ณัฏฐธิดา: มาตรา 112 จากการส่งไลน์

อัปเดตล่าสุด: 26/02/2565

ผู้ต้องหา

ณัฏฐธิดา

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พลตรี วิจารณ์ จดแตง ฝ่ายกฎหมายของ คสช.

สารบัญ

25 กรกฎาคม 2560 ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวณัฏฐธิดา หรือแหวน ผู้ต้องหาคดีวางระเบิดศาลอาญา ในทันทีหลังจากที่เธอถูกปล่อยตัวชั่วคราวในคดีดังกล่าว ก่อนจะนำตัวไปที่กองปรามปรามฯ โดยตำรวจแจ้งต่อเธอว่า เธอถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จากการแชร์ข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในแอพลลิเคชั่นไลน์

ณัฏฐธิดาถูกพิจารณาคดีในศาลทหารกรุงเทพ และถูกคุมขังในเรือนจำต่อเนื่องหลังจากถูกอายัดตัว จนได้รับการประกันตัวในวันที่ 4 กันยายน 2561 ด้วยหลักทรัพย์จำนวน 900,000 บาท แบ่งเป็นคดีแชร์ข้อความหมิ่นประมาทจำนวน 400,000 บาทและคดีวางระเบิดศาลอาญาจำนวน 500,000 บาท โดยมีข้อกำหนดห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาต จนเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ศาลทหารกรุงเทพได้โอนคดีไปยังศาลจังหวัดนนทบุรี การพิจารณาคดีล้วนถูกสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ ทั้งสองศาล
 
ณัฏฐธิดาต่อสู้คดีว่าตนไม่ได้เป็นผู้ส่งหรือแชร์ข้อความดังกล่าว เมื่อประกอบกับการเบิกพยานหลักฐานของโจกท์ ซึ่งไม่สามารถระบุแหล่งที่มาและพิสูจน์ความถูกต้องของหลักฐานได้ จึงมีข้อสงสัย ไม่สามารถสืบให้แน่ชัดได้ว่าณัฏฐธิดากระทำความผิดตามที่กล่าวหาจริง ศาลจังหวัดนนทบุรีจึงมีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน เคยเป็นพยาบาลอาสา และเป็นพยานปากสำคัญในคดีผู้เสียชีวิตหกศพภายในวัดปทุมวนารามจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในปี 2553

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ที่กองบังคับการปราบปราม กรุงเทพฯ พันเอก (ยศในขณะนั้น) วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แจ้งความดำเนินคดีกับณัฏฐธิดา มีวังปลาในข้อหาจาบจ้วง ดูหมิ่นพระเกียรติด้วยถ้อยคำอันมิบังควร และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยกล่าวหาว่า วันที่ 8 มีนาคม 2558 ณัฏฐธิดาได้ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ว่า “ใครก่อความรุนแรง…ไม่ดีเลย แน่จริงต้องเอาไปชั้น 16 xxxโน่น” ลงในกลุ่มแชทชื่อ “DPN & เพื่อนเม้า”

 

พฤติการณ์การจับกุม

24 กรกฎาคม 2560 ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนจับกุม นำโดย พ.ต.ท.วิญญู แจ่มใส เข้าอายัดตัวณัฏฐธิดา ตามคำขออายัดตัวของพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราปราม หลังจากที่เธอถูกปล่อยตัวชั่วคราวในคดีวางระเบิดศาลอาญา ซึ่งเธอถูกควบคุมตัวต่อไปยังกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม กรุงเทพฯ โดยวิญญัติ ชาติมนตรี ผู้เป็นทนายความและตัวณัฏธิดาเองได้ยืนยันว่าตนเป็นบุคคลตามหมายจับจริง

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.1092/2562

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

เมเนเจอร์ออนไลน์รายงานว่า ณัฏฐฐิดา มีวังปลา หรือแหวน ให้การต่อศาลในการไต่สวนการเสียชีวิตหกศพที่วัดปทุมวนารามว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เธอตะโกนบอกให้ทั้งสามคนหมอบลง ตอนนั้นไม่มีใครสามารถเข้าไปช่วยได้เนื่องจากมีการยิงลงมาจากทหารบนรางรถไฟฟ้าตลอด เธอเห็นเห็นทหารบนรางรถไฟฟ้าด้วย 5 นาย โดยใส่ชุดลายพราง สวมหมวกด้านหลังหมวกติดสติกเกอร์สีชมพู และทหารบนรางรถไฟฟ้ามีการประทับปืนเล็งลงมาที่วัด และสุดท้ายทั้งสามคนเสียชีวิต

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

11 มีนาคม 2558


วิญญัติ ชาติมนตรี  ทนายความเปิดเผยว่า ทหารได้ควบคุมตัวณัฏฐธิดาไปจากบ้านพักย่านแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ โดยไม่มีหมายจับและหมายค้น ต่อมาเธอถูกดำเนินคดีร่วมกับผู้ต้องหาอื่นอีกหลายคนต่อศาลทหารกรุงเทพ ในข้อหาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่คนร้ายปาระเบิดใส่อาคารศาลอาญา และถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว


18 มีนาคม 2558
พันเอก (ยศในขณะนั้น) วิจารณ์ จดแดง ผู้อำนวยการส่วนกฎหมายและมนุษยชน กอ.รมน. แจ้งความดำเนินคดีกับณัฏฐธิดา ข้อหา จาบจ้วง ดูหมิ่นพระเกียรติด้วยถ้อยคำอันมิบังควร และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  โดยกล่าวหาว่า วันที่ 8 มีนาคม 2558 ณัฏฐธิดา โดยกล่าวหาว่า วันที่ 8 มีนาคม 2558 ณัฏฐธิดาได้ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ว่า “ใครก่อความรุนแรง…ไม่ดีเลย แน่จริงต้องเอาไปชั้น 16 หิริราดโน่น” ลงในกลุ่มแชทชื่อ “DPN & เพื่อนเม้า”


25 กรกฎาคม 2560

หลังจากที่ณัฏฐธิดาถูกปล่อยตัวชั่วคราวในคดีร่วมกันวางระเบิดศาลอาญาออกมาจากทัณฑสถานหญิงกลาง ตำรวจได้ควบคุมตัวณัฏฐธิดาในทันที โดยระบุว่า ณัฏฐธิดาเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ข้อหาจาบจ้วง ดูหมิ่นพระเกียรติด้วยถ้อยคำอันมิบังควร และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

4 พฤษภาคม 2561

นัดสืบพยานโจทก์

ไม่มีข้อมูลเนื่องจากศาลสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ

13 กรกฎาคม 2561

นัดสืบพยานโจทก์

ไม่มีข้อมูลเนื่องจากศาลสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ

 

20 กรกฎาคม 2561

นัดสืบพยานโจทก์

ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์คดี 112 ของณัฏฐธิดา หรือแหวน พยานปากสำคัญในคดีผู้เสียชีวิตหกศพที่ถูกสังหารระหว่างการชุมนุมทางการเมืองในเดือนพฤษภาคมปี 2553 ในวัดปทุมวนาราม

ตั้งแต่เวลา 8.00 น. มีกลุ่มประชาชนราว 30 คนมารอให้กำลังใจณัฏฐธิดา แต่เจ้าหน้าที่ขอให้รอบริเวณหน้าอาคารศาลทหารกรุงเทพเท่านั้น เวลา 8.30 น. ณัฏฐธิดาถูกควบคุมตัวมาที่ศาลทหารกรุงเทพและถูกนำตัวขึ้นอาคารศาลในทันที การสืบพยานโจทก์ในวันนี้เป็นพยานคู่ปากพล.ต.วิจารณ์ จดแตงและพล.ต.ต.สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ โดยศาลสั่งพิจารณาคดีนี้เป็นการลับตลอดทั้งกระบวนการ

ภายหลังเราได้รับบันทึกคำให้การในการพิจารณาคดี โดยระบุว่ามีการเบิกความของพยานทั้งหมด 2 ปาก

 
สืบพยานโจกท์ปากที่หนึ่ง พลตำรวจตรีสุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ผู้ซักถามจำเลยในค่ายทหาร
 
ได้ให้การว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ตรวจพบข้อความ “ใครก่อความรุนแรง…ไม่ดีเลย แน่จริงต้องเอาไปชั้น 16 xxxโน่น” จากโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ตรวจยึดมาจากเข้าจับกุมเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดหน้าศาลอาญา โดยพบข้อความวันที่ 8 มีนาคม 2558 เวลา 11.39 นาฬิกา และได้แจ้งให้กับพล.ต.ตรี สุรศักดิ์ และพลตรีวิจารณ์ทราบ
 
พล.ต.ตรี สุรศักดิ์ และพลตรีวิจารณ์จึงได้ซักถามจำเลยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 จำเลยรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว โดยอ้างว่าได้คัดลอกจากข้อความโปรแกรมไลน์ของนางเดีย ซึ่งจำเลยเป็นสมาชิกในกลุ่ม ต่อมาตนและพลตรีวิจารณ์ได้ตรวจแล้ว นางเดียมีชื่อจริงว่า สุภาพร มิตรอารักษ์ ซึ่งร่วมกันก่อเหตุในคดีระเบิดศาลอาญา ซึ่งได้สอบถามสุภาพร และสุภาพรให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามที่จำเลยกล่าวอ้าง
 
เมื่อรับทราบข้อมูล พล.ต.ตรี สุรศักดิ์ จึงได้รวบรวมข้อมูลให้พลตรีวิจารณ์ไปแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลย และพล.ต.ตรี สุรศักดิ์ ได้ทำบันทึกซักถามไว้ ได้สอบสวนแนวทางความคิดของจำเลยเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์และทางการเมือง ปรากฎจำเลยมีความคิดที่ไม่ชอบสถาบันพระมหากษัตริย์
 
ตอบทำนายจำเลยถามค้าน
 
พลตำรวจตรีสุรศักดิ์ได้ให้การว่า ก่อนที่จะได้ซักถามจำเลยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 ทราบเพียงว่ามีการซักถามจำเลยมาก่อนแล้ว แต่ไม่ทราบว่าที่ครั้ง และขณะที่ทำการซักถามจำเลย มีเพียงพลตรีวิจารณ์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารประมาณ 2 คน ไม่มีทนายความร่วมซักถาม และไม่ทราบว่าการซักถามของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารก่อนหน้านั้น มีการบังคับขู่เข็ญหรือทำร้ายร่างกายจำเลยหรือไม่ และไม่ทราบว่าขณะที่จำเลยถูกควบคุมตัวมีการยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ เครื่องมือสื่อสารและรหัสผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของจำเลย ไม่สามารถรับรองข้อความในเอกสารหลักฐานที่ปรากฏ ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ภาพถ่ายข้อมูลโปรแกรมไลน์มาอย่างไร และไม่สามารถยืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าวถูกต้องตามที่ปรากฎในโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย
 
สืบพยานโจกท์ปากที่สอง พลตรีวิจารณ์ จดแตง ทหารฝ่ายกฏหมายของ คสช.
 
พลตรีวิจารณ์ เบิกความว่า เป็นผู้กล่าวหาจำเลยว่าจำเลยได้ถูกควบคุมตัวจากความเกี่ยวข้องในคดีปาระเบิดที่ศาลอาญาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 และการซักถามผู้ต้องสงสัย ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ซึ่งขณะนั้นมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก และจึงได้ทราบว่าจำเลยในคดีนี้เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายด้วย
 
เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย และทำการตรวจสอบปรากฎพบข้อความแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตนได้ร่วมกับพลตำรวจตรีสุรศักดิ์ ซักถามจำเลยในคดีนี้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 ถึงข้อความที่ปรากฎในโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย ที่โพสต์ในโปรแกรมไลน์ โดยจำเลยรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง โดยคัดลอกข้อความจากโปรแกรมไลน์ของนางเดีย ซึ่งตนได้ซักถามจำเลยและได้ทำบันทึกการซักถามของจำเลยไว้เป็นหลักฐาน และได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ซักถาม และจำเลยได้ยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวและจำเลยลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้ถ้อยคำ
 
ต่อมาได้ซักถามนางเดีย โดยนางเดียให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามที่จำเลยกล่าวอ้าง หลังจากที่รวบรวมหลักฐานแล้ว จึงได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้กล่าวหาไปแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับจำเลย
 
ตอบทำนายจำเลยถามค้าน
 
พลตรีวิจารณ์ได้ให้การว่า มิได้ซักถามนางสาวสุภาพรในคดีนี้มาก่อน แต่เคยซักถามในคดีก่อการร้าย พร้อมทั้งไม่สามารถเปิดเผยชื่อของเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวได้ และไม่ได้ตรวจสอบข้อความในโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยด้วยตนเอง การตรวจสอบทางเทคนิคข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์และทางนิติวิทยาศาสตร์เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการรวบรวมและพิสูจน์หลักฐาน และขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวซักถามจำเลย ตนอยู่ในห้องเดียวกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวโดยมีม่านกั้นอยู่ ขณะทำการซักถามจำเลยไม่มีการบังคับ ขู่เข็ญ หรือใช้กำลังทำร้ายเพื่อขอรหัสผ่านคอมพิวเตอร์ของจำเลย
 
การซักถามนางสุภาพรเป็นการซักถามโดยวิธีเดียวกับจำเลย และทราบว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มไลน์ที่ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นข้อมูลของฝ่ายข่าว ซึ่งจะต้องมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวรายงานข่าวเป็นลายลักษณ์อักษร และข้อมูลดังกล่าวที่ได้รับจะไม่ได้นำมาเป็นข้อมูลหรืออ้างอิงในการสอบสวนคดี เหตุที่ไม่ได้ดำเนินคดีกับนางสุภาพรในคดีนี้เพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอ พร้อมยืนยันว่าข้อความข้างต้นในโพสต์ไลน์ดังกล่าวเป็นการอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 ซึ่งประชาชนทั่วไปส่วนมากอ่านแล้วเข้าใจเช่นเดียวกับตน

 

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลยกล่าวหลังการพิจารณาคดีว่า วันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์สองปาก คือ พลตรีวิจารณ์ จดแตงและพลตำรวจตรีสุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ซึ่งเป็นพยานคู่ต้องสืบให้เสร็จในนัดเดียวกัน จึงใช้เวลาค่อนข้างนาน สืบตั้งแต่เช้าเสร็จในเวลาประมาณ 14.00 น. โดยไม่มีการพักรับประทานอาหารกลางวัน วิญญัติให้ความเห็นด้วยว่าคดีนี้ไม่มีประจักษ์พยาน ทั้งเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการกล่าวหามีเพียงกระดาษพิมพ์ภาพบทสนทนาที่ระบุว่า มาจากแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) ของณัฏฐธิดา โดยไม่มีการตรวจสอบหรือเปรียบเทียบข้อมูลในโทรศัพท์ว่า ถูกต้องและเหมือนหรือต่างกับข้อความในเอกสารหลักฐานแต่อย่างใด

นอกจากนี้หากดูตามคำฟ้องจะระบุว่าข้อความซึ่งเป็นปัญหาในคดีถูกโพสต์วันที่ 8 มีนาคม 2558 และต่อมาวันที่ 11 มีนาคม 2561 ณัฏฐธิดาก็ถูกควบคุมตัวซึ่งเธอได้มอบรหัสผ่านไลน์ให้แก่เจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงอ้างว่า ตรวจสอบพบข้อความที่เป็นเหตุในคดีนี้และใช้กระดาษพิมพ์ข้อความใบเดียวกันกล่าวหาณัฏฐธิดา

วิญญัติกล่าวต่อว่า ในช่วงเช้าวันนี้ทีมทนายจำเลยยื่นหลักทรัพย์ 900,000 บาทขอประกันตัวณัฏฐธิดา แต่ศาลทหารกรุงเทพยกคำร้องขอประกันตัวโดยพิเคราะห์ว่า ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทีมทนายความวางแผนจะยื่นขอประกันตัวอีกครั้งในนัดสืบพยานโจทก์นัดหน้าวันที่ 4 กันยายน 2561

สำหรับเรื่องการระดมเงินประกันตัวณัฏฐธิดาจำนวน 900,000 บาท วิญญัติเปิดเผยว่าทีมทนายใช้เวลาระดมเงินประมาณ 80 วัน โดยเงินที่บริจาคเข้ามาเป็นเงินหลักร้อยและหลักพันทยอยเข้ามาก่อนที่จะเริ่มระดมได้เร็วขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนครบในวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ส่วนสภาพร่างกายและจิตใจของณัฏฐธิดา เธอมีอาการป่วยเป็นกรวยไตและทางเดินปัสสาวะอักเสบ รวมทั้งมีอาการเครียด แต่เมื่อทนายความแจ้งว่า มีเงินประกันครบแล้ว ณัฏฐธิดาดูมีกำลังใจที่ดีขึ้น

 

4 กันยายน 2561

ศาลทหารมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว 'แหวน ณัฏฐธิดา' หลังทนายความ ยื่นขอประกันตัวณัฏฐธิดาเป็นครั้งที่สองด้วยหลักทรัพย์ 900,000 บาท แบ่งเป็น

หนึ่ง คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือคดี 112 ตุลาการศาลทหารพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้โจทก์คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวก็ตาม เห็นว่าหลักประกันที่ผู้ขอประกันนำมายื่นต่อศาลเชื่อถือได้ จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้ว จะไม่หลบหนีจึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล ตีราคาประกัน 400,000 บาท

สอง คดีถูกกล่าวหาว่าวางระเบิดศาลอาญา ตุลาการศาลทหารพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้โจทก์คัดค้านว่าคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี แต่ศาลได้เคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยตามสัญญาประกัน ฉบับลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 จำเลยได้มาศาลตามกำหนดนัดและไม่ได้หลบหนี ประกอบกับหลักประกันน่าเชื่อถือ จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ห้ามจำเลยที่ 3 ออกนอกราชอาณาจักร ตีราคาประกัน 500,000 บาท

 
6 สิงหาคม 2562
 
นัดฟังคำสั่งโอนย้ายคดี
 
ณัฏฐธิดา พร้อมทนายความเดินทางมาที่ศาลทหารกรุงเทพในเวลาประมาณ 13.00 น. 
 
ในเวลาประมาณ 13.15 น. ณัฏฐธิดา และทนายความไปที่ห้องพิจารณาคดีที่ 5 ตามที่ศาลนัดหมายโดยมีคนมาให้กำลังใจประมาณสิบคน 
 
เนื่องจากในห้องพิจารณาคดีที่ห้า มีการนัดหมายอ่านคำสั่งโอนย้ายคดีปาระเบิดศาลอาญาด้วย บรรยากาศในห้องพิจารณาจึงมีความคึกคักเป็นพิเศษ 
 
โดยปกติศาลจะพิจารณาคดีของณัฏฐธิดาเป็นการลับแต่ในนัดนี้ศาลอนุญาตให้บุคคลภายนอกนั่งฟังการพิจารณาคดีได้
 
ในเวลาประมาณ 13.20 น. ศาลขึ้นบันลังก์ และเริ่มอ่านกระบวนพิจารณาคดีทันทีว่า
 
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น 
 
ตามข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับการกำหนดให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ตามที่ระบุในบัญชีสองท้ายคำสั่งนี้ กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม 
 
จึงให้งดการสืบพยานจำเลยในวันนี้และงดการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมกับจำหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้ ให้มีหนังสือไปสำนักงานศาลยุติธรรม ให้จ่าศาลคัดถ่ายสำนวนคดีเก็บไว้ที่ศาลนี้ด้วย และสัญญาประกันให้มีผลต่อไป
 
ทนายความรับทราบคำสั่งศาล จากนั้นศาลจึงลุกจากบันลังก์ในทันที การพิจารณาคดีนี้แล้วเสร็จในเวลาประมาณ 13.30 น.
 
 
10-13 พฤศจิกายน 2564
 
นัดสืบพยาน
 
ไม่มีข้อมูลเนื่องจากศาลสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ
 
 
28 มกราคม 2564
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
ศาลจังหวัดนนทบุรี นัดฟังคำพิพากษาและศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้จนสิ้นสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา
 

 

 

 

คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยสรุป
 
จกท์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคา 2558 เวลากวางวัน จำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ราชวงศ์จักรีแห่งราชอาณาจักรไทย (ในขณะเกิดเหตุ) ด้วยการพิมพ์และส่งข้อความว่า “ใครก่อความรุนแรง…ไม่ดีเลย แน่จริงต้องเอาไปชั้น 16 xxxxโน่น” ไปในกลุ่มแอปพลิเคชั่นไลน์ชื่อ DPN. & เพื่อนเม้า สืบเนื่องจากมีผู้ก่อความรุนแรงโดยใช้ขว้างระเบิดที่ศาลอาญาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 ซึ่งข้อความดังกล่าวประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจได้ว่าการนำระเบิดไปขว้างที่ศาลอาญาถือว่าผู้กระทำไม่แน่จริง หากแน่จริงต้องไปขว้างที่ชั้นที่ 16 โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งขณะนั้นเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 อันเป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่นพระเกียรติด้วยถ้อยคำอันมิบังควรและแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เหตุเกิดที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และแขวงดุสิต เขตดุสิต เกี่ยวพันกัน จำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 3 ในคดีขว้างระเบิดที่ศาลอาญาด้วยเช่นกัน
 
พิเคราะห์พยานหลักฐานโจกท์และจำเลยโดยตลอดแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกัน รับฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนใช้แอปพลิเคชั่นไลน์และเป็นสมาชิกกลุ่มแอปพลิเคชั่นไลน์ชื่อ DPN. & เพื่อนเม้า จริง และเจ้าหน้าที่ทหารได้ยึดตรวจฮาร์ดดิสหรืออุปกรณ์เก็บข้อมูล คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กพร้อมสายชาร์จ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อไอโมบายพร้อมซิมการ์ดหมายเลข 0xxxxx-6191 และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย พร้อมซิมการ์ดหมายเลข 0xxxxx-5106 ของจำเลยเป็นของกลางและส่งไปตรวจพิสูจน์ที่กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญกรรมคอมพิวเตอร์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
 
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจกท์มีพลตำรวจตรีสุรศักดิ์ ขุณรงค์ และพลตรีวิจารณ์ จดแตง เป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันว่า พยานทั้งสองทราบพฤติการณ์ของจำเลยจากฝ่ายสืบสวนของเจ้าหน้าที่ทหารว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวจำเลยเพื่อซักถามเกี่ยวกับคดีวางระเบิดที่ศาลอาญา เจ้าหน้าที่ทหารตรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยและตรวจพบข้อความของจำเลยที่ส่งไปในแอปพลิเคชั่นไลน์ชื่อกลุ่ม DPN. & เพื่อนเม้า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2558 เวลา 11.39 นาฬิกา เมื่อพยานทั้งสองร่วมกันซักถามจำเลย จำเลยรับว่าเป็นผู้ส่งข้อความดังกล่าวโดยคัดลอกข้อความจากแอปพลิเคชันไลน์ของนางเดียร์ ซึ่งจำเลยเป็นสมาชิกในกลุ่ม และจำเลยมีแนวคิดไม่ชอบสถาบันพระมหากษัตริย์
 
ต่อมาพยานทั้งสองตรวจสอบพบว่า นางเดียร์ คือนางสุภาพร มิตรอารักษ์ ผู้ร่วมก่อเหตุวางระเบิดที่ศาลอาญากับจำเลย พยานทั้งสองสอบถามนางสุภาพร นางสุภาพรปฏิเสธว่าไม่เคยพิมพ์ข้อความตามที่จำเลยกล่าวอ้าง และโจกท์มีนางสุภาพร มิตรอารักษ์ เป็นพยานเบิกความว่า พยานไม่รู้จักจำเลยและไม่เคยพิมพ์ข้อความตามที่จำเลยกล่าวอ้าง นอกจากนี้โจทก์ยังมีรองศาสตรจารย์สุธินี รัตนวราห อาจารย์คณะนิติศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นพยานเบิกความว่า ขณะที่จำเลยพิมพ์และส่งข้อความในแอปพลิเคชันไลน์ ประชาชนทั่วไปทราบว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชประทับอยู่ที่ชั้น 16 ของโรงพยาบาลศิริราช
 
ในปัญหาส่วนนี้ ศาลวินิจฉัยว่า แม้เจ้าหน้าที่ทหารจะตรวจพบข้อความดังกล่าวจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย และได้รายงานให้กับพลตำรวจตรีสุรศักดิ์ และพลตรีวิจารณ์ทราบ และได้ร่วมกันซักถามจำเลยจนกระทั่งมีการดำเนินคดีกับจำเลยก็ตาม แต่ทั้งสองมิได้เบิกความยืนยันว่าเห็นข้อความดังกล่าวจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย โดยได้ความจากคำเบิกความที่ทั้งสอบตอบคำถามค้านของทนายจำเลยตรงกันว่า พยานทั้งสองมิได้ตรวจดูภาพจากโทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อเปรียบเทียบเทียบด้วยตนเอง อีกทั้งตามเอกสารติดต่อผ่านทางระบบไลน์ อันเป็นบันทึกแอปพลิเคชันไลน์จากซิมการ์ดโทรศัพท์หมายเลขเดียวกับที่โจกท์กล่าวอ้างนำสืบว่าพบข้อความของจำเลยตามฟ้อง ก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้พิมพ์หรือส่งข้อความดังกล่าวไปในแอปพลิเคชั่นของจำเลย
 
นอกจากนั้นพยานโจกท์ปากพันตำรวจโทนิติ อินทุลักษณ์ ได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยหลังตรวจพยานดูเอกสารว่า พยานไม่พบข้อความตามที่ฟ้อง และบันทึกคำให้การของพันตำรวจโทนิติ อินทุลักษณ์ ก็มิได้ให้การว่าตรวจพบข้อความดังกล่าว โดยพันโทนิติ เป็นผู้ตรวจพิสูตน์และจัดทำรายงานการพิสูจน์โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสองของจำเลย ประกอบกับสำเนาแผ่นวิดีทัศน์ประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ ก็ยังไม่ปรากฎข้อความจำเลยตามฟ้องเช่นกัน ดังนี้ย่อมเป็นข้อพิรุธว่า เหตุใดพันตำรวจโทนิติจึงตรวจไม่พบข้อความของจำเลยตามฟ้องทั้งที่เป็นซิมการ์ดหมายเลขโทรศัพท์เดียวกับที่โจทก์กล่าวอ้างว่า พบข้อความของจำเลย และไม่มีรายงานการตรวจพิสูจน์ข้อความที่สนทนาในแอปพลิเคชันไลน์กลุ่ม DPN.& เพื่อนเม้า
 
นอกจากนี้ในหลักฐานภาพถ่ายปรากฎว่าข้อความดังกล่าวที่มีการส่งมาก่อนวันที่ 8 มีนาคม 2558 โดยระบุว่าเวลา PM 11.39 หรือ 23.39 นาฬิกา ซึ่งจำเลยเบิกความต่อสู้ว่า เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวจำเลยและตรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ดหมายเลข 08-2362-6191 ไปตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2558 ข้อความสุดท้ายที่จำเลยพิมพ์ลงในแอปพลิเคชันไลน์คือข้อความว่า “มีกลุ่มต้อง…?” นอกจากนี้ยังได้ความจากพยานโจกท์ปากพันตำรวจโทนิติเบิกความตอบคำถามค้านของทนาจำเลยว่า กรณีนี้ไม่เป็นการแน่นอนว่า การส่งข้อความดังกล่าวเกิดขึ้นในวันใด บางทีอาจเป็นเวลาก่อนหรือหลังวันที่ 8 มีนาคม 2558 ก็ได้ พันโทนิติไม่สามารถยืนยันวันที่ส่งข้อความได้เนื่องจากไม่ใช่ผู้จัดทำเอกสารหลักฐานดังกล่าว ยิ่งแสดงให้ว่า พันตำรวจโทนิติ พยานโจกท์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญงานตรวจพิสูจน์หลักฐานประเภทโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เองก็ไม่สามารถยืนยันวันที่มีการส่งข้อความได้
 
การที่โจทก์มิได้นำพยานที่พลตำรวจตรีสุรศักดิ์และพลตรีวิจารณ์เบิกความว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่ตรวจพบข้อความของจำเลยมาเบิกความถึงเหตุการณ์ขณะมีการตรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่และพบข้อความของจำเลยเพื่อให้ได้ความกระจ่างชัด ทั้งนี้ ไม่น่าเป็นการยากที่จะนำเจ้าหน้าที่ทหารดังกล่าวมาเบิกความ ย่อมมีเหตุให้น่าสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เมื่อกรณีมีความสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง และเมื่อศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยแล้ว การที่โจกท์บรรยายฟ้องวันและเวลากระทำความผิดของจำเลยเป็นวันที่ 8 มีนาคม 2558 เวลากลางวันต่างจากทางพิจารณาหรือไม่ จึงไม่ต้องวินิจฉัยอีก
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา