บัณฑิต : แสดงความเห็นงานเสวนารัฐธรรมนูญ

อัปเดตล่าสุด: 28/01/2564

ผู้ต้องหา

บัณฑิต อาร์ณีญาญ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม

สารบัญ

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2558 บัณฑิตไปร่วมการเสวนาในหัวข้อ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช? ซึ่งจัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ 
 
ระหว่างการเสวนาบัณฑิตยกมือขึ้นและแสดงความคิดเห็นว่า

"คุณค่าแห่งความเป็นคน และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องสูงกว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ที่ฝ่าเท้าของคนบางคน"
 
การแสดงความคิดเห็นในลักษณะดังกล่าวทำให้บัณฑิตถูกเจ้าหน้าที่สน.ชนะสงครามซึ่งแฝงตัวสังเกตการณ์พร้อมทั้งบันทึกภาพและเสียงของงานเสวนาพาไปปรับทัศนคติที่สน.ชนะสงครามก่อนจะปล่อยตัวเขากลับบ้านโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา
 
ในเดือนพฤศจิกายน 2559 พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามขอศาลทหารกรุงเทพออกหมายจับบัณฑิตเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีนี้และได้ทำการจับกุมบัณฑิตที่ห้องพักของเขา บัณฑิตถูกคุมขังในเรือนจำหนึ่งคืนก่อนจะได้รับการประกันตัวออกมา โดยต้องวางเงินสด 400000 บาท
 
อัยการศาลทหารกรุงเทพฟ้องคดีบัณฑิตต่อศาลทหารกรุงเทพเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 คดีของบัณฑิตอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562 จึงถูกย้ายมาพิจารณาที่ศาลอาญาหลังหัวหน้าคสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 9/2562 โอนคดีพลเรือนที่ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารด้วยผลของประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 และฉบับอื่นๆที่เกี่ยวข้องมาให้ศาลยุติธรรมพิจารณาต่อ
 
หลังคดีถูกโอนย้ายมาศาลอาญาถามคำให้การของบัณฑิตอีกครั้งซึ่งเขายังคงยืนยันให้การปฏิเสธ ศาลอาญาสืบพยานคดีนี้แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2563 และมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยในวันที่ 26 มกราคม 2564 เพราะเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควร พิพากษายกฟ้อง

ภูมิหลังผู้ต้องหา

บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ อายุ 76 ปี เป็น นักคิด นักเขียนและนักแปล เดินทางมาจากเมืองจีนตั้งแต่เล็ก "จือเซง แซ่โคว้" คือชื่อทางการของเขา บัณฑิตเคยเล่าถึงที่มาชื่อไว้ว่า 'จือ' แปลว่าหนังสือและ 'เซ้ง' แปลว่า เจริญ นอกจากทำงานเขียนงานแปล เขามักปรากฏตัวตามกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ  ในอดีตเขาเคยถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯครั้งแรก ตอนปี 2518 จากการทำสัญลักษณ์ธงแดง ก่อนถูกจับโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม แต่ได้รับการปล่อยตัว เพราะเจ้าหน้าที่เห็นว่าเขามีอาการทางจิต
 
ต่อมาบัณฑิตถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ สองคดี  คดีแรกคือ กรณีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงานประชุมสัมมนาของคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)ร่วมกับศาลรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นในหัวข้อ “กฎหมายพรรคการเมือง: โอกาสและข้อจำกัดในการส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมือง” ทำให้พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต.(ขณะนั้น) แจ้งความกล่าวหาบัณฑิตว่า พูดแลกเปลี่ยนในงานเสวนาและขายเอกสารที่จัดทำขึ้นเองมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นฯ คดีนี้ ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2557 ให้จำคุก 4 ปี รอลงอาญา 3 ปีเนื่องจากเห็นว่าบัณฑิตมีอาการทางจิตเภท
 
อีกคดีเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 บัณฑิตไปแสดงความเห็นที่งานเสวนาระดมความเห็นเรื่องการปฏิรูปของพรรคนวัตกรรม คดีนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลทหาร ซึ่งบัณฑิตได้รับการประกันตัวและอยู่ระหว่างต่อสู้คดีในศาลทหารอยู่ในขณะนี้ 
 
และเมื่อเดือนตุลาคม 2559  หลังการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 บัณฑิตเคยโพสต์เฟซบุ๊กว่า  ถูก ‘ล่าแม่มด’ โดยถูกด่าทอและคุกคามเอาชีวิตในโลกโซเชียลมีเดีย จากนั้นไม่กี่วันตำรวจและทหารได้คุมตัวเขาจากห้องพักไปยังสน.หนองค้างพลู โดยระบุว่า เขาโพสต์แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ อย่างไม่เหมาะสมกับห้วงเวลาแห่งความเศร้าโศกของประชาชนทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้เป็นเพียงการตักเตือนและทำข้อตกลงกับนายบัณฑิตว่าจะไม่ทำพฤติกรรมเช่นนี้อีกและบัณฑิตได้รับปากเจ้าหน้าที่โดยดี นายทหารที่ดูแลพื้นที่ระบุว่าหากเขายังมีพฤติกรรมการโพสต์เช่นเดิมจะดำเนินการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ให้ถึงที่สุด

 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

บัณฑิต ไปแสดงความคิดเห็นหลังการเสวนาเรื่อง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2558 โดยเขาเสนอความเห็นให้บัญญัติเรื่องที่เขาเห็นว่าสำคัญ 5 เรื่องไว้ในรัฐธรรมนูญ และข้อหนึ่งในนั้นระบุถึงเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันโดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่ามีส่วนที่พาดพิงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ หลังจบการเสวนา ตำรวจ สน.ชนะสงครามที่มาสังเกตการณ์การจัดเสวนาได้เชิญตัวเขาไปโรงพักเพื่อทำการตักเตือนและให้ลงนามในข้อตกลงว่าจะไม่แสดงความเห็นลักษณะนี้อีก โดยไม่ได้ดำเนินคดีแต่อย่างใด กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ที่นำมาซึ่งการจับกุมในคดีนี้

พฤติการณ์การจับกุม

15 พฤศจิกายน 2559 บัณฑิตถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม แสดงหมายจับและจับกุมตัวไปจากห้องพักย่านหนองแขมและนำตัวไปที่สน.ชนะสงคราม
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
15 พฤศจิกายน 2559
ประชาไทรายงานว่า บัณฑิต ถูกตำรวจจับกุมตัวตามหมายจับที่ออกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2559 ที่ห้องพักย่านหนองแขมแล้วนำตัวไปรับทราบข้อกล่าวหาความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ที่สน.ชนะสงคราม เขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและถูกควบคุมตัว 1 คืนก่อนพนักงานสอบสวนจะนำตัวมาฝากขังยังศาลทหาร ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559
 
 
16 พฤศจิกายน 2559
ประชาไทรายงานว่า หลังพนักงานสอบสวนนำตัวบัณฑิตไปศาลทหารเพื่อขออำนาจศาลฝากขังผัดแรก 12 วันเเล้ว ทางทนายขอยื่นประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 300,000 บาท  แต่ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุเหตุผลว่า ในขณะพิจารณาคำร้อง พนักงานสอบสวนไม่ได้อยู่ที่ศาลและไม่สามารถติดต่อได้จึงได้งดการถาม ตรวจสำนวนฝากขังและคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแล้วเห็นว่าพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาเนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ประกอบกับพิจารณาหลักประกันที่ผู้ร้องยื่นมายังไม่เพียงพอที่ศาลใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง โดยหลังศาลมีคำสั่งอนุมัติฝากขังเจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายบัณฑิตไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยทันที

17 พฤศจิกายน 2559 
 
ประชาไทรายงานว่า ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวบัณฑิต โดยนายประกันวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 400,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ทีมช่วยเหลือคดีนักโทษการเมืองระดมจากการบริจาคและบางส่วนเป็นการหยิบยืมมา  โดยระบุเงื่อนไขปล่อยชั่วคราวด้วยว่า 1.ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล 2.ห้ามร่วมชุมนุมทางการเมืองอันก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักรและห้ามแสดงความคิดเห็นด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดหรือเป็นหนังสือ เพื่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

25 มิถุนายน 2561


นัดสืบพยานโจทก์ พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์

ศาลนัดสืบพยานเวลา 8.30 น. เวลาประมาณ 9.44 ศาลนั่งบัลลังก์ ในห้องพิจารณานอกจากบัณฑิตแล้ว มีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

สืบพยานต่อจากวันนัดพิจารณาคดีคราวก่อน

ทนายจำเลยถามค้านต่อจากคราวก่อน ทนายให้พยานดูเอกสาร (เป็นเอกสารที่เป็นหนังสือเพื่อส่งให้กองบังคับการนครบาล1และผู้บัญชาการนครบาล1จะส่งให้ผู้บัญชาการนครบาล) และในเอกสารมีความว่า กองบังคับการนครบาล1ให้ความเห็นว่ากรณีนี้เข้าข่ายการทำผิดม.112 ประมวลกฎหมายอาญาและให้ต้องคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน

พยานตอบว่าใช่

ทนายจำเลยถาม พ.ต.อ.สมยศ การมีหนังสือดังกล่าวมานี้ที่มีความว่าจำเลยอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามม.112 ประมวลกฎหมายอาญา ทำให้พยานไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ม.112 ประมวลกฎหมายอาญา แต่ในเอกสารดังกล่าวไม่ได้แจ้งให้พยาน เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ และศาลถามแทรกอีกว่า เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการพนักงานสอบสวนก็มีคำสั่งให้พยานไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ใช่หรือไม่
พยาน ตอบว่า ใช่

ทนายจำเลยถาม สน.ชนะสงครามได้ทำการสอบสวนพยานบุคคลจนได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้วใช่ไหม พ.ต.อ.สมยศ ตอบว่า ใช่ สน.ชนะสงครามสอบพยานครบแล้วและพยานไปร้องทุกข์กล่าวโทษ

ศาลถาม ตามเอกสารดังกล่าวต้องผ่านคณะกรรมการคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก่อนจะตั้งคณะกรรมการพนักงานสืบสวนสอบสวนใช่หรือไม่ พยาน ตอบว่า ใช่
แต่พยานไม่ได้เป็นคณะกรรมการพนักงานสืบสวนสอบสวน

ทนายจำเลยอีกว่าถาม เหตุที่พยานแจ้งความเพราะคำสั่งของกองบังคับการนครบาล1ใช่หรือไม่ " เป็นความเห็นของสน.ชนะสงคราม ซึ่งเป็นกระบวนการทางราชการเพราะสน.ชนะสงครามได้สืบพยานครบแล้ว จึงเป็นความเห็นของพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม"พยานตอบ

จากนั้นเป็นคำถามเกี่ยวกับ  พนักงานสอบสวนให้พยานมาร้องทุกข์กล่าวโทษและพยานก็ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ซึ่งตัวพยานได้ให้การกับพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 และ 14 กรกฎาคม 2559 และ 20 ตุลาคม 2559 โดยพยานให้การว่า ข้อความดังกล่าวไม่ผิด ม.112 ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา และต่อมา คำพูดของจำเลยมีความหมิ่นเหม่ต่อความผิดม.112 ประมวลกฎหมายลักษณะอาญาใช่ไหม พยานตอบว่า ใช่

และพบานรับว่าใช่เมื่อ ทนายจำเลยให้พยานดูเอกสารที่มีคำให้การที่เขียนว่า การกระทำหมิ่นเหม่ และถามว่า ไม่มีการเขียนว่าจำเลยทำผิดตามม.112

 อัยการทหารถามติง

อัยการให้พยานยืนยันคำให้การที่ให้ไว้ในวันที่ 16 กันยายน 2558  พยานยืนยันคำให้การและเบิกความว่าการพิจารณาทำคนเดียวไม่ได้ต้องมีบุคคลหลายฝ่ายจึงบอกไปว่าจำเลยยังไม่ได้กระทำความผิด และส่วนคำเบิกความในวันที่ 20 ตุลาคม 2559 หลังจากที่บุคคลหลายฝ่ายให้ความเห็นแล้วยืนยันว่ามีความผิดจึงให้การในฐานะผู้กล่าวหาแล้วไปกล่าวโทษ

สืบพยานปาก ร.ต.อ.สิทธิชัย เคียงสูงเนิน

เริ่มสืบพยานในเวลาประมาณ 10.37 น.

ทนายจำเลยถามค้านต่อจากคราวก่อน พยานเบิกความว่า จบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงและรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมา 32 ปี ซึ่งพยานไม่เคยเป็นพนักงานสอบสวนมาก่อน แต่มีความรู้ด้านกฎหมายดี เพราะจบนิติศาสตร์

ทนายจำเลยถาม พยานอยู่ในห้องหรือนอกห้องเสวนาในวันเกิดเหตุ พยานตอบ อยู่ในห้องตรงที่ควบคุมกล้อง วีดีโอ ทนายจำเลยถาม ในวันเกิดเหตุมีกล้องวีดีโอของนักข่าวด้วยหลายตัวใช่ไหม พยานตอบว่า ใช่

ทนายจำเลยถาม พยานอยู่ในห้องแล้วพ.ต.อ.สมยศ อยู่ในห้องไหม พยานตอบว่า เข้าๆออกๆ

ทนายจำเลยถาม ในห้องเสวนามีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาด้วยหรือไม่ พยานตอบ ไม่ทราบ

ทนายจำเลยถาม ที่พยานเบิกความนัดก่อนว่า ได้รับคำสั่งพ.ต.อ.สมยศให้ติดตามจำเลยและควบคุมตัว(เชิญตัว)พยานใช้อำนาจอะไร พยานตอบ ตอนนั้นยังไม่ทราบว่าจำเลยกระทำความผิดทางอาญาหรือไม่

ส่วนวันที่ควบคุมตัวไป  สน.ชนะสงคราม นั้นพยานไม่ได้เป็นคนปรับทัศนคติแค่ส่งตัวจำเลยให้ พ.ต.อ.สมยศ และพยานก็เดินเข้าๆออกๆในห้องนั้นไม่ได้อยู่ตลอด

จากนั้นทนายให้พยานดูเอกสาร ซึ่งเป็นคำพูดที่จำเลยพูดในห้องเสวนาจำเลยพูดว่า “ขอบคุณมากครับผมเสนอในปี 2540 ให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ5ข้อดังต่อไปนี้……” พยานคิดว่าอย่างไรที่จำเลยเคยพูดมาแล้วก่อนในปี2540แล้วใช่หรือไม่

พยานตอบ คิดว่าพยานพูดอย่างนั้นเพื่อเข้าข้างตัวเองแต่เข้าใจได้ว่าพูดเช่นนั้นจริง

ทนายจำเลยให้พยานดูเอกสารอีกครั้ง เป็นข้อความการปรับทัศนคติซึ่งพยานเป็นผู้ควบคุมการพิมพ์ ในฐานะพยานเป็นคนพิมพ์แม้ว่าจะให้ลูกน้องพิมพ์ให้ก็ตาม แต่พยานจะเห็นได้ว่าไม่มีข้อความว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

พยานตอบ ใช่ เป็นการหมิ่นเหม่ไม่ใช่การกระทำความผิดตามม.112 ประมวลกฎหมายอาญา

ทนายจำเลยถาม คำว่าหมิ่นเหม่หมายความว่าใกล้ เกือบ แต่ไม่ใช่การกระทำความผิด

พยานตอบ ใช่ ประมาณนั้น


ทนายจำเลยถามอีกว่า วันที่ 16 กันยายน  2558 พยานให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนพยานว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช้คำราชาศัพท์และไม่ระบุเจาะจงถึงใคร ต่อมา 14 กรกฎาคม 2559 พยานให้ปากคำเพิ่มเติมและยืนยันคำให้การในวันที่ 16 กันยายน 2558 และพยานตอบ ยืนยันตามนี้
ทนายถามว่า ต่อมาภายหลัง พยานทราบว่ามีคำสั่งให้ดำเนินคดีกับจำเลยโดยให้ พ.ต.ท.สมยศ (ในเวลานั้น) เป็นคนกล่าวโทษใช่หรือไม่ พยาน ตอบใช่

ทนายจำเลยถามว่า วันที่ 20 ตุลาคม 2559 พยานให้การเป็นพยานว่า การพูดทำให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสื่อมเสียพระเกียรติ และขอเอาคำให้การเมื่อวันที่ 16 กันยายน  2558 และ 14 กรกฎาคม 2559 รวมอยู่ในคำให้การนี้ด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ จากนั้นทนายจำเลยหมดคำถามค้าน

อัยการโจทก์ไม่ถามติง

28 มกราคม 2563 

นัดพร้อม

ศาลนัดสืบพยานที่เหลือในวันที่ 19 20 และ 24 พฤศจิกายน 2563

24 พฤศจิกายน 2563

นัดสืบพยานโจทก์จำเลย

สืบพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.หญิงชมพูนุช อนันตญากุล พนักงานสอบสวนในคดี

พ.ต.ท.ชมพูนุชเบิกความว่า ปัจจุบันรับราชการอยู่ที่ สภ.ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้รับราชการเป็นพนักงานสอบสวน สภ.ชนะสงคราม โดยรับราชการที่ สน.ชนะสงครามระหว่างปี 2556 – 2562 เกี่ยวกับคดี พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ รองผู้กำกับการสืบสวน สน.ชนะสงคราม เคยให้การไว้ว่า ในวันที่ 12 กันยายน 2558 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จัดงานเสวนาหัวข้อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.? ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พ.ต.ท.สมยศและผู้ใต้บังคับบัญชาอีก 1 นายซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนสน.ชนะสงคราม เข้าไปสังเกตการณ์หาข่าวในพื้นที่โดยได้ทำการบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวตลอดทั้งงาน

พ.ต.ท.ชมพูนุชเบิกความต่อว่าการเสวนามีกำหนดจัดระหว่าง 13.00 น.-16.00 น. ในเวลาประมาณ 14.50 น. บัณฑิตแสดงความเห็นในงานเสวนา โดยได้เอ่ยถึงข้อเสนอ 5 ประการที่สมควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยตอนหนึ่งได้กล่าวคำที่เป็นประเด็นปัญหาตามฟ้องด้วย (จำเลยกล่าวทำนองว่าศักดิศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทยทุกคนควรต้องเสมอกันและได้มีการใช้คำพูดในลักษณะที่เจ้าหน้าที่เห็นว่ามีลักษณะเป็นการเสียดสีเปรียบเปรยถึงคำราชาศัพท์คำหนึ่งที่ใช้ในการเขียนจดหมายถึงพระมหากษัตริย์เท่านั้น) พ.ต.ท.สมยศให้การด้วยว่าระหว่างที่เอ่ยถ้อยคำดังกล่าวจำเลยยังพูดด้วยว่าจะรับผิดชอบคำพูดของตัวเองและที่ผ่านมาตัวเองก็เคยถูกดำเนินคดีมาแล้ว 2 – 3 ครั้ง

พ.ต.ท.ชมพูนุชเบิกความต่อว่า หลังการเสวนาเจ้าหน้าที่ได้เชิญตัวบัณฑิตมาพูดคุยที่ สน.ชนะสงคราม โดยได้ทำการสอบประวัติและได้มีการปรับทัศนคติผู้ต้องหาด้วย โดยทำบันทึกเป็นเอกสารไว้ บัณฑิตให้ปากคำว่าตัวเองเป็นคนพูดถ้อยคำที่เป็นปัญหาจริง เจ้าหน้าที่ยังได้ถอดคำพูดของจำเลยมาพิมพ์ให้จำเลยตรวจสอบดูและจำเลยได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้าด้วย 

พ.ต.ท.ชมพูนุชเบิกความต่อว่า ในการดำเนินการทางคดี พนักงานสืบสวนจัดทำแผ่นบันทึกภาพและเสียงงานเสวนา และตนเองในฐานะพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำพ.ต.ท.สมยศ รวมทั้งผู้ใต้บังคับบัญชาที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในการสังเกตการณ์งานเสวนาเอาไว้ด้วย พ.ต.ท.สมยศให้การด้วยว่าคำพูดของจำเลยน่าจะเป็นการเปรียบเปรยและมีลักษณะเป็นการใช้คำเสียดสี ฃสถาบันและพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 พ.ต.ท.ชมพูนุชเบิกความต่อว่าหลังได้รับซีดีหลักฐานได้ส่งไปทำการตรวจพิสูจน์ด้วยว่ามีการตัดต่อหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาหรือไม่ นอกจากนั้นได้เชิญเจ้าหน้าที่จากสำนักราชเลขาธิการมาสอบปากคำซึ่งได้ความว่า คำว่า "ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท" เป็นคำราชาศัพท์ที่ใช้ในการเขียนเอกสารถึงองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น พยานจากสำนักราชเลขาธิการยังได้มอบเอกสารของสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นเอกสารที่กำหนดวิธีการใช้คำราชาศัพท์ในการเขียนเอกสารราชการไว้ให้ด้วย โดยเอกสารดังกล่าวจะแจกแจงข้อกำหนดว่าคำราชาศัพท์ใดใช้กับบุคคลใด

พ.ต.ท.ชมพูนุชยังได้เรียกพยานบุคคลอื่นมาสอบปากคำเพิ่มเติมเพื่อให้ความเห็นยเกี่ยวกับคำพูดของจำเลยด้วย ได้แก่ พยานจากราชบัณฑิตยสถานซึ่งมาให้ปากคำเกี่ยวกับถ้อยคำที่จำเลยพูด รวมทั้งพยานบุคคลซึ่งเป็นนักกฎหมาย นอกจากการสอบปากคำพยานเพิ่มเติมแล้ว พ.ต.ท.ชมพูนุชเบิกความว่าเธอได้ทำการตรวจสอบประวัติจำเลยด้วย พบว่านอกจากคดีนี้จำเลยยังเคยถูกดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในคดีอื่นอีก 3 คดี หลังทำการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด พนง.สส.ได้ขออนุมัติหมายจับจำเลยโดยศาลทหารกรุงเทพเป็นผู้ออกหมาย และมีการจับกุมตัวจำเลยในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 

พ.ต.ท.ชมพูนุชเบิกความต่อว่า หลังจำเลยถูกจับกุมตัว พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 กับจำเลย และได้แจ้งสิทธิของจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธและไม่ได้ให้การในรายละเอียด โดยเหตุที่มีความเห็นสั่งฟ้องคดีเป็นเพราะพยานหลักฐานมีน้ำหนักตามสมควร อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พ.ต.ท.ชมพูนุชเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ในวันที่ 12 กันยายน 2558 หลังงานเสวนา จำเลยถูกนำตัวไปที่สน.ชนะสงครามเพื่อทำการปรับทัศนคติ ตามเอกสารบันทึกการปรับทัศนคติซึ่งพ.ต.ท.สมยศเป็นผู้จัดทำระบุว่าการกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นการหมิ่นเหม่จะสร้างความสับสนและอาจสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนจึงนำตัวจำเลยมาปรับทัศนคติ ในขั้นตอนการปรับทัศนคติตัวเธอไม่ได้อยู่ในห้องด้วย และทราบว่าหลังปรับทัศนคติเสร็จจำเลยก็ได้รับการปล่อยตัวไปโดยยังไม่มีการดำเนินคดีในขณะนั้น 

ทนายจำเลยถามถึงรายละเอียดการสอบปากคำ พ.ต.ท.สมยศซึ่งเกิดขึ้น 3 ครั้ง พ.ต.ท.ชมพูนุชเบิกความว่าการสอบปากคำครั้งแรกทำในวันที่ 16 กันยายน 2558 พ.ต.ท.สมยศให้ปากคำว่าเนื่องจากถ้อยคำของจำเลยไม่ใช่คำราชาศัพท์ และไม่มีการเอ่ยถึงบุคคลใดอย่างจำเพาะเจาะจง จึงน่าจะยังไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 112 ครั้งที่สองพ.ต.ท.สมยศให้ปากคำในวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ระบุว่าคำพูดของจำเลยฟังแล้วรู้สึกเป็นการหมิ่นเหม่ต่อสถาบัน ทนายจำเลยถามว่าหมิ่นเหม่ยังไม่ถือเป็นความผิดใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ชมพูนุชรับว่าใช่ จากนั้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ในการสอบปากคำครั้งที่สาม พ.ต.ท.สมยศจึงให้ปากคำว่าการกระทำของจำเลยน่าจะเป็นความผิดและได้ทำการร้องทุกข์กล่าวโทษให้มีการดำเนินคดี 

ทนายจำเลยถามต่อไปว่า หลังมีการร้องทุกข์กล่าวโทษแล้วพ.ต.ท.ชมพูนุชดำเนินการทางคดีต่อไปอย่างไร พ.ต.ท.ชมพูนุชตอบว่าเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความมั่นคง จึงต้องมีการส่งสำนวนไปยังตำรวจนครบาล จากนั้นจึงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาและนำเสนอความเห็นตามลำดับชั้นไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทนายจำเลยถามว่า ที่พ.ต.ท.ชมพูนุชเบิกความตอบอัยการว่าเชิญพยานจากราชบัณฑิตยสถานมาให้ปากคำ เป็นการให้ความเห็นในลักษณะใด พ.ต.ท.ชมพูนุชตอบว่าเจ้าหน้าที่จากราชบัณฑิตให้ปากคำในลักษณะให้ความหมายของคำเป็นคำๆ ตามพจนานุกรม แต่ไม่ให้ความเห็นในลักษณะเอาคำมาผูกรวมเป็นประโยค ทนายจำเลยถามว่าพยานอีกหนึ่งปากที่เป็นนักกฎหมายมาให้ความเห็นนั้นผู้ใดเป็นคนจัดหามา พ.ต.ท.ชมพูนุชตอบว่าทางตำรวจเป็นผู้จัดหามา ทนายจำเลยถามว่าทราบหรือไม่ว่าบุคคลดังกล่าวเป็นทนายของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล พ.ต.ท.ชมพูนุชตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยขอศาลอ้างส่งพยานเอกสารเป็นเอกสารข่าวที่พยานคนดังกล่าวได้รับมอบอำนาจจากพล.ต.อ.ศรีวราห์ให้ฟ้องคดีบุคคลอื่น ทนายจำเลยถามต่อว่าโดยตำแหน่งคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นคดีความมั่นคงเป็นคดีที่อยู่ในความดูแลของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ชมพูนุชรับว่าใช่

พ.ต.ท.ชมพูนุชเบิกความตอบทนายจำเลยต่อว่า คดีมาตรา 112 เป็นคดีความมั่นคงที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรอง เบื้องต้นทางตำรวจนครบาลเห็นว่าถ้อยคำตามฟ้องไม่น่าเข้าข่ายผิดกฎหมายแต่ก็มีการสั่งให้สอบปากคำพยานเพิ่มเติม เนื่องจากมีคำบางคำที่มีลักษณะหมิ่นเหม่ และต่อมาจึงได้มีการสอบพยานเพื่อตรวจสอบว่า คำว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมีความหมายว่าอะไรและใช้ในโอกาสใด ทนายจำเลยถามพ.ต.ท.ชมพูนุชว่าโดยปกติประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้ใช้คำราชาศัพท์และอาจไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้คำราชาศัพท์ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ชมพูนุชตอบวว่าเธอไม่อาจยืนยันได้ว่าประชาชนจะทราบหรือไม่ 

ทนายจำเลยถามต่อว่าระเบียบสำนักนายกฯ เกี่ยวกับการใช้คำราชาศัพท์ที่พ.ต.ท.ชมพูนุชเคยเบิกความถึงมีการเผยแพร่เป็นการทั่วไปหรือไม่และเรื่องการใช้คำราชาศัพท์มีการสอนในโรงเรียนหรือไม่ พ.ต.ท.ชมพูนุชตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่าในประโยคที่ถูกนำมาฟ้องเป็นคดี จำเลยไม่ได้พูดคำราชาศัพท์ และไม่ได้เอ่ยชื่อบุคคลใด ประโยคที่จำเลยพูดต้องอาศัยการตีความใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ชมพูนุชรับว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่า คำว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ตัวประชาชนมักเข้าใจว่าคำหนั้นหมายถึงตัวตัวประชาชน ไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ชมพูนุชรับว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่าการตีความคำพูดของจำเลยจะต้องดูบริบทหรือสถานการณ์แวดล้อมเปรียบเทียบไปด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ชมพูนุชรับว่าใช่ ซึ่งการเสวนาที่จำเลยไปเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญคำพูดของจำเลยจึงน่าจะเป็นข้อเสนอเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.ท.ชมพูนุชทราบหรือไม่ว่าข้อความที่จำเลยพูดในการถูกฟ้องคดีช่วงปี 2548 คือคำอะไรบ้าง พ.ต.ท.ชมพูนุชตอบว่าไม่ทราบ

ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม  

ตอบอัยการถามติง 

พ.ต.ท.ชมพูนุชตอบคำถามอัยการว่า ที่คิดว่าถ้อยคำตามฟ้องของจำเลยหมายถึงพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 เป็นเพราะจำเลยเองที่พูดว่าตัวเองเอยถูกดำเนินคดีนี้ ในส่วนของพยานคนกลางที่พนักงานสอบสวนเชิญมาให้ความเห็นก็เป็นการเชิญมาให้ความเห็นแบบสุ่มเลือกซึ่งตัวพยานก็มีความหลากหลายทางสาขาอาชีพและให้ความเห็นอย่างหลากหลายมีทั้งที่เห็นว่าคำพูดจำเลยเข้าข่ายความผิดขณะที่บางส่วนก็เห็นว่าไม่น่าเป็นความผิด

อัยการแถลงหมดคำถาม

หลังเสร็จการสืบพยานปาก พ.ต.ท.ชมพูนุช อัยการแถลงหมดพยาน ทนายจำเลยแถลงขอพัก 5 นาทีเพื่อให้จำเลยเข้าห้องน้ำ จากนั้นศาลจึงให้ทนายจำเลยนำพยานจำเลยเข้าสืบซึ่งมีเพียงปากเดียวคือตัวจำเลยเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง

สืบพยานจำเลย

สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง บัณฑิต-จำเลยเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง

บัณฑิตเบิกความว่าเขาเป็นชาวจีนอพยพ เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเมื่ออายุได้ 6 ขวบ โดยอพยพเข้ามาในปี 2490 แต่เอกสารที่ทางราชการออกให้ระบุว่าเขาอพยพเข้ามาขณะอายุได้ 2 ขวบ สำหรับพื้นฐานด้านการศึกษาบัณพิตเบิกความว่าเขาจบชั้นป. 4 ก่อนทนายจำเลยจะถามคำถามต่อ ศาลถามบัณฑิตว่าเขามีปัญหาสุขภาพใดๆ หรือไม่ บัณฑิตตอบศาลว่าเขาป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ต้องตัดไตทิ้ง 1 ข้างและต้องปัสสาวะผ่านถุง นอกจากนั้นก็เป็นโรคภูมิแพ้แต่สภาพจิตใจปกติ บัณฑิตเบิกความด้วยว่าแพทย์เคยทำการรักษาโรคจิตเภทของเขา

ทนายจำเลยถามบัณฑิตว่า ศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยว่าเขาป่วยเป็นจิตเภทใช่หรือไม่ บัณฑิตตอบว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่า ก่อนหน้านี้ศาลทหารก็เคยส่งเขาไปทำการรักษษจิตเภทมาใช่หรือไม่ บัณฑิตตอบว่าศาลทหารเคยส่งเขาไปทำการตรวจรักษาที่สถาบันกัลญาราชนครินทร์ ซึ่งเขาไปตามคำสั่งศาลแต่ก็ไม่ยอมกินยาและเอายาไปทิ้ง ครั้งนั้นเขาอยู่ในความดูแลของแพทย์เป็นเวลา 3 วันจึงได้รับการปล่อยตัว 

เกี่ยวกับคดีนี้บัณฑิตเบิกความว่าสิ่งที่เขาพูดแล้วโดนจับในคดีนี้ เป็นสิ่งเดียวกับที่เขาเคยพูดไว้ก่อนหน้านี้นานแล้ว สำหรับงานเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญในคดีนี้เขาไปเพื่อขายหนังสือ วัตถุประสงค์ที่เขาพูดก็เพราะเขาต้องการยกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทยขึ้นมาให้เท่ากัน เขาเคยอ่านหนังสือของดร.เดือน บุญนาค ซึ่งเคยกล่าวถึงคนจีนในไทยไว้ว่าคนจีนเป็นพวกเห็นแก่ตัว เวลาจะเอาประโยชน์จากคนไทยก็เรียกนายเท้าใต้เท้า ซึ่งก็เป็นเหตุให้เขาพูดสิ่งที่เป็นควานในคดีนี้ เขาไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ส่วนคนที่บอกว่าสิ่งที่เขาพูดหมายถึงพระมหากษัตริย์ เขาก็จะถือว่าคนคนนั้นอาฆาตมาดร้ายกับเขา 

ทนายจำเลยถามต่อว่า หลังบัณฑิตพูดประโยคตามฟ้องในคดีนี้เกิดอะไรขึ้นต่อ บัณฑิตเบิกความว่าหลังงานเสวนาเขาถูกเอาตัวขึ้นรถตุ๊กๆ ไปสน.ชนะสงคราม ในห้องสอบสวนนั้นมีคนหลายคน แต่จะมีทหารอยู่ด้วยหรือไม่นั้นเขาไม่ทราบ ทราบแต่มีตำรวจนั่งอยู่ประมาณ 2 – 3 นาย ตำรวจทำการตรวจค้นย่ามของเขาแต่ก็ไม่พบอะไรผิดกฎหมาย จำได้ว่าเขาต้องอยู่กับตำรวจประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง ทนายจำเลยถามว่าวันนั้นมีกระบวนการอะไรเกิดขึ้นบ้าง บัณฑิตตอบว่าเขาไม่ทราบ เขาไม่เข้าใจกระบวนการ เขาแค่อยากกลับบ้าน สุดท้ายตำรวจก็ปล่อยเขากลับก่อนจะมาจับเขาอีกครั้งในปี 2559 ซึ่งครั้งนั้นเขาให้การปฏิเสธและเขาชื่อว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นสิ่งที่พูดได้และควรพูดให้มากกว่านี้

ทนายจำเลยถามบัณฑิตว่าเขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวมทั้งหมดกี่ครั้ง บัณฑิตระบุว่า 4 คดี คดีแรกในปี 2518 ที่เขาแต่งบทกวี เนื่องจากครั้งนั้นตำรวจเอาผิดเขาไม่ได้ก็เลยเอาเขาส่งโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งแพทย์เห็นว่าเขาเป็นโรคจิต ต่อมาปี 2548 เขาถูกดำเนินคดีเพราะไปแสดงความเห็นในงานเสวนางานหนึ่งและก่อนที่จะถูกดำเนินคดีนี้เขาก็ถูกจับดำเนินคดีที่สน.สุทธิสารเป็นคดีที่ 3 ซึ่งศาลอาญายกฟ้องไปก่อนหน้านี้

ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

ตอบอัยการถามค้าน 

อัยการถามว่าตอนที่บัณฑิตเสนอ 5 ข้อเสนอรวมทั้งข้อที่ 3 ซึ่งเป็นมูลเหตุคดีนี้ ตั้งใจให้ไปอยู่ในหมวดไหนของรัฐธรรมนูญ บัณฑิตตอบว่าหมวดไหนก็ได้ บทไหนก็ได้ พร้อมขยายความว่าเขาพูดไปแบบนั้นเพราะหวังให้คนมาซื้อหนังสือ อัยการขอให้บัณฑิตอธิบายความหมายในประโยคที่เขาพูด บัณฑิตระบุว่าหมายถึงทุกคนต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน อัยการถามว่าที่บอกว่าไม่อยู่ต่ำกว่าฝุ่น บัณฑิตตั้งใจหมายถึงใคร บัณฑิตตอบว่าหมายถึงผู้มีอำนาจทั้งหมด และขยายความว่าที่เขาพูดประโยคดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจที่มีคนไปเรียกคนอื่นว่านายเท้าใต้เท้า และอธิบายย้อนไปถึงที่เขาเคยเบิกความตอบทนายจำเลยว่าดร.เดือน บุญนาค เคยพูดว่าคนจีนเห็นแก่ตัว เวลาจะเอาประโยชน์จากคนไทยก็เรียกนายเท้าใต้เท้า ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยว่าจะต้องไปเรียกใครนายเท้าใต้เท้า

บัณฑิตเบิกความต่อว่า สิ่งที่เขาพูดเขาเชื่อว่าไม่ผิดกฎหมายจึงพูดออกไป ตัวเขาเองมีความปราถนาดีกับประเทศไทยเพราะเขามาอยู่มาประกอบอาชีพนานแล้วจนบางครั้งก็คิดว่าที่มาถูกดำเนินคดีเป็นเพราะรักเมืองไทยมากไป ตัวเขาเองจบชั้นป.4 ไม่ได้สนใจคำราชาศัพท์จึงไม่ทราบว่าคำว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทหมายถึงใคร และคำว่า "ความเป็นธรรมย่อมอยู่เหนือทุกสถาบัน" เขาหมายความว่า ทุกสถาบันต้องอยู่ภายใต้ความเป็นธรรม สังคมจึงจะมีสันติสุข ส่วนใครจะตีความคำคำนี้ว่าอย่างไรตัวเขาไม่อาจบอกได้

บัณฑิตเบิกความตอบอัยการต่อว่าที่เขาบอกว่าเขาพูดเพื่อชาติเพื่อแผ่นดินและเขายินดีรับผิดชอบคำพูดตัวเอง บัณฑิตระบุว่าเขาไม่รู้ว่าคนทั้งห้องจะเข้าใจที่เขาพูดว่าอย่างไร หากอัยการอยากรู้ก็ให้ไปถามคนที่ร่วมฟังเสวนาเอง บัณฑิตเบิกความตอบอัยการต่อว่าเอกสารบันทึกปากคำที่พนักงานสอบสวนจัดทำเขาไม่ได้อ่านด้วยตัวเอง แต่เจ้าหน้าที่เป็นผู้อ่านให้ฟังซึ่งเมื่อเขาฟังแล้วเห็นว่าเป็นไปตามนั้นก็ได้ลงชื่อไป สำหรับการให้การ เขาเพียงแต่ให้การปฏิเสธแต่ไม่ได้ให้การลงรายละเอียดในชั้นสอบสวน ส่วนทนายความติดตามมาภายหลังแต่ระหว่างที่เขาให้ปากคำก็มีทนายนั่งอยู่ด้วย

บัณฑิตเบิกความต่อว่าที่เขาพูดว่าเขายินดีติดคุก ระหว่างอยู่ในงานเสวนา เขาหมายความว่าหากศาลหรืออัยการพิสูจน์ได้ว่าเขามีความผิดก็ยินดีรับโทษ แต่ถ้าเขาไม่ผิดต้องจ่ายค่าเสียหายให้เขา บัณฑิตเบิกความยอมรับว่าที่เขาไปพูดในงานเสวนาเขาไม่ได้ถูกเชิญไปพุด แต่พูดเพื่อจะได้ขายหนังสือได้ 

อัยการแถลงหมดคำถาม

ทนายจำเลยไม่ถามติงและแถลงหมดพยาน พร้อมขออนุญาตศาลส่งคำแถลงปิดคดีศาลอนุญาตให้ส่งคำแถลงภายใน 20 วัน นับจากวันสืบพยานวันสุดท้ายและนัดฟังคำพิพากษษวันที่ 26 มกราคม 2564 เวลา 10.00 น.

26 มกราคม 2564 
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
บัณฑิต เดินทางมาถึงศาลอาญาเวลาประมาณ 8.40 น. ด้วยรถพยาบาล เนื่องจากมีอาการความดันโลหิตสูง โดยมี “แหวน” ณัฏฐธิดา พยานคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 และเป็นจำเลยคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่งมาคอยดูแล นอกจากนี้ก็มีผู้มาร่วมให้กำลังใจบัณฑิตอีกห้าถึงหกคน 
 
หลังขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดีที่  907 ได้ครู่หนึ่งบัณฑิตรู้สึกไม่สบายจนต้องนอนเหยียดยาวบนเก้าอี้ ต่อมาเมื่อเขารู้สึกค่อยยังชั่วก็กลับมานั่งตามปกติ 
 
หลังเวลา 9.00 น. ตัวแทนจากสถานทูตเช่น สเปน ฟินแลนด์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร โปแลนด์ และคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย โดยในคดีนี้ ก่อนที่ศาลจะขึ้นบัลลังก์จะสังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลเดินมาดูที่หน้าห้องพิจารณาคดีเป็นระยะขณะที่เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ก็มาสอบถามว่ามีใครเป็นสื่อมวลชนบ้าง  
ระหว่างที่รอศาลออกนั่งบัลลังก์ บัณฑิตยังได้นำหนังสือที่ตัวเองเป็นผู้เขียนและแปล มาแจกให้กับตัวแทนจากสถานทูตต่างๆและผู้ที่มาให้กำลังใจอีกด้วย
 
ศาลออกนั่งบัลลังก์ในเวลา 10.45 น. และได้เริ่มอ่านคำพิพากษาซึ่งสรุปได้ว่า
 
ถ้อยคำตามฟ้องของจำเลยไม่ได้มีการพูดคำหยาบคาย ไม่ได้เอ่ยชื่อบุคคลใดเป็นการเฉพาะเจาะจง พยานโจทก์ปากตำรวจสืบสวนที่อยู่ในที่เกิดเหตุก็เคยให้การไว้กับพนักงานสอบสวนรวมสามครั้ง แต่ให้การแตกต่างกันโดยครั้งแรกให้การว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ครั้งที่สองให้การว่าคำพูดของจำเลยมีลักษณะหมิ่นเหม่ และครั้งที่สามจึงให้การว่าคำพูดของจำเลยเป็นความผิด
 
ขณะที่คำให้การของพยานโจทก์อีกปากหนึ่ง เบิกความตอบโจทก์ว่าคำที่จำเลยกล่าวน่าจะหมายถึงพระมหากษัตริย์ เพราะคำที่จำเลยกล่าวไปพ้องกับคำว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทซึ่งเป็นคำที่ใช้เฉพาะกับพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่เมื่อตอบคำถามค้านของทนายจำเลยกลับเบิกความว่าคำว่าฝุ่นละออง เป็นคำที่ใช้ทั่วๆไป และคำว่า คนบางคน ก็ไม่ได้มีการระบุว่าหมายถึงบุคคลใด การอ่านถ้อยคำทั้งหมดจำเป็นจะต้องมีการแปลความหมายอีกครั้งหนึ่ง เช่นนี้ คำให้การของพยานโจทก์ปากนี้จึงมีลักษณะกลับไปกลับมา
 
จำเลยนำสืบว่า ที่พูดถ้อยคำตามฟ้องว่า "คุณค่าความเป็นคนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดินต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นละอองใต้เท้าของคนบางคน" มีเจตนาสื่อว่าต้องการเห็นคนไทยมีศักดิศรีที่เท่าเทียมกัน โดยจำเลยเคยอ่านเจอในหนังสือที่เขียนโดย เดือน บุนนาค ที่บอกว่า คนจีนเป็นคนเห็นแก่ตัว จะเอาประโยชน์จากใครก็เรียกว่า นายเท้า ใต้เท้า อีกทั้งจำเลยไม่ได้หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาล 9 แต่อย่างใด
 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังมีความสงสัย จึงให้ยกประโยชน์ความแห่งสงสัยแก่จำเลย พิพากษายกฟ้อง 
 
หลังจากฟังคำพิพากษาเสร็จ ก่อนเดินทางกลับ บัณฑิตได้ให้สัมภาษณ์สั้นๆว่า “จบแล้ว ทั้งหมด 4 คดี ที่ศาลพิพากษายกฟ้องวันนี้ ถือว่าความยุติธรรมยังมีอยุ่ในแผ่นดินนี้ ต้องสรรเสริญ ตอนนี้แผ่นดินต้องการความสามัคคีที่สุด แล้วพูดความจริงออกมา” สุดท้ายบัณฑิตบอกว่าจะอยู่ถึง 121 ปี 

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลทหารกรุงเทพว่า ในวันที่12 กันยายน 2558 มีงานเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.? ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ มีประชาชนเข้าร่วมอยู่ในงานหลายคน 

จำเลยซึ่งอยู่ในงานเสวนาด้วยได้แสดงความคิดเห็นในงานเสวนาโดยกล่าวว่า

"คุณค่าแห่งความเป็นคน และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องสูงกว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ที่ฝ่าเท้าของคนบางคน"

โดยคำว่าฝุ่นที่เกาะอยู่ใต้ฝ่าเท้าของคนบางคนมาจากคำว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทซึ่งเป็นคำที่ใช้เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ การกระทำของจำเลยจึงถือเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในขณะนั้น โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น และเกลียดชัง จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างที่คดีมีการพิจารณาในศาลทหาร ระหว่างการพิจารณาคดีในเดือนกรกฎาคมปี 2562 มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 9/2562 ให้โอนย้ายคดีของพลเรือนที่อยู่ในการพิจารณาของศาลทหารมาพิจารณาต่อที่ศาลยุติธรรม คดีของจำเลยถูกโอนมาที่ศาลนี้และศาลได้สอบคำให้การอีกครั้งและจำเลยยืนยันให้การปฏิเสธ

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันและเวลาเกิดเหตุ มีการเสวนาในหัวข้อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.? มีพ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ และร.ต.อ.สิทธิชัย เคียงสูงเนินจาก สน.ชนะสงคราม พยานโจทก์ เบิกความตรงกันว่า ในวันเกิดเหตุมีการเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศษสตร์ มีนักการเมืองและนักวิชาการเช่น รังสิมันต์ โรม จาตุรนต์ ฉายแสง และปิยบุตร แสงกนกกุล ร่วมการเสวนา เมื่อผู้ดำเนินรายการเปิดให้ผู้ร่วมงานร่วมแสดงความคิดเห็น จำเลยยกมือและกล่าวตอนหนึ่งว่า

"คุณค่าแห่งความเป็นคน และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องสูงกว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ที่ฝ่าเท้าของคนบางคน"

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

โจทก์มีพ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ และร.ต.อ.สิทธิชัย เคียงสูงเนินเบิกความเป็นพยานตรงกันว่า  จำเลยไปเข้าร่วมงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และได้แสดงความคิดเห็นตอนหนึ่งตามฟ้อง ระหว่างนั้นพ.ต.อ.สมยศบันทึกภาพ เสียง การเสวนาและได้ถ่ายภาพนิ่งของจำเลยไว้ จากนั้นได้เชิญตัวจำเลยไปทำประวัติที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม และได้ทำบันทึกการปรับทัศนคติจำเลยไว้ 

และโจทก์มีปิยะพร หาดทราย จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เบิกความตอบโจทก์ว่าเมื่ออ่านคำตามฟ้องของจำเลยเข้าใจว่าผู้พุดหมายถึงพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า พระมหากษัตริย์ไทยในขณะนั้น เพราะถ้อยคำตามฟ้องไปพ้องกับคำราชาศัพท์ว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ซึ่งเป็นคำที่ใช้เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ แต่ต่อมาพยานปากปิยะพรเบิกความตอบทนายจำเลยว่า คำว่าฝุ่นละอองเป็นคำทั่วไป และคำว่าคนบางคนก็ไม่ได้หมายถึงบุคคลใด ตัวประโยคเป็นคำพูดทั่วๆไป คำให้การพยานปากนี้มีลักษณะกลับไปกลับมา

ทั้งได้ความว่าพยานปาก พ.ต.อ.สมยศและร.ต.อ.สิทธิชัย เคยให้การเป็นพยานกับพนักงานสอบสวนรวมสามครั้ง ครั้งแรกให้การว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเพราะไม่ได้ใช้คำราชาศัพท์ ไม่ได้เอ่ยนามบุคคลใด จึงใหม่ใช่การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต่อมาพยานทั้งสองให้การในครั้งที่สองว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองมีลักษระเป็นการหมิ่นเหม่ และครั้งที่สามจึงมาให้การว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดเพราะเป็นการให้ความเห็นเชิงเปรียบเปรย

พยานโจทก์ทั้งสองคนเป็นพยานคนเดิม ให้การเกี่ยวกับประโยคเดิม ในสถานที่เดิมคือสน.ชนะสงครามแต่ให้ความคิดเห็นไปในลักษณะแตกต่างกัน ข้อความตามฟ้องของจำเลยเป็นข้อความที่ต้องอาศัยการตีความซึ่งวิญญูชนอาจตีความแตกต่างกันได้

จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าตนเองอพยพมาจากประเทศจีนมาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทย และจำเลยเคยอ่านหนังสือของเดือน บุนนาค ที่กล่าวว่า คนจีนเป็นคนเห็นแก่ตัว เวลาจะเอาประโยชน์จากใครก็เรียกนายเท้าใต้เท้า ที่จำเลยพูดประโยคตามฟ้องมีเจตนาต้องการสื่อว่าต้องยกคุณค่าและศักดิศรีความเป็นมหนุษย์ของคนไทยให้สูงขึ้น

พิจารณาแล้วพยานหลักฐานของโจทก์ยังมีข้อน่าสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง  

 

 

 

 

 

 

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา