการฉีกบัตรของจำเลยที่หนึ่งเป็นผลจากการกระทำในเจตนาร่วม การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงถือเป็นการร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 60(9) อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
 
ปัญหาประการต่อมาที่ต้องวินิจฉัย คือ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ เห็นว่าการใช้สิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย การต่อต้าน เป็นสิ่งที่ทำได้โดยสันติวิธีและทำได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนและต้องชอบด้วยกฎหมาย

ในกรณีนี้เมื่อจำเลยที่หนึ่งรับบัตรลงคะแนนประชามติมาแล้ว กฎหมายบัญญัติว่า จำเลยที่หนึ่งจะต้องลงคะแนนว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น หากจำเลยที่หนึ่งประสงค์จะไม่ลงมติใดๆ ก็ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ และหากจำเลยที่หนึ่งจะทำเครื่องหมายในบัตรออกเสียงประชามติทั้งสองช่องจนทำให้เป็นบัตรเสียก็ไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดให้เป็นความผิด ซึ่งการกระทำดังกล่าวอยู่ในกรอบที่กฎหมายให้การคุ้มครองสิทธิของผู้ออกเสียงทั่วไป 
 
แต่การฉีกบัตรของจำเลยที่หนึ่งเป็นการกระทำที่พ.ร.บ.ประชามติฯ กำหนดให้เป็นความผิด การกระทำของจำเลยที่หนึ่งจึงถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของรัฐ ไม่ใช่การใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีดังที่จำเลยที่หนึ่งกล่าวอ้าง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการร่วมกันก่อให้เกิดความความวุ่นวาย เป็นความผิดตามฟ้อง 
 
ทั้งนี้ การฉีกบัตรของจำเลยที่หนึ่งถือเป็นผลให้เกิดความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา (แยกความผิดฐานฉีกบัตรกับความผิดฐานก่อความวุ่นวายออกจากกัน) จึงไม่ต้องด้วยความเห็นศาลอุทธรณ์ 
 
ส่วนที่จำเลยที่หนึ่งขอให้รอการกำหนดโทษแทนการรอการลงโทษจำคุก เห็นว่า แม้จำเลยที่หนึ่งจะไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน แต่การใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีจะต้องเป็นการกระทำที่ไม่ละเมิดต่อบทกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามมุ่งหวังผลเพื่อเผยแพร่การกระทำที่เป็นการล่วงละเมิดกฎหมาย ชักจูงให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม สามารถทำได้ ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม จึงไม่มีเหตุให้รอการกำหนดโทษ 
 
พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่หนึ่งมีความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 59 วรรค 1 และมาตรา 60 (9) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามบทหนักที่สุด คือ ความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 60 (9) จำคุกหกเดือน ปรับ 6,000 บาท ส่วนจำเลยที่สองและสามมีความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 60 (9) พิพากษาจำคุกหกเดือน ปรับ 6,000 บาท การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกสี่เดือน ปรับ 4,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามมีกำหนด หนึ่งปี 
 
สรุปคำพิพากษาศาลฎีกา
 
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติหรือไม่ เห็นว่า
 
โจทก์มีจารุวรรณ ศรีทองชัย ประธานหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดหน่วยที่สาม เขตบางนา เบิกความเป็นพยานว่าขณะเกิดเหตุเห็นจำเลยที่หนึ่งซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ เดินเข้ามาตรวจสอบสิทธิในหน่วยออกเสียงโดยมีจำเลยที่สองและที่สามเดินตามเข้ามาถ่ายภาพจนเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยกันตัวออกไป จากนั้นจำเลยที่หนึ่งเดินออกมาที่หน้าหีบบัตรโดยไม่ได้ใช้สิทธิหรือหย่อนบัตรลงหีบแต่ได้ยกมือขึ้นตะโดนว่า เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ จากนั้นจึงฉีกบัตรออกเสียงประชามติจนขาดก่อนจำมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยเข้ามาควบคุมตัว

และโจทก์มีอมรินทร์ นนทะโคตร ผู้อำนวยการหน่วยออกเสียงนอกเขตจังหวัดที่สาม เขตบางนา เบิกความเป็นพยานว่าจำเลยที่หนึ่งมาที่หน่วยออกเสียงแต่ไม่ได้ใช้สิทธิ หากแต่ได้ฉีกบัตรประชามติก่อนจำขยำทิ้งลงบนพื้นโดยมีจำเลยที่สองและที่สามคอยถ่ายภาพนิ่งหรือวิดีโอ โจทก์ยังมีพยานปากสุภักตราพรรณ สุวรรณศรี เบิกความเป็นพยานว่าขณะที่จำเลยที่หนึ่งเข้ามาตรวจสอบบัญชีรายชื่อได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยพูดว่าห้ามถ่ายภาพ จากนั้นจึงได้ยินเสียงจำเลยที่หนึ่งตะโกนว่าเผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ
 
นอกจากนั้นยังได้ความจากพยานโจทก์ปากพนักงานสืบสวนที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบการใช้สื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสามด้วยว่ามีการเผยแพร่คลิปวิดีโอขณะเกิดเหตุบนเฟซบุ๊กของจำเลยที่สองและที่สาม จึงเชื่อว่าจำเลยที่สองและที่สามล่วงรู้ถึงการกระทำของจำเลยที่หนึ่ง 
 
การที่จำเลยที่หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ แต่ไม่ได้ทำเครื่องหมายกากบาทใช้สิทธิ หากแต่ตะโกนว่าเผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ ก่อนจะทำการฉีกบัตร โดยมีจำเลยที่สองและที่สามคอยถ่ายวิดีโอบันทึกเหตุการณ์จนเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยต้องเข้ามาระงับเหตุ จึงถือเป็นการก่อความวุ่นวาย
 
ที่จำเลยฎีกาต่อสู้ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต เห็นว่า 
 
มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 กำหนดว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทย มีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่การใช้สิทธิดังกล่าวต้องไม่เป็นการละเมิดต่อบุคคลอื่น หรือเป็นการขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ จำเลยจึงอ้างการใช้สิทธิไม่ได้ 
 
ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการกำหนดโทษ เห็นว่า
 
การกระทำขอจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ มีเจตนาให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นและโน้มน้าวให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ชอบธรรม และเกิดการเลียนแบบ ทั้งศาลอุทธรณ์ได้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามอยู่แล้วจึงไม่มีเหตุให้ต้องรอการลงโทษจำคุก พิพากษายืน

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา