ประเวศ: ทนายความโพสต์เฟซบุ๊ก

อัปเดตล่าสุด: 07/08/2562

ผู้ต้องหา

ประเวศ

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2560

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

ประเวศทนายความที่เคยว่าความให้จำเลยคดี 112 อย่างน้อยสองคน ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวในวันที่ 29 เมษายน 2560 และถูกนำตัวไปควบคุมที่มทบ.11 ประเวศถูกตั้งข้อกล่าวหารวมสามข้อหาได้แก่ ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 รวมสิบกรรม ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 พ่วงกับความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมสามกรรม ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว
 
ประเวศต่อสู้คดีโดยปฏิเสธอำนาจศาล และปฏิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนพิจารณาคดีทั้งหมด ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด แต่ลงโทษจำคุกข้อหามาตรา 116 กรรมละ 5 เดือน รวมสามกรรมจำคุก 15 เดือน ฐานไม่พิมพ์ลายนิ้วมืออีก 1 เดือน ประเวศอยู่ในเรือนจำรวม 16 เดือน โดยเขาได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 26 สิงหาคม  2561

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ประเวศมีอาชีพเป็นทนายความ เคยว่าความคดีมาตรา 112 มาแล้วอย่างน้อยสองคดี คือ คดีของดา ตอปิโด และคดีของ "จักราวุธ" นอกจากนี้ประเวศยังเคยทำคดีบัตรเครดิตหรือคดีสินเชื่อเพื่อช่วยชาวบ้านที่ถูกเก็บดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนดด้วยโดยเคยไปแจ้งความดำเนินคดีว่าบริษัทแห่งหนึ่งที่ปล่อยสินเชื่อเงินกู้แล้วเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด 
 
ประเวศ ยังเป็นคนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนเฟซบุ๊กอยู่เป็นประจำ โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะด้วย

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ข้อมูลในคำร้องฝากขังผลัดแรกของพนักงานสอบสวนระบุว่า ประเวศโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งตั้งค่าการแบ่งปันเป็นสาธารณะ ในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ด้วยคำหยาบคายรวมสิบข้อความ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และโพสต์ข้อความในลักษณะตั้งคำถามหรือชักชวนให้เปลี่ยนระบอบการปกครองรวมสามข้อความ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)
 

พฤติการณ์การจับกุม

รายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ประเวศถูกเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าควบคุมตัวในช่วงเช้าวันที่ 29 เมษายน 2560 โดยไม่มีการแสดงหมายจับและถูกยึดอุปกรณ์สื่อสารจากนั้นจึงถูกนำตัวมาควบคุมที่มณฑลทหารบกที่ 11 โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อญาตหรือทนายความ ระหว่างการควบคุมตัวประเวศขอเจ้าหน้าที่ทหารผู้ควบคุมตัวโทรศัพท์หาเพื่อนทนายความเพื่อฝากคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบแต่ไม่ได้รับอนุญาต ประเวศจึงอดข้าวประท้วงจนได้รับอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ในวันที่ 30 เมษายน 2560
 
ประเวศถูกควบคุมตัวในค่ายจนถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 จึงถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาโดยถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.2368/2560

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

29 เมษายน 2560

ประเวศถูกควบคุมตัวจากบ้านพักในช่วงเช้าและไม่สามารถติดต่อผู้ใดได้อีก
 
30 เมษายน 2560 
 
ประชาไทรายงานว่า กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความซึ่งเป็นเพื่อนของประเวศได้รับการติดต่อจากประเวศขณะกำลังขับรถว่าถูก คสช. เรียกพบ ขอให้กฤษฎางค์ช่วยไปว่าความคดีที่ประเวศรับไว้ในวันที่ 1 กับ 8 พฤษภาคม 2560 แทน เมื่อกฤษฎางค์จอดรถเพื่อโทรไปคุยรายละเอียดเพิ่มเติมก็ติดต่อไม่ได้แล้ว 
 
2 พฤษภาคม 2560
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกรายงานว่า มีบุุคคลสองคนถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวในที่ปิดลับโดยไม่ทราบสาเหตุ คนหนึ่งเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ อีกคนหนึ่งคือประเวศ ซึ่งจนถึงวันที่ 2 พฤษภาคมยังไม่มีข้อมูลว่าทั้งสองถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด 
 
ในเวลาต่อมา ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเพิ่มเติมว่า ได้รับเอกสารบันทึกการตรวจค้นบ้านของประเวศซึ่งระบุว่าในวันที่ 29 เมษายน 2560 เจ้าหน้าที่ประกอบด้วย พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของ คสช., ร.ท.นพดล บู๊เตียว หัวหน้ากองร้อยรักษาความสงบที่ 1 (ร.อ.พัน 1รอ.) และร.ต.ท.ยงยุทธ เกตุแดง กับ ร.ต.ท.สุภัทร หนูเขียว เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.บางเขนอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ร่วมกันตรวจค้นบ้านพักของประเวศและยึดสิ่งของ 14 รายการซึ่งมีคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คสามเครื่องและโทรศัพท์รวมสามเครื่องไปด้วย 
 
ในวันเดียวกัน ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ก็ออกแถลงการณ์ แสดงความกังวลถึงหารหายตัวของประเวศว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นการบังคับสูญหายซึ่งถือเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 
 
3 พฤษภาคม 2560
 
ในเวลาประมาณ 16.30 น. พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ควบคุมตัวประเวศมาที่ศาลอาญาเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง โดยประเวศถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากการโพสต์ข้อความในลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วยคำไม่สุภาพรวมสิบกรรม และข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) รวมสามกรรมจากการโพสต์ข้อความในทำนองตั้งคำถามและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนระบอบการปกครอง
 
ในเวลาประมาณ 17.00 น. ศาลอนุญาตให้ฝากขังประเวศ เนื่องจากยังไม่มีคนมาประกันตัวให้ในวันนี้ประเวศจึงถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยนอกจากประเวศในวันนี้มีบุคคลอีกห้าคนถูกนำตัวมาฝากขังที่ศาลในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งทั้งหาถูกควบคุมตัวในเช้าวันที่ 29 เมษายน และถูกนำตัวไปควบคุมที่ค่ายทหารเหมือนกับประเวศ
 
 
11 พฤษภาคม 2560
 
นัดไต่สวนคัดค้านการฝากขัง
 
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายของประเวศยื่นคัดค้านการฝากขังประเวศต่อเป็นผลัดที่สอง เบื้องต้นศาลอาญานัดไต่สวนคัดค้านการฝากขังในช่วงเช้า แต่พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวนจากปอท.มาศาลในตอนเช้าไม่ได้ เพราะติดสอบสวนผู้ต้องหาคดี 112 อีกคนหนึ่งซึ่งเพิ่งถูกนำตัวมาตั้งข้อกล่าวหา ศาลจึงเลื่อนไปไต่สวนคดีของประเวศในช่วงบ่ายแทน
 
โดยในช่วงเช้าอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนของประเวศมาที่ศาลด้วยเพื่อใช้ตำแหน่งราชการเป็นหลักประกันในการยื่นคำร้องขอประกันตัวประเวศโดยศาลตีราคาประกันไว้ 680,000 บาท
 
ศาลเริ่มไต่สวนคัดค้านการฝากขังประเวศต่อเป็นผลัดที่สองในเวลาประมาณ 14.20 น. ในห้องพิจารณาคดีนอกจากตัวประเวศและทีมทนายอีกสามคนแล้วยังมีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ที่เป็นนายประกัน ซึ่งเป็นเพื่อนของประเวศและผู้สังเกตการณ์อื่นๆอีกประมาณสิบคนร่วมฟังการไต่สวนด้วย
 
พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรขึ้นให้การบนคอกพยาน ศาลขอให้พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร ชี้แจงว่า เหตุใดจึงคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรตอบว่า คัดค้านเพราะคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง หากได้รับการปล่อยตัวเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี และการกระทำความผิดคดีนี้เกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ต เกรงว่าผู้ต้องหาจะไปลบข้อความหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะไปทำความผิดซ้ำ เช่น โพสต์ข้อความที่รุนแรงกว่าเดิม 
 
ทนายของประเวศถามพ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรว่า ตอนที่ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 2 กับเจ้าหน้าที่ศาล พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร์ยังไม่ได้เขียนคัดค้านการประกันตัว แต่มาเขียนในห้องพิจารณาคดี พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรตอบว่า โดยปกติเวลาพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัวจะคัดค้านในครั้งแรกก็จะถือว่าคัดค้านตลอดกระบวนการฝากขัง จึงไม่ได้เขียนไว้ในคำร้องอีก 
 
พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรตอบทนายต่อว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายที่จะคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไปทุกคดี โดยจะพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีประกอบ พ.ต.ท.สัณเพ็ชรเบิกความถึงความจำเป็นที่จะต้องฝากขังจำเลยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังเหลือพยานต้องสอบปากคำอีกหกปาก เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ทนายของประเวศถามว่า พยานทั้งหกปากตัวผู้ต้องหาไม่ทราบว่ามีบุคคลใดบ้างใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรรับว่า ใช่ ทนายของประเวศถามต่อว่าข้อความที่จะใช้กล่าวโทษผู้ต้องหาทั้งหมด พนักงานสอบสวนทำสำเนาไว้ครบแล้วใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรตอบว่า ทำสำเนาไว้แล้วแต่ไม่แน่ใจว่าหากปล่อยตัวผู้ต้องหา ผู้ต้องหาจะไปแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อความหรือไม่ เพราะเจ้าของเฟซบุีกซึ่งรู้ชื่อบัญชี(user name) และรหัสผ่าน (password) สามารถเข้าไปแก้ไขข้อความได้ 
 
ทนายของประเวศถามว่า หากผู้ที่มีชื่อบัญชีและรหัสผ่านสามารถแก้ไขข้อความได้ ประเวศที่ถูกคุมขังก็สามารถให้รหัสและชื่อบัญชีกับคนอื่นเพื่อไปแก้ไขเนื้อหาโพสต์ได้ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรรับว่า ใช่ ทนายของประเวศถามต่อว่าหากเป็นเช่นนั้นนับตั้งแต่การจับกุมจนปัจจุบันมีการแก้เนื้อหาในโพสต์ที่เป็นความคดีนี้หรือไม่ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรตอบว่า ยังไม่มี
 
ทนายของประเวศน์ถามต่อว่า อุปกรณ์ที่ผู้ต้องหาใช้ก่อเหตุตามข้อกล่าวหาทั้งโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่หมดแล้วใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรรับว่า ใช่ ทนายของประเวศถามต่อว่าการตรวจสอบของกลาง ตรวจประวัติอาชญากรรมและลายนิ้วมือเป็นขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งตัวผู้ต้องหาไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงหรือแทรกแซงได้ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรรับว่า ใช่
 
ทนายของประเวศถามว่า เป็นนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาคดี 112 ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรตอบว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายที่จะดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างเคร่งครัดซึ่งรวมถึงการคัดค้านการประกันตัวด้วย แต่การคัดค้านการประกันตัวเป็นนโยบายที่ใช้กับคดีอื่นๆ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงกว่าสิบปีด้วย ทนายของประเวศถามว่า จากการสอบสวนพ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรทราบว่าผู้ต้องหาประกอบอาชีพทนายความ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และขณะที่ถูกจับก็ถูกจับจากบ้านพักตามทะเบียนราษฎรใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรตอบว่า ทราบจากที่ผู้ต้องหาตอบระหว่างการสอบปากคำ
 
ทนายของประเวศถามว่า ที่พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรเบิกความว่าการตรวจสอบของกลาง การตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหา และการสอบพยานบุคคลเพิ่มเติม เป็นขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ที่ผู้ต้องหาไม่อาจเข้าไปยุ่งวุ่นวายหรือทำให้ยุ่งเหยิงได้ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรรับว่า ใช่ แต่คัดค้านการฝากขังเพราะเกรงผู้ต้องหาหลบหนีเพราะคดีนี้มีอัตราโทษจำคุก 15 ปี
 
ทนายของประเวศถามว่าในขณะนี้การดำเนินการสอบพยานต่างๆยังไม่แล้วเสร็จ พนักงานสอบสวนจึงยังไม่มีความเห็นในสำนวนว่าผู้ต้องหากระทำความผิดใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรตอบว่า ยังไม่มีความเห็นในสำนวน แต่พนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าผู้ต้องหาน่าจะเป็นผู้กระทำความผิดเพราะมีพฤติการณ์ใช้เฟซบุ๊กที่เป็นชื่อจริงและภาพจริงของผู้ต้องหา 
 
หลังเสร็จสิ้นการไต่สวนศาลถามประเวศว่าจะแถลงอะไรหรือไม่ ตอนแรกประเวศตอบว่าไม่แต่สุดท้ายก็ขอแถลงว่าขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวโดยยืนยันว่าจะไม่หลบหนี ไม่ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และหากศาลนัดหมายให้มาพบจะมารายงานตัวตามนัด ศาลบอกกับประเวศและทีมทนายความว่า คำสั่งเรื่องการฝากขังศาลจะต้องส่งสำนวนการไต่สวนให้อธิบดีศาลเป็นผู้สั่ง ศาลที่ไต่สวนในนัดนี้เพียงแต่ทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตามในภายหลังศาลมีคำสั่งอนุมัติคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนให้ควบคุมตัวประเวศต่ออีก 12 วัน และยกคำร้องประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า การกระทำของผู้ต้องหาเป็นการกระทำที่ร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพรักเทิดทูนของประชาชน โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย อันอาจกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรประกอบกับ พนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยชั่วคราวจึงไม่อนุญาต
 
25 กรกฎาคม 2560
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องประเวทศ ในความผิดตามมาตรา 112 รวมสิบกรรมและความผิดตามมาตรา 116 รวมสามกรรมจากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กรวมสิบสามข้อความ 
 
18 กันยายน 2560
 
นัดพร้อมสอบคำให้การ
 
ที่ห้องพิจารณาคดี 809 ศาลอาญานัดประเวศสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในเวลา 9.00 น. ในวันนี้มีคนมาร่วมสังเกตการณ์คดีของประเวศประมาณ 15 คน มีทั้งญาติของประเวศ ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าวประชาไทและมติชน นอกจากนี้ก็มีอดีตจำเลยที่ประเวศเคยว่าความให้ เช่น ดารณีและพฤทธิ์นรินทร์ ซึ่งพ้นโทษในคดีมาตรา 112 แล้ว 
 
ประมาณ 9.30 น.ศาลพูดคุยกับทนายประเวศว่า ประเวศจะให้การเลยหรือไม่ ประเวศลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่าประสงค์จะถอนทนายที่เคยแต่งตั้งไว้ทั้งสามคน และแถลงว่าไม่ประสงค์จะให้การใดๆ และไม่ประสงค์จะเซ็นเอกสารใดๆ เนื่องจากเห็นว่าการพิจารณาคดีนี้ไม่ชอบธรรม โดยได้ส่งแถลงการณ์สองฉบับต่อศาลเพื่อชี้แจงการไม่ยอมรับกระบวนพิจารณาคดีนี้แล้ว ศาลสั่งให้ทนายของประเวศกรอกเอกสารเรื่องการถอนทนายให้เรียบร้อยและพิจารณาคดีอื่นก่อน 
 
เวลาประมาณ 11.30 น. ศาลพิจารณาคดีอื่นเสร็จจึงเรียกทนายจำเลยและอัยการไปพูดคุยกันใต้บัลลังก์ ทนายจำเลยแถลงว่าประเวศประสงค์จะถอนทนายจำเลยทั้งสามคน ศาลอนุญาตให้ถอนทนายได้ จากนั้นศาลถามคำให้การประเวศ ประเวศแถลงว่า ไม่ประสงค์จะให้การใดๆเนื่องจากไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีนี้ตามเหตุผลที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ รวมทั้งแถลงด้วยว่า ที่จริงตนเองเตรียมแถลงการณ์มานำส่งต่อศาลสามฉบับแต่ทางเรือนจำไม่อนุญาตให้นำแถลงการณ์ฉบับที่สามออกมา

ศาลถามประเวศว่าประสงค์จะตรวจพยานของโจทก์หรือระบุพยานของฝ่ายจำเลยหรือไม่ ประเวศตอบว่าไม่ประสงค์จะมีส่วนร่วมใดๆ ในกระบวนการดังที่ได้แถลงต่อศาลไปแล้ว ด้านอัยการแถลงว่าประสงค์จะสืบพยานรวม 11 ปาก ศาลจึงสั่งให้คู่ความไปหานัดวันสืบพยานแล้วแจ้งต่อศาล
 
แถลงการณ์ฉบับแรกที่ประเวศยื่นต่อศาลพอสรุปได้ว่า จำเลยไม่ขอเข้าร่วมกระบวนการใดๆ ในคดีนี้เนื่องจากศาลไม่มีความเป็นกลางและเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดีนี้ สำหรับแถลงการณ์ฉบับที่สองพอสรุปได้ว่า

ในคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ศาลเขียนคำสั่งดังกล่าวว่า "พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วกรณีเป็นการกระทำที่ร้ายแรง….จึงให้ยกคำร้องปล่อยตัวชั่วคราว" ซึ่งถ้อยคำในคำสั่งเป็นถ้อยคำลักษณะเดียวกับคำพิพากษาว่า "พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว กรณีเป็นการกระทำที่ร้ายแรง…." ซึ่งแสดงให้เห็นว่าศาลได้ตัดสินไปแล้วว่าตนเองได้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหา และการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตั้งแต่ก่อนที่จะมีการฟ้องคดี และก่อนการสืบพยานหรือดำเนินการใดๆเพื่อพิสูจน์ความผิด ด้วยเหตุนี้ตนจึงไม่อาจยอมรับหรือเข้าร่วมกระบวนการใดๆ ของศาลได้

หลังเสร็จกระบวนพิจารณา อัยการแจ้งว่าคดีนี้จะมีการสืบพยานระหว่างวันที่ 8 – 11 พฤษภาคม 2561

8 พฤษภาคม 2561

นัดสืบพยานโจทก์

ตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น. พี่สาวและน้องชายของประเวศ ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไททยอยเดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดี 707 ศาลอาญาเพื่อสังเกตการณ์สืบพยานโจทก์ในวันแรก

ในเวลาประมาณ 9.45 น. ศาลเริ่มกระบวนพิจารณา ประเวศลุกขึ้นแถลงว่าเขาไม่ยอมรับกระบวนพิจารณาคดีนี้และมีการโต้ตอบกับศาลอยู่ครู่หนึ่งโดยศาลพยายามยืนยันกับประเวศว่าจะดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างเป็นธรรมแต่ประเวศแถลงคัดค้านโดยระบุตอนหนึ่งว่าการที่เขาไม่ได้รับการประกันตัวก็คล้ายกับถูกพิพากษาไปแล้ว

หลังประเวศแถลงโต้ตอบกับศาลครู่หนึ่งศาลก็เริ่มกระบวนพิจารณา อัยการแถลงต่อศาลขอให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ศาลเห็นพ้องกับคำขอของอัยการ จึงสั่งพิจารณาคดีลับและเชิญผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนออกจากห้องพิจารณาคดีรวมทั้งทนายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งประเวศเคยแต่งตั้งไว้ในชั้นที่ถูกนำตัวมาฝากขังแต่ต่อมาประเวศแถลงขอถอนทนายคนดังกล่าวในนัดสอบคำให้การเนื่องจากไม่ต้องการมีส่วนร่วมใดๆในกระบวนพิจารณา

ในวันนี้มีการสืบพยานรวมสองปากคือพล.ต วิจารณ์ จดแตง นายทหารพระธรรมนูญ ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีประเวศส่วนอีกปากหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำการตรวจสอบหลักฐาน หลังสืบพยานสองปากนี้เสร็จในเวลาประมาณ 10.50 น. อัยการแถลงหมดพยานในวันนี้ ศาลจึงสั่งให้ไปสืบพยานต่อในวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 โดยในช่วงที่ศาลอ่านกระบวนพิจารณา ศาลอนุญาตให้ผู้ที่มาสังเกตการณ์ก่อนเริ่มพิจารณาคดีกลับมานั่งฟังการอ่านรายงานและพูดคุยกับประเวศได้  

9 พฤษภาคม 2561

นัดสืบพยานโจทก์

ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ต่อเป็นวันที่สองโดยยังคงพิจารณาคดีเป็นการลับ ก่อนเริ่มการพิจารณามีความวุ่นวายเกิดขึ้นเล็กน้อยเมื่อมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศมาถ่ายวิดีโอประเวศขณะถูกนำตัวจากบันไดศาลมาที่ห้องพิจารณา เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจึงมีการเสริมกำลังและมาขอให้ผู้สื่อข่าวลบภาพออกจากกล้องแต่ไม่ได้มีการตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลแต่อย่างใด

ในวันนี้อัยการนำพยานเข้าสืบรวมเจ็ดปาก เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสี่ปากและประชาชนทั่วไปอีกสามคนที่อัยการนำมาเป็นพยานในฐานะ "วิญญูชน" ที่จะให้ความเห็นต่อข้อความ หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานทั้งหมดอัยการแถลงหมดพยาน เนื่องจากประเวศไม่ประสงค์จะสืบพยานจำเลยการสืบพยานจึงยุติลง ศษลจึงสั่งให้ยกเลิกนัดสืบพยานในวันที่ 10 และ 11 พฤษภาคมซึ่งนัดไว้ก่อนหน้านี้และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 เวลา 9.00 น.

23 พฤษภาคม 2561 

นัดฟังคำพิพากษา

ญาติๆและเพื่อนของประเวศรวมทั้งผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนได้แก่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมประมาณ 20 คนทยอยมาถึงห้องพิจารณาคดี 707 ตั้งตั้งแต่ก่อนเวลา 9.00 น.เพื่อร่วมฟังคำพิพากษา

เวลาประมาณ 9.15 น. ประเวศถูกนำตัวขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลคนหนี่งแจ้งกับญาติของประเวศและผู้สังเกตการณ์ว่าศาลเคยสั่งพิจารณาคดีลับแล้วขอให้ออกไปรอนอกห้อง ผู้มาสังเกตการณ์คนหนึ่งบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าหากศาลขึ้นบัลลังก์และสั่งพิจารณาคดีลับก็จะปฏิบัติตาม ผู็สังเกตการณ์ทั้งหมดยังนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีต่อไป

เวลาประมาณ 9.30 น. ศาลขึ้นบัลลังก์โดยไม่สั่งพิจารณาคดีลับ แต่แจ้งกับประเวศว่ายังทำคำพิพากษาไม่แล้วเสร็จ จะต้องเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไปก่อน โดยนัดวันใหม่ในวันที่ 27 มิถุนายน 2561  

ทั้งนี้ระหว่างที่กระบวนพิจารณาคดีดำเนินไปศาลเรียกผู้ร่วมสังเกตการณ์คนหนึ่งซึ่งกำลังจดโน้ตและถามว่าเป็นใครจดอะไร เมื่อบุคคลดังกล่าวตอบศาลว่าเป็นผู้สื่อข่าวศาลก็กล่าวตำหนิว่าในการพิจารณาคดีของประเวศนัดแรกมีการรายงานข่าวแบบละเอียดคำต่อคำโดยระบุว่าจะมีการดำเนินการกับกรณีที่มีรายงานกระบวนพิจารณาโดยละเอียดในครั้งก่อนต่อไปและกล่าวว่าการรายงานข่าวทำได้แต่ต้องทำโดยสรุปไม่ใช่นำทุกถ้อยคำไปรายงาน อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวที่ถูกศาลซักถามพยายามชี้แจงว่าในนัดแรกที่มีปัญหาตัวเขาไม่ได้มารับฟังการพิจารณาคดีนี้ โดยตัวประเวศซึ่งเป็นจำเลยก็ลุกขึ้นชี้แจงกับศาลว่าเขาไม่เห็นผู้สื่อข่าวคนนี้ในการพิจารณาคดีนัดแรกที่มีปัญหา

27 มิถุนายน 2561

นัดฟังคำพิพากษา

ญาติๆและเพื่อนๆของประเวศประมาณ 20 คนรวมตัวกันที่ห้องพิจารณาคดี 707 ตั้งแต่ก่อนเวลา 9.00 น. ระหว่างนั้นในห้องพิจารณามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลคนหนึ่งมานั่งอยู่ด้วยและได้แจ้งให้ผู้มารอฟังการพิจารณาทุกคนปิดมือ หลังจากนั้นประเวศถูกนำตัวขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 9.30 น. เมื่อทนายประเวศเข้ามาในห้องพิจารณาคดีเพื่อนของเขาคนหนึ่งนำดอกไม้มามอบให้ 

ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 9.35 น. และเริ่มกระบวนการอ่านคำพิพากษาโดยก่อนการอ่านคำพิพากษาศาลได้ขอให้ผู้ที่มาฟังการพิจารณาคดีนี้ทั้งหมดยืนขึ้นด้วย

ศาลอ่านบรรยายฟ้องในส่วนที่เป็นข้อความบนสถานะเฟซบุ๊กของประเวศที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 รวมสามข้อความ และบรรยายด้วยว่าจำเลยไม่ยอมรับกระบวนพิจารณาคดีนี้ 

หลังจากนั้นศาลอ่านคำพิพากษาในส่วนของโทษว่า ประเวศมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 สามกรรมพิพากษาจำคุกกรรมละห้าเดือนรวม 15 เดือน และพิพากษาว่าประเวศมีความผิดฐานไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามประกาศคปค.ฉบับที่ 25/2549 พิพากษาจำคุกหนึ่งเดือน รวมพิพากษาจำคุก 16 เดือน ทั้งนี้ระหว่างการอ่านคำพิพากษาไม่ปรากฎว่าศาลพูดถึงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ประเวศถูกฟ้องต่อศาลในคดีเดียวกันรวมสิบกรรม

หลังฟังคำพิพากษา ญาติของประเวศแสดงความพอใจกับผลความตัดสินเนื่องจากประเวศถูกคุมขังระหว่างการพิจารณามาเป็นเวลาประมาณ 14 เดือนแล้ว เมื่อศาลพิพากษาจำคุกเขาเป็นเวลา 16 เดือนก็เท่ากับว่าประเวศจะต้องรับโทษต่ออีกประมาณสองเดือนก็จะครบกำหนดโทษได้รับการปล่อยตัว ส่วนตัวของประเวศยังคงยืนยันหลังการพิพากษาว่าเขาไม่ยอมรับการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นและไม่ยอมรับการควบคุมตัวที่ปราศจากความชอบธรรม

26 สิงหาคม 2561

ประชาไท รายงานว่าในเวลาประมาณ 08.00 น. ประเวศได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยมีนักกิจกรรมทางสังคมเช่น สมยศ เอกชัย สิรวิชญ์และดารณี รวมทั้งเเพื่อนของประเวศอีกประมาณยี่สิบคนไปรอรับที่หน้าเรือนจำ
 
ประเวศให้ข้อมูลในภายหลังว่าเขายังคงสามารถต่ออายุใบอนุญาตทนายความและยังสามารถกลับมาประกอบอาชีพทนายความต่อหลังพ้นโทษ

 

  

 

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า จำเลยพิมพ์ข้อความบนเฟซบุ๊กของจำเลย ตั้งค่าการโพสต์เป็นสาธารณะโดยข้อความสรุปได้ว่า อยากรวมใจคนทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงมาโค่นล้มเผด็จการ ต้องการเมืองใหม่ รวมทั้งมีข้อความทำนองเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันเปลี่ยนรูปแบบการปกครองของประเทศ

ระหว่างการสอบสวนจำเลยไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน

พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯฉบับที่ 25 เป็นการกระทำหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษ

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จำคุกกระทงละห้าเดือนรวมสามกระทง ความผิดฐานไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งคระปฏิรูปการปกครองฯจำคุกหนึ่งเดือน ข้อหาอื่นให้ยก

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา