“เค” : โพสต์ขายเหรียญหลังการสวรรคต

อัปเดตล่าสุด: 07/08/2562

ผู้ต้องหา

“เค”

สถานะคดี

ชั้นศาลฎีกา

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

"เค" ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กขายเหรียญ และโต้เถียงกับผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงหลังเหตุการณ์สวรรคต ของรัชกาลที่ 9 เขาถูกประชาชนบุกไปพาตัวออกมาจากหอพัก ทำร้ายร่างกาย และบังคับให้กราบพระบรมฉายาลักษณ์ ก่อนถูกจับส่งตำรวจเพื่อดำเนินคดี

ในชั้นศาล จำเลยได้รับประกันตัวและต่อสู้คดีศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในข้อหามาตรา 112 เนื่องจากโพสต์ของจำเลยไม่เข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ แต่ให้ลงโทษตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 4 มิถุนายน 2562 ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องในข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากกฎหมายแก้ไขใหม่ และโจทก์ไม่ได้บรรยายมาในคำฟ้อง

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

"เค" (นามสมมติ) ขณะถูกจับอายุ 19 ปี เป็นชาวจังหวัดพิษณุโลก จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประกอบอาชีพเป็นพนักงานโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ในอ.พานทอง จ.ชลบุรี ซึ่งเพิ่งเริ่มงานได้ไม่นานก็ถูกจับในคดีนี้ 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 "เค" โพสต์รูปเหรียญชนิดต่างๆ ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ลงในกรุ๊ป "สินค้ามือสองอมตะนครออนไลน์ สร้างรายได้ ๒๔ ชม." และโพสต์ข้อความว่าขายเหรียญ จากนั้นมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นเข้ามาโต้เถียง และ "เค" ได้โพสต์ข้อความตอบโต้ทำนองสาปแช่งผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนั้น

 

"เค" ถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

พฤติการณ์การจับกุม

18 ตุลาคม 2559 หลังประชาชนหลายสิบคนจับกุมตัว "เค" จากหอพัก ทำร้ายร่างกาย และบังคับให้กราบพระบรมฉายาลักษณ์ ตำรวจจากสถานีตรวจภูธรอำเภอพานทองได้เข้าระงับเหตุในช่วงบ่าย และพาตัว "เค" ไปคุมขังไว้ที่สถานีตำรวจ

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลจังหวัดชลบุรี

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
18 ตุลาคม 2559 
 
เฟซบุ๊ก ตนหาข่าว จิตอาสา โพสต์ภาพเหตุการณ์ขณะที่ประชาชนจำนวนหลายสิบคน ช่วยกันจับตัวชายหนุ่มคนหนึ่งในเสื้อสีม่วง นำตัวมากราบขอขมาหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมีภาพหนึ่งที่ชายหนุ่มในเสื้อสีม่วงถูกเตะเข้าที่ใบหน้า โดยไม่ปรากฏใบหน้าของคนเตะ
 
ต่อมายูทูป ทีนิวส์ออนไลน์ เผยแพร่คลิปชื่อ "หนุ่มชลบุรีโพสต์มิบังควรโดนชาวบ้านฮือจับมากราบพระบรมฉายาลักษณ์ 18-10-59" เป็นเหตุการณ์ขณะชายหนุ่มในเสื้อสีม่วง ถูกประชาชนหลายคนลากตัวมากราบพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมกับมีการตะโกนด่าทอ และมีการทำร้ายร่างกาย ทั้งการเตะ และการจบเข้าที่ศรีษะ
 
 
ในวันเดียวกัน ข่าวสดอิงลิช รายงานว่า ได้สอบถามไปยังบริษัทนายจ้างของ "เค" ในจังหวัดชลบุรี ได้ความจากผู้จัดการฝ่ายบุคคลว่า เมื่อบริษัททราบว่าจิรวัฒน์โพสต์ข้อความเข้าข่ายหมิ่นฯ เมื่อคืนวันจันทร์ บริษัททราบเรื่องในตอนเช้าวันอังคารก็ไล่ "เค" ออกทันที 
 
“เราเรียกญาติของเขามาที่บริษัทก่อนเกิดการทำร้ายดังกล่าว และบอกให้ญาติสั่งให้เขาเอาชื่อบริษัทออกจากประวัติในเฟซบุ๊ก” ผู้จัดการฝ่ายบุคคลกล่าว 
 
ข่าวสดอิงลิชยังระบุด้วยว่า ผู้จัดการฝ่ายบุคคลเปิดเผยว่าเป็นผู้ให้ที่อยู่ของ "เค" กับมวลชนซึ่งมาล้อมบริษัทและเพื่อขอพบตัว โดยไม่คิดว่าเขาจะถูกลงโทษโดยพลการเช่นนี้ 
 
ตามบันทึกของพนักงานสอบสวนระบุว่า "เค" ถูกนำตัวส่งพนักงานสอบสวนในช่วงค่ำของวันนั้น โดนก่อนหน้านั้นตำรวจได้พาไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บจากการที่ถูกทำร้ายร่างกาย
 
 
20 ตุลาคม 2559
 
เวลาประมาณ 14.00 พนักงานสอบสวนพา "เค" ไปยังศาลจังหวัดชลบุรี เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง โดยพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังระบุว่า ยังต้องสอบพยานอีก 6 ปาก รอผลตรวจของกลาง และผลการตรวจสอบลายพิมพ์มือของผู้ต้องหา จึงขออนุญาตฝากขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างสอบสวน เนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง หากปล่อยตัวไปเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น จึงขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา
 
ศาลจังหวัดชลบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง "เค" จึงถูกนำตัวส่งไปยังเรือนจำจังหวัดชลบุรี
 
 
22 พฤศจิกายน 2559
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าช่วยเหลือคดีของ "เค" โดยยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท ที่ได้มาจากการระดมทุนผ่านทางเฟซบุ๊ก "ฟ้าเดียวกัน"  โดยคำร้องประกอบการขอประกันตัวระบุว่า ผู้ต้องหาไม่ได้กระทำผิด โดยเฉพาะข้อความที่เป็นประเด็นของคดีนั้นมีปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่สามารถต่อสู้คดีได้ ซึ่งผู้ต้องหาประสงค์จะขอต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ 
 
ผู้ต้องหาเป็นบุคคลธรรมดา มีอายุเพียง 19 ปี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประกอบอาชีพสุจริต ครอบครัวมีฐานะยากจนจึงต้องมาทำงานขายแรงงาน โดยมีภาระต้องเลี้ยงดูตนเอง ส่งเสียมารดาและน้องชายที่ยังเรียนหนังสืออยู่ ผู้ต้องหาไม่อาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดีได หากศาลอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาก็จะไม่หลบหนีและมารายงานตัวตามที่ศาลนัดทุกครั้ง
 
ศาลจังหวัดชลบุรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว
 
12 มกราคม 2560
 
ครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 7 ศาลจังหวัดชลบุรีนัดให้ ‘เค’ มารายงานตัว โดย 'เค' พร้อมมารดาและนายประกันเดินทางมาศาล ในเวลาประมาณ 9.00 เมื่อมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่เสร็จแล้ว 'เค' ก็ถูกพาตัวลงไปยังห้องเวรชี้ที่อยู่ใต้ถุนศาล เจ้าหน้าที่ศาลมอบสำเนาคำฟ้องให้กับจำเลยและถามว่าจะให้การอย่างไร 'เค' ตอบว่า ให้การปฏิเสธ 
 
หลัง 'เค' ถูกพาตัวลงไปยังห้องเวรชี้เพื่อถามคำให้การ เจ้าหน้าที่ได้เดินเรื่องเพื่อเปลี่ยนหลักทรัพย์การประกันตัว จากเดิมที่ถือว่าได้ประกันตัวระหว่างการสอบสวนเป็นการขอประกันตัวใหม่ในชั้นศาล จนกระทั่งเวลาประมาณ 12.00 'เค' ก็ได้รับการปล่อยตัว โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ศาลอนุญาตให้ประกันตัวต่อในระหว่างการพิจารณาคดี
 
 
15 กุมภาพันธ์ 2560
 
นัดคุ้มครองสิทธิ หรือนัดสมานฉันท์ ศาลจังหวัดชลบุรีนัดให้ จำเลยไปที่ศูนย์ไกล่เกลี่ย โดยจำเลย มารดา และทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางไปตามนัดในเวลาประมาณ 9.00 น. โดยในวันนี้ ศาลถามว่า จำเลยทราบคำฟ้องและข้อกล่าวหาแล้วใช่หรือไม่ จำเลยตอบว่าใช่ ศาลแจ้งว่า ประเด็นของคดีนี้คงไม่ได้อยู่ที่การโพสต์เฟซบุ๊กประกาศขายเหรียญ แต่อยู่ที่การคอมเม้นต์โต้ตอบกับบุคคลอื่น หากจำเลยรับสารภาพก็จะได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง ซึ่งหากคดีนี้จำเลยรับสารภาพ ศาลก็หนักใจ แต่ถ้าเห็นว่า ตัวเองก็ไม่ได้ทำผิดก็มีสิทธิสู้คดีได้ 
 
ในช่วงต้นของการพูดคุย อัยการโจทก์ยังมาไม่ถึง ท่าทีของศาลค่อนข้างผ่อนคลาย และพูดคุยกับจำเลยอย่างเป็นกันเองเพื่อทำความเข้าใจรูปคดี เมื่ออัยการโจทก์เดินทางมาถึง ศาลก็สรุปการนัดคุ้มครองสิทธิในวันนี้ และเนื่องจากจำเลยยืนยันว่า จะขอปฏิเสธเพื่อต่อสู้คดี จึงกำหนดวันนัดครั้งต่อไปเป็นการนัดตรวจพยานหลักฐานเป็นวันที่ 13 มีนาคม 2560
 
 
13 มีนาคม 2560
นัดตรวจพยานหลักฐาน 
 
ที่ศาลจังหวัดชลบุรี ห้องพิจารณาคดีที่ 10 อัยการโจทก์ จำลย ทนายจำเลยมาศาล ศาลเริ่มพิจารณาคดีนี้ในเวลาประมาณ 10.30 เนื่องจากติดการพิจารณาคดีอื่นในห้องเดียวกัน โดยอัยการโจทก์แถลงว่า คดีนี้ต้องการนำพยานเข้าสืบทั้งหมด 15 ปาก โดยมีพยานหนึ่งปากที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้สืบพยานด้วยระบบวีดีโอคอนเฟอร์เร๊นซ์ หากฝ่ายจำเลยรับข้อเท็จจริงของพยานบางปากได้ก็จะตัดพยานออกไปบ้าง และฝ่ายโจทก์ก็นำพยานเอกสารส่งให้ฝ่ายจำเลยตรวจสอบ ส่วนฝ่ายจำเลยแถลงขอนำพยานเข้าสืบทั้งหมด 4 ปาก พร้อมกับนำพยานเอกสารที่เป็นโพสต์เฟซบุ๊กของจำเลยในช่วงเวลาเกิดเหตุ หลักฐานการศึกษา และใบประกาศณียบัตรของจำเลย ส่งให้ฝ่ายโจทก์ตรวจสอบ
 
ศาลอ่านคำฟ้องให้จำเลยฟังอีกครั้งโดยสรุป และถามว่าจำเลยจะให้การอย่างไร จำเลยลุกขึ้นยืนตอบว่า ให้การปฏิเสธ ศาลถามว่า แล้วเป็นคนโพสต์ข้อความตามที่ถูกฟ้องจริงหรือเปล่า จำเลยตอบว่า เป็นคนโพสต์จริง ศาลบันทึกคำยอมรับของจำเลยไว้
 
อัยการแถลงว่า พยานที่จะนำเข้าสืบ 11 ปากแรก เป็นผู้เล่นเฟซบุ๊กที่พบเห็นข้อความที่จำเลยโพสต์ ถ้าหากจำเลยรับว่า เป็นคนโพสต์จริงก็สามารถตัดพยานเหล่านี้ออกได้ แต่ทนายความจำเลยแถลงขอให้สืบพยานทุกปาก เนื่องจากต้องการจะถามค้านเกี่ยวกับประเด็นความหมายของข้อความที่โพสต์ โดยศาลขอดูบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของพยานบางปาก เมื่อพบว่า ชั้นสอบสวนพยานได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความที่โพสต์เอาไว้ด้วย ศาลจึงเปิดโอกาสให้ทนายความจำเลยได้ถามค้าน และให้อัยการนำพยานทุกปากมาสืบ
 
หลังจากนั้น อัยการแถลงขอให้รับข้อเท็จจริงในพยานปากที่จะต้องนำสืบด้วยระบบวีดีโอคอนเฟอร์เร๊นซ์ เพราะจะนำสืบเฉพาะประเด็นการตรวจสอบข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์ว่าจำเลยเป็นคนโพสต์จริงหรือไม่ ทนายความจำเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงของพยานปากนี้ได้ จึงเหลือพยานโจทก์ที่ต้องนำสืบทั้งหมด 14 ปาก และพยานจำเลย 4 ปาก ศาลให้กำหนดวันนัดพิจารณาคดี 3 วัน เป็นการสืบพยานโจทก์ 2 วัน และสืบพยานจำเลย 1 วัน
 
 
22 สิงหาคม 2560
 
ศาลจังหวัดชลบุรีนัดสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ พนักงานอัยการโจทก์ จำเลย และทนายจำเลยสามคนมาศาล คดีนี้พิจารณาคดีโดยเปิดเผย บุคคลภายนอกสามารถเข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดีได้ และสามารถจดบันทึกระหว่างการพิจารณาคดีได้ แต่ผู้พิพากษาได้ขอให้เจ้าหน้าที่ขอชื่อและถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของทุกคนที่มาฟังการพิจารณาคดีไว้ด้วย
 
ศาลได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟังอีกครั้งหนึ่ง และถามว่า จำเลยจะให้การอย่างไร จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธเช่นเดิม โจทก์จึงเอาพยานเข้าสืบ ซึ่งพยานปากแรกเป็นประชาชนในเขตจังหวัดชลบุรีที่พบเห็นข้อความที่จำเลยโพสต์และมีความรู้สึกโกรธ จึงเป็นตัวแทนของประชาชนที่ทำหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อตำรวจให้ดำเนินคดีต่อจำเลย ส่วนพยานปากที่สองเป็นผู้ดูแลเพจที่มีการโพสต์ข้อความ
 
แม้ว่า พนักงานอัยการโจทก์จะเตรียมพยานมาในวันนี้ 7 ปาก แต่การสืบพยานดำเนินไปอย่างละเอียดลออ และศาลได้แจ้งแล้วว่า ไม่มีทางที่จะสืบพยานครบทุกปากได้ในวันนี้ และขอให้พยานปากหลังๆ เดินทางกลับก่อน จนกระทั่งหมดเวลาราชการก็สืบพยานโจทก์ไปได้สองปาก และให้เลื่อนการสืบพยานปากอื่นไปในวันรุ่งขึ้น
 
23 สิงหาคม 2560
 
ศาลจังหวัดชลบุรีนัดสืบพยานโจทก์ต่อ โดยในวันนี้สืบพยานโจทก์ได้อีกสามปาก เป็นประชาชนในจังหวัดชลบุรีที่เห็นข้อความที่จำเลยโพสต์และมาให้ความเห็น การสืบพยานดำเนินไปจนหมดเวลาราชการก็ต้องยุติ
 
เนื่องจากการสืบพยานในคดีนี้ดำเนินไปช้ากว่าที่เดิมกำหนดวันนัดกันไว้ และพยานโจทก์อีกหลายปากติดภารกิจไม่สามารถมาศาลได้ในวันนี้ ศาลจึงถามว่า ฝ่ายจำเลยจะยอมรับข้อเท็จจริงของพยานบางส่วนได้หรือไม่ ด้านทนายจำเลยแถลงว่า ไม่สามารถยอมรับข้อเท็จจริงได้ เนื่องจากพยานส่วนใหญ่เป็นพยานความเห็นที่จะมาเบิกความทำนองว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงต้องขอใช้สิทธิถามค้าน ด้านอัยการก็แถลงว่า ไม่สามารถตัดพยานปากใดได้เลย จะขอนำเข้าสืบทั้งหมด
 
เพื่อให้คู่ความได้โอกาสสู้คดีอย่างเต็มที่ ศาลจึงสั่งให้ยกเลิกวันนัดสืบพยานจำเลยที่กำหนดไว้เดิมในวันที่ 24 สิงหาคม 2560 และกำหนดวันนัดเพิ่มโดยให้สืบพยานฝ่ายโจทก์เสร็จก่อนค่อยสืบพยานจำเลย
 
8 ธันวาคม 2560
 
ศาลจังหวัดชลบุรีนัดสืบพยานโจทก์ต่อ และสืบพยานได้เพิ่มอีกสองปาก พนักงานอัยการก็แถลงว่า พยานที่นัดไว้ในวันนี้มีเพียงเท่านี้ ส่วนพยานปากอื่นจะนำเข้าสืบในนัดต่อไป ศาลจึงต้องหาวันที่ทุกฝ่ายว่างตรงกันเพื่อนัดสืบพยานต่อ ซึ่งหาวันที่ว่างตรงกันได้เร็วที่สุด คือ 20 กุมภาพันธ์ 2561 แต่เดือนมีนาคมและเมษายนไม่มีวันที่ว่างตรงกัน จึงกำหนดวันนัดพิจารณาคดีต่อได้เป็นวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2561 โดยให้สืบพยานโจทก์ในวันที่ 17 และสืบพยานจำเลยต่อในวันที่ 18
 
20 กุมภาพันธ์ 2561
 
ศาลจังหวัดชลบุรี นัดสืบพยานโจทก์ต่อ โดยในวันนี้สืบพยานไปได้เพียงสองปากก็หมดเวลาราชการ ศาลจึงให้คู่ความหาวันนัดที่ว่างตรงกันใหม่ โดยเมื่อถึงกำหนดเวลาโยกย้ายตามระบบราชการในเดือนเมษายน ผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในคดีนี้มาแต่เดิมจะต้องย้ายไปทำหน้าที่ที่ศาลอื่น และในนัดหน้าจะให้ผู้พิพากษาองค์คณะใหม่มารับหน้าที่ดำเนินกระบวนการพิจารณคดีต่อ
 
ศาลจดบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาคดีด้วยว่า จากการตรวจคำฟ้องโดยละเอียดแล้ว เจ้าของสำนวนเดิมยังไม่ได้รายงานสำนวนนี้แก่อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบจึงให้รายงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ทราบพร้อมสำเนาสำนวนคดีนี้ด้วย
 
17 พฤษภาคม 2561
 
ศาลจังหวัดชลบุรีนัดสืบพยานโจทก์ที่เหลืออีก 4 ปาก ซึ่งสืบพยานโจทก์ไปได้แล้ว 3 ปาก ส่วนพยานที่เป็นนายจ้างของจำเลย ฝ่ายจำเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงที่พยานปากนี้เคยให้การไว้แล้ว ฝ่ายโจทก์จึงไม่ติดใจนำสืบอีก และแถลงหมดพยานแต่เพียงเท่านี้
 
18 พฤษภาคม 2561
 
ศาลจังหวัดชลบุรีนัดสืบพยานจำเลย ซึ่งฝ่ายจำเลยมีพยานเข้าสืบสองปาก คือ ตัวจำเลยเอง และนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ที่มาให้ความเห็นเกี่ยวกับถ้อยคำที่มีการโพสต์กันในคดีนี้ หลังจากสืบพยานเสร็จสิ้น ทนายความจำเลยขอยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีภายใน 30 วัน ศาลกำหนดวันฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 เนื่องจากต้องส่งสำนวนและร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ตรวจก่อน
 
5 กรกฎาคม 2561
 
ศาลจังหวัดชลบุรีนัดฟังคำพิพากษา ศาลพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ให้จำคุก 8 เดือน ส่วนข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ยกฟ้อง 
 
หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาแล้วจำเลยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวลงไปในห้องขังใต้ถุนอาคารศาลทันที ด้านนายประกันและทนายความก็ยื่นขอประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ด้วยหลักทรัพย์เดิม ซึ่งในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ศาลสั่งอนุญาตให้ประกันตัว จำเลยจึงได้รับการปล่อยตัวให้กลับบ้านได้
 
 
4 มิถุนายน 2562
 
นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ "เค" พร้อมแม่ และทนายจำเลยเดินทางมาศาลจังหวัดชลบุรีตามนัด เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ก็เปิดซองและอ่านคำพิพากษาทันที สรุปใจความได้ว่า 
 
ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์มีอยู่ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 14(3) ซึ่งแตกต่างจากองค์ประกอบตามมาตรา 14(1) ทั้งโจทก์ก็มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 14(3) เท่านั้น โจทก์มิได้ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวอีกด้วย ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานเดียวกันได้ พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษา

 
สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น 
 
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 จำเลยเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ก และเป็นสมาชิกเพจ "กลุ่มสินค้ามือสองอมตะนคร ตลาดนัดออนไลน์ สร้างรายได้ 24 ชม." ซึ่งเป็นกลุ่มปิด มีสมาชิกประมาณ 90,000 คน จำเลยใช้โทรศัพท์มือถือโพสต์ขายเหรียญกษาปณ์ชนิดต่างๆ ที่ปรากฏพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพร้อมข้อความประกอบ และแสดงความคิดเห็น
 
มีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงประการเดียวว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เหรียญกษาปณ์เป็นเงินตราประเภทหนึ่งตามพ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 มาตรา 6 ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ตามภาพถ่ายเป็นเหรียญกษาปณ์ที่นำออกใช้หมุนเวียนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีทั้งเหรียญ 25 สตางค์ 50 สตางค์ 1 บาท 5 บาท และ 10 บาท 
 
เหรียญแต่ละชนิดจะมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญสื่อความหมายถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คำว่า ประเทศไทย หมายถึงสถาบันชาติ ภาพวัดสำคัญ หมายถึง สถาบันศาสนา เป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ว่า ประเทศไทยนั้นมีสถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ประชาชนคนไทยจะธำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติไทย ศรัทธา ยึดมั่น และปฏิบัติตนตามหลักศาสนา เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
 
แต่เหรียญกษาปณ์แต่ละชนิดที่นำออกใช้จะมีมูลค่าเท่าใดขึ้นอยู่กับราคาซึ่งกำหนดไว้หน้าเหรียญ เหรียญกษาปณ์เป็นสังหาริมทรัพย์ที่สามารถนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ ในฐานะที่เป็นทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปหาไว้เป็นของสะสม ราคาของเหรียญในฐานที่เป็นทรัพย์สินย่อมขึ้นอยู่กับความต้องการเล่นหาหรือความนิยมของผู้ซื้อและความพอใจของผู้ขาย ราคาขายจึงอาจสูงหรือต่ำกว่าราคาที่หน้าเหรียญ การขายเหรียญในราคาที่ต่ำกว่าราคาหน้าเหรียญจึงมีผลเพียงแต่ลดทอนมูลค่าของเหรียญกษาปณ์ แต่ไม่มีผลเป็นการลดทอนคุณค่าในเชิงสัญลักษณ์บนเหรียญกษาปณ์ที่แสดงถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
 
ทั้งการที่พสกนิกรชาวไทยซึ่งอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชต่างรักเคารพเทิดทูนพระองค์ท่าน ก็โดยเหตุที่ว่า ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันมีคุณประโยชน์ต่อพสกนิกรชาวไทยนานัปการ ทรงพระปรีชาสามารถปราดเปรื่องและพระจริยวัตรเปี่ยมด้วยคุณธรรมทุกประการ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงดำรงสิริราชสมบัติเพียบพร้อมด้วยทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตรธรรม และราชสังคหวัตถุ ทรงเจริญด้วยพระเกียรติคุณบุญญาธิการ เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญทุกทิศานุทิศนับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติตราบจนปัจจุบัน พระเกียรติยศของพระองค์ท่านรวมทั้งความรักเคารพเทิดทูนของพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อพระองค์ท่านจจึงไม่แปรผันไปตามมูลค่าของเหรียญกษาปณ์ที่สูงขึ้นหรือต่ำลง
 
การที่จำเลยโพสต์ภาพเหรียญกษาปณ์ชนิดต่างๆ พร้อมข้อความประกาศขายเหรียญทั้งหมดในราคาเดียวซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าเหรียญบางชนิดและต่ำกว่าเหรียญบางชนิด ลงในเพจ "กลุ่มสินค้ามือสองอมตะนคร ตลาดนัดออนไลน์ สร้างรายได้ 24 ชม." ไม่ว่าจะมีเจตนาขายเหรียญกษาปณ์นั้นหรือไม่ จึงไม่เป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่่น่าจะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ไม่เป็นการดูถูกเหยียดหยามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 
 
สำหรับที่จำเลยแสดงความคิดเห็นในโพสต์นั้น พยานโจทย์ต่างเบิกความว่า เป็นกรณีที่จำเลยแสดงความคิดเห็นตอบโต้กับผู้ที่เป็นสมาชิกและมาแสดงความคิดเห็น เนื่องจากรู้สึกโกรธและโมโหผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นก่อนหน้านี้ในลักษณะกล่าวหาว่า จำเลยไม่รักพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำเลยมีเจตนาจะต่อว่า คนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นเท่านั้น โดยมีพยานนักภาษาศาสตร์มาเบิกความสนับสนุนมีน้ำหนักให้รับฟังว่า ความคิดเห็นเป็นการตอบโต้ระหว่างบุคคลสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่ง คือ จำเลย ที่เห็นว่า โพสต์ของตัวเองเป็นเรื่องตลก ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง คือ ผู้ที่เป็นว่า ไม่ใช่ ส่วนผู้ที่จำเลยเรียกว่า "มึง" ก็หมายถึงบุคคลดังกล่าว
 
โพสต์ของจำเลย จึงไม่เป็นไปตามความคาดหวังของจำเลย เนื่องจากจำเลยต้องการโพสต์เพื่อสร้างความตลก แต่ผู้ที่รับสารไม่ได้คิดแบบเดียวกัน การสนทนาจึงเป็นเรื่องที่ผู้รับสารตำหนิจำเลยว่า ทำไม่สมควร เมื่อถูกตำหนิจำเลยจึงโกรธ และแสดงความคิดเห็นโดยใช้คำสรรพนามไม่สุภาพ ต่อว่าผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น แม้จะมีคำว่า "พ่อ" ซึ่งจำเลยรับว่า หมายถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แต่ก็เป็นการส่งสารโต้ตอบกันระหว่างจำเลยกับผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
 
การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 
 
อย่างไรก็ตาม ได้ความจากพยานโจทก์เจ้าของเพจดังกล่าวว่า เพจมีวัตถุประสงค์ให้ผู้คนในจังหวัดชลบุรีมีรายได้และอาชีพเสริม โดยให้สมาชิกโพสต์ขายสินค้าในเพจ โดยมีกติกาว่า ต้องขายสินค้าที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ขายยาเสพติด สื่อลามกอนาจาร ไม่โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น หากสมาชิกทำผิดกติกาจะลบรหัสของผู้โพสต์ทันที หากมีเวลาว่างจะส่งข้อความไปตักเตือน จึงเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์ของเพจนี้ คือ การให้สมาชิกได้ซื้อขายสินค้าด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผู้ซื้อและผู้ขายจะเจรจากันผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต บางครั้งไม่เห็นหน้า ไม่รู้จักกัน จึงต้องอาศัยความน่าเชื่อถือไว้เนื้อเชื่อใจ และชื่อเสียงของเพจเป็นสื่อกลางในการซื้อขายสิ้นค้าเป็นสำคัญ
 
จำเลยรับว่า ช่วงเวลาภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต จำเลยเห็นคนนำเหรียญกษาปณ์และธนบัตรมาโพสต์ขายในเพจกันเป็นจำเนวนมาก จึงอยากโพสต์ขายเล่นๆ บ้าง ไม่มีเจตนาจะขายจริงๆ จำเลยจึงโพสต์ภายเหรียญกษาปณ์พร้อมข้อความประกอบภาพว่า "ขายครับ เหรียญละ 5 บาท" โดยไม่มีเจตนาที่จะจายจริง หากอ่านเพียงโพสต์ของจำเลยแต่โดยลำพังแล้วไม่อาจรู้ถึงเจตนาภายในของจำเลยได้ แต่เมื่อมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า "เหมาเหรียญ 10 เหรียญละ 5 บาท ใช่ไหมคะ" ซึ่งเป็นการสอบถามในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขายโดยตรง จำเลยกลับไม่ตอบ แต่ตอบโต้คนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นในทางตำหนิจำเลยทันที 
 
การกระทำของจำเลยเช่นนี้จึงเป็นการแสดงเจตนาที่อยู่ภายในใจออกมาให้ผู้ที่อ่านโพสต์เห็นแล้วว่า จำเลยมิได้มีเจตนาจะขายเหรียญจริง โพสต์ของจำเลยจึงเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยหลอกลวง การกระทำของจำเลยมีผลเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของเพจ ทำให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกของเพจที่มีอยู่ประมาณ 90,000 คน และผู้ดูแลรู้สึกสับสน และต้องมาคอยตรวจสอบว่า ประกาศขายสินค้าในเพจนั้นเป็นประกาศขายจริงหรือล้อเล่น ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนจากการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยหลอกลวงนี้ จึงไม่ใช่ความเสียหายในทางทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว แต่หมายความรวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย 
 
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) 
 
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) แต่เมื่อโจทก์อ้างบทมาตราอันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 มาแล้ว ศาลจึงลงโทษจำเลยในความผิดมาตรา 14(1) ตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง โทรศัพท์มือถือของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด จึงให้ริบ
 
ในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 ยกเลิกความในมาตรา 14 เดิม และให้ใช้ความใหม่แทน ปรากฏว่า กฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายเดิมในส่วนของบทความผิดที่จำกัดขอบเขตของการกระทำอันเป็นความผิดให้แคบลงไปกว่ากฎหมายเดิม จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญมาตรา 3
 
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ที่แก้ไขใหม่ ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 19 ปี เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษลงหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญมาตรา 76 จำคุก 1 ปี คำรับสารภาพในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างนับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
 
 
สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยใช้งานเฟซบุ๊กและเป็นสมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก "กลุ่มสินค้ามือสอง อมตะนคร ตลาดนัดออนไลน์ สร้างรายได้ 24 ชั่วโมง" ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โพสต์ขายเหรียญ พร้อมข้อความประกอบและแสดงความคิดเห็นตามฟ้อง
 
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์มีอยู่ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า องค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามมาตรา 14(1) คือ "โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน" แต่ในคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า การกระทำของจำเลยเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมมายอาญา ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 14(3) และแตกต่างจากองค์ประกอบตามมาตรา 14(1) ทั้งโจทก์ก็มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 14(3) เท่านั้น ดังนั้นนอกจากคำฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 14(1) ทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่แล้ว โจทก์มิได้ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวอีกด้วย ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานเดียวกันได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรค 1 และ วรรค 4
 
คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ที่แก้ไขใหม่ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยข้อนี้แล้วจึงไม่ต้องวินิจฉัยข้ออื่นต่อไป พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
 
 

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา