We walk เดินมิตรภาพ: ชุมนุมทางการเมืองฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.

อัปเดตล่าสุด: 02/10/2561

ผู้ต้องหา

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์, อนุสรณ์ อุณโณ, นิมิตร์ เทียนอุดม, สมชาย กระจ่างแสง, แสงศิริ ตรีมรรคา, นุชนารถ แท่นทอง, อุบล อยู่หว้า และจำนงค์ หนูพันธ์

สถานะคดี

อัยการสั่งไม่ฟ้อง

คดีเริ่มในปี

2561

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.ท.ภูษิต คล้ายหิรัญ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่2

สารบัญ

19 และ 20 มกราคม 2561 เครือข่าย People Go ได้จัดกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต โดยจะให้เวลาหนึ่งเดืิินเดินเท้าไปยังจ.ขอนแก่น แต่ถูกสั่งห้ามการทำกิจกรรมเพราะตำรวจแจ้งว่าอาจเป็นการชุมนุมทางการเมือง

ขณะที่กลุ่มประชาชนจะเดินเท้าออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกตำรวจกว่า 200 นายตั้งแถวปิดกั้น ห้ามเดินออก และตลอดเส้นทางการเดินยังถูกคุกคามขัดขวางกิจกรรม ต่อมาผู้ร่วมกิจกรรม 8 คนถูกออกหมายเรียกในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

เลิศศักดิ์ คําคงศักดิ์ ขณะถูกดำเนินคดีเป็นผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนขนาดเล็กที่ทำงานปกป้องสิ่งแวดล้อมจากผลกระทบของการทำเหมืองแร่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่น เหมืองแร่ทองคำ จ.เลย เหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ จ.ลำปาง เลิศศักดิ์ยังเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนต่อต้านการทำเหมืองแร่แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายของชุมชนที่ถูกคุกคามจากเหมืองแร่ 14 แห่ง 
 
ตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 เลิศศักดิ์เป็นหนึ่งในผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลทหารมาตลอด และเคยเป็นหนึ่งในรายชื่อที่ร่วมออกแถลงการณ์แรกๆในชื่อว่า “ไม่ปฏิรูปใต้ท็อปบู๊ท” ซึ่งมีองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน 12 องค์กรร่วมลงนาม นอกจากนี้เลิศศักดิ์ยังเป็นผู้ร่วมร่างแถลงการณ์ ออกบทวิเคราะห์หลายฉบับ และเป็นผู้ที่แสดงความเห็นต่อระบอบการปกครองของทหารที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมหลายครั้ง เช่น Mining Zone ในร่างกฎหมายแร่มีสภาพบังคับ ไม่ใช่ดุลพินิจ  กฎหมายห้ามชุมนุมในรัฐทหาร
 
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เลิศศักดิ์ได้รับรางวัล “บุคคลแห่งปี” ของมูลนิธิโกมลคีมทอง จากการทำงานของเขา
 
อนุสรณ์ อุณโณ ขณะถูกดำเนินคดีดำรงตำแหน่งคณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากการทำงานวิชาการแล้วอนุสรณ์ยังเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ที่เคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นทางสังคมการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ออกแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเสรี และออกแถลงการณ์ให้ยุติการตรวจค้น จับกุม คุมขังนักศึกษาและเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยพลการ
 
อนุสรณ์จบการศึกษาปริญญาโท และเอก ด้านมานุษยวิทยา จาก University of Washington เคยเป็นนักวิจัยอิสระก่อนเริ่มทำงานประจำที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2553 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ มีหน้าที่สอนวิชามานุษยวิทยาการเมือง แนวทฤษฎีและวิธีวิทยาทางมานุษยวิทยา การวิจัยทางมานุษยวิทยา ฯลฯ
 
นิมิตร์ เทียนอุดม ขณะถูกดำเนินคดีเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) ทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิการเข้าถึงยา และการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกันของประชาชน นิมิตร์เป็นอดีตตัวแทนภาคประชาชนในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) หลายสิบปีที่ผ่านมา เขาทำงานต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนเรื่องหลักประกันสุขภาพของร่วมกับ “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” 
 
นิมิตร์จบการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2528 ระหว่างเรียนเขาทำกิจกรรมและงานอาสา ต่อมามูลนิธิโกมล คีมทองชักชวนเขาไปทำหนังสือพิมพ์เพื่อนชาวบ้าน หลังจากนั้นเขาออกมาทำงานในโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มีหน้าที่ค้นหาคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเรียนรู้ประเด็นทางสังคม มาทำงานอาสาสมัครเป็นเวลา 2 ปี 
 
นิมิตร์ทำงานพัฒนาสังคมด้านเอดส์ที่มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรในปี 2534 โดยงานหลักคือการแก้ปัญหาความไม่เข้าใจของคนในสังคมต่อปัญหาเอดส์รวมทั้งทำงานในประเด็นสิทธิ คุณภาพชีวิต ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ และครอบครัว และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการภาคประชาชนในปี 2545 ที่เข้าชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 คน เสนอร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งต้นกำเนิดของระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือที่ต่อมาเรียกกันว่า ระบบ "บัตรทอง" 
 
สมชาย กระจ่างแสง ทำงานกับมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) มาประมาณ 15 ปี ตำแหน่งขณะถูกดำเนินคดีเป็นเจ้าหน้าที่งานรณรงค์ สร้างความเข้าใจของสังคมต่อปัญหาเอดส์ ปัญหาเพศศึกษาในเยาวชน เรื่องสิทธิของประชาชนด้านการรักษาพยาบาล เรื่องบำนาญของผู้สูงวัย และทำหน้าที่เป็นวิทยากรจัดกิจกรรมทั้งกับคนทั่วไปและกลุ่มเฉพาะ สมชายยังเป็นตัวแทนของเครือข่ายภาคประชาชนในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ สาขาเขตกรุงเทพมหานครด้วย
 
สมชาย เกิดและเติบโตในกรุงเทพมหานคร เรียนด้านเทคนิคสถาปัตยกรรมศาสตร์ ระหว่างเรียนได้ทำกิจกรรมเป็นอาสาสมัครกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาชุมชนเมือง มีโอกาสทำกิจกรรมกับชุมชนแออัดหลายแห่ง หลังเรียนจบเริ่มทำงานประจำเป็นเจ้าหน้าที่กับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาชุมชนเมือง เป็นเวลา 8 ปี การทำงานกับชุมชนแออัดทำให้ต้องเจอปัญหาเรื่องเอดส์เยอะ ได้มีโอกาสเจอกับผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้ผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะในครอบครัวที่มีฐานะยากจนทำได้แต่นอนรอวันตาย สมชายจึงสนใจประเด็นเอดส์และเข้ามาทำงานต่อกับมูลนิธิเข้าถึงเอดส์เรื่อยมา
 
แสงศิริ ตรีมรรคา ขณะถูกดำเนินคดีเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ทำงานกับมูลนิธิมาแล้ว 22 ปี ทำงานสร้างความเข้าใจกับสังคมในเรื่อทัศนคติต่อความป่วยไข้ของผู้ติดเชื้อ การปฏิบัติตัวในการอยู่ร่วมกัน แนวทางการรักษาด้วยยา 

แสงศิริในนามมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ต้องทำ คือ การผลักดันมาตรการบังคับใช้สิทธิ์ (Compulsory Licensing: CL) เพื่อจะเอายาราคาถูกเข้ามาขายหรือให้องค์การเภสัชกรรมผลิตได้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้ โดยไม่ถือว่าละเมิดสิทธิบัตร รวมไปถึงการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพที่รัฐควรจัดสรรให้ประชาชนโดยเท่าเทียมกัน ให้ระบบสุขภาพในประเทศไทยมีมาตรฐานเดียว ในนาม "กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ" เมื่อปี 2542 
 
นุชนารถ แท่นทอง ขณะถูกดำเนินคดีเป็นประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค ทำงานประเด็นที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองมาเป็นเวลากว่า 27 ปี เนื่องจากเธอเคยเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อบ้าน จากเจ้าของที่ดินเดิม 
 
นุชนารถ ทำงานผลักดันในระดับนโยบาย ทำกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินให้มีการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือการไล่รื้อชุมชน อันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เครือข่ายสลัมสี่ภาค เคยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีและปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกคุมขังเนื่องจากทำกิจกรรมรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งบางส่วนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และร่วมทำกิจกรรมเรื่องปัญหาชุมชนเมืองด้วยกันมาก่อน ทำให้เธอและเพื่อนเคยถูกจับไปสถานีตำรวจนครบาลหัวหมากเพื่อสอบปากคำ ต่อมาเครือข่ายสลัมสี่ภาคยังเคยเข้าร่วมในแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
 
จำนงค์ หนูพันธ์ เริ่มทำงานทางสังคมจากการขับเคลื่อนในประเด็นแรงงานตั้งแต่ปี 2531 เคยมีตำแหน่งเป็นประธานสหภาพแรงงาน ในโรงงานแห่งหนึ่ง จนกระทั่งปี 2541 จำนงค์ผันตัวมาทำเรื่องที่อยู่อาศัย โดยจุดเริ่มต้นมาจากการที่มีภรรยาเป็นคนในพื้นที่ชุมชนที่ถูกไล่รื้อ ต่อมาจึงได้หันมาเคลือนไหวเชิงนโยบายกับภาครัฐ ในนามเครือข่ายสลัม 4 ภาค จำนงค์เคยดำรงตำแหน่งเป็นอดีตประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค 2 สมัย 
 
จำนงค์เคยทำงานผลักดันเชิงนโยบายกับภาครัฐจนได้มาซึ่งโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งเป็นส่วนในการสร้างกลไกการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง และคนจนในชนบท
 
อุบล อยู่หว้า ขณะถูกดำเนินคดีเป็นเกษตรกรเต็มตัวอยู่ร่วมในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ก่อนหน้านี้เคยทำงานพัฒนาอยู่ในหลายเครือข่าย เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2529 อุบลเข้ามาสู่โครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ ไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งต่อมาในปี 2530 ก็ได้ไปทำงานอยู่ที่โครงการนานาชาติเพื่อการพัฒนา ที่จังหวัดมหาสารคาม จนกระทั่งได้มาเริ่มทำงานกับสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม (ATA) ในปี พ.ศ.2536 และได้เข้ามาร่วมทำโครงการกับสนั่น ชูสกุล ในโครงการทามมูน ซึ่งเป็นการทำงานในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับป่าน้ำซับซึมต่างๆ ในภาคอีสาน จนกระทั่งใน ปี 2537 ก็ได้มาเริ่มทำงานกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก อย่างจริงจัง
 
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำงานกับเกษตรกรให้มีแนวทางการเพาะปลูกที่สวนกระแสนโยบายพัฒนาการเกษตรของรัฐ ที่มุ่งให้ทำเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตมากที่สุดเพื่อการค้า เน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมีทั้งปุ๋ยเร่งผลผลิต และยาฆ่าแมลง จนทำให้ดินเสีย เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อสุขภาพของเกษตรกร แต่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเชื่อในการปลูกพืชแบบผสมผสาน ใช้ระบบอินทรีย์ธรรมชาติมากกว่าสารเคมี และผลผลิตที่ได้ต้องเพียงพอต่อการบริโภค เพียงพอต่อการดำรงชีพของเกษตรกรก่อนนำออกขาย ไม่เน้นการลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์หรือสารเคมีจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่จะทำให้เกษตรกรเป็นหนี้สิน
 
 

 

ข้อหา / คำสั่ง

ฝ่าฝืนประกาศคสช. 7/2557

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาของตำรวจ ระบุถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 ทางผู้จัดกิจกรรมเดินมิตรภาพ ได้ทำหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับสภ.คลองหลวง ต่อมาในวันที่ 19 มกราคม 2561 ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายทหาร และตำรวจสืบสวนสภ.คลองหลวง ได้ร่วมกันตรวจสอบและติดตามพฤติการณ์ของการชุมนุม พบว่า 1) มีการจำหน่ายเสื้อยืดมีข้อความสื่อความหมายเกี่ยวข้องในทางการเมือง โดยเสื้อสกรีนข้อความว่า “ช่วยกันคนละชื่อ ปลดอาวุธ คสช.” พร้อมกับมีการตั้งโต๊ะและเชิญชวนผู้มาร่วมกิจกรรมให้ช่วยกันซื้อเสื้อ 2) มีการชักชวนประชาชนทั่วไปให้ร่วมกันลงลายมือชื่อยกเลิกกฎหมาย โดยมีการตั้งโต๊ะลงชื่อ ปรากฏมีกระดาษข้อความ “ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช.” ติดอยู่ที่โต๊ะ โดยมีบุคคลพูดเชิญชวนให้ร่วมลงชื่อ
 
เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่อยู่ในอำนาจของผู้กำกับสภ.คลองหลวง แต่มีลักษณะเป็นการมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558
 
เจ้าหน้าที่ยังกล่าวหาอีกว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561 ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 เศษ ผู้ต้องหาทั้งแปดคน ร่วมกับผู้เข้าร่วมชุมนุมอีกประมาณ 150 คน มั่วสุมจัดการชุมนุมปราศรัยบิดเบือนโจมตีการทำงานของรัฐบาล โดยมีการผลัดกันปราศรัยและแบ่งหน้าที่กันทำ โดยระบุถึงบทบาทของผู้ต้องหาแต่ละคนในการจัดการชุมนุม และเห็นว่าทั้งหมดเป็นการมั่วสุมจัดการชุมนุมปราศรัยบิดเบือนโจมตีการทำงานของรัฐบาล ซึ่งการปราศรัยของผู้ต้องหาทั้งหมดนี้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เช่น มีการพูดโจมตีรัฐบาลให้เสียหายถึงเรื่องที่ดินทำกิน ใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์แก่นายทุน
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

31 มกราคม 2561 ผู้ต้องหาทั้ง 8 คน เดินทางไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จ.ปทุมธานี ตามที่ได้รับหมายเรียก หลังแจ้งข้อกล่าวหาแล้วตำรวจปล่อยตัวทุกคนโดยไม่มีการคุมขัง จึงไม่มีการจับกุม ควบคุมตัว ในคดีนี้

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
20 มกราคม 2561
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลาประมาณ 7.00 น. ผู้เข้าร่วมกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ได้เริ่มรวมตัวที่วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยติดตามถ่ายภาพและวิดีโออย่างใกล้ชิด อีกทั้งภายนอกมหาวิทยาลัยยังมีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบอีกกว่า 100 นาย ตั้งแถวจัดเตรียมกำลัง และมีการตั้งด่านตรวจบริเวณถนนพหลโยธินหน้ามหาวิทยาลัยอีกด้วย
 
จากนั้น เวลา 8.10 น. ประชาชนจากเครือข่ายต่างๆ กว่า 100 คน ได้เริ่มตั้งขบวน โดยมีกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมการเดิน เวลาประมาณ 8.30 น. มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กักตัว อนุสรณ์ อุณโณ ตัวแทนจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ไว้ด้านนอกไม่ให้เข้าไปภายในจุดที่มีการตั้งขบวนราว 10 นาทีด้วย โดยระบุด้วยว่า กิจกรรมที่กำลังจะไปร่วมจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ก่อนเจ้าหน้าที่จะยอมให้เข้ามาร่วมอ่านแถลงการณ์ในกิจกรรม
 
ต่อมาเวลา 9.00 น. ตัวแทนประชาชนเครือข่ายต่างๆ ได้ร่วมกันอ่าน “คำประกาศ People Go เดิน…มิตรภาพ 2561” ก่อนจะเริ่มออกเดิน จนเวลา 9.30 น. ขบวนได้เดินมาถึงประตูทางออกจากมหาวิทยาลัยด้านถนนพหลโยธิน พบเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า 200 นาย ตั้งรั้วกั้นและตั้งแถวเป็นจุดสกัดไม่ให้ขบวนสามารถเดินออกไปจากมหาวิทยาลัยได้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ระบุให้ผู้ทำกิจกรรมทำการเจรจากับผู้บังคับบัญชาก่อน ทั้งระบุด้วยว่ากิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมือง ขอให้อย่ามีการชุมนุมออกนอกสถานศึกษาหรือนอกพื้นที่ เพราะบ้านเมืองกำลังดำเนินไปได้ดี 
 
เวลา 9.40 น. พ.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมมิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี เป็นผู้เข้าเจรจากับผู้จัดกิจกรรม โดยอ้างถึงความปลอดภัยของผู้ชุมนุม เกรงว่าจะมีมือที่สาม หรือมีการเอากิจกรรมไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยอยากให้รอพูดคุยเจรจากับ “ฝ่ายความมั่นคง” หรือเจ้าหน้าที่ทหารก่อน
 
จากนั้นทางขบวน “We Walk เดินมิตรภาพ” ได้หยุดนั่งรอการเจรจาบริเวณทางเท้าด้านหน้ามหาวิทยาลัย โดยมีตัวแทนเครือข่ายประชาชนในประเด็นต่างๆ ผลัดกันขึ้นกล่าวปราศรัยสลับกับการร้องเพลง ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังคงตั้งแถวปิดทางเข้าออกของมหาวิทยาลัยเอาไว้ พร้อมกับมีการแจกน้ำ และเปิดเพลงคืนความสุขให้กับผู้ร่วมเดินขบวนฟังด้วย
 
จนถึงเวลา 13.30 น. กลุ่มผู้ร่วมกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ยังคงนั่งปักรออยู่บริเวณทางเท้า โดยยืนยันว่าจะปักหลักอยู่จนกว่าจะเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้เดิน ขณะที่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายความมั่นคงเข้ามาเจรจาแต่อย่างใด 
 
 
We Walk front of TU
 
ทางฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการระดมกำลังเพิ่มเติมจากตำรวจภูธรจังหวัดอยุธยาเพิ่มอีกประมาณ 100 นาย และเพิ่มรั้วกั้นล้อมรอบทางเข้าออกเป็นสองชั้น รวมทั้งนำเต้นท์มากางด้านข้างด้วย
 
จนเวลาประมาณ 16.00 น. ทางผู้ปราศรัยที่อยู่ด้านหน้ามหาวิทยาลัย ได้ประกาศให้ทราบว่าตอนนี้ได้มีตัวแทนผู้ทำกิจกรรมได้เริ่มออกเดินไปจากด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตแล้ว โดยแบ่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละจำนวน 4 คน ทั้งหมด 3 กลุ่ม รวมผู้เดินจำนวน 12 คน รวมทั้งมีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบขับรถกระบะและรถจักรยานยนต์ติดตามไปพร้อมทั้งถ่ายรูปผู้เดินเป็นระยะด้วย แต่ยังไม่ได้มีการจับกุมหรือห้ามทำกิจกรรมแต่อย่างใด
 
ตามกำหนดการที่วางไว้ ในคืนนั้นขบวนเดินจะเข้าพักค้างคืนที่วัดลาดทราย จ.พระนครศรีอยุธยา แต่มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าไปพูดคุยกับพระที่วัดก่อนเพื่อสร้างความกดดัน แต่หลังจากทีมจัดงานได้พูดคุยกับเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสก็อนุญาตให้เข้าพักค้างคืนได้
 
 
21 มกราคม 2561
 
ช่วงเวลา 04.00 น. มีบุคคลไม่ทราบชื่อ ไม่ทราบสังกัด เข้าไปที่วัดลาดทรายขณะที่ผู้เข้าร่วมการเดินหลับพักผ่อนอยู่ และตะโกนถามหาแกนนำ เพื่อขอพูดคุย แต่ไม่มีใครตอบรับ
 
ช่วงเช้าประมาณ 06.00 น. มีตำรวจชุดควบคุมฝูงชนกว่า 200 นาย เข้าไปที่วัดลาดทราย และตั้งขบวนตรวจค้นรถทุกคันที่จะออกจากวัด พร้อมถ่ายรูปใบหน้า ทะเบียนรถและบัตรประชาชนทุกคน แต่รถคันสุดท้ายซึ่งเป็นรถเสบียงบรรทุดสัมภาระจำนวนมาก ถูกกักไว้และตรวจค้นโดยละเอียด โดยมีพล.ต.ต.สมหมาย ประสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้นำการตรวจค้น ซึ่งใช้เวลานานเพราะตำรวจให้คนที่มากับรถขนของทุกอย่างลงและเปิดกล่องทุกใบเอง
 
จากนั้น เจ้าหน้าที่ให้รถคันดังกล่าวขับไปยังที่ทำการอบต.ลำไทร ซึ่งอยู่ติดกับวัด และควบคุมตัวทีมสวัสดิการ 4 คน ที่มากับรถ ได้แก่ วศินี บุญที, นิติกร ค้ำชู, อาคม ศรีบุตตะ และ "นนท์" (นามสมมติ) แจ้งว่าเพื่อสอบปากคำเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในรถ ซึ่งเป็นการตรวจค้นและจับกุมโดยอำนาจทหาร ไม่ต้องมีหมายศาล โดยทนายความที่ติดตามไปขอเข้าฟังการสอบสวนถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปยังตัวที่ทำการอบต. โดยอ้างว่า เป็นการสอบปากคำในฐานะพยาน ไม่ใช่การจับกุมตัวในฐานะผู้ต้องหาจึงยังไม่มีสิทธิพบทนายความ
 
22 มกราคม 2561
นิมิตร์ เทียนอุดมตัวแทนเครือข่าย People Go พร้อมทั้งสุรชัย ตรงงาม ทนายความ ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้เจ้าหน้าที่หยุดการคุกคามการใช้เสรีภาพในการชุมนุม และขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว และขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งให้ตำรวจที่เกี่ยวข้องยุติการคุกคามขัดขวางการชุมนุม โดยภายหลัง ศาลปกครองได้ยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินของกลุ่ม People Go โดยให้เหตุผลว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอและต้องฟังข้อเท็จจริงจากฝ่ายตำรวจซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องด้วย
 
23 มกราคม 2561
 
บีบีซีไทย รายงานว่า พ.ท.ภูษิต คล้ายหิรัญ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ให้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต่อแกนนำเครือข่ายภาคประชาชนที่ใช้ชื่อว่า People Go network ซึ่งจัดกิจกรรม We walk เดินมิตรภาพ จำนวน 8 คน ประกอบด้วยเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์, อนุสรณ์ อุณโณ, นิมิตร์ เทียนอุดม, สมชาย กระจ่างแสง, แสงศิริ ตรีมรรคา, นุชนารถ แท่นทอง, อุบล อยู่หว้า และนายจำนงค์ หนูพันธ์
 
26 มกราคม 2560
 
ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคำร้องขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองกิจกรรม “We Walk เดิน…มิตรภาพ” โดยตำรวจที่เป็นตัวแทนผู้ถูกฟ้องคดีทุกนาย ชี้แจงต่อศาลไปในทางเดียวกันว่า การชุมนุมของเครือข่าย People GO ไม่ปรากฎว่ามีการกระทำที่ไม่สงบเรียบร้อยหรือมีอาวุธในระหว่างการชุมนุม และไม่กระทบต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 แต่การชุมนุมอาจเข้าข่ายผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป เพราะวันที่ 19 มกราคม 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ มีการจัดกิจกรรมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และขายเสื้อซึ่งมีสัญลักษณ์ต่อต้าน คสช. ซึ่งตลอดเวลาได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายทหาร อยู่ตลอด
 
 
27 มกราคม 2561
 
เวลาประมาณ 1.30 น. เข้าสู่เช้าวันที่ 27 มกราคม 2561 ศาลปกครองส่งคำสั่งทางโทรสารให้คู่ความทราบ สั่งให้ตำรวจที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทำหน้าที่ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ดูแลความสะดวกการทำกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ไม่ให้ปิดกั้น ขัดขวาง เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย
 
 
 
31 มกราคม 2561
 
ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรคลองหลวงนัดให้ผู้ต้องหาแปดคน ที่เข้าร่วมกิจกรรม we walk เดินมิตรภาพ มารับทราบข้อกล่าวหาฐานชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ข้อ 12
 
ช่วงเวลาประมาณ 11:00 น. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองและประชาชนจำนวนประมาณ 30 คนทำกิจกรรมเดินเท้าจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตรมายังสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง เพื่อให้กำลังใจผู้ถูกกล่าวหา โดยตลอดเส้นทางเดินมาตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามถ่ายภาพ และบางคนก็ร่วมเดินด้วยรวมแล้วมากกว่า 20 คน ขณะที่ตำรวจในเครื่องแบบพร้อมรถตำรวจคอยอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจรอยู่ตลอดทาง
 
บริเวณหน้า สภ.คลองหลวง มีประชาชนกว่า 300 คนมารอให้กำลังใจผู้ต้องหาที่มารายงานตัวในวันนี้ ผูู้ต้องหาทั้งแปดคนเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาในเวลาประมาณ 13.00 น. กระทั่งได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการและพิมพ์ลายนิ้วมือเสร็จแล้ว ผู้ต้องหาทั้งแปดคนแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่าจะยังไม่ให้การในวันนี้และขอนำส่งคำให้การเป็นหนังสือภายหลัง หลังเสร็จกระบวนการรับทราบข้อกล่าวหา ทั้งแปดคนได้รับการปล่อยตัวให้กลับบ้านโดยไม่ต้องยื่นประกันตัว โดยพนักงานสอบสวนนัดให้มาพบอีกครั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อนำส่งตัวให้กับพนักงานอัยการต่อไป
 

We Walk รับทราบข้อกล่าวหา สภ.คลองหลวง

 
26 กุมภาพันธ์ 2561 
 
พนักงานสอบสวนแจ้งกับผู้ต้องหาและทนายความว่า ให้เดินทางไปพบกันที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีในเวลา 13.00 ผู้ต้องหาทั้งแปดคน เดินทางไปถึงพร้อมด้วยทนายความและผู้ที่มาให้กำลังใจประมาณ 100 คน 13.00 โดยมีตัวแทนจากสถานทูตสหภาพยุโรป แคนาดา สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก มาสังเกตการณ์ด้วย
 
เมื่อผู้ต้องหาทั้งแปดคนเดินเข้าไปรายงานตัวในสำนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่เอาเอกสารมาให้ลงชื่อ และแจ้งว่า ให้กลับบ้านได้ เนื่องจากอัยการเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากตำรวจในวันนี้ จึงยังไม่ได้พิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ และนัดให้มาฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่อีกครั้งวันที่ 2 มีนาคม 2561
 
ผู้ต้องหาพยายามสอบถามเจ้าหน้าที่ว่า ขอเลื่อนมาวันหลังได้หรือไม่ เพราะเป็นการนัดกระชั้นชิดหลายคนไม่สะดวก และบางคนต้องเดินทางไกลมาจากต่างจังหวัด เพิ่งจะมาถึงวันนี้และอีกไม่กี่วันก็ต้องมาอีกครั้งหากจะขอมอบอำนาจให้ตัวแทนมาฟังคำสั่งแทนได้หรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ตอบว่า ไม่ได้ ผู้ต้องหาทุกคนต้องมาเอง
 
พนักงานอัยการที่เป็นผู้รับเรื่องจึงเดินมาชี้แจงเอง โดยบอกกับทุกคนว่า วันนี้เพิ่งได้รับสำนวนจากตำรวจ ทราบว่าตำรวจสั่งฟ้องแล้ว แต่ทางอัยการยังไม่มีเวลาดูอย่างละเอียด ส่วนตามที่นัดวันที่ 2 มีนาคม 2561 นั้น ขอให้ทุกคนมาตามนัดก่อน ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่า ในวันดังกล่าวจะสั่งฟ้องได้หรือไม่ หากยังพิจารณาไม่เสร็จก็จะแจ้งว่า จะเลื่อนไปอีกครั้ง ซึ่งหากต้องเลื่อนอีกจะอนุญาตให้มอบอำนาจให้ตัวแทนมาฟังแทนได้ 
 
2 มีนาคม 2561
 
ผู้ต้องหาทั้งแปดคนเดินทางมารายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เลื่อนฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ ไปเป็นวันที่ 29 มีนาคม 2561
 
29 มีนาคม 2561
 
ผู้ต้องหาทั้งแปดคนเดินทางมารายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เลื่อนฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ ไปเป็นวันที่ 1 พฤษภาคม 2561
 
1 พฤษภาคม 2561
 
ผู้ต้องหาทั้งแปดคนเดินทางมารายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เลื่อนฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ ไปเป็นวันที่ 5 มิถุนายน 2561 โดยในวันนี้ผู้ต้องหาทั้งแปดคนและเครือข่าย People Go Network ใช้พื้นที่บริเวณสำนักงานอัยการ ทำกิจกรรมพูดคุยกันต่อและแถลงจุดยืนไม่รับยุทธศาสตร์ชาติ ของ คสช.

 

5 มิถุนายน 2561

แปดผู้ต้องหาจากการจัดกิจกรรม "We walk เดินมิตรภาพ" เดินทางมารายงานตัวต่ออัยการสำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีตามนัดหมายของอัยการ ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 
 
ในครั้งนี้มีผู้ต้องหามารายงานตัวเพียง 5 คน เนื่องจากผู้ต้องหาอีก 3 คนติดภารกิจ เข้าร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้แบนการใช้สารเคมีอันตราย จัดขึ้นโดยเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตรายร้ายแรง 369 องค์กร และได้มอบอำนาจให้ทนายมารายงานตัวแทน
 
เจ้าหน้าที่แจ้งว่า การฟังคำสั่งต้องเลื่อนออกไปเพราะสำนวนยังไม่แล้วเสร็จ และมีการนัดหมายให้มาฟังคำสั่งเป็นครั้งที่ 5 ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.30 น. 
 
 
7 สิงหาคม 2561
 
ผู้ต้องหาทั้งแปดคนมอบอำนาจให้ทนายความไปฟังคำสั่งอัยการแทน และนัดกันทำกิจกรรมเดินเท้าพร้อมกับประชาชนอีกกว่า 100 คน จากหน้าประตูทางเข้าศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อไปยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 นั้นขัดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและขัดต่อรัฐธรรมนูญ
 
ต่อมาทนายความได้แจ้งคำสั่งของอัยการจังหวัดธัญบุรีเจ้าของสำนวนและอธิบดีอัยการซึ่งมีความเห็นตรงกันสั่งไม่ฟ้องคดี และตำรวจภูธรภาค 1 ก็เห็นตรงกันด้วยว่าจะไม่ฟ้องคดี คดีนี้จึงถือเป็นสิ้นสุด 
 
โดยคำสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการระบุเหตุผลว่า การชุมนุมของผู้ต้องหาทั้งแปดในคดีนี้ เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ มิได้กระทบความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 2560 อีกทั้งผู้ต้องหาที่ 1 ได้แจ้งการชุมนุมและวัตถุประสงค์ของการชุมนุมต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว โดยการชุมนุมไม่ได้มีกิจกรรมเกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด การกระทำของผู้ต้องหาทั้งแปดจึงยังไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา
 
 
14 สิงหาคม 2561
 
หลังได้รับทราบคำสั่งไม่ฟ้องคดีแล้ว กลุ่มผู้จัดกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ ร่วมกันออกแถลงการณ์ แสดงจุดยืนว่า คำสั่งไม่ฟ้องคดีครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ถือเป็นความกล้าหาญของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม และเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
 
ขณะเดียวกันแถลงการณ์นี้ยังเห็นว่า การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนมีติดตัวอยู่แล้ว และประชาชนสามารถใช้เสรีภาพนี้ได้ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นจนเกินสมควร ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีข้อเรียกร้องทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม 
 
และหวังว่า การต่อสู้กับการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรมและการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจะมีความกล้าหาญยิ่งๆ ขึ้นไปได้อีก และมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหาที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธในกรณีอื่นๆ ซึ่งถูกดำเนินคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ด้วย
 
 
28 กันยายน 2561 
 
ศาลปกครองนัดฟังคำพิพากษา กรณีที่เครือข่าย People Go ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อการละเมิดเสรีภาพการขุมนุมตามรัฐธรรมนูญ จำนวนเงิน 100,000 บาท
 
คดีนี้ศาลปกครองพิจารณาใน 2 ประเด็น
 
ประเด็นที่ 1 ตำรวจโต้แย้งว่า การฟ้องร้องของเครือข่าย People Go ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลปกครอง เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการควบคุมการชุมนุมได้รับการคุ้มครองจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ประเด็นนี้ศาลเห็นว่า ในช่วงระหว่างการชุมนุมไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งต้องได้รับการแต่งตั้งจากหัวหน้า คสช. ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ได้อาศัยคำสั่งดังกล่าวในการห้ามชุมนุม ดังนั้นข้อกล่าวอ้างของตำรวขจึงไม่อาจรับฟังได้ และเจ้าหน้าตำรวจต้องดูแลอำนวยความสะดวกต่อผู้ชุมนุม ตามหน้าที่ใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
 
ประเด็นที่ 2 ในระหว่างการชุมนุมตำรวจละเมิดสิทธิการชุมนุมของเครือข่าย People Go หรือไม่ ในประเด็นนี้ศาลวินิจฉัยว่า ผู้ชุมนุมมีสิทธิชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ขณะที่เจ้าหน้าตำรวจก็มีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก และรักษาความปลอดภัย ในคดีนี้ผู้ชุมนุมกล่าวหาตำรวจว่า ปิดกั้นการชุมนุม โดยการเดินติดตามถ่ายรูป ตรวจค้นรถเสบียงของผู้ชุมนุม รวมทั้งถูกขัดขวางผู้ชุมนุมได้พักอาศัยในวัดที่ได้ติดต่อไว้ตลอดระยะเวลาการชุมนุม 
 
ศาลเห็นว่า ตลอดระยะเวลาการชุมนุมปรากฎว่าเครือข่าย People Go ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุม จึงพิพากษายกฟ้อง
 
(ดูคำพิพากษาศาลปกครองฉบับเต็มได้ตามเอกสารแนบ)
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา