สหพันธรัฐไทคดีที่ 1: สมาชิกกลุ่มเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

อัปเดตล่าสุด: 25/01/2563

ผู้ต้องหา

กฤษณะ

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2561

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการศาลอาญา

สารบัญ

จำเลยห้าคนถูกกล่าวหาฐานยุยงปลุกปั่น และเป็นอั้งยี่ ตามมาตรา 116 และ 209 ของประมวลกฎหมายอาญาจากการสื่อสารแนวคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทยให้เป็นระบบสหพันธรัฐผ่านโลกออนไลน์และการแจกจ่ายใบปลิวและเสื้อยืดสีดำพร้อมโลโก้ธงสีแดงขาวที่หน้าอกเสื้อ กฤษณะ, ‘สมศักดิ์’ และวรรณภาได้รับการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี ขณะที่ประพันธ์ถูกถอนประกันเนื่องจากหลบหนีระหว่างการพิจารณาคดี ส่วนจินดาไม่ปรากฏตัวยังไม่สามารถติดตามตัวได้ 

 

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลอาญาสั่งจำคุกจำเลยทั้งสี่คนในความผิดตามมาตรา 209 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 83 จำคุก 3 ปี จำเลยที่สองและสามให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงโทษจำคุกจำเลยที่สองและสามสองปี

ภูมิหลังผู้ต้องหา


ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 209 ของประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำฟ้องระบุว่า ระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน 2561 ถึงวันที่ 12 กันยายน 2561 จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันกระทำความผิดดังนี้

 

หนึ่ง จำเลยทั้งห้ากับวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์, สยาม ธีระวุฒิ, วัฒน์ วรรลยางกูรและกฤษณะ ทัพไทย ซึ่งหลบหนีอยู่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้องคดีนี้ได้ร่วมกันเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือมีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลที่ไม่เปิดเผยวิธีการดำเนินการชื่อกลุ่มสหพันธรัฐไท มีจุดมุ่งหมายในการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาลและ คสช. เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปสู่การปกครองในระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข


สอง จำเลยทั้งห้าและบุคคลที่ระบุตามข้อหนึ่งได้ปลุกระดมสมาชิกกลุ่มและประชาชนทางสื่อสังคมออนไลน์และแจกเอกสารใบปลิวชักชวนให้ประชาชนทั่วไปต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาลและคสช. ซึ่งไม่ใช่การกระทำตามความมุ่งหมายในรัฐธรรมนูญและการติชมโดยสุจริต แต่เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินและเกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปสู่ระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข

 

ขอให้ศาลพิจารณาลงโทษในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และการเป็นอั้งยี่ตามมาตรา 209 ของประมวลกฎหมายอาญา

พฤติการณ์การจับกุม

กรณีของประพันธ์

3 กันยายน 2561 ขณะที่ประพันธ์กำลังอยู่ที่หอพักย่านลาดพร้าว เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวไปสอบปากคำที่มณฑลทหารบกที่ 11
 

กรณีของวรรณภา
 
6 กันยายน 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัววรรณภาและ ‘สุรางคณา’ ไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 วันเดียวกัน ‘สุรางคณา’ถูกปล่อยตัวกลับบ้านโดยไม่มีการดำเนินดคี
 

กรณีของจินดา

12 กันยายน 2561 ขณะที่จินดากำลังอยู่ที่บ้านพักในจังหวัดชลบุรี เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวไปสอบปากคำที่มณฑลทหารบกที่ 11
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล


หมายเลขคดีดำ

อ.3157/2561

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง


แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
3 กันยายน 2561

ขณะที่ประพันธ์กำลังอยู่ที่หอพักย่านลาดพร้าว เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวไปสอบปากคำที่มณฑลทหารบกที่ 11
 
 
6 กันยายน 2561
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัววรรณภาและ ‘สุรางคณา’ ไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 วันเดียวกัน ‘สุรางคณา’ถูกปล่อยตัวกลับบ้านโดยไม่มีการดำเนินดคี
 
 
12 กันยายน 2561
ขณะที่จินดากำลังอยู่ที่บ้านพักในจังหวัดชลบุรี เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวไปสอบปากคำที่มณฑลทหารบกที่ 11
 
 
7 กันยายน 2561
ขอฝากขังระหว่างการสอบสวนครั้งที่หนึ่ง

พ.ต.ท.เสวก บุญจันทร์ พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม นำตัวกฤษณะ, เทอดศักดิ์และประพันธ์ ผู้ต้องหาที่หนึ่งถึงสามมายื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอฝากขังครั้งที่หนึ่ง กล่าวหาว่า ผู้ต้องหาทั้งสามกระทำความผิดตามมาตรา 116 และ 209 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยมีพฤติการณ์คือ วันที่ 20 สิงหาคม 2561 ฝ่ายข่าวคสช.ได้สืบทราบว่า ผู้ต้องหาทั้งสามมีพฤติการณ์ต่อต้านรัฐบาลและคสช. รวมกลุ่มภายใต้ชื่อ สหพันธรัฐไท ทำการเคลื่อนไหวทางการเมือง โน้มน้าวให้ประชาชนเห็นด้วยในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐ มีการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เช่น  การทำเสื้อและสติกเกอร์ของกลุ่ม แจกจ่ายให้สมาชิกกลุ่มและเผยแพร่ความคิดผ่านใบปลิวตามสถานที่ต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร และสถานที่อื่นๆ
 
นอกจากนี้ยังวางแผนจะทำกิจกรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงได้อาศัยอำนาจตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสามมาสอบปากคำที่มณฑลทหารบกที่ 11 ซี่งจากการซักถามทั้งหมดให้การยอมรับว่า รวมกลุ่มกันภายใต้ชื่อสหพันธรัฐไทจริง เนื่องจากเห็นว่า จะทำให้ประเทศไทยเจริญกว่าปัจจุบันนี้ ฝ่ายข่าวของ คสช. จึงรายงานให้รัฐบาลและ คสช. ทราบ ซึ่ง คสช. ได้พิจารณาแล้วว่า การกระทำดังกล่าวผิดกฎหมาย จึงมอบอำนาจให้พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพมาร้องทุกข์ ในชั้นสอบสวนกฤษณะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ขณะที่เทอดศักดิ์และประพันธ์ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
 
โดยขอให้ศาลอนุญาตฝากขังผู้ต้องหาทั้งสามไว้ เนื่องจากการสืบสวนยังไม่เสร็จสิ้นต้องสืบพยานอีกสามปาก ประกอบกับเป็นความผิดอาญาร้ายแรง เกรงว่า ผู้ต้องหาทั้งสามจะหลบหนี ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสาม โดยให้วางหลักทรัพย์ 40,000 บาท และติดกำไลอีเอ็มติดตามตัว
 
 
12 กันยายน 2561
ขอฝากขังระหว่างการสอบสวนครั้งที่หนึ่ง
 
พ.ต.ท.เสวก บุญจันทร์ พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม นำตัววรรณภา ผู้ต้องหาที่สี่มายื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอฝากขังครั้งที่หนึ่ง กล่าวหาว่า ผู้ต้องหากระทำความผิดตามมาตรา 116 และ 209 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยมีพฤติการณ์คือ วันที่ 20 สิงหาคม 2561 ฝ่ายข่าวคสช.ได้สืบทราบว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์ต่อต้านรัฐบาลและคสช. รวมกลุ่มภายใต้ชื่อ สหพันธรัฐไท ทำการเคลื่อนไหวทางการเมือง โน้มน้าวให้ประชาชนเห็นด้วยในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐ มีการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เช่น การทำเสื้อและสติกเกอร์ของกลุ่ม แจกจ่ายให้สมาชิกกลุ่มและเผยแพร่ความคิดผ่านใบปลิวตามสถานที่ต่างๆเช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร และสถานที่อื่นๆ
 
 
ต่อมาฝ่ายข่าว คสช. สืบทราบเพิ่มเติมว่า วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์, สยาม ธีรวุฒิ และวัฒน์ วรรลยางกูรเป็นแกนนำในการจัดตั้งกลุ่มสหพันธรัฐไท โดยมีการจัดทำเสื้อดำติดธงสัญลักษณ์สหพันธรัฐและให้วรรณภาไปรับเสื้อจากมารดาของวรรณภาซึ่งเป็นแนวร่วมของกลุ่มสหพันธรัฐไทที่หลบหนีจากประเทศไทยไปเคลื่อนไหวในประเทศลาว จากการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหายังพบภาพถ่ายใบปลิวข้อความการปลุกระดมตามสถานที่ต่างๆหลายแห่ง ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
 
โดยขอให้ศาลอนุญาตฝากขังผู้ต้องหาไว้ เนื่องจากการสืบสวนยังไม่เสร็จสิ้นต้องสืบพยานอีกสามปาก ประกอบกับเป็นความผิดอาญาร้ายแรง เกรงว่า ผู้ต้องหาจะหลบหนี ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท
 
วันเดียวกันเวลา 10.00 น. ขณะที่จินดาอยู่ที่บ้านในจังหวัดชลบุรี เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวจินดาไปสอบปากคำที่มณฑลทหารบกที่ 11
 
 
24 ตุลาคม 2561
นัดฟังคำสั่งฟ้อง
 
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาห้ามีความเห็นสั่งฟ้องคดีจำเลยทั้งห้าคน คำฟ้องสรุปได้ว่า ระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน 2561 ถึงวันที่ 12 กันยายน 2561 จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันกระทำความผิดดังนี้
 
หนึ่ง จำเลยทั้งห้ากับวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์, สยาม ธีระวุฒิ, วัฒน์ วรรลยางกูรและกฤษณะ ทัพไทย ทั้งหมดหลบหนีอยู่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้องคดีนี้ได้ร่วมกันเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือมีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลที่ไม่เปิดเผยวิธีการดำเนินการชื่อกลุ่มสหพันธรัฐไท มีจุดมุ่งหมายในการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาลและคสช.เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปสู่การปกครองในระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข
 
สอง จำเลยทั้งห้าและบุคคลที่ระบุตามข้อหนึ่งได้ปลุกระดมสมาชิกกลุ่มและประชาชนทางสื่อสังคมออนไลน์และการแจกเอกสารใบปลิวชักชวนให้ประชาชนทั่วไปต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาลและ คสช. ซึ่งไม่ใช่การกระทำตามความมุ่งหมายในรัฐธรรมนูญและการติชมโดยสุจริต แต่เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินและเกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปสู่ระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข
 
ขอให้ศาลพิจารณาความผิดยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และการเป็นอั้งยี่ตามมาตรา 209 ของประมวลกฎหมายอาญา
 
 
26 ตุลาคม 2561

ศาลอาญามีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวจินดา จำเลยที่ห้า โดยวางหลักทรัพย์ 40,000 บาท พร้อมติดกำไลอีเอ็ม
 
 
30 ตุลาคม 2561
นัดสอบคำให้การ
 
ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้กฤษณะ, เทอดศักดิ์ และวรรณภาฟังให้เข้าใจแล้ว จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธการกระทำความผิดตามฟ้องตลอดทุกข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริงที่จะต่อสู้คดี คือ จำเลยทุกคนต่างไม่รู้จักกันมาก่อน วันเกิดเหตุขณะที่จำเลยทุกคนถูกจับกุมนั้น จำเลยไม่ได้ไปแจกเอกสารหรือแผ่นพับแก่ประชาชนใดๆ ทั้งสิ้น จำเลยทั้งห้าไม่ได้เดินทางไปบริเวณที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ไม่มีส่วนรู้เห็นและเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทั้งสิ้น จึงไม่อาจยอมรับความถูกต้องของเอกสารและพยานหลักฐานได้ ดังนั้นเมื่อไม่สามารถรับความถูกต้องได้ โจทก์จึงต้องนำพยานเข้าสืบรวมแปดปาก ขณะที่จำเลยนำสืบจำเลยอ้างตัวเองเป็นพยานจำนวนห้าปาก
 
 
8 ธันวาคม 2561

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวประพันธ์, เทอดศักดิ์และจินดาไปจากบ้านพัก วันเดียวกันเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดได้โทรศัพท์ไปแจ้งวรรณภาด้วยว่า ในวันที่ 9 ธันวาคม 2561 จะมีตำรวจติดตามไปไหนมาไหนด้วย ให้วรรณนภาใช้ชีวิตไปตามปกติ ในวันถัดมามีตำรวจมารอวรรณภาที่ที่พักในจังหวัดสมุทรปราการตั้งแต่เช้า และตามวรรณภาไปดูหนังและเดินห้างสรรพสินค้า แต่เมื่อวรรณภาจะกลับที่พักในเวลา 15.00 น. ตำรวจกลับขอให้เธอไปนั่งรอที่สนามหน้าศาลากลางสมุทรปราการก่อนจนกระทั่งเวลา 17.00 น. จึงปล่อยให้วรรณภากลับบ้าน
 
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ทหารยังได้ควบคุมตัวภรรยาและลูกชายของชูชีพ ชีวะสุทธิ์ไปจากบ้านพักย่านตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวประชาชนจากจังหวัดอุบลราชธานีและกำแพงเพชรไปด้วย
 
 
13 ธันวาคม 2561

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลาประมาณ 21.00 น. ทหารได้ปล่อยตัวประพันธ์, เทอดศักดิ์และจินดาจากมณฑลทหารบกที่ 11 แล้ว หลังควบคุมตัวไปนานหกวัน โดยทหารนำตัวไปส่งที่บ้านพักและถ่ายรูปไว้ด้วย
 
 
14 ธันวาคม 2561

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทหารได้ปล่อยตัวภรรยาและลูกชายของชูชีพ ชีวะสุทธิ์จากมณฑลทหารบกที่ 11 แล้ว
 
 
17 ธันวาคม 2561
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ห้องพิจารณาคดีที่ 909 โจทก์มาศาล ฝ่ายจำเลยมีกฤษณะ, เทอดศักดิ์, ประพันธ์และวรรณภา และทนายจำเลยทั้งห้ามาศาล ยกเว้นจินดา ทนายของจินดาแถลงต่อศาลว่า วันที่ 8 ธันวาคม 2561 ญาติของจินดาแจ้งว่า จินดาถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไป จนถึงขณะนี้ยังไม่เดินทางกลับมาบ้าน ญาติพยายามติดตามสอบถามแต่ไม่มีผู้ใดทราบว่า ปัจจุบันจินดาอยู่ที่ใดหรืออยู่ในการควบคุมตัวของฝ่ายทหารหรือไม่ ทนายของจินดาแถลงต่อว่า จินดามีความประสงค์จะสู้คดีและไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแน่นอน จึงขอให้เลื่อนนัดคดีออกไปเพื่อทำการตรวจสอบว่า จินดาอยู่ที่ใด หากอยู่ในการควบคุมตัวของทหารจะให้ศาลมีหนังสือขอตัวมาที่ศาลนี้ด้วย
 
ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 13.30 น. และกำชับทนายของจินดาด้วยว่าหากทราบความคืบหน้าของจินดาให้แจ้งต่อศาลเพื่อดำเนินการตามสมควร
 
 
11 กุมภาพันธ์ 2562
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
เวลา 13.30 น. ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้ โจทก์มาศาล ฝ่ายจำเลยมีกฤษณะ, ‘สมศักดิ์’ และวรรณภา พร้อมด้วยทนายจำเลยทั้งห้ามาศาล ยกเว้นประพันธ์และจินดา ในนัดพิจารณาคดีครั้งที่แล้วจินดาไม่มาศาล ทนายของจินดาแจ้งว่า อยู่ในการควบคุมตัวของทหาร ในนัดนี้จินดาไม่มาศาลอีก ทนายของจินดาแถลงว่า ได้ติดต่อกับมณฑลทหารบกที่ 11 แล้วและยื่นหนังสือขอให้จินดามาศาล แต่เจ้าหน้าที่ทหารแจ้งว่า ไม่ได้ควบคุมตัวจินดาไว้แล้ว แต่มีตำรวจจากหน่วยงานใดไม่ชัดเจนมารับตัวไปแทน
 
ส่วนประพันธ์ ก่อนหน้านี้มาศาลตามนัดตลอด ต่อมาประพันธ์ได้เปลี่ยนหลักทรัพย์ในการประกันตัวเป็นเงินสดแทนการใช้เครื่องติดตามตัว ซึ่งศาลอนุญาต แต่ก่อนหน้าวันนัดครั้งนี้ไม่กี่วันประพันธ์เดินทางไปที่ใดไม่ทราบและไม่ได้กลับมาที่บ้านพักอีก
 
ศาลพิเคราะห์ว่า กรณีของจินดา ปัจจุบันไม่ทราบว่า ถูกควบคุมตัวที่ใดและถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจริงหรือไม่ กรณีของประพันธ์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุให้ทราบ จึงเชื่อได้ว่า จำเลยทั้งสองน่าจะหลบหนีจึงออกหมายจับจำเลยทั้งสองมาพิจารณาคดีต่อไป และถือว่า นายประกันผิดสัญญาประกันจำเลยทั้งสองให้ยึดเงินสดตามระเบียบ แต่หากจำเลยทั้งสองมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถมาศาลได้ให้ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อพิจารณาการงดหรือลดค่าปรับ โดยสั่งจำหน่ายคดีในส่วนของประพันธ์และจินดาออกไปก่อน เมื่อได้ตัวกลับมาค่อยนำกลับมาพิจารณาคดีต่อไป
 
พนักงานอัยการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเนื่องจากคำฟ้องลงวันที่ 24 ตุลาคม 2561 มีข้อบกพร่อง ขอแก้ไขข้อความจากเดิมที่ระบุว่า จำเลยทั้งห้าคน “…ได้บังอาจร่วมกันเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่…” เป็น “…ได้บังอาจร่วมกันเป็นสมาชิก…”
 
 
10 พฤษภาคม 2562
 
เบอร์นาร์นิวส์รายงานว่า ทางการมาเลเซียส่งตัวประพันธ์กลับมายังประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นประพันธ์ได้ลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แล้ว ประพันธ์ถูกตำรวจมาเลเซียจับกุมตัวเมื่อเดือนเมษายน 2562 หลังจากนั้นทางการไทยจึงร้องขอตัวประพันธ์กลับมาดำเนินคดี ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า การกระทำดังกล่าว เป็นการละเมิดพันธกรณีทางกฎหมายเพราะประพันธ์ถือเป็นผู้ลี้ภัยการเมือง
 
 
19 พฤศจิกายน 2562
นัดสืบพยานโจทก์  
 
 
เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 802 กฤษณะ, เทอดศักดิ์, ประพันธ์และวรรณภา จำเลยที่หนึ่งถึงสี่ อัยการโจทก์และทนายจำเลยเดินทางมาพร้อมกันที่ห้องพิจารณา  เมื่อศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ก็ได้ถามทุกคนที่อยู่ในห้องพิจารณาว่าแต่ละคนเป็นใครบ้าง โดยมีผู้สังเกตการณ์สามคนจาก TrialWatch องค์กรสังเกตการณ์คดีจากสหรัฐอเมริกา พร้อมล่ามแปลภาษาสองคน ผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความหนึ่งคนและทนายความจากศูนย์ทนายหนึ่งคน 
 
 
พยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ  พยานผู้กล่าวหา 
 
 
ภายหลังสาบานตน พล.ต.บุรินทร์ขอให้ศาลพิจารณาลับ อ้างว่าเรื่องที่จะสืบพยานอาจมีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลบอกว่าหากเป็นเช่นนั้นต้องแจ้งก่อนแล้วศาลจะพิจารณาให้เชิญผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องพิจารณา แต่เมื่อพล.ต.บุรินทร์มาแจ้งในวันนี้จึงไม่สามารถพิจารณาให้ได้ สั่งพิจารณาโดยเปิดเผยเช่นเดิม
 
 
จากนั้นพล.ต.บุรินทร์เริ่มเบิกความว่า ได้รับมอบอำนาจจากคสช.ให้กล่าวหา กฤษณะ จำเลยที่หนึ่ง, ประพันธ์ จำเลยที่สอง, เทอดศักดิ์ จำเลยที่สาม, วรรณภา จำเลยที่สี่, จินดา จำเลยที่ห้า, ชูชีพ หรือลุงสนามหลวง,สยาม สหายข้าวเหนียวมะม่วง,วัฒน์ ,วุฒิพงษ์และกฤษณะ สหายยังบลัด รวมทั้งสิ้นสิบคน โดยกล่าวหาว่าร่วมกันเป็นอั้งยี่และมีพฤติการณ์ยุยงปลุกปั่น หลังคสช.ยึดอำนาจได้มีคำสั่งให้เฝ้าระวังดูแลบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและจะก่อความวุ่นวาย มุ่งร้ายต่อสถาบัน จากการที่ฝ่ายข่าวเฝ้าระวังพบว่ามีกลุ่มคนที่หลบหนีไปต่างประเทศ ได้แก่วุฒิพงษ์ บุคคลนี้มีพฤติกรรมสะสมอาวุธและเคยใช้อาวุธโจมตีกลุ่มกปปส.
 
 
พล.ต.บุรินทร์เบิกความต่อไปว่า  สยาม  , กฤษณะ , วัฒน์ และ  สุรชัย แซ่ด่าน อดีตผู้ต้องหาม. 112  ได้หลบหนีไปอยู่ประเทศลาว กลุ่มคนดังกล่าวเป็นกลุ่มคนที่มีแนวคิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ บางคนจัดรายการกล่าวหาว่าพระมหากษัตริย์อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร ต่อมาวุฒิพงษ์ วัฒน์ และ สยาม แยกตัวไปตั้งกลุ่มสหพันธรัฐไท ในช่วงปี 2557 เป็นต้นมา และจัดทำช่องรายการบนเว็บไซต์ยูทูปสถาปนาตนเองเป็นกลุ่มสหพันธรัฐไท โดยมีวัตถุประสงค์คือเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศ โค่นล้มพระมหากษัตริย์ มีการแบ่งประเทศออกเป็นสิบมลรัฐ จัดให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ถึงประธานาธิบดี จัดตั้งศาลลูกขุน กำจัดระบอบสถาบันพระมหากษัตริย์ให้หมดสิ้นไป
 
 
จากการสืบสวนกลุ่มบุคคลวุฒิพงศ์เริ่มสะสมอาวุธสงครามและติดต่อกับผู้ร่วมขบวนการในประเทศ คสช.เคยยึดและตรวจค้นอาวุธได้จากบ้านของวุฒิพงศ์ ส่วนวัฒน์ สยาม ชูชีพ จะมีหน้าที่หามวลชนผ่านการจัดรายการบนเว็บไซต์ยูทูปเพื่อลุกขึ้นมาร่วมขบวนการโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังมีการติดต่อกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือนปช.บางคนที่ไปเยี่ยมที่ลาว นอกจากนี้ยังมีช่องรายการบนเว็บไซต์ยูทูปของชูชีพหรือลุงสนามหลวง มีการจัดรายการทุกวัน 
 
 
ในการจัดรายการทางยูทูปจะมีประชาชน ที่เป็นสมาชิกขบวนการโทรศัพท์เข้าไปในรายการเพื่อแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เห็นพ้องด้วยกับการล้มล้างสถาบัน โดยกล่าวหาว่าสถาบันเป็นตัวถ่วงทำให้ประเทศชาติไม่เจริญ หลักๆจะมีกฤษณะ, สยาม วัฒน์และชูชีพ เขาได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดบันทึกเป็นดีวีดี อ้างส่งเป็นหลักฐาน และฝ่ายข่าวได้ทำการถอดเทปถ้อยคำอ้างประกอบไปด้วย ขณะเดียวกันมีดีวีดี เสียงที่จินดา จำเลยที่ห้าโทรศัพท์เข้าไปในรายการ
 
 
นอกจากนี้ยังมีเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “สหพันธรัฐไทกับเรื่องลึกลับของทรราช” โดยมีกฤษณะ จำเลยที่หนึ่งเป็นแอดมินของเพจดังกล่าว ข้อความในเพจมีข้อความโจมตีสถาบัน มีการเผยแพร่แถลงการณ์สหพันธรัฐไทและนำคลิปรายการมาเผยแพร่ โดยเพจเฟซบุ๊กนี้เป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้  หลังจากนั้นจะมีการติดต่อกันผ่านช่องทางไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มลับ ประชาชนทั่วไปมองไม่เห็นข้อความได้ 
 
 
จากที่ฝ่ายข่าวติดตาม พบว่ามีกลุ่มประชาชนที่เป็นสมาชิก 10,000 คน  แต่แกนนำยืนยันผ่านรายการวิทยุว่ามีสมาชิกหลักแสน โดยกลุ่มเหล่านี้จะบอกให้กลุ่มสมาชิกกระทำการ เช่น ไปแสดงพฤติกรรมต่างๆในงาน Bike for dad ให้ไปปาไข่หรือโรยถั่วเขียวในเส้นทางเสด็จ หรือพูดยุยงให้เอาปืนไปยิงใส่ทหาร ตำรวจ ให้ใช้ปืนยิงพระมหากษัตริย์ ต่อมามีการทำธงสัญลักษณ์ประกอบด้วย สีขาว แดง สีขาวคือความบริสุทธิ์ของประชาชน แถบสีแดงคือความกล้าหาญของประชาชน และมีแนวคิดทำเสื้อดำแจกจ่ายสมาชิก  ภายหลังฝ่ายข่าวมีการเฝ้าระวัง โดยเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 คสช.ได้รับแจ้งความว่ามีบุคคลนำใบปลิว สติ๊กเกอร์ ไปวางตามสถานศึกษาคือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตบางนาและมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรต  เพื่อขยายมวลชน สันติบาลจึงติดตามดูจากกล้องวงจรปิดและสอบถามชาวบ้านบริเวณดังกล่าว พบว่ามีบุคคลคือ กฤษณะ จำเลยที่หนึ่ง เทอดศักดิ์ จำเลยที่สอง เป็นผู้นำใบปลิวไปวาง จึงทำการควบคุมตัวและตรวจสอบที่บ้าน
 
 
วันที่ 30 สิงหาคม 2561  เจ้าหน้าที่ไปควบคุมตัวกฤษณะ จำเลยที่หนึ่งที่บ้าน ไปยังมทบ. 11 เพื่อซักถาม จากการตรวจค้นพบสติ๊กเกอร์ เสื้อและใบปลิวที่เหมือนกับที่นำไปวางตามสถานที่ต่างๆ ในการเชิญตัวเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวซักถามและขยายผล โดยสรุปกฤษณะ ยอมรับว่า เป็นผู้แจกจ่ายสติ๊กเกอร์และใบปลิว กฤษณะได้ซัดทอดต่อไปยังเทอดศักดิ์ จำเลยที่สองและประพันธ์ จำเลยที่สาม ต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2561 ได้ไปเชิญเทอดศักดิ์และประพันธ์ จากการตรวจค้นบ้านเทอดศักดิ์ สามารถตรวจยึดใบปลิวได้ 400 แผ่น  ส่วนในการซักถามประพันธ์ มีการนำตัวไปจากบ้านวันที่ 3 กันยายน 2561  โดยทราบว่าเป็นกลุ่มแกนนำซึ่ง ชักชวนกลุ่มประชาชนข้าร่วม 
 
 
คสช.มั่นใจว่ามีการรวมกลุ่มขององค์กรสหพันธรัฐไทในประเทศไทยชัดเจน  ต่อมาทางสันติบาลได้ตรวจสอบพบวรรณภา จำเลยที่สี่เข้าไปฝั่งลาวเพื่อรับเสื้อ ครั้งแรกรับมาจำนวน 60 ตัวและนำเสื้อมาส่งที่ไปรษณีย์ที่จังหวัดหนองคาย โดยวรรณภารับเสื้อมาจากสมพิศ แม่ของวรรณภา  ซึ่งเป็นคนที่ใกล้ชิดกับลุงสนามหลวง ฝ่ายข่าวบอกว่า สมพิศ เคยฝึกอาวุธ ยิง M79 เพื่อจะเอามายิงกลุ่มกปปส. ที่ห้าแยกลาดพร้าวและเป็นผู้หลบหนีอยู่ที่ลาว โดยในตอนที่ทหารสอบสวนวรรณภายอมรับว่า มีรายชื่อคนที่รับเสื้อ
 
 
ต่อมาในครั้งที่สองวรรณภาเดินทางไปรับที่สถานีรถไฟหนองคาย และนำไปเก็บไว้ที่บ้านพักแถวสำโรง เพื่อรอคำสั่งแจกจ่ายให้สมาชิก ครั้งนี้ได้แจกจ่ายเสื้อแก่สมาชิก 100 ตัว จากนั้นครั้งที่สามวรรณภาไปรับเสื้อที่พหลโยธินซอย 67 จำนวน 200 ตัว โดยไม่ได้บอกว่า ใครเป็นผู้ส่งเสื้อ ครั้งนี้ทำการแจกจ่ายไป 40 ตัว ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถยึดเสื้อที่เหลือได้เพียง 400 กว่าตัว นอกจากนี้ยังเจอรายชื่อของคนที่วรรณภาจะต้องส่งให้ รวมถึงรายละเอียดไซส์เสื้อ เลขบัญชีธนาคาร และจำนวนเงิน 
 
 
นอกจากนั้นยังมีการขยายผลไปถึงจินดา จำเลยที่ห้า โดยทราบว่าจินดาเป็นแกนนำ  สหพันธรัฐไท ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 12 กันยายน 2561 จึงมีการเอาตัวไปที่บ้านจังหวัดชลบุรี ไปซักถาม โดยจินดารับว่าเป็นแกนนำชลบุรี จินดารับว่าเป็นผู้เขียนรหัสไว้ในธนบัตร จากนั้นนำไปใส่ในตู้เอทีเอ็ม การเขียนชื่อเพื่อต้องการกระจายองค์กรสหพันธรัฐไทให้คนทราบ ต่อมาเมื่อมีการทำเสื้อ จินดาก็ทำเสื้อขายแก่สมาชิก  รหัสประจำตัวของจินดาคือ 02030001 โดย 02 คือมลรัฐตะวันออก 03 คือชลบุรี 0001 คือคนแรก นอกจากจินดาแล้วไม่แน่ใจว่าจำเลยคนอื่นมีรหัสเหมือนกันหรือไม่ เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน คสช.จึงมอบหมายให้เขาแจ้งความดำเนินคดี
 
 
ตอบทนายจำเลยที่หนึ่งถามค้าน
 
 
พล.ต.บุรินทร์เบิกความว่า เขาเป็นผู้กล่าวหาคดีในลักษณะนี้อีกหลายคดี  กลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรก โดยพฤติกรรมนั้นเป็นพฤติกรรมเดียวกับเครือข่ายสนามหลวง การข่าวทหารได้แบ่งการจัดการกลุ่มคนต่อต้านสถาบันไว้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มวุฒิพงศ์คือกลุ่มคนที่ใช้อาวุธ ส่วนกลุ่มลุงสนามลวงเป็นกลุ่มหามวลชน
 
 
สำหรับวุฒิพงศ์มีข่าวว่าเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2560 โดยทางการข่าวก็ยังไม่หยุดเคลื่อนไหวติดตามเรื่องนี้ พล.ต.บุรินทร์เบิกความต่อไปว่า ถ้อยคำที่มีการจัดรายการ  มาจากกลุ่มลุงสนามหลวง แต่จำเลยที่หนึ่งถึงสี่ไม่ได้พูด มีเพียงจินดา จำเลยที่ห้าพูดออกรายการ 
 
 
เมื่อทนายถามว่าในเอกสารใบปลิว อยากได้ความเจริญแบบญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นในปัจจุบันเป็นประเทศที่มีกษัตริย์ ใช่หรือไม่ พล.ต.บุรินทร์ตอบว่าใช่ ส่วนเนื้อหาในใบปลิว กฤษณะจำเลยที่หนึ่งจะเป็นผู้เขียนหรือไม่ พล.ต.บุรินทร์ไม่ทราบ
 
 
ทั้งนี้พล.ต.บุรินทร์บอกว่า จำเลยทุกคนรู้ว่า เป้าหมายของลุงสนามหลวงต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ใบปลิวเป็นองค์ประกอบหนึ่ง เนื้อหาในใบปลิว ทุกอย่างเป็นเนื้อหาเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมสหพันธรัฐไท  ส่วนข้อความที่บอกว่าจะมีเลือกตั้งทุกระดับ ทางผู้แจ้งความไม่ได้ติดใจ แต่ติดใจเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดี
 
 
พล.ต.บุรินทร์ไม่ทราบว่า วุฒิพงศ์เคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดเรื่องอาวุธหรือไม่ และการฟ้องเรื่องคดีอาวุธ ซึ่งมีชื่อวุฒิพงศ์ในคำฟ้อง ยกฟ้องหมดแล้วทุกคดีแต่เขาไม่ทราบ และไม่ทราบว่า
วุฒิพงศ์กับจำเลยทั้ง 4 เกี่ยวข้องกันอย่างไร  เมื่อทนายถามว่า ไม่ปรากฏว่ามีการซักถามวุฒิพงศ์ใช่หรือไม่ พล.ต.บุรินทร์ตอบว่าจับตัวไม่ได้เนื่องจากหลบหนี
 
 
พล.ต.บุรินทร์ทราบว่า ลุงสนามหลวงหรือชูชีพ เป็นผู้จัดรายการวิทยุ และชูชีพเคยบอกว่าตนเองเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และทราบว่า สยามเคยเปิดตัวในรายการว่า คือ สหายข้าวเหนียวมะม่วง และกฤษณะ คือ สหายยังบลัด โดยทั้งสามคนข้างต้น ปัจจุบันหายตัวไปแล้ว ไม่มีการจัดรายการต่ออีก
 
 
เมื่อทนายถามว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าว ทราบได้อย่างไรว่า ชูชีพ,สยามและวัฒน์มีการเปลี่ยนที่อยู่บ่อยๆ พล.ต.บุรินทร์ตอบว่า ในรายการมีการอ้างว่า จัดรายการที่ประเทศเวียดนามด้วย แต่ไม่ทราบพิกัด พล.ต.บุรินทร์ ยืนยันว่าขณะตรวจสอบเรื่องนี้ทั้งสามรายนั้นยังมีชีวิตอยู่   ปัจจุบันไม่ได้ติดตามแล้วว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่  ทั้งนี้จำเลยทั้งสี่คือ กฤษณะุ, เทอดศักดิ์, ประพันธ์และวรรณภา พล.ต.บุรินทร์ไม่สามารถหาได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำคลิป ยูทูป ในการแจกจ่ายใบปลิว ไม่ปรากฏว่าแจกจ่าย คลิปหรือซีดีด้วย
ส่วนบุคคลชื่อ วัฒน์  ได้ลี้ภัยไปฝั่งลาวปี 2557 ไม่มีรายละเอียด และไม่ทราบว่า วัฒน์ เป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพา และเบิกความต่อไปว่าจำเลยสี่รายที่ระบุข้างต้นไม่ปรากฎว่า เกี่ยวข้องกับวัฒน์อย่างไร
 
 
พล.ต.บุรินทร์ยอมรับว่าตรวจสอบไม่ได้ว่า ใครเป็นผู้ทำช่องยูทูปของสหพันธรัฐไท หากตรวจสอบได้คงปิดไปนานแล้ว
 
 
พล.ต.บุรินทร์เบิกความต่อว่า กลุ่มบุคคลที่ฟังรายการและกระทำตามรายการบอกนั้นฝ่ายความมั่นคงเคยเรียกไปปรับทัศนคติด้วย  เพราะเป็นนโยบายว่าให้นำมาพูดคุย ให้เลิกหลงผิดและเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง และในมุมของฝ่ายความมั่นคงก็ไม่ได้มองชาวบ้านเป็นศัตรู จะมองคนที่ยากจะแก้ไขและกระทำโดยมีแนวโน้มที่อันตราย
 
 
พล.ต.บุรินทร์ระบุด้วยว่า ภารกิจนี้เป็นภารกิจคสช. แล้วโอนถ่ายมายังสันติบาล ปัจจุบันยังถูกจับตาอยู่ หลังจากการฟ้องคดีนี้และหลังวันที่ 5 ธันวาคม 2561 ไม่ได้รับรายงานว่า จำเลยในคดีนี้ไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมชขององค์กรสหพันธรัฐไทอีก 
 
 
จากนั้นพล.ต.บุรินทร์หารือกับศาลว่า ตอนบ่ายมีประชุมจะเลื่อนศาลได้หรือไม่ ศาลบอกว่าเลื่อนประชุมแทนง่ายกว่า เลื่อนศาลไม่ได้ และไม่มีวันนัดแล้ว พยานยังถูกขังอยู่ จะทำให้คดีล่าช้าไปอีก  ขณะเดียวกันศาลก็พยามเร่งทนายให้ถามให้จบเสียที
 
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามค้าน
 
พล.ต.บุรินทร์เบิกความว่า หลังจากการรัฐประหาร หลายคนหนีไปต่างประเทศ เพราะหากอยู่ในประเทศไทยก็จะถูกดำเนินคดี  ส่วนตัวเขาเคยได้คุยกับจำเลยในคดีนี้ แค่วรรณภา จำเลยที่สี่เท่านั้น
และไม่ทราบด้วยว่า จำเลยแต่ละคน มีฐานะอย่างไร  พล.ต.บุรินทร์รับว่า เท่าที่ติดตามและทราบจากฝ่ายข่าว จำเลยไม่ได้ครอบครองอาวุธ ทั้งในการวางใบปลิว สติ๊กเกอร์และเสื้อของจำเลยทั้งหมดก็เป็นวิธีการชักจูงมวลชนเพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย
 
 
 
ตอบทนายจำเลยที่สามถามค้าน
 
พล.ต.บุรินทร์รับว่า ประพันธ์ จำเลยที่สามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดรายการและไม่มีหลักฐานว่า จำเลยที่สาม ร่วมแสดงความคิดเห็นในรายการ
 
 
 
ตอบทนายจำเลยที่สี่ถามค้าน
 
พล.ต.บุรินทร์ตอบทนายจำเลยที่สี่ว่า คสช. มีคำสั่งที่ 3/2558 สามารถควบคุมบุคคลได้ 7 วัน ผู้มีความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112,116, คดีอาวุธและคดีชุมนุมเกินห้าคน เอกสารที่เกี่ยวข้องเช่น บันทึกตรวจค้นและรายละเอียดของกลางมีเฉพาะของฝั่งทหาร เมื่อมีการควบคุมตัวบุคคล บุคคลใดก็เข้าเยี่ยมไม่ได้ ยกเว้นอาจมีการอนุญาต กรณีวรรณภา ถูกร้องเรียนให้ลูกชายเขาเยี่ยมพร้อมอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน ในการเข้าเยี่ยมมีการตรวจสถานที่ควบคุม
 
 
 
 
พยานโจทก์ปากที่สอง พล.ต.ต. สุรศักดิ์ ขุนณรงค์  เจ้าหน้าสืบสวน
 
 
 
 
20 พฤศจิกายน 2562
นัดสืบพยานโจทก์
 
พยานโจทก์ปากที่สาม พ.ต.ท.ณพอนนท์ ส่องแสงจันทร์ ข้าราชการหน่วยตำรวจสันติบาลจังหวัดสมุทรปราการ 
 
 
พ.ต.ท.ณพอนนท์ เบิกความว่า เป็นข้าราชการตำรวจของกองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่จับกุมและสืบสวนผู้กระทำผิด ปลายปี 2561 เขาได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปตรวจสอบว่า วรรณภา จำเลยที่สี่ พักอาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการหรือไม่ สาเหตุที่ให้ไปตรวจสอบเพราะได้รับแจ้งว่า วรรณภา มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มสหพันธรัฐไท ซึ่งจำเลยเป็นผู้รวบรวมนำส่งเสื้อยืดสหพันธรัฐไทและแจกจ่ายให้กับสมาชิกในกลุ่ม หลังจากสืบสวนสอบสวนจึงพบว่า วรรณภาอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนท์ บริเวณตำบลสำโรงเหนือ จังหวัดสมุทรปราการ เขาจึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ทหาร 
 
 
ในเดือนกันยายน 2561 เขาและเจ้าหน้าที่ทหารได้ไปหาจำเลยที่อพาต์เมนท์ดังกล่าว เมื่อเข้าไปในห้องพัก พ.ต.ท.ณพอนนท์ ได้ตรวจพบเสื้อยืดสีดำที่มีสัญลักษณ์สหพันธรัฐไทจำนวนประมาณ 454 ตัว และสมุดบันทึกที่จดว่าเสื้อถูกส่งไปให้ที่ใด รวมถึงเอกสารบันทึกไซส์เสื้อและบัญชีการส่งเสื้อ ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ทหารได้ทำการยึดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ของวรรณภาไป เจ้าหน้าที่ทหารได้สอบถามวรรณภาว่า ได้รับเสื้อมาจากที่ใด วรรณภาตอบว่าได้รับมาจากมารดา แต่ไม่ทราบว่ามารดาอยุูที่ใด 
 
 
เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจค้นข้อมูลในโทรศัพท์ก็พบรูปภาพเอกสารคล้ายใบปลิว  ซึ่งเป็นการถ่ายใบปลิวตามสถานที่ต่างๆ พ.ต.ท.ณพอนนท์กล่าวว่า เขาไม่ได้เป็นคนตรวจค้นแต่ทราบจากแหล่งข่าวว่า การถ่ายรูปเอกสารใบปลิวดังกล่าวเป็นการแสดงให้ปรากฎว่า กลุ่มสหพันธรัฐไทได้เกิดขึ้นเพื่อที่จะบอกกล่าวให้กลุ่มและแกนนำรับทราบ รวมถึงกล่าวว่าที่ทำไปเพราะหวังค่าตอบแทน 
 
 
เจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัววรรณภาไปที่ มทบ.11 โดยมีพ.ต.ท.ณพอนนท์ตามไปส่งแต่เขาไม่ได้ร่วมกระบวนการซักถามแต่อย่างใด พ.ต.ท.ณพอนนท์ได้รับทราบข้อมูลจากแหล่างข่าวว่าวรรณภา ได้รับเสื้อมาจากมารดาที่อยู่ สปป.ลาว โดยรอบแรกรับเสื้อมาประมาณ 50-60 ตัว รอบที่สองรับมาประมาณ 200 ตัว และรอบที่สามรับมา 300 ตัว 
 
        
ทนายจำเลยถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยถามว่า ในตอนที่เข้าค้นห้องพักของจำเลย พ.ต.ท.ณพอนนท์ได้เปิดดูเสื้อหรือไม่ พ.ต.ท.ณพอนนท์ เบิกความว่า พ.ต.ท.ณพอนนท์ ได้เปิดดูและพบว่าเป็นเสื้อคอกลมมีสัญลักษณ์สหพันธรัฐไท ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.ณพอนนท์ ได้ถามถึงที่มาของเสื้อยืดหรือไม่ พ.ต.ท.ณพอนนท์ เบิกความว่า เขาไม่ได้ถามจำเลย
 
 
ทนายจำเลยถามว่า โทรศัพท์ของจำเลยเป็นยี่ห้ออะไร พ.ต.ท.ณพอนนท์ เบิกความว่า  เขาไม่ได้เป็นคนเปิดโทรศัพท์ด้วยตนเอง แต่เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ทหารของคสช.เป็นคนตรวจค้นมือถือซึ่งพ.ต.ท.ณพอนนท์ จำชื่อไม่ได้ พ.ต.ท.ณพอนนท์ กล่าวว่า แต่เขาจำได้ว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้
 
 
ทนายจำเลยถามว่า เจ้าหน้าที่ทหารดูภาพในมือถือจากในแอพพลิเคชั่นใด พ.ต.ท.ณพอนนท์ เบิกความว่า เขาไม่แน่ใจว่าดูจากแอพพลิเคชั่นใด เห็นแค่ภาพที่อยู่ในโทรศัพท์เท่านั้น
 
 
ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.ณพอนนท์ทราบหรือไม่ว่ารูปเหล่านี้ได้ถูกส่งไปที่บุคคลใดบ้าง พ.ต.ท.ณพอนนท์ เบิกความว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่า การที่พ.ต.ท.ณพอนนท์ ไปสืบสวนสอบสวนนั้นได้รับอำนาจมาจาก คสช. ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ณพอนนท์ ตอบว่าใช่ เขาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทหาร ซึ่งมีการทำบันทึกควบคุมตัวภายหลังแต่ไม่ได้ลงชื่อเซ็นเป็นผู้ร่วม
 
 
ทนายจำเลยถามว่า ตามหลักฐานภาพใบปลิวดังกล่าวได้เห็นจำเลยอยู่ในภาพหรือไม่ พ.ต.ท.ณพอนนท์ ตอบว่าไม่ มีแค่ใบปลิว ทนายจำเลยถามว่า ได้อ่านข้อความในใบปลิวหรือไม่ พ.ต.ท.ณพอนนท์ เบิกความว่า ได้อ่านข้อความแต่จำไม่ได้  ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.ณพอนนท์ไม่ได้เป็นผู้ยึดใบปลิวหรือสติกเกอร์และภาพดังกล่าวจะถูกถ่ายเมื่อใดนั้นก็จำไม่ได้ ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ณพอนนท์รับว่า ใช่
 
 
ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.ณพอนนท์ ได้เกี่ยวข้องกับการปล่อยตัวของจำเลยหรือไม่ เจ้าหน้าที่ทหารได้แจ้งให้พ.ต.ท.ณพอนนท์ ทราบถึงการปล่อยตัวของจำเลยหรือไม่ พ.ต.ท.ณพอนนท์ เบิกความว่า ไม่เกี่ยวข้องและไม่ทราบ
 
 
26 พฤศจิกายน 2562
นัดสืบพยานจำเลย
 
 
เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 802 กฤษณะ, เทอดศักดิ์, ประพันธ์และวรรณภา จำเลยที่หนึ่งถึงสี่ อัยการโจทก์และทนายจำเลยเดินทางมาพร้อมกันที่ห้องพิจารณา โดยมีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและผู้แทนของผู้สังเกตการณ์จากองค์กร TrialWatch มาร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วย ส่วนจินดา จำเลยที่ห้า หลบหนี ศาลออกหมายจับและจำหน่ายคดีชั่วคราว
 
 
เวลา 9.40 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ ทนายจำเลยเชิญตัววรรณภา จำเลยที่สี่มาที่คอกพยาน ศาลกล่าวว่า ขอให้จำเลยเบิกความตามลำดับหนึ่งถึงสี่ แต่ทนายจำเลยแจ้งว่า จำเลยที่หนึ่งถึงสามจะไม่ประสงค์จะเบิกความ มีเพียงจำเลยที่สี่เท่านั้นที่ประสงค์จะเบิกความ ศาลกล่าวในทำนองที่ว่าแล้วจะทราบข้อเท็จจริงได้อย่างไร แต่ก็ยินยอมให้เป็นไปตามที่ทนายจำเลยและจำเลยต้องการ
 
 
วรรณภาเบิกความว่า อายุ 34 ปี ปัจจุบันว่างงาน เนื่องจากป่วยต้องพักรักษาตัว ช่วงที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวนั้นเธอทำงานเป็นคนขับรถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง มีรายได้วันละประมาณ 400-500 บาท เธออาศัยอยู่ที่ห้องเช่าแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ค่าเช่าเดือนละ 1,700 บาท โดยอาศัยกับลูกชายสองคน คนโตอายุ 14 ปี คนเล็กอายุเก้าปี เธอจบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่หก
 
 
เกี่ยวกับแม่ของวรรณภา เธอเบิกความว่า แม่ของเธอชื่อสมพิศ สมบัติหอม ปี 2557 มีเจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านแม่ของเธอ แต่ไม่พบตัวแม่ของเธอเนื่องจากแม่ของเธอหนีออกจากบ้านไปก่อนหน้าแล้ว นับแต่นั้นเธอไม่สามารถติดต่อแม่ของเธอได้ หลายปีต่อมา ประมาณปี 2559 จำวันเดือนที่ชัดเจนไม่ได้ เพื่อนของแม่ชื่อว่า กนกพร ไม่ทราบนามสกุล ได้สอบถามเธอว่า อยากไปเยี่ยมแม่ของเธอหรือไม่ เธอตอบตกลง จากนั้นกนกพรหรือที่เธอเรียกว่า ป้ากนกพรนั้นก็พาเธอไปที่ประเทศลาว ที่นั่นเธอได้พบกับแม่ของเธอ พักอยู่ประมาณสองสามวัน ทนายจำเลยถามย้อนว่า วรรณภาได้ถามแม่ของเธอหรือไม่ว่า ทำไมถึงต้องลี้ภัยไปที่ประเทศลาว วรรณภาตอบว่า ถามและแม่ตอบว่า เหตุที่ไปเพราะว่ากลัวทหาร หลังจากนั้นกลับมาจากประเทศลาวก็ไม่ได้ติดต่อกับแม่ของเธออีกเลย
 
 
จนกระทั่งปี 2561 แม่ของวรรณภาเปิดบัญชีเฟซบุ๊กและติดต่อกับเธอ เดือนกรกฎาคม 2561 เธอจึงเดินทางไปหาแม่ที่ประเทศลาวอีกครั้ง โดยพาบุตรชายคนเล็กไปด้วย เท่าที่จำได้วันที่เดินทางคือวันที่ 14 หรือ 15 กรกฎาคม 2561 ครั้งนั้นแม่ของเธออยู่กับพ่อเลี้ยงชื่อ คำไพ แซงแสวง และหลานหนึ่งคน ซึ่งเป็นลูกของน้องสาว ตอนนั้นที่ไปพบเนื่องจากเธอคิดถึงแม่เพราะไม่ได้พบกันมาสองปีแล้ว ระหว่างการพบกันมีการพูดคุยเรื่องทั่วไปตามประสาแม่ลูก ระหว่างนั้นเธอเห็นว่า ในบ้านของแม่มีถุงกระสอบเสื้อสองกระสอบ จึงถามว่า ทำไมถึงมีเสื้อเยอะ แต่แม่ถามกลับมาว่า อยากมีรายได้ไหม เธอบอกว่า อยากเพราะว่า รายรับในปัจจุบันไม่พอกับค่าใช้จ่าย แม่จึงบอกให้เธอนำเสื้อมาไปเพื่อนของแม่ ส่วนรายชื่อและที่อยู่จะบอกทีหลัง
 
 
ตอนนั้นเธอสังเกตว่า เสื้อดังกล่าวมีสัญลักษณ์ที่เธอไม่รู้จักและไม่ทราบความหมาย ไม่มีตัวหนังสือจึงถามแม่ว่า เป็นเสื้ออะไร แม่บอกว่า เป็นเสื้อธรรมดา จากนั้นเช้าวันถัดมาเธอจึงนำเสื้อ 60 ตัวจากประเทศลาวข้ามส่งไปรษณีย์ที่หนองคาย วันที่ไปส่งเธอนำเสื้อของมาวางและบรรจุใส่กล่องอย่างเปิดเผย คนจำนวนมากเห็น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เห็นยังทักเลยว่า ขายดีจัง แต่ไม่มีใครทักว่า เสื้อผิดกฎหมายเลย โดยเธอส่งเสื้อไปตามที่อยู่ที่แม่ของเธอจดมาให้ ซึ่งปัจจุบันจำรายชื่อที่ส่งไม่ได้แล้วเนื่องจากมีจำนวนหลายคน เมื่อส่งเสื้อเสร็จแล้วเธอกลับเข้าไปยังประเทศลาวอีกครั้งและทานข้าวกับแม่ วันถัดมาจึงกลับไทยพร้อมเสื้ออีกสองกระสอบ ตอนที่ผ่านเข้าด่านตรวจคนเข้าเมืองนั้น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้ยึดเสื้อไปสองตัวและให้เธอจ่ายเงิน 1,500 บาท ไม่ได้บอกว่า เสื้อมีเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย จากนั้นจึงนำเสื้อกลับห้องพักที่จังหวัดสมุทรปราการ
 
 
ต่อมาแม่ของเธอได้ส่งรายชื่อและที่อยู่จัดส่งเสื้อมาให้เธอผ่านทางข้อความเฟซบุ๊ก และส่งเสื้อไปตามที่อยู่ดังกล่าว เธอจำไม่ได้ว่า ส่งเสื้อไปมากน้อยเท่าไหร่ แต่ในแต่ละครั้งจะส่งประมาณ 20-30 ตัว
 
 
เดือนสิงหาคม 2561 แม่ของเธอให้ไปรับเสื้ออีกครั้งที่ซอยพหลโยธิน 67 จำนวน 240 ตัว ที่ที่ไปรับเป็นบ้านหลังหนึ่งในซอยดังกล่าวแต่จำเลขที่บ้านไม่ได้แล้ว เมื่อรับเสื้อเสร็จจึงขนเสื้อขึ้นแท๊กซี่กลับห้องพักที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยครั้งนั้นแม่ให้เงิน 2,000 บาท เป็นค่ารถไปรับเสื้อ เมื่อกลับห้องพักก็ใช้ชีวิตปกติ ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างหาเลี้ยงชีพปกติ
 
 
จนกระทั่งมีทหารไปที่ห้องพักและควบคุมเธอไปที่ มทบ.11 พร้อมกับเสื้อดำในห้องพัก  ตอนแรกเธอเข้าใจว่า ที่เจ้าหน้าที่ทหารมาจับกุมเธอพร้อมกับเสื้อเป็นเพราะเสื้อหนีภาษี แต่เจ้าหน้าที่ทหารบอกว่า เสื้อดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความมั่นคง โดยมีการนับจำนวนเสื้อที่เหลืออยู่พบว่า มีประมาณ 400 ตัว ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ทหารได้มีการยึดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือของเธอไปด้วย  อย่างไรก็ตามเธอให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
 
 
วรรณภาเบิกความต่อว่า เธอถูกควบคุมตัวที่มทบ.11 เป็นเวลาเจ็ดวัน เจ้าหน้าที่มีการซักถามเยอะมาก เธอไม่ทราบว่าก่อนว่า เสื้อดังกล่าวผิด บอกว่า ที่ทำไปเพราะอยากมีรายได้เสริมเท่านั้น ในแต่ละวันเจ้าหน้าที่จะผลัดเปลี่ยนเวียนหน้าไม่ซ้ำเข้ามาถามในคำถามเดิมที่เธอตอบไปแล้วว่า ไม่ทราบ
 
 
ทนายจำเลยถามว่า ในขั้นตอนการเซ็นในเอกสารคำให้การวรรณภาได้อ่านทวนหรือไม่ วรรณภาตอบว่า ตอนนั้นที่ต้องเซ็นเพราะอยากกลับบ้านและภาพต่างๆที่ให้เซ็นรับรอบก็เห็นว่า เอามาจากโทรศัพท์ของเธอจึงเซ็นไป แต่ไม่ได้มีการอ่านทวนรายละเอียดให้ชัดเจนทั้งหมด กรณีที่พล.ต.ต.สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ มาเบิกความในฐานะพยานโจทก์ว่า เคยเข้าไปซักถามเธอในมทบ.  เธอไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ในช่วงเวลาเจ็ดวันที่ถูกควบคุมตัวนั้นมีเจ้าหน้าที่หลายคนมาถามคำถามและไม่เคยมีใครแนะนำตัวว่า ชื่ออะไรและมาจากหน่วยงานใด
 
 
ทนายจำเลยถามว่า แล้วภาพถ่ายที่วรรรภาถ่ายภาพกับผ้าห่มและมีข้อความเขียนว่า สหพันธรัฐไทหมายความว่าอย่างไร วรรณภาตอบว่า มีวันหนึ่งเธอต้องไปรับเสื้อที่สถานีรถไฟหนองคายและซื้อตั๋วเดินทางกลับกรุงเทพฯได้เวลาเย็นจึงข้ามไปหาแม่ที่ประเทศลาว โดยที่แม่ไม่ได้รู้มาก่อน ที่บ้านแม่มีผ้าห่มดังกล่าวกองอยู่ด้วยความที่เป็นคนชอบถ่ายรูปจึงถ่ายไว้ ไม่ทันได้สังเกตป้ายผ้าที่มีข้อความสหพันธรัฐไทและไม่ทราบความหมายของข้อความดังกล่าวด้วย ทั้งก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยได้ยินชื่อของสหพันธรัฐไทมาก่อน ขณะที่แม่ของเธอก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องดังกล่าวกับเธอ
 
 
วรรณภาเบิกความต่อว่า แม่ของเธอได้ส่งข้อความมาทางเฟซบุ๊ก ส่งภาพเอกสารฉบับหนึ่งมาให้และบอกว่า ให้เธอไปถ่ายภาพข้อความดังกล่าวตามสถานที่ต่างๆ เธอพิมพ์เอกสารดังกล่าวออกมาและไปถ่ายตามสถานที่ต่างๆ เมื่อถ่ายภาพเสร็จจึงส่งภาพไปให้แม่และฉีกเอกสารทิ้ง ตอนที่ไปถ่ายภาพนั้นเธอไม่ได้อ่านข้อความในเอกสารด้วยซ้ำ เพิ่งจะมาขอทนายความอ่านข้อความเมื่อเช้า เขียนในทำนองว่า จะทำให้คนแก่มีรายได้ มีชีวิตที่ดีขึ้น
 
 
ขณะที่ในเฟซบุ๊กของเธอไม่มีการโพสต์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือข้อความเกี่ยวกับสหพันธรัฐไท หลังจากที่ถูกดำเนินคดี มีตำรวจไปที่บ้านอยู่เนืองๆ บางครั้งก็ให้รายงานตัวที่สถานีตำรวจบ้าง แต่เธอก็ให้ความร่วมมือโดยตลอด และไม่เคยกลับไปที่ประเทศลาวอีก เธอไม่เคยรู้จักหรือเคยพบลุงสนามหลวงมาก่อน
 
 
ตอบโจทก์ถามค้าน
 
 
อัยการถามว่า ตามที่จำเลยให้การระหว่างการควบคุมตัวไปว่า วันที่ 14-15  กรกฎาคม 2561 ได้เดินทางไปเยี่ยมแม่ที่ประเทศลาว ตามคำชักชวนของเตียง พลลาภ ข้อเท็จจริงดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ วรรณภาตอบว่า ไม่ถูกต้อง เธอเดินทางไปเพราะคิดถึงแม่ เคยรู้จักเตียงจริง เพราะอาศัยอยู่ที่ประเทศลาว ห่างจากบ้านแม่ของเธอไปสามกิโลเมตร เธอรับว่า เคยไปเยี่ยมเตียงที่บ้านจริง
 
 
อัยการถามว่า ในช่วงที่กลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุม แม่และเตียงเคยชุมนุมกับกลุ่มดังกล่าวด้วยใช่หรือไม่ วรรณภาตอบว่า ส่วนของเตียงเธอไม่ทราบ แต่ทราบว่า แม่ของเธอไปทำกับข้าวให้คนในที่ชุมนุมและเนื่องจากแม่มีอาชีพเก็บของเก่าก็มักจะเอาถุงไปเก็บขวดในที่ชุมนุม
 
 
อัยการถามว่า วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ทหารเข้าค้นบ้านแม่ของวรรณภาด้วยเหตุอะไร วรรณภาตอบว่า วันดังกล่าวทหารเข้ามาค้นบ้านของแม่ที่เป็นสถานที่เก็บของเก่ากล่าวหาว่า เป็นสถานที่เก็บอาวุธแต่ไม่พบอะไร
 
 
อัยการถามว่า วรรรภาทราบหรือไม่ว่า เตียง พลลาภเคยถูกกล่าวหาว่า วางระเบิดห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งวรรณภาได้รับรองภาพถ่ายของเตียงไว้แล้วด้วย วรรณภาตอบว่า เจ้าหน้าที่ทหารที่มทบ.11 นำรูปของเตียงมาให้ดู เธอทราบว่า เป็นเตียงจึงรับรองไป แต่ไม่ทราบว่า เตียงจะกระทำความผิดตามที่อัยการถามหรือไม่
 
 
อัยการถามว่า ที่เตียงกับแม่ของวรรณภาต้องหลบหนีไปที่ประเทศลาวเพราะว่า มีความคิดเห็นไม่ตรงกับรัฐบาลทางนี้ วรรรภาตอบว่า ทราบว่า แม่กลัวทหาร แต่ส่วนของเตียงหรือเธอเรียกว่า ลุงเมี่ยงนั้นไม่ทราบ แต่คิดว่า เตียงมีอาชีพขับรถส่งของ คงไปทำงานส่งของที่ประเทศลาว
 
 
อัยการถามว่า ในคำให้การเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 วรรณภากล่าวว่า ไปเยี่ยมแม่ของเธอที่อยู่ในประเทศลาวตามคำชักชวนของเตียง วรรณภาตอบว่า ใช่ อัยการถามว่า ตามคำให้การวรรณภาระบุว่า ไปรับเสื้อสหพันธรัฐไท วรรณภาตอบว่า ให้การว่า ไปรับเสื้อที่ติดธงสหพันธรัฐไทมาจากแม่ของเธอ แต่ทราบว่า เป็นธงของสหพันรัฐไทหลังจากถูกควบคุมตัวที่มทบ. 11
 
 
อัยการถามว่า ตามคำให้การ วรรณภาเขียนด้วยลายมือตัวเองว่า มารับเสื้อสหพันธรัฐไท หมายความว่า วรรณภาทราบอยู่แล้วว่า เป็นเสื้อของสหพันธรัฐไทใช่หรือไม่ วรรณภาตอบว่า ไม่ทราบว่า เป็นเสื้อของสหพันธรัฐไท ทราบวันที่ 7 กันยายน 2561 ที่ถูกควบคุมที่มทบ.11 เมื่อทราบแล้วจึงให้การไปตามที่ทราบจากทหาร
 
 
ทนายจำเลยถามติง
 
 
ทนายจำเลยถามว่า ทราบมาก่อนหรือไม่ว่า เตียงมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรง วรรณภาตอบว่า ไม่ทราบจนกระทั่งทหารนำภาพมาให้ดู ตอนที่ไปพบเตียงที่ประเทศลาว ไม่เคยมีการพูดคุยเรื่องความรุนแรงใดๆ เตียงก็ทำมาหาเลี้ยงชีพปกติ เลี้ยงกบตามประสา ทนายจำเลยถามว่า ตอนที่ทหารไปค้นบ้านของแม่วรรณภานั้นไม่พบอาวุธใดๆใช่หรือไม่ วรรณภาตอบว่า ค้นทั้งบ้านไม่พบอาวุธใดๆเลย แต่ตอนจะกลับเห็นว่า พบกระสุนปืนสองนัด แต่ไม่ทราบว่า เป็นกระสุนอะไร
 
 
เวลา 10.30 น. เสร็จสิ้นการสืบพยานในปากนี้ ทนายจำเลยแถลงหมดพยาน ศาลปรึกษาโจทก์และจำเลยเรื่องนัดฟังคำพิพากษา ศาลขออ่านวันที่ 17 มกราคม 2563 แต่ทนายจำเลยแถลงว่า วันดังกล่าวจำเลยที่สามมีนัดสืบพยานอีกคดีหนึ่งที่ศาลนี้ ศาลขอให้แถลงต่อองค์คณะดังกล่าวว่า มาฟังคำพิพากษาคดีนี้ก่อนได้หรือไม่ ทนายจำเลยไม่สะดวก ศาลเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาไปวันที่ 21 มกราคม 2563 แทน
 
 
เมื่อพูดคุยเสร็จแล้ว ศาลต้องรอให้หน้าบัลลังก์พิมพ์คำเบิกความและกระบวนพิจารณาคดีให้เสร็จ ศาลได้ถามในทำนองคุยเล่นว่า บุคคลที่นั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีเป็นใครบ้าง มาจากองค์กรใดและเคยมาฟังการพิจารณาคดีแล้วหรือไม่ เวลา 11.00 น. ศาลอ่านคำเบิกความและกระบวนพิจารณาคดีให้จำเลยฟัง  เสร็จสิ้นการสืบพยานในเวลา 11.40 น.

 

21 มกราคม 2563

นัดฟังคำพิพากษา

 

ตั้งแต่เวลา 8.40 น. กฤษณะ จำเลยที่หนึ่ง เทอดศักดิ์ จำเลยที่สอง ทนายจำเลย พร้อมด้วยนายประกันทยอยมาที่ห้องพิจารณาคดี โดยวันนี้มีการสืบพยานในคดีอื่นด้วย ทำให้ห้องพิจารณาคดีมีคนค่อนข้างมาก ต่อมาเวลา 9.30 น.ประพันธ์ จำเลยที่สามถูกเบิกตัวขึ้นมาจากใต้ถุนศาล หลังจากนั้นเวลา 9.40 น. ศาลจึงขึ้นนั่งบัลลังก์สอบถามว่า จำเลยในคดีสหพันธรัฐไทมาพร้อมฟังคำพิพากษาแล้วหรือไม่ ทนายจำเลยแจ้งว่า วรรณภายังเดินทางมาไม่ถึง ศาลจึงสั่งให้ทนายจำเลยติดตามมา ก่อนจะสืบพยานในคดีอื่นไปพลาง
 
 
ต่อมาเวลา 10.00 น. วรรรภาพร้อมด้วยบุตรชายเดินทางมาถึงศาล เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทำการใส่กุญแจมือจำเลย ศาลที่มีวัยวุฒิสูงสุดบอกให้จำเลยทั้งสี่คนลุกขึ้นยืน พร้อมทั้งบอกว่า ศาลจะอ่านคำพิพากษา จากนั้นเรียกชื่อจำเลยทีคนละคนตามลำดับและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งสี่คนฟังว่า จำเลยทั้งสี่ถูกพนักงานอัยการสั่งฟ้องว่า กระทำความผิดความมั่นคงตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาและฐานอั้งยี่ตามมาตรา 209 ของประมวลกฎหมายอาญา ในชั้นศาลจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ จากนั้นจึงถามจำเลยทั้งสี่คนว่า ให้การปฏิเสธถูกต้องหรือไม่ จำเลยรับว่า ถูกต้อง ศาลอีกท่านหนึ่งจึงเริ่มอ่านคำพิพากษา 
 
 
ให้ลงโทษจำเลยที่หนึ่งถึงสี่ตามมาตรา 209 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 83 จำคุก 3 ปี จำเลยที่สองและสามให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงโทษจำคุกจำเลยที่สองและสามสองปี
 
 
เวลา 10.27 น. ศาลอ่านคำพิพากษาจบ เทอดศักดิ์ จำเลยที่สองถามต่อศาลว่า ผมไม่เคยทำความผิดมาก่อน ศาลไม่ลดโทษให้เลยหรือ ศาลบอกว่า ลดโทษให้แล้ว วรรณภาจึงถามคำถามเดียวกัน ศาลตอบว่า ไม่มีเหตุให้ลดโทษ  ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ พยานหลักฐานมันเห็นว่า มีส่วนเกี่ยวโยงกัน และจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ ให้อุทธรณ์ต่อไป 

คำพิพากษา

ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยที่หนึ่งถึงสี่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำการค้นบ้านพักและเชิญตัวไปซักถามตามบันทึกการซักถามที่โจทก์ได้นำส่งมาเป็นหลักฐานประกอบคดี คดีนี้มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดหรือไม่ ก่อนอื่นสมควรต้องวินิจฉัยก่อนว่า องค์กรสหพันธรัฐไทมีอยู่จริงและองค์กรได้กระทำการที่เป็นความผิดหรือไม่ โจทก์มีพยานโจทก์นำสืบในประเด็นดังกล่าวห้าคนคือ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้กล่าวหา, พล.ต.ต. สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ตำรวจผู้ได้รับหน้าที่จาก คสช.ให้ทำหน้าที่สืบสวนและซักถามจำเลยทั้ง 5 ร่วมกับฝ่ายทหาร, พ.ต.ท.ณพอนนท์ ส่องแสงจันทร์ ตำรวจสันติบาลผู้สืบสวนหาข่าว, พ.ต.ท. เสวก บุญจันทร์ พนักงานสอบสวนและร.ต.อ.ครรชิต สีหรอด ตำรวจสันติบาล ที่ให้การยืนยันว่า ภายหลังคสช.ได้เข้าปกครองประเทศ ได้มีการสั่งการให้เฝ้าระวัง สืบสวนสอบสวนบุคคลที่มีพฤติการณ์ละเมิดกฎหมายความมั่นคง ก่อความวุ่นวายในราชอาณาจักร มุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
 
 
จากการสืบสวนทราบว่า วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ หรือสหายหมาน้อย ที่มีพฤติการณ์สะสมอาวุธและเคยใช้อาวุธโจมตีกลุ่มกปปส. ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง ที่เดิมฝักใฝ่พรรคคอมมิวนิสต์ สยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง กฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด วัฒน์ วรรลยางกูร และสุรชัย แซ่ด่าน(ด่านวัฒนานุสรณ์) ที่เคยถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาและได้รับพระราชทานอภัยโทษ ร่วมกันมีพฤติการณ์ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และมีแนวคิดเปลี่ยนแปลงระบบศาลให้เป็นระบบลูกขุน  โดยทั้งหมดหลบหนีไปยังประเทศลาว จัดตั้งกลุ่มชื่อว่า สหพันธรัฐไท เผยแพร่ประชาสัมพันธ์แนวคิดผ่านสื่อสังคมออนไลน์เช่น ยูมูป เฟซบุ๊กและไลน์
 
 
เนื้อหาการจัดรายการผ่านสื่อสังคมออนไลน์มีลักษณะให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์และล้มล้างระบอบการปกครอง ชักชวนและปลุกปั่นประชาชนให้แสดงออกในแนวทางดังกล่าว เห็นว่า โจทก์มีพยานบุคคลหลายปาก ต่างเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่สืบสวนขึ้นเบิกความเป็นพยานโดยตรง ข้อเท็จจริงสอดคล้องว่า มีกลุ่มบุคคลดังกล่าวจริง เจ้าหน้าที่ที่ทำการสืบสวนต่างปฏิบัติงานตามหน้าที่ ไม่ปรากฏการโกรธเคืองกับจำเลย คำเบิกความจึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยการกลั่นแกล้ง เป็นข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือ 
 
 
ในส่วนของวัตถุพยาน(วิดีโอรายการของกลุ่มสหพันธรัฐไท) พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า ได้ทำการตรวจสอบการจัดรายการลุงสนามหลวง เจ้าพนักงานทำการตรวจสอบถอดคำพูดอยู่หลายครั้ง พิมพ์ออกมาเป็นข้อความ เมื่อศาลตรวจสอบภาพและเสียง อ่านข้อความประกอบพบว่า บุคคลที่ใช้นามแฝงว่า ลุงสนามหลวง พูดในการจัดรายการ มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ชักจูงประชาชนในรายการจริง จากการตรวจสอบพบว่า มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มสหพันธรัฐไท มีลักษณะเป็นแกนนำทางความคิดตรงตามที่เจ้าพนักงานได้ทำการถอดคำพูด ข้อมูลภาพและเสียงไม่ขาดตอนต่อเนื่องเป็นเรื่องราว 
 
 
เจ้าพนักงานทำการตรวจสอบปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ปราศจากข้อเท็จจริงในการสร้างหลักฐานเท็จ เนื้อหารายการที่เผยแพร่มีจุดประสงค์ในการประชาสัมพันธ์หามวลชน จึงน่าเชื่อว่า เจ้าพนักงานได้ข้อมูลมาไม่ยาก ไม่มีเหตุพิรุธในการสร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อปรักปรำจำเลย ทั้งวัตถุพยานเป็นภาพจริงที่คณะบุคคลตามฟ้องร่วมทำ มีส่วนร่วมทำรายการในสื่อสังคมออนไลน์ยูทูป
 
 
วัตถุประสงค์ของกลุ่มดังกล่าวคือมุ่งหมายให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เชื่อได้ต่อไปว่า คณะบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกลุ่มสหพันธรัฐไท เมื่อพิจารณาแล้วมีการพูดยุยงให้ประชาชนเห้นพ้อง แสดงออกเช่นการลอบประทุษร้ายและลอบปลงพระชนม์[พระมหากษัตริย์] จึงเป็นความผิดตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต อันเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบตามมาตรา 116
 
 
ประเด็นวินิจฉัยต่อไปคือ จำเลยที่หนึ่งถึงสี่ร่วมกระทำการหรือไม่ เห็นว่า จากการนำสืบของโจทก์ จำเลยที่หนึ่งและสองได้นำแผ่นใบปลิวไปวางที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง มีหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ขณะที่จำเลยที่หนึ่งและสองนำใบแผ่นใบปลิวไปวาง นอกจากนี้่จากการตรวจค้นบ้านพักของจำเลยที่หนึ่งและสอง พบแผ่นใบปลิว สติกเกอร์ และเสื้อสีดำ เขียนข้อความด้วยน้ำหมึกสีน้ำเงินจำนวน 400 แผ่นที่บ้านพักของจำเลยที่สอง จากการซักถามจำเลยที่ให้ถ้อยคำยอมรับไว้ จำเลยที่สองก็ให้การยอมรับเช่นกัน
 
 
จำเลยที่สาม เจ้าพนักงานสืบทราบว่า เป็นระดับแกนนำที่เคลื่อนไหวภายในประเทศ ชักชวนบุคคลผ่านไลน์ จากการซักถามของเจ้าพนักงานจำเลยที่สามให้ถ้อยคำยอมรับไว้  จำเลยที่สี่เป็นบุตรของสมพิศ สมบัติหอมที่หลบหนีไปที่ประเทศลาว จำเลยที่สี่เป็นคนไปรับเสื้อสีดำไปส่งให้แก่สมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไททางไปรษณีย์หลายครั้ง จากการตรวจค้นบ้านพักของจำเลยที่สี่พบเสื้อดำติดธงสัญลักษณ์ขาวแดงขาวจำนวนมาก จำเลยที่สี่ให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานไว้ด้วย 
 
 
การที่เจ้าพนักงานตรวจพบภาพจากกล้องวงจรปิดในตอนที่จำเลยที่หนึ่งและสองนำแผ่นใบปลิวไปวางย่อมเป็นพยานชั้นดีว่า จำเลยที่หนึ่งและสองมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มสหพันธรัฐไท ประกอบกับการที่ตรวจพบแผ่นใบปลิว สติกเกอร์และเสื้อสีดำ จากบ้านพักของจำเลยที่หนึ่งและสอง เชื่อได้ว่า จำเลยที่หนึ่งและสองนำใบปลิวไปวางจริง และเป็นสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไทจริง แต่บทบาทหน้าที่ของจำเลยตามที่โจทก์เบิกความนั้นเห็นว่า มีเพียงการนำแผ่นใบปลิวไปวาง และเก็บแผ่นใบปลิวและสติกเกอร์ไว้ที่บ้านพักเท่านั้น
 
 
พิจารณาข้อความในแผ่นใบปลิวที่จำเลยทั้งสองนำไปวางเขียนทำนองว่า สหพันธรัฐไทเป็นการปกครองเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้ว จัดให้มีการเลือกตั้งในทุกระดับ มีคณะลูกขุนที่เลือกโดยประชาชน รัฐสวัดิการตั้งแต่เกิดจนถึงตาย การศึกษาฟรีตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย สนใจติดตามยูทูปช่องลุงสนามหลวง รหัส 20082008 เห็นว่า เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับสหพันธรัฐไทเท่านั้น ส่วนสติกเกอร์เขียนทำนองว่า สหพันธรัฐไทเป็นการปกครองแบบกระจายอำนาจ เลือกตั้งทุกตำแหน่งเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน เห็นว่า ข้อความไม่มีลักษณะใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายหรือไม่มีลักษณะปลุ่กปั่นประชาชนหรือไม่มีลักษณะให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
 
 
การกระทำของจำเลยที่หนึ่งและสองไม่น่าจะเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 116 ไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ความเกี่ยวข้องในเรื่องอื่นอย่างสำคัญ ส่วนความเกี่ยวข้องในฐานะผู้จัดรายการหรือผู้พูดในรายการ โจทก์นำสืบอ้างว่า เฟซบุ๊กของจำเลยที่หนึ่งมีการเผยแพร่ข้อความละเมิดมาตรา 116 พิเคราะห์แล้วไม่ปรากฏหลักฐานว่า จำเลยที่หนึ่งแสดงกิจกรรมที่เข้าข่ายความผิดดังกล่าว
 
 
จำเลยที่สามมีพฤติการณ์ชักชวนประชาชนผ่านไลน์ จำเลยที่สี่รับเสื้อดำที่ติดธงสัญลักษณ์ส่งให้แก่สมาชิกกลุ่มและถ่ายรูปคู่กับใบปลิวตามสถานที่ต่างๆ ไม่ปรากฏหลักฐานว่า จำเลยที่สี่ได้่วางแผ่นใบปลิวที่ใด ทั้งข้อความไม่มีลักษณะการปลุกปั่น การกระทำของจำเลยที่สามและสี่ไม่มีลักษณะใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายหรือไม่มีลักษณะปลุ่กปั่นประชาชนหรือไม่มีลักษณะให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เช่นเดียวกับจำเลยที่หนึ่งและสอง
 
 
ส่วนการพูดยุยงของคณะบุคคลดังกล่าวให้ทำการลอบประทุษร้ายและลอบปลงพระชนม์[พระมหากษัตริย์] ไม่อาจตีความได้ว่า ผู้จัดรายการพูดแทนจำเลยที่หนึ่งถึงสี่หรือเป็นการกระทำของจำเลยที่หนึ่งถึงสี่ไปด้วย
 
 
พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยบ่งชี้ชัดเจนว่า จำเลยที่หนึ่งถึงสี่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรสหพันธรัฐไท มีส่วนในการกระทำสนับสนุนช่วยเหลือให้คณะบุคคลดังกล่าวสามารถดำเนินงานต่อไปได้ เช่น การวางแผ่นใบปลิว สติกเกอร์หรือเสื้อดำ มีข้อความให้ติดตามทางยูทูป 20082008 รายการที่ดำเนินโดยคณะบุคคลดังกล่าวมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ฟังได้ว่า จำเลยที่หนึ่งถึงสี่เป็นสมาชิกกลุ่มที่มีวัตุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราหนึ่งถึงสาม มีการใช้ธง ใช้รหัสตัวเลขแทนความหมายที่ทราบเฉพาะในกลุ่มของตนเอง 
 
 
ในชั้นศาลจำเลยที่หนึ่งถึงสามไม่ได้เบิกความสืบพยาน เพียงให้การปฏิเสธลอยๆฟังไม่ขึ้น จำเลยที่สี่นำสืบ เบิกความว่า ไปเยี่ยมสมพิศ แม่ของจำเลยที่ประเทศลาว ที่นำส่งเสื้อดำนั้นเพียงต้องการมีรายได้ ไม่ทราบว่า เสื้อดังกล่าวมีความหมายใด หรือมีความหมายเกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไท ก่อนเกิดเหตุแม่ของจำเลยถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตาม จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงนี้เป็นอย่างดี และไม่ใช่เรื่องปกติ เมื่อจำเลยไปพบแม่ที่ประเทศลาว แม่ของจำเลยขอให้จำเลยส่งเสื้อให้ อยู่ในวิสัยที่จำเลยจำทราบได้ว่า เสื้อดังกล่าวมีความหมายถึงสิ่งใด ปรากฏตามภาพถ่ายใบปลิวที่มีข้อความที่ต่อเนื่องไปถึงองค์กรสหพันธรัฐไท การกระทำของจำเลยที่สี่ถือว่ามีส่วนช่วยให้องค์กรดำเนินงานต่อไปได้แล้ว ถือเป็นสมาชิก การหักล้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น
 
 
ให้ลงโทษจำเลยที่หนึ่งถึงสี่ตามมาตรา 209 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 83 จำคุก 3 ปี จำเลยที่สองและสามให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน**เป็นประโยชน์ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงโทษจำคุกจำเลยที่สองและสามสองปี

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา