สฤณี: เขียนบทความเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล

ผู้ต้องหา

สฤณี

สถานะคดี

ชั้นศาลฎีกา

คดีเริ่มในปี

2562

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

สุประดิษฐ์ จีนเสวก เลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา 

สารบัญ

สฤณี นักเขียนอิสระเขียนบทความเรื่อง “อันตรายของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” (อีกที) กรณีหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส.” เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 14 พฤษภาคม 2562
  
ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2562 สฤณีได้รับหมายเรียกจากศาลฎีกาให้ไปให้การต่อศาลในวันที่ 9 กันยายน 2562 เลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลอาญาเป็นผู้ทำหนังสือแจ้งประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาเกี่ยวกับบทความของสฤณ๊และเป็นผู้กล่าวหาสฤณีในคดีนี้ โดยเขาเห็นว่า  
 
คำว่า “มักง่าย” และ “ตะพึดตะพือ” ในบทความนั้น ตีความอย่างเกินเลยโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง และไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย 
 
เนื่องจากในวันที่ 9 กันยายน 2562 ยุทธนา บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาที่สองในคดีไม่มาศาลเพราะไม่ได้รับหมาย ศาลจึงกำหนดวันนัดไต่สวนใหม่เป็นวันที่ 26 กันยายน 2562 และวันที่ 1 ตุลาคม 2562 

ในวันที่ 26 กันยายน 2562 ทนายของสฤณีแถลงต่อศาลว่าการแสดงความเห็นของสฤณี ไม่มีเจตนาที่จะละเมิดอำนาจศาล หากในบทความมีคำที่ไม่เหมาะสมก็ยินดีที่จะขออภัยและแสดงความรับผิดชอบตรงส่วนนั้น ส่วนยุทธนาแถลงต่อศาลเองว่า เขายินดีให้ความร่วมมือกับศาลและจะลงโฆษณาขอโทษศาลในหนังสือพิมพ์ 
 
ศาลเห็นว่าผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาน่าจะตกลงกันได้ จึงให้ไปหารือกันเรื่องการแก้ไขบทความและการขอโทษศาลที่จะตีพิพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ โดยให้ส่งข้อความที่จะตีพิมพ์ให้ศาลดูภายในวันที่ 7 ตุลาคม และให้มาฟังคำสั่งคดีในวันที่ 11 ตุลาคม 2562 
 
   
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สฤณี อาชวานันทกุล  เป็นนักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน เธอจบการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก
 
ปัจจุบันสฤณีทำงานวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจที่ยั่งยืน ติดตามและถ่ายทอดพัฒนาการใหม่ๆ ในพรมแดนความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และพลังพลเมือง รวมทั้งมักใช้เวลาว่างแปลหนังสือ สฤณียังเป็นกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ของ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ด้วย
 
ยุทธนาเป็นบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
 

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

หลังบทความของสฤณีถูกเผยแพร่ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 ในวันที่ 16 สิงหาคม 2562 สุประดิษฐ์ จีนเสวก เลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา ทำหนังสือบันทึกข้อความถึงประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา โดยระบุว่าบทความของสฤณี พาดพิงแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาตอนหนึ่งว่า
 
“ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมักง่ายในการตีความกฎหมายเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีบุคคลผู้นั้นเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) ว่ารวมความถึงผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน
 
หรือบริษัทซึ่งปรากฏในหนังสือบริคณห์สนธิระบุวัตถุประสงค์ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ แม้ความเป็นจริงห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ แต่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งยังได้ตีความไปว่า เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

แล้วผู้ประพันธ์ได้แสดงความเห็นว่า การตีความเช่นนี้ มักง่าย และอันตรายอย่างยิ่ง
 
นอกจากนี้บทความดังกล่าว ยังได้กล่าวหาว่า ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งใช้กฎหมายแบบตะพึดตะพือ ตีความอย่างเกินเลยโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง และไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ผู้เขียนบทความไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งโดยสุจริต แต่มีเจตนาโจมตีหรือด่าว่าศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตีความกฎหมายมักง่ายและใช้อย่างตะพึดตะพือ"
 
เลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีการะบุในบันทึกข้อความด้วยว่า บทความดังกล่าวอาจมีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาล หรือเหนือคู่ความ หรือเหนือพยานในระหว่างการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
 

พฤติการณ์การจับกุม

คดีนี้ไม่มีการจับกุมตัวเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาเดินทางมาศาลตามหมายเรียก

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลฎีกา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
9 กันยายน 2562
 
ในการพิจารณาคดีที่ศาลฎีกา ศาลแจ้งคู่ความเกี่ยวกับรายละเอียดคดีว่า

คดีนี้ฝ่ายผู้กล่าวหาเห็นว่า คำว่า “มักง่าย” และ “ตะพึดตะพือ” ในบทความเป็นการตีความอย่างเกินเลยโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง และไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย

คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาสองคนคือสฤณีซึ่งเป็นผู้เขียนบทความกับยุทธนาซึ่งเป็นบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ในวันนี้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามีสฤณีมาศาลเพียงคนเดียวส่วนยุทธนาไม่มาศาลเพราะไม่ได้รับหมาย ศาลจึงนัดพิจารณาคดีอีกครั้งในวันที่ 26 กันยายน 2562 ซึ่งศาลจะดำเนินการไต่สวนฝ่ายผู้กล่าวหาและถามคำให้การของยุทธนาซึ่งยังไม่มาศาลในวันนี้

ศา่ลยังนัดไต่สวนในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 อีกนัดหนึ่งด้วยโดยในนัดดังกล่าวจะไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองและพยานคนอื่นๆ และนัดฟังคำสั่งคดีในวันที่ 11 ตุลาคม 2562
 
26 กันยายน 2562
 
นัดไต่สวน
 
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนมาที่ศาลฎีกาตามที่ศาลนัดหมายโดยศาลเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลาประมาณ 10.15 น.
 
ทนายของสฤณีแถลงต่อศาลว่า ตัวสฤณีผู้ถูกกล่าวหาไม่มีเจตนาละเมิดอำนาจศาล หากในบทความจะมีถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม หรือใช้คำอย่างพลั้งเผลอไปบ้าง ตัวของสฤณีก็ยินดีที่จะขออภัยและแสดงความรับผิดชอบต่อศาล
 
จากนั้นยุทธนาแถลงต่อศาลว่า เขายินดีให้ความร่วมมือกับศาลทุกประการ และจะแสดงความรับผิดชอบต่อศาลด้วยการขอโทษและลงโฆษณาแก้บทความและข้อความขอโทษศาลในหนังสือพิมพ์
 
จากนั้นศาลให้ฝ่ายผู้กล่าวหาคือ เลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาแถลงบ้าง เลขานุการฯพยายามถามผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองว่าสิ่งที่แถลงมาเป็นการรับสารภาพใช่หรือไม่  สฤณีลุกขึ้นแถลงตอบทำนองว่าไม่ใช่การรับสารภาพ แต่เป็นเสนอเรื่องการแสดงความรับผิดชอบต่อศาล
 
จากนั้นศาลสรุปการไต่สวนว่า ทั้งสองฝ่ายมีแนวโน้มที่จะเจรจาตกลงกันได้ จึงให้ผู้ถูกกล่าวหาและผู้กล่าวหา ไปหารือกันเรื่องข้อเสนอการขอโทษศาล และการลงประกาศแก้บทความและขอโทษลงในหนังสือพิมพ์ และให้ส่งข้อความที่จะตีพิมพ์ให้ศาลดูภายใน วันที่ 7 ตุลาคม 2562 ให้ยกเลิกนัดไต่สวนในวันที่ 1 ตุลาคม และนัดมาฟังคำพิพากษาวันที่ 11 ตุลาคม 2562
 
11 ตุลาคม 2562
 
นัดฟังคำสั่งศาล
 
สฤณี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 พร้อมด้วยทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เดินทางมาศาล เมื่อเข้ามาถึงในห้องพิจารณาคดี ผู้กล่าวหา ซึ่งคือ สุประดิษฐ์ จีนเสวก เลขานุการของแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา เดินเข้ามาพูดคุยด้วย เกี่ยวกับคำแถลงการณ์ขออภัยต่อศาลที่ทั้งสองส่งให้พิจารณาล่วงหน้า โดยแจ้งว่า ขอตัดบางส่วนออกซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองยินดี
 
องค์คณะพิจารณาขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 10.00 น. แจ้งว่า วันนี้เป็นนัดพร้อมเพื่อพิจารณาข้อเสนอของทั้งสองฝ่าย และถามฝ่ายผู้กล่าวหาว่า ได้ตกลงกันเป็นอย่างไร ผู้กล่าวหาแถลงต่อศาลว่า ตกลงกันแล้วและได้รับคำแถลงการณ์ขอโทษของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองแล้ว หลังจากนั้นศาลจึงอ่านรายงานกระบวนพิจารณาทันที
 
รายงานกระบวนพิจารณาระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง ยื่นคำแถลงการณ์ขอโทษต่อศาลให้พิจารณาแล้ว โดยผู้กล่าวหาขอให้ตัดข้อความบางส่วนออก และตกลงกันได้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ขอยอมรับความผิดพลาดและขอโทษในการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม และจะลงแถลงการณ์ขอโทษทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศของตัวเอง
 
ด้านผู้ถูกกล่าวหาที่สองก็ขอโทษและพร้อมรับผิดชอบโดยการลงประกาศแถลงการณ์ในหนังสือพิมพ์รายวันของกรุงเทพธุรกิจ เป็นเวลา 3 วัน และบนเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เป็นเวลา 7 วัน ด้านฝ่ายผู้กล่าวหาแถลงต่อศาลว่า ถ้าหากผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการข้างต้นแล้วก็พอใจส่วนการดำเนินคดีนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร ให้เป็นดุลพินิจของศาล
 
เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองยังไม่ได้ลงแถลงการณ์ตามที่ตกลงกัน ศาลจึงกำหนดวันนัดพร้อมเพื่อรอฟังผลการดำเนินการอีกครั้งในวันที่ 22 ตุลาคม 2562
 
หลังศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาเสร็จแล้ว ทนายของสฤณีถามศาลว่า อยากให้คดีนี้จบได้โดยไม่ต้องมีคำวินิจฉัย ศาลกล่าวก่อนเดินออกจากห้องพิจารณาว่า น่าจะเป็นทำนองนั้น
 
ต่อมาในเวลา 12.20 น. สฤณี โพสต์คำแถลงการณ์ที่ตกลงกับทางศาลบนบล็อกของตัวเองและโพสต์บนเฟซบุ๊ก สรุปใจความได้ว่า สฤณียอมรับว่า ใช้คำว่า “มักง่าย” และ “ตะพึดตะพือ” ในการบรรยายลักษณะคำวินิจฉัย ในส่วนแรกของบทความ เมื่อได้รับหมายเรียกของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งในคดีนี้ ส่งผลให้ตระหนักว่าถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำที่ไม่เหมาะสมและไม่จำเป็น ทำให้ผู้อ่าน อาจเกิดความเข้าใจผิดในเจตนา ทั้งที่มิได้มีเจตนาที่จะก้าวล่วง ดูหมิ่น หรือโจมตีสถาบันศาล หรือตุลาการท่านใดเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด และหากถอนคำดังกล่าวออกจากบทความแล้ว สาระสำคัญก็จะยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
 
ในฐานะผู้เขียนบทความซึ่งมิได้มีเจตนาที่จะทำให้ผู้ใดหรือสถาบันศาลเสียหาย จึงขอแสดงความเสียใจและขอประทานโทษต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมในการวิจารณ์ และประสงค์จะถอนคำว่า “มักง่าย” และ “ตะพึดตะพือ” ออกจากบทความดังกล่าว
 
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา