การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้ากองทัพบก #ARMY57 (คดีผู้จัดการชุมนุม)

อัปเดตล่าสุด: 01/09/2562

ผู้ต้องหา

กาณฑ์

สถานะคดี

ชั้นอัยการ

คดีเริ่มในปี

2512

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจากคสช.มาร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ต้องหาคดีนี้

สารบัญ

ในวันที่ 24 มีนาคม 2561 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจัดกิจกรรม “รวมพลคนอยากเลือกตั้ง” โดยเริ่มชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ จากนั้นจึงเดินเท้าไปที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 350 คน
 
ในเวลาต่อมามีการออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 57 คนมารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ในจำนวนผู้ต้องหา 57 คน มีผู้ต้องหาสิบคนที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นแกนนำและมีการปราศรัยปลุกระดมประชาชนจึงถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมด้วย  
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

กาณฑ์ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่สี่ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  สำหรับคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี 2561 กาณฑ์ถูกดำเนินคดีไปแล้วรวมสองคดี ได้แก่  คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนิน และคดีนี้
 
สิรวิชญ์ หรือ นิว  จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  สมัยเรียนเคยทำงานอยู่ในสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนที่ต่อมาจะได้เข้าร่วมกลุ่มสภาหน้าโดม เคยเป็นแกนนำเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องค่าอาหารของโรงอาหารกลางที่สูงเกินไป
 
หลังการรัฐประหาร 2557 สิรวิชญ์เข้าร่วมหรือเป็นผู้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหารหรือประท้วงคสช.หลายครั้งจนถูกดำเนินคดีชุมนุมฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 และ คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 จากการทำกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลักที่หอศิลป์กรุงเทพ และกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ นอกจากนี้ก็ถูก ดำเนินคดีในความผิดตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯจากการจัดกิจกรรมโพสต์สิทธิ แปะโพสต์อิทที่สกายวอล์กบีทีเอสช่องนนทรีย์เพื่อเรียกร้องให้คสช.  ปล่อยตัวประชาชนที่ถูกคสช.ควบคุมตัวในช่วงเดือนเมษายนปี 2559 สำหรับคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี 2561 สิรวิชญ์ถูกดำเนินคดีไปแล้วรวมสี่คดี ได้แก่  คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าห้างมาบุญครอง ที่ถนนราชดำเนิน และที่พัทยารวมทั้งคดีนี้
 
รังสิมันต์ เป็นนักศึกษาปริญญาโทคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เขาทำกิจกรรมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 จนถูกตั้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และคดีชุมนุมขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 หลายคดี เช่น คดีชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ คดีการชุมนุมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ คดีพูดเพื่อเสรีภาพรัฐธรรมนูญกับคนอีสาน คดีแจกเอกสารโหวตโนประชามติที่บางพลี สำหรับคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี 2561 รังสิมันต์ถูกดำเนินคดีไปแล้วรวมสามคดี ได้แก่  คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าห้างมาบุญครอง ที่ถนนราชดำเนิน รวมทั้งคดีนี้ 
 
ณัฏฐา หรือ โบว์ เป็นนักกิจกรรมทางสังคมและเคยจัดรายการทีวีทางช่องวอยซ์ ทีวี และทำงานอิสระที่เกี่ยวกับการศึกษา  ณัฏฐาร่วมเคลื่อนไหวในกิจกรรมทางการเมืองและใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองต่อสาธารณะบ่อยครั้งในช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 ยังไม่เคยถูกดำเนินคดีจนกระทั่งเข้าร่วมและปราศรัยในกิจกรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเธอถูกดำเนินคดีรวมสามคดีได้แก่  คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าห้างมาบุญครอง และที่ถนนราชดำเนิน รวมทั้งคดีนี้
 
ธนวัฒน์ นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group – DRG
 
เอกชัย หงษ์กังวาน ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป โดยก่อนหน้านี้เอกชัยเคยถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากการขายซีดีสารคดีของสำนักข่าว ABC และแจกเอกสารจากวิกิลีกส์ 9 ตุลาคม 2558 ศาลฎีกาพิพากษาให้เอกชัยต้องรับโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยเขาถูกจองจำอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ในเดือนมีนาคม 2556 จนได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558
 
เอกชัย เคยทำอาชีพขาย "หวยบนดิน" จนกระทั่งมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้อาชีพนี้ถูกยกเลิกไป เขาติดตามการเมืองในฐานะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยตรง และเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มคนเสื้อแดง
 
หลังถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ เอกชัยยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองในทางที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองของ คสช. และใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งใช้เฟซบุ๊กของตัวเองบอกเล่าประสบการณ์ และเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เคยพบเจอระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำด้วย
 
เอกชัย ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์หลายครั้ง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย แต่สร้างความลำบากใจให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เช่น การประกาศจะนำหมุดคณะราษฎรจำลองไปใส่ไว้แทนที่ "หมุดหน้าใส" การประกาศว่าจะใส่เสื้อแดงในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9 จนกระทั่งในช่วงเดือนมกราคม 2561 ระหว่างที่มีกระแสเรื่องนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. ที่ไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สิน เอกชัยก็ทำกิจกรรมเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อมอบนาฬิกาของตัวเองให้กับ พล.อ.ประวิตร ติดต่อกันอยู่หลายวัน และถูกดำเนิน
 
โชคชัย นักกิจกรรมทางสังคม
 
อานนท์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา เมื่อประกอบอาชีพทนายอานนท์เคยว่าความคดีสิทธิมนุษยชนให้ชาวบ้านหลายคดี เช่น คดีชาวบ้านชุมนุมค้านโรงถลุงเหล็ก จ.ประจวบคีรีขันธ์ คดีชาวบ้านค้านท่อแก๊สที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และคดีความจากการชุมนุมอีกหลายคดี  นอกจากนี้ เขายังเป็นทนายความให้กับจำเลยในคดีการเมืองและคดีมาตรา 112 เช่น คดีอากง เอสเอ็มเอส ด้วย
 
หลังการรัฐประหาร 2557 อานนท์เข้าร่วมและเป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหารหลายครั้งจนถูกดำเนินคดีจากการแสดงนับสิบคดี เช่น คดีชุมนุมฝ่าฝืนประกาศคสช.ที่ 7/2557 และ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558  จากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลักและการร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ และถูกดำเนินคดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯรวมสองคดีจากการจัดกิจกรรมยืนเฉยๆที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อเรียกร้องให้คสช.ปล่อยตัวประชาชนที่ถูกคสช.ควบคุมตัวในช่วงเดือนเมษายนปี 2559  สำหรับคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี 2561 อานนท์ถูกดำเนินคดีไปแล้วรวมสามคดี ได้แก่  คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าห้างมาบุญครอง ที่ถนนราชดำเนิน รวมทั้งคดีนี้
 
ปกรณ์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา เคยเคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และ คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ หลังรัฐประหารผันตัวมาทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติมาแล้วสองคดี จนกระทั่งมาโดนคดีนี้เป็นคดีที่สาม
 
ศรีไพร นักเคลื่อนเคลื่อนไหวสิทธิด้านแรงงาน

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, อื่นๆ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558
คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558, พ.ร.บ.จราจรทางบก

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาและรับมอบตัวผู้ต้องหา ลงวันที่  9 เมษายน 2561 ระบุว่า พ.ต.ท.ประจักษ์ พงษ์ปรีชา, พ.ต.ท.ประกอบ เย็นหลักร้อย ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหา ตามคดีอาญาที่287/2561 สน.ชนะสงคราม
 
โดยพนักงานสอบสวนแจ้งให้ทราบถึงการกระทำตามข้อกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2561 ในการปราศรัย "รวมพลังถอนราก คสช." ที่สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) รังสิมันต์ โรม และสิรวิชญ์ เสรีวัฒน์ กล่าวชักชวนและหมายให้กลุ่มมวลชนมารวมตัวกันอีกครั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2561 เวลา 16.00 น. โดยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2561 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group – DRG มีการโพสต์ข้อความว่า “รวมพลังกัน อีกครั้ง เดินหน้าถอนราก คสช. วันเสาร์ 24 มีนาคม 2561 เวลา 16.00 น. รวมตัวที่สนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) แล้วเดินหน้าสู่กองทัพบก มาเดินหน้าทวงสิทธิกำหนดอนาคตประเทศ ด้วยกัน” 19 มีนาคม 2561 ชลธิชา แจ้งเร็ว  ได้ทำหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อ ผกก.สน.ชนะสงคราม
 
วันที่ 20, 23 มีนาคม 2561 รังสิมันต์ โรม ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนให้มาร่วมชุมนุม จากเฟซบุ๊กที่ชื่อ “Rangsiman Rome”
 
วันที่ 23 มีนาคม 2561 อานนท์ นำภา  ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนให้มาร่วมชุมนุม จากเฟซบุ๊กที่ชื่อ “อานนท์ นำภา”
 
วันที่ 23 มีนาคม 2561 โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนให้มาร่วมชุมนุม จากเฟซบุ๊กที่ชื่อ “โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ”
 
วันที่ 24 มีนาคม 2561 ฉัตรมงคล วัลลีย์ ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนให้มาร่วมชุมนุม จากเฟซบุ๊กที่ชื่อ “ฉัตรมงคล วัลลีย์”
 
วันที่ 24 มีนาคม 2561 อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนให้มาร่วมชุมนุม จากเฟสบุ๊กที่ชื่อ “หนุ่ย อภิสิทธิ์"
 
วันที่ 24 มีนาคม 2561 ณัฏฐา มหัทธนา ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนให้มาร่วมชุมนุม จากเฟซบุ๊กที่ชื่อ “Bow Nuttaa Mahattana”
 
จนกระทั่งวันที่ 24 มีนาคม 2561 ที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) รังสิมันต์ ขึ้นอ่านแถลงการณ์เปิดการปราศรัยชุมนุมบนรถ 6 ล้อเครื่องขยายเสียง ติดแผ่นป้ายไวนิล “รวมพลังถอนราก คสช.” โดยมีกาณฑ์ทําหน้าที่เป็นพิธีกรประกาศเรียกชักชวนมวลชนให้รวมตัวกันมาฟังปราศรัย สิรวิชญ์, ธนวัฒน์, ณัชปกร, ณัฏฐา สลับกันขึ้นพูดปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาลและ คสช. ว่ามีการทุจริต ใช้อํานาจโดยไม่เป็นธรรม และมีการโจมตีรัฐบาล และ คสช. เกี่ยวกับเรื่องที่มีการเลื่อนการเลือกตั้งพร้อมกับชักชวนให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล และ คสช.
 
ต่อมาเวลาประมาณ 17.30 น. รังสิมันต์ ได้ประกาศเรียกแถวกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อเคลื่อนกำลัง กองบัญชาการกองทัพบก กลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินไปตามทางเท้าริมถนนหน้าพระธาตุ ได้มีรถยนต์กระบะ 4 ล้อ เข้ามาร่วมขบวนที่หน้าโรงละครแห่งชาติ แกนนํากลุ่มผู้ชุมนุม คือสิรวิชญ์, รังสิมันต์ กับพวก ได้ขึ้นบนรถกระบะดังกล่าว ปราศรัยโจมตีรัฐบาล ปลุกระดมมวลชนไปตลอดเส้นทางโดยมียอดผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 350 คน
 
 กาณฑ์ได้ขึ้นบนรถกระบะเครื่องขยายเสียงบริเวณด้านหน้ากองทัพบก ปราศรัยว่า “..เราขับไล่เผด็จการด้วยกันนะครับ เดินต่อไปนะครับถึงแม้ว่าคนจะเยอะค่อยๆ เดินต่อไปครับ…เดิน ต่อไปพวกเราสู้ไหม สู้ไหม เผด็จการออกไป เผด็จการออกไป เผด็จการออกไป คสช.ออกไป เผด็จการออกไป คสช. เผด็จการออกไป ครับพี่น้อง…พี่น้องทหารครับวันนี้หากคุณได้เรียนประวัติศาสตร์ คุณรู้ใช่ไหมว่าวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เกิดอะไรขึ้น คุณอยากให้เป็นแบบจอมพลถนอม กิตติขจรหรือไม่ วันนั้นถ้าคุณไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย จงให้หลีกทางให้ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทวงสิทธิ์ของประชาชน ทหารทุกคนโปรดฟัง ถ้าไม่อยากให้ ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เหมือน 14 ตุลาคม 2516 เราจะไม่ซ้ำรอยเราจะสู้เราจะสู้ด้วยสันติ”
 
ดังกล่าวมาถือเป็นการร่วมกันกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชน ด้วยวาจา อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2)(3) ร่วมกันชุมนุมทางการเมือง ขัดคําสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558  เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 น.ถึงเวลา 06.00 น.ของวันรุ่งขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ดูแลการชุมนุมสาธารณะ, ไม่เลิกการชุมนุมสาธารณะภายในระยะเวลาที่ผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งไว้ต่อผู้รับแจ้ง ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 16 (1) (8) 18, ทําการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 มาตรา 4 วรรคแรก และร่วมกันเดินเป็นขบวนในลักษณะการกีดขวางการจราจร หรือ กระทําการด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108 , 114 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

พฤติการณ์การจับกุม

ผู้ต้องหาในคดีเก้าคนเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเองจึงไม่มีการจับกุม 

เอกชัย หงษ์กังวาน ถูกตำรวจ สน.ชนะสงครามออกหมายจับเนื่องจากไม่เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามนัดถูกฝากขังและประกันตัวออกมา

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

อาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
23 มีนาคม 2561
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า รังสิมันต์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เครือข่ายกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Rangsiman Rome” ถึงการนัดรวมพลคนอยากเลือกตั้ง “เดินหน้าถอนราก คสช.” ในวันที่ 24 มีนาคม 2561 ที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนเดินเท้าไปที่กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก โดยมีข้อความว่า “การเดินขบวนไปกองทัพบกในวันพรุ่งนี้ (24 มี.ค.) จะเป็นวันหนึ่งที่สำคัญมากๆของการต่อสู้เพื่อให้มีการเลือกตั้ง หลายคนอาจจะรู้สึกว่า บรรยากาศการเมืองชวนพาให้ฝันว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อพิจารณาจากการเปิดตัวของบรรดาพรรคต่างๆ และการถกเถียงที่เริ่มมีให้เห็น
 
ภายใต้ภาพอันชวนฝันดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกมาย้ำอีกครั้งว่าการเลือกตั้งจะมีในต้นปีหน้า โดยเลี่ยงที่จะพูดว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งสะท้อนว่าเห็นทีการเลือกตั้งจะคงเลื่อนออกไปอีกครา
 
ส่วนตัวผมเองนั้นไม่เชื่ออีกแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ เป็นคนมีสัจจะเชื่อถือได้ ผมไม่เชื่ออีกแล้วว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหากเราไม่ต้องสู้แย่งคืนมา จึงอยากขอเรียกร้องอีกครั้งให้ประชาชนคนไทยเป็นหนึ่ง ช่วยกันแสดงพลังแสดงจุดยืน โดยการเดินขบวนร่วมไปกลับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งโดยเริ่มจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปสู่กองทัพบก แล้วเจอกัน ”
 
24 มีนาคม 2561
 
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า วันที่ 24 มีนาคม 2561 เวลา 16.00 น. มี ที่สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จัดกิจกรรม เป็นครั้งที่สี่ โดยนัดจัดกิจกรรมเพื่อรวมตัวเดินไปยังกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก เพื่อทวงถามถึงกำหนดวันเลือกตั้ง ที่ทางกลุ่มขีดเส้นว่า ต้องเกิดขึ้นปีนี้เท่านั้น โดยผู้จัดได้ทำการปราศัยและมีการอ่านแถลงการณ์ต่อหน้าสื่อมวลชล
 
จากนั้น เวลา 17.15 น. กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้เริ่มเดินขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยระหว่างกำลังเคลื่อนขบวนอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งแถวปิดหน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อไม่ให้รถปราศรัยหกล้ออกจากมหาวิทยาลัย โดยได้ทำการยึดกุญแจจากคนขับรถหกล้อ หลังจากนั้น แกนนำผู้ชุมนุมได้ลงจากรถหกล้อ ไปรวมกับประชาชนบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เพื่อขึ้นรถกระบะสี่ล้ออีกคันหนึ่ง ที่จอดเตรียมสแตนบายไว้บริเวณหน้าโรงละครแห่งชาติ และเคลื่อนขบวนเข้าสู่ถนนราชดำเนิน โดยมี เจ้าหน้าที่ตำรวจ ในและนอกเครื่องแบบ ตามขบวนและควบคุมผู้ชุมนุมไม่ให้ลงสู่พื้นผิวการจราจร โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าเกรงว่าจะส่งผลให้การจราจรติดขัด
 
ประชาไทรายงานต่อว่า เวลา 19.30 น. ที่หน้ากองทัพบก ตำรวจได้เตือนให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปภายในเวลา 19.45 น. มิเช่นนั้นจะเปิดเครื่องขยายเสียงเพื่อให้ผู้ชุมนุมสลายตัว ขณะที่ผู้ชุมนุมยืนยันจะชุมนุมตามกำหนดการที่วางไว้คือจนถึงเวลา 20.00 น. จึงจะเลิกชุมนุม โดยผู้ชุมนุมยังขอชุมนุมจนถึงเวลา 21.00 น. โดยระบุว่ายังเหลือคิวผู้ปราศรัยอีก 2 คน
 
กระทั่งในเวลา 20.12 น. รังสิมันต์ แกนนำขึ้นปราศรัยคนสุดท้ายว่ากิจกรรมวันนี้เป็นครั้งสุดท้าย แต่ขอให้ผู้กิจกรรมอย่าหยุดจนกว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยคืนให้ประชาชนจะสำเร็จ จากนั้นผู้ชุมนุมได้ยุติการจัดกิจกรรมและออกจากพื้นที่เมื่อเวลา 20.30 น.
 
30 มีนาคม 2561
 
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบกปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติและมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผกก.สน.ชนะสงคราม และ พ.ต.ท.ประจักษ์ ทรงปรีชา รอง ผกก.สอบสวน สน.ชนะสงคราม และร.ต.ท.โกวิทก์ สีเนหะ รองสารวัตรสอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อร้องทุกกล่าวโทษผู้ชุมนุม รวม 57 คน แยกเป็นแกนนำ 10 คน และผู้เข้าร่วมชุมนุม 47 คน
 
1 เมษายน 2561
 
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า มีการเปิดเผยรายชื่อผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี 47 คน โดยได้แจ้งข้อหาฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป
 
9 เมษายน 2561
 
ในช่วงเช้าเวลาประมาณ 10.00 ที่สน.นางเลิ้ง ผู้ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดกิจกรรมคนอยากเลือกตั้งเดินขบวนไปที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก สี่คนจากทั้งหมดสิบคนประกอบด้วย ณัฏฐา กาณฑ์ โชคชัย และศรีไพร เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา "คดีชุมนุมหน้ากองทัพบก” โดยมีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมการรับทราบข้อกล่าวหาด้วย และมีประชาชนประมาณ 20-30 คนมารอให้กำลังใจ ซึ่งตำรวจเอารั้วมากั้นหน้าประตูทางเข้า สน. อนุญาตให้เฉพาะผู้ที่มีชื่อเป็นผู้ต้องหาและทนายความเท่านั้นที่เข้าไปใน สน. ได้
 
ต่อมาเวลาประมาณ 11.00 ธนวัฒน์ ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งเดินทางมาถึง และเข้ารับทราบข้อกล่าวหาด้วยกัน กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จนถึงเวลาประมาณ 12.00 น. ผู้ต้องหาและทนายความจึงเดินออกมาจาก สน.นางเลิ้ง โดยเปิดเผยว่า พวกเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า การเดินขบวนมายังหน้ากองบัญชาการกองทัพบกและกล่าวปราศรัย เข้าข่ายผิดกฎหมายสี่ข้อหา ได้แก่ ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ข้อหาร่วมกันชุมนุมทางการเมือง ขัดคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558, ร่วมกันเป็นผู้ชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุมหรือทําให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึ่งคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 น.ถึงเวลา 06.00 น. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน, ไม่เลิกการชุมนุมสาธารณะภายในระยะเวลาที่ผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งไว้ต่อผู้รับแจ้ง ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 16 (1) (8) 18, โฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 มาตรา 4 และร่วมกันเดินเป็นขบวนในลักษณะการกีดขวางการจราจร หรือ กระทําการด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108
 
หลังการรับทราบข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาทั้งห้าคน ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การในรายละเอียดเป็นหนังสือภายหลัง โดยตำรวจใช้ดุลพินิจแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหามารายงานตัวเองตามหมายเรียก จึงไม่ต้องจับกุมตัว แต่จะส่งตัวไปขออำนาจศาลอาญาเพื่อฝากขังในระหว่างการสอบสวน และนัดให้ผู้ต้องหาทุกคนเดินทางไปเจอกันที่ศาลอาญา ถ.รัชดา ในเวลา 14.00 น.
 
ที่ศาลอาญา ในช่วงบ่าย ตำรวจจาก สน.นางเลิ้ง เดินทางมายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอฝากขัง โดยผู้ต้องหาและทนายความทยอยเดินทางมาถึงกันทีละคน ด้านทนายความยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขัง เนื่องจากผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่อาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ ด้านเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ก็มีนักวิชาการสองคนเดินทางมาเพื่อยื่นขอประกันตัวในกรณีที่ศาลสั่งให้ฝากขังผู้ต้องหา โดยผู้ต้องหาสามคน คือ ณัฏฐา โชคชัย และศรีไพร เห็นว่า ตำรวจใช้ดุลพินิจเกินจำเป็นที่พาผู้ต้องหามาฝากขัง และเห็นว่า การตั้งข้อหาและดำเนินคดีแบบนี้ไม่เป็นธรรม จึงประกาศว่า หากศาลสั่งอนุญาตให้ฝากขังจะยอมเข้าเรือนจำโดยไม่ยื่นขอประกันตัว
 
ต่อมาในเวลาประมาณ 15.00 น. ผู้ต้องหาทุกคนถูกพาตัวเข้าไปในห้องเวรชี้ โดยทนายความและผู้ที่ตามมาให้กำลังใจประมาณ 20-30 คน ไม่ได้รับอนุญาตให้ตามเข้าไปด้วย จนเมื่อใกล้หมดเวลาราชการ นักวิชาการจาก คนส. ก็ยื่นขอเอกสารขอประกันตัวไว้ก่อน โดยขอประกันตัวผู้ต้องหาเพียงสองราย ได้แก่ กาณฑ์ และธนวัฒน์ พร้อมกับหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 200,000 บาท 
 
จนกระทั่งเวลาประมาน 17.00 พนักงานสอบสวนและผู้ต้องหาเดินออกมาจากห้องเวรชี้ พร้อมกับแจ้งว่า ศาลใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการพิจารณา สอบถามพนักงานสอบสวน และสั่งให้ยกคำร้องขอฝาก ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน เนื่องจากทั้งหมดมารายงานตัวเองตามหมายเรียก และไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงไม่มีเหตุต้องคุมขังไว้ระหว่างการพิจารณา
 
ผู้ต้องหาที่เหลืออีก 52 คน แบ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมอีก 5 คน จะมาพบพนักงานสอบสวนวันที่ 30 เมษายน 2561 และผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีก 47 คน จะมาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 18 เมษายน 2561
 
30 เมษายน 2561 
 
เวลาประมาณ 13.30 น. ที่ สน.ชนะสงคราม ผู้ต้องหาคดีชุมนุมเรียกร้องเลือกตั้งที่บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก หรือในอีกชื่อว่า #ARMY57 ซึ่งเป็นแกนนำจำนวนสี่คน คือ  สิรวิชญ์, รังสิมันต์, อานนท์ และ ปกรณ์ เดินทางมารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนตามนัดที่ได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนไว้ก่อนหน้านี้ ในความผิดฐานฝ่าฝืนคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ข้อหาร่วมกันเป็นผู้ชุมนุมฯ นอกจากนี้ยังถูกกล่าวหาว่า ผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 16 (1), (8) และ มาตรา 18 และฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก, ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และ การโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.การโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มาตรา 4 ด้วย โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 
 
เวลาประมาณ 16.00 น. หลังจากพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาทั้งหมดจึงนัดหมายให้กลุ่มแกนนำการชุมนุมทั้ง 4 คนไปที่ศาลอาญา เพื่อยื่นคำร้องขอฝากขัง โดยให้เหตุผลว่าเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและผู้ต้องหาจะเข้าร่วมชุมนุมวันที่ 5 พฤษภาคม 2561 โดยศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังเนื่องจากขณะที่ยื่นคำร้องพ้นเวลาทำการของศาลและยังไม่มีตัวผู้ต้องหาจึงสั่งให้ยกคำร้อง โดยพนักงานสอบสวนจะทำการยื่นคำร้องขอฝากขังอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เวลา 13.00 น.
 
1 พฤษภาคม 2561
 
เวลาประมาณ 13.30 น. ที่ ศาลอาญารัชดา ผู้ต้องหากลุ่มแกนนำคดีชุมนุมเรียกร้องเลือกตั้งที่บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2561 หรือในอีกชื่อว่า #ARMY57 จำนวน 4 คน  คือ สิรวิชญ์ รังสิมันต์ อานนท์ และ ปกรณ์ เดินทางมาฟังการพิจารณาคำร้องขอฝากขังจากศาลอีกครั้งหลังจากวันที่ 30 เมษายน 2561 ศาลได้ยกคำร้องขอฝากขังเนื่องจากพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังไม่ทันเวลาราชการ พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม จึงได้ยื่นคำร้องซ้ำอีกครั้งวันนี้เนื่องในความผิดฐานฝ่าฝืนคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ข้อหาร่วมกันเป็นผู้ชุมนุมฯ นอกจากนี้ยังถูกกล่าวหาว่า ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 16 (1), (8) และมาตรา 18 และฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก ข้อหายุยงปลุกปั่นฯ  ตามมาตราประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.การโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มาตรา 4
 
โดยพนักงานสอบสวนให้เหตุผลในการขอฝากขังว่า เกรงว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและผู้ต้องหาจะเข้าร่วมชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 5 พฤษภาคม 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  
 
เวลาประมาณ 16.00 น. ศาลอ่านคำสั่งพิจารณาคำร้องขอฝากขังโดยมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอฝากขัง เนื่องจากไม่มีเหตุแห่งการฝากขัง เพราะผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี การอ้างว่าเป็นแกนนำ ไม่เป็นเหตุให้ฝากขังได้
 
11 พฤษภาคม 2561 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัว เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมืองจากบ้านพักตามมหมายจับ ในคดีคนอยากเลือกตั้งชุมนุมหน้ากองบัญชาการทหารบก หรือ “Army57” ในความผิดฐานฝ่าฝืนคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ข้อหาร่วมกันเป็นผู้ชุมนุมฯ ข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 16 (1), (8) และ มาตรา 18 และความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก ข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ตามมาตราประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.การโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มาตรา 4
 
กรณีการควบคุมตัวเอกชัย ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้ออกมาหมายเรียกครบ 4 ครั้ง ซึ่งหมายเรียกครั้งที่ 4 ระบุให้นายเอกชัย หงส์กังวาน เข้ารายงานตัวในเวลา 9.30 น. ของวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ทำให้พนักงานสอบสวนได้ทำการขอออกหมายจับจากศาลอาญา หลังจากนั้น ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับ ทำให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเข้าจับกุมตัวที่บ้านพัก ขณะนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สน.ชนะสงคราม คาดว่าพนักงานสอบสวนจะส่งฝากขังต่อศาลอาญา รัชดา ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2561  ซึ่งจากข้อความในเฟซบุ๊กของนายเอกชัย ก่อนถูกควบคุมตัวระบุว่า
 
“วันนี้ (11 พฤษภาคม 2561) เวลา 15.15 น. ตำรวจนอกเครื่องแบบ 4 คน และตำรวจในเครื่องแบบ 1 คนแสดงหมายค้นเพื่อพาผมไป สน.ชนะสงคราม ในคดี ARMY 57ผมนัดเวลา 16.00 น. แต่ตำรวจเหล่านี้คะยั้นคะยอให้ผมไปตอนนี้ ผมจึงบอกให้พวกเขารอผมอาบน้ำก่อน”
 
13 พฤษภาคม 2561 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า  เวลา 11.00 น. พนักงานสอบสวนนำตัวเอกชัย หงส์กังวาน จาก สน.ชนะสงคราม ไปศาลอาญารัชดา เพื่อขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 หลังจับกุมตัวเอกชัยจากบ้านพักเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 ตามหมายจับคดีแกนนำคนอยากเลือกตั้ง กรณีชุมนุมหน้ากองทัพบก เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2561 หรือ #ARMY57 นำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหา และควบคุมตัวในห้องขังของ สน.ชนะสงคราม รวม 2 คืน
 
โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาว่า ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116(2)(3), ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558, ร่วมกันชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชน, เดินขบวนหลังเวลา 18.00 น., ไม่เลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่ผู้จัดการชุมนุมแจ้งไว้ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 16 (1) (8), 18, ทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มาตรา 4 วรรคแรก และร่วมกันชุมนุมกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 108, 114
 
ในชั้นสอบสวน เอกชัยไม่ให้การใด ๆ แก่พนักงานสอบสวน รวมทั้งไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม 
 
พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ต่อศาล ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยยังจะต้องสอบพยานอีก 5 ปาก รอผลตรวจลายนิ้วมือผู้ต้องหา ทั้งยังระบุว่า หากมีการยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหานี้ในชั้นศาล พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกัน เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง กลุ่มผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีในฐานความผิดเดียวกันมาหลายครั้ง เกรงว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในสำนวนคดี ผู้ต้องหายังมีพฤติการณ์นัดหมายชุมนุมสาธารณะกันอีกในวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ซึ่งอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนขึ้นได้
 
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นคำร้องคัดค้านฝากขัง โดยมีเนื้อหาระบุว่า คดีนี้ไม่มีเหตุหรือความจำเป็นที่จะออกหมายขังผู้ต้องหาไว้  เนื่องจากพฤติการณ์ในคดีเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ  อันเป็นการชุมนุมที่สงบ ปราศจากอาวุธ  ซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งผู้ต้องหายังไม่ใช่แกนนำผู้จัดการชุมนุม  ผู้ต้องหาไม่สามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานใด ๆ ได้ รวมทั้งภาพถ่ายหรือภาพบันทึกวีดีโอเหตุการณ์การชุมนุมก็อยู่ในความดูแลของพนักงานสอบสวนแล้ว หากผู้ต้องหาต้องอยู่ในความควบคุมระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน  ย่อมจะเป็นการควบคุมตัวที่เกินจำเป็น  นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วยังสร้างภาระเกินจำเป็นกับผู้ต้องหา ทั้งยังกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและโอกาสในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาเป็นอย่างมาก
 
ต่อมา ศาลได้เรียกไต่สวนเอกชัย และพนักงานสอบสวน เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะอนุญาตฝากขังหรือไม่ โดยเอกชัยแถลงต่อศาลว่า การกระทำของตนเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เหตุที่ไม่ไปพบพนักงานสอบสวน เพราะเชื่อว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิด แต่ไม่ได้หลบหนีไปไหน จนกระทั่งถูกจับกุมที่บ้าน หลังจากนี้เมื่อกระบวนการเข้าสู่อำนาจศาลแล้ว ตนก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามที่เจ้าพนักงานพนักงานสอบสวนมีคำสั่งต่อไป เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในคดีอื่น ๆ โดยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีมาก่อน
 
ด้านพนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลว่า สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ที่บ้าน แต่ผู้ต้องหาไม่ยินยอมออกมาจากบ้าน ทั้งล็อคประตูหน้าบ้าน จนกระทั่งเจ้าพนักงานตำรวจต้องมาขอหมายค้นอีก จึงสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ โดยก่อนออกหมายจับ พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้มาพบสองครั้ง แต่ผู้ต้องหาไม่มาพบ พนักงานสอบสวนจึงขอออกหมายจับต่อศาลนี้ แต่ศาลมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนมีหมายเรียกไปอีกสองครั้ง ผู้ต้องหาก็ยังไม่มาพบพนักงานสอบสวนเช่นเดิม จนกระทั่งมีการออกหมายจับ เชื่อว่าหากไม่ได้มีการฝากขังผู้ต้องหา ผู้ต้องหาก็คงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจอีกเช่นเดิม
 
เวลา 14.20 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตฝากขังผู้ต้องหามีกำหนด 12 วัน  ตั้งแต่วันที่ 13 – 24 พฤษภาคม 2561 ตามที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้อง โดยระบุในคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่พนักงานสอบสวนมีหมายเรียก ไปยังผู้ต้องหาสองครั้ง ก่อนขอออกหมายจับในคราวแรก และศาลมีคำสั่งให้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีกสองครั้ง ผู้ต้องหาก็ยังคงไม่ไปพบพนักงานสอบสวน จนกระทั่งมีการออกหมายจับและมีการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้ต้องหามีเจตนาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร หากศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจอีก จึงให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้ต้องหา และคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูง เกิน 3 ปี ซึ่งมีหลักฐานตามสมควรว่า ผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดดังกล่าว จึงอนุญาตให้ขังได้ตามขอ
 
หลังจากศาลมีคำสั่ง เอกชัยถูกควบคุมตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยในวันนี้ทนายความยังไม่ได้ยื่นประกันตัว และเนื่องจากพรุ่งนี้ (14 พ.ค. 61) เป็นวันหยุด การยื่นประกันตัวก็จะทำได้ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 อย่างไรก็ดี หากเอกชัยไม่ประสงค์จะยื่นประกันตัว ในชั้นสอบสวนนี้ ก่อนที่อัยการจะยื่นฟ้อง ศาลจะมีอำนาจขังได้สี่ครั้ง ๆ ละไม่เกิน 12 วัน รวมไม่เกิน 48 วัน  เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึง 10 ปี
 
15 พฤษภาคม 2561
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 12.00 น. ศาลอาญา ถนนรัชดา อนุญาตให้ประกันตัวนายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยเงินสดจำนวน 100,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไขการประกันตัว
 
21 มิถุนายน 2561
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า กลุ่มแกนนำผู้จัดการชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่หน้ากองทัพบก 6 คน ได้แก่ อานนท์ ,เอกชัย หงส์กังวาน ,โชคชัย ,ธนวัฒน์ ,สิรวิชญ์ และกาณฑ์ เดินทางไปที่ ที่สำนักงานอัยการสูงสุด โดยอัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีออกไปเป็น วันที่ 24 กรกฎาคม 2561 
 
14 มกราคม 2562
 
อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562
 
6 มีนาคม 2562
 
นัดส่งตัวฟ้อง
 
อัยการยื่นฟ้องจำเลยทั้งสิบคนต่อศาลอาญในเวลาประมาณ 10.20 น. วันนี้มีจำเลยมาศาลทั้งหมดเก้าคน แต่เอกชัยมาศาลไม่ได้เนื่องจากได้รับบาดเจ็บเพราะถูกทำร้ายร่างกาย เมื่อศาลรับฟ้องจำเลยทั้งเก้าถูกนำตัวไปที่ห้องผู้พิพากษาเวรชี้เพื่อสอบคำให้การ  โดยทั้งเก้าให้การปฏิเสธ และให้ทนายยื่นเรื่องขอประกันตัว
 
17.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า  ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดระหว่างพิจารณาคดี โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว 
 
24 มิถุนายน 2562
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
มติชนสุดสัปดาห์ รายงานว่า ที่ห้องพิจารณา 912 ศาลอาญา
จำเลยทั้ง 10 คน เดินทางมาศาล เมื่อถึงเวลาพิจารณา ศาลอ่านคำฟ้องให้จำเลยทั้งหมดฟัง และสอบถามคำให้การ จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
 
พร้อมทั้งอนุญาตให้รวมคดีหมายเลขดำ อ.765/2562 ซึ่งเป็นคดีของเอกชัยเข้ากับคดีหมายเลขดำ อ.649/2562 ซึ่งเป็นคดีหลัก โดยให้นับเอกชัยเป็นจำเลยที่ 10 เอกชัยยังได้ยื่นคำร้องขออนุญาตให้สืบพยานลับหลัง เนื่องจากต้องดูแลมารดาที่ป่วย ศาลพิจารณาแล้วอนุญาต
 
จากนั้นโจทก์ยื่นบัญชีพยานเข้าสืบจำนวน 51 ปาก ส่วนจำเลยยื่นบัญชีพยานจำนวน 22 ปาก ศาลจึงเห็นควรให้กำหนดวันนัดสืบพยานทั้งสิ้น 20 นัด เป็นของโจทก์ 14 นัด จำเลย 6 นัด และกำหนดวันนัดตรวจความพร้อมของพยานอีกครั้งในวันที่ 23 มีนาคม 2563 และกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกวันที่ 26 พฤษภาคม 2563
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา