ปิ่นแก้ว: นักวิชาการโพสต์ข้อความแซวทหารร่วมชุมนุม

อัปเดตล่าสุด: 15/05/2563

ผู้ต้องหา

ปิ่นแก้ว

สถานะคดี

อัยการสั่งไม่ฟ้อง

คดีเริ่มในปี

2562

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

ในวันที่ 9 มกราคม 2562 นักศึกษาและประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่จัดกิจกรรม Walk to Vote ที่ประตูท่าแพ เพื่อคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้ง และยืนยันให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ในบริเวณใกล้เคียงกับที่กลุ่มดังกล่าวจัดกิจกรรมมาเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 จัดเวทีคอนเสิร์ตระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุปาบึกอยู่ด้วย
 
ในเวลาต่อมาปิ่นแก้ว นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในลักษณะเสียดสีทำนองว่าเจ้าหน้าที่ทหารมาร่วมกิจกรรม Walk to vote ด้วย เจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายมทบ.33 จึงเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษทั้งสองกับพนักงานสอบสวน กล่าวหาปิ่นแก้วในข้อหา“นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1) ปิ่นแก้วเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 4 มิถุนายน 2562 และได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์
 
ต่อมาในวันที่ 5 กันยายน 2562 พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องคดีปิ่นแก้วต่ออัยการ เบื้องต้นอัยการนัดปิ่นแก้วฟังคำสั่งคดีในวันที่ 19 กันยายน 2562 แต่เมื่อถึงวันนัดก็แจ้งปิ่นแก้วว่าจะเลื่อนไปสั่งคดีวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 แทน
 
ในเดือนมกราคม 2563 อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องปิ่นแก้ว คดีจึงเป็นอันยุติ
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ปิ่นแก้ว เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 

ข้อหา / คำสั่ง

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

หลังเข้าร่วมกิจกรรม Walk to Vote ที่ประตูท่าแพในวันที่ 9 มกราคม 2562  ปิ่นแก้วโพสต์ภาพป้ายกิจกรรมผู้ชุมนุม Walk to Vote ทับกับการจัดเวทีของเจ้าหน้าที่ทหารและเขียนข้อความ “ชาวเชียงใหม่ร่วมกับ มทบ.33 Walk to Vote ดนตรีดี เวทีพร้อม”

การโพสต์ภาพและข้อความในลักษณะดังกล่าวว่า โพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและทำให้ประชาชนทั่วไปหลงผิด ในภาพที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว มทบ.33 ได้ตั้งจุดรับบริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุปาบึก ทำให้ประชาชนที่ได้รับข่าวที่บิดเบือนนี้ ไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกิจกรรมที่ มทบ.33 จัดขึ้น และหยุดการช่วยเหลือบริจาคสิ่งของให้กับผู้ประสบภัย ซึ่งการบิดเบือนข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้ผู้ประสบภัย และมทบ.33 ได้รับความเสียหายโดยตรง  
 

พฤติการณ์การจับกุม

ปิ่นแก้วได้รับหมายเรียกคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เนื่องจากเจ้าหน้าที่กำหนดวันนัดกระชั้นชิดปิ่นแก้วจึงขอเลื่อนวันนัดออกไป โดยปิ่นแก้วเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 4 มิถุนายน 2562 ในวันเดียวกันหาญศักดิ์ อดีตแกนนำคนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีจากการโพสต์เฟซบุ๊กล้อเลียนทหารจากการชุมนุมในเหตุการณ์เดียวกันมารับทราบข้อกล่าวหาด้วย ปิ่นแก้วให้การปฏิเสธต่อพนักงานสอบสวน จากนั้นจึงได้รับการปล่อยตัวจากสถานีตำรวจโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ขอขอบคุณภาพ cover จาก Way Magazine สามารถเข้าถึงภาพต้นฉบับ ที่นี่  

9 มกราคม 2562
 
ประชาไทรายงานว่า กลุ่มประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่จัดกิจกรรม Walk to Vote ที่ประตูท่าแพเพื่อคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ไปเป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562 ในเวลาเดียวกันที่ประตูท่าแพเจ้าหน้าที่ทหารจากมทบ.33 จัดแสดงดนตรีเพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุปลาบึก ตามรายงานของประชาไทมีภาพถ่ายกลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมถือป้ายคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งที่บริเวณหน้าเวทีของเจ้าหน้าที่ทหารด้วย    
 
ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ปิ่นแก้วโพสต์ข้อความตามฟ้องในวันเดียวกับที่มีกิจกรรม Walk to Vote 
 
27 พฤษภาคม 2562
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ปิ่นแก้วได้รับหมายเรียกลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ให้ไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เพื่อรับทราบข้อกล่าวในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากวันนัดของเจ้าหน้าที่กระชั้นกับวันที่ได้รับหมายเรียก ปิ่นแก้วจึงขอเจ้าหน้าที่เลื่อนนัดรับทราบข้อกล่าวหาออกไป
 
4 มิถุนายน 2562
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ปิ่นแก้วเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ปิ่นแก้วให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและแจ้งว่าพนักงานสอบสวนว่าจะส่งคำให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน ปิ่นแก้วได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน 
 
5 กันยายน 2562
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องปิ่นแก้วต่ออัยการจังหวัดเชียงใหม่ และนัดส่งตัวผู้ต้องหาให้อัยการในวันเดียวกัน จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่นัดให้ปิ่นแก้วมารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งคดีในวันที่ 19 กันยายน 2562 เวลา 10.00 น.
 
19 กันยายน 2562
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการแจ้งปิ่นแก้วว่าอัยการเจ้าของสำนวนยังไม่มีคำสั่งคดี และนัดหมายให้มาฟังคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เวลา 10.00 น.
 
28 พฤศจิกายน 2562
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าอัยการเจ้าของสำนวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องปิ่นแก้ว เนื่องจากความเห็นอัยการขัดแย้งกับความเห็นของพนักงานสอบสวนที่เห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา  อัยการจึงส่งสำนวนคดีของปิ่นแก้วไปยังสำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 เพื่อให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พิจารณาคดี และมีความเห็นอีกครั้ง วันนี้ปิ่นแก้วจึงเพียงแต่ลงชื่อรับทราบวันนัดใหม่ วันที่ 29 มกราคม 2563
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า
 
หากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 มีความเห็นว่าไม่ควรสั่งฟ้องเช่นเดียวกับอัยการเจ้าของสำนวน ก็จะทำให้การดำเนินคดีสิ้นสุดลง แต่
 
หากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 มีความเห็นว่าควรสั่งฟ้อง จะทำให้สำนวนคดีต้องถูกส่งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดมีความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งหากเป็นกรณีนี้ ความเห็นของอัยการสูงสุดจะถือเป็นที่สุด
 
29 มกราคม 2563
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุยชนรายงานว่า ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 เห็นพ้องด้วยความเห็นอัยการเจ้าของสำนวนที่สั่งไม่ฟ้องคดี คดีนี้จึงถือเป็นอันยุติ
 
ทั้งนี้ศูนย์ทนายรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า 
 
อัยการเจ้าของสำนวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีปิ่นแก้วโดยให้เหตุผลซึ่งพอสรุปได้ว่า 
 
เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 มุ่งลงโทษผู้โพสต์ข้อมูลปลอม ทุจริต หลอกลวง โดยต้องมีเจตนาพิเศษคือ โดยทุจริต หรือโดยการหลอกลวงและโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน แต่พฤติการณ์ในคดีนี้อัยการเห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหา

เป็นการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย และผู้ที่เข้าไปอ่านข้อความตามฟ้องก็ย่อมไม่มีบุคคลใดเข้าใจหรือหลงชื่อว่ามณฑลทหารบกที่ 33 จะมาร่วมกิจกรรม Walk to Vote   
 
แม้ข้อความที่ผู้ต้องหาโพสต์ จะแสดงให้เห็นว่ามณฑลทหารบกที่ 33 ร่วมกับชาวจังหวัดเชียงใหม่ร่วมรณรงค์ให้มีการจัดการเลือกตั้ง แต่การกระทำที่จะเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะต้องมีเจตนาทุจริตหรือหลอกลวง โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชน
 
เมื่อพิจารณความเสียหายที่เกิดขึ้นตามที่ผู้กล่าวหาอ้าง ว่าการกระทำของผู้ต้องหาทำให้ประชาชนทั่วไปไม่นำสิ่งของมาบริจาค น่าจะเป็นการคาดเดาของผู้กล่าวหาเอง ไม่ใช้ผลโดยตรงจากการกระทำของผู้ต้องหา นอกจากนั้น การบริจาคสิ่งของของประชาชน น่าจะอยู่ที่ความเชื่อมั่นต่อมณฑลทหารบกที่ 33 เอง 
 
และหากไม่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นในสังคมประชาธิปไตยที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญได้ ย่อมไม่มีประชาชนคนใดกล้าใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรอง หรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้ใช้อำนาจรัฐได้เลย ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายมากยิ่งกว่า
 
การกระทำของผู้ต้องหาขาดเจตนาในการทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในข้อมูล จึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา