เอกฤทธิ์: หลานคณะราษฎร ทำเฟซบุ๊กหมิ่นฯ

อัปเดตล่าสุด: 26/10/2560

ผู้ต้องหา

เอกฤทธิ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2560

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

เอกฤทธิ์ เป็นหลานของหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร และเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ "อดิศักดิ์ สกุลเงิน" ถูกทหารจับกุมในวันที่ 6 พฤษภาคม 2560 จากการโพสต์เฟซบุ๊กเป็นรูปภาพและข้อความพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ เอกฤทธิ์ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน แต่ให้การรับสารภาพทันทีเมื่อไปศาลนัดแรก ศาลอาญาพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 8 ปี ลดเหลือ 4 ปีในวันที่ 3 สิงหาคม 2560
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

เอกฤทธิ์จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร New York Military Academy และจบปริญญาสาขาการออกแบบภายใน (Interior Design) จากสหรัฐอเมริกา เคยทำงานเป็นผู้จัดการอาคารชุด คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งที่พัทยาเป็นเวลา 20 ปี ก่อนจะเลิกทำและมาพักอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานครโดยไม่ได้ประกอบอาชีพใดอีก 
 
เอกฤทธิ์มีความสนใจทางการเมืองมาตั้งแต่เด็ก หลวงเสรีเริงฤทธิ์ปู่ของเขาเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรที่ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475  

ในวัยเด็ก เอกฤทธิ์อาศัยอยู่กับปู่ก่อนจะไปศึกษาต่อต่างประเทศ ปู่ของเขาได้ถ่ายทอดแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางสังคมให้กับเขาแต่ก็สอนไม่ให้เข้าไปยุ่งกับการเมืองเพราะเป็นเรื่องสกปรก

นอกจากจะได้รับอิทธิพลเกี่ยวกับความคิดทางการเมืองจากครอบครัวแล้วเอกฤทธิ์ยังสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ด้วย เอกฤทธิ์ไม่เคยร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มใดแต่ใช้วิธีแสดงความเห็นบนเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมระบุว่าการเคลื่อนไหวของเขาทำเป็นการส่วนตัวไม่เกี่ยวกับครอบครัว
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำร้องฝากขังของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)ที่ยื่นต่อศาลอาญาระบุว่า ในวันที่ 6 เมษายน 2560 เอกฤทธิ์ใช้เฟซบุ๊กชื่อ "อดิศักดิ์ สกุลเงิน " โพสต์และแชร์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในอิริยาบถส่วนพระองค์ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สิบ โดยทำเป็นภาพประกอบมีข้อความไม่เหมาะสม และยังได้ลงข้อความแสดงความเห็นส่วนตัวอีก ซึ่งเป็นการเหยียดหยาม ลบหลู่ดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจน
 
โดยคำร้องดังกล่าวระบุข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และความผิดฐานเผยแพร่หรือส่งต่อ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3), (5)
 

พฤติการณ์การจับกุม

ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2560 ช่วงเช้าก่อนฟ้าสว่าง ขณะที่เอกฤทธิ์กำลังพักผ่อนอยู่ที่หอพักย่านถนนอิสระภาพ  มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของหอพักมาเคาะประตูแจ้งว่าจะเอาพัสดุมาส่งและให้เซ็นต์รับ เอกฤทธิ์เห็นว่าเป็นเรื่องผิดปกติจะนำพัสดุมาส่งในเวลานี้จึงไม่เปิดประตูให้

หลังจากนั้นประมาณสิบนาทีมีคนมาเคาะประตูใหม่ แจ้งว่า มาจาก คสช.และจะทำการตรวจค้นห้องพักของเอกฤทธิ์โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 หากเอกฤทธิ์ไม่เปิดประตู จะพังเข้าไป เมื่อเอกฤทธิ์เปิดประตูให้มีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจท้องที่ประมาณ 30 คน ไม่แต่งเครื่องแบบกรูกันเข้ามาในห้องและทำการจับกุมเขาโดยไม่แสดงเอกสารใดๆ
 
นอกจากการจับกุมตัว เจ้าหน้าที่ยังทำการตรวจสอบคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะของเอกฤทธิ์พร้อมทั้งยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ กับอุปกรณ์เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ (External Harddisk) ไปด้วย

เอกฤทธิ์เล่าว่า เจ้าหน้าที่ถามเพียงว่า รู้หรือไม่ว่ามาเรื่องอะไร เมื่อเอกฤทธิ์ตอบว่า รู้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่อธิบายอะไรต่อ และพาตัวเขาเดินทางไปยังสน.บางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นสถานีตำรวจในท้องที่เพื่อลงบันทึกประจำวัน จากนั้นจึงควบคุมตัวเขาไปที่ค่ายมทบ.11
 
เมื่อไปถึงค่ายมีแพทย์มาตรวจร่างกายเขาและมีเจ้าหน้าที่หญิงมาคอยถ่ายรูป นอกจากนั้นก็มีทหารหนุ่มสองคนตรวจสอบคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ของเอกฤทธิ์ที่ถูกยึดมาโดยระหว่างนั้นก็สอบสวนเอกฤทธิ์ว่าจัดเก็บข้อมูลไว้ที่ใดบ้าง เอกฤทธิ์เล่าว่าเขาขอติดต่อญาติเพื่อให้เอาเสื้อผ้ามาส่งให้ แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธ

เอกฤทธิ์ถูกควบคุมตัวในมทบ.11 เป็นเวลาห้าคืนโดยไม่มีโอกาสพบญาติหรือทนาย และถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ปอท.หลายครั้ง

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
6 พฤษภาคม 2560
 
เวลาเช้ามืด เอกฤทธิ์ถูกทหารและตำรวจบุกไปจับกุมตัวที่หอพักย่าน ถ.อิสรภาพ โดยอ้างว่าใช้อำนาจตามมาตรา 44 และพาตัวไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.บางกอกใหญ่ ก่อนจะพาไปควบคุมตัวต่อที่ ค่ายทหาร มทบ. 11 เป็นเวลา 5 คืน
 
11 พฤษภาคม 2560
 
เอกฤทธิ์ถูกพาตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) โดยในบันทึกการจับกุมระบุว่า เวลาประมาณ 9.30 น. ร.ต.จักรกฤษ สุขกระบิล พร้อมพวกได้พาตัวเอกฤทธิ์ ซึ่งถูกควบคุมตัวไว้ที่ ร.มทบ.11 มาส่งมอบให้ปอท.เพื่อดำเนินคดีต่อ โดยมีของกลางได้แก่คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และอุปกรณ์เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ (External Harddisk) หนึ่งอัน พนักงานสอบสวนได้แสดงหมายจับและแจ้งข้อกล่าวหากับเอกฤทธิ์ เอกฤทธิ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและปฏิเสธที่จะลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม
 
พนักงานสอบสวนถามเอกฤทธิ์ว่า มีทนายหรือไม่ เอกฤทธิ์ตอบว่าไม่มีและต้องการทนาย พนักงานสอบสวนจึงติดต่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ให้คำปรึกษากับเอกฤทธิ์ทางโทรศัพท์
 
หลังเสร็จขั้นตอนการทำเอกสาร เจ้าหน้าที่ปอท.พาตัวเอกฤทธิ์ไปฝากขังกับศาลอาญา เอกฤทธิ์ถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพหลังศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขังในชั้นสอบสวน
 
3 สิงหาคม 2560
 
หลังครบกำหนดฝากขัง 84 วัน อัยการยื่นฟ้องเอกฤทธิ์ต่อศาลอาญา เอกฤทธิ์ถูกนำตัวไปที่ศาลอาญาเพียงลำพัง ญาติและทนายของเอกฤทธิ์ไม่ได้เดินทางไปด้วยเนื่องจากไม่ทราบวันนัด เมื่อไปถึงศาลเจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาสอบถามเอกฤทธิ์ว่าจะรับสารภาพหรือไม่ เอกฤทธิ์ตอบว่า ยังไม่ทราบว่าถูกฟ้องว่าอะไรบ้าง เจ้าหน้าที่จึงนำสำเนาคำฟ้องที่อัยการยื่นต่อศาลมามอบให้ เอกฤทธิ์อ่านดูแล้วตอบว่า จะรับสารภาพ
 
จากคำบอกเล่าของเอกฤทธิ์ เขาถูกนำตัวไปที่ห้องผู้พิพากษาเวรชี้บริเวณชั้นล่างของศาลอาญาพร้อมกับผู้ต้องหาคนอื่น ผู้ต้องหาส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องหาในคดียาเสพติด หลังศาลพิจารณาคดีจำเลยคดียาเสพย์ติดเสร็จได้ถามเอกฤทธิ์ว่าจะให้การอย่างไร เอกฤทธิ์ตอบศาลว่าขอให้การรับสารภาพ หลังจากนั้นศาลออกจากบัลลังก์ไปประมาณ 15 นาที

เมื่อศาลกลับเข้ามาก็อ่านพิพากษาลงโทษจำคุกเอกฤทธิ์เป็นเวลาแปดปีและลดโทษเหลือสี่ปีเนื่องจากจำเลยรับสารภาพ หลังฟังคำพิพากษาเอกฤทธิ์ถูกนำตัวกลับเรือนจำโดยไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษา
 
 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลอาญาพิพากษาว่าเอกฤทธิ์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ลงโทษจำคุกแปดปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษเหลือสี่ปี คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะซึ่งเป็นของกลางที่จำเลยใช้กระทำความผิดให้ยึด ส่วนทรัพย์สินอื่นที่ยึดไว้ให้คืนจำเลย

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา