นาน วิน: ฟาร์มไก่ฟ้องแรงงานพม่า จากการเผยแพร่เรื่องถูกละเมิดสิทธิ

อัปเดตล่าสุด: 11/05/2563

ผู้ต้องหา

นาน วิน

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2561

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งประกอบกิจการฟาร์มไก่หลายแห่ง เป็นคู่ค้าที่ขายไก่ให้กับเบทาโกร ในการดำเนินคดีนี้มี ชาญชัย เพิ่มผล เป็นผู้รับมอบอำนาจ

สารบัญ

หนึ่งในคดีมหากาพย์ข้อพิพาทระหว่างฟาร์มไก่ ของบริษัท ธรรมเกษตร และลูกจ้างชาวพม่า นาน วิน หนึ่งในอดีตคนงานฟาร์มไก่ ออกมาเปิดเผยเรื่องราวโดยให้สัมภาษณ์ลงคลิปวีดิโอขององค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ และร่วมงานแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ถูกนายจ้างฟาร์มไก่ฟ้องฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

นาน วิน ขณะถูกดำเนินคดีอายุ 30 ปี เป็นหนึ่งในคนงานชาวพม่าที่เคยทำงานในฟาร์มเลี้ยงไก่ ของบริษัท ธรรมเกษตร ในจังหวัดลพบุรี เริ่มทำงานในฟาร์มไก่ของโจทก์ตั้งแต่ 11 มีนาคม 2556 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2559

 

 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำฟ้องคดีอาญาของบริษัท ธรรมเกษตร ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2561 ยื่นฟ้องคดีต่อ นาน วิน ต่อศาลอาญา ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการกระทำ คือ

 

1) เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 นาน วิน ได้เข้าร่วมงานสัมนาขององค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) จัดขึ้นที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) นาน วิน เป็นตัวแทนของคนงานขึ้นเวทีเล่าถึงสภาพการทำงานที่ต้องทำงานวันละ 20 ชั่วโมง และถูกนายจ้างข่มขู่ว่า หากเปิดเผยเรื่องจะต้องติดคุก 7 ปี และนาน วินยังได้แชร์คลิปถ่ายทอดสดงานดังกล่าวทางเฟซบุ๊กของตัวเอง

 

2) เมื่อเดือนตุลาคม 2560 นาน วิน ให้สัมภาษณ์ในคลิปวีดิโอความยาว 107 วินาที ขององค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) กล่าวว่า "ในเวลาเช้า จะเริ่มทำงาน 7.00 . และเราจะได้พักกินอาหารมื้อกลางวันเวลาเที่ยง จากกนั้นเราจะหยุดงานในเวลา 17.00 . แต่ถึงเวลา 19.00 . เราจะต้องเริ่มงานอีกครั้งไปจนถึง 05.00 . ซึ่งหนังสือเดินทางและเงินของเราถูกยึดไปหมด" ซึ่งโจทก์เห็นว่า เป็นความเท็จ

 

ในคำฟ้องบริษัท ธรรมเกษตร ยืนยันว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่เป็นความจริง โดยอ้างอิงถึงคำสั่งของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และศาลแรงงาน เพื่อพิสูจน์ว่า คนงานไม่ได้ทำงานตลอดเวลาตั้งแต่ 07.00-17.00 .และทำงานต่อในเวลา 19.00-05.00 . ต่อเนื่องกันโดยไม่ได้พักผ่อนเลย คดีนี้ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562

 

คำฟ้องของโจทก์ของให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 พร้อมกับขอให้ศาลพิพากษาให้ จำเลยออกค่าใช้จ่ายในการโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์สามฉบับ คือ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ติดต่อกันเป็นเวลาสามวัน และให้สั่งทำลายข้อมูลหมิ่นประมาทในระบบคอมพิวเตอร์ด้วย

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.3011.2561

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

การฟ้องร้องดำเนินคดีโดยธรรมเกษตรครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ผ่านมา ธรรมเกษตรเคยเป็นโจทก์ฟ้องแรงงานข้ามชาติจำนวน 14 คนเป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาท แจ้งข้อความอันเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จากกรณีที่ 14 แรงงานยื่นจดหมายร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวหาว่า ธรรมเกษตรละเมิด ...คุ้มครองแรงงาน จ่ายค่าแรงให้คนงานต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด  ไม่มีการจ่ายค่าล่วงเวลาและยังมีการยึดเอกสารประจําตัวของพวกเขารวมทั้งหนังสือเดินทาง  โดยศาลแขวงดอนเมืองได้ยกฟ้องคดีนี้ไปเมื่อ 11 กรกฎาคม 2561

 

เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2559 ธรรมเกษตรยังเคยฟ้องอานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยด้านสิทธิแรงงานในคดีหมิ่นประมาท และ ... การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ จากการโพสต์ทวิตเตอร์ อย่างน้อย20 ข้อความ เรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมและให้มีการชดเชยอย่างเพียงพอต่อคนงานข้ามชาติ 14 คน

 

อ่านเรื่องมหากาพย์ข้อพิพาท ระหว่างฟาร์มไก่แห่งนี้ กับกลุ่มแรงงานชาวพม่า ทั้งหมดได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/node/625

 

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

8 ตุลาคม 2561


บริษัท ธรรมเกษตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อนาน วิน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามมาตรา 326, 328 จากการร่วมแถลงข่าวที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) และแชร์คลิปงานแถลงข่าวบนเฟซบุ๊กของตัวเอง และการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสภาพการจ้างงานในคลิปวีดิโอความยาว 107 วินาทีที่ผลิตขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ยกเลิกการดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทต่อคนงานทั้ง 14 คน และส่งหมายเรียกไปยังนานวินว่า ศาลจะนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 21 ธันวาคม 2561

 

3 ธันวาคม 2561

 

สำนักงานฎหมายเอ็นเอสพี ซึ่งเป็นทนายความให้กับจำเลย โพสต์เฟซบุ๊กรายงานว่า ตามที่ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้องในวันนี้ เนื่องจากทนายความจำเลยเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นทนายความในวันนี้ ประกอบกับคดีมีรายละเอียดที่จะต้องศึกษาจำนวนมาก ทนายจำเลยจึงแถลงศาลขอเลื่อนคดีไป 1 นัด คู่ความไม่คัดค้าน ศาลอนุญาตให้เลื่อนการไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09:00 .

 

4 กุมภาพันธ์ 2562

 

ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง โดยฝ่ายโจทก์มีพยาน คือ ชาญชัย เพิ่มผล ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ มาเบิกความเพียงปากเดียว เมื่อเบิกความต่อศาลเสร็จแล้ว ศาลนัดให้มาฟังคำสั่งว่า จะรับฟ้องคดีนี้หรือไม่ในวันที่ 8 มีนาคม 2562

 

8 มีนาคม 2562

 

ศาลอาญามีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา โดยให้เหตุพอสรุปได้ว่า จำเลยกล่าวให้สัมภาษณ์ผ่านทางเว็บไซต์เฟซบุ๊กของตนเองโดยเผยแพร่ข้อมูลการถ่ายทอดสดบทสนทนาระหว่างการประชุมฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) ผู้ดำเนินรายการใช้ภาษาอังกฤษในการสัมภาษณ์โดยให้จำเลยเป็นผู้อภิปรายในฐานะแรงงานอพยพชาวเมียนมาร์

 

จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นภาษาพม่าซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ผมได้มาทำงานที่ฟาร์มไก่แห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรี ซึ่งหมายถึงโจทก์ ผมทำงานวันละ 20 ชม. เข้างาน 7 โมงเช้า ทำงานถึง 5 โมงเย็น และเข้างานอีกทีตอนหนึ่งทุ่ม และเลิกงานตอนตีห้าอีกวัน และทำงานโดยไม่มีวันหยุด ทำงานประมาณ 60-65 วัน ได้พักประมาณ 3 วัน นอกจากนั้น พาสปอร์ต เอกสารสำคัญต่างๆ ของพวกผมก็ถูกยึดไปทั้งหมด หลังจากทางเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานมาช่วย ทางเครือข่ายโพสต์เรื่องของพวกผมทางเฟซบุ๊ก นายจ้างกล่าวหาพวกผมไปกดไลค์และแชร์ต่อ โจทก์บอกว่า พวกผมไม่มีสิทธิไปทำเช่นนั้น หากพวกผมทำอีกจะถูกจำคุก 7 ปี แล้วให้พวกผมลงลายมือชื่อเป็นคำมั่นสัญญาไว้ด้วย แต่นายจ้างกลับโกหกและกล่าวหมิ่นประมาท ถูกดำเนินคดีแบบนี้ พวกผมจะกลับบ้าน กลับประเทศก็ไม่ได้ เจอปัญหาอีกมากมาย

 

แต่ปรากฏจากคำเบิกความของ กิ่งดาว สีสาวแห เจ้าพนักงานตรวจสอบแรงงานที่เบิกความในคดีอื่นว่า อธิบดีกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า การกระทำของโจทก์ไม่เข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์ ไม่มีการยึดพาสปอร์ต และไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงานเกินไป นอกจากนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้วินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่า เนื่องจากระบบเลี้ยงไก่ของโจทก์เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึงระบบเปิดปิดไฟให้ความสว่างอัตโนมัติภายในโรงเรือนที่ต้องทำตามมาตรฐานที่คู่ค้าสหภาพยุโรปได้กำหนดไว้ โดยแต่ละวันจะต้องให้ไก่มีเวลาพักช่วงกลางคืน 8 ชม. ฉะนั้นในเวลาดังกล่าวจำเลยไม่สามารถเข้าทำงานได้

 

อีกประเด็นที่จำเลยกล่าวหาว่าถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง และโจทก์ยึดเอกสารประจำตัวของจำเลยกับพวก ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยมีการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรหลายครั้ง และมีสมุดเงินเชื่อร้านค้าที่ตั้งอยู่รอบๆ ฟาร์มของโจทก์ด้วย คณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงมีความเห็นว่า โจทก์มิได้จัดให้จำเลยทำล่วงเวลา และไม่ปรากฏว่ามีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องนี้

 

อีกทั้งจำเลยกับพวกให้การต่อพนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตอนหนึ่งว่า นายจ้างกำหนดให้ ทั้ง 14 คนทำงานสัปดาห์ละ 7 วัน ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ เวลาทำงานเริ่ม 7.00 ถึง 17.00 . เวลาพัก 12.00 ถึง 13.00 . หลังจากนั้นจะให้ลูกจ้างเข้าไปทำงานอีกครั้งเวลา 19.00 นาฬิกา และลูกจ้างได้นอนพักเวลา 22.00 นาฬิกา ถึง 3.00 . โดยไม่มีการทำงานในเวลาดังกล่าวตามบันทึกถ้อยคำกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

 

เห็นได้ว่าคำสัมภาษณ์ของจำเลยขัดต่อความจริง การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง คดีของโจทก์จึงมีมูล

 

ศาลสั่งนัดพร้อม สอบคำให้การในคดีนี้วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 โดยก่อนถึงวันดังกล่าว จำเลยต้องหาหลักทรัพย์มาวางต่อศาล เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดี

 

15 พฤษภาคม 2562

 

นาน วิน ต้องเดินทางจากที่อยู่ในจ.สมุทรสาครมาศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ เพื่อมารายงานตัวและยื่นคำร้องขอประกันตัวก่อนการพิจารณาคดีนี้จะเริ่มขึ้น ศาลสั่งอนุญาตให้ประกันตัวโดยต้องวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 100,000 บาท

 

 

24 พฤษภาคม 2562

 

วันนี้ศาลนัดทั้ง นาน วิน และสุธารี มาศาลพร้อมกันแต่นัดแยกกันเป็นคนละห้องและคนละคดี นาน วิน ต้องไปที่ห้องพิจารณาคดี 903 ส่วนสุธารี ต้องไปที่ห้องพิจารณาคดี 812 โดยมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนกว่า 20 คน ตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน (OHCHR) รวมทั้งตัวแทนจากสถานทูตเยอรมนี สถานทูตสวีเดน และสถานทูตลักเซมเบิร์ก และสถานทูตสหภาพยุโรป มาสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งผู้สังเกตการณ์ต่างก็แยกกันไปทั้งสองห้อง

 

ที่ห้องพิจารณาคดี 903 ชาญชัย เพิ่มผล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ทนายความโจทก์ ทนายความจำเลย จำเลย เจ้าหน้าที่ล่ามจากเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ มาถึงศาลในนัดประชุมคดีตรวจพยานหลักฐาน แต่เมื่อก่อนเริ่มพิจารณาคดีชาญชัย เดินย้ายไปห้องพิจารณาคดีที่ 812

 

เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ ศาลถามว่า จำเลยจะเอาอย่างไร จะสู้คดีเหรอ? ทนายตอบว่า คุยกันแล้วว่า จะสู้คดี และก็สู้มาหลายศาลแล้ว ศาลถามว่า แต่ศาลอื่นแพ้? ทนายตอบว่า ศาลแรงงานก็พิพากษาให้จ่ายค่าชดเชย และศาลแขวงดอนเมืองก็ยกฟ้องมาแล้ว

 

ศาลสรุปคำฟ้องให้จำเลยฟังสั้นๆ ผ่านล่ามจากเครือข่ายฯ และถามคำให้การ จำเลยตอบปฏิเสธและขอต่อสู้คดี ศาลยังถามว่า คนที่มาสังเกตการณ์เป็นใคร และขอจดชื่อพร้อมตำแหน่งไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา

 

จากนั้นศาลก็ปรึกษาว่า จะรวมคดีนี้เข้ากับคดีของสุธารีหรือไม่? ทนายจำเลยเห็นด้วย ศาลจึงให้รอการรวมคดีเข้ากับคดีจากห้องพิจารณาคดีที่ 812 ซึ่งยังดำเนินการไม่เสร็จ

 

ระหว่างการรอการรวมคดี ศาลก็พูดคุยกับคู่ความอย่างเป็นกันเอง โดยถามว่า มีคนพม่าเข้ามาอยู่ในประเทศไทยกี่แสนหรือกี่ล้านคน ล่ามตอบว่า ประมาณสี่ล้าน ศาลก็ทำหน้าตกใจและกล่าวว่าสี่ล้านเป็นได้อีกประเทศนึงเลยและพื้นที่ก็มีมากกว่า ทรัพยากรก็มีมากกว่าเรา มากันทำไม?”

 

หลังรออยู่สักพัก ศาลก็ขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อตรวจพยานหลักฐานไปก่อน ทนายโจทก์ขอเดินไปปรึกษากับทนายอีกห้องสักพัก ก่อนที่จะเดินกลับมา เมื่อศาลถามว่า จะสืบพยานกันกี่ปาก ทนายโจทก์แถลงว่า มีสองปาก คือ ชาญชัย กับผู้แปล ขอใช้เวลาสืบพยานหนึ่งนัด ด้านทนายจำเลยแถลงว่า มีพยาน 13 ปาก คือ สุธารี คนงานที่ทำงานด้วยกันกับจำเลย และเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ขอใช้เวลาสืบพยานสามนัด

 

ศาลถามว่า ล่ามในคดีนี้จะให้ใช้อย่างไร ฝ่ายจำเลยพร้อมนำล่ามมาแปลเอง แต่ทนายโจทก์ขอให้ใช้ล่ามของศาล เพื่อจะได้ไม่มีปัญหา ศาลถามเรื่องเกี่ยวกับพยานเอกสาร ทั้งสองฝ่ายบอกว่า ขอใช้เอกสารตามที่ส่งเข้ามาแล้วในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง

 

หลังจากนั้นศาลรอให้สุธารี จำเลยจากอีกห้องหนึ่งมาร่วมฟังการพิจารณาคดี และอ่านรายงาน เพราะถือว่า สั่งรวมคดีเข้าด้วยกันแล้ว แต่รออยู่จนเลยเวลา 11.15 . ก็ยังไม่มา ศาลจึงอ่านรายงานกระบวนพิจารณาไปก่อน ศาลระบุว่า จำเลยต่อสู้คดีโดยอาศัยข้อยกเว้นว่า แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามมาตรา 329 และยังเขียนไว้ท้ายรายงานด้วยว่า คดีนี้เป็นคดีสำคัญ ให้รายงานอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทราบ

 

คู่ความสองฝ่ายตกลงวันนัดสืบพยานกันเป็นวันที่ 18-21 กุมภาพันธ์ 2563

 

 

18 – 21 กุมภาพันธ์ 2563
 
ศาลาอาญานัดสืบพยานในคดีอาญา ที่บริษัท ธรรมเกษตร ฟ้อง นาน วิน และสุธารี โดยในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ โจทก์ จำเลย ทนายโจกท์ และทนายจำเลยมาถึงห้องพิจารณาคดี ในห้องพิจารณาคดีมีผู้มาร่วมสังเกตการณ์คดีประมาณ 20 คน โดยมีตัวแทนจากสถานทูตเนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ ส่วนองค์กรระหว่างประเทศมีตัวแทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) และมีตัวแทนจากองค์กรต่างๆ เช่น Article 19, ICJ, Amnesty International, FIDH, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ
 
การสืบพยานในวันนี้เป็นการสืบพยานผู้จัดการทั่วไป ของบริษัทธรรมเกษตร และเป็นผู้รับมอบอำนาจในการฟ้องคดีนี้ การสืบพยานเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 09.20 น. และเสร็จสิ้นการสืบพยานในเวลาประมาณ 11.50 น.
 
หลังจากนั้นทนายโจทก์แถลงต่อศาลว่าพยานโจทก์อีกคนซึ่งเป็นล่ามแปลภาษาไม่สามารถมาศาลได้ในวันนี้จึงขอตัดพยานโจทก์ออก และให้ทำการสืบพยานจำเลยได้เลย ศาลจึงอนุญาตให้สืบพยานจำเลยในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 โดยนัดสืบพยานจำเลย 2 ปาก คือ จำเลยที่ 1 นาน วิน และจำเลยที่ 2 สุธารี ในช่วงเวลา 09.00 น. – 16.00 น. 
 
 
31 มีนาคม 2563
 
 
ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษา แต่เลื่อนออกไปเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เป็นวันที่ 27 เมษายน 2563 และเลื่อนออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 8 มิถุนายน 2563
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา