ออด: ติดป้ายแยกประเทศที่อำเภอเมืองพะเยา

อัปเดตล่าสุด: 16/08/2562

ผู้ต้องหา

ออด

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2560

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

ช่วงต้นปี 2557 มีการขึ้นป้าย "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา" ในบางพื้นที่ของจังหวัดในภาคเหนือเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อกรณีที่ศาลแพ่งสั่งห้ามสลายการชุมนุมของกลุ่มกปปส. รวมทั้งในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา 
 
ในเดือนสิงหาคม 2557 ออด ถนอมศรีและสุขสยาม คนเสื่อแดงจากจังหวัดเชียงรายที่เคยถูกศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษาว่าทำความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีร่วมกันติดป้ายผ้าแยกประเทศล้านนาบนสะพานลอยในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมจากกรณีที่มีการติดป้ายผ้าเขียนข้อความเดียวกันในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันที่จังหวัดพะเยา ทั้งสามให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน 
 
ศาลจังหวัดพะเยาสืบพยานคดีนี้ในเดือนกันยายนและเดือนพฤศจิกายน 2560 โจทก์นำพยานเข้าสืบรวม 16 ปาก ส่วนจำเลยนำพยานเข้าสืบสามปากคือตัวจำเลยทั้งสามเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง  
 
ในวันที่ 18 มกราคม 2561 ศาลจังหวัดพะเยามีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานที่ระบุได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้ก่อเหตุ แต่ให้ริบป้ายผ้าของกลาง 

ในเวลาต่อมาอัยการอุทธรณ์คดี ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนยกฟ้องจำเลยทั้งสามในวันที่ 21 กันยายน 2561
 
 
 
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ออด อายุ 63 ปี มีอาชีพทำสวนลำไย ที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เริ่มสนใจการเมืองมาตั้งแต่ปี 2544  ในสมัยที่พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ออดร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มเสื้อแดง และเป็นแกนนำคนเสื้อแดง อ.แม่สรวยในปี 2553 ในการชุมนุม ออดมักใส่หมวกใบใหญ่จนได้รับฉายาว่า ลุงออด หมวกใหญ่ 
 
ถนอมศรี อายุ 53 ปี ประกอบกิจการส่วนตัว เป็นแกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มแม่สรวยรักประชาธิปไตย ถนอมศรีติดตามเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด เคยเป็นผู้ประสานงานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ด้วย
 
สุขสยาม อายุ 62 ปี ประกอบอาชีพเกษตรกร และเป็นแกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มแม่สรวยรักประชาธิปไตย          

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ในวันที่ 25 มกราคม 2557 มีผู้พบเห็นป้ายผ้าเขียนข้อความ"ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็น"จำเลยทั้งสามร่วมกันติดแผ่นป้ายเขียนข้อความ "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา" ซึ่งข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นการปลุกระดมให้ประชาชนฝ่าฝืนกฎหมายและไม่ได้เป็นการแสดงออกตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
 

พฤติการณ์การจับกุม

ออด ถนอมศรี และสุขสยามเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนและต่ออัยการจึงไม่มีการจับกุม
ความเคลื่อนไหวคดี
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลจังหวัดพะเยา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
28 มกราคม 2557
 
เดลินิวส์ออนไลน์รายงานว่า มีประชาชนพบเห็นป้ายผ้าเขียนข้อความ "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา" แขวนอยู่ที่ สะพานลอยข้ามถนนซุปเปอร์ไฮเวย์หน้าโรงเรียนบุญสิษฐ์วิทยาในเขตเทศบาลเมืองพะเยา 
 
1 มีนาคม 2557
 
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่ามีผู้พบเห็นป้ายเขียนข้อความ "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา" ในพื้นที่จังหวัดพะเยาอีกครั้งโดยครั้งนี้แขวนอยู่สะพานลอยหน้าโรงเรียนบ้านร่องห้าในอำเภอเมืองจังหวัดพะเยา
 
2 มีนาคม 2557 
 
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า พ.ต.ท.เฉลิมชาติ ยาวิชัย รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนสภ.เมืองพะเยาเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสภ.เมืองพะเยาให้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กับผู้ที่นำป้ายผ้าเขียนข้อความแยกประเทศมาติด มีรายงานด้วยว่าในเย็นวันเดียวกันพ.อ.พิเศษ วีรศักดิ์ พูลเกตุ รองผู้บังคับการ จังหวัดทหารบกพะเยาก็เข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในกรณีเดียวกันด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงรวมคดีทั้งสองเป็นคดีเดียวกัน 
 
สิงหาคม 2557
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ออด ถนอมศรี และสุขสยามถูกเรียกตัวไปที่สภ.เมืองพะเยาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีที่มีผู้พบป้ายผ้าเขียนข้อความแยกประเทศคล้ายกับป้ายผ้าที่พบในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นเหตุให้ทั้งสามถูกจับกุมตัว ตั้งข้อกล่าวหาและฝากขังต่อศาลจังหวัดเชียงรายในเดือนมิถุนายน 2557 
 
มีนาคม 2560
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ออด ถนอมศรี และสุขสยามได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนสภ.เมืองพะเยาให้เดินทางไปฟังคำสั่งคดีและได้รับแจ้งว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่ออัยการจังหวัดพะเยา ซึ่งต่อมาอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดพะเยา โดยจำเลยแต่ละคนวางโฉนดที่ดินมูลค่า 200,000 บาทเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวระหว่างสู้คดีในชั้นศาล
 
5 กันยายน 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศาลจังหวัดพะเยานัดสืบพยานโจทก์โดยการสืบพยานสามนัดแรกเป็นการสืบพยานเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ สามารถสืบพยานได้วันละหนึ่งปาก
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง ร.ต.อ.หญิง วริดา พฤกษา นักวิทยาศาสตร์สบ. 1 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ
 
พยานปากที่หนึ่งมีหน้าที่ตรวจเคมีฟิสิกข์ของป้าย จากการตรวจสอบว่าสีที่ใช้พิมพ์ป้ายที่พบในพื้นที่อำเภอแม่ลาวจังหวัดเชียงราย อำเภอเมืองจังหวัดพะเยา อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอท่าพล จังหวัดเพชรบูรณ์และอำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก เป็นสีชนิดเดียวกัน แต่ไม่สามารถระบุว่าป้ายทั้งหมดมาจากแหล่งที่มาเดียวกันหรือไม่เพราะตรวจไม่พบลักษณะพิเศษ
 
6 กันยายน 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์ 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง ร.ต.อ. สราวุทธิ์ รอละ  อดีตเจ้าหน้าพิสูจน์หลักฐานพะเยา
 
พยานโจทก์ปากที่สองเป็นผู้ตรวจสถานที่ เก็บวัตถุพยานและตรวจลายนิ้วมือแต่ไม่พบลายนิ้วมือแฝงบนแผ่นป้ายที่เก็บจากจังหวัดพะเยา พยานปากนี้ยังได้จัดเก็บสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอบนแผ่นป้ายด้วยแต่เมื่อจัดเก็บแล้วก็ส่งต่อพนักงานสอบสวนเลยโดยไม่ได้รอผลการพิสูจน์ 
 
7 กันยายน 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม พ.ต.ท.หญิงจุฑารัตน์ อ้นมี กลุ่มงานตรวจเอกสาร กองพิสูจน์หลักฐานกลาง

พ.ต.ท.หญิงจุฑารัตน์เบิกความว่าแผ่นป้ายไวนิลทั้งหมดถูกพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ชนิดเดียวกันคือเครื่องบินแบบหมึกพ่น ตัวอักษรมีลักษณะคล้ายกันแต่ลักษณะไม่เด่นชัดพอจะระบุได้ว่าแผ่นป้ายทั้งหมดพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์เดียวกันหรือไม่ ขณะที่การตรวจสอบแผ่นป้ายไวนิลที่ตรวจยึดมาทั้งหมดพบว่า แผ่นป้ายบางแผ่นมีรอยตัดที่เข้ากันได้เมื่อนำมาต่อกัน แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าแผ่นป้ายทุกแผ่นที่ตรวจยึดมาผลิตจากไวนิลผืนเดียวกันทั้งหมดหรือไม่ 

พยานโจทก์ปากนี้เป็นปากสุดท้ายที่ศาลจะสืบผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หลังสืบพยานปากนี้เสร็จศาลนัดสืบพยานอีกครั้งวันที่ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560
 
22 พฤศจิกายน 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์

ออด ถนอมศรีและสุขสยามเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดี 2 ศาลจังหวัดพะเยาในเวลาประมาณ 8.30 น. ต่อมาในเวลาประมาณ 9.30 น. ศาลขึ้นบัลลังก์และเริ่มพิจารณาคดีอื่นก่อนจะเริ่มพิจารณาคดีนี้ในเวลาประมาณ 9.45 น.

สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ พ.ต.ท.สรัญรัฐ ชยนนท์ ผู้ตรวจยึดของกลาง

พ.ต.ท.สรัญรัฐ เบิกความว่าขณะเกิดเหตุรับราชการตำรวจอยู่ที่สภ.เมืองพะเยาในตำแหน่งสารวัตรป้องกันและปราบปราม มีอำนาจหน้าที่ติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิด

เกี่ยวกับคดีนี้ในวันที่  1 มีนาคม 2557 เวลาประมาณ 6.30 น. ได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุพะเยา ว่ามีป้ายผ้าเขียนข้อความ "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา" ติดที่บริเวณสะพาน 
เมื่อได้รับแจ้งตัวเขากับพวกจึงเดฺินไปตรวจสอบ พบว่ามีป้ายพื้นสีแดงตัวหนังเสือสีดำเขียนข้อความ "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา" ขนาดกว้าง 98 เซนติเมตร ยาวสิบเมตร 

พ.ต.ท.สรัญรัฐ เบิกความว่ามื่อเห็นป้ายดังกล่าวตนได้บันกภาพไว้และสั่งให้ผู้ใตั้บังคับบัญชาคืิอด.ต.จำนงค์ มั่งมูล ปลดและยึดป้ายดังกล่าว จากจุดที่ถูกแขวนไว้ได้แก่สะพานลอยข้ามถนนพหลโยธินบริเวณโรงเรียนบ้านร่องห้า ฝั่งขาล่องจากจังหวัดเชียงรายมุ่งสู่จังหวัดพะเยา

พ.ต.ท.สรัญรัฐเบิกความต่อว่าหลังทำการตรวจยึดป้ายผ้าดังกล่าวได้แจ้งผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับเหตุดังกล่าวและได้มอบป้ายผ้าที่ถูกยึดไว้ให้กับชุดสืบสวนเพื่อติดตามหาคนกระทำความผิดมาดำเนิน

พ.ต.ท.สรัญรัฐเบิกความรับรองกับอัยการว่าตัวเองเป็นผู้ถ่ายภาพป้ายผ้าบนสะพานลอยที่อยู่ในสำนวนคดีนี้และได้เคยให้การกับพนักงานสอบสวนแล้ว แต่ไม่ทราบเรื่องการจับกุมตัวจำเลยทั้งสามในคดีนี้และไม่เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.ท.สรัญรัฐทราบหรือไม่ว่าบุคคลใดเป็นผู้นำป้ายไวนิลมาติด พ.ต.ท.สรัญรัฐตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามพ.ต.ท.สรัญรัฐว่าทราบหรือไม่ว่าในพื้นที่จังหวัดพะเยามีกลุ่มคนที่มีความคิดทางการเมืองต่างกันเป็นสีเสื้อต่างๆ ศาลบอกกับทนายจำเลยว่าคำถามนี้อาจไม่เกี่ยวกับประเด็น

ทนายจำเลยจึงถาม พ.ต.ท.สรัญรัฐว่าได้ติดตามต่อหรือไม่ว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำความผิด พ.ต.ท.สรัญรัฐตอบว่าไม่ได้ติดตาม ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการไม่ถามติง 

สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า ไกรสร พยานผู้อยู่อาศัยละแวกนั้น

ไกรสรเบิกความว่าตัวเองประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากอยู่อาศัยใกล้ที่เกิดเหตุและเห็นเหตุการณ์บางส่วน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเชิญมาเป็นพยาน

ไกรสรเบิกความว่าช่วงคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม 2557 ตนเองไปสังสรรค์กับเพื่อนที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง และขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านในเวลาประมาณ 2 นาฬิกาของวันที่ 1 มีนาคม โดยขี่รถไปตามถนนพหลโยธินจากตัวเมืองพะเยามุ่งหน้าสู่บ้านร่องห้า โดยถนนพหลโยธินในขณะนั้นมีไฟทางเปิดให้แสงสว่างตลอดแนว

ไกรสรเบิกความต่อว่าเมื่อมาถึงบริเวณสะพานลอยโรงเรียนบ้านร่องห้าซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ เห็นคนประมาณสี่ถึงห้าคนอยู่บนสะพานลอยและมีรถกระบะหนึ่งคันจอดอยู่ที่ตีนสะพาน เท่าที่เห็นมีคนบนสะพานหนึ่งถึงสองคนที่ใส่เสื้อสีแดง และบุคคลเหล่านั้นเอาป้ายผ้ามาคลี่อยู่บนสะพาน ตนเองเข้าใจว่าเป็นคนของเทศบาลมาติดป้ายจึงไม่ให้ความสนใจ โดยในขณะตัวเองขี่รถผ่านและมองเห็นคนบนสะพานกำลังคลี่แผ่นป้ายแต่ยังไม่ได้ติด

ไกรสรเบิกความว่าหลังวันเกิดเหตุประมาณหนึ่งสัปดาห์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสอบถามบริเวณละแวกบ้านว่าเห็นคนมาติดป้ายหรือไม่ จึงได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ดังที่เบิกความต่อศาล

ต่อมาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่พาตนเองไปสอบปากคำที่สภ.เมืองพะเยาโดยให้ดูภาพป้ายผ้าที่มีข้อความเขียนแต่ในวันเกิดเหตุตัวไกรสรไม่ได้สังเกตว่าป้ายดังกล่าวเขียนข้อความอะไร ต่อมาเจ้าหน้าที่เชิญไปให้ปากคำอีกครั้ง

ครั้งนี้มีภาพบุคคลซึ่งเป็นจำเลยทั้งสามและภาพรถกระบะมาให้ดูแต่ตนไม่ได้ยืนยันภาพดังกล่าวเนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นบุคคลหรือรถคันที่เห็นในวันเกิดเหตุหรือไม่ อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามไกรสรว่าสามารถยืนยันได้หรือไม่ว่ามีจำเลยทั้งสามอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยหรือไม่ ไกรสรตอบว่ายืนยันไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้สังเกต ตอนแรกที่มองไปบนสะพานเห็นคนอยู่ก็กลัวว่าจะเป็นลูกของตัวเองที่ไปเที่ยวแล้วมีเรื่องมีราวกับคนอื่นบนสะพาน แต่พอเห็นว่าคนบนสะพานไม่ได้กำลังมีเรื่องแต่มีการคลี่ป้ายจึงไม่ได้สนใจ

ทนายจำเลยถามว่าไกรสรเห็นข้อความของป้ายในวันเกิดเหตุหรือไม่ ไกรสรตอบว่าเห็นแค่คนกำลังจะติดป้ายแต่ไม่รู้เป็นป้ายอะไร ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการไม่ถามติง 

สืบพยานโจทก์ปากที่หก ด.ต.จำนงค์ มั่งมูล ผู้ตรวจยึดหลักฐาน

ด.ต.จำนงค์เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการตำรวจที่สภ.เมืองพะเยา โดยปฏิบัติหน้าที่สายตรวจรถยนต์ร่วมกับพ.ต.ท.สรัญรัฐ ในเวลาประมาณ 6.30 น.ของวันที่ 1 มีนาคม 2557 ได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุงำเมืองว่ามีแผ่นป้ายเขียนข้อความ "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา" ติดที่สะพานลอยโรงเรียนบ้านร่องห้า จึงเดินทางไปทำการตรวจสอบ

ด.ต.จำนงค์เบิกความต่อว่าสะพานลอยดังกล่าวตั้งอยู่บนถนนพหลโยธินซึ่งเป็นถนนสี่เลน ขึ้นสองเลนล่องสองเลนมีไฟส่องสว่างตลอดทาง สะพานลอยที่เกิดเหตุยาวประมาณ 16 เมตร แผ่นป้ายซึ่งเป็นเหตุแห่งคดีนี้ติดอยู่ตรงกลางสะพานลอยฝั่งหากขับรถไปตามถนนพหลโยธินป้ายจะติดอยู่ฝั่งขาล่องจากจังหวัดเชียงรายมุ่งหน้าลงจังหวัดพะเยา 

ด.ต.จำนงค์เบิกความว่าแผ่นป้ายดังกล่าวมีลักษณะเป็นแผ่นป้ายสีแดง ตัวหนังสือสีดำ เป็นอันเดียวกับภาพถ่ายหลักฐานที่อัยการให้ดู พ.ต.ท.สรัญรัฐซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาได้สั่งการให้ตัวเขาทำการปลดแผ่นป้ายดังกล่าว โดยแผ่นป้ายถูกขึงด้วยเชือกสีเขียวด้านหัวท้าย ส่วนตรงกลางใช้ลวดมัดกับตัวสะพาน 

เมื่ออัยการถามว่าหากอ่านข้อความบนป้ายด.ต.จำนงค์รู้สึกอย่างไรและเหตุใดจึงเห็นว่าสมควรเอาแผ่นป้ายดังกล่าวออก ด.ต.จำนงค์เบิกความว่าข้อความบนป้ายดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง เนื่องจากคำถามอัยการข้อนี้มีลักษระเป็นการถามความคิดเห็นศาลจึงไม่ได้บันทึกให้ 

ด.ต.จำนงค์เบิกความว่าเคยให้การกับพนักงานสอบสวนสองครั้งโดยในครั้งที่สองพนักงานสอบสวนนำภาพลวดซึ่งตรวจยึดจากแผ่นป้ายที่ติดในจังหวัดเชียงรายมาให้เปรียบเทียบกับลวดที่เก็บได้จากแผ่นป้ายในพื้นที่จังหวัดพะเยา ด.ต.จำนงค์เบิกความว่าลักษณะลวดและลักษณะการมัดลวดทั้งสองมีความคล้ายคลึงกัน แต่ตัวด.ต.จำนงค์ไม่ทราบว่าแผ่นป้ายที่ลวดซึ่งเก็บมาจากจังหวัดเชียงรายใช้มัดเขียนข้อความว่าอะไร

ด.ต.จำนงค์เบิกความว่าไม่เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสามมาก่อน อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่าด.ต.จำนงค์ เป็นคนจังหวัดใดและรับราชการที่สภ.เมืองพะเยามากี่ปีแล้ว ด.ต.จำนงค์ตอบว่าตัวเองเป็นคนพะเยา รับราชการที่สภ.เมืองพะเยามา 18 ปีแล้ว ทนายจำเลยถามว่าด.ต.จำนงค์ทราบหรือไม่ว่าในจังหวัดพะเยามีกลุ่มคนที่มีความเห็นทางการเมืองต่างกัน ด.ต.จำนงค์ตอบว่าทราบว่ามี

ทนายจำเลยถามต่อว่าช่วงที่มีการติดป้ายดังกล่าวมีเหตุการณ์วุ่นวายใดๆในพื้นที่จังหวัดพะเยาหรือไม่ ด.ต.จำนงค์ตอบว่าไม่มี ทนายจำเลยถามว่าด.ต.จำนงค์ทราบหรือไม่ว่าบุคคลใดเป็นผู้นำป้ายดังกล่าวมาติด ด.ต.จำนงค์ตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการแถลงไม่ถามติง

หลังสืบพยานปากนี้จบอัยการแถลงว่าพยานที่ผู้กล่าวหาซึ่งมีสองปากติดราชการเดินทางมาศาลวันนี้ไม่ได้ ขอเลื่อนไปสืบพยานต่อในวันถัดไป 

23 พฤศจิกายน 2560

นัดสืบพยานโจทก์

สืบพยานโจทก์ปากที่เจ็ด ขวัญชัย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยห้างเซ็นทรัลเชียงราย
 
ขวัญชัยเบิกความว่าขณะเกิดเหตุประกอบอาชีพรับจ้างเป็นเจ้่าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำห้างเซ็นทรัลเชียงราย โดยทำงานที่นั่นตั้งแต่ประมาณปี 2555 จนถึงปี 2559 จึงย้ายเข้าไปทำงานที่กรุงเทพ

เกี่ยวกับเหตุการณ์ติดป้ายแยกประเทศล้านนาที่จังหวัดเชียงรายวัญชัยเบิกความว่าในเวลาประมาณ 17.00 น, ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 เขาได้รับแจ้งจากพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ประจำอยู่หน้าห้างเซ็นทรัลเชียงรายว่า มีป้ายเขียนข้อความ "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา" ติดอยู่ที่สะพานลอยของห้าง

ขวัญชัยเบิกความต่อว่าเมื่อได้รับรับรายงานก็ออกไปดู จึงเห็นป้ายดังกล่่าวแขวนอยู่โดยลักษณะของป้ายเป็นป้ายไวนิลพื้นสีแดงเขียนข้อความด้วยตัวหนังสือสีดำ 

อัยการนำภาพถ่ายบนสะพานลอยซึ่งมีภาพของขวัญชัยปรากฎในภาพขณะที่เจ้าหน้าที่รักษษความปลอดภัยของห้างเซ็นทรัลเชียงรายกำลังปลดป้ายมาให้ขวัญชัยยืนยัน ขวัญชัยยืนยันว่ามีตนเองปรากฎอยู่ในภาพจริง

หลังจากนั้นขวัญชัยย้อนกลับไปเบิกความต่อว่าเมื่อออกไปดูป้ายด้วยตนเองแล้วก็ได้ประสานไปที่ฝ่ายศิลป์ของทางห้างเพื่อสอบถามว่า ป้ายดังกล่าวเป็นของทางห้างหรือไม่ซึ่งทางฝ่ายศิลป์ปฏิเสธว่าไม่ใช่จึงดำเนินการปลดป้าย

อัยการถามว่าสะพานลายที่มีคนนำป้ายมาติดอยู่ในความดูแลของผู้ใด ขวัญชัยเบิกความว่าสะพานลอยดังกล่าวห้างเซ็นทรัลเชียงรายสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยอยู่ในความดูแลของห้าง

ขวัญชัยเบิกความว่าป้ายดังกล่าวถูกยึดไว้กับตัวสะพานลอยด้วยลวดจึงทำการตัดออก จากนั้นจึงนำป้ายไปเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานของฝ่ายรักษาความปลอดภัย

อัยการถามขวัญชัยต่อว่าหลังปลดป้ายมาเก็บรักษษมีหน่วยงานใดติดต่อเข้ามาขอตรวจสอบป้ายผ้าดังกล่าวหรือไม่ ขวัญชัยตอบว่าในวันที่ 2 มีนาคม 2557 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสภ.เมืองเชียงรายเข้ามาขอรับป้ายไปตรวจสอบ หลังจากนั้นในวันที่ 3 มีนาคม ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาขอภาพจากกล้องวงจรปิด รวมทั้งขอให้ตัวเขากับพวกพาเจ้าหน้าที่ไปเก็บลวดที่ใช้ผูกป้ายกับสะพานลอยซึ่งเขากับพวกตัดทิ้งไว้ที่พงหญ้าก่อนหน้านี้มาเพื่อใช้เป็นหลักฐานในคดีด้วย 

ขวัญชัยยืนยันกับอัยการว่าตัวเขาเคยให้การกับพนักงานสอบสวนสภ.เชียงรายไว้แล้วในคดีที่จำเลยทั้งสามในคดีนี้ถูกฟ้องด้วยข้อหาเดียวกันต่อศาลจังหวัดเชียงรายจากการติดป้ายแยกประเทศที่สะพานลอยห้างเซ็นทรัลเชียงราย อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่าตามภาพถ่ายในกล้องวงจรปิดนอกจากจะปรากฎภาพจำเลยทั้งสามคนในคดีนี้ยังมีภาพบุคคลอื่นร่วมกันติดป้ายด้วยใช่หรือไม่ ขวัญชัยรับว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่าในคดีที่จังหวัดเชียงรายขวัญชัยได้เป็นผู้ยืนยันตัวบุคคลว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ ขวัญชัยตอบว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้ยืนยัน

ทนายจำเลยถามว่าเกี่ยวกับคดีที่จังหวัดพะเยาขวัญชัยไม่ทราบเรื่องอะไรเลยใช่หรือไม่ ขวัญชัยรับว่าตัวเองไม่ทราบเรื่อง ทนายจำเลยถามต่อว่าตอนที่มีการติดป้ายที่จังหวัดเชียงรายตอนนั้นมีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นในพื้นที่หรือไม่ ขวัญชัยตอบว่าไม่มี ทนายจำเลยแถลงหมดคำถามค้าน อัยการไม่ถามติง

สืบพยานจำเลยปากที่แปด ร.ต.อ.เสกสรร พรหมชัย ชุดสืบสวนสภ.เชียงราย

ร.ต.อ.เสกสรรเบิกความว่าหลังมีบุคคลนำป้ายเขียนข้อความ “ประเทศนี้ไม่ความความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ไปติดที่สะพานลอยคนข้ามบริเวณห้างเซ็นทรัลเชียงราย ตัวเขาก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กระทำความผิด โดยไปขอภาพจากกล้องวงจรปิดจากห้างเซ็นทรัลเชียงรายมาทำภาพนิ่ง

จากนั้นได้ลงพื้นที่พูดคุยกับกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จนได้เบาะแสว่าเป็นจำเลยสามคนในคดีนี้ อย่างไรก็ตามในการสืบสวนเบื้องต้นก็ไม่มีข้อมูลว่าจำเลยทั้งสามมีบทบาทใดในการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

ร.ต.อ.เสกสรรเบิกความต่อว่าเมื่อนำภาพจำเลยทั้งสามไปสอบถามกับผู้ใหญ่บ้านที่ดูแลพื้นที่ภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสามในอำเภอแม่สรวยก็ได้รับการยืนยันว่าบุคคลตามภาพทั้งสามเป็นจำเลยทั้งสามจริง ศาลขอให้อัยการถามคำถามพยานปากนี้โดยประชับเนื่องจากพยานเป็นเพียงผู้รับผิดชอบคดีที่จังหวัดเชียงรายซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยตรง

อัยการถามว่าร.ต.อ.เสกสรรได้เกี่ยวข้องกับการสืบสวนคดีที่จังหวัดพะเยาคดีนี้หรือไม่ ร.ต.อ.เสกสรรตอบว่าตนเองไม่เกี่ยวข้อง อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่าตามภาพที่อัดมาจากภาพเคลื่อนไหวกล้องวงจรปิด ปรากฎภาพบุคคลร่วมกันติดป้ายมากกว่าจำเลยทั้งสามใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เสกสรรรับว่าใช่ สำหรับคดีที่จังหวัดเชียงรายซึ่งศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว จำเลยทั้งสามรับว่าพวกเขาเพียงแต่ร่วมติดแต่ไม่ได้เป็นผู้จัดทำป้ายไวนิลดังกล่าวใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เสกสรรรับว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่าในช่วงที่มีการติดป้ายที่จังหวัดเชียงรายมีเหตุการณืวุ่นวายเกิดขึ้นหรือไม่ ร.ต.อ.เสกสรรตอบว่าจำไม่ได้ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการไม่ถามติง

สืบพยานโจทก์ปากที่เก้า ร.ต.ต.สำราญ อินเทพ เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.แม่ลาวผู้ยืนยันความคล้ายคลึงของลวดที่ใช้ผูกป้ายผ้า

ร.ต.ต.สำราญเบิกความว่าในช่วงเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีผู้พบป้ายผ้าไวนิลเขียนข้อความ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ติดที่สะพานลอยข้ามถนนพหลโยธินขาล่องจากเชียงรายมุ่งหน้าจังหวัดพะเยา จึงไปทำการตรวจสอบ พบว่าป้ายดังกล่าวเป็นป้ายไวนิลพื้นสีแดง ตัวหนังสือสีดำ จึงได้แจ้งผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นให้มาตรวจสอบป้ายเนื่องจากน่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง

ร.ต.ต.สำราญเบิกความต่อว่าตนเองเป็นผู้ที่ร่วมปลดป้ายดังกล่าวออกจากสะพานลอยด้วย โดยลวดที่ใช้ผูกป้ายกับตัวสะพานมีลักษณะเป็นเส้นลวดอ่อนสีเงิน ร.ต.ต.สำราญเบิกความด้วยว่าบนสะพานลอยที่เกิดเหตุมีกล้องวงจรปิดติดตั้งไว้แต่ตัวกล้องหันไปทางอื่นจึงไม่สามารถบันทึกภาพผู้กระทำผิดไว้ได้

ร.ต.ต.สำราญเบิกความต่อว่าในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่มีการขยายผลการสืบสวน พบว่านอกจากพื้นที่อำเภอแม่ลาวจังหวัดเชียงรายแล้วยังมีการขึ้นป้ายลักษณะคล้ายๆกันในพื้นที่อื่นๆด้วย ได้แก่พื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย พะเยา พิษณุโลก นอกจากนี้ก็พบว่าลวดที่ใช้ทำการผูกป้ายในพื้นที่ต่างๆก็มีความคล้ายคลึงกัน

ร.ต.ต.สำราญระบุว่าพนักงานสอบสวนจากสภ.เมืองพะเยาเคยเดินทางไปพบกับตัวเขาที่สภ.แม่ลาวด้วย โดยนำลวดที่ผูกกับป้ายที่พบในอำเภอเมืองจังหวัดพะเยาไปให้เปรียบเทียบกับลวดที่เก็บได้จากป้ายในพื้นที่อำเภอแม่ลาวซึ่งตัวเขาได้ยืนยันว่าลวดที่เก็บได้จากทั้งสองพื้นที่มีความคล้ายคลึงกัน ร.ต.ต.สำราญเบิกความด้วยว่าตัวเขาไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ติดป้ายที่อำเภอแม่ลาว อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามร.ต.ต.สำราญว่าตามที่เบิกความไปกับอัยการเกี่ยวกับสะพานลอยที่เกิดเหตุผูกป้ายผ้าในอำเภอแม่ลาว กล้องวงจรปิดซึ่งติดอยู่ที่นั่นไม่สามารถบันทึกภาพผู้ก่อเหตุได้เนื่องจากตัวกล้องหันไปอีกทางใช่หรือไม่ ร.ต.ต.สำราญรับว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่าเกี่ยวกับคดีนี้ซึ่งเหตุเกิดในอำเภอเมืองจังหวัดพะเยา ร.ต.ต.สำราญทราบหรือไม่ว่าบุคคลใดเป็นผู้นำป้ายไวนิลตามฟ้องไปติดตั้ง ร.ต.ต.สำราญตอบว่าไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามว่าร.ต.ต.สำราญทราบหรือไม่ว่าในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมีกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่หลายกลุ่ม รวมทั้งอำเภอแม่ลาวก็มีกลุ่มเสื้อแดงในพื้นที่ ร.ต.ต.สำราญรับว่าทราบว่ามี ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการไม่ถามติง

สืบพยานโจทก์ปากที่สิบ พ.ต.อ.พิเชษฐ์ อดีตพนักงานสอบสวนสภ.แม่ลาว

พ.ต.อ.พิเชษฐ์เบิกความว่าปัจจุบันตัวเขารับราชการตำรวจอยู่ที่จังหวัดเชีบงใหม่แล้ว แต่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะในช่วงที่มีการติดป้ายผ้าในพื้นที่ภาคเหนือ ตัวเขารับราชการอยู่ที่สภ.แม่ลาวซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการแขวนป้ายผ้า

พ.ต.อ.พิเชษฐ์เบิกความว่าช่วงเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ได้รับแจ้งว่ามีการติดป้ายผ้าเขียนข้อความ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ซึ่งทางสภ.แม่ลาวรับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีในวันที่ 2 มีนาคม 2557

พ.ต.อ.พิเชษฐ์เบิกความต่อว่าเท่าที่ทราบมีป้ายผ้าเขียนข้อความเดียวกันถูกนำไปแขวนในพื้นที่อื่นๆของภาคเหนือด้วย ได้แก่ พื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย อำเภอเมืองจังหวัดพะเยา อำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก อำเภอท่าพลจังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากป้ายผ้าที่พบในพื้นที่ต่างๆมีลักษณะเดียวกันและน่าจะเชื่อมโยงกันจึงมีการส่งป้ายผ้าไวนิลทั้งหมดไปตรวจสอบที่กรุงเทพ

พ.ต.อ.พิเชษฐ์เบิกความต่อว่าจากการตรวจพิสูจน์จากส่วนกลางพบว่าผ้าไวนิลทั้งหมดเป็นชนิดเดียวกัน สีที่ใช้พ่นมีลักษระเดียวกันจึงเชื่อว่าน่าจะผลิตจากแหล่งเดียวกัน ในเวลาต่อมาจึงมีการประสานขอภาพจากกล้องวงจรปิดไปที่สภ.เมืองเชียงรายซึ่งมีเหตุลักษณะเดียวกันเกิดขึ้น

สำหรับเหตุที่อำเภอแม่ลาวมีพยานยืนยันว่าในช่วงเย็นถึงค่ำของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ มีกลุ่มบุคคลประมาณห้าถึงหกคนมีทั้งชายหญิงมาติดป้ายที่สะพานลอยในพื้นที่อำเภอแม่ลาวซึ่งมีพฤติการณ์คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายจึงเชื่อว่าผู้ก่อเหตุน่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน

ในเวลาต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่สภ.เมืองเชียงรายมีการแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลที่ก่อเหตุในพื้นที่อำเภอเมืองทางสภ.แม่สรวยจึงมีการแจ้งข้อกล่าวหาร่วมไปด้วยโดยในส่วนที่ตัวเขาเกี่ยวข้องกับคดีที่อำเภอแม่สรวยมีการแจ้งข้อกล่าวหากับถนอมศรีเพียงคนเดียวซึ่งถนอมศรีให้การปฏิเสธในคดีที่อำเภอแม่ลาว อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.อ.พิเชษฐ์รับราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงรายตั้งแต่เมื่อใด พ.ต.อ.พิเชษฐ์ตอบว่าตั้งแต่ปี 2540 โยรับราชการที่สภ.แม่ลาวช่วงปี 2550 – 2558 ทนายจำเลยถามว่าเท่าที่ทราบคนเสื้อแดงในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมีอยู่หลายกลุ่มใช่หรือไม่ พ.ต.อ.พิเชษฐ์รับว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่าถนอมศรีให้การปฏิเสธในคดีที่อำเภอแม่ลาวใช่หรือไม่ พ.ต.อ.พิเชษฐ์ตอบว่าใช่ ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหาหรือคำให้การของผู้ต้องหาคนอื่นตัวเขาไม่ทราบ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการไม่ถามติง

สืบพยานโจทก์ปากที่ 11 พ.ต.ท.เฉลิมชาติ ยาวิชัย เจ้าหน้าที่สืบสวน

พ.ต.ท.เฉลิมชาติเบิกความว่าปัจจุบันตัวเขารับราชการอยู่ที่สภ.ภูซาง แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนสภ.พะเยา เกี่ยวกับเหตุการณ์ในคดีนี้ พ.ต.ท.เฉลิมชาติเบิกความว่าในวันที่ 1 มีนาคม 2557 เวลาประมาณ 6.30 น. มีประชาชนมาแจ้งเหตุว่าพบแผ่นป้าย "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา" ติดอยู่ที่สะพานลอยข้ามถนนพหลโยธินตรงบ้านร่องห้า อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา จึงมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบ

เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพบแผ่นป้ายไวนิลพื้นสีแดงเขียนข้อความด้วยตัวหนังสือสีดำว่า "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา" แขวนอยู่ 

อัยการถามพ.ต.ท.เฉลิมชาติว่าช่วงที่พบแผ่นป้ายดังกล่าวเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร พ.ต.ท.เฉลิมชาติตอบว่าช่วงนั้นมีการประท้วงทั้งของกลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มกปปส สำหรับเหตุที่ปลดและยึดป้ายดังกล่าวเป็นเพราะเห็นว่าอาจก่อให้เกิดความแตกแยกได้

อัยการถามว่าพอจะทราบหรือไม่ว่าป้ายที่ตรวจยึดเป็นของขบวนการเคลื่อนไหวกลุ่มใด พ.ต.ท.เฉลิมชาติตอบว่าน่าจะเป็นของกลุ่มคนเสื้อแดงเพราะแผ่นป้ายดังกล่าวมีสีแดง อัยการถามว่าพอจะทราบหรือไม่ว่าเหตุใดจึงมีการติดป้ายดังกล่าว พ.ต.ท.เฉลิมชาติตอบว่าน่าจะเป็นการแสดงความไม่พอใจที่การตัดสินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่วนคดีการชุมนุมของกลุ่มกปปสกลับไม่มีความคืบหน้า

พ.ต.ท.เฉลิมชาติเบิกความต่อว่าหลังทำการตรวจยึดป้ายดังกล่าวแล้วทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ขยายผลการสืบสวน ไม่การไปสอบถามตามร้านผลิตแผ่นป้ายไวนิลในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดพะเยาเพื่อหาแหล่งผลิตแผ่นป้ายของกลางแต่ไม่พบจึงเชื่อว่าแผ่นป้ายดังกล่าวน่าจะผลิตและนำมาจากพื้นที่อื่น 

จากการตรวจสอบยังพบว่ามีการติดป้ายลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่น ได้แก่ พื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดพิษณุโลกด้วย และพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เชียงรายสามารถระบุตัวตนของผู้นำแผ่นป้ายมาติดที่บริเวณสะพานลอยข้ามถนนพหลโยธินหน้าห้างเซ็นทรัลเชียงรายได้ จึงได้ลงพื้นที่อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงรายเพื่อตรวจสอบประวัติบุคคลทั้งสาม

พ.ต.ท.เฉลิมชาติเบิกความถึงผลการตรวจสอบประวัติจำเลยทั้งสามคนในคดีนี้ว่า ผู้ใหญ่บ้านที่ดูแลท้องที่ให้ข้อมูลว่า จำเลยทั้งสามเป็นคนที่มีพฤติกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดงและเคยไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพ อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่ครั้งนั้นตัวเขาไม่พบจำเลยทั้งสามแต่อย่างใด 

อัยการถามพ.ต.ท.เฉลิมชาติว่าภายหลังทางสภ.เมืองพะเยามีการตั้งข้อกล่าวหาใดกับจำเลยทั้งสามและเพราะเหตุใด พ.ต.ท.เฉลิมชาติตอบว่าตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่ตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเพราะเห็นว่าการกระทำของจำเลยอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในพื้นที่

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.เฉลิมชาติทราบหรือไม่ว่าตอนที่เกิดเหตุในจังหวัดพะเยาบุคคลใดเป็นผู้นำแผ่นป้ายมาติด พ.ต.ท.เฉลิมชัยตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่าจากการสอบถามผู้ใหญ่บ้านที่ดูแลภูมิลำเนาของได้ข้อมูลว่าจำเลยทั้งสามเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง เคยลงไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพ ทนายจำเลยถามว่าในบันทึกถ้อยคำที่ตำรวจพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านเพียงแต่บอกว่าทั้งสามเป็นคนเสื้อแดง เคยไปร่วมชุมนุม แต่ไม่ได้บอกว่าทั้งสามเป็นแกนนำรวมทั้งไม่ได้พูดเรื่องป้ายผ้าใช่หรือไม่ พ.ต.ท.เฉลิมชาติรับว่าใช่ 

ทนายจำเลยถามว่าในแต่ละจังหวัดต่างก็มีขบวนคนเสื้อแดงในพื้นที่ของตัวเองและจังหวัดพะเยาก็มีกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.เฉลิมชาติตอบว่าจังหวัดอื่นไม่ทราบแต่ที่พะเยาทราบว่ามีกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่ ทนายจำเลยถามว่าในตอนที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเหตุติดป้ายที่สะพานลอยโรงเรียนบ้านร่องห้ายังไม่มีการระบุชื่อผู้ต้องหา แต่พึ่งจะมาเติมทีหลังใช่หรือไม่ พ.ต.ท.เฉลิมชาติรับว่าใช่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบอัยการถามติง
 
อัยการถามพ.ต.ท.เฉลิมชาติว่าเหตุที่เจ้าหน้าที่เติมชื่อจำเลยทั้งสามในเอกสารร้องทุกข์กล่าวโทษในภายหลังคืออะไร พ.ต.ท.เฉลิมชาติตอบว่าเป็นเพราะในวันที่ 2 กันยายน 2557 ยังไม่ทราบชื่อผู้กระทำความผิด
 
แต่ในภายหลังมีการขยายผลการสืบสวนพบว่าที่จังหวัดเชียงรายมีการแขวนป้ายไวนิลในลักษณะกับที่จังหวัดพะเยาจึงเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกัน เมื่อคดีที่จังหวัดเชียงรายมีการระบุตัวผู้กระทำความผิดได้จึงมีการมาเติมชื่อในส่วนของคดีที่จังหวัดพะเยา


สืบพยานโจทก์ปากที่ 12 พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์ อุ่นแก้ว พนักงานสอบสวนสภ.เมืองพะเยา

พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์เบิกความว่าในขณะที่เบิกความเป็นพยานต่อศาลในคดีนี้ตัวเขารับราชการอยู่ที่สภ.ลำพูน แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้รับราชการเป็นพนักงานสอบสวนที่สภ.เมืองพะเยา 

เกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์เบิกความว่าในวันที่ 2 มีนาคม 2557 เวลาประมาณ 11.30 น. ระหว่างที่ตัวเขาปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนเวร มีพ.ต.ท.เฉลิมชาติกับพวกนำแผ่นป้ายไวนิลเขียนข้อความ "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา" มามอบให้ตนพร้อมร้องทุกข์กล่าวโทษให้มีการดำเนินคดีความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

อัยการขอให้พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์รับรองเอกสารต่างๆ พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์รับรองว่าเขาเป็นผู้จัดทำบัญชีของกลาง แผนที่สังเขปของสถานที่เกิดเหตุ ส่วนบันทึกการตรวจยึดของกลางชุดสืบสวนนำโดยพ.ต.ท.เฉลิมชาติเป็นผู้นำมาส่งมอบ

เกี่ยวกับขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐาน พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์เบิกความว่าได้ทำการส่งป้ายไวนิลที่พนักงานสืบสวนตรวจยึดมาให้ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 5 จังหวัดลำปางเพื่อทำการตรวจสอบ หาดีเอ็นเอของผู้กระทำผิด ผลการตรวจสอบพบว่ามีดีเอ็นเอจำนวนมากอยู่บนป้ายไวนิลแต่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้

ในภายหลังเมื่อมีการตรวจยึดป้ายไวนิลลักษณะเดียวกันที่พบในพื้นที่อื่นได้แก่อำเภอเมืองและอำเภอแม่ลาวจังหวัดเชียงราย อำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอท่าพลจังหวัดเพชรบูรณ์ เจ้าหน้าที่แต่ละท้องที่รวมทั้งสภ.เมืองพะเยาจึงส่งป้ายไวนิลทั้งหมดไปตรวจสอบที่กองพิสูจน์หลักฐานกรุงเทพ

เกี่ยวกับผลการตรวจพิสูจน์ป้ายไวนิลของกลางทั้งหมด พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์เบิกความว่าแผ่นป้ายทั้งหมดผลิตด้วยวัสดุชนิดเดียวกัน เส้นใยยึดแผ่นป้ายเป็นรูปแบบเดียวกัน สีที่ใช้พิมพ์ข้อความเป็นสีชนิดเดียวกัน ส่วนตัวอักษรของป้ายทั้งหมดพิมพ์ผ่านเครื่องพ่นหมึก รอยตัดของแผ่นป้ายไวนิลที่ยึดจากจังหวัดพะเยาตรงกับแผ่นป้ายที่ยึดจากจังหวัดพิษณุโลก ส่วนรอยตัดของแผ่นป้ายที่ยึดจากอำเภอแม่ลาวจังหวัดเชียงรายตรงกับแผ่นป้ายที่ยึดจากอำเภอท่าพล จังหวัดเพชรบูรณ์ 

พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์เบิกความด้วยว่าเส้นลวดที่ใช้ยึดแผ่นป้ายไวนิลกับตัวสะพานลอยที่เก็บได้ในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย กับเส้นลวดที่เก็บได้ในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดพะเยาเป็นเส้นลวดชนิดเดียวกัน

พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์เบิกความตอบอัยการถึงการระบุตัวผู้กระทำความผิดว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบบุคคลใดเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้ แต่ต่อมาชุดสืบสวนได้ขยายผลการสืบสวน พบว่าแผ่นป้ายที่ติดในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอแม่ลาวจังหวัดเชียงรายกับแผ่นป้ายที่พบในอำเภอเมืองจังหวัดพะเยาเป็นแผ่นป้ายชนิดเดียวกัน ระยะเวลาที่นำไปติดตั้งสอดคล้องกันคือ พบที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายในที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงรายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และพบที่อำเภอเมืองจังหวัดพะเยาในวันที่ 1 มีนาคม 2557

สถานที่ติดแผ่นป้ายทั้งสามก็มีความคล้ายคลึงกันคือติดบนสะพานลอย ทั้งพยานผู้เห็นเหตุการณ์ต่างก็ยืนยันในลักษณะคล้ายกันว่า พบกลุ่มชายหญิงประมาณหกคนเป็นผู้นำแผ่นป้ายไปติดในบริเวณที่เกิดเหตุทั้งในท้องที่อำเภอเมืองจังหวัดพะเยาและท้องที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย

และในทั้งสองท้องที่พยานผู้เห็นเหตุการณ์ยังให้การด้วยว่าขณะที่เกิดเหตุจะมีรถกระบะจอดอยู่บริเวณทางขึ้นสะพานลอยด้านหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตามพยานผู้เห็นเหตุการณ์ในทั้งสองท้องที่ต่างก็ไม่สามารถระบุใบหน้าหรือยืนยันตัวบุคคลผู้ก่อเหตุได้ รวมทั้งไม่สามารถระบุยี่ห้อ รุ่น หรือป้ายทะเบียนของรถกระบะที่จอดอยู่ได้

พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์เบิกความต่อว่าเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เชียงรายสามารถระบุตัวผู้กระทำความผิดได้แล้ว และมีหลักฐานตามสมควรว่าเหตุการณ์ที่เกิดในท้องที่อำเภอเมืองและอำเภอแม่ลาวจังหวัดเชียงรายและเหตุการณ์ในท้องที่จังหวัดพะเยา น่าจะเชื่อมโยงกัน เชื่อว่าจำเลยทั้งสามน่าจะร่วมกับพวกมาก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดพะเยา จึงได้ออกหมายเรียกให้จำเลยทั้งสามมารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธและไม่ประสงค์จะมีทนายเข้าร่วมฟังการสอบสวน พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์เบิกความว่าเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง จึงได้มีการรายงานไปยังฝ่ายทหารและสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย อัยการแถลงหมดคำถาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่าเบื้องต้นทางตำรวจสภเมืองพะเยาไม่สามารถระบุตัวผู้กล่าวหาได้ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์รับว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่าพยานที่ทระบุว่ามีผู้ก่อเหตุหกคนก็ระบุตัวตนของคนเหล่านั้นไม่ได้

ในส่วนของหลักฐานก็ตรวจไม่พบลายนิ้วเมือและยืนยันดีเอ็นเอที่อยู่บนแผ่นป้ายไม่ได้ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์รับว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่าเจ้าหน้าที่สามารถระบุได้หรือไม่ว่าแหล่งผลิตแผ่นป้ายทั้งหมดอยู่ที่ใด พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์ตอบว่าไม่สามารถระบุได้ 

ทนายจำเลยถามว่าพยานโจทก์ปากไกรสรซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยใกล้สะพานลอยบ้านร่องห้าที่เกิดเหตุเคยให้การว่าเห็นรถกระบะมีแคปสีเทาไม่ทราบยี่ห้อ ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์ตอบว่าจำรายละเอียดคำให้การไม่ได้แต่เป็นไปตามเอกสาร

ทนายจำเลยถามว่าในพื้นที่จังหวัดพะเยามีคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวหรือไม่ พ.ต.อ.ชญาณ์นนท์ตอบว่าจากการสืบสวนในขณะนั้นไม่พบว่ามีความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในพื้นที่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการไม่ถามติง
 
24 พฤศจิกายน 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 13 พ.ต.อ.บวร ไชยคำ พนักงานสอบสวนสภ.พะเยา 
 
พ.ต.อ.บวรเบิกความต่อศาลว่าระหว่างเกิดเหตุตัวเขารับราชการตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวนสภ.พะเยาและเป็นพนักงานสอบสวนร่วมในคดีนี้ 
 
เกี่ยวกับเหตุแห่งคดีนี้ พ.ต.อ.บวรเบิกความว่าในวันที่ 1 มีนาคม 2557 มีการตรวจพบมีป้ายเขียนข้อความ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ติดอยู่ที่สะพานลอยโรงเรียนบ้านร่องห้า อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

ป้ายที่ตรวจพบมีลักษณะเดียวกับป้ายที่ตรวจพบในพื้นที่อื่นๆในหลายจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ตรวจพบหนึ่งแผ่น, อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงรายตรวจพบหนึ่งแผ่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ตรวจพบสองแผ่น ที่อำเภอท่าพล จังหวัดเพชรบูรณ์หนึ่งแผ่น  และที่อำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลกสองแผ่น
 
พ.ต.อ.บวรเบิกความต่อว่า ในเวลาต่อมามีการจัดส่งป้ายทั้งแปดแผ่นจากท้องที่ที่ตรวจพบไปทำการตรวจสอบที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง เพื่อตรวจชนิดของวัสดุ ลักษณะตัวอักษร หมึกสีพิมพ์ และร่องรอบการตัดแผ่นป้าย

ผลการตรวจตามรายงานพบว่า ป้ายทุกแผ่นพ่นจากหมึกพ่น Ink jet ขนาดตัวอักษรเหมือนกันหมด สีชนิดเดียวกัน แผ่นป้ายที่พบว่ารอยตัดแบ่งเข้ากันได้และน่าจะมาจากวัสดุผืนเดียวกันคือ

ผืนที่พบในอำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายกับอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ผืนที่พบในจังหวัดพะเยากับจังหวัดพิษณุโลก และผืนที่พบในอำเภอท่าพลกับอำเภอแม่ลาว ส่วนผืนที่เหลือรอยตัดไม่ตรงกัน 
 
พ.ต.อ.บวรเบิกต่อว่าจากการตรวจสอบโดยรวมเชื่อว่าแผ่นป้ายทั้งหมดน่าจะผลิตมาจากแหล่งเดียวกัน แล้วการมีแบ่งให้แกนนำแต่ละพื้นที่ไปติด โโยพนักงานสอบสวนเชื่อว่าแผ่นป้ายทั้งหมดน่าจะเป็นของกลุ่มคนเสื้อแดงเพราะป้ายผ้าทั้งหมดมีพื้นสีแดง

นอกจากนี้จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดที่บันทึกภาพการติดป้ายในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายก็พบว่ามีกลุ่มคนประมาณหกคนที่บางคนสวมเสื้อสีแดงเป็นผู้นำป้ายไปติด
 
ในส่วนของพื้นที่ที่มีการติดป้าย พบว่าแผ่นไปที่เก็บได้ในคดีนี้และแผ่นป้ายที่เก็บได้ในพื้นทืี่อำเภอแม่สรวย และอำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายถูกติดบนถนนสายเดียวกันและในเวลาไล่เลี่ยกัน คือที่สะพานลอยหน้าห้างบิ๊กซีเชียงรายพบในวันที่  26 กุมภาพันธ์ 2557 ในเวลาประมาณ 16.00 – 17.00 น.

แผ่นป้ายที่พบที่สะพานลอยบ้านป่าก่อดำ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงรายพบในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 18.00 น. และผืนที่พบที่สะพานลอยบ้านร่องห้าอันเป็นเหตุแห่งคดีนี้พบในวันที่ 1 มีนาคม เวลาประมาณ 1.00 น. 
 
พ.ต.อ.บวรเบิกความต่อว่า พนักงานสอบสวนสภ.พะเยาเชื่อว่าผู้ที่ก่อเหตุขึ้นป้ายผ้าในพื้นที่จังหวัดพะเยาเป็นกลุ่มเดียวกับผู้ก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดเชียงราย   

พ.ต.อ.บวร ได้จัดทำสำนวนเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)ว่าควรสั่งฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เนื่องจากการขึ้นป้ายดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ประชาชนมีขัดแย้งและมีการประท้วง ข้อความที่ปรากฎบนป้ายผ้าจะทำให้ความแตกแยกขยายตัว 
 
พ.ต.อ.บวร เบิกความต่อไปว่าครั้งแรกที่เสนอสำนวน สตช.ให้ทำการขยายผลการสอบสวนว่าจำเลยทั้งสามเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนหรือไม่ เมื่อเสนอสำนวนกลับไปเป็นครั้งที่สอง สตช.ก็มีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมในส่วนของประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองของจำเลยทั้งสามและข้อมูลการใช้โทรศัพท์ ว่ามีการติดต่อบุคคลใดบ้างในช่วงเกิดเหตุ

จากการตรวจสอบไม่พบข้อมูลใดๆเนื่องจากเวลาผ่านมานานแล้วและไม่พบหลักฐานที่ยืนยันถึงความเชื่อมโยงระหว่างจำเลยทั้งสามกับกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดพะเยาเนื่องจากจำเลยทั้งสามไม่ใช่แกนนำ หลังมีการขยายผลการสอบสวนและนำสำนวนเสนอสตช.พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ก็มีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งสามต่ออัยการ
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่าจากการตรวจสอบแผ่นป้ายทั้งหมดพบว่าผลิตด้วยเครื่องพิมพ์ใช่หรือไม่  พ.ต.อ.บวรรับว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่าในพื้นที่จังหวัดพะเยาก็มีความเคลื่อนไหวของทั้งกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงใช่หรือไม่  พ.ต.อ.บวร ตอบว่ามี ทนายจำเลยถามว่าในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับช่วงที่เกิดเหตุคดีนี้มีการชุมนุมในพื้นที่จังหวัดพะเยาหรือไม่  พ.ต.อ.บวรตอบว่าไม่มี

ทนายจำเลยถามว่า ในแต่ละจังหวัดก็จะมีกลุ่มการเมืองที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ของตัวเองใช่หรือไม่  พ.ต.อ.บวรตอบว่าใช่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถามค้าน อัยการไม่ถามติง
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 14 พ.ต.อ.ไชยฤทธิ์ ศรีวารีรัตน์ อดีตพนักงานสอบสวนสภ.แม่ปิง
  
พ.ต.อ.ไชยฤทธิ์เบิกความว่าปัจจุบันเขารับราชการตำรวจอยู่ที่ กองบังคับการตำรวจภาค5 แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้เขาเป็นพนักงานสอบสวนสภ.แม่ปิง โดยรับราชการในตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่ปี 2556-58 

พ.ต.อ.ไชยฤทธิ์เบิกความว่าตัวเขาเข้ามาเกี่ยวกับคดีนี้เพราะเคยมาให้การที่สภ.พะเยา เนื่องจากเคยมีการพบแผ่นป้ายไวนิลลักษณะเดียวกับของกลางในคดีนี้จำนวนสองผืนในพื้นที่ที่ตัวเขารับผิดชอบในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ที่สะพานลอยแยกดอนจั่น ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557    
 
พ.ต.อ.ไชยฤทธิ์เบิกความต่อว่าในส่วนของป้ายที่พบในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อตรวจยึดได้ก็มีการส่งไปให้พิสูจน์หลักฐานทำการตรวจสอบ เขาทราบว่าในเวลาไล่เลี่ยกับเวลาที่ค้นพบป้ายไวนิลในจังหวัดเชียงใหม่ก็มีการตรวจพบป้ายลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่นๆของภาคเหนือด้วย เช่น ที่จังหวัดพะเยา เชียงราย และพิษณุโลก

สำหรับคดีที่จังหวัดเชียงใหม่  พ.ต.อ.ไชยฤทธิ์เบิกความต่อว่าได้มีนายทหารในพื้นที่มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับเพชรวัตร ซึ่งเป็นคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน 
 
ทนายจำเลยถามว่า เพชรวัตรซึ่งพ.ต.อ.ไชยฤทธิ์เอ่ยชื่อก่อนหน้านี้ เป็นคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่และไม่ได้เป็นจำเลยในคดีนี้ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ไชยฤทธิ์รับว่าใช่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถามค้าน อัยการไม่ถามติง
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 15 พ.ต.ต.เสถียร อดีตรองสารวัตรสืบสวน สภ.พะเยา
 
พ.ต.ต.เสถียรเบิกความว่าปัจจุบันเขารับราชการตำรวจอยู่ที่สภ.เชียงม่วน จังหวัดพะเยา แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้เขาดำรงตำแหน่งเป็นรองสารวัตรสืบสวนสภ.พะเยา โดยตัวเขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้สืบหาตัวผู้กระทำความผิด 
 
พ.ต.ต.เสถียรเบิกความต่อว่าในวันที่ 1 มีนาคม 2557 เขาได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดในพื้นที่ที่มีการติดป้าย สอบถามคนในพื้นที่ ผู้นำหมู่บ้าน และจากแกนนำทั้งกลุ่มคนเสื้อเหลืองเสื้อแดง

จากการสืบสวนไม่สามารถระบุได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำความผิด ต่อมาเขาทราบว่ามีการติดป้ายในพื้นที่สภ.แม่ลาว จังหวัดเชียงราย สภ.แม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่ สภ.เมืองเชียงราย และสภ.พิษณุโลก จึงประสานไปยังหน่วยสืบสวนในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดแต่ก็ยังไม่พบตัว
 
พ.ต.ต.เสถียรเบิกความต่อว่า ในเวลาต่อมาทราบว่าสภ.เชียงรายมีภาพของกลุ่มคนที่ติดป้าย บริเวณสะพานลอยหน้าห้างเซ็นทรัลเชียงราย ตัวเขาจึงสอบถามไปยังสภ.เชียงราย ทราบว่าเป็นกลุ่มเสื้อแดงและได้ชื่อของจำเลยทั้งสามในคดีนี้มา เขาจึงเดินทางไปที่ภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสามโดยได้ประสานชุดสืบสวนของสภ.แม่สรวยและผู้นำหมู่บ้านที่จำเลยทั้งอาศัยอยู่ในการลงพื้นที่ด้วย โดยผู้นำหมู่บ้านของจำเลยทั้งสามให้ข้อมูลว่า จำเลยทั้งสามเป็นสมาชิกเสื้อแดง เวลามีกิจกรรมทางการเมืองทั้งสามคนจะไปร่วม 
 
พ.ต.ต.เสถียรเบิกความต่อว่า จากการตรวจสอบพบว่าป้ายไวนิลที่พบในพื้นที่จังหวัดพะเยาเหมือนกับป้ายที่พบในจังหวัดเชียงรายและมีลักษณะตัวอักษรคล้ายกัน ทำให้น่าเชื่อว่ากลุ่มที่นำมาติดเป็นกลุ่มเดียวกัน คือกลุ่มคนเสื้อแดง และจากการสืบสวนจำเลยทั้งสามเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง จังหวัดพะเยาและเชียงรายเป็นพื้นที่ติดกัน และมีการติดแผ่นป้ายในเวลาไล่กัน จึงน่าจะเป็นการกระทำของคนกลุ่มเดียวกัน
 
พ.ต.ต.เสถียรเบิกความว่าเขาเคยพบกับออดตอนที่ไปลงพื้นที่ครั้งแรกซึ่งออดยอมรับว่าเป็นคนเสื้อแดงแต่ปฏิเสธว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับการติดป้ายผ้าที่จังหวัดพะเยา 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า  พ.ต.ต.เสถียรไปที่บ้านจำเลยทั้งสามคนเลยหรือไม่  พ.ต.ต.เสถียรตอบว่าไปแต่พบจำเลยไม่ครบทุกคน ทนายจำเลยถามต่อว่าตอนที่ไปพบออดที่บ้านของเขาออดปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคนก่อเหตุที่จังหวัดเชียงรายใช่หรือไม่ และเมื่อไปที่บ้านพบแผ่นป้ายไวนิลที่บ้านของออดหรือไม่  พ.ต.ต.เสถียรตอบว่าออดปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง และตัวเขาก็ไม่เห็นแผ่นป้ายที่บ้านของออด

ทนายจำเลยถามต่อว่าผู้นำชุมชนบอกพ.ต.ต.เสถียรว่าจำเลยทั้งสามเป็นแกนนำคนเสื้อแดงหรือเป็นคนเสื้อแดงเฉยๆ  พ.ต.ต.เสถียรตอบว่าเป็นคนเสื้อแดงเฉยๆไม่ใช่แกนนำ ทนายจำเลยถามต่อว่าจากการลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านของจำเลยทั้งสาม พบลวด สี หรือวัสดุที่ใช้ในการก่อเหตุคดีนี้หรือไม่  พ.ต.ต.เสถียรตอบว่าไม่พบ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถามค้าน อัยการไม่ถามติง 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 16 ร.ต.ท.ปัญญา ตาคำ อดีตรองสารวัตรสืบสวนสภ.พะเยา
 
ร.ต.ท.ปัญญาเบิกความว่าปัจจุบันเขารับราชการตำรวจที่สภ.วังเหนือ จังหวัดลำปาง ในตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวน แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้เขาเป็นรองสารวัตรสืบสวน สภ.พะเยา  
 
ร.ต.ท.ปัญญาเบิกความว่า ในวันที่ 1 มีนาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.พะเยาพบป้ายเขียนข้อความ "ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา" ซึ่งข้อความบนป้ายผ้าดังกล่าวอาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เขาจึงได้รับคำสั่งให้ทำการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด
 
ร.ต.ท.ปัญญาเบิกความต่อว่า เขาได้รับการประสานจากพนักงานสอบสวนว่ามีเหตุลักษณะเดียวกันเกิดที่จังหวัดเชียงราย และได้ชื่อที่อยู่มาของจำเลยทั้งสามในคดีนี้มา ร.ต.ท.ปัญญาเบิกความต่อไปว่า เขาได้รับคำสั่งให้ไปสอบปากคำบุคคลเพิ่มเติมเพื่อหาเบาะแส ได้สอบปากคำกำนันตำบลแม่สรวย ซึ่งสุขสยามเป็นลูกบ้าน

กำนันคนดังกล่าวระบุว่าทราบว่าสุขสยามเป็นคนเสื้อแดงแต่ไม่ทราบว่าสุขสยามเอาป้ายไปติดที่สะพานลอย จากนั้นได้สอบปากคำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่11 แม่สรวย ภูมิลำเนาของถนอมศรีซึ่งให้ข้อมูลว่าถนอมศรีเคยเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงบางครั้ง แต่ไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือยุยงปลุกปั่น ส่วนเรื่องป้ายผ้ากำนัดคนดังกล่าวไม่ทราบเรื่อง

คนสุดท้ายได้สอบถามผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 อำเภอแม่สรวยซึ่งดูแลภูมิลำเนาของออดซึ่งระบุว่า ทราบว่าออดเป็นสมาชิกกลุ่มคนเสื้อแดงและไปร่วมการชุมนุมในบางครั้ง แต่ไม่ใช่แกนนำ ไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือปลุกปั่น 
 
ร.ต.ท.ปัญญาเบิกความด้วยว่าตอนที่ลงพื้นที่ได้คุยกับออด จำเลยในคดีนี้ ซึ่งออดบอกกับเขาว่าเคยเข้าร่วมกิจกรรมกับคนเสื้อแดงจริง แต่ไม่ใช่แกนนำ และปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้นำป้ายผ้ามาติดที่จังหวัดพะเยา
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน 
 
ทนายจำเลยถามร.ต.ท.ปัญญาว่า ได้เดินทางไปที่บ้านของจำเลยทั้งสามใช่หรือไม่  ร.ต.ท.ปัญญา รับว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่าพบร่องรอยเศษไวนิลที่บ้านของจำเลยทั้งสามหรือไม่  ร.ต.ท.ปัญญา ตอบว่าตัวเขาอยู่แค่ด้านนอกบ้าน ไม่ได้มองเข้าไปในบ้านไม่เห็น ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการไม่ถามติง 
 
อัยการแถลงหมดพยาน ศาลให้ทนายจำเลยนำพยานจำเลยเข้าสืบทันทีโดยคดีนี้ฝ่ายจำเลยมีเพียงจำเลยทั้งสามเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง
 
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง ออด จำเลยที่หนึ่งเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง
 
ออดเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตัวเขาเคยร่วมกิจกรรมกับคนเสื้อแดง แต่ไม่ได้เป็นแกนนำ เกี่ยวกับคดีที่จังหวัดเชียงราย ออดเบิกความว่าในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 เขาทราบจากวิทยุเสื้อแดงเชียงราย ว่า นายกฯยิ่งลักษณ์จะมาที่จังหวัดเชียงรายและจะมีคนมาต้อนรับเยอะ มีคนจากภาคเหนือจังหวัดอื่นๆมาด้วย ตัวเขาจึงได้ไปร่วมต้อนรับ
 
ออดเบิกความต่อว่าหลังยิ่งลักษณ์กลับไปแล้วก็มีเพื่อนชวนว่าไปห้างเซ็นทรัลกันไหม เขาจึงไปกับเพื่อนๆด้วย โดยตอนที่เดินไปห้างเซ็นทรัลไปตัวเปล่า ต่อมาระหว่างเดินทางกลับได้ข้ามสะพานลอยจากห้างเซ็นทรัลไปทางห้างบิ้กซีเชียงราย ระหว่างนั้นพบว่ามีคนเสื้อแดงกำลังแขวนป้ายผ้าอะไรบางอย่างบนสะพานลอยและได้บอกให้เขาช่วยผูกป้ายหน่อย เขาก็ตัดสินใจเข้ามาช่วยเพราะเห็นว่าเป็นคนเสื้อแดงเหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วก็ถูกดำเนินคดี
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าออดมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับคดีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดพะเยาหรือไม่ ออดตอบว่าเขาไม่เกี่ยวข้องและไม่ได้มาที่จังหวัดพะเยาเพราะขณะนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์การชุมนุมใดๆ 
 
ตอบอัยการถามค้าน 
 
อัยการถามออดว่า เคยดูภาพถ่ายสะพานลอยห้างเซ็นทรัลเชียงรายขณะเกิดหรือไม่ ออดตอบว่าเคย อัยการถามต่อว่าออดเคยยืนยันกับพนักงานสอบสวนในคดีที่จังหวัดเชียงรายว่าเขาคือบุคคลที่ปรากฎในภาพถ่ายด้วยใช่หรือไม่ ออดรับว่าใช่

อัยการให้ออดดูภาพป้ายไวนิลที่เก็บจากที่ต่างๆ แล้วถามว่าตามภาพถ่ายตัวหนังสือในภาพถ่ายทั้งหมดมีลักษณะคล้ายกันใช่หรือไม่ ออดรับว่าใช่ 
 
ศาลถามออดว่าเคยเห็นป้ายผ้าตามภาพถ่ายที่อัยการนำมาให้ดูหรือไม่ ออดตอบศาลว่าไม่เคยเห็น
 
อัยการถามต่อว่ามีคนมาต้อนรับยิ่งลักษณ์เยอะหรือไม่และน่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกับที่ติดป้ายไวนิลหรือไม่ ออดตอบว่าคนที่มามีจำนวนมาก เข้าใจว่าเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง อัยการแถลงหมดคำถาม  ทนายจำเลยไม่ถามติง 
 
สืบพยานจำเลยปากที่สอง สุขสยาม จำเลยที่สองเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง 
 
สุขสยามเบิกความต่อศาลว่าขณะเบิกความเขาอายุ 65 ปี ประกอบอาชีพเป็นชาวสวน ทนายจำเลยถามสุขสยามว่าในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุคดีที่จังหวัดเชียงรายว่าวันนั้นสุขสยามไปด้วยหรือไม่ สุขสยามตอบว่าเขาเดินทางไปด้วยและได้ไปที่สะพานลอยหน้าห้างเซ็นทรัลเชียงรายด้วย

ทนายจำเลยถามต่อว่า ตามภาพถ่ายที่อัยการนำมาแสดงปรากฎภาพของสุขสยามเดินอยู่บนสะพานลอยโดยไม่ได้ถือป้ายหรือสิ่งของอื่นติดตัวใช่หรือไม่ สุขสยามตอบว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่าสุขสยามได้ไปร่วมติดป้ายในที่อื่นๆนอกจากที่จังหวัดเชียงรายหรือไม่ สุขสยามตอบว่าไม่เคย ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบอัยการถามค้าน 
 
อัยการ อัยการถามว่าสุขสยามเป็นจำเลยที่สามในคดีที่จังหวัดเชียงรายใช่หรือไม่ สุขสยามตอบว่าใช่ 

อัยการถามว่าหลังจากติดป้ายที่หน้าห้างเซ็นทรัล สุขสยามได้นั่งรถคันเดียวกับออดไปติดป้ายที่อำเภอแม่ลาวใช่หรือไม่ สุขสยามตอบว่าเขาไม่ได้ไปติดป้ายตามที่อัยการกล่าว

อัยการถามว่าเหตุใดสุขสยามติดป้ายที่สะพานลอยห้างบิ้กซีเชียงรายไปเพื่ออะไร สุขสยามตอบว่ามีคนชวนติดก็เลยติด อัยการแถลงหมดคำถามค้าน ทนายจำเลยไม่ถามติง
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม ถนอมศรี จำเลยที่สามเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง
 
ถนอมศรีเบิกความตอบทนายว่า ตัวเธอเคยเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยคนเสื้อแดงมีหลายกลุ่มกระจายในหลายๆจังหวัด

ทนายจำเลยถามว่าถนอมศรีได้ไปร่วมต้อนรับยิ่งลักษณ์เมื่อครั้งที่มาจังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 หรือไม่ ถนอมศรีตอบว่าวันนั้นได้มาร่วมต้อนรับยิ่งลักษณ์ด้วย และยืนยันว่ามีภาพของเธอปรากฎอยู่ในภาพถ่ายหน้ากองกำกับการตำรวจเชียงรายด้วย พร้อมกับเบิกความว่าในวันนั้นมีคนมาเป็นจำนวนมากจากหลากหลายกลุ่ม
 
ทนายจำเลยถามว่า ตอนที่ถนอมศรีเดินขึ้นสะพานลอยหน้าห้างเซ็นทรัลเชียงรายไม่ได้ถืออะไรติดมือไปใช่หรือไม่ ถนอมศรีตอบว่าไม่ได้ถืออะไรไป ทนายจำเลยถามว่าบนสะพานลอยมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ถนอมศรีเบิกความว่าขณะนั้นมีคนกำลังติดป้าย และมีคนชวนเธอให้ช่วยติด ถนอมศรีเบิกต่อว่าหลังข้ามสะพานลอยหน้าห้างเซ็นทรัลเธอก็ไปซื้อของที่บิ๊กซี และรีบขึ้นรถกลับบ้าน 
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าถนอมศรีได้ไปร่วมติด หรือจัดทำแผ่นป้ายที่ติดที่อำเภอแม่ลาวจังหวัดเชียงราย หรือที่ติดที่อำเภอเมืองจังหวัดพะเยาซึ่งเป็นเหตุในคดีนี้หรือไม่ ถนอมศรีตอบว่าตัวเองไม่ได้ไปผู้จัดทำและไม่ร่วมติดป้ายในสถานที่ที่กล่าวมา รวมถึงไม่ทราบเรื่องที่เกี่ยวข้องด้วย ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบอัยการถามค้าน 
 
อัยการถามว่าถนอมศรีและจำเลยอีกสองคนถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการติดป้ายแยกประเทศทั้งหมดกี่คดี ถนอมศรีตอบว่าสามคดีคือคดีนี้ คดีที่อำเภอเมืองและอำเภอแม่ลาวจังหวัดเชียงราย

อัยการถามถนอมศรีว่าในวันที่เกิดเหตุแขวนป้ายผ้าที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย ถนอมศรีได้นั่งรถไปที่ไหนต่อหรือไม่ ถนอมศรีตอบว่าเธอโดยสารรถเที่ยวสุดท้ายจากอำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายเพื่อกลับบ้านที่อำเภอแม่สรวย 
 
อัยการถามต่อว่าตอนที่ตำรวจสภ.พะเยาไปลงพื้นที่ที่บ้านของถนอมศรีแล้วไม่พบถนอมศรี เป็นเพราะตอนนั้นถนอมศรีไปร่วมกิจกรรมการเมืองอยู่ใช่หรือไม่ ถนอมศรีตอบว่าไม่ใช่ ที่เธอไม่อยู่บ้านตอนนั้นเพราะออกไปรับจ้าง

อัยการถามต่อว่าในวันเกิดเหตุคดีที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย เหตุใดถนอมศรีจึงไปร่วมติดป้าย ถนอมศรีตอบว่าเป็นเพราะมีคนชวน อัยการแถลงหมดคำถาม 
 
ตอบทนายจำเลยถามติง
 
ทนายจำเลยถามว่า คดีติดป้ายที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายมีการฟ้องตั้งแต่ปี 2557 และศาลมีคำพิพากษาในปี 2558 แต่คดีที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย กับคดีนี้พึ่งมีการฟ้องใช่หรือไม่ ถนอมศรีตอบว่าใช่ 
 
ทนายจำเลยแถลงหมดพยาน 
 
ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 มกราคม 2561 เวลา 9.00 น. โดยให้เหตุผลที่นัดฟังคำพิพากษาห่างจากการสืบพยานนัดสุดท้ายเป็นเวลานานว่า คดีนี้เป็นคดีความมั่นคง ต้องส่งสำนวนคดีให้ทางภาคตรวจสำนวนก่อน.
 
18 มกราคม 2561

นัดฟังคำพิพากษา
 
ศาลจังหวัดพะเยาพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสาม

21 กันยายน 2561
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ประชาไทรายงานโดยอ้างศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน ยกฟ้องจำเลยทั้งสาม เพราะพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ขึ้นว่าจำเลยทั้งสามทำความผิดจริง
 

 
 
 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีนี้พยานหลักฐานโจทก์ไม่อาจระบุตัวได้ว่าจำเลยทั้งสามคนเป็นผู้ติดป้ายดังกล่าวจริง ส่วนป้ายผ้าไวนิลของกลางในคดีนี้ เป็นป้ายที่คล้ายคลึงกับป้ายในคดีที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเคยใช้ในการกระทำความผิดมาก่อน จึงให้ริบ

สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

คดีนี้โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำความผิด แม้โจทก์จะมีพยานที่เห็นเหตุการณ์ว่ามีกลุ่มคน ห้าถึงหกคนทำการติดป้าย แต่พยานโจทก์ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นจำเลยทั้งสาม 

ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดที่หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเชียงราย ซึ่งศาลจังหวัดเชียงรายได้มีคำพิพากษาไปแล้ว จากการส่งตรวจแผ่นป้ายของกลาง ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าบุคคลเป็นผู้จัดทำแผ่นป้ายดังกล่าว 
 
พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังไม่ได้เป็นแน่นหนาว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำความผิด อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามนั้นชอบแล้ว พิพากษายืน

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา