งามศุกร์: ฟาร์มไก่ฟ้องนักวิชาการ ม.มหิดล เผยแพร่ลิงก์สิทธิแรงงานพม่า

อัปเดตล่าสุด: 22/09/2564

ผู้ต้องหา

งานศุกร์ รัตนเสถียร

สถานะคดี

ศาลไม่รับฟ้อง

คดีเริ่มในปี

2562

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งประกอบกิจการฟาร์มไก่หลายแห่ง เป็นคู่ค้าที่ขายไก่ให้กับเบทาโกร ในการดำเนินคดีนี้มี ชาญชัย เพิ่มผล เป็นผู้รับมอบอำนาจ

สารบัญ

หนึ่งในมหากาพย์คดีข้อพิพาทระหว่างฟาร์มไก่ ของบริษัท ธรรมเกษตร และลูกจ้างชาวพม่า งามศุกร์ รัตนเสถียร นักวิชาการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ถูกกล่าวหาว่า ‘หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา’ จากการเผยแพร่บทความและลิงก์ที่นำไปสู่คลิปวิดีโอบนเฟซบุ๊กเพจของสถาบัน มีเนื้อหากล่าวถึงการละเมิดสิทธิแรงงงานในฟาร์มไก่ 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

งามศุกร์ รัตนเสถียร เป็นอาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำฟ้องคดีอาญาของบริษัท ธรรมเกษตร จำกัด โดย นายชาญชัย เพิ่ลผล เป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อ งามศุกร์ รัตนเสถียร ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โดยระบุการกระทำ คือ 
 
 
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 งามศุกร์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการเพจเฟซบุ๊ก (Facebook Fanpage) ที่ชื่อว่า “สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล” โพสต์บทความภาษาอังกฤษชื่อ “#Thailand: End Judicial Harassment of Human Rights Defenders Nan Win and Sutharee Wannasiri” ซึ่งภายในบทความนั้นได้มีการแนบลิงก์ เมื่อคลิกไปแล้วได้ส่งต่อไปยังหน้าเว็บไซต์ยูทูบ ที่มีคลิปวิดีโอสัมภาษณ์แรงงานโดยองค์กรฟอร์ตี้ฟาย ไร้ท์ (Fortify Rights) โดยในคลิปดังกล่าวมีการให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ ที่กล่าวถึงการทำงานหนักของแรงงาน การไม่มีเวลาหยุดพักผ่อน รวมถึงการถูกยึดหนังสือเดินทางจากนายจ้าง 
 
โดยย้อนไปเมื่อเดือนตุลาคม 2560 นาน วิน หนึ่งในคนงานชาวพม่า ให้สัมภาษณ์ในคลิปวิดีโอความยาว 107 วินาที ขององค์กรฟอร์ตี้ฟาย ไร้ท์ (Fortify Rights) กล่าวว่า "ในเวลาเช้า จะเริ่มทำงาน 7.00 น. และเราจะได้พักกินอาหารมื้อกลางวันเวลาเที่ยง จากกนั้นเราจะหยุดงานในเวลา 17.00 น. แต่ถึงเวลา 19.00 น. เราจะต้องเริ่มงานอีกครั้งไปจนถึง 05.00 น. ซึ่งหนังสือเดินทางและเงินของเราถูกยึดไปหมด" ซึ่งโจทก์เห็นว่า ข้อความเหล่านี้เป็นความเท็จ
 
ในคำฟ้องบริษัท ธรรมเกษตร ยืนยันว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่เป็นความจริง โดยอ้างอิงถึงคำสั่งของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และศาลแรงงาน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีรายงานผลการตรวจสอบและพบว่า คนงานไม่ได้ทำงานตลอดเวลาตั้งแต่ 07.00-17.00 น.และทำงานต่อในเวลา 19.00-05.00 น. ต่อเนื่องกันโดยไม่ได้พักผ่อนเลย นอกจากนั้น ยังมีรายงานจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า แรงงานมีการใช้หนังสือเดินทางเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งรั้วของฟาร์มไก่ยังเป็นเพียงเสาไม้เตี้ยๆ ล้อมไว้ หากแรงงานจะหนีก็สามารถทำได้โดยง่าย ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงเห็นว่า บริษัท ธรรมเกษตร ไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด จึงทำให้บทความและคลิปวิดีโอที่งามศุกร์เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล” เป็นความเท็จ
 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.1133/2562

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
1 พฤษภาคม 2562 
 
บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด โดย นายชาญชัย เพิ่มพล เป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ยื่นฟ้อง งามศุกร์ รัตนเสถียร ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามมาตรา326, 328 จากการเผยแพร่บทความและลิงก์วิดีโอเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานชาวพม่า ซึ่งเป็นคลิปที่สัมภาษณ์โดยองค์กรฟอร์ตี้ฟาย ไร้ท์ ความยาว 107 วินาที บนเฟซบุ๊กแฟนเพจ “สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล” ซึ่งทางบริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ได้แสดงหลักฐานพิสูจน์ว่าข้อมูลทั้งหมดเป็นความเท็จ โดยศาลจะนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร

 

 

1 กรกฎาคม 2562
 
ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้อง โดยฝ่ายโจทก์มีทนายความมาศาลพร้อมกับชาญชัย เพิ่มผล ผู้รับมอบอำนาจ งามศุกร์ เดินทางมาศาลเองในวันนี้พร้อมกับทีมทนายความ และมีเพื่อนๆ กับลูกศิษย์ติดตามมาให้กำลังใจมากว่า 20 คน ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 9.55 และแจ้งว่า ศาลได้รับคำร้องจากทนายจำเลยที่อ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161/1 เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ขอให้ศาลยกฟ้อง ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดียังไม่ยุติ คู่ความต้องนำสืบพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงให้เห็นก่อน ศาลต้องการฟังพยานฝ่ายโจทก์ จะขอรอไว้สั่งเรื่องนี้ในภายหลัง และให้ฝ่ายโจทก์ทำพยานเข้าสืบ
 
ทนายโจทก์แจ้งว่า ในชั้นนี้มีพยานปากเดียว คือ ชายชัญ เพิ่มผล และขอนำเข้าสืบ ชาญชัยเบิกความว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากกรณีข้อพิพาทด้านแรงงาน บริษัทโจทก์ประกอบธุรกิจฟาร์มไก่ ที่จังหวัดลพบุรี มีลูกจ้างชาวพม่า 14 คน มีหน้าที่ดูแลไก่ 13 คนและเป็นแม่บ้าน 1 คน ลูกจ้างต้องดูแลไก่ตามระเบียบของนายจ้าง ตามมารตรฐานสินค้าเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การเข้าออกฟาร์มต้องบันทึกลงเวลาทุกครั้ง และต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของคู่ค้าในต่างประเทศ โดยมีชั่วโมงมืดให้ไก่ได้นอนพัก ซึ่งจะทำอะไรในฟาร์มไม่ได้เลย
 
ชาญชัยเล่าว่า เหตุพิพาทเกิดจากกลุ่มแรงงานได้ร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานให้เข้ามาเจรจากัน และพนักงานตรวจแรงงานได้สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยเพิ่ม 1.7 ล้านบาท แต่กลุ่มแรงงานภายใต้การดูแลของกลุ่มบุคคลหนึ่ง ยังคงทำหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และเพิ่มข้อกล่าวหาเข้ามา เช่น กล่าวหาว่า โจทก์ให้ทำงานโดยไม่ได้พักผ่อน และแรงงานถูกกักขังไม่ได้ออกจากฟาร์ม ออกไปเพียงสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง และยังถูกยึดหนังสือเดินทางกับเอกสารประจำตัว โดยไปยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานให้โจทก์ต้องจ่ายเงิน 44 ล้านบาท และต่อมา กสม. ก็เห็นว่า ไม่มีการละเมิดสิทธิดังกล่าว ให้โจทก์เพียงแค่จ่ายค่าชดเชยเพิ่มตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้น
 
เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 มีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเพจของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการแชร์โพสต์จากเฟซบุ๊กเพจของกลุ่มของกลุ่ม Fortify Rights ซึ่งเป็นบทความภาษาอังกฤษ เมื่อคลิกเข้าไปอ่านข้อความจะเป็นเนื้อหาที่เป็นตัวหนังสือ 5 หน้า มีคำว่า 107_secons film ขึ้นเป็นสีเขียว ซึ่งเมื่อคลิกเข้าไปแล้วจะไปยังวีดีโอบนยูทูป ชื่อว่า Drop Criminal Defamation Charges Against Migrants Workers ของกลุ่ม Fortify Rights ปรากฏข้อความเป็นภาษาอังกฤษเป็นบทสัมภาษณ์คนงาน ชื่อ นาน วิน แปลได้ว่า เราต้องทำงานตั้งแต่เวลา 7.00 – 17.00 น. และ 19.00 – 05.00 น. โดยไม่มีวันหยุด ซึ่งหนังสือเดินทางและเงินของเราถูกยึดไปหมด คนที่อ่านเข้าใจว่า โจทก์ละเมิดสิทธิแรงงานอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นความเท็จ
 
หลังจากพบเห็นโพสต์ ชาญชัยจึงเดินทางไปที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พบกับผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และตรวจสอบพบว่า งามศุกร์ รัตนเสถียร เป็นคนโพสต์ จึงได้พูดคุยกัน ชาญชัยแจ้งว่า ทางบริษัทโจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องปิดฟาร์มเพราะทำธุรกิจไม่ได้ เมื่อจ่ายค่าชดเชยตามที่ศาลแรงงานสั่งแล้วก็ต้องการกลับมาทำธุรกิจต่อ แต่กลุ่ม Fortify Rights ยังทำคลิปวีดีโอนี้ขึ้นมาอีก ทำให้ไม่สามารถกลับมาทำธุรกิจได้เป็นปีที่สามแล้ว งามศุกร์รับว่า ได้แชร์โพสต์ดังกล่าวจริง แต่ไม่ลบ เพื่อให้เป็นกรณีศึกษา
 
ชาญชัยยังบอกด้วยว่า มีกลุ่มคนที่บิดเบือนข้อมูล เพื่อโจมตีอุตสาหกรรมส่งออกของไทย ตอนแรกก็โจมตีอุตสาหกรรมผลไม้กระป๋อง ต่อมาก็อุตสาหกรรมส่งออกไก่ แต่ว่าบุคคลที่เป็นต้นเรื่องหนีไปต่างประเทศแล้ว ทำให้ธุรกิจไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งศาลแจ้งว่า ในส่วนนี้เป็นความคิดเห็นของโจทก์ให้ทำคำแถลงมายื่นต่อศาลได้ แต่ในการเบิกความขอให้นำสืบเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคดีนี้
 
ชาญชัย เบิกความด้วยว่า เชื่อว่า งามศุกร์ได้ทราบรายละเอียดของเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น เพราะทางสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา เคยมอบรางวัลให้กับแรงงานทั้ง 14 คน ทั้งแต่ปี 2560 เมื่อศาลพิจารณาเอกสาร ศาลกล่าวว่า อันนี้เป็นรางวัลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชาญชัยอธิบายว่า มีตราสัญลักษณ์ของสถาบันอยู่ด้วย และงามศุกร์เป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบัน จึงเชื่อว่า ต้องรู้เรื่องอยู่แล้ว และนอกจากคดีนี้ก็ยังได้ยื่นฟ้องต่อ นาน วิน คนงานที่ให้สัมภาษณ์และสุธารี เจ้าหน้าที่องค์กร Fortify Rights ที่เป็นผู้แชร์คลิปดังกล่าวด้วย
 
ทนายความของงามศุกร์ถามค้านว่า บทความที่มีการแชร์ในคดีนี้เป็นการเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อนาน วิน และสุธารี ใช่หรือไม่ ชาญชัยตอบว่า ใช่ และในบทความดังกล่าวไม่มีข้อความใดเป็นการหมิ่นประมาทใช่หรือไม่ ตอนแรกชาญชัยตอบว่า ไม่ได้อ่านอย่างละเอียด ศาลจึงให้อ่านอีกครั้ง และชาญชัยตอบว่า ไม่มี ทนายถามด้วยว่า ในบทความดังกล่าวไม่มีข้อความเชิญชวนให้คนคลิกเข้าไปดูคลิปวีดีโอใช่หรือไม่ ชาญชัยตอบว่า ใช่
 
หลังสืบพยานมาถึงเวลาประมาณ 11.45 น. ศาลแจ้งว่า เป็นเวลาใกล้เที่ยงแล้วและศาลมีนัดไต่สวนมูลฟ้องอีกคดีหนึ่งช่วงบ่าย หากคู่ความต้องการสืบพยานปากนี้ต่อช่วงบ่าย ก็ให้รออีกคดีหนึ่งเสร็จก่อนซึ่งยังไม่แน่ว่า จะเสร็จกี่โมง ทนายของงามศุกร์จึงขอให้ไปสืบพยานปากนี้ต่อในนัดหน้า ทุกฝ่ายตกลงเวลานัดที่ว่างตรงกันเป็นวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2562 เวลา 13.00 น.
 

5 สิงหาคม 2562
 
นัดไต่สวนมูลฟ้อง (สืบพยานโจทก์ปากแรกต่อจากนัดที่แล้ว)
 
คู่ความมาถึงห้องพิจารณาคดีที่ 714 ก่อนเวลา โดยมีผู้ติดตามมาให้กำลังใจงามศุกร์ประมาณ 20 คน รวมทั้งผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนศึกษา ม.มหิดล, ตัวแทนจากสถานทูตออสเตรเลีย และตัวแทนจากสำนักงานข้าหลวงสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ (OHCHR)
 
เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 13.50 ก็ให้ชาญชัย เข้าเบิกความต่อทันที โดยเป็นการถามค้านของทนายความจำเลย ต่อจากนัดที่แล้ว ทนายเริ่มถามว่า พยานสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ใช่หรือไม่ ชาญชัยรับว่า ใช่ ทนายความถามต่อว่า เนื้อหาของคลิปวีดีโอที่มีปัญหา เป็นการเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีอาญาต่อคนงานพม่า ใช่หรือไม่ ชาญชัยรับว่า ใช่ และข้อความที่ปรากฏในเว็บไซต์ขององค์กรฟอร์ตี้ฟาย ไร้ท์ ย่อหน้าสุดท้ายที่มีคำว่า 107_seconds film หากผู้อ่านไม่ได้คลิกที่ลิงก์ก็จะไม่ทราบเนื้อหาในคลิปวีดีโอใช่หรือไม่ ชาญชัยรับว่า ใช่
 
เนื่องจากในคลิปดังกล่าวใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ชาญชัยเบิกความว่า คำแปลที่ใช้ในการยื่นฟ้องเอามาจากนักแปลอาชีพ ซึ่งในเอกสารคำแปลไม่ได้ปรากฏชื่อคนแปล ปรากฏเพียงชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด โมเดิร์น พับบลิชชิ่ง ทนายความถามว่า พยานรับรองไม่ได้ใช่หรือไม่ว่า คำแปลถูกต้องทั้งหมด ชาญชัยรับว่า ใช่
 
หลังจากนั้นทนายความถามถึงสภาพการทำงานในฟาร์มไก่ ชาญชัยเล่าว่า ลูกจ้างหนึ่งคนจะดูแลโรงเรือนหนึ่งหลัง ขนาด 20×120 เมตร ไก่หนึ่งรุ่นจะมี 28,000-30,000 ต่อโรงเรือนหนึ่งหลัง ลูกจ้างต้องเริ่มงานเวลา 8.00 และออกในเวลา 17.00 โดยมีพักกลางวัน 12.00-13.00 การเข้าออกฟาร์มทุกครั้งต้องตอกบัตรลงเวลาไม่ว่าจะเข้าไปทำงานหรือไม่ เวลากลางคืนไม่มีการทำงานเนื่องจากเป็น "ชั่วโมงมืด" ที่ต้องปิดไฟให้ไก่พักผ่อน บริษัท เบทาโกร ลูกค้าที่ซื้อไก่มีข้อแนะนำการเลี้ยงไก่ให้ฟาร์มต้องปฏิบัติตาม การเลี้ยงไก่เนื้อใช่เวลาประมาณ 40 วัน ในช่วงอายุไก่แรกเกิด มีชั่วโมงปิดไฟ 1 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงสามวันก่อนจับ มีชั่วโมงปิดไฟ 1 ชั่วโมงต่อวัน ระหว่างนี้ลูกจ้างต้องทำงานไม่มีวันหยุด
 
ในช่วงที่ไม่มีไก่ จะพักฟาร์ม สามวันแรกลูกจ้างได้หยุดโดยไม่ต้องทำงานและไม่ต้องตอกบัตร ส่วนวันที่ 4-30 ต้องแสดงตัวมาตอกบัตรเข้างานตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. เพื่อรับค่าจ้าง กลางคืนไม่ต้องไม่ต้องทำงาน ในระหว่างนี้ต้องทำงานประมาณ 10 วัน คือ การทำความสะอาดเล้า อุปกรณ์ให้น้ำ ให้อาหาร ระหว่างช่วงที่มีผู้ซื้อขี้ไก่มาเก็บขี้ไก่ออก และช่วงที่คนขายแกลบนำแกลบเข้ามาในฟาร์ม ลูกจ้างก็ไม่ต้องทำงาน
 
ชาญชัย รับว่า พนักงานตรวจแรงงานเคยสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย เพราะจ่ายค่าจ้างไม่ถูกต้อง โดยพนักงานตรวจแรงงานเชื่อว่า ลูกจ้างต้องทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด ต่อมามีการฟ้องร้องคดีกันที่ศาลแรงงาน และคดีถึงที่สุดแล้ว ชาญชัยยังเคยฟ้องคนงานทั้ง 14 คน ต่อศาลแขวงดอนเมือง ฐานหมิ่นประมาทและแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 13 ที่ถูกฟ้องในคดีนั้น คือ นาน วิน เป็นคนเดียวกับที่ปรากฏในคลิปในคดีนี้
 
ทนายความถามว่า ข้อความที่มีการแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊ก ไม่ใช่ความคิดเห็นของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ใช่หรือไม่ ชาญชัยตอบว่า ใช่ ทนายความถามว่า คนที่มาแสดงความเห็นบนเฟซบุ๊ก ไม่เห็นด้วยกับการฟ้องคดีหมิ่นประมาท ส่วนจะทราบเนื้อหาในคลิปวีดีโอหรือไม่ พยานไม่ทราบใช่หรือไม่ ชาญชัยตอบว่า ใช่ ทนายถามต่อว่า คนที่กดไลค์เพจเฟซบุ๊กกว่า 16,000 คน จะได้รับชมคลิปหรือไม่ พยานก็ไม่ทราบใช่หรือไม่ ชาญชัยตอบว่า ใช่
 
ทนายความถามว่า ชาญชัยดำเนินคดีกับผู้ที่เผยแพร่ข้อความต่างๆ ทั้งหมดกี่คดี ชาญชัยตอบว่า จำไม่ได้ ในส่วนของนาน วิน ผู้ให้สัมภาษณ์ได้ถูกฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่ง และสุธารี ผู้ที่ถูกฟ้องอีกคดีหนึ่งจะถูกฟ้องจากการกระทำใด ชาญชัยก็จำไม่ได้ ปัจจุบันฟาร์มไก่ของโจทก์ไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว เพราะไม่มีคำสั่งซื้อจากลูกค้า
 
ตอบทนายความโจทก์ ถามติง
 
ชาญชัย อธิบายว่า บทความในเว็บไซต์ขององค์กรฟอร์ตี้ฟาย ไร้ท์ เมื่ออ่านโดยรวมแล้วทำให้สงสัยว่า เหตุของการฟ้องคดีหมิ่นประมาทมาจากไหน และเมื่อมีตัวอักษรสีแตกต่างกันให้คลิกไปยังคลิปวีดิโอได้ ก็เป็นการเชิญชวนให้ผู้อ่านกดเข้าไปดู ตามเอกสารคำแปลของผู้ประกอบอาชีพแปล มีคำรับร้องแล้วว่า คำแปลถูกต้อง คลิปวีดิโอในคดีนี้มีปรากฏว่า มีผู้เข้าชม 554 คน
 
ชาญชัยอธิบายด้วยว่า สาเหตุที่ต้องกำหนดให้คนงานตอกบัตรทุกครั้งที่เข้าออกฟาร์ม เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อโรค ก่อนมีไข้หวัดนกระบาดไม่มีมาตรการนี้ เป็นข้อตกลงภายในระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ระบบการควบคุมแสงไฟ การให้อาหาร ให้น้ำ การควบคุมอุณหภูมิในฟาร์ม เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมดควบคุมจากที่สำนักงาน ชาญชัยอ้างว่า ลูกจ้างเคยเบิกความรับถึงระบบการทำงานในฟาร์มเช่นนี้แล้ว พร้อมกับส่งเอกสารเป็นหลักฐานเพิ่มเติม และชาญชัยยังเล่าต่อว่า แม้ข้อแนะนำการเลี้ยงไก่จะกำหนดให้บางช่วงมีชั่วโมงมืดแค่ชั่วโมงเดียวต่อวัน แต่ไม่ได้หมายความว่า ลูกจ้างจะทำงาน 23 ชั่วโมง และนายจ้างไม่เคยยึดหนังสือเดินทางและเงินของลูกจ้าง โดยพนักงานตรวจแรงงานเคยสรุปกรณีนี้แล้วว่า ไม่ใช่การค้ามนุษย์ ไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงานนานเกินไป พร้อมส่งเอกสารหลักฐานประกอบเพิ่มเติม
 
ศาลอธิบายว่า การส่งเอกสารควรจะต้องส่งเข้ามาในคำฟ้องหรือเมื่อพยานเบิกความครั้งแรกเพื่อจะให้ฝ่ายทนายจำเลยถามค้านได้ การมาส่งในชั้นถามติงถือว่า ไม่ถูกต้อง ถ้าหากฝ่ายโจทก์ยืนยันจะส่งศาลก็จะอนุญาตให้ส่งเอกสารเพิ่มได้ แต่ว่า ต้องอนุญาตให้ฝ่ายทนายจำเลยถามค้านเอกสารฉบับที่ส่งเข้ามาใหม่ด้วย ทนายโจทก์ยืนยันว่า จะส่งเอกสารเพิ่ม
 
ศาลอนุญาตให้ถามเพิ่ม
 
ทนายความถามจากเอกสารที่ฝ่ายโจทก์ส่งเพิ่มเข้ามา โดยถามว่า นาน วิน เคยบอกไว้ด้วยว่า ช่วงที่ปิดไฟในเล้า ลูกจ้างก็ยังต้องตรวจตราดูไม่ให้มีสัตว์มากินไก่ หรือมีคนขโมยไก่ ต้องคอยดูแลอาหารไก่ที่ลำเลียงตามสายพาน ใช่หรือไม่ ชาญชัยรับว่า ใช่ ทนายถามต่อว่า นาน วิน พูดในคลิปไม่ได้กล่าวหาว่า โจทก์ค้ามนุษย์ ใช่หรือไม่ ชาญชัยรับว่า ใช่ ในคดีของศาลแขวงดอนเมือง ศาลพิจารณาแล้วเชื่อว่า โจทก์เก็บเอกสารพาสปอร์ตของลูกจ้างเอาไว้ และคดีถึงที่สุดแล้วใช่หรือไม่ ชาญชัยรับว่า ใช่
 
หลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ทนายความจำเลยแถลงต่อศาลว่า จะขอส่งคำแถลงปิดคดีภายใน 1 เดือน ศาลอนุญาต และถามทนายความของโจทก์ว่า ต้องการส่งคำแถลงปิดคดีด้วยหรือไม่ ทนายโจทก์ตอบว่า จะขอส่งด้วย ภายในเวลาเท่าที่ศาลอนุญาต และอ่านรายงานกระบวนพิจารณาว่า ให้ทั้งสองฝ่ายส่งคำแถลงปิดคดีภายในวันที่ 5 กันยายน 2562 และนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 18 กันยายน 2562
 
 
18 กันยายน 2562
 
ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้อง มีใจความสรุปได้ว่า จำเลยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล พยานทราบข้อเท็จจริงจากผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาว่า จำเลยเป็นผู้แชร์โพสต์บทความขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไร้ท์ เห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำผู้อำนวยการสถาบันซึ่งเป็นบุคคลที่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยโดยตรงมาเป็นพยาน ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไม่ได้เห็นการกระทำของจำเลยในขณะเป็นผู้แชร์โพสต์ จึงเป็นเพียงพยานบอกเล่า ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226/3
p.p1 {margin: 0.0px 0.0px 0.0px 0.0px; font: 12.0px Thonburi} p.p2 {margin: 0.0px 0.0px 0.0px 0.0px; font: 12.0px ‘Helvetica Neue’; min-height: 14.0px} span.s1 {font: 12.0px ‘Helvetica Neue’}

 

ส่วนที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์อ้างว่า จำเลยยอมรับว่า จำเลยเป็นผู้แชร์โพสต์ลิงก์บทความนั้น พยานโจทก์ไม่มีคำรับของจำเลยเป็นหลักฐานแสดงต่อศาล ทั้งข้อสนับสนุนของพยานโจทก์ที่อ้างข้อมูลจากเฟซบุ๊กของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาที่มีการแชร์โพสต์นั้น ไม่มีข้อความใดแสดงว่า จำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้ดูแลเว็บไซต์ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการข้อมูลเว็บไซต์

 

เมื่อพิจารณาประกอบคำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ที่ยอมรับว่า ไม่ทราบว่าจำเลยมีขอบเขตหน้าที่รับผิดชอบในสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาอย่างไร และไม่ทราบว่า จำเลยมีหน้าที่ดูแลเว็บไซต์ของสถาบันดังกล่าวหรือไม่ พยานหลักฐานที่นำสืบจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้เผยแพร่ลิงก์บทความขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไร้ท์ลงบนเฟซบุ๊กของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามฟ้อง คดีของโจทก์จึงไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

 

22 กันยายน 2564

 

ทิตศาสตร์ สุดแสน ทนายความของงามศุกร์ โพสเฟซบุ๊กว่า ศาลฎีกา(ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง) มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ไม่รับฟ้องของโจทก์ เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้กระทำการเผยแพร่ลิงค์บทความและโพสต์ที่ว่าก็ไม่มีข้อความหรือเนื้อหาที่หมิ่นประมาทโจทก์ อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามฟ้อง คดีของโจทก์จึงไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา