อิฐบูรณ์: ทำเพจเฟซบุ๊กวิจารณ์ ปตท.

อัปเดตล่าสุด: 02/05/2562

ผู้ต้องหา

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา

สถานะคดี

ศาลไม่รับฟ้อง

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยพงศธร ทีปีรัช ผู้รับมอบอำนาจ

สารบัญ

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา นักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน ถูกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ฟ้องตามความผิดมาตรา 14 และ 15 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์บริษัท ปตท. เจ็ดครั้ง ในเฟซบุ๊กชื่อ "Goosoogong" และ "Gooโกง ร่วมสืบค้นกลโกงพลังงานไทย" โดย อิฐบูรณ์ ถูกกล่าวหาว่า นำเข้าข้อมูลปลอมหรือเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนหรือผู้อื่น บริษัท ปตท. ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลเองในวันที่ 22 สิงหาคม 2557 โดยศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 
 
ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ มีการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และประกาศใช้ในปี 2560 ศาลอาญากรุงเทพใต้จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ เนื่องจากบรรยายฟ้องมาไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
 
 
 
 
 
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา ทำงานอยู่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเป็นนักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน รวมทั้งเป็นแกนนำเครื่อข่ายประชาชนปฏิรูปประเทศไทย     
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 บริษัท ปตท. ในฐานะโจกท์ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มิถุยายน 2557 อิฐบูรณ์ จำเลยได้นำเข้าและเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและปลอมเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จำนวนเจ็ดโพสต์ และจำเลยยังจงใจสนับสนุนหรือยิมยอมให้ผู้อื่นแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ผ่านเฟซบุ๊ก ชื่อ "Goosoogong" (กูสู้โกง) และ "Gooโกงร่วมสืบค้นกลโกงพลังงานไทย" 
 
โจทก์ บรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยปรากฎหลักฐานชัดว่ามีประชาชนโดยทั่วไปนำข้อความและภาพแชร์ไปที่ต่างๆ เกือบ 5,000 คน และมีผู้คนจำนวนมากมากดไลก์ และร่วมแสดงความคิดเห็น จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงในการประกอบธุรกิจอย่างมาก ซึ่งความเสียหาย คือ ทำให้ประชาชนเข้าใจว่า
 
1) โจทก์บริหารงานโดยทุจริตเพื่อนำเอารายได้แบ่งปันกันระหว่างพวกพ้อง
2) โจทก์ฉ้อฉลเบียดบังเอาสาธารณสมบัติของชาติไปเป็นของตน
3) โจทก์กระทำการผูกขาดธุรกิจและค้ากำไรเกินควร
 
โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลโดยขอให้ศาลพิจารณาลงโทษจำเลย ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และมาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 แต่ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ให้ประทับฟ้องให้ข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
 

พฤติการณ์การจับกุม


บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.3064/2557

ศาล

ศาลอาญากรุงเทพใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

7 ธันวาคม 2560

นัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีบริษัท ปตท. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อิฐบูรณ์ อ้นวงษา จำเลย ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน ในฐานะผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กชื่อ goosoogong ในความผิดตามมาตรา 14 และ 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีการโพสต์เกี่ยวกับปัญหาการคืนท่อก๊าซของ ปตท. โดย อิฐบูรณ์ ถูกกล่าวหาว่า นำเข้าข้อมูลปลอมหรือเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนหรือผู้อื่น
 
ศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 ศาลได้ยกฟ้องไปตั้งแต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว แต่สำหรับความผิดตามมาตรา 14 นั้น ศาลให้เหตุผลว่า ในระหว่างการพิจารณาคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 มีการแก้ไขใหม่ โดยมีการบัญญัติถึงเจตนาเข้ามา กล่าวคือ ต้องเป็นการกระทำโดยทุจริตหรือหลอกลวง และไม่ใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาท ศาลเห็นว่า กฎหมายใหม่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายเก่า คดีจึงต้องบังคับใช้ตามกฎหมายใหม่
 
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแล้ว โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้มีการกระทำอันเป็นการทุจริตหรือหลอกลวงอย่างไร จึงถือว่า คำฟ้องโจทก์ไม่เข้าองค์ประกอบ ตามมาตรา 14 ที่แก้ไขใหม่ 
 

 

21 พฤศจิกายน 2561
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 
 
เวลาประมาณ 9.30 น. ศาลขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งคดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ทั้งนี้ระหว่างการพิจารณาคดีนี้มีการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1)  เป็นว่า
 
 
“มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
 
(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”
 
 
ซึ่งองค์ประกอบของกฎหมายใหม่ต้องมีเจตนาพิเศษคือ “โดยทุจริต” หรือ “หลอกลวง” ดังนั้นเมื่อโจกท์บรรยายฟ้องตามกฎหมายเดิม ทำให้ไม่อาจลงโทษจำเลยตามกฎหมายใหม่ได้ นอกจากนี้การที่โจกท์กล่าวว่าจำเลยทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน โดยข้อเท็จจริงโจกท์เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และการกระทำของจำเลยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ
 

ศาลเห็นยืนกับศาลชั้นต้นยกฟ้อง

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษา ศาลชั้นต้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้เฟซบุ๊กชื่อ "Goosoogong" และ "Gooโกง ร่วมสืบค้นกลโกงพลังงานไทย" นำเข้าข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ดังนั้นการที่ศาลมีคำสั่งว่า คดีมีมูลตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (เดิม) จึงหมายถึงมีมูลตามมาตรา 14(1) และ (5) เดิม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ 
 
ปรากฎว่าในระหว่างพิจารณาคดี ได้มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ในยกเลิกความในมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ที่บัญญัติว่า 
 
"ผู้ใดกระทำผิดตามที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) นำเข้าสู้ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน"
 
ส่วนมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่แก้ไขใหม่ วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา"
 
"(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้" 
 
แสดงว่า การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1) ที่แก้ไขใหม่นั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษ คือ โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง และต้องไม่ใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย นอกจากนี้หากเป็นการกระทำความผิดดังกล่าวต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งไม่ใช่ประชาชน จะมีอัตราโทษน้อยกว่ากรณีการกระทำต่อประชาชน ทั้งยังเป็นความผิดที่ยอมความได้ จึงถือว่า เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายใหม่เป็นคุณมากกว่ากฎหมายเดิมจึงต้องใช้กฎหมายใหม่บังคับแก่จำเลย
 
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ไม่ได้กำหนดนิยามของคำว่า "โดยทุจริต" หรือ "โดยหลอกลวง" เอาไว้ แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) ได้บัญญัติว่า ""โดยทุจริต" หมายความว่าเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น" ส่วนคำว่า "โดยหลอกลวง" ตามพจนานุกรม ฉยัยราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายถึง "ใช้อุบายทุจริตลวงให้เข้าใจผิด, แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงที่ควรแจ้ง เพื่อให้บุคคลอื่นเข้าใจผิด"
 
ศาลเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นเจ้าของและผู้ดูแลเฟซบุ๊ก และได้นำเข้าและเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ และจำเลยจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและปลอมเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้กระทำการดังกล่าวเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือจำเลยได้กระทำการดังกล่าวโดยใช้อุบายทุจริตลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้ง เพื่อให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดอย่างไร ทั้งมิใช่โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน
 
กรณีที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือข้อมูลอันเป็นเท็จโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงอย่างไร ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้ขอแก้ไขฟ้องต่อศาลในภายหลัง ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (ที่แก้ไขใหม่) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
 

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา