เอกชัย: แจ้งความเท็จกล่าวหาผบ.ทบ. เป็นกบฏ

อัปเดตล่าสุด: 02/09/2562

ผู้ต้องหา

เอกชัย

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2561

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารฝ่ายกฎหมายของคสช.ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี

สารบัญ

ในวันที่ 17 ตุลาคม 2561 พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เกี่ยวกับอนาคตของการเมืองไทย
 
วันที่ 19 ตุลาคม 2561 เอกชัย และโชคชัยเห็นว่าเนื้อหาในการสัมภาษณ์ของ ผบ.ทบ. ตอนหนึ่งมีลักษณะเป็นการข่มขู่ว่าจะทำรัฐประหาร จึงเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าวให้ดำเนินคดีกับ ผบ.ทบ. ในความผิดฐานกบฎ ในวันเดียวกันนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ลาดพร้าวได้ยุติการดำเนินการเกี่ยวกับคดีกบฏของ ผบ.ทบ. เนื่องจากมีความเห็นว่าไม่มีมูลความผิดในคดี
 
ต่อมา วันที่ 22 ตุลาคม 2561 คสช. มอบหมายให้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารฝ่ายกฎหมายของ คสช. เข้าร้องทุกษ์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับทั้งสองในความผิดฐานแจ้งความเท็จ จากการแจ้งความฐานกบฏต่อ ผบ.ทบ.
 
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 เอกชัย และโชคชัย เข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ลาดพร้าวตามหมายเรียก เพื่อเข้ารับฟังข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาต่อเอกชัย และโชคชัย ในฐานร่วมกันแจ้งความเท็จในความผิดคดีอาญาโดยรู้ว่าไม่ได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นต่อเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 137,172 และ 173 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ทั้งสองคนให้การปฏิเสธ และอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีในวันที่ 6 ธันวาคม 2561
 
คดีนี้มีการสืบพยานทั้งหมดสองนัด ในวันที่ 1 และ 2 พฤษภาคม 2562 โดยมีการสืบพยานรวมห้าปาก เป็นพยานโจทก์สามปาก ได้แก่ ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับทั้งสองคน, พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความคดีกบฏ และพนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความคดีแจ้งความเท็จ ส่วนพยานฝ่ายจำเลยสองปาก ได้แก่ตัวจำเลยทั้งสองคนขึ้นเบิกความเป็นพยานเอง หลังสืบพยานแล้วเสร็จ ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นวันที่ 10 มิถุนายน 2562
 
ในวันที่ 10 มิถุนายน 2562 
ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า  เจตนาจำเลยทั้งสองไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 137 และ 172 ฐานแจ้งความเท็จ เนื่องจากข้อความที่จำเลยนำไปแจ้งความต่อ ผบ.ทบ. ข้อหากบฏนั้นเป็นข้อความจริงๆ ที่ ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ มีสาระสำคัญตรงกับคำให้สัมภาษณ์ออกสื่อ
 
ส่วนมาตรา 173 หากไม่มีมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนว่ามีการกระทำความผิดนั้น ศาลเห็นว่าจำเลยมีความสนใจการเมือง และในทางประวัติศาสตร์ที่กองทัพบกทำรัฐประหารมาตลอด จึงทำให้จำเลยนำข้อความที่ ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์มาแจ้งความว่า อาจจะเป็นการขู่เข็ญ ไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งผบ.ทบ. จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง 
 

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

เอกชัย เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง ช่วงปี 2561 เขาเข้าร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานขัดคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 และความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 รวมสามคดี ได้แก่ คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ ที่หน้ากองทัพบก และที่หน้าองค์การสหประชาชาติ

นอกจากเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเลือกตั้งเอกชัยยังเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปมนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วิงศ์สุวรรณ อย่างต่อเนื่องด้วย 
 
โชคชัย  ประกอบอาชีพทำป้ายไวนิล และมักร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจนถูกดำเนินคดีจากการร่วมกิจกรรมของคนอยากเลือกตั้งรวมสี่คดี ได้แก่ คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ หน้าหอศิลป์กรุงเทพ ที่ถนนราชดำเนินใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่หน้ากองทัพบก และที่หน้าองค์การสหประชาชาติ นอกจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องการเลือกตั้ง

โชคชัยยังร่วมกับเอกชัยทวงถามหาความรับผิดชอบเรื่องนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในหลายๆ โอกาส 
 

ข้อหา / คำสั่ง

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 172, 173

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำฟ้องของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวงสองสรุปได้ว่า 
 
ในวันที่ 19 ตุลาคม 2561 จำเลยทั้งสองร่วมกันเอาข้อความที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาและโดยที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ได้มีการกระทำความผิด ไปแจ้งกับพนักงานสอบสวนสนานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว โดยแจ้งว่า ได้อ่านข่าวที่ผู้บัญชาการทหารบกให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวตอนหนึ่งว่า "คือผมมั่นใจว่าการเมืองไม่ใช่ต้นเหตุแห่งการจลาจล ถ้ามันไม่เกิดก็ไม่มีอะไร การปฏิวัติรัฐประหารมีสิบกว่าครั้งก็จริง แต่มันไม่ใช่สมัยก่อนแล้ว สมัยหลังๆนี้มันก็เป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น ดังนั้นผมไม่ได้ว่านักการเมืองดีหรือไม่ดี ดีก็มี ไม่ดีก็มี" 
 
จำเลยเห็นว่าคำพูด "ถ้ามันไม่เกิดก็ไม่มีอะไร" มีลักษณะเป็นการขู่เข็นว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร จึงร้องทุกข์กล่าวโทษให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ในความผิดฐานกบฎตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ซึ่งถ้อยคำในการร้องทุกข์กกล่าวโทษของจำเลยเป็นความเท็จ 
 
จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าคำพูดของพล.อภิรัชต์ เป็นเพียงการตอบคำถามผู้สื่อข่าวในลักษณะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคต เป็นการพูดในฐานะผู้บัญชาการทหารบกที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบ และจำเลยทั้งสองก็รู้ดีว่าไม่มีตอนใดของคำพูดของพล.อ.อภิรัชต์ที่มีลักษณะเป็นการข่มขู่ว่าจะใช้กำลังเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ อันเป็นความผิดฐานกบฎ
 
เนื่องจากเอกชัยและโชคชัยต่างถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งอัยการจึงขอให้นับโทษคดีนี้ต่อจากคดีที่ทั้งสองถูกฟ้องไปก่อนหน้านี้ ในส่วนของเอกชัยที่เพิ่งพ้นโทษจากคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาไม่ครบห้าปี อัยการได้ขอให้ศาลเพิ่มโทษกับเอกชัยด้วย  
 

 

พฤติการณ์การจับกุม

จำเลยทั้งสองมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก จึงไม่มีการจับกุม

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

8327/2561

ศาล

ศาลแขวงพระนครเหนือ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
17 ตุลาคม 2561
 
ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวก่อนประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก วาระพิเศษ ซึ่งตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์ผบ.ทบ.ระบุว่า

“สิ่งที่สื่อถามว่าจะมีปฏิวัติหรือไม่ ผมหวังอย่างยิ่งว่าการเมืองอย่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติอีก ผมมั่นใจว่าถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุแห่งการจลาจลก็ไม่มีอะไร ประเทศไทยเคยมีปฏิวัติสิบกว่าครั้ง แต่ไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว ช่วงหลังเกิดจากการเมือง ผมเชื่อว่านักการเมืองที่ดีก็มีและที่ไม่ดีก็มี ผมเสียใจที่เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมถูกละเมิด การตัดสินในหลายคดี คนทำความผิดบอกว่าไม่เป็นธรรม และประเทศจะอยู่ตรงไหน ในเมื่อบอกคนนี้ผิด ก็แย้งว่าไม่ผิดถูกแกล้ง ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน จะให้คนไทยอยู่กันอย่างไรโดยไม่มีกฎระเบียบวินัย”
 
19 ตุลาคม 2561
 
ประชาไทรายงานว่า เวลา 10.00 น. เอกชัย และโชคชัย เดินทางไปที่สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว เพื่อเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษพล.อ.อภิรัชต์ ผบ.ทบ.ในความผิดฐานกบฎตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113

โดยระบุเหตุแห่งการร้องทุกข์ว่า การให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนของผบ.ทบ.เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 มีลักษณะเป็นการข่มขู่ว่าอาจจะใช้กำลังยึดอำนาจในอนาคต
 
เอกชัยระบุด้วยว่าระหว่างการเข้าพบพนักงานสอบสวนมีชายสองคนอ้างว่าเป็นหน่วยงานความมั่นคงเรียกเขาไปสอบถามด้วยว่าว่าบ้านอยู่ไหน ทำงานอะไร อายุเท่าไหร่ ซึ่งเป็นข้อมูลวนตัว เมื่อเอกชัยถามถึงต้นสังกัดของบุคคลดังกล่าว ก็ไม่ยอมบอก 
 
22 ตุลาคม 2561
 
พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของคสช. เข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ลาดพร้าวร้องทุกข์กล่าวโทษกับเอกชัยโชคชัยในความผิดประมวลอาญามาตรา 137  ฐานแจ้งความเท็จเนื่องจากการกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพได้รับความเสียหาย เพราะการให้สัมภาษณ์ของพล.อ.อภิรัชต์เกิดขึ้นในวันที่มีการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก จึงเป็นการกล่าวหาว่าพล.อ.อภิรัชต์จะนำกองทัพทำการรัฐประหาร 
 
23 ตุลาคม 2561
 
ประชาไท พนักงานสอบสวนเห็นว่าการร้องทุกข์กล่าวโทษผบ.ทบ.ในข้อหากบฎของเอกชัยและโชคชัยไม่มีมูลและมีคำสั่งให้ยุติการสอบสวน 
 
8 พฤศจิกายน 2561
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เอกชัย และโชคชัย พร้อมทนายความ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าว ตามหมายเรียก เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน
 
ในชั้นสอบสวนเอกชัยและโชคชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เอกชัยแจ้งพนักงานสอบสวนว่าขอเอกสารชีแจงเหตุผลรายละเอียดเกี่ยวกับการยุติการสอบสวนพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์เพื่อนำมาประกอบการให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในภายหลังด้วย
 
เอกชัยยังแจ้งความจำนงให้พนักงานสอบสวนเรียกวาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าว ที่อยู่ร่วมในการสัมภาษณ์ ผบ.ทบ. และเป็นผู้เขียนบทความที่ตัวเขานำมาเป็นหลักฐานในการร้องทุกข์กล่าวโทษผบ.ทบ.ในความผิดฐานกบฎมาให้การเพิ่มเติมด้วย รวมทั้งขอให้เชิญพล.อ.อภิรัชต์ มาสอบถามว่าได้ให้สัมภาษณ์ตามคลิปที่ได้ยื่นประกอบการร้องทุกข์กล่าวโทษจริงหรือไม่ 
 
หลังให้การเสร็จ พนักงานสอบสวนลงบันทึกประจำวันแล้วให้ผู้ต้องหาทั้งสองเดินทางกลับโดยไม่มีการควบคุมตัว
 
19 พฤศจิกายน 2561
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน   รายงานว่าพนักงานสอบสวนสน.ลาดพร้าวส่งตัวเอกชัยและโชคชัยฟ้องต่ออัยการ
โดยอัยการนัดฟังคำสั่งคดีในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561
 
26 พฤศจิกายน 2561
 
แนวหน้าออนไลน์รายงานว่าเอกชัย และ โชคชัยเข้ารายงานตัวตามนัดเพื่อฟังคำสั่งคดีของอัยการ แต่อัยการเลื่อนฟังคำสั่งคดีเป็นวันที่ 3 ธันวาคม เวลา 10.00 น.เนื่องจากยังพิจารณาสำนวนคดีไม่แล้วเสร็จ
 
3 ธันวาคม 2561
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ 
 
เวลา 10.30 น. เอกชัยและโชคชัยเดินทางมาที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษฝ่ายศาลแขวง 2 เพื่อฟังคำสั่งคดี อย่างไรก็ตามอัยการขอเลื่อนการสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 7 ธันวาคมโดยให้เหตุผลว่ามีเอกสารที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ เอกชัยแจ้งกับเจ้าหน้าที่รับเรื่องซึ่งเป็นผู้แจ้งการเลื่อนนัดของอัยการเจ้าของสำนวนว่าในวันที่ 7 ธันวาคมเขามีธุระสำคัญไม่สามารถมาพบอัยการได้ขอให้เลื่อนวันนัดไปเป็นสัปดาห์ถัดไป

เจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องแจ้งกับเอกชัยว่าวันที่ 7 ธันวาคมจะเป็นวันครบผัดฟ้องเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงซึ่งกำหนดให้อัยการต้องฟ้องภายใน 30 วัน นับจากผู้ต้องหาถูกเอาตัวมารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องพยายามถามเอกชัยว่าเขามีเหตุจำเป็นใดที่จะไม่มาศาล เอกชัยตอบว่าวันที่ีเจ็ดเขาจะไปร่วมการชุมนุม

เอกชัยแจ้งเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวด้วยว่าเขาเห็นคดีอื่นๆที่มีการเลื่อนนัดฟังคำสั่งแล้วมีการมอบอำนาจให้ทนายความมาเซ็นรับทราบวันนัดแทนเช่นคดี MBK 39 ดังนั้นในวันที่ 7 ซึ่งเขาติดภารกิจเขาจะมอบอำนาจให้ทนายความมาแทน เจ้าหน้าที่รับเรื่องชี้แจงกับเอกชัยไปว่ากรณีที่อัยการมีคำสั่งล่วงหน้าว่าจะเลื่อนนัดฟังคำสั่ง ผู้ต้องหาสามารถมอบอำนาจให้ทนายความมาลงชื่อรับทราบวันนัดแทนได้ แต่กรณีของเอกชัยเป็นการนัดมาฟังคำสั่งไม่ใช่การมาลงชื่อรับทราบวันนัดใหม่ซึ่งมีอัยการอาจมีคำสั่งคดีในวันนั้น กรณีของเอกชัยจึงไม่สามารถมอบอำนาจให้ทนายความมาดำเนินการแทนได้

ท้ายที่สุดเอกชัยจึงขอให้เลื่อนวันนัดเป็นวันที่ 6 ธันวาคม 2561 หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องประสานไปยังอัยการเจ้าของสำนวนเรื่องวันนัดฟังคำสั่ง อัยการนัดหมายเอกชายและโชคชัยมาฟังคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 6 ธันวาคม 2561 เวลา 13.30 น.   
 
6 ธันวาคม 2561 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 มีคำสั่งฟ้อง เอกชัย และโชคชัยในความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี อัยการนัดให้เอกชัยและโชคชัยไปพบที่ศาลแขวงพระนครในช่วงบ่ายวันเดียวกัน โดยเอกชัยและโชคชัยเดินเท้าจากสำนักงานอัยการไปที่ศาลด้วยตัวเองไม่มีการควบคุมตัว หลังอัยการฟ้องคดีเอกชัยและโชคชัยยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 12,000 บาท ศาลนัดสอบคำให้การคดีนี้ในวันที่ 21 มกราคม 2562
 
21 มกราคม 2562
 
นัดคุ้มครองสิทธิและสอบคำให้การ
 
โชคชัยมาถึงศาลแขวงพระนครเหนือตั้งแต่ก่อนเวลา 13.00 พร้อมด้วยทีมทนายความ กระบวนการในวันนี้ศาลไม่ได้ขึ้นบัลลังก์แต่ดำเนินกระบวนพิจารณาในห้องไกล่เกลี่ย เนื่องจากเอกชัยมาถึงศาลช้าศาลจึงให้โชคชัยลงชื่อในเอกสารไปพลางก่อนโดยเอกชัยมาถึงศาลในเวลาประมาณ 13.40 น.
 
ในนัดนี้ศาลอ่านคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองฟังและถามคำให้การ เอกชัยและโชคชัยต่างให้การปฏิเสธ อัยการแถลงจะนำพยานเข้าสืบรวมเจ็ดปาก ในจำนวนนี้มีพ.อ.บุรินทร์ ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยทั้งสอง พยานซึ่งจะมาให้ความเห็นเกี่ยวกับคำพูดของผบ.ทบ.อีกสองคนว่าไม่ได้มีลักษณะเป็นกบฎดังจำเลยกล่าวอ้าง ฝ่ายจำเลยอ้างพยานหกคนมีจำเลยทั้งสองคน สื่อมวลชน และนักวิชาการที่จะมาให้ความเห็นรวมอยู่ด้วย ศาลให้เวลาคู่ความสืบพยานฝ่ายละหนึ่งนัดครึ่ง (ฝ่ายละวันครึ่ง รวมสามนัด) โดยให้คู่ความกำหนดวันนัดกันเอง
 
คู่ความกำหนดวันนัดสืบพยานร่วมกันในวันที่ 1, 2 และ 8 พฤษภาคม 2562
 
1 พฤษภาคม 2562
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสอง 
 
ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 9.20 น. 
 
พ.อ.บุรินทร์เบิกความว่า เขาได้รับมอบอำนาจจากฝ่ายกฎหมายของคสช.มาดำเนินการฟ้องคดี โดยก่อนหน้าที่จะได้รับการมอบอำนาจมาร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย ฝ่ายข่าวของคสช. ได้ติดตามเฟซบุ๊กของเอกชัยซึ่งโพสต์ข้อความทำนองว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวก่อนการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก วาระพิเศษ ซึ่งตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์ผบ.ทบ.ระบุว่า “ผมมั่นใจว่าถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุแห่งการจลาจลก็ไม่มีอะไร” จำเลยทั้งสองจึงเดินทางไปที่สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว เพื่อเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษพล.อ.อภิรัชต์ ผบ.ทบ.ในความผิดฐานกบฎตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 โดยระบุเหตุแห่งการร้องทุกข์ว่า มีลักษณะเป็นการข่มขู่จะใช้กำลังยึดอำนาจในอนาคต ฝ่ายข่าวของคสช.ซึ่งติดตามเฟซบุ๊กของเอกชัยจำเลยที่หนึ่งได้คัดลอกเนื้อหาในเฟซบุ๊กดังกล่าวไว้             
 
พ.อ.บุรินทร์เบิกความต่อว่าเขารู้จักกับเอกชัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ในตอนที่จำเลยทำกิจกรรมเกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร เขาได้เชิญมาพูดคุยเจรจาปรับทัศนคติ พ.อ.บุรินทร์เบิกความต่อว่า เอกชัยได้เข้าร่วมกลุ่มคนอยากลือกตั้ง รวมทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมาโดยตลอด ซึ่งตัวเขาได้รับมอบอำนาจให้แจ้งความหลายคดี 

สำหรับโชคชัย จำเลยที่สอง พ.อ.บุรินทร์เบิกความว่าเขาไม่เคยพูดคุยด้วยแต่มักพบว่าโชคชัยจะอยู่กับเอกชัยเสมอ พ.อ.บุรินทร์เบิกความว่าเขาจดจำโชคชัยได้เนื่องจากโชคชัยเคยไปไลฟ์สดเฟซบุ๊กที่หน้ากองทัพบก พ.อ.บุรินทร์เบิกความต่อว่าทัศนคติของเอกชัยและโชคชัยที่มีต่อคสช.เป็นในทางต่อต้านและกล่าวร้ายคสช. มีการกล่าวโจมตีเจ้าหน้าที่กองทัพบกและคสช. ตัวเขาจึงได้รับมอบอำนาจให้ไปแจ้งความดำเนินคดี
 
พ.อ.บุรินทร์เบิกความต่อว่าในวันที่มีการเรียกประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก คสช.ได้มีการถ่ายภาพและบันทึกคำพูดของพล.อ.อภิรัชต์ระหว่างที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ซึ่งต่อมาได้มีการถอดเทปคำพูดดังกล่าวไว้ พ.อ.บุรินทร์เบิกความว่าจากข้อความที่พล.อ. อภิรัชต์กล่าวว่า “การเมืองไม่ใช่ต้นเหตุแห่งการจลาจล ถ้ามันไม่เกิดก็ไม่มีอะไร” ตัวข้อความไม่มีการแสดงออกหรือการข่มขู่ที่จะใช้กองทัพบกปฎิวัติ พ.อ.บุรินทร์เบิกความต่อว่า ลำพังตัวผบ.ทบ.ไม่อาจทำรัฐประหารได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยความร่วมมือจากกองทัพ

อีกทั้งในคำพูดของผบ.ทบ.ไม่มีถ้อยคำใดที่บอกว่าจะปฎิวัติล้มล้างรัฐบาลมีแต่ย้ำให้ร่วมมือกับรัฐบาลทั้งในปัจจุบันและอนาคต พ.อ.บุรินทร์ย้ำด้วยว่า ผบ.ทบ. มีความจงรักภัคดีเป็นที่ปรากฎและปฎิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด ไม่เคยแทรกแซงการเมืองหรือจัดตั้งพรรคการเมือง  
 

พ.อ.บุรินทร์เบิกความต่อว่า หลังจำเลยทั้งสองไปร้องทุกข์กล่าวโทษพล.อ. อภิรัชต์ในความผิดฐานกบฎ ฝ่ายกฎหมายของคสช.ก็มอบหมายให้เขาไปร้องทุกข์กล่าวโทษเอกชัยและโชคชัยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ อัยการแถลงหมดคำถาม  

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่า การที่จำเลยทั้งสองไปร้องทุกข์กล่าวโทษพล.อ.อภิรัชต์ เป็นการกล่าวโทษตัวพล.อ.อภิรัชต์เท่านั้น ไม่ได้พูดถึงคสช.ใช่หรอไม่ พ.อ.บุรินทร์ตอบว่าทั้งสองร้องทุกข์กล่าวโทษพล.อ.อภิรัชต์ ได้ได้พูดถึงคสช. ส่วนการมาร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยทั้งสอง พ.อ.บุรินทร์เบิกความว่าเป็นการมาร้องทุกข์โดยได้รับมอบหมายจากทางคสช.ไม่ใช่มาในนามของพล.อ.อภิรัชต์ 

ทนายจำเลยถามว่า ที่พล.อ.อภิรัชต์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า  ”ถ้ามันไม่เกิดก็ไม่มีอะไร” มีลักษณะเป็นการข่มขู่หรือไม่ พ.อ.บุรินทร์ตอบว่าเป็นการสรุปของสื่อมวลชนเอง พ.อ.บุรินทร์เบิกความด้วยว่าคำพูดของ ผบ.ทบ.ไม่มีลักษณะข่มขู่ ส่วนจะเป็นการขู่เข็ญหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละคน 

ทนายจำเลยขออนุญาตศาลเปิดคลิปวิดีโอคำให้สัมภาษณ์ของผบ.ทบ.ต่อสื่อมวลชน ศาลอนุญาต หลังเปิดวิดีโอคลิปทนายจำเลยถามพ.อ.บุรินทร์ว่า คำสัมภาษณืตามคลิปดังกล่าวตรงกับเอกสารหลักฐานที่ฝ่ายกฎหมายของคสช.จัดทำขึ้นจากการถอดเทปคำสัมภาษณ์ของผบ.ทบ.หรือไม่ พ.อ.บุรินทร์ตอบว่าคำตอบและคำถามของบทสัมภาษณ์ตามที่เจ้าหน้าที่ทหารถอดเทปกับคลิปที่ทนายจำเลยขอศาลเปิดไม่ตรงกัน จึงตอบไม่ได้ว่าเป็นบทสัมภาษณ์ครั้งเดียวกันหรือไม่   
 
การสืบพยานเสร็จสิ้น
 
2 พฤษภาคม 2562 
 
นัดสืบพยานโจทก์ และจำเลย
 
เวลาประมาณ 09.00 น. ศาลแขวงพระนครเหนือ นัดสืบพยานโจทก์ และจำเลย คือ ร.ต.อ.ธนากร ยอดแก้ว พนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าว ซึ่งเป็นผู้รับแจ้งความร้องทุกข์ และเป็นผู้ทำสำนวนคดีแจ้งความเท็จ ส่วนศักดิ์ชัย สุขสอาด กับ วิชัย ภัสโรวัฒนา พยานที่จะมาให้ความเห็นในเรื่องถ้อยคำไม่มาศาล โจทก์จึงขอตัดพยานสองปากนี้ออก ส่วนพยานจำเลยมีสองปาก คือ เอกชัย และโชคชัย จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 
 
ที่ห้องพิจาณาคดีที่ 17 ในเวลา 09.30 น. เอกชัย เดินทางมาถึงศาล โดยแจ้งว่า ได้เดินทางมาพร้อมกับพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลาดพร้าวอีกสองคน ส่วนโชคชัย เดินทางมาถึงศาลตั้งแต่เวลาประมาณ 08.00 น. โดยบรรยากาศในห้องพิจารณามีเพียงทีมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และไอลอว์เท่านั้น
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 2 ร.ต.อ.ธนากร ยอดแก้ว พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความจากจำเลย
 
เวลา 10.00 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี โดยให้เริ่มสืบพยาน และสาบานตนทันทีทันที ร.ต.อ.ธนากร ยอดแก้ว เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 29 ปี เป็นพนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าว รับราชการตำรวจมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีหน้าที่ในการรับแจ้งความร้องทุกข์
 
อัยการให้ ร.ต.อ.ธนากร เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ร.ต.อ.ธนากร เบิกความว่า เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 เวลาประมาณ 12.30 น. เอกชัย หงส์กังวาน และโชคชัย จำนามสกุลไม่ได้ อัยการจึงถามแทรกว่า ใช่ “ไพบูลย์รัชตะ” ไหม ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า “ใช่” ได้เข้ามาแจ้งความ ร้องทุกข์ ว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ มีความผิดในฐานกบฏ โดยแจ้งว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 พล.อ.อภิรัชต์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับการรัฐประหารว่า ในเรื่องความสงบหรือการเมืองก็ตาม ถ้าไม่มีอะไรก็ไม่มีอะไร โดยทั้งสองคนแจ้งว่า คำพูดดังกล่าวเป็นการขู่เข็ญ เข้าข่าวความผิดข้อหากบฏ ตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
 
ร.ต.อ.ธนากร เบิกความต่อว่า ในการพูดคุยกันระหว่างแจ้งความร้องทุกข์ ไม่ได้แจ้งองค์ประกอบในทางกฎหมายของ มาตรา 113 แก่ทั้งสองคน และได้ลงบันทึกประวันถึงการแจ้งความร้องทุกข์ไว้ เมื่อรับแจ้งความแล้วจึงได้สอบปากคำของทั้งสองคนไว้ในฐานะผู้กล่าวหา ซึ่งในวันแจ้งความทั้งสองคนได้นำพยานหลักฐานมาด้วยเป็นภาพข่าวจากเฟซบุ๊กของ วาสนา นาน่วม 
 
หลังจากนั้น ร.ต.อ.ธนากร จึงได้สอบปากคำพยานเพิ่มเติม คือ วิชัย ภัสโรวัฒนา และศักดิ์ชัย สุขสะอาด ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน โดยพยานทั้งสองคนให้การว่า พล.อ.อภิรัชต์ ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์นักข่าวเช่นนั้นไม่ถือว่า เป็นการขู่เข็ญ หรือข่มขู่ หรือเป็นการยืนยันแต่อย่างใด หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนจึงสรุปสำนวนว่า คดีนี้ไม่มีความผิดทางอาญา เนื่องจากไม่มีการกระทำของ ผบ.ทบ. ที่เข้ากับองค์ประกอบทางกฎหมายเรื่องกบฏ เป็นการตอบคำถามสื่อเฉยๆ และทำความเห็นให้ยุติการสอบสวนเสนอต่อผู้บังคับบัญชา คือผู้กำกับ สน.ลาดพร้าว และผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 (ผบก.น.4) โดยผู้กำกับได้ส่งความเห็นให้ ผบก.น.4 มีคำสั่งยุติการดำเนินคดีเช่นกัน
 
ร.ต.อ.ธนากร เบิกความถึงเหตุการณ์หลังจากนั้นว่า มีผู้รับมอบอำนาจจาก คสช. มาแจ้งความต่อจำเลยทั้งสองคน ในข้อหาแจ้งความเท็จ และข้อหาอื่นซึ่ง ร.ต.อ.ธนากร จำไม่ได้ ในข้อหาแจ้งความเท็จนั้นมีผู้รับผิดชอบเป็นคณะกรรมการพนักงานสอบสวน ซึ่งแต่งตั้งโดยกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 (บช.น.4) โดย ร.ต.อ.ธนากร เป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย และเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ได้เข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยานในคดี
 
อัยการถามว่า ในส่วนของข้อความที่ ร.ต.อ.ธนากร ให้การกับพนักงานสอบสวนไปว่า การกระทำของ พล.อ.อภิรัชต์ ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดนั้น ได้แจ้งต่อจำเลยทั้งสองคนหรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ไม่ได้แจ้งต่อจำเลยทั้งสองคนด้วยตัวเอง แต่ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้แจ้งให้ทราบ ส่วนร.ต.อ.ธนากร เป็นผู้พิมพ์เอกสาร 
 
สำหรับคดีแจ้งความเท็จนั้นภายหลัง ร.ต.อ.ธนากร ทราบว่าคณะกรรมการฯ มีความเห็นให้สั่งฟ้องจำเลยทั้งสอง
 
ร.ต.อ.ธนากร ให้การว่า ไม่เคยรู้จักจำเลยทั้งสองเป็นการส่วนตัวมาก่อน แต่รู้จักจากสื่อว่า เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง
 
ถามค้านโดยทนายจำเลยที่ 1
 
ทนายเริ่มคำถามว่า คำพูดของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่จำเลยทั้งสองนำมาแจ้ง พยานได้สอบสวน พล.อ.อภิรัชต์ ด้วยหรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ไม่ได้สอบสวน ทนายถามต่อว่าในส่วนของ วาสนา นาน่วม เจ้าของเฟซบุ๊กที่จำเลยทั้งสองนำมาอ้าง พยานได้ออกหมายเรียกเพื่อเรียกมาสอบถามหรือไม่ว่าโพสต์นั้นมีอยู่จริงหรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ไม่ได้ออกหมายเรียก
 
ในประเด็นความเห็นของบุคคลภายนอกสองคน ที่เห็นว่า การกระทำของ พล.อ.อภิรัชต์ ไม่เป็นการข่มขู่นั้น พยานทั้งสองคนไม่ได้ให้การว่า คำพูดที่จำเลยทั้งสองคนแจ้งความไม่ตรงกับที่ พล.อ.อภิรัชต์ให้สัมภาษณ์กับสื่อใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า พยานทั้งสองคนไม่ได้พูดเช่นนั้น และในส่วนที่ ร.ต.อ.ธนากร สรุปคดี คือ ไม่เข้าองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ใช่ 
 
ทนายถามต่อว่า พยานไม่ได้สรุปว่าคำพูดที่จำเลยทั้งสองนำมาแจ้งความไม่ตรงกับคำพูดของ พล.อ.อภิรัชต์ ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ไม่ได้สรุปเช่นนั้น
 
ถามค้านโดยทนายจำเลยที่ 2 
 
ทนายจำเลยที่ 2 เริ่มถามค้านว่า พยานเคยทำคดีความผิดฐานกบฏ และคดีแจ้งความเท็จมาก่อนหรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ไม่เคย
 
ทนายถามต่อว่า ที่ สน.ลาดพร้าว ใช้เวลาสอบสวนในคดีความมั่นคงเฉลี่ยคดีละกี่วัน ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ไม่เคยทราบ ทนายถามต่อถึงคดีแจ้งความเท็จใช้เวลาเท่าไหร่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ไม่ทราบเช่นกัน ทนายถามถึงในส่วนของการพิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบประวัติใช้ระยะเวลากี่วัน ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า หากเร่งด่วนวันเดียวก็เสร็จ ทนายจึงถามต่อว่า ในคดีกบฏนั้น ได้นัดผู้ต้องหามาพิมพ์ลายนิ้วมือไหม ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ไม่ทราบ ทนายถามว่า คดีกบฏได้รับการเร่งคดีเป็นพิเศษหรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ในคดีกบฏนั้นได้รับการเร่งด่วนเป็นพิเศษ
 
ทนายถามถึงเหตุการณ์วันที่ 19 ตุลาคม 2562 ว่า มีทหารและสื่อมวลชนมาใน สน.ลาดพร้าวหรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ไม่มีทหารในเครื่องแบบมา ส่วนสื่อมวลชนอยู่บริเวณนอก สน. ทนายถามต่อว่า มีการเข้ามาแจ้งความเวลากี่โมง ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า เวลา 12.30 น. และทนายถามว่ามีการสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า มีการสอบสวนเพิ่มเติมในตอนเย็นวันเดียวกัน
 
ทนายถามประเด็นเกี่ยวกับการสอบพยานเพิ่มเติมว่า พยานได้เรียกตัวมาเองใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ผู้บังคับบัญชาหามาให้เพื่อให้มีหลากหลายอาชีพ ทนายถามต่อว่า พยานรู้จักศักดิ์ชัย สุขสะอาด หรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่เคยเห็นใน สน. ทนายถามต่อว่า ศักดิ์ชัยมีญาติอยู่ใน สน.ลาดพร้าวหรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ไม่มี ทนายจึงถามต่อว่า แล้วทราบหรือไม่ว่า ศักดิ์ชัย มีเพื่อน หรือเคยมาหลานมาที่ สน.ลาดพร้าวด้วย ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ไม่ทราบ ทนายถามต่อถึงประเด็นที่เลือกนายศักดิ์ชัยมาเพราะเป็นชาวบ้านธรรมดาใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ใช่ แต่ไม่ได้ถามความเห็นต่อการรัฐประหาร
 
ร.ต.อ.ธนากร บอกว่า ไม่ได้เอาคลิปวีดีโอที่ พล.อ.อภิรัชต์ ให้สัมภาษณ์ให้ศักดิ์ชัยดู ให้ดูเพียงภาพข่าว และศักดิ์ชัยน่าจะอยู่ในพื้นที่ที่จะตามมาให้สืบพยานต่อศาลได้
 
สำหรับพยานที่มาให้ความเห็นอีกคนหนึ่ง คือ วิชัย ภัสโรวัฒนา ทนายถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่า วิชัยเป็นทนายความ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ใช่ ร.ต.อ.ธนากรตอบคำถามว่า ไม่ได้เอาให้วิชัยดูคลิป ให้ดูเพียงภาพข่าว ทนายจึงถามต่อว่าพยานมีการสอบพยานเพิ่มเติมเพียง 2 คน เท่านั้นใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ใช่ และไม่ได้สอบปากคำผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ นักการเมือง หรือนักภาษาศาสตร์ เพิ่มอีก
 
ทนายถามถึงกระบวนการในการทำสำนวนคดีว่า พยานได้ส่งสำนวนคดีให้ผู้บังคับบัญชาภายในวันเดียวกัน โดยทำกระบวนการทั้งหมดภายในวันเดียวใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ใช่ ทนายถามต่อว่า พนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าว ไม่ได้แจ้งความในข้อหาแจ้งความเท็จใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ไม่ได้แจ้ง และไม่มีผู้บังคับบัญชาไปแจ้งความในข้อหาแจ้งความเท็จกับจำเลยทั้งสอง 
 
ทนายถามพยานในฐานะพนักงานสอบสวนว่า การแจ้งความด้วยข้อความเท่าที่มีอยู่จริงถือว่า เป็นการแจ้งความเท็จหรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ไม่ถือว่าเป็นการแจ้งความเท็จถ้าแจ้งเท่าที่มี ทนายถามต่อว่า เอกชัยได้แจ้งความตามหลักฐานที่ให้ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ใช่ 
 
ทนายถามถึงประเด็นที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ มาแจ้งความให้ดำเนินคดีต่อจำเลยทั้งสองว่า สน.ลาดพร้าว และพยานไม่ได้แจ้งข้อหาแจ้งความเท็จต่อ พ.อ.บุรินทร์ ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ไม่ได้แจ้ง ไม่ใช่เพราะเป็น พ.อ.บุรินทร์ แต่ สน.ลาดพร้าวไม่ได้แจ้งความใครตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
 
สุดท้ายทนายถามว่า พยานทราบถึงคำพิพากษาศาลฎีกา 2 ฉบับ (เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5236/2549 ) มาก่อนหรือไม่ ที่วางบรรทัดฐานว่า การกระทำแบบใดไม่เป็นการแจ้งความเท็จหรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ไม่เคยทราบมาก่อน
 
อัยการถามติง
 
อัยการเริ่มถามติงว่า พยานเบิกความว่าการเอาความจริงมาแจ้งไม่มีความผิด แต่หากเอาไปเชื่อมกันขยายความทำให้ผู้ต้องหาเสียหาย มีความผิดหรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ถือว่าเข้าองค์ประกอบความผิด
 
อัยการถามต่อว่า การพิมพ์ลายนิ้วมือจะกระทำเมื่อเห็นว่า ผู้ต้องหามีความผิด แต่หากสอบสวนแล้วการกระทำไม่เป็นความผิดก็ไม่จำเป็นต้องเรียกผู้ต้องหามาพิมพ์ลายนิ้วมือใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า ใช่ ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะไม่เรียกผู้ต้องหามาอีกเพราะได้ให้ความเห็นว่า ไม่มีความผิดไปแล้ว
 
อัยการถามว่า เพราะเหตุใดจึงไม่แจ้งความในข้อหาแจ้งความเท็จต่อจำเลยด้วยตัวเองตั้งแต่แรก ร.ต.อ.ธนากร ตอบว่า เนื่องจากได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในคดีไหนก็ทำแค่คดีนั้น
 
สืบพยานแล้วเสร็จเวลาประมาณ 10.25 น.
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ร.ต.อ.พรเทพ อินทรนวล พนักงานสอบสวนผู้ทำสำนวนคดีนี้
 
เวลา 10.30 น. ศาลเริ่มสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 และให้พยานเริ่มสาบานตน โดยพยาน คือ ร.ต.อ.พรเทพ อินทรนวล อายุ 28 ปี พนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าว รับราชการตำรวจมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีหน้าที่รับแจ้งการร้องทุกข์ และสอบสวนในคดีอาญา ในคดีนี้เป็นผู้ทำสำนวนคดีในความผิดฐานแจ้งความเท็จ
 
อัยการให้พยานเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการสอบสวนคดีแจ้งความเท็จ ร.ต.อ.พรเทพ เบิกความว่า เหตุก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 มีคนเข้ามาแจ้งความในข้อหากบฏ โดยมี ร.ต.อ.ธนากร เป็นพนักงานสอบสวน และมาทราบภายหลังว่า เมื่อคดีไม่มีมูลความผิดผู้บังคับบัญชาจึงสั่งยุติคดี 
 
ในส่วนของคดีแจ้งความเท็จที่พยานเกี่ยวข้องนั้น ร.ต.อ.พรเทพ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2561 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เดินทางมาแจ้งความ ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อจำเลยทั้ง 2 คน ในข้อหาแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172 และ 173 ร.ต.อ.พรเทพ ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ และได้สอบปากคำ พ.อ.บุรินทร์ ตามบันทึกการสอบปากคำผู้กล่าวหา โดยพยานหลักฐานที่ พ.อ.บุรินทร์นำมายื่นประกอบไปด้วย 1. หนังสือมอบอำนาจ 2. บันทึกการถอดเทปที่ พล.อ.อภิรัชต์ ให้สัมภาษณ์ 3. ภาพการแจ้งความของเอกชัย 4. โพสต์การถ่ายทอดสดในเฟซบุ๊กของเอกชัย 5. แผ่นซีดีบันทึกการให้สัมภาษณ์ของพล.อ.อภิรัชต์ 
 
ร.ต.อ.พรเทพ เบิกความต่อว่า ได้สอบพยานเพิ่มเติมทั้งหมดสี่ปาก โดย พ.ต.ท.สุรพงษ์ สาขากร สารวัตรสอบสวน สน.ลาดพร้าว ได้นำเฟซบุ๊กของเอกชัย และซีดีบันทึกการสัมภาษณ์ของ พล.อ.อภิรัชต์ รวมถึงบันทึกรายงานการสืบสวนที่ผู้กำกับทำ มาให้พยานรับผิดชอบ อีกทั้งยังมีบันทึกการยุติคดีของ ร.ต.อ.ธนากร ส่งมาให้ด้วย หลังจากนั้นจึงมีคำสั่งจาก กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 (บก.น.4) ให้พยานเป็นคณะกรรมการสอบสวนในคดีนี้ด้วย โดย ร.ต.อ.ธนากร ถูกสอบคำให้การในฐานะพยานในคดีนี้ด้วย มีการสอบพยานเพิ่มเติมอีก คือ ศักดิ์ชัย สุขสะอาด และวิชัย ภัสโรวัฒนา โดยทั้งสองคนให้การว่า คำพูดที่ พล.อ.อภิรัชต์ตอบคำถามสื่อไม่มีการขู่เข็ญ หรือเป็นกบฏ
 
หลังจากนั้นร.ต.อ.พรเทพ นัดผู้ต้องหาทั้งสองคนให้มารับฟังข้อกล่าวหาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 ในความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 172 และ 173 ผู้ต้องหาทั้งสองคนให้การปฏิเสธ ตามรายงานประจำวันที่ได้ทำบันทึกไว้ พร้อมทั้งแจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องหาและได้สอบปากคำผู้ต้องหาทั้งสองคน 
 
ร.ต.อ.พรเทพ เบิกความว่า สาเหตุที่มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองคน เนื่องจากเชื่อว่า การกระทำของผู้ต้องหาเชื่อเป็นความผิด เพราะเห็นโพสต์เฟซบุ๊กของเอกชัย ตามที่ พ.ต.ท.สุรพงษ์ ส่งให้พูดว่า “ถ้านำคดีไปฟ้องศาลเอง ศาลยกฟ้องแน่” จึงมีความเห็นสมควรให้สั่งฟ้อง รวมทั้ง ร.ต.อ.ธนากร ก็ไม่แจ้งข้อกล่าวหา และยุติการดำเนินคดีเนื่องจาก พล.อ.อภิรัชต์ไม่มีมูลความผิดด้วย จึงนำมาประกอบกันเป็นความเห็นในการสั่งฟ้อง
 
ร.ต.อ.พรเทพ เบิกความในตอนท้ายตอบอัยการว่า ในวันนี้จำเลยทั้งสองอยู่ในห้องพิจารณาคดี และชี้ตัวได้ถูกต้อง พยานไม่เคยรู้จักจำเลยทั้งสองคนมาก่อน แต่เคยได้ยินว่าเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน
 
เวลาประมาณ 11.05 น. ทนายจำเลยที่ 1 เริ่มการถามค้าน ทนายถามว่า คดีที่จำเลยที่ 1 แจ้งความเป็นการแจ้งความแก่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ไม่ใช่การแจ้งความต่อ คสช. ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ใช่ ทนายถามต่อว่า ผู้เสียหายตามข้อหาแจ้งความเท็จต้องเป็น พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ไม่ใช่ คสช. ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ใช่ และผู้เสียหายไม่เคยมาแจ้งความเลยใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ใช่ ส่วนผู้มาแจ้งความ คือ คสช. ไม่ใช่ พล.อ.อภิรัชต์ ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ใช่ 
 
ทนายถามว่า ตามคำให้การที่พยานเป็นผู้สอบ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ไม่ได้ยืนยันว่า ข้อความส่วนใดไม่ตรงกับที่ พล.อ.อภิรัชต์ ให้สัมภาษณ์ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ใช่ เพียงแต่บอกว่า ผิดข้อหาแจ้งความเท็จ และทนายได้ถามว่า หลังจาก คสช. แจ้งความได้รับการเร่งรัดคดีจากผู้บังคับบัญชาใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ทำตามกรอบระยะเวลาปกติ และใช้คณะกรรมการปกติ 
 
ทนายถามว่า มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนอกเครื่องแบบ เข้ามาในบริเวณห้องที่ใช้สอบสวนหรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า จำไม่ได้  ทนายถามต่อว่า นอกห้องที่ใช้สอบสวนบริเวณ สน.ลาดพร้าวมีเจ้าหน้าที่ทหารหรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า จำไม่ได้ ทนายถามว่า ในคำให้การของเอกชัยระบุว่า "ไม่ทราบข้อความที่ถูกกล่าวหา" แล้วพยานได้เรียกตัว พ.อ.บุรินทร์ มาสอบสวนในประเด็นนี้เพิ่มเติมหรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่ได้สอบเพิ่มเติมใดๆ เลย รวมถึงไม่ได้สอบเพิ่มเติมถึงการกล่าวหาด้วย ทนายถามต่อว่า พยานไม่ได้เรียก วาสนา นาน่วมและ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ มาให้การเพิ่มเติมในการยืนยันว่าข้อความที่นำมาอ้างเป็นของจริงหรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่ได้เรียก และทนายถามว่า ได้ขอให้ พ.อ.บุรินทร์ มาให้การเพิ่มเติมหรือไม่ว่า คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่นำมาแจ้งความกับสิ่งที่พูดจริงๆ ไม่ตรงกัน ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่ได้เรียกมาสอบเช่นกัน
 
ทนายถามว่า ในวันที่จำเลยที่ 1 ไปให้การในชั้นตำรวจ จะขอส่งคำให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน แต่พยานบอกว่าให้ส่งภายใน 7 วัน เพราะคดีเร่งรัดใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่ได้บอกแบบนั้น แต่ทำตามกรอบระยะเวลาในกฎหมาย โดยใช้เวลาในการทำสำนวนการสอบสวนไม่เกิน 14 วัน จึงส่งให้พนักงานอัยการสั่งฟ้อง ทนายถามต่อว่า ในคำให้การของจำเลยที่ 1 บอกว่า ข้อเท็จจริงที่นำไปแจ้งความเป็นข้อเท็จจริงตาม พล.อ.อภิรัชต์ ให้สัมภาษณ์ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ข้อเท็จจริงตรงกัน ทนายจึงถามถึงส่วนของข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 นำไปแจ้งความเอาผิดกับพล.อ.อภิรัชต์ คือความผิดตามมาตรา 113 ประมวลกฎหมายอาญาใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ใช่
 
ทนายถามถึงการสอบพยานเพิ่มเติมว่า ในการสอบปากคำ ศักดิ์ชัย สุขสะอาด และวิชัย ภัสโรวัฒนา พยานเป็นผู้สอบใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ใช่ ทนายถามต่อว่า พยานทั้งสองคนผู้บังคับบัญชาจัดหาเตรียมไว้ให้ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่ใช่ เนื่องจากทั้งสองคนนี้เป็นพยานเดิมจึงนำมาสอบเพิ่มอีกครั้ง ทนายถามว่า พยานไม่ได้ถามว่า ข้อความที่ พล.อ.อภิรัชต์พูด เป็นจริงหรือเท็จใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่ได้ถาม และถามว่า พยานสรุปความเห็นในการสั่งฟ้องโดยไม่เกี่ยวกับข้อความที่ พล.อ.อภิรัชต์ พูดใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ใช่ สั่งฟ้องโดยใช้ความเห็นของตนเอง ทนายถามถึงประสบการณ์ของพยานว่าเคยทำคดีประเภทไหนที่เกี่ยวข้องมาบ้าง ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่เคยทำคดีกบฏ แต่เคยมีประสบการณ์ทำคดีแจ้งความเท็จ 
 
ทนายถามพยานถึงความผิดฐานกบฏว่า ในคดีที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ผู้เสียหายต้องเป็นรัฐเท่านั้น หากประชาชนนำคดีไปฟ้องเองก็จะยกฟ้องใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ใช่
 
ทนายถามว่าพยานเคยศึกษาคดีของ เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่เคย 
 
ทนายถามว่าเคยศึกษาคดีที่ สมาชิกวุฒิสภาฟ้องคณะรัฐประหาร หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่เคย
 
ทนายถามว่า พยานเคยดูคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับคดีแจ้งความเท็จหรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่เคยดูฎีกา ดูแต่ตัวบทกฎหมาย ทนายถามต่อว่า ทราบไหมว่ามีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่บอกว่า หากเป็นการแจ้งความตามจริงไม่ถือว่า เป็นการแจ้งความเท็จ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่ทราบ
 
สุดท้ายทนายจำเลยที่ 1 ถามว่า พยานไม่ได้ส่งสำเนาคำให้การในชั้นสอบสวนในสำนวนการสอบสวนให้อัยการใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า พนักงานสอบสวนได้ส่งให้อัยการแล้ว แต่อัยการไม่ได้ยื่นเข้ามาเป็นหลักฐานในคดี
 
ทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน 
 
เวลาประมาณ 11.30 น. ทนายจำเลยที่ 2 เริ่มถามค้าน ทนายถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่าการปฏิวัติ รัฐประหาร คืออะไร ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ทราบว่า ทั้งสองอย่างไม่เหมือนกัน การปฏิวัติ คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง การรัฐประหารคือการเปลี่ยนผู้นำประเทศ 
 
ทนายถามว่าในปี 2557 ที่มีการรัฐประหารพยานไม่ได้ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ใช่ ทนายถามต่อว่า ที่ไม่ฟ้องเพราะไม่ใช่ผู้เสียหายใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่ใช่ ที่ไม่ฟ้องเพราะตอนนั้นไม่ได้สนใจการเมืองมากกว่า
 
ในเรื่องของพยานที่เรียกมาสอบเพิ่มเติม ทนายถามว่า รู้จักทั้งสองคนมาก่อนหรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่รู้จักรวมๆ ว่า วิชัย ภัสโรวัฒนา เป็นทนายความ และศักดิ์ชัย สุขสะอาดทำงานมูลนิธิกู้ภัย ทนายถามต่อว่า ทั้งสองคนสามารถติดตามตัวมาเป็นพยานได้หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า สามารถติดตามตัวได้ ทนายถามต่อว่า แล้วทั้งสองคนรู้จัก พล.อ.อภิรัชต์ มาก่อนหรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่น่าจะรู้จักกันมาก่อน ทนายถามว่าทั้งสองคนจะรู้จักการปฏิวัติ รัฐประหารไหม ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่ได้สอบในส่วนนี้ 
 
ทนายถามถึงพยานหลักฐานในคลิปที่ พล.อ.อภิรัชต์ ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันดังกล่าวคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.อภิรัชต์ ไม่ได้มีคำพูดเกี่ยวกับการปฏิวัติ รัฐประหารใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ใช่ ทนายถามต่อถึงความเข้าใจของพยานต่อคำว่า “ถ้าไม่เกิด ก็ไม่มีอะไร” ว่าหมายถึงอะไร ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ต้องดูบริบทก่อนว่า พูดถึงเรื่องอะไร ทนายจึงถามต่อว่า หากหมายถึงว่า หากไม่เกิดความรุนแรง ก็ไม่เกิดรัฐประหาร หมายความแบบนั้นใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า หมายถึงถ้าไม่มีความรุนแรง ก็จะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ทนายถามว่า พยานไม่เคยสอบคำให้การ พล.อ.อภิรัชต์ ใช่หรือไม่ว่า ที่พูดหมายถึงอะไร ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่เคยสอบ อีกทั้งยังไม่ได้สอบสวน พ.อ.บุรินทร์ ในคำถามเดียวกันนี้ด้วย ทนายถามถึงข้อความตามฟ้องว่า หากไม่ดูคลิปให้สัมภาษณ์ประกอบจะเข้าใจหรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่เข้าใจ
 
ทนายถามถึงการรัฐประหารว่า พยานทราบหรือไม่ว่า การรัฐประหารเมื่อปี 2549 และ 2557 ผู้ทำการรัฐประหารเป็น ผู้บัญชาการทหารบก ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ใช่ ทนายถามต่อว่า พล.อ.อภิรัชต์ เคยทำรัฐประหารหรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่เคย ทนายถามว่า ได้สอบสวนหรือไม่ว่า ในวันนั้นทำไมถึงเรียกเฉพาะผู้บังคับบัญชาที่เป็นหน่วยคุมกำลังมารวมกัน ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่ได้สอบสวน ทนายจึงถามต่อว่า แล้วพยานคิดหรือไม่ว่า การเรียกเฉพาะผู้คุมกำลังมารวมกันจะเป็นการทำรัฐประหารได้ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ไม่คิด เนื่องจากเป็นนักเรียนเตรียมทหาร และนักเรียนนายร้อยจึงเข้าใจว่า ส่วนมากก็จะเรียกแต่ผู้บังคับบัญชาไป เพราะในงานจะเรียกทหารทั้งกองทัพแสนสองแสนคนไปพร้อมกันไม่ได้ ทนายจึงถามต่อว่า หากพยานให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า จะไม่ทำรัฐประหารจะตอบนักข่าวที่ถามว่าจะมีการรัฐประหารหรือไม่ว่าอย่างไร ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ทำไปทำไม
 
ทนายถามต่อว่า แล้วคดีแจ้งความเท็จคดีนี้ทำสำนวนนานหรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า เกือบหนึ่งเดือน ทนายถามว่าทำไมคดีสำคัญถึงไม่มีการเร่งรัดคดี ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า คดีนี้มีระยะเวลาในการเรียกผู้เสียหายและอื่นๆ ทนายจึงถามต่อว่า คดีอาญาทั่วไปใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า แล้วแต่ความยากง่ายของแต่ละคดี และพยานหลักฐานที่มี ทนายถามต่อว่า คดีอาญาสามารถทำสำนวนภายในวันเดียวได้หรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า สามารถทำได้ คำถามสุดท้ายทนายถามว่า พยานเคยทำคดีเสร็จภายในวันเดียวไหม ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า เคยทำ
 
อัยการถามติง
 
เวลา 11.45 อัยการถามว่า การเอาคำพูดที่เป็นข้อเท็จจริงมาเชื่อมกันเป็นความผิดหรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่าเป็นความผิด
 
อัยการถามว่า ความผิดฐาน 113 ร้ายแรงหรือไม่ ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า ร้ายแรง อัยการถามว่า องค์ประกอบความผิดอาญามีอะไรบ้าง ร.ต.อ.พรเทพ ตอบว่า มีเจตนา และการกระทำความผิดเกิดขึ้น
 
การสืบพยานแล้วเสร็จเวลาประมาณ 11.48 น.
 
หลังจากนั้นศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดีในช่วงเช้า โดยสรุปได้ว่า ในช่วงเช้าสืบพยานแล้วเสร็จสองปาก ในส่วนของพยานโจทก์ พ.ต.ท.มนเดช มาแนม เป็นชุดพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกับ ร.ต.อ.พรเทพ อินทรนวล ซึ่งเบิกความไปแล้วโจทก์จึงไม่ติดใจที่จะสืบพยานปากดังกล่าว แต่ยังติดใจสืบพยานปากศักดิ์ชัย สุขสะอาด และวิชัย ภัสโรวัฒนา แต่ไม่มาศาลในวันนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานทั้งสองคนที่ไม่มาศาลเป็นพยานที่ให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวนไปแล้ว และมีพยานเอกสารแล้ว ประกอบกับศาลได้นัดพิจารณาคดีต่อเนื่องไว้ในช่วงบ่าย เมื่อพยานโจทก์ทั้งสองปากไม่สามารถมาศาลได้ ศาลจึงเห็นสมควรให้งดสืบพยานทั้งสองปากดังกล่าว ศาลนัดสืบพยานอีกครั้งเวลา 13.00 น.
 
ช่วงบ่าย
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 1 เอกชัย หงษ์กังวาน จำเลยที่ 1 
 
ช่วงบ่ายศาลออกนั่งพิจารณาคดีเวลา 13.40 น. เริ่มสืบพยานจำเลย คือ เอกชัย หงส์กังวาน จำเลยที่ 1 เอกชัยเริ่มสาบานตน  เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 44 ปี ประกอบอาชีพเป็นนักเขียนอิสระ เอกชัยเบิกความถึงจุดยืนทางการเมืองว่า ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เนื่องจากอำนาจเป็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอำนาจตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่การรัฐประหารไม่มีการตรวจสอบ และไม่มีกฎหมายใดในโลกรองรับการรัฐประหาร จึงไม่เห็นด้วย 
 
ในส่วนของการรัฐประหารในไทยตั้งแต่เกิดมานั้นมีการรัฐประหารถึงสี่ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรก พ.ศ.2519 รัฐประหารโดยพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ครั้งที่สอง พ.ศ.2534 รัฐประหารโดยพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ครั้งที่สาม พ.ศ.2549 รัฐประหารโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และครั้งที่สี่ พ.ศ.2557 รัฐประหารโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งการรัฐประหารทั้งสี่ครั้ง ทำโดยผู้บัญชาการทหารบกทั้งหมด
 
เอกชัยเบิกความเกี่ยวกับคดีดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว และวาสนา นาน่วม ได้โพสต์เฟซบุ๊ก รวมถึงหนังสือพิมพ์อื่นๆ ก็พาดหัวว่า ผบ.ทบ. ไม่รับประกันในการทำรัฐประหาร ต่อมา 18 ตุลาคม 2561 รายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ได้ตัดคลิปที่ ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ในท่อนที่ตอบนักข่าวว่า “หากการเมืองไม่เป็นเหตุจลาจล ก็ไม่มี” โดยนักข่าวได้ถามว่า “จะมีการรัฐประหารในอนาคตหรือไม่” ที่ผ่านมานั้น ไม่เคยมี ผบ.ทบ. คนไหนตอบคำถามแบบนี้ ปกติก็จะตอบชัดเจนว่า “ไม่มีการรัฐประหาร” ทั้งนั้น แม้แต่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ตอบแบบนั้น 
 
เอกชัยเบิกความต่อว่า เมื่อเห็นพล.อ.อภิรัชต์ ตอบแบบนั้น จึงคิดว่าเข้าข่ายความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 แล้ว เนื่องจากเป็นการขู่เข็ญว่า จะใช้กำลังประทุษร้ายต่อรัฐธรรมนูญ และในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผบ.ทบ. จะตอบว่า ไม่ แต่คนนี้ตอบไม่ชัดเจน จึงคิดว่า จะทำรัฐประหารได้ ต้องไปแจ้งความ หากเป็นคนอื่นพูด ก็จะไม่ไปแจ้งความ แต่เนื่องจากคนพูดเป็น ผบ.ทบ. และมีอำนาจในการดูแลกองกำลังทหาร มีลักษณะที่จะสามารถทำได้ 
 
เอกชัยเบิกความถึงการไปแจ้งความว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ช่วงก่อนเที่ยง เขาไปที่สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว เพื่อไปแจ้งความ และพนักงานสอบสวนได้บันทึกการสอบสวนไว้ ตอนแจ้งความได้นำคลิปจากช่อง 3 ในรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” และส่งมอบคำพูดในคลิปให้กับตำรวจ ซึ่งเป็นข้อความเดียวกับคลิปที่เป็นคำพูดของพล.อ.อภิรัชต์ ให้สัมภาษณ์นักข่าว ในการแจ้งความนั้น แจ้งความพล.อ.อภิรัชต์ ในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ในระหว่างการแจ้งความได้มีการเกลี้ยกล่อมไม่ให้แจ้งความ และได้ขอให้ตำรวจสอบคำให้การของวาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหารที่โพสต์เฟซบุ๊กข่าวที่พล.อ.อภิรัชต์ ให้สัมภาษณ์ และให้สอบคำให้การพล.อ.อภิรัชต์ เพิ่มเติม แต่ไม่มีเบอร์โทรศัพท์ของทั้งสองคน จึงไม่สามารถติดต่อได้ หลังจากนั้นก็ไม่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของคดีต่อว่าเป็นอย่างไร
 
เอกชัยเบิกความว่า การแจ้งความร้องทุกข์ก่อนมีการรัฐประหารต้องรีบทำ เนื่องจากยังไม่มีการทำรัฐประหารจริง และยังไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับคณะที่ทำรัฐประหาร และเหตุที่ไม่นำคดีไปฟ้องศาลเองเนื่องจากที่ผ่านมาการฟ้องคดีประเภทนี้ ศาลยกฟ้องตลอด เช่น ในกรณีของ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร โดยศาลเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้เสียหาย และเป็นความผิดต่อรัฐ เมื่อไปฟ้องเองศาลจึงยกฟ้อง และหลังจากไปแจ้งความร้องทุกข์ ก็ได้ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก พูดถึงประเด็นนี้ แต่ตำรวจได้ตัดคลิปถ่ายทอดสด เพื่อเป็นหลักฐานในข้อหาแจ้งความเท็จ ตัดคลิปเหลือเพียงคำพูดที่ว่า “ฟ้องไปศาลก็ไม่รับ” 
 
เอกชัยเบิกความเพิ่มเติมว่า การแจ้งความทำไปเพราะเห็นว่า ในรัฐธรรมนูญ 2550 เคยกำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาชนจึงต้องช่วยกันรักษาประชาธิปไตย
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามเอกชัยว่า เคยรู้รักจักพล.อ.อภิรัชต์ มาก่อนหรือไม่ เอกชัยตอบว่า ไม่เคยรู้จัก และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน รู้เพียงว่า วันที่ 1 ตุลาคม 2561 พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ได้ดำรงตำแหน่งผบ.ทบ.
 
เอกชัยเบิกความความถึงการถูกดำเนินคดีข้อหาแจ้งความเท็จว่า ได้ทราบว่า หลังจากที่ไปแจ้งความมีการยุติการดำเนินการในข้อหากบฏ หลังจากนั้นก็มีหมายเรียกในข้อหาแจ้งความเท็จมาแทน และถูกเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาก็ได้ไปรับฟังข้อกล่าวหาตามหมายเรียก เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาก็ได้ถามพนักงานสอบสวนแล้วว่า ข้อความใดเป็นข้อความเท็จ หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนในคดีได้ออกหมายเรียกพยานเพิ่มเติมอีกสามคน จนกระทั่งถูกส่งตัวดำเนินคดีจึงได้ทราบว่า ไม่มีการสอบสวนเพิ่มเติม 
 
ทนายจำเลยที่ 2 
 
ทนายจำเลยที่ 2 ถามเอกชัยว่า ในวันแจ้งความเดินทางไปกับใคร เอกชัยตอบว่า เดินทางไปแจ้งความกับ โชคชัย  จำเลยที่ 2 ส่วนที่ไปแจ้งความเพราะเห็นว่า การกระทำความผิดฐานกบฏเกิดแล้ว จึงไปแจ้งความในลักษณะขู่เข็ญ ซึ่งการขู่เข็ญก็ถือว่า เป็นความผิดตามมาตรา 113 แล้ว
 
อัยการถามค้าน
 
เวลา 14.07 น. อัยการเริ่มถามค้าน
 
อัยการถามว่า โพสต์ของวาสนา นาน่วม ที่ว่า “ไม่รับประกันว่าจะรัฐประหาร” พล.อ.อภิรัชต์ ไม่ได้พูดใช่หรือไม่ เอกชัยตอบว่า ไม่ได้พูด เป็นคำพูดที่นักข่าวสรุปขึ้นมา 
 
อัยการถามว่า เหตุการณ์ที่มีการรัฐประหาร เพราะมีเหตุการจลาจล และมีปัญหาการทุจริตใช่หรือไม่ เอกชัยตอบว่า เมื่อปี 2549 และปี 2557 มีเหตุการณ์แบบนั้น แต่การรัฐประหารปี 2534 ไม่ใช่
 
อัยการถามต่อว่า ข้อความที่ว่า “ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีอะไร” พล.อ.อภิรัชต์ ไม่ได้พูดว่า “ถ้าเกิดจะรัฐประหาร” ใช่หรือไม่ เอกชัยตอบว่า ใช่ ไม่ได้พูดว่าจะทำ แต่อ่านรวมกันแล้วเข้าใจได้ว่า จะทำรัฐประหาร โดยเป็นความคิดเห็นของตัวเองที่คิดว่าจะทำได้
 
อัยการถามคำถามสุดท้ายว่า ตอนที่ไปแจ้งความนอกจากประโยค “ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีอะไร” มีข้อความอื่นอีกไหม เอกชัยตอบว่า ไม่มี
 
ทนายความจำเลยที่ 1 ถามติง
 
ทนายจำเลยที่ 1 เริ่มถามติง เวลา 14.15 น.
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามว่า ตอนที่ไปแจ้งความได้นำข้อความ “ไม่รับประกัน ว่าจะไม่รัฐประหาร” ไปแจ้งความด้วยหรือไม่ เอกชัยตอบว่า ไม่ได้มีการนำข้อความใดไปแจ้งความ เอาไปเฉพาะคลิปที่เอามาจากข่าว และคำพูดในคลิป
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามว่า การรัฐประหารนั้นเป็นการเข้าสู่อำนาจชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เอกชัยตอบว่า การรัฐประหารไม่ใช่การเข้าสู่อำนาจที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะใช้การรัฐประหารแก้การจราจล เอกชัยตอบว่า ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีกลไกตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามต่อว่าทราบหรือไม่ว่าตำแหน่งผบ.ทบ. มีอำนาจอะไร เอกชัยตอบว่า มีหน้าที่ในการคุมกำลังพลทั้งประเทศ คำพูดจึงมีโอกาสเป็นไปได้สูง
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามคำถามสุดท้ายว่า หลังจากแจ้งความในข้อหากบฏ มีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหน้าที่ปกติหรือไม่ เอกชัยตอบว่า มีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามปกติ
 
การสืบพยานจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นเวลาประมาณ 14.20 น. 
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 2 โชคชัย ไพบูลรัชตะ จำเลยที่ 2
 
เวลาประมาณ 14.25 น. เริ่มสืบพยานโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ จำเลยที่ 2 ศาลเริ่มให้โชคชัยสาบานตนทันที โชคชัยเบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 42 ปี ประกอบอาชีพค้าขาย 
 
ทนายจำเลยถามถึงสาเหตุที่ต้องไปแจ้งความ โชคชัยเบิกความว่า เหตุที่ต้องไปแจ้งความเนื่องจาก รู้ข่าวว่า ในการประชุมของผู้บังคับบัญชาของกองทัพบก พล.อ.อภิรัชต์ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นการรัฐประหาร โดยได้ฟังจากคลิปมีนักข่าวผู้ชายพูดเกริ่นนำก่อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งในอดีตเคยเป็น ผบ.ทบ. แล้วทำการรัฐประหาร และถามว่าพล.อ.อภิรัชต์ ในฐานะที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ผบ.ทบ. ในอนาคตจะมีการทำรัฐประหารหรือไม่ ซึ่งพล.อ.อภิรัชต์ ตอบว่า “ถ้าไม่มีเหตุอะไร ก็ไม่มีอะไร” จากประสบการณ์ส่วนตัวจึงคิดเอาเองว่า สิ่งที่ ผบ.ทบ. พูด แปลว่า เป็นการขู่ว่า จะทำการรัฐประหาร ถ้ามีการชุมนุม หรือมีเหตุการณ์ชุลมุนอีกในอนาคต 
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า ถ้าเป็นคนอื่นพูดจะแจ้งความหรือไม่ โชคชัยตอบว่า ไม่แจ้ง ที่แจ้งความเนื่องจากพล.อ.อภิรัชต์ เป็น ผบ.ทบ. คุมกำลังพลเป็นแสนๆ คน
 
โชคชัยเบิกความถึงวันที่ไปแจ้งความว่า ไปแจ้งความที่ สน.ลาดพร้าว พร้อมกับเอกชัย เนื่องจากเป็น สน. ที่ใกล้บ้านเอกชัย โดยได้นำหลักฐานไปแจ้งความประกอบไปด้วย เฟซบุ๊กของวาสนา นาน่วม, คลิปข่าวที่ ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ และไม่มีการเรียกพยานทั้งวาสนา นาน่วม และพล.อ.อภิรัชต์ มาให้การเพิ่มเติม
 
โชคชัยเบิกความต่อว่า หลังจากนั้นจึงถูกแจ้งข้อหาแจ้งความเท็จ โดยให้การปฏิเสธในชั้นตำรวจ และในชั้นศาลก็ให้การปฏิเสธ 
 
อัยการถามค้าน
 
อัยการไม่ถามค้านในพยานปากนี้
 
จบการสืบพยานจำเลยปากที่ 2 เวลาประมาณ 14.30 น. 
 
หลังจากนั้นศาลได้อ่านรายงานการพิจารณาคดี โดยแจ้งว่า ให้ยกเลิกวัดนัดสืบพยานในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 เนื่องจากคู่ความไม่ต้องการสืบพยานปากที่เหลือแล้วการสืบพยานในคดีจึงเสร็จสิ้น จึงนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 10 มิถุนายน 2562 
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
10 มิถุนายน 2562 ศาลแขวงพระนครเหนือ นัดอ่านคำพิพากษา
 
ศาลอ่านคำพิพากษาสรุปใจความได้ว่า เจตนาจำเลยทั้งสองไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 137 และ 172 ฐานแจ้งความเท็จ เนื่องจากข้อความที่จำเลยนำไปแจ้งความต่อ ผบ.ทบ. ข้อหากบฏนั้นมีสาระสำคัญตรงกับคำให้สัมภาษณ์ออกสื่อ 
 
ส่วนมาตรา 173 ที่ว่า หากไม่มีมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนว่ามีการกระทำความผิดนั้น ศาลเห็นว่าจำเลยมีความสนใจการเมืองและในทางประวัติศาสตร์ที่กองทัพบกทำรัฐประหารมาตลอด จึงทำให้จำเลยนำข้อความที่ ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์มาแจ้งความว่า อาจจะเป็นการขู่เข็ญ ไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งกองทัพ จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา