พูดเพื่อเสรีภาพ: ขอนแก่น

อัปเดตล่าสุด: 28/11/2562

ผู้ต้องหา

จตุภัทร์

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที 31 กรกฎาคม 2559  กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ และขบวนการประชาธิปไตยใหม่ภาคอีสาน จัดงานเสวนา “พูดเพื่อเสรีภาพ ร่างรัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” ที่อาคารจตุรมุข คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยก่อนหน้าวันจัดงานหนึ่งวันเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และพนักงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้ามาขอความร่วมมือให้ยุติการจัดกิจกรรมดังกล่าว แต่ผู้จัดยังคงยืนยันที่จะจัดกิจกรรมต่อไป

กระทั่งวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น ออกหมายเรียกข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง   โดยผู้เกี่ยวข้องเป็นนักศึกษาได้แก่ จตุภัทร์,ฉัตรมงคล,และณรงฤทธิ์  ขณะเดียวกัน ณัฐพร นักกิจกรรมกลุ่มอิสานใหม่ก็ถูกข้อกล่าวหานี้ด้วย  แม้กระทั่งผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างดวงทิพย์และนีรนุชก็ได้รับหมายเรียกและข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้ด้วย  ทั้ง 6 คนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองขอนแก่นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559 และต่อมาตำรวจยังออกหมายเรียกเพิ่มอีก 5 คน รวมเป็น 11 คน

ภูมิหลังผู้ต้องหา

จตุภัทร์  หรือ 'ไผ่ ดาวดิน' อายุ 25 ปี กำลังศึกษาอยู่คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น และเป็นนักกิจกรรมสมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ก่อนถูกดำเนินคดีนี้จตุภัทรเคยถูกคุมขังจากกรณีแจกเอกสารวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฯที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิและพึ่งได้รับการประกันตัวในวันที่ 23 สิงหาคม 2559 
 
จตุภัทร์ยังมีคดีเก่าอีกสองคดี ได้แก่ คดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. กรณีร่วมกับพวกทำกิจกรรมต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งอัยการทหารจังหวัดขอนแก่นสั่งฟ้องแล้ว และคดีชุมนุมของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่กรุงเทพมหานคร
 
ในเดือนธันวาคม 2559 จตุภัทร์ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯหลังเขาใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่สิบ เขาได้รับการประกันตัวระยะสั้นๆก่อนถูกถอนประกันในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 และถูกคุมขังในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นเรื่อยมา
 
ณัฐพร  หรือ 'บี' อายุ 35 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะวารสารศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เคยทำงานเป็นผู้ประสานงาน รายการเวทีสาธารณะ ช่อง ThaiPBS ปัจจุบันเธอเป็นหนึ่งในกลุ่มคนทำงานภาคประชาสังคม ในพื้นที่อีสาน
 
ณรงค์ฤทธิ์ หรือ 'ดิว'อายุ 20 ปี กำลังศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์ ม.ขอนแก่น เป็นนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ เคยร่วมกิจกรรมปล่อยลูกโป่งรณรงค์ไม่ผิดที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นและกิจกรรมศึกษาปัญหาเหมืองแร่โปแตชที่จังหวัดอุดรธานี

อาคม หรือ 'ป๊อด' อายุ 20 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น เป็นนักกิจกรรมสมาชิกกลุ่มดาวดิน
 
ดวงทิพย์ หรือ 'มะฟาง' เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลภาคตะวันออกเฉียงเหนือของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ทำงานเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนมาเป็นเวลาประมาณสามปี
 
นีรนุช หรือ 'น้อง' เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลภาคตะวันออกเฉียงเหนือของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นชาวจังหวัดลพบุรี แต่มาใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดมุกดาหาร ตั้งแต่เรียนจบมานีรนุชก็ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรภาคประชาชนทั้งในชุมชนแออัดคลองเตย และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาอย่างต่อเนื่อง

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 เธอทำงานเก็บข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน กับศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) และผันตัวเองไปเป็นเกษตรกรอยู่หลายปี ก่อนจะกลับมาทำงานในตำแหน่งปัจจุบัน
 
ผศ.พรรณวดี อดีตอาจารย์บัณฑิตศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
นพ.เชิดชัย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย
 
รังสิมันต์ โรม ปัจจุบันเป็นนักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เคยถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลายคดีได้แก่คดีการชุมนุมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ คดีชุมนุมรำลึกหนึ่งปีการรัฐประหารที่หอศิลป์กรุงเทพ และคดีขบวนการประชาธิปไตยใหม่แจกใบปลิวรณรงค์ประชามติที่บางพลี
 
ภาณุพงศ์ หรือไนซ์ เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน เคยมีประสบการณ์ลงพื้นที่กับชาวบ้านที่คัดค้านการทำปิโตรเลียมในจังหวัดกาฬสินธุ์ ภานุพงศ์ เคยถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลจังหวัดขอนแก่นกรณีแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าศาล คดีนักศึกษาชุมนุมครบรอบการรัฐประหารและคดีชุมนุมขบวนการประชาธิไตยใหม่


 
 
 

 

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
ชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป ขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

จตุภัทร์  เล่าเหตุการณ์วันที่ 30-31 กรกฎาคม 2559 ว่าเขาจัดเวทีพูดเพื่อสิทธิเสรีภาพของคนอีสาน และจัดรูปแบบกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ใครที่อยากพูดอะไรก็ได้เรื่องรัฐธรรมนูญที่จะลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 การจัดเวทีกิจกรรมนี้เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนอีสานและประชาชนทุกคน จึงอยากอธิบายว่ารัฐธรรมนูญเกี่ยวกับชีวิตเราอย่างไร มีข้อน่ากังวลในส่วนใดบ้าง และมีใครคิดเห็นอย่างไรต่อร่างรัฐธรรมนูญฯดังกล่าว

“วันนั้นทำหน้าที่จัดเวที เป็นพิธีกรในการดำเนินงาน เราก็พูดเรื่องสถานการณ์รัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับชีวิตเราอย่างไร หน้าที่ประชาชนและพวกเราเกี่ยวข้องอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ และพอโดนข้อหานี้ เราก็รู้สึกว่าเจ้าหน้าที่เขาอยากจะทำอะไรเขาก็ทำ เขาไม่มีเหตุผล วันนี้ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำเพราะเหตุผลอะไรถึงโดนคำสั่งที่ 3/2558 เราก็จะไปรู้ตอนรับทราบข้อกล่าวหา เราคิดว่ามันไม่ชอบธรรม มันเป็นเรื่องที่เราสามารถทำได้ แต่เขาห้ามเราจัด แล้วก็มีคดีให้เราด้วย เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งมันทำให้สังคมนี้ไม่มีพื้นที่สำหรับคนที่เห็นต่างเห็นแย้ง ต้องเห็นด้วยเท่านั้น แต่ถ้าเห็นแย้งก็โดนจับอย่างนี้ตลอด ต่อจากนี้เราก็ต้องต่อสู้เพื่อยืนยันความยุติธรรม"
 
ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวกับประชาไทว่า วันที่ขึ้นไปพูดบนเวทีเรื่องสิทธิเสรีภาพกับการจัดงาน เสรีภาพในการพูด เราพูดเชิงความรู้สึกถึงเรื่องที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่ให้พวกเราจัดงาน เราแค่ตั้งคำถามว่าทำไมต้องไม่ให้เราจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพฯ เราพูดบอกบนเวทีว่าให้พวกเขาคำนึงไว้ว่าพวกเขาพยายามจะฝังเรา พวกเขาไม่รู้ว่าเราคือเมล็ดพันธุ์ ยิ่งกดเรา เราก็ยิ่งเติบโตขึ้น พอวันที่ทราบว่าเราโดนแจ้งข้อหานี้ ถ้าจะบอกว่าไม่เครียดเลยก็คงไม่ใช่ แต่เราก็ยังมีเพื่อนๆ พี่ๆ ชาวบ้านที่เขามาให้กำลังใจ มันเหมือนกับว่าพวกเราก็ไม่ได้ทิ้งกัน
 
ฉัตรมงคล วันนั้นกลุ่มกิจกรรมแค่ตั้งใจจะพูดเพื่อเสรีภาพของคนอีสานก่อนลงประชามติ เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยกันและเราก็มาช่วยเพื่อนที่ทำกิจกรรม ทั้งๆ คือกลุ่มจัดงานคือ กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ภาคอีสานและกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ แต่ตนที่เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดินเข้ามาช่วย เนื่องจากมีเหตุการณ์ไม่ค่อยดีเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2559 ซึ่งมีการกดดันให้ผู้จัดกิจกรรมให้เอาโต๊ะเก้าอี้ที่เตรียมไว้จัดงานไปเก็บที่เดิมไม่ให้จัดงานต่อ ทั้งที่อนุญาตไปแล้วก่อนหน้านั้น ตนและเพื่อนๆ จึงเข้าไปขอเจรจากับคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งไปกันเป็นกลุ่มและส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา กลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมก็เลยอยู่เฝ้าพื้นที่ตั้งแต่คืนที่ 30 กรกฎาคม 2559 จนถึงช่วงเช้าวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ช่วงประมาณ 10 เกือบ 11 โมง ตนก็ออกจากงานกลับไปพักผ่อนและไม่ได้อยู่รอจนงานจบ
 
จนกระทั่งเช้าวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 วันที่มีกำหนดจัดกิจกรรม ผู้จัดงานยืนยันเดินหน้าจัดกิจกรรมต่อไปท่ามกลางการปิดกั้นทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการตัดน้ำ-ไฟบริเวณที่จัดงาน เก้าอี้และเครื่องเสียงถูกร้านให้เช่าเอาคืนเพราะตำรวจกดดัน และการที่ตำรวจเข้ารื้อฉากเวทีและยึดเอกสารที่ผู้จัดงานเตรียมไว้ด้วย
 
ส่วนณัฐพร  วันที่  31 กรกฎาคม 2559 มาเข้าร่วมงานในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่อยากรู้และเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญ เธอเล่าว่า วันนั้นชาวบ้านในพื้นที่อีสานบางส่วนถูกปิดกั้นโอกาสการได้รับข้อมูลในงานที่จัดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ ทหารนอกเครื่องแบบ และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเช่น กรณีของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจำนวนประมาณ 10 คนนั่งอยู่บนรถกระบะที่กำลังมุ่งตรงเข้ามาในงาน แต่เจ้าหน้าที่เข้ามาพูดคุยกับชาวบ้านกลุ่มนี้ให้กลับออกไป บีที่เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว จึงตัดสินใจเดินเข้าไปถามเจ้าหน้าที่ว่า ทำไมไม่ให้รถของชาวบ้านเข้ามาข้างใน และเธอเสนอให้ชาวบ้านเดินเข้ามาในงาน เพื่อเข้ามาร่วมกิจกรรมในงาน เจ้าหน้าที่จึงยอมรับข้อเสนอของเธอ
ขณะเดียวกันเนื่องจากมีทหารนอกเครื่องแบบ คอยถ่ายรูปอยู่ภายในงานตลอดเวลา การแสดงความคิดเห็นของชาวบ้านจึงเป็นไปด้วย 'ความเงียบ' เพราะเกรงกลัวต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูลก่อนตัดสินใจไปลงเสียงประชามติ
 
ดวงทิพย์ผู้สังเกตการณ์เล่าว่า วันนั้นเข้าไปสังเกตการณ์เหมือนที่ทำเป็นปกติ ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรม หรือแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่เลย บรรยากาศที่สังเกตเห็นในวันนั้นคือ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่บริเวณที่จัดงานจำนวนมาก และจะคอยเข้ามากดดันคนจัดงานอยู่เรื่อยๆ โดยให้อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์เป็นคนออกหน้าคุยกับคนจัดงาน เธอจึงเดินดูรอบๆ ว่าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอะไรหรือไม่ แต่ก็ไม่เห็นว่าเจ้าหน้าที่จะใช้กำลังหรือใช้ความรุนแรงใด
 
เมื่อกิจกรรมดำเนินไป นีรนุช ผู้สังเกตการณ์อีกหนึ่งคนเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ต่อในช่วงบ่าย กระทั่งเวลาประมาณ 16.00น. เมื่อตำรวจจากสภ.เมืองขอนแก่น นำประกาศเข้ามาติดในบริเวณที่จัดกิจกรรมสั่งให้เลิกการชุมนุมภายในเวลา 16.30 น. โดยอ้างอำนาจตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ นีรนุชซึ่งสังเกตการณ์อยู่จึงได้อธิบายกับกลุ่มผู้จัดกิจกรรมว่า ขั้นตอนตามกฎหมายหลังจากการติดประกาศแจ้งแล้ว ตำรวจก็ยังใช้กำลังเข้าบังคับทันทีไม่ได้ แต่ตำรวจจะใช้กำลังบังคับให้ออกจากสถานที่จัดกิจกรรมได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลก่อนแล้วเท่านั้น นอกจากนี้เธอยังช่วยอธิบายว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ที่ตำรวจอ้างถึงนั้นมีบทยกเว้นอยู่ว่า ไม่ใช้บังคับใช้กับการชุมนุมในสถานศึกษา

 

พฤติการณ์การจับกุม

ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกออกหมายเรียกย้อนหลังโดยไม่มีการควบคุมตัวหรือแจ้งข้อกล่าวหาในวันที่จัดกิจกรรม ผู้ต้องหาแปดคนเข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว

ผศ.พรรณวดี และนพ.เชิดชัยที่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าเข้าพบพนักงานสอบสวนแล้วหรือยังส่วนรังสิมันต์ปฏิเสธที่จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาหรือร่วมกระบวนการใดๆเนื่องจากเห็นว่ากฎหมายที่ออกโดยคสช.ไม่มีความชอบธรรม

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารจังหวัดขอนแก่น

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง


 

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

30 กรกฎาคม 2559

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ระหว่างที่ผู้จัดงาน "พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?" กำลังเตรียมจัดสถานที่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับงานในวันที่ 31 กรกฎาคม 2559  ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ชุมชน รักษาการแทนคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้ามาแจ้งกับกลุ่มผู้จัดกิจกรรมว่า

ไม่สามารถให้จัดงานได้ เพราะสำนักนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง และหากมีการจัดกิจกรรมจะทำให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นกลาง

อย่างไรก็ตามผู้จัดยืนยันว่าจะจัดงานต่อเพราะได้ทำหนังสือขอใช้สถานที่ถูกต้องแล้ว และได้ชำระค่ามัดจำสถานที่ไปแล้ว นอกจากนี้ก็ได้ประชาสัมพันธ์งานไปแล้ว มีรายงานด้วยว่าในช่วงกลางดึกที่เจ้าหน้าที่เข้ามาสั่งให้ยุติการจัดงาน เจ้าหน้าที่ได้ขนเก้าอี้ออกจากบริเวณที่จัดงานและกดดันให้รถเครื่องเสียงออกจากพื้นที่



ผู้สื่อข่าวประชาไทสัมภาษณ์กรณีเจ้าหน้าที่ขอให้ยุติการจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพ วิดีโอของ ประชาไท

31 กรกฎาคม 2560

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในเวลาประมาณ เวลา 10.58 น. ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน และ ดร.ยุพิน ผาสุข รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยและทหารตำรวจประมาณ 30 นาย นำหนังสือของคณะเกษตรศาสตร์ เรื่อง ให้ระงับการจัดกิจกรรมและออกจากพื้นที่ภายในเวลา 11.30 น. มาให้ผู้จัดงานเซ็นรับทราบ

โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่าหากไม่ออกจากสถานที่ตามกำหนดจะถือว่าเป็นการบุกรุกสถานที่ราชการ แต่กลุ่มผู้จัดงานไม่ยอมลงลายมือชื่อ

เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งกับผู้จัดว่าการจัดงานครั้งนี้เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และได้ดำเนินการรื้อป้ายรณรงค์โหวตโนที่ติดเป็นฉากหลังบนเวที รวมทั้งยึดเอกสารได้แก่

แถลงการณ์นิติราษฎร์ ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ,  ความเห็นแย้งเล่ม 2 คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ, แผ่นพับก้าวข้าม “ไม่รับ” กับอนาคตที่ไม่ได้เลือก, แผ่นพับ “รับไปก่อน แก้ทีหลัง”, แผ่นพับ “เหตุผลไม่รับร่าง รธน.7 สิงหาคม 59 ประชามติเพื่ออนาคต” ไปด้วย

Authorities tearing background of Talk for Freedom event in Khonkhean University

เจ้าหน้าที่รื้อเวทีที่มีป้ายรณรงค์ Vote No ภาพของ TLHR

เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทำการรื้อเก้าอี้ออกไปแล้วผู้มาร่วมงานจึงต้องนั่งพื้น

ในเวลาประมาณ 16.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำประกาศสภ.ขอนแก่น เรื่องให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในเวลาที่กำหนด คือ 16.30 น.โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าตามกฎหมาย

รวมทั้งเข้าข่ายเป็นการรบกวนการปฎิบัติงานหรือใช้บริการสถานที่ของทางราชการ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 8(1) ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯด้วย อย่างไรก็ตามแม้จะมีการคุกคามจากเจ้าหน้าที่แต่กลุ่มผู้จัดก็ยังคงจัดงานต่อไปจนกระทั่งจบงานในเวลาประมาณ 17.00 น.

ในส่วนของการดำเนินคดีกับผู้จัดกิจกรรม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงบ่ายระหว่างที่กิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพกำลังดำเนินไป ฝ่ายนิติกร กกต. จังหวัดขอนแก่น พร้อมกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองขอนแก่น กล่าวหากลุ่มผู้จัดงานในความผิดฐานบุกรุกสถานที่ราชการและความผิดตามพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ

17 สิงหาคม 2559

ประชาไทรายงานว่า ได้รับรายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า จตุภัทร์ หนึ่งในผู้ร่วมจัดกิจกรรมซึ่งอยู่ระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำภูเขียวจากกรณีแจกใบปลิวรณรงค์ประชามติ ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีนี้ที่สภ.ขอนแก่น ในวันที่ 18 สิงหาคม 2559

หมายเรียกฉบับดังกล่าวระบุข้อหา “ร่วมกันขัดคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ” และให้จตุภัทร์ ผู้ต้องหาที่หนึ่ง ไปรับทราบข้อกล่าวที่ สภ.เมืองขอนแก่น ในวันที่ 18 ส.ค.เวลา 10.00 น. อย่างไรก็ตามเนื่องจากจตุภัทร์อยู่ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำภูเขียว

ภาวิณี ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่าจะดำเนินการแจ้งเหตุขัดข้องไปที่สภ.ขอนแก่นเพื่อขอเลื่อนนัดในวันที่ 18 มิถุนายน 2559

ภาวิณีระบุด้วยว่าเจ้าหน้าที่จะเรียกผู้ต้องหาในคดีนี้มารับทราบข้อกล่าวหาอีกหกคนแต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อว่าเป็นบุคคลใดบ้าง
 

Jatupat's summon in the Talk for Freedom case

หมายเรียกผู้ต้องหาที่ส่งถึงจตุภัทร์ จาก ประชาไท

18 สิงหาคม 2559

ประชาไทรายงานว่า ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทำหนังสือถึงพนักงานสอบสวนสภ.ขอนแก่นเพื่อขอเลื่อนนัดของจตุภัทร์ เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายฯยังสอบถามเจ้าหน้าที่ด้วยว่านอกจากจตุภัทร์มีใครถูกดำเนินคดีอีกบ้าง เจ้าหน้าที่ตอบว่ามีบุคคลอีกห้าคนได้แก่

อาคม (เดิมชื่อฉัตรมงคล) จากกลุ่มดาวดิน ณรงค์ฤทธิ์ จากกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ณัฐพร จากขบวนการอีสานใหม่ ดวงทิพย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ นีรนุช เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อรวมกับจตุภัทร์มีคนถูกตั้งข้อหาในคดีนี้รวมหกคน โดยทนายและพนักงานสอบสวนสภ.ขอนแก่นกำหนดวันเข้าพบพนักงานสอบสวนของผู้ต้องหาทั้งหกใหม่เป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2559

31 สิงหาคม 2559

จตุภัทร์, อาคม, ณรงค์ฤทธิ์, ณัฐพร, ดวงทิพย์และนีรนุชร่วมกันเดินเท้าไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.เมืองขอนแก่นโดยมีผู้สังเกตการณ์ร่วมเดินเท้าไปด้วยจำนวนหนึ่ง
 

Accused persons in the Talk for Freedom case marched to Khonkhean Police Station on 31 August 2016

ผู้ต้องหาในคดี "พูดเพื่อเสรีภาพ" เดินเท้าไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.เมืองขอนแก่น

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา ขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมทั้งแจ้งพนักงานสอบสวนว่าจะส่งคำให้การเป็นเอกสาร โดยพนักงานสอบสวนนัดให้ส่งคำให้การในวันที่ 4 ตุลาคม 2559

ในเวลาประมาณ 13.00 น. ผู้ต้องหาทั้งหกคนร่วมกันอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งที่หัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารและยุติการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมือง

26 กันยายน 2559

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พนักงานสอบสวนสภ.เมืองขอนแก่นออกหมายเรียกผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวเพิ่มเติมอีกห้าคน ได้แก่

นพ.เชิดชัย อดีตสส.พรรคเพื่อไทย ผศ.พรรณวดี อดีตอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รังสิมันต์ โรม จากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ "รักไทย" จากกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่และภานุพงศ์หรือไนซ์จากกลุ่มดาวดิน
 
4 ตุลาคม 2559 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ในเวลา 10.00 น. ผู้ต้องหาหกคนที่ถูกพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกชุดแรกและเคยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้วเดินทางมายื่นคำให้การปฏิเสธเป็นลายลักษณ์อักษรที่สภ.เมืองขอนแก่น

ในวันเดียวกัน "รักไทย" และภานุพงศ์สองในห้าผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายเรียกเพิ่มเติมเดินทางมาที่สภ.เมืองขอนแก่นเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเช่นกันโดยทั้งสองให้การปฏิเสธ
 
3 กรกฎาคม 2560

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พนักงานสอบสวนสภ.เมืองขอนแก่นมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งแปดคนที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว โดยนัดหมายให้ทั้งหมดเข้าพบเพื่อส่งตัวให้อัยการศาลทหารขอนแก่นในวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 อย่างไรก็ตามผู้ต้องหาบางส่วนติดสอบและติดภารกิจอื่น จึงขอเลื่อนนัดเป็นวันที่ 31 กรกฎาคม 2560
 
31 กรกฎาคม 2560

ประชาไทรายงานว่า พนักงานสอบสวนสภ.ขอนแก่น ให้เลื่อนนัดส่งสำนวนและส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหมดต่ออัยการทหารเป็นวันที่ 29 สิงหาคม 2560 เนื่องจากมีผู้ต้องหาสองคนคือเชิดชัยและพรรณวดีซึ่งไม่ได้ยังไม่ได้รับหมายเรียกโดยเจ้าหน้าที่ส่งหมายไปแล้วแต่ถูกตีกลับ โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะดำเนินการส่งหมายเรียกถึงผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับอีกครั้ง

5 กันยายน 2561

ศาลทหารขอนแก่น นัดรวมคดีของจำเลยทุกคน กับคดีของรังสิมันต์ โรม   เนื่องจากเป็นเหตุการณ์เดียวกัน และพยานก็เหมือนกัน คดีเกี่ยวเนื่องกัน เพื่อความสะดวกในการพิจารณาคดีของศาล อัยการจึงยื่นขอรวมคดีต่อศาล วันนี้ศาลอนุญาตให้รวมคดี และนัดต่อไปตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561
 
23 พฤศจิกายน 2561
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 08.30 น. ศาลทหารขอนแก่นนัดตรวจพยานหลักฐาน โดย จตุภัทร์ จำเลยที่ 1 ถูกเบิกตัวมาจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น จำเลยคนอื่น ๆ อีก 8 คน เดินทางมาศาลตามนัด ในการตรวจพยานหลักฐาน ทั้งอัยการทหารฝ่ายโจทก์และทนายจำเลยส่งพยานหลักฐานที่จะใช้ในการสืบพยานให้อีกฝ่ายตรวจทั้งหมด ยกเว้นโจทก์ไม่ส่งบันทึกคำให้การที่ระบุที่อยู่ของพยานโจทก์ทุกปาก อัยการทหารแถลงว่า มีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบ 8 ปาก ประกอบด้วย พ.ต.ต. จิรัฐติกุล จรัสกมลพงศ์ ผู้กล่าวหา, พ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี นายทหารสังกัด มทบ.23 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เข้าสังเกตการณ์และบันทึกภาพกิจกรรมรณรงค์ประชามติ “พูดเพื่อเสรีภาพ”, รองคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้ดูแลสถานที่และไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดกิจกรรม และพนักงานสอบสวนในคดี 
 
ด้านทนายจำเลยแถลงนำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 17 ปาก ประกอบด้วย จำเลยซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานรวม 9 ปาก และพยานผู้เชี่ยวชาญจำนวน 8 ปาก ได้แก่ ผู้เชี่ยวด้านสิทธิมนุษยชน กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน กฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านการสังเกตการณ์เลือกตั้ง และการจัดทำประชามติ ศาลถามโจทก์ว่า จะคัดค้านพยานของฝ่ายจำเลยว่า บางปากเป็นพยานที่ฟุ่มเฟือยหรือไม่ อัยการแถลงไม่คัดค้าน โดยเป็นสิทธิของจำเลยที่จะนำพยานเข้าสืบตามที่เห็นสมควร
 
ทนายจำเลยยังแถลงถึงแนวทางในการต่อสู้คดีว่า จำเลยที่ 1, 2, 3, 7 และ 9  รับว่าได้อยู่ในที่เกิดเหตุจริง แต่ยืนยันว่าเป็นการใช้เสรีภาพตามที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559, รัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)ให้การรับรอง ส่วนจำเลยที่ 4 ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม เพียงแต่เข้าไปถ่ายภาพกิจกรรม, จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ร่วมกิจกรรม และจำเลยที่ 8 ไม่ได้ไปในที่เกิดเหตุและไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเลย
 
หลังเสร็จการตรวจพยานหลักฐาน ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากแรก พ.ต.ต. จิรัฐติกุล จรัสกมลพงศ์ ผู้กล่าวหา ในวันที่ 4 มีนาคม 2562 เวลา 08.30 น. โดยศาลจะยังไม่นัดสืบพยานในนัดอื่นไว้ล่วงหน้า เนื่องจากจะมีการโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งของตุลาการ และให้องค์คณะตุลาการที่จะพิจารณาคดีนี้ที่จะย้ายมารับตำแหน่งใหม่เป็นผู้ออกแบบนัดหมายการสืบพยานเอง
 
4 กุมภาพันธ์ 2562 
 
นัดฟังคำสั่งศาล
 
เวลา 08.30 น. ศาลทหารจังหวัดขอนแก่น นัดฟังคำสั่งศาลพูดเพื่อเสรีภาพ ซึ่งศาลได้นัดฟังคำสั่งศาลในคดีเกี่ยวเนื่องกับเสรีภาพการแสดงออกอีกสองคดีด้วย คือ ได้แก่ คดีไผ่ ดาวดิน ชูป้ายต้านรัฐประหารที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น , คดีไนซ์ ดาวดิน ชูป้ายต้านรัฐประหาร (กิจกรรมเดียวกับไผ่ ดาวดิน แต่อัยการฟ้องคดีแยกกันจึงทำให้แยกเป็นสองคดี) 
 
ตั้งแต่เวลา 9.00 น. จำเลยทยอยเดินทางมาที่ศาล ในวันนี้มีรังสิมันต์ โรม ที่ต้องเดินทางมาจากกรุงเทพฯ และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ที่ต้องเดินทางมาจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น 
 
โดยในวันนี้บรรยากาศบริเวณศาลทหารจังหวัดขอนแก่นเป็นไปอย่างผ่อนคลาย ตั้งแต่ทางเข้าค่ายศรีพัชรินทร์ ไม่มีการแลกบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อเข้าบริเวณค่ายทหาร ซึ่งก่อนหน้าหากมาสังเกตการณ์คดีต้องทำการแลกบัตรประจำตัวประชาชนที่หน้าค่ายทุกครั้ง รวมถึงบริเวณอาคารศาล เจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้มีท่าทีเข้มงวดกับประชาชนที่อยู่ในอาคารศาลเหมือนแต่ก่อน เพียงเน้นย้ำการปฏิบัติตามกฎพื้นฐาน เช่นห้ามถ่ายรูปในศาล และปิดมือถือก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีเท่านั้น
 
จนกระทั่งจำเลยทั้งเก้าคน มาศาลครบในเวลาประมาณ 10.10 น. และเข้าสู่ห้องพิจารณาคดีในเวลา 10.20 น. ศาลเริ่มต้นพิจารณาคดีในเวลา 10.30 น. ใช้เวลาเพียงประมาณ 20 นาที ก็อ่านคำสั่งจำหน่ายคดีทั้งสามคดีแล้วเสร็จ โดยเริ่มจากคดีไนซ์ ดาวดิน ชูป้ายต้านรัฐประหาร ตามด้วยคดีไผ่ ดาวดินชูป้ายต้านรัฐประหาร และสุดท้ายคดีพูดเพื่อเสรีภาพฯ ซึ่งศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยให้เหตุผลเหมือนกันทั้งสามคดี ดังนี้
 
ศาลแจ้งให้คู่ความทราบว่า ตามที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 เรื่องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ข้อที่ 1 ให้ยกเลิก คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 (7) ข้อที่ 12 ห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จึงเป็นกรณีบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ดังนั้นจำเลยทั้งหมดคน จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง และยังเป็นกรณีที่กฎหมายที่ออกใช้ภายหลังกระทำความผิดยกเลิกความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5) ประกอบ พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2495 มาตรา 45 จึงมีคำสั่งให้งดการสืบพยานและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ 
 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา