เทใจให้เทพา: คดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯและต่อสู้ขัดขวางฯ จากการเดินคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

อัปเดตล่าสุด: 01/02/2563

ผู้ต้องหา

เอกชัย

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2560

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการจังหวัดสงขลา

สารบัญ

เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินทำกิจกรรมเดินเท้าเป็นเวลา 4 วัน จากอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาไปที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะและยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 แต่เมื่อถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมและจับกุมตัวชาวบ้าน 16 คน ที่ร่วมในกิจกรรม หนึ่งในนั้นมีเยาวชนอายุ 16 ปี และแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ พ.ร.บ.จราจรฯ และข้อหาพกพาอาวุธและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

ภูมิหลังผู้ต้องหา

เอกชัย จำเลยที่หนึ่ง 

รุ่งเรือง จำเลยที่สอง

ปาฏิหาริย์ จำเลยที่สาม

ดิเรก จำเลยที่สี่ ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขาเป็นชาวเทพา จังหวัดสงขลาโดยกำเนิด จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อมาเข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี หลังจากมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ดิเรกลาออกจากงานมาเพื่อทำงานต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

อิสดาเรส จำเลยที่ห้า

สมบูรณ์ จำเลยที่หก อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)

ยิ่งยศ จำเลยที่เจ็ด

เนติพงษ์ จำเลยที่แปด

อามีน จำเลยที่เก้า

วีระพงษ์ จำเลยที่สิบ

เจะอาเเซ จำเลยที่ 11

สรวิชญ์ จำเลยที่ 12

สมาน จำเลยที่ 13

อัยโยบ จำเลยที่ 14

อานัส จำเลยที่ 15

มุสตารซีดีน จำเลยที่ 16

ฮานาฟี จำเลยที่ 17

 

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558
พ.ร.บ.ทางหลวงฯ มาตรา 38, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 108,ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 และ 371

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามเอกสารหัวเรื่อง พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. เร่งรัดการดำเนินคดีกลุ่มผู้ชุมนุม กีดขวางการจราจร ขัดขวางการจับกุมและทำร้ายเจ้าพนักงานระบุว่า วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 14.00-16.30น. ระหว่างการเดินทางมาถึงบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาได้หยุดขบวนและมีการนอนขวางเส้นทางการจราจร ทำให้จราจรติดขัด ตำรวจจึงขอให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นผิวถนน แต่ผู้ชุมนุมไม่ยินยอม ตำรวจจึงทำการจับกุมผู้ชุมนุม 16 คนและกล่าวหาว่า ร่วมกันเดินหรือเดินแห่ อันเป็นการกีดขวางการจราจร ปิดกั้นทางหลวงหรือกระทำด้วยประการใดๆบนถนนหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล, ต่อสู้หรือขัดขวางการจับกุมและทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย และพาอาวุธ(ไม้คันธงปลายแหลม)ไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร

 

ต่อมาในชั้นศาลได้เพิ่มเติมข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เข้ามา โดยตามคำบรรยายฟ้องระบุว่า วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 จำเลยทั้ง 17 คนได้ร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันดังนี้


หนึ่ง เอกชัย รุ่งเรือง ปาฏิหาริย์และดิเรก ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะได้ร่วมกันไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรสงขลา ผู้รับแจ้งตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงและไม่แจ้งการชุมนุมพร้อมคำขอผ่อนผันกำหนดเวลาต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาก่อนเริ่มการชุมนุม

สอง จำเลยทั้ง 17 คนได้พกพาไม้ยาวประมาณหนึ่งเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางยาวสองเซนติเมตรจำนวนหลายด้าม  ซึ่งติดธงแผ่นผ้าและมีปลายแหลม ไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ ซึ่งไม้ดังกล่าวจำเลยได้ใช้และเจตนาจะใช้ทำร้ายร่างกายให้เป็นอันตราย

สาม  เอกชัย รุ่งเรือง ปาฏิหาริย์และดิเรก ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแลการชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางอย่างเกินสมควรต่อประชาชนที่ใช้ทางสาธารณะและดูแลรับผิดชอบผู้ร่วมชุมนุมให้ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งไม่ให้ความร่วมมือกับตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และจำเลยทั้ง 17 คนได้ร่วมกันสร้างความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่ใช้ช่องทางการจราจรบนถนนสายสงขลา-นาทวีและพกพาอาวุธตามข้อสองเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งขัดขวางหรือกระทำการที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

สี่ จำเลยทั้ง 17 คนได้ร่วมกันปิดถนนสายดังกล่าวด้วยการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมล้ำไปในช่องทางการจราจร มีการนั่ง นอนลงบนถนนสายดังกล่าวที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายต่อยานพาหนะโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานการจราจร ห้า จำเลยทั้ง 17 คนได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่ได้รับคำสั่งให้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ

พฤติการณ์การจับกุม

27 พฤศจิกายน 2560 ระหว่างที่เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเดินเท้ามาถึง อ.เมือง จ.สงขลา ขณะเดินผ่านบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ตำรวจได้เข้ามาห้ามการเดินขบวนต่อ แต่ทางชาวบ้านยืนยันว่า มีนัดหมายที่จะมาพักกินข้าวบริเวณหน้าโรงพยาบาลจิตเวช และได้ยืนยันที่จะเดินต่อมาเพื่อจะพักกินข้าว

เวลาประมาณ 15.00 น ขณะที่ชาวบ้านกำลังพักกินข้าว มีกำลังเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมพื้นที่อยู่จำนวนมาก และมีทหารบุกเข้ามาเพื่อขอเจรจากับแกนนำ ระหว่างนั้นชาวบ้านเห็นว่า การเจรจาไม่ได้ดำเนินไปได้ด้วยดี และทหารมีแนวโน้มที่จะสั่งสลายการเดินขบวน ชาวบ้านจึงวิ่งออกมาทางพื้นที่ริมทะเลใกล้ชุมชนเก้าเส้ง เพื่อให้พ้นวงล้อมของเจ้าหน้าที่ ระหว่างนั้นทหารจึงมีคำสั่งให้จับกุมทุกคนที่ถือธงสีเขียว หรือสัญลักษณ์ของการเดินครั้งนี้

 

มีรายงานว่า ตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุม ทำให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บหลายคน และมีผู้ถูกควบคุมตัวขึ้นรถตำรวจไปยัง สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา อย่างน้อย 16 คน

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล


หมายเลขคดีดำ

อ.115/2561

ศาล

ศาลจังหวัดสงขลา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง


แหล่งอ้างอิง


23 พฤศจิกายน 2560
 
ดิเรก ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินออกแถลงการณ์ว่า ชาวบ้านเทพาที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจะออกเดินภายใต้โครงการ “เดิน…เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดินหา…นายก หยุดทำลายชุมชน” โดยจะเริ่มเดินจากชุมชนบางหลิง ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นใจกลางโครงการโรงไฟฟ้าฯ ไปถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป้าหมายของการเดินในครั้งนี้เพื่อที่จะสื่อสารต่อสาธารณะถึงความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าฯและยื่นหนังสือต่อหัวหน้าคสช. มีรายละเอียดเหตุผลว่า ทำไมถึงไม่ต้องการโรงไฟฟ้าฯ
 
แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ตลอดสามปีที่ผ่านมาชาวบ้านได้เดินทางไปยื่นหนังสือ ที่กรุงเทพฯหลายครั้ง ส่งจดหมายไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและออกแถลงการณ์ราวร้อยครั้งแต่ไม่มีการตอบรับใดมาจากรัฐบาลหรือหัวหน้าคสช.เลย ทั้งนี้เครือข่ายฯได้ประเมินแล้วว่า การเดินอาจถูกฝ่ายความมั่นคงขอให้หยุดกิจกรรมหรือจับกุมไปปรับทัศนคติ แต่ยังคงยืนกรานที่จะเดินต่อไป
 
24 พฤศจิกายน 2560
 
เวลา 8.20 น. ชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ออกเดินเท้าจากชุมชนบ้านบางหลิง โดยสวมเสื้อสีเขียวสกรีนข้อความว่า NO COAL หรือไม่เอาถ่านหิน และธงสีเขียวออกเดินไปตามถนน โดยมีทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาถ่ายรูปเป็นระยะ  โดยวันนี้จะเดินเป็นระยะทาง 20 กิโลเมตรสิ้นสุดที่บ้านกรงอิตำ อำเภอเทพาและพักค้างคืนที่บริเวณหาดสะกอม
 
วันเดียวกันสถานีตำรวจภูธรเทพาได้ออกประกาศเรื่อง ให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 ระบุว่า ตามที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาประมาณ 20 คนได้ออกเดินจากชุมชนบางหลิงเพื่อยื่นหนังสือต่อหัวหน้า คสช. สถานีตำรวจภูธรเทพาพิจารณาแล้วว่า การกระทำดังกล่าวละเมิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมให้เจ้าพนักงานทราบล่วงหน้า 24 ชั่วโมง จึงขอให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ภายในวันนี้ ลงชื่อ พันตำรวจเอกวีรวุธ สันนะกิจ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเทพา
 
25 พฤศจิกายน 2560
ชาวบ้านออกเดินจากบ้านกรงอิตำ อำเภอเทพา มุ่งหน้าสู่บ้านปากบางสะกอม อำเภอจะนะ เพื่อพูดคุยกับชาวจะนะ จากบทเรียนการต่อสู้ของพี่น้องจะนะในโครงการโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และโรงไฟฟ้าจะนะ วันเดียวกันสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาออกประกาศเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะที่ 891/2560 เรื่อง ให้ยกเลิกการชุมนุมสาธารณะ ระบุว่า ตามหนังสือแจ้งขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะ ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560  ที่มีเอกชัย เป็นผู้แจ้งการชุมนุม เมื่อพิจารณาแล้วการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เอกชัยได้จัดการชุมนุมที่ขัดต่อพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ โดยไม่ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานก่อนล่วงหน้า 24 ชั่วโมง จึงขอให้ผู้ชุมนุมยกเลิกการชุมนุมภายในเวลา 18.00 น.ของวันนี้
 
27 พฤศจิกายน 2560

เครือข่ายฯ ออกเดินจากบ้านสวนกง ถึงอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยวันนี้จะพูดคุยเพื่อนัดหมายเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเตรียมการเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในวันถัดมา ระหว่างทางมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่น้อยกว่า 50 นายตรึงกำลังอยู่ พร้อมด้วยทหารที่เข้ามาสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ในเวลาประมาณ 13.00 น. ตำรวจจากกองร้อยปราบฝูงชนตั้งแถวด้านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ถนนสงขลา-นาทวี หันหน้าไปยังอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา  กินพื้นที่ถนนเลนซ้ายสุด โดยรถยนต์สามารถเคลื่อนตัวผ่านได้ในเลนขวา
 

ต่อมาผู้ชุมนุมได้เดินทางมุ่งหน้าและหยุดลงบริเวณแถวของเจ้าหน้าที่ ทิ้งระยะห่างประมาณห้าเมตร เอกชัย หนึ่งในผู้ชุมนุมได้เจรจากับพันตำรวจเอกประพัตร์ ศรีอนันต์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาและพันเอกอุทิศ อนันตนานนท์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 โดยพันตำรวจเอกประพัตร์ได้บอกต่อเอกชัยว่า ให้กลับไปที่กศน.และจะจัดอาหารไปให้ บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีบุคคลพิเศษเข้ามาอาจเกิดความวุ่นวายได้ จึงไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่านไป เอกชัยตอบกลับว่า ขอดูคำสั่งที่ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษได้หรือไม่ มีคำตอบจากพันเอกอุทิศว่า ท่านใช้มาตรา 44 เอกชัยกล่าวต่อว่า พวกผมของปรึกษากันก่อนและขอกินข้าวที่โรงพยาบาลจิตเวช แต่พันตำรวจเอกประพัตร์ก็ไม่อนุญาตให้ผ่านไปกินข้าวที่โรงพยาบาลจิตเวช
 
 
เอกชัยถามต่อว่า โจทย์ที่สำคัญคือพวกผมจะมีโอกาสได้พบนายกฯไหม พันตำรวจเอกประพัตร์ตอบว่า [ก่อนจะตอบโจทย์นี้]ต้องพบเลขาฯของนายกฯก่อน เอกชัยตอบว่า ถ้าอย่างนั้นพวกผมของนั่งรอท่านเลขาฯที่นี่ พันตำรวจเอกประพัตร์กล่าวว่า ถ้า[นั่ง]ที่นี่ต้องขออนุญาตได้ไหม ให้ไปรอบริเวณฟุตบาท ไม่ลงบนพื้นผิวการจราจร เอกชัยตอบว่า เดี๋ยวผมของเจรจากับพี่น้องก่อน พันตำรวจเอกประพัตร์กล่าวว่า สังเกตไหมครับเวลารถมันจะมาเนี่ย มันอันตราย… เอกชัยตอบกลับทันทีว่า เดี๋ยวนะครับคนปิดเป็นพี่ ไม่ใช่พวกผมปิด พันตำรวจเอกประพัตร์ตอบว่า เข้าใจๆ เอกชัยกล่าวว่า อย่าเลยครับ อย่าให้ร้ายพวกผมเลยครับ ผมต้องพูดตรงๆเลยคือ ถ้าเกิดทหารปิดหรือที่นี่[ตำรวจ]ปิด ไม่ใช่พวกผมปิดอันนี้ก็ต้องยืนยันไม่อย่างนั้น เดี๋ยวจะเป็นเรื่องอีก พันตำรวจเอกประพัตร์กล่าวต่อว่า เอาอย่างนี้ ขอคุยกับพี่น้องให้ขึ้นไปรอบนฟุตบาท
 
 
หลังจากนั้นผู้ชุมนุมได้เริ่มนั่งลงกับพื้นถนน และปาฏิหาริย์มายืนอยู่ด้านหน้าแถวพร้อมอ่านเนื้อหาของหน้าที่ของผู้ชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯให้แก่ผู้ชุมนุมฟัง มีการโต้ตอบกับผู้ชุมนุมในทำนองว่า การชุมนุมนี้ไม่มีอาวุธติดตัวมา อีกประมาณ 20 นาทีถัดมาได้มีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมนอนลงกับพื้นถนน ผู้ชุมนุมก็ลงไปนอนที่พื้นและร้องออกมาว่า หิวข้าว ประชาชนจะเดินไปกินข้าวเจ้าหน้าที่ขัดขวางผิดไหม ถ้าไม่เดือดร้อนเราไม่ออกมา
 
 
ต่อมาเวลาประมาณ 14.50 น. มีชาวบ้านเป็นลมหนึ่งคน มีเจ้าหน้าที่เข้ามาปฐมพยาบาล จากนั้นไม่นานผู้ชุมนุมเริ่มลุกขึ้นจัดแถวและประกาศว่า เราจะเดินไปกินข้าวและเริ่มผลักดันกับเจ้าหน้าที่เพื่อที่จะฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ โดยใช้เวลาผลักดันจนทะลุแนวกั้นเป็นเวลาประมาณสองนาที มีผู้ชุมนุมเป็นลมระหว่างการผลักดันอีกหนึ่งคน หลังจากที่ผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นไปแล้วจึงได้ไปรวมตัวเพื่อรับประทานข้าวกลางวันในเวลา 15.00 น. ที่โรงพยาบาลจิตเวช


ต่อมาเวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชนได้วางแนวกั้นที่บริเวณโค้งเก้าเส้ง ถนนชลาทัศน์ ก่อนจะควบคุมตัวผู้ชุมนุมไป 16 คน หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนชายวัย 16 ปี นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบยังได้ถ่ายภาพของผู้ที่ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ผ่านเฟซบุ๊กอีกด้วย มีรายงานเพิ่มเติมจากเครือข่ายฯว่า ระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ปะทะกันมุสตาร์ซีดีน วาบา หรือ "แบร์มุส" หนึ่งในผู้ชุมนุมถูกตำรวจควบคุมตัวไป แต่ไม่พบตัวที่สถานีตำรวจและไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ อย่างไรก็ดีในช่วงดึกของคืนดังกล่าวมีรายงานว่า เขาปลอดภัยแล้ว ไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไป
 

ผู้ถูกจับกุมทั้ง 16 คน ถูกพาตัวไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา ตำรวจได้สอบประวัติ และคุมขังทุกคนไว้ที่สถานีตำรวจเป็นเวลา 1 คืน โดยมีชาวบ้านจำนวนมากมานั่งและนอนรอให้กำลังใจบริเวณสถานีตำรวจ
 
 
วันเดียวกันเวลาประมาณ 13.00 น. พ.ต.ท. ศุภกิตติ์ ประจันตะเสน รักษาราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาได้ยื่นคำร้องให้เลิกการชุมนุมต่อศาลจังหวัดสงขลา โดยระบุว่าวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 09:00 น. กลุ่มเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 100 คนนำโดยเอกชัย จำเลยที่หนึ่งในคดีนี้ ได้ใช้รถยนต์รถจักรยานยนต์ เครื่องขยายเสียง โทรโข่ง รณรงค์ส่งเอกสารเผยแพร่ความรู้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 และเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิทธิพลเมืองสิทธิชุมชนกับกลุ่มประชาชน
 
 
ต่อมาเวลา 18:00 น. นายเอกชัยผู้จัดการชุมนุมได้ยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ต่อ หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเทพาต่อมาหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเทพาได้แจ้งสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะให้เอกชัยทราบระหว่างรอคำสั่งเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะกลุ่มเครือข่ายดังกล่าวได้เคลื่อนขบวนออกจากตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ไปยังตัวอำเภอเมืองสงขลา
 
 
จนกระทั่งวันที่ 25 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13:30 น. เอกชัยผู้จัดการชุมนุมได้มายื่นขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 12 วรรคสามต่อผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ต่อมาเวลา 18:00 น. ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขาพิจารณาแล้วเห็นว่าการชุมนุมเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้อันเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผ่อนผันตามคำร้องดังกล่าวและมีคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาที่ 891 / 2560 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ให้เลิกการชุมนุมสาธารณะภายในวันที่ภายในเวลา 18:00 น. โดยผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจะนะเป็นผู้แจ้งคำสั่งให้เลิกการชุมนุมสาธารณะให้แก่เอกชัย ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม 
 
 
ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 กลุ่มเครือข่ายได้เคลื่อนขบวนผ่านบ้านสวนกรงตำบลนาทับ อำเภอจะนะจังหวัดสงขลาและเข้ามาในพื้นที่อำเภอเมืองสงขลาการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ต่อเนื่องหลายพื้นที่ อยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 19 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ. 2558 โดยได้มอบหมายให้พันตำรวจโทศุภกิตติ์ ประจันตะเสน รองผู้กำกับการ(สอบสวน) รักษาราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสงขลา 
 
 
การชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ตั้งแต่ต้นกล่าวคือต้องยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ หมายถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเทพาทราบก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงตามมาตรา 10 ไม่ใช่เริ่มชุมนุมก่อนแล้วจึงยื่น แต่ระหว่างที่กลุ่มเครือข่ายฯรอการพิจารณาการใช้สถานที่จากผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเทพา ทางกลุ่มเครือข่ายฯกลับเคลื่อนขบวนออกจากที่ตั้งเดิมอันเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 17 หากไม่สามารถแจ้งการชุมนุมได้ภายในกำหนดสามารถแจ้งการชุมนุมและขอผ่อนผันกำหนดเวลาต่อผู้บังคับการจังหวัดสงขลาต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกา 2560 เวลา 13:30 น. เอกชัยและยื่นหนังสือขอผ่อนผันต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ผลการพิจารณาผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาไม่อนุญาตให้ผ่อนผันตามที่ร้องขอและมีคำสั่งที่ 891 / 2560 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 และได้แจ้งคำสั่งให้เลิกการชุมนุมและกลุ่มผู้ชุมนุมทราบแล้วแต่ทางกลุ่มยังคงดำเนินกิจกรรมการชุมนุมอย่างต่อเนื่องพฤติการณ์ของกลุ่มเครือข่ายดังกล่าวถือว่าไม่ปฏิบัติตามประกาศของเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมอันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 21 จากการสืบสวนหาข่าวเชิงลึกทราบว่ากลุ่มเครือข่ายมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงเคลื่อนขบวนเข้าสู่พื้นที่จัดการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรการชุมนุมเรียกร้องต่อไปอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปและอาจเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองได้
 
 
การยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีมีวิธีการที่สามารถกระทำได้ในหลายช่องทางและการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ด้านสิทธิพลเมืองสิทธิชุมชนสามารถดำเนินการได้ตลอดเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่จำกัดสถานที่และรูปแบบและเวลาประกอบกับระหว่างวันที่ 27 และ 28 พฤศจิกายน 2560 รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรีได้มีกำหนดการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา ทางตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการดูแลรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและสถานที่ หากมีการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายฯต่อไปจะส่งผลต่อการจัดกำลังดูแลรักษาความปลอดภัยและอาจเกิดความวุ่นวายขึ้นระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้
 
 
จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะและออกคำบังคับให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำใดใดภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลกำหนด
 
 
ต่อมา พ.ต.ท. ศุภกิตติ์ ประจันตะเสน ผู้ร้องได้ให้การต่อศาลจังหวัดสงขลาในฐานะพยานผู้ร้องว่า ขณะเกิดเหตุ พ.ต.ท. ศุภกิตติ์ รักษาราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาเนื่องจากผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาเดินทางไปราชการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 09:00 น. มีกลุ่มเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 100 คน มีแกนนำคือเอกชัยมาร่วมชุมนุมกันอยู่ที่ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ประมาณ 10 คัน เครื่องขยายเสียง โครงป้ายรณรงค์ ธงแสดงสัญลักษณ์และเอกสารเผยแพร่ความรู้มีวัตถุประสงค์เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 
 
 
โดยการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้ยื่นหนังสือขอชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 2558 ก่อนที่จะมีการชุมนุมแต่มายื่นหนังสือขออนุญาตการชุมนุมภายหลังที่มีการชุมนุมแล้ว กล่าวคือยื่นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 18:00 น. ต่อมาหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเทพาได้แจ้งสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะให้ผู้ชุมนุมทราบ ระหว่างรอคำสั่งกลุ่มเครือข่ายผู้ชุมนุมดังกล่าวได้เคลื่อนขบวนออกจากตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เข้ามาที่เขตอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยไม่ได้รอฟังคำสั่งของหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเทพา ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เอกชัย แกนนำผู้ชุมนุมได้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะต่อผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ตามหนังสือดังกล่าวพิจารณาแล้วเห็นว่า การชุมนุมเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้อันเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผ่อนผันตามคำร้องซึ่งทางตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้นำประกาศดังกล่าวไปปิดประกาศให้แก่ผู้ชมทราบและให้เลิกการชุมนุมตามประกาศเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะโดยได้แจ้งประกาศและคำสั่งดังกล่าวให้กับเอกชัย แกนนำผู้ชุมนุมทราบแล้วและแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้แก่ผู้ชุมนุมทราบ
 
 
กรณีดังกล่าวทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมและรายงานความเคลื่อนไหวของการชุมนุมมาโดยตลอด ในขณะที่แกนนำผู้ชุมนุมยื่นคำร้องขออนุญาตการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเทพานั้น หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเทพาได้สรุปสาระสำคัญของการชุมนุมสาธารณะให้แก่เอกชัย แกนนำทราบแล้ว พ.ต.ท.ศุภกิตติ์ได้จัดชุดสืบสวนเข้าดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเข้าใจเจรจาให้หยุดการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมรับฟังยังคงเดินมุ่งหน้าเข้ามาที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ในขณะที่ไต่สวนนั้นผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงบริเวณหลังมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาแล้ว โดยมีเจตนารวมตัวชุมนุมกันที่ชุมชนเก้าเส้งและจะพักรับประทานอาหารที่ชุมชนดังกล่าว
 
 
อย่างไรก็ดีบริเวณดังกล่าวจะมีนายอำเภอเมืองคอยเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมมาโดยตลอด ก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายอำเภอเมืองสงขลาและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้พยายามนัดแกนนำของผู้ชุมนุมมาเจรจาพูดคุยแต่ไม่มีแกนนำคนใดยอมเข้ามาตกลงพูดคุยด้วย นอกจากนี้ทางสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบในงานเกี่ยวกับการร้องทุกข์ เมื่อทราบเรื่องของกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ก็ได้แจ้งว่า พร้อมที่จะรับเรื่องราวร้องทุกข์ของกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวแต่แกนนำก็ไม่ยินยอม ยืนยันจะยื่นข้อร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง ในการชุมนุมดังกล่าวผู้ร้องเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีการรวมตัวกันใช้สัญลักษณ์แผ่นป้ายแสดงกลุ่มแบ่งแยกชัดเจนโดยใช้ธงทำให้เกิดภาพลักษณ์ของทางจังหวัดเสียหาย ลักษณะการชุมนุมเป็นการเรียกร้องให้มวลชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งหากมวลชนเข้ามาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้นก็จะมีแนวโน้มการสร้างความรุนแรงต่อไป
 
 
นอกจากกลุ่มชุมนุมดังกล่าวแล้วยังมีกลุ่มชุมนุมต่างๆที่จะยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีอีกเก้ากลุ่มที่รวมตัวกันมาชุมนุมแต่ทางผู้รับผิดชอบในการชุมนุมได้ไปเจรจากับกลุ่มต่างๆแล้วเช่น กลุ่มเกษตรกรผู้ทำสวนยางพารา กลุ่มอาชีพประมงและกลุ่มอื่นๆซึ่งสามารถเจรจาลุล่วง โดยกลุ่มดังกล่าวส่งตัวแทนมายื่นข้อเรียกร้อง ยังคงเหลือเพียงกลุ่มนี้เพียงกลุ่มเดียวที่ไม่ยอมเจรจาและไม่ยอมส่งตัวแทนมายื่นขอเรียกร้อง ทั้งกลุ่มทางเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการดูแลการชุมนุมได้ขอร้องให้งดการใช้สัญลักษณ์ของกลุ่มประเภทป้ายและธง แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่ยอมรับเงื่อนไขต่างๆ การยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีนั้นมีวิธีการที่สามารถจะกระทำได้ในหลายช่องทางและกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ด้านสิทธิพลเมืองสิทธิชุมนุมสามารถดำเนินการได้ตลอดเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่จำกัดสถานที่รูปแบบและเวลา
 
 
ในวันที่ 27 และ 28 พฤศจิกายน 2560 รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีจะจัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา ทางตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้รับมอบให้รับผิดชอบในการดูแลรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและสถานที่หากมีการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายดังกล่าวต่อไปจะส่งผลต่อการจัดกำลังดูแลและรักษาความปลอดภัยได้ รวมทั้งอาจเกิดความวุ่นวายระหว่างการประชุมจึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะและออกคำบังคับให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำใดใดภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลกำหนด
 
ต่อมาศาลจังหวัดสงขลาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้บังคับการตำรวจภูธรสงขลา แจ้งว่า การชุมนุมของผู้จัดการชุมนุมไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและไม่อนุญาตให้ผ่อนผัน ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 14 เมื่อได้ความว่า เจ้าพนักงานการชุมนุมสาธารณะได้แจ้งประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะจึงอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะได้ จึงสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะ
 
 
28 พฤศจิกายน 2560
 
เดลินิวส์ออนไลน์รายงานว่า เวลาประมาณ 00.00 น. พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเดินทางไปที่สถานีตำรวจภูธรสงขลา โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาสี่ข้อหาคือ ร่วมกันเดินหรือเดินแห่อันเป็นการกีดขวางการจราจร, ปิดกั้นทางหลวงหรือกระทำด้วยประการใดๆ บนถนนหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคลอื่น, ต่อสู้หรือขัดขวางการจับกุม ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย และพกพาอาวุธ(ไม้คันธงปลายแหลม)ไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร

ทั้งยังได้กำชับให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทั้ง 16 คนไม่เว้นแม้แต่เยาวชนชายอายุ 16 ปี โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวและจะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง
 
 
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 กล่าวว่า การจับกุมชาวบ้านคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน 16 คน ถือเป็นการดำเนินคดีตามกฎหมายปกติ เบื้องต้นได้แจ้งสามข้อหา แต่ยังไม่มีข้อหาความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทำตามขั้นตอน มีการเจรจามาตลอดให้ยุติการชุมนุม และการจับกุมเป็นไปตามอำนาจศาล โดยในช่วงบ่ายจะนำตัวชาวบ้านทั้ง 16 คนไปขออำนาจศาลจังหวัดสงขลาฝากขังผลัดที่หนึ่ง
 
 
ต่อมาเวลา 12.00 น. ชาวบ้านที่ร่วมเดินเท้าจำนวนกว่า 20 คนได้รวมตัวกันนั่งสงบนิ่งที่บริเวณด้านข้างศาลจังหวัดสงขลาเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกที่ไปไม่ถึงหัวหน้า คสช. รวมทั้งนั่งรอฟังข่าวการปล่อยตัวของผู้ถูกจับกุมทั้ง 16 คนด้วย ระหว่างนั้นฝนตกลงมาค่อนข้างหนัก แต่ชาวบ้านไม่มีอุปกรณ์กำบังใดๆเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดเสื้อกันฝนไปพร้อมกับป้ายผ้าสีเขียวและธงสีเชียวไปก่อนหน้าแล้ว
 
 
เวลาไล่เลี่ยกันพนักงานสอบสวนได้นำตัวชาวบ้าน 15 คนไปส่งที่ศาลจังหวัดสงขลาเพื่อฝากขังผลัดแรก ส่วนเยาวชนชายอายุ 16 ปีนำตัวส่งศาลเด็กและเยาวชน ต่อมาศาลได้ตีราคาหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 90,000 บาท รวม 15 คน เป็นเงิน 1,350,000 บาท แต่เครือข่ายฯ ไม่สามารถรวบรวมหลักทรัพย์ได้ทัน ทำให้ชาวบ้าน 15 คน ถูกส่งตัวไปที่เรือนจำกลางสงขลาก่อนหนึ่งคือน ขณะที่เยาวชนชายวัย 16 ปี ศาลเด็กและเยาวชนได้ตีราคาประกัน 5,000 บาท ทนายความจึงยื่นปล่อยตัวชั่วคราวไปก่อนเป็นคนแรก
 
29 พฤศจิกายน 2560
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง โดยใช้ตำแหน่งราชการของนักวิชาการจากมหาวิทยาลับสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยทักษิณเป็นหลักทรัพย์แทนเงินประกันตัว ต่อมาเวลาประมาณ 11.00 น. ศาลจังหวัดสงขลาไม่อนุญาตให้ประกันตัวเนื่องจากมีเงื่อนไขกำหนดว่า หากใช้ตำแหน่งประกันตัวจะต้องเป็นของผู้ต้องหาเท่านั้น ส่งผลให้เครือข่ายฯและอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเปิดบัญชีธนาคารขอระดมเงินจากคนทั่วไป

ในช่วงบ่ายทนายความลองยื่นคำร้องโดยช้ำตำแหน่งราชการอีกครั้ง ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยเวลา 21.00 น. ชาวบ้านทั้ง 15 คนได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำสงขลา มีครอบครัวและเครือข่ายฯมาให้กำลังใจจำนวนมาก
 
12 ธันวาคม 2560
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เวลา 10.00 น. ชาวบ้านทั้ง 15 คนไปที่ศาลจังหวัดสงขลาเพื่อฟังคำสั่งฟ้อง แต่เจ้าหน้าที่ออกมาชี้แจงว่า ขอเลื่อนนัดออกไปอีก 10 วัน ให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 22 ธันวาคม เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทำสำนวนไม่ทัน
 
12 มกราคม 2561
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
พนักงานอัยการจังหวัดสงขลามีความเห็นสั่งฟ้องชาวบ้านทั้ง 16 คน 
 
13 มิถุนายน 2561
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศาลจังหวัดสงขลานัดสืบพยานเป็นวันแรกในเวลา 9.30 น. วันนี้มีจำเลยมาศาล 16 คนยกเว้นปาฏิหาริย์ จำเลยที่สาม ซึ่งป่วยไม่สามารถเดินทางมาศาลได้จึงทำหนังสือขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหลัง
 
 
ก่อนเริ่มการสืบพยานทนายจำเลยพูดคุยกับศาลขอให้ศาลเลื่อนการสืบพยานในวันนี้ทั้งสามปากออกไปก่อนเนื่องจากพยานทั้งสามมีความเกี่ยวข้องกับปาฏิหาริย์ที่ไม่ได้มาศาล แต่ศาลไม่อนุญาตเนื่องจากนั้นอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยที่สามตามคำร้องไปแล้วและพยานทั้งสามปากก็มาพร้อมที่ศาลแล้ว
 
 
พล.ต.ต.ปรีดา เปี่ยมวารี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา
 
 
พล.ต.ต.ปรีดา เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุจนถึงปัจจุบันขณะที่เบิกความต่อศาลรับราชการที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาในตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา มีอำนาจในการดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่จังหวัดสงขลาและกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ รวมถึงเจ้าหน้าที่สภ.เทพา, จะนะและควนมีด ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุ โดยดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 พล.ต.ต.ปรีดา เบิกความตอบอัยการด้วยว่า ตัวเขาถือเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 2558
 
 
เกี่ยวกับคดีนี้พล.ต.ต.ปรีดาเบิกความว่า วันที่ 27 และ 28 พฤศจิกายน 2560 เป็นช่วงที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลา ตามกำหนดการนายกรัฐมนตรีและคณะจะเข้าพักที่โรงแรมบีพีสิมิหลาในวันที่ 27 พฤศจิกายน หลังจากนั้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน จะประชุมที่มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลาตั้งแต่เวลา 08:00 น.
 
 
พล.ต.ต.ปรีดาเบิกความต่อว่าเมื่อเขาทราบกำหนดการดังกล่าวก็ทำหนังสือลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 แจ้งเตรียมกองร้อยควบคุมฝูงชนตามระเบียบเพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นขั้นตอนปกติ นอกจากนั้นเขายังสั่งให้เตรียมอำนวยความสะดวกรักษาความปลอดภัยและดูแลการจราจรด้วย

 
พล.ต.ต.ปรีดาเบิกความต่อว่าในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 มีการรวมตัวของกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา เมื่อเขาได้รับแจ้งจากผู้บังคับการสถานีตำรวจภูธรเทพา จังหวัดสงขลาว่า จะมีการเดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. จึงสั่งการให้ชุดสืบสวนและสถานีตำรวจภูธรเทพาออกทำการสืบสวนติดตามความเคลื่อนไหวของชาวบ้านและให้รายงานให้สถานีตำรวจภูธรสงขลาทราบทุกระยะ
 
 
พล.ต.ต.ปรีดาเบิกความต่อว่า ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ได้รับแจ้งว่า มีประชาชนเคลื่อนขบวนออกจากตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลามายังอำเภอเมือง จังหวัดสงขลาในลักษณะเดินเท้าและมีรถขับตามโดยมีผู้ร่วมเดินประมาณ 50 คน เส้นทางการเดินเท้าเป็นถนนสายปัตตานี-จะนะ พ.ต.อ.วีรวุธ สันนะกิจ ผู้กำกับการตำรวจภูธรเทพารายงานเขาว่า ผู้ชุมนมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีการร่วมกันเดินทางมุ่งหน้าสู่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และมีการแจ้งการชุมนุมตามกฏหมายโดยยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุมที่สถานีตำรวจภูธรเทพา
 
 
พล.ต.ต.ปรีดาเบิกความว่า สถานีตำรวจภูธรเทพาได้แจ้งผู้ชุมนุมว่า ตามกฎหมายผู้ชุมนุมจะต้องรอฟังคำสั่งและต้องรอหนังสือที่กำหนดรายละเอียดว่า จะสามารถทำอะไรได้บ้าง จากนั้นรอจนครบ 24 ชั่วโมงจึงจะเริ่มชุมนุมได้ แต่ปรากฏว่า ผู้ชุมนุมไม่รอให้ครบ 24 ชั่วโมง ต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ผู้ชุมนุมเดินถึงเขตรอยต่อระหว่างอำเภอเทพาและอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ขณะที่เคลื่อนขบวนอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานีตำรวจภูธรจะนะ เอกชัยจำเลยที่หนึ่งยื่นหนังสือกับตำรวจขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่รับหนังสือไว้ ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13.30 น. 
 
 
พล.ต.ต.ปรีดาเบิกความด้วยว่า ตัวเขามีอำนาจหน้าที่จะพิจารณาการอนุญาตการชุมนุมในกรณีเร่งด่วน แต่พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ชุมนุมไม่สามารถปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดได้จึงไม่อนุญาตการชุมนุมและผู้ชุมนุมเองก็ฝ่าฝืนกฎหมายตั้งแต่แรก เขาจึงโดยออกคำสั่งแจ้งให้เลิกการชุมนุมและไม่อนุญาตให้มีการผ่อนผัน (กรณีที่ผู้ชุมนุมแจ้งการชุมนุมไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนเวลาเริ่มการชุมนุม)
 
 
พล.ต.ต.ปรีดาเบิกความว่า เขายังได้สั่งการให้สถานีตำรวจภูธรจะนะแจ้งต่อผู้ชุมนุมที่กำลังจะเข้าไปพักในพื้นที่เขตอำเภอจะนะเรื่องให้เลิกการชุมนุม และยังได้แจ้งคำสั่งไม่อนุญาตให้ผ่อนผันไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอรัตภูมิ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภูมิลำเนาของเอกชัย จำเลยที่หนึ่งผู้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันทราบด้วย  ต่อมาตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรจะนะ จังหวัดสงขลา ได้แจ้งกลับมาว่า ได้แจ้งคำสั่งให้ผู้ชุมนุมทราบแล้วแต่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมไม่เลิกการชุมนุม
 
 
พล.ต.ต.ปรีดาเบิกความว่า ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากอำเภอจะนะเข้าสู่พื้นที่อำเภอควนมีด และเข้าพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาในช่วงบ่าย เมื่อ พล.ต.ต.ปรีดาสอบถามไปยังสถานีตำรวจผู้รับผิดชอบท้องที่ก็ทราบว่า ไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมในพื้นที่ ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 พล.ต.ต.ปรีดาได้แต่งตั้งเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ประจำกองอำนวยการบริเวณถนนชายทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาให้เตรียมความพร้อมไว้โดยมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและการจราจรในพื้นที่ที่ชาวบ้านจะเดินผ่าน
ระหว่างที่ พล.ต.ต.ปรีดา กำลังเบิกความ ชาวบ้านรายหนึ่งลุกขึ้นแจ้งต่อศาลว่า ตำรวจที่ติดตามพล.ต.ต.ปรีดาเข้ามาในห้องพิจารณาได้จดบันทึกการเบิกความอย่างละเอียด ศาลจึงสั่งริบสมุดบันทึกเป็นการชั่วคราวและสั่งห้ามจดบันทึกหรือยันทึกเสียงการพิจารณาคดีพร้อมแจ้งว่าจะลงโทษผู้ฝ่าฝืนในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล 
 
 
การสืบพยานในวันนี้เสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 17.00 น. ส.รัตนมณี พลกล้า ตัวแทนทีมทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนและเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะภาคใต้ให้ข้อมูลว่า คดีนี้มีจำเลยคนหนึ่งที่เป็นเยาวชนซึ่งปกติจะต้องถูกพิจารณาคดีโดยศาลเยาวชน แต่ทนายร้องขอให้ศาลเยาวชนโอนคดีมาพิจารณาร่วมกับจำเลยคนอื่นๆในคราวเดียวกันเลยเนื่องจากเห็นประโยชน์ทั้งด้านการนำสืบและด้านจิตใจของตัวจำเลยที่เป็นเยาวชนเอง เพราะหากคดีพิจารณาในศาลเยาวชน ศาลมักไม่เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกร่วมฟังการพิจารณาคดีเพื่อคุ้มครองเยาวชนซึ่งอาจส่งผลให้จำเลยเยาวชนในคดีนี้เกิดความเครียดหรือรู้สึกโดดเดี่ยว แต่หากพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัด ศาลจะเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกหรือญาติพี่น้องร่วมฟังการพิจารณาคดีได้ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อจิตใจของตัวเยาวชนมากกว่า
 
 
14 มิถุนายน 2561
นัดสืบพยานโจทก์
พ.ต.ท.สุทธิรักษ์ ทองมาก สารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจภูธรเทพา
 
 
 
การสืบพยานในวันนี้ซึ่งเป็นวันที่สองจำเป็นต้องทำอย่างกระชับเนื่องจากจำเลยส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและกำลังอยู่ในช่วงถือศีลอดในเดือนรอมฎอนจึงมีความเหนื่อยล้าและเนื่องจากวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายของการถือศีลอด จำเลยจำเป็นจะต้องรีบเดินทางกลับบ้านในอำเภอเทพาซึ่งอยู่ห่างจากศาลจังหวัดสงขลาไปประมาณ 70 กิโลเมตรเพื่อเตรียมตัวสำหรับพิธีกรรมวันฮารีรายอ
 
 
11 กรกฎาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
 
 
เวลา 10.00 น. ศาลขึ้นบัลลังก์ แต่ได้พิจารณาคดีอื่นก่อนจะเริ่มพิจารณาคดีนี้ในเวลาประมาณ 10.30 น. วันนี้จำเลยมาศาล 15 คน ปาฏิหาริย์ จำเลยที่สาม และเนติพงษ์ จำเลยที่แปด ไม่ได้มาศาลแต่ได้แถลงขอให้ศาลพิจารณาลับหลังไปเลยซึ่งศาลอนุญาต
 
 
ร.ต.อ.ธนศักดิ์ บริรักษ์นรางกูร รองสารวัตรป้องกันและปราบปรามสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่
 
ร.ต.อ.ธนศักดิ์ เบิกความว่า เขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 เขาได้รับคำสั่งให้เป็นรองผู้บังคับกองร้อยของกองร้อยควบคุมฝูงชน ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2560 คำสั่งดังกล่าวระบุให้ร.ต.อ.ธนศักดิ์ ไปรายงานตัวต่อพ.ต.อ.ประพัตร์ ศรีอนันต์ที่สนามกีฬาติณสูลานนท์ในวันที่ 27 พฤศจิกายน เวลา 06:00 น.
 
 
ร.ต.อ.ธนศักดิ์ เบิกความต่อว่าในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 06:00 น. เขาได้ไปรายงานตัวกับพ.ต.อ.ประพัตร์ ศรีอนันต์ ผู้บังคับบัญชาที่สนามกีฬาติณสูลานนท์  ในวันนั้นมีเจ้าหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชนจำนวนประมาณ 155 นาย เวลาประมาณ 08:00 น. พ.ต.อ.ประพัตร์ได้ชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ว่า ให้ดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่และรอรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา อีกหนึ่งชั่วโมงถัดมาร.ต.อ.ธนศักดิ์ ได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่า มีผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเคลื่อนตัวมุ่งหน้ามาที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ให้เตรียมความพร้อมในระดับสูงไว้ ร.ต.อ.ธนศักดิ์ ได้พาเจ้าหน้าที่จากหมวดสองและหมวดสามประมาณ 70-80 คนไปตั้งแถวเพื่อรอรับผู้ชุมนุมบริเวณด้านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา
 
 
เมื่อไปถึง ร.ต.อ.ธนศักดิ์ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตั้งแถวหน้ากระดานข้างกำแพงมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา บนถนนสายสงขลา-นาทวีฝั่งมุ่งหน้าไปยังอำเภอจะนะแถวละสิบนาย เริ่มตั้งแถวจากริมทางเท้าบนถนนช่องซ้ายสุด เปิดช่องทางการเดินจราจรในถนนช่องขวา นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งแถวแล้วก็มีอาสาสมัครรักษาดินแดนและทหารมาสมทบ
 
 
ต่อมาในเวลาประมาณ 13:30 น. มีรถยนต์คันหนึ่งมาจอดอยู่มุมโค้งของถนน หลังจากนั้นผู้ชุมนุมก็ทยอยเดินเข้ามาที่รถยนต์ดังกล่าวและหยุด หลังจากนั้นผู้ชุมนุมก็เดินมาบริเวณที่เจ้าหน้าที่ได้ตั้งแถวอยู่ห่างกันกับเจ้าหน้าที่เป็นระยะประมาณสองถึงสามเมตร ผู้ชุมนุมเจรจากับพ.ต.อ.ประพัตร์ ศรีอนันต์ ผู้บังคับบัญชา และเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งร.ต.อ.ธนศักดิ์ ไม่ทราบว่ามีชื่อหรือตำแหน่งอะไร
 
 
หลังจากนั้นได้ยินว่า พ.ต.อ.ประพัตร์แจ้งว่า ไม่สามารถเจรจาได้ เนื่องจากผู้ชุมนุมจะขอเดินผ่านจุดนี้ไปก่อน ต่อมาเมื่อเจรจาไม่สำเร็จแกนนำได้สั่งให้ผู้ชุมนุมนั่งและนอนลงกับ พื้นอยู่บนพื้นผิวถนนที่ปิดไว้ ผู้ชุมนุมรายหนึ่งใช้โทรโข่งพูดปลุกขวัญกำลังใจผู้ชุมนุมคนอื่น ร.ต.อ.ธนศักดิ์ เบิกความด้วยว่าบุคคลที่ไปเจรจากับพ.ต.อ.ประพัตร์กับบุคคลที่พูดใส่โทรโข่งปลุกขวัญกำลังใจของผู้ชุมนุมเป็นคนละคนกัน
 

ร.ต.อ.ธนศักดิ์เบิกความถึงเหตุปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมว่า ขณะเกิดเหตุเขายืนอยู่แถวที่ห้าหรือแถวที่หก ซึ่งไม่ห่างจากผู้ชุมนุมมาก โดยการตั้งแถวดันเจ้าหน้าที่จะวางร่างกายแนบประชิดกันในแต่ละแถว ตัวของร.ต.อ.ธนศักดิ์สามารถมองทะลุไปด้านหน้าได้และเห็นว่า มีไม้ฟาดมาจากทางด้านหน้าและมีการชกเจ้าหน้าที่ด้วย แต่ไม่เห็นหน้าบุคคลที่กระทำการดังกล่าว หลังจากนั้นผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นไปได้
 
 
ร.ต.อ.ธนศักดิ์เบิกความว่า เขาได้รับคำสั่งจากพ.ต.อ.ประพัตร์ให้ปล่อยผู้ชุมนุมไป เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดเหตุความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในเวลานั้นเจ้าหน้าที่ยังไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัว ร.ต.อ.ธนศักดิ์ได้ขึ้นรถไปที่สถานีบริการน้ำมันปตท.ก่อนจะเดินทางต่อไปที่สนามยิงปืน กองทัพเรือ ถนนชลาทัศน์ เมื่อไปถึงพบว่ามีทหารและอาสาสมัครรักษาดินแดนอยู่ที่บริเวณนั้นด้วย
 
 
ร.ต.อ.ธนศักดิ์ รายงานผู้บังคับบัญชาและผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้ตรวจสอบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ซึ่งพบว่า เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บสี่คน
 
 
ร.ต.อ.ธนศักดิ์เบิกความต่อว่า ในเวลาประมาณ 16:00 น.ได้นำเจ้าหน้าที่หมวดที่หนึ่งและหมวดที่สองบางส่วนไปตั้งแถวรอผู้ชุมนุมที่บริเวณถนนไทรบุรี ใกล้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นอกจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ของหมวดที่สองและสามบางส่วนไปตั้งแถวที่บริเวณหัวโค้งของถนนเก้าแสน
 
 
สำหรับเหตุที่ต้องตั้งแถวปิดหัวท้ายถนน ร.ต.อ.ธนศักดิ์เบิกความว่า ต้องการให้การทำกิจกรรมของผู้ชุมนุมอยู่เพียงแค่ในบริเวณที่เจ้าหน้าที่กำหนดเท่านั้น แต่หลังจากร.ต.อ.ธนศักดิ์เห็นผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่บริเวณหัวโค้งของถนนเก้าแสน  ร.ต.อ.ธนศักดิ์และเจ้าหน้าที่ประจำการบริเวณป.ป.ส.จึงได้ไปที่บริเวณดังกล่าว เมื่อไปถึงพบว่าผู้ชุมนุมบางส่วนถูกนำตัวขึ้นรถแล้ว แต่ไม่ทราบว่ามีการจับกุมอย่างไรและไม่ทราบว่าควบคุมตัวผู้ชุมนุมไปที่ใดต่อ
 
 
ร.ต.อ.ธนศักดิ์เบิกความต่อว่าเขารออยู่ที่โค้งของถนนเก้าแสนเพื่อรอฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ต่อมาในเวลา 18:00 น. จึงกลับไปที่สนามกีฬาติณสูลานนท์เพื่อที่ทำหน้าที่ตรวจสอบกำลังคน โดยภารกิจในวันนั้นจบลงแค่นี้ หลังจากนั้นเขาได้ไปให้ถ้อยคำกับพนักงานสอบสวน
อัยการให้ร.ต.อ.ธนศักดิ์ หันไปดูจำเลยและถามว่า จำหน้าและชื่อใครได้บ้าง ร.ต.อ.ธนศักดิ์ หันไปชี้เอกชัย จำเลยที่หนึ่งว่า เป็นบุคคลที่เข้าไปเจรจากับพ.ต.อ. ประพัตร์ ในช่วงบ่ายและชี้มุสตาร์ซีดีน จำเลยที่ 16 แต่ร.ต.อ.ธนศักดิ์ ไม่แน่ใจว่า เขาทำหน้าที่อะไรในการชุมนุม
 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยถามว่า ภาพในเอกสารที่พนักงานสอบสวนให้ร.ต.อ.ธนศักดิ์ ดูมีลักษณะเป็นการบันทึกภาพหน้าจอมาจากไฟล์วิดีโอ แล้วตัวร.ต.อ.ธนศักดิ์ ได้ดูคลิปวิดีโอต้นฉบับหรือไม่ ร.ต.อ.ธนศักดิ์ ตอบว่า ไม่ได้ดู
 
 
ทนายจำเลยถามว่า ในการปฎิบัติภารกิจนี้ ร.ต.อ.ธนศักดิ์ ได้รับคำสั่งหรือไม่ว่า ให้สกัดกั้นผู้ชุมนุมไม่ให้ไปยื่นหนังสือได้ ร.ต.อ.ธนศักดิ์ ตอบว่าไม่
 
 
ทนายจำเลยถามว่า ขณะเกิดเหตุปะทะ ร.ต.อ.ธนศักดิ์ อยู่ห่างจากผู้ชุมนุมถึง 20 เมตรหรือไม่ ร.ต.อ.ธนศักดิ์ ตอบว่า ไม่เกิน 20 เมตร เพราะเวลาปะทะกันจะตั้งแถวและยืนใกล้กันมาก ทำให้ระยะห่างจากผู้ชุมนุมไม่มากนัก
 
 
ทนายจำเลยถามว่า หลังจากเกิดเหตุปะทะ และร.ต.อ.ธนศักดิ์ ได้ไปตั้งแถวที่บริเวณสำนักงานป.ป.ส. เวลานั้นร.ต.อ.ธนศักดิ์ มีเครื่องป้องกันตัวแล้วหรือไม่ ร.ต.อ.ธนศักดิ์ตอบว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาได้รับหมวกและโล่ แต่ร.ต.อ.ธนศักดิ์ มีเพียงหมวกเท่านั้น

 
การสืบพยานในวันนี้แล้วเสร็จในเวลา 16.00 น. ศาลสั่งให้เลื่อนการสืบพยานที่เหลืออีกสองปากซึ่งนัดมาวันนี้ไปสืบต่อในวันที่ 12 กรกฎาคม เนื่องจากหมดเวลาทำการ
 
 
12 กรกฎาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
ร.ต.อ.นรินทร์ โสตถิยาภัย เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน
 
 
ร.ต.อ.นรินทร์เบิกความว่าเขารับราชการในตำแหน่ง รองสารวัตรป้องกันและปราบปรามสถานีตำรวจภูธรสะเดา จังหวัดสงขลา เกี่ยวกับคดีนี้ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เขาได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ปฎิบัติหน้าที่ในกองร้อยควบคุมฝูงชนระหว่างวันที่ 27 และ 28 พฤศจิกายน 2560 เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในการประชุมครม.สัญจรซึ่งจะมีขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา
 
 
ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 06:00 น. เขาเดินทางมารายงานตัวต่อผู้บังคับบัญชาที่สนามกีฬาติณสูลานนท์ โดยมีพ.ต.อ.ประพัตร์ ศรีอนันต์เป็นผู้บังคับกองร้อย พ.ต.อ.ประพัตร์แจ้งว่า ในวันดังกล่าวจะมีกลุ่มชาวบ้านซึ่งคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเดินทางเข้ามาในตัวเมืองสงขลาเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี พ.ต.อ.ประพัตร์สั่งให้ร.ต.อ.นรินทร์อยู่รอรับทราบคำสั่งที่สนามกีฬา
 
 
ร.ต.อ.นรินทร์เบิกความต่อว่าในเวลาประมาณ 11:00 น. พ.ต.อ.ประพัตร์สั่งการให้เขากับพวกซึ่งสังกัดหมู่สองไปตั้งแถวประจำการที่บริเวณด้านข้างของมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาเนื่องจากทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมกำลังจะเดินทางเข้ามาในตัวเมืองสงขลา จากนั้นในเวลาประมาณ 12:30 น. ร.ต.อ.นรินทร์ไปที่ด้านข้างของมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาเพื่อตั้งแถวบนถนน บริเวณที่ตั้งแถวนอกจากตำรวจแล้วก็มีทหารและอาสาสมัครรักษาดินแดนมาร่วมตั้งแถวอยู่ด้วย ลักษณะการตั้งแถวจะเรียงหน้ากระดานสองแถว แถวละ 20 นาย
 
 
ร.ต.อ.นรินทร์เบิกความต่อว่าในเวลาประมาณ 13:00 น. เขาเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามาใกล้กับจุดที่ตัวเขากับพวกตั้งแถวอยู่โดยห่างออกไปประมาณ 100 เมตร ในตอนนั้นผู้ชุมนุมยังมีจำนวนไม่มาก ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งให้กองร้อยควบคุมฝูงชนหมวดที่สามเข้าไปตั้งแถวเพิ่มเป็นสี่แถว ประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมจึงทยอยเดินทางก่อนเข้ามารวมกับกลุ่มที่มาถึงก่อน เมื่อมีพวกมาสมทบผู้ชุมนุมซึ่งขณะนั้นมีประมาณ 60 คน ก็ขยับเข้ามาจนอยู่ห่างจากแถวของเจ้าหน้าที่ไปเพียงสี่ถึงห้าเมตร สำหรับลักษณะการแต่งตัวของผู้ชุมนุม ร.ต.อ.นรินทร์เบิกความว่าส่วนใหญ่สวมเสื้อยืดสีเขียวมีข้อความและสัญลักษณ์ต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและมีบางคนถือไม้คันธงยาวประมาณ 1.5 เมตร
 
 
ร.ต.อ.นรินทร์เบิกความถึงการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมว่า พ.ต.อ.ประพัตร์เป็นผู้เข้าไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ตัวเขาไม่ทราบว่าทั้งสองฝ่ายเจรจาอะไรกันบ้าง ระหว่างที่การเจรจากำลังดำเนินไปก็มีการสับเปลี่ยนแถวของเจ้าหน้าที่ ตัว ร.ต.อ.นรินทร์ซึ่งยืนอยู่แถวที่หนึ่งนั้นถูกสลับไปอยู่แถวที่สี่ ร.ต.อ.นรินทร์ระบุด้วยว่าเขาได้ยินเสียงผู้ชุมนุมคนหนึ่งพูดให้ผู้ชุมนุมคนอื่นๆนั่งลง มีผู้ชุมนุมบางส่วนนั่งลง และมีบางส่วนนอนลงกับพื้น 
 
 
จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมก็ตะโกนขึ้นมาว่าหิวข้าวแล้วขอผ่านทางไปกินข้าว การเจรจาใช้เวลาประมาณ 15 นาทีแต่ไม่เป็นผล กลุ่มผู้ชุมนุมจึงลุกขึ้นยืนและมีการผลักดันกับเจ้าหน้าที่ ร.ต.อ.นรินทร์สังเกตเห็นว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมใช้ไม้ฟาดมายังเจ้าหน้าที่สองสามครั้ง แต่ไม่เห็นว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำการดังกล่าว จากนั้นก็เกิดเหตุชุลมุน ผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ผลักดันกันไปมา ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะสามารถฝ่าแนวของเจ้าหน้าที่ไปได้
 
 
หลังผู้ชุมนุมฝ่าไปแล้ว พ.ต.อ.ประพัตร์ก็สั่งให้ร.ต.อ.นรินทร์ ถอนกำลังไปรวมกับเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ที่หน้าสนามยิงปืนของกองทัพเรือ หลังไปประจำการในสถานที่ดังกล่าวแล้ว ร.ต.อ.นรินทร์เบิกความว่าเขากับพวกอีกสี่สิบนายได้รับคำสั่งให้ไปประจำการอยู่ที่ถนนเก้าแสนบริเวณหน้าสถานีบริการน้ำมันปตท. เมื่อไปถึงก็เตรียมตั้งแถวที่บริเวณด้านหน้าปั๊มปตท.จากบริเวณนั้นสังเกตเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมนั่งรับประทานอาหารกลางวันอยู่ที่บริเวณทางเท้าหน้าโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาซึ่อยู่ห่างจากจุดที่เจ้าหน้าที่ตั้งแถวประมาณ 50 เมตร
 
 
ร.ต.อ.นรินทร์เบิกความต่อว่า พ.ต.อ.ประพัตร์แจ้งกับเขาว่า มีผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมและสั่งให้เขาไปเบิกโล่กับหมวก ซึ่งเก็บอยู่ที่รถอุปกรณ์ของตำรวจ เขาจึงไปเบิกอุปกรณ์ตามที่ได้รับ หลังจากนั้นจึงกลับไปตั้งแถวร่วมกับเจ้าหน้าที่คนอื่น  รูปแบบการตั้งแถวเป็นแถวหน้ากระดานสองแถว แถวละสิบนาย จุดที่ตั้งแถวคือถนนเก้าแสน ก่อนถึงโค้งเก้าเส้งซึ่งอยู่ติดกับถนนชลาทัศน์ ร.ต.อ.นรินทร์เบิกความด้วยว่าเขาได้เดินตามผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารและพ.ต.อ.ประพัตร์เข้าไปหากลุ่มผู้ชุมนุม ขณะที่ผู้บังคับบัญชาเข้าไปเจรจากับผู้ชุมนุมก็มีตัวแทนผู้ชุมนุมลุกขึ้นมาเจรจาด้วยโดยใช้เวลาพูดคุยประมาณสิบนาที หลังจากนั้น ร.ต.อ.นรินทร์ก็สังเกตเห็นผู้ชุมนุมบางส่วนวิ่งผ่านจุดที่ร.ต.อ.นรินทร์เคยยืนตั้งแถวอยู่เดิม ไปยังช่องทางเดินรถฝั่งตรงข้ามฝั่งมุ่งไปยังถนนชลาทัศน์ เมื่อผู้ชุมนุมวิ่งผ่านบริเวณที่เจ้าหน้าที่ตั้งแถวไปแล้วผู้บังคับบัญชาจึงได้สั่งการให้เขาเดินเท้าตามผู้ชุมนุมไปประมาณ 50 เมตร ร.ต.อ.นรินทร์เบิกความต่อว่า เมื่อเขาตามกลุ่มผู้ชุมนุมไปก็ได้ยินเสียงร้องเอะอะโวยวายดังมาจากถนนชลาทัศน์ ซึ่งตอนนั้นร.ต.อ.นรินทร์ มองไม่เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมแต่ก็คาดว่า จะเป็นเสียงของกลุ่มผู้ชุมนุมแล้วไม่นานเสียงก็เงียบไป 
 
 
จากนั้นเมื่อผู้ชุมนุมพ้นบริเวณไปแล้ว ร.ต.อ.นรินทร์ ก็ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ถอนกำลังไปรวมกันที่บริเวณถนนชลาทัศน์ เมื่อไปถึงจุดรวมตัวพบว่ามีผู้ชุมนุมคนหนึ่งนอนอยู่ที่ริมถนน พ.ต.อ.ประพัตร์ได้เข้าไปเจรจากับผู้ชุมนุมคนดังกล่าวเพื่อให้ลุกขึ้นมาพูดคุย แต่นอกจากผู้ชุมนุมคนดังกล่าวแล้วก็ไม่มีผู้ชุมนุมคนอื่นอยู่ในพื้นที่ในขณะนั้น
 

ร.ต.อ.พิเชฐ ธรรมเดโช เจ้าหน้าที่ปราบจลาจล พยานผู้เห็นเหตุการณ์
 
 
ร.ต.อ.พิเชฐ เบิกความว่า รับราชการเป็นในตำแหน่งรองสารวัตรปราบปราม สถานีตำรวจภูธรสะเดา จังหวัดสงขลา เกี่ยวกับคดีนี้ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 หรือสามวันก่อนเกิดเหตุเขาได้รับคำสั่งให้ไปปฎิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ปราบจราจล ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 06:00 น. เขาได้ไปรายงานตัวต่อพ.ต.อ.ประพัตร์ ศรีอนันต์ ผู้บังคับบัญชาและได้รับมอบหมายให้ดูแลความสงบเรียบร้อยและรอคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
 
 
ร.ต.อ.พิเชฐเบิกความต่อว่าในเวลาประมาณ 12:00 น. พ.ต.อ.ประพัตร์ได้สั่งการให้ เขาและพวกซึ่งอยู่ในหมวดที่สองไปประจำการที่ถนนด้านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาเมื่อไปถึงได้ตั้งแถวสองแถวเป็นแนวป้องกันฝูงชน หลังตั้งแถวประมาณ 15 นาที ร.ต.อ.พิเชฐ สังเกตเห็นผู้ชุมนุมบางส่วนเดินมุ่งหน้ามาบริเวณที่เขาตั้งแถวอยู่ เมื่อเดินมาถึงจุดที่เจ้าหน้าที่ตั้งแถวผู้ชุมนุมก็หยุดเดิน  ร.ต.อ.พิเชฐเบิกความด้วยว่า แถวตั้งไว้รอรับฝูงชนของเจ้าหน้าที่นอกจากจะมีตำรวจยืนอยู่แล้วก็มีทหารและอาสาสมัครรักษาดินแดนยืนอยู่ด้วย
 
 
ร.ต.อ.พิเชฐเบิกความต่อว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการปรับการตั้งแถวรับฝูงชนจากสองแถวเป็นสี่แถว สำหรับผู้ชุมนุมเมื่อพบว่าเจ้าหน้าที่มีการตั้งแถวสกัดก็พากันนั่งพักบนถนนด้านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ร.ต.อ.พิเชฐยอมรับว่าเขาไม่ได้สังเกตว่าพ.ต.อ.ประพัตร์เข้าไปพูดคุยกับผู้ชุมนุมหรือไม่ ร.ต.อ.พิเชฐเบิกความด้วยว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ใส่เสื้อยืดสีเขียวเขียนข้อความและสัญลักษณ์คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผู้ชุมนุมบางส่วนยังถือด้ามธงที่ทำจากไม้ด้วย ระหว่างที่นั่งพักผู้ชุมนุมยังตะโกนด้วยว่า หิวข้าวอยากไปกินข้าว
 
 
ร.ต.อ.พิเชฐเบิกความต่อว่า ในการตั้งแถวของเจ้าหน้าที่จะมีการสลับแถวเพื่อพักด้วย โดยหลังจากเขาถูกสลับไปแถวหลังสุดได้ไม่นานผู้ชุมนุมก็ลุกขึ้นและเริ่มผลักดันเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงช่วยกันผลักดันกลับไป หลังทั้งสองฝ่ายผลักดันกันไปมาได้ครู่หนึ่งเขาก็เห็นผู้ชุมนุมประมาณสี่คนใช้ธงตีมายังเจ้าหน้าที่ แต่บุคคลใดจะเป็นคนตีนั้นร.ต.อ.พิเชฐเบิกความว่าเขาจำหน้าคนที่ใช้ธงตีเจ้าหน้าที่ไม่ได้
 
 
ร.ต.อ.พิเชฐเบิกความต่อว่าเมื่อผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าไปได้ พ.ต.อ.ประพัตร์ก็สั่งการให้ร.ต.อ.พิเชฐ กับพวกถอนกำลังแล้วขึ้นรถตู้ไปที่สนามยิงปืนของฐานทัพเรือสงขลา เมื่อไปถึงจุดรวมพล พ.ต.อ.ประพัตร์ทำการตรวจนับกำลังพลและตรวจสอบว่ามีผู้ใดได้รับบาดเจ็บบ้างหรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บประมาณสองถึงสามนาย
 
 
จากนั้นพ.ต.อ.ประพัตร์สั่งให้เขากับพวกไปตั้งแถวที่ถนนเก้าแสน บริเวณหน้าสถานีบริการน้ำมันปตท. ร.ต.อ.พิเชฐ จึงไปตั้งแถวที่จุดดังกล่าว ขณะนั้นผู้ชุมนุมยืนอยู่ที่บนทางเท้าของถนนฝั่งตรงข้ามกับฝั่งที่เจ้าหน้าที่ยืนประจำการอยู่โดยมีระยะห่างออกไปประมาณ 50 เมตร   ระหว่างนั้นพ.ต.อ.ประพัตร์และนายทหารชั้นผู้ใหญ่อีกหนึ่งนายได้เข้าไปคุยกับผู้ชุมนุมส่วนหนึ่ง
 

หลังการพูดคุยดำเนินไปได้ครู่หนึ่งผู้ชุมนุมก็เดินไปตามทางเท้าผ่านจุดที่ร.ต.อ.พิเชฐกับพวกตั้งแถวมุ่งหน้าไปยังชุมชนเก้าเส้ง ร.ต.อ.พิเชฐเบิกความต่อว่าตัวเขาได้เดินตามกลุ่มผู้ชุมนุมไปโดยผู้ชุมนุมวิ่งนำหน้าร.ต.อ.พิเชฐ ประมาณสองถึง 300 เมตรเมื่อไปถึงถนนชลาทัศน์ ร.ต.อ.พิเชฐ ทราบว่ามีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งถูกจับกุมตัวแล้ว
 
 
จ.ส.อ. ประสงค์เพชร สุขกิ้ม พยานผู้เห็นเหตุการณ์
 
 
จ.ส.อ.ประสงค์เพชร เบิกความว่า เขารับราชการในตำแหน่งสารวัตรทหารอยู่ที่มณฑลทหารบกที่ 42 (ค่ายเสนาณรงค์) เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากได้รับคำสั่งให้ดูแลความปลอดภัยในวาระที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดสงขลาเพื่อประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร
 
 
จ.ส.อ.ประสงค์เพชร เบิกความว่าในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เขาเดินทางไปที่สนามกีฬาติณสูลานนท์เพื่อรายงานตัวและรับฟังคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา เมื่อไปถึงพบว่ามีตำรวจและอาสาสมัครพลเรือนอยู่ด้วย ในเวลา 12.00 น.เขาได้รับคำสั่งให้เป็นเจ้าหน้าที่ประจำรถตู้ มีหน้าที่จัดกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวมาขึ้นรถตู้ ต่อมาเขาขึ้นรถตู้พร้อมกับตำรวจนายอื่นๆ ไม่ระบุจำนวน ไปที่บริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา จากนั้นมีตำรวจในรถได้ลงไปตั้งแถวส่วน จ.ส.อ. ประสงค์เพชร ลงไปรออยู่ด้านหลัง ไม่เห็นเหตุการณ์ว่ามีการประทะกันอย่างไร จนกระทั่งตำรวจได้กลับมาขึ้นรถตู้จ.ส.อ. ประสงค์เพชร จึงได้ขึ้นรถตู้ตามกลับมาด้วย เกี่ยวกับการแต่งกายของผู้ชุมนุม จ.ส.อ. ประสงค์เพชรเบิกความว่ามีใส่กันหลายสี เมื่ออัยการถามคำถามย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าผู้ชุมนุมมีการสวมเสื้อสีใดหรือมีสัญลักษณ์อะไร จ.ส.อ.ประสงค์เพชรก็ตอบเช่นเดิม
 
 
จ.ส.อ.ประสงค์เพชรเบิกความต่อว่า หลังจากนั้น เขาได้รับมอบหมายให้เดินทางไปที่สถานีบริการน้ำมันปตท. ถนนเก้าแสน เมื่อไปถึงตำรวจที่โดยสารมากับรถตู้คันเดียวกับเขาลงไปตั้งแถว แต่จำไม่ได้ว่าบริเวณที่ตั้งแถวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกี่คน ศาลถามจ.ส.อ.ประสงค์เพชร ย้ำว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจกี่คน หากจำตัวเลขที่แน่ชัดไม่ได้ก็ขอให้ลองประมาณเอา จ.ส.อ.ประสงค์เพชรตอบศาลว่าเขาจำไม่ได้
 
 
จ.ส.อ.ประสงค์เพชรเบิกความต่อว่า ในเวลาต่อมาเมื่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่คือ พล.ต.วรพล วรพันธ์ ผู้บัญชามณฑลทหารบกที่ 42 และพ.ต.อ.ประพัตร์ ศรีอนันต์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาเข้าไปเจรจากับผู้ชุมนุมตัวเขาก็ได้ติดตามไปด้วยและจ.ส.อ.ประสงค์เพชรอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าจริงๆแล้วหน้าที่ที่ตัวเขาได้รับมอบหมายในวันเกิดเหตุคือการคุ้มกันบุคคลสำคัญซึ่งหมายถึงพล.ต.วรพล จ.ส.อ.ประสงค์เพชรเบิกความต่อว่าระหว่างที่พล.ต.วรพลกำลังเจรจากับผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมบางส่วนเดินออกไปจากพื้นที่อย่างกระจัดกระจาย ระหว่างนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจับกุมผู้ชุมนุมคนหนึ่งที่ยังอยู่ในพื้นที่ขึ้นรถตู้ไป เมื่ออัยการถามว่าจ.ส.อ.ประสงค์เพชรจำได้หรือไม่ว่าบุคคลใดคือคนที่ถูกจับกุมตัว จ.ส.อ.ประสงค์เพชรหันมาชี้ว่าเป็นเอกชัย
จ.ส.อ.ประสงค์เพชรเบิกความต่อว่าหลังพล.ต.วรพลเดินออกจากจุดที่ทำการเจรจากับผู้ชุมนุม ตัวเขาก็พยายามเดินตามไปแต่ไม่ทัน เขาจึงไปสมทบกับกำลังส่วนอื่นที่สนามกีฬาติณสูลานนท์ หลังจากนั้นก็มีการตรวจสอบกำลังพลก่อนที่ปฏิบัติการณ์จะยุติ  
 
 
ร้อยตรีเหรียญ ชาติดำ พยานผู้เห็นเหตุการณ์
 
 
 
20 กรกฎาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
 
 
 
24 กรกฎาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
พ.ต.ท.วันกิตติ  ทินนิมิตร พยานผู้เห็นเหตุการณ์
 

พ.ต.ท.วันกิตติ  เบิกความว่าเขารับราชการตำแหน่งสารวัตรสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรสงขลา มีหน้าที่สอบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดในคดีอาญา เกี่ยวกับคดีนี้ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เขาได้รับคำสั่งจาก พ.ต.ต.ปรีดา เปี่ยมวารี ผู้บังคับบัญชา ระบุรายละเอียดว่า จะมีผู้ชุมนุมเดินทางจากอำเภอเทพา จังหวัดสงขลามายังอำเภอเมืองจังหวัดสงขลา ต่อมาในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 เขาได้รับรายงานว่าผู้ชุมนุมเดินทางมาพักค้างคืนที่มัสยิดบ้านบ่ออิฐ ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา 08:00 น. เขาได้เดินทางไปพูดคุยกับแกนนำผู้ชุมนุมที่มัสยิดบ้านบ่ออิฐ ได้แก่เอกชัย ดิเรกและปาฏิหาริย์ อัยการถามพ.ต.ท.วันกิตติ  ว่าบุคคลทั้งสามคน ถ้าเห็นอีกครั้งจำได้หรือไม่ พ.ต.ท.วันกิตติ  ตอบว่า จำได้ หันไปชี้เอกชัยและดิเรกถูกต้อง แต่ชี้ตัวปาฏิหาริย์ไม่ถูกต้อง
 
 
หลังจากนั้นผู้ชุมนุมราว 30 ถึง 40 คนทยอยเดินทางออกจากมัสยิดบ้านบ่ออิฐ ตัวของพ.ต.ท.วันกิตติก็เดินทางกลับสถานี หลังจากกลับไปสถานีแล้ว พ.ต.ท.วันกิตติก็ออกไปที่กองอำนวยการเกี่ยวกับการชุมนุมเพื่อประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการพูดคุยมีข้อตกลงกันว่าจะให้นายอำเภอเมืองสงขลาเป็นคนเข้าไปเจรจากับผู้ชุมนุม จากนั้นในเวลาประมาณ 11.00 น. พ.ต.ท.วันกิตติและนายอำเภอเดินทางไปยังจุดที่ผู้ชุมนุมกำลังเดินทางผ่านคือ บริเวณกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดสงขลาที่ 1 นายอำเภอเข้าไปเจรจากับเอกชัยภายในป้อมยาม สำหรับรายละเอียดหลังจากนั้นพ.ต.ท.วันกิตติยอมรับว่าจำไม่ได้ พ.ต.ท.วันกิตติเบิกความด้วยว่าระหว่างที่การเจรจากำลังดำเนินไปผู้ชุมนุมยังคงเดินต่อไปไม่ได้หยุดรอฟังผลการเจรจา สำหรับผลการเจรจาผู้ชุมนุมยืนยันจะเดินต่อไป
 
 
พ.ต.ท.วันกิตติเบิกความต่อว่าหลังการเจรจาจบลงและผู้ชุมนุมยืนยันที่จะเดินต่อ พล.ต.ตประพัตร์ ศรีอนันต์ สั่งให้เขาไปยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้สั่งยกเลิกการชุมนุมโดย ตัวเขาพร้อมด้วยพ.ต.อ.ศุภกิตติ์ ประจันตะเสน จึงได้ไปดำเนินการตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ก่อนการไต่สวน พ.ต.ท.วันกิตติได้ขอให้ผู้ใต้บังคับบัญชาและกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดสงขลาที่ 1ติดต่อให้ผู้ชุมนุมมาร่วมการไต่สวน แต่ปรากฏว่าไม่มีตัวแทนผู้ชุมนุมมาร่วมการไต่สวนในเวลา 14.00 น. ระหว่างการไต่สวนกำลังดำเนินไป เขาก็ได้รับรายงานว่ามีการประทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม
พ.ต.ท.วันกิตติเบิกความต่อว่า หลังการไต่สวนเขาเดินทางกลับสถานีตำรวจภูธรสงขลา เมื่อจำเลยทั้งหมดในคดีนี้ยกเว้นมุสตาร์ซีดีน จำเลยที่ 16 ถูกควบคุมตัวมาที่สถานี ตัวเขาได้ร่วมจัดทำบันทึกการจับกุมและรายงานการสอบสวนด้วย
 
 
โดยรายงานการสอบสวนมีเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับเหตุที่ต้องเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับเนื่องจากว่ามีผู้ต้องหาเพิ่มเติมคือมุสตาร์ซีดีน ที่พ.ต.ท.วันกิตติทราบจากข่าวสารในตอนกลางคืนว่า เขาเข้าร่วมการชุมนุมด้วย จากการที่ภรรยาของมุสตาร์ซีดีนได้ประกาศตามหาตัวเขาว่า การหายไปของเขาอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมครั้งนี้จึงได้ทำการเพิ่มรายงานการสอบสวนเข้าไป 
 
 
25 กรกฎาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
 
 
9 สิงหาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
 
 
10 สิงหาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
ราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
 
 
ราชิตเบิกความว่า เขารับราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการสงขลาฝ่ายความมั่นคง โดยเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เกี่ยวกับคดีนี้ในวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีมีกำหนดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลา โดยคณะดังกล่าวจะเดินทางมาถึงจังหวัดสงขลาในช่วงเย็นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 หลังจากนี้จะมีการประชุมก่อนจะพักค้างคืนที่โรงแรมบีพี สิมิหลาหนึ่งคืน ก่อนที่ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 มีกำหนดจะประชุมที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลาเขาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะมีหน้าที่รักษาความปลอดภัย จัดเตรียมสถานที่และการพบปะประชาชนของคณะรัฐมนตรี ราชิตเบิกความว่า เขาได้รับแจ้งว่าจะมีกลุ่มประชาชนเดินเท้ามายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีประมาณ 15 วันก่อนวันเกิดเหตุ
 
 
ราชิตเบิกความว่า ในเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ระหว่างที่เขาอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลาก็ได้รับแจ้งว่ามีประชาชนชุมนุมอยู่ที่บริเวณถนนสงขลา-นาทวี ใกล้กับมัสยิดบ้านบ่ออิฐ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาจึงได้มอบหมายนายอำเภอเมืองสงขลาไปพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดสงขลาที่ 1 เพื่อให้ยื่นหนังสือต่อนายอำเภอเมืองแทนและนายอำเภอจะประสานนำหนังสือไปมอบให้นายกรัฐมนตรีต่อไป  แต่ผู้ชุมนุมไม่รับข้อเสนอดังกล่าว ราชิตจึงนัดหมายให้ผู้ชุมนุมไปพบเพื่อพูดคุยอีกครั้งที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขารูปช้าง
 
 
ราชิตเบิกความต่อว่า เขาเดินทางไปถึงสถานที่ที่นัดพบกับผู้นุมนุมก่อนเวลา 12.00 น. เมื่อไปถึงเขาประสานให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจัดหาห้องประชุมเพื่อพูดคุยกับผู้ชุมนุมโดยห้องประชุมที่โรงพยาบาลจัดให้สามารถรองรับคนได้ประมาณ 20 คน สำหรับตัวแทนผู้ชุมนุมที่เข้ามาพูดคุยราชิตเบิกความว่า มีเอกชัยและปาฏิหาริย์ ซึ่งตัวเขาจำบุคคลทั้งสองได้ เมื่ออัยการขอให้ราชิตหันไปชี้ตัวบุคคลทั้งสองที่นั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีได้อย่างถูกต้อง เกี่ยวกับการพูดคุย ราชิตเบิกความว่าการพูดคุยใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ราชิตเสนอต่อผู้ชุมนุมว่าให้ยื่นหนังสือกับเขาและเขาจะเป็นผู้นำไปยื่นต่อให้นายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งเสนอทางเลือกที่สองว่าหากผู้ชุมนุมต้องการไปยื่นหนังสือเองก็ให้ไปยื่นที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ แต่เอกชัยและปาฏิหาริย์แจ้งกับเขาว่าทั้งสองไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ
 
 
เมื่อตัวแทนผู้ชุมนุมไม่สามารถรับข้อเสนอของเขาได้ เขาจึงได้โทรศัพท์ไปประสานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นกำลังปฏิบัติหน้าที่พร้อมกับนายกรัฐมนตรีที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งทางเลขาฯบอกกับเขาว่า ให้นัดหมายผู้ชุมนุมมาพูดคุยกัน เวลา 17.00 น. ราชิตเบิกความด้วยว่า เขาได้ให้เบอร์ติดต่อไว้กับเอกชัยแต่เอกชัยก็ไม่ได้ติดต่อกลับมา ราชิตเบิกความต่อว่า หลังการเจรจาเขาเดินทางไปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ระหว่างทางผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาก็พบกับผู้ชุมนุมตั้งแถวอยู่บริเวณบนด้านซ้าย แต่รถยนต์สามารถสัญจรผ่านไปได้โดยใช้ช่องทางด้านขวาของถนน ราชิตสั่งให้คนขับรถชะลอดูก่อนจะขับผ่านไปซึ่งระหว่างที่เขาเห็นเหตุการณ์ยังไม่มีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่
 
 
พ.ต.ท.เกียรติพงษ์ ระดมสุข ผู้ร่วมจับกุม
 
 
พ.ต.ท.เกียรติพงษ์ เบิกความว่า ขณะเบิกความต่อศาลเขารับราชการอยู่ที่ สถานีตำรวจภูธรสทิงพระ จังหวัดสงขลา แต่ก่อนหน้านี้ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2559-เดือนพฤษภาคม 2561 เขาดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมือง จังหวัดสงขลา ฝ่ายป้องกันและปราบปราม
เกี่ยวกับคดีนี้พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความว่าในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา 8.00 น. เขาได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาให้นำกำลังไปที่สนามกีฬาติณสูลานนท์เพื่อร่วมกับชุดปราบจราจลจากกองกำลังหน่วยอื่นๆ จึงนำกำลังเคลื่อนที่เร็วจำนวนสิบนายและกำลังที่วางเพื่อรักษาความปลอดภัยตามแผนของผู้บังคับการอยู่แล้วอีกจำนวนสิบนายไปร่วมปฏิบัติตามจุดนัดพบดังกล่าว  เมื่อไปถึงจุดนัดหมายก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่ปราบจราจลมาประจำการแล้วโดยมีประมาณหกนายเป็นผู้หญิงทั้งหมด
 
 
พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความต่อว่า ระหว่างที่เขาอยู่ที่สนามกีฬาติณสูลานนท์ก็ได้รับคำสั่งให้ไปที่ศาลากลางจังหวัด เมื่อไปถึงได้รับมอบหมายให้ไปเจรจากับผู้ชุมนุมพร้อมกับนายอำเภอเมืองสงขลา เขาจึงเดินทางไปศาลากลางด้วยรถของราชการพร้อมกับพนักงานขับรถ เมื่อไปถึงพบกับเอกชัยและปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ชุมนุม นายอำเภอเจรจากับเอกชัยและปาฏิหารย์ทำนองว่าให้ยื่นหนังสือกับนายอำเภอและนายอำเภอจะนำหนังสือไปยื่นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและนายกรัฐมนตรีตามลำดับ แต่ทั้งสองปฏิเสธ นายอำเภอจึงขอให้เอกชัยและปาฏิหาริย์ไปพูดคุยกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขารูปช้าง พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความด้วยว่าเขาได้ขับรถตามไปด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าเอกชัยเดินทางไปจริง
 
 
พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความต่อว่าเมื่อไปถึงสถานที่นัดหมาย รองผู้ว่าฯ เอกชัย นายอำเภอเมืองสงขลาและตัวพ.ต.ท.เกียรติพงษ์กับพวกได้เจรจากันภายในห้อง ทางเจ้าหน้าที่พยายามเจรจา ให้ผู้ชุมนุมกินข้าวที่กศน. สงขลา แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมและทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้  พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความต่อว่าเมื่อการเจรจาใกล้ยุติในเวลา 12.00 น. พ.ต.อ.ศุภกิตติ์ ประจันตะเสนได้ติดต่อเขาทางโทรศัพท์และสั่งให้เขาไปบอกต่อเอกชัยว่า ขณะนี้มีการไต่สวนการชุมนุมที่ศาลจังหวัดสงขลาขอให้เอกชัยไปเข้าร่วม เอกชัยจึงเดินทางไปที่ศาลจังหวัดสงขลาบนรถคันเดียวกับเขาโดยเอกชัยนั่งด้านหลัง
 
 
พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความต่อว่า ระหว่างทางมีโทรศัพท์เข้ามาหาเอกชัย หลังคุยโทรศัพท์เสร็จ รถยนต์แล่นผ่าน บริเวณถนนด้านหน้ามีแนวเจ้าหน้าที่ปราบจลาจลและขบวนของผู้ชุมนุม เอกชัยขอลงจากรถเพื่อไปพุดคุยกับผู้ชุมนุม รถของพ.ต.ท.เกียรติพงษ์จึงหยุดก่อนถึงแนวเจ้าหน้าที่ปราบจลประมาณ 200-300 เมตร เอกชัยจึงบอกพ.ต.ท.เกียรติพงษ์ว่า ไม่เดินทางไปที่ศาลด้วยแล้ว และขอลงตรงนี้ พ.ต.ท.เกียรติพงษ์ยังได้ยินด้วยว่า เอกชัยบอกผู้ชุมนุมตั้งแถวตอนลึกสองแถวที่บริเวณถนนเลนซ้ายสุด หลังเอกชัยบอกให้ผู้ชุมนุมตั้งแถวแล้วผู้บังคับบัญชาของเขาได้เข้ามาเจรจากับเอกชัยแต่ตัวเขาไม่ทราบว่าเนื้อหาการเจรจาเป็นอย่างไร จากนั้นก็มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความยืนยันว่าเขาเห็นผู้ชุมนุมใช้ไม้ตีไปที่เจ้าหน้าที่แต่เขาจำไม่ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำการดังกล่าว หลังการปะทะผู้ชุมนุมสามารถฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ไปได้
 
 
พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความต่อว่าหลังมีการปะทะและผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ไป เขาได้ไปที่สนามยิงปืนกองทัพเรือเพื่อพบกับผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ปราบจราจล ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการให้เขาแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่เป็นห้าหมู่ ในแต่ละหมู่จะมีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาสาสมัครรักษาดินแดนและเจ้าหน้าที่ทหาร กำลังทั้งห้าหมู่มีภารกิจในการจับกุมบุคคลเป้าหมายรวมห้าคน พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความต่อว่า เขาทราบว่าเอกชัยเป็นหนึ่งในบุคคลเป้าหมาย แต่บุคคลเป้าหมายอีกสี่คนที่เหลือจะเป็นใครตัวเขาไม่ทราบ พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความว่า หลังจากนั้นเขาไปที่กำแพงโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาก็เห็นพล.ต.วรพล วรพันธ์ ผู้บังคัญชามณฑลทหารบกที่ 42 พูดคุยกับเอกชัย และได้ยินพล.อ.วรพลพูดว่า คุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว! พ.ต.ท.เกียรติพงษ์เบิกความว่าเขาได้ทำการจับกุมเอกชัยและนำตัวขึ้นรถตู้ไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาเมื่อไปถึงที่สถานีจึงพบว่า นอกจากเอกชัยแล้วก็มีบุคคลอื่นถูกควบคุมตัวรวม 16 คน
 
 
 
14 สิงหาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
 
 
15 สิงหาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
พ.ท.อุทิศ อนันตนานนท์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42
 
 
พ.ท.อุทิศ เบิกความว่าเขารับราชการในตำแหน่งรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 มีหน้าที่รักษาความมั่นคงและป้องกันประเทศในพื้นที่รับผิดชอบสามจังหวัดได้แก่จังหวัดสงขลา พัทลุงและสตูล เขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากคณะรัฐมนตรีนำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลาระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งหน่วยงานของเขามีหน้าที่รักษาความปลอดภัย พ.ท.อุทิศเบิกความเพิ่มเติมด้วยว่า ระหว่างที่มีหนังสือทางราชการแจ้งเรื่องดังกล่าว พล.ต.วรพล วรพันธ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 อยู่ระหว่างลาราชการเพื่อทำการศึกษา พ.ท.อุทิศ จึงเป็นผู้รับเรื่องแทน
 
 
พ.ท.อุทิศ เบิกความว่าโดยปกติหากมีบุคคลสำคัญเช่น เชื้อพระวงศ์หรือผู้นำประเทศเดินทางเข้ามาในพื้นที่รับผิดชอบของมณฑลทหารบกที่ 42 ทางมณฑลก็มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยโดยจะมีการตั้งกองอำนวยการร่วมสามฝ่ายระหว่างทหารตำรวจและฝ่ายปกครอง ในการวางแผนรักษาความปลอดภัยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นสามชั้นคือชั้นใน ชั้นกลางและชั้นนอก พื้นที่ชั้นในจะอยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรจากศูนย์กลางคือบุคคลที่คุ้มครอง ชั้นกลางคือพื้นที่ 50 เมตรแต่ไม่เกิน 400 เมตรจากศูนย์กลาง ส่วนที่เกิน 400 เมตรขึ้นไปถือเป็นพื้นที่ชั้นนอก ตามปกติในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้ผู้นำประเทศ พื้นที่ชั้นในจะเป็นหน้าที่ของผู้ติดตามนายกรัฐมนตรีและกองรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ ส่วนพื้นที่ชั้นกลางจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สห. ตำรวจและอาสารักษาดินแดนส่วนพื้นที่ชั้นนอกเป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ทหารและบางครั้งจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนมาร่วมปฏิบัติหน้าที่ด้วย ในการจัดตั้งกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยครั้งนี้ผู้บัญชาการมณฑลหารบกที่ 42 เป็นผู้อำนวยการมีอำนาจสั่งการ ส่วนตัวเขาเป็นรองผู้อำนวยการ
 
 
พ.ท.อุทิศเบิกความว่าระหว่างการประชุมของคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ทางมณฑลทหารบกที่ 42 ได้จัดกำลังร่วมปฎิบัติหน้าที่ที่กองบิน 56 มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลาและที่โรงแรมบีพี สิมิหลา สำหรับความเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้า พ.ท.อุทิศเบิกความว่าเจ้าหน้าที่มีการติดตามความเคลื่อนไหวยู่ตลอด ซึ่งก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ก็มีรายงานว่าชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวเดินเท้าเข้ามาใกล้จะถึงอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และทราบกลุ่มชาวบ้านต้องการยื่นหนังสือกับพล.อ.ประยุทธ์โดยตรง ต่อมาในช่วงเช้าของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เจ้าหน้าที่ได้นัดรวมพลกันที่สนามกีฬาติณสูลานนท์ พ.ท.อุทิศได้นำกองกำลังทหารที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลความสงบเรียบร้อยไปร่วมด้วย โดยในการปฎิบัติหน้าที่ ผู้ปฏิบัติหลักซึ่งมีกำลังมากที่สุดคือเจ้าหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชน มีพ.ต.อ.ประพัตร์ ศรีอนันต์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาเป็นผู้อำนวยการเหตุการณ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจจะรวมอยู่ในกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยด้วย
 
 
พ.ท.อุทิศเบิกความต่อว่าในเวลาก่อน 12:00 น. ขณะที่เขาอยู่ที่สนามกีฬาฯก็ทราบว่า ราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้ไปพบและเจรจากับกลุ่มชาวบ้านเพื่อให้กลุ่มชาวบ้านส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือต่อตัวแทนนายกรัฐมนตรีเพราะเห็นว่า หากชาวบ้านเข้าไปยื่นหนังสือทั้งหมดอาจว่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้น ต่อมาเวลาประมาณ 12:00 น. เขาได้รับแจ้งว่าการเจรจาของราชิตไม่บรรลุผล ส่วนกลุ่มชาวบ้านก็กำลังทยอยเดินเท้าเข้ามาในตัวเมืองสงขลาโดยจะเดินไปตามถนนสายจะนะ-สงขลาและชาวบ้านส่วนหนึ่งก็เดินใกล้จะถึงด้านข้างของมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาแล้ว ผู้บัญชาการเหตุการณ์ซึ่งไม่ต้องการให้กลุ่มชาวบ้านเดินทางเข้ามายื่นหนังสือกับพล.อ.ประยุทธ์โดยตรงจึงได้จัดกองกำลังร่วมสามฝ่ายไปตั้งแนวป้องกันที่บริเวณด้านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มชาวบ้านผ่านเข้ามาในตัวเมือง โดยพื้นที่ที่นำกำลังของเจ้าหน้าที่ไปตั้งแถวนั้นอยู่ในเขตพื้นที่รักษาความปลอดภัยชั้นนอก ตัวเขาได้เดินทางตามกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารพลเรือนที่ไปประจำการด้านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาไปด้วย  โดยไปถึงสถานที่ดังกล่าวในเวลาประมาณ 13:30 น. เมื่อไปถึงเห็นเจ้าหน้าที่ตั้งแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่งบริเวณถนนฝั่งที่อยู่ติดกับกำแพงมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาเจ้าหน้าที่ยังปิดช่องทางเดินรถหนึ่งช่องฝั่งที่อยู่ติดกับทางเท้าด้วย
 
 
เกี่ยวกับการเคลื่อนขบวนของชาวบ้าน พ.ท.อุทิศเบิกความว่าเมื่อเขาไปถึงข้างมหาวิทยาลัยก็เห็นกลุ่มชาวบ้านเดินมาตามถนนเส้นเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ตั้งแถวรอ โดยอยู่ห่างจากจุดที่เจ้าหน้าที่ตั้งแถวอยู่ประมาณ 200 เมตร จากนั้นชาวบ้านได้ทยอยเดินเข้ามากันได้เรื่อยๆ พ.ท.อุทิศเบิกความด้วยว่าผู้ชุมนุมบางส่วนถือธงสัญลักษณ์คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาซึ่งด้ามทำด้วยไม้มาด้วย  ตัวเขาและพ.ต.อ.ประพัฒน์ได้เข้าไปพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยแกนนำคนที่พูดคุยด้วยคือเอกชัยจำเลยที่หนึ่ง เมื่ออัยการถามว่าพ.ท.อุทิศจำได้หรือไม่ว่าเอกชัยคือบุคคลใด พ.ท.อุทิศหันไปชี้ตัวเอกชัยได้อย่างถูกต้อง
 
 
เกี่ยวกับเนื้อหาการเจรจา พ.ท.อุทิศเบิกความว่าเอกชัยต่อรองว่าขอเดินไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ด้านพ.ต.อ.ประพัฒน์และเจ้าหน้าที่ตอบว่าไม่สามารถให้ผ่านไปได้เพราะเป็นพื้นที่ในการรักษาความปลอดภัย เกรงจะมีเหตุวุ่นวาย เอกชัยเจรจาว่า จะขอเข้าไปรับประทานอาหารเที่ยงที่หน้าโรงพยาบาลจิตเวชสงขลา แต่พ.ต.อ.ประพัตร์ไม่อนุญาต ส่วนจะมีการเจรจาระหว่างตัวแทนของนายกรัฐมนตรีที่จะมารับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่นั้นพ.ท.อุทิศ จำไม่ได้  พ.ท.อุทิศเบิกความต่อว่าหลังปรากฎว่าทั้งสองฝ่ายไม่สามารตกลงกันได้ เจ้าหน้าที่จึงยังตรึงกำลังตั้งแถวไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่านไป
 
 
สำหรับท่าทีของผู้ชุมนุม พ.ท.อุทิศเบิกความว่าระหว่างที่เอกชัยเข้ามาเจรจากับเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่นั่งอยู่ริมทางเท้าและบนพื้นถนน บางส่วนก็นอนลงบนพื้นถนน แต่ยังเปิดช่องทางเดินทางจราจรให้รถที่ผ่านทางใช้ได้หนึ่งช่องทาง ผู้ชุมนุมที่นั่งและนอนจะเป็นผู้หญิงคนชราและเด็ก มีผู้ชุมนุมบางคนตะโกนด่าเจ้าหน้าที่และมีบางคนใช้โทรโข่งพูดในทำนองปลุกขวัญกลุ่มผู้ชุมนุม
 
 
พ.ท.อุทิศเบิกความต่อว่า หลังการเจรจาระหว่างแกนนำผู้ชุมนุมนำโดยเอกชัยและเจ้าหน้าที่จบลงด้วยความล้มเหลวได้ไม่นาน แกนนำผู้ชุมนุมบางคนก็สั่งให้ผู้ชุมนุมลุกขึ้น ผู้ชุมนุมที่นั่งและนอนอยู่ก่อนหน้านั้นก็ลุกขึ้นยืน ผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กและผู้หญิงส่วนหนึ่งเดินเดินมาอยู่หน้าขบวน หลังจากนั้นผู้ชุมนุมก็เริ่มมีการผลักดันกับเจ้าหน้าที่ ระหว่างที่มีการผลักดันกันมีผู้ชุมนุมบางคนใช้ไม้ซึ่งเป็นคันธงตีเจ้าหน้าที่และมีผู้ชุมนุมบางคนใช้ด้ามธงแทงเจ้าหน้าที่ ซึ่งการผลักดันที่เกิดขึ้นก็มีลักษณะเป็นการชุลมุน หลังผู้ชุมนุมผลักดันกับเจ้าหน้าที่ได้ครู่หนึ่งแถวของเจ้าหน้าที่ก็แตกออก ผู้ชุมนุมสามารถฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ไปได้และได้เดินเท้าต่อไปทางโรงพยาบาลจิตเวชสงขลา ในส่วนของเจ้าหน้าที่ พ.ท.อุทิศเบิกความว่าเจ้าหน้าที่บางส่วนเดินตามผู้ชุมนุมไปแต่บางส่วนก็ขึ้นรถเพื่อไปรวมพลกันใหม่ที่หน้าสนามยิงปืน กองทัพเรือสงขลา
 
 
พ.ท.อุทิศเบิกความว่าหลังผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนผ่านแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ได้สำเร็จ ตัวเขาได้เดินตามไปพูดคุยกับผู้ชุมนุมคนหนึ่งซึ่งก็อยู่ในห้องพิจารณาคดีนี้ด้วย เมื่ออัยการถามว่าผู้ชุมนุมคนดังกล่าวคือบุคคลใด พ.ท.อุทิศ หันไปชี้ตัวปาฏิหาริย์ซึ่งนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดี พ.ท.อุทิศเบิกความต่อว่าหลังจากพูดคุยกับบุคคลดังกล่าวเขาก็เดินทางไปที่สนามยิงปืนของกองทัพเรือซึ่งเจ้าหน้าที่สามฝ่ายมารวมพลกันได้แก่ ทหาร ตำรวจและเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน
 
 
พ.ท.อุทิศเบิกความด้วยว่า พล.ต.วรพล วรพันธ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 และ พล.ต.ต.ปรีดา เปี่ยมวารีผู้ บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ได้เดินทางมาพบกับเจ้าหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชน หลังจากนั้นจึงมีการวางแผนปฏิบัติการว่า จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตั้งด่านสกัดที่ถนนชลาทัศน์บริเวณก่อนถึงทางเลี้ยวไปถนนเก้าแสน  พ.ท.อุทิศเบิกความด้วยว่าพล.ต.วรพลจะเป็นคนเดินทางไปพบและเจรจากับผู้ชุมนุมที่หน้าโรงพยาบาลจิตเวชสงขลา สำหรับเหตุที่ให้เจ้าหน้าที่ไปตั้งแนวสกัดที่ถนนชลาทัศน์ พ.ท.อุทิศเบิกความว่าเป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมสามารถผ่านเข้าไปได้เพราะบริเวณดังกล่าวอยู่ไม่ไกลกับที่พักของคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับกำลังพลที่มารวมตัวกันพ.ท.อุทิศเบิกความว่าเจ้าหน้าที่สามฝ่ายที่มารวมตัวกันที่สนามยิงปืนกองทัพเรือมีประมาณ 100 คน ส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสั่งการกันอย่างไรตัวเขาไม่ทราบ หลังวางแผนปฏิบัติการกันเสร็จ พ.ท.อุทิศได้ติดตามพล.ต.วรพลไปที่หน้าโรงพยาบาลจิตเวชศาสตร์ สงขลา ขณะที่ไปถึงผู้ชุมนุมกำลังรับประทานอาหาร บางส่วนเดินกระจัดกระจายไปตามถนนเก้าแสนมุ่งหน้าไปยังทางโค้งเก้าเส้ง พล.ต.วรพลได้พูดคุยกับแกนนำผู้ชุมนุมได้แก่เอกชัยและปาฏิหาริย์ว่า ไม่อยากให้เดินทางไปพบพล.อ.ประยุทธ์โดยตรงแต่ให้มอบหนังสือผ่านตัวแทน  พล.ต.วรพลสอบถามทั้งสองด้วยว่าพาชาวบ้านมาทำไม เอกชัยและปาฏิหาริย์ตอบว่า ชาวบ้านมากันเอง พล.ต.วรพลแจ้งทั้งสองว่าจะมีตัวแทนของพล.อ.ประยุทธ์มารับหนังสือ แต่เอกชัยและปาฏิหาริย์ไม่ตกลงในข้อเสนอดังกล่าวและเดินเท้าต่อไป
 

พ.ท.อุทิศเบิกความต่อว่า หลังการเจรจาไม่เป็นผลเขาและพล.ต.วรพลเดินติดตามผู้ชุมนุมไปตามถนนเก้าแสน ผู้ชุมนุมเดินกันไปแบบกระจัดกระจาย ส่วนเจ้าหน้าที่รวมทั้งตัวเขาและพล.ต.วรพลก็เดินไปพร้อมพร้อมกับผู้ชุมนุม เมื่อเดินไปถึงหัวโค้งเข้าสู่ถนนชลาทัศน์ ก็เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมชุลมุนอยู่กับเจ้าหน้าที่ซึ่งตั้งแถวสกัดอยู่ พ.ท.อุทิศเบิกความต่อว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมผู้ชุมนุมบางส่วนที่เจ้าหน้าที่เห็นว่ามีบทบาทในการนำการชุมนุม หลังจับกุมก็นำตัวขึ้นรถไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา สำหรับผู้ชุมนุมที่ไม่ถูกจับก็กระจัดกระจายอยู่ตามถนนชลาทัศน์
พ.ท.อุทิศเบิกความต่อว่าหลังเหตุการณ์สงบลง พล.ต.วรพลพูดคุยกับชาวบ้านที่เหลือว่าต้องการให้เจ้าหน้าที่จัดรถไปส่งหรือไม่ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ได้พูดอะไร พ.ท.อุทิศจึงไปประจำการอยู่ที่กองอำนวยการร่วมที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา พ.ท.อุทิศเบิกความด้วยว่าเขาทราบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บที่จมูกจากเหตุปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่บริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา
 
 
นอกจากเอกชัยและปาฏิหาริย์แล้ว เขาเห็นหน้าและจำผู้ชุมนุมได้อีกหลายคนโดยชี้ไปที่รุ่งเรือง จำเลยที่สอง, ดิเรก จำเลยที่สี่, ยิ่งยศ จำเลยที่เจ็ด, อามีน จำเลยที่เก้า, สรวิชญ์ จำเลยที่ 12, สมาน จำเลยที่ 13, อัยโยบ จำเลยที่ 14 และ มุสตาร์ซีดีน จำเลยที่ 16 พ.ท.อุทิศยังหันไปชี้ผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่มาร่วมรับฟังการพิจารณาคดีและกล่าวว่าจำได้ว่าผู้หญิงคนดังกล่าวนั้นมีการตะโกนต่อว่าเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้หญิงรายดังกล่าวไม่ใช่จำเลยในคดีนี้
 
 
16 สิงหาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
พล.ต.วรพล วรพันธ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ค่ายเสณาณรงค์
 
 
พล.ต.วรพลเบิกความว่าเขารับราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากวันที่ 27 – 28 พฤศจิกายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.มีกำหนดเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลา พล.ต.วรพลจึงปฏิบัติตามระเบียบของกองทัพเรื่อง การรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ โดยบุคคลสำคัญหมายรวมถึงนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆเป็นต้น ซึ่งตามระเบียบกำหนดให้มีกองอำนวยการรักษาความปลอดภัยร่วมระหว่างสามฝ่ายคือ ทหาร ตำรวจและพลเรือน (เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง)
 
 
พล.ต.วรพลเบิกความว่าตามระเบียบดังกล่าวจะมีการแบ่งพื้นที่การรักษาความปลอดภัยเป็นสามส่วนคือ พื้นที่ชั้นใน มีจุดศูนย์กลางจากบริเวณที่บุคคลสำคัญอยู่หรือมีกำหนดการจะเดินทางไป มีรัศมีจากจุดศูนย์กลางประมาณ 20 – 50 เมตร หน่วยรักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีจะรับผิดชอบดูแลบริเวณนี้ ขณะที่พื้นที่ชั้นกลางมีรัศมีจากจุดศูนย์กลางประมาณ 50 – 400 เมตร มีทหารและตำรวจเป็นผู้ดูแล ส่วนพื้นที่ชั้นนอกมีรัศมีจากจุดศูนย์กลางประมาณ 400 เมตรขึ้นไป เกี่ยวกับการประชุมกองอำนวยการรักษาความปลอดภัยร่วม พล.ต.วรพลเบิกความว่า เขาไม่ได้เข้าร่วมประชุมเนื่องจากติดภารกิจศึกษาที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร จึงมอบหมายให้พ.ท.อุทิศ อนันตนานนท์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42   เข้าร่วมการประชุมแทนโดยการประชุมดังกล่าวเกิดประมาณหนึ่งถึงสองสัปดาห์ก่อนเกิดเหตุ
 
 
พล.ต.วรพลเบิกความต่อว่าเช้าวันเกิดเหตุ 27 พฤศจิกายน 2560 เขาอยู่ที่มณฑลทหารบกที่ 42 เพื่อรอรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีกำหนดเดินทางด้วยเครื่องบินมาถึงกองบิน 56 ในช่วงเย็น อย่างไรก็ตามในช่วงบ่ายเขาได้รับรายงานว่ามีการทำร้ายเจ้าหน้าที่เขาจึงเดินทางไปที่โค้งเก้าเส้งเพื่อพบกับพ.ท.อุทิศ อนันตนานนท์, พล.ต.ต.ปรีดา เปี่ยมวารี และพ.ต.อ.ประพัตร์ ศรีอนันต์ เมื่อไปถึงพ.ต.อ.ประพัตร์รายงานให้เขาทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังได้รับรายงานเขาและพ.ท.อุทิศจึงเดินทางไปบริเวณข้างโรงพยาบาลจิตเวช เมื่อไปถึงพบชายคนหนึ่งกำลังให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวอยู่ พล.ต.วรพลเบิกความต่อว่าเขาได้พูดกับชายคนดังกล่าวว่าผู้ชุมนุมกำลังกระทำการล้ำเส้นของกฎหมาย จะรับผิดชอบไหวหรือไม่ ชายคนดังกล่าวตอบว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้พาผู้ชุมนุมมา อัยการถามว่าพล.ต.วรพลจำชายคนดังกล่าวๆได้หรือไม่ พล.ต.วรพลเบิกความว่าจำได้และหันไปชี้ตัวปาฏิหาริย์ซึ่งนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วย
 
 
พล.ต.วรพลเบิกความต่อว่า หลังพูดคุยกับปาฏิหารย์เขาได้ตามหาตัวเอกชัย เมื่อพบกันเขาแจ้งเอกชัยว่า ให้ยุติการเดินเท้าและส่งตัวแทนไปพบกับเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแต่การพูดคุยไม่ได้ข้อสรุปใดๆ ระหว่างการพูดคุยปรากฎว่ามีผู้ชุมนุมวิ่งแตกตื่น พล.ต.วรพลเบิกความต่อว่าหลังเห็นผู้ชุมนุมวิ่งแตกตื่นเขาก็แยกกับเอกชัยทันที สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พล.ต.วรพลเบิกความว่าเขาเห็นเหตุการณ์ระหว่างที่เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ชุมนุม แต่เป็นการยืนดูจากระยะห่างออกไปประมาณ 70 – 80 เมตร พล.ต.วรพลเบิกความต่อว่าหลังเหตุการณ์จบเขาได้เดินทางไปรับพล.อ.ประยุทธ์ และเคยให้การกับพนักงานสอบสวนไว้แล้ว
 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
พล.ต.วรพล เบิกความตอบทนายจำเลยว่าเขารับราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 หน้าที่ของมณฑลฯคือดูแลพื้นที่จังหวัดสตูล สงขลาและพัทลุง พล.ต.วรพลเบิกความว่าเขาไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปพบผู้สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ก่อนเดินทางมาที่อำเภอเมืองจังหวัดสงขลา เมื่อทนายจำเลยถามว่าพล.ต.วรพลทราบถึงหนังสือของกอ.รมน.เรื่องให้นักข่าวไปทำข่าวฝ่ายสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาหรือไม่ พล.ต.วรพลเบิกความว่าเขาไม่ทราบ
 
ระหว่างที่เขารับราชการเป็นรองผู้บัญชามณฑลทหารบกที่ 42 อดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 เคยทำหนังสือไปถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวถึงพฤติการณ์การสนับสนุนการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของนักวิชาการของมหาวิทยาลัย จนนำไปสู่การประท้วงและยื่นหนังสือที่มทบ. 42 พล.ต.วรพลเบิกความยอมรับว่า ในตอนนั้นเขาเป็นผู้รับหนังสือและพูดคุยกับผู้ชุมนุม แต่ไม่ได้บอกให้ผู้ยื่นหนังสือคัดค้านหรือสนับสนุน เพียงแต่บอกต่อผู้ชุมนุมว่า ให้คิดว่า สิ่งใดดีหรือไม่ดีต่อประเทศชาติ เขาอยากเห็นประเทศชาติพัฒนาแต่ไม่มีหน้าที่ไปสนับสนุนโครงการหรือนโยบายของรัฐบาล รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน
 
พล.ต.วรพลเบิกความยืนยันกับทนายจำเลยว่า ในวันเกิดเหตุตอนที่เขาพูดกับผู้ชุมนุม เขาไม่ได้พูดด้วยอารมณ์โกรธ และจำได้ว่า ไม่ได้พูดว่า "ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง งั้นจับเสื้อเขียวให้หมด"
 
 
17 สิงหาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
อนุสร ตันโชติกุล นายอำเภอเมืองสงขลา
 
 
อนุสรเบิกความว่าเขารับราชการในตำแหน่งนายอำเภอเมืองสงขลาตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 จนถึงปัจจุบัน มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชนในพื้นที่ ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้เขาราบว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะจะเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลาและจะพักค้างคืนที่โรงแรมบีพี สิมิหลา บีช รวมทั้งทราบว่าชาวบ้านจากอำเภอเทพาเดินเท้าออกจากอำเภอเทพา เพื่อมายื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์
 
 
อนุสรเบิกความต่อว่า ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 9.00 น. เขาได้รับมอบหมายจากราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาให้เดินทางไปพบและเจรจากับแกนนำผู้ชุมนุมซึ่งเบื้องต้นเขาไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นใคร ในเวลาต่อมาเขาได้รับแจ้งว่าผู้ชุมนุมเดินเท้าออกจากมัสยิดบ้านบ่ออิฐ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มุ่งหน้าไปยังอำเภอเมืองสงขลาแล้ว ในเวลาต่อมาตัวเขา พ.ต.ท.เกียรติพงศ์ ระดมสุข รองผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาและปลัดอำเภอเมืองสงขลา เดินทางไปยังป้อมยามหน้ากองร้อยอาสารักษาดินแดน จังหวัดสงขลาที่หนึ่ง โดยไปรออยู่ที่บริเวณดังกล่าวประมาณสิบนาที  ผู้ชุมนุมจึงเดินเท้ามาถึง อนุสรเบิกความต่อว่า เขาได้สอบถามว่าจะพูดคุยกับใครได้บ้าง ตัวแทนของผู้ชุมนุมสองคนจึงเดินเข้ามาพูดคุย เมื่ออัยการถามว่า เป็นบุคคลใด อยู่ในห้องพิจารณานี้หรือไม่ อนุสรหันไปชี้เอกชัย จำเลยที่หนึ่ง และปาฏิหาริย์ จำเลยที่สาม
 
 
เกี่ยวกับเนื้อหาการพูดคุย อนุสรเบิกความว่าเขาได้สอบถามเอกชัยและปาฏิหาริย์ถึงวัตถุประสงค์ของการเดิน ทั้งสองตอบว่าเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาต่อพล.อ.ประยุทธ์ อนุสรจึงเสนอว่าให้ยื่นหนังสือกับเขาเลยและเขาจะนำไปดำเนินการเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ให้ แต่เอกชัยและปาฏิหาริย์ไม่รับข้อเสนอดังกล่าว เมื่อการเจรจาไม่เป็นผลเขาจึงรายงานต่อราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและปรึกษาว่า เส้นทางการเดินเท้าของผู้ชุมนุมน่าจะผ่านหน้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขารูปช้าง ให้ราชิตไปรอพบผู้ชุมนุมที่บริเวณดังกล่าว
 
 
อนุสรเบิกความว่าตัวเขาได้เดินทางไปที่โรงพยาบาล เขาได้พบกับราชิตและพ.ต.ท.เกียรติพงษ์ และมีตัวแทนผู้ชุมนุมคือ เอกชัยกับปาฏิหาริย์มาร่วมเจรจา ครั้งนี้ราชิตเป็นผู้เจรจากับทั้งสอง โดยเสนอว่าให้ผู้ชุมนุมยื่นหนังสือกับตัวแทน อาจเป็นรองผู้ว่าหรือผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา แต่ทั้งสองยืนยันที่จะยื่นหนังสือกับพล.อ.ประยุทธ์โดยตรง การเจรจาใช้เวลาประมาณ 30 นาทีแต่ไม่บรรลุผล เขาจึงเดินทางกลับไปทำงานตามปกติ ก่อนจะมาทราบภายหลังในช่วงบ่ายว่ามีการจับกุมผู้ชุมนุม

 
27 สิงหาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
พ.ต.อ.ศุภกิตติ์ ปะจันตะเสน รักษาราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา
 
 
พ.ต.อ.ศุภกิตติ์เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเขาปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา เนื่องจากผู้กำกับฯลาราชการ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนเขาได้รับแจ้งว่า คณะรัฐมนตรีมีกำหนดประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ที่จังหวัดสงขลาในวันที่ 27 และ 28 พฤศจิกายน 2560 ตัวเขาได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร เขาเบิกความต่อว่าหลังทราบกำหนดการดังกล่าวก็มีการประชุมร่วมกับส่วนราชการอื่นๆเช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองคือราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นอกจากนั้นก็มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัย
 
 
พ.ต.อ.ศุภกิตติ์เบิกความว่าก่อนเกิดเหตุ พ.ต.ท.วันกิตติ ทินนิมิตร ผู้ใต้บังคับบัญชาแจ้งเขาว่า ชาวบ้านกลุ่มเทพาเดินทางมาถึงอำเภอเมืองจังหวัดสงขลาแล้ว โดยพักค้างคืนอยู่ที่มัสยิดบ้านบ่ออิฐ ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 หรือวันเกิดเหตุตัวเขาปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ระหว่างนั้นเขาได้รับรายงานว่ามีการเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ที่บริเวณกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดสงขลาที่หนึ่ง โดยมีอนุสร ตันโชติกุล นายอำเภอเป็นผู้ร่วมเจรจาหลัก แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ หลังจากนั้นก็มีการเจรจาใหม่อีกครั้งที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขารูปช้าง
 
 
พ.ต.อ.ศุภกิตติ์เบิกความต่อว่าในเวลาประมาณ 11:00 น. เขาได้รับคำสั่งจากพล.ต.ต.ปรีดา เปี่ยมวารี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาให้ไปยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสงขลา ขอไต่สวนการชุมนุม เขาจึงรวบรวมเอกสารไปที่ศาลในเวลา 11:30 น. ศาลสั่งให้เขาไปเรียกตัวเอกชัยมาร่วมการไต่สวน เขาจึงโทรศัพท์ไปหาพ.ต.ท.เกียรติพงค์ ระดมสุข ให้แจ้งเอกชัย และทราบว่าเอกชัยรับปากว่าจะมา
 
 
พ.ต.อ.ศุภกิตติ์เบิกความต่อว่าในเวลาประมาณ 13:00 น. ศาลเริ่มทำการไต่สวนแต่เอกชัยไม่มาเข้าร่วมการไต่สวน ในการไต่สวนครั้งนั้นศาลอนุญาตให้นำโทรศัพท์มือถือเข้าร่วมการไต่สวนได้ด้วย โดยมีการนำเฟซบุ๊กไลฟ์ในแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊กและหลักฐานอื่นจากแอพพลิเคชั่นไลน์มาใช้ประกอบการไต่สวน พ.ต.อ.ศุภกิตติ์เบิกความต่อว่าในเวลาประมาณ 15:30 น. ศาลมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม เขาจึงรอคำสั่งศาลให้เลิกการชุมนุมจากศาลและนำไปที่สำนักการบังคับคดีในเวลาประมาณ 16.00 น.
 
 
พ.ต.อ.ศุภกิตติ์เบิกความต่อว่าพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 2558 เป็นกฎหมายใหม่เจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ค่อยเข้าใจกฎหมาย เขาจึงอธิบายเนื้อหาของกฎหมายให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีฟังจนกระทั่งเวลาประมาณ 17:00 น. เขาจึงไปที่บริเวณสนามมวย ถนนชลาทัศน์ แต่ไม่พบผู้ชุมนุมจึงเดินทางต่อไปที่หน้าโรงพยาบาลจิตเวชแต่ไม่พบผู้ชุมนุมเช่นกัน เมื่อสอบถามจากผู้ที่เกี่ยวข้องจึงทราบว่า การชุมนุมยุติแล้วและมีการเชิญตัวผู้ชุมนุมไปที่สถานีตำรวจแล้ว
 
 
พ.ต.อ.ศุภกิตติ์เบิกความต่อว่า เมื่อทราบว่าการชุมนุมยุติไปแล้ว เขาจึงขับรถกลับไปส่งเจ้าพนักงานบังคับคดีจากนั้นจึงเดินทางกลับไปที่สถานีตำรวจ เมื่อไปถึงพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องหา 16 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนอยู่ที่สถานี พ.ต.อ.ศุภกิตติ์ ในฐานะรักษาการผู้กำกับการฯจึงส่งมอบผู้ต้องหาทั้งหมดให้แก่พนักงานสอบสวน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตั้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.จราจรฯ,ข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่, พกพากอาวุธเข้ามาในเมือง ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ ต่อมาทางตำรวจมีการแต่งตั้งทีมสอบสวน รวบรวมเอกสารและหลักฐานจากสถานีตำรวจต่างๆคือ เทพา,จะนะ,ควนมีด และคำสั่งจากกองบังคับการตำรวจภูธรภาค 9 ในการสอบสวน หลังจากนั้นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาจึงสั่งการให้มีการแบ่งทีมสอบสวน
 
 
ในชั้นสอบสวนมีข้อมูลปรากฏว่า มุสตาร์ซีดีน จำเลยที่ 16 มีส่วนเกี่ยวข้องจึงแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม นอกจากนี้ก็มีการแจ้งข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับผู้ต้องหาทั้ง 17 คนด้วย หลังจากนั้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 เขาได้นำหมายไปที่ศาลจังหวัดสงขลาเพื่อแจ้งว่าไม่สามารถปิดหมายยกเลิกการชุมนุมได้
 
 
11 กันยายน 2561
นัดสืบพยานจำเลย
ปาฏิหาริย์ จำเลยที่สาม
 
รุ่งเรือง จำเลยที่สอง เบิกความอ้างตัวเองเป็นพยาน
 
 
รุ่งเรืองเบิกความว่า เขามีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยตัวเขามีบทบาทในการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ชายฝั่งสวนกงโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเช่น การทำบ้านปลาเพื่ออนุบาลสัตว์น้ำ และช่วยดูแลปะการังในพื้นที่ดังกล่าวด้วย นอกจากนี้เขายังเคยร่วมมือกับทางราชการด้วยการเข้ารับการอบรมหลักสูตรกับศูนย์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล ดังประกาศนียบัตรที่แนบเป็นหลักฐานต่อศาล
 
 
รุ่งเรืองเบิกความต่อว่าเขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เนื่องจากเขาเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันแม้จะอยู่ต่างพื้นที่กันก็ตามหรือที่เรียกว่า อยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน รุ่งเรืองเบิกความต่อว่าเขา และชาวบ้านอำเภอเทพาน่าจะมีความเกี่ยวพันกันในเชิงบรรพบุรุษ
 
 
เกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา รุ่งเรืองเบิกความว่า เขาเห็นว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นเป็นไปอย่างไม่รอบด้าน ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมกระบวนการจะต้องลงทะเบียนก่อน รุ่งเรืองเบิกความด้วยว่า ถ้าพูดภาษาชาวบ้านต้องเป็นเด็กเส้นจึงจะมีโอกาสแสดงความคิดเห็น การประเมินผลกระทบในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทำแค่พื้นที่รัศมีห้ากิโลเมตรจากโครงการซึ่งไม่ครอบคลุมเพียงพอ เห็นได้จากปรากฏการณ์หมอกควันจากอินโดนีเซียที่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย รุ่งเรืองเบิกความต่อว่าเขาเชื่อว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลกระทบที่กว้างกว่ารัศมีห้ากิโลเมตรที่มีการทำการประเมินไว้
 
 
รุ่งเรืองเบิกความต่อว่า เมื่อเขาทราบว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2560 เขาและพวกจึงเห็นว่า เป็นโอกาสที่ดีในการเสนอข้อเท็จจริงอีกด้านให้ทางรัฐบาลรับทราบ จึงนัดกันเดินเท้าไปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา รุ่งเรืองเบิกความว่าเขาไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้นัดการชุมนุมครั้งนี้ ทราบแต่เพียงว่าเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นผ่านการพูดคุยบนโลกออนไลน์ รุ่งเรืองเบิกความว่าในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เขาร่วมเดินเท้าตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ตำบลบางหลิง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาและร่วมเดินเรื่อยมาไม่ได้เว้นช่วงไปที่อื่น ลักษณะการเดินคือ เดินบนไหล่ทางของถนน ไม่ได้รุกล้ำลงไปในพื้นถนน
 
 
รุ่งเรืองเบิกความต่อว่าเขาไม่ทราบว่าการเดินดังกล่าวเป็นการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯหรือ เพราะปกติเวลาชาวบ้านเลี้ยงวัว ต้อนวัวเดินในลักษณะเดียวกัน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่าชาวบ้านต้องแจ้งการชุมนุม รุ่งเรืองเบิกความด้วยว่า ชาวบ้านเทพาพูดภาษามลายูจึงเป็นอุปสรรคในการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ กลุ่มชาวบ้านจึงมอบหมายให้เอกชัยทำหน้าที่ในการเจรจา
 
 
รุ่งเรืองเบิกความต่อว่าในคืนวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 เขากับพวกนอนพักที่มัสยิดบ้านบ่ออิฐ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เบื้องต้นอิหม่ามประจำมัสยิดอนุญาตให้ชาวบ้านเข้ามาพักได้เลย แต่ภายหลังก็เปลี่ยนใจไม่ให้พัก ชาวบ้านจึงต้องพยายามเจรจาจนสุดท้ายจึงสามารถนอนได้ ในวันรุ่งขึ้น (27 พฤศจิกายน 2560) เขาและพวกจึงเดินเท้าต่อจนเวลาประมาณ 12.00 น. ก็เดินมาถึงแถวบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เมื่อเดินมาถึงบริเวณดังกล่าวก็เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวรออยู่ ขบวนของชาวบ้านเดินเท้าไปจนถึงแถวของตำรวจแล้วก็ไม่สามารถเดินผ่านไปได้ ในนั้นเอกชัยยังมาไม่ถึงเนื่องจากหยุดเจรจากับเจ้าหน้าที่อยู่ แต่จะเป็นการเจรจาที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดสงขลาที่หนึ่งหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขารูปช้างตัวเขาไม่แน่ใจ
 
 
เกี่ยวกับสภาพอากาศและสภาพของขบวนในขณะนั้น รุ่งเรืองเบิกความว่าช่วงเวลานั้นอากาศร้อนมากและชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน ชาวบ้านบางส่วนนอนลงบนพื้นถนนที่มีกรวยกั้นไว้ก่อนแล้ว เหตุที่ไม่ขึ้นไปนั่งบนทางเท้าเนื่องจากบริเวณนั้นมีนักศึกษาจากมหาลัยราชภัฏสงขลามายืนอยู่เพื่อให้กำลังใจจำนวนมาก ระหว่างนั้นก็มีชาวบ้านผู้หญิงคนหนึ่งเป็นลมก่อนที่ในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีชาวบ้านที่เป็นผู้ชายอีกคนหนึ่งเป็นลม คนที่อยู่บริเวณนั้นจึงกรูเข้าไปช่วย การที่มีคนกรูกันเข้าไปให้ความช่วยเหลือดูเหมือนจะมีการปะทะกัน แต่จริงๆไม่ใช่แบบนั้น อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นก็มีความชุลมุนเกิดขึ้นเนื่องจากมีเด็กๆไปยืนตรงหน้าแถวตำรวจและถือป้ายพูดว่า หนูอยากกินข้าวด้วย บางคนก็เข้าไปดูเด็ก บางคนก็เข้าไปดูคนเป็นลมอีก จนสุดท้ายเหมือนหลุดจากแนวกั้นและเดินต่อไปได้ จากนั้นจึงพักรับประทานอาหารกลางวันที่ข้างโรงพยาบาลจิตเวชสงขลา รุ่งเรืองเบิกความว่าในขณะนั้นชาวบ้านหิวกันมากกับข้าวจึงไม่พอ ชาวบ้านต้องหาซื้ออาหารกล่องมาเพิ่ม
 
 
รุ่งเรืองเบิกความว่าหลังจากที่ชาวบ้านกินข้าวเสร็จมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาพูดคุยกับเอกชัย ระหว่างนั้นชาวบ้านบางส่วนก็เริ่มละหมาด บางส่วนไปละหมาดที่มัสยิดเก้าเส้ง บางส่วนก็ละหมาดที่บริเวณนั้นเลย หลังจากนั้นเมื่อชาวบ้านเริ่มเดินต่อก็พบว่าเจ้าหน้าที่มีการปิดถนนไม่ให้ชาวบ้านเดินผ่านไปยังถนนชลาทัศน์ แต่เนื่องจากแนวของเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปิดถนน ทั้งเส้นชาวบ้านจึงเดินฝ่าไปได้อีกครั้ง
 
รุ่งเรืองเบิกความว่าเมื่อเขาเดินไปถึงโค้งเก้าเส้ง เขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวโดยที่ตอนนั้นไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ ระหว่างนั้นมีผู้หญิงคนหนึ่งวิ่งเข้ามากอดเขาไว้พร้อมบอกว่าไม่ให้เจ้าหน้าที่จับกุมตัวเขา เจ้าหน้าที่ก็หิ้วตัวผู้หญิงคนดังกล่าวไปโยนกระแทกกับกำแพง รุ่งเรืองเบิกความยืนยันว่าผู้หญิงคนดังกล่าวบาดเจ็บจากการถูกกระแทกเป็นเวลาสามวัน
 
 
หลังถูกควบคุมตัวจากโค้งเก้าเส้งไปที่สถานีตำรวจภูธรสงขลา เจ้าหน้าที่นำตัวเขาขึ้นหลังกระบะรถโดยจัดท่าให้เขาคว่ำตัวแนบพื้นและเอาแขนไขว่หลัง ตลอดการเดินทางเจ้าหน้าที่ใข้เข่ากดหลังเขาไว้ตลอดเวลา รุ่งเรืองเบิกความด้วยว่าลูกสาววัย 14 ปีของเขาซึ่งมาร่วมเดินเท้าด้วยได้ติดตามขึ้นรถมาด้วยเพราะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ใช้กำลังรุนแรงกับเขา ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ออกรถก็ขับรถด้วยความเร็วสูงเขาจึงต้องขอให้เจ้าหน้าที่ชะลอความเร็วรถเพราะเกรงว่าลูกสาวจะได้รับอันตราย
 
 
รุ่งเรืองเบิกความต่อว่าเมื่อถึงสถานีตำรวจภูธรสงขลา เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเขาไว้ที่ห้องขังโดยเขาถูกขังแยกกับฮานาฟีที่ถูกควบคุมตัวมาด้วยกัน แต่ห้องขังของเขากับฮานาฟีก็อยู่ใกล้ๆกัน หลังจากเข้าห้องขังได้ครู่หนึ่งเขาถูกนำตัวไปที่ห้องแถลงข่าวของสถานีตำรวจซึ่งติดเครื่องปรับอากาศและมีที่นั่งอย่างดีเพื่อแถลงข่าวร่วมกับเอกชัย ดิเรกและปาฏิหาริย์ ซึ่งเมื่อเขาเข้ามาในห้องก็มีผู้สื่อข่าวมารออยู่แล้ว หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวเขาถูกนำตัวไปสอบสวน โดยมีทนายความรับฟังและให้คำปรึกษาตลอดกระบวนการ ในส่วนของคำให้การเขาให้การปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหา เสร็จสิ้นการสอบสวนในเวลาประมาณ 4.00 น.ของวันถัดมา
 
รุ่งเรืองเบิกความด้วยว่าการถูกดำเนินคดีครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของเขาเนื่องจากต้องเดินทางมาศาลไม่สามารถออกเรือหาปลาได้ ขณะที่วันนี้รุ่งเรืองก็ไปออกเรือหาปลาในช่วงกลางคืนและต้องรีบมาที่ศาลทันทีจึงยังไม่ได้พักผ่อน
 
อัยการไม่ถามค้าน
 
 
12 กันยายน 2561
นัดสืบพยานจำเลย
อานัส จำเลยที่ 15
  เบิกความอ้างตัวเองเป็นพยาน
 
 
อานัสเบิกความว่า เขามีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านสามหมอ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ผ่านมาเขาเคยทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่นเวทีคุณค่าของแผ่นดิน กิจกรรมการเดินจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มายังพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นต้น
 
 
เกี่ยวกับประวัติส่วนตัว อานัสเบิกความว่าจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฟาฏอนีและทำรายงานวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อำเภอเทพาอีกด้วย สำหรับเหตุที่เขาทำการศึกษาและทำกิจกรรมเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติเนื่องจากเห็นว่าเป็นพันธกิจในฐานะผู้ศึกษาที่จะต้องเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและให้ข้อมูลว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร
 
 
เกี่ยวกับกิจกรรมเทใจให้เทพา อานัสเบิกความว่าเขาทราบข่าวจากเฟซบุ๊กเพจคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ตัวเขามาเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เนื่องจากก่อนหน้านั้นไม่สะดวกมาร่วมกิจกรรม โดยเขาได้ทำการนัดหมายกับมุสตาร์ซีดีน จำเลยคดีนี้อีกคนหนึ่งซึ่งได้บอกกับเขาว่าให้มาพบกันที่โค้งเก้าเส้ง
 
 
อานัสเบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุเขาเดินทางด้วยรถตู้จากจังหวัดปัตตานีมาที่จังหวัดสงขลา เวลาประมาณ 12.00 น. รถตู้ที่เขานั่งมาขับผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เมื่อรถวิ่งผ่านเขาสังเกตเห็นชาวบ้านและเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตั้งจุดสกัด เขาจึงขอลงจากรถตู้หลังรถขับเลยจากจุดที่ชาวบ้านอยู่ห่างออกไปประมาณ 50 เมตร หลังลงจากรถเขาเห็นชาวบ้านเป็นลม คนที่เป็นลมเป็นคู่สามีภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งเขาไม่ทราบชื่อ หลังจากนั้นชายชื่อหมิด ชาวบ้านอีกคนหนึ่งก็เป็นลมไปอีกคน รวมมีคนเป็นลมสามคน หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ชุลมุน อานัสเบิกความว่าตัวเขาอยู่ด้านหลังสุดของกลุ่มชาวบ้าน ห่างจากตำรวจแถวหน้าสุดประมาณห้าเมตร หลังจากชาวบ้านฝ่าแนวกั้นตำรวจไปได้ ตัวเขายังไม่ได้ตามไปด้วย โดยยังอยู่ที่บริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ระหว่างนั้นเขาเห็นว่ามีรถพยาบาลมารับตัวหมิดไป หลังจากนั้นอานัสก็เก็บข้าวของที่ยังเหลือค้างบริเวณนั้นและไปทานอาหารกลางวันร่วมกับชาวบ้านที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้วที่โรงพยาบาลจิตเวช
 
 
เมื่อมีการจับกุมผู้ชุมนุม เขาถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวขึ้นรถกระบะของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปพร้อมกับรุ่งเรือง เขาเห็นว่ารุ่งเรืองอยู่ในสภาพหน้าคว่ำอยู่กับกระบะ ขณะที่ตัวเขาถูกเจ้าหน้าที่จับนอนหงายและใส่กุญแจมือ อานัสเบิกความด้วยว่าขณะทำการจับกุมเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งข้อมูลใดต่อเขาเลย
 
 
อานัสเบิกความต่อว่า เมื่อไปถึงสถานีตำรวจภูธรสงขลา เขาถูกควบคุมตัวไปที่ชั้นสี่ของอาคาร ในชั้นสอบสวนเจ้าหน้าที่นำเอกสารมาให้เขาลงลายมือชื่อ เขาไม่ทราบว่าเอกสารดังกล่าวคืออะไรและก็ไม่ได้ลงลายมือชื่อ ในวันเกิดเหตุเขาสวมเสื้อยืดแขนสั้นสีครีม ทนายจำเลยให้อานัสดูภาพถ่ายของบุคคลร่างสันทัดและผมยาวระต้นคอและเขียนรายละเอียดประกอบภาพว่าเป็นภาพถ่ายของอานัสสซึ่งอัยการนำส่งต่อศาลให้อานัสดูแล้วถามว่าภาพถ่ายดังกล่าวคือเขาใช่หรือไม่ อานัสตอบว่า ไม่ใช่ พร้อมทั้งเบิกความว่าขณะเกิดเหตุเขาตัดผมสั้นเกรียน บุคคลในภาพเป็นผู้หญิงชื่อว่า ตั๊ก เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
 
อานัสเบิกความว่าหลังถูกดำเนินคดีเขาได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพ เนื่องจากต้องเดินทางมาที่ศาล
 
 
อิสดาเรส จำเลยที่ห้า  เบิกความอ้างตัวเองเป็นพยาน
 
 
อิสดาเรสเบิกความว่า เขาทำงานในตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีตำบลปากบาง จังหวัดสงขลาขณะเกิดเหตุเขาได้รับมอบหมายจากนายกเทศมนตรีให้ดูแลงานด้านสุภาพและสิ่งแวดล้อมในชุมชน เขามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาโดยตลอด
อิสดาเรสเบิกความต่อว่าก่อนหน้าที่จะมีการรับฟังความคิดเห็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ได้จัดให้พนักงานเทศบาลตำบลปากบางไปดูงานที่โรงงานไฟฟ้าในเมืองอิโป (Ipoh) รัฐเปรัคของประเทศมาเลเซีย ผู้ให้ข้อมูลชาวมาเลเซียระบุว่า การมีโรงไฟฟ้าจะทำให้มีปลาเยอะขึ้นเพราะน้ำจะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น อิสดาเรสเบิกความว่าเมื่อเขาได้ฟังก็รู้สึกกังขาจึงกลับมาทำการศึกษาว่า ข้อเท็จจริงตรงข้ามกับที่ได้รับรู้จากการดูงาน จึงแสดงความคิดเห็นคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินมาโดยตลอด
 
 
เกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่หนึ่งของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อิสดาเรสเบิกความว่าเขาไม่ได้เข้าร่วมเนื่องจากเห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นที่เกิดขึ้นยังให้ข้อมูลกับชาวบ้านไม่เพียงพอ การออกความเห็นจึงไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนประกอบ ต่อมาในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่สองเขาไม่ได้เข้าร่วมเพราะไม่ทราบว่าจัดขึ้นที่ใด จนกระทั่งปรากฏการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่สาม ครั้งนั้นมีทหารวางกำลังในพื้นที่และมีการแจกสิ่งของอีกด้วย
 
 
อิสดาเรสเบิกความต่อว่าที่ผ่านมาเขาเผชิญกับการคุกคาม เช่น ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเทพาโทรศัพท์มาหาเขาและกล่าวว่า การเกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นสุ่มเสี่ยง ต่อมาตรา 44 อิสดาเรสยืนยันว่า มาตรา 44 ไม่ได้บังคับใช้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
อิสดาเรสเบิกความต่อว่านอกจากที่เบิกความไปข้างต้นเขาก็เคยถูกคุกคามในลักษณะอื่นอีก เคยมีทหารนอกเครื่องแบบสามนายจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(ฉก.สันติสุข) พูดกับเขาในทำนองว่า การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินมีความเกี่ยวพันกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเขาถามทหารกลุ่มนั้นกลับไปว่าที่พูดมาหมายถึง การคัดค้านโรงไฟฟ้าเป็นการทำลายชาติใช่หรือไม่ ครั้งนั้นอิสดาเรสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหารต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยมีเลขานุการของเขาจดรายละเอียดการพูดคุยไว้ด้วย
 
 
เกี่ยวกับการเดินเทใจให้เทพา อิสดาเรสเบิกความว่าเขาร่วมเดินเท้ากับชาวบ้านตั้งแต่เริ่มเรื่อยมาจนกระทั่งช่วงเย็นของวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 จึงเข้าพักที่มัสยิดบ้านบ่ออิฐ ในช่วงเช้าของวันถัดมา เขากลับไปที่อำเภอเทพาเพื่อพาชาวบ้านมาร่วมเดินเท้าด้วยจำนวน 18 คน ที่โรงพยาบาลจิตเวชอิสดาเรสได้พักทานข้าวกลางวันและไปละหมาดที่มัสยิดเก้าเส้ง ก่อนย้อนกลับมาที่โรงพยาบาลจิตเวชและเดินฝ่าแนวเจ้าหน้าที่ไปที่โค้งเก้าเส้ง จากนั้นมีการจับกุมตัวเขาที่บริเวณดังกล่าว อิสดาเรสเบิกความต่อว่าภรรยาของเขาพยายามถามเจ้าหน้าที่ว่า จับกุมเขาทำไม แต่ไม่ได้รับคำตอบ เจ้าหน้าที่นำตัวเขาขึ้นรถมารวมกับชาวบ้านคนอื่นๆที่ถูกจับกุมที่สถานีตำรวจภูธรสงขลา ในชั้นสอบสวนเขาให้การปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหา
 
 
อิสดาเรสเบิกความต่อว่าหลังเหตุการณ์ ในเดือนธันวาคม 2560 เขาเข้าร่วมการประชุมระดับอำเภอ นายอำเภอเทพาได้แจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีเดินทางมาที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาในวันเกิดเหตุด้วย ในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ชาวบ้านเทพาเดินทางไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและด้านข้างองค์การสหประชาชาติ การชุมนุมครั้งนั้นยุติลง หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงนามในหนังสือชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งเป็นข้อเสนอเดียวกันกับที่ชาวบ้านเทพาจะยื่นให้แก่พล.อ.ประยุทธ์ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 หรือเหตุการณ์ในคดีนี้
 
 
อิสดาเรสเบิกความด้วยว่าการถูกดำเนินคดีครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเพราะต้องลางานมาศาลและรู้สึกหวั่นใจว่า จะถูกถอดถอนหรือเรียกเงินเดือนคืน
 
 
ฮานาฟี จำเลยที่ 17 เบิกความอ้างตัวเองเป็นพยาน
 
 
ศาลเริ่มการสืบพยานช่วงบ่ายต่อในเวลาประมาณ 14.20 น. เนื่องจากพยานปากนี้เป็นพยานเยาวชนจึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาในห้องสืบพยานเด็ก โดยฮานาฟีจะอยู่กับนักจิตวิทยาในห้องสืบพยานเด็ก ทนายจำเลยจะถามในห้องพิจารณาคดีปกติผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปที่ห้องสืบพยานเด็ก จากนั้นให้นักจิตวิทยาฟังและถามฮานาฟีในห้องสืบพยานเด็ก และตอบผ่านกล้องวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มายังห้องสืบพยานปกติ
 
 
ฮานาฟีเบิกความว่าเขาเกิดที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยขณะที่เบิกความต่อศาลเขามีอายุ 17 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ห้า ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เขาเคยเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติหลายที่เช่น บ้านสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยฟาฏอนี จังหวัดยะลา เกี่ยวกับกิจกรรมเดินเทใจให้เทพา ฮานาฟีเบิกความว่า ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เขาไปเรียนหนังสือและกลับมาบ้านในช่วงเย็น จากนั้นจึงทราบข่าวเรื่องการเดินเท้าไปยื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี
 
 
เกี่ยวกับวันเกิดเหตุ ฮานาฟีเบิกความว่าในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เขาร่วมเดินจากบ้านปากบางไปจนถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ขณะที่เกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ เขาอยู่ด้านหน้าสุด ตอนนั้นตัวเขาไม่ได้ถือไม้พลองหรืออุปกรณ์ใดในมือเลย ระหว่างปะทะเจ้าหน้าที่ลากตัวเขาไปที่หลังกระบะและทำร้ายเขา ฮานาฟีเบิกความต่อว่าระหว่างที่เจ้าหน้าที่พยายามควบคุมตัวเขา เขาได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่พูดว่า จะจับเขาขึ้นรถตู้ ฮานาฟีเบิกความต่อว่าระหว่างที่เจ้าหน้าที่พยายามควบคุมตัวเขา เขาได้ตะโกนเรียกให้ชาวบ้านมาช่วยจึงสามารถหลุดออกจากความควบคุมของเจ้าหน้าที่มาได้ หลังจากนั้นเขาร่วมเดินกับขบวนต่อจนถึงที่โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาและพักกินข้าว หลังจากนั้นก็เดินต่อจนกระทั่งมาถูกจับกุมที่โค้งเก้าเส้ง
 
 
ฮานาฟีเบิกความด้วยว่า ระหว่างที่เขากูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว เขาได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่พูดว่า เสื้อเขียวจับให้หมด เมื่อไปถึงสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา เขาถูกนำตัวไปขังรวมกับจำเลยรายอื่นๆ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
 
ตอบอัยการถามค้าน
 
 
อัยการถามว่า ฮานาฟีมีความสัมพันธ์อะไรกับดิเรก จำเลยที่สอง ฮานาฟีตอบว่า เขาเป็นหลานของดิเรก อัยการถามว่า ดิเรกเคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อฮานาฟีหรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า เคย อัยการถามว่า ดิเรกเป็นคนชักชวนฮานาฟีเข้าร่วมการชุมนุมหรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า ไม่ใช่ พร้อมขยายความว่าเขาเข้าร่วมการชุมนุมเนื่องจากคนในหมู่บ้านเข้าร่วมกัน อัยการถามว่า ตอนที่มีการผลักดันที่บริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ฮานาฟีร่วมผลักดันด้วยใช่หรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า เขาไม่ได้ผลักดันแต่เจ้าหน้าที่เป็นคนผลัก อัยการถามว่า ในขณะที่มีการผลักดันกันตัวฮานาฟีเองก็ผลักดันเจ้าหน้าที่กลับไปด้วยใช่หรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า ใช่ อัยการถามว่า ฮานาฟีไม่ได้แจ้งต่อตำรวจว่า ตัวฮานาฟีเป็นผู้เยาว์อายุ 16 ปีใช่หรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า ใช่
 
 
ตอบทนายจำเลยถามติง
 
 
ทนายจำเลยถามว่า เหตุใดฮานาฟีถึงเข้าไปอยู่ในวงผลักดันดังกล่าว ฮานาฟีตอบว่า เพราะมีคนเป็นลม เขาเลยต้องเข้าไปช่วย ทนายจำเลยถามว่า ตอนเจ้าหน้าที่ทำการจับกุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้ถามว่า ฮานาฟีอายุเท่าไหร่ ใช่หรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า ในตอนที่ถูกจับกุมเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวฮานาฟีไปขังรวมกับจำเลยคนอื่นๆทันทีใช่หรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า ใช่
 
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า สถานการณ์ตอนนั้นฮานาฟีหวาดกลัว จนทำให้ไม่กล้าจะบอกเจ้าหน้าที่ว่าตัวเองอายุ 16 ปี ใช่หรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า ในตอนแรกที่มีการบันทึกการจับกุม เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ถามว่า ฮานาฟีอายุเท่าไหร่ ใช่หรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า เจ้าหน้าที่ทราบว่า ฮานาฟีอายุ 16 ปี ตอนที่แยกทำการสอบสวนรายคนใช่หรือไม่ ฮานาฟีตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถามติง
 
 
13 กันยายน 2561
นัดสืบพยานจำเลย
ดิเรก จำเลยที่สี่ เบิกความอ้างตัวเองเป็นพยาน
 
 
ดิเรกเบิกความว่า เขาเกิดที่บ้านปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และระดับชั้นปริญญาโทจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จังหวัดยะลา ตั้งแต่ปี 2550-2559 ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนรักษ์อิสลาม
 
 
ดิเรกเบิกความว่าขณะที่ศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี เขาได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ทำให้ทราบถึงผลกระทบของถ่านหิน ประกอบกับกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของโลกที่ต้องการยกเลิกหรือลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน จึงเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวคัดค้านคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของเขา ต่อมาเขาทราบถึงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในเดือนพฤศจิกายน 2557 หรือหนึ่งเดือนก่อนหน้าที่จะเริ่มมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง ดิเรกเบิกความต่อว่าหลังทราบเรื่องก็มีการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีการเชิญให้นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในขณะนั้นมาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิชุมชน
 
 
ดิเรกเบิกความว่าในความเห็นของเขา กระบวนการรับฟังความคิดเห็นมีความไม่ชอบ การเสนอความคิดเห็นจะต้องมีการลงทะเบียนก่อน ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนได้ส่วนใหญ่มีลักษณะถูกจัดตั้งจากบริษัทที่ปรึกษา ขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สามารถเข้าเสนอความคิดเห็นมีเพียงส่วนน้อย และการเสนอความเห็นยังทำได้เพียงครั้งละ 5 นาที ซึ่งไม่สามารถสื่อความได้อย่างครบถ้วน
 
 
ในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่หนึ่ง (ค.1) เป็นการพูดถึงขอบเขตคร่าวๆของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ระบุว่า จะใช้พื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นร้อยละ 90 มุ่งความสนใจไปที่การแจกของฟรีเช่น ข้าวสาร ในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่สอง (ค.2) เป็นการรับฟังความเห็นผู้ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่ม แต่ปรากฏว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเช่น ชาวนา ชาวประมง นั้นไม่ได้เข้าร่วมด้วย  ต่อมาในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 (ค.3) มีการใช้ตำรวจ ทหารมาวางกำลังที่บริเวณจุดรับฟังความคิดเห็นและมีการพูดทำนองว่า ผู้ที่คัดค้านก่อให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่
 
 
ดิเรกสรุปว่า การรับฟังความคิดเห็นที่เกิดขึ้นจึงไม่ถูกต้องตามหลักการ ทั้งในบางครั้งยังปรากฏว่า ชาวบ้านใช้เวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นเวทีร้องขอโครงการอื่นๆเช่น สนามกอล์ฟ, สนามแข่งนกหรือสนามวัวชน เป็นต้น นอกจากนี้ในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังเป็นข้อมูลชั้นทุติยภูมิ(ชั้นรอง) ผู้ทำรายงานไม่ได้ลงพื้นที่สำรวจเอง และปรากฏข้อมูลเท็จว่า พื้นที่ชายฝั่งเทพามีแหน และมีป่าเต็งรัง ซึ่งเป็นข้อมูลเท็จ ต่างกับระบบนิเวศน์จริงในพื้นที่
 
 
เกี่ยวกับการรวมตัวของชาวบ้านผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการ ดิเรกเบิกความว่าชาวบ้านมีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายชื่อว่า คนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับคนในชุมชน มีการศึกษาเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินบนหลักวิชาการ ระหว่างปี 2557-ช่วงเวลาเกิดเหตุในปี 2560 เครือข่ายมีการรวมตัวยื่นหนังสือเรียกร้องไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง
 
 
ดิเรกเบิกความว่าก่อนหน้านี้ทางเครือข่ายเคยจัดกิจกรรมที่คล้ายคลึงกับการเดินเท้าในคดีนี้คือ ในปี 2558 หลังมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ชาวบ้านทำกิจกรรมการเดินจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีมาถึงบ้านปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ครั้งนั้นไม่มีการ
แจ้งการชุมนุม แต่ก็ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดใด
 
 
ในเดือนพฤศจิกายน 2560 รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ-ของโครงการผ่านแล้ว รัฐบาลกำลังดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของชาวเทพา เมื่อทราบว่า ในวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีมีกำหนดเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสงขลา ดิเรกจึงร่วมพูดคุยกับเครือข่ายฯว่า จะเดินมายื่นหนังสือกับพล.อ.ประยุทธ์
 
เกี่ยวกับการทำกิจกรรม ดิเรกเบิกความว่าเขาและชาวบ้านเทพาเริ่มออกเดินในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 จากบ้านบางหลิง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยการเดินจะเดินอยู่บนไหล่ทางของทางหลวงมาโดยตลอดและมีการตักเตือนกันไม่ให้กระทำการออกนอกกรอบ ในช่วงเย็นวันเดียวกันมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาชี้แจงว่า การเดินเท้าเข้าข่ายการชุมนุมและจะต้องแจ้งการชุมนุม เอกชัยและปาฏิหาริย์จึงทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเรื่องแจ้งการชุมนุมและขอผ่อนผันการแจ้งการชุมนุม หลังจากนั้นในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เขาทราบว่า มีนายอำเภอมาพูดคุยกับเอกชัยที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดสงขลาที่ 1แต่เขาไม่ได้เข้าร่วมด้วยแต่ได้เดินร่วมกับขบวนต่อไปจนถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จึงเห็นว่ามีตำรวจตั้งแถวปิดกั้น มีการวางกรวยที่ถนนช่องทางซ้ายสุด เมื่อไม่สามารถเดินต่อไปได้ ชาวบ้านบางคนจึงล้มตัวลงนอนบนพื้นผิวถนนช่องทางด้านในสุด
ดิเรกเบิกความต่อว่าในเวลาประมาณ 13.00-14.00 น. มีชาวบ้านเป็นลมและเกิดเหตุชุลมุนขึ้น เขาเห็นว่า ชาวบ้านมีการเบี่ยงหลบแนวกั้นไปทางด้านถนนช่องทางที่สองจากซ้ายและเดินต่อไป ซึ่งระหว่างนั้นไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจับกุมบุคคลใด ตัวเขาเองก็เดินไปกับขบวนด้วยก่อนจะไปพักรับประทานอาหารกลางวันที่โรงพยาบาลจิตเวช สงขลา ขณะนั้นก็มีชาวบ้านบางส่วนแยกตัวไปละหมาดที่มัสยิดเก้าเส้ง ระหว่างนั้นเองมีนายทหารคนหนึ่งเดินเข้ามาพร้อมพวกและถามด้วยเสียงดังว่า เอกชัยอยู่ไหน เขาจึงคิดว่าน่าจะมีเรื่องแล้ว
 
 
ดิเรกเบิกความต่อว่าเขาและขบวนเดินต่อไปที่โค้งเก้าเส้ง ซึ่งเป็นเส้นทางที่มุ่งไปสู่ถนนชลาทัศน์และมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา เมื่อไปถึงบริเวณโค้งเห็นเจ้าหน้าที่ตั้งแถวรออยู่ รุ่งเรือง จำเลยที่สองจึงเดินเข้าไปพูดคุยกับตำรวจเพื่อเจรจา แต่ปรากฏว่าตำรวจได้ทำการจับกุมดิเรกรุ่งเรืองเดินไปหาแต่ดิเรกถูกจับ? ดิเรกเบิกความต่อว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ทำท่าจะจับกุมเขาก็วิ่งหนี แต่วิ่งไปได้พักเดียวก็หยุดวิ่ง พอเขาหยุดวิ่งเจ้าหน้าที่ที่ตามมาทันก็จะทำการจับกุมดิเรก เมื่อเจ้าหน้าที่จะทำการจับกุมเขาแสดงท่าทีไม่ยินยอมและถามเจ้าหน้าที่ว่าจับกุมเขาด้วยเหตุใด เจ้าหน้าที่ไม่ตอบดิเรกและยังคงพยายามที่จะจับกุมตัวเขา ตัวเขาจึงนอนลงกับพื้น ดิเรกเบิกความต่อว่าเมื่อญาติของเขาเห็นเขานอนลงกับพื้นก็มาล้มตัวทับเขาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเขาได้สำเร็จ แต่ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ก็ควบคุมตัวเขาได้สำเร็จและนำตัวเขาไปที่สถานีตำรวจภูธรสงขลา
 
 
ที่สถานีตำรวจ เขาและผู้ชุมนุมที่ถูกเจ้าหน้าที่จับตัวมาทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปที่ชั้นสี่ของอาคาร แต่ต่อมาตัวเขา เอกชัย รุ่งเรืองและปาฏิหาริย์ ก็ถูกแยกตัวลงมาที่ชั้นล่างของอาคาร เมื่อลงไปถึงพบนายตำรวจนายหนึ่งที่ทราบในภายหลังว่า เป็นพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
 
 
ดิเรกเบิกความว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์พูดว่า “ไหนใครทำร้ายเจ้าหน้าที่” และได้ยินเอกชัยตอบว่า “ไม่มีใครทำร้ายเจ้าหน้าที่ มีแต่เจ้าหน้าที่ทำร้ายประชาชน” พล.ต.อ.ศรีวราห์ตอบทำนองว่า ให้ชาวบ้านไปฟ้องคดีเข้ามา หลังจากนั้นเขาก็ถูกพาตัวขึ้นไปที่ชั้นสี่ของอาคารอีกครั้ง จากนั้นในเวลา 20.00 น. ตำรวจได้พาเขาไปซักถาม แต่เป็นลักษณะคร่าวๆ จากนั้นในเวลาประมาณ 00.01 น. ขณะที่เขากำลังจะหลับ เจ้าหน้าที่ก็กลับมาอีกครั้งบอกว่าจะมาแจ้งข้อกล่าวหา แต่เจ้าหน้าที่ก็กลับออกไปโดยที่กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหายังไม่แล้วเสร็จ ต่อมาเวลาประมาณ 03.00 น. เจ้าหน้าที่จึงนำผู้ต้องหาไปแยกสอบเป็นรายคน
 
 
ในบรรดาจำเลยทั้ง 17 คน เอกชัย รุ่งเรือง ปาฏิหาริย์ มุสตาร์ซีดีนและอานัส ไม่ใช่ชาวบ้านอำเภอเทพา แต่เคยรู้จักกันมาก่อน ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาล เขาเดินทางมาที่กรุงเทพเพื่อยื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์อีกครั้ง โดยครั้งนั้นเขากับพวกได้ยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุม เนื่องจากหลังยื่นหนังสือเสร็จเขากับพวกจะต้องปักหลักรอคำตอบที่หน้าทำเนียบรัฐบาล หลังแจ้งการชุมนุมเขาและผู้ชุมนุมได้รับหนังสืบตอบกลับจากตำรวจ แจ้งให้แก้ไขการชุมนุมเพราะบริเวณที่ชุมนุมอยู่ในรัศมีไม่ถึง 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นข้อกำหนดห้ามตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ หลังเจ้าหน้าที่แจ้งให้แก้ไขการชุมนุม เขาและพวกจึงย้ายไปปักหลักที่บริเวณด้านข้างองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอกแทน ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่สั่งให้แก้ไขการชุมนุมให้ไปชุมนุมที่ทางเท้าใกล้วัดโสมนัสวรวิหาร และทราบว่าเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้มีคำสั่งยุติการชุมนุม ดิเรกเบิกความด้วยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหนังสือแจ้งให้แก้ไขการชุมนุมและคำร้องขอให้ศาลสั่งยกเลิกการชุมนุมนำมาติดไว้บริเวณที่ชุมนุม นอกจากนี้เขาก็ทราบว่ามีตัวแทนชาวบ้านไปร่วมการไต่สวน ซึ่งศาลสั่งให้ชาวบ้านชุมนุมได้ต่อไป
ดิเรกเบิกความต่อว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงนามในบันทึกข้อตกลงถอนรายงานประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ชาวบ้านจึงยุติการชุมนุมในช่วงเที่ยงของวันดังกล่าวเลย
 
 
เกี่ยวกับฮานาฟี จำเลยที่ 17 ดิเรกเบิกความว่าฮานาฟีเล่าให้เขาฟังว่าถูกเจ้าหน้าที่กระทืบที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา แต่เขาไม่ได้ขอดูบาดแผล เขาได้แต่บอกฮานาฟีว่าให้ไปพบแพทย์ ดิเรกเบิกความด้วยว่าหลังถูกทำร้ายร่างกายฮานาฟีมีลักษณะซึมลง
 
 
ตอบอัยการถามค้าน
 
 
อัยการถามว่า ในวันที่ถูกจับกุมตำรวจไม่ได้สวมเครื่องพันธนาการดิเรกใช่หรือไม่ ดิเรกตอบว่า ใช่ อัยการถามว่า ดิเรกเป็นผู้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาใช่หรือไม่ ดิเรกตอบว่า มีเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีเป็นผู้จัดกิจกรรม เขาเพียงแต่เข้าร่วมกิจกรรม อัยการถามว่า ดิเรกเป็นผู้จัดทำหนังสือที่ใช้ยื่นต่อพล.อ.ประยุทธ์ใช่หรือไม่ ดิเรกตอบว่า ไม่ทราบว่าใครจัดทำ แต่เขาเป็นเพียงผู้เก็บรักษา
 
 
ทนายจำเลยไม่ติง
 
 
 
สมบูรณ์ จำเลยที่หก เบิกความอ้างตัวเองเป็นพยาน
 
 
สมบูรณ์เบิกความว่าเขาเป็นชาวจังหวัดสตูล เคยร่วมกิจกรรมกับชาวบ้านเทพามาก่อนหน้าเกิดเหตุ เช่น การเดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมบูรณ์เบิกความว่าเขาทราบว่า วันที่ 24-28 พฤศจิกายน 2560 ชาวบ้านเทพาจะรวมตัวกันเดินเท้าไปยื่นหนังสือแก่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีจากเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า คนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
 
 
สมบูรณ์เบิกความว่าในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 เขาเดินทางไปที่บ้านบางหลิง อำเภอ เทพา จังหวัด สงขลา เพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมกิจกรรม โดยตำรวจได้มาสอบถามชาวบ้านว่า จะทำกิจกรรมอะไร เดินไปไหน ตำรวจจึงทราบดีว่า ชาวบ้านจะเดินเท้าไปยื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ แต่ครั้งนั้นไม่เจ้าหน้าที่ไม่มีการห้ามปรามหรือบอกว่าจะต้องแจ้งการชุมนุม จากนั้นเย็นวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 มีตำรวจมาแจ้งกับชาวบ้านว่า การเดินเท้าจะต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะเสียก่อน สมบูรณ์และชาวบ้านเทพาจึงหยุดพักและพูดคุยกันว่า การเดินไปยื่นหนังสือถือเป็นการชุมนุมจริงหรือไม่ ตัวเขาเห็นว่าการยื่นหนังสือไม่ถือเป็นการชุมนุม  แต่จากการพูดคุยได้ข้อสรุปว่า เพื่อความสบายใจให้ไปแจ้งการชุมนุมต่อตำรวจ
 
 
สมบูรณ์เบิกความต่อว่า ชาวบ้านเห็นว่าควรจะให้เอกชัยและปาฏิหาริย์เป็นผู้รับผิดชอบในการแจ้งการชุมนุม เพราะทั้งสองคนมีวาทศิลป์ แต่สมบูรณ์ไม่ทราบว่า ทั้งสองจะมีความรู้เรื่องกฎหมายการชุมนุมหรือไม่อย่างไร ทนายจำเลยให้สมบูรณ์ดูภาพที่เป็นภาพของชาวบ้านใส่เสื้อกันฝนเดินริมถนน และมีรายละเอียดว่า เป็นการเดินเท้าในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 แล้วถามว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร สมบูรณ์ตอบว่า ไม่ใช่เหตุการณ์วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เนื่องจากวันดังกล่าวฝนไม่ตก ต่อมาช่วงเย็นของวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 ชาวบ้านหยุดพักที่มัสยิดบ้านบ่ออิฐ แต่ปรากฏว่า เกิดปัญหาขัดข้อง อิหม่ามประจำมัสยิดไม่อยากให้เข้าพัก ชาวบ้านจึงเข้าเจรจาว่า มีสิทธิหรือไม่ในการเข้าพัก ในเวลาต่อมาคณะกรรมการมัสยิดมีการประชุมและอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าพักได้
 
 
สมบูรณ์เบิกความต่อว่าในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 12.00 น.  สมบูรณ์ทราบว่า เอกชัยและปาฏิหาริย์ได้เจรจากับนายอำเภอจังหวัดสงขลา เขาทราบในภายหลังว่า นายอำเภอต้องการให้ยื่นหนังสือไว้กับนายอำเภอแล้วทางนายอำเภอจะไปดำเนินการยื่นหนังสือต่อให้นายก
สมบูรณ์เบิกความต่อว่า เมื่อขบวนของชาวบ้านเดินถึงบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา พบว่า มีเจ้าหน้าที่วางแนวกั้นอยู่ เมื่อเดินต่อไม่ได้ชาวบ้านก็ล้มตัวลงนอนที่พื้นผิวถนนช่องซ้ายสุด ผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามต่อรองให้เจ้าหน้าที่ปล่อยชาวบ้านไปรับประทานอาหารก่อน มีเด็กที่ร่วมเดินเท้า มีเด็กที่ร่วมเดินเท้าบางคนเอากระดาษเขียนป้ายไปยืนพูดที่ด้านหน้าขบวนว่า หนูหิวข้าว หนูอยากกินข้าว
 
 
สมบูรณ์เบิกความต่อว่า ในเวลาประมาณ 13.00 น. มีชาวบ้านเป็นลมคนแรก จากนั้นคนก็กรูกันเข้าไปช่วยคนเป็นลม จากนั้นเหตุการณ์ก็ชุลมุนขึ้น มีเสียงตะโกนมาว่า มีชาวบ้านถูกทำร้าย สมบูรณ์จึงวิ่งเข้าไปดู พบว่า เป็นฮานาฟี จำเลยที่ 17 กำลังถูกเจ้าหน้าที่รุมทำร้าย สมบูรณ์และพวกจึงเข้าไปช่วยลากฮานาฟีออกมา มีการยื้อหยุดจนกระทั่งเสื้อของตัวเขาเองขาด ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนก็เดินเท้าเบี่ยงออกจากแนวของเจ้าหน้าที่ไปทางถนนด้านขวาและมุ่งหน้าไปต่อที่โรงพยาบาลจิตเวช  เมื่อไปถึงโรงพยาบาลจิตเวช เขาได้พักรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับชาวบ้าน หลังรับประทานอาหารชาวบ้านบางคนแยกตัวไปทำละหมาดที่มัสยิดเก้าเส้ง ระหว่างนั้นมีทหารนายหนึ่งซึ่งทราบในภายหลังว่า คือพล.ต.วรพล วรพันธ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 มาถามหาเอกชัย จำเลยที่หนึ่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เริ่มวางแนวกั้น ระหว่างนั้นชาวบ้านเริ่มวิ่งและเดินไปยังโค้งเก้าเส้ง ก่อนจะมีการจับกุมชาวบ้านที่นั่น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ทำการจับกุมเขา อย่างไรก็ตามเมื่อเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมชาวบ้านด้วยวิธีการรุนแรงด้วยการกดคอคว่ำหน้าลงกับพื้น เขาจึงเข้าไปช่วยชาวบ้าน ทำให้ถูกจับกุมไปด้วย
 
 
สมบูรณ์เบิกความต่อว่า เมื่อไปถึงสถานีตำรวจภูธรสงขลา เขาถูกคุมตัวไปที่ชั้นสี่ซึ่งเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ รวมกับจำเลยคนอื่นๆในคดีนี้ ต่อมามีการนำตัวเอกชัย, รุ่งเรือง, ปาฏิหาริย์และดิเรกไปชั้นล่าง เขาทราบว่าเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีกับจำเลยสี่คนข้างต้นเท่านั้น แต่หลังจากที่เจ้าหน้าที่โต้เถียงกับเอกชัยก็เปลี่ยนแนวทางเป็นดำเนินคดีกับจำเลยทั้งหมดในคดีนี้ ในเวลาประมาณ 23.00 น. ตำรวจได้มาอ่านข้อกล่าวหาให้เขาและพวกฟัง แต่อ่านไม่จบเนื่องจากเพิ่งทราบว่า หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชน จากนั้นในเวลา 03.00 น.ของวันถัดมา ตำรวจแยกสอบปากคำเขากับพวก ตัวเขาให้การปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหาและจะให้การเป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง
 
 
เกี่ยวกับสถานที่ควบคุมตัว สมบูรณ์เบิกความว่าเจ้าหน้าทึ่นำเขากับพวกรวม 16 คนขังรวมกันในห้องขังห้องเล็กๆสองห้องซึ่งอยู่ติดกัน ฮานาฟี จำเลยที่ 17 ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี ก็ถูกขังรวมอยู่ในนั้นด้วย สมบูรณ์เบิกความด้วยว่า เขาเชื่อว่าตัวเองไม่ได้ทำความผิดตามฟ้อง เกี่ยวกับผลกระทบของการถูกดำเนินคดีที่มีต่อวิถีชีวิต สมบูรณ์เบิกความว่าเขาต้องเสียเวลาในการมาตามนัดที่ศาล
 
 
อัยการไม่ถามค้าน
 
 
รอกีเยาะ ชาวบ้านเทพาที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน
 
 
รอกีเยาะเบิกความว่า เธอเป็นชาวบ้านเทพาที่จะต้องอพยพออกจากพื้นที่หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เธอประกอบอาชีพประมงและทำนา เธอมาเริ่มทราบว่า จะมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก่อนที่จะมีการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่หนึ่ง ในการรับฟังความคิดเห็นครั้งดังกล่าวเธอได้ไปร่วมด้วยแต่บรรยากาศในการรับฟังความคิดเห็นไม่ค่อยดี เนื่องจากมีการพูดคุยที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้า ชาวบ้านบางคนขอให้สร้างสนามกอล์ฟ ขณะที่ก่อนหน้าวันรับฟังความคิดเห็นก็มีประกาศว่า จะแจกสิ่งของ ซึ่งปรากฏว่า ในวันนั้นมีการแจกสิ่งของจริงคือ ข้าวสาร
 
 
รอกีเยาะเบิกความต่อว่าหลังจากไปร่วมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่หนึ่ง  เธอและชาวบ้านเทพาคนอื่นๆได้รวมตัวกันสร้างเครือข่ายชื่อว่า คนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีนักพัฒนาสังคม อาจารย์ มาให้ความรู้กับชาวบ้าน เธอไม่ทราบว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่สอง จัดขึ้นที่ไหนเมื่อใด ต่อมาในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่สาม ปรากฏว่า มีประกาศจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาไม่ให้ผู้ไม่ให้เห็นด้วยเข้าร่วมเวที เนื่องจากเกรงว่า จะก่อความวุ่นวาย
 
 
เกี่ยวกับการเดินเทใจให้เทพา รอกีเยาะเบิกความว่าเธอเริ่มเดินเท้าตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 จนถึงช่วงเย็นของวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ก่อนที่ในวันที่ 26 พฤศจิกายนเธอต้องเดินทางขึ้นมาที่กรุงเทพเพื่อเข้าร่วมงานเปิดตัวไดอารี่ 20 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง จึงไม่ทราบความเคลื่อนไหวของขบวนอีก รอกีเยาะเบิกความต่อว่า ที่ผ่านมาเธอเคยร่วมเดินเท้าในลักษณะเดียวกันกับเหตุในคดีนี้ เดินจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มาที่บ้านบางหลิง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และมีการร่วมศึกษาพื้นที่เทพา และมีการพิมพ์เรื่องที่ศึกษาออกมาเป็นเอกสารด้วย
 
 
อัยการไม่ถามค้าน
 
 
วันที่ 18 กันยายน 2561
นัดสืบพยานจำเลย
 
 
วันที่ 9 ตุลาคม 2561
นัดสืบพยานจำเลย
 
 
วันที่ 10 ตุลาคม 2561
นัดสืบพยานจำเลย
 
 
27 ธันวาคม 2561
นัดฟังคำพิพากษา
 
 
เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดสงขลานัดฟังคำพิพากษาคดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ร.บ.จราจรฯ และข้อหาพกพาอาวุธและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาของชาวบ้านเทพาทั้ง 17 คน
 
 
เวลา 9.30 น. จำเลยทั้งหมดเดินทางมาถึงศาล พร้อมด้วยชาวบ้านเทพา นักวิชาการและสื่อมวลชนรวมกว่า 50 คนที่มาร่วมฟังคำพิพากษา วันนี้ศาลจังหวัดสงขลาจัดเตรียมห้องสำหรับนัดฟังคำพิพากษา 2 ห้อง คือ ห้อง 309 สำหรับจำเลยทั้ง 17 คนและทนายความและห้อง 209 ซึ่งจัดฉายวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากห้อง 309 ไว้สำหรับชาวบ้านเทพาและบุคคลทั่วไป
 
 
เวลา 10.10 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์เรียกชื่อจำเลยทีละคน จากนั้นสอบถามเนติพงษ์ จำเลยที่ 8 ว่าถูกต้องโทษตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4762/ 2561 จำคุก 6 เดือนใช่หรือไม่ เนติพงษ์รับว่าใช่แต่เป็นโทษจำคุก 11 เดือน อัยการขอให้นับโทษเนติพงษ์ต่อจากโทษในคดีนี้ ในคำขอท้ายฟ้องอัยการระบุอีกว่า เนติพงษ์เคยต้องโทษในคดีอาญาที่ศาลจังหวัดนาทวี ต้องโทษจำคุก 6 เดือนโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้สองปี แต่ระหว่างการรอลงอาญา เนติพงษ์ได้ก่อเหตุในคดีนี้ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นโดยประมาท จึงขอให้กำหนดโทษและปรับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4762 / 2561 และคดีนี้
 
 
จากนั้นศาลอธิบายว่าวันนี้คำพิพากษามีทั้งหมด 49 หน้าโดยจะเป็นส่วนคำฟ้อง คำให้การ เนื้อหาการสืบพยานของโจทก์และจำเลย และส่วนสุดท้ายคือส่วนที่ศาลพิเคราะห์ ศาลขออ่านในส่วนคำฟ้องและส่วนพิเคราะห์เท่านั้น
 
 
ในส่วนพิเคราะห์ระบุว่า วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 เพจเฟซบุ๊ก “หยุดถ่านหินสงขลา” โพสต์ชักชวนให้ชาวบ้านเทพาร่วมเดินเท้าไปยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีที่มีกำหนดการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาในวันที่ 27 – 28 พฤศจิกายน 2560 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ในช่วงเช้าชาวบ้านเทพาได้รวมตัวกันที่บ้านหลังหนึ่งในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ก่อนจะออกเดินทางมุ่งหน้ามาที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เวลา 18.00 ตำรวจได้แจ้งกับผู้ชุมนุมให้แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ต่อมาผู้ชุมนุมได้เข้าพักค้างคืนที่มัสยิดซอลาฮุดดีน ขณะที่เอกชัย จำเลยที่ 1 ได้ยื่นขอการชุมนุมสาธารณะ และขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา แต่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาไม่อนุญาตให้ชุมนุมและสั่งยกเลิกการชุมนุม
 
 
ต่อมาชาวบ้านได้เดินเท้าต่อไปมุ่งหน้าไปที่อำเภอเมืองจังหวัดสงขลาเมื่อเดินเท้ามาถึงบริเวณประตูที่ 2 ของมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาพบกับเจ้าหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชนตั้งแถวรออยู่โดยปิดกั้นการเดินรถที่ช่องทางซ้ายสุดติดกับฟุตปาธและเปิดการเดินรถที่ช่องทางขวาเพียงช่องทางเดียวเท่านั้น จากนั้นผู้ชุมนุมได้ฝ่าแนวกั้นแล้วการไปรับประทานอาหารกลางวัน และถูกจับกุมที่บริเวณหาดสมิหลา โดยจับกุมจำเลยที่ 1-15 และ 17 ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยที่ 16 ในภายหลัง ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีดังนี้
 
 
ประเด็นที่ 1 คือ เอกชัย รุ่งเรือง ปาฏิหาริย์และดิเรก จำเลยที่ 1-4 ว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมและมีความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือไม่ ก่อนที่จะวินิจฉัยว่ามีความผิดได้จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า การเดินเท้านี้ถือเป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ ตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ระบุว่า การชุมนุมสาธารณะหมายถึง การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถ ร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่ การเดินเท้าครั้งนี้มีการเรียกร้องและมีการเคลื่อนย้ายด้วยจึงถือว่าการเดินเท้านี้เป็นการชุมนุมสาธารณะ
 
 
เอกชัย รุ่งเรือง ปาฏิหาริย์และดิเรก จำเลยที่ 1-4 เป็นผู้จัดการชุมนุมหรือไม่ จากการนำสืบเห็นว่า เอกชัยจำเลยที่ 1 และปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 3 เป็นผู้พูดคุยและต่อรองกับเจ้าหน้าที่ตลอดการเดินเท้า รวมทั้งเอกชัยยังเป็นผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะและขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะ
 
 
จึงถือว่า เอกชัยและปาฏิหาริย์เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ส่วนรุ่งเรือง จำเลยที่ 2 และดิเรก จำเลยที่ 4 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เข้าข่ายว่า จำเลยทั้ง 2 คนเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ แต่ถือเป็นผู้ชุมนุมตามคำนิยามของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 
 
พิเคราะห์แล้วเอกชัย จำเลยที่ 1 และ ปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 10 วรรค 1 และมาตรา 12 วรรค 1 ฐานไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมเป็นเวลา 24 ชั่วโมงและขอผ่อนผันตามระยะเวลาที่กำหนดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ลงโทษปรับคนละ 5,000 บาท
 
 
 
ประเด็นที่ 2 คือ จำเลยทั้ง 17 คนพกพาไม้ยาวประมาณ 1 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 2 เซนติเมตรจำนวนหลายด้าม ซึ่งติดธงแผ่นผ้าและมีปลายแหลม ไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ ซึ่งไม้ดังกล่าวจำเลยได้ใช้และเจตนาจะใช้ทำร้ายร่างกายให้เป็นอันตราย ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ จำเลยทั้ง 17 คนพกพาไม้คันธง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการเดินเท้า โดยตำรวจได้รวบรวมไม้คันธงได้ 34 ด้าม พิจารณาแล้วไม่ได้เป็นอาวุธโดยสภาพ หากจะเป็นจะต้องมีเจตนาประทุษร้าย คำฟ้องข้อนี้ให้ยก
 
 
ประเด็นที่ 3 เอกชัย รุ่งเรือง ปาฏิหาริย์และดิเรก จำเลยที่ 1-4 ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแลการชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางอย่างเกินสมควรต่อประชาชนที่ใช้ทางสาธารณะและดูแลรับผิดชอบผู้ร่วมชุมนุมให้ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งไม่ให้ความร่วมมือกับตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และจำเลยทั้ง 17 คนได้ร่วมกันสร้างความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่ใช้ช่องทางการจราจรบนถนนสายสงขลา-นาทวีและพกพาอาวุธตามคำฟ้องข้อสองเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งขัดขวางหรือกระทำการที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 
 
แต่การพิเคราะห์ในข้างต้นเอกชัยจำเลยที่ 1 และปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะเท่านั้นจึงเหลือให้ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้ง 2 คนมีความผิดตามคำฟ้องข้อดังกล่าวหรือไม่ โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การเดินเท้าคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ของจำเลยทั้ง 17 คนเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ถือเป็นการชุมนุมที่ชอบตามรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งที่ผ่านมายังมีการเรียกร้องหลายครั้งแล้ว ซึ่งต่อมาผู้ชุมนุมออกเดินอย่างสงบ ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่ให้ความร่วมมือจึงไม่มีความผิดตามคำฟ้องข้อนี้
 
 
ประเด็นที่ 4 จำเลยทั้ง 17 คนร่วมกันปิดถนนสายสงขลา-นาทวีด้วยการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมล้ำไปในช่องทางการจราจร มีการนั่ง นอนลงบนถนนสายดังกล่าวที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายต่อยานพาหนะโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานการจราจร
ในทางนำสืบ อดิเรก จะโรจน์หวัง พยานโจทก์ให้การว่า ผู้ผู้ชุมนุมเดินเรียงแถวตอนหนึ่งริมถนน ขณะที่ พ.ต.อ. ประพัตร์ ศรีอนันต์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา พ.ท.อุทิศ อนันตนานนท์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ร.ต.อ. ธราพงษ์ เย็นใจ ส.ต.ต. ไกรสร้าง กาลลักษณ์ ด.ต.ศิริชัย นุ่มน่วม และด.ต.เดชา แก้วอัมภรณ์ ทั้ง 6 คน ซึ่งเป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุล้วนให้การในทำนองเดียวกัน เมื่อผู้ชุมนุมเดินเท้าไปถึงบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาเจ้าหน้าที่ก็ได้ตั้งแถวปิดถนนช่องทางซ้ายสุด ติดกับฟุตบาทรออยู่ก่อนแล้ว และเปิดช่องทางขวาให้รถยนต์ผ่านไปได้ เมื่อมีการปิดกั้นทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถผ่านไปได้ จึงมีการนั่งและนอนลงกับพื้น นอกจากนี้ไม่มีพยานโจทก์ปากใดระบุว่า มีอันตรายต่อยานพาหนะ พิเคราะห์แล้วฟ้องข้อนี้ให้ยก
 
 
ประเด็นที่ 5 จำเลยทั้ง 17 คนร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่ได้รับคำสั่งให้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ จากข้อเท็จจริงของพยานโจทก์คือ เบิกความในทำนองว่า มีการผลักดันและใช้ไม้ตีไปที่เจ้าหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชน ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 4 คน แต่พยานทั้งหมดไม่ทราบว่า ผู้ชุมนุมที่ใช้ไม้ด้ามธงตีเป็นผู้ใด ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ในที่เกิดเหตุมีผู้ชุมนุมประมาณ 50 คน การที่ผู้ชุมนุมคนหนึ่งผลักดันและจะถือว่า ผู้ชุมนุมคนอื่นมีเจตนาด้วยจึงไม่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ก่อนเกิดเหตุผลักดัน ผู้ชุมนุมพยายามเจรจาให้เจ้าหน้าที่ปล่อยไปกินข้าวที่สถานที่ที่วางแผนไว้ในตอนแรก แต่ไม่เป็นผล จนล่วงเวลาเที่ยงไปนาน ทำให้เกิดความขุ่นเคืองเป็นเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่
แม้ว่า ก่อนเหตุผลักดันผู้ชุมนุมจะมีการใช้โทรโข่งพูดคุยกับผู้ชุมนุม แต่เป็นเพียงการสร้างขวัญกำลังใจเท่านั้น ไม่ใช่การยุยงให้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ จึงยังมีข้อสงสัยว่า จำเลยทำการขัดขวาง ใช้อาวุธ ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามมาตรา 127 วรรค 2 ของประมวลวิธีพิจารณาความอาญา แต่ให้ริบไม้คันธงทั้ง 34 ด้าม
 
 
พิพากษาให้เอกชัย จำเลยที่ 1 และปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 10 วรรค 1 และมาตรา 12 วรรค 1 ฐานไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมเป็นเวลา 24 ชั่วโมงและขอผ่อนผันตามระยะเวลาที่กำหนดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ลงโทษปรับคนละ 5,000 บาท ข้อหาอื่นให้ยก หลังเสร็จสิ้นกระบวนการเอกชัย จำเลยที่ 1 และปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 3 ได้ชำระค่าปรับต่อศาล โดยทั้ง 2 คนได้เงินคืนคนละ 1,000 บาท จากการถูกจำคุกในชั้นสอบสวน 2 วัน วันละ 500 บาท

 

คำพิพากษา

 
คำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 เพจเฟซบุ๊ก “หยุดถ่านหินสงขลา” โพสต์ชักชวนให้ชาวบ้านเทพาร่วมเดินเท้าไปยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีที่มีกำหนดการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาในวันที่ 27 – 28 พฤศจิกายน 2560 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ในช่วงเช้าชาวบ้านเทพาได้รวมตัวกันที่บ้านหลังหนึ่งในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ก่อนจะออกเดินทางมุ่งหน้ามาที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เวลา 18.00 ตำรวจได้แจ้งกับผู้ชุมนุมให้แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ต่อมาผู้ชุมนุมได้เข้าพักค้างคืนที่มัสยิดซอลาฮุดดีน ขณะที่เอกชัย จำเลยที่ 1 ได้ยื่นขอการชุมนุมสาธารณะ และขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา แต่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาไม่อนุญาตให้ชุมนุมและสั่งยกเลิกการชุมนุม
 
 
ต่อมาชาวบ้านได้เดินเท้าต่อไปมุ่งหน้าไปที่อำเภอเมืองจังหวัดสงขลาเมื่อเดินเท้ามาถึงบริเวณประตูที่ 2 ของมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาพบกับเจ้าหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชนตั้งแถวรออยู่โดยปิดกั้นการเดินรถที่ช่องทางซ้ายสุดติดกับฟุตปาธและเปิดการเดินรถที่ช่องทางขวาเพียงช่องทางเดียวเท่านั้น จากนั้นผู้ชุมนุมได้ฝ่าแนวกั้นแล้วการไปรับประทานอาหารกลางวัน และถูกจับกุมที่บริเวณหาดสมิหลา โดยจับกุมจำเลยที่ 1-15 และ 17 ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยที่ 16 ในภายหลัง ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีดังนี้
 
 
ประเด็นที่ 1 คือ เอกชัย รุ่งเรือง ปาฏิหาริย์และดิเรก จำเลยที่ 1-4 ว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมและมีความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือไม่ ก่อนที่จะวินิจฉัยว่ามีความผิดได้จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า การเดินเท้านี้ถือเป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ ตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ระบุว่า การชุมนุมสาธารณะหมายถึง การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถ ร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่ การเดินเท้าครั้งนี้มีการเรียกร้องและมีการเคลื่อนย้ายด้วยจึงถือว่าการเดินเท้านี้เป็นการชุมนุมสาธารณะ
 
 
เอกชัย รุ่งเรือง ปาฏิหาริย์และดิเรก จำเลยที่ 1-4 เป็นผู้จัดการชุมนุมหรือไม่ จากการนำสืบเห็นว่า เอกชัยจำเลยที่ 1 และปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 3 เป็นผู้พูดคุยและต่อรองกับเจ้าหน้าที่ตลอดการเดินเท้า รวมทั้งเอกชัยยังเป็นผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะและขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะ
 
 
จึงถือว่า เอกชัยและปาฏิหาริย์เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ส่วนรุ่งเรือง จำเลยที่ 2 และดิเรก จำเลยที่ 4 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เข้าข่ายว่า จำเลยทั้ง 2 คนเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ แต่ถือเป็นผู้ชุมนุมตามคำนิยามของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 
 
พิเคราะห์แล้วเอกชัย จำเลยที่ 1 และ ปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 10 วรรค 1 และมาตรา 12 วรรค 1 ฐานไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมเป็นเวลา 24 ชั่วโมงและขอผ่อนผันตามระยะเวลาที่กำหนดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ลงโทษปรับคนละ 5,000 บาท
 
 
 
ประเด็นที่ 2 คือ จำเลยทั้ง 17 คนพกพาไม้ยาวประมาณ 1 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 2 เซนติเมตรจำนวนหลายด้าม ซึ่งติดธงแผ่นผ้าและมีปลายแหลม ไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ ซึ่งไม้ดังกล่าวจำเลยได้ใช้และเจตนาจะใช้ทำร้ายร่างกายให้เป็นอันตราย ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ จำเลยทั้ง 17 คนพกพาไม้คันธง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการเดินเท้า โดยตำรวจได้รวบรวมไม้คันธงได้ 34 ด้าม พิจารณาแล้วไม่ได้เป็นอาวุธโดยสภาพ หากจะเป็นจะต้องมีเจตนาประทุษร้าย คำฟ้องข้อนี้ให้ยก
 
 
ประเด็นที่ 3 เอกชัย รุ่งเรือง ปาฏิหาริย์และดิเรก จำเลยที่ 1-4 ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแลการชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางอย่างเกินสมควรต่อประชาชนที่ใช้ทางสาธารณะและดูแลรับผิดชอบผู้ร่วมชุมนุมให้ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งไม่ให้ความร่วมมือกับตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และจำเลยทั้ง 17 คนได้ร่วมกันสร้างความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่ใช้ช่องทางการจราจรบนถนนสายสงขลา-นาทวีและพกพาอาวุธตามคำฟ้องข้อสองเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งขัดขวางหรือกระทำการที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 
 
แต่การพิเคราะห์ในข้างต้นเอกชัยจำเลยที่ 1 และปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะเท่านั้นจึงเหลือให้ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้ง 2 คนมีความผิดตามคำฟ้องข้อดังกล่าวหรือไม่ โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การเดินเท้าคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ของจำเลยทั้ง 17 คนเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ถือเป็นการชุมนุมที่ชอบตามรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งที่ผ่านมายังมีการเรียกร้องหลายครั้งแล้ว ซึ่งต่อมาผู้ชุมนุมออกเดินอย่างสงบ ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่ให้ความร่วมมือจึงไม่มีความผิดตามคำฟ้องข้อนี้
 
 
ประเด็นที่ 4 จำเลยทั้ง 17 คนร่วมกันปิดถนนสายสงขลา-นาทวีด้วยการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมล้ำไปในช่องทางการจราจร มีการนั่ง นอนลงบนถนนสายดังกล่าวที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายต่อยานพาหนะโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานการจราจร
ในทางนำสืบ อดิเรก จะโรจน์หวัง พยานโจทก์ให้การว่า ผู้ผู้ชุมนุมเดินเรียงแถวตอนหนึ่งริมถนน ขณะที่ พ.ต.อ. ประพัตร์ ศรีอนันต์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา พ.ท.อุทิศ อนันตนานนท์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ร.ต.อ. ธราพงษ์ เย็นใจ ส.ต.ต. ไกรสร้าง กาลลักษณ์ ด.ต.ศิริชัย นุ่มน่วม และด.ต.เดชา แก้วอัมภรณ์ ทั้ง 6 คน ซึ่งเป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุล้วนให้การในทำนองเดียวกัน เมื่อผู้ชุมนุมเดินเท้าไปถึงบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาเจ้าหน้าที่ก็ได้ตั้งแถวปิดถนนช่องทางซ้ายสุด ติดกับฟุตบาทรออยู่ก่อนแล้ว และเปิดช่องทางขวาให้รถยนต์ผ่านไปได้ เมื่อมีการปิดกั้นทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถผ่านไปได้ จึงมีการนั่งและนอนลงกับพื้น นอกจากนี้ไม่มีพยานโจทก์ปากใดระบุว่า มีอันตรายต่อยานพาหนะ พิเคราะห์แล้วฟ้องข้อนี้ให้ยก
 
 
ประเด็นที่ 5 จำเลยทั้ง 17 คนร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่ได้รับคำสั่งให้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ จากข้อเท็จจริงของพยานโจทก์คือ เบิกความในทำนองว่า มีการผลักดันและใช้ไม้ตีไปที่เจ้าหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชน ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 4 คน แต่พยานทั้งหมดไม่ทราบว่า ผู้ชุมนุมที่ใช้ไม้ด้ามธงตีเป็นผู้ใด ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ในที่เกิดเหตุมีผู้ชุมนุมประมาณ 50 คน การที่ผู้ชุมนุมคนหนึ่งผลักดันและจะถือว่า ผู้ชุมนุมคนอื่นมีเจตนาด้วยจึงไม่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ก่อนเกิดเหตุผลักดัน ผู้ชุมนุมพยายามเจรจาให้เจ้าหน้าที่ปล่อยไปกินข้าวที่สถานที่ที่วางแผนไว้ในตอนแรก แต่ไม่เป็นผล จนล่วงเวลาเที่ยงไปนาน ทำให้เกิดความขุ่นเคืองเป็นเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่
แม้ว่า ก่อนเหตุผลักดันผู้ชุมนุมจะมีการใช้โทรโข่งพูดคุยกับผู้ชุมนุม แต่เป็นเพียงการสร้างขวัญกำลังใจเท่านั้น ไม่ใช่การยุยงให้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ จึงยังมีข้อสงสัยว่า จำเลยทำการขัดขวาง ใช้อาวุธ ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามมาตรา 127 วรรค 2 ของประมวลวิธีพิจารณาความอาญา แต่ให้ริบไม้คันธงทั้ง 34 ด้าม
 
 
พิพากษาให้เอกชัย จำเลยที่ 1 และปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 10 วรรค 1 และมาตรา 12 วรรค 1 ฐานไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมเป็นเวลา 24 ชั่วโมงและขอผ่อนผันตามระยะเวลาที่กำหนดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ลงโทษปรับคนละ 5,000 บาท ข้อหาอื่นให้ยก หลังเสร็จสิ้นกระบวนการเอกชัย จำเลยที่ 1 และปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 3 ได้ชำระค่าปรับต่อศาล โดยทั้ง 2 คนได้เงินคืนคนละ 1,000 บาท จากการถูกจำคุกในชั้นสอบสวน 2 วัน วันละ 500 บาท

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา