กิจกรรมปัดฝุ่นประชาธิปไตย

อัปเดตล่าสุด: 19/01/2562

ผู้ต้องหา

ชนกนันท์ รวมทรัพย์

สถานะคดี

อื่นๆ

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 24 มิถุนายน 2559 เวลาประมาณ 9.00 น. นักกิจกรรมเจ็ดคนรวมตัวกันที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุบางเขนเพื่อทำกิจกรรมปัดฝุ่นประชาธิปไตยโดยทั้งเจ็ดจะเดินจากวัดไปที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญตรงวงเวียนบางเขนเพื่อทำความสะอาดเนื่องในวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบพยายามเจรจากับนักกิจกรรมตั้งแต่ในวัดเพื่อให้ยุติการทำกิจกรรมแต่ทั้งเจ็ดปฏิเสธและเริ่มเดินออกจากวัดมุ่งหน้าไปยังอนุสาวรีย์

ระหว่างที่เดินไปเจ้าหน้าที่พยายามสกัดแต่นักกิจกรรมก็เดินต่อไปจนกระทั่งถึงบริเวณฝั่งตรงข้ามพุทธวิชชาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร เจ้าหน้าที่ปราบจลาจลหญิง (กองร้อยน้ำหวาน) ทำการสะกัดและล้อมนักกิจกรรมทั้งเจ็ดก่อนจะควบคุมตัวขึ้นรถตู้ไปที่สน.บางเขน

นักกิจกรรมทั้งเจ็ดถุกควบคุมตัวที่สน.ตั้งแต่ประมาณ 10 นาฬิกาเศษจนถึงช่วงเย็นจึงถุกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพโดยถูกตั้งข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯและข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง อย่างไรก็ตามศาลทหารยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนทั้งเจ็ดโดยให้เหตุผลว่าคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษต่ำและผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นนักศึกษา ทั้งเจ็ดได้รับการปล่อยตัวจากศาลทหารกรุงเทพในเวลาประมาณ 20.40 น.

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ชนกนันท์ รวมทรัพย์ อายุ 23 ปี สำเร็จการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่
อรัญญิกา อายุ 21 ปี เป็นนิสิตคณะประมง ปี 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
เกษมชาติ อายุ 21 ปี เป็นนิสิตคณะสังคมศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
สุทธิดา อายุ 21 ปี เป็นนิสิตคณะมนุษยศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
กานต์ อายุ 19 ปี เป็นนิสิตคณะสังคมศาสตร์ ปี 2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
อุทัย อายุ 21 ปี เป็นนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
คุณภัทร อายุ 21 ปี เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยรามคำแหง 
 

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558
คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

นักกิจกรรมทั้งเจ็ดจัดกิจกรรมปัดฝุ่นประชาธิปไตยซึ่งถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองโดยไม่ขออนุญาตคสช.จึงเข้าข่ายความผิดตามข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ก็ไม่มีการแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดพื้นที่จัดการชุมนุมล่วงหน้าตามที่กฎหมายกำหนดคือไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนเริ่มการชุมนุมจึงเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุม

พฤติการณ์การจับกุม

เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพยายามเข้าเจรจากับนักกิจกรรมทั้งเจ็ดตั้งแต่เริ่มรวมตัวที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุในเวลาประมาณ 9.00 น. แต่ไม่เป็นพล เมื่อนักกิจกรรมเริ่มเดินออกจากวัดเจ้าหน้าที่ทำการปิดประตูหน้าวัดแต่สุดท้ายนักกิจกรรมก็เดินออกมาจากวัดและมุ่งหน้าไปยังอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ระหว่างทางเจ้าหน้าที่พยายามหยุดนักกิจกรรมหลายครั้งและรถตู้ของเจ้าหน้าที่ก็วิ่งขนาบนักกิจกรรมทั้งเจ็ดตลอดแต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ใช่กำลังควบคุมตัวนักกิจกรรมขึ้นรถ 

ระหว่างทางมีนักกิจกรรมแจกเอกสารให้คนที่ผ่านทางมาแต่เจ้าหน้าที่ก็รีบวิ่งตามไปขอเอกสารคืนมาและยึดไว้ เมื่อนักกิจกรรมเดินมาถึงฝั่งตรงข้ามพุทธวิชชาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร เจ้าหน้าที่ปราบจลาจลหญิงก็เริ่มเข้ามาล้อมให้นักกิจกรรมนั่งลง ในเวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่เริ่มควบคุมตัวนักกิจกรรมโดยอุ้มทั้งหมดขึ้นรถตู้และนำตัวไปที่สน.บางเขนซึ่งอยู่อีกฟากของถนนเพื่อทำการสอบสวนโดยไปถึงสน.ในเวลาประมาณ 10 นาฬิกาเศษ 

ดูพฤติการณ์การจับกุมโดยละเอียดในรายงานพิเศษ "การเดินทางในวันฟ้าปิดจากหมุดคณะราษฎร์สู่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ"

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
24 มิถุนายน 2559
 
นักกิจกรรมเจ็ดคนรวมตั้งกันที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุในเวลาประมาณ 9.00 น. เพื่อเตรียมทำกิจกรรม "ปัดฝุ่นประชาธิปไตย" ด้วยการเดินเท้าจากวัดพระศรีรัตมหาธาตุไปทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่พยายามเจรจาให้ทั้งเจ็ดยุติกิจกรรมแต่ไม่เป็นผล จึงดำเนินการควบคุมตัวนักกิจกรรมทั้งหมดในเวลาประมาณ 10.00 น. 

ในเวลาประมาณ 10.30 น.อานนท์ นำภา ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมาถึงสน.บางเขน เพื่อติดต่อเข้าพบกลุ่มนักกิจกรรมแต่ทนายไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องโดยเจ้าหน้าที่ระบุว่ายังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาและมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามคนกำลังพูดคุยกับนักกิจกรรมที่เป็นนิสิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่

ในเวลาต่อมาอาจารย์สามคนเดินออกจากห้องสอบสวนเจ้าหน้าที่จึงให้ทนายเข้าไปในห้องสอบสวน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหากล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป  นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังขอค้นกระเป๋าของกลุ่มนักกิจกรรมทั้งหมด ก่อนยึดพานสีทองที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญวางอยู่เป็นของกลาง


เจ้าหน้าที่ยังลากรถของชนกนันท์ หนึ่งในนักกิจกรรมมาที่สน.บางเขนเพื่อทำการตรวจค้นด้วยซึ่งมีเอกสารบางส่วนที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติจึงมีการเชิญเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการการเลือกตั้งมาตรวจสอบแต่ในภายหลังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ประชามติฯเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ต่อมาในเวลาประมาณ 15.20 น.เว็บไซต์ไทยพีบีเอส รายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้คุมตัวนักกิจกรรมทั้งเจ็ดไปที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง

นักกิจกรรมทั้งเจ็ดถูกควบคุมตัวไปถึงศาลทหารกรุงเทพในเวลาประมาณ 16.00 น. พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนโดยระบุเหตุผลว่าต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีกสี่ปากและรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือผู้ต้องหา จึงขออำนาจศาลทหารฝากขังกำหนด 12 วัน โดยในคำร้องพนักงานสอบสวนไม่ได้คัดค้านการประกันตัวของผู้ต้องหา
 
ในเวลาประมาณ 19.40 น. ศาลทหารกรุงเทพไต่สวนคำร้องฝากขัง โดยทนายถามพนักงานสอบสวนได้ความว่า ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาส่วนของกลางในคดีเป็นเอกสารทางการเมือง พนักงานสอบสวนผู้ยื่นคำร้องฝากขังยังไม่ได้อ่านเอกสารดังกล่าวและไม่ทราบว่าพยานสี่ปากที่จะสอบเพิ่มเติมคือใครเพราะไม่ได้พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน

การตรวจสอบประวัติของผู้ต้องหาไม่ได้เกี่ยวกับของตัวผู้ต้องหาแต่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ในส่วนของผู้ต้องหา ทั้งเจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำทั้งหมดไว้แล้วโดยให้การปฏิเสธ
 
กานต์หนึ่งในนักกิจกรรมที่ตกเป็นผู้ต้องหาแถลงต่อศาลถึงความตั้งใจในการร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 และตั้งใจไปทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่หลักสี่ และแถลงว่าพวกตนยังเป็นนักศึกษาและอยู่ระหว่างการสอบในมหาวิทยาลัยจึงขอให้ศาลปล่อยตัว
 
หลังเสร็จสิ้นการไต่สวน ศาลทหารมียกคำร้องขอฝากขัง โดยระบุว่าพฤติกรรมในการกระทำความผิดมีอัตราโทษไม่สูง ประกอบกับผู้ต้องหายังเป็นนักศึกษา จึงต้องรับผิดชอบด้านการเรียน ผู้ต้องหาทั้งเจ็ดยังให้ปากคำไว้แล้วและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่น่าจะหลบหนีหรือไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน จึงไม่จำเป็นต้องควบคุมตัวเอาไว้

ผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนได้รับการปล่อยตัวจากศาลทหารในเวลาประมาณ เวลา 20.35 น.
 
29 สิงหาคม 2561
 
พนักงานสอบสวนสน.บางเขนออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหาทั้งเจ็ดมาเข้าพบในวันที่ 5 กันยายน 2561 
 
5 กันยายน 2561
 
ผู้ต้องหาร้องขอให้ทนายเข้าพบพนักงานสอบสวนสน.บางเขนเพื่อเลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 2 ตุลาคม เนื่องจากวันนัดเดิมออกมากระชั้นกับการออกหมายเรียก ผู้ต้องหาบางส่วนติดภารกิจไม่สามารถมารายงานตัวได้
 
2 ตุลาคม 2561
 
พนักงานสอบสวนสน.บางเขนผู้ต้องหาทั้งเจ็ดส่งตัวฟ้องต่ออัยการศาลทหารกรุงเทพ ในวันนี้ผู้ต้องหาหกคนได้แก่ อรัญญิกา เกษมชาติ สุทธิดา กานต์ อุทัย และคุณภัทร เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนที่ศาลทหาร โดยมีอาจารย์และประชาชนมาร่วมให้กำลังใจจำนวนประมาณ 20 คน อย่างไรก็ตามมีผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งคือชนกนันท์ที่ไม่ได้มาศาลตามนัด
 
หลังผู้ต้องหาทั้งหกเข้าพบอัยการทหาร อัยการแจ้งว่าจะเลื่อนไปสั่งคดีในวันที่ื  6 พฤศจิกายน 2561 ส่วนชนกนันท์ผู้ต้องหาที่ไม่ได้มาศาลตามนัดทางพนักงานสอบสวนได้ทำการขอศาลอนุมัติหมายจับแล้ว 

ดูรายละเอียดการเข้ารายงานตัวและแถลงการณ์ของหกผู้ต้องหา ที่นี่
 
6 พฤศจิกายน 2561
 
นัดฟังคำสั่งอัยการทหาร
 
ผู้ต้องหาทั้งหกคนยกเว้นชนกนันท์ที่ลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศทยอยมาถึงบริเวณหน้าศาลทหารกรุงเทพตั้งแต่ช่วง 9.00 น. เมื่อผู้ต้องหาทั้งหมดมาครบในเวลาประมาณ 10.30 น. ก็ขึ้นไปที่ห้องรับรองของอัยการเพื่อฟังคำสั่งคดี อัยการทหารแจ้งผู้ต้องหาทั้งหกคนว่าพิจารณาสำนวนแล้วมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหกในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 หลังอัยการทหารมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งหกก็อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ 
 
อย่างไรก็ตามทั้งหกไม่ได้ถูกนำตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลแต่เจ้าหน้าที่ให้นั่งรอที่ห้องรับรองของทนายความขณะทำเรื่องประกันตัว โดยระหว่างนั้นก็มีนักวิชาการและเพื่อนๆผลัดกันมาให้กำลังใจ
 
ในเวลาประมาณ 13.05 น.ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้ทั้งหกคนประกันตัวโดยวางเงินประกันคนละ 10,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามชุมนุมทางการเมือง และยุยงปลุกปั่นบุคคลอื่นใดเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีอื่นใดทั้งโดยตรงและโดยอ้อม 
 
จากนั้นในเวลาประมาณ 16.16 น. ทั้งหกถูกนำตัวขึ้นรถของกรมราชทัณฑ์ไปที่เรือนจำเพื่อปล่อยตัว ในเวลาต่อมามีรายงานว่าจำเลยทั้งหกได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลางระหว่างเวลา 19.30 – 20.30
 
17 มกราคม 2562
 
นัดพร้อม ฟังคำสั่งคดี
 
จำเลยในคดีนี้ทยอยมาที่ศาลตั้งแต่ก่อนเวลา 9.00 น. โดยนอกจากจำเลยทั้งเจ็ดคนแล้ววันนี้มีพ่อของหนึ่งในจำเลยมาร่วมฟังคำสั่งด้วย
 
ในวันเดียวกันมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตเยอรมันเดินทางมาที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อสังเกตการณ์การพิจารณาคดีของวรเจตน์ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช.ด้วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากคดีของวรเจตน์ถูกเลื่อนออกไปเพราะวรเจตน์ป่วยไม่สามารถมาศาลได้ ตัวแทนจากสถานทูตเยอรมันจึงมาสังเกตการณ์การพิจารณาคดีนี้แทน 
 
เวลา 9.45 น.ศาลทหารกรุงเทพขึ้นบัลลังก์และอ่านคำสั่งจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยทั้งหกคนยกเว้นชนกนันท์ จำเลยอีกคนหนึ่งที่หลบหนีและถูกจำหน่ายออกจากสำนวนคดีนี้ไปก่อนหน้านี้ 
 
คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลทหารกรุงเทพระบุว่า คดีนี้จำเลยทั้งหกถูกฟ้องว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ
12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน
 
ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2562 หัวหน้าคสช.ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 22/2561 เรื่องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12
 
จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่บทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติภายหลังให้การกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยทั้งหกจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และเป็นกรณีที่มีกฎหมายออกมาใช้ในภายหลังยกเลิกความผิดที่โจทก์ฟ้อง สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงย่อมระงับไป ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
 
หลังศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี  
กานต์ นิสิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในจำเลยคดีนี้ ระบุว่าคดีนี้ไม่ได้กระทบกับเขามากนักเพราะที่บ้านให้การสนับสนุนและให้กำลังใจ หลังถูกดำเนินคดีเขาเคยต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำระหว่างรอการปล่อยตัวประมาณครึ่งวันก็รู้สึกกังวลบ้างแต่สุดท้ายก็ผ่านมันไปได้ และแม้จะถูกดำเนินคดีเขาก็ยังยืนยันที่จะทำกิจกรรมต่อไป โดยช่วงที่มีการชุมนุมคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งเขาก็ไปเข้าร่วม
 
กานต์ระบุด้วยว่าในการใช้เสรีภาพ ถ้าประชาชนใช้สิทธิตามขั้นตอนเช่นแจ้งการชุมนุมก็พอจะสามารถป้องกันตัวเองได้ระดับหนึ่ง
 
ส่วนกรณีอนุสาวรีย์พิพทักษ์รัฐธรรมนูญซึ่งพวกเขาตั้งใจจะไปทำความสะอาดในวันเกิดเหตุถูกเคลื่อนย้ายออกไปโดยไม่รู้จุดหมายปลายทาง
 
กานต์ระบุว่าแม้ตัวอนุสาวรีย์จะหายไปแต่เขาก็คิดว่าความหมายที่อนุสาวรีย์ต้องการสื่ออันได้แก่การปกป้องประชาธิปไตยหรือรัฐธรรมนูญมันก็อยู่ในใจคนไปแล้ว
 
ในส่วนของอรัญญิกา จำเลยอีกคนหนึ่งก็ระบุว่าระหว่างถูกดำเนินคดีเธอได้รับผลกระทบในชีวิตพอสมควรเพราะถูกอาจารย์บางส่วนปฏิบัติกับเธอในลักษณะมีอคติ แต่แม้จะถูกดำเนินคดีเธอก็ยืนยันที่จะทำกิจกรรมต่อไป
 
ส่วนกรณีของอนุสาวรีย์ที่ถูกย้ายไปเธอสงสัยว่าเหตุใดอนุสาวรีย์ซึ่งอาจจะเป็นโบราณสถานจึงถูกเคลื่อนย้ายโดยไม่มีการชี้แจงที่ชัดเจน
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา