การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หอศิลป์กรุงเทพ #MBK39 (คดีผู้จัดการชุมนุม)

อัปเดตล่าสุด: 09/07/2563

ผู้ต้องหา

รังสิมันต์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2561

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงค์ รองผู้กำกับการ(สอบสวน) หัวหน้างานสอบสวน สน.ปทุมวัน

สารบัญ

กลุ่มประชาชนรวมตัวกันชุมนุมที่ลานสกายวอล์กหน้าหอศิลปกรุงเทพฯในวันที่ 27 มกราคม 2561 เพื่อประท้วงกรณีที่สนช.กำหนดให้พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งฯมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งอาจจะมีผลให้การเลือกตั้งล่าช้าไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ระหว่างการชุมนุมเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้กำลังยุติการชุมนุมแต่ในเวลาต่อมามีการตั้งข้อกล่าวหากับบุคคลเก้าคนที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นแกนนำในการชุมนุมรวมสามข้อกล่าวหาได้แก่ข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และข้อหาชุมนุมในสถานที่หวงห้ามตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ภูมิหลังผู้ต้องหา

1. รังสิมันต์ (โรม) นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย
 
2. สิรวิชญ์ (นิว) นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ
 
3. ณัฏฐา (โบว์) นักกิจกรรมทางสังคม
 
4. อานนท์ ทนายสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ
 
5. เอกชัย นักกิจกรรมทางสังคม
 
6. สุกฤษฎ์ นักกิจกรรมทางสังคม
 
7. เนติวิทย์ นักกิจกรรมทางสังคมและนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  
 
8. วีระ นักกิจกรรมทางสังคมและนักเคลื่อนไหวต่อต้านการคอรัปชัน
 
9. สมบัติ (หนูหริ่ง) นักกิจกรรมทางสังคม และอดีตนักกิจกรรมกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง
 
 

 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, ประกาศ/คำสั่งคณะปฏิวัติ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558
คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำฟ้องคดีนี้พอสรุปได้ว่า

จำเลยทั้งเก้าคน มีพฤติการณ์ร่วมกันแชร์โพสต์เฟซบุ๊กบนเพจเฟซบุ๊ก กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เชิญชวนประชาชนมาร่วมการชุมนุมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช.ในวันที่ 27 มกราคม 2561 ต่อมาในวันที่ 27 มกราคม 2561 จำเลยทั้งหมดร่วมกันจัดการชุมนุมในที่สาธารณะ โดยที่บริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้กับวังสระปทุมในระยะห่างไม่เกิน 150 เมตร ระหว่างการชุมนุมมีการปราศรัยโจมตีรัฐบาลและเรียกร้องให้คนออกมาร่วมการชุมนุม 
 
การกระทำของจำเลยเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ไม่ได้เป็นไปในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนุูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และทำให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ด้วยการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนและเป็นการชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 150 เมตรจากเขตพระราชฐานของเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 

พฤติการณ์การจับกุม

เบื้องต้นคดีนี้มีผู้ต้องหาเจ็ดคนได้แก่รังสิมันต์ สิรวิชญ์ ณัฏฐา อานนท์ เอกชัย สุกฤษฎ์ และเนติวิทย์ ทั้งหมดถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ปทุมวันในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ในวันดังกล่าวมีณัฏฐาเพียงคนเดียวที่ไปรายงานตัวร่วมกับผู้ต้องหาในคดี ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง #MBK39 ส่วนผู้ต้องหาคนอื่นๆในคดีนี้ให้ทนายมาแจ้งพนักงานสอบสวนขอเลื่อนวันนัด 
 
เมื่อไปถึงที่สน.ปทุมวันพนักงานสอบสวนแจ้งกับทนายว่าจะส่งผู้ต้องหาทั้งหมดฝากขังต่อศาลเลย ณัฏฐาและผู้ต้องหาคดีชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง #MBK39 ทั้งหมดจึงตัดสินใจให้ทนายไปขอเลื่อนการรายงานตัวออกไปเป็นวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เพื่อให้ผู้ต้องหาที่ไม่มีเงินประกันมีโอกาสไปหาเงินประกันตัว อย่างไรก็ตามเนื่องจากพนักงานสอบสวนใช้เวลาพิจารณาคำขอเลื่อนวันนัดยาวนานผู้ต้องหาทั้งหมดจึงเดินทางกลับก่อนรับทราบคำสั่ง 
 
ในเวลาต่อมาพนักงานสอบสวนมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนนัด และออกหมายเรียกครั้งที่สองให้ผู้ต้องหาทั้งคดีนี้และคดีชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง #MBK39 มาพบในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งในการออกหมายเรียกครั้งที่สองสมบัติ และวีระถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เพิ่มเติม คดีนี้จึงมีผู้ต้องหาเพิ่มขึ้นเป็นเก้าคน

ทั้งนี้ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เอกชัยหนึ่งในผู้ต้องหาโพสต์ข้อความพร้อมภาพประกอบบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่ามีเจ้าหน้าที่นำหมายเรียกฉบับที่สองมาส่งให้กับเขา แต่ตัวเขายังไม่ได้รับหมายเรียกฉบับแรก จึงได้ใช้ปากกาเขียนข้อความลงไปในหมายเรียกว่าตัวเองยังไม่ได้รับหมายเรียกฉบับแรก เขาจึงถือว่าฉบับที่เจ้าหน้าที่นำมาส่งในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เป็นหมายเรียกฉบับแรก
 
ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้ต้องหาในคดีนี้ห้าคนได้แก่ณัฏฐา เนติวิทย์ สุกฤษฎ์ สมบัติ และวีระเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา และได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันเนื่องจากศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน
 
สำหรับผู้ต้องหาอีกสี่คนที่ไม่เข้ารายงานตัวตามหมายเรียก ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุมันติหมายจับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจับกุมตัวได้ 
 
เช้าวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 เอกชัยโพสต์ข้อความพร้อมภาพบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมารอที่หน้าบ้านตั้งแต่เวลา 7.00 น. เขาจึงตะโกนบอกเจ้าหน้าที่ว่าจะเปิดประตูบ้านให้ในเวลา 9.00 น. ประชาไท รายงานในเวลาต่อมาว่าในเวลาประมาณ 9.00 น. เมื่อเอกชัยเปิดประตูบ้านเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงหมายจับและนำตัวเขาไปที่สน.ลาดพร้าวซึ่งเป็นเจ้าของท้องที่บ้านพักของเอกชัยสถานที่จับกุมตัว ก่อนจะส่งตัวให้สน.ปทุมวันผู้รับผิดชอบท้องที่เกิดเหตุคดีนี้
 
ในช่วงค่ำวันเดียวกัน อานนท์ สิรวิชญ์ และรังสิมันต์ ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีนี้อีกสามคนเดินทางไปร่วมการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งสามอยู่ร่วมการปราศรัยจนถึงเวลาประมาณ 19.45 น. ไทยโพสต์ออนไลน์รายงานว่าอานนท์ สิรวิชญ์และรังสิมันต์เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังเสร็จกิจกรรมบนเวที 
 
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนำผู้ต้องหาทั้งสามไปที่สน.สำราญราษฎร์ซึ่งรับผิดชอบท้องที่การชุมนุมที่ทั้งสามเข้ามอบตัวเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนและส่งตัวให้สน.ปทุมวันซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุคดีนี้ต่อไป 
 
ในเวลาประมาณ 22.00 น. รถตู้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนำผู้ต้องหาทั้งสามมาที่สน.ปทุมวันโดยที่หน้าสน.มีประชาชนมาทำกิจกรรมให้กำลังใจขณะที่เจ้าหน้าที่ก็กั้นรั้วหน้าสน.เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปด้านใน การสอบสวนดำเนินไปถึงเวลาประมาณ 1.30 น. ของวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ผู้ต้องหาทั้งสี่คนที่ถูกควบคุมตัวในวันนี้ประกันตัวด้วยวงเงินคนละ 100,000 บาท

ผู้ต้องหาทั้งหมดยกเว้นรังสิมันต์สามารถเดินทางกลับบ้านได้ ส่วนรังสิมันต์ถูกอายัดตัวส่งไปที่จังหวัดขอนแก่นเนื่องจากเขาเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลทหารจังหวัดขอนแก่นในคดีพูดเพื่อเสรีภาพ
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.3207/2561

ศาล

ศาลอาญากรุงเทพใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

25 มกราคม 2561

เฟซบุ๊กเพจกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย โพสต์ภาพพร้อมข้อความประกาศเชิญชวนประชาชนร่วมทำกิจกรรมเชิญสัญลักษณ์ที่บริเวณสกายวอล์กสถานีรภไฟฟ้าบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ หน้าหอศิลปกรุงเทพฯเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 และประท้วงการสืบทอดอำนาจของคสช

26 มกราคม 2561

เฟซบุ๊กเพจ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย โพสต์ภาพแสดงจุดนัดพบในการทำกิจกรรม พร้อมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกิจกรรม

27 มกราคม 2561

เดลินิวส์ออนไลน์รายงานว่า พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการทำกิจกรรมของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยว่าเจ้าหน้าที่จะเฝ้าติดตามการทำกิจกรรมอย่างใกล้ชิด โดยจะเน้นทำความเข้าใจและขอความร่วมมือไม่ให้มีการกระทำที่เกินกรอบของกฎหมาย

ในเวลาประมาณ 17.20 น. ประชาชนเริ่มมารวมตัวกันที่จุดนัดพบบนสกายวอล์ก สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ โดยมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เช่น การสวมใส่ผ้าปิดปากสีแดงที่เขียนคำว่า “NO COUP” และการยกโทรศัพท์มือถือที่เขียนคำว่า “หมดเวลา” บนหน้าจอแสดงต่อผู้ที่เดินผ่านไปมาบริเวณนั้น ในที่ชุมนุมยังมีผู้สื่อข่าวมารอทำข่าวอยู่เป็นจำนวนมากและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมาเฝ้าสังเกตการณ์ด้วย ระหว่างการจัดกิจกรรมเจ้าหน้าที่รถไฟฟ้าบีทีเอสเข้ามาพูดคุยกับณัฏฐา หนึ่งในผู้ร่วมจัดงานว่า ให้ย้ายไปทำกิจกรรมบริเวณจุดกึ่งกลางสกายวอล์คที่ตั้งอยู่พอดีกับเกาะกลางถนนแยกปทุมวัน

Sample of calendar and pamphlet distributed during 27 January 2018 activity

ตัวอย่างปฏิทินและใบปลิวที่มีการแจกระหว่างกิจกรรม
 
ระหว่างการทำกิจกรรมณัฏฐาให้ข้อมูลว่าในวันนี้ผู้จัดไม่ได้แจ้งการชุมนุมและไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องเสียง ในเวลา 17.30 น. ผู้ชุมนุมรวมตัวกันบริเวณที่เจ้าหน้าที่รถไฟฟ้าบีทีเอสจัดไว้ ผู้ชุมนุมมีการนำป้ายไวนิลภาพข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับนาฬิกาของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาแสดงและมีการแจกปฏิทินนาฬิกาให้ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมด้วย ระหว่างที่กิจกรรมดำเนินไปสมบัติและวีระซึ่งเป็นนักกิจกรรมอาวุโสได้มาในบริเวณที่จัดงานด้วยโดยทั้งสองระบุว่ามาร่วมสังเกตการณ์ก่อนจะให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสั้นๆ 
 
ในเวลา 17.55 น. ณัฏฐา อ่านแถลงการณ์ประณามคสช.เรื่องการตั้งข้อหาเพื่อปิดปากและละเมิดสิทธิพลเมือง โดยพูดถึงการตั้งข้อหากับประชาชนแปดคนที่ร่วมกิจกรรมวีวอล์กและการตั้งข้อกล่าวหากับชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการอาวุโสและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้คสช.ยุติการดำเนินคดี
 
ในเวลา 18.30 น. พ.ต.อ.ภพธร จิตหมั่น ผู้กำกับสน.ปทุมวันพร้อมตำรวจในเครื่องแบบประมาณห้านายเดินทางมายังพื้นที่ชุมนุมและสอบถามว่า การชุมนุมจะสิ้นสุดเมื่อใด สิรวิชญ์ในฐานะตัวแทนของผู้จัดกิจกรรมได้แจ้งว่า ขอจัดกิจกรรมจนถึงเวลา 19.00 น. หลังจากนั้นพ.ต.อ.ภพธร กล่าวว่าขอให้ยุติกิจกรรมในเวลาที่ตกลงกันและเตือนเรื่องการใช้เครื่องกระจายเสียง เนื่องจากไม่ได้มีการขออนุญาต 
 
รังสิมันต์ หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมประกาศในที่ชุมนุมด้วยว่าถ้าคสช.ไม่ถอนการแจ้งข้อหากับแปดแกนนำ People GO และชาญวิทย์ รวมทั้งไม่ดำเนินการใดกับพล.อ.ประวิตร ทางกลุ่มจะไปรวมตัวกันที่ถนนราชดำเนินในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 

การทำกิจกรรมในวันนี้ยุติลงในเวลา 19.00 น. โดยไม่มีการจับกุมหรือตั้งข้อกล่าวหากับผู้ร่วมกิจกรรม 

ชุมนุมนัดรวมพลคนอยากเลือกตั้ง

ชุมนุมนัดรวมพลคนอยากเลือกตั้ง

ภาพบรรยากาศกิจกรรมในวันที่ 27 มกราคม 2561

29 มกราคม 2561

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าได้มอบหมายให้รองผบ.ตร.ด้านความมั่นคงตรวจสอบเรื่องการชุมนุมในวันที่ 27 มกราคมแล้วว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายใดหรือไม่ 

30 มกราคม 2561

บีบีซีไทยรายงานว่า ในวันที่ 29 มกราคม 2561 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษเจ็๋ดนักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมเรียกร้องการเลือกตั้งในวันที่ 27 มกราคม 2561 ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง

นักกิจกรรมหเจ็ดคนที่ถูกเรียกตัวเข้ารับทราบข้อกล่าวหาได้แก่ รังสิมันต์ สิรวิชญ์ ณัฎฐา อานนท์ เอกชัย สุกฤษฎ์ และเนติวิทย์ โดยทางสน.ปทุมวันจะออกหมายเรียกให้บุคคลทั้งเจ็ดเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 10.00 น.

30 มกราคม 2561

โพสต์ทูเดย์ออนไลน์รายงานว่า พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงค์ หัวหน้างานสอบสวนสน.ปทุมวันร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ร่วมกิจกรรมเรียกร้องการเลือกตั้งที่ลานสกายวอล์กหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯรวม 39 คนในข้อหาชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวังของเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า ตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุม ผู้ต้องหาเจ็ดคนในคดีนี้ก็มีชื่อถูกตั้งข้อกล่าวหานี้ด้วย

ในวันเดียวกันหลังมีข่าวนักกิจกรรมและประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมเรียกร้องการเลือกตั้งถูกดำเนินคดีในความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมรวม 39 คน ณัฏฐา หนึ่งในเจ็ดผู้ถูกดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดฐานขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 โพสต์ภาพและข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประกาศจะทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อประณามและเรียกร้องให้ยุติการใช้กฎหมายปิดปากประชาชนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

Silent National Anthem 01 Feb 2018 Siam Paragon

1 กุมภาพันธ์ 2561

เวลาประมาณ 17.30 น. นัฎฐาและประชาชนส่วนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตรจากพระวังของเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าร่วมทำกิจกรรมร้องเพลงชาติแห่งความเงียบที่บริเวณลานหน้าห้างสยามพารากอนท่ามกลางการจับตาโดยเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

เจ้าหน้าที่ของห้างยังได้นำรั้วเหล็กติดข้อความสถานที่ส่วนบุคคล ห้ามจัดกิจกรรมก่อนได้รับอนุญาตจำนวนหนึ่งมาวางบริเวณลานหน้าห้างด้านที่ติดกับประตูทางเข้าห้างด้วย

fences with message from Siam Paragon were put up close by the area where activity "sing a national anthem in silence" was held

เมื่อณัฏฐาเริ่มแถลงข่าวเจ้าหน้าที่ของห้างได้พยายามเข้ามาเจรจาเพื่อให้ยุติการทำกิจกรรมโดยชี้แจงว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลแต่ณัฏฐาก็ยืนยันที่จะทำกิจกรรมต่อไป โดยตลอดเวลาที่มีการเจรจามีการผลักดันกันไปมาแต่ก็ไม่มีความรุนแรงใดๆเกิดขึ้น

ในเวลาประมาณ 18.00 ณัฏฐาและผู้ร่วมกิจกรรมอีกสามคนเอาเทปกาวปิดปากและยืนเงียบที่บริเวณบันไดหน้าห้างด้านที่มีน้ำพุ การยืนเงียบดำเนินไปถึงเวลา 18.30 น.ณัฏฐาจึงแถลงข่าวปิดท้ายกับผู้สื่อข่าวสั้นๆก่อนที่จะสลายตัว ซึ่งเมื่อณัฏฐายุติกิจกรรมแล้วเดินเข้าไปในห้างมีเจ้าหน้าที่ของห้างติดตามเข้าไปเพื่อสังเกตการณ์ว่าณัฏฐาจะทำกิจกรรมในห้างต่อหรือไม่ด้วย แต่ก็ไม่มีการทำกิจกรรมหรือการควบคุมตัวบุคคลใดเกิดขึ้นหลังจากนั้น

IMG_0137 

กิจกรรมร้องเพลงชาติแห่งความเงียบ

2 กุมภาพันธ์ 2561

นัดรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา

ณัฏฐาผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีนี้เดินทางมาที่สน.ปทุมวันเพื่อรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา โดยณัฏฐาเป็นเพียงหนึ่งในเจ็ดผู้ต้องหาคดีนี้ที่มารายงานตัวในวันนี้ นอกจากณัฏฐาแล้ววันนี้ก็มีผู้ต้องหาคดี ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง #MBK39 ราว 20 คนซึ่งร่วมชุมนุมในเหตุการณ์เดียวกันแต่ถูกตั้งข้อหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯโดยไม่ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 มารายงานตัวด้วย 

สำหรับผู้ต้องหาคดีนี้ที่เหลือไม่ได้มารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้แต่ให้ทนายมาขอเลื่อนนัดกับพนักงานสอบสวนโดยอ้างเหตุว่าติดภารกิจและพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกอย่างกระชั้นชิด

#mbk39 มาที่หน้า สน.ปทุมวัน เพื่อเลื่อนการรายงานตัว

ตั้งแต่ช่วงเช้าเจ้าหน้าที่สน.ปทุมวันมีการนำรั้วเขียนข้อความ "เขตหวงห้าม ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต" มากั้นไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปในสน.ปทุมวันด้วย โดยในวันนี้นอกจากผู้ถูกดำเนินคดีและทนายแล้วก็มีประชาชนประมาณ 30 คนมาคอยสังเกตการณ์และให้กำลังใจผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วย ขณะเดียวกันทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็มีพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.ที่ดูแลงานด้านความมั่นคงมาดูแลการดำเนินการงานที่สน.ปทุมวันด้วยตัวเอง
 
เบื้องต้นณัฏฐาและผู้ต้องหาคดีชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง #MBK39 ที่มารายงานตัวทั้งหมดประสงค์จะให้การวันนี้เลย แต่เมื่อได้รับแจ้งจากทนายว่าเจ้าหน้าที่จะส่งตัวทั้งหมดไปขออำนาจศาลฝากขังเลย ทั้งหมดจึงตัดสินใจให้ทนายขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาออกไปเนื่องผู้ที่มาบางคนไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว ณัฏฐากับผู้ที่มารายงานตัวในคดีชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง #MBK39ทั้งหมดจึงใช้พื้นที่บริเวณตลาดสามย่านเขียนคำร้องให้ทนายขอเลื่อนนัดรับทราบข้อกล่าวหาออกไปเป็นวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 

#mbk39 มาที่หน้า สน.ปทุมวัน เพื่อเลื่อนการรายงานตัวผู้มารายงานตัวหารือกับทีมทนายความเรื่องแนวทางการเข้ารายงานตัวที่บริเวณตลาดสามย่าน

ผู้ที่มารายงานตัวรอฟังคำสั่งจากเจ้าหน้าที่อยู่ประมาณสองถึงสามชั่วว่าจะให้เลื่อนหรือไม่แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีคำสั่งลงมา ผู้มารายงานตัวทั้งหมดพร้อมทั้งทนายความจึงเดินทางกลับ ปรากฎว่าในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวและออกหมายเรียกใหม่นัดให้ผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดมารายงานที่สน.ปทุมวันในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 หากผู้ถูกหมายเรียกสองครั้งไม่มารายงานตัวพนักงานสอบสวนก็จะสามารถขอศาลออกหมายจับได้ทันที
 
ในวันเดียวกันข่าวสดออนไลน์รายงานด้วยว่า พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.เปิดเผยว่าเตรียมจะแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมกับบุคคลที่อยู่ร่วมในที่ชุมนุมอีกสองคนได้แก่สมบัติและวีระ เพราะมีหลักฐานว่าทั้งสองร่วมการปราศรัยด้วย
 
8 กุมภาพันธ์ 2561
 
นัดรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา
 
ตั้งแต่ช่วงเช้า สน.ปทุมวันมีการเตรียมรับการรายงานตัวของผู้ต้องหา #MBK39 ด้วยการกั้นรั้วบริเวณทางเข้าสน.และติดป้ายเขียนข้อความ "พื้นที่หวงห้าม ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต" ในเวลาประมาณ 9.00 น. ผู้ต้องหา ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ ทยอยเดินทางมาถึงบริเวณหน้าสน.ปทุมวัน นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง มาเตรียมตัวเป็นนายประกันให้ผู้ต้องหา พร้อมกับแถลงจุดยืนต่อการดำเนินคดีประชาชนในกรณีนี้ 
 
ในวันนี้ผู้ที่มาแสดงตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ปทุมวันมีทั้งหมด 34 คน 29 คนถูกกล่าวหาว่า เป็๋นผู้เข้าร่วมการชุมนุม ถูกแจ้งข้อกล่าวหารวมสองข้อ คือ สนับสนุนการชุมนุมในบริเวณที่ห่างจากพระราชวังของเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าไม่ถึง 150 เมตร ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 7 และข้อหามั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 
 
อีกห้าคน ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดกิจกรรม ถูกตั้งข้อกล่าวหารวมสามข้อกล่าวหา ได้แก่ ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ชุมนุมในบริเวณที่ห่างจากพระราชวังของเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าไม่ถึง 150 เมตร ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 7 และข้อหามั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 
 
นอกจากผู้ต้องหาที่มาศาลในวันนี้ 34 คน คดีนี้ยังมีผู้ต้องหาอีกห้าคน ได้แก่ นพเก้า ผู้สื่อข่าวข่าวสดซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมการชุมนุมซึ่งมารับทราบข้อกล่าวหาไปตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 และผู้ต้องหาอีกสี่คนได้แก่เอกชัย อานนท์ สิรวิชญ์ และรังสิมันต์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมครั้งนี้ ยังไม่มารายงานตัว แต่ได้มอบหมายให้ทนายความมาขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน
 
ก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนผู้ต้องหาที่มารายงานตัวส่วนหนึ่งแสดงสัญลักษณ์และถ่ายภาพร่วมกัน ผู้ต้องหาส่วนหนึ่งยังสวมเสื้อยืดสีขาวสกรีนข้อความ #MBK39 ด้วย ในเวลาประมาณ 10.00 น. ผู้ต้องหาทั้งหมดเดินเข้าไปในสน.ปทุมวันเพื่อรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน ทางตำรวจได้เตรียมพนักงานสอบสวนไว้ 8 คน และจัดผู้ต้องหาพร้อมทนายความและผู้ได้รับความไว้วางใจให้เข้าสู่กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเป็นชุด ชุดละ 8 คน
 
ผู้ต้องหาที่มารายงานตัวในวันนี้เกือบทั้งหมดให้การปฏิเสธกับพนักงานสอบสวน และใช้สิทธิที่จะไม่ให้การในรายละเอียดแต่จะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 15 วัน มีเพียงนพพรเท่านั้นที่ให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนแจ้งผู้ต้องหาทั้งหมดว่า จะไม่ควบคุมตัวผู้ต้องหาแต่ขอนัดหมายให้ผู้ต้องหาทั้งหมดพบที่ศาลในเวลา 14.00 น.ด้วยตัวเอง 
 
ผู้ต้องหา 29 คนที่ถูกตั้งข้อหาฐานเป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุม เดินเท้าจากสน.ปทุมวันไปพบพนักงานสอบสวนที่ศาลแขวงปทุมวัน โดยมีตำรวจคอยดูแลการจราจรตลอดเส้นทาง ส่วนผู้ต้องหาห้าคนที่ถูกตั้งข้อหาฐานเป็นผู้จัดกิจกรรมเดินทางไปรอพบพนักงานสอบสวนที่ศาลอาญากรุงเทพใต้
 
ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานสอบสวนยื่นขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหาห้าคนได้แก่ณัฎฐา, เนติวิทย์, วีระ, สมบัติ บุญงามอนงค์ และสุกฤษฎ์ ทนายความของผู้ต้องหายื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ศาลจึงมีคำสั่งให้ไต่สวน พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงศ์ พนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันผู้ยื่นคำร้องขอฝากขัง ในเวลาประมาณ 16.00 น.
 
พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงศ์ พนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันผู้ยื่นคำร้องขอฝากขัง
 
พ.ต.ท.สมัครให้เหตุผลในการขออำนาจฝากขังว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีโทษจำคุกเกินสามปี พนักงานสอบสวนต้องสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีกห้าปาก และผู้ต้องหาทั้งห้าคนมีพฤติการณ์จะไปชุมนุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ซึ่ง หากปล่อยตัวไปอาจก่อให้เกิดเหตุอันตรายประการอื่น จึงมีความจำเป็นต้องขออนุญาตศาลฝากขังผู้ต้องหาไว้เป็นเวลา 12 วัน

ทนายของผู้ต้องหาทั้งห้าคนโต้แย้งคำร้องฝากขังว่า ผู้ต้องหาทั้งห้าไม่ได้มีพฤติการณ์เป็นแกนนำในการชุมนุม รวมทั้งยังไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงไม่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวในชั้นนี้ 
 
หลังการไต่สวนซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ศาลสั่งพักการพิจารณาเพื่อทำคำสั่ง จนกระทั่งเวลาประมาณ 19.15 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งยกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนโดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาทั้งห้าคนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีโดยไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก

ส่วนที่พนักงานสอบสวนอ้างว่ายังสอบพยานไม่แล้วเสร็จ ปรากฎว่าพยานทั้งหมดเป็นเจ้าพนักงานทั้งสิ้น พนักงานสอบสวนจึงสามารถดำเนินการสอบสวนได้โดยไม่จำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ต้องหา ส่วนที่อ้างว่าผู้ต้องหาจะไปชุมนุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์และอาจก่อให้เกิดภยันตรายนั้นก็เป็นแต่เพียงการคาดคะเนของพนักงานสอบสวนเท่านั้น จึงให้ยกคำร้อง
 
9 กุมภาพันธ์ 2561
 
มติชนออนไลน์รายงานว่าศาลอาญากรุงเทพใต้อนุมัติหมายจับอานนท์ รังสิมันต์ เอกชัยและสิรวิชญ์ ผู้ต้องหาอีกสี่คนที่ยังไม่เข้ารายงานตัวตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวนแล้ว 

10 กุมภาพันธ์ 2561
 
เอกชัย หนึ่งในผู้ต้องหาตามหมายจับโพสต์ข้อความพร้อมภาพบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ในเวลาประมาณ 7.00 น. มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมารอที่หน้าบ้าน เขาได้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะเปิดประตูให้ในเวลา 9.00 น.
 
ต่อมาเอกชัยถูกนำตัวมาควบคุมที่สน.ลาดพร้าว เพื่อทำบันทึกการจับกุมก่อน หลังจากนั้นจึงถูกส่งตัวไปที่สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุ โดยเอกชัยระบุว่า จะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเพราะเชื่อว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด
 
ในช่วงเย็น สิรวิชญ์ อานนท์ และรังสิมันต์ ผู้ต้องหาตามหมายจับที่เหลืออีกสามคนเดินทางไปร่วมการชุมนุมกับกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยและกลุ่ม Start Up People ที่ถนนราชดำเนิน

เมื่อมีการประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 19.45 น. ทั้งสามเดินไปมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่นำทั้งสามไปควบคุมที่สน.สำราญราษฎร์ เพื่อทำบันทึกการจับกุม ก่อนส่งตัวไปที่สน.ปทุมวัน
ในเวลาประมาณ 22.00 น. ขณะที่เอกชัย ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งที่ถูกจับกุมตัวตั้งแต่เช้าก็ยังคงอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ โดยที่บริเวณหน้าสน.ปทุมวันก็มีการรวมตัวกันของประชาชนประมาณ 200 คน ที่มาเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมด
 
ในเวลาประมาณ 1.40 น. พนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งสี่คนประกันตัวในวงเงินคนละ 100,000 บาท แต่รังสิมันต์ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ของศาลทหารขอนแก่นจากกรณีจัดเวทีพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นช่วงก่อนทำประชามติ จะถูกควบคุมตัวไปที่จังหวัดขอนแก่นในทันทีด้วยรถตู้ของตำรวจ โดยอนุญาตให้เพื่อนของรังสิมันต์ติดตามไปด้วยหนึ่งคน 
 
25 พฤษภาคม 2561
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งเก้าคนต่ออัยการแล้ว ผู้ต้องหาทั้งหมดยกเว้นวีระสมความคิดที่ติดภารกิจที่ศาลอื่นมารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนทั้งหมด ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ส่งตัวผู้ต้องหาทั้งแปดคนฟ้องต่ออัยการ อัยการนัดผู้ต้องหาฟังคำสั่งคดีในวันที่ 28 มิถุนายน 2561
 
28 มิถุนายน 2561
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่าอัยการเลื่อนการสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 โดยครั้งนี้เป็นการเลื่อนการสั่งคดีครั้งแรก
 
25 กรกฎาคม 2561
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
ณัฏฐา หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้ให้ข้อมูลว่าอัยการเลื่อนการสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 30 สิงหาคม 2561 โดยครั้งนี้เป็นการเลื่อนการสั่งคดีเป็นครั้งที่สอง ณัฏฐาให้ข้อมูลด้วยว่าเธอเป็นผู้ต้องหาคนเดียวที่เดินทางไปพบอัยการในนัดนี้ส่วนผู้ต้องหาคนอื่นมอบหมายให้ทนายเดินทางมารับทราบคำสั่งเลื่อนนัดของอัยการแทน
 
30  สิงหาคม 2561
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
เวล่าประมาณ 10.30 น. ณัฏฐาเดินทางมาที่สำนักงานอัยการ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้สี่เพื่อฟังคำสั่งคดี อย่างไรก็ตามในวันนี้อัยการยังไม่มีคำสั่งคดีและนัดหมายให้ผู้ต้องหาทั้งเก้าคนมาฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 3 ตุลาคม 2561
 
ในวันนี้ผู้ต้องหาที่มารายงานตัวกับอัยการด้วยตัวเองมีเพียงณัฏฐาและเนติวิทย์เท่านั้น อานนท์ สิรวิชญ์ รังสิมันต์ สมบัติและสุกฤษฎ์มอบอำนาจให้ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไปเซ็นรับทราบวันนัดแทน ส่วนผู้ต้องหาอีกสองคนคือวีระและเอกชัย ไม่มีข้อมูลว่าทั้งสองเดินทางไปเซ็นรับทราบวันนัดหรือไม่ 
 
แม้ว่าในวันนี้ผู้ต้องหาส่วนใหญ่จะไม่มารายงานตัวแต่ก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเจ็ดนายมารอที่บริเวณหน้าสำนักงานอัยการด้วย
 
3 ตุลาคม 2561
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 1 พฤศฯจิกายน 2561 อย่างไรก็ตาม วีระ หนึ่งในผู้ต้องหาขอนัดพบอัยการก่อนในวันที่ 22 ตุลาคม 2561 ณัฏฐา หนึ่งในผู้ต้องหาที่เข้ารายงานตัวในวันนี้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าสมบัติและวีระซึ่งเป็นผู้ต้องหาสองคนในคดีนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการจัดกิจกรรมจึงมีความแปลกใจว่าเหตุใดทั้งสองจึงมาถูกดำเนินคดีนี้ด้วย 
 
22 ตุลาคม 2561
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
วอยซ์ทีวีออนไลน์รายงานว่า อัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ นำตัว วีระมาส่งตัวฟ้องต่อศาลเป็นคนแรก โดยในนัดที่แล้ววีระขอให้อัยการนัดวันสั่งคดีเขาแยกกับผู้ต้องหาคนอื่นเนื่องจากในวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่อัยการนัดผู้ต้องหาคนอื่นฟังคำสั่งคดีตัวเขาไม่สามารถเดินทางมาตามนัดได้ 
 
เกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่ใช้ในการประกันตัว วีระเปิดเผยว่าก่อนเดินทางมาพบอัยการในวันนี้เคยให้ทนายประสานกับทางศาลเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่จะต้องใช้ประกันตัวแล้วแด่ได้รับแจ้งว่าไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ให้สาบานตนแทนการวางหลักทรัพย์ ในวันนี้เขาจึงไม่ได้เตรียมหลักทรัพย์มา แต่เมื่อมาถึงศาลเบื้องต้นศาลตีราคาประกัน 120,000 บาท เขาจึงต้องทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่วางเงินประกัน ต้องเข้าโครงการประเมินความเสี่ยงซึ่งใช้เวลาในการดำเนินการพอสมควร
 
1 พฤศจิกายน 2561 
 
ประชาไทรายงานว่าอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 สั่งฟ้องรังสิมันต์ สิรวิชญ์ อานนท์ เอกชัย สุกฤษฎ์ เนติวิทย์ ณัฏฐาและสมบัติ จำเลยอีกแปดคนเพิ่มเติมหลังจากที่ก่อนหน้าในนี้วันที่ 22 ตุลาคม 2561 วีระ จำเลยอีกคนหนึ่งถูกฟ้องต่อศาลในคดีเดียวกันไปก่อนแล้ว โดยมีรายงานว่าจำเลยทั้งหมดได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีโดยไม่ต้องวางหลักประกัน
 
ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเพิ่มเติมว่าศาลสอบคำให้การจำเลยทั้งหมดในวันเดียวกัน จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ศาลนัดคู่ความตรวจพยานหลักฐานวันที่ 17 ธันวาคม 2561 
 
17 ธันวาคม 2561
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาคดีนี้ในเวลาประมาณ  9.00 น. จำเลยทั้งเก้าคนมาศาล เอกชัยหนึ่งในจำเลยมาถึงศาลในเวลาประมาณ 10.30 น. และแถลงต่อศาลว่าเขามาถึงศาลล่าช้า เพราะระหว่างเดินทางมารถเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชน
 
สำหรับกระบวนการในวันนี้ศาลอ่านคำฟ้องให้จำเลยทั้งเก้าคนฟัง ทั้งเก้าคนยืนยันให้การปฏิเสธ อัยการแถลงขอนำพยานเข้าสืบรวม 14 ปาก ศาลให้เวลาห้านัด ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบรวม 13 ปาก ศาลให้เวลาสืบห้านัด และให้คู่ความไปนัดวันสืบพยานกันเองภายในวันนี้ซึ่งภายหลังทั้งสองฝ่ายนัดสืบพยานในวันที่ 4 – 7, 18 – 21, และ 25 – 26 มิถุนายน 2562
 
ก่อนหน้านี้อัยการฟ้องคดีนี้แยกเป็น 2 สำนวน เพราะวีระ หนึ่งในผู้ต้องหาไม่ว่างมาฟังคำสั่งคดีพร้อมกับผู้ต้องหาคนอื่นๆในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 จึงขอเข้าพบอัยการก่อนในวันที่ 22 ตุลาคม 2561 ในวันดังกล่าวอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีวีระจึงถูกฟ้องเป็นหนึ่งสำนวน ต่อมาเมื่อผู้ต้องหาคนอื่นๆมาฟังคำสั่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 อัยการจึงฟ้องผู้ต้องหาอีกแปดคนที่เหลือเป็นอีกหนึ่งสำนวนคดี หลังมีการฟ้องผู้ต้องหาทั้งเก้าคน เป็นจำเลย

อัยการแถลงขอให้ศาลรวมสำนวนคดีทั้งสองเข้าด้วยกันเพราะเป็นเหตุการณ์เดียวกันและใช้พยานหลักฐานชุดเดียวกัน ฝ่ายจำเลยแถลงไม่คัดค้าน ศาลจึงอนุญาตให้รวมสำนวนคดีทั้งสองเข้าด้วยกัน

สำหรับพยานโจทก์ที่จะมาเบิกความในคดีนี้ จะมีการนำสืบในประเด็นหลักๆได้แก่ ข้อความการปราศรัยของจำเลยมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อย่างไร และระยะการยืนของจำเลยระหว่างการทำกิจกรรมอยู่ห่างจากวังสระปทุมแค่ไหน

ส่วนประเด็นหลักๆที่จำเลยเตรียมนำสืบ ได้แก่การชุมนุมของจำเลยเป็นเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและเจตนาในการกระทำของจำเลยเป็นเจตนาบริสุทธิ์ จำเลยบางส่วนก็เตรียมสู้คดีในส่วนของบทบาทว่าไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นผู้้จัดการชุมนุมด้วย 
.
ระหว่างการพิจารณาในนัดนี้ สุกฤษฎ์ จำเลยที่เจ็ดแถลงขอให้ศาลอนุญาตให้สืบพยานลับหลังเขาเนื่องจากในขณะนี้เขาอยู่ระหว่างการศึกษาต่อที่ประเทศไต้หวันไม่สะดวกที่จะมาศาล ศาลเห็นว่าจำเลยที่เจ็ดมีการแต่งตั้งทนายความไว้แก้ต่างแล้ว และคดีก็มีอัตราโทษสูงสุดไม่เกินสิบปี จึงอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้

ส่วนที่ทนายจำเลยแถลงขอให้ศาลยุติการดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เนื่องจากมีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 22/2561 ออกมายกเลิกแล้ว ศาลแจ้งกับทนายว่าจะนำประเด็นดังกล่าวไปใส่ไว้ในคำพิพากษา
.
สมบัติ หนึ่งในจำเลยคดีนี้ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคเกียนและอยู่ระหว่างเตรียมการรณรงค์รับสมัครเลือกตั้งระบุว่าการถูกดำเนินคดีก็เป็นเสมือนชะตากรรมที่เลี่ยงไม่ได้ของคนทำกิจกรรม จึงไม่คิดว่าจะมีผลกระทบต่อการรณรงค์และลงสมัครรับเลือกตั้ง

ขณะที่รังสิมันต์ สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ก็ระบุว่า เนื่องจากตัวเขามีคดีจากการทำกิจกรรมหลายคดีทั้งในศาลพลเรือนและศาลทหาร หากคดีใดมีผลออกมาก่อนมีการประกาศผลการเลือกตั้งก็อาจมีผลต่อคุณสมบัติในการลงสมัครหรือการเป็นผู้แทน แต่หากคดีมีคำพิพากษาหลังมีการประกาศรับรองผลเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯและอยู่ในสมัยประชุมก็อาจไม่กระทบกับการทำงานการเมืองมากนักเพราะจะมีเอกสิทธิ์คุ้มครองอยู่ อย่างไรก็ตามตัวเขามีความกังวลกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารมากกว่าศาลยุติธรรม
 
4 มิถุนายน 2562
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
วันนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์เป็นวันแรก ตั้งแต่เวลาประมาณ 8.30 น. มีกลุ่มประชาชนประมาณ 10 คนมารอฟังการพิจารณาคดีโดยในจำนวนนี้บางส่วนถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งคดีอื่นด้วย
 
สำหรับพยานโจทก์ที่มีกำหนดขึ้นเบิกความวันนี้คือพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารฝ่ายกฎหมายของคสช.ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาจำเลยทั้งเก้าในคดีนี้ พ.อ.บุรินทร์มาศาลโดยไม่ได้สวมเครื่องแบบทหาร
 
ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลาประมาณ 10.05 น. หลังศาลขึ้นบัลลังก์ได้เรียกชื่อให้จำเลยยืนขึ้นทีละคน เมื่อศาลขานชื่อจำเลยที่ไม่มาศาล ทนายจำเลยได้แถลงเหตุผลที่จำเลยไม่มาศาลและยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังเป็นรายบุคคล
 
ทนายของรังสิมันต์แถลงว่า ขณะนี้รังสิมันต์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอยู่ระหว่างสมัยประชุมจึงมีเอกสิทธิคุ้มครอง อย่างไรก็ตามรังสิมันต์ไม่ประสงค์จะใช้เอกสิทธิ์ของตัวเองเพราะจะทำให้กระบวนพิจารณาคดีล่าช้าและจะกระทบต่อจำเลยคนอื่นๆ จึงขออนุญาตให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยไม่ล่าช้า
 
ทนายของสิรวิชญ์แถลงว่า สิรวิชญ์มาศาลไม่ได้เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะที่ทนายของเอกชัยก็แถลงว่า เอกชัยถูกทำร้ายร่างกายจนแขนหัก แม้จะออกจากโรงพยาบาลแล้วแต่ยังอยู่ระหว่างการพักฟื้น ส่วนทนายของสุกฤษฎ์แถลงว่า สุกฤษฎ์กำลังศึกษาต่ออยู่ที่ต่างประเทศ แต่ได้มาแถลงขอศาลให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีลับหลังตั้งแต่ในนัดที่แล้ว ซึ่งศาลสั่งอนุญาตไว้แล้ว
 
ศาลชี้แจงกับทนายจำเลยว่า การแถลงขอพิจารณาคดีลับหลังในวันนี้ศาลยังไม่ได้ชี้แจงต่อหน้าตัวจำเลยว่า การไม่มาศาลจะเสียสิทธิอะไรบ้าง ศาลแจ้งว่า การที่จำเลยมาฟังการสืบพยานเองจะเป็นประโยชน์ต่อตัวจำเลยเพราะจำเลยอาจขอให้ทนายถามคำถามที่อาจตกหล่นได้ หากจำเลยไม่มาศาล แล้วมีการสืบพยานในลักษณะที่ทำให้จำเลยเสียประโยชน์แต่ทนายจำเลยไม่ได้ถามคำถามแก้ต่างไว้ จำเลยก็จะมาร้องต่อศาลภายหลังจนทำให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยไม่ราบรื่น
 
ศาลจึงอยากให้จำเลยมาฟังศาลด้วยตัวเองก่อนว่า การไม่มาฟังการพิจารณาคดีจะเสียสิทธิอะไรบ้าง หากยืนยันจะขอพิจารณาลับหลังก็ให้แถลงยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นต่อศาลไว้ ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า จำเลยบางคนอาจไม่สามารถมาศาลได้จริงๆ เช่น รังสิมันต์ที่จะติดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (5 มิถุนายน 2562) ส่วนจำเลยอย่างสิรวิชญ์และเอกชัยก็ต้องดูสภาพร่างกายของจำเลยอีกครั้ง
 
ศาลแจ้งทนายว่า หากจำเลยสามารถเดินทางมาศาลได้อยากให้เดินทางมาด้วยตัวเอง แต่หากจำเลยไม่สามารถมาศาลได้จริงๆ ขอให้ทำคำแถลงรับทราบว่า การพิจารณาคดีลับหลังจะทำให้จำเลยเสียสิทธิอะไรบ้าง และจำเลยสละสิทธิที่จะมาโต้แย้งในภายหลัง
 
ในนัดนี้เนติวิทย์และสมบัติซึ่งมาศาลได้ขออนุญาตให้ศาลพิจารณาคดีลับหลัง เนติวิทย์อ้างเหตุว่า กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาจึงติดขัดมาศาลไม่ได้ส่วนสมบัติแถลงว่า มีภารกิจในการทำงานอาจมาศาลไม่ได้ทุกนัด
 
ศาลถามย้ำจำเลยทั้งสองคนถึงการยอมรับกระบวนพิจารณาว่า หากในนัดที่ทั้งสองไม่มามีเหตุที่ทำให้ทั้งสองเสียเปรียบจะไม่มาคัดค้านในภายหลัง ทั้งสมบัติและเนติวิทย์แถลงยอมรับ ศาลแนะนำด้วยว่าแม้ศาลจะอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเ้ลยได้ แต่ในนัดที่จำเลยไม่มีภารกิจจำเป็นก็แนะนำให้มาศาลทุกนัดเพื่อประโยชน์ของตัวจำเลยเอง
 
ศาลแจ้งคู่ความว่า จะดำเนินการสืบพยานในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 หลังได้ชี้แจงเรื่องการเสียสิทธิหากจำเลยขอให้พิจารณาคดีลับหลังต่อจำเลยที่ไม่ได้มาศาลในวันนี้แล้ว หรือหลังได้รับหนังสือแสดงความจำนงขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจากตัวจำเลยกรณีที่จำเลยไม่สามารถมาศาลได้จริงๆ
 
จากนั้นอัยการแถลงว่าในวันที่ 5 มิถุนายน พ.อ.บุรินทร์ พยานปากแรกซึ่งเป็นผู้กล่าวหาจำเลยทั้งเก้าติดภารกิจไม่สามารถมาศาลได้ จึงขอเลื่อนการสืบพยานปากนี้ออกไปก่อนโดยจะสืบพยานลำดับถัดไปที่นัดหมายไว้แล้วส่วนพยานปากพ.อ.บุรินทร์จะขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานมาอีกครั้ง
 
วันนี้ ทนายของณัฎฐาได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 หนึ่งในข้อกล่าวหาที่ใช้กล่าวโทษจำเลยได้ถูกยกเลิกไปแล้วจึงขอให้ศาลจำหน่ายคดีในส่วนของข้อกล่าวหานี้ไป แต่อัยการแถลงว่า แม้คำสั่งฉบับดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปแล้วแต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 ที่ออกมายกเลิกคำสั่งฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 มีข้อยกเว้นไว้ว่า การยกเลิกคำสั่งดังกล่าว "ไม่กระทบถึงการดำเนินคดีหรือการปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนมีการยกเลิก" ศาลจึงให้ยกคำร้องที่ทนายของณัฎฐายื่นเข้ามา

5 มิถุนายน 2562
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่งส.อ.ศราวุธ ดวงแก้ว  ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย
 
ส.อ.ศราวุธเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเขารับราชการเป็นนายสิบส่งกำลังสายสรรพวุธ สังกัดกองพันซ่อมบำรุง กรมสนับสนุนที่ 12 เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ทำงานสนับสนุนเจ้าหน้าที่จากกกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ โดยเขามีหน้าที่เฝ้าติดตามการชุมนุมและปฏิบัติตามภารกิจอื่นที่คสช.มอบหมาย 
 
ระหว่างวันที่ 25 – 27 มกราคม 2561 เขาได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้หติดตามสถานการณ์การชุมนุมที่อาจผิดกฎหมาย จากการตรวจสอบข่าวสารบนเฟซบุ๊กพบว่ามีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดชุมนุมกันโดยในวันที่ 27 มกราคม 2561 
 
ส.อ.ศราวุธเบิกความต่อว่าในวันที่ 27 มกราคม 2561 เขาถูกส่งไปติดตามบันทึกภาพการทำกิจกรรมเสวนาที่สวนครูองุ่น ใกล้สถาบันปรีดีในซอยทองหล่อ เท่าที่จำได้เขาพบจำเลยคดีนี้ได้แก่วีระ และรังสิมันต์ ในงานเสวนาดังกล่าว ส่วนในงานเสวนาจะมีจำเลยคดีนี้คนอื่นๆอยู่ด้วยหรือไม่จำไม่ได้
 
ในวันเกิดเหตุเมื่อไปถึงสวนครูองุ่นเขาได้บันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวงานเสวนา เนื้อหางานเสวนาดังกล่าวพูดถึงการเลื่อนการเลือกตั้ง และมีการโจมตีคสช. ส.อ.ศราวุธเบิกความว่าการเสวนาดำเนินไปถึงเวลาประมาณ 17.00 น. ก็ยุติลง หลังจากนั้นคนที่มาร่วมงานก็แยกย้ายกันเดินทางไปที่สกายวอล์ก สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ ตัวเขาได้ติดตามไปที่สกายวอล์กด้วย
 
ส.อ.ศราวุธเบิกความว่าเมื่อไปถึงที่สกายวอล์กสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติก็พบว่ามีคนใช้โทรโข่งปราศรัย จำเลยคดีนี้ที่เขาเห็นที่สกายวอล์กมีรังสิมันต์ ณัฏฐา เนติวิทย์ อานนท์ เอกชัย และสุกฤษ กลุ่มคนดังกล่าวบางคนมีการใช้โทรโข่งปราศรัย ขณะที่วีระและสมบัติซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยเขาเห็นว่ากำลังให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวแต่จะยืนห่างออกไปจากคนกลุ่มแรกที่เขาเบิกความถึง 
 
ส.อ.ศราวุธเบิกความต่อว่าในที่ชุมนุมมีการปราศรัยโจมตีคสช. ตัวเขากับพวกก็ทำการบันทึกภาพทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว และรายงานสถานการณ์กับผู้บังคับบัญชา สำหรับการถ่ายภาพจะมีทั้งการถ่ายผู้ชุมนุมแบบรายคนและถ่ายแบบภาพมุมกว้าง สำหรับคำปราศรัยในที่เกิดเหตุก็มีการถอดเทปในภายหลัง
 
ส.อ.ศราวุธเบิกความว่าตัวเขาเป็นหนึ่งในคนที่ทำหน้าที่ถอดเทปคำปราศรัยด้วย เนื้อหาการปราศรัยที่จำได้คร่าวๆมีเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้ง เรื่องการไม่รักษาสัญญา สำหรับเนื้อหาของการถอดเทปตัวเขาเห็นว่าเข้าข่ายเป็นการยุยงปลุกปั่นประชาชน ส.อ.ศราวุธเบิกความด้วยว่าในที่เกิดเหตุยังมีการชูป้ายโจมตีพล.อ.ประวิตรเรื่องนาฬิกาด้วย สำหรับการถอดเทปเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็จะนำส่งผู้บังคับบัญชา 
 
ส.อ.ศราวุธเบิกความว่าก่อนวันเกิดเหตุเขากับพวกมีการติดตามบันทึกภาพข้อความที่มีคนโพสต์เชิญชวนคนไปร่วมชุมนุมนำเสนอผู้บังคับบัญชาด้วย อัยการแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่หนึ่ง (วีระ) ถามค้าน
 
ส.อ.ศราวุธเบิกความตอบทนายจำเลยที่หนึ่งว่าจากการตรวจสอบเฟซบุ๊กของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ไม่ปรากฎว่าเกี่ยวข้องกับวีระ หรือปรากฎว่าวีระไปโพสต์เฟซบุ๊กกับกลุ่มดังกล่าว ส.อ.ศราวุธเบิกความรับกับทนายจำเลยที่หนึ่งว่างานเสวนาที่สวนครูองุ่นเป็นหัวข้อคอรัปชัน 4.0 มีสื่อมวลชนไปในงานดังกล่าวด้วย สำหรับวีระไปในฐานะวิทยากรในงานดังกล่าว ส.อ.ศราวุธเบิกความด้วยว่าวีระพูดที่งานเสวนาในประเด็นเกี่ยวกับนาฬิกาของพล.อ.ประวิตร ไม่ได้พูดเรื่องอยากเลือกตั้ง
 
ทนายจำเลยถามว่าวีระมีการพูดเชิญชวนคนไปร่วมชุมนุมหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าเขาจำไม่ได้ ทนายจำเลยถามว่าส.อ.ศราวุธเดินทางไปที่สกายวอล์กสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติอย่างไร ส.อ.ศราวุธตอบว่าเขาขี่รถจักรยานยนต์ตามมาจากซอยทองหล่อ ทนายจำเลยถามว่าที่ส.อ.ศราวุธเบิกความว่าเห็นวีระให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนทราบหรือไม่ว่าวีระให้สัมภาษณ์เรื่องอะไร ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบเพราะเขาแค่เดินผ่าน โดยในบริเวณดังกล่าวก็มีประชาชนเดินไปเดินมาด้วย 
 
ทนายจำเลยขอให้ส.อ.ศราวุธชี้จุดที่วีระยืนสัมภาษณ์สื่อมวลชนบนแผนที่จำลองที่เกิดเหตุ ส.อ.ศราวุธไม่สามารถชี้จุดบนแผนที่ได้ เพราะจำไม่ได้ว่าวีระยืนอยู่จุดใด ทนายจำเลยถามว่านอกจากวีระมีบุคคลใดยืนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วย ตอบว่ามีสมบัติยืนอยู่ด้วยแต่จะมีคนอื่นอยู่อีกหรือไม่จำไม่ได้ ทนายจำเลยถามว่ามีระมีการปราศรัยในที่ชุมนุมหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่เห็นวีระกล่าวปราศรัยด้วยโทรโข่ง มีเพียงการให้สัมภาษณ์สื่อ และเอกสารถอดเทปคำปราศรัยก็ไม่มีของวีระ และวีระจะออกจากที่เกิดเหตุไปเมื่อใดตัวเขาก็ไม่ทราบ 
 
สำหรับเหตุการณ์โดยทั่วไปในที่ชุมนุม ส.อ.ศราวุธเบิกความตอบทนายจำเลยว่าเหตุการณ์เป็นไปโดยเรียบร้อย ส่วนจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาห้ามการชุมนุมหรือไม่เขาไม่แน่ใจ ทนายจำเลยที่หนึ่งแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่สอง (รังสิมันต์) ถามค้าน
 
ส.อ.ศราวุธเบิกความตอบทนายจำเลยว่าตามวินัยทหาร ทหารมีหน้าที่รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและรักษารัฐธรรมนูญ ส่วนขณะเกิดเหตุคดีนี้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บังคับใช้หรือไม่เขาไม่ทราบ ทนายจำเลยถามถึงคำสัญญาเรื่องการเลือกตั้งของคสช. ส.อ.ศราวุธเบิกความรับว่าเขาทราบเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้งอยู่บ้าง ว่ามีการสัญญาว่าจะให้มีการเลือกตั้งในปลายปี 2560 แต่ก็มีการเลื่อนออกไป
 
ทนายจำเลยถามว่าการปราศรัยของรังสิมันต์มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรบ้างส.อ.ศราวุธเบิกความว่ารังสิมันต์ปราศรัยเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้ง โดยที่เนื้อหาดังกล่าวมีการพูดในลักษณะที่อาจเป็นการยุยงปลุกปั่นได้ ส.อ.ศราวุธเบิกความตอบทนายจำเลยต่อไปว่านอกจากเรียกร้องการเลือกตั้งแล้วรังสิมันต์ยังปราศรัยถึงเรื่องนาฬิกาของพล.อ.ประวิตรด้วย
 
ทนายจำเลยถามส.อ.ศราวุธว่าทราบหรือไม่ว่าสถาบันปรีดีเป็นสถานที่เอกชนหรือราชการ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่าส.อ.ศราวุธทราบหรือไม่ว่าการจัดงานที่สวนครูองุ่นมีการขออนุญาตเจ้าของสถานที่แล้วหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่าตอนที่ส.อ.ศราวุธไปที่สวนครูองุ่นเห็นรังสิมันต์อยู่ที่นั่นด้วยหรือไม่ ส.อ.ศราวุธอ้ำอึ้งไปครู่หนึ่งก่อนจะตอบว่าไม่ทราบว่ารังสิมันต์ไปในที่สวนครูองุ่นด้วยหรือไม่ ก่อนจะเบิกความอีกครั้งว่ารังสิมันต์ไม่ได้ไปที่สวนครูองุ่นด้วย ทนายจำเลยให้ส.อ.ศราวุธดูเอกสารถอดเทปคำปราศรัยของรังสิมันต์จากนั้นขอให้ระบุว่าถ้อยคำใดที่ส.อ.ศราวุธเห็นว่ามีลักษณะเป็นการยุยงปลุกปั่น ส.อ.ศราวุธดูแล้วเบิกความว่าเป็นถ้อยคำ "แล้วอาศัยหน้ากากของความดีงามและโกงกินบ้านเมือง เราจะโค่นล้มมัน เราจะขับไล่มัน" โดยถ้อยคำดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายเป็นการปลุกระดมได้ นอกจากนั้นก็มีข้อความ "พอกันทีรั้วของชาติ พอกันทีกับคำที่ท่านบอกว่าท่านเท่านั้นที่จะปกป้องประเทศนี้ได้" 
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า ในวันเกิดเหตุนอกจากตัวส.อ.ศราวุธก็มีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบนายอื่นปฏิบัติหน้าที่อยู่ในที่เกิดเหตุด้วยใช่หรือไม่ แล้วพวกเขาปฏิบัติหน้าที่อะไร ส.อ.ศราวุธตอบว่ามีปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะคล้ายๆกันคือถ่ายภาพและบันทึกภาพเคลื่อนไหว ทนายจำเลยถามต่อว่าตัวส.อ.ศราวุธได้รับคำสั่งให้ยุติการชุมนุมด้วยหรือไม่ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่มีการสั่งการกับเขาดังที่ทนายจำเลยถาม

ทนายจำเลยถามว่าในที่ชุมนุมมีคนผ่านไปผ่านมา ทั้งคนที่จะมาห้างมาบุญครองและคนที่จะไปขึ้นรถไฟฟ้า ส.อ.ศราวุธสามารถแยกออกหรือไม่ว่าใครมาชุมนุม ใครแค่ผ่านทาง ส.อ.ศราวุธตอบว่าเขาไม่สามารถแยกได้ ทนายจำเลยถามต่อว่าหลังการปราศรัยรังสิมันต์เดินทางไปไหนต่อส.อ.ศราวุธทราบหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบเพราะเขาไม่ได้ติดตามไป ทนายจำเลยที่สองแถลงหมดคำถาม
 
ก่อนทนายจำเลยที่สามจะเริ่มถามคำถาม ศาลถามส.อ.ศราวุธว่าอยู่ในที่ชุมนุมตั้งแต่ต้นจนจบเลยใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าใช่
 
ตอบทนายจำเลยที่สาม (สิรวิชญ์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีการเลือกตั้งกับการปกครองแบบเผด็จการที่ไม่มีการเลือกตั้ง การปกครองแบบใดดีกว่ากัน ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่แน่ใจ ศาลไม่บันทึกคำถามข้อนี้พร้อมชี้แจงว่าจะบันทึกให้เฉพาะคำถามที่เป็นประเด็นแห่งคดี ทนายจำเลยถามว่าพยานปฏิญาณตนว่าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และพิทักษ์ไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขใช่หรือไม่ ข้อนี้ศาลไม่บันทึกคำถาม

ทนายจำเลยถามว่าการยึดอำนาจไม่ใช่การเข้าสู่อำนาจรัฐด้วยวิถีทางตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ข้อนี้ศาลไม่บันทึก ส.อ.ศราวุธบอกกับทนายจำเลยว่าเขาและเจ้าหน้าที่ในหน่วยของเขามีหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายเท่านั้น เขาไม่ทราบรายละเอียดอื่นๆ หลังจากนั้นศาลย้อนไปบันทึกคำถามของทนายเกี่ยวกับการปฏิญาณตนและการยึดอำนาจจากนั้นบันทึกคำตอบต่อว่าพยานไม่เกี่ยวข้อง
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าส.อ.ศราวุธได้ไปเลือกตั้งหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไปเพราะเป็นหน้าที่

ทนายจำเลยถามว่าส.อ.ศราวุธทราบหรือไม่ว่าประชาชนชาวไทยมีหน้าที่ปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ส.อ.ศราวุธตอบว่าเขาไม่ทราบในรายละเอียด ทนายจำเลยนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ให้ส.อ.ศราวุธดูแล้วถามว่าตามรัฐธรรมนูญบุคคลจะใช้สิทธิล้มล้างการปกครองไม่ได้ใช่หรือไม่  ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามว่าส.อ.ศราวุธเป็นผู้ช่วยฝ่ายกฎหมายเหตุใดจึงไม่ทราบเรื่องรัฐธรรมนูญ ส.อ.ศราวุธตอบว่าเขาไม่เคยอ่านรายละเอียดรัฐธรรมนูญ ทนายจำเลยให้ส.อ.ศราวุธดูมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องเสรีภาพการชุมนุม ศาลติงทนายว่าให้ถามคำถามเข้าประเด็นวันเกิดเหตุได้แล้ว ทนายจำเลยยืนยันต่อศาลว่าจำเป็นต้องถามคำถามเหล่านั้นเพราะจะนำสืบว่าการกระทำของจำเลยเป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ศาลจึงบันทึกคำถามของทนายในประเด็นสิทธิเสรีภาพให้ 
 
ทนายจำเลยถามว่าการปราศรัยของสิรวิชญ์มีการกล่าวถ้อยคำหยาบคายก้าวร้าวหรือไม่ หรือปลุกระดมให้ประชาชนไปทำลายทรัพย์สินทางราชการหรือทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าตัวเขาไม่มีความเห๋นเกี่ยวกับคำพูดเพราะมีแต่เพียงหน้าที่ถอดเทปส่งผู้บังคับบัญชา ทนายจำเลยถามว่านอกจากพูดเรื่องเลือกตั้งแล้วสิรวิชญ์ยังปราศรัยเรื่องนาฬิกาของพล.อ.ประวิตรด้วย
 
ทนายจำเลยถามว่าส.อ.ศราวุธทราบเรื่องนาฬิกาหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าได้ยินจากข่าวเท่านั้น เบื้องต้นศาลจะไม่บันทึกประเด็นเกี่ยวกับนาฬิกาให้แต่ทนายจำเลยขอให้ศาลบันทึกเนื่องจากประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับการปราศรัยเรื่องการคอรัปชันซึ่งเป็นประเด็นในคดี ศาลจึงบันทึกให้พร้อมบันทึกในสำนวนด้วยว่าได้เตือนทนายจำเลยไม่ให้ถามคำถามที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี 
 
ทนายจำเลยถามว่าการปราศรัยของสิรวิชญ์มีลักษระเป็นการติชมโดยสุจริตใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่าวันเกิดเหตุส.อ.ศราวุธเห็นพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพในที่เกิดเหตุหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่เห็นทั้งที่สวนครูองุ่นและที่สกายวอล์กหน้าหอศิลป์ ทนายจำเลยถามว่าส.อ.ศราวุธหรือพวกได้มีการไปร้องทุกข์ดำเนินคดีผู้จัดหรือผู้ร่วมกิจกรรมที่สวนครูองุ่นหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ได้ไปแจ้งความ 
 
ทนายจำเลยถามว่าบริเวณสกายวอล์ก สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติเป็นที่สาธารณะหรือที่ของเอกชน ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบ
 
ศาลถามทนายจำเลยว่าขณะนั้นเป็นเวลาเลยเที่ยงไปแล้ว หากทนายจำเลยยังมีคำถามอีกจำนวนมากควรพักการพิจารณาและไปถามพยานต่อช่วงบ่าย ทนายจำเลยแถลงไม่คัดค้าน เนื่องจากการสืบพยานช่วงเช้าเลยเวลาเที่ยงมา ศาลจึงนัดสืบพยานช่วงบ่ายต่อในเวลา 13.30 น.
 
ในเวลา 13.30 น. ศาลกลับขึ้นบัลลังก์อีกครั้งและเริ่มการพิจารณาคดีต่อทันที
 
ทนายจำเลยที่สามซึ่งถามคำถามพยานค้างไว้เริ่มถามคำถามต่อ
 
ทนายจำเลยถามว่าในที่เกิดเหตุนอกจากผู้ชุมนุมกับสื่อมวลชนมีเจ้าหน้าที่ปะปนอยู่ด้วยประมาณกี่คน ส.อ.ศราวุธตอบว่าเขาทราบเฉพาะเจ้าหน้าที่จากหน่วยเดียวกันซึ่งมีอยู่ 20 คน ทนายจำเลยถามว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบบริเวณนั้นประมาณกี่คน ส.อ.ศราวุธตอบว่าประมาณ 50 – 60 คน ทนายจำเลยถามว่ามีทั้งตำรวจท้องที่และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าเขาไม่ทราบว่าจะมีตำรวจจากหน่วยใดหรือชั้นยศใดบ้าง
 
ทนายจำเลยถามว่าเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจมีการบอกให้เลิกการชุมนุมหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบ แต่ในส่วนของเขาไม่ได้บอกให้เลิกชุมนุม และเขาก็ไม่เห็นว่าจะมีการประกาศผ่านโทรโข่งว่าให้เลิกการชุมนุมหรือไม่ 
 
ทนายจำเลยถามส.อ.ศราวุธว่า ทราบหรือไม่ว่าโดยปกติก็มีประชาชนมาจัดกิจกรรมที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ และเคยมีการจัดกิจกรรมเรื่องเสือดำที่หอศิลป์กรุงเทพ ส.อ.ศราวุธตอบว่าพอทราบอยู่บ้าง

ทนายจำเลยถามว่าส.อ.ศราวุธทราบความหมายของการชูสามนิ้วหรือไม่ จากนั้นทนายพูดต่อว่าความหมายของการชูสามนิ้วคือ เลือกตั้งภายในปีนี้ (2561) เผด็จการจงพินาศ และประชาธิปไตยจงเจริญ ส.อ.ศราวุธตอบว่าเขาไม่ทราบว่าความหมายของการชูสามนิ้วจะเป็นดังที่ทนายจำเลยบอกหรือไม่

ทนายจำเลยถามว่าในวันเกิดเหตุมีการชูสามนิ้วและตะโกนว่า เลือกตั้งปีนี้ เผด็จการจงพินาศ และประชาธิปไตยจงเจริญหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าเขาจำเหตุการณ์ไม่ได้เนื่องจากดูเทปการปราศรัยเพียงรอบเดียว ทนายจำเลยถามว่าข้อเรียกร้องทั้งสามถือเป็นข้อเสนอที่ชอบธรรมหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยที่สามแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่สี่ (ณัฎฐา) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่าในวันเกิดเหตุส.อ.ศราวุธมาถึงที่สกายวอล์กก่อนหรือหลังกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุม ส.อ.ศราวุธตอบว่าเขาตามมาทีหลัง ทนายจำเลยถามว่าโดยรวมข้อความที่จำเ้ลยพูดมีลักษณะเป็นการปลุกระดมหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าเขาไม่ทราบเนื่องจากเมื่อทำการถอดเทปเสร็จเขาก็ส่งเอกสารการถอดเทปต่อให้ผู้บังคับบัญชาเลย จึงไม่ทราบว่าถ้อยคำของจำเลยจะมีลักษณะเป็นการปลุกระดมหรือไม่

ทนายจำเลยถามว่าการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยที่สี่แถลงหมดคำถาม

ณัฎฐาลุกขึ้นแถลงต่อศาลขออนุญาตถามคำถามเพิ่มเติม ศาลแจ้งกับณัฎฐาว่าตามกระบวนการในการถามพยานหนึ่งปากจำเลยหนึ่งคนมีสิทธิใช้ทนายถามได้เพียงคนเดียว หากจำเลยต้องการถามพยานเองก็ควรถามเองแต่แรก

ศาลแนะนำให้ณัฎฐาเขียนคำถามให้ทนายถาม แต่ณัฎฐาบอกกับศาลว่าเกรงว่าการเขียนคำถามจะถามกะถามได้ไม่ครบถ้วน สุดท้ายณัฎฐาจึงใช้วิธีถามคำถามขึ้น จากนั้นทนายจำเลยจะต้องทวนคำถามเดิมเพื่อให้ส.อ.ศราวุธตอบ ระหว่างที่ณัฎฐาถามคำถามผ่านทนาย หากทนายไม่ทวนคำถามศาลจะเตือนว่าให้ทวนคำถาม
 
ณัฎฐาถามคำถามผ่านทนายของตัวเองว่าการเสวนาที่สวนครูองุ่นเป็นการเสวนาหัวข้อคอรัปชัน 4.0 ส.อ.ศราวุธทราบหรือไม่ว่าผู้ร่วมเสวนาเป็นคนกลุ่มใด และมีนักวิชาการชื่อเอกชัย ไชยนุวัติรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบ

ณัฎฐาถามต่อว่าที่มีการเสวนาครั้งดังกล่าวเป็นเพราะเวลานั้นประเทศไม่มีฝ่ายค้านมาสี่ปีแล้วใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบเพราะเขาไม่เกี่ยวข้อง รัฎฐาถามต่อว่าการประชุมสนช.มีฝ่ายค้านหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบ

ณัฎฐาถามต่อว่าการเสวนาครั้งนั้นมีการพูดเรื่องการทุจริตในต่างประเทศใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบ ณัฎฐาถามว่าเนื้อหาการเสวนามีการพูดเรื่องนาฬิกาหรูด้วยใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบ ณัฎฐาถามว่าระหว่างมีการจัดงานดังกล่าวสื่อมวลชนในประเทศไทยยังคงถูกคสช.ควบคุมการทำงานอยู่ใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบ

ณัฎฐาถามว่าการเสวนาที่จัดขึ้นถือเป็นการทำงานแทนฝ่ายค้านที่ไม่มีในขณะนั้นใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบ ณัฎฐาถามว่าการตรวจสอบการทุจริตถือเป็นการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่มีความเห็น ณัฎฐาแถลงผ่านทนายว่าหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่ห้า (อานนท์) ถามค้าน
 
เนื่องจากอานนท์ซึ่งเป็นจำเลยคดีนี้เป็นหนึ่งในคณะทนายที่ทำคดีนี้ด้วย ศาลจึงถามอานนท์ว่าจะถามเองหรือให้ทนายเป็นคนถาม อานนท์ตอบศาลให้คดีในส่วนของเขาได้มอบหมายให้ทนายเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดแล้ว ศาลจึงให้ทนายจำเลยเริ่มถามคำถาม ทนายจำเลยถามว่าข้อความ "นัดรวมพลประชาชนคนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านการสืบทอดอำนาจคสช." เป็นข้อความที่มีลักษณะยุยงปลุกปั่นหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่สามารถบอกได้

ทนายจำเลยถามว่าวันเกิดเหตุอานนท์พูดในที่ชุมนุมว่าตัวเองไปตรวจสอบการโกงที่อุทยานราชภักดิ์ ไปรำลึกการเลือกตั้งก็ถูกดำเนินคดีใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าขอยืนยันตามเอกสารถอดเทปคำปราศรัย ทนายจำเลยถามว่า ข้อความ "ขอให้ทุกคนสัญญาต่อกันสามข้อ เลือกตั้งปีนี้ ิเผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าเขาไม่สามารถให้ความเห็นได้

ทนายจำเลยถามว่าการเสวนาที่สวนครูองุ่นมีการตพูดเรื่องการเลือกตั้งหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่มีและไม่มีการดำเนินคดีกับบบุคคลที่ร่วมกิจกรรมดังกล่าว 
 
ทนายจำเลยนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาให้ส.อ.ศราวุธดูแล้วถามว่าในรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าขอยืนยันตามที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญ ทนายจำเลยถามว่าการเลือกตั้งส.ส. เป็ฯการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่อำนาจรัฐตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าขอยืนยันตามที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญ

ทนายจำเลยถามว่าการเรียกร้องการเลือกตั้งเป็นการเรียกร้องตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่สามารถให้ความเห็นได้ ทนายจำเลยถามว่าอานนท์มาปราศรัยโดยไม่ได้มีการพกอาวุธมาด้วยใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าใช่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่หก (เอกชัย) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่าเอกชัยเกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความเชิญชวนคนมาชุมนุมหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่เกี่ยว ทนายจำเลยถามว่าส.อ.ศราวุธเคยทราบข่าวเอกชัยถูกทำร้ายร่างกายหรือเผารถยนต์บ้างหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าเห็นจากรายงานข่าว

ทนายจำเลยถามว่าเอกชัยปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงด้วยหรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าเอกชัยไม่ได้ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสีย แต่มีลักษระเป็นการยืนพูดเฉยๆโดยพูดเรื่องนาฬิกา  เท่าที่ทราบเอกชัยน่าจะพูดแต่เรื่องนาฬิกาเพียงเรื่องเดียว

ทนายจำเลยถามว่าที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์เคยสัญญาเรื่องการจัดการเลือกตั้งแต่ก็มีการเลื่อนออกมาห้าครั้งแล้วใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าเป็นไปตามเอกสารข่าวที่ทนายจำเลยนำมาให้ดู ทนายจำเลยถามว่าที่มีการเลื่อนการเลือกตั้งจากปลายปี 2561 เป็นปี 2562 เป็นเพราะสนช.ออกกฎหมายให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีผลบังคับให้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาครบ 90 วันใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าน่าจะใช่

ทนายจำเลยถามว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนๆมีการกำหนดบทบัญญัติในลักษณะนี้ไว้หรือไม่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่เจ็ด (สุกฤษฎ์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่าการเรียกร้องการเลือกตั้งถือเป็นสิทธิใช่หรือไม่ ส.อ.ศราวุธตอบว่าเขาไม่มีความเห็น ทนายจำเลยถามเนื้อหาการปราศรัยของ สุกฤษฎ์เป็นคำพูดธรรมดาหรือถ้อยคำที่มีความรุนแรง  ส.อ.ศราวุธตอบว่าเป็นคำพูดธรรมดา

ทนายจำเลยถามว่าเนื่องจากคดีนี้มีการปราศรัยเกี่ยวกับการทุจริตเลยขอถามว่า ส.อ.ศราวุธเคยได้ยินข่าวการทุจริตของรัฐบาลคสช.หรือไม่  ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบข่าว  ส.อ.ศราวุธทนายจำเลยถามว่าแล้วทราบหรือไม่ว่าเคยมีคนถูกดำเนินคดีเพราะตรวจสอบการคอรัปชัน  ส.อ.ศราวุธตอบว่าเคยได้ยินข่าว

ทนายจำเลยถามว่าหลังการปราศรัยทราบหรือไม่ว่าสุกฤษฎ์ไปที่ใด  ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่าหลังเกิดเหตุคดีนี้ รัฐบาลที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในขณะนั้นยังสามารถบริหารประเทศได้ตามปกติใช่หรือไม่  ส.อ.ศราวุธตอบว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่าหลังเกิดเหตุ ส.อ.ศราวุธได้ทำรายงานว่าการชุมนุมเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินหรือชีวิตใดๆหรือไม่  ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ได้ทำเพราะไม่มีความเสียหาย ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่แปด (เนติวิทย์) ถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่าเอกสารถอดเทปทุกแผ่น  ส.อ.ศราวุธลงรายมือชื่อไว้ทั้งหมดใช่หรือไม่  ส.อ.ศราวุธตอบว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่าตามคำทอดเทปของเนติวิทย์ที่ ส.อ.ศราวุธทำการถอดเทปเป็นเรื่องจริงใช่หรือไม่  ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบว่าสิ่งที่เนติวิทย์พูดเป็นจริงหรือไม่ เขาเพียงแต่ถอดเทปและส่งผู้บังคับบัญชาเท่านั้น

ทนายจำเลยถามว่าทราบหรือไม่ว่าสิ่งที่เนติวิทย์พูดได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ  ส.อ.ศราวุธตอบว่าเขาไม่ทราบว่าสิ่งที่เนติวิย์พูดจะได้รับการคุ้มครองหรือไม่  ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม 
 
ตอบทนายจำเลยที่เก้า (สมบัติ) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่าเฟซบุ๊กที่ ส.อ.ศราวุธใช้เข้าไปเฟซบุ๊กของจำเลยในคดีนี้คือบัญชีเฟซบุ๊กใด  ส.อ.ศราวุธตอบว่าใช้ชื่อว่า "คนไทย เลยขอ" ทนายจำเลยถามว่า ทราบหรือไม่ว่าพ.อ.บุรินทร์ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่ออะไร 

ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่าทหารที่ทำหน้าที่ติดตามผู้ชุมนุมหรือนักกิจกรรมใช้บัญชีเฟซบุ๊กใดกันบ้าง  ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่ทราบ ส่วนการติดตามนักกิจกรรมหรือกลุ่มกิจกรรมจะใช้วิธีกดถูกใจเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มกิจกรรมต่างๆ 
 
ทนายจำเลยถามว่าในวันเกิดเหตุ ส.อ.ศราวุธได้มีการไปติดประกาศห้ามชุมนุมในพื้นที่หรือไม่  และมีการติดประกาศเตือนว่าพื้นที่ดังกล่าวใกล้ที่ประทับหรือไม่  ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่มี ทนายจำเลยถามว่าเห็นป้ายเตือนเรื่องที่ประทับหรือไม่  ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่เห็นและไม่เหก็นว่ามีป้ายบอกระยะห่างจากวังสระปทุม

ทนายจำเลยถามว่าในวันเกิดเหตุสมบัติยืนให้สัมภาษณ์อยู่บริเวณใด  ส.อ.ศราวุธตอบว่าจำไม่ได้ ทนายจำเลยถามว่าสมบัติมีการปราศรัยออกทางโทรโข่งหรือไม่  ส.อ.ศราวุธตอบว่าสมบัติไม่ได้ปราศัยผ่านโทรโข่ง ได้แต่ยืนให้สัมภาษณ์ 

ทนายจำเลยถามว่าที่ผู้ชุมนุมคัดค้านการสืบทอดอำนาจมีมูลเหตุที่น่าจะเป็นจริงหรือไม่  ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่มีความเห็น ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบอัยการถามติง
 
อัยการถามว่าที่ ส.อ.ศราวุธไม่ทำการจับจำเลยในวันเกิดเหตุเป็นเพราะอะไร  ส.อ.ศราวุธตอบว่าเพราะเขาได้รับคำสั่งมาให้ติดตามเท่านั้นไม่ได้มีคำสั่งให้ทำการจับกุม

อัยการถามว่าที่ทนายจำเลย ส.อ.ศราวุธเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง  ส.อ.ศราวุธมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆหรือไม่  ส.อ.ศราวุธตอบว่าไม่มี อัยการถามว่าที่ ส.อ.ศราวุธเบิกความว่าทราบว่ามีการจัดคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมบริเวณลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพ แต่บริเวณดังกล่าวไม่ใช่สถานที่จัดการชุมนุมในคดีนี้ใช่หรือไม่  ส.อ.ศราวุธตอบว่าใช่ อัยการแถลงหมดคำถาม
 
เนื่องจากการสืบพยานปากนี้ใช้เวลาทั้งวันเพราะทนายจำเลยแต่ละคนมีคำถามมาก ศาลจึงแนะนำว่านัดต่อๆไปน่าจะนำพยานมาสืบนัดละปากเพื่อไม่ให้พยานต้องเสียเวลามาศาลแล้วไม่ได้เบิกความ
 
28 สิงหาคม 2562
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
การสืบพยานวันนี้ ช่วงแรกมีเพียงจำเลยคดีนี้มา แต่ในเวลาประมาณ 10.00 น. มีจำเลยคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าหอศิลป์ (คดีผู้ร่วมชุมนุม) ที่เสร็จสิ้นจากการฟังคำสั่งคดีที่สำนักงานอัยการแขวงดุสิตเดินทางมาสังเกตการณ์คดีนี้ด้วย
 
สืบพยานโจทก์ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ เลิศไกร เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบแฝงตัวในที่ชุมนุม 
 
พ.ต.ท.สุรศักดิ์เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นรองผู้กำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ เช่นกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กลุ่มพลเมืองโต้กลับ กลุ่ม Start Up People โดยได้ติดตามกลุ่มเหล่านี้มาตั้งแต่สมัยปี 2558 ตั้งแต่การทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หน้าหอศิลป์กรุงเทพ และที่ซอยทองหล่อ
 
พ.ต.ท.สุรศักดิ์เบิกความว่า การชุมนุมในคดีนี้เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 โดยมีแกนนำกลุ่มเดียวกันได้แก่ รังสิมันต์และสิรวิชญ์ ในการชุมนุมแต่ละครั้งจะมีคนร่วมชุมนุมประมาณหนึ่งร้อยถึงสามร้อยคน 
 
พ.ต.ท.สุรศักดิ์เบิกความว่าเกี่ยวกับคดีนี้มีการตรวจสอบพบว่า ในวันที่ 25 มกราคม 2561 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยและกลุ่ม Start Up People โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเชิญชวนกลุ่มประชาชนมาร่วมชุมนุมที่สกายวอล์กใกล้ห้างมาบุญครอง จากนั้นในวันเกิดเหตุ 27 มกราคม 2561 ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้พ.ต.ท.สุรศักดิ์กับพวกอีกสิบคนแต่งกายนอกเครื่องแบบเข้าไปแฝงตัวในพื้นที่การชุมนุม
 
พ.ต.ท.สุรศักดิ์เบิกความว่า ตัวเขาเข้าประจำการในพื้นที่เกิดเหตุตั้งแต่เวลา 16.00 น. จากนั้นในเวลาประมาณ 17.30 น. รังสิมันต์ สิรวิชญ์ อานนท์ ณัฎฐา สุกฤษฎ์ และเอกชัยทยอยเดินทางมาถึงในพื้นที่การชุมนุม เมื่อมาถึงกลุ่มดังกล่าวใช้โทรโข่งปราศรัยเรียกร้องให้ประชาชนออกมาต่อต้าน คสช. ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ และเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว โดยเท่าที่จำได้บุคคลที่เบิกความถึงเมื่อครู่สลับกันขึ้นปราศรัย
 
พ.ต.ท.สุรศักดิ์เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุการชุมนุมเกิดขึ้นตั้งแต่เวลา 17.30 น. และจบลงเวลา 19.00 น. มีคนมาร่วมการชุมนุมประมาณ 150 คน ในที่ชุมนุมนอกจากกลุ่มบุคคลที่เบิกความถึงก็มีสมบัติและวีระเดินทางมาในพื้นที่การชุมนุมด้วย เจ้าหน้าที่มารายงานว่า ทั้งสองให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในลักษณะเห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่มแกนนำในครั้งนี้ หลังการชุมนุมตัวเขาก็ทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชา 
 
พ.ต.ท.สุรศักดิ์เบิกความว่า เขาและเจ้าหน้าที่คนอื่นนำภาพถ่ายจากที่เกิดเหตุไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรเพื่อระบุตัวตนของคนที่มาร่วมชุมนุม โดยบุคคล 30 กว่าคนที่ระบุตัวตนมาเป็นบุคคลที่เจ้าหน้าที่มีข้อมูลว่า ร่วมนุมนุมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ขณะที่กลุ่มแกนนำก็เป็นบุคคลกลุ่มเดิม ในความเห็นของเขาการชุมนุมครั้งนี้จึงน่าจะเป็นการชุมนุมที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2558
 
พ.ต.ท.สุรศักดิ์ เบิกความว่า ก่อนเลิกการชุมนุม กลุ่มแกนนำมีการนัดหมายให้ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมมาชุมนุมกันอีกครั้งแต่จะเป็นสถานที่ใดจำไม่ได้ อัยการแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่หนึ่ง (วีระ) ถามค้าน
 
พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ตั้งแต่ปี 2558 ทางเจ้าหน้าที่เคยทำฐานข้อมูลว่า มีประชาชนกลุ่มใดที่ออกมาชุมนุมบ้าง แต่เมื่อทนายจำเลยถามว่าในฐานข้อมูลดังกล่าวปรากฎว่าวีระเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มกิจกรรมเหล่านี้หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่าไม่ปรากฎว่าวีระเป็นสมาชิกกลุ่มใด 
 
ทนายจำเลยถามว่า ข้อความบนเฟซบุ๊กนี่มีการโพสต์เชิญชวนคนมาชุมนุมมีลักษณะเป็นการเชิญชวนแบบทั่วไป ส่วนจะมีใครมาร่วมชุมนุมบ้างผู้โพสต์ก็ไม่อาจทราบได้ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า วันเกิดเหตุวีระกล่าวปราศรัยหรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า เขาเห็นวีระในที่เกิดเหตุ แต่วีระไม่ได้ยืนกับผู้ชุมนุมเพียงแต่ยืนให้สัมภาษณ์กับสื่อ สำหรับคำให้สัมภาษณ์ของวีระ พ.ต.ท.สุรศักดิ์เบิกความว่า เขาไม่ได้ฟังการสัมภาษณ์ด้วยตัวเองแต่ทราบจากเอกสารในภายหลัง ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่สอง (รังสิมันต์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.สุรศักดิ์ติดตามความเคลื่อนไหวของรังสิมันต์มาตั้งแต่เมื่อใด พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาในปี 2557 โดยทราบว่า ในขณะเกิดเหตุรังสิมันต์เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับการติดตามกลุ่มของรังสิมันต์ เป็นเพราะรังสิมันต์กับพวกมีพฤติการณ์ต่อต้าน คสช. ต่อต้านการรัฐประหาร 2557 

พ.ต.ท.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบคดีนี้ข้อเรียกร้องของรังสิมันต์ คือ ให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว รวมทั้งเปิดเผยเรื่องการทุจริตเกี่ยวกับนาฬิกา สำหรับคำปราศรัยของรังสิมันต์ตัวเขาเดินไปมาในที่เกิดเหตุก็พอจะได้ยินอยู่บ้าง สำหรับเอกสารการถอดเทปคำปราศรัยทางตำรวจนครบาลเป็นผู้จัดทำ ตัวเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ยืนยันว่า เท่าที่พอจะได้ยินรังสิมันต์ปราศรัย เมื่อดูจากเอกสารถอดเทปคำปราศรัยก็พบว่า มีถ้อยคำตรงกัน ทนายจำเลยถามว่าที่รังสิมันต์ปราศรัยเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้งก็มีการเลื่อนการเลือกตั้งเกิดขึ้นใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์รับว่า ใช่
 
ทนายจำเลยถามว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้รังสิมันต์ลงสมัครและได้รับเลือกตั้งตามระบบใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่สาม (สิรวิชญ์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุถือเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า เท่าที่สังเกตเป็นเช่นนั้นและยอมรับว่าขณะที่มีการชุมนุมและหลังการชุมนุมก็ไม่ได้มีเหตุวุ่นวายใดๆ 
 
ทนายจำเลยถามว่าถ้อยคำปราศรัยของจำเลยที่สามและจำเลยอื่นๆ ในคดีนี้ไม่ได้เชิญชวนคนออกมาทำการกระด้างกระเดื่อง หรือออกมาก่อความไม่สงบใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยให้พ.ต.ท.สุรศักดิ์ดูรัฐธรรมนูญและถามว่า คำปราศรัยเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งถือเป็นการปราศรัยในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทย ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ 
 
ทนายจำเลยถามว่า เสรีภาพในการชุมนุม ถือเป็นเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 44 ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ใช่และขยายความต่อว่านอกจากรัฐธรรมนูญจะมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการชุมนุมหรือไม่ เขาไม่ทราบ ทนายจำเลยถามต่อว่า หากกฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญต้องถือว่า กฎหมายนั้นใช้ไม่ได้ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์รับว่า ใช่
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า ข้อความ "หยุดสืบทอดอำนาจ" ข้อความ "ต้านการสืบทอดอำนาจ" อยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดวิธีการเข้าสู่อำนาจรัฐเอาไว้แล้วแต่การสืบทอดอำนาจการรัฐประหารไม่ถือเป็นวิถีทางรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบทำนองว่า แม้ไม่ใช่วิถีทางตามรัฐธรรมนูญแต่ก็ต้องถือว่าเข้าสู่อำนาจเรียบร้อยแล้ว ศาลแจ้งทนายจำเลยว่า ประเด็นนี้น่าจะไม่ใช่สาระแห่งคดีและไม่บันทึกคำถามคำตอบลงในสำนวนคดี
 
ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.สุรศักดิ์ทราบหรือไม่ว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้สิรวิชญ์เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ทราบ ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.สุรศักดิ์ทราบหรือไม่ว่า ชื่อกลุ่ม Start Up People ของสิรวิชญ์หมายความว่าอย่างไร พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่า การรวมกลุ่มไม่ว่าจะตั้งเป็นพรรคการเมืองหรือกลุ่มกิจกรรมเป็นสิ่งที่ประชาชนทำได้ตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์แย้งทนายจำเลยว่า ขอให้ถามอยู่ในประเด็นเหตุการณ์ที่สกายวอล์กแต่ก็ย้อนมาตอบว่า การรวมกลุ่มสามารถทำได้
 
ทนายจำเลยถามว่า เท่าที่ติดตามการทำกิจกรรมของสิรวิชญ์มาตั้งแต่ปี 2558 ตอนที่เขาทำกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลักร่วมกับอานนท์ จำเลยอีกคนในคดีนี้ สิรวิชญ์ทำกิจกรรมโดยสงบใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า สิรวิชญ์มีสิทธิปราศรัยได้ หากบุคคลใดรู้สึกว่า เสียหายจากการปราศรับก็สามารถดำเนินคดีหมิ่นประมาทได้ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่าใช่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่สี่ (ณัฎฐา) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า ข้อความเชิญชวนประชาชนร่วมชุมนุมในเฟซบุ๊กที่เป็นหลักฐานคดีนี้ไม่ปรากฎชื่อของณัฎฐาใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.ท.สุรศักดิ์ได้ฟังคำปราศรัยของณัฎฐาหรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า เขาไม่ได้ฟังการปราศรัยของณัฎฐาเอง แต่ดูจากบันทึกภาพและถ้อยคำ-ปราศรัยที่มีเจ้าหน้าที่จัดทำรายงานในภาพรวม 
 
ทนายจำเลยถามว่า ตามเอกสารถอดเทปคำปราศรัยณัฐฎาเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีปิดปากผู้เห็นต่าง แต่ไม่มีการเรียกร้องให้ประชาชนออกมาก่อความรุนแรงถ้า คสช. ไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของทางกลุ่มใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ แต่การปราศรัยของณัฎฐาจะเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือไม่นั้นไม่ทราบ สำหรับกระบวนการสอบสวนคดีนี้พ.ต.ท.สุรศักดิ์เบิกความว่า เขาไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ 
 
ทนายจำเลยถามว่า หลังการชุมนุม รัฐบาลยังคงใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินได้ตามปกติใช่หรือไม่ และ คสช. ยังคงบริหารราชการแผ่นดินได้ตามปกติใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่ามีเหตุการณ์ปั่นป่วนวุ่นวายหลังการชุมนุมยุติหรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่มี ทนายจำเลยที่สี่แถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่ห้า (อานนท์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.สุรศักดิ์ได้ยินอานนท์ปราศัยหรือไม่  พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่แน่ใจ แต่ยืนยันได้ว่า เห็นอานนท์ในที่เกิดเหตุ ทนายจำเลยถามว่า สาระสำคัญของการชุมนุมในคดีนี้ คือ การเรียกร้องการเลือกตั้งใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า ในที่เกิดเหตุมีการติดป้ายเตือนว่า เป็นเขตหวงห้ามชุมนุมเพราะอยู่ห่างจากที่ประทับของเจ้านายไม่ถึงระยะที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่เห็น ทนายจำเลยถามว่า จำเลยในคดีนี้เป็นบุคคลที่มีการศึกษา และมีหน้าที่การงานดี ที่ถูกดำเนินคดีเป็นเพราะเห็นต่างจากผู้มีอำนาจใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบ 
 
ทนายจำเลยถามว่าข้อความ "แสดงพลังต่อต้านการสืบทอดอำนาจ" ตีความได้ว่าอย่างไร พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า เขาไม่สามารถตีความได้ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ทนายจำเลยที่หก (เอกชัย) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า ที่พ.ต.ท.สุรศักดิ์ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองมาตั้งแต่ปี 2558 การชักชวนกันชุมนุมของกลุ่มคนดังกล่าวมีการนัดหมายการชุมนุมอย่างเปิดเผยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า คนที่มาร่วมชุมนุมเดินทางมาในลักษณะต่างคนต่างมาใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า บางส่วนมากันเอง บางส่วนเหมารถตู้กันมา ทนายจำเลยถามว่า เอกชัยได้โพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมหรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่พบว่าเอกชัยโพสต์เชิญชวน
 
ทนายจำเลยถามว่า เท่าที่ตรวจสอบประวัติ เอกชัยเพิ่งมาเริ่มเคลื่อนไหวเรื่องนาฬิกาช่วงประมาณปี 2560 หรือ 2561 ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า เอกชัยเคยเคลื่อนไหวการเมืองมาก่อนหน้านี้แล้ว ทนายจำเลยถามว่า ที่ผ่านมาเอกชัยมักไปเคลื่อนไหวเรื่องนาฬิกากับเพื่ออีกคนหนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นจำเลยคดีนี้ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า เอกชัยเพียงแต่ยืนถือภาพไวนิลรูปนาฬิกาแต่ไม่ได้กล่าวปราศรัยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า เขาจำไม่ได้ว่าเอกชัยปราศรัยหรือไม่และปราศรัยว่าอะไร ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่เจ็ด (สุกฤษฎ์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า สุกฤษฎ์ ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมหรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ได้โพสต์เชิญชวน ทนายจำเลยถามว่า เท่าที่พ.ต.ท.สุรศักดิ์ทราบผู้ชุมนุมมีเจตนาให้มีการจัดการเลือกตั้งใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.ท.สุรศักดิ์ได้ฟังสุกฤษฎ์ปราศรัยหรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า จำไม่ได้ว่าได้ฟังหรือไม่ ทนายจำเลยถามว่า ตามเอกสารสุกฤษฎ์วิจารณ์ คสช .เรื่องทุจริต และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ขอยืนยันตามเอกสาร ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่แปด (เนติวิทย์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า ภาพถ่ายจากที่เกิดเหตุและภาพจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์มีทั้งจำเลยคดีนี้และคนที่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีนี้ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า ในวันเกิดเหตุเนติวิทย์ได้ขึ้นปราศรัยด้วยหรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า เขาไม่แน่ใจว่า เนติวิทย์ขึ้นปราศรัยด้วยหรือไม่ ทราบแค่ว่า เนติวิทย์อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่จะมาถึงที่เกิดเหตุเมื่อใดและกลับไปเมื่อใดไม่ทราบ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่เก้า (สมบัติ) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า สมบัติได้ขึ้นปราศรัยหรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า เขาจำไม่ได้และไม่เห็นตอนสมบัติปราศรัย ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.สุรศักดิ์เห็นตอนที่สมบัติให้สัมภาษณ์หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า เขาไม่เห็นการให้สัมภาษณ์ แต่ทราบเรื่องจากรายงานของเจ้าหน้าที่คนอื่น ทนายจำเลยถามว่า วันเกิดเหตุนอกจากจำเลยคดีนี้ก็มีกลุ่มนักศึกษา นักวิชาการ และกลุ่มประชาชนที่อายุเยอะมาร่วมชุมนุมด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ใช่ 
 
ทนายจำเลยถามว่า สมบัติต่อต้านการรัฐประหารใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า สมบัติมักทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะสร้างสรรค์ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ทราบว่าสมบัติทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่จะสร้างสรรค์หรือไม่ไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่า สมบัติไม่ได้ทำกิจกรรมที่มีลักษณะใช้ความรุนแรงใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า เท่าที่ทราบไม่มีการจัดกิจกรรมที่ใช้ความรุนแรง ทนายจำเลยถามว่า นอกจากการทำกิจกรรมการเมืองสมบัติก็ทำงานด้านสังคมเช่นมูลนิธิกระจกเงาที่ทำเรื่องคนหายด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบอัยการถามติง 
 
อัยการถามว่า การชุมนุมครั้งนี้มีการนัดหมายเชิญชวนคนมาร่วมชุมนุมอีกในครั้งต่อไปใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่า ใช่ อัยการถามว่าจำเลยคดีนี้มีการชวนคนออกมาแสดงสัญลักษณ์ไม่ยอมรับอำนาจ คสช. ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ตอบว่าใช่ อัยการแถลงหมดคำถาม
 
หลังการสืบพยานแล้วเสร็จ อัยการหารือกับศาลว่า มีพยานปากหนึ่งซึ่งส่งหมายเรียกไปแต่ไม่ได้รับหมายถึงสองครั้ง ศาลจึงให้ตัดพยานปากนั้น ขณะที่ณัฎฐาก็แถลงต่อศาลว่าตัวเธอต้องไปประกอบอาชีพ ไม่สามารถมาศาลได้ทุกนัด ประกอบกับมีทนายว่าความให้แล้วจึงขออนุญาตศาลให้พิจารณาคดีลับหลัง ศาลอนุญาต
 
30 สิงหาคม 2562
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
เวลา 9.20 น. โจทก์, วีระ สมความคิด จำเลยที่หนึ่ง, ณัฏฐา มหัทธนา จำเลยที่สี่และทนายจำเลยทั้งเก้าคนมาถึงห้องพิจารณาคดี โดยมีอเลกซานเดอร์ โนวัค ตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยและกลุ่มเพื่อนนักกิจกรรมร่วมสังเกตการณ์
 
เวลา 9.35 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ณัฏฐา แถลงต่อศาลว่า วันนี้มีอเลกซานเดอร์ โนวัค ตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีด้วย ศาลถามว่า สังเกตการณ์คือ ฟังเฉยๆ ไม่ได้มีการบันทึกใช่หรือไม่ ณัฏฐาตอบว่า ใช่ จากนั้นจึงเริ่มการสืบพยาน
 
พยานโจทก์ปากพล.ต.ต.จุมพล พุ่มพวง ตำรวจผู้สังเกตการณ์การชุมนุม
 
พล.ต.ต.จุมพลเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นรองผู้บังคับการสืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้รับมอบหมายให้สืบสวนหาผู้กระทำความผิดคดีทุกประเภทในเขตกรุงเทพมหาคร วันที่ 25 มกราคม 2561 ได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่า มีเพจกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และอีกหลายเพจลงข้อความชักชวนให้คนมาชุมนุมกันที่สกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน ในวันที่ 27 มกราคม 2561
 
วันเกิดเหตุในคดีนี้คือ วันที่ 27 มกราคม 2561 พล.ต.ต.จุมพล เดินทางไปถึงที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 15.00 น. ต่อมาเวลา 17.00 น. จึงเริ่มมีการชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมพูดในลักษณะเชิญชวนให้ประชาชนที่เดินผ่านไปผ่านมาเข้าร่วมการชุมนุมผ่านโทรโข่งขนาดเล็ก มีการโจมตีการทำงานของรัฐบาล บุคคลที่ขึ้นพูดคนแรก คือ รังสิมันต์ หลังจากที่รังสิมันต์เริ่มพูดได้สั่งการให้ตำรวจสน.ปทุมวัน และฝ่ายสืบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาลบันทึกภาพไว้ ขณะเดียวกันยังมีเจ้าหน้าที่ทหารมาร่วมบันทึกภาพด้วย
 
ระหว่างที่พล.ต.ต.จุมพลอยู่ในที่เกิดเหตุก็เดินตรวจตราไปมาโดยรอบไม่ได้ประจำอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เท่าที่จำได้มีรังสิมันต์, สิรวิชญ์, ณัฏฐา, อานนท์ที่ร่วมชุมนุมและปราศรัย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนแต่จำไม่ได้ อย่างไรก็ตามมีเจ้าหน้าที่ได้บันทึกภาพวิดีโอไว้ วัตถุประสงค์ในการปราศรัย คือ โจมตีการทำงานของรัฐบาลและ คสช. เชิญชวนประชาชนให้ออกมาต่อต้านรัฐบาล นอกจากบุคคลที่ปราศรัยแล้วยังมีบุคคลอีกส่วนที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน คือ วีระ สมความคิดและสมบัติ บุญงามอนงค์ รายละเอียดการให้สัมภาษณ์พล.ต.ต.จุมพล จำไม่ได้
 
ส่วนจำนวนคนที่เข้าร่วมชุมนุมไม่สามารถรวมยอดได้เพราะบริเวณที่ชุมนุมมีประชาชนเดินผ่านไปมาตลอด แต่คาดว่า ไม่น้อยกว่า 100 คน  พล.ต.ต.จุมพล ไม่ทราบว่า การชุมนุมสิ้นสุดเมื่อใด เนื่องจากเดินทางกลับก่อน เวลาสิ้นสุดการชุมนุม คือ เวลาประมาณ 19.00 น. หลังจากการชุมนุม.oวันเกิดเหตุแล้วมีการชุมนุมวันที่10 กุมภาพันธ์ 2561 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วัตถุประสงค์เพื่อโจมตีการทำงานของรัฐบาล ชวนให้ประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาล
 
เวลา 10.00 น. ระหว่างที่ศาลกำลังรออัยการดูเอกสารเพื่อถามพยานต่อนั้น ศาลได้แจ้งว่า “จำเลยที่สี่ฟังและทุกคนในห้องฟังด้วย ศาลไม่อนุญาตให้เล่นโทรศัพท์มือถือในห้องพิจารณาคดีและห้ามบันทึกข้อมูลทั้งสิ้น”
 
พล.ต.ต.จุมพลเบิกความต่อว่า เขาได้ทราบภายหลังว่า คสช. ได้มอบอำนาจให้ทหารมาร้องทุกข์ที่สน.ปทุมวัน เขาเคยได้รับรายงานจากกองบังคับการนครบาลห้าและหกว่า ก่อนหน้าวันเกิดเหตุกลุ่มผู้ชุมนุมมีการชุมนุมหลายครั้งในพื้นที่ของสน.ปทุมวัน สำราญราษฎร์ ลุมพินีและทองหล่อ หลังจากวันเกิดเหตุก็ยังมีการชุมนุมอีก เหตุการณ์การชุมนุมเกิดขึ้นหลายครั้ง จำเลยทั้งเก้าไปปรากฏในเหตุการณ์อื่นๆ เป็นบางครั้งเท่านั้นและไม่ใช่ทุกคนที่จะปรากฏในที่ชุมนุมครั้งอื่น
 
ทนายจำเลยที่หนึ่ง (วีระ) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งให้พล.ต.ต.จุมพลดูเอกสารและถามว่า วีระ สมความคิด จำเลยที่หนึ่งได้โพสต์สนับสนุนและยืนยันว่า จะไปร่วมชุมนุมหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลดูแล้วตอบว่า ไม่มีข้อความดังกล่าว ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ที่พล.ต.ต.จุมพลตอบอัยการไปว่า วีระ สมความคิดให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน พล.ต.ต.จุมพลได้เห็นด้วยตาตนเองหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ไม่เห็น แต่เห็นตามรายงานของผู้ใต้บังคับบัญชา
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งให้พล.ต.ต.จุมพลอ่านข้อความถอดเทปคำสัมภาษณ์ของวีระ และถามว่า ข้อความดังกล่าวมีลักษณะยุยงปลุกปั่นหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ขออนุญาตไม่ออกความเห็น เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน ส่วนข้อความดังกล่าวจะถูกต้องหรือไม่ จำไม่ได้ ทนายจำเลยที่หนึ่งจึงอ่านข้อความที่วีระให้สัมภาษณ์ให้ฟังว่า ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจ เรื่องนาฬิกาไม่รับผิดชอบอะไรเลย นักข่าวถามวีระต่อว่า ไม่กลัวหรือ วีระตอบว่า ใครกลัว เมื่ออ่านจบทนายจำเลยที่หนึ่งจึงถามว่า ข้อความดังกล่าวมีลักษณะยุยงปลุกปั่นด้วยหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ขออนุญาตไม่ออกความเห็นต่อเนื้อหาทั้งหมดเพราะเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งให้พล.ต.ต.จุมพลดูเอกสารและถามว่า ภาพที่เห็นเป็นภาพมุมเดียวทั้งหมด ซึ่งไม่มีลักษณะที่วีระไปยืนร่วมกับจำเลยอื่นๆ ที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้เลยใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลนิ่งเฉย ทนายจำเลยที่หนึ่งให้พล.ต.ต.จุมพลดูเอกสารแผนผังที่มีภาพจำเลยทั้งหมดและเขียนบรรยายถึงกลุ่มที่มาที่ไปของจำเลยแต่คนและถามว่า วีระไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กลุ่มคนเสื้อแดงมาก่อนใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ไม่ทราบ 
 
ทนายจำเลยที่สอง (รังสิมันต์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า วันเกิดเหตุพล.ต.ต.จุมพลไปที่เกิดเหตุในชุดนอกเครื่องแบบใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สองถามว่า วันเกิดเหตุพล.ต.ต.จุมพลไปถึงที่เกิดเหตุในช่วงใด พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า เดินทางไปถึงเวลาประมาณ 15.00 น. มีการชุมนุมประมาณ 17.00 น. จึงออกไปตรวจตรา โดยจุดที่ตรวจตราไม่อยู่กลางที่ชุมนุมและเดินไปมา ไม่ได้อยู่กับที่
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า พล.ต.ต.จุมพลทราบมาก่อนหรือไม่ว่า ใครคือ รังสิมันต์  พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ไม่เคยติดตามมาก่อนเกิดเหตุคดีนี้ แต่มีผู้ใต้บังคับบัญชารายงานมา ทนายจำเลยที่สองถามว่า ทราบหรือไม่ว่า รังสิมันต์เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ไม่ทราบว่า รังสิมันต์เป็นนักศึกษาหรือประกอบอาชีพอะไร รวมทั้งไม่ทราบด้วยว่า จำเลยที่เหลือประกอบอาชีพอะไร
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า ทราบหรือไม่ว่า ก่อนหน้านี้มีการเคลื่อนไหว พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ได้รับรายงานเรื่อยๆ และตามจากสื่อมวลชน ทนายจำเลยที่สองถามว่า แล้วในรายงานของผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้ระบุว่า จำเลยทำอาชีพอะไรหรือ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มีหน้าที่รายงานว่า แต่ละคนทำอาชีพอะไร
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า ในที่ชุมนุมพล.ต.ต.จุมพลอยู่ห่างจากรังสิมันต์ประมาณกี่เมตร พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ประมาณ 15 เมตร ทนายจำเลยที่สองถามว่า แล้วพล.ต.ต.จุมพลได้ยินชัดเจนได้อย่างไรว่า รังสิมันต์พูดอะไร พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า รังสิมันต์และจำเลยรายอื่นๆ ใช้โทรโข่งเป็นเครื่องขยายเสียง ได้ยินว่า เป็นการพูดเรื่องการเมือง แต่ไม่ได้ฟังตลอดเนื่องจากมีผู้บันทึกภาพวิดีโอไว้อยู่แล้ว ทนายจำเลยที่สองถามว่า รังสิมันต์พูดว่า ให้ คสช. คืนอำนาจให้มีการเลือกตั้งใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลรับว่า จำถ้อยคำที่รังสิมันต์ปราศรัยไม่ได้
 
ทนายจำเลยที่สองให้พล.ต.ต.จุมพลดูเอกสารการถอดเทปคำปราศรัยและถามว่า ข้อความปราศรัยถูกต้องตามเอกสารหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ไม่รับรองความถูกต้องแต่เอกสารมีการรับรองจากเจ้าหน้าที่ทหารแล้ว เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ทหารส่งให้พนักงานสอบสวนเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง
 
ทนายจำเลยที่สองอ่านข้อความที่รังสิมันต์ปราศรัยจากเอกสารดังกล่าวให้พล.ต.ต.จุมพลฟังว่า การเลือกตั้งเป็นหนทางในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องการใช้ความรุนแรง ถ้าหากพล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นคนไทยอยู่ต้องคืนอำนาจให้แก่ประชาชน หนทางในการคืนอำนาจที่ดีที่สุดคือการเลือกตั้ง ทนายจำเลยที่สองถามว่า ข้อความดังกล่าวมีความรุนแรงใดหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ตามถ้อยคำที่ปรากฏตามเอกสารดังกล่าวไม่มีถ้อยคำที่รุนแรงและต้องการให้ คสช. จัดการเลือกตั้งโดยเร็วเท่านั้น
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า พล.ต.ต.จุมพลเข้าใจเจตนารมณ์ในการชุมนุมหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า หน้าที่ของเขาคือการไปดูความเรียบร้อย ทนายจำเลยที่สองถามว่า ตอนที่ตรวจสอบเหตุการณ์ได้ยินว่า ให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็วใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ในการปราศรัยมีหลายคน ได้ฟังและจำได้ว่า เป็นการโจมตีรัฐบาลและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก และมีการพูดเรื่องทุจริต ส่วนถ้อยคำอื่นๆ จำไม่ได้ 
 
พล.ต.ต.จุมพลบรับว่า จำไม่ได้ว่า วันเกิดเหตุเป็นวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ นอกจากกลุ่มผู้ชุมนุมแล้วยังมีประชาชนเดินผ่านไปมาเนื่องจากบริเวณนั้นเป็นทางเชื่อมสถานีบีทีเอสสองสถานี คือ สนามกีฬาแห่งชาติและสยาม รวมทั้งห้างสยามพารากอน
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า พล.ต.ต.จุมพลได้ให้การกับพนักงานสอบสวนตรงกับที่ให้การในวันนี้ใช่หรือไม่ ซึ่งถ้าตรงก็ต้องตอบกับพนักงานสอบสวนด้วยว่า ไม่ได้ฟังทั้งหมดว่า รังสิมันต์ปราศรัยว่าอย่างไร พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ให้การต่อพนักงานสอบสวนโดยสรุปเท่านั้น ศาลกล่าวว่า ให้เรียกเอกสารมาให้ศาลดูและศาลจะเปรียบเทียบเองว่า แตกต่างกันหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลกล่าวต่อว่า ในวันที่ไปให้การกับพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนไม่ได้ตั้งคำถามเจาะจงว่า รังสิมันต์ปราศรัยตามถ้อยคำดังกล่าวหรือไม่ เป็นการถามอย่างรวมๆ
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า หลังมีการเลือกตั้ง พล.ต.ต.จุมพลทราบหรือไม่ว่า รังสิมันต์ได้รับเลือกให้เป็นส.ส. พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ทราบ
 
ทนายจำเลยที่สาม (สิรวิชญ์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยที่สามถามว่า หลังสิ้นสุดการชุมนุมไม่มีบุคคลใดออกมาก่อความวุ่นวายหรือก่อความไม่สงบใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า มีการชุมนุมในลักษณะเดียวกันนี้ แต่ไม่มีความรุนแรง ทนายจำเลยที่สามให้พล.ต.ต.จุมพลดูรัฐธรรมนูญมาตรา 50 ว่า การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชนใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สามถามว่า และเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า เป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ แต่การชุมนุมจะผิดกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน ทนายจำเลยที่สามให้พล.ต.ต.จุมพลดูมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญว่า ประชาชนมีเสรีภาพในการคิดเขียนและปราศรัย พล.ต.ต.จุมพลรับว่า ใช่
 
ทนายจำเลยที่สามถามว่า การปราศรัยที่ว่า เป็นการโจมตีคนในรัฐบาล เรื่องที่พล.อ.ประวิตรมีนาฬิกาหรู 25 เรือน ใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สามถามว่า ข้อความที่เชิญชวนให้คนมาชุมนุมไม่ได้มีข้อความที่ชวนให้คนกระทำผิดกฎหมายใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สามถามว่า ประเทศไทยว่างเว้นจากการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2557 แล้วใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สามถามว่า ที่ผ่านมามีการเลื่อนการเลือกตั้งเนื่องจากติดเงื่อนไขต่างๆ ใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ใช่ แต่ไม่ทราบเหตุผล
 
ทนายจำเลยที่สี่ (ณัฎฐา) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยที่สี่ให้พล.ต.ต.จุมพลดูเอกสารการโพสต์เชิญชวนคนให้มาชุมนุมและถามว่า มีรายชื่อของณัฏฐาที่เชิญชวนหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ไม่มี ทราบว่า เป็นชื่อเพจแต่ไม่ทราบตัวบุคคลที่เป็นผู้โพสต์ ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า เห็นหรือไม่ว่า ณัฏฐาเดินทางมาอย่างไร พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ไม่ทราบว่า ณัฏฐาเดินทางมาอย่างไรแต่เห็นตอนที่ขึ้นปราศรัย
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า  หลังจากที่ คสช. ยึดอำนาจมีกลุ่มที่เห็นต่างจาก คสช. ถูกดำเนินคดี พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ทราบว่า มีการดำเนินคดีทางการเมืองกับผู้ชุมนุม แต่ไม่ทราบรายละเอียดในแต่ละเรื่อง ยกเว้นเรื่องนี้ที่ทราบว่า คสช.ได้มอบอำนาจให้ทหารมาร้องทุกข์
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า การวิพากษ์วิจารณ์สามารถทำได้หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ต้องดูเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์ด้วย ทนายจำเลยที่สี่ให้ดูเอกสารถอดเทปคำปราศรัยของณัฏฐาและถามถึงความถูกต้อง พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า รับรองว่า ในแผนผังมีภาพของณัฏฐาด้วย แต่ไม่รับรองข้อความที่บรรยายซึ่งเป็นข้อความที่ฝ่ายทหารถอดมา และพล.ต.ต.จุมพลไม่รับรองว่า ข้อความที่ถอดเทปมาจะเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือไม่ เพราะการพิจารณาว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวน
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า การตั้งข้อหาในคดีนี้และคดีอื่นๆ เพื่อให้จำเลยหยุดการคเลื่อนไหวทางการเมืองใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า เมื่อสิ้นสุดการชุมนุมมีประชาชนออกมากระทำการผิดกฎหมายหรือกระทำการเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ไม่ทราบ ทราบว่า ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 มีการชุมนุมอีกครั้ง ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ระหว่างวันที่ 27 มกราคม-10 กุมภาพันธ์ 2561 มีประชาชนแสดงความกระด้างกระเดื่อง ขับไล่โจมตีรัฐบาลจากการชุมนุมของจำเลยหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า มีการรวมตัวกันแต่ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ในที่ชุมนุมไม่มีการใช้อาวุธใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า จำเลยมีการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ไม่ได้มีการสร้างเงื่อนไขว่า ถ้าไม่มีการเลือกตั้งจะใช้ความรุนแรงใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า จำไม่ได้
 
ทนายจำเลยที่ห้า (อานนท์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า พล.ต.ต.จุมพลเคยติดตามเฟซบุ๊กของอานนท์ จำเลยที่ห้าหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ไม่เคย ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า เห็นอานนท์ในที่ชุมนุมหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า เห็นแต่ไม่ได้ฟังว่า อานนท์พูดว่าอะไร
 
ทนายจำเลยที่หก (เอกชัย) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยที่หกถามว่า ในเอกสารที่ระบุการเชิญชวนให้มาชุมนุมนั้น มีการระบุว่า ใครเป็นผู้ดูแลเพจที่เชิญชวนเหล่านั้นหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ในการสืบสวนมีการรายงานกันด้วยวาจาเท่านั้น ไม่ได้รายงานว่า ใครเป็นผู้ดูแลพจตามเอกสารที่ส่งมาเป็นหลักฐานในคดีนี้ ส่วนเอกชัย จำเลยที่หกจะโพสต์เชิญชวนหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลไม่ทราบ
 
ทนายจำเลยที่หกให้ดูเอกสารที่ระบุทำนองว่า เอกชัยเดินตัวคนเดียว และถามว่า เอกชัยไปไหนมาไหนคนเดียว ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่เหลือในการชุมนุมใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า เป็นไปตามเอกสารที่บอกว่า เอกชัยเดินตัวคนเดียว ยืนยันว่า ได้รับการรายงานมาและเชื่อว่า ถูกต้อง ทนายจำเลยถามว่า เอกชัยทำกิจกรรมเกี่ยวกับนาฬิกาของพล.อ.ประวิตรใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ไม่ทราบ แต่ตามรายงานระบุว่า มีการทวงถามเรื่องนาฬิกาของพล.อ.ประวิตร
 
ทนายจำเลยที่หกถามว่า เห็นเอกชัยในที่ชุมนุมหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า เห็น แต่ไม่ได้ฟังว่า พูดอะไรและตามภาพหลักฐานเอกชัยไม่ได้ถือโทรโข่งขยายเสียงเลย
 
ทนายจำเลยที่หกถามว่า วันดังกล่าวหน่วยของพล.ต.ต.จุมพลลงพื้นที่ประมาณกี่คน พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า สิบคน ทนายจำเลยที่หกถามว่า พล.ต.ต.จุมพลได้ขอกำลังเสริมหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ไม่ได้ขอกำลังเสริมเพราะไม่ใช่หน้าที่และเป็นการชุมนุมในระยะเวลาสั้นๆ และไม่ทราบว่า ตำรวจได้มีการขอศาลให้สั่งเลิกการชุมนุมหรือไม่
 
ทนายจำเลยที่เจ็ด (สุกฤษฎ์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยที่เจ็ดถามว่า รู้จักสุกฤษฎ์มาก่อนหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ไม่รู้จักและทราบว่า ร่วมการชุมนุมจากรายงานการสอบสวน สุกฤษฎ์จะประกอบอาชีพอะไรหรือทำกิจกรรมทางการเมืองมาก่อนหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลก็ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่เจ็ดถามว่า เอกสารถอดเทปคำปราศรัยที่ถอดมาถูกต้องใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า เชื่อว่า ถูกต้องเพราะทหารถอดคำปราศรัยมา
 
พล.ต.ต.จุมพลรับว่า ได้ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันหลังเกิดเหตุ โดยไม่ได้ดูวิดีโอคำปราศรัย และในวันเกิดเหตุไม่ได้ฟังคำปราศรัยและไม่รู้ว่า สุกฤษฎ์คือใคร
 
ทนายจำเลยที่แปด (เนติวิทย์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยมที่แปดถามว่า พล.ต.ต.จุมพลได้เข้าไปดูในระบบคอมพิวเตอร์หรือไม่ว่า ข้อมูลที่ได้รับรายงานว่า มีการโพสต์เชิญชวนเป็นข้อมูลจริงที่ปรากฏในระบบ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ไม่ได้เข้าไปดูในระบบคอมพิวเตอร์ ทนายจำเลยที่แปดถามว่า ในเอกสารที่นำส่งต่อศาลนี้ก็ไม่ปรากฏที่มาของข้อมูลหรือ URL ของการโพสต์เชิญชวนใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ปกติเวลาที่พิมพ์เอกสารออกมาก็จะไม่มีที่มาของข้อมูลระบุอยู่แล้ว
 
ทนายจำเลยที่แปดถามว่า พล.ต.ต.จุมพลได้ตรวจสอบหรือไม่ว่า เนติวิทย์ได้โพสต์เชิญชวนคนให้มาชุมนุม พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ไม่ได้ตรวจสอบและจะมีการเชิญชวนหรือไม่ก็ไม่ทราบเช่นกัน ทนายจำเลยที่แปดถามว่า เห็นเนติวิทย์ในที่ชุมนุมหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า เห็นแต่ไม่ได้ฟังว่า พูดอะไร ขณะที่เห็น คือ ยืนโดยไม่ได้ถือโทรโข่ง
 
ทนายจำเลยที่เก้า (สมบัติ) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยที่เก้าถามว่า รูปแบบของการชุมนุมสงบเรียบร้อยใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ใช่ ส่วนการชุมนุมจะเป็นความผิดหรือไม่เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน ทนายจำเลยที่เก้าถามถึงเอกสารถอดเทปคำปราศรัยว่า ถูกต้องตามจริงใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า เชื่อว่า จริงเพราะทหารรับรอง แต่ส่วนตัวไม่ได้รู้จักทหารรายดังกล่าว ทนายจำเลยที่เก้าถามว่า ในวันเกิดเหตุได้มีการประสานกับเจ้าหน้าที่ทหารหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ไม่ได้มีการประสาน เป็นการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่แต่ละส่วน
 
ทนายจำเลยที่เก้าถามว่า ได้มีการห้ามไม่ให้ชุมนุมหรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า ไม่ได้ห้ามเพราะไม่ใช่หน้าที่ ทนายจำเลยที่เก้าถามว่า คำสัมภาษณ์ของสมบัติ จำเลยที่เก้า เช่นเรื่อง นาฬิกาของพล.อ.ประวิตรและการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป 90 วันไม่ได้ก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ความวุ่นวายหรือทำให้คนอื่นทำผิดกฎหมายใช่หรือไม่ พล.ต.ต.จุมพลรับว่า เป็นเช่นนั้น เฉพาะในส่วนที่ทนายถาม
 
อัยการถามติง
 
อัยการให้พล.ต.ต.จุมพลดูแผนผังวันเกิดเหตุและถามว่า บุคคลดังกล่าวได้ไปชุมนุมหรือไม่ ทนายจำเลยที่หนึ่งลุกขึ้นค้านว่า เป็นการถามนำ ศาลไม่ได้จดในประเด็นนี้ อัยการถามต่อว่า การชุมนุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ผิดกฎหมายใด และเป็นหน้าที่ของใครในการระบุ พล.ต.ต.จุมพลตอบว่า เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในแต่ละท้องที่ที่จะสอบสวน
 
19 มีนาคม 2563
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น. เอกชัย สมบัติ วีระและสิรวิชญ์ ทยอยเดินทางมาถึงศาล ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 9.50 น.

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนแจ้งคู่ความว่า ลูกของท่านจะเดินทางกลับจากต่างประเทศในช่วงบ่ายวันนี้และจะต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัวเพื่อเฝ้าระวังเป็นเวลา 14 วันที่บ้านซึ่งจะทำให้ตัวผู้พิพากษากลายเป็นบุคคลในกลุ่มเสี่ยงไปด้วย จึงขอหารือกับคู่ความว่าจะยกเลิกวันนัดสืบพยานที่เดิมกำหนดไว้ในวันที่ 20 และ 27 มีนาคม แล้วก็หนดวันใหม่แทนหรือไม่ คิดเห็นเช่นไร

ทั้งฝ่ายอัยการและจำเลยไม่คัดค้านศาลจึงขอให้คู่ความกำหนดวันนัดใหม่ คู่ความตกลงเป็นวันที่ 13 และ 14 สิงหาคม 2563 จากนั้นศาลจึงให้โจทก์นำพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นพยานโจทก์ปากสุดท้ายเข้าสืบ ระหว่างที่ศาลกำลังสืบพยาน ในเวลาประมาณ 10.20 น. นัฏฐา จำเลยอีกคนหนึ่งตามมาสมทบในห้องพิจารณาคดี
 
สืบพยานโจทก์ปากพ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงศ์ พนักงานสอบสวนในคดี
 
พ.ต.ท.สมัครเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้เขารับราชการตำรวจในตำแหน่งรองผู้กำกับการฝ่ายสอบสวน สน.ปทุมวัน มีอำนาจหน้าที่สอบสวนผู้กระทำความผิดในคดีอาญาและปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เกี่ยวกับคดีนี้ในวันที่ 29 มกราคม 2561 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจาก คสช.มาร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยในคดีนี้เจ็ดคน

ได้แก่ รังสิมันต์ เนติวิทย์ อานนท์ สุกฤษฎ์ สิรวิชญ์ ณัฏฐา และ เอกชัย ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน และข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
 
พ.ต.ท.สมัครเบิกความว่า พ.อ.บุรินทร์ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยว่า คสช. และกองทัพภาคที่1 ติดตามสถานการณ์บนสื่อสังคมออนไลน์และตรวจพบว่าในวันที่ 25 มกราคม 2561 เฟซบุ๊กเพจของกลุ่มพลเมืองโต้กลับแชร์ข้อมูลจากเฟซบุ๊กกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ซึ่งประกาศเชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมกันในวันที่ 27 มกราคม 2561

เมื่อถึงวันดังกล่าว วีระ สิรวิชญ์ ณัฏฐา และเอกชัย รวมตัวกันที่สวนครูองุ่น ซอยทองหล่อ ในงานเสวนาเรื่องคอร์รัปชัน
 
อัยการถามพ.ต.ท.สมัครว่า ทราบรายละเอียดของงานเสวนาหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ทราบเนื้อหาของงานเสวนาในรายละเอียด จากนั้นจึงเบิกความต่อว่า หลังจบงานเสวนา จำเลยทั้งสี่คนที่อยู่ที่สวนครูองุ่นแยกย้ายกันเดินทางไปที่สกายวอล์ก หอศิลป์ กรุงเทพฯ
 
เกี่ยวกับรายละเอียดของเหตุการณ์ที่สกายวอล์ก พ.ต.ท.สมัครเบิกความว่า รังสิมันต์เป็นผู้ปราศรัยโดยใช้โทรโข่งปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลและคสช.พูดถึงการเลื่อนการเลือกตั้ง นอกจากรังสิมันต์ จำเลยคนอื่นๆ ทั้งสิรวิชญ์ อานนท์ ณัฐฏา สุกฤษฎ์ และเนติวิทย์ต่างผลัดกันปราศรัยโจมตีคสช. และพูดเรื่องการเลือกตั้ง

ระหว่างที่จำเลยกลุ่มดังกล่าวผลัดกันปราศรัย สมบัติ วีระ และเอกชัยก็ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในบริเวณใกล้เคียง เบื้องต้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นว่าการกระทำของจำเลยเจ็ดคน ได้แก่ รังสิมันต์ เนติวิทย์ อานนท์ สุกฤษฎ์ สิรวิชญ์ ณัฏฐา และ เอกชัย เป็นความผิดจึงมอบหมายให้พ.อ.บุรินทร์มาดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ
 
พ.ต.ท.สมัครเบิกความต่อว่า ในวันที่ 30 มกราคม 2561 ตัวเขาประสานไปยังสำนักงานเขตปทุมวันเพื่อขอให้มาวัดระยะจากสถานที่เกิดเหตุไปที่วังสระปทุมว่าห่างกันเป็นระยะทางเท่าใด โดยเขตปทุมวันได้ส่งธีรยุทธ์ เกื้อหนุน นายช่างโยธาของเขตมาช่วยดำเนินการวัดระยะทาง

อัยการนำภาพแผนผังโดยสังเขปของที่เกิดเหตุมาให้พ.ต.ท.สมัครดูแล้วถามว่าจุดที่ทำเครื่องหมายดอกจันไว้หมายถึงอะไร พ.ต.ท.สมัครตอบว่าหมายถึงจุดที่ผู้ชุมนุมรวมตัวกัน
 
อัยการถามพ.ต.ท.สมัครต่อว่า พื้นที่สกายวอล์กเป็นพื้นที่ของเอกชนหรือพื้นที่สาธารณะ พ.ต.ท.สมัครเบิกความว่า จากการสอบปากคำประพาส เหลืองศิรินภา จากสำนักงานวิศวกรรมจราจรและขนส่ง ประพาสได้ส่งมอบเอกสารที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพขออนุญาตก่อสร้างสกายวอล์กให้กับตัวเขา โดยเอกสารดังกล่าวระบุว่าพื้นที่สกายวอล์กถือเป็นพื้นที่สาธารณะ
 
พ.ต.ท.สมัครเบิกความต่อว่า เมื่อได้ความว่าพื้นที่สกายวอล์กเป็นพื้นที่สาธารณะ และจุดที่ผู้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่ห่างจากวังสระปทุมไม่ถึง 150 เมตร เขาจึงดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยทั้ง 7 คนเพิ่มเติมในข้อหาชุมนุมห่างจากเขตที่ประทับไม่เกิน 150 เมตร ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 
ต่อมาในวันที่ 31 มกราคม 2561 มีการจัดตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวนเพื่อการดำเนินคดีนี้รวมทั้งสิ้น 31 นาย โดยตัวเขาเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้วย คณะทำงานได้ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหาเจ็ดคนได้แก่ รังสิมันต์ เนติวิทย์ อานนท์ สุกฤษฎ์ สิรวิชญ์ ณัฏฐา และ เอกชัย มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 แต่เมื่อถึงวันดังกล่าวก็ยังไม่มีบุคคลใดมารายงานตัว
 
พ.ต.ท.สมัครเบิกความต่อว่า เมื่อไม่มีผู้ต้องหาคนใดมารายงานตัว ทางคณะทำงานได้จัดประชุมกันในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 และมีมติร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลเป็นผู้ต้องหาในคดีเพิ่มเติมอีกสองคนคือ วีระและสมบัติ โดยคณะกรรมการตั้งข้อกล่าวหากับทั้งสองเหมือนกับที่ตั้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาอีกเจ็ดคนก่อนหน้านี้

สำหรับการดำเนินการในส่วนของเขา พ.ต.ท.สมัครเบิกความเพิ่มเติมว่าหลังจากวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เขาได้ทำการสอบปากคำพยานบุคคลเพิ่มเติม และส่งแผ่นซีดีที่ พ.อ.บุรินทร์นำมามอบให้ไปตรวจสอบว่ามีการตัดต่อดัดแปลงหรือไม่ ซึ่งผลออกมาว่า ไม่มี
 
พ.ต.ท.สมัครเบิกความว่า ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยส่วนหนึ่งมารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาตามกระบวนการ แต่มีจำเลยอีกส่วนหนึ่งได้แก่ อานนท์ รังสิมันต์ สิรวิชญ์ และเอกชัยที่ไม่ได้มารายงานตัว ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ทางคณะทำงานจึงขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาก่อนที่ต่อมาทั้งสี่จะถูกจับกุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561
 
พ.ต.ท.สมัครเบิกความต่อไปว่า ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธและได้ส่งคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนั้นผู้ต้องหายังขอให้พนักงานสอบสวนเรียกพยานบุคคลมาสอบปากคำเพิ่มเติมด้วย
 
อัยการถามว่านอกจากจำเลยคดีนี้แล้วมีบุคคลอื่นถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมครั้งเดียวกันอีกหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่ามีจำเลยถูกอีก 30 คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน และข้อหาตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ในจำนวนนั้นมีสองคนที่รับสารภาพซึ่งศาลแขวงปทุมวันพิพากษาจำคุกทั้งสองเป็นเวลา 6 วันโดยให้รอลงอาญาไว้ จากนั้นอัยการขอให้พ.ต.ท.สมัครชี้ตัวจำเลยที่อยู่ในห้อง พ.ต.ท.สมัครชี้ตัวเอกชัย อานนท์ และสิรวิชญ์ แต่ไม่ได้ชี้ตัวณัฏฐาเนื่องจากขณะนั้นเธอไม่อยู่ในห้องพิจารณาคดี
 
อัยการแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่หนึ่ง (วีระ) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า วันที่ พ.อ.บุรินทร์มาร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย ได้นำหนังสือของคสช.ที่มอบอำนาจให้พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ซึ่งเป็นผู้สั่งการให้ พ.อ.บุรินทร์มาร้องทุกข์กล่าวโทษมาแสดงหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่มี ทนายจำเลยถามว่าในเอกสารที่ พ.อ.บุรินทร์นำมามอบให้ พ.ต.ท.สมัครครั้งแรกไม่มีชื่อของวีระปรากฎอยู่ด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่
 
ทนายจำเลยให้พ.ต.ท.สมัครดูเอกสารถอดเทปบทสัมภาษณ์ของวีระแล้วถามว่า ไม่มีถ้อยคำใดที่เข้าข่ายเป็นการยุยงให้เกิดความปั่นป่วนในบ้านเมือง หรือให้ประชาชนออกมาละเมิดกฎหมายบ้านเมืองใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่า ไม่มี

ทนายจำเลยถามว่าข้อความที่วีระพูดเป็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันและการสืบทอดอำนาจ ซึ่งถือเป็นการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าในแผนที่สังเขปสถานที่เกิดเหตุได้ระบุหรือไม่ว่า วีระยืนอยู่จุดใด พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ได้ระบุไว้ ทนายจำเลยนำเอกสารที่เป็นการบันทึกหน้าจอข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้โพสต์เชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมมาให้พ.ต.ท.สมัครดูแล้วถามว่ามีข้อความที่วีระโพสต์สนับสนุนการชุมนุมหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าไม่มี
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าตามเอกสารหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายของวีระให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวมาให้พ.ต.ท.สมัครดูแล้วถามว่า ตามภาพจุดที่วีระยืนอยู่ห่างจากจุดที่มีการชุมนุมหรือการปราศรัยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่าจุดที่วีระและสมบัติยืนให้สัมภาษณ์เป็นจุดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเดินไปได้โดยชอบใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่
 
ทนายจำเลยนำเอกสารที่เป็นภาพถ่ายของวีระหลายๆ ภาพมาให้พ.ต.ท.สมัครดูแล้วถามว่าไม่มีภาพของวีระในวันเกิดเหตุใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ทราบว่ามีภาพของวีระในวันเกิดเหตุหรือไม่ ทราบแต่ว่ามีภาพของวีระ
 
ทนายจำเลยถามว่างานเสวนาในวันที่ 27 มกราคม 2561 ที่สวนครูองุ่นหัวข้อคอรัปชัน 4.0 มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร พ.ต.ท.สมัครตอบว่าเขาไม่ทราบรายละเอียด ทนายจำเลยถามต่อว่าการต่อต้านคอรัปชันถือเป็นความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่าเอกสารที่เป็นข้อมูลส่วนตัวของวีระระบุข้อความว่าวีระเป็นแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ซึ่งกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงก่อตั้งและทำกิจกรรมในช่วงที่วีระรับโทษจำคุกอยู่ที่กัมพูชาใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ทราบ

ทนายจำเลยที่หนึ่งแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่สอง (รังสิมันต์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่าที่พ.ต.ท.สมัครระบุว่าพล.ต.วิจารณ์ จดแตงมอบอำนาจให้พ.อ.บุรินทร์มาร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยคดีนี้ พ.ต.ท.สมัครได้สอบปากคำพยานในประเด็นที่ว่าพล.ต.วิจารณ์มีอำนาจหน้าที่ในการร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยแทนคสช.โดยชอบหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ได้สอบปากคำพยานในประเด็นนี้
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าในวันที่ 27 มกราคม วันเกิดเหตุ พ.ต.ท.สมัครได้ไปที่เกิดเหตุหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ได้ไป ทนายจำเลยถามว่าในวันที่ไปวัดระยะทางมีบุคคลใดไปบ้างและคนที่ไปอยู่ในที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าวันที่วัดระยะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนและเจ้าหน้าที่จราจรไปด้วย แต่ตัวเขาไม่ทราบว่าคนที่ไปร่วมวัดระยะทางจะอยู่ในที่เกิดเหตุเมื่อวันเกิดเหตุหรือไม่

ทนายจำเลยถามต่อว่าเมื่อตัวพ.ต.ท.สมัครไม่ได้ไปในที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุแล้วจะทราบได้อย่างไรว่าเครื่องหมายดอกจันบนแผนที่แสดงจุดที่มีการชุมนุมได้ถูกต้อง พ.ต.ท.สมัครตอบว่าเขาไม่แน่ใจ ทนายจำเลยถามว่าการวัดระยะทำบนสกายวอล์กหรือบนผิวถนน พ.ต.ท.สมัครตอบว่าเป็นการวัดที่ผิวถนน
 
ทนายจำเลยถามว่าขณะเกิดเหตุรังสิมันต์ยังเป็นนักศึกษาอยู่ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่าตามเอกสารถอดเทปคำปราศรัย มีจุดที่ทำเครื่องหมายไฮไลต์ไว้ พ.ต.ท.สมัครทราบหรือไม่ว่าใครเป็นคนทำเครื่องหมายดังกล่าวไว้ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามต่อว่าพ.ต.ท.สมัครทราบหรือไม่ว่าเนื้อหาที่รังสิมันต์ปราศรัยโดยสรุปพูดถึงการบริหารประเทศที่ไม่โปร่งใส การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง และการโจมตีเรื่องการสืบทอดอำนาจ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าเป็นไปตามเอกสาร
 
ทนายจำเลยถามว่าในวันเกิดเหตุ การชุมนุมเริ่มและยุติประมาณกี่โมง พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ทราบ ทราบแค่ว่าการชุมนุมใช้เวลาไม่นาน ทนายจำเลยถามว่าหลังการชุมนุมก็ไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่

ทนายจำเลยที่สองแถลงหมดคำถาม
 
หลังทนายจำเลยที่สองถามค้านเสร็จก็เป็นเวลา 11.40 น. ศาลจึงถามคู่ความว่าจะพักเที่ยงแล้วมาสืบพยานต่อในช่วงบ่ายเลยหรือไม่ คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่คัดค้าน ศาลจึงเลื่อนไปสืบพยานต่อในช่วงบ่าย
 
ในเวลาประมาณ 13.40 ศาลกลับมาขึ้นบัลลังก์และสืบพยานต่อ ช่วงบ่ายเอกชัย และสมบัติเดินทางกลับไปแล้ว เหลือจำเลยเพียง 3 คนคือณัฏฐาและสิรวิชญ์กับอานนท์ที่เป็นทนายความให้สมบัติอยู่ร่วมฟังการสืบพยานในช่วงบ่าย
 
ตอบทนายจำเลยที่สาม (สิรวิชญ์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า ในวันเกิดเหตุพ.อ.บุรินทร์ไม่ได้ไปในที่เกิดเหตุ ทั้งที่สวนครูองุ่นและที่สกายวอล์กใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่าฝ่ายสืบสวนไม่ได้ส่งรายละเอียดของงานเสวนาที่สวนครูองุ่นให้ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนมารายงานหรือไม่ว่ามีการพูดคุยแบ่งงานเรื่องการชุมนุมที่สกายวอล์กระหว่างที่มีกิจกรรมที่สวนครูองุ่น พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่มี
 
ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.ท.สมัครรับราชการที่สน.ปทุมวันตั้งแต่เมื่อไรถึงเมื่อไร พ.ต.ท.สมัครตอบว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 ถึงเดือนมีนาคม 2561

ทนายจำเลยถามต่อว่าระหว่างที่รับราชการมีการติดป้ายห้ามการชุมนุมเพราะอยู่ในรัศมี 150 เมตรจากเขตที่ประทับบนสกายวอล์กหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่มี ทนายจำเลยถามว่าระหว่างที่พ.ต.ท.สมัครรับราชการที่สน.ปทุมมวันก็มีการชุมนุมที่ลานหน้าหอศิลป์ เช่น กิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรมให้เสือดำ หรือเรื่องประท้วงกกต.ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าเคยได้ยินกิจกรรมเกี่ยวกับเสือดำแต่ไม่ทราบเรื่องกิจกรรมประท้วงกกต.

ทนายจำเลยถามว่าหากประเมินด้วยสายตา ระยะทางจากลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพ ไปถึงวังสระปทุม จะสั้นกว่าระยะทางจากวังสระปทุมถึงสกายวอล์กที่เป็นพื้นที่ชุมนุมใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น ทนายจำเลยถามว่าระหว่างที่พ.ต.ท.สมัครรับราชการที่สน.ปทุมวัน มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในคดีอื่นนอกจากคดีนี้หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าเท่าที่ทราบไม่มี
 
ทนายจำเลยให้พ.ต.ท.สมัครดูแผนที่สังเขปของวังสระปทุมแล้วถามว่าทราบหรือไม่ว่าในรั้ววังสระปทุมนอกจากจะมีอาคารที่เป็นที่ประทับแล้ว ยังมีอาคารมูลนิธิ ร้านอาหารและพิพิธภัณฑ์ด้วย  พ.ต.ท.สมัครทราบหรือไม่ว่าจริงๆ แล้วอาคารที่กรมสมเด็จพระเทพฯทรงประทับอยู่ที่อาคารใด พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ทราบ และเขาไม่เคยเข้าไปในวังสระปทุม
 
ทนายจำเลยถามว่าตามบันทึกคำปราศรัย สิรวิชญ์พูดเรื่องประชาธิปไตย เรื่องถึงเวลาเลือกตั้ง เรื่องการทำรัฐประหารและการเลื่อนการเลือกตั้ง ซึ่งการปราศรัยก็มีลักษณะเป็นการพุดแบบสุภาพ ไม่ได้มีลักษณะเป็นการยุยงให้ประชาชนทำผิดกฎหมายใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่าการพูดเรื่องการเลือกตั้งเป็นการพูดตามกรอบของรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามว่าการปราศรัยเรื่องการคอร์รัปชันก็เป็นการพูดตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่าการเรียกร้องเรื่องการเลือกตั้งเป็นการเรียกร้องที่สมเหตุสมผลใช่หรือไม่ เพราะคสช.อยู่ในอำนาจมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 จนถึงวันเลือกตั้งก็เป็นเวลา 5 ปีแล้ว พ.ต.ท.สมัครรับว่าเป็นตามนั้น

ทนายจำเลยถามว่าขณะเกิดเหตุสิรวิชญ์เป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าพ.ต.ท.สมัครทราบหรือไม่ว่าจำเลย 28 คนที่ร่วมชุมนุมในเหตุการณ์เดียวกันนี้และถูกพนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหา ท้ายที่สุดอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ต.ท.สมัครรับว่าทราบ 

ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.ท.สมัครเคยเห็นเอกสารที่เจ้าหน้าที่ทหารจัดทำขึ้นมาส่งให้ตำรวจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินคดีผู้ที่แสดงออกทางการเมืองหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่เคยเห็นและไม่มีในสำนวนคดีนี้

ทนายจำเลยที่สามแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่สี่ (ณัฏฐา) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า ทราบหรือไม่ว่าวันเกิดเหตุณัฏฐาเดินทางมาที่สกายวอล์กอย่างไร พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่าการชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นไปโดยสงบหรือไม่และผู้ชุมนุมมีอาวุธหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าโดยทั่วไปเป็นไปโดยสงบ ส่วนผู้ชุมนุมจะมีอาวุธหรือไม่เขาไม่ทราบและไม่ได้รับรายงานว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ
 
ทนายจำเลยถามว่าหลังการชุมนุมยุติ ผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกันกลับบ้านใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามว่าวันเกิดเหตุ ณัฏฐาปราศรัยขอให้มีการเลือกตั้ง ขอให้ยุติการนำกฎหมายมาดำเนินคดีกับประชาชนอย่างพร่ำเพรื่อและเรียกร้องหลักนิติรัฐนิติธรรม ไม่ได้เรียกร้องให้ประชาชนก่อความวุ่นวายหรือใช้ความรุนแรง และไม่ได้เรียกร้องให้ล้มล้างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามว่าณัฏฐาเคยขอความเป็นธรรมให้สอบปากคำพยานเพิ่มเติม เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง ชัยเกษม นิติศิริ และโภคิณ พลกุล พ.ต.ท.สมัครได้เรียกบุคคลเหล่านั้นมาสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าเขาได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สถานีตำรวจอื่นจึงไม่ได้เรียกบุคคลเหล่านั้นมาสอบปากคำ แต่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ที่มารับช่วงต่อได้ดำเนินการเรียกพยานมาสอบปากคำเพิ่มเติม แต่จะเรียกมาครบตามที่ณัฏฐาร้องขอหรือไม่และมีใครบ้างเขาไม่ทราบ
 
ทนายจำเลยถามว่าในวันที่จำเลยที่สี่มารับทราบข้อกล่าวหา พ.ต.ท.สมัคร พาตัวจำเลยมาฝากขังต่อศาลเลยเป็นเพราะต้องการทำให้เกรงกลัวใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ใช่ แต่ที่ต้องนำตัวมาฝากขังเป็นเพราะคดีนี้มีอัตรโทษสูง ทนายจำเลยถามว่าความเห็นสั่งฟ้องคดีเป็นความเห็นของพ.ต.ท.สมัครหรือของคระทำงานฯ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าเป็นของคณะทำงานฯ

ทนายจำเลยถามว่าตามระบอบประชาธิปไตยประชาชนย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าใช่

ทนายจำเลยที่สี่แถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่ห้า (อานนท์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า คำปราศรัยของอานนท์ มีข้อเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 ปราศรัยว่าขอให้เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคสช.กรณีการดำเนินคดีประชาชนใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าเป็นไปตามเอกสารส่วนจะเป็นความผิดหรือไม่ ไม่ทราบ
 
ทนายจำเลยถามว่าในวันเกิดเหตุพ.ต.ท.สมัครก็ไม่ทราบใช่หรือไม่ว่าผู้ชุมนุมจะอยู่ภายในรัศมี 150 เมตรจากที่ประทับหรือไม่ แต่มาทราบเอาภายหลังจากที่มีการวัดระยะ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่าในพ.ร.บ.ชุมนุมมาตรา 8 มีการเขียนไว้อย่างชัดเจนหรือไม่ว่าการวัดระยะต้องวัดจากจุดใด พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่มี

ทนายจำเลยถามว่าเหตุใดจึงวัดระยะจากแนวรั้วของวังสระปทุม แต่ไม่วัดจากพระตำหนักที่ประทับ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าเป็นเพราะเขาไม่สามารถที่จะเข้าไปทำการวัดระยะในพื้นที่วังสระปทุมได้ นอกจากนั้นเขาก็เห็นว่าตั้งแต่แนวรั้วเข้าไปก็นับเป็นเขตที่ประทับแล้ว
 
ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.ท.สมัครทราบหรือไม่ว่าหลังเกิดเหตุคดีนี้ผู้ชุมนุมกลุ่มเดียวกันนี้บางส่วนก็ไปชุมนุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ถนนราชดำเนินใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พ.ต.ท.สมัครตอบว่าทราบ

ทนายจำเลยถามต่อว่า ตัวของพ.ต.ท.สมัครเองก็เคยไปเบิกความเป็นพยานที่ศาลในคดีที่เกิดจากการชุมนุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีผู้ชุมนุมในคดีนี้ส่วนหนึ่งถูกดำเนินคดีด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าเคยไปเบิกความจริงแต่จะเป็นคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์หรือไม่ ไม่แน่ใจ
 
ทนายจำเลยถามว่าบดีศร เผ่าสุทอ พยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่พ.ต.ท.สมัครเชิญมาสอบปากคำเกี่ยวกับถ้อยคำที่ใช้ในการปราศรัย เป็นคนของพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล ใช่หรือไม่ และเป็นบุคคลที่เคยได้รับมอบอำนาจจากพล.ต.อ.ศรีวราห์ให้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลอื่นในความผิดฐานหมิ่นประมาทใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่า ไม่ทราบ
 
ทนายจำเลยที่ห้าแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่หก (เอกชัย) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่าไม่ปรากฎว่าเอกชัยโพสต์ข้อความชักชวนหรือแชร์ข้อความเชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมของเพจกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.ท.สมัครเคยขอให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบหรือไม่ว่ามีโพสต์เชิญชวนประชาชนร่วมการชุมนุมอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์จริง และให้ตรวจว่าไอพีแอดเดรสที่ใช้โพสต์ข้อความดังกล่าวเป็นของบุคคลใด พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่เคย
 
ทนายจำเลยถามว่าในส่วนของเอกชัย เบื้องต้นเอกสารร้องทุกข์กล่าวโทษปรากฎชื่อของนันทพงศ์ ปานมาศ แต่ต่อมาชื่อดังกล่าวถูกแก้ไขเป็นชื่อขชองเอกชัยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามว่าเบื้องต้นพ.อ.บุรินทร์ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีจำเลยคดีนี้ด้วยข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.เท่านั้นใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามว่าในส่วนของความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ต.ท.สมัครได้สอบปากคำผู้กำกับสน.ปทุมวันในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ได้สอบปากคำ
 
ทนายจำเลยถามว่าผู้กำกับเองก็ไม่ได้สั่งให้ผู้ชุมนุมแก้ไขการชุมนุมตามมาตรา 7  ซึ่งห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 150 เมตรจากที่ประทับด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ได้มีการสั่งแก้ไข และไม่มีในสำนวน
 
ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.ท.สมัครเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยในความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯเอง ไม่ใช่ผู้กำกับซึ่งเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามว่าตามเอกสารบันทึกคำสัมภาษณ์เอกชัยที่มีต่อผู้สื่อข่าว เอกชัยให้สัมภาษณ์เรื่องนาฬิกาของพล.อ.ประวิตร ซึ่งประเด็นนี้มีการรายงานข่าวโดยสื่อมวลชน ซึ่งพ.ต.ท.สมัครเองก็เคยได้ยินข่าวใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามว่าพล.อ.ประวิตรเองก็เคยยอมรับกับสื่อว่ามีนาฬิกาจริง และเป็นนาฬิกาที่ยืมเพื่อนมา ซึ่งสื่อก็เคยรายงานเรื่องนี้ ดังนั้นการให้สัมภาษณ์ของเอกชัยจึงไม่ได้เป็นการบิดเบือนใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าเป็นไปตามที่สื่อมวลชนรายงาน
 
ทนายจำเลยให้พ.ต.ท.สมัครดูภาพของเอกชัยในที่เกิดเหตุแล้วถามว่าตามภาพเอกชัยยืนอยู่คนเดียว ไม่ได้ยืนกับแกนนำที่กำลังปราศรัยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าเอกชัยก็ไม่ได้มีพฤติการณ์ถือโทรโข่งปราศรัยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่าตามเอกสารการข่าวที่มีประวัติว่าจำเลยแต่ละคนเคยไปร่วมการชุมนุมกับใครมาบ้าง ไม่ปรากฎว่าเอกชัยเคยไปร่วมการชุมนุมกับจำเลยคนอื่นๆ มาก่อนใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามว่าการวัดระยะทางจากแนวรั้ววังสระปทุมมายังที่เกิดเหตุ ไม่ได้เป็นการวัดด้วยสายวัดแต่เป็นการคำนวณทางคณิตศาสตร์ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าเป็นการวัดด้วยกล้อง

ทนายจำเลยถามต่อว่าเจ้าหน้าที่โยธาไม่ได้ส่งมอบข้อมูลการวัดอย่างละเอียด ไม้แต่แจ้งระยะทางใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่าจำเลยเคยร้องขอให้สอบปากคำพยานเพิ่มเติม พ.ต.ท.สมัครได้ดำเนินการตามที่จำเลยร้องขอหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าเขาจำไม่ได้แต่ทราบว่ามีพนักงานสอบสวนคนอื่นดำเนินการให้

ทนายจำเลยที่หกแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่เจ็ด (สุกฤษฎ์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่าสุกฤษฎ์เคยยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรชี้แจงว่าการชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าเป็นไปตามเอกสาร

ทนายจำเลยถามว่าตามเอกสารหลักฐาน ไม่ปรากฎว่ามีชื่อของสุกฤษฎ์โพสต์หรือแชร์ข้อความเชิญชวนให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามว่าการเรียกร้องการเลือกตั้งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามว่าภาพถ่ายบุคคลที่มีการวงกลมรอบใบหน้าด้วยสีแดงแล้วระบุว่าเป็นสุกฤษฎ์ ภาพถ่ายดังกล่าวไม่ชัดเจนใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าภาพถ่ายดังกล่าวไม่ชัดเจนแต่เมื่อดูในแผ่นซีดีจะเห็นชัดเจนว่าเป็นสุกฤษฎ์
 
ทนายจำเลยถามว่าในการปราศรัยสุกฤษฎ์ไม่ได้ปราศรัยเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง เผาสถานที่ราชการ หรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ สุกฤษฎ์เพียงแต่ปราศรัยแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ปัญหาการคอร์รัปชัน และเรียกร้องการเลือกตั้งในปี 2561 ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าสุกฤษฎ์ปราศรัยถึงการปกครองแบบเผด็จการที่ตรวจสอบไม่ได้
 
ทนายจำเลยถามว่าเจ้าหน้าที่ของเขตปทุมวันแจ้งกับพ.ต.ท.สมัครหรือไม่ว่าข้อมูลการวัดระยะทางอาจมีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อย พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ได้บอก ได้แต่บอกว่าระยะห่างเป็นระยะเท่าใด

ทนายจำเลยที่เจ็ดแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่แปด (เนติวิทย์) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า เอกสารที่เป็นข้อความโพสต์เชิญชวนประชาชนร่วมชุมนุมบนเฟซบุ๊ก ไม่มีชื่อของเนติวิทย์ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่มี
 
ทนายจำเลยถามว่าการเรียกร้องการเลือกตั้งเป็นการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่าตามภาพถ่ายในวันเกิดเหตุเนติวิทย์ไม่ได้ถือไมค์หรือโทรโข่งปราศรัยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่าตามภาพจุดที่เนติวิทย์ยืนไม่ใช่จุดที่แกนนำทำการปราศรัยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ทราบ
 
ทนายจำเลยถามว่าตามข้อความถอดเทปคำปราศรัย สิ่งที่เนติวิทย์พูดเป็นเพียงการให้กำลังใจผู้ชุมนุมใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าเป็นไปตามเอกสาร ทนายจำเลยถามว่าถ้อยคำที่เนติวิทย์พูดเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่าถ้อยคำที่พูดไม่ได้มีลักษณะรุนแรง หรือข่มขืนใจผู้อื่นใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ขอตอบ ทนายจำเลยถามต่อว่าถ้อยคำของเนติวิทย์ก็ไม่ได้บอกให้ประชาชนละเมิดกฎหมายและอยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่มีถ้อยคำบอกให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย แต่จะเป็นการพูดตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ขอตอบ

ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.ท.สมัครทราบเรื่องการรัฐประหาร วิธีการเข้าสู่อำนาจและการใช้อำนาจของคสช.ที่มีลักษณะเป็นเผด็จการหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าทราบวิธีการเข้าสู่อำนาจของคสช.แต่จะเป็นเผด็จการหรือไม่ ไม่ขอตอบ

ทนายจำเลยที่แปดแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยที่เก้า (สมบัติ) ถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า ตามคำสัมภาษณ์ของสมบัติ มีถ้อยคำปลุกระดมหรือเชิญชวนให้ประชาชนไปก่อความวุ่นวายหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่มี

ทนายจำเลยถามว่าในเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์เชิญชวนประชาชนออกมาร่วมชุมนุมไม่ปรากฎว่าสมบัติได้ประกาศเชิญชวนบุคคลใดมาร่วมชุมนุมใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่าไม่มี

ทนายจำเลยถามว่าคณะทำงานสอบสวนไม่ได้ตั้งประเด็นดำเนิคดีจำเลยเพื่อใช้กฎหมายสกัดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์นั้น

ทนายจำเลยที่เก้าแถลงหมดคำถาม
 
ตอบอัยการถามติง
 
อัยการถามว่าหนังสือมอบอำนาจให้พล.ต.วิจารณ์มาดำเนินคดีถือเป็นหนังสือราชการ ส่วนคสช.จะแบ่งหน้าที่โครงสร้างการทำงานอย่างไร พ.ต.ท.สมัครก็ไม่ทราบใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่าไม่ทราบ
 
อัยการถามว่าในส่วนของวีระซึ่งเป็นจำเลยที่1 เหตุใดคณะกรรมการจึงมีมติดำเนินคดี พ.ต.ท.สมัครตอบว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้วีระเคยไปร่วมการชุมนุมอื่นอยู่เป็นระยะ ตามรายงานการสืบสวน และก่อนจะมาชุมนุมในวันนี้วีระก็ไปร่วมกิจกรรมที่สวนครูองุ่น
 
อัยการถามว่าการทำเครื่องหมายดอกจันบนแผนที่สังเขปการชุมนุมเพื่อแสดงจุดที่กลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกัน พ.ต.ท.สมัครทราบตำแหน่งได้อย่างไรในเมื่อวันเกิดเหตุไม่ได้ไป พ.ต.ท.สมัครตอบว่าทราบจากฝ่ายสืบสวน

อัยการถามว่าแล้วที่ในแผนที่ไม่มีลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนกำกับไว้เป็นเพราะเหตุใด พ.ต.ท.สมัครตอบว่าเป็นความผิดพลาดในการทำงาน
 
ทนายของรังสิมันต์โรมทักท้วงว่าประเด็นการลงลายมือชื่อของฝ่ายสืบสวนทางฝ่ายจำเลยไม่ได้ถามไว้อัยการจึงไม่ควรถาม
 
อย่างไรก็ตามศาลบันทึกประเด็นดังกล่าวให้แต่ไม่ได้บันทึกกรณีที่ทนายจำเลยแถลงคัดค้าน และในขั้นตอนการอ่านทวนคำเบิกความทนายจำเลยที่แถลงคัดค้านคำถามนี้ ก็ไม่ได้ท้วงติงเรื่องที่ศาลบันทึกคำถามดังกล่าวโดยที่ไม่ได้บันทึกว่าทนายจำเลยแถลงคัดค้าน

อัยการแถลงหมดคำถามติง
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานศาลบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาในประเด็นการเลื่อนวันนัดโดยสรุปได้ว่า เนื่องจากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเป็นบุคคลในกลุ่มเสี่ยง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสมีความรุนแรง

คดีนี้เป็นคดีที่มีจำเลยและทนายหลายคน ทั้งยังเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน มีประชาชนทั่วไปมาร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วย จึงทำให้เกิดสภาวะที่มีคนจำนวนมากมารวมตัวกันในที่แคบซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงให้เลื่อนวันนัดพิจารณาคดีนัดต่อไป

โดยยกเลิกนัดเดิมในวันที่ 20 และ 27 มีนาคม 2563 และกำหนดวันนัดใหม่สองนัดในวันที่ 13 – 14 สิงหาคม 2563 แทน 
 
 
 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา