การชุมนุม ปลดอาวุธศักดินาที่ราบ 11

อัปเดตล่าสุด: 07/10/2565

ผู้ต้องหา

อานนท์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 29 พ.ย. 2563 “ราษฎร" จัดการชุมนุมที่กองพันทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์บางเขน โดยให้ชื่อการชุมนุมว่า #ปลดอาวุธศักดินา 
 
ในการผู้ชุมนุมผู้ต้องหาเจ็ดคนในคดีนี้ผลัดกันขึ้นปราศัยและมีการอ่านแถลงการณ์ของการชุมนุมซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562

ซึ่งมีสาระสำคัญให้โอนกรมทหารราบที่ 1 และ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์เมื่อปี 2562 และให้หน่วยงานทั้งสองกลับคืนสู่ต้นสังกัดเดิมของกองทัพ 
 
ระหว่างการชุมนุมผู้ชุมนุมบางส่วนยังได้นำแผ่นป้ายไวนิลขนาดใหญ่เขียนข้อความ “กรมทหารราบที่11มหาดเล็กรักษาราษฎร” ขึ้นไปแขวนบนสะพานลอยใกล้กรมทหารราบราบที่ 11 ด้วย
 
การชุมนุมในวันดังกล่าวยุติลงด้วยความเรียบร้อยโดยที่ระหว่างการชุมนุมมีเจ้าหน้าที่บันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไว้โดยตลอด หลังจากนั้นจึงมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้งแปดคนมาดำเนินคดีด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาอื่นๆในภายหลัง 
 
ทั้งนี้นอกจากผู้ต้องหาที่ขึ้นปราศรัยทั้งเจ็ดคนแล้ว อินธิราผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ได้ขึ้นปราศรัยแต่เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านอาหารกับผู้ชุมนุมก็ถูกดำเนินคดีด้วย ผู้ต้องหาทั้งแปดคนเข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 21 ธันวาคม 2563 โดยให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดหลังเสร็จสิ้นกระบวนการโโยไม่มีเงื่อนไข  

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อินทิรา เป็นนักแสดงและนักร้องชาวไทย มีชื่อเสียงจากภาพยนตร์เรื่อง "นางนาค "โดย รับบทเป็น แม่นาคพระโขนง รวมทั้งยังร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรโดยรับบทเป็นเลอขิ่น อินทิราเข้ามาให้ความช่วยเหลือผู้ชุมนุมโดยในสนับสนุนด้านอาหาร น้ำดื่มและรถสุขาจนได้รับฉายาว่า "แม่ยกแห่งชาติ"
 
พริษฐ์หรือเพนกวิ้นเป็นชาวกรุงเทพโดยกำเนิดแต่ไปใช้ชีวิตสมัยเด็กอยู่ที่จังหวัดลำปาง พริษฐ์เป็นอดีตเลขาธิการของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาไทยให้มีความก้าวหน้า ขณะเกิดเหตุคดีนี้พริษฐ์ศึกษาระดับอุดมศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง 
 
เช่น ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 พริษฐ์ไปทำกิจกรรมกินมาม่าซ้อมยากจนที่บริเวณสกายวอล์ก เพื่อประท้วงกรณีที่คสช.ยังไม่ยอมประกาศวันเลือกตั้งให้ัชัดเจนขณะที่เศรษฐกิจก็ไม่ดีขึ้น นอกจากนั้นพริษฐ์ยังเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนกลุ่มที่จะจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ด้วย แต่ขณะนั้นพริษฐ์ไม่ได้ร่วมจดจัดตั้งหรือเป็นสมาชิกพรรคเพราะขณะนั้นเขายังอายุไม่ถึง 
 
พรหมศรเป็นหนึ่งในแกนนำจัดการชุมนุมบริเวณแยกอุดมสุขเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 
 
พิมพ์สิริ นักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานให้กับองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
 
อานนท์ จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา เมื่อประกอบอาชีพ ทนายอานนท์เคยว่าความคดีสิทธิให้ชาวบ้านหลายคดี เช่น คดีชาวบ้านชุมนุมค้านโรงถลุงเหล็ก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชาวบ้านค้านท่อแก๊สที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และคดีความจากการชุมนุมอีกหลายคดี 
 
นอกจากนี้ เขายังเป็นทนายความให้กับจำเลยในคดีการเมืองและคดีมาตรา 112 เช่น คดีอากง เอสเอ็มเอส ด้วย หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อานนท์เป็นหนึ่งในทีมทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และว่าความให้กับจำเลยคดีการเมืองหลังรัฐประหารหลายคดี เช่น คดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. และ คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ของสิรภพ
 
และอานนท์เองตกเป็น 1 ใน 4 ของจำเลยข้อหาชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. หลังจัดกิจกรรม เลือกตั้งที่รัก (ลัก) ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558
 
ชินวัตร แกนนำเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ที่จัดกิจกรรม “รวมพลคนนนทบุรีไล่เผด็จการ” อยู่หลายครั้ง ปี 2554-2556 ชินวัตร เริ่มจัดรายการวิทยุชุมชนคนเสื้อแดง และเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาชน (กวป.) ที่จัดการชุมนุมคู่ขนานกับกลุ่ม กปปส.
 
สมยศ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยเป็นประธานสหภาพพันธมิตรแรงงานประชาธิปไตย มีประวัติเคลื่อนไหวด้านแรงงานเรื่อยมา โดยเป็นผู้นำแรงงานออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องกับรัฐบาลในหลายครั้ง
 
ปี 2550 เขาเริ่มต้นเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin และเป็นแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ไม่กี่วันก่อนที่เขาจะถูกจับ เขาออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา
 
ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2553 จากการชุมนุมทางการเมือง รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในครั้งนั้นมีสื่อหลายแห่งถูกปิด และนักเคลื่อนไหวหลายคนถูกจับกุมตัวเข้าไปในค่ายทหาร ซึ่งรวมถึงนายสมยศที่ถูกจับกุมเป็นเวลา 19 วัน หลังจากได้รับการปล่อยตัว เขาเปลี่ยนชื่อนิตยสารจาก Voice of Taksin เป็น Red Power
 
นอกจากนี้ ชื่อของสมยศ  ถูกจัดอยู่ในรายชื่อผังล้มเจ้าของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2553 ด้วย
 
ในปี 2556 สมยศถูกพิพากษาจำคุกในคดีมาตรา 112 จากกรณีที่เขาเป็นบรรณาธิการวารสาร Voice of Taksin แล้วเผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์สองบทความ ถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 10 ปี โดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาลดโทษให้เหลือจำคุกหกปี เนื่องจากสมยศเคยถูกรอลงอาญาโทษจำคุก 1 ปีในคดีหมิ่นประมาทพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร โทษดังกล่าวจึงถูกนำมาบวกด้วย 
 
เนื่องจากสมยศต่อสู้คดีถึงชั้นศาลฎีกาเขาจึงไม่ได้รับการลดหย่อนโทษใดๆและรับโทษจำคุกเต็ม 7 ปี โดยเขาได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561
 
ณัฏฐธิดา เคยเป็นพยาบาลอาสาระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ทำให้เธอเป็นพยานปากสำคัญในคดีผู้เสียชีวิตหกศพภายในวัดปทุมวนารามจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 

ข้อหา / คำสั่ง

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า คณะพนักงานสอบสวนซึ่งมี พ.ต.ท.สราวุธ บุตรดี สารวัตร (สอบสวน) สน.บางเขนหัวหน้า บรรยายพฤติการณ์ในคดีซึ่งสรุปได้ว่า 
 
พริษฐ์​, อานนท์ และเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เชิญชวนให้ประชาชนมาเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะ ที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 เวลา 15.00 น. โดยมีการปราศรัยเรื่องการปลดอาวุธศักดินาไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์
 
ในการชุมนุมที่เป็นเหตุแห่งคดี อานนท์, พริษฐ์, ชินวัตร, พรหมศร, พิมพ์สิริ, ณัฏฐธิดา, สมยศ และอินทิรา มีการตกลง คบคิด และ แบ่งหน้าที่กันทํา โดยเจ็ดคนแรกทำหน้าที่ขึ้นปราศรัย ส่วนอินทิรามีหน้าที่จัดหารถตู้เพื่อใช้รับส่งประชาชนเพื่ออำนวยความสะดวกในการมาชุมนุม, เป็นผู้บริหารการทํางานของการ์ด และเป็นผู้ส่งอาหารน้ำดื่มให้กับผู้ชุมนุม 
 
ผู้ต้องหาทั้งแปดจึงมีวัตถุประสงค์ร่วมกันใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ว่าโอนกําลังทหารมาเป็นของพระองค์เอง ทำให้ผู้ชุมนุมต้องมาปลดอาวุธศักดินา ซึ่งถือเป็นการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือ วิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทํา ภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่แสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต 
 
ทั้งยังมีการปิดถนนพหลโยธินขาเข้าที่บริเวณหน้าห้างโลตัส สาขาหลักสี่ และปิดถนนพหลโยธินขาออกหน้าปากซอยพหลโยธิน 45/1 ทําให้ประชาชนไม่สะดวกที่จะใช้พื้นที่สาธารณะ และมีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งยังมีการเทสีน้ำราดไปบนพื้นถนนหน้ากรมทหารราบที่ 11 และมีการฉีดพ่นสีไปที่พื้นถนนพหลโยธิน นอกจากนี้ ยังมีการทําให้รถยนต์ตู้ของเจ้าหน้าที่ตํารวจได้รับความเสียหาย 15 คัน 
 
ประกอบกับการชุมนุมในครั้งนี้ เป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมาก มีโอกาสสัมผัสกันได้ง่าย เสี่ยงต่อการติดโรคระบาด มิได้มีการระวังป้องกันตามสมควร ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการแจ้งให้เลิกการชุมนุมแล้ว แต่กลุ่มผู้ต้องหา ไม่ปฏิบัติตามและไม่เลิกการชุมนุม

พฤติการณ์การจับกุม

คดีนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดเข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก จึงไม่มีการจับกุมตัว หลังผู้ต้องหาทั้งหมดเข้ารายงานตัวพนักงานสอบสวนไม่ได้ขออำนาจศาลฝากขังและปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
28 พฤศจิกายน 2563

เฟซบุ๊กเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมโพสต์ภาพและข้อความ ประกาศนัดชุมนุม #ปลดอาวุธศักดินาไทย ที่กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์  ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป พร้อมระบุเหตุผลประกอบการชุมนุมว่าเนื่องจากขณะนั้นมีกระแสข่าวเรื่องการทำรัฐประหารและก่อนหน้านั้นก็มีการออกกฎหมายโอนกำลังพลบางส่วนมาอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพระมหากษัตริย์คล้ายๆกับเป็นกองกำลังส่วนพระองค์ จึงมีความห่วงกังวลในประเด็นดังกล่าว
 
 
 
 

Radsadorn @ 11th Infantry Regiment 29 Nov 2020

 

 

29 พฤศจิกายน 2563

หลังมีประกาศนัดชุมนุมที่กรมทหารราบที่ 1 ข่าวสดออนไลน์รายงานว่าในเวลาประมาณ 2.45 น. มีการนำตู้คอนเทนเนอร์มาวางล้อมบริเวณทางเข้าออกกรมทหารราบที่ 1 วิภาวดี และบริเวณใกล้เคียง

ต่อมาเวลา 10.23 น. โพสต์ทูเดย์รายงานว่า ผู้ชุมนุมราษฎรประกาศย้ายสถานที่ชุมนุมจากกรมทหารราบที่ 1 ไปเป็นกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ บางเขน แม้จะมีการประกาศย้ายจุดชุมนุมแล้วแต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ได้เคลื่อนย้ายแนวกั้นคอนเทนเนอร์ออกไปแต่อย่างใด

29 พฤศจิกายน 2563
 
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่าในเวลา 13.00 น.หรือประมาณสองชั่วโมงก่อนเวลาเริ่มชุมนุมของกลุ่มราษฎร ตำรวจจราจรจากสน.บางเขน มาดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 และมีการนำต้นไม้มาตั้งบริเวณป้ายชื่อที่อยู่ด้านหน้ากรมทหารราบที่ 11 ด้วย 
 
จากนั้นเวลา 13.20 น. เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนำลวดหนามหีบเพลงมาวางล้อมหน้าทางเข้ากรมฝั่งถนนพหลโยธินพร้อมทั้งนำซากรถเมล์มาจอดขวางทางเข้าอีกชั้นเพื่อป้องกันกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปในค่าย รวมทั้งมีการเคลื่อนรถฉีดน้ำแรงดันสูงสองคันเข้ามาประจำการในพื้นที่ด้วย 
 
พริษฐ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎรให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังเดินทางมาถึงสถานีรถไฟฟ้าวัดพระศรีฯถึงเหตุผลในการย้ายสถานที่ชุมนุมว่า เป็นเพราะรัฐนำตู้คอนเทนเนอร์และลวดหนามหีบเพลงมาขัดขวาง จึงต้องเปลี่ยนมาชุมนุมที่กรมทหารราบที่ 11 แทน และทั้งกรมทหารราบที่ 1 และกรมทหารราบที่ 11 ต่างมีส่วนในการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง รวมทั้งมีส่วนในการทำรัฐประหาร 
 
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมาดูความเรียบร้อยที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 ระบุว่าผู้ชุมนุมยังไม่ได้แจ้งการชุมนุม แสดงให้เห็นว่าผู้จัดการชุมนุมมีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย 

ไทยโพสต์ออนไลน์รายงานว่าในเวลา 16.35 น.ชินวัตร ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงตอนหนึ่งว่า ตัวเขาเรียกกรมทหารราบที่ 11ว่า กองบัญชาการสังหารคนเสื้อแดง เราไม่ได้มาท้าตีท้าต่อยแต่มาเพื่อปลดอาวุธ ก่อนหน้านี้เราประกาศว่าจะไปบ้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  แต่ปรากฏว่า มีการนำตู้คอนเทนเนอร์ไปไว้ เราเลยต้องมากรมทหารราบที่ 11 แทน ทหารในบ้านพล.อ.ประยุทธ์เลยต้องกินแกงเขียวหวานไก่ใส่สลิ่ม 
 
ชินวัตรกล่าวต่อว่า  วันนี้เรามาเยี่ยมเยียนกัน ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นขอฝากรัฐบาล ถ้าคิดทำรัฐประหารช่วยเช็คกองกำลังให้ดีหน่อย ราษฎรไม่มีอาวุธไปสู้ แต่ขอเตือนคนที่จะทำรัฐประหารและคนที่จะเซ็นให้มีการรัฐประหารถ้ามีรัฐประหาร ไม่ว่าวันนี้ พรุ่งนี้ หรือวันไหน ระวังเจอราษฎรเป็ดก้าบๆ ไปต่อต้านแล้วกัน เผด็จการจงพินาศเป็ดก้าบๆ จงเจริญ นอกจากนี้ รัฐบาลชอบบอกว่าเราใช้ความรุนแรงทําลายทรัพย์สินราชการ ถามว่าแค่เอาสีพ่นลบกันไม่ได้หรืออย่างไร
 
บีบีซีไทย รายงานว่า หลังเคารพธงชาติในเวลา 18.00 น. ผู้ชุมนุมที่รวมตัวบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสวัดพระศรีฯ เคลื่อน ขบวนมาที่กรมทหารราบที่ 11  โดยเคลื่อนขบวนมาถึงที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 ในเวลาประมาณ 18.30 น. จากนั้นจึงมีการสลักกันกล่าวปราศรัย 
 
ในเวลาประมาณ 20.35 น. พริษฐ์เป็นตัวแทนผู้ชุมนุมอ่านประกาศหน้ากรมทหารราบที่ 11 ให้ยกเลิก พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลฯ ที่ให้โอนกรมทหารราบที่ 1 และ 11 ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์แล้วให้โอนหน่วยงานทั้งสองกลับคืนสู่ต้นสังกัดเดิมของกองทัพบก โดยปนะกาศดังกล่าวพอสรุปได้ว่า
 
ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย การบังคับบัญชาหน่วยทหารเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ของสถาบันกษัตริย์ การให้มีกองกำลังส่วนพระองค์ถือเป็นการ "ก้าวก่าย" การทำงานของรัฐบาล และ "แทรกแซง" อำนาจสูงสุดที่เป็นของประชาชน 
 
ประกาศยังระบุด้วยว่า การโอนกำลังทหารไปขึ้นตรงกับสถาบันกษัตริย์นอกจากจะบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงแล้ว ยังไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์เองด้วย"
 
หลังอ่านประกาศทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แกนนำผู้ชุมนุมและผู้ที่อยู่บริเวณรอบๆรถปราศรัยร่วมกันปาประกาศที่ถูบพับเป็นจรวด เข้าไปที่ประตูรั้วของกรมทหารราบที่ 1
 
อานนท์ หนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุมปราศรัยตอนหนึ่งซึ่งสรุปได้ว่าขระนี้สังคมไทยมาถึงจุดที่พระราชอำนาจถูกขยายออกไปเรื่อย ๆเป็นเหตุให้ ประชาชนต้องมาชุมนุมในที่นี้ การโอนกำลังพล 2 หน่วย ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ เป็นอีกแผลของระบอบประชาธิปไตย โดยในประเทศประชาธิปไตยกองกำลังติดอาวุธต้องขึ้นตรงต่อรัฐบาลเท่านั้น
 
ณัฏฐธิดา พยาบาลอาสาในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงช่วงปี 2553 ซึ่งพยานในคดีสังหาร 6 ศพวัดปทุมฯกล่าวปราศรัยช่วงหนึ่งว่า เธอมาที่กรมทหารราบ 11 เพื่อทวงถามความเป็นธรรมให้ 6 ศพ ที่วัดปทุมวนารามและคนเสื้อแดงที่เสียชีวิต 99 ศพ 
 
ก่อนยุติการชุมนุมผู้ชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยเทสีแดง ลงที่พื้นและลวดหนามหน้าแนวกั้นของตำรวจก่อนยุติการชุมนุมโดยไม่มีเหตุรุนแรง
 
30 พฤจิกายน 2563
 
เดลินิวส์ออนไลน์รายงานว่า ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและโฆษก กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันแถลงเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม
 
ด้านพล.ต.ต.ปิยะ ระบุว่าการเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมไปยังกรมทหารราบที่ 11 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ สน.บางเขนไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุม จึงถือเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นเดียวกับสถานที่ที่แจ้งรวมตัวก่อนหน้านี้ ที่กรมทหารราบที่ 1 ก็ไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมเช่นกัน
 
16 ธันวาคม 2563
 
ประชาไทรายงานว่า อินทิรา และพริษฐ์ ได้รับหมายเรียกจากสน.บางเขนให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายาอายามาตรา 116  โดยหมายเรียกกำหนดให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวในวันที่ 21 ธ.ค.2563
 
18 ธันวาคม 2563
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า พิมพ์สิริซึ่งทำงานในองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแห่งหนึ่งโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเธอได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการเป็นหนึ่งในผู้ขึ้นปราศรัย ที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 
 
21 ธันวาคม 2563
 
นัดรับทราบข้อกล่าวหา
 
ตั้งแต่เวลาก่อน 10.00 น. ประชาชนราวม 100 คน ทยอยมารวมตัวที่หน้า สน.บางเขนเพื่อรอให้กำลังใจผู้ต้องหาทั้งแปดคน ขณะที่บริเวณด้านข้าง สน.บางเขนก็มีนักดนตรีกลุ่มหนึ่งจับกลุ่มร้องเพลง 
 
สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ตำรวจนำรั้วมากั้นพื้นที่บริเวณทางขึ้นอาคารสถานีและจัดกำลังตำรวจสวมชุดสีกรมท่าพันผ้าพันคอสีม่วงยืนรักษาการอยู่หลังแนวรั้วเหล็ก อแต่บรรยากาศที่หน้า สน.ก็ไม่มีความตึงเครียด เจ้าหน้าที่ไม่ได้กั้นพื้นที่จอดรถด้านหน้า สน. เป็นพิเศษ ผู้ชุมนุมสามารถรวมตัวบริเวณดังกล่าวได้ และมีคนนำสินค้าที่ระลึกทั้งเสื้อ ผ้าพันคอ รวมถึงตุ๊กตาเป็ดมาวางขายด้วย ขณะที่ทีมงานของทราย เจริญปุระก็ตั้งจุดบริการอาหาร และน้ำให้ผู้มาร่วมชุมนุม 
 
เวลา 11.00 น. ประชาชนกลุ่มหนึ่งเริ่มตั้งขบวนแห่ขันหมากพาผู้ต้องหาส่วนหนึ่งเข้ามาที่หน้าสน.บางเขน เมื่อมาถึงผู้ต้องหาบางส่วนที่ถูกดำเนินคดีนี้บางส่วนกับผู้ต้องหาคดี 112 คนอื่นๆที่มาให้กำลังใจต่างสลับกันขึ้นปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินคดีกับประชาชน กระทั่งเวลา ผู้ต้องหาทั้งแปดคนเดินเข้าไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวนภายในอาคารสถานีตำรวจขระที่การปราศรัยยังคงดำเนินต่อไป 
 
ระหว่างนั้นมีผู้ร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งนำบล็อกข้อความ เช่น ยกเลิก 112 มาวางบนพื้นลานจอดรถด้านหน้าเวทีการชุมนุมและใช้สีสเปรย์พ่นข้อความคัดการการใช้มาตรา 112 ด้วย
 
ผู้ต้องหาทั้งแปดทยอยเดินออกจากสน.บางเขน ในช่วงบ่ายหลังเสร็จสิ้นเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาซึ่งทั้งหมดให้การปฏิเสธและพนักงานสอบสวนปล่อยตัวทั้งหมดโดยไม่ต้องวางเงินประกันตัว ก่อนแยกย้ายกันกลับผู้ต้องหาบางส่วนได้ขึ้นปราศรัยทักทายประชาชนที่มาให้กำลังใจด้วย
 
จากนั้นเวลา 13.52  พริษฐ์ขอให้ประชาชนที่มาให้กำลังใจร่วมร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์แก่ทราย เจริญปุระ และเป่าเค้กวันเกิดร่วมกัน ก่อนจะแยกย้ายกันเดินทางกลับ
 
25 พฤศจิกายน 2564
 
อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งหมดในคดีนี้ ในวันนัดมีผู้ต้องหามารายงานตัวกับอัยการทั้งหมดสี่คนจากแปดคน ได้แก่ สมยศ พิมพ์สิริ ณัฎฐธิดา และอินทิรา 

ผู้ต้องหาอีกสี่คนที่ไม่ได้มารายงานตัวได้แก่ อานนท์ และ พริษฐ์ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำด้วยหมายขังคดีอื่น ขณะที่พรหมศรไม่ได้มาพบอัยการเพราะติดภารกิจอื่นซึ่งนัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว ขณะที่ชินวัตรติดนัดคดีอื่นซึ่งมีนัดหมายก่อนอัยการจะนัดส่งตัวฟ้องในคดีนี้
 
ทั้งชินวัตรและพรหมศรได้ประสานให้ทนายความเลื่อนการนัดรายงานตัวออกไปเป็นวันอื่นซึ่งอัยการอนุญาตให้เลื่อนการนัดส่งฟ้องในกรณีของทั้งสองคนออกไป
 
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า ในการฟ้องคดี จำเลยทุกคนยกเว้นอินทิราถูกฟ้องด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นข้อหาหลัก ส่วนอินธิราถูกฟ้องด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เป็นข้อหาหลัก 
 
หลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง จำเลยสี่คนที่มาพบอัยการคือสมยศ พิมพ์สิริ ณัฎฐธิดา และอินทิรายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสี่คนด้วยวงเงินที่แตกต่างกัน

ศาลตีราคาประกันสมยศ 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทำกิจกรรม ที่จะทำความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ให้มาศาลตามนัด
 
พิมพ์สิริ และ ณัฎฐธิดา ศาลตีราคาประกัน 100,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาต กับห้ามทำกิจกรรมที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
 
ส่วนอินทิราซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เป็นข้อหาหลัก ศาลตีราคาประกัน 35,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขเช่นเดียวกับจำเลยอีกสามคน
 
7 กุมภาพันธ์ 2565
 
นัดสอบคำให้การ

ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในเวลา 9.00 น. จำเลยหกคนทยอยเดินทางมาถึงศาลตั้งแต่ก่อนเวลา 9.30 น. แต่มีจำเลยสองคนคือพรหมศรและณัฎฐธิดาเดินทางมาถึงศาลหลังเวลา 9.30 น. ในวันนี้พริษฐ์และอานนท์ถูกเบิกตัวมาที่ห้องพิจารณาคดีด้วย

การรักษาความปลอดภัยที่ศาลอาญาในวันนี้ไม่ได้มีการวางมาตรการพิเศษใดๆ ไม่มีการตั้งจุดคัดกรองที่ลานจอดรถ มีเพียงการวางกำลังตำรวจศาลที่หน้าห้องพิจารณาคดี 901 สองนาย แต่ไม่ได้มีการยึดโทรศัพท์ผู้เข้าสังเกตการณ์และไม่ได้มีการห้ามปรามไม่ให้คนรู้จักหรือผู้สังเกตการณ์เข้าห้องพิจารณาคดี

ศาลเริ่มดำเนินกระบวนพิจารณษคดีในเวลาประมาณ 10.00 น. หลังจำเลยทั้งหมดเดินทางมาถึงศาล

ในนัดนี้อัยการแถลงขอรวมสำนวนคดีเข้าด้วยกัน เนื่องจากในชั้นของการฟ้องคดีอัยการแยกฟ้องคดีผู้ต้องหาเป็นสองสำนวนเพราะในวันที่ 25 พฤศจิกายนที่อัยการฟ้องคดี มีผู้ต้องหาสองคนคือชินวัตรและพรหมศรที่ติดนัดคดีอื่นและติดภารกิจตามลำดับไม่ได้เดินทางไปพบอัยการ ทั้งสองเข้าพบอัยการและถูกฟ้องคดีแยกเป็นอีกสำนวนหนึ่ง อัยการจึงขอรวมสำนวนคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันเพื่อความสะดวกรวดเร็วเนื่องจากข้อเท็จจริงของทั้งสองคดีมีมูลเหตุจากการกระทำเดียวกัน ทนายจำเลยแถลงไม่คัดค้านการขอรวมสำนวน ศาลจึงอนุญาตให้รวมสำนวนคดีทั้งสองเข้าด้วยกัน

จากนั้นศาลถามจำเลยเรื่องทนายความ ชินวัตรและพรหมศรยังไม่ได้แต่งตั้งทนายและประสงค์จะแต่งตั้งทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แต่ทนายความที่ทั้งสองประสงค์จะแต่งตั้งไม่ได้เดินทางมาศาลเนื่องจากติดนัดพิจารณาคดีอื่น

จากนั้นทนายจำเลยจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่มาว่าความในนัดนี้แถลงต่อศาลว่า มีความจำเป็นต้องขอเลื่อนการพิจารณาคดีนัดนี้ออกไปสักนัดหนึ่งเนื่องจากทนายความหลายคนในคดีการพิจารณาคดีที่ศาลอื่นซึ่งมีนัดไว้ก่อนแล้วจึงไม่สามารถเดินทางมาศาลในนัดนี้ได้ ศาลถามอัยการแล้ว อัยการไม่คัดค้าน ศาลอนุญาตให้เลื่อนนัดพิจารณาคดีออกไปได้

ศาลถามจำเลยที่แต่งตั้งทนายความไว้แล้ว และทนายความมาศาลในวันนี้ว่า พร้อมให้การเลยหรือไม่ หรือจะรอให้การพร้อมจำเลยคนอื่นๆ จำเลยแถลงต่อศาลว่าจะขอให้การพร้อมกัน ศาลอนุญาต

ทนายจำเลยแถลงว่าได้หารือเรื่องวันนัดกับทนายความคนอื่นๆที่ไม่ได้มาศาลในวันนี้ไว้แล้ว ทนายความว่างตรงกันในวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ศาลแจ้งกับทนายว่าวันดังกล่าวอาจล่าช้าไป ศาลอยากให้กำหนดวันนัดไม่เกินเดือนเมษายน

ทนายจำเลยชี้แจงต่อศาลว่าขณะนี้ทีมทนายจำเลยมีนัดพิจารณาคดีในเดือนเมษายนต็มแล้ว แต่จะลองหารือกับทนายคนอื่นๆเพื่อหาวันนัดที่เร็วกว่าวันที่ 23 พฤษภาคม สุดท้ายทนายจำเลยหาวันนัดที่ทนายทุกคนว่างตรงกันได้ในวันที่ 9 พฤษภาคม ศาลจึงกำหนดนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานใหม่ในวันดังกล่าว     

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

เอกภพ ห.: น้องตั้งอาชีวะ

พรชัย : โพสต์กษัตริย์เกี่ยวข้องกับการปราบผู้ชุมนุม

พิพัทธ์: โพสต์ภาพรัชกาลที่สิบในรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส