เทใจให้เทพา: คดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯจากการเดินคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินคดีที่สอง

อัปเดตล่าสุด: 03/02/2563

ผู้ต้องหา

เอกชัย

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2561

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.ต.อ.วีรวุธ สันนะกิจ ผู้กำกับการสภ.เทพา

สารบัญ

เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินทำกิจกรรมเดินเท้าเป็นเวลาสี่วัน จากอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาไปที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะและยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 แต่เมื่อถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมและจับกุมตัวชาวบ้าน 16 คน ที่ร่วมในกิจกรรม ต่อมาตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ พ.ร.บ.จราจรฯ และข้อหาพกพาอาวุธและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเรียกผู้ต้องหาเพิ่มอีกหนึ่งราย รวมแล้วมีผู้ร่วมกิจกรรมถูกดำเนินคดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯจากการเข้าร่วมกิจกรรมคดีแรกทั้งหมด 17 คน
 
 
เดือนตุลาคม 2561 ระหว่างการพิจารณาคดีที่หนึ่งในศาลชั้นต้น พ.ต.อ.วีรวุธ สันนะกิจ ผู้กำกับการสภ.เทพาได้กล่าวหาคดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯจากการกิจกรรมดังกล่าวเพิ่มอีกหนึ่งคดี ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดนาทวี โดยคดีนี้มีจำเลยทั้งห้าคนคือ เอกชัย, ดิเรก, อัยโยบ, หมิดและรอกีเยาะ สามคนแรกเคยถูกดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดสงขลามาก่อนแล้ว เดือนพฤษภาคม 2562 ศาลจังหวัดนาทวีมีพิพากษาว่า เอกชัย, ดิเรกและอัยโยบมีความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ สั่งปรับคนละ 20,000 บาท

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา


ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งห้าคนกับพวกที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้องกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 จำเลยทั้งห้าคนกับพวกร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะเพื่อคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยใช้ป้ายผ้าเขียนข้อความคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นสัญลักษณ์ จำเลยทั้งห้าและพวกไม่ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเทพา ในฐานะหัวหน้าสถานี ซึ่งถือเป็นผู้รับแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ทั้งยังไม่ได้รับการผ่อนผันจากผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา

 

ต่อมาระหว่างวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2560 จำเลยทั้งห้ากับพวกได้เคลื่อนย้ายขบวนออกจากตำบลบ้านปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาเข้าสู่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาโดยไม่ได้แจ้งต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเทพา อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 4,10,17 และ 28 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีการจับกุม

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลจังหวัดนาทวี

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
23 พฤศจิกายน 2560
 
 
ดิเรก ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินออกแถลงการณ์ว่า ชาวบ้านเทพาที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจะออกเดินภายใต้โครงการ “เดิน…เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดินหา…นายก หยุดทำลายชุมชน” โดยจะเริ่มเดินจากชุมชนบางหลิง ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นใจกลางโครงการโรงไฟฟ้าฯ ไปถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป้าหมายของการเดินในครั้งนี้เพื่อที่จะสื่อสารต่อสาธารณะถึงความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าฯและยื่นหนังสือต่อหัวหน้าคสช. มีรายละเอียดเหตุผลว่า ทำไมถึงไม่ต้องการโรงไฟฟ้าฯ
 
 
แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ตลอดสามปีที่ผ่านมาชาวบ้านได้เดินทางไปยื่นหนังสือ ที่กรุงเทพฯหลายครั้ง ส่งจดหมายไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและออกแถลงการณ์ราวร้อยครั้งแต่ไม่มีการตอบรับใดมาจากรัฐบาลหรือหัวหน้าคสช.เลย ทั้งนี้เครือข่ายฯได้ประเมินแล้วว่า การเดินอาจถูกฝ่ายความมั่นคงขอให้หยุดกิจกรรมหรือจับกุมไปปรับทัศนคติ แต่ยังคงยืนกรานที่จะเดินต่อไป
 
 
24 พฤศจิกายน 2560
 
 
เวลา 8.20 น. ชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ออกเดินเท้าจากชุมชนบ้านบางหลิง โดยสวมเสื้อสีเขียวสกรีนข้อความว่า NO COAL หรือไม่เอาถ่านหิน และธงสีเขียวออกเดินไปตามถนน โดยมีทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาถ่ายรูปเป็นระยะ  โดยวันนี้จะเดินเป็นระยะทาง 20 กิโลเมตรสิ้นสุดที่บ้านกรงอิตำ อำเภอเทพาและพักค้างคืนที่บริเวณหาดสะกอม
 
 
วันเดียวกันสถานีตำรวจภูธรเทพาได้ออกประกาศเรื่อง ให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 ระบุว่า ตามที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาประมาณ 20 คนได้ออกเดินจากชุมชนบางหลิงเพื่อยื่นหนังสือต่อหัวหน้า คสช. สถานีตำรวจภูธรเทพาพิจารณาแล้วว่า การกระทำดังกล่าวละเมิดพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เนื่องจากไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมให้เจ้าพนักงานทราบล่วงหน้า 24 ชั่วโมง จึงขอให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ภายในวันนี้ ลงชื่อ พันตำรวจเอกวีรวุธ สันนะกิจ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเทพา
 
 
25 พฤศจิกายน 2560
 
 
ชาวบ้านออกเดินจากบ้านกรงอิตำ อำเภอเทพา มุ่งหน้าสู่บ้านปากบางสะกอม อำเภอจะนะ เพื่อพูดคุยกับชาวจะนะ จากบทเรียนการต่อสู้ของพี่น้องจะนะในโครงการโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และโรงไฟฟ้าจะนะ วันเดียวกันสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาออกประกาศเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะที่ 891/2560 เรื่อง ให้ยกเลิกการชุมนุมสาธารณะ ระบุว่า ตามหนังสือแจ้งขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะ ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560  ที่มีเอกชัย เป็นผู้แจ้งการชุมนุม เมื่อพิจารณาแล้วการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เอกชัยได้จัดการชุมนุมที่ขัดต่อพ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยไม่ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานก่อนล่วงหน้า 24 ชั่วโมง จึงขอให้ผู้ชุมนุมยกเลิกการชุมนุมภายในเวลา 18.00 น.ของวันนี้
 
 
27 พฤศจิกายน 2560
 
 
เครือข่ายฯ ออกเดินจากบ้านสวนกง ถึงอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยวันนี้จะพูดคุยเพื่อนัดหมายเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเตรียมการเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในวันถัดมา ระหว่างทางมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่น้อยกว่า 50 นายตรึงกำลังอยู่ พร้อมด้วยทหารที่เข้ามาสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ในเวลาประมาณ 13.00 น. ตำรวจจากกองร้อยปราบฝูงชนตั้งแถวด้านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ถนนสงขลา-นาทวี หันหน้าไปยังอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา  กินพื้นที่ถนนเลนซ้ายสุด โดยรถยนต์สามารถเคลื่อนตัวผ่านได้ในเลนขวา
 
 
ต่อมาผู้ชุมนุมได้เดินทางมุ่งหน้าและหยุดลงบริเวณแถวของเจ้าหน้าที่ ทิ้งระยะห่างประมาณห้าเมตร เอกชัย หนึ่งในผู้ชุมนุมได้เจรจากับพันตำรวจเอกประพัตร์ ศรีอนันต์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาและพันเอกอุทิศ อนันตนานนท์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 โดยพันตำรวจเอกประพัตร์ได้บอกต่อเอกชัยว่า ให้กลับไปที่กศน.และจะจัดอาหารไปให้ บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีบุคคลพิเศษเข้ามาอาจเกิดความวุ่นวายได้ จึงไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่านไป เอกชัยตอบกลับว่า ขอดูคำสั่งที่ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษได้หรือไม่ มีคำตอบจากพันเอกอุทิศว่า ท่านใช้มาตรา 44 เอกชัยกล่าวต่อว่า พวกผมของปรึกษากันก่อนและขอกินข้าวที่โรงพยาบาลจิตเวช แต่พันตำรวจเอกประพัตร์ก็ไม่อนุญาตให้ผ่านไปกินข้าวที่โรงพยาบาลจิตเวช
 
 
เอกชัยถามต่อว่า โจทย์ที่สำคัญคือพวกผมจะมีโอกาสได้พบนายกฯไหม พันตำรวจเอกประพัตร์ตอบว่า [ก่อนจะตอบโจทย์นี้]ต้องพบเลขาฯของนายกฯก่อน เอกชัยตอบว่า ถ้าอย่างนั้นพวกผมของนั่งรอท่านเลขาฯที่นี่ พันตำรวจเอกประพัตร์กล่าวว่า ถ้า[นั่ง]ที่นี่ต้องขออนุญาตได้ไหม ให้ไปรอบริเวณฟุตบาท ไม่ลงบนพื้นผิวการจราจร เอกชัยตอบว่า เดี๋ยวผมของเจรจากับพี่น้องก่อน พันตำรวจเอกประพัตร์กล่าวว่า สังเกตไหมครับเวลารถมันจะมาเนี่ย มันอันตราย… เอกชัยตอบกลับทันทีว่า เดี๋ยวนะครับคนปิดเป็นพี่ ไม่ใช่พวกผมปิด พันตำรวจเอกประพัตร์ตอบว่า เข้าใจๆ เอกชัยกล่าวว่า อย่าเลยครับ อย่าให้ร้ายพวกผมเลยครับ ผมต้องพูดตรงๆเลยคือ ถ้าเกิดทหารปิดหรือที่นี่[ตำรวจ]ปิด ไม่ใช่พวกผมปิดอันนี้ก็ต้องยืนยันไม่อย่างนั้น เดี๋ยวจะเป็นเรื่องอีก พันตำรวจเอกประพัตร์กล่าวต่อว่า เอาอย่างนี้ ขอคุยกับพี่น้องให้ขึ้นไปรอบนฟุตบาท
 
 
หลังจากนั้นผู้ชุมนุมได้เริ่มนั่งลงกับพื้นถนน และปาฏิหาริย์มายืนอยู่ด้านหน้าแถวพร้อมอ่านเนื้อหาของหน้าที่ของผู้ชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯให้แก่ผู้ชุมนุมฟัง มีการโต้ตอบกับผู้ชุมนุมในทำนองว่า การชุมนุมนี้ไม่มีอาวุธติดตัวมา อีกประมาณ 20 นาทีถัดมาได้มีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมนอนลงกับพื้นถนน ผู้ชุมนุมก็ลงไปนอนที่พื้นและร้องออกมาว่า หิวข้าว ประชาชนจะเดินไปกินข้าวเจ้าหน้าที่ขัดขวางผิดไหม ถ้าไม่เดือดร้อนเราไม่ออกมา
 
 
ต่อมาเวลาประมาณ 14.50 น. มีชาวบ้านเป็นลมหนึ่งคน มีเจ้าหน้าที่เข้ามาปฐมพยาบาล จากนั้นไม่นานผู้ชุมนุมเริ่มลุกขึ้นจัดแถวและประกาศว่า เราจะเดินไปกินข้าวและเริ่มผลักดันกับเจ้าหน้าที่เพื่อที่จะฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ โดยใช้เวลาผลักดันจนทะลุแนวกั้นเป็นเวลาประมาณสองนาที มีผู้ชุมนุมเป็นลมระหว่างการผลักดันอีกหนึ่งคน หลังจากที่ผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นไปแล้วจึงได้ไปรวมตัวเพื่อรับประทานข้าวกลางวันในเวลา 15.00 น. ที่โรงพยาบาลจิตเวช
 
 
ต่อมาเวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชนได้วางแนวกั้นที่บริเวณโค้งเก้าเส้ง ถนนชลาทัศน์ ก่อนจะควบคุมตัวผู้ชุมนุมไป 16 คน หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนชายวัย 16 ปี นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบยังได้ถ่ายภาพของผู้ที่ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ผ่านเฟซบุ๊กอีกด้วย มีรายงานเพิ่มเติมจากเครือข่ายฯว่า ระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ปะทะกันมุสตาร์ซีดีน วาบา หรือ "แบร์มุส" หนึ่งในผู้ชุมนุมถูกตำรวจควบคุมตัวไป แต่ไม่พบตัวที่สถานีตำรวจและไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ อย่างไรก็ดีในช่วงดึกของคืนดังกล่าวมีรายงานว่า เขาปลอดภัยแล้ว ไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไป
 
 
 
ผู้ถูกจับกุมทั้ง 16 คน ถูกพาตัวไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา ตำรวจได้สอบประวัติ และคุมขังทุกคนไว้ที่สถานีตำรวจเป็นเวลา 1 คืน โดยมีชาวบ้านจำนวนมากมานั่งและนอนรอให้กำลังใจบริเวณสถานีตำรวจ
 
 
วันเดียวกันเวลาประมาณ 13.00 น. พ.ต.ท. ศุภกิตติ์ ประจันตะเสน รักษาราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาได้ยื่นคำร้องให้เลิกการชุมนุมต่อศาลจังหวัดสงขลา โดยระบุว่าวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 09:00 น. กลุ่มเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 100 คนนำโดยเอกชัย จำเลยที่หนึ่งในคดีนี้ ได้ใช้รถยนต์รถจักรยานยนต์ เครื่องขยายเสียง โทรโข่ง รณรงค์ส่งเอกสารเผยแพร่ความรู้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 และเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิทธิพลเมืองสิทธิชุมชนกับกลุ่มประชาชน
 
 
ต่อมาเวลา 18:00 น. นายเอกชัยผู้จัดการชุมนุมได้ยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ต่อ หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเทพาต่อมาหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเทพาได้แจ้งสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะให้เอกชัยทราบระหว่างรอคำสั่งเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะกลุ่มเครือข่ายดังกล่าวได้เคลื่อนขบวนออกจากตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ไปยังตัวอำเภอเมืองสงขลา
 
 
จนกระทั่งวันที่ 25 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13:30 น. เอกชัยผู้จัดการชุมนุมได้มายื่นขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 12 วรรคสามต่อผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ต่อมาเวลา 18:00 น. ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขาพิจารณาแล้วเห็นว่าการชุมนุมเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้อันเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผ่อนผันตามคำร้องดังกล่าวและมีคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาที่ 891 / 2560 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ให้เลิกการชุมนุมสาธารณะภายในวันที่ภายในเวลา 18:00 น. โดยผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจะนะเป็นผู้แจ้งคำสั่งให้เลิกการชุมนุมสาธารณะให้แก่เอกชัย ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม
 
 
ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 กลุ่มเครือข่ายได้เคลื่อนขบวนผ่านบ้านสวนกรงตำบลนาทับ อำเภอจะนะจังหวัดสงขลาและเข้ามาในพื้นที่อำเภอเมืองสงขลาการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ต่อเนื่องหลายพื้นที่ อยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 19 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ. 2558 โดยได้มอบหมายให้พันตำรวจโทศุภกิตติ์ ประจันตะเสน รองผู้กำกับการ(สอบสวน) รักษาราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสงขลา
 
 
การชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ตั้งแต่ต้นกล่าวคือต้องยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ หมายถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเทพาทราบก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงตามมาตรา 10 ไม่ใช่เริ่มชุมนุมก่อนแล้วจึงยื่น แต่ระหว่างที่กลุ่มเครือข่ายฯรอการพิจารณาการใช้สถานที่จากผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเทพา ทางกลุ่มเครือข่ายฯกลับเคลื่อนขบวนออกจากที่ตั้งเดิมอันเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 17 หากไม่สามารถแจ้งการชุมนุมได้ภายในกำหนดสามารถแจ้งการชุมนุมและขอผ่อนผันกำหนดเวลาต่อผู้บังคับการจังหวัดสงขลาต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกา 2560 เวลา 13:30 น. เอกชัยและยื่นหนังสือขอผ่อนผันต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ผลการพิจารณาผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาไม่อนุญาตให้ผ่อนผันตามที่ร้องขอและมีคำสั่งที่ 891 / 2560 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 และได้แจ้งคำสั่งให้เลิกการชุมนุมและกลุ่มผู้ชุมนุมทราบแล้วแต่ทางกลุ่มยังคงดำเนินกิจกรรมการชุมนุมอย่างต่อเนื่องพฤติการณ์ของกลุ่มเครือข่ายดังกล่าวถือว่าไม่ปฏิบัติตามประกาศของเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมอันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 21 จากการสืบสวนหาข่าวเชิงลึกทราบว่ากลุ่มเครือข่ายมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงเคลื่อนขบวนเข้าสู่พื้นที่จัดการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรการชุมนุมเรียกร้องต่อไปอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปและอาจเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองได้
 
 
การยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีมีวิธีการที่สามารถกระทำได้ในหลายช่องทางและการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ด้านสิทธิพลเมืองสิทธิชุมชนสามารถดำเนินการได้ตลอดเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่จำกัดสถานที่และรูปแบบและเวลาประกอบกับระหว่างวันที่ 27 และ 28 พฤศจิกายน 2560 รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรีได้มีกำหนดการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา ทางตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการดูแลรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและสถานที่ หากมีการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายฯต่อไปจะส่งผลต่อการจัดกำลังดูแลรักษาความปลอดภัยและอาจเกิดความวุ่นวายขึ้นระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้
 
 
จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะและออกคำบังคับให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำใดใดภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลกำหนด
 
 
ต่อมา พ.ต.ท. ศุภกิตติ์ ประจันตะเสน ผู้ร้องได้ให้การต่อศาลจังหวัดสงขลาในฐานะพยานผู้ร้องว่า ขณะเกิดเหตุ พ.ต.ท. ศุภกิตติ์ รักษาราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาเนื่องจากผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาเดินทางไปราชการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 09:00 น. มีกลุ่มเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 100 คน มีแกนนำคือเอกชัยมาร่วมชุมนุมกันอยู่ที่ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ประมาณ 10 คัน เครื่องขยายเสียง โครงป้ายรณรงค์ ธงแสดงสัญลักษณ์และเอกสารเผยแพร่ความรู้มีวัตถุประสงค์เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560
 
 
โดยการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้ยื่นหนังสือขอชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 2558 ก่อนที่จะมีการชุมนุมแต่มายื่นหนังสือขออนุญาตการชุมนุมภายหลังที่มีการชุมนุมแล้ว กล่าวคือยื่นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 18:00 น. ต่อมาหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเทพาได้แจ้งสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะให้ผู้ชุมนุมทราบ ระหว่างรอคำสั่งกลุ่มเครือข่ายผู้ชุมนุมดังกล่าวได้เคลื่อนขบวนออกจากตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เข้ามาที่เขตอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยไม่ได้รอฟังคำสั่งของหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเทพา ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เอกชัย แกนนำผู้ชุมนุมได้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะต่อผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ตามหนังสือดังกล่าวพิจารณาแล้วเห็นว่า การชุมนุมเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้อันเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผ่อนผันตามคำร้องซึ่งทางตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้นำประกาศดังกล่าวไปปิดประกาศให้แก่ผู้ชมทราบและให้เลิกการชุมนุมตามประกาศเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะโดยได้แจ้งประกาศและคำสั่งดังกล่าวให้กับเอกชัย แกนนำผู้ชุมนุมทราบแล้วและแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้แก่ผู้ชุมนุมทราบ
 
 
กรณีดังกล่าวทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมและรายงานความเคลื่อนไหวของการชุมนุมมาโดยตลอด ในขณะที่แกนนำผู้ชุมนุมยื่นคำร้องขออนุญาตการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเทพานั้น หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเทพาได้สรุปสาระสำคัญของการชุมนุมสาธารณะให้แก่เอกชัย แกนนำทราบแล้ว พ.ต.ท.ศุภกิตติ์ได้จัดชุดสืบสวนเข้าดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเข้าใจเจรจาให้หยุดการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมรับฟังยังคงเดินมุ่งหน้าเข้ามาที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ในขณะที่ไต่สวนนั้นผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงบริเวณหลังมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาแล้ว โดยมีเจตนารวมตัวชุมนุมกันที่ชุมชนเก้าเส้งและจะพักรับประทานอาหารที่ชุมชนดังกล่าว
 
 
อย่างไรก็ดีบริเวณดังกล่าวจะมีนายอำเภอเมืองคอยเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมมาโดยตลอด ก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายอำเภอเมืองสงขลาและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้พยายามนัดแกนนำของผู้ชุมนุมมาเจรจาพูดคุยแต่ไม่มีแกนนำคนใดยอมเข้ามาตกลงพูดคุยด้วย นอกจากนี้ทางสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบในงานเกี่ยวกับการร้องทุกข์ เมื่อทราบเรื่องของกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ก็ได้แจ้งว่า พร้อมที่จะรับเรื่องราวร้องทุกข์ของกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวแต่แกนนำก็ไม่ยินยอม ยืนยันจะยื่นข้อร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง ในการชุมนุมดังกล่าวผู้ร้องเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีการรวมตัวกันใช้สัญลักษณ์แผ่นป้ายแสดงกลุ่มแบ่งแยกชัดเจนโดยใช้ธงทำให้เกิดภาพลักษณ์ของทางจังหวัดเสียหาย ลักษณะการชุมนุมเป็นการเรียกร้องให้มวลชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งหากมวลชนเข้ามาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้นก็จะมีแนวโน้มการสร้างความรุนแรงต่อไป
 
 
นอกจากกลุ่มชุมนุมดังกล่าวแล้วยังมีกลุ่มชุมนุมต่างๆที่จะยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีอีกเก้ากลุ่มที่รวมตัวกันมาชุมนุมแต่ทางผู้รับผิดชอบในการชุมนุมได้ไปเจรจากับกลุ่มต่างๆแล้วเช่น กลุ่มเกษตรกรผู้ทำสวนยางพารา กลุ่มอาชีพประมงและกลุ่มอื่นๆซึ่งสามารถเจรจาลุล่วง โดยกลุ่มดังกล่าวส่งตัวแทนมายื่นข้อเรียกร้อง ยังคงเหลือเพียงกลุ่มนี้เพียงกลุ่มเดียวที่ไม่ยอมเจรจาและไม่ยอมส่งตัวแทนมายื่นขอเรียกร้อง ทั้งกลุ่มทางเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการดูแลการชุมนุมได้ขอร้องให้งดการใช้สัญลักษณ์ของกลุ่มประเภทป้ายและธง แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่ยอมรับเงื่อนไขต่างๆ การยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีนั้นมีวิธีการที่สามารถจะกระทำได้ในหลายช่องทางและกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ด้านสิทธิพลเมืองสิทธิชุมนุมสามารถดำเนินการได้ตลอดเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่จำกัดสถานที่รูปแบบและเวลา
 
 
ในวันที่ 27 และ 28 พฤศจิกายน 2560 รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีจะจัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา ทางตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้รับมอบให้รับผิดชอบในการดูแลรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและสถานที่หากมีการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายดังกล่าวต่อไปจะส่งผลต่อการจัดกำลังดูแลและรักษาความปลอดภัยได้ รวมทั้งอาจเกิดความวุ่นวายระหว่างการประชุมจึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะและออกคำบังคับให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำใดใดภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลกำหนด
 
 
ต่อมาศาลจังหวัดสงขลาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้บังคับการตำรวจภูธรสงขลา แจ้งว่า การชุมนุมของผู้จัดการชุมนุมไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและไม่อนุญาตให้ผ่อนผัน ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 14 เมื่อได้ความว่า เจ้าพนักงานการชุมนุมสาธารณะได้แจ้งประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะจึงอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะได้ จึงสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะ
 
 
เดือนตุลาคม 2561
 
 
พนักงานสอบสวนสภ.เทพา ได้มีการออกหมายเรียกทั้งห้าไปรับทราบข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯจากการเดินเท้าเทใจให้เทพาอีกครั้ง โดยเอกชัย, ดิเรกและอัยโยบถูกกล่าวหาดำเนินคดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯที่ศาลจังหวัดสงขลาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 แล้ว โดยคดีนี้พ.ต.อ.วีรวุธ สันนะกิจ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเทพาเป็นผู้กล่าวหา
 
 
5 พฤศจิกายน 2561
 
 
ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเทพานัดผู้ต้องหา 5 คน ได้แก่ เอกชัย, ดิเรก, อัยโยบ, หมิดและ รอกีเยาะ เข้าพบเพื่อส่งตัวฟ้องต่อพนักงานอัยการจังหวัดนาทวี ในคดีที่ทั้งห้าถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในข้อหาจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนเวลาเริ่มการชุมนุม และข้อหาเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้าต่อหัวหน้าสถานีตำรวจซี่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมสาธารณะ โดยในชั้นสอบสวนทั้งห้าให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
 
 
กระบวนการในวันนี้หลังทั้งห้าเข้าพบพนักงานสอบสวนที่สภ.เทพาในเวลาประมาณ 9.00 น. เจ้าหน้าที่ก็แจ้งให้ผู้ต้องหาทั้งหมดไปที่สํานักงานอัยการจังหวัดนาทวี โดยมีชาวบ้านจากพื้นที่อำเภอเทพาติดตามมาให้กำลังใจติดตามด้วยราว 30 คน และเมื่อไปถึงที่สำนักงานอัยการฯ ผู้ต้องหาทั้งห้าคนก็ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ ขอให้อัยการสอบสวนพยานเพิ่มเติมสี่คน และระบุว่า คดีนี้มีพฤติการณ์และข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีเทใจให้เทพาคดีที่หนึ่ง ซึ่งกำลังรอฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ธันวาคม 2561 เป็นการดำเนินคดีที่ขัดต่อหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำ หลังเสร็จสิ้นกระบวนการอัยการนัดผู้ต้องหาทั้งห้าฟังคำสั่งคดีในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561
 
 
8 พฤศจิกายน 2561
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
 
พนักงานอัยการจังหวัดนาทวีมีความเห็นสั่งฟ้องชาวบ้านที่ร่วมเดินเท้าเทใจให้เทพาห้าคน ได้แก่ เอกชัย, ดิเรก, อัยโยบ, หมิด และ รอกีเยาะ ทั้งห้าถูกกล่าวหาว่าทำความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในข้อหาจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนเวลาเริ่มการชุมนุม และข้อหาเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้าต่อหัวหน้าสถานีตำรวจซี่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมสาธารณะ โดยคดีนี้เกิดขึ้นในท้องที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ในวันเดียวกันศาลจังหวัดนาทวีมีคำสั่งให้จำเลยทั้งห้าคนโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่ให้สาบานตัวว่าจะมาศาลตามนัดทุกครั้ง
 
 
17 พฤษภาคม 2562
นัดฟังคำพิพากษา
 
เมเนเจอร์ออนไลน์รายงานว่า ศาลจังหวัดนาทวีพิพากษาให้เอกชัย, ดิเรก, อัยโยบและรอกีเยาะมีความผิดฐานไม่แจ้งก่อนชุมนุม 24 ชั่วโมง และเคลื่อนขบวนโดยไม่แจ้งตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ สั่งปรับข้อหาละ 10,000 บาท รวมสองข้อหา 20,000 บาท
 
 
4 ธันวาคม 2562
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา