คธา: Wet Dream (คดีหุ้นตก)

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

คธา

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2552

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ผู้กล่าวหา : กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยนายอารีย์ จิวรรักษ์ โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สำนักงานอัยการสูงสุด

สารบัญ

คธา เจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์หุ้นตก จากนั้นถูกจับกุมในข้อกล่าวหาที่ว่า มีส่วนทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก มีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ภูมิหลังผู้ต้องหา

นายคธา เป็นพนักงานบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เล่นเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันที่ใช้นามแฝงว่า wetdream

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

นายคธา ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้นามแฝงชื่อ wet dream สมัครสมาชิกเข้าไปโพสต์ข้อความในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) เป็นผู้กล่าวหานายคธา โดยฟ้องต่อกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ซึ่งตั้งข้อกล่าวหา จำเลยกระทำผิดในสองกระทง เป็นข้อความเท็จที่สร้างความตื่นตระหนกอันกระทบต่อความมั่นคงของของรัฐ ผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2)

กรรมที่หนึ่ง โพสต์เมื่อวันที่ 14-15 ตุลาคม 2552 เวลาประมาณ 15.00 น. เป็นการเล่าข่าวลือที่ทำให้หุ้นในเมืองไทยตก ในข้อความใช้คำแทนบุคคล อาทิเช่น “อ้ายบอด” “xxx” มีคำกริยาเช่น “เสด็จสวรรค์” “ป่วยหนัก” ตัวอย่างประโยคเช่น "รายงานสดจากตลาดหุ้น…" “ตลาดหุ้นอาจจะสามารถทำนายปรากฎการณ์ของ XXX ครั้งนี้ได้ไม่แพ้แหล่งข่าวอื่นๆ ก็ได้”

กรรมที่สอง โพสต์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2552 มีข้อความและภาพ ที่ใช้คำแทนบุคคลด้วยคำว่า “พระเมพ” และมีภาพพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี โดยในข้อความ มีประโยคเช่น “เมื่อเสียงปืนดังขึ้น” "ไม่ได้หวังให้เทวดาลงมาโปรด" "พบกับความว่างเปล่าอีกครั้ง"

พฤติการณ์การจับกุม

1 พ.ย. 52 พล.ต.ต. ปัญญา มาเม่น รองผบช.ก. พล.ต.ต.อดิษร์ งามจิตสุขศรี ผบก.ทท. พ.ต.อ.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองผบก.ปอท. พ.ต.อ.อชายน ไกรทอง กก.1 บก.ทท. พ.ต.ท.พันธนะ นุชนารถ รองผกก.1 บก.ทท. นำกำลังจับกุมนายคธาที่สำนักงานที่อาคารลิเบอร์ตี้ ย่านสีลม พร้อมทั้งค้นรถและยึดเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันไปจำนวนหนึ่ง

หลังจากนั้นนายคธาพาเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นสถานที่ทำงานที่บริษัทซึ่งตนทำงานอยู่ บริเวณถนนสาทร และเจ้าหน้าที่นำตัวนายคธาไปสอบสวนต่อที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ

เวลาประมาณเที่ยงคืนของวันเดียวกัน นายคธาได้รับการประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์ 100,000 บาท

ในวันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเดียวกันนี้ยังได้นำกำลังเข้าไปจับกุมน.ส.ธีรนันต์ ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ โดยจับกุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยกล่าวหาว่าเป็นผู้แปลข้อความมาจากบทความจากสำนักข่าวต่างประเทศและนำมาโพสต์ลงในเว็บบอร์ดประชาไท ใช้ชื่อแฝงว่า BBB ทั้งนี้เพราะในวันที่โพสต์ข้อความ หุ้นไทยตกลงอย่างมากจึงไปค้นข่าวจากต่างประเทศว่ามีการวิเคราะห์ไว้อย่างไร โดยไม่ได้มีเจตนาเผยแพร่ข้อความเพื่อให้หุ้นตก

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ข้อต่อสู้ของโจทก์

  1. ข้อความตามฟ้อง เป็นความเท็จ สร้างความตื่นตระหนก กระทบต่อความมั่นคงข้อความที่หนึ่ง เป็นความเท็จ สร้างความตื่นตระหนก ทำให้คนเทขายหุ้น
    ข้อความที่สอง เป็นความเท็จ กระทบต่อความมั่นคง เพราะสื่อความว่าสถาบันกษัตริย์ฯ ไม่เป็นกลางทางการเมือง
  2. จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนสามครั้ง
  3. จำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความ
  • การสืบสวนหาผู้โพสต์ข้อความ เริ่มจากกระทรวงไอซีทีร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง สืบข้อมูลในทางลับ ทำให้ทราบว่าผู้โพสต์ข้อความ ใช้อีเมล [email protected] และโพสต์ข้อความจากไอพีที่แสดงให้เห็นว่ามาจากบริษัทหลักทรัพย์ซิมิโก้ เมื่อกระทรวงไอซีทีลองส่งอีเมลดักให้ปลายทางกดรับ ก็พบว่า ปลายทางเปิดอีเมลจากไอพีของบริษัทหลักทรัพย์เคที ซิมิโก้ ต่อมา
  • พนักงานสอบสวนตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางการเงินจากธนาคาร พบว่ามีการเปิดใช้ธุรกรรมออนไลน์ด้วยอีเมลดังกล่าว
  • กระทรวง ไอซีทีขอข้อมูลการจราจรคอมพิวเตอร์ของอีเมล [email protected] จากบริษัทไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นผู้ให้บริการฮอตเมล พบว่ามีการใช้งานอีเมลดังกล่าวจากบริษัทหลักทรัพย์เคทีซิมิโก้
  • เมื่อ ยึดคอมพิวเตอร์ที่ทำงานของจำเลยไปตรวจพิสูจน์ก็พบชื่อ wet dream และคำว่า sameskybooks หลายครั้ง และพบว่ามีการเข้าใช้เว็บ sameskybooks ด้วยผู้ใช้ที่ชื่อ [email protected](1.txt)


ข้อต่อสู้ของจำเลย

  1. ข้อความตามฟ้อง ไม่ใช่การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ เป็นการกล่าวถึงข่าวลือที่เกิดขึ้น ไม่ได้สร้างข่าวลือ
  2. จำเลยให้การรับว่าตนคือบุคคลในหมายจับ และรับว่าเป็นเจ้าของอีเมล [email protected] แต่ไม่เคยรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความ ในการสอบสวนจำเลยไม่มีทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจ
  3. โจทก์ไม่มีหลักฐานการขอข้อมูลของผู้ใช้ชื่อ wet dream จากเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันมานำสืบต่อศาล
  4. จำเลยไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความ
  • ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างชื่อ wet dream ผู้โพสต์ข้อความ กับนาย คธา. ป.
  • คอมพิวเตอร์ที่ทำงาน เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใครจะมาใช้งานก็ได้ ไม่ได้มีการตั้งรหัสผ่าน
  • คอมพิวเตอร์ที่บ้าน ตรวจไม่พบร่องรอยการเข้าใช้งานเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน
  • อีเมลของจำเลยเคยถูกผู้อื่นแอบเข้าใช้งาน
  • ร่องรอยที่ตรวจพบคำว่า wet dream และ sameskybooks นั้น ไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าจะมีการสมัครเข้าใช้เว็บไซต์ฟ้าเดียวกันด้วยชื่อ wet dream เพียงแค่การเข้าไปดูหน้าเว็บไซต์ก็สามารถปรากฏร่องรอยเช่นนี้ได้

 

หลักฐาน “สำคัญ” ในคดี ได้แก่

  1. การสืบสวนในทางลับ จากสำนักข่าวกรองแห่งชาติและสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ชี้ว่าผู้ใช้ที่ชื่อ wet dream ในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน คือเจ้าของอีเมล [email protected] (ข้อมูลนี้ไม่มีเอกสารในสำนวนคดี และไม่มีพยานจากหน่วยงานความมั่นคงทั้งสองหน่วยมาเบิกความเป็นพยาน)
  2. จดหมายจากบริษัทไมโครซอฟท์ ที่ส่งบันทึก หมายเลขไอพีแอดเดรสที่เข้าใช้อีเมล [email protected] และหนังสือจากบริษัท ซีเอส ล็อกซ์อินโฟที่ ชี้ว่าหมายเลขไอพีแอดเดรสดังกล่าวใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตที่บริษัทที่จำเลยทำงานอยู่ (เอกสารหมายจ.11)
  3. จดหมายจากธนาคารกรุงไทย ที่ตอบกลับว่า นายคธา ป. ใช้อีเมล [email protected] ในการทำธุรกรรมออนไลน์ (เอกสารหมายจ.17)
  4. รายงานการตรวจพิสูจน์ฮาร์ดดิสก์ของคอมพิวเตอร์ที่ยึดจากที่ทำงานของจำเลย ซึ่งตรวจคำค้นแล้วพบว่า ชื่อคอมพิวเตอร์เครื่องดังกล่าวคือ kathapเมื่อตรวจพิสูจน์ด้วยการพิมพ์คำค้น พบคำว่า wet dream ทั้งสิ้น 241 ครั้ง และคำว่า sameskybooks 29,475 ครั้ง (เอกสารหมายจ.23)

ลำดับเวลาและรายละเอียดในหลักฐาน
การสืบหาหลักฐานต่างๆ ตามที่ปรากฏอยู่ในสำนวนคดีนั้น เกิดขึ้น “หลัง” จากการจับกุมจำเลยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552

4 มกราคม 2553

ปอท. ทำหนังสือสอบถามไปยังธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากของนายคธา ป.

14 มกราคม 2553  

ธนาคารกรุงไทยทำหนังสือตอบกลับปอท.ว่า นายคธา ป. ใช้อีเมล [email protected]

15 มกราคม 2553     

ปอท. ทำหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงไอซีที เพื่อให้ขอข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของนายคธา ป. จากบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซิมิโก้ ที่เป็นสถานที่ทำงานของนายคธา โดยขอข้อมูลการจราจรคอมพิวเตอร์ อันได้แก่ หมายเลขไอพี อีเมล ชื่อ รหัสผ่าน ที่เข้าใช้เว็บ sameskybooks.com ในวันและเวลาที่มีการโพสต์ข้อความ และให้ตรวจสอบว่าพบข้อความตามที่นายคธาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์หรือไม่ และสอบถามว่าทางบริษัทมีระเบียบการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างไร

11 มีนาคม 2553   

กระทรวงไอซีทีทำหนังสือตอบปอท. ไม่ได้ตอบรายละเอียดตามที่ปอท.ถาม แต่ให้ข้อมูลว่า นายคธา ป. น่าจะใช้อีเมล [email protected] ซึ่งเป็นอีเมลที่คาดว่าน่าจะเป็นของผู้ต้องสงสัย และแนบข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ ได้แก่

  1. จดหมายตอบกลับจากบริษัทไมโครซอฟท์ ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2552  ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ดังกล่าวบันทึกการเข้าใช่งานอีเมลในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 และวันที่ 11,16,18,19,20,21,24,25,26,28,29,31 ตุลาคม 2552 และ 26 พฤศจิกายน 2552
  2. จดหมายตอบกลับจากบริษัทล็อกซ อินโฟ ลงวันที่ 25 มกราคม 2553 เพื่อตอบกลับว่า ไอพีหมายเลข 58.137.159.41ในวันที่ 30 ตุลาคม 2552 เวลา 10.25 น. เป็นการใช้งานของผู้ใช้บริการประเภท leased line ของบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซิมิโก้ จำกัด

 


สรุปประเด็นการสืบพยานโจทก์
สืบพยานโจทก์ปากที่ 1 นายณัฐ พยงค์ศรี นักวิชาการคอมพิวเตอร์ ระดับปฏิบัติงาน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) ผู้ตรวจพบข้อความตามฟ้อง
นายณัฐเบิกความว่า คดีนี้เริ่มต้นจากเมื่อราวกลางเดือนตุลาคม 2552 มีประชาชนโทรศัพท์มาที่กระทรวงไอซีทีเพื่อร้องเรียนเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ตรวจสอบดูพบผู้ใช้นามแฝงว่า wet dream โพสต์ข้อความเกี่ยวกับตลาดหุ้นและสถาบันกษัตริย์ลงในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน โดยโพสต์ข้อความในวันที่ 14 ตุลาคม 2552 เวลาประมาณบ่ายสามโมง เนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์หุ้น ในข้อความมีคำว่า "อ้ายบอด" และวันที่ 15 ตุลาคม 2552 ข้อความว่า "รายงานสดจากตลาดหุ้น…(มีต่อ)" จากนั้น ตนได้ตรวจสอบย้อนหลังไปพบว่า ผู้ใช้ชื่อ wet dream เคยโพสต์ข้อความก่อนหน้านั้นในวันที่ 22 เมษายน 2552 ข้อความว่า "เมื่อเสียงปืนดังขึ้น…" และมีภาพพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา

นายณัฐกล่าวว่า เมื่ออ่านข้อความเหล่านี้แล้ว ประกอบกับข่าวหุ้นไทยตกในเดือนตุลาคม หากมีคนมาอ่านอาจทำให้รู้สึกตื่นตระหนกคิดว่าข่าวดังกล่าวที่พูดถึงพระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นเป็นเรื่องจริง อีกทั้งยังมีข้อความที่โพสต์ โดยใช้คำว่า "พระ" นำหน้า มีการใช้คำว่า "เสด็จพ่อ" ซึ่งเมื่ออ่านแล้วทำให้เห็นว่ากล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ มีคำว่า "พระเมพ" ซึ่งเมื่อประชาชนมาอ่านก็เข้าใจได้ว่าหมายถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา และมีประโยคว่า "ไม่ได้หวังให้เทวดาลงมาโปรด" และมีความเท็จที่ว่า "พบกับความว่างเปล่าอีกครั้ง" เมื่ออ่านแล้วจะตีความเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ไม่ได้ห่วงใยประชาชน หรือตีความว่าทรงห่วงใยคนเสื้อเหลืองมากกว่าคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นที่ปราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมือง ณัฐเบิกความว่าข้อความตามฟ้องกระทบต่อความมั่นคง เมื่ออ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นการโน้มน้าวให้เกิดการแบ่งแยก แต่ตนอ่านแล้วไม่เชื่อข้อความดังกล่าว

จากนั้น นายณัฐจึงรวบรวมพยานหลักฐาน จากเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน ส่งข้อมูลต่อให้ผู้บังคับบัญชา และขอหมายศาลเพื่อยึดอายัดคอมพิวเตอร์ จากการตรวจยึดคอมพิวเตอร์จากบ้านของนายคธา ป. พบว่ามีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วย แต่ไม่ได้ตรวจสอบว่ามีการกระจายสัญญาณให้ผู้อื่นใช้ด้วยหรือไม่ ส่วนหลักฐานที่บันทึกออกมาจากเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน ไม่ปรากฏหมายเลขไอพีและอีเมลของผู้โพสต์ และตนไม่ได้สอบถามข้อมูลนี้จากผู้ให้บริการเว็บไซต์ ส่วนข้อมูลที่ว่าทราบได้อย่างไรว่า wet dream คือตัวจำเลยนั้น นายณัฐไม่ทราบ เพราะเป็นการทำงานในส่วนของพนักงานสอบสวน

สืบพยานโจทก์ปากที่ 2 นายอารีย์ จิวรรักษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงไอซีที ผู้กล่าวหา
นายอารีย์กล่าวว่า คดีนี้ ผู้โพสต์ใช้นามแฝงว่า wet dream ทางกระทรวงไอซีทีไม่ได้ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนหาว่าใครคือเจ้าของนามแฝงนี้ แต่ส่งข้อมูลที่มีให้กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ซึ่งต่อมาทางปอท.ทำหนังสือมายังกระทรวงไอซีทีเพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ในช่วงเกิดเหตุให้

นายอารีย์จึงหารือกับสำนักข่าวกรองแห่งชาติเพื่อหาว่าใครคือผู้โพสต์ สำนักข่าวกรองมีวิธีการสืบสวนสอบสวนให้รู้หมายเลขไอพีของเครื่องที่โพสได้ ส่วนสำนักข่าวกรองจะได้ข้อมูลมาอย่างไรนั้นตนไม่ทราบ แต่ข้อมูลที่นายอารีย์ได้จากสำนักข่าวกรอง คือ ผู้โพสต์ข้อความ ชื่อ คธา ป. และได้อีเมลพร้อมทั้งหมายเลขไอพี ต่อมานายอารีย์ใช้วิธีลองส่งเมลหลอกไปยังอีเมลดังกล่าว เมื่อปลายทางกดรับก็จะทำให้ทราบเลขไอพี ผลที่ได้พบว่าได้หมายเลขไอพีตรงกับที่สำนักข่าวกรองพบ จึงทำให้มั่นใจในข้อมูล และพบในเวลาต่อมาว่า อีเมลดังกล่าวเป็นอีเมลที่จำเลยใช้เปิดบัญชีเงินฝากด้วย

นายอารีย์นำหมายเลขไอพีที่ได้สอบถามไปยังบริษัทซีเอส ล็อกซอินโฟ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ได้ข้อมูลชื่อที่อยู่ที่ผู้ใช้บริการ เป็นชื่อบริษัทที่จำเลยทำงานอยู่ โดยหมายเลขไอพีดังกล่าวเป็นการใช้บริการแบบเครือข่ายส่วนบุคคล หรือ leased line แต่ไม่ได้สอบถามหมายเลขไอพีภายในของบริษัทที่จำเลยทำงานอยู่

ในช่วงท้ายของการเบิกความ นายอารีย์ให้ข้อมูลใหม่ว่า ที่จริงตนได้เบาะแสอีเมลและหมายเลขไอพีมาก่อนที่จะได้จากสำนักข่าวกรอง ซึ่งได้มาจากการทำงานร่วมกับสภาความมั่นคง ทั้งนี้ ตนไม่ทราบว่าสภาความมั่นคงมีวิธีการได้ข้อมูลมาอย่างไร
 
นายอารีย์กล่าวว่า วันที่มีการโพสต์ข้อความเป็นวันทำงานของจำเลยซึ่งคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานด้านธุรกรรมทางการเงินน่าจะต้องใช้รหัสผ่าน ส่วนข้อความตามฟ้องจะโพสต์จากที่ไหน นายอารีย์ไม่ทราบ

นายอารีย์เบิกความว่า ข้อความตามฟ้องที่เขียนคำว่า อ้ายบอด" "ใกล้เสด็จสวรรค์" "ป่วยหนัก" เมื่ออ่านแล้ว หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะช่วงเวลานั้นทรงประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อรักษาตัว ประชาชนอ่านข้อความเหล่านี้แล้วจะตกใจหรือไม่สบายใจ นายอารีย์กล่าวว่า ข้อเท็จจริงเท่าที่ทราบคือในหลวงประชวรตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน แต่จะป่วยหนักจริงหรือไม่นั้นตนก็ไม่เคยทำหนังสือไปถามแพทย์ประจำพระองค์ การมีคนโพสต์ข้อความว่าท่านป่วยหนักนั้น อ่านโดยรวมแล้วไม่เหมาะสม ในความเชื่อของตนเห็นว่า ช่วงเวลาที่โพสต์ข้อความนี้มีแถลงการณ์สำนักพระราชวังประกาศเกี่ยวกับพระพลานามัยของพระองค์ว่าดีขึ้น ดังนั้น ข้อความที่บอกว่า ป่วยหนัก ใกล้ตาย จึงไม่เป็นความจริง อัยการถามนายอารีย์ว่าท่านตาบอดหรือไม่ นายอารีย์กล่าวว่าจากการมองดูจากภายนอกนั้น ไม่บอด

อารีย์เบิกความว่า ในข้อความใช้คำว่า "พระเมพ" คนที่ติดตามอ่านจะรู้ว่าหมายถึงสมเด็จพระเทพฯ เหมือนที่เมื่อพูดถึงคำว่า "สมชาย" ก็จะรู้ว่าหมายถึงบุคคลใด ข้อความตามที่ฟ้องเขียนทำนองว่าพระเมพรักประชาชนไม่เท่ากัน ส่งรถพยาบาลไปดูแลเฉพาะกลุ่มพันธมิตร ซึ่งนายอารีย์เห็นว่าข้อความนี้จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่าสมเด็จพระเทพฯ ไม่เป็นกลางทางการเมือง  ทั้งยังมีข้อความเหน็บแนมที่เขียนว่า "ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น" ซึ่งเป็นการกระทบถึงพระมหากษัตริย์

นายอารีย์ตอบคำถามทนายความว่า ไม่ทราบว่าข้อความตามฟ้อง ประชาชนทั่วไปอ่านแล้วจะตื่นตระหนกหรือไม่ และจะส่งผลให้หุ้นตกหรือไม่ นายอารีย์เห็นว่าข้อความดังกล่าวถือเป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสม เพราะสถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพรักของประชาชน แม้นายอารีย์อ่านข้อความดังกล่าวแล้วจะไม่รู้สึกเชื่อและยังคงรักเคารพสถาบันกษัตริย์ดังเดิม แต่ข้อความเช่นนี้ก็เป็นเหมือนการโฆษณา ที่ถ้าโฆษณาบ่อยๆ ก็อาจจะเชื่อได้

อารีย์ตอบคำถามทนายถึงปฏิกิริยาความตื่นตระหนกว่า ข้อความตามฟ้องนี้ เกิดจากมีประชาชนมาร้องที่กระทรวงไอซีที และที่ตนให้การไว้ว่ามีการร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาเยอะนั้น ตนจำไม่ได้ว่าให้การไว้กับพนักงานสอบสวนหรือไม่ สิ่งที่แสดงออกถึงความตื่นตระหนกจากข้อความนี้ เป็นปฏิกิริยาตอบกลับ เพราะประชาชนรักพระเจ้าอยู่หัว หากทราบว่าพระเจ้าอยู่หัว… เมื่อกล่าวถึงส่วนนี้ศาลแย้งว่าไม่จำเป็นต้องพูดและบอกกับทนายความว่าเนื่องจากฝ่ายโจทก์เองยังไม่ได้สืบเลยว่าประชาชนเกิดความตกใจหรือไม่ เป็นหน้าที่โจทก์ที่ต้องสืบ ทนายความจำเลยไม่ควรถาม

สืบพยานโจทก์ปากที่ 3 นางสาวศิวัชญา ใบยา เจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีที
นางสาวศิวัชญาเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ฮาร์ดดิสก์สองลูกที่ยึดในวันจับกุมจำเลย ซึ่งปอท.ส่งมาให้ตรวจร่องรอยการเข้าเว็บไซต์ www.sameskybooks.com นางสาวศิวัชญาเบิกความว่า การตรวจสอบเริ่มจากทำสำเนาฮาร์ดดิสก์ แล้วใช้โปรแกรมเอนเคส (Encase) ค้นคำและข้อความซึ่งนางสาวศิวัชญาคิดคำค้นขึ้นเอง โดยพิจารณาจากเอกสารที่ตำรวจส่งมาให้ ตัวอย่างคำที่ใช้ค้น เช่น คำว่า wet dream, sameskybooks

ผลการตรวจฮาร์ดดิสก์ลูกที่สองพบว่า คอมพิวเตอร์ใช้งานโดยผู้ใช้ชื่อ KathaP ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2552 ผลการตรวจพบคำว่า wet dream ทั้งสิ้น 241 ครั้ง และพบคำว่า sameskybooks 29,475 ครั้ง และบางส่วนเข้าใช้งานด้วยชื่อ  [email protected](1.txt) ซึ่งบางส่วนอาจเป็นการใช้งานโดยผู้ใช้ชื่ออื่นก็ได้แต่ตรวจสอบไม่พบ ทั้งนี้ การตรวจสอบดังกล่าวไม่ปรากฏข้อมูลและข้อความที่โพสต์ตามวันและเวลาของข้อความตามฟ้อง

ศิวัชญากล่าวว่า ผลการค้นหาที่พบคำว่า wet dream นั้น ข้อมูลไม่สมบูรณ์ อ่านรายละเอียดไม่ออก อาจเพราะมีการเขียนทับ ส่วนผลที่ปรากฏว่าฮาร์ดดิสก์ลูกดังกล่าวมีร่องรอยการเข้าใช้งานเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันนั้นบอกไม่ได้ว่าผู้ใช้งานคือใคร เพราะข้อมูลที่ได้นั้นไม่สามารถอ่านได้

ศิวัชญาอธิบายว่า การพบคำว่า sameskybooks สองหมื่นครั้งไม่ได้หมายความว่ามีการเข้าเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันสองหมื่นครั้ง ส่วนการเข้าเว็บไซต์ครั้งเดียวจะทำให้ค้นเจอคำว่า sameskybooks หลายครั้งหรือไม่นั้นตนไม่แน่ใจ และการพบชื่อ KathaP ไม่ได้บอกว่า KathaP เกี่ยวข้องอย่างไรกับ wet dream แต่การที่พบคำค้นคำว่า sameskybooks สองหมื่นกว่าครั้ง และมีผู้ใช้ชื่อ KathaP แสดงว่า KathaP เกี่ยวข้องกับ sameskybooks ทั้งสองหมื่นกว่าครั้ง

ในรายงานการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์มีบรรทัดที่ระบุคำว่า format และมีวันที่กำกับ ศิวัชญาอธิบายว่าคำว่า format หมายถึงรูปแบบระบบของฮาร์ดดิสก์ ไม่ได้หมายถึงการล้างข้อมูล ศิวัชญาไม่ทราบว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนี้เคยลบหรือแก้ไขข้อมูลมาก่อนหรือไม่ และไม่ทราบว่าคำค้นที่พบนั้น เกิดขึ้นก่อนหากมีการล้างเครื่องหรือไม่

สืบพยานโจทก์ปากที่ 4 พ.ต.ท.ธีรภัทร แก่นอินทร์ เจ้าพนักงานผู้จับกุมตัวจำเลย ขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ปอท. ปัจจุบันประจำอยู่ที่สภ.อ.เมืองสุรินทร์
พ.ต.ท.ธีรภัทรเบิกความว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 ตนร่วมกับผู้บังคับบัญชานำกำลังเข้าจับกุมจำเลย ซึ่งทราบมาว่าวันดังกล่าวนายคธาจะไปสัมมนาที่อาคารลิเบอร์ตี้ ถนนสีลม จึงเฝ้าระวังจำเลยอยู่ที่ลานจอดรถของอาคาร เมื่อจำเลยเดินมาที่รถ ตำรวจจึงแสดงหมายจับ จำเลยยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง และจากการตรวจค้นรถยนต์ พบเอกสาร 40 แผ่นที่พิมพ์ออกมาจากเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จากนั้น ชุดจับกุมเดินทางไปตรวจค้นที่สถานที่ทำงานของจำเลยที่อาคารสินธร ชั้น 16 ด้วย แต่พ.ต.ท.ธีรภัทรไม่ได้เข้าไปตรวจค้นด้วย

พ.ต.ท.ธีรภัทรกล่าวว่า ขณะที่แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยว่ามีความผิดตามมาตรา 14 (2) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้น ไม่ได้แจ้งว่าข้อความมีรายละเอียดอย่างไร ขณะที่แจ้งข้อกล่าว จำเลยไม่มีทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจอยู่ด้วย

สืบพยานโจทก์ปากที่ 5 ด.ต.ศิรชัช ปิ่นศิริ เจ้าหน้าที่ปอท. ผู้ตรวจค้นและยึดคอมพิวเตอร์จากบ้านจำเลย
ด.ต.ศิรชัช เป็นผู้เข้าตรวจค้นและยึดคอมพิวเตอร์จากบ้านพักของจำเลย ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 ขณะตรวจค้นจำเลยไม่อยู่บ้าน ตำรวจยึดโทรศัพท์โนเกียหนึ่งเครื่อง คอมพิวเตอร์เอซุส แผ่นดิสก์ และสิ่งพิมพ์ แต่จำรายละเอียดไม่ได้

สืบพยานโจทก์ปากที่ 6 พ.ต.ท.โอฬาร สุขเกษม เจ้าหน้าที่ปอท. ผู้สอบปากคำผู้กล่าวหา
พ.ต.ท.โอฬาร เบิกความว่า ผู้กล่าวหาในคดีนี้ คือนายอารีย์ จิวรรักษ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงไอซีที และนายณัฐ พยงค์ศรี เจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีที

นายอารีย์กล่าวหาว่ามีผู้โพสต์ข้อความในเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งขณะกล่าวหาไม่ได้อ้างชื่อจำเลย แต่ระบุถึงนามแฝงที่ใช้ในเว็บไซต์ การสอบสวนคดีนี้มีการตั้งเป็นคณะทำงาน ซึ่งประชุมแล้วมีความเห็นให้ออกหมายจับนายคธา ป.เหตุที่ทำให้ทราบว่าผู้ใช้นามแฝงว่า wet dream คือนายคธา ป. เพราะคณะพนักงานสอบสวนเป็นคนบอก ส่วนรายละเอียดการสอบสวนเป็นอย่างไรนั้นตนไม่ทราบ

สืบพยานโจทก์ปากที่ 7 พ.ต.อ.ชนะชัย ลิ้มประเสริฐ ผู้บังคับการบก.ปอท. พนักงานสอบสวนในคดี
พ.ต.อ.ชนะชัย เบิกความว่า ในการสืบสวนสอบสวน ได้ส่งโทรศัพท์มือถือของกลางไปตรวจพิสูจน์ ทำหนังสือสอบถามไปยังบริษัทหลักทรัพย์เคที ซิมิโก้เพื่อถามประวัติการทำงานของจำเลย สอบถามไปยังธนาคารกรุงไทยและธนาคารไทยพาณิชย์เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางบัญชีและข้อมูลการขอเปิดบัญชี

นอกจากนี้ พ.ต.อ.ชนะชัย ยังขอให้กระทรวงไอซีทีขอข้อมูลการจราจรคอมพิวเตอร์ของผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง (ทั้งนี้เพราะขณะนั้น พ.ต.อ.ชนะชัยยังไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จึงต้องขอให้นายอารีย์เป็นผู้ขอข้อมูลนี้ให้) โดยทำหนังสือสอบถามกระทรวงไอซีทีไปทั้งสิ้น 3 ครั้งแต่ไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งท้ายที่สุดนายอารีย์ไม่ได้ส่งข้อมูลการจราจรคอมพิวเตอร์มาให้ แต่ทำหนังสือตอบกลับมาว่า ผู้ใช้อีเมล [email protected] คือผู้ใช้นามแฝงว่า wet dream

พ.ต.อ.ชนะชัยเบิกความว่า ในการสืบสวนสอบสวน ไม่เคยเรียกผู้ให้บริการเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันมาสอบปากคำ ไม่เคยขอให้นายอารีย์เรียกมา และไม่ได้ขอข้อมูลการจราจรคอมพิวเตอร์จากเจ้าของเว็บไซต์

สืบพยานโจทก์ปากที่ 8 พ.ต.ท.พีรพัฒน์ ศิริวรชัยกุล พนักงานสอบสวนในคดี (ขณะเกิดเหตุเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่ปอท. ปัจจุบันรับราชการอยู่กองบังคับการตำรวจทางหลวง)

พ.ต.ท.พีรพัฒน์เบิกความว่า ทราบเบาะแสตัวตนของผู้โพสต์ข้อความจากกระทรวงไอซีที ซึ่งสืบสวนในทางลับจนได้อีเมลของผู้โพสต์ข้อความในเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน และทราบว่าอีเมลเดียวกันนี้ใช้สมัครสมาชิกเพื่อเข้าไปโพสต์ในเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน และใช้เปิดบัญชีกับธนาคารกรุงไทย

พ.ต.ท.พีรพัฒน์สอบคำให้การจำเลยสามครั้ง แต่ละครั้งแจ้งสิทธิทุกครั้ง แต่จำเลยไม่ต้องการทนายความและให้การรับสารภาพทั้งสามครั้งว่า จำเลยคือ wet dream และพ.ต.ท.พีรพัฒน์นำข้อความตามฟ้องให้จำเลยดู จำเลยรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันตามฟ้อง จำเลยให้การว่าโพสต์ข้อความจากที่ทำงาน คือบริษัทหลักทรัพย์เคที ซิมิโก้ จำเลยให้การว่าเป็นสมาชิกในเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน และใช้อีเมล [email protected] สมัครเข้าใช้บริการ

พ.ต.ท.พีรพัฒน์เบิกความตอบคำถามอัยการว่า ตนรักในหลวง ทราบว่าพระเนตรของท่านเป็นปกติดี ทราบว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งท่านประสบอุบัติเหตุทางดวงตาหนึ่งข้างแต่ไม่ทราบว่าข้างไหนแต่ดวงตาท่านปกติทั้งสองข้าง ช่วงเกิดเหตุท่านรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช อาการอยู่ในการดูแลของแพทย์ มีอาการประชวร แต่ปกติดี ทั้งหมดนี้ทราบจากแถลงการณ์สำนักพระราชวังที่ออกมาเป็นระยะๆ

พ.ต.ท.พีรพัฒน์ เบิกความว่า ข้อความตามฟ้องนี้ที่เขียนว่า “อ้ายบอดป่วยหนัก….” เข้าใจว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่รู้เพราะมีคำว่า เสด็จสวรรค์ ที่เขียนว่าอ้ายบอดก็เป็นความเท็จเพราะความจริงคือพระเนตรปกติ และที่บอกว่า “ใกล้เสด็จสวรรค์” แปลว่า ใกล้ตาย ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงไม่ได้ป่วยหนัก ท่านมีพระพลานามัยแข็งแรง ถ้าประชาชนทั่วไปมีโอกาสเข้าถึงคอมพิวเตอร์ ทราบข้อความนี้จะตื่นตระหนก เสียอกเสียใจ กังวลไปด้วย ทนายความถามว่า ที่พยานเบิกความว่าในหลวงพระเนตรปกติ ไม่บอด ทราบได้อย่างไร ศาลกล่าวว่า ทนายความสามารถเอาพยานมาเบิกความได้หรือไม่ว่าพระเนตรบอด ถ้าหากไม่สามารถเอามาได้ การถามคำถามเช่นนี้จะเข้าตัวเอง พ.ต.ท.พีรพัฒน์ตอบว่า ตามแถลงการณ์สำนักพระราชวังนั้นไม่เคยบอก ตนเคยมีหนังสือถามไปยังโรงพยาบาลศิริราช แต่ทางโรงพยาบาลศิริราชปฏิเสธ บอกว่าให้สอบถามไปยังสำนักพระราชวัง

ศาลเรียกทนายความไปอธิบายว่า ในทางการต่อสู้ของจำเลย การต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดอย่างเดียวน่าจะพอ ประเด็นเรื่องความหมายของข้อความนั้นต่อสู้ยาก เพราะหาพยานหลักฐานยาก น่าจะให้น้ำหนักกับประเด็นอื่นมากกว่า หากประสงค์จะสืบพยานในประเด็นนี้ก็ได้ แต่ศาลจะนำหลักกฎหมายที่ว่าถ้าไม่ถามพยานโจทก์ไว้ ห้ามนำสืบพยานจำเลยเหมือนอย่างที่ใช้ในคดีแพ่งมาใช้ด้วย ส่วนท่านจะตาบอดจริงหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญของคดี เพราะเป็นคำเรียกที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้สื่อความหมายอะไร

พ.ต.ท.พีรพัฒน์เบิกความต่อว่า ข้อความตามฟ้องที่เขียนว่า “เมื่อเสียงปืนนัดแรกดังขึ้น” อ่านแล้วเข้าใจว่าเหมือนจะเกิดการปฏิวัติและมีคนล้มตาย ทนายความถามว่าเข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์ไหน พ.ต.ท.พีรพัฒน์ตอบว่า เหมือนพระเจ้าอยู่หัวเอนเอียงทางเสื้อเหลือง และพระเทพก็เอนเอียงทางเสื้อเหลืองตามไปด้วย

ศาลไม่อนุญาตให้ทนายความถามในประเด็นนี้ต่อแล้ว และศาลถามเองว่า เมื่ออ่านข้อความรวมทั้งหมดแล้วพยานเห็นอย่างไร พีรพัฒน์ตอบว่า สรุปว่าหมายถึงกษัตริย์ทรงโปรดเสื้อเหลือง และพระเทพฯ ก็โปรดเสื้อเหลืองด้วย แต่ความจริงพระองค์ไม่ทรงโปรดฝั่งไหน ทนายความถามว่า ลักษณะการกล่าวเช่นนี้เป็นการแสดงความน้อยใจใช่หรือไม่ พีรพัฒน์ตอบว่า ตอบไม่ได้ ไม่รู้สึกว่าเป็นการกล่าวด้วยความน้อยใจ เหมือนการสื่ออีกทางหนึ่งเพื่อบ่งชี้ว่าท่านทรงเลือกข้างหรือเอนเอียง ทนายความถามว่ามีพฤติการณ์ใดหรือไม่ว่าพระองค์ท่านทรงรักเสื้อแดง ศาลบอกให้ทนายความเปลี่ยนคำถามใหม่ ทนายความถามว่า ในหลวงหรือพระเทพฯ ไม่เคยเสด็จไปงานศพของคนเสื้อแดงเลยใช่หรือไม่ ศาลบอกว่าคำถามนี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดี ไม่อนุญาตให้ถาม เพราะท่านไม่เคยไปอยู่แล้ว ทนายความถามใหม่ว่า ในส่วนของคนเสื้อเหลืองเคยมีข่าวว่าพระราชินี พระเทพฯ และฟ้าหญิงเสด็จไปงานศพใช่หรือไม่ พ.ต.ท.พีรพัฒน์ตอบว่า เท่าที่ทราบมีพระราชินีพระองค์เดียว พ.ต.ท.พีรพัฒน์ตอบคำถามทนายความว่า ตนไม่เคยทราบว่าในหลวงและพระเทพเคยรับผู้ได้รับบาดเจ็บไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศาลเรียกทนายความไปอบรมว่า ศาลทราบว่าเสื้อแดงท่านก็รับไว้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถามคำถามเช่นนี้ไม่ได้ ศาลจะไม่บันทึกให้เพราะไม่เป็นสาระแก่การพิจารณา หากทนายความเห็นว่าข้อความตามฟ้องเป็นการน้อยอกน้อยใจต้องเอาพยานจำเลยมานำสืบ เพราะพยานปากนี้ตอบแล้วว่าไม่ทราบ

สรุปประเด็นการสืบพยานจำเลย
สืบพยานจำเลยปากที่ 1 นายคธา ป. จำเลย
นายคธาเบิกความว่า ก่อนถูกดำเนินคดีเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ ที่บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซิมิโก้ จำกัด สาขาที่ประจำตั้งอยู่ที่ตึกสินธร ถนนวิทยุ มีหน้าที่แนะนำการลงทุนซื้อขายหุ้นให้กับลูกค้า เป็นตัวแทนนายหน้าซื้อขาย ทำงานนี้มานาน 10 ปีแล้ว

สถานที่ทำงานเป็นห้องโล่ง พนักงานบางส่วนมีคอมพิวเตอร์สองเครื่อง เครื่องหนึ่งใช้ติดตามการซื้อขายหุ้น ซึ่งต้องมีชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน อีกเครื่องหนึ่งใช้ติดตามข่าวสารซึ่งหากผู้ใช้จะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก็สามารถเข้าใช้ได้เลยโดยไม่ต้องมีรหัสผ่าน คอมพิวเตอร์ที่ทำงานนั้นมีหลายเครื่องที่ต่ออินเทอร์เน็ตได้ ส่วนเครื่องที่ตนใช้ต่ออินเทอร์เน็ตนั้นเริ่มใช้ราวเดือนพฤษภาคม ปี 2552

นายคธากล่าวว่า วันที่ถูกจับกุมเป็นวันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งนายคธาเข้าร่วมการอบรมเพื่อต่อใบอนุญาตที่อาคารลิเบอร์ตี้ ถนนสีลม นายคธายอมรับว่าอีเมล [email protected] เป็นอีเมลของตน และพบว่า จากหลักฐานที่โจทก์ยื่นเข้ามา มีข้อมูลการจราจรคอมพิวเตอร์ของอีเมลดังกล่าวที่ได้มาจากบริษัทไมโครซอฟท์ มีการเข้าใช้อีเมลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ด้วยไอพีแอดเดรสจากสหรัฐอเมริกา ในเอกสารระบุเวลาที่เข้าใช้งานอีเมลเป็นเวลาแบบ PDT หรือ Pacific Day Time ซึ่งคิดเป็นเวลาไทยได้ในเวลา 8.00 น., 8.45 น. และ 9.14 น. ซึ่งตลอดช่วงเวลาดังกล่าว คธาอยู่ในห้องสัมมนาแล้ว ซึ่งห้องสัมมนาไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือของตนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่ได้

ต่อมาช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. นายคธารู้สึกไม่ค่อยสบายจึงเดินไปเอายาที่รถ เมื่อไปถึงรถก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาแสดงหมายศาล แล้วถามว่าใช่คนในรูปหรือไม่ เมื่อตอบไปว่าใช่ เจ้าหน้าที่จึงแจ้งว่ามีหมายศาลให้จับตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และให้ลงลายมือชื่อรับรองว่าตนคือบุคคลตามรูปถ่าย ขณะที่ลงชื่อไม่มีการเขียนข้อความรับสารภาพ ต่อมาเจ้าหน้าที่ให้ลงชื่อในบันทึกการตรวจค้นจับกุม ซึ่งนายคธาลงลายมือชื่อยอมรับว่าเอกสารหลังรถเป็นของตน นายคธาเบิกความว่า เขาไม่ได้รับสารภาพว่ากระทำความผิด ส่วนคำรับสารภาพของตนนั้นเขียนขึ้นเมื่อไรจำไม่ได้ แต่ขณะที่ลงลายมือชื่อไปนั้นยังไม่มีข้อความที่เขียนด้วยลายมือว่ารับสารภาพปรากฏอยู่

หลังถูกจับกุมที่อาคารจอดรถของอาคารลิเบอร์ตี้แล้ว นายคธาและเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปยังอาคารสินธร ถนนวิทยุ ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของจำเลย เมื่อไปถึงมีนักข่าวรออยู่จำนวนมาก จากนั้นเดินทางไปถึงปอท.ราว 18.00 น. โทรศัพท์มือถือถูกยึดตั้งแต่ถูกจับกุม นายคธาขออนุญาตติดต่อญาติหรือทนายความ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาต

การสอบสวนดำเนินขึ้นผ่านพนักงานสอบสวนหลายชุด ในชุดแรกๆ นายคธาให้การปฏิเสธทุกครั้ง พนักงานสอบสวนแจ้งว่าคดีนี้มีโทษ 5 ปี ให้การรับสารภาพและจะได้ประกันตัวแล้วค่อยแก้ข้อกล่าวหาในชั้นศาล จนเวลาประมาณเที่ยงคืนตนจึงยอมรับสารภาพและได้ประกันตัวออกมา ขณะลงลายมือชื่อไม่มีทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจอยู่ด้วย

พนักงานสอบสวนแจ้งว่าให้มาพบในวันรุ่งขึ้นอีกครั้ง นายคธาไปตามนัดและพบเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้สอบปากคำ ตนไม่ได้ให้การปฏิเสธเพราะเนื้อหาที่สอบถามเป็นเรื่องหุ้น ต่อมา มีการสอบปากคำอีกครั้งในวันที่ 7 กันยายน 2553 นายคธาก็ไม่ได้ให้การปฏิเสธเพราะเป็นการถามเรื่องหุ้นและเรื่องทั่วไป กล่าวคือ ในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนทั้งสามครั้ง ไม่มีครั้งใดที่นายคธาให้การปฏิเสธ แต่มาให้การปฏิเสธครั้งแรกในชั้นศาลเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2554

คธาเบิกความว่า ตนไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ไม่ได้เป็นผู้ใช้นามแฝงว่า wet dream และไม่ได้เป็นสมาชิกในเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน ทั้งนี้ ตนเคยเข้าไปอ่านเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน

เอกสารที่ยึดมาจากรถยนต์นั้น เป็นเอกสารเกี่ยวกับหน้าที่การงาน ศาลถามว่าเป็นเอกสารใช้แล้วหน้าเดียวแล้วเอามาพิมพ์หรือเปล่า นายคธาเบิกความยืนยันว่า เป็นเอกสารเกี่ยวกับการทำงาน บางส่วนเป็นภาษาอังกฤษ บางส่วนเป็นตารางหุ้น บางส่วนเป็นการวิเคราะห์หุ้นซึ่งเกี่ยวกับราชวงศ์จักรี

คธาตอบคำถามอัยการถึงความเห็นต่อข้อความว่า เมื่ออ่านข้อความแล้ว พระเมพ จะหมายถึง พระเทพหรือไม่ ตนไม่แน่ใจ ส่วนข้อความอื่นๆ จะหมายถึงในหลวงหรือไม่นั้น ไม่ทราบเพราะเป็นข้อมูลที่เลื่อนลอย อัยการถามต่อว่า สมมติว่าอ้ายบอดที่ปรากฏในข้อความนั้นหมายถึงในหลวง ในความเป็นจริงพระองค์ท่านป่วยหนักหรือไม่ นายคธาตอบว่าไม่ อัยการถามย้ำว่าแสดงว่าข้อความนี้ไม่เป็นความจริงใช่หรือไม่ จากนั้นศาลสั่งไม่อนุญาตให้ถามคำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าสมมติว่า

สืบพยานจำเลยปากที่ 2 ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เบิกความในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์
ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์เบิกความว่า การสืบหาตัวบุคคลในอินเทอร์เน็ตทำได้โดยสืบจากปลายทาง เริ่มสืบจากผู้ให้บริการเว็บไซต์ว่ามีคอมพิวเตอร์เครื่องใดเข้ามาใช้งาน ทางเว็บไซต์จะเก็บหมายเลขไอพีของผู้โพสต์เอาไว้

เอกสารในคดีนี้ มีภาพข้อความตามฟ้องพิมพ์ออกมาจากเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน ไม่ปรากฏที่อยู่ URL และไม่ระบุหมายเลขไอพีของเครื่องที่โพสต์ หากต้องการรู้เบาะแสของผู้โพสต์ต้องติดต่อไปยังผู้ให้บริการเว็บไซต์ว่าวันเวลาดังกล่าวมีหมายเลขไอพีใดมาโพสต์ข้อความบ้าง และเมื่อได้หมายเลขไอพีมาแล้วจึงนำไปสอบถามผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ หมายเลขดังกล่าวอาจไม่สามารถระบุว่า ผู้โพสต์ใช้ "เครื่อง" คอมพิวเตอร์เครื่องใดในการโพสต์ แต่อาจปรากฏเพียงหมายเลขไอพีของเครื่องหลัก ซึ่งอาจเป็นหมายเลขของเครื่องระหว่างทาง เช่น กรณีที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในองค์กร หมายเลขไอพีที่ปรากฏอาจเป็นหมายเลขไอพีเครื่องคอมพิวเตอร์หลักขององค์กร จากหลักฐานที่มีพบว่า ที่บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซิมิโก้ ใช้บริการอินเทอร์เน็ตจากบริษัทซีเอสล็อกซอินโฟ โดยเป็นบริการแบบ leased line ซึ่งไอพีที่ซีเอส ล็อกซอินโฟเห็นเป็นไอพีของเครื่องหลัก หากจะระบุว่าคอมพิวเตอร์เครื่องใดเป็นเครื่องที่ใช้โพสข้อความ ต้องถามหาข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ของบริษัทหลักทรัพย์เคที ซิมิโก้

ในกรณีที่ไม่มีข้อมูลการจราจรคอมพิวเตอร์นั้น วิธีที่จะหาตัวผู้โพสต์ได้คือ ต้องตรวจสอบร่องรอยการใช้อินเทอร์เน็ตจากคอมพิวเตอร์ในหน่วยงานทุกๆ เครื่อง ซึ่งโดยทั่วไป ถ้ามีการลบข้อมูลในคอมพิวเตอร์ไปแล้วก็จะยังเหลือร่องรอยอยู่

ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ตอบคำถามทนายความว่า หลักฐานที่พบจากการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์นั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการโพสต์ข้อมูลหรือโหลดข้อมูล

ทนายนำบันทึกข้อมูลการใช้อีเมล [email protected] ที่ได้จากบริษัทไมโครซอฟท์มาให้ผศ.ดร.จิตรทัศน์อ่าน ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์อธิบายว่า จากตาราง ช่องซ้ายมือคือหมายเลขไอพี ช่องกลางแสดงถึงการล็อกอินเข้าระบบ ช่องสุดท้ายบอกสถานะการเข้าถึงว่าสำเร็จหรือไม่ อักษร PDT เป็นการระบุหน่วยเวลาแบบไทม์โซนแปซิฟิก ซึ่งกำกับว่าเวลาที่ใช้ในเอกสารนั้นช้ากว่าเวลามาตรฐาน 7 ชั่วโมง

หมายเลขไอพีที่ปรากฏสามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นผู้ใช้และใช้ผ่านผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใด ทนายความขอให้ดร.จิตร์ทัศน์ลองค้นหาดูว่าหมายเลขไอพีที่ปรากฏในเอกสารของไมโครซอฟท์แสดงผลว่าใครเป็นผู้ใช้ ดร.จิตร์ทัศน์กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า หมายเลขส่วนแรกเป็นหมายเลขไอพีของบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซิมิโก้ ผ่านผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของบริษัทซีเอส ล็อกซอินโฟ หมายเลขส่วนที่สองเป็นหมายเลขไอพีของบริษัททรู อินเทอร์เน็ต หมายเลขส่วนที่สาม เป็นหมายเลขไอพีของบริษัทที่จดทะเบียนชื่อ Fortress ตั้งอยู่ที่รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา

ดร.จิตร์ทัศน์กล่าวว่า หากไม่มีข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ การตรวจหาร่องรอยการโพสต์ข้อความอาจทำได้โดยตรวจที่เครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อใช้โปรแกรมตรวจหาคำค้น ผลที่ปรากฏไม่ได้หมายถึงคำและข้อความที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์เป็นคนโพสต์ แต่เมื่อใดที่มีการเข้าเว็บไซต์ต่างๆ คำและข้อความต่างๆ ก็จะถูกโหลดมาเก็บเอาไว้ในเครื่องโดยอัตโนมัติ หากเคยเข้าเว็บไซต์แล้วอ่านเจอข้อความเหล่านั้น เมื่อมีการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์แล้ว โปรแกรมค้นหาคำก็จะตรวจพบคำเหล่านั้น

สำหรับหลักฐานในคดีที่เป็นรายงานการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์นั้น บอกได้ว่า มีการนำคำไปค้นข้อมูล และเจอคำนี้หลายครั้ง แต่ไม่ทราบว่าคำเหล่านั้นถูกเก็บไว้ที่ส่วนใด จึงบอกไม่ได้ว่าเป็นการโพสต์หรือเป็นการอ่าน และจากการตรวจพบว่ามีการล้างข้อมูล (format) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 ซึ่งโดยทั่วไปการฟอร์แมตเครื่อง เป็นการลบที่อยู่ของข้อมูล ไม่ได้ทำให้ข้อมูลหายไปทั้งหมด แต่จะทำให้มีพื้นที่ว่างเพื่อเก็บข้อมูลได้อีก

การตรวจคอมพิวเตอร์พบว่า ผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ชื่อ KathaP ใช้งานคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 จากเอกสารไม่ได้ระบุความเชื่อมโยงว่าชื่อ KathaP เกี่ยวกับชื่อ Wet Dream อย่างไร

อัยการถามดร.จิตร์ทัศน์ว่า ในช่วงเวลา 13 พฤษภาคม 2552 – 30 ตุลาคม 2552 ผู้ใช้กดเข้ามาใช้ชื่อ Kathap โดยไม่ได้เลือกใช้ชื่ออื่นใช่หรือไม่ ดร.จิตร์ทัศน์ตอบว่า ใช่ หากมีการกดเข้าใช้โดยชื่ออื่นก็จะมีปรากฏในรายงานด้วย แต่ว่าในรายงานนี้ไม่มี

สืบพยานจำเลยปากที่ 3 นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดหุ้นและการลงทุน
นางสาวสฤณีเบิกความว่าการซื้อขายหุ้นในแต่ละวันมี 2 ช่วง คือ ช่วงเช้า เวลา 9.00-12.00 น. ช่วงเย็น เวลา 14.00-17.00 น. แต่จะมีช่วงเวลาที่เรียกว่า คอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นช่วง 30 นาที ก่อนตลาดเปิดและหลังตลาดปิด เพื่อให้ผู้ซื้อขายส่งคำสั่งซื้อขายได้

ในวันที่ 14 ตุลาคม 2552 หุ้นตกทันทีตั้งแต่ตลาดเปิด เหล่านักลงทุนก็สอบถามกันแบบปากต่อปากว่ามีข่าวอะไรที่ส่งผล ตอนบ่ายได้มีการคุยกันจนได้รู้ว่าเกิดข่าวลือเรื่องพระอาการประชวรของในหลวงที่แย่ลง กลุ่มนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นเยอะที่สุด การเทขายหุ้นจะเกิดจากหลายปัจจัย นักลงทุนต่างชาติอาจได้ยินข่าวลือซึ่งไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง ก็ขายไปก่อน หรือขายเพื่อรอซื้อคืนใหม่เมื่อราคาตกมากๆ หรือข่าวลือส่งผลต่อจิตวิทยา ทำให้ตลาดมีความเสี่ยงมากขึ้น

นางสาวสฤณีเล่าว่า ข่าวชิ้นแรกที่ตนได้อ่านที่พูดถึงข่าวลือนี้ อ่านเมื่อเวลาเช้าของวันที่ 15 ตุลาคม 2552 มาจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กของสหรัฐอเมริกา เป็นการรายงานว่าเกิดอะไรขึ้น หลังจากนั้นก็มีสำนักข่าวต่างประเทศอีกหลายสำนักที่เสนอข่าวนี้ เช่น เอเอฟพี รอยเตอร์ ฯลฯ เนื้อข่าวบอกว่า วันที่ 14 ตุลาคม 2552 สถานการณ์หุ้นผันผวนมาก เพราะพระอาการประชวรหนัก

ทนายความให้อ่านข้อความตามฟ้องแล้วถามว่า จะมีผลต่อการซื้อขายหุ้นหรือไม่ สฤณีอ่านแล้วแสดงความเห็นว่าไม่มีผลเพราะข้อความนี้โพสต์เมื่อเวลาบ่ายสามโมงเย็นของวันที่ 14 ตุลาคม 2552 และที่ระบุเรื่องหุ้นตกก็เป็นความจริง เพราะหุ้นตกมาตั้งแต่เช้าวันดังกล่าวแล้ว อีกทั้งเนื้อข่าวที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจจากนักลงทุน ย่อมต้องมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ซึ่งเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันไม่ใช่แหล่งข้อมูลการซื้อขายหุ้น

อัยการถามพยานว่า ถ้ามีข่าวร้าย ตลาดจะมีการขายเยอะ และถ้ามีข่าวดี จะมีการซื้อเยอะ ใช่หรือไม่ สฤณีตอบว่าข่าวลือที่ส่งผลต่อการซื้อขายมักเป็นข่าวร้าย  อัยการถามว่าในฐานะที่พยานเป็นคอลัมนิสต์ กรณีมีข่าวลือที่เป็นข่าวร้ายพยานจะเขียนขยายความให้ลือกันต่อไปหรือไม่ สฤณีตอบว่าจะเขียนเตือนให้ใช้วิจารณญาณ ทนายความถามติง สฤณีให้ข้อมูลว่า เวลาที่มีการโพสต์ข้อความ ขณะนั้นนักลงทุนรู้ข่าวลือกันหมดแล้ว ลักษณะข้อความเป็นการบอกเล่าให้คนอื่นรู้ว่ามีข่าวลืออยู่และมีการผสมความรู้สึก

คำพิพากษา
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 คำพิพากษามีประเด็นดังต่อไปนี้
1. ข้อความตามฟ้อง เป็นข้อความเท็จ สร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อความที่โพสเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2552 เกี่ยวกับสมเด็จพระเทพฯ นั้นเป็นความเท็จ ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดแต่เสื้อเหลืองและ สมเด็จพระเทพฯ ก็เช่นเดียวกัน น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศและความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน

ส่วนข้อความที่โพสเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2552 เป็นข่าวลือเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ป่วยหนัก ใกล้เสด็จสวรรคต ซึ่งเป็นความเท็จ น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของชาติและก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน เนื่องจากความจริงขณะนั้นพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช จำเลยจงใจให้ประชาชนเข้าใจว่าสัญลักษณ์ XXX คือ พระมหากษัตริย์

ประกอบกับช่วงวันที่ 22 เมษายน 2552 มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง การโพสข้อความนั้นอาจทำให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงโปรดแต่ เสื้อเหลือง แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ พระมหากษัตริย์และรัชทายาททุกพระองค์ทรงรักประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน และอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ข้อความดังกล่าวจึงเป็นเท็จที่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระเทพฯ เป็นกลางทางการเมือง อันอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในทางการเมืองทวีความรุนแรงมากขึ้น อันอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบสุขของประชาชนโดยรวม จึงมีความผิดตามฟ้อง

ข้อความเรื่องหุ้นตก แม้มี xxx ก็ทำให้รู้ได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ ชาวไทยรู้ว่าพระองค์ประชวรและมีพระอาการดีขึ้นเป็นลำดับ จำเลยก็เป็นคนไทยคนหนึ่งย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าข้อความที่โพสนั้นเป็นเท็จ การโพสดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีผลต่อตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มีการเทขายหุ้น หากตลาดติดลบอยู่แล้วก็จะติดลบหนักกว่าเดิมอีก สอดคล้องกับที่พยานจำเลยผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเบิกความไว้ ซึ่งเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคม การมีข่าวร้ายแรงเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นศูนย์รวมจิตใจ ของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ดังจะเห็นได้ว่าวันที่ 5 ธันวาคม ที่ผ่านมามีประชาชนออกมาถวายพระพรจำนวนมาก จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าความตื่นตระหนกจะไม่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ข่าวดังกล่าวจะเป็นข่าวลือหรือไม่อย่างไร จำเลยก็ไม่มีสิทธินำข่าวลือโดยเฉพาะข่าวลือที่เกินเลยจากความเป็นจริงและเป็นความเท็จ อันเป็นการใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์หรือบุคคลใดมาโพสต์อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ที่แพร่กระจายข่าวอย่างรวดเร็ว เพราะหากปล่อยให้จำเลยกระทำเช่นนั้นได้ จำเลยก็ย่อมกล่าวหาหมิ่นประมาทใส่ร้ายผู้ใดก็ได้ และอ้างว่าเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมหรือผู้ใด ซึ่งเป็นกรณีละเมิดสิทธิผู้อื่นและกฎหมาย

ข้อความตามฟ้องเป็นความเท็จ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน เป็นความผิด 2 กรรม

2. จำเลยเป็นผู้กระทำผิดจริง

นายอารีย์ จิวรรักษ์ จากกระทรวงไอซีทีตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้ใช้ชื่อดังกล่าวคือจำเลย โดยพบว่าจำเลยใช้อีเมล์ [email protected] จึงตรวจสอบอีเมล์นี้กับธนาคารและพบว่าเป็นอีเมล์ที่จำเลยมอบไว้ให้กับธนาคาร ตอนที่จำเลยเปิดบัญชีเงินฝาก นอกจากนั้นสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติยังได้ตรวจสอบจนได้หมายเลขไอพี ซึ่งนายอารีย์ตรวจสอบอีกครั้งโดยส่งเมล์ไปยังอีเมล์ดังกล่าว เมื่อมีการกดรับก็ปรากฏว่าเป็นหมายเลขไอพีเดียวกัน จึงเอาหมายเลขไอพีไปตรวจสอบกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต คือ บริษัท CS Loxinfoพบว่าหมายเลข IP นั้นเป็นบริษัทที่จำเลยทำงานอยู่

นางสาวศิวัชญา ใบยา นักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์ เบิกความว่า เมื่อตรวจสอบฮาร์ดดิสก์ที่จำเลยใช้ในคอมพิวเตอร์ที่ทำงานแล้วพบคำว่า www.sameskybooks.org กว่า 29,000 ครั้ง และพบผู้ใช้ชื่อ wet dream กว่า240 ครั้ง และจากการตรวจสอบฮาร์ดดิสก์พบชื่อผู้ใช้งานชื่อ [email protected](1.txt) จึงเชื่อว่าจำเลยเข้าใช้งานเว็บไซต์ดังกล่าวและสมัครสมาชิกเว็บไซต์จริง สอดคล้องกับคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ของจำเลยว่า การโพสข้อความในเว็บไซต์ต้องสมัครสมาชิกก่อน ผู้ใช้แต่ละคนจะมี username และ password ซึ่งซ้ำกันไม่ได้

พ.ต.ท.พีรพัฒน์ ศิริวรชัยกุล พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามฟ้องพร้อมสิทธิให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ โดยรับว่าใช้อีเมล์ดังกล่าวสมัครเป็นสมาชิกเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน และใช้นามแฝงว่า wet dream

ดังนั้น การที่ปรากฏ username ว่า wet dream ในคอมพิวเตอร์ของจำเลย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยใช้งานแค่การเปิดดูเว็บไซต์ดังกล่าวโดยไม่ได้ เป็นผู้โพสข้อความ มิเช่นนั้นแล้วเหตุใดจึงไม่ปรากฏชื่อ username อื่นในคอมพิวเตอร์ของจำเลยบ้าง

ประกอบกับเอกสารที่ยึดได้จากท้ายรถของจำเลยหลายแผ่นที่จำเลยรับว่าเป็นของจำเลย เป็นข้อความใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ และบางส่วนมีข้อความทำนองเดียวกับข้อความตามฟ้อง เชื่อได้ว่า จำเลยมีความคิดหรือความเชื่อมั่นจึงโพสต์ข้อความตามข้อมูลที่ได้รับมา ส่วนการโพสต์เรื่องเกี่ยวกับหุ้นตกเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการทำงานของจำเลย อยู่แล้ว ประกอบกับเทปบันทึกการสนทนาระหว่างจำเลยกับลูกค้าก็มีข้อความทำนองเดียวกัน

ขณะพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาจำเลย มีผู้สื่อข่าวอยู่ด้วยจำนวนมาก ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับขู่เข็ญให้รับสารภาพแต่อย่างใด จำเลยเพียงแต่อ้างว่าได้รับความกดดันและกลัวไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่หลังจากนั้นมีการสอบปากคำจำเลยอีก 2 ครั้ง ในระยะเวลาห่างกันเกือบ 1 ปี จำเลยมีโอกาสตั้งตัวแล้ว แต่จำเลยก็ยังรับสารภาพเช่นเดิม เชื่อว่าจำเลยรับสารภาพด้วยความสมัครใคร แม้คำรับสารภาพจะเป็นพยานบอกเล่าแต่ก็เป็นปฏิปักษ์กับตัวเอง รับฟังได้

ประมวลพยานหลักฐานโจทก์ ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดี และคำรับสารภาพในชั้นสอบสวน พยานโจทก์ทั้งหมดเป็นเจ้าพนักงานของรัฐทำตามหน้าที่ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ทำให้คำเบิกความมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้โพสข้อความโดยใช้ชื่อว่า wet dream ตามฟ้อง

ที่จำเลยต่อสู้ว่าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 เวลา 8.00-9.00 นาฬิกา มีผู้นำอีเมล์ของจำเลยไปใช้ เพราะจำเลยไปอบรมที่สำนักงานใหญ่ซึ่งไม่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต และมือถือของจำเลยไม่สามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้ เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุน ในตารางลงทะเบียนการอบรมแม้มีช่องเวลาแต่ก็ไม่มีการระบุเวลาเข้าออก ทั้งไม่แน่ว่าอาจมีการยอมให้ผู้อื่นใช้อีเมล์ของตน

ที่จำเลยต่อสู้ว่าตำรวจควรขอข้อมูลจากบริษัทที่เกี่ยวข้องและเจ้าของเว็บไซต์ sameskybooks และเรียกเจ้าของเว็บไซต์มาสอบปากคำ เห็นว่า เจ้าพนักงานจะใช้วิธีใดก็ได้ที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงาน ตรงกันข้าม หากจำเลยไม่ใช่ผู้กระทำผิดตามฟ้อง ก็ควรนำเจ้าของเว็บไซต์มาเบิกความ ซึ่งจำเลยสามารถกระทำได้โดยง่าย

พิพากษา
จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14(2) หลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษเป็นรายกรรม จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 6 ปี จำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์กับทางพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลย 4 ปี

หมายเลขคดีดำ

อ.2337/2554

ศาล

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ศาลอาญา (อ้างอิงเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2555)

จ่อจับเพิ่มทุบหุ้น มี หมอ ร่วมด้วย (อ้างอิงเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2555)

จับแล้ว! 2 ผู้ต้องหาปล่อยข่าวลือทุบหุ้นจับแล้ว! (อ้างอิงเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2555)

 

1 พฤศจิกายน 2552 นายคธาถูกจับกุมที่สำนักงาน อาคารลิเบอร์ตี้ ย่านสีลม ถูกค้นรถและยึดเอกสารไปจำนวนหนึ่ง เขาได้รับการประกันตัว

2 พฤศจิกายน 2552 พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก. สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้สัมภาษณ์ว่า พนักงานสอบสวนยังได้ขอหมายศาลเพื่ออนุมัติให้ออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีข่าวลือทำให้หุ้นตกเพิ่มอีกประมาณ 3-4 คนด้วย โดยหนึ่งในผู้ต้องหาเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

3 พฤศจิกายน 2552 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ให้สัมภาษณ์ว่า คดีนี้ผู้ต้องหากระทำผิดกฎหมายหลายบท เป็นคดีที่รับผิดชอบโดยตำรวจสอบสวนกลาง แต่ดีเอสไอมีอำนาจเข้าไปดำเนินการในคดีที่มีการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่งคดีดังกล่าวจะมีการประสานข้อมูลจากหลายส่วน ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และดีเอสไอ เบื้องต้นเชื่อว่าผู้ต้องหาทั้งสองรายน่าจะมีส่วนเชื่อมโยงกับการเหตุการณ์ ปั่นหุ้น และน่าจะมีส่วนเชื่อมโยงกับกลุ่มบุคคลอื่นๆ อีกทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา นอกจากนี้ ดีเอสไอยังจะมีการรวบรวมข้อมูลในการตรวจสอบแหล่งข่าวที่อาจเชื่อมโยงกับการปล่อยข่าว ทั้งสำนักข่าวในและต่างประเทศ ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นแหล่งข่าวใดบ้าง ขอให้ได้ข้อเท็จจริงชัดเจนก่อนว่า สำนักข่าวนั้นๆ ได้มีพฤติกรรมเผยแพร่ข่าวสารที่เข้าข่ายกระทำความผิดมากน้อยแค่ไหน ส่วนตัวนายธาริตมองว่าข้ออ้างที่ผู้ต้องหาระบุว่าเป็นเพียงการแปลข่าวเพื่อโพสต์ในคอมพิวเตอร์นั้นไม่น่าจะเป็นเจตนาเพียงหนึ่งเดียว แต่น่าจะมีเจตนาอื่นแฝงด้วย พนักงานสอบสวนจะให้ความสำคัญกับการพิสูจน์ความผิดโดยอาศัยจากการรวบรวมพยานหลักฐาน

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า มีการสืบสวนความคืบหน้าของกลุ่มนักลงทุนที่พบความผิดปกติก่อนจะมีข่าวลือ และมีรายชื่อกองทุนต่างๆ และได้ส่งข้อมูลดิบให้ดีเอสไอแล้ว ในส่วนของนายคธาและน.สงธีรนันต์นั้น จากรายงานของก.ล.ต.เบื้องต้นไม่พบว่ามีการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดปกติแต่อย่างใด

2 มิถุนายน 2554 อัยการมีคำสั่งฟ้องคดี เป็นคดีดำที่ อ.2337/2554

 

1- 7 มิถุนายน 2555 ศาลนัดสืบพยานโจทก์

 
8 มิถุนายน 2555 ศาลนัดสืบพยานจำเลย
จำเลยเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง ทนายความยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มอีก 4 ปาก พร้อมแถลงขอวัดนัดสืบพยานเพิ่มเติม
 
2 กรกฎาคม 2555 ศาลนัดสืบพยานจำเลยเพิ่มเติม
สืบพยานจำเลยปากที่ 2 ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์
สืบพยานจำเลยปากที่ 3 นางสาวสฤณี อาชวนันทกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดหุ้นและการลงทุน
 
ในวันนี้ ทนายความจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉันว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40(3) เพราะเป็นบทบัญญัติที่กำกวม เป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจดุลพินิจได้อย่างไร้ขอบเขต ประชาชนอ่านแล้วไม่สามารถทราบได้ว่าการกระทำเช่นใดจึงผิดต่อกฎหมายโดยเฉพาะถ้อยคำว่า “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”
 
30 กรกฎาคม 2555 ศาลนัดสืบพยานจำเลยเพิ่มเติม 
ทนายความจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานปากที่เหลือ

 

13 กันยายน 2555 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติมาตรา 14 (2) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้นมุ่งคุ้มครองความมั่นคงประเทศ และความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรม และการกำหนดความผิดทางอาญาแก่บุคคลตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (3) แล้ว จึงไม่รับคำร้องของจำเลยไว้วินิจฉัย
 
17 ธันวาคม 2555  นัดพร้อม เพื่อฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลถามคู่ความว่าทราบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้วใช่หรือไม่ คู่ความตอบว่าทราบแล้ว ศาลจึงนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 25 ธันวาคม 2555
 
25 ธันวาคม 2555 ศาลอ่านคำพิพากษา
ศาลพิพากษาเชื่อว่าจำเลยมีความผิด โดยเชื่อพยานหลักฐานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานว่า จำเลยเป็นผู้ใช้นามแฝงว่า wet dreamโพสข้อความตามฟ้องลงในเว็บไซต์ sameskybppks.org จริง เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์สอดคล้องกัน ประกอบกับจำเลยรับสารภาพไว้ในชั้นสอบสวนถึง 3 ครั้ง
 
ข้อความตามฟ้องเป็นการกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าไม่เป็นกลางทางการเมือง และเป็นการกล่าวว่าพระมหากษัตริย์ป่วยหนัก ซึ่งเป็นความเท็จกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

ที่จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้ทำให้หุ้นตกนั้น การโพสดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีผลต่อตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มีการเทขายหุ้น หากตลาดติดลบอยู่แล้วก็จะติดลบหนักกว่าเดิมอีก

จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการรกะทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14(2) หลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษเป็นรายกรรม จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 6 ปี จำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์กับทางพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลย 4 ปี

 

เมษายน 2556 

นายธิติพงศ์ ศรีแสน ทนายความชั้นอุทธรณ์ ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์โดยให้เหตุผลว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด และจำเลยเป็นบุคคลคนละคนกับผู้ที่ใช้นามแฝงว่า Wet Dream ประเด็นในคำอุทธรณ์มีดังนี้
 
1. ไม่มีพยานโจทก์ปากใดแสดงหลักฐานหรือความเชื่อมโยงว่า ผู้ที่ใช้นามแฝง  Wet Dream เป็นบุคคลคนเดียวกันกับ ผู้ที่ใช้อีเมล [email protected] และพยานหลักฐานโจทก์ ทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคล ส่อให้เห็นพิรุธหลายประการ กล่าวคือ
  • พนักงานสอบสวนใช้เวลาในการค้นหาตัวผู้กระทำความผิดเพียงไม่กี่วัน ทั้งที่เรื่องนี้เป็นการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีซึ่งมีความซับซ้อนในทางเทคนิค
  • โจทก์เพียงแต่กล่าวอ้างลอยๆว่าการตรวจสอบนามแฝงนั้นได้ทำงานร่วมกับสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติและหน่วยงงานความมั่นคง แต่โจทก์ก็ไม่ได้นำพยานเหล่านี้มาเบิกความ
  • โจทก์ไม่ได้นำเจ้าของเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันมาเบิกความเพื่อรับรองข้อเท็จจริงของโจทก์ ว่าอีเมล [email protected] เป็นอีเมลล์ที่ใช้กับนามแฝงว่Wet Dream
  • ไม่มีเหตุผลใดๆที่จำเลยจะใช้อีเมลแอดเดรสที่เป็นจดหมายอีเลคโทรนิคประจำตัวของตนเองไปใช้ในการกระทำความผิด
2. โจทก์ไม่มีหลักฐานสำคัญที่เป็น ไอพี แอดเดรส ของผู้ที่ใช้นามแฝงว่า  Wet Dream มาแสดงต่อศาล จึงไม่สามารถพิสูจน์หรือมีหลักฐานใดๆบ่งชี้ว่า อีเมลล์ที่จำเลยใช้ กับ อีเมลล์ทีใช้ล็อคอินในการเข้าเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน เป็นของบุคคลเดียวกัน รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความ
 
3. ประเด็นคำส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบฮาร์ดดิสก์หรือหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จำเลยใช้งาน
  • ข้อมูลในฮาร์ดดิสก์เครื่องที่ 1 ไม่ปรากฎข้อความตามที่โจทก์ฟ้อง และไม่พบหน้าเว็บไซต์ www.sameskybooks.org พบแต่คำว่า sameskybooks แต่โจทก์ก็ไม่ได้อธิบายว่าถ้อยคำนี้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอย่างไร
  • ข้อมูลในฮาร์ดดิสก์เครื่องที่ 2  ที่ตรวจพบร่องรอยการเข้าเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันหลายครั้ง เก็บมาจากคอมพิวเตอร์ส่วนกลางที่พนักงานคนอื่นๆก็สามารถเข้าใช้งานได้ เพื่อหาข่าวหาข้อมูลในการทำงานวิเคราะห์ตลาดหุ้น และข้อมูลนี้ก็ไม่ได้แสดงว่ามีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนี้โพสต์ข้อความตามคำฟ้อง
  • การที่พบแต่คำว่า Wet Dream แต่ไม่พบ username อื่นในฮาร์ดดิสก์ ไม่ถือว่าเป็นข้อบ่งพิรุธ เนื่องจากผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐานได้ตรวจค้นคำตามคำสั่งที่ได้รับ และในคำสั่งก็ไม่ได้ให้ตรวจสอบ username อื่นนอกจากคำว่า Wet Dream
  • การที่จำเลยมีข้อความที่พิมพ์มาจากเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน ไม่ได้เป็นข้อบ่งพิสูจน์ว่าผู้ใช้ Username ว่า Wet Dream คือจำเลย และเมื่อพิจารณาประกอบกับบันทึกสนทนาระหว่างจำเลยกับลูกค้า จะเห็นถึงเจตนาบริสุทธิ์ของจำเลยว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดแต่อย่างใด
4. ข้อความตามฟ้องโจทก์ไม่มีทางที่จะก่อให้เกิดความตื่นตระหนก แตกแยก หรือกระทบกับความมั่นคงได้ และพยานโจทก์ก็ไม่ได้อธิบายไว้เลยว่า ถ้อยความดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐอย่างไร
 
5. การที่จะรับฟังว่าจำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจนั้น เป็นการสันนิษฐานที่เป็นผลร้ายแก่จำเลย เนื่องจากในการรับสารภาพทุกครั้ง จำเลยไม่มีทนายความคอยให้คำปรึกษาแนะนำอยู่ด้วย และจำเลยรับเฉพาะว่าเป็นเจ้าของอีเมลล์ [email protected] เท่านั้น ข้อความอื่นจำเลยไม่มีโอกาสได้อ่านหรือทำความเข้าใจเลย
 
5 มีนาคม 2557
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 
 
ที่ห้องพิจารณาคดี 906 เวลาประมาณ 9.30 น. จำเลยเดินทางมาที่ศาลและได้พูดคุยกับผู้สื่อข่าวที่มารออยู่ก่อน ในวันนี้มีผู้มาร่วมสังเกตการณ์คดีห้าคนโดยมีนักวิชาการชาวต่างชาติมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย จำเลยและทนายจำเลยมาศาล อัยการไม่ได้มาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย 
 
เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลขึ้นบัลลังก์และเริ่มอ่านคำพิพากษา สรุปความได้ว่า
 
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ในวันและเวลาที่เกิดเหตุ จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยโพสต์ข้อความตามฟ้องลงบนเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน ปัญหาที่ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัย มีเพียงว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่
 
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ทั้งพยานโจทก์และพยานจำเลยต่างเบิกความตรงกันว่า การเข้าสู่ระบบเว็บบอร์ดนั้น จำเป็นจะต้องใส่ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน รวมทั้งต้องแจ้งอีเมล์ที่ใช้ในการสมัครสมาชิกเว็บบอร์ดด้วย ข้อมูลจากบริษัทไมโครซอฟท์ ก็ระบุว่าผู้โพสข้อความตามฟ้องใช้อีเมล์ stamp816@hotmail จริง อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
 
จำเลยอุทธรณ์ว่า ในคอมพิวเตอร์ของกลางที่ตรวจยึดได้เป็นเป็นของบริษัท พนักงานคนอื่นสามารถเข้าใช้ได้ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้จะตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วไม่พบร่องรอยการล็อกอินเข้าไปโพสข้อความในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน แต่ปรากฎอีเมลของจำเลยอยู่ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสข้อความ ทั้งพยานโจทก์และพยานจำเลยต่างเบิกความตรงกันว่า ประวัติการใช้งานเว็บไซด์สามารถลบได้ด้วยการฟอร์แมท อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
 
จำเลยอุทธรณ์ว่าตนเองถูกชักจูงให้รับสารภาพในชั้นสอบสวน โดยตำรวจบอกกับจำเลยว่า หากรับสารภาพจะได้รับการประกันตัว ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยถูกเรียกตัวไปสอบสอนโดยเจ้าพนักงานตำรวจถึงสามครั้งในเวลาห่างกันหลายเดือน ซึ่งทั้งสามครั้งจำเลยให้การรับสารภาพ หากจำเลยถูกชักจูงให้รับสารภาพในการสอบสวนครั้งแรก จำเลยก็น่าจะมีโอกาสปฏิเสธ การสอบสวนในครั้งที่สามจำเลยได้ประกันตัวแล้วจึงอยูในสภาวะที่สามารถปฏิเสธได้ แต่จำเลยก็ให้การรับสารภาพมาโดยตลอด ศาลอุทธรณ์เชื่อว่า จำเลยน่าจะรับสารภาพด้วยความสมัครใจ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
 
ปัญหาที่ว่าข้อความตามฟ้องก่อให้เกิดความเสียหายและกระทบต่อความมั่นคงหรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อความที่กล่าวหาว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เป็นความเท็จและส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน นอกจากนี้ การโพสต์ข่าวลืออันไม่เป็นมงคล ก็ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นเพราะความตื่นตระหนกตกใจ ข้อความตามฟ้องจึงก่อให้เกิดความเสียหายจริง
 
พิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามพระราบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) อย่างไรก็ดี ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละสามปีแล้วลดโทษให้หนึ่งในสาม จำคุกกระทงละสองปี รวมสี่ปีนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าหนักเกินไป ควรแก้ไขใหม่ เป็นให้จำคุกกรรมละ 2 ปี รวม 4 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน 
 
หลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา คธายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อต่อสู้้คดีในชั้นฎีกา แต่ศาลอาญาแจ้งว่าเรื่องการประกันตัวต้องส่งให้ศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งจะใช้เวลา2-3วัน ในระหว่างที่รอคำสั่งของศาลฎีกา คธาจะถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 
 
10 มีนาคม 2557
 
ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยเป็นการชั่วคราว เห็นว่า ศาลอุทธรณ์โทษจำคุกเป็นเวลา สองปีแปดเดือน หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี 
 
22 กันยายน 2558
 
ณัฐ อดีตผู้ต้องขังคดี 112 โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันที่ 26 กันยายน 2558 ว่า คธาได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 22 กันยายน หลังพ้นครบกำหนดโทษ

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา