สิรวิชญ์ตั้งโต๊ะปิดสวิตซ์ ส.ว. ที่เชียงราย

ผู้ต้องหา

สิรวิชญ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2562

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 16 พฤษภาคม  2562  กลุ่ม Startup People โดยสิรวิชญ์และธนวัฒน์ ได้เดินทางมาตั้งโต๊ะเชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อและเขียนข้อความลงในจดหมายเพื่อส่งถึงสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่ถูกเลือกโดยคสช.เรียกร้องให้ไม่ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เคารพต่อเจตจำนงของประชาชน ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย จังหวัดเชียงราย
 
จากพฤติการณ์ดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกผู้ชุมนุมทั้งหมดเจ็ดคนด้วยกัน ให้มารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตชุมนุม ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อัยการสั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงเชียงรายในวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 จากนั้นในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 จำเลยทั้งเจ็ดคนให้การปฏิเสธต่อศาลและศาลนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 26 – 28 สิงหาคม 2563

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สิรวิชญ์ หรือ "นิว"  ภูมิลำเนาเดิมมาจากจังหวัดนครราชสีมา จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  สมัยอยู่ชั้นปี 1-2 เคยทำงานอยู่ในสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนต่อมาเข้าร่วมกลุ่มสภาหน้าโดม เคยเป็นแกนนำเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องค่าอาหารของโรงอาหารกลางที่สูงเกินไป
 
หลังการรัฐประหาร 2557 สิรวิชญ์เข้าร่วมหรือเป็นผู้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหารหรือประท้วงคสช.หลายครั้งจนถูกดำเนินคดีชุมนุมฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบัที่ 7/2557 และ คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 จากการทำกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลักที่หอศิลป์กรุงเทพและกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ นอกจากนี้ก็ถูก ดำเนินคดีในความผิดตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯจากการจัดกิจกรรมโพสต์สิทธิ ปะโพสต์อิทที่สกายวอล์กบีทีเอสช่องนนทรีย์เพื่อเรียกร้องให้คสช.  ปล่อยตัวประชาชนที่ถูกคสช.ควบคุมตัวในช่วงเดือนเมษายนปี 2559
 
 
ธนวัฒน์  เป็นชาวจังหวัดเชียงใหม่ ขณะเกิดเหตุศึกษาอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธนวัฒน์เคยเป็นประธานนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ได้ลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 เพื่อประท้วงกรณีที่กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางคนไม่ยอมยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ 
 
 
วิทยา อดีตผู้สมัครนายกเทศมนตรีจังหวัดเชียงราย แกนนำกลุ่มคนเจียงฮายรักประชาธิปไตย
 
 
สราวุทธิ์  ปิดกิจการรับตัดแว่นและขายแว่นตาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยเขาและภรรยามีลูก 2 คน คนโตอายุ 5 ปี และคนเล็กเพิ่งคลอดอายุ 3 เดือน สราวุทธิ์เคยเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงในช่วงปี 2553 หลังจากนั้นก็ติดตามการเมืองมาโดยตลอด แต่ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้สังกัดกลุ่มใด ส่วนมากสราวุทธิ์มักใช้วิธีแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนโลกออนไลน์ ทำคลิปวีดีโอล้อเลียน เฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาจึงมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก
 
หลังการรัฐประหาร สราวุทธิ์ถูกทหารควบคุมตัวในค่ายเม็งรายมหาราชเป็นเวลา 7 วัน ก่อนถูกแจ้งข้อหากล่าวว่า ฝ่าฝืนประกาศ คสช.ที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง จากกรณีที่เขากับเพื่อนไปชูป้ายในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ทำกิจกรรมกินแมคโดนัลด์ต้านรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวเขาไปเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 คดีนี้ ศาลทหาร มทบ.37 จังหวัดเชียงราย พิพากษาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท และคดีมีเหตุอันควรปราณีเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี ศาลจึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้เป็นเวลา 1 ปี และให้จ่ายค่าปรับ 5,000 บาท
 
 
สมสิน  แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงแม่จัน
 
 
มะยูรี  นักกิจกรรม
 
 
จิตต์ศจีฐ์  เปิดร้านทำผมอยู่ในอำเภอเมืองเชียงราย โดยยึดอาชีพทำผมและเสริมสวยมากว่า 20 ปีแล้ว จิตต์ศจีฐ์มีลูกสองคน ลูกสาวคนเล็กยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงราย เธอสนใจการเมืองมาตั้งแต่วัยรุ่น ช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เธอใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯแม้ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์แต่เนื่องจากที่พักไม่ไกลจากสนามหลวงมากนัก ทำให้เธอเห็นแสงไฟของปืนจากดาดฟ้าของตึกที่เธออยู่ นำไปสู่ความฝังตาฝังใจถึงความรุนแรงและความโหดร้ายที่นักศึกษาถูกกระทำและตั้งคำถามเรื่องความไม่ยุติธรรมในสังคม ทำให้เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ทำให้เธอเป็นคนสนใจการเมืองคนนึง และได้เป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้าร่วมการชุมนุมเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงตั้งแต่ในปี 2552 จิตต์ศจีฐ์เดินทางไปร่วมกิจกรรมหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากมาเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่ช่วงวาเลนไทน์พอดี และได้เห็นข่าวกิจกรรมจากเพื่อนในเฟซบุ๊กจึงได้แวะเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มนักศึกษาและถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมา

 

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสรุปคำฟ้องของอัยการว่า ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ นายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจำเลยทั้งเจ็ดได้ทราบแล้ว 
 
ต่อมาในวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 จำเลยทั้งเจ็ดเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมและได้ร่วมกันจัดการชุมนุม เพื่อกระตุกมโนสำนึกของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งตามกฎหมาย ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีการจับกุม

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.680/2563

ศาล

ศาลแขวงเชียงราย

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

16 พฤษภาคม 2562

กลุ่ม Startup People โดยสิรวิชญ์และธนวัฒน์ ได้เดินทางมาตั้งโต๊ะเชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อและเขียนข้อความลงในจดหมายเพื่อส่งถึงสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่ถูกเลือกโดยคสช.เรียกร้องให้ไม่ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เคารพต่อเจตจำนงของประชาชน ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย จังหวัดเชียงราย
 
เดือนมิถุนายน 2562

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกให้ผู้ชุมนุมทั้งเจ็ดคน เรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 11 มิถุนายน 2562 
 
 
11 มิถุนายน 2562

ผู้ถูกออกหมายเรียกหลายรายติดภารกิจในวันนี้  จึงมอบหมายให้ทนายความทำหนังสือขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาออกไปในวันที่ 19 มิถุนายน 2562
 
19 มิถุนายน 2562
 
 
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า สิรวิชญ์ ธนวัฒน์ และชาวจังหวัดเชียงรายอีกห้าคน เข้าพบพนักงานสอบสวนสภ.เมืองเชียงราย เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ
 
15 กรกฎาคม 2562
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนต่ออัยการคดีศาลแขวงเชียงราย ในวันนี้ผู้ต้องหาหกคนเข้ารายงานตัวตามนัดส่วนสิรวิชญ์ ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งไม่สามารถเดินทางมารายงานตัวได้เนื่องจากต้องไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บจากการถูกทำร้าย หลังเสร็จสิ้นกระบวนการอัยการนัดผู้ต้องหาเข้าพบในวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 เพื่อฟังคำสั่งคดี
 
19 กรกฎาคม 2562
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อัยการคดีศาลแขวงเชียงรายมีคำสั่งเลื่อนการสั่งคดีออกไปเพราะอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำพยานเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง จึงเลื่อนไปสั่งคดีในวันที่ 20 สิงหาคม 2562

20 กันยายน 2562
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อัยการคดีศาลแขวงเชียงรายมีคำสั่งเลื่อนการสั่งคดีออกไปโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนคาดว่าอัยการน่าจะเลื่อนการสั่งคดีออกไปเพราะได้สั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าผู้ต้องหาคนใดบ้างที่เป็นผู้จัดการชุมนุมเพราะข้อกล่าวหาที่ใช้ฟ้องเป็นความผิดของผู้จัดการชุมนุมไม่รวมถึงผู้ร่วมการชุมนุม โดยให้เลื่อนไปฟังคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 29 ตุลาคม 2562

29 ตุลาคม 2562
 
อัยการมีคำสั่งเลื่อการสั่งคดีออกไปอีกหนึ่งนัด จากนั้นอัยการก็นัดผู้ต้องหามารายงานตัวเป็นระยะประมาณเดือนและหนึ่งครั้งแต่ก็เลื่อนออกไปจนกระทั่่งมาสั่งฟ้องในเดือนพฤษภาคม 2563
 
5 พฤษภาคม 2563
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อัยการคดีศาลแขวงเชียงรายนัดผู้ต้องหาทั้งเจ็ดเข้าพบที่ศาลแขวงเชียงรายเพื่อฟังคำสั่งคดี เนื่องจากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งเจ็ดในวันนี้พวกเขาจึงถูกควบคุมตัวในห้องควบคุมตัวของศาลระหว่างที่อัยการดำเนินขั้นตอนฟ้องคดี
 
ระหว่างที่อัยการดำเนินการฟ้องคดีทนายจำเลยก็ร้องขอให้ศาลปล่อยตัวจำเลยทั้งเจ็ดโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์โดยให้เหตุผลว่าคดีนี้มีเพียงโทษปรับและจำเลยทั้งเจ็ดเป็นเพียงบุคคลธรรมดาที่ไม่อาจยุ่งเยิงกับพยานหลักฐานได้
 
หลังศาลรับฟ้องอัยการได้ถามคำให้การจำเลยทั้งเจ็ดผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ จากนั้นศาลให้จำเลยทั้งเจ็ดสาบานตนและปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางเงินประกันตัว จากนั้นศาลกำหนดวันนัดคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเป็นวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 และนัดวันสอบคำให้การวันที่ 1 มิถุนายน 2563

ศูนย์ทนายความระบุด้วยว่าผู้ต้องหาทั้งเจ็ดต้องเดินทางมาพบอัยการเพียงเพื่อเซ็นรับทราบคำสั่งเลื่อนนัดจนกระทั่งอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องในวันนี้รวมสิบครั้งซึ่งเป็นภาระกับจำเลยพอสมควรโดยเฉพาะจำเลยที่ต้องเดินทางมาจากจังหวัดอื่น
 
1 มิถุนายน 2563
 
นัดสอบคำให้การ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า จำเลยทั้งเจ็ดร้องขอให้ศาลยกเลิกนัดคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเนื่องจากจำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี ศาลอนุญาต จากนั้นศาลสอบคำให้การ

จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ โดยประเด็นหลักที่จำเลยจะต่อสู้คดีได้แก่ ลักษณะของกิจกรรมไม่ถือเป็นการชุมนุมสาธารณะ และจำเลยหลายคนในคดีก็ไม่ใช่ผู็จัดการชุมนุม 

อัยการแถลงต่อศาลว่าจะนำพยานเข้าสืบรวม แปดปาก ได้แก่ ผู้พบเห็นการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่ในองค์กรส่วนท้องถิ่นซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบถามเกี่ยวกับการชุมนุมเป็นต้นทนายจำเลยแถลงว่าจะนำพยานเข้าสืบรวมเก้าปาก ได้แก่จำเลยทั้งเจ็ดและพยานผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ  

ศาลนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 26 – 28 สิงหาคม 2563
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา