รสนา หมิ่นปิยสวัสดิ์

อัปเดตล่าสุด: 09/07/2560

ผู้ต้องหา

รสนา

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2512

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

สุรัตน์ชัย มั่นศรีถาวร ผู้รับมอบอำนาจจากปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์

สารบัญ

รสนา โตสิตระกูล ได้โพสต์บทความเรื่อง  “มหากาพย์ฮุบท่อก๊าซ สมบัติชาติ” ลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ รสนา โตสิตระกูล ขณะที่ เฟซบุ๊กเพจชื่อว่า “ไม่เคยลักแบริเออร์” ได้ติดแท็คชื่อเพจ “รสนา โตสิตระกูล” ไว้ที่บทความบนหน้าเฟซบุ๊กเพจ “ไม่เคยลักแบริเออร์” ซึ่งเมื่อบุคคลอื่นได้ลงข้อความแสดงความคิดเห็นไว้ที่บทความของหน้าเฟซบุ๊กเพจ “ไม่เคยลักแบริเออร์” ดังกล่าวจะมีผลทำให้ข้อความแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ปรากฏเข้าสู่หน้าเฟซบุ๊กเพจ “รสนา โตสิตระกูล” ด้วยเช่นกัน

ต่อมา ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ได้มอบอำนาจให้แก่ สุรัตน์ชัย มั่นศรีถาวร ฟ้องร้องต่อรสนา โตสิตระกูลในการกระทำความผิดตามมาตรา 14 และ 15 ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างไรก็ดี ศาลมีคำสั่งยกฟ้องในคดีนี้  โดยวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่ครบตามองค์ประกอบความผิดของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ภูมิหลังผู้ต้องหา

รสนา โตสิตระกูล อายุ 62 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2549 และ 2551 ก่อนหน้านี้ รสนาดำรงตำแหน่งสมาชิสภาปฏิรูปแห่งชาติและเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร  นอกจากนี้ รสนายังเป็นนักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค มีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงขบวนการทุจริต กรณีการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ในกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ พ.ศ. 2541 ยับยั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2548

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

สุรัตน์ชัย มั่นศรีถาวร ผู้รับมอบอำนาจจากปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ในฐานะโจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 11 และ 12 สิงหาคม 2557 รสนา โตสิตระกูล จำเลยได้นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมและเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางเว็บไซต์เฟซบุ๊กชื่อผู้ใช้ว่า “รสนา โตสิตระกูล” และจงใจสนับสนุนและยินยอมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.2979/2557

ศาล

ศาลอาญากรุงเทพใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

12 สิงหาคม 2557

รสนา โตสิตระกูล จำเลยได้โพสต์บทความเรื่อง  “มหากาพย์ฮุบท่อก๊าซ สมบัติชาติ” ลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ รสนา โตสิตระกูล ขณะที่ เฟซบุ๊กเพจชื่อว่า “ไม่เคยลักแบริเออร์” ได้ติดแท็คชื่อเพจ “รสนา โตสิตระกูล” ไว้ที่บทความบนหน้าเฟซบุ๊กเพจ “ไม่เคยลักแบริเออร์” ซึ่งเมื่อบุคคลอื่นได้ลงข้อความแสดงความคิดเห็นไว้ที่บทความของหน้าเฟซบุ๊กเพจ “ไม่เคยลักแบริเออร์” ดังกล่าวจะมีผลทำให้ข้อความแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ปรากฏเข้าสู่หน้าเฟซบุ๊กเพจ “รสนา โตสิตระกูล” ด้วยเช่นกัน

สำหรับ บทความ “มหากาพย์ฮุบท่อก๊าซ สมบัติชาติ” มีรายละเอียดดังนี้

 

 “มหากาพย์ฮุบท่อก๊าซ สมบัติชาติ”

การแปรรูป ปตท.ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2544 ในยุครัฐบาลทักษิณ เกิดขึ้นหลังจากพรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลเพียง9เดือนเศษ ทั้งที่เคยหาเสียงว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิก “กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ” ซึ่งหนึ่งในกฎหมายที่ถูกเรียกขานว่า “กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ” คือ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ออกตามเงื่อนไขการกู้เงิน IMF เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เป็นผลจากความไร้วินัยทางการเงินของภาคเอกชน แต่เป็นมรดกบาปที่ประชาชนทั้งประเทศต้องมาจ่ายหนี้แทนเอกชนที่ล้มบนฟูกทั้งหลาย

 

เมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล ทักษิณมองเห็นสำรับผลประโยชน์ที่จัดเตรียมขึ้นโดยกลุ่มสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวทางของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่มีนางมาร์กาเรต แทตเชอร์ เอาไปปฏิบัติจนประเทศอังกฤษย่อยยับจากนโยบายแปรรูปของรัฐบาลของเธอ หากใครติดตามข่าวตอนมรณกรรมของอดีตนายกฯหญิอังกฤษคนนี้เมื่อปีที่แล้ว จะเห็น นสพ.ในอังกฤษหลายฉบับได้พาดหัวข่าวคำสัมภาษณ์ของคนอังกฤษที่พูดว่านางแม่มดชั่วร้ายได้ตายแล้ว (The wicked witch is dead) ประชาชนออกมาจัดปาร์ตี้แสดงความยินดีกับการตายของเธอตามท้องถนนสวนกระแสการไว้ทุกข์ของรัฐบาล

 

ทักษิณมองเห็นสาธารณสมบัติอันอุดม จึงละทิ้งสัญญาประชาคมตอนหาเสียงเลือกตั้ง และเข้ามาชุบมือเปิบผลประโยชน์ต่อจากกลุ่มนิยมขายสมบัติชาติที่ตั้งสำรับไว้แล้ว ด้วยการแปรรูป ปตท.เป็นลำดับแรกทันที

 

การแปรรูปในสายตานักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกระแสหลักที่เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2544 อย่าง โจเซฟ สติกลิสต์ ที่กล่าวอมตวาจาว่า “การแปรรูปคือการคอร์รัปชัน (Privatization is Briberization) เพียงการบอกขายสมบัติชาติในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ก็จะสามารถฉกฉวยเอาทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลเป็นของตนแทนที่จะปล่อยมันไว้ให้คนอื่นเข้ามาถลุง”

 

การแปรรูป “ปตท.” เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนอมตวาจาของสติกลิสต์ นอกจากนี้เขายังเคยพูดถึงวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 ว่ารัฐบาลอเมริกันไม่ควรไปอุ้มกลุ่มทุนการเงินที่เป็นผู้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงให้กับสหรัฐอเมริกา และประชาคมเศรษฐกิจโลก เขาถามหาสิ่งที่เรียกว่าความรับผิดชอบ และการตรวจสอบได้ (Accountability) ของกลุ่มทุนการเงินเหล่านั้น และเรียกร้องให้คนพวกนั้นเป็นผู้ที่ต้องจ่ายให้กับความเสียหายที่เขาก่อขึ้น ไม่ใช่ให้รัฐบาลมาจ่าย และปล่อยคนเหล่านี้ลอยนวลไปพร้อมกับเงินก้อนใหญ่

 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เมื่อ 11 ปีก่อนหน้าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้นก็ไม่ต่างจากกลุ่มทุนการเงินชาวอเมริกัน คือนอกจากล้มบนฟูกแล้ว ยังตบตูดจากไปอย่างไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ปล่อยให้ประชาชนรับกรรมใช้หนี้แทน แล้วยังนำปตท.ที่เป็นสาธารณสมบัติของชาติมาพยุงตลาดหลักทรัพย์ที่ซบเซาจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้น ที่มาจากความโลภและความไร้วินัยทางการเงินของสถาบันการเงินภาคเอกชน โดยคนเหล่านั้นหาได้มีจิตสำนึกความรับผิดชอบใดๆไม่

 

ปตท.จึงเป็นผลประโยชน์ก้อนใหญ่ที่กลุ่มทุนการเงินเอกชน และกลุ่มทุนการเมืองอย่างทักษิณหมายปอง แต่จังหวะเวลามาตกเข้าทางของรัฐบาลทักษิณพอดี เมื่อรัฐบาลต้องการแปรรูป ปตท. ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2544 ให้ ปตท. ซึ่งคือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไปดำเนินการแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ออกจากกิจการจัดหาและจำหน่ายก่อนแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ “โดยให้ ปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ในขณะนั้นคงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100”

 

มติดังกล่าว เป็นการมอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 มีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชนและเป็นองค์การของรัฐซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำกิจการของรัฐ โดยทุนทั้งหมดของ ปตท. ได้มาจากเงินและทรัพย์สินของรัฐ จึงมีมติให้ ปตท.คงความเป็นผู้ครอบครองและดูแลระบบท่อส่งก๊าซต่อไป

 

แต่ทักษิณต้องการแปรรูป ปตท.และเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ทันที จึงมีมติ ครม.ให้แปรรูปก่อนและจะแยกท่อก๊าซหลังการแปรรูป 1 ปี แต่พอครบ 1 ปีรัฐมนตรีพลังงานในสมัยนั้น ก็กลับมติ โดยให้ยกเลิกมติเดิมที่ให้แยกท่อก๊าซภายใน 1 ปี และให้ ปตท.เป็นผู้ซื้อก๊าซเพียงรายเดียว (Single Buyer) อันเป็นการโอนย้ายอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชนซึ่งคือการยักยอกทรัพย์ของแผ่นดินครั้งที่1

 

หลังจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายร่วมกันฟ้องเพิกถอนการแปรรูป ปตท.ต่อศาลปกครองสูงสุดในคำพิพากษาของศาลปกครองได้บรรยายอย่างชัดเจนว่าการแปรรูปโดยไม่ได้ทำตามเงื่อนไขในกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจที่กำหนดเงื่อนเวลาในการแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและการไม่แบ่งแยกอำนาจรัฐออกจาก ปตท.ที่เป็นบริษัทเอกชนมหาชน โดยยังมีอำนาจเหมือนปตท.สมัยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบอำนาจมหาชนตามกฎหมายจากสภานิติบัญญัตินั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ศาลได้บรรยายในคำพิพากษาว่า เมื่อ ปตท.ได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นองค์กรมหาชนของรัฐไปเป็นองค์กรเอกชนมหาชนแล้ว จึงไม่ถือเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป แม้ว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นใหญ่เกิน 51% แต่ก็ไม่ได้ทำให้ ปตท.มีสถานะกลับมาเป็นองค์กรมหาชนของรัฐอีกแต่อย่างใด ปตท.จึงไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาด้วยอำนาจมหาชน (อำนาจรัฐ) ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติเพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ และไม่สามารถใช้อำนาจรัฐได้อีก

 

อันที่จริงศาลมีความเห็นว่า การแปรรูป ปตท.เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เนื่องจากการแปรรูป ปตท.ผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ว ปตท.ได้ก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก และมูลค่า ปตท.ในตลาดหลักทรัพย์ขณะนั้นสูงถึง 8.4 แสนล้านบาท หากเพิกถอนการแปรรูปเกรงจะก่อให้เกิดความเสียหาย ศาลปกครองได้อ้าง พ.ร.บ กำกับกิจการพลังงานที่ออกในสมัยรัฐบาล พล.อ สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่าเป็นการเยียวยาความเสียหายแล้ว จึงให้ยกคำร้องการเพิกถอนการแปรรูป ปตท. แต่สั่งให้แบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและทรัพย์สินที่มาจากการรอนสิทธิคืนให้กับรัฐ ทั้งหมดให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อีกทั้งไม่ให้ ปตท.ใช้อำนาจรัฐอีก

 

แต่การคืนท่อก๊าซโดยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในสมัยนั้น ก็คืนเฉพาะท่อก๊าซบนบกที่มีการรอนสิทธิ ส่วนท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ได้คืนตามคำพิพากษา และไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ที่ได้มีมติมอบหมายให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องในการคืนทรัพย์ทรัพย์สิน หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเรื่องทรัพย์สิน มติ ครม.ได้ระบุให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย

 

แม้ สตง.จะยืนยันตลอดมาว่าปตท.ยังไม่ได้คืนท่อส่งก๊าซในทะเลและอุปกรณ์ที่รวมกันเป็นระบบตามคำสั่งศาล แต่รัฐบาลในสมัยต่อมาก็ไม่ได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาร่วมพิจารณา คงมีเพียง บมจ.ปตท.ซึ่งเป็นลูกหนี้และจำเลยไปรายงานต่อศาลว่าตนเองคืนทรัพย์สินครบแล้ว โดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบของ สตง.ก่อนตามมติ ครม.แต่อย่างใด มาถึงวันนี้ นายปิยสวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีพลังงานที่สั่งให้คืนเฉพาะท่อส่งก๊าซบนบก ส่วนท่อในทะเล อ้างว่ามีคณะกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้ดูแลแล้ว จึงไม่ต้องคืน

 

สิ่งต้องถามนายปิยสวัสดิ์ คือ เมื่ออ้างว่าท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ต้องคืน เพราะมี กกพ.เป็นผู้กำกับดูแลแล้ว แต่ก็ต้องตอบมาให้ชัดเจนว่า แล้ว “กรรมสิทธิ์ระบบท่อส่งก๊าซเป็นของใคร?  ระบบท่อส่งก๊าซที่เป็นสาธารณสมบัติของชาติจึงอยู่ในสภาพที่ ปตท.ครอบครอง แต่ประชาชนคัดค้านและต้องการทวงคืน   

 

การกำกับดูแลท่อก๊าซโดย กกพ. ปรากฏว่ามติ กกพ.ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อ ปตท.ทั้งสิ้น เพราะ ปตท.ยังเป็นผู้ผูกขาดท่อก๊าซ และผูกขาดการซื้อก๊าซเจ้าเดียว แต่ประชาชนต้องเสียประโยชน์จากมติของ กกพ.คือ ต้องจ่ายค่าผ่านท่อแพงขึ้น ต้องจ่ายทั้งค่าก๊าซและค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น กกพ.ยอมให้ ปตท.สามารถนำท่อก๊าซที่โต้แย้งกรรมสิทธิ์กันระหว่างประชาชนกับ ปตท.ไปตีมูลค่าใหม่ได้ และอนุมัติให้ ปตท.สามารถเพิ่มค่าผ่านท่อได้เพราะได้มูลค่าท่อก๊าซเพิ่มขึ้นจากการตีราคาเสมือนมีการลงทุนใหม่

 

การใช้อำนาจรัฐของรัฐมนตรีพลังงาน และรัฐมนตรีกระทรวงการคลังอีกหลายรัฐบาลต่อมาทำให้กรรมสิทธิ์ระบบท่อส่งก๊าซไม่ได้กลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิของรัฐและประชาชน ยังคงปล่อยให้ ปตท.ถือครองทรัพย์สินของรัฐที่มีสภาพผูกขาดโดยธรรมชาติต่อไป ซึ่งขัดต่อสาระในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

 

มหากาพย์ภาค 2 แผนการฮุบท่อส่งก๊าซไปเป็นของเอกชนกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง

 

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ บมจ.ปตท. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ว่า ได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน และลดอำนาจการผูกขาดของ ปตท. โดยให้ ปตท.ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2544 ก่อนที่จะมีการแปรรูป ปตท. ในส่วนของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ คือ ให้ดำเนินการแยกท่อก๊าซ ปตท. ให้เป็นบริษัทเพื่อเปิดให้บุคคลที่ 3 มาใช้ท่อก๊าซฯ ด้วย

 

นายปิยสวัสดิ์ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเผชิญหน้า ทีวีสปริงนิวส์ว่า จะแยกท่อก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่โดยให้เป็นของบริษัท ปตท.หลังจากนั้นก็แล้วแต่ “คสช.” จะตัดสินใจให้คนอื่นมาถือหุ้นแทน ปตท.และเรื่องแยกท่อก๊าซก็ต้องทำให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้งในปี 2558 อีกด้วย

 

ความหมายที่ชัดเจนคือ การอ้างมติ ครม.ในปี 2544 นั้นเป็นการมั่วนิ่มหรือเปล่า?

 

เพราะมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2544 ที่มอบหมายให้ ปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจก่อนการแปรรูปไปแยกท่อส่งก๊าซ และมอบหมายให้ ปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ในขณะนั้นคงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 แสดงว่าระบบท่อส่งก๊าซต้องเป็นของรัฐ 100%

 

แต่สิ่งที่นายปิยสวัสดิ์จะดำเนินการแยกระบบท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ โดยในระยะเริ่มแรกเป็นของ บริษัท ปตท.ก่อนนั้น ย่อมมีความแตกต่างจากมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพราะ ปตท.ในขณะนี้เป็น บมจ.ปตท.ที่รัฐถือหุ้นเพียง51% และมีเอกชนมาถือหุ้นร่วมด้วยอีก 49% ปตท.ในขณะนี้จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ100% เหมือนเมื่อก่อนแปรรูป

 

ดังนั้น การแยกท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ตามข้อเสนอของนายปิยสวัสดิ์ จะทำให้รัฐและประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิระบบท่อส่งก๊าซเพียง 51% เท่านั้นไม่ใช่เป็นเจ้าของ 100% ตามมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มหากาพย์ฮุบท่อก๊าซภาคสมบูรณ์จะเกิดขึ้นและสำเร็จได้ ถ้า “คสช.” หลงคารมวาทกรรมว่ารัฐไม่ควรถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจอีกเลย เพื่อหนีการล้วงลูกของนักการเมือง ข้อเสนอของคนกลุ่มนี้ คือ รัฐควรขายกรรมสิทธิ์ในรัฐวิสาหกิจทั้งหมดโดยเฉพาะ “ปตท.” ให้เหลือ 0%

 

เมื่อทุนเอกชนสามารถยึดโครงข่ายกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซได้ ก็เหมือนยึดเส้นเลือดในกายเศรษฐกิจของชาติด้านพลังงานได้ทั้งหมด แล้วเลือดจะไปไหนเสีย? ยิ่งกลุ่มทุนที่นิยมขายสมบัติชาติพยายามผลักดันให้ คสช.คงระบบสัมปทานในการให้สิทธิสำรวจผลิตปิโตรเลียมแก่เอกชนต่อไป โดยอ้างวาทกรรมเรื่องปริมาณปิโตรเลียมของประเทศมีน้อย

 

การคงระบบสัมปทานปิโตรเลียมก็คือ การยกกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหมดให้กับกลุ่มทุนพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อทุนพลังงานครอบครองกลไกเครื่องมือ คือ ระบบท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมันและได้กรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมไปด้วย คนไทยก็จะตกเป็นอาณานิคมของกลุ่มทุนพลังงานเอกชนโดยสมบูรณ์

 

ราคาพลังงานจะแพงขึ้นเท่าไหร่ ประชาชนต้องก้มหน้ารับกรรมกันไป จะไปเรียกร้องตรวจสอบอะไรอีกไม่ได้ เพราะเขาเป็นเอกชนเต็มตัว เมื่อตอนกลุ่มธุรกิจเอกชนใหญ่ก่อวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ ประชาชนต้องเข้าไปรับเคราะห์แทน แต่พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เขาก็มาฮุบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชน เอาไปเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่ๆไม่กี่รายมหากาพย์ฮุบสมบัติชาติภาคสมบูรณ์ จะเป็นการช่วยต่อยอดให้กับการฮุบสมบัติชาติภาคแรกเมื่อปี 2544 ให้สำเร็จในสมัยนี้ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความตื่นรู้ของประชาชนคนไทยทั้งปวง

 

23 มีนาคม 2558

นัดฟังคำพิพากษา

 

ศาลมีคำสั่งยกฟ้องในคดีนี้  โดยพิเคราะห์ว่า ในความผิดฐานนำเข้าและเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมและเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ส่วนแรกคือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม การกระทำของจำเลยไม่ครบตามองค์ประกอบความผิดของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์เองไม่ได้พิสูจน์ว่า จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมแต่อย่างใด คดีของโจทก์ในฟ้องส่วนนี้จึงไม่มีมูล

 

สำหรับการวินิจฉัยในส่วน ข้อมูลคอมพิวเตอร์เท็จ ศาลเห็นว่า การเขียนข้อความที่เป็นกรณีพิพาทสามารถเชื่อมโยงอ้างอิงได้กับแหล่งข้อมูล การเขียนข้อความพิพาทนี้จึงเกิดจากแยกแยะข้อมูลเพื่อศึกษาให้ถ่องแท้และได้เป็นข้อวินิจฉัย ดังนั้น ข้อความดังกล่าวจึงถือเป็นการแสดง “ความเห็น” เมื่อจำเลยมีความเห็นและเชื่อเช่นนั้น การที่จำเลยถ่ายทอดออกเป็นข้อความดังกล่าว จำเลยย่อมถ่ายทอดได้อย่างถูกต้องตามแหล่งที่มาของข้อมูลซึ่งก็คือตัวจำเลยเอง ข้อความพิพาทจึงไม่อาจเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จได้ คดีของโจทก์ในฟ้องส่วนนี้ จึงไม่มีมูลเช่นกัน

 

ส่วนฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 15 เห็นว่า จำเลยในฐานะเจ้าของและผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์เว็บไซต์เฟซบุ๊กเพจชื่อว่า “รสนา โตสิตระกูล” จงใจสนับสนุนและยินยอมให้บุคคลโดยทั่วไปที่เป็นผู้ใช้บริการเว็บไซต์เฟซบุ๊กกระทำความผิดฐานนำเข้าและเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความดูแลของจำเลย เห็นว่า องค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ มาตรา 15 นั้น จำต้องมีผู้หนึ่งผู้ใดที่กระทำความผิดตามมาตรา 14 เสียก่อน จึงจะมีความผิดตามมาตรา 15 ได้

 

นอกจากนี้ มาตรา 15 ยังเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่ “ผู้ให้บริการ” ซึ่งมีบัญญัติคำนิยามไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จำเลยมีอำนาจในการลบแก้ไขข้อความของตนและสามารถลบการติดแท็คหรือสามารถลบข้อความแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต จำเลยจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ใช้บริการเว็บไซต์เฟสบุ๊คอีกทีหนึ่ง จึงไม่ถือเป็น “ผู้ให้บริการ” ตามมาตรา 3 จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดของมาตรา 15 ในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน คดีของโจทก์ในฟ้องข้อหานี้ จึงไม่มีมูลอีกประการหนึ่ง

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 11 และ 12 สิงหาคม 2557 รสนา โตสิตระกูล จำเลยได้นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมและเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางเว็บไซต์เฟสบุ๊กชื่อผู้ใช้ว่า “รสนา โตสิตระกูล” และจงใจสนับสนุนและยินยอมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์เฟสบุ๊กดังกล่าวที่อยู่ในความดูแลของรสนา จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง

มูลเหตุการณ์ฟ้องร้องเกิดจากเฟซบุ๊กเพจชื่อว่า “รสนา โตสิตระกูล” ที่มี รสนา โตสิตระกูล หรือ จำเลย เป็นเจ้าของยินยอมให้เฟซบุ๊กเพจชื่อว่า “ไม่เคยลักแบริเออร์” ติดแท็คชื่อเพจ “รสนา โตสิตระกูล” ไว้ที่บทความบนหน้าเฟซบุ๊กเพจ “ไม่เคยลักแบริเออร์” ซึ่งเมื่อบุคคลอื่นได้ลงข้อความแสดงความคิดเห็นไว้ที่บทความของหน้าเฟซบุ๊กเพจ “ไม่เคยลักแบริเออร์” ดังกล่าวจะมีผลทำให้ข้อความแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ปรากฏเข้าสู่หน้าเฟซบุ๊กเพจ “รสนา โตสิตระกูล” ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น จึงถือได้ว่าจำเลยในฐานะผู้ดูแลหน้าเฟซบุ๊กเพจ “รสนา “โตสิตระกูล” ยินยอมให้มีการนำเข้าข้อความดังกล่าวเข้าสู่หน้าเฟซบุ๊กเพจ โดยที่ข้อความแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเป็นความเท็จและทำให้โจทก์เสียหาย  นอกจากนี้ในวันที่ 12 สิงหาคม 2557 จำเลยได้นำเขียนบทความ “มหากาพย์ทุบท่อก๊าซ สมบัติชาติ” ลงบนหน้าเฟซบุ๊กเพจ “รสนา โตสิตระกูล”  บทความดังกล่าวปรากฏข้อความอันเป็นเท็จ

ในความผิดฐานนำเข้าและเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมและเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เฟซบุ๊กเพจชื่อว่า “รสนา โตสิตระกูล” ศาลพิเคราะห์ว่า คดีมีจะต้องวินิจฉัยว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมตามองค์ประกอบความผิดของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  หมายถึง เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ถูกทำให้เหมือนกับข้อมูลคอมพิวเตอร์อื่นเพื่อให้เกิดความหลงผิดไปว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อื่นนั้น กรณีจึงเป็นเรื่องของการทำให้บุคคลอื่นหลงผิดในแหล่งที่มาหรือแหล่งกำเนิดของข้อมูลคอมพิวเตอร์เหล่านั้น

แต่เมื่อพิจารณาในทางสืบของโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์เองได้ยืนยันว่า ข้อความตามเอกสารหมายบนเฟซบุ๊กเพจชื่อว่า “รสนา โตสิตระกูล” จำเลยเป็นผู้เขียนและนำเข้าสู่เฟซบุ๊กเพจ และต้องการให้ผู้อื่นเข้าใจด้วยว่า จำเลยเป็นผู้ทำขึ้นมาเอง พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่ได้พิสูจน์ว่า จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมแต่อย่างใด คดีของโจทก์ในฟ้องส่วนนี้จึงไม่มีมูล

สำหรับการวินิจฉัยว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือไม่ จะต้องมีการเปรียบเทียบระหว่างข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวกับแหล่งที่มาของข้อมูล ซึ่งหากข้อมูลที่ผิดเพี้ยนไปจะถือว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเป็นเท็จ ดังนั้นโจทก์จึงต้องพิสูจน์ว่าจำเลยให้ “ข้อเท็จจริง” ที่แตกต่างไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างไร ข้อความที่จำเลยเขียนขึ้นประกอบด้วยโครงสร้างการเขียนบทความหลายส่วนเช่น ส่วนต้นของข้อความที่อยู่ก่อนข้อความพิพาท จำเลยเขียนบรรยายสรุป “ข้อเท็จจริง” ซึ่งโจทก์เองก็ไม่ได้คัดค้าน

ในส่วนต่อมาคือ การเขียนข้อความที่เป็นกรณีพิพาทที่มีความสัมพันธ์กับข้อความในส่วนต้น ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงอ้างอิงได้กับแหล่งข้อมูล การเขียนข้อความพิพาทนี้จึงเกิดจากแยกแยะข้อมูลเพื่อศึกษาให้ถ่องแท้และได้เป็นข้อวินิจฉัย ดังนั้น ข้อความดังกล่าวจึงถือเป็นการแสดง “ความเห็น” เมื่อจำเลยมีความเห็นและเชื่อเช่นนั้น การที่จำเลยถ่ายทอดออกเป็นข้อความดังกล่าว จำเลยย่อมถ่ายทอดได้อย่างถูกต้องตามแหล่งที่มาของข้อมูลซึ่งก็คือตัวจำเลยเอง ข้อความพิพาทจึงไม่อาจเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จได้ คดีของโจทก์ในฟ้องส่วนนี้ จึงไม่มีมูลเช่นกัน

ส่วนฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 15 เห็นว่า จำเลยในฐานะเจ้าของและผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์เว็บไซต์เฟซบุ๊กเพจชื่อว่า “รสนา โตสิตระกูล” จงใจสนับสนุนและยินยอมให้บุคคลโดยทั่วไปที่เป็นผู้ใช้บริการเว็บไซต์เฟซบุ๊กกระทำความผิดฐานนำเข้าและเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความดูแลของจำเลย เห็นว่า องค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ มาตรา 15 นั้น จำต้องมีผู้หนึ่งผู้ใดที่กระทำความผิดตามมาตรา 14 เสียก่อน จึงจะมีความผิดตามมาตรา 15 ได้

ข้อความแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กเพจ “รสนา โตสิตระกูล” และ “ไม่เคยลักแบริเออร์” แม้เป็นถ้อยคำที่รุนแรง แต่ก็ถือเป็นการแสดงความเห็นอย่างหนึ่ง จึงไม่ถือว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จลักษณะเดียวกับที่ได้อธิบายไว้แล้วข้างต้น การฟ้องในข้อหาตามมาตรา 15 จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดในส่วนนี้ คดีของโจทก์ในฟ้องข้อหานี้ จึงไม่มีมูล

นอกจากนี้ มาตรา 15 ยังเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่ “ผู้ให้บริการ” ซึ่งมีบัญญัติคำนิยามไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จำเลยมีอำนาจในการลบแก้ไขข้อความของตนและสามารถลบการติดแท็คหรือสามารถลบข้อความแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต จำเลยจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ใช้บริการเว็บไซต์เฟสบุ๊คอีกทีหนึ่ง จึงไม่ถือเป็น “ผู้ให้บริการ” ตามมาตรา 3 จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดของมาตรา 15 ในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน คดีของโจทก์ในฟ้องข้อหานี้ จึงไม่มีมูลอีกประการหนึ่ง

 

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา