คดีศูนย์ปราบโกงฯ อิมพีเรียลลาดพร้าว

อัปเดตล่าสุด: 21/01/2562

ผู้ต้องหา

จตุพร

สถานะคดี

อื่นๆ

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

สารบัญ

19 มิถุนายน 2559 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เปิดแถลงข่าวจัดตั้งศูนย์ปราบโกงที่ชั้น 5 ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว แต่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าขัดขวาง และต่อมาแกนนำ 19 คนถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558

ในเดือน มกราคม 2562 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบเนื่องจากคำสั่งฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 อันเป็นกฎหมายที่กำหนดให้การกระทำตามข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นความผิดถูกยกเลิกไปแล้ว  

ภูมิหลังผู้ต้องหา

จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. 
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. 
ธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช.
จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย
นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.
นิสิต สินธุไพร แกนนำ นปช.
ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ แกนนำ นปช.
ยงยุทธ ติยะไพรัช แกนนำ นปช.
ก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช.
วีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช.
สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ แกนนำ นปช.
สมหวัง อัสราษี แกนนำ นปช.
ยศวริศ ชูกล่อม แกนนำ นปช.
ธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ แกนนำ นปช.
เกริกมนตรี รุจโสตถิรพัฒน์ แกนนำ นปช.
อารี ไกรนรา แกนนำ นปช.
สมชาย ใจมุ่ง แกนนำ นปช.
พรศักดิ์ ศรีละมุล แกนนำ นปช.
ศักดิ์รพี พรหมชาติแกนนำ นปช.
 

ข้อหา / คำสั่ง

ฝ่าฝืนประกาศคสช. 7/2557
ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

19 มิถุนายน 2559 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จัดงานแถลงข่าวจัดตั้งศูนย์ปราบโกงที่ชั้น 5 ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว ที่ตั้งของสถานีพีซทีวี

พฤติการณ์การจับกุม

2 สิงหาคม 2559
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า แกนนำ นปช. 19 คน เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 7/2558 กรณีชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ที่กองปราบปราม ผู้ต้องหาทุกคนได้ให้การปฏิเสธโดยจะให้ถ้อยคำเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งทางตำรวจได้นัดหมายอีกครั้งในวันที่ 6 กันยายน และได้มอบหมายให้ทนายความมาดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
19 มิถุนายน 2559
 
กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.โชคชัย นำโดย พ.ต.อ.สุพล ค้ำชู ผกก.สน.โชคชัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหนึ่งได้เข้าควบคุมพื้นที่ เพื่อห้ามจัดแถลงข่าวเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ เพราะผิดตามประกาศ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ และพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 
 
จากนั้นได้เชิญแกนนำนปช. สื่อมวลชน และประชาชนที่มาร่วมงานแถลงข่าวออกจากห้องแถลงข่าวทั้งหมด ขณะที่บรรยากาศโดยรอบห้างอิมพีเรียล เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กระจายกำลังดูแลความเรียบร้อยอย่างเข้มงวด ทั้งเข้า-ออก บริเวณทางเข้าลานจอดรถ 
 
จากนั้น จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. ธิดา ถาวรเศรษฐ และนพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปช. ได้เดินทางมายังจุดแถลงข่าวพร้อมเจรจากับตำรวจเพื่อเข้าไปแถลงข่าว แต่ถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ ทางแกนนำจึงได้ย้ายมาแถลงข่าวบริเวณหน้าประตู
22 มิถุนายน 2559
 
ประชาไท รายงานว่า พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ได้เดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม และมีการออกหมายเรียกแกนนำ นปช. ทั้ง 19 คน มารับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 30 มิถุนายน ที่กองบังคับการกองปราบปราม หากไม่เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ทางพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกไปอีก 1 ครั้ง และถ้าไม่มาพบอีกพนักงานสอบสอบจะออกหมายจับดำเนินคดีต่อไป
 
 
29 มิถุนายน 2559
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของแกนนำ นปช.ทั้ง 19 คน ขอเลื่อนกำหนดการในการรับทราบข้อกล่าวหา โดยให้เหตุผลว่ายังไม่พร้อมที่จะเข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ทั้งนี้ได้ขอเลื่อนการเข้ามารับทราบข้อกล่าวหาอีกครั้งในวันที่ 15 ก.ค.ที่จะถึงนี้ 
 
14 กรกฎาคม 2559
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของแกนนำและแนวร่วม นปช. รวม 19 คน ขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาอีกครั้ง เพราะบางคนยังไม่ได้รับหมายเรียก ประกอบกับต้องใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐาน ประกอบการชี้แจงต่อพนักงานสอบสวน จึงขอเลื่อนออกไปอีก 15 วัน และยืนยันว่า ทุกคนไม่คิดที่จะหลบหนี ซึ่งขณะนี้ ทีมทนายความ อยู่ระหว่างเข้าพบพนักงานสอบสวน ว่า จะอนุญาตให้กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาอีกหรือไม่
       
เบื้องต้นทางพนักงานสอบสวนได้ทำการรับเรื่อง พร้อมลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ก่อนนำเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาว่าจะอนุญาตให้กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาอีกหรือไม่ 
 
 
2 สิงหาคม 2559
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า แกนนำ นปช. 19 คน เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 7/2558 กรณีชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ที่กองปราบปราม ผู้ต้องหาทุกคนได้ให้การปฏิเสธโดยจะให้ถ้อยคำเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งทางตำรวจได้นัดหมายอีกครั้งในวันที่ 6 กันยายน และได้มอบหมายให้ทนายความมาดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง
 
 
5 กันยายน 2560
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การจำเลย วันนี้จำเลยและทนายความจำเลยมาศาล โดยจตุพร พรหมพันธุ์ และยศวริศ ชูกล่อม ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำก็ถูกพาตัวมาศาลด้วย ในวันนี้มีผู้มาให้กำลังใจติดตามาจำนวนมาก รวมทั้งภรรยาและญาติของจำเลยบางคน เมื่อรวมกับจำเลยและทนายความแล้วก็เต็มความจุของห้องพิจารณาคดีที่ 2 
 
เมื่อศาลขึ่นบัลลังก์ ในเวลาประมาณ 10.00 น. หนึ่งในทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ศักดิ์รพี พรหมชาติ หนึ่งในจำเลยไม่สามารถมาศาลได้ เพราะมีอาการป่วยด้วยโรคฝีคัณฑสูตร และเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดที่โรงพยาบาลเมื่อวานนี้ โดยได้นำใบรับรองเเพทย์มาแสดงต่อศาล ศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนวันนัดสอบคำให้การจำเลยออกไปก่อน คู่ความและศาลตกลงหาวันนัดใหม่ที่วางตรงกันได้เป็นวันที่ 7 มีนาคม 2561
 
7 มีนาคม 2561
 
นัดสอบคำให้การ
 
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า ในวันนี้ผู้ต้องหาสิบแปดคนรวมทั้งจตุพรที่อยู่ระหว่างรับโทษจำคุกที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมาศาล โดยมีผู้ต้องหาหนึ่งคนคือศักดิ์ระพีที่ไม่ได้มาศาลเพราะป่วยกระทันหันเนื่องจากอาหารเป็นพิษโดยมีใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อศาล ทนายจำเลยจึงแถลงต่อศาลขอให้เลื่อนการสอบคำให้การนัดนี้ออกไปก่อน อัยการทหารแถลงไม่คัดค้าน ศาลนัดสอบคำให้การคดีนี้อีกครั้งในวันที่ 17 กรกฎาคม 2561  
 
17 กรกฎาคม 2561
 
นัดสอบคำให้การ
 
ตั้งแต่เวลาประมาณ 8.30 น. ประชาชนประมาณ 30 คน เดินทางมาที่หน้าศาลทหารกรุงเทพเพื่อรอให้กำลังใจแกนนำนปช. 19 คน ซึ่งมีกำหนดให้การต่อศาลทหารในวันนี้ โดยจำเลย 18 คนทยอยเดินทางมาที่ศาลตั้งแต่เวลาประมาณ 8.30 น. จนถึงเวลาประมาณ 10.00 น. การรักษาความปลอดภัยที่หน้าศาลในวันนี้เป็นไปอย่างเข้มงวด ประชาชนที่มารอสังเกตการณ์และให้กำลังใจจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้เดินขึ้นชั้นสองของอาคารกรมพระธรรมนูญซึ่งเป็นห้องพิจารณาคดี 
 
ในเวลาประมาณ 10.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารนายหนึ่งเดินมาแจ้งกับผู้สื่อข่าวที่รอทำข้าวอยู่หน้าอาคารศาลว่าจะสามารถให้ผู้สื่อข่าวสองคนขึ้นไปร่วมฟังการพิจารณาคดีในห้องพิจารณาคดีได้ แต่ปรากฎว่าไม่มีผู้สื่อข่าวคนใดแสดงความประสงค์ที่จะขึ้นไปบนห้องพิจารณาคดี
 
ในเวลาประมาณ 11.00 น. ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และจำเลยในคดีรวม 17 คน ยกเว้นจตุพรที่อยู่ระหว่างรับโทษจำคุกคดีหมิ่นประมาท อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีเดินลงมาด้านหน้าอาคารกรมพระธรรมนูญ ณัฐวุฒิเป็นตัวแทนแถลงข่าวว่าในวันนี้อารีย์ หนึ่งในจำเลยคดีนี้มีอาการป่วยไม่สามารถมาศาลได้และได้นำใบรับรองแพทย์มามอบให้ศาลเป็นหลักฐาน ศาลอนุญาตให้เลื่อนการสอบคำให้การออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 21 กันยายน 2561
 
หลังเสร็จกระบวนพิจารณาจำเลยในคดีนี้ทยอยเดินทางกลับแต่กลุ่มประชาชนที่มารอให้กำลังใจยังไม่เดินทางกลับแต่ไปรอที่บริเวณทางลงชั้นใต้ดินซึ่งเป็นที่ตั้งห้องควบคุมตัวผู้ต้องหาของศาลทหารกรุงเทพเพื่อรอส่งจตุพรขึ้นรถกลับเรือนจำ ในเวลาประมาณ 11.30 น. เมื่อจตุพรถูกนำตัวขึ้นมาจากห้องควบคุมเพื่อขึ้นรถกลับเรือนจำพิเศษกรุงเทพกลุมประชาชนที่มารอให้กำลังใจได้เข้าไปทักทายจตุพรจนกระทั่งรถของเรือนจำพิเศษกรุงเทพขับออกไปกลุ่มประชาชนจึงแยกย้ายกันเดินทางกลับ
 
21 กันยายน 2561
 
นัดสอบคำให้การ
 
ตั้งแต่เวลาประมาณ 8.30 น. จำเลย 18 คนยกเว้นนพ.เหวงซึ่งอยู่ระหว่างพักฟื้นจากอาการปอดอักเสบเดินทางมาถึงศาลจนครบคนในเวลาประมาณ 10.30 น. กระบวนพิจารณาที่ห้องพิจารณาคดี 5 จึงไปเริ่มในเวลาประมาณ 11.00 น.
 
สำหรับบรรยากาศที่หน้าศาลทหารกรุงเทพ ตั้งแต่เวลาประมาณ 8.00 น. ก็มีผู้สื่อข่าวและประชาชนประมาณ 10 คน มารอให้กำลังใจกลุ่มแกนนำที่ถูกดำเนินคดี

จตุพร ซึ่งเดินทางมาถึงศาลในเวลาประมาณ 9.30 น.ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับคดีสั้นๆว่า เหตุแห่งคดีนี้เป็นเพียงการแถลงข่าว ไม่ใช่การชุมนุมดังที่กฎหมายห้ามไว้ สำหรับการประชามติก็เป็นธรรมดาที่มีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยซึ่งพวกเขาไม่เห็นด้วย สำหรับการต่อสู้คดีก็มีความพร้อมและยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
 
ก่อนที่ศาลจะขึ้นบัลลังก์ในเวลา 11.00 น. ทนายจำเลยได้นำใบรับรองแพทย์ของนพ.เหวงพร้อมคำแถลงขอเลื่อนนัดการพิจารณาไปยื่นต่อศาล เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ก็แจ้งกับทนายจำเลยว่า

ตามที่ทนายจำเลยแถลงขอเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปอีกนัดหนึ่งเนื่องจากนพ.เหวง หนึ่งในจำเลยป่วยด้วยโรคปอดอักเสบต้องพักฟื้นอยู่ที่บ้าน ศาลเห็นว่านัดนี้เป็นเพียงนัดสอบคำให้การที่จำเลยเพียงแต่ให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธเท่านั้น ยังไม่ได้มีการสืบพยานในเนื้อหาแห่งคดี จึงเห็นควรให้จำเลยคนอื่นให้การไปก่อนเลยเนื่องจากคดีนี้เคยมีการเลื่อนนัดมาสี่ครั้งแล้ว

ศาลชี้แจงต่อว่าสำหรับนพ.เหวง สามารถมาให้การในนัดต่อไปได้โดยอิสระ หลังศาลชี้แจงกรณียกคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลย ก็ถามว่าทนายจะคัดค้านหรือไม่ ทนายจำเลยแถลงว่าไม่คัดค้าน หลังจากนั้นศาลถามจำเลยที่มาทั้งสิบแปดคนว่าพร้อมให้การหรือไม่ จำเลยทั้งหมดแถลงว่าพร้อมให้การ ศาลจึงเริ่มอ่านบรรยายฟ้องให้จำเลยฟังซึ่งสรุปได้ว่า
 
ในวันที่ 1 เมษายน 2558 หัวหน้าคสช.ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งข้อ 12 กำหนดห้ามการชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปในที่สาธารณะยกเว้นได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช.หรือผู้รับมอบอำนาจจากหัวหน้าคสช. จำเลยทั้ง 19 คนซึ่งทราบคำสั่งดังกล่าวได้บังอาจฝ่าฝืนด้วยการจัดการแถลงข่าวเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติในวันที่ 19 มิถุนายน 2559 ที่ห้างบิ๊กซีลาดพร้าว

จำเลยส่วนหนึ่งมีพฤติการณ์สลับเปลี่ยนกันปราศรัยโจมตีรัฐบาลและอีกส่วนหนึ่งนั่งฟังอยู่ร่วมในที่เกิดเหตุ นอกจากการฟ้องคดีเรื่องการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. อัยการยังแถลงขอให้ศาลเพิ่มโทษกับจำเลยบางคนที่เคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษมาไม่ถึง 5 ปี นอกจากนี้จำเลยในคดีนี้บางคนก็มีคดีอาญาซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ที่ศาลอื่น อัยการทหารจึงแถลงขอให้ศาลนำโทษคดีนี้ไปนับต่อจากโทษคดีอื่นที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเหล่านั้นด้วย
 
หลังอ่านบรรยายฟ้อง จำเลยทั้งหมดแถลงว่าเข้าใจฟ้องและขอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
 
สำหรับจำเลยที่อัยการขอให้เพิ่มโทษทั้งจำเลยที่เพิ่งพ้นโทษจำคุกจากคดีอื่นไม่ถึงห้าปี และจำเลยที่อยู่ระหว่างต่อสู้คดีในศาลอื่น ทนายจำเลยแถลงว่าจะทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรส่งศาลภายใน 15 วัน เนื่องจากต้องตรวจสอบหมายเลขคดีและรายละเอียดของคดีเหล่านั้นว่าเป็นการขอเพิ่มโทษหรือขอนับโทษที่ชอบหรือไม่ ศาลอนุญาตตามคำขอ 
 
หลังเสร็จสิ้นการสอบคำให้การ ศาลถามทนายจำเลยว่า ตามที่ใบรับรองแพทย์ของนพ.เหวงระบุว่าให้พักฟื้นถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ศาลเห็นว่าน่าจะนัดพิจารณาคดีนัดต่อไปปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายนเลยเพื่อให้จำเลยมีโอกาสพักฟื้นร่างกายอย่างเต็มที่ 
 
จตุพรจำเลยที่หนึ่งลุกขึ้นแถลงว่าโรคของนพ.เหวงเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจที่อาจติดต่อบุคคลอื่น จึงอยากขอให้เลื่อนไปพิจารณาต้นปีหน้าเลย
 
ศาลชี้แจงว่าคดีนี้ล่าช้ามานานแล้วอย่างน้อยก็น่าจะกำหนดนัดพิจารณาคดีช่วงเดือนธันวาสักหนึ่งนัดแต่จตุพรแถลงขอความกรุณาศาลให้ไปนัดเดือนมกราคมปี 2562 เลยเพื่อให้นพ.เหวงหายขาดเสียก่อน ศาลจึงอนุญาต จากนั้นคู่ความจึงนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันที่ 16 มกราคม 2562 เวลา 8.30 น. ศาลแจ้งอัยการทหารด้วยว่า ให้ไปแถลงขอสืบพยานหลังจำเลยทุกคนให้การครบแล้ว
 
16 มกราคม 2562
 
นัดสอบคำให้การเพิ่มเติม
 
จำเลยคดีนี้ทยอยมาถึงศาลทหารกรุงเทพตั้งแต่เวลาประมาณ 08.30 น. โดยบริเวณหน้าศาลทหารกรุงเทพมีผู้สื่อข่าว และประชาชนประมาณ 20 คน มารอให้กำลังใจกลุ่มแกนนำที่ถูกดำเนินคดี เมื่อจำเลยแต่ละคนเดินทางมาถึงศาลได้ทักทายผู้ที่มาให้กำลังใจ และเดินขึ้นห้องพิจารณาคดีทันที
 
ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 11.10 น. เนื่องจากรอจำเลยที่ยังมาไม่ครบ ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า วันนี้จำเลยมาศาลทั้งหมด 18 คน ขาด ศรัณย์วุฒิ จำเลยที่ห้า ซึ่งมีอาการป่วย ไม่สามารถเดินทางมาศาลทันในช่วงเช้าได้

ศาลถามทนายจำเลยว่า สามารถเลื่อนการพิจารณาคดีไปในช่วงบ่ายได้หรือไม่ ทนายจำเลยแถลงว่า ในช่วงบ่ายติดภารกิจจึงขอให้ศาลพิจารณาคดีไปก่อนในช่วงเช้านี้ ศาลเห็นว่า เหตุของการไม่มาศาลของจำเลยที่ห้าฟังขึ้น จึงดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อ 
 
จตุพร จำเลยที่หนึ่งแถลงต่อศาลว่า  
 
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นต่อคำร้องที่กลุ่มประชาชนร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 ออกมายกเลิก คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อที่ 12 แล้ว จึงไม่มีสาเหตุต้องวินิจฉัยในข้อกฎหมายข้อนี้อีก 
 
นอกจากนี้ก็มีกรณีที่ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษายกฟ้องคดี "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" โดยให้เหตุผลว่า มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 มายกเลิก คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อที่ 12 แล้ว ทำให้การกระทำตามฟ้องไม่มีความผิดรองรับ จึงให้ยกฟ้องในคดีนั้นไป จึงขอให้ศาลพิจารณาตามแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาที่มีมาแล้วก่อนหน้านี้
 
หลังจากจตุพรแถลงต่อศาลแล้ว ศาลถามคำให้การจำเลยที่มาศาลวันนี้อีกครั้ง และอ่านคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 ออกมาให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยในคดีนี้แล้ว และมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง จึงเป็นกรณีที่ตามหลักกฎหมายที่บัญญัติภายหลังมีผลให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งห้าไม่มีความผิดบัญญัติไว้ จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานทั้งหมด และให้จำหน่ายคดี 
 
ศาลยังเน้นย้ำถึงข้อความในข้อ 2 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 ว่า ในส่วนการกระทำที่ได้กระทำไปตามประกาศและคำสั่งของ คสช. ก่อนหน้านี้ไม่กระทบกระเทือนหรือไม่เสียไป 
 
ในส่วนของ ศรัณย์วุฒิ จำเลยที่ห้าซึ่งไม่มาศาล ศาลนัดให้มาฟังคำสั่งในวันที่ 31 มกราคม 2562 
 
หลังจากศาลพิจารณาคดีเสร็จจำเลยทั้ง 18 คน ก็เดินทางออกจากห้องพิจารณาคดี และแยกย้ายกันเดินทางกลับอย่างรวดเร็ว 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา