สมลักษณ์ คดีที่หนึ่ง: โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์เหมืองทองคำ จ. พิจิตร

อัปเดตล่าสุด: 28/11/2562

ผู้ต้องหา

สมลักษณ์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

มีนาคม 2559 สมลักษณ์ และธัญญารัศมิ์ เป็นนักเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองแร่ในจังหวัดพิจิตร ถูก บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำชาตรี ฟ้องร้องด้วยข้อหานำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และหมิ่นประมาท จากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่า บริษัทไม่จ่ายภาษี

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สมลักษณ์ หุตานุวัตร เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นกรรมการเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นอดีตพยานผู้เชียวชาญกรณีเหมืองทองพิจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสุขภาพ


สื่อกัญญา หรือธัญญารัศมิ์ เป็นชาวบ้านจากจ.พิจิตร ที่อยู่อาศํยในพื้นที่การทำเหมืองแร่ เป็นแกนนำเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตรและเพชรบูรณ์ และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทอง ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (5) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ยื่นต่อศาล ระบุว่า สมลักษณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก รวม 11 ครั้ง ระหว่างวันที่ 14 กันยายน 2558 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 โดยธัญญารัศมิ์ แชร์ต่อ 4 ครั้ง เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จทำนองว่า บริษัทไม่ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับรัฐบาลเป็นเวลา 16 ปี ติดต่อกัน ซึ่งเป็นความเท็จและแพร่หลายไปถึงเฟสบุ๊กของบุคคลอื่นได้ไม่มีที่สิ้นสุดตลอดเวลา 24 ชั่วโมงของแต่ละวัน

ถือว่าบุคคลทั้งสองร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย เพราะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และมีแผนงานที่จะนำเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งต้องได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน

ในคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ขอให้ศาลงโทษจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1), (5)

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ. 1086/2559

ศาล

ศาลอาญากรุงเทพใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

31 มีนาคม 2559

บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและเงินในจังหวัดพิจิตรและจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สมลักษณ์ และ ธัญญารัศมิ์ เนื่องจากสมลักษณ์เขียนข้อมูลอันเป็นเท็จลงในเฟซบุ๊ก และธัญญารัศมิ์เป็นผู้แชร์ข้อมูลดังกล่าว ซึ่งกล่าวหาการทำเหมืองทองของบริษัทอัครา ดังนี้

 

ข้อความเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558 “ฝรั่งฉลองกำไรกว่า 1 พันไร่ 1 ร้อยล้าน ในเวลาเพียง 1 ปี จากเหมืองทองพิจิตร โดยไม่ต้องจ่ายภาษีให้ประเทศไทยแม้แต่บาทเดียว (1,148,160,000 บาท)”

 

ข้อความเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 “สรุปว่าการขุดแร่ทองคำพิจิตรก็ไม่ต้องจ่ายภาษีให้ประเทศไทยต่อไปอีก รวมเวลาที่ไม่ต้องจ่ายภาษีให้ประเทศไทยเป็นเวลา 16 ปี”

 

ข้อความเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 “นี่คือ ความสูญเสียของไทยทั้งแผ่นดิน แก่ต่างชาติที่ฉลองชัยชนะเหนือไทย ไม่ต้องจ่ายภาษีติดต่อกัน 16 ปี…”

 

และ “สรุปคือ ปี 2556 ผลิตทองคำได้ 4.3 ตัน มูลค่า 6,076 ล้านบาท รัฐได้ค่าภาคหลวง 518 ล้านบาท โดยไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้แม้แต่บาทเดียว”

 

ข้อความเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2558 “…เหมืองทองคำพิจิตร ไม่ต้องจ่ายภาษีให้ประเทศไทยต่อเนื่องกัน 16 ปี (8+8)…”

 

ข้อความเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 “…หมายเหตุ ทองคำและเงินที่ผลิตได้ส่งออกไปต่างประเทศทั้งหมดไม่ต้องชำระภาษีแก่ประเทศไทย…”

 

ข้อความเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559 “…ซึ่งบริษัทผู้รับประทานบัตร ไม่ต้องชำระภาษีเงินได้รวมทั้งไม่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม….ให้แก่ประเทศไทยตลอดมาจนบัดนี้ เนื่องจากได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน –BOI”

 

และ “…ซึ่งบริษัทผู้รับประทานบัตร ไม่ต้องชำระภาษีเงินได้…ให้แก่ประเทศไทยตลอดมาจนบัดนี้เนื่องจากได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน –BOI”

 

ข้อความเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 “…บริษัท อัคราฯ ได้ขุดทองคำและเงินไปจากแผ่นดินพิจิตร เพชรบูรณ์ ของไทยเมื่อสกัดเป็นทองและเงินบริสุทธิ์แล้วรวมน้ำหนัก 9.3 ล้านออนซ์ หรือราว 300 ตัน ผลประโยชน์ต่างชาติได้ไปไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ให้แก่ประเทศไทยแม้แต่บาทตามสิทธิพิเศษการส่งเสริมการลงทุน –BOI”

 

และ “…บริษัทผู้รับประทานบัตรไม่ต้องชำระภาษีเงินได้…ให้แก่ประเทศไทยตลอดมาจนบัดนี้เนื่องจากได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน – BOI…”
 

และ “…บริษัทอัคราฯ ได้ขุดทองคำและเงินไปจากแผ่นดิน พิจิตร เพชรบูรณ์ของไทย…ไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ให้แก่ประเทศไทยแม้แต่บาทเดียว ตามสิทธิพิเศษการส่งเสริมการลงทุน – BOI”

 

29 กันยายน 2559

นัดไต่สวนมูลฟ้อง

ไต่สวนพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง ธไนศวรรย์ ปายะฤทธิ์ ผู้จัดการแผนกรายงานและภาษีอากร บริษัทอัครา รีซอร์สเซส

 

ธไนศวรรย์เบิกความตอบศาลว่า ประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างบริษัทอัครา รีซอร์สเซส ในตำแหน่ง ผู้จัดการแผนกรายงานและภาษีอากร ทนายโจทก์ถามต่อว่าในบริษัทพยานโจทก์มีหน้าที่อะไร ธไนศวรรย์ตอบว่ามีหน้าที่ดูแลเรื่องงบการเงินและภาษีอากรของบริษัท โดยงบการเงินของบริษัท คนนอกสามารถตรวจสอบได้จากกระทรวงพาณิชย์ การกระทำของจำเลย ทำให้บริษัทเสียหายและทำให้ระยะเวลาการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการและการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ยืดยาวออกไป

 

ตอบทนายจำเลยที่หนึ่งถามค้าน

 

ธไนศวรรย์เบิกความว่า ตนเองทำงานที่บริษัทโจทก์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ได้ข้อมูลรายรับรายจ่าย จากนั้นจึงรวมตัวเลขและดูตามกฎของสรรพากรก่อนจะคำนวณภาษี  ข้อมูลดังกล่าวรับมาจาก ผู้จัดการโรงงาน บริษัทโจทก์มีใบอนุญาตประกอบกิจการสำหรับโรงงานเดียว แต่ไม่แน่ใจว่า บริษัทโจทก์จะมีใบอนุญาตทั้งหมดกี่ใบ การคำนวณรายจ่ายของทั้งสองโรงงานจะคำนวณจากสินแร่ตามขั้นตอนการบดหยาบ บริษัทจัดส่งสินแร่เข้าสู่กระบวนการทั้งสองโรงงาน โดยจะต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของบีโอไอ (การให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากร เช่น การยกเว้น/ลดหย่อนภาษีเงินได้นิตบุคคล การยกเว้น/ลดหย่อนอากรขาเข้าเครื่องจักร และวัตถุดิบ/วัสดุจำเป็น และสิทธิประโยขน์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรเช่น การบริการอำนวยความสะดวกในการนำช่างฝีมือ และผู้ชำนาญการชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในกิจการที่ได้รับการส่งเสริม รวมทั้งการให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่นักลงทุนในการดำเนินการตามโครงการ)l ที่จะส่งผลต่อต้นทุนทางธุรกิจ เนื่องจากโรงงานมีต้นทุนค่าเสื่อมราคา จึงจำเป็นต้องเดินเครื่องเต็มกำลัง

 

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 สินแร่ที่เข้าสู่โรงงงานทั้งสองมาจากแหล่งสัมปทานชาตรีเหนือ ปัจจุบันไม่มีการนำสินแร่มาจากแหล่งสัมปทานชาตรีใต้ อย่างไรก็ตาม สินแร่จากแหล่งสัมปทานชาตรีเหนือและชาตรีใต้สามารถนำเข้าโรงงานได้ทั้งสองแห่ง โดยบีโอไอ ทั้งฉบับที่หนึ่งและ สอง ไม่ได้แยกแหล่งที่มาของสัมปทาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ผลผลิตทองคำประมาณร้อยละ 42-43 มาจากโรงงานที่หนึ่งและร้อยละ 57-58 มาจากโรงงานที่สอง ธไนศวรรย์ไม่ทราบว่า บริษัทของโจทก์ขออนุญาตใบประกอบโลหกรรมที่กำลังการผลิตกี่ตันต่อปี และจำไม่ได้ว่า กำลังการผลิตของโรงงานที่สองคือ 4.3 ล้านตัน แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนจะอยู่ที่ร้อยละ 58 ของกำลังการผลิตทั้งหมด

 

ธไนศวรรย์ไม่ทราบว่าบีโอไอ ทั้งสองใบรวมกันจะมีมูลค่าไม่เกิน 4,839 ล้านบาทหรือไม่ แต่ข้อที่แปดของ(บัตรที่สอง)บีโอไอฉบับที่สองระบุว่า ภาษีเงินได้จะมีมูลค่าไม่เกิน 3,800 ล้านบาท ในหนังสือชี้ชวนของบริษัทระบุว่า บริษัทได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคล เพื่อจูงใจให้บุคคลภายนอกซื้อหุ้น โดยระบุมูลค่าภาษีที่ได้รับการยกเว้นจากบีโอไอฉบับที่สองไว้ด้วย

 

ในปี พ.ศ. 2558 บริษัทของโจทก์ได้ถอนไอพีโอ (การเสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุนครั้งแรกของบริษัทที่เปิดให้ระดมทุน เพื่อนำเงินไปเป็นลงทุนในการดำเนินธุรกิจต่อไป) ออกจากตลาดหลักทรัพย์ เหตุที่ถอนไม่ใช่เพราะถูกตรวจสอบ  แต่เป็นเหตุผลทางธุรกิจที่ราคาทองตกต่ำ

 

ทนายจำเลยให้ธไนศวรรย์ดูเอกสารสำเนาประชาสัมพันธ์ของบริษัมคิงส์เกต และถามว่าข้อความภาษาอังกฤษที่ขีดเส้นใต้ด้วยสีแดงตรงกับข้อความใด ที่จำเลยเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก  ธไนศวรรย์ดูแล้วตอบว่าข้อความภาษาอังกฤษตรงกัน  แต่จำเลยที่หนึ่งแปลบิดเบือนทำให้เข้าใจว่า บริษัทโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว ข้อความในข่าวประชาสัมพันธ์ที่ระบุว่า บริษัทได้กำไร  47.3 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เป็นเวลาที่บริษัทโจทก์ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามบีโอไอ ฉบับที่หนึ่ง

 

ทนายจำเลยให้ดูเอกสารซึ่งมีข้อความที่จำเลยที่หนึ่งเขียนทำนองว่า สรุปว่ายึดครองเหมืองแร่ทองคำพิจิตรต่อไปอีก  และพูดต่อว่า จำเลยที่หนึ่งพูดว่า ได้สิทธิต่อไปอีก  8  ปี และเมื่ออ่านทั้งข้อความจะเข้าใจได้ว่า จำเลยที่หนึ่งพูดถึงบีโอไอฉบับที่สอง ธไนศวรรย์ตอบว่า จำเลยที่หนึ่งไม่ได้เขียนคำว่าบีโอไอ ฉบับที่สอง ทำให้ผู้อ่านแล้วเข้าใจว่า บริษัทไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว

 

ทนายจำเลยให้ดูเอกสารที่เป็นข้อความที่จำเลยที่หนึ่งเขียนทำนองว่า ทักษิณและอภิสิทธิ์ ช่วยให้เหมืองไม่จ่ายภาษีรวมกันเป็นเวลา 16  ปีและถามว่าเข้าใจว่าอย่างไร ธไนศวรรย์ดูแล้วตอบว่า เมื่ออ่านข้อความเข้าใจว่าบริษัทโจทก์ไม่เสียภาษีให้ประเทศไทยและได้รับความเสียหายจากการเผยแพร่ข้อความดังกล่าว 

 

ตอบทนายจำเลยที่สองถามค้าน

 

ธไนศวรรย์เบิกความว่า เหตุผลที่โรงงานทั้งสองไม่นำเข้าสินแร่ในจำนวน 50:50 เนื่องจากในอดีตโรงงานที่หนึ่งไม่ได้มีเทคโนโลยี ทันสมัยเหมือนปัจจุบันจึงสามารถนำเข้าได้แค่เพียงร้อยละ 42-43

 

ในประเด็นการนำสินแร่เข้าแต่ละโรงงานจึงจะต้องเข้าให้เต็มกำลังการผลิต ในการตรวจสอบอัตราการผลิต และสัดส่วนทองคำที่เสียภาษี  โรงงานแต่ละแห่งจะตรวจสอบและส่งมา มีการตรวจสอบตัวเลขและให้บริษัทภายนอกเข้ามาตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง  ในกรณีที่มีการตกแต่งบัญชีในสาระสำคัญ ธไนศวรรย์จะเห็นแต่ถ้าไม่ใช่สาระสำคัญก็อาจจะไม่เห็น

 

เกี่ยวกับภาษี บริษัทโจทก์มีภาษีเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นคือภาษีนิติบุคคลเท่านั้น ส่วนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโลหะกรรมไม่เกี่ยวข้องกับธไนศวรรย์ และธไนศวรรย์ก็ไม่ทราบว่า จำเลยที่สองเคยทำงานที่บริษัทโจทก์มาก่อน

 

พฤศจิกายน 2559

นัดฟังคำสั่งฟ้อง

 

ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่รับฟ้องในคดีที่บริษัทอัครา รีซอร์สเซส เป็นโจทก์ฟ้องสมลักษณ์ หุตานุวัตรและธัญญารัศมิ์ สินทรธรรมธัช ฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตามมาตรา 14 (1), (5) ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และมาตรา 326 และ 328 ตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กทำนองว่า เหมืองทองชาตรี จังหวัดพิจิตรของบริษัทอัคราฯ ได้รับการยกเว้นภาษีตามสิทธิพิเศษการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทำให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีและสูญเสียรายได้ให้แก่ต่างชาติ

 

โดยศาลให้เหตุผลประกอบการไม่รับฟ้องว่า จำเลยทั้งสองในฐานะประชาชนมีหน้าที่ตามกฎหมายเสียภาษีให้แก่รัฐในกรณีมีรายได้ จำเลยจึงมีความชอบธรรมที่จะเปิดเผยให้ประชาชนทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยมีมูลอันเชื่อว่าเป็นความจริง ศาลจึงเห็นว่า คดีของโจทก์ไม่มีมูลความผิดตามคำฟ้อง 

 

4 พฤศจิกายน 2559

 

ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษายกฟ้อง สรุปความได้ว่า การลงข้อความในระบบคอมพิวเตอร์ฯของจำเลยทั้งสอง จึงเชื่อได้โดยมีมูลอันควรเชื่อว่า เป็นความจริง เป็นการกระทำโดยสุจริตอันเป็นวิสัยของประชาชนพึงกระทำ

 

31 พฤษภาคม 2560
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์พอสรุปความได้ว่า บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสมลักษณ์ หุตานุวัตร จำเลยที่หนึ่ง และสื่อกัญญา หรือธัญญารัศมิ์ ธีรชาติดำรงหรือ สินทรธรรมทัช จำเลยที่สอง ระบุว่า จำเลยที่หนึ่งเขียนข้อมูลอันเป็นเท็จลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว และจำเลยที่สองแชร์ข้อความที่จำเลยหนึ่งเขียนลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว

 

จำเลยที่หนึ่งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก รวม 11 ครั้ง ระหว่างวันที่ 14 กันยายน 2558 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 โดยแชร์ต่อ 4 ครั้ง เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จทำนองว่า บริษัทไม่ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับรัฐบาลเป็นเวลา 16 ปี ติดต่อกัน ซึ่งเป็นความเท็จและแพร่หลายไปถึงเฟสบุ๊กของบุคคลอื่นได้ไม่มีที่สิ้นสุดตลอดเวลา 24 ชั่วโมงของแต่ละวัน

 

ถือว่าบุคคลทั้งสองร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย เพราะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และมีแผนงานที่จะนำเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งต้องได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน

 

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์ได้ความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ได้รับประทานบัตรอนุญาตให้ประกอบกิจการทำเหมืองแร่ผลิตทองคำและเงินในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์และพิจิตร โดยได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทย หรือ BOI ซึ่งทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์สองประการ หนึ่ง ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีกำหนดแปดปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ  และสอง ได้รับสิทธิรับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการลงทุนอัตราร้อยละ 50
โดยบัตรส่งเสริมการลงทุนฉบับที่สอง เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2553 ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับฉบับแรก แต่มีรายละเอียดในเรื่องการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแตกต่างกัน

 

คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้มีการโพสต์และแชร์ข้อความตามฟ้องในเฟซบุ๊ก โดยมีสาระสำคัญว่า บริษัทโจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ทองตำและเงินในจังหวัดพิจิตร จากนั้นส่งผลผลิตที่ได้จากการประกอบกิจการไปต่างประเทศ โดยไม่ต้องเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่รัฐบาลไทยเป็นเวลา 16 ปี แต่เมื่อพิจารณาข้อความของจำเลยทั้งหมดประกอบกันแล้วเห็นได้ว่า เป็นการกล่าวถึงเหตุที่โจทก์ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเพราะโจทก์ได้รับสิทธิพิเศษจาก BOI ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในทางนำสืบและอุทธรณ์ของโจทก์

 


แต่ลักษณะการโพสต์ข้อความของจำเลยทั้งสองเป็นเพียงการแสดงให้เห็นภาพกว้างๆเท่านั้นว่า โจทก์ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาลไทย ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 16 ปีเนื่องจากโจทก์ได้รับสิทธิพิเศษจาก BOI ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประกอบกับข้อความมีถ้อยคำตำหนิผู้นำทางการเมืองสองคนคือ ทักษิณ ชินวัตรและอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำนองว่า หากคนไทยหยุดส่งเสริมนักการเมืองเลวๆ แผ่นดินไทยก็จะสูงขึ้น อันเป็นลักษณะของการตำหนิฝ่ายการเมืองและ BOI ขณะที่ข้อความที่ว่า โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียวนั้น คงเป็นการกล่าวในลักษณะประชดที่มีการให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทต่างชาติมากเกินไป และแม้ข้อความจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงที่ว่า โจทก์อ้างว่า โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายกำหนด แต่ข้อความประชดลักษณะนี้ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเพื่อหมิ่นประมาทโจทก์

 

เขื่อว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำไปโดยสุจริต และเป็นการตำหนิเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองเพื่อให้รักษาประโยชน์ของชาติ อันมีความชอบธรรมที่จะกระทำได้ เพื่อป้องกันส่วนได้ส่วนเสียของประเทศชาติ อยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนยกฟ้อง

 


27 มีนาคม 2562

ศาลอาญากรุงเทพใต้ออกหนังสือสำคัญแสดงว่าคดีถึงที่สุดระบุว่า คดีระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองในความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯและหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาและยื่นฎีกา ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกาและไม่รับฎีกาของโจทก์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 บัดนี้คดีเป็นอันถึงที่สุดแล้ว

 

 

 

 

คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้

 

คำพิพากษาสรุปใจความได้ว่า โจทก์ หรือ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ฟ้องว่า สมลักษณ์ จำเลยที่หนึ่ง และ สื่อกัญญา หรือ ธัญญารัศมิ์ จำเลยที่สอง  ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ประเภทเฟซบุ๊ก กระทำความผิดหลายกรรม กล่าวคือ จำเลยที่หนึ่งโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จลงในระบบคอมพิวเตอร์ทำนองว่า บริษัทของโจทก์ประกอบกิจการเหมืองแร่ โดยไม่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐแม้แต่บาทเดียวเป็นเวลา 16 ปี จำนวน 11 ครั้ง  ขณะที่จำเลยที่สองได้นำข้อมูลมาเผยแพร่ต่อ หรือ แชร์ ข้อความที่จำเลยที่หนึ่งโพสต์จำนวน สี่ ครั้ง

 

โจทก์ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและเงินใน จ. พิจิตร และเพชรบูรณ์ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทยจำนวน 2 ครั้งคือ ครั้งที่หนึ่งเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2544 ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จะได้รับการยกเว้นการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2553 ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ โดยไม่เกินร้อยละร้อยของเงินลงทุน ไม่รวมค่าที่ดินเป็นเวลา 8 ปี ดังนั้นข้อความที่จำเลยทั้งสองเขียนถึงโจทก์ในทำนองที่ว่า โจทก์ไม่ชำระภาษีเป็นเวลา 16 ปี จึงเป็นเท็จ สร้างความเสียหายต่อบริษัทของโจทก์ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง จึงขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ในความผิดตามมาตรา 14(1),14(5) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ มาตรา 326 และ 328 ของประมวลกฎหมายอาญาฯ

 

ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์นำสืบพยานจำนวน สอง คนคือ เชิดศักดิ์ อรรถอรุณ กรรมการโจทก์ และธไนศวรรย์ ปายะฤทธิ์ เบิกความในทำนองเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้อง ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ว่า การที่โจทก์ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 8 ปี รวมกันแล้วโจทก์ไม่ต้องชำระภาษีเป็นเวลา 16 ปี ซึ่งจำเลยทั้งสองเห็นว่าไม่ถูกต้อง มีความไม่ชอบมาพากล เพราะตามปกติแล้วโจทก์เป็นนิติบุคคล เมื่อมีรายได้โจทก์จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้แก่รัฐ เพื่อให้รัฐนำไปใช้บำรุงประเทศให้เกิดความมั่นคง แต่โจทก์กลับได้รับการยกเว้นภาษี

 

ในฐานะประชาชนที่มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องเสียภาษี ย่อมมีความชอบธรรมที่จะเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อป้องกันส่วนได้ส่วนเสียของตน ทั้งข้อความเรื่องการผลิตทองคำและผลประโยชน์ต่างๆที่โจทก์ได้รับ จำเลยทั้งสองก็นำข้อมูลมาจากรายงานประจำปีของบริษัทคิงส์เกท ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโจทก์ ดังนั้น พิพากษายกฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์

บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสมลักษณ์ หุตานุวัตร จำเลยที่หนึ่ง และสื่อกัญญา หรือธัญญารัศมิ์ ธีรชาติดำรงหรือ สินทรธรรมทัช จำเลยที่สอง ระบุว่า จำเลยที่หนึ่งเขียนข้อมูลอันเป็นเท็จลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว และจำเลยที่สองแชร์ข้อความที่จำเลยหนึ่งเขียนลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว

 

จำเลยที่หนึ่งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก รวม 11 ครั้ง ระหว่างวันที่ 14 กันยายน 2558 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 โดยแชร์ต่อ 4 ครั้ง เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จทำนองว่า บริษัทไม่ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับรัฐบาลเป็นเวลา 16 ปี ติดต่อกัน ซึ่งเป็นความเท็จและแพร่หลายไปถึงเฟสบุ๊กของบุคคลอื่นได้ไม่มีที่สิ้นสุดตลอดเวลา 24 ชั่วโมงของแต่ละวัน

 

ถือว่าบุคคลทั้งสองร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย เพราะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และมีแผนงานที่จะนำเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งต้องได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน

 

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์ได้ความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ได้รับประทานบัตรอนุญาตให้ประกอบกิจการทำเหมืองแร่ผลิตทองคำและเงินในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์และพิจิตร โดยได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทย หรือ BOI ซึ่งทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์สองประการ หนึ่ง ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีกำหนดแปดปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ  และสอง ได้รับสิทธิรับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการลงทุนอัตราร้อยละ 50
โดยบัตรส่งเสริมการลงทุนฉบับที่สอง เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2553 ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับฉบับแรก แต่มีรายละเอียดในเรื่องการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแตกต่างกัน

 

คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้มีการโพสต์และแชร์ข้อความตามฟ้องในเฟซบุ๊ก โดยมีสาระสำคัญว่า บริษัทโจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ทองตำและเงินในจังหวัดพิจิตร จากนั้นส่งผลผลิตที่ได้จากการประกอบกิจการไปต่างประเทศ โดยไม่ต้องเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่รัฐบาลไทยเป็นเวลา 16 ปี แต่เมื่อพิจารณาข้อความของจำเลยทั้งหมดประกอบกันแล้วเห็นได้ว่า เป็นการกล่าวถึงเหตุที่โจทก์ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเพราะโจทก์ได้รับสิทธิพิเศษจาก BOI ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในทางนำสืบและอุทธรณ์ของโจทก์

 


แต่ลักษณะการโพสต์ข้อความของจำเลยทั้งสองเป็นเพียงการแสดงให้เห็นภาพกว้างๆเท่านั้นว่า โจทก์ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาลไทย ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 16 ปีเนื่องจากโจทก์ได้รับสิทธิพิเศษจาก BOI ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประกอบกับข้อความมีถ้อยคำตำหนิผู้นำทางการเมืองสองคนคือ ทักษิณ ชินวัตรและอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำนองว่า หากคนไทยหยุดส่งเสริมนักการเมืองเลวๆ แผ่นดินไทยก็จะสูงขึ้น อันเป็นลักษณะของการตำหนิฝ่ายการเมืองและ BOI ขณะที่ข้อความที่ว่า โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียวนั้น คงเป็นการกล่าวในลักษณะประชดที่มีการให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทต่างชาติมากเกินไป และแม้ข้อความจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงที่ว่า โจทก์อ้างว่า โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายกำหนด แต่ข้อความประชดลักษณะนี้ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเพื่อหมิ่นประมาทโจทก์

 

เขื่อว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำไปโดยสุจริต และเป็นการตำหนิเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองเพื่อให้รักษาประโยชน์ของชาติ อันมีความชอบธรรมที่จะกระทำได้ เพื่อป้องกันส่วนได้ส่วนเสียของประเทศชาติ อยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนยกฟ้อง

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา