“สิชล” : คดี 116 จากการโพสต์ภาพรัชกาลที่ 9

อัปเดตล่าสุด: 22/04/2563

ผู้ต้องหา

“สิชล”

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2561

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ในคดีนี้

สารบัญ

"สิชล" เป็นชื่อสมมติของจำเลยในคดีนี้ ที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่  26 กันยายน 2561 ตามหมายจับของศาลทหาร จากการโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่เก้า พร้อมแสดงความคิดเห็นประกอบ สองครั้ง เบื้องต้นเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า มีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 และถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำเรื่อยมา ต่อมาตำรวจสั่งไม่ฟ้องในข้อหานี้ เหลือเพียงข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีจึงย้ายจากศาลทหารไปศาลพลเรือน และเมื่อยื่นฟ้องคดี อัยการพลเรือนยื่นฟ้องในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย
 
 
ศาลอาญาพิพากษาว่า มีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และ (5) จำคุกสามปี มีเหตุให้ลดโทษตามมาตรา 65 ของประมวลกฎหมายอาญา ลดโทษจำคุกหนึ่งในสาม คงโทษจำคุกสองปี
 
 
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

“สิชล” เป็นชื่อสมมติของจำเลยในคดีนี้ ขณะถูกจับกุมอายุ 28 ปี อาชีพรับจ้าง
 
"สิชล" เคยมีประวัติการรักษาอาการทางจิตที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งปิดตัวไปแล้ว จึงไม่สามารถตามหาประวัติการรักษาได้
 
 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (5) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ในคำฟ้องที่อัยการยื่นต่อศาล ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2559 จำเลยใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวโพสต์ภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่เก้า ซึ่งมีข้อความบนภาพเป็นพระราชดำรัส และตั้งค่าเผยแพร่เป็นสาธารณะพร้อมกันพิมพ์ข้อความ แสดงความคิดเห็นต่อพระราชดำรัสดังกล่าวด้วยถ้อยคำสุภาพ
 
และเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 จำเลยใช้เฟซบุ๊กส่วนตัว โพสต์ภาพถ่ายรายการจดทะเบียนรถยนต์ระบุชื่อ “พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลชเดชฯ” พร้อมพิมพ์ข้อความประกอบ ในเชิงล้อเล่นว่า หากเจอตำรวจ ตำรวจจะไม่กล้าทำอะไรเลย
 
ในคำฟ้องระบุว่า เมื่อบุคคลทั่วไปได้เห็นภาพและอ่านข้อความดังกล่าวแล้ว เห็นว่า การกระทำดังกล่าวมีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันอันเป็นที่เคารพบูชา และเป็นศูนย์รวมใจของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง เกียรติคุณ อันเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดเชื่อไปตามที่จำเลยลงภาพและพิมพ์ข้อความ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา
 
การลงข้อความไว้บนเฟซบุ๊ก ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถอ่านข้อความและภาพดังกล่าวได้ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิด เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
 
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3), (5) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
 
 
 
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

"สิชล" ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561 เวลาประมาณ 13.30 ตามหมายจับเลขที่ 23/2559 ของศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 5 เมษายน 2559

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.3406/2561

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
26 กันยายน 2561
 
'สิชล' ถูกตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จับกุม บริเวณถนนลาดพร้าว และพาตัวไปที่ บก.ปอท. ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา ในชั้นสอบสวน "สิชล" ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ "สิชล" ถูกคุมขังอยู่ที่ สน.ทุ่งสองห้องเป็นเวลาสองวัน
 
 
28 กันยายน 2561
 
“สิชล” ถูกพาตัวไปที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อขออำนาจศาลฝากขังครั้งที่หนึ่ง โดยพนักงานสอบสวนจาก ปอท. ยื่นคำร้องต่อศาลทหารขอฝากขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวน เป็นเวลา 12 วัน ศาลทหารกรุงเทพสั่งอนุญาตให้คุมตัวผู้ต้องหาไว้ “สิชล” จึงถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
 
14 พฤศจิกายน 2561
 
ในวันครบกำหนดการฝากขังครั้งที่สี่ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะควบคุมตัวจำเลยไว้ได้ พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการโดยมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องมาตรา 112 แต่สั่งฟ้องในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่ออัยการทหารพิจารณาแล้ว เห็นว่า เมื่อสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 112 คดีจึงเหลือเพียงข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งอัยการทหารและศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าว อัยการทหารจึงคืนสำนวนคืนให้กับพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอยกเลิกการฝากขังต่อศาลทหาร โดยนำสำนวนไปยื่นฟ้องและขอฝากขังที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก แทน
 
พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด ทำสำนวนฟ้องคดีในวันเดียวกัน โดยสำนวนคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา อัยการยื่นฟ้องจำเลยในการกระทำเดียวกับที่ถูกตั้งข้อกล่าวหามาตั้งแต่ต้น แต่เพิ่มข้อหาว่า เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ฐานยุยุงปลุกปั่นด้วย
 
 
16 พฤศจิกายน 2561
 
ทนายความของ "สิชล" ยื่นอคำร้องขอประกันตัวต่อศาลอาญา ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวโดยวางเงินสด 20,000 บาท พร้อมติดกำไลข้อเท้าติดตามตัว หรือ EM
 
 
21 มกราคม 2562
 
นัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน "สิชล" มาศาลและให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี ศาลอาญากำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 8-9 ตุลาคม 2562 นัดสืบพยานจำเลยวันที่ 10 ตุลาคม 2562
 
 
8 ตุลาคม 2562
นัดสืบพยานโจทก์
 
 
 
‘สิชล’และพ่อของเขารวมทั้งทนายจำเลยและอัยการมาถึงที่ห้องพิจารณาคดี 811 ศาลอาญาในเวลาประมาณ 9.00 น. ‘สิชล’นั่งอยู่กับพ่อของเขาโดยไม่ได้พูดคุยกับใครแต่เวลามีคนเปิดประตูห้องพิจารณาเขาจะเงยหน้าขึ้นมองและก้มหน้าลงในที เนื่องจากในวันนี้ศาลนัดจำเลยคดีอื่นฟังคำที่ห้องพิจารณาคดี 811 อีกหลายคดี ห้องพิจารณาจึงมีบุคคลอื่นมานั่งอยู่ด้วยจำนวนมากจนบรรยากาศในห้องพิจารณาคดีค่อนข้างแออัด ในเวลาประมาณ 9.40 น. มีผู้พิพากษาขึ้นมาบนบัลลังก์สองคน ผู้พิพากษาท่านหนึ่งสอบถามจำเลยคดีอื่นว่ามีใครมาฟังคำพิพากษาบ้างจากนั้นก็แจ้งให้ไปที่ห้องพิจารณาอื่น จากนั้นผู้พิพากษาท่านหนึ่งก็ลงจากบัลลังก์ไปอ่านคำพิพากษาที่อีกห้องพิจารณาหนึ่งส่วนผู้พิพากษาอีกท่านดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อไป
 
เมื่อจำเลยคดีอื่นออกจากห้องไปแล้ว ศาลเรียกอัยการและทนายจำเลยไปหารือเกี่ยวกับแนวทางการสู้คดีของทั้งสองฝ่าย ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า จำเลยรับว่าโพสต์ข้อความตามฟ้องจริงแต่จำเลยมีอาการป่วยทางจิตและโพสต์ข้อความในขณะที่มีอาการป่วย และจะต่อสู้ว่าข้อความตามฟ้องไม่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  ศาลแจ้งกับทนายจำเลยว่าอยากให้กำหนดแนวทางการต่อสู้คดีให้ชัดเจน หากจะต่อสู้เรื่องอาการป่วยของจำเลยก็ให้นำสืบไปทางเดียว แต่ทนายจำเลยแถลงยืนยันว่าจำเป็นจะต้องสู้ทั้งประเด็นอาการป่วยและประเด็นเนื้อหาว่าไม่เป็นความผิดตามฟ้อง  การหารือใช้เวลาประมาณ 15 นาที จากนั้นศาลให้อัยการนำพยานปากแรกเข้าเบิกความโดยที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าทนายจำเลยจะนำสืบประเด็นเดียวดังที่ศาลแนะนำหรือไม่ 
 
 
 
ในเวลาประมาณ 10.10 น. ศาลเรียกให้'สิชล'ยืนขึ้น 'สิชล' ลุกขึ้นยืนอย่างเฉื่อยชาและทำท่าจะเดินไปที่หน้าบัลลังก์ศาลแต่ศาลบอกว่าให้ยืนอยู่ตรงที่นั่ง จากนั้นก็ถาม 'สิชล' ว่าเขาอายุเท่าใด 'สิชล' ตอบศาลแบบช้าๆโโยไม่เต็มเสียง จากนั้นถามชื่อพ่อและแม่ซึ่ง 'สิชล' ตอบได้ถูกต้อง จากนั้นศาลก็บอกให้เขานั่งลงแล้วจึงเริ่มการสืบพยาน 
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เบิกความในฐานะพยานคนกลาง
 
 
 
ทวีเบิกความว่าขณะเบิกความเขาอายุ 59 ปี สำหรับประวัติการศึกษา ทวีเบิกความว่าสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นเวลา 32 ปี  นอกจากนั้นก็เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์เมื่อปี 2547 เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เมื่อปี 2549 และเคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีในปี 2559
 
 
 
ทวีเบิกความว่าเขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 พนักงานสอบสวนนำเอกสารที่มีรายละเอียดเป็นภาพข้อความบนเฟซบุ๊กมาให้เขาดูที่มหาวิทยาลัย ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่โพสต์บนเฟซบุ๊กที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยดูได้จากเครื่องหมายรูปลูกโลกที่เป็นสถานะของข้อความ สำหรับวันที่ข้อความดังกล่าวถูกโพสต์ ทวีเบิกความว่าตามเอกสารข้อความถูกโพสต์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 เวลา 9.34 น. ภาพประกอบข้อความเป็นภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่เก้า ศาลกล่าวในทำนองว่ขอา จำเลยรับว่าโพสต์ข้อความจริงอัยการจึงไม่จำเป็นต้องถามในส่วนของความแท้จริงของโพสต์ พยานปากนี้เป็นพยานที่มาให้ความเห็นจึงขอให้ถามความในประเด็นความเห็นของพยานเลย
 
 
 
ทวีเบิกความต่อว่า นอกจากภาพที่เบิกความไปข้างต้นก็มีภาพอีกภาพหนึ่ง เป็นภาพของขบวนจราจรที่โพสต์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 ศาลย้ำอีกให้ครั้งว่า ภาพมีสองภาพให้ทวีเบิกความถึงความเห็นของทวีในภาพรวมไปเลย  ทวีเบิกความต่อว่าโพสต์ที่หนึ่งเป็นการละเมิดพระมหากษัตริย์ เป็นการ ‘กล่าวจาบจ้วง’ มีผลต่อความมั่นคงของประเทศเพราะพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ประชาชนเคารพสักการะสูงสุดผู้ใดละเมิดไม่ได้ ส่วนโพสต์ที่สองเป็นการล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน เป็นการส่งกระแสความรู้สึกที่ไม่ดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งความเห็นทั้งหมดเขาได้ให้การกับพนักงานสอบสวนไว้แล้ว
 
 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
 
 
ทนายจำเลยแจ้งต่ออัยการว่า ขอให้อัยการส่งเอกสารคำให้การของทวีที่เคยให้การไว้กับพนักงานสอบสวนต่อชั้นศาล อัยการตอบว่า ไม่ขอนำส่งเอกสารในชั้นศาลเพราะทวีเบิกความตรงตามประเด็นที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวน อัยการจึงไม่จำเป็นต้องส่ง 
 
 
 
ทนายจำเลยถามว่า โพสต์เฟซบุ๊กที่เป็นปัญหาไม่ได้ปรากฏการแสดงความเห็น, กดไลค์และกดแชร์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กคนอื่นใช่หรือไม่ ทวีรับว่า ไม่มีการแสดงความคิดเห็น แต่จะมีการเผยแพร่ส่งต่อหรือไม่ ไม่ทราบ ทนายจำเลยถามต่อว่า ปกติแล้วเวลาผู้ใช้เฟซบุ๊กทั่วไปจะโพสต์ในลักษณะเช่นนี้จะใช้ชื่อและนามสกุลจริงหรือไม่ ทวีตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่า จำเลยในคดีนี้ใช้ชื่อและนามสกุลจริง(เป็นชื่อเฟซบุ๊ก)ใช่หรือไม่ ผศ.ทวีตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยให้ดูเอกสารแล้วถามว่า ชื่อผู้โพสต์คือ ‘สิชล’ ใช่หรือไม่ ผศ.ทวีรับว่า เป็นเช่นนั้น
 
 
 
ทนายจำเลยถามว่า เมื่อตำรวจให้ดูเอกสารแล้วรู้สึกอย่างไร ทวีตอบว่า เห็นแล้วรู้สึกไม่ดีและมีความไม่สบายใจ ทนายจำเลยถามว่า มีการปรากฏการลุกฮือขึ้นมากระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำของจำเลยหรือไม่ ทวีตอบว่า ไม่แน่ใจเพราะมีเหตุการณ์มากมาย จึงไม่ทราบว่า มีความเกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความของจำเลยหรือไม่
 
 
 
ตอบอัยการถามติง
 
 
 
อัยการถามว่า การที่จำเลยโพสต์เช่นนี้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างไร ทวีตอบว่า สร้างความเสียหาย สำหรับคนที่จงรักภักดีรู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกเดือดร้อนในฐานะที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่เคารพนับถือ อัยการถามว่า ข้อความที่ทวีเบิกความต่อศาลมีแหล่งข้อมูลมาจากที่ใด ทวีตอบว่า ที่เบิกความไปเกิดจากความรู้สึกส่วนตัวและข้อกฎหมาย
 
 
 
เวลา 10.30 น. หลังสืบพยานปากนี้แล้วเสร็จ ศาลเรียกอัยการและทนายจำเลยไปพูดคุยอีกครั้งว่า พอจะรับคำให้การพยานปากใดได้บ้าง เพราะว่า ถ้าหากจะนำพยานเข้าสืบอัยการก็จะถามตามให้คำให้การ แต่ทนายจำเลยแถลงไม่รับคำให้การพยานเนื่องจากต้องการถามค้านพยานในชั้นศาล ศาลจึงสั่งให้ทำการสืบพยานต่อ
 
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง 'อ๊อด' พ่อของจำเลย
 
 
'อ๊อด'เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ’สิชล’อายุประมาณ 29 ปี 'สิชล'จบการศึกษาสายอาชีพจากวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แต่ไม่ได้ศึกษาต่อเพราะประสงค์อยากทำงาน 'สิชล'ไปสมัครงานและได้ทำงานอยู่สองครั้งแต่ก็ทำอยู่ได้ไม่นาน 'อ๊อด'เบิกความต่อว่าเขารู้สึกแปลกใจที่ลูกชายทำงานได้ไม่นานจึงไปสอบถามกับหัวหน้างานของ'สิชล'ที่ทำงานแห่งที่สองได้ความว่า ‘สิชล’ประสาทไม่ดี พูดกับคนอื่นไม่ดีและชอบคุยเรื่องศาสนา พูดไม่หยุด หลังออกจากที่ทำงานแห่งที่สอง 'สิชล'ก็ไม่ทำงานต่อแล้วกลับมาอยู่ที่บ้าน 'อ๊อด'เบิกความต่อว่าพฤติกรรมของ'สิชล'ขณะที่อยู่บ้านคือพูดเกี่ยวกับเรื่องศาสนาไม่หยุด ‘สิชล’บอกว่า ศาสนาไม่ดีอย่างไรซึ่งตัวเขาไม่สามารถเถียงหรือโต้ตอบกลับไปได้ ทั้ง’สิชล’ยังกล่าวตลอดว่า ตัวของ'สิชล'อยู่เหนือศาสนาเป็นพระอรหันต์ ซึ่งตามความคิดของเขามองว่า ‘สิชล’ มีความคิดที่ผิดปกติ
 
 
 
'อ๊อด'เบิกความต่อว่าในปี 2558 เขาพา’สิชล’ไปตรวจที่โรงพยาบาลเดชา โรงพยาบาลดังกล่าวไม่มีแพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวช แต่แพทย์ได้จัดยาให้และระบุว่า ‘สิชล’เป็นโรคประสาท ต่อมาในระหว่างอยู่บ้าน ‘สิชล’มีอาการนอนไม่หลับ หวาดกลัวว่า จะมีคนมาทำร้าย หลังจากนั้นในปีถัดมาเขาจึงมีความคิดว่า จะพา’สิชล’ไปพบแพทย์ด้านจิตเวชเลยแต่’สิชล’หนีออกจากบ้านไปเสียก่อน ซึ่งเขาไม่ทราบว่า'สิชล'ไปอยู่ที่ใด ตลอดเวลาที่'สิชล'ไม่อยู่บ้านเขากับ 'สิชล' ได้แต่ติดต่อกันทางโทรศัพท์
 
 
 
'อ๊อด' เบิกความต่อว่า ส่วนตัวของเขาแล้วไม่ได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์และไม่เคยเข้าไปดูเฟซบุ๊กของ’สิชล’เลย 'อ๊อด'เบิกความต่อว่าเขาเป็นผู้ติดตั้งอินเทอร์เน็ตของ 3BB ให้แก่’สิชล’เพราะต้องการให้’สิชล’ขายของออนไลน์ ต่อมามีตำรวจมาหา'สิชล'ที่บ้านแต่ตอนนั้นเขาและ’สิชล’ไม่อยู่ที่บ้านโดยขณะนั้นมีเพียงหลานชายของเขาที่อยู่บ้านเพียงคนเดียว 'อ๊อด'เบิกความต่อว่าโดยส่วนตัวเขาไม่คิดว่า ‘สิชล’จะกระทำความผิด อัยการให้ 'อ๊อด'ดูเอกสารที่เป็นข้อความตามฟ้องแล้วถามว่า เห็นเช่นนี้แล้วรู้สึกอย่างไร 'อ๊อด' ดูเอกสารและตอบว่า อ่านแล้วตกใจเพราะสมัยก่อนเขาเคยพูดกับ'สิชล'อยู่เสมอว่า ห้ามยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพระมหากษัตริย์เด็ดขาดเพราะนามสกุลของเขาและ’สิชล’เป็นนามสกุลพระราชทาน และครอบครัวของเขาก็มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาตลอด จึงเชื่อว่า การที่’สิชล’โพสต์ข้อความเช่นนั้นน่าจะมีต้นสายปลายเหตุมาจากเรื่องอื่น
 
 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
 
 
ทนายจำเลยถามถึงสภาพครอบครัวของ ’สิชล’  'อ๊อด'ตอบว่า ‘สิชล’เป็นลูกชายคนเดียวของเขากับภรรยาเก่าที่แยกทางกันตั้งแต่’สิชล’ยังเด็ก ’สิชล’จึงอยู่ในความดูแลของเขามาโดยตลอด ‘สิชล’มีเพื่อนน้อยมากและไม่ค่อยติดต่อกับใคร มักจะขลุกอยู่ในห้องคนเดียว ยุ่งอยู่กับอินเทอร์เน็ต ทนายจำเลยให้'อ๊อด'เล่าว่า ‘สิชล’มีอาการป่วยอย่างไร ’อ๊อด’ตอบว่า ‘สิชล’มีอาการกลัวคน นอนไม่หลับ บางครั้งจะเดินวนรอบบ้านประมาณหนึ่งถึงสองชั่วโมง เมื่อเขาบอกให้หยุด’สิชล’ก็ไม่หยุดและบอกว่า หยุดเดินไม่ได้ เขาสังเกตว่า วันไหนที่อากาศแปรปรวนเช่น ร้อนจัดหรือเย็นจัด ‘สิชล’จะมีอาการเช่นนี้ แต่บางครั้งก็เหมือนคนปกติ
 
 
 
ทนายจำเลยให้ดูหนังสือและถามว่า ‘สิชล’เคยทำหนังสือเกี่ยวกับเรื่องศาสนาตามที่ทนายจำเลยให้ดูใช่หรือไม่’อ๊อด’ตอบว่า ใช่ และขยายความว่า'สิชล'หมกมุ่นเกี่ยวกับเรื่องศาสนาและคิดว่า ตัวเองเป็นพระอรหันต์ บางครั้งก็คิดว่า ตัวเองเป็นพระพุทธเจ้า ทนายจำเลยถามว่า วันที่ 5 เมษายน 2559 ขณะที่มีการตรวจค้นบ้าน ‘สิชล’ได้หนีออกไปจากบ้านแล้วใช่หรือไม่ ’อ๊อด’ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า ตอนแรกพนักงานสอบสวนได้แจ้งต่อเขาว่า ‘สิชล’ละเมิดกฎหมายข้อใด ’อ๊อด’ ตอบว่า หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
 
 
 
ทนายจำเลยถามว่า ขณะที่’สิชล’ถูกคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดี ‘สิชล’มีอาการทางจิตกำเริบใช่หรือไม่ ’อ๊อด’ตอบว่า ใช่และขยายความว่าเขาทราบว่า ‘สิชล’มีอาการทางจิตกำเริบและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของราชทัณฑ์ ต่อมาเมื่อ’สิชล’ได้รับการประกันตัว เขาก็พา’สิชล’ไปตรวจที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ แพทย์วินิจฉัยว่า ‘สิชล’ป่วยเป็นจิตเภทให้กลับมารักษาตัวที่บ้านและส่งตัวต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบัน’สิชล’ยังรักษาโรคอยู่ที่นั่น
 
 
 
ตอบอัยการถามติง
 
 
อัยการถามว่า เอกสารทางการแพทย์ระบุหรือไม่ว่า อาการทางจิตเวชที่ว่า คือโรคอะไร ’อ๊อด’ตอบว่า เป็นโรคหลงผิดแต่ตัวเขาไม่ได้สอบถามเพิ่มเติมว่าโรคดังกล่าวจะมีอาการอย่างไร 'อ๊อด' เบิกความด้วยว่า ช่วงหนึ่งที่'สิชล' เข้ารับการรักษาตัว แพทย์ต้องมัดมือมัดเท้า’สิชล’ไว้กับเตียง ซึ่งครั้งนั้นเป็นครั้งที่ 'สิชล' มีอาการหนักที่สุด เท่าที่เขาเคยเห็นมา
 
 
 
เวลา 11.00 น.ศาลสืบพยานปากนี้เสร็จ ศาลเรียกอัยการและทนายจำเลยไปพูดคุยเพิ่มเติม ส่วนหนึ่งที่พูดคุยคือ ศาลกล่าวต่อทนายจำเลยในทำนองว่า การไม่ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้หมายความว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดแต่ไม่ฟ้องเพราะเป็นนโยบายที่จะไม่ฟ้องคดีด้วยข้อกล่าวหานี้ การสู้ในคดีนี้ ทนายจำเลยไม่ควรสู้แบบเหยียบเรือสองแคมเพราะเรื่องข้อกฎหมายกับนโยบายมันเป็นคนละเรื่องกัน ระหว่างนั้นอัยการเรียก 'อ๊อด' เข้าไปคุยด้วยโดยถามว่ามีเรื่องอะไรจะบอกต่อศาลหรือไม่ ’อ๊อด’ไปยืนต่อหน้าศาลและกล่าวว่า มีการพูดคุยกับทนายจำเลยมาก่อนหน้านี้แล้ว ศาลถามว่า ถ้าเช่นนั้นจะสู้แบบนี้คือปฏิเสธทั้งหมดใช่หรือไม่ ทนายจำเลยตอบว่าใช่ ศาลถามอัยการว่า โพสต์ดังกล่างมีการไลค์ การแชร์หรือไม่ อัยการตอบว่า ไม่มี ศาลถามว่า ในเฟซบุ๊กของ’สิชล’มีเพื่อนเยอะไหม อัยการตอบว่า 1,107 คน จากนั้นศาลให้อัยการนำพยานปากต่อไปเข้าเบิกความ 
 
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม พ.ต.ท. ไพรัช พรมวงศ์ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
 
 
 
พ.ต.ท.ไพรัชเบิกความว่า เขาดำรงตำแหน่งสารวัตร กองกำกับการสาม กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีหน้าที่ป้องกันและปราบปราม สืบสวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและความผิดทางอาญา เกี่ยวกับคดีนี้ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2559 ตรวจสอบพบว่าบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยมีการโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าและในภาพมีพระราชดำรัสอยู่
 
 
 
พ.ต.ท.ไพรัชเบิกความต่อว่า การโพสต์เฟซบุ๊กที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ตั้งค่าเป็นสาธารณะ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โพสต์ที่หนึ่งเป็นโพสต์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 เวลา 9.34 น. อ่านแล้วตัวเขารู้สึกว่า เป็นการให้ความเห็นเกี่ยวกับสติปัญญา ศาลกล่าวว่า ขอให้แทนคำจำเลยว่า ผู้โพสต์และผู้ถูกกล่าวถึงในโพสต์ว่า ผู้ถูกโพสต์ พ.ต.ท.ไพรัชกล่าวต่อว่า ข้อความที่ผู้โพสต์ โพสต์มีนัยเหมือนต้องการสอนผู้ถูกกล่าวถึงในโพสต์ ซึ่งเป็นการจาบจ้วงพระมหากษัตริย์
 
 
 
พ.ต.ท.ไพรัชเบิกความว่าหลังจากที่เห็นโพสต์ได้สั่งการให้ร.ต.อ.สุธีรพงศ์ ชัยศิริ ทำการสืบสวน พบว่าบนเฟซบุ๊กบัญชีเดียวกัน มีโพสต์ที่สอง ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 เวลา 6.07 น.เป็นภาพสำเนาคู่มือทะเบียนรถ ข้อความเป็นลักษณะที่อ่านแล้วเข้าใจว่า หากผู้ถูกกล่าวถึงในโพสต์ทำผิดกฎหมายก็จะไม่มีใครดำเนินคดี ทำให้เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวถึงในโพสต์อยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งตามความรู้สึกส่วนตัวของตัวเขาคือ ไม่น่าจะเป็นความจริงเพราะทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย
 
 
 
พ.ต.ท.ไพรัชเบิกความต่อว่า เขาให้ร.ต.อ.สุธีรพงศ์สืบสวนหาตัวตนของเจ้าของเฟซบุ๊ก จากการสืบสวนพบว่า มีความเชื่อมโยงกับบัญชีเว็บไซต์ Dekd.com เนื่องจากในเฟซบุ๊กของ’สิชล’มีการแชร์ลิงค์การทำควิซสอบเปรียญธรรมสิบประโยค ศาลกล่าวว่า ขอให้ข้ามประเด็นนี้ไปเพราะในทางนำสืบจำเลยรับว่า เป็นผู้โพสต์จริง พ.ต.ท.ไพรัชเบิกความต่อว่าในวันที่ 4 เมษายน 2559 เขาได้ไปร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน โดยได้รวบรวมพยานหลักฐานและร้องทุกข์กล่าวโทษ 'สิชล' ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
 
 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
 
 
ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.ไพรัช รับราขการมาตั้งแต่ปีใด พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า รับราชการที่กองกำกับการสามฯมาตั้งแต่ปี 2558 ถึงช่วงปลายปี 2559 ทนายจำเลยถามว่า ที่ผ่านมาเป็นผู้ร้องทุกข์คดีมาตรา 112 มาแล้วกี่คดี พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ไม่ถึงห้าคดี ทนายจำเลยถามว่า การที่พ.ต.ท.ไพรัชทำการสืบสวนและร้องทุกข์คดีนี้ได้รับคำสั่งจากใคร พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาที่ทำการมอบหมายด้วยวาจา ทนายจำเลยถามว่า ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 จะไม่ใช้ชื่อนามสกุลจริงในการโพสต์ข้อความใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า มีทั้งผู้ถูกกล่าวหาที่ใช้ชื่อนามสกุลจริงและใช้ชื่อนามสกุลปลอมก็มี
 
 
 
ทนายจำเลยถามว่า การที่ไปร้องทุกข์นั้นเห็นว่า โพสต์เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า เวลาดังกล่าวเห็นว่า โพสต์ของ’สิชล’เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 อย่างเดียว ทนายจำเลยถามย้ำอีกครั้งว่า ในชั้นของการร้องทุกข์กล่าวโทษ การกระทำของจำเลยไม่ปรากฏว่าเป็นความผิดตามมาตราประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ไม่มีความผิดตามมาตรา 116 และขยายความว่าการให้ความเห็นของเขาเป็นเพียงการให้ความเห็นในเบื้องต้นเท่านั้น ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.ไพรัชอ่านข้อความในโพสต์ที่เป็นเหตุในคดีนี้ทั้งสองโพสต์แล้วรู้สึกไม่ดีกับผู้โพสต์หรือผู้ถูกโพสต์ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ผู้โพสต์
 
 
 
ทนายจำเลยถามว่า ข้อความที่เป็นเหตุในคดีนี้ถูกกล่าวหาว่า มีลักษณะยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างเดื่อง แต่พ.ต.ท.ไพรัชอ่านแล้วรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ได้ไปโพสต์ตามใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า จนถึงปัจจุบัน พ.ต.ท.ไพรัชยังไม่เคยไปจับกุมผู้ต้องหาคนอื่นที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์ของจำเลยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ จนถึงปัจจุบันมีเพียงจำเลยคนเดียวที่ถูกจับกุม ทนายจำเลยสอบถามว่า บุคคลปกติจะโพสต์เช่นนี้หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ตามความเห็นของตน ตามปกติบุคคลทั่วไปจะไม่โพสต์ข้อความเช่นนี้
 
 
 
ทนายจำเลยถามว่า ตามเอกสารที่ระบุว่า ‘สิชล’มีการทำควิซในเว็บไซต์เด็กดีให้ประชาชนตอบคำถามเรื่องเปรียญธรรมสิบประโยค และไม่มีใครสามารถจะทำข้อสอบของเขาได้เต็มสักคนเดียว มีเพียงเขาคนเดียวที่ได้คะแนนสิบเต็มสิบ เขาคิดว่า ตนเองเหนือกว่าคนอื่นใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชอ่านเอกสารและตอบว่า ตามความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า ‘สิชล’รู้สึกว่า เขาเหนือหรือเก่งกว่าคนอื่น ทนายจำเลยให้พ.ต.ท.ไพรัชดูเอกสารโพสต์อื่นๆของ’สิชล’ พร้อมอ่านไปด้วยว่า ‘สิชล’คิดว่า เขาเป็นมนุษย์ต่างดาว และถามว่า บุคคลทั่วไปไม่น่าจะโพสต์เช่นนี้ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า เป็นเช่นนั้น
 
 
 
ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.ไพรัชไปให้การกับพนักงานสอบสวนกี่ครั้ง พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า สองครั้งคือ วันที่ 4 เมษายน 2559 และอีกครั้งหนึ่งจำวันไม่ได้ ทนายจำเลยให้พ.ต.ท.ไพรัชอ่านเอกสารโพสต์อื่นๆของ’สิชล’อีกครั้ง เนื้อหาคือ ‘สิชล’คิดว่า ตัวเขาได้ตายไปแล้ว มีมนุษย์ต่างดาวมาสวมรอยเขาเพื่อทำภารกิจอะไรบางอย่าง ซึ่งวันที่โพสต์คือวันที่ 20 มีนาคม 2559 ก่อนหน้าการโพสต์ที่สองประมาณห้าวัน พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า เป็นไปตามเอกสาร
 
 
 
ตอบอัยการถามติง
 
 
 
อัยการถามว่า หลังจากที่อ่านข้อความของผู้โพสต์แล้วทำให้มีความเข้าใจในตัวผู้ถูกโพสต์แตกต่างไปจากเดิมหรือไม่อย่างไร พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า รู้สึกว่า ผู้ถูกกล่าวถึงในโพสต์ถูกจาบจ้วงดูหมิ่น แต่ความรู้สึกส่วนตัวคือเคารพ ผู้ถูกกล่าวถึงในโพสต์  อยู่แล้ว อัยการถามว่า ถ้าผู้ที่จงรักภักดีอ่านข้อความอาจจะไม่พอใจ พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า เป็นเช่นนั้น อัยการถามว่า จำเลยมีเพื่อนในเฟซบุ๊กจำนวนมาก ถ้าคนที่จงรักภักดีไม่พอใจจะส่งผลต่อความสงบอย่างไร ศาลตอบว่า สืบสวนแล้วไม่มีและไม่ได้จดในประเด็นนี้
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ ร.ต.อ.สุธีรพงษ์ ชัยศิริ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
 
 
 
ร.ต.อ.สุธีรพงษ์เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเขารับราชการอยู่ที่กองกำกับการสาม กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในตำแหน่งรองสารวัตร มีหน้าที่ในการสืบสวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและความผิดทางอาญาและปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ร.ต.อ.สุธีรพงษ์เบิกความว่าเขาทราบเหตุในคดีนี้ในเดือนมีนาคม 2559 มีบัญชีเฟซบุ๊กซึ่งต่อมาทราบว่าเป็นบัญชีของ 'สิชล' โพสต์ข้อความตามฟ้องสองข้อความ โดยตั้งค่าการโพสต์ข้อความทั้งสองเป็นสาธารณะซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ 
 
 
 
ร.ต.อ.สุธีรพงษ์เบิกความว่าข้อความตามฟ้องข้อความแรกโพสต์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 เวลา 9.34 น. เป็นภาพพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า เรื่องน้ำเต็มแก้ว มีข้อความบรรยายภาพซึ่ง'สิชล'เขียนลักษณะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ข้อความที่บรรยายภาพมีความเกี่ยวข้องกัน ข้อความอ่านและเข้าใจได้ว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อน คนไทยนับถือพระมหากษัตริย์ ซึ่งคนที่นับถืออาจจะไม่พอใจ โดยคนที่มาอ่านจะเข้าใจว่า ผู้โพสต์มีสติปัญญาสูงกว่าผู้ถูกกล่าวถึงในโพสต์ โดยยกว่าตัวเองมีความรู้ความเชี่ยวชาญมากกว่าผู้ถูกกล่าวถึงในโพสต์
 
 
 
ร.ต.อ.สุธีรพงษ์เบิกความต่อว่า ข้อความที่สองโพสต์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 เวลา 6.00 น. เป็นภาพทะเบียนรถปรากฎชื่อของพระมหากษัตริย์ เขาเบิกความด้วยน้ำเสียงหนักแน่นแต่กล่าวไม่ครบความนักว่า ถ้าหากรถคันดังกล่าว มียาบ้าตำรวจคงไม่กล้าจับ ซึ่งตัวเขาดูแล้วไม่เชื่อว่า เนื้อหาและภาพดังกล่าวเป็นจริง แต่จากการสืบสวนงสิชล’ โพสต์จริง
 
 
 
ร.ต.อ.สุธีรพงษ์ เบิกความต่อว่าในทางสืบสวน เขาดำเนินการตรวจสอบตัวตนของผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีที่มีการโพสต์ข้อความตามฟ้องโดยลองเลื่อนโพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้ลงไปเรื่อยๆพบว่า มีโพสต์หนึ่งโพสต์ข้อความขายของและมีการให้เบอร์โทรศัพท์ไว้ด้วย จึงตรวจสอบไปที่บริษัทเอไอเอส เจ้าของเครือข่ายสัญญาณพบว่า มี’สิชล’เป็นเจ้าของเบอร์โทรศัทพ์นี้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของกรมการปกครองแล้วก็ตรงกับเบอร์โทรศัพท์ที่’สิชล’ ให้ไว้กับกรมการปกครอง ขณะที่อีกโพสต์หนึ่งเป็นการโพสต์การตอบคำถามจากเว็บไซต์ Dekd.com เขาจึงขออีเมล์และไอพีแอดเดรสจากเว็บไซต์ดังกล่าว เมื่อได้ข้อมูลมาก็นำไปตรวจสอบพบว่า เป็นไอพีแอดเดรสของบริษัท ทริปเปิ้ลทรี อินเทอร์เน็ตหรือ 3BB จึงได้ขอที่อยู่ของบ้านที่ใช้ไอพีดังกล่าว
 
 
 
ร.ต.อ.สุธีรพงษ์เบิกความต่อว่า เขาได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคดีนี้และทำรายงานให้กับพ.ต.อ.ไพรัช ต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2559 ได้ไปร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน จากนั้นพนักงานสอบสวนขอศาลทหารออกหมายจับ และขอศาลอาญาออกหมายค้น เขาไปให้การกับพนักงานสอบสวนสามครั้งคือ วันที่ 4 เมษายน 2559 11 พฤษภาคม 2559 และ 5 ตุลาคม 2559
 
 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
 
 
ทนายจำเลยถามว่า โพสต์ของ’สิชล’ที่เป็นเหตุในคดีนี้ไม่ได้มีการกดไลค์กดแชร์ไปที่ต่างๆใช่หรือไม่ ร.ต.อ.สุธีรพงษ์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยให้ร.ต.อ.สุธีรพงษ์ดูเอกสารและถามว่า หน้าโปรไฟล์ของ’สิชล’ นอกจากระบุชื่อนามสกุลของเขาแล้ว ยังระบุว่า เป็นผู้รู้จริง รู้แจ้งทั้งปวงใช่หรือไม่ ร.ต.อ.สุธีรพงษ์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า ควิซจากเว็บไซต์ dekd.com เรื่องเปรียญธรรมสิบประโยค ร.ต.อ.สุธีรพงษ์พอจะทราบไหมว่า ตามความเป็นจริงแล้วเปรียญธรรมมีกี่ประโยค ร.ต.อ.สุธีรพงษ์ตอบว่า ไม่แน่ใจว่า มีกี่ประโยคแต่ที่เคยได้ยินมีแต่เปรียญธรรมเก้าประโยค ทนายจำเลยให้ร.ต.อ.สุธีรพงษ์อ่านข้อความของ’สิชล’ที่โพสต์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2559 ว่า คนที่โพสต์ตอนนี้ตายไปแล้ว มีการถ่ายโอนความจำและจะนำยานอวกาศลงจอดที่ประเทศไทย บุคคลที่โพสต์ข้อความในลักษณะแบบนี้น่าจะเป็นคนเช่นไร ร.ต.อ.สุธีรพงษ์ตอบว่า ไม่น่าจะเป็นคนปกติทั่วไป
 
 
 
ทนายจำเลยถามว่า ร.ต.อ.สุธีรพงษ์อ่านข้อความแล้วรู้สึกไม่ดีกับผู้โพสต์หรือผู้ถูกกล่าวถึงในโพสต์ ร.ต.อ.สุธีรพงษ์ตอบว่า ส่วนตัวรู้สึกไม่ดีกับผู้โพสต์ ทนายจำเลยถามต่อว่า ร.ต.อ.สุธีรพงษ์เชื่อตามข้อความที่’สิชล’โพสต์หรือไม่ และทำให้ความจงรักภักดีของร.ต.อ.สุธีรพงษ์ลดลงหรือไม่ ร.ต.อ.สุธีรพงษ์ตอบว่า รู้สึกว่า ความจงรักภักดีมีเท่าเดิม แต่รู้สึกเป็นลบกับ’สิชล’ ที่เป็นผู้โพสต์ข้อความมากกว่า
 
 
 
ตอบอัยการถามติง
 
 
 
อัยการให้ ร.ต.อ.สุธีรพงษ์ดูเอกสารโพสต์ของ’สิชล’ที่นำส่งศาลและถามว่า ข้อความดังกล่าวมีการกดไลค์และกดแชร์หรือไม่ ร.ต.อ.สุธีรพงษ์ตอบว่า ตามภาพที่ปรากฏไม่เห็นว่า มีการกดไลค์กดไลแชร์เนื่องจากเป็นภาพที่บันทึกมาจากหน้าจอ
 
 
 
หลังสืบพยานปากนี้เสร็จ ศาลถามว่าคู่ความทั้งสองพอจะรับคำให้การพยานที่จะนำสืบในนัดต่อไปได้บ้างหรือไม่ อัยการแถลงต่อศาลว่าพยานปาก พงศธร วรรณสุคนธ์ ข้าราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นพยานที่จะมาอ่านข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ ทนายจำเลยอ่านคำให้การและรับคำให้การ ทำให้ในนัดต่อไปมีพยานโจทก์ที่ต้องนำสืบเหลือเพียงสองปาก
 
 
25 ตุลาคม 2562
นัดสืบพยานจำเลย
 
 
 
การสืบพยานที่ห้องพิจารณาคดี 811 ในวันนี้เริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 9.20 น. ช่วงแรกในห้องพิจารณามีประชาชนที่มาคดีอื่นนั่งรออยู่ด้วยอีกสามคน แต่หลังการสืบพยานดำเนินไปได้ประมาณ 15 – 20 นาที ก็มีเจ้าหน้าที่ศาลคนหนึ่งเดินเข้ามาคุยกับคนที่มาคดีอื่น จากนั้นทั้งสามก็ลุกออกจากห้องพิจารณาคดี 811 ไป ในห้องพิจารณาจึงเหลือเพียง 'สิชล' กับ 'อ๊อด' พ่อของเขาเท่านั้น
 
 
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง 'สิชล' จำเลยเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง
 
 
 
'สิชล' ตอบศาลว่า ขณะเบิกความเขาอายุ 29 ปี และ ไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ  ทนายจำเลยถามชื่อพ่อและแม่ของ 'สิชล' ซึ่งเขาตอบได้ถูกต้อง ในช่วงต้นของการเบิกความ 'สิชล' พูดด้วยน้ำเสียงค่อนข้างเบา ศาลจึงบอก 'สิชล' ว่าให้พูดด้วยเสียงที่ดังและให้ตอบคำถามไปตามที่ตัวเองรู้ ถ้าไม่รู้ก็ให้บอกว่าไม่รู้ จากนั้นศาลให้ทนายจำเลยถามคำถามต่อ 'สิชล' เบิกความตอบทนายจำเลยต่อว่า พ่อและแม่ของเขาแยกทางตอนอายุประมาณ 15 ถึง 16 ปี หลังจากพ่อและแม่แยกทางกันตัวเขาก็อยู่กับพ่อ
 
 
 
เกี่ยวกับพื้นฐานการศึกษา 'สิชล' เบิกความตอบทนายจำเลยว่าเขาจบการศึกษาระดับปวส. สาขาการตลาดจากวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เมื่อเรียนจบก็เข้าทำงาน ที่ผ่านมาเขาสมัครเข้าทำงานกับสถานประกอบการหลายแห่ง แต่ก็ทำงานกับบริษัทแต่ละแห่งได้ไม่นานนัก ประมาณหนึ่งถึงสองเดือนและเขามักทำงานไม่พ้นช่วงทดลองงานสามเดือน ทนายจำเลยถามว่า เหตุใดเขาจึงมักทำงานแต่ละที่ได้ไม่นาน 'สิชล' เบิกความว่า เป็นเพราะเขามักเล่าเรื่องมนุษย์ต่างดาวให้เพื่อนร่วมงานฟัง บางครั้งก็เล่าให้ผู้บริหารฟัง 'สิชล' เบิกความเพิ่มเติมว่า เขาสนใจศึกษาเรื่องมนุษย์ต่างดาวจากอินเทอร์เน็ต เขาศึกษาเรื่องมนุษย์ต่างดาวจนคิดว่าตัวเองเป็นมนุษย์ต่างดาว
 
 
 
'สิชล' เบิกความต่อว่าระหว่างที่เขาทำงาน เขายังไม่เคยพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ในเวลาว่างเขามักขลุกอยู่แต่ในห้องของตัวเองเล่นอินเทอร์เน็ต 'สิชล' เบิกความต่อว่า หลังออกจากงานเขาจึงไปหาหมอ สาเหตุที่ไปเป็นเพราะเขารู้สึกปวดหัวและคิดว่า ตัวเองตกเป็นเหยื่อของโครงการลับของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ใช้เครื่องมือควบคุมความคิดจิตใจของคน เมื่อเขาเล่าเรื่องให้หมอฟังหมอก็บอกว่าเขามีอาการป่วย ต้องรักษาด้วยการรับประทานยา และพักผ่อนให้เพียงพอ หมอบอกเขาด้วยว่า หากรักษาด้วยการกินยาแล้วไม่ดีขึ้นเขาจะต้องไปรักษาตัวต่อที่อื่น
 
 
 
ทนายจำเลยถามว่าหลังจากไปพบแพทย์ครั้งนั้น'สิชล'ได้ไปรักษาตัวต่ออีกหรือไม่  'สิชล'ตอบว่าไม่ได้ไปเพราะเขากลัวถูกมัดมือมัดเท้า ศาลถาม 'สิชล' ว่าหลังไปพบแพทย์ครั้งแรกเขาทิ้งระยะการักษาไว้นานเท่าใดก่อนที่จะกลับไปรักษาตัวอีกครั้งหนึ่ง  'สิชล'ตอบศาลว่าประมาณสามปี
 
 
 
ทนายจำเลยถาม'สิชล'เกี่ยวกับการโพสต์ข้อความตามฟ้องทั้งสองข้อความ  'สิชล'รับว่า เขาโพสต์ข้อความตามฟ้องทั้งสองข้อความด้วยตัวเอง โดยการโพสต์ข้อความและภาพตามฟ้องทั้งสองครั้งเกิดขึ้นในขณะที่เขาควบคุมตัวเองไม่ได้  'สิชล' เบิกความด้วยว่าเขารู้สึกเหมือนมีพลังงานบางอย่างครอบงำการกระทำของเขา
 
 
 
ทนายจำเลยถาม'สิชล'ถึงการตอบแบบทดสอบเปรียญธรรมบนเว็บไซต์เด็กดี  'สิชล'เบิกความว่า แบบทดสอบดังกล่าวตัวเขาเป็นผู้จัดทำและเขาก็ตอบคำถามของแบบทดสอบดังกล่าวจนได้คะแนนเต็ม และเขาเชื่อว่าหากใครสามารถตอบคำถามได้ถูกทั้งหมดก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนตัวเขาเองเชื่อว่าตัวเองเป็นพระพุทธเจ้า 'สิชล'เบิกความด้วยว่าเขาเคยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า 'สิชล'ได้ตายไปแล้ว คนที่อยู่ในร่างของนี้ไม่ใช่ 'สิชล'แต่เป็นมนุษย์ต่างดาวที่มาอาศัยร่าง
 
 
 
ทนายจำเลยถาม'สิชล'ว่า ทราบหรือไม่ว่าการโพสต์ข้อความในคดีนี้เป็นความผิดตามกฎหมาย  'สิชล'ตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยถามต่อว่า'สิชล'ทราบได้อย่างไรว่า ตัวเองจะถูกจับกุม 'สิชล'เบิกความว่า มีคนส่งภาพหมายจับมาให้เขาทางเฟซบุ๊ก ทนายจำเลยถามต่อว่าเมื่อเห็นภาพหมายจับ'สิชล'ทำอย่างไรต่อ 'สิชล'เบิกความว่า เขาหนีออกจากบ้านไปเรื่อยๆจนกระทั่งมาถูกตำรวจจับ ทนายจำเลยถามว่า หลังการจับกุมเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาใดกับเขา 'สิชล'เบิกความว่าเป็นข้อหานำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ส่วนจะไม่ข้อกล่าวหาอื่นด้วยหรือไม่เขาจำไม่ได้
 
 
 
ทนายจำเลยถามว่า'สิชล'ให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้อย่างไร  'สิชล'ตอบว่าให้การตามจริงว่า เขาไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ การกระทำทั้งหมดเกิดขึ้นโดยที่เขามีอาการป่วยและเคยรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเดชา ทนายจำเลยถาม'สิชล'เกี่ยวกับการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่และการควบคุมตัวเขาหลังการจับกุม  'สิชล'เบิกความว่าเขาถูกฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพเป็นเวลา 48 วัน จากนั้นศาลทหารกรุงเทพสั่งปล่อยตัวเขาโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
 
 
 
ทนายจำเลยถาม'สิชล'เกี่ยวกับอาการป่วยของเขาระหว่างที่ถูกคุมขังในเรือนจำ สิชลเบิกความว่า ระหว่างอยู่ที่เรือนจำเขามีอาการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลของทางราชทัณฑ์ ซึ่งระหว่างการรักษาเขาถูกมัดมือมัดเท้าระหว่างการให้ยา เมื่อได้รับการประกันตัวออกมาอยู่ที่บ้าน อาการของเขาก็กำเริบอีกครั้งจนพ่อต้องพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ จากนั้นจึงไปที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ทนายจำเลยถามว่า ในขณะที่มาเบิกความต่อศาล 'สิชล'ก็ยังไปพบแพทย์และรับประทานยาอยู่ใช่หรือไม่ 'สิชล'รับว่าใช่ พร้อมขยายความว่าเขาต้องรับประทานยาทุกวันและไปพบแพทย์ทุกๆสองเดือน ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
 
 
ตอบอัยการถามค้าน
 
 
 
อัยการถามว่า'สิชล'เคยไปและเลือกตั้งและแสดงออกทางการเมืองหรือไม่ 'สิชล'ตอบว่า เคยไปเลือกตั้งแต่จะเคยไปร่วมแสดงออกทางการเมืองหรือไม่จำไม่ได้และตัวเขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเมือง อัยการถามว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้'สิชล'น่าจะเคยโพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกับข้อความตามฟ้องคดีนี้มาก่อนใช่หรือไม่ เพราะปรากฎว่า'สิชล'เคยโพสต์ข้อความขอโทษสิ่งที่ตัวเองโพสต์และลบโพสต์ออกไป 'สิชล'ตอบว่าเขาทำการดังกล่าวไปเมื่ออาการของโรคกำเริบจนควบคุมไม่ได้ แต่เมื่อได้สติก็จะลบโพสต์และโพสต์ขอโทษ
 
 
 
อัยการถามว่าสิชลเริ่มมีอาการป่วยมาตั้งแต่เมื่อใด สิชลตอบว่าอาจจะเป็นปี 2557 หรือก่อนหน้านั้น ตัวเขาจำไม่ได้แน่ชัด อัยการถามว่า 'สิชล' เริ่มไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเดชาเมื่อใด ก่อนหรือหลังเกิดเหตุคดีนี้'สิชล'ตอบว่าเขาจำไม่ได้แน่ชัด
 
 
 
อัยการถามว่าระหว่างวันที่ 10 – 25 มีนาคม 2559 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่โพสต์ข้อความตามฟ้อง 'สิชล'เคยโพสต์เรื่องการขายของออนไลน์ใช่หรือไม่ 'สิชล'รับว่า ใช่ อัยการถามว่าตอนที่ 'สิชล'ทราบว่าตัวเองถูกออกหมายจับได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง 'สิชล'ตอบว่าเขาปิดเฟซบุ๊ก และหนีออกจากบ้าน โดยหนีออกจากบ้านตั้งแต่ปี 2559 จนกระทั่งมาถูกจับในปี 2561
 
 
 
อัยการถามว่าหลัง'สิชล' กระทำการตามฟ้องได้เปิดบัญชีเฟซบุ๊กอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ 'สิชล'ตอบว่า จำไม่ได้ อัยการถามว่า'สิชล'เคยเรียนรักษาดินแดนจนถึงปีห้า ได้เป็นว่าที่ร้อยตรี ระหว่างที่เรียนรักษาดินแดน 'สิชล' ต้องตรวจร่างกายหรือไม่ และแพทย์ได้พูดเรื่องอาการป่วยของ'สิชล'หรือไม่ 'สิชล'เบิกความว่าช่วงที่เรียนรักษาดินแดนเขายังไม่มีอาการป่วย ส่วนการรักษาจำได้ว่าเขาเคยไปรักษาทีโรงพยาบาลวิชัยยุทธแต่น่าจะไปช่วยหลังเกิดเหตุ อัยการถามว่า'สิชล'พอเข้าใจข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่เขาถูกฟ้องหรือไม่ 'สิชล'ตอบว่า พอเข้าใจ อัยการแถลงหมดคำถาม
 
 
 
ทนายจำเลยไม่ถามติง
 
 
 
หลังสืบพยานปากแรกจบ ศาลให้พยานปากต่อไปเข้าสืบทันทีโดยเริ่มสืบพยานปากที่สองในเวลาประมาณ 10.06
 
 
 
สืบพยานจำเลยปากที่สอง พญ.ชูนุช เจริญพร แพทย์ผู้ทำการรักษา 'สิชล' ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์
 
 
 
พญ.ชูนุชเบิกความว่า เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญาตรีสาขาแพทย์ศาสตร์จากวชิระพยาบาลในปี 2545 จากนั้นจึงศึกษาประกาศณียบัตรสาขาจิตเวชต่อที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จากนั้นจึงเริ่มทำงานที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ในปี 2546 ต่อในปี 2562 จึงย้ายมาทำงานที่โรงพยาบาลบางขวาง ทนายจำเลยถามว่าพญ.ชูนุชปฏิบัติหน้าที่อะไรบ้าง  พญ.ชูนุชเบิกความว่าเธอมีหน้าที่รักษาผู้ป่วยจิตเวช และผู้ป่วยทั่วไป
 
 
 
เกี่ยวกับคดีนี้ พญ.ชูนุชเบิกความว่าในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 ระหว่างที่เธอปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัว'สิชล'มาส่งเธอพร้อมแจ้งว่า'สิชล'มีอาการร้องไห้ตลอดเวลา เดินวนเวียนในห้อง โวยวาย รวมทั้งจะทำร้ายตัวเอง  พญ.ชูนุชเบิกความต่อว่า เจ้าหน้าที่ผู้นำส่งรวมทั้งตัวเธอไม่มีประวัติของ'สิชล' เธอจึงรับตัว'สิชล'ไว้ดูอาการอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาหนึ่งคืน จากการสังเกตพบว่า'สิชล'มีการพูดคุยไปเรื่อยๆ  พญ.ชูนุชเบิกความต่อว่า'สิชล'อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นเวลาหนึ่งคืนเพราะวันรุ่งขึ้น 'สิชล'ถูกเบิกตัวไปศาล จากนั้นก็ได้รับการประกันตัว และเธอก็ไม่ได้พบกับ'สิชล'อีกเลย  พญ.ชูนุชเบิกความเพิ่มเติมด้วยว่า เนื่องจากไม่มีประวัติคนไข้เธอจึงทำได้เพียงแต่ตรวจเลือด ตรวจอาการเบื้องต้นและให้ยาคนไข้เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม ระหว่างการสืบพยานปากนี้ทนายจำเลยให้ พญ.ชูนุชรับรองเอกสารความเห็นแพทย์ในวันที่เธอทำการตรวจรักษา'สิชล'อ้างส่งต่อศาลไปด้วย
 
 
 
ตอบอัยการถามค้าน
 
 
 
อัยการถามพญ.ชูนุชว่า สามารถยืนยันได้หรือไม่ว่า ขณะเกิดเหตุสิชลมีอาการป่วยแล้วหรือยัง  พญ.ชูนุชเบิกความตอบว่า ไม่สามารถยืนยันได้ อัยการถามว่าอาการป่วยของ'สิชล'เป็นอาการที่เกิดขึ้นนานแล้ว หรือเป็นอาการเฉียบพลันที่อาจเกิดขึ้นจากความเครียดที่'สิชล'ถูกคุมขัง  พญ.ชูนุชตอบว่า ไม่สามารถตอบได้ว่า'สิชล'ป่วยมานานแล้วหรือยัง บอกได้เพียงว่าอาการวันที่ทำการตรวจรักษามีลักษณะเป็นอาการป่วยเฉียบพลัน โดยคนไข้มีอาการหวาดระแวงไม่พูดคุย  พญ.ชูนุชเบิกความกับอัยการด้วยว่าเนื่องจากไม่มีประวัติการรักษาจึงไม่สามารถระบุได้ว่า'สิชล'ป่วยมาตั้งแต่เมื่อใด อัยการแถลงหมดคำถาม
 
 
 
ทนายจำเลยไม่ถามติง
 
 
 
หลังสืบพยานปากที่สองเสร็จ ศาลให้ทนายจำเลยนำพยานปากที่สามเข้าเบิกความต่อทันทีในเวลาประมาณ 10.20 น.
 
 
 
ในช่วงที่ศาลอ่านทวนคำเบิกความพยานปากนี้ พ.ญ.ชูนุชเบิกความแก้ไขว่าเธอสำเร็จการศึกษาในปี 2544 ไม่ใช่ 2545
 
 
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม นพ.วิญญู ชะนะกุล แพทย์ผู้ทำการรักษา 'สิชล' ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
 
 
 
นพ.วิญญูเบิกความว่า เขาประกอบอาชีพรับราชการที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา มีหน้าที่ตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเวช เกี่ยวกับการศึกษา นพ.วิญญูเบิกความว่าเขาสำเร็จการศึกษาแพทย์ศาสตร์บัณฑิต ศิริราชพยาบาล นอกจากนั้นก็ได้รับวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญจิตเวชศาสตร์
 
 
 
เกี่ยวกับคดีนี้นพ.วิญญูเบิกความว่า วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 'สิชล' เริ่มมารับการรักษาที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาโดยมีญาติเป็นผู้พามา สำหรับอาการเบื้องต้นพบว่า'สิชล'มีอาการกระวนกระวายและมีความคิดหลงผิด  คิดว่าตัวเองเป็นพระพุทธเจ้า คิดว่ามีคนปองร้ายตัวเองรวมทั้งคิดว่ามีบางอย่างพยายามควบคุมจิตใจของเขา
 
 
 
นพ.วิญญูเบิกความต่อว่า อาการของ'สิชล' เป็นโรคจิตเภท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง ตามคำบอกของญาติ'สิชล'ป่วยมาแล้วสี่ปีก่อนที่จะมาพบเขาเพื่อทำการตรวจรักษาในปี 2561 ทนายจำเลยถามว่าโรคจิตเภทเกิดจากสาเหตุใด เกี่ยวกับการรักษาของตัว 'สิชล' นพ.วิญญูเบิกความว่า เบื้องต้นสิชลมารับการรักษาทุกๆหนึ่งเดือน เมื่ออาการดีขึ้นก็ลดเหลือมาพบแพทย์ตามกำหนดสองเดือนครั้ง และกินยาตามที่แพทย์สั่ง ครั้งสุดท้ายที่สิชลมาพบเขาเพื่อทำการรักษาคือวันที่ 19 สิงหาคม 2562 อาการของ'สิชล'จากที่ตรวจรักษาครั้งสุดท้ายถือว่าดีขึ้นแต่ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง สำหรับยาที่ให้ นพ.วิญญูเบิกความว่าเป็นยาปรับเคมีในสมองเพื่อควบคุมอาการของโรค
 
 
 
ทนายจำเลยถามนพ.วิญญูว่าการรักษาโรคจิตเภทต้องใช้เวลานานเท่าใดและสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ นพ.วิญญูตอบว่ารักษาหายขาดได้แต่จำนวนน้อยประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยทั้งหมด ขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องรักษาตลอดชีวิต กรณีผู้ป่วยที่รักษาแล้วหายขาดจะรู้ได้โดยผู้ป่วยจะหายหลังเข้ารับการรักษาประมาณหนึ่งปี แต่หากพ้นไปจากนั้นก็มักจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ในการสืบพยานปากนี้ทนายจำเลยให้นพ.วิญญูดูเอกสารความเห็นทางการแพทย์ของเขาในการรักษา'สิชล'และอ้างส่งเอกสารต่อศาลไว้เป็นหลักฐาน ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
 
 
ตอบอัยการถามค้าน
 
 
 
อัยการถามว่านพ.วิญญูยืนยันได้หรือไม่ว่า ขณะกระทำความผิดตามฟ้อง'สิชล'มีอาการป่วย นพ.วิญญูตอบว่า ไม่สามารถยืนยันได้ ทนายจำเลยถามว่าสิ่งที่ทำให้อาการของ'สิชล'กำเริบ นพ.วิญญูตอบว่ามีหลายปัจจัยทั้งความเครียด การใช้สารเสพติด และการเจ็บป่วยทางร่างกาย
 
 
 
อัยการถามว่า'สิชล'เคยโพสต์ข้อความขายของออนไลน์รวมทั้งเคยส่งของให้ลูกค้า หมายความว่าแม้'สิชล'จะมีอาการป่วยแต่ก็พอจะรู้ผิดชอบชั่วดีอยู่บ้างใช่หรือไม่  นพ.วิญญูตอบว่าผู้ป่วยพอจะมีสติสัมปชัญญะบ้าง ขึ้นอยู่กับอาการในแต่ละขณะ บางขณะอาจจะควบคุมตัวเองได้บ้าง อัยการให้นพ.วิญญูดูหนังสือธรรมะที่'สิชล'เคยเขียนแล้วถามว่าการที่'สิชล'จะแต่งหนังสือได้แบบนี้ก็ต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่บ้างใช่หรือไม่ นพ.วิญญูตอบว่าเขาไม่ทราบเกี่ยวกับหนังสือดังกล่าว อัยการแถลงหมดคำถาม
 
 
 
ตอบทนายจำเลยถามติง
 
 
 
ทนายจำเลยถามว่าลักษณะอาการของ'สิชล'จะเป็นการย้ำคิดย้ำทำวนเวียนอยู่กับความคิดความเชื่อของตัวเองใช่หรือไม่ นพ.วิญญูรับว่าเป็นคล้ายๆแบบนั้น
 
 
 
ศาลถามนพ.วิญญูว่า จากการตรวจรักษาปี 2559 ในความเห็นของแพทย์ นพ.วิญญูคิดว่า'สิชล' น่าจะป่วยเป็นจิตเภทแล้วหรือไม่ นพ.วิญญูตอบว่าประเมินจากอาการของผู้ป่วยและคำบอกเล่าของญาติมีความสอดคล้องกัน จึงเห็นว่า'สิชล'น่าจะมีอาการป่วยมาแล้ว
 
 
 
การสืบพยานปากนี้แล้วเสร็จในเวลา 10.37 น. ทนายจำเลยแถลงหมดพยานที่จะนำสืบ ศาลนัดคู่ความฟังคำพิพากษาวันที่ 12 ธันวาคม 2562 เวลา 9.00 น

 

12 ธันวาคม 2562

นัดฟังคำพิพากษา

ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ‘สิชล’ พร้อมด้วยพ่อของเขา และทนายจำเลยมารอฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดี 811 ต่อมาเวลา 9.45 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้มาที่ห้องพิจารณาคดี ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของศาลที่เมื่อมีการอ่านคำพิพากษาในคดีที่มีโทษจำคุกจะต้องมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อยู่ด้วย และต้องใส่กุญแจมือไว้ในขณะที่ฟังคำพิพากษา สักครู่หนึ่งเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ได้ติดต่อให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำศาลมานั่งในห้องพิจารณาคดีระหว่างศาลอ่านคำพิพากษาด้วย

 
 
ต่อมาเวลา 9.53 น. ผู้พิพากษาขึ้นนั่งบัลลังก์ ‘สิชล’ ยืนขึ้นเพื่อรอฟังคำพิพากษา ผู้พิพากษากล่าวว่า นั่งเถอะ ไม่ต้องยืน โดยไม่มีการใส่กุญแจมือแต่อย่างใด และบอกต่อทนายจำเลยว่า ความผิดตามมาตรา 116 ศาลยกฟ้อง เหลือเพียงส่วนความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผู้พิพากษาเริ่มอ่านคำพิพากษา พอสรุปความได้ว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3),(5) จำเลยให้การปฏิเสธ ในทางนำสืบพ่อของจำเลยได้ให้การว่า จำเลยมีอาการทางจิตเภท และกำลังรักษาตัว แต่อาการยังไม่ทุเลาจนถึงปัจจุบัน ส่วนพยานจำเลยไม่ได้นำสืบถึงประเด็นที่ว่า จำเลยป่วย ขณะโพสต์
 
 
 
ในการสืบพยานปากอื่นๆ ไม่ชี้ชัดว่า ขณะที่จำเลยกระทำความผิดหรือขณะที่โพสต์ข้อความที่เป็นเหตุตามฟ้องในคดีนี้ จำเลยไม่สามารถรู้ผิดชอบได้ ทั้งจากการรับฟังพยานหลักฐานทั้งหมดเชื่อได้ว่า จำเลยพอจะสามารถรู้ผิดชอบได้ในขณะที่โพสต์ พิพากษาว่า มีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และ (5) จำคุกสามปี มีเหตุให้ลดโทษตามมาตรา 65 ของประมวลกฎหมายอาญา ลดโทษจำคุกหนึ่งในสาม คงโทษจำคุกสองปี
 
 
หลังอ่านคำพิพากษาศาลบอกต่อทนายจำเลยว่า ให้ทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้เรียบร้อย และให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีนี้อีกครั้ง ผู้พิพากษากล่าวต่อ‘สิชล’หลายครั้งว่า “ไม่เป็นไร ไม่มีอะไรนะ” และกล่าวต่อว่า “เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่อยู่ตรงนี้ก็ดูแลเขาตามสมควรนะ” จากนั้นเมื่อจำเลย และผู้ที่เกี่ยวข้องลงชื่อในเอกสารเสร็จ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงพาตัว ‘สิชล’ ลงไปที่ใต้ถุนศาลทันที ขณะที่ทนายจำเลยและพ่อของ ‘สิชล’ ดำเนินเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์เดิมในศาลชั้นต้น
 
 
* *หมายเหตุ มาตรา 65 ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
 
แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
 
 
15 เมษายน 2563
 

ประชาไทรายงานว่า วันที่ 12 เมษายน 2563 ‘สิชล’ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการกระโดนน้ำที่คลองประปา เขาฆ่าตัวตายครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม ซึ่งทั้งสองครั้งก่อนหน้านี้เป็นการกระโดดน้ำเช่นกันแต่มีผู้ช่วยชีวิตไว้ทัน
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา