การชุมนุม อีสานสิบ่ทน

อัปเดตล่าสุด: 04/10/2563

ผู้ต้องหา

พงศธร

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 22 กรกฎาคม 2563 แนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตยจัดการชุมนุม “อีสานสิบ่ทน” ที่ลานแปดเหลี่ยมภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยการชุมนุมดังกล่าวมีข้อเรียกร้อง 3 ประการคือ รัฐบาลต้องยุบสภา, เลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และยุติบทบาทส.ว. 250 คน 
 
พงศธรเป็นหนึ่งในคณะผู้จัดการชุมนุมครั้งนี้ เบื้องต้นทางมหาวิทยาลัยออกประกาศไม่ให้ใช้สถานที่จัดกิจกรรมโดยอ้างเหตุการระบาดของโควิด 19 แต่ทางผู้จัดยืนยันจะจัดการชุมนุมต่อไป ในเวลาประมาณ 15.45 น. ซึ่งเป็นเวลาก่อนการชุมนุมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาชี้แจงข้อกฎหมายก่อนที่ทางผู้จัดจะทำการชุมนุมตามกำหนดการ

ในวันเกิดเหตุไม่มีความวุ่นวายหรือมีการจับกุมบุคคลใด หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคมจึงมีการออกหมายเรียกให้พงศธรไปรับทราบข้อกล่าวหาชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
     

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พงศธร ตันเจริญ ขณะถูกตั้งข้อกล่าวหาเป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคามและเป็นสมาชิกแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย 
 

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ผู้ต้องหาเป็นแกนนำในการประชาสัมพันธ์ทางเฟซบุ๊ก แนวร่วมนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามเพื่อประชาธิปไตย เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในวันที่ 22 ก.ค. 2563 ที่ลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
 
ตำรวจชี้แจงว่า การจัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลและเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ประกาศยุบสภา, ยุติบทบาท ส.ว., จัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และร่างรัฐธรรมนูญใหม่  การชุมนุมที่เกิดขึ้นมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก นั่งและยืนเบียดเสียดกันโดยเว้นระยะห่างไม่ถึง 1 เมตร, ผู้ชุมนุมบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย, สถานที่ชุมนุมมีทางเข้าออกหลายทางโดยไม่ได้จัดจุดตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเพื่อคัดกรองและจัดให้ผู้ชุมนุมล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ให้ครบถ้วนตามหลักวิชาการในการป้องกันโควิด-19 อันจะเป็นเหตุให้มีการแพร่ได้

พฤติการณ์การจับกุม

ผู้ต้องหาเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่มีการจับกุม

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

20 กรกฎาคม 2563
 
เพจเฟซบุ๊ก แนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตยเผยแพร่โปสเตอร์การชุมนุม "อีสานสิบ่ทน" โดยกำหนดจัดงานในวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ที่ลานแปดเหลี่ยมภายในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ 17.00 น. เป็นต้นไป

21 กรกฎาคม 2563
 
มหาวิทยาลัยมหาสารคามออกแถลงการณ์สรุปได้ว่าการชุมนุมของนิสิตเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่สามารถกระทำได้และสามารถใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยได้ แต่หากมีการกระทำความผิดทางกฎหมายให้ถือเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคลและมหาวิทยาลัยไม่ได้เห็นพ้องหรือให้การสนับสนุนการชุมนุม
 
ในช่วงค่ำวันเดียวกัน มหาวิทยาลัยมหาสารคามออกประกาศ ลงนามโดย ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดี ไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดการชุมนุมหรือกิจกรรมในพื้นที่โดยอ้างเหตุการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 
 
22 กรกฎาคม 2563
 
เฟซบุ๊กเพจแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตยถ่ายทอดสดการปราศรัยคัดค้านการประกาศห้ามชุมนุมของผู้บริหาร โดยพงศธรปราศรัยยืนยันว่าจะมีการจัดการชุมนุมในวันที่ 17.00 น. ตามกำหนดการเดิม
 
ในเวลาประมาณ 15.45 น. หรือประมาณชั่วโมงเศษก่อนเวลาเริ่มการชุมนุมมีตำรวจเข้ามาในพื้นที่การชุมนุมและอ่านข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ผู้ชุมนุมฟัง ระหว่างการชุมนุมดำเนินไปมีเจ้าหน้าที่คอยบันทึกภาพนิ่งและวิดีโอตลอดการชุมนุม อย่างไรก็ตาม การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายหรือการจับกุมบุคคลใดเกิดขึ้น
 
27 สิงหาคม 2563
 
พงศธร โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า เขาได้รับหมายเรียกจากสภ.เขวาใหญ่ อำเภอเมืองมหาสารคาม ให้ไปรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อจากการจัดการชุมนุมในมหาวิทยาลัย พงศธรยังประกาศเชิญชวนให้ประชาชนมาพบปะกับเขาในวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งเขามีกำหนดเข้าพบพนักงานสอบสวนด้วย
 
31 สิงหาคม 2563
 
ประชาไทรายงานว่า พงศธรเข้าพบพนักงานสอบสวนแล้ว โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนการเข้ารายงานตัวสภ.เขวาใหญ่มีการเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะมาตรการรักษาความปลอดภัย ตั้งแต่เวลา 10.00 น. มีการวางแผงเหล็กกั้นทางขึ้นเว้นช่องให้เดินผ่านเข้าได้ มีตำรวจในเครื่องแบบราว 50 นายประจำอยู่ทั้งสองด้านของทางขึ้น มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีก 10 นาย กระจายตัวคอยถ่ายรูปและตั้งกล้องวีดิโอบันทึกภาพ ประชาชน นักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เดินทางมาให้กำลังใจพงศธร
 
หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาพงศธรยังแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการฉีกหมายเรียกผู้ต้องหาทิ้งลงพื้นและใช้เท้าเหยียบเพื่อสื่อว่า กฎหมายที่นำมาใช้กลั่นแกล้งประชาชนไม่ได้ทำให้ประชาชนกลัวแต่จะยิ่งเพิ่มไฟแค้นและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง  

สำหรับนัดต่อไปพงศธรจะต้องนำคำให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสารมาส่งพนักงานสอบสวนในวันที่ 15 กันยายน 2563
 
ในเวลาต่อมามีรายงานว่าพนักงานมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา
 
1 ตุลาคม 2563
 
ประชาไทรายงานว่า อัยการจังหวัดมหาสารคามมีความเห็นสั่งฟ้อง พงศธรณ์ โดยในขั้นตอนดังกล่าวมี ทวีศักดิ์ ทักษิณ ส.ส.พรรคก้าวไกล อดิศักดิ์ สมบัติคำ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ วินัย ผลเจริญ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งมาสังเกตการณ์และให้กำลังใจ

จากการสอบถามพงศธรณ์ในภายหลังได้ข้อมูลว่าศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวเขาโดยไม่ต้องวางหลักประกันและนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 ตุลาคม 2563
 
 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา