เอกชัย อิสระทะ ถูกชายฉกรรจ์อุ้มขังจากเวทีรับฟังความเห็นเหมืองหิน จ.พัทลุง

อัปเดตล่าสุด: 03/06/2563

ผู้ต้องหา

ชายห้าคน

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

เอกชัย อิสระทะ(ผู้เสียหาย)

สารบัญ

วันที่ 5 สิงหาคม 2562 เอกชัย อิสระทะ ในฐานะเอ็นจีโอที่ทำงานติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่เดินทางไปเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นการประกอบกิจการเหมืองแร่ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุง ปรากฏว่า เมื่อเข้าถึงเวทีรับฟังความคิดเห็นมีชายฉกรรจ์หลายคนเข้ามาล้อมเอกชัยและพาตัวเอกชัยไปไว้ที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งเป็นเวลาประมาณสี่ห้าชั่วโมง จนกระทั่งเวทีรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นจึงปล่อยตัว ก่อนปล่อยได้ข่มขู่เอกชัยทำนองว่า หากไปบอกต่อสื่อมวลชนจะไม่รับรองความปลอดภัยในชีวิต

เอกชัยได้เข้าร้องทุกข์ต่อสำนักงานตำรวจภูธรภาค9 (จังหวัดสงขลา) นำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นต่อจำเลยทั้ง 5 คน ในนัดสอบคำให้การจำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ ต่อมาจำเลยทั้งห้าได้เปลี่ยนแปลงคำให้การเป็นรับสารภาพ พร้อมจ่ายค่าสินไหมชดเชยให้แก่เอกชัยเป็นเงินจำนวน 250,000 บาท  วันที่ 23 มีนาคม 2563 ศาลจังหวัดพัทลุงพิพากษาให้จำเลยที่หนึ่ง จำคุกหนึ่งปี จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือหกเดือน ปรับ 20,000 บาทลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 10,000 บาท และจำเลยที่สองถึงห้า จำคุกหนึ่งปี จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือหกเดือน ปรับ 10,000 บาทลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา

ภูมิหลังผู้ต้องหา

***ภูมิหลังของผู้เสียหาย***

เอกชัย อิสระทะ ผู้เสียหายในคดีนี้เป็นนักพัฒนาเอกชน ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสงขลา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ทั้งระดับภาค และระดับชาติ และยังเป็นนักปกป้องสิทธิชุมชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน และยังเป็นเกษตรกรทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ก่อนหน้านี้เอกชัยเข้าร่วมกิจกรรมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่อ.เทพา จ.สงขลา และถูกดำเนินคดีฐานไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะก่อนการชุมนุมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
มาตรา 309 ของประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีการจับกุม

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลจังหวัดพัทลุง

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
5 สิงหาคม 2562
 

ณ มัสยิดแห่งหนึ่งของตำบลคลองใหญ่ อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ของบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานรัฐตามกระบวนการภายใต้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 56
 
 
เอกชัย ในฐานะผู้ติดตามเรื่องเหมืองแร่เห็นว่า สถานที่ดังกล่าวเป็นที่สาธารณะของชุมชน และการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีดังกล่าวนั้นได้เปิดกว้างให้กับประชาชนผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ จึงเข้าไปร่วมเวทีเพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองดังกล่าว โดยขับรถยนต์จากบ้านในจังหวัดสงขลาไปเพียงคนเดียว เมื่อถึงสถานที่รับฟังความคิดเห็น มีชายฉกรรจ์หลายคนเข้ามาล้อมเอกชัย ก่อนจะถามเอกชัยว่า เขาเป็นใคร ด้วยเห็นว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเป็นเวทีเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้และไม่ได้คิดว่า จะมีการคุกคามเกิดขึ้น เอกชัยจึงตอบไปตามตรงว่า เป็นประชาชนทั่วไปและมีสิทธิในการเข้าร่วมเวทีดังกล่าวได้
 
 
เมื่อตอบไปเช่นนั้นชายฉกรรจ์กลุ่มดังกล่าวทำการยึดข้าวของทรัพย์สิน โทรศัทพ์มือถือ บัตรประชาชนและรถยนต์ และ “อุ้ม” เอกชัยไปไว้ที่รีสอร์ทแห่งหนึ่ง ประมาณสี่ถึงห้าชั่วโมงจนกระทั่งเวทีรับฟังความคิดเห็นเสร็จจึงปล่อยตัวเอกชัย ก่อนปล่อยได้ข่มขู่ทำนองว่า หากเอกชัยไปบอกต่อสื่อมวลชนจะไม่รับรองความปลอดภัยในชีวิต
 
 
13 สิงหาคม 2562
 
 
เอกชัยและเครือข่ายภาคประชาชนได้เข้าร้องทุกข์ต่อสำนักงานตำรวจภูธรภาค9 (จังหวัดสงขลา) เพื่อขอให้เจ้าพนักงานตำรวจเร่งสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับข่มขู่และกักขังหน่วงเหนี่ยวเอกชัย อิสระทะ เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยจากอิทธิพลการใช้อำนาจนอกกฎหมายให้กับเอกชัย ครอบครัวและประชาชนในพื้นที่ตั้งโครงการเหมืองแร่หิน และขอให้เจ้าพนักงานตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการและดำเนินการเพื่อปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของเอกชัยและครอบครัวในระหว่างการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดไปจนกว่าจะมีการนำคนผิดมาลงโทษ
 
 
พร้อมทั้งขอให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุงและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ตรวจสอบและทบทวนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในกรณีคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ของบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ในพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโครงการได้อย่างแท้จริง
 
 
เดือนตุลาคม 2562
 

พนักงานอัยการจังหวัดพัทลุงมีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้ต่อสมเพียรและพวกรวมห้าคน ในฐานความผิดร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้เกิดความกลัวว่า จะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของผู้ถูกข่มขืนใจ โดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปและร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา …
 
 
4 พฤศจิกายน 2563
 
 
ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความของเอกชัยยื่นเอกสารขอเรียกค่าสินไหมทดแทนระบุว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้านอกจากจะเป็นการกระทำทางอาญาตามที่ฟ้องในคดีนี้แล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายในทางแพ่งด้วยรวม 500,000 บาทจากความเสียหาย ดังนี้
 
 
หนึ่ง ค่าเสียหายต่อเสรีภาพ การกระทำของขำเลยทำให้ผู้เสียหายสูญเสียเสรีภาพ นับตั้งแต่การไม่สามรถเข้าไปมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็น การถูกบังคับให้ขึ้นรถไปกับพวกของจำเลยทั้งห้า ตลอดไปจนถึงการถูกนำไปขังไปที่โรงแรม จนกระทั่งถูกปล่อยตัว เอกชัย ในฐานะผู้เสียหายขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 250,000 บาท
 
 
สอง ค่าเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ จากการกระทำของจำเลยทั้งห้า ทำให้ผู้เสียหายเกิดความตกใจ เกิดความหวาดกลัว เกิดความทนทุกข์ทรมานจากการที่ถูกข่มขู่ บังคับและกักขังหน่วงเหนี่ยวอันเนื่องจากการถูกบังคับข่มขู่ให้ออกจากเวทีรับฟังความคิดเห็น บังคับให้ขึ้นรถออกไป บังคับให้อยู่ในห้องพักของโรงแรมเป็นเวลาหลายชั่วโมงและยังมีการข่มขู่ก่อนที่จะปล่อยตัวผู้เสียหาย จึงขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 250,000 บาท
 
 
11 พฤศจิกายน 2562
นัดสอบคำให้การ
 
 
ศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งห้าฟัง จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ จำเลยที่หนึ่งให้การปฏิเสธระบุเหตุว่า วันเกิดเหตุเดินทางไปที่เวทีรับฟังความคิดเห็นจริง แต่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำตามที่โจทก์ฟ้อง วันดังกล่าวการรับฟังความคิดเห็นยังไม่ทันเสร็จสิ้นเขาเดินทางออกมาก่อนเพื่อพูดคุยกับนักข่าว จำเลยที่สองให้การปฏิเสธ อ้างฐานที่อยู่ว่า ขณะเกิดเหตุเขาอยู่ที่บ้านและไม่พบกับผู้เสียหาย จำเลยที่สามให้การปฏิเสธ อ้างฐานที่อยู่ว่า ระหว่างวันที่ 4-9 สิงหาคม 2562 เขาเดินทางไปส่งวัวชนที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยที่สี่ให้การปฏิเสธ รับว่า เดินทางไปที่เวทีรับฟังความคิดเห็นจริง แต่เป็นเวลาหลังเริ่มการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว ไม่รู้จักและไม่เห็นผู้เสียหายในเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ห้าให้การปฏิเสธ รับว่า เดินทางไปที่เวทีรับฟังความคิดเห็นพร้อมกับจำเลยที่สี่ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำตามฟ้อง
 
 
12 กุมภาพันธ์ 2563
 
 
เวลา 14.00 น. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จัดแถลงข่าวกรณีเอกชัย อิสระทะ นักกิจกรรมและเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ทั้งระดับภาคและระดับชาติถูกอุ้มขังระหว่างการสังเกตการณ์เวทีรับฟังความคิดเห็นเหมืองหินในจังหวัดพัทลุง เมื่อปี 2562 มีข้อเสนอ ดังนี้ (ขอลิงก์)
 
 
หนึ่ง ต้องจัดให้มีการคุ้มครองเอกชัย อิสระทะ ในฐานะพยานคดีอุ้มขังฯจากกรณีการเข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการสัมปทานเหมืองหินเขาน้อย อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ให้ได้รับความปลอดภัยอย่างเต็มที่ทั้งในระหว่าง และหลังกระบวนการพิจารณาคดี
 

สอง รัฐบาลจะต้องติดตาม ตรวจสอบโครงการสัมปทานเหมืองแร่ในทุกภูมิภาคว่า มีการกระทำการในลักษณะข่มขู่ คุกคาม หรือสร้างความทุกข์ร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ หรือไม่อย่างไร พร้อมกับสร้างมาตรการป้องกันหรือป้องปรามการกระทำการดังกล่าวอย่างเข้มข้น
 
 
สาม ต้องยกเลิกแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับปัจจุบัน และให้มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับใหม่ โดยต้องยึดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดแหล่งแร่ใหม่ตามเจตนาของ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะมาตรา 17 วรรค 4 และต้องคำนึงถึงการคุ้มครองความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม วิถีวัฒนธรรมและความสำคัญทางโบราณคดี
 
 
 
18 กุมภาพันธ์ 2563
นัดสืบพยานโจทก์
 
 
ก่อนเริ่มการสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งห้าได้ขอเปลี่ยนแปลงคำให้การเดิมเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาจึงไม่มีฝ่ายใดติดใจสืบพยานในส่วนคดีอาญา ในส่วนคดีแพ่งศาลได้ทำการไกล่เกลี่ยและคู่ความตกลงกันได้ว่า จำเลยทั้งห้ายอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เอกชัยเป็นเงิน 250,000 บาท โดยฝ่ายจำเลยทั้งห้าขอระยะเวลาหาเงินหนึ่งเดือน ศาลจึงเลื่อนคดีไปนัดฟังคำพิพากษาในส่วนคดีอาญาและคดีแพ่งพร้อมกันในวันที่ 23 มีนาคม 2563
 
 
 
23 มีนาคม 2563
นัดฟังคำพิพากษา
 
 
เวลา 13.00 น. ศาลจังหวัดพัทลุงนัดฟังคำพิพากษา บรรยากาศนัดฟังคำพิพากษา ตั้งแต่เวลา 12.30 น. จำเลยทั้งห้า พร้อมด้วยญาติทยอยมาพร้อมกันที่ศาลต่อมาเวลา 13.35 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ พร้อมให้เอกชัย ตำรวจที่ทำการคุ้มครองเอกชัย จำเลยทั้งห้าคนและตำรวจในเครื่องแบบสองนายเข้าไปในห้อง ด้านหน้าห้องพิจารณามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลสองคนยืนเฝ้าประตูอยู่ โดยไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่ความในคดีนี้เข้าไปในห้องพิจารณา รวมทั้งญาติของจำเลยเข้ารับฟังคำพิพากษาด้วย
 
 
เวลา 13.40 น. ศาลเรียกคู่ความยืนขึ้น พิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามฟ้อง สั่งลงโทษจำคุกและปรับแตกต่างกันดังนี้
 
 
๐ จำเลยที่หนึ่ง จำคุกหนึ่งปี จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือหกเดือน ปรับ 20,000 บาทลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 10,000 บาท
 
 
๐ จำเลยที่สองถึงห้า จำคุกหนึ่งปี จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือหกเดือน ปรับ 10,000 บาทลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 5,000 บาท
อย่างไรก็ตามจำเลยทั้งหมดจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากการได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงเป็นจำนวน 250,000 บาท จึงให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้สองปี และคุมประพฤติจำเลยทั้งห้าคนหนึ่งปี

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา