แฟลชม็อบหน้ากองทัพบก

อัปเดตล่าสุด: 25/08/2563

ผู้ต้องหา

อานนท์

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

หลัง #เยาวชนปลดแอก จัดการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 และเปลี่ยนแผนเป็นยุติการชุมนุมในกลางดึกขึ้นนั้น รุ่งขึ้นวันที่ 19 กรกฎาคม พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร รองโฆษกกองทัพบกโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัววิจารณ์ข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอกและวิจารณ์การชุมนุมทำนองว่าผู้ชุมนุมระแวงกันเอง
 
ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 อานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรมทางการเมืองโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่าเขาจะไปชุมนุมที่กองทัพบกในเวลา 17.00 น. ของวันเดียวกันเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของรองโฆษกกองทัพบก พร้อมทั้งแสดงความกังวลว่าข้อความของพ.อ.หญิงนุสราอาจมีลักษณะเป็นการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง
 
ในการชุมนุมหน้ากองทัพบกมีผู้ปราศรัยหลัก 4 คน ได้แก่ อานนท์ พริษฐ์หรือเพนก ปิยรัฐหรือโตโต้  และภาณุพงศ์หรือไมค์ นักกิจกรรมจากจังหวัดระยอง โดยขึ้นปราศรัยวิจารณ์กองทัพ ในตอนหนึ่งของการชุมนุมพริษฐ์นำภาพของผบ.ทบ.มาฉีกเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์  
 
การชุมนุมในวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 จบลงด้วยความเรียบร้อย แต่ปรากฏว่าในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกให้อานนท์ ไปพบเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาจัดการชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากนั้นปิยรัฐ ภาณุพงศ์ สุวรรณาและพริษฐ์ ต่างทยอยได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีนี้

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อานนท์จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา
 
เมื่อประกอบอาชีพทนาย อานนท์เคยว่าความคดีสิทธิให้ชาวบ้านหลายคดี เช่น คดีชาวบ้านชุมนุมค้านโรงถลุงเหล็ก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชาวบ้านค้านท่อแก๊สที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และคดีความจากการชุมนุมอีกหลายคดี นอกจากนี้ เขายังเป็นทนายความให้กับจำเลยในคดีการเมืองและคดีมาตรา 112 เช่น คดี อากงsms ด้วย
 
หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อานนท์เป็นหนึ่งในทีมทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และว่าความให้กับจำเลยคดีการเมืองหลังรัฐประหารหลายคดี เช่น คดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช. และคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ของสิรภพ
 
อานนท์ถูกดำเนินคดีหลายคดีในยุคคสช. เช่น คดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในฐานะแกนนำการชุมนุมรวม 4 คดี และคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ เป็นต้น 
 
พริษฐ์ เป็นนักกิจกรรมจากสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เคยถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมแขวนพริกกระเทียมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและจากการอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผบ.ทบ.ที่หน้ากองทัพบก   
 
สุวรรณา เป็นนักกิจกรรมกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เคยถูกดำเนินคดีการชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์กปทุมวัน ที่ถนนราชดำเนิน หน้ากองทัพบก และที่พัทยา
 
ภาณุพงศ์ เป็นชาวจังหวัดระยอง ถูกดำเนินคดีครั้งแรกจากกรณีที่เขาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ชูป้ายในจังหวัดระยองเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่จังหวัดระยองหลังเกิดกรณีทหารเรืออียิปต์ที่ติดเชื้อโควิด19 เข้าไปเที่ยวในพื้นที่ 
 
ปิยรัฐ หรือ“โตโต้” เป็นอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งกาฬสินธุ์เขต 1 พรรคอนาคตใหม่ และเป็นอดีตแอดมินเพจแอนตี้โซตัสสมัยที่ยังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปิยรัฐเคยถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการฉีกบัตรออกเสียงประชามติ และจากกรณีเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าที่ทำการสหประชาชาติในปี 2561
 

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

หมายเรียกผู้ต้องหาลงวันที่  3 สิงหาคม 2563 ส่งถึงอานนท์ บรรยายพฤติการณ์ของคดีว่า อานนท์กับพวกรวม 5 คนร่วมกันจัดการชุมนุมหรือกระทำการคอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เข้าข่ายความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 

พฤติการณ์การจับกุม

พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ต้องหาในภายหลัง ไม่มีการจับกุมผู้ชุมนุมในวันเกิดเหตุ

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
18 กรกฎาคม 2563
 
เยาวชนปลดแอกจัดการชุมนุมใหญ่ตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00 น. ระหว่างการชุมนุมมีการประกาศว่าจะชุมนุมยืดเยื้อค้างคืนแต่ต่อมาในเวลาประมาณ 1.00 น. ของวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 แกนนำการชุมนุมประกาศยุติการชุมนุม
 
19 กรกฎาคม 2563
 
ไบร์ททีวีออนไลน์ รายงานว่า  พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร รองโฆษกกองทัพบก โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กวิจารณ์การชุมนุมและข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมทำนองว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้น ผู้ชุมนุมระแวงกันเองและทะเลาะกันเอง ในส่วนของข้อเรียกร้อง เรื่องการยุบสภา

ในอีก 2 ปีก็จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่อยู่แล้ว ข้อเรียกร้องเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีการออกเสียงประชามติแล้ว รวมทั้งตั้งคำถามว่าการแก้ไขจะแก้มาตราใด ข้อเรียกร้องเรื่องการหยุดคุกคามประชาชน หากประชาชนไม่ได้ทำผิดกฎหมายเจ้าหน้าที่ก็ย่อมไม่สามารถทำอะไรได้ พร้อมทั้งวิจารณ์ว่ามีคนบางกลุ่มใช้ข่าวปลอมและมีการโจมตีสถาบัน 
 
หลังข้อความดังกล่าวถูกโพสต์ออกไปก็มีการวิจารณ์เรื่องนี้ในสังคม จนสุดท้ายพ.อ.หญิงนุสราลบโพสต์ดังกล่าวออกไป แต่ก็มีคนบันทึกหน้าจอข้อความดังกล่าวเอาไว้แล้ว 
 
20 กรกฎาคม 2563
 
อานนท์และประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางไปชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบกในเวลาประมาณ 17.00 น . หลังการชุมนุมเริ่มไปครู่หนึ่งเจ้าหน้าที่สน.นางเลิ้งใช้เครื่องขยายเสียงประกาศข้อห้ามตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เช่น ข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 216 และมาตรา 114 ของพ.ร.บ.จราจรฯ

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายการชุมนุมดังกล่าวก็จบลงด้วยดีโดยยังไม่การจับกุมหรือตั้งข้อกล่าวหาใดๆ ในวันเกิดเหตุ ระหว่างการชุมนุม พริษฐ์หนึ่งในนักกิจกรรมที่ร่วมปราศรัยยังแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการฉีกรูปภาพของผู้บัญชาการทหารบกด้วย
 
5 สิงหาคม 2563
 
ว๊อยซ์ทีวีออนไลน์รายงานว่า พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกพริษฐ์ อานนท์ ภาณุพงศ์ ปิยรัฐและผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งไปรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามการชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยกำหนดให้ทั้งหมดเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.นางเลิ้ง ในวันที่ 13 สิงหาคม 2563
 
8 สิงหาคม 2563 
 
อานนท์เป็นผู้ต้องหาในคดีนี้คนแรกที่ได้รับหมายเรียก จากนั้นผู้ต้องหาคนอื่นก็ทยอยได้รับหมายเรียก

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลังว่าผู้ต้องหาอีกคนคือ สุวรรณาหนึ่งในนักกิจกรรมกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ทั้งนี้ผู้ต้องหายังไม่ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนโดยได้ขอเลื่อนนัดออกไปก่อนโดยยังไม่มีการกำหนดวันนัดใหม่   
 
25 สิงหาคม 2563

จากการสอบถามสุวรรณา หนึ่งในผู้ต้องหาได้ข้อมูลว่าผู้ต้องหาทั้งสี่คนได้แก่ตัวเธอ อานนท์ ปิยรัฐ และพริษฐ์ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้แต่ยังไม่ให้การใดๆโดยประสงค์จะให้การในชั้นศาล การรับฟังข้อกล่าวหาทุกคนเข้าสู่กระบวนการพร้อมกันแต่ในขั้นตอนพิมพ์ลายนิ้วมืออานนท์เข้าสู่กระบวนการเป็นคนแรก ขณะที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้การว่าหลังผู้ต้องหาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้วก็ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ใดๆ

ในส่วนของอานนท์ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลธัญบุรีในข้อหายุยงปลุกปั่นจากการร่วมการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ข่าวสดออนไลน์รายงานว่าพนักงานสอบสวนสภ.คลองหลวงนำหมายจับมาแสดงต่ออานนท์ทันทีที่เขาเสร็จสิ้นขั้นตอนการรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.นางเลิ้งและควบคุมตัวไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.คลองหลวงทันที
 
สำหรับภาณุพงศ์ ผู้ต้องหาคดีนี้อีกคนหนึ่งยังไม่เข้ารายงานตัวเนื่องจากเขาถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตั้งแต่บ่ายวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ระหว่างแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ประท้วงพล.อ.ประยุทธ์ที่จังหวัดระยอง ภาณุพงศ์ถูกจับตามหมายจับศาลธัญบุรีจากกรณีร่วมปราศรัยในการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563

 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา