จตุพร: แต่งชุดไทยเดินแฟชันเสียดสีพระราชินี

อัปเดตล่าสุด: 25/10/2565

ผู้ต้องหา

จตุพร

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจเชียร์ลุง

สารบัญ

29 ตุลาคม 2563 กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรมแฟชันโชว์ศิลปะราษฎร์ที่ถนนสีลมใกล้วัดแขก รุปแบบกิจกรรมเป็นการแสดงศิลปะและแฟชัน ไม่มีการปราศรัย โดยมีข้อน่าสังเกตว่ากิจกรรมนี้จัดในวันเดียวกันและในพื้นที่ใกล้เคียงกับแฟชั่นโชว์เปิดตัวคอลเลกชันล่าสุดของแบรนด์ SIRIVANNAVARI ซึ่งจัดที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล
 
ในวันงานกิจกรรมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย จตุพรไปเข้าร่วมกิจกรรมโดยสวมชุดไทย กิจกรรมในวันเกิดเหตุยุติลงด้วยความเรียบร้อยแต่ในภายหลังมีการออกหมายเรียกจตุพรมารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเจ้าหน้าที่เห็นว่าเธอมีเจตนาแต่งกายและแสดงท่าทางเสียดสีสมเด็จพระราชินี

ภูมิหลังผู้ต้องหา

จตุพรเป็นสมาชิกกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอกและเป็นสมาชิกกลุ่มมวลชนอาสา We Volunteer

ข้อหา / คำสั่ง

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ยานนาวาสรุปได้ว่า ในวันเกิดเหตุจตุพรเข้าร่วมการชุมนุมในขณะที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 โดยที่ไม่ได้มีการตั้งจุดคัดกรอง ป้องกันโรค จากนั้นได้ดำเนินกิจกรรมในลักษณะที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินิ องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 
 
โดยจตุพรเดินบนพรมแดง แต่งกายและแสดงท่าทางประกอบการเดินแบบ ในลักษณะที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นการเยี่ยมเยียนผสกนิกรของสมเด็จพระราชินี โดยสวมชุดไทยสีชมพู ถือกระเป๋าขนาดเล็ก และมีชายไม่ทราบชื่อแต่งชุดไทยนุ่งโจงกระเบนกางร่มเดินตาม รวมทั้งมีหญิงไม่ทราบชื่อถือพานทอง มีปลอกแขนการืดวางอยู่ข้างบนเดินตาม รวมทั้งถือโทรโข่งเปิดเพลงข่าวในพระราชสำนัก 
 
ระหว่างนั้นมีประชาชนที่นั่งอยู่ข้างพรมแดงส่วนหนึ่งก้มตัวลงคล้ายจะหมอบกราบ กรณีจึงอาจเป็นการตระเตรียมกระทำการเป็นกลุ่มหรือหากไม่มีการตระเตรียมการจตุพรก็แสดงท่าทางเลียนแบบจนคนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการล้อเลียนสมเด็จพระราชินีและมีกลุ่มคนที่ชมอยู่ตะโกนว่า "พระราชินี" 
 
กรณีจึงเชื่อว่าจตุพรมีเจตนาล้อเลียนสมเด็จพระราชินี ทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเป็นการดูหมิ่นและเกลียดชัง 

พฤติการณ์การจับกุม

จตุพรเข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก จึงไม่มีการจับกุมตัว หลังจตุพรเข้ารายงานตัวพนักงานสอบสวนไม่ได้ขออำนาจศาลฝากขังและปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์  

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญากรุงเทพใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
29 ตุลาคม 2563
 
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า ในเวลา 17.00 น. บริเวณถนนหน้าวัดแขก สีลม กลุ่มราษฎรเริ่มรวมตัวกันโดยนำป้ายไวนิลเป็นภาพศิลปะเหตุการณ์ต่างๆ มาปูวางที่พื้นถนนสีลมยาวไปถึงซอบสีลม 18 อาทิ ภาพนักเรียกผู้โบว์สีขาวชูมือสามนิ้ว 
 
ต่อมาเวลา 17.30 น. ตำรวจ สน.ยานนาวา นำเครื่องขยายเสียงมาประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมในเวลา 19.00 น. เนื่องจากผู้ชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.การชุมนุมฯ การชุมนุมนี้จึงเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ระหว่างนั้นผู้ชุมนุมก็ตะโกนด่าและโห่ไล่ตำรวจ
 
จากนั้นเวลา 18.10 น. กลุ่มราษฎรปิดถนนสีลมทั้งสองฝั่งบริเวณหน้าวัดแขก พร้อมทั้งกางป้ายไวนิลเขียนข้อความและลายการ์ตูนต่างๆ บนพื้นถนน 
 
ขณะเดียวกันก็มีการจัดแฟชนโชว์มีนางแบบและนายแบบที่แต่งกายในชุดแฟนซีต่างๆ ซึ่งแฝงไปด้วยนัยทางการเมืองสลับกันเดินโชว์ 
 
จตุพรได้ร่วมเดินแฟชันด้วยโดยแต่งชุดไทย
 
11 ธันวาคม 2563
 
เฟซบุ๊กเพจ บุรีรัมย์ปลดแอก เผยแพร่ข้อมูลว่าจตุพรทราบตัวเองถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาในมาตรา 112 จากการร่วมเดินแฟนชันที่สีลม แต่ตัวจตุพรยังไม่ได้รับหมายเรียกเนื่องจากหมายเรียกถูกส่งไปตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านของเธอ 
 
17 ธันวาคม 2563
 
จตุพรและผู้ต้องหาเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุเดียวกันเป็นอีกสำนวนคดีหนึ่งในศาลเยาวชนเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก โดยตั้งแต่ก่อนเวลา 10.00 น. ซึ่งเป็นเวลานัดหมายทีมงาน We Volunteer ซึ่งจตุพรเป็นสมาชิกอยู่ด้วยได้เดินทางมาติดตั้งรถเครื่องเสียงที่หน้าสน.ยานนาวาเพื่อเตรียมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์
 
จตุพรมาถึงหน้าสน.คลองหลวงในเวลาประมาณ 10.30 น. โดยเธอสวมชุดไทยมารายงานตัว นอกจากจตุพรก็มีสมาชิกกลุ่ม We Volunteer คนอื่นๆที่สวมชุดไทยมาด้วยอีกห้าถึงหกคน 
 
จตุพรเดินเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาในสน.ยานนาวาในเวลาประมาณ 11.00 น. โดยก่อนเข้าเธอได้เต้นเพลงมาร์ชราชวัลลภแดนซ์ซึ่งเป็นเพลงที่มีคนนำมาตัดต่อก่อนเดินเข้าไปรายงานตัว จตุพรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาโดยกระบวนการรับทราบข้อกล่าวหาสิ้นสุดในเวลา 14.47 น. หลังออกจากสน.ยานนาวาจตุพรชี้แจงกับสื่อมวลชนและผู้มาให้กำลังใจโดยมีสมาชิกกลุ่ม We Volunteer ที่ทำหน้าที่เป็นพิธีกรกิจกรรมเวทีทำหน้าที่ถามคำถามซึ่งสรุปได้ว่า

จตุพรเริ่มทำกิจกรรมจังหวัดบุรีรัมย์มาก่อนจะมาเป็นสมาชิกกลุ่ม Wevo ที่มาทำกิจกรรมเพราะรู้สึกว่าประเทศนี้มีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นหลายอย่าง
 
เกี่ยวกับคดีนี้เธอถูกกล่าวหาจากการร่วมกิจกรรมเดินแฟชันเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ในวันนั้นเธอแค่แต่งชุดไทย ไม่ได้ขึ้นปราศรัยแต่อย่างใด แต่กลับถูกกล่าวหาว่าแต่งกายเลียนแบบพระราชินี
 
ในวันนี้เป็นการสอบปากคำและพิมพ์ลายนิ้วมือ และในวันที่ 11 มกราคม เจ้าหน้าที่จะนัดส่งตัวเธอพร้อมสำนวนคดีต่ออัยการ ซึ่งเธออยากจะให้ยกเลิกมาตรา 112 เพราะถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งคนเห็นต่างการถูกดำเนินคดีแบบนี้ยิ่งทำให้เธอรู้สึกว่าต้องสู้ต่อไป ก่อนจะทิ้งท้ายว่า "ศักดินาจงแพ้ภัย ชุดไทยจงเจริญ" 

30 มีนาคม 2564

เวลา 10.10 น. จตุพรและเพื่อนเดินทางมาถึงที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารกรุงเทพใต้  บรรยากาศรอบบริเวณไม่มีการวางแนวป้องกันหรือรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ และมีอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.พรรคก้าวไกลมาร่วมสังเกตการณ์กระบวนการคดีด้วย
 
เมื่อจตุพรและอมรัตน์ พร้อมผู้ติดตามเตรียมจะเดินเข้าไปในอาคารสำนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแจ้งว่าอัยการจะเดินออกมาพบจตุพรบริเวณทางเข้าอาคารซึ่งอยู่ในร่มและมีที่นั่งเลย ทั้งหมดจึงรออัยการที่หน้าอาคาร หลังจากนั้นประมาณ 10 นาทีอัยการเจ้าของสำนวนจึงออกมาและบอกกับเพื่อนๆของจตุพรว่า สามาถนั่งฟังกระบวนการได้ จากนั้นจึงแจ้งจตุพรว่า เนื่องจากคดีนี้มีข้อเท็จจริงที่มีรายละเอียดมากอัยการจึงยังอยู่ระหว่างการพิจารณาสำนวน จึงให้เลื่อนการสั่งคดีออกไปก่อนเป็นวันที่ 31 พฤษภาคม 2564

อัยการแจ้งจตุพรด้วยว่า ตามที่จตุพรยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเข้ามาก่อนหน้านี้ ตามระเบียบจตุพรจะต้องมาปรากฎตัวต่อหน้าอัยการและลงลายมือชื่อกำกับในเอกสาร อัยการจึงอ่านเอกสารให้จตุพรฟังร่วมกับผู้ติดตามทั้งหมดจากนั้นจึงให้จตุพรลงชื่อ อัยการบอกจตุพรด้วยว่า หากมีประเด็นทางคดีอื่นก็ให้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมส่งเข้ามาได้ตลอด
 
ระหว่างกระบวนการอมรัตน์สอบถามเรื่องการเลื่อนนัดว่า หากอัยการยังไม่สั่งคดีแต่เป็นเพียงการเลื่อนนัดจะสามารถแจ้งผู้ต้องหาทางโทรศัพท์หรือวิธีการอื่นเพื่อให้ไม่ต้องเดินทางมาได้หรือไม่เพราะบางกรณีผู้ต้องหาอยู่ไกลจะเป็นภาระในการเดินทางเพียงเพื่อมาฟังคำสั่งเลื่อน อัยการแจ้งว่า ทางอัยการพยายามจะอำนวยความสะดวกอย่างดีที่สุดและในนัดหน้าจะแจ้งจตุพรก่อนทางโทรศัพท์ แต่ตามระเบียบผู้ต้องหาจำเป็นต้องมาปรากฎตัวเพื่อรับทราบคำสั่งด้วยตัวเอง อัยการย้ำว่า จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
 
บรรยากาศการเข้ารายงานตัวในวันนี้เป็นไปด้วยความผ่อนคลาย อัยการมีท่าทีเปิดเผยให้ผู้สังเกตการณ์อยู่ร่วมในกระบวนการขณะที่ผู้สื่อข่าวอิสระที่มารอทำข่าวและผู้ติดตามจตุพรสามารถถ่ายภาพจตุพรหลังจบกระบวนการได้โดยสะดวก หลังเสร็จขั้นตอนจตุพรและเพื่อน ซึ่งสวมเสื้อยืดสกรีนรูปหน้าจตุพรยังยืนชูสามนิ้วถ่ายภาพร่วมกันก่อนเดินทางกลับ
 
31 พฤษภาคม 2564
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 15 มิถุนายน 2564 โดยให้เหตุผลว่าอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำพยานเพิ่มเติม อัยการเจ้าของสำนวนยังไม่ได้รับสำนวนคดีกลับมา
 
15 มิถุนายน 2564
 
นัดฟังคำสั่ง
 
อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 15 กรกฎาคม 2564
 
15 กรกฎาคม 2564
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
จตุพรเดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดอาคารกรุงเทพใต้ตั้งแต่ก่อนเวลา 10.00 น. เพื่อฟังคำสั่งคดีโดยทนายความกับอัยการมีการประสานงานกันก่อนวันนัดแล้วว่าอัยการจะฟ้องคดีต่อศาล
 
หลังเข้ารายงานตัวที่สำนักงานอัยการและรับทราบคำสั่งฟ้องคดีของอัยการ จตุพรและทนายความเดินไปที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟ้องคดี โดยจตุพรต้องเข้าไปอยู่ในห้องเวรชี้ของศาลอาญากรุงเทพใต้ระหว่างรอคำสั่งประกันตัว

ในเวลาประมาณ 12.40 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้จตุพรประกันตัว โดยต้องวางหลักประกันมูลค่า 200000 บาท ศาลยังกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ห้ามจตุพรเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ห้ามร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 
 
ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดสอบคำให้การจตุพรอีกครั้งในวันที่ 7 กันยายา 2564 เวลา 9.00 น. 
 
6 กันยายน 2564 

ศาลอาญากรุงเทพใต้เลื่อนนัดสอบคำให้การออกไปเป็นวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 โดยเจ้าหน้าที่ศาลโทรศัพท์มาแจ้งเรื่องการเลื่อนวันนัดกับจตุพรโดยตรง

ในเวลาต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้ถามคำให้การจตุพีซึ่งเขาให้การปฏิเสธ จากนั้นศาลอาญากรุงเทพใต้กำหนดวันนัดสืบพยานคดีจตุพรวันที่ 14 – 17 และ 21 – 24 มิถุนายน 2565
 
14 มิถุนายน 2565
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปาก วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ ผู้กล่าวหา
 
วริษนันท์เบิกความโดยสรุปได้ว่า จตุพรกับพวกแสดงพฤติกรรมด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการจัดเดินแบบบนถนนสีลม ล้อเลียนพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี วันเกิดเหตุวันที่ 29 ตุลาคม 2563 เธอดูกิจกรรมเดินแฟชั่นผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ พฤติการณ์ที่เห็นคือจตุพรสวมชุดไทยสีชมพู และมีชายอีกคนหนึ่งที่สวมเสื้อกล้ามครึ่งตัวหรือที่เรียกว่าเสื้อครอปท็อปเลียนแบบรัชกาลที่สิบ โดยตัวของจตุพรเดินแบบในลักษณะการเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระราชินี มีผู้ชุมนุมนั่งในลักษณะพับเพียบทั้งสองฝั่งของพรมแดงที่ใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรม และขณะที่จตุพรเดินแฟชั่นบนพรมแดงจะมีคนสองคนเดินตาม มีชายคนหนึ่งเดินตามกางร่มให้จตุพรคล้ายเป็นมหาดเล็ก และมีหญิงอีกคนหนึ่งถือพานเดินตามคล้ายเป็นนางสนองพระโอษฐ์ ระหว่างที่เดินบนพรมแดงจตุพรมีพฤติการณ์เดินหันหน้าทักทายคนที่นั่งอยู่ข้างพรมทั้งสองฝั่งทักทายคนที่นั่งอยู่ทั้งสองฝั่ง ระหว่างนั้นก็ผู้ชุมนุมคนหนึ่งยื่นมือออกมาจับข้อเท้าของจตุพรซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินครั้งหนึ่งของสมเด็จพระราชินี 
 
วริษนันท์เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเธอไม่ได้ไปดูกิจกรรมในที่เกิดเหตุ แต่ดูผ่านการรายงานของสื่อทั้ง The Standard, The Reporters และเฟซบุ๊กเพจเยาวชนปลดแอก นอกจากจะมีการเดินแฟชั่นแล้วยังมีการขึ้นป้ายเขียนข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์”  มีป้ายเขียนข้อความเรื่องแบรนด์สิริวัณณวรี (Sirivannavari) ใช้เงินภาษีประชาชน ระหว่างการชุมนุมก็มีประชาชนตะโกน "ในหลวงสู้ๆ" และ "พระราชินีสวยมาก" นอกจากนั้นในบริเวณงานยังมีเสียงเพลงมาร์ชราชวัลลภเปิดประกอบด้วย ซึ่งเพลงดังกล่าวจะถูกใช้เปิดก่อนข่าวพระราชสำนัก 
 
วริษนันท์เบิกความว่า เมื่อเห็นกิจกรรมดังกล่าวก็รู้สึกว่าไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เป็นการด้อยค่าสถาบันและหมิ่นพระเกียรติ จึงได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนสน.ยานนาวาให้มีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 กับจตุพรกับบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยนอกจากการมาร้องทุกข์กล่าวโทษและวริษนันท์เบิกความว่าเธอยังได้รวบรวมหลักฐานมาให้พนักงานสอบสวนด้วยตามที่อัยการนำมาให้ดู โดยหลักฐานดังกล่าวเป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวที่เธอนำมาจากสื่อและอินเทอร์เน็ต อัยการแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
วริษนันท์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยโดยสรุปได้ว่า การร้องทุกข์กล่าวโทษคดีเธอทำในนามส่วนตัว และตัวเธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊กเพจเชียร์ลุง และไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มศปปส. (ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน) แม้จะเคยไปร่วมกิจกรรมที่กลุ่มดังกล่าวจัดบ้างก็ตาม
 
ทุกคดีที่ตัวเองเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจะเป็นการกระทำที่เธอพบเห็นด้วยตัวเอง ส่วนในคดีนี้เธอไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ดูเหตุการณ์จากสื่อสังคมออนไลน์เอา วริษนันท์เบิกความตอบทนายด้วยว่า เธอไม่ทราบวัตถุประสงค์ของผู้จัดการชุมนุม เธอเห็นเพียงว่ามีการขึ้นป้ายกระทรวงพาณิชย์สนับสนุนงบประมาณในแบรนด์สิริวัณณวรี (Sirivannavari) และป้ายข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ส่วนกิจกรรมที่จัดขึ้นจะชื่อว่าอะไรเธอไม่ทราบ 
 
เกี่ยวกับการแต่งชุดไทยวริษนันท์เบิกความว่า โดยทั่วไปคนไทยจะแต่งชุดแบบสากล ชุดไทยมักถูกใช้สวมใส่ในโอกาสพิเศษเท่านั้น ถ้าแค่เป็นการแต่งตัวธรรมดาใครก็สามารถสวมชุดไทยได้ ทนายจำเลยให้วริษนันท์ดูภาพถ่ายคนแต่งชุดไทยเที่ยวงานอุ่นไอรัก ทนายจำเลยถามวริษนันท์ว่า วันเกิดเหตุนอกจากจตุพรแล้วก็มีบุคคลอื่นร่วมเดินแฟชั่นด้วยใช่หรือไม่ วริษนันท์เบิกความว่าเธอไม่ทราบและได้ดูแค่คลิปในส่วนที่จตุพรเดินและชายอีกคนที่แต่งตัวด้วยเสื้อกล้ามคร็อปท็อปเดินแฟชั่นเท่านั้น ทนายจำเลยถามว่า โดยทั่วไปในการเดินแฟชั่น ตัวผู้เดินก็จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมด้วยใช่หรือไม่ วริษนันท์ตอบว่า ใช่แต่การเดินแฟชั่นในกรณีอื่นๆผู้ชมไม่ได้นั่งพับเพียบในลักษณะนี้ 
 
ทนายจำเลยถามว่า ที่มีการกล่าวหาว่าจำเลยในคดีนี้กับพวกกระทำการในลักษณะแบ่งงานกันทำ วริษนันท์ทราบหรือไม่ว่าจำเลยกับพวกได้มีการพูดคุยหรือประชุมปรึกษาหารือหรือแบ่งงานกันไม่ วริษนันท์ตอบว่าไม่ทราบ ส่วนที่ทนายถามว่า ร่มที่มีคนถือตามหลังจตุพรเป็นสินค้าที่ถูกนำมาโปรโมทเพื่อขายในงานดังกล่าวใช่หรือไม่ วริษนันท์ตอบว่าไม่ทราบ และสัญลักษณ์ที่อยู่บนร่มจะเป็นสัญลักษณ์อะไรเธอก็ไม่ทราบ
 
วริษนันท์เบิกความว่า เท่าที่เห็นเหตุการณ์ผ่านทางสื่อจตุพรไม่ได้ถือป้ายที่เขียนชื่อว่าตัวเองเป็นใคร แต่เป็นความเข้าใจของเธอเองว่า จำเลยมีเจตนาจะล้อเลียนบุคคลใด วริษนันท์เบิกความว่า ภาพที่เธอนำไปให้พนักงานสอบสวนเป็นภาพที่เธอบันทึกหน้าจอจากภาพเคลื่อนไหวในเหตุการณ์วันเกิดเหตุ หลังเกิดเหตุคดีนี้เธอยังคงเคารพและศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์เฉกเช่นเดิม และตัวเธอสามารถแยกแยะได้ว่าการกระทำใดผิดกฎหมาย การกระทำใดไม่สมควร ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบอัยการถามติง   
 
วริษนันท์เบิกความตอบคำถามติงของอัยการโดยสรุปได้ว่า ที่ร้องทุกข์กล่าวโทษว่าการกระทำความผิดของจำเลยมีลักษณะเป็นการกระทำร่วมกันเป็นเพราะในวันเกิดเหตุมีลักษณะเป็นการแบ่งบทการแสดงกัน ผู้ร่วมชุมนุมที่ชมการเดินแฟชั่นแสดงเป็นประชาชนที่มารับเสด็จ ส่วนจตุพรก็แต่งชุดไทยแสดงท่าทางทักทายประชาชนที่มาร่วมชุมนุมทั้งสองฝั่ง และคนที่มาร่วมชุมนุมยังตะโกนในหลวงสู้ๆ ขณะที่ตัวจตุพรก็แสดงท่าทางเดินโดยมีคนถือร่มทำตามจึงทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการแสดงเลียนแบบการเสด็จพระราชดำเนิน
 
สืบพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.ประวิตร วงศ์เกษม  เจ้าหน้าที่สืบสวน
 
พ.ต.ท.ประวิตรเบิกความสรุปได้ว่า วันที่28 ตุลาคม 2563 เขาได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่า ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผลหรือมายด์ประกาศในรายการถามตรงๆกับจอมขวัญที่ออกอากาศทางช่องไทยรัฐทีวีว่า จะมีการจัดการชุมนุมที่ถนนสีลมในวันที่ 29 ตุลาคม 2563 เมื่อทราบเรื่องตัวเขาจึงทำการตรวจสอบพบว่า จะมีการจัดการชุมนุมที่บริเวณหน้าวัดแขกสีลมจริง จึงได้รายงานผู้บังคับบัญชาจากนั้นก็ตรวจสอบว่ามีบุคคลใดมายื่นแจ้งการชุมนุมหรือไม่ซึ่งก็พบว่า ไม่มี และเนื่องจากกำลังตำรวจของสน.ยานนาวามีไม่เพียงพอ พ.ต.ท.ประวิตรจึงได้ประสานขอกำลังเพิ่มเติมไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อขอกำลังเจ้าหน้าที่มาเสริมในวันที่มีการชุมนุมด้วย
 
พ.ต.ท.ประวิตรเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ 29 ตุลาคม 2563 ผู้ชุมนุมเริ่มทยอยเข้าพื้นที่ที่มีการนัดหมายชุมนุมในเวลาประมาณ 16.00 น. จากนั้นในเวลาประมาณ 17.00 น. ผู้ชุมนุมจึงเริ่มปิดการจราจรบนถนนสีลม มีการนำป้ายขนาดประมาณ 2 x 10 เมตร เขียนข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” มาแขวนในบริเวณที่จัดงานด้วย นอกจากนั้นก็มีการขึ้นป้ายเขียนข้อความเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณด้วย ในที่เกิดเหตุตัวเขากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนนอกเครื่องแบบแบ่งกำลังกันกระจายตัวปะปนอยู่กับผู้ชุมนุมเพื่อเฝ้าระวังเหตุและคอยถ่ายภาพและวิดีโอส่งผู้บังคับบัญชาเพื่อใช้เป็นหลักฐานในกรณีที่มีการกระทำความผิดต่อกฎหมาย
 
เวลาประมาณ 18.00 น. ผู้กำกับการสน.ยานนาวามีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม คำสั่งดังกล่าวออกมาเป็นหนังสือ ระบุว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และรองผู้กำกับการสน.ยานนาวาได้นำหนังสือคำสั่งให้เลิกการชุมนุมดังกล่าวมาอ่านให้ผู้ชุมนุมฟังผ่านเครื่องขยายเสียงของตำรวจให้ผู้ชุมนุมได้ยินเป็นการทั่วไป รวมทั้งยังได้ทำสำเนาเอกสารคำสั่งของผู้กำกับการสน.ยานนาวามาแจกจ่ายให้ผู้ชุมนุมด้วย แต่ผู้ชุมนุมก็โห่ไล่ระหว่างที่รองผู้กำกับฯอ่านคำสั่งให้เลิกการชุมนุม เมื่อเห็นว่า ผู้ชุมนุมโห่ไล่ทางตำรวจจึงถอยออกมาเพราะไม่ต้องการให้มีเหตุกระทบกระทั่งกับผู้ชุมนุม ส่วนผู้ชุมนุมก็ไม่เลิกการชุมนุม ผู้ชุมนุมบางส่วนร้องเพลง เต้นกันอยู่ในที่ชุมนุม ตัวของพ.ต.ท.ประวิตรก็ยังอยู่ในที่ชุมนุมต่อไป
 
พ.ต.ท.ประวิตรเบิกความต่อว่า ระหว่างที่การชุมนุมดำเนินไป มีการนำพรมแดงมาปูบริเวณหน้าป้ายข้อความ "ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์" จากนั้นจตุพรแต่งชุดไทยสีชมพูเดินบนพรมแดงโดยมีผู้กางร่มให้และมีคนถือพานเดินตามจตุพรด้วย ระหว่างที่จตุพรกำลังเดินก็มีการเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภด้วย นอกจากนั้นคนที่มาร่วมชมการเดินแฟชั่นยังตะโกนเช่น “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ๆ” พ.ต.ท.ประวิตรเบิกความด้วยว่าเขาได้นำคลิปวิดีโอเหตุการณ์ไปมอบให้พนักงานสอบสวนไว้ด้วย
 
การแสดงของจตุพรมีความเป็นไปได้สองทาง ทางหนึ่งคือมีการตระเตรียมกันมาก่อน คนที่ส่งเสียงเชียร์รู้อยู่แล้วว่าจะมีการแสดงเลียนแบบการเสด็จพระราชดำเนิน อีกทางหนึ่งคือไม่ได้มีการนัดแนะกันมาก่อน แต่การแสดงของจตุพรทำให้ผู้เข้าชมเข้าใจได้ว่าหมายถึงอะไร ผู้เข้าชมจึงได้ตะโกนออกมาในลักษณะดังกล่าว 
 
ต่อมาเวลาประมาณ 20.30 น. ผู้จัดการชุมนุมประกาศยุติการชุมนุมทั้งในที่ชุมนุมและได้ลงประกาศยุติการชุมนุมในเพจเฟซบุ๊กด้วย แต่กว่าที่ผู้ชุมนุมจะทยอยออกจากพื้นที่การชุมนุมเวลาก็ล่วงไปถึงประมาณ 22.00 น. หลังวันเกิดเหตุพ.ต.ท.ประวิตรได้จัดทำหลักฐานทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวส่งผู้บังคับบัญชาต่อไป โดยที่ภาพหลักฐานดังกล่าวมีทั้งภาพที่เขาถ่ายและภาพที่เจ้าหน้าที่คนอื่นเป็นผู้ถ่าย 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
พ.ต.ท.ประวิตรเบิกความตอบทนายจำเลยโดยสรุปได้ว่า ในทางสอบสวนไม่ทราบว่าจตุพรเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมในวันเกิดเหตุหรือไม่ และไม่ทราบว่ามีการประกาศเชิญชวนให้คนมาร่วมการชุมนุมบนเฟซบุ๊กของจตุพรหรือไม่ แต่ทราบว่ามีการนัดหมายการชุมนุมโดยภัสราวลีระหว่างรายการถามตรงๆกับจอมขวัญ และมีการประชาสัมพันธ์บนเพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยตัวเขามาดูคลิปที่ภัสราวลีประกาศเชิญชวนคนมาชุมนุมในภายหลัง ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับตัวของจตุพรเขามาทราบภายหลังว่า จตุพรเคยเป็นการ์ดของกลุ่ม We Volunteer และได้เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมต่างๆ 
 
พ.ต.ท.ประวิตรเบิกความหลังทนายจำเลยนำเอกสารของฝ่ายโจทก์ให้ดูและเบิกความรับว่าไม่มีหลักฐานใดที่ระบุว่าจตุพรเป็นผู้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุม โดยตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทนายจำเลยถามพ.ต.ท.ประวิตรว่าทราบหรือไม่ว่า ขณะเกิดเหตุมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศซึ่งส่งผลให้พ.ร.บ.ชุมนุมถูกระงับใช้ พ.ต.ท.ประวิตรเบิกความว่า เขาทราบว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯถูกบังคับใช้ แต่ในเวลานั้นมีการบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ [พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ] ซึ่งการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวจะต้องขออนุญาตของเจ้าหน้าที่ ทนายจำเลยถามต่อไปว่าเมื่อพ.ร.บ.ชุมนุมฯอยู่ระหว่างระงับการใช้ชั่วคราว การออกคำสั่งให้ยุติการชุมนุมของผู้กำกับการสน.ยานนาวาซึ่งอ้างอำนาจตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯจึงเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ประวิตรตอบว่าเอกสารดังกล่าวเป็นการออกในลักษณะเทียบเคียงเท่านั้นโดยที่จริงแล้วเป็นการออกโดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ [พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ]
 
ทนายจำเลยถามว่า ไม่ได้มีการเขียนข้อความบนร่างกายของจำเลยที่สามารถระบุได้ว่า จำเลยเป็นใครและจำเลยไม่ได้ปราศรัยใดๆใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ประวิตรตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า ทราบหรือไม่ว่าการจัดชุมนุมที่เกิดขึ้นมีวัตถุประสงค์ใด พ.ต.ท.ประวิตรตอบว่า มาทราบเมื่อเข้ามาในที่ชุมนุมว่า มีเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์จัดสรรงบประมาณแก่แบรนด์สิริวัณณวรี (Sirivannavari) ซึ่งตัวเขาไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ทราบแต่เพียงว่า มีป้ายเขียนข้อความลักษณะดังกล่าวแขวนอยู่ในที่ชุมนุมเท่านั้น ทนายจำถามพ.ต.ท.ประวิตรว่า นอกจากจตุพรแล้วยังมีใครอยู่บ้าง พ.ต.ท.ประวิตรเบิกความว่าเขาจำไม่ได้แต่ทราบว่ามีหลายคนและระหว่างการเดินก็จะมีผู้ชุมนุมคอยส่งเสียงเชียร์ทั้งตบมือและโห่ร้อง
 
พ.ต.ท.ประวิตรเบิกความว่า การชุมนุมที่เกิดสามารถมองได้สองลักษณะ ทางหนึ่งคือตัวจตุพรกับคนที่มาร่วมชุมนุมมีการนัดแนะกันมาก่อน อีกทางหนึ่งคือจำเลยกับผู้ชุมนุมไม่ได้มีการนัดแนะกันแต่การแสดงออกของจตุพรทำให้คนเข้าใจได้ว่าจตุพรแสดงเป็นอะไร พ.ต.ท.ประวิตรเบิกความด้วยว่า คดีนี้เหตุแห่งการกระทำความผิดไม่ใช่เป็นแค่เรื่องการแต่งชุดไทยแต่มีองค์ประกอบอื่นด้วย การแต่งชุดไทยเพียงอย่างเดียวไม่ใช่เรื่องผิด สามารถทำได้ แต่ในคดีนี้การกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นเพียงการสวมชุดไทยแต่มีองค์ประกอบอื่นด้วย คือมีผู้ถือร่มเดินตามหลัง มีคนหมอบกราบและเปล่งเสียงว่า “ทรงพระเจริญ” ลักษณะเหมือนการเสด็จราชดำเนินของพระราชินีซึ่งเป็นการกระทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสมเด็จพระราชินี สำหรับการหมอบกราบและการตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” จำเลยจะได้มีการนัดแนะกับผู้ชุมนุมหรือไม่ พ.ต.ท.ประวิตรเบิกความว่าเขาไม่ทราบ
 
15 มิถุนายน 2565

นัดสืบพยานโจทก์

สืบพยานโจทก์ปาก ส.ต.ท.กรณินทร์ คุ้มกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน
 
ส.ต.ท.กรณินทร์เบิกความตอบอัยการโดยสรุปได้ว่า ขณะเกิดเหตุเขารับราชการอยู่ที่สน.ยานนาวา ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่สืบสวน วันที่ 29 ตุลาคม 2563 เขาได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่สืบสวนหาข่าวในพื้นที่การชุมนุมตามที่มีประชาชนนัดหมายชุมนุมที่บริเวณวัดแขก สีลม โดยเขาเริ่มเข้าพื้นที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 น. 
 
ส.ต.ท.กรณินทร์เบิกความว่าเมื่อเขาเข้าพื้นที่การชุมนุมก็เห็นผู้ชุมนุมบางส่วนเริ่มลงมาอยู่บนพื้นผิวจราจร และเห็นรถกระบะสีขาวเข้ามาในพื้นที่โดยมีการบรรทุกน้ำและอาหารเข้ามาแจกจ่ายผู้ชุมนุมด้วย ต่อมาเวลาประมาณ 16.20 น. เขาสังเกตเห็นคนกลุ่มหนึ่ง แต่เขาไม่ทราบจำนวนคนที่แน่ชัด กลุ่มคนเหล่านั้นได้นำป้ายไวนิลความยาวประมาณสองเมตรมากางบริเวณที่ชุมนุม เป็นป้ายสีเหลืองเขียนข้อความว่า “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” โดยเขาทราบภายหลังว่าข้อความดังกล่าวเป็นชื่อของกลุ่มเฟซบุ๊กที่ตั้งโดยปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นอกจากป้ายดังกล่าวก็มีการนำป้ายอื่นๆ มาแขวนในบริเวณที่จัดการชุมนุมด้วย เช่น ป้ายเขียนข้อความ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” และป้ายเขียนข้อความทำนองว่ากระทรวงการคลังนำงบประมาณไปสนับสนุนแบรนด์สิริวัณณวรี (Sirivannavari) 13 ล้านบาท ผู้ชุมนุมยังนำพรมแดงมาปูบนพื้นถนนสีลมด้วย 
 
ส.ต.ท.กรณินทร์เบิกความต่อว่าในเวลาประมาณ 18.00 น. มีผู้หญิงคนหนึ่งถือโทรโข่งประกาศว่าจะมีกิจกรรมเดินแฟชั่นโชว์บริเวณพรมแดงซึ่งปูอยู่ใกล้กับป้ายเขียนข้อความงบกระทรวงพาณิชย์สนับสนุนแบรนด์สิริวัณณวรี (Sirivannavari)  เมื่อได้ยินประกาศผู้ชุมนุมก็มารวมตัวกันใกล้ๆบริเวณพรมแดงเพื่อชมกิจกรรม เขาจึงได้มาสังเกตการณ์ที่บริเวณดังกล่าวพร้อมทั้งได้บันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของกิจกรรมเดินแฟชั่นด้วย การเดินแฟชั่นชุดแรกมีผู้หญิงคนหนึ่งสวมชุดไทยสีชมพูเดินนำหน้า มีผู้ชายคนหนึ่งถือร่มเดินตามในลักษณะบังแดดให้ โดยเขามาทราบภายหลังว่า หญิงคนที่แต่งชุดไทยคือจตุพร สำหรับการเดินแฟชั่นชุดแรกนอกจากจะมีหญิงแต่งชุดไทยสีชมพูและมีผู้ชายถือร่วมเดินตามแล้วยังมีหญิงอีกคนหนึงถือพานเดินตาม หญิงคนดังกล่าวยังใช้โทรโข่งเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภประกอบการเดินแฟชั่นด้วย
 
ส.ต.ท.กรณินทร์เบิกความว่าการเดินแฟชั่นมีหลายชุด นอกจากชุดแรกที่เป็นชุดไทยแล้วก็มีอีกชุดหนึ่งที่เขาจำได้คือการเดินแฟชั่นของชายคนหนึ่งที่แต่งกายด้วยเสื้อกล้ามเปิดหน้าท้องหรือเสื้อครอปท็อป บริเวณแผ่นหลังที่อยู่นอกร่มผ้าของชายคนดังกล่าวเขียนข้อความว่า พ่อกูชื่อมานะและมีพระนามของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สิบเขียนไว้ด้วย ส่วนชื่อมานะที่เขียนอยู่บนแผ่นหลังของชายคนดังกล่าวจะเป็นชื่อของใคร เขาไม่ทราบ ระหว่างที่เขาดูกิจกรรมเดินแฟชั่นเขาได้บันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไว้ด้วย หลังกิจกรรมดังกล่าวยุติเขาได้เดินไปบันทึกภาพกิจกรรมในบริเวณอื่นๆของงาน กระทั่งเวลาประมาณ 19.15 น. ผู้บังคับบัญชาโทรศัพท์มาหาเขาให้ไปติดตามถ่ายภาพจำเลยคดีนี้ เขาจึงไปเดินหาพบว่า จตุพรจำเลยคดีนี้กำลังถ่ายภาพกับผู้ชุมนุมและคนที่ร่วมเดินแฟชั่นบางคน หลังจากนั้นจำเลยได้เดินเข้าซอยซอยหนึ่งก่อนจะออกจากพื้นที่ไปซึ่งตัวเขาไม่ได้ติดตามต่อ
 
ส.ต.ท.กรณินทร์เบิกความว่า ในความเห็นของเขาจำเลยคดีนี้น่าจะแต่งตัวเลียนแบบสมเด็จพระราชินีองค์ปัจจุบัน เพราะระหว่างที่จำเลยเดินแฟชั่นมีผู้ัชมการเดินแฟชั่นมาเกาะขาจำเลยและพูดว่า “ทรงพระเจริญ” ซึ่งการแสดงออกในลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็นการแสดงออกต่อพระราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น ทั้งขณะที่มีคนก้มลงจับข้อเท้าของจำเลยและตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” จำเลยไม่ได้แสดงท่าทางปัดป้องหรือห้ามปรามไม่ให้ผู้ชุมนุมที่แสดงออกซึ่งท่าทางดังกล่าวหยุดการกระทำแต่อย่างใด ส่วนผู้ร่วมเดินแฟชั่นชายที่แต่งชุดครอปท็อปจะอยู่ในกลุ่มของจำเลยที่เดินทางออกจากพื้นที่ไปพร้อมกันหรือไม่ส.ต.ท.กรณินทร์เบิกความว่า เขาไม่ทราบพร้อมระบุว่าชายคนดังกล่าวอาจจะเปลี่ยนชุดหลังแสดงเสร็จได้ ในส่วนของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในพื้นที่จัดงาน ส.ต.ท.กรณินทร์เบิกความว่า ไม่พบว่ามีมาตรการใดๆ ไม่มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ไม่มีการตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ ส่วนผู้ชุมนุมก็มีทั้งคนที่สวมหน้ากากและไม่สวมหน้ากาก
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน 
 
ส.ต.ท.กรณินทร์เบิกความตอบคำถามทนายจำเลยโดยสรุปได้ว่า เขาไม่เคยศึกษารัฐธรรมนูญว่า ประชาชนสามารถชุมนุมโดยสงบได้หรือไม่ สำหรับการชุมนุมในวันเกิดเหตุเขาไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้จัดการชุมนุม เกี่ยวกับลักษณะพื้นที่จัดการชุมนุมเป็นการจัดกิจกรรมบนถนนสีลมจากวัดแขกไปจนถึงบริเวณแยกเดโชในลักษณะกระจายไปทั่วพื้นที่ ส.ต.ท.กรณินทร์เบิกความรับกับทนายจำเลยด้วยว่า ลักษณะพื้นที่จัดกิจกรรมเป็นพื้นที่โล่งที่อากาศถ่ายเทได้ อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้เดินไปที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดงจึงไม่ทราบว่าบริเวณดังกล่าวจะมีการตั้งจุดคัดกรองโดยผู้ชุมนุมหรือไม่ และจุดดังกล่าวก็ถือว่าอยู่ห่างจากพื้นที่การชุมนุมค่อนข้างมาก 
 
วันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่สายสืบของสน.ยานนาวาประมาณสิบนายปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม สำหรับตัวเขาเองที่มาเป็นพยานในคดีนี้เนื่องจากเป็นคนถ่ายภาพจำเลย เกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลย ส.ต.ท.กรณินทร์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า การสวมชุดไทยเป็นสิ่งที่ใครก็สามารถทำได้ รวมถึงสามารถสวมชุดไทยเดินแฟชั่นได้ ขณะที่จำเลยเดินแฟชั่นไม่มีข้อความใดๆเขียนบนเนื้อตัวร่างกายหรือเสื้อผ้าของจำเลยเพื่อระบุว่าจำเลยแสดงเป็นบุคคลใด และจำเลยไม่ได้ป่าวประกาศว่า ให้บุคคลใดหมอบกราบ การจับข้อเท้าจำเลยที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของผู้ชุมนุมที่ร่วมเดินแฟชั่นเอง ส่วนร่มที่มีชายคนหนึ่งกางให้จำเลยในลักษณะเดินตามก็มีสัญลักษณ์ติดอยู่แต่จะเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มใดและจำเลยจะนำมาขายหรือไม่ เขาไม่ทราบ 
 
สืบพยานโจทก์ปาก วีระกร ผู้ประกอบการในพื้นที่จัดการชุมนุม
 
วีระกรเบิกความตอบอัยการโดยสรุปได้ว่า เขาประกอบธุรกิจร้านนวดอยู่บนถนนสีลม ร้านของเขาอยู่ห่างจากวัดแขกไปประมาณ 70 – 80 เมตร ในวันเกิดเหตุเขาเดินทางมาถึงที่ร้านนวดในเวลาประมาณ 10.00 น. เหตุการณ์โดยทั่วไปในขณะนั้นยังปกติ จากนั้นตั้งแต่เวลาประมาณ 11.00 – 12.00 น. เริ่มมีพ่อค้าแม่ค้าบางส่วนทยอยเข้าพื้นที่ จากนั้นเขาจึงมาทราบจากสื่อสังคมออนไลน์ในภายหลังว่า จะมีการชุมนุมในพื้นที่ 
 
เวลาประมาณ 16.00 น. เขาต้องออกไปธุระที่ห้องพักซึ่งอยู่บริเวณถนนสุรศักดิ์ ในช่วงที่เขาออกจากร้านนวดมุ่งหน้าไปทางวัดแขกคนที่มาชุมนุมยังมาไม่มากสามารถเดินไปได้โดยสะดวก ปกติแล้วการเดินเท้าจากร้านของเขาไปที่ห้องพักจะใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาที วีระกรเบิกความต่อว่าในเวลาประมาณ 18.00 น. พนักงานที่ร้านโทรไปแจ้งเขาว่าน้ำประปาที่ร้านไม่ไหล เขาจึงเดินจากห้องพักกลับมาที่ร้าน เมื่อมาถึงบริเวณใกล้วัดแขกพบว่ามีการจัดกิจกรรมหลายอย่าง มีคนกระจายตัวอย่างหนาแน่นทั้งบนทางเท้าและบนพื้นถนน เนื่องจากมีคนหนาแน่น เขาจึงต้องใช้เวลาเดินจากหน้าวัดแขกมาที่ร้านนานกว่าปกติ โดยเขามาถึงที่ร้านประมาณ 19.00 น. วีระกรเบิกความด้วยว่า การสัญจรมาแออัดบริเวณใกล้กับวัดแขก
 
เท่าที่เขาเห็นไม่มีการตั้งจุดแจกเจลแอลกอฮอล์หรือหน้ากากอนามัยในพื้นที่ชุมนุม สำหรับกิจกรรมในที่ชุมนุม วีระกรเบิกความว่ามีคนจับกลุ่มเต้น มีการนำภาพมาวางเรียงคล้ายเป็นนิทรรศการแต่เขาไม่ได้สนใจจึงไม่ทราบว่ามีเนื้อหาว่าอะไร วีระกรรับว่าเขาเห็นว่ามีการขึงป้ายที่มีข้อความเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยแต่เขาจำข้อความไม่ได้ เขามาทราบว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็นการสื่อบางอย่างไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในภายหลังซึ่งตัวเขาเองเห็นว่าไม่สมควร โดยเขาเห็นภาพวิดีโอการเดินแบบบนพรมแดงที่มีคนแต่งตัวในลักษณะล้อเลียนสถาบันพระมหากษัตริย์ในภายหลัง 
 
วีระกรเบิกความเกี่ยวกับผลกระทบที่การชุมนุมมีต่อธุรกิจของเขาว่า โดยปกติในช่วงเวลาที่มีการชุมนุมจะเป็นช่วงที่มีลูกค้ามาใช้บริการที่ร้านมาก แต่ในวันเกิดเหตุไม่มีลูกค้ามาใช้บริการที่ร้านของเขา
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
วีระกรเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านโดยสรุปได้ว่า เกี่ยวกับกิจกรรมเดินแฟชั่นเขาเห็นการแสดงของจำเลยที่สวมชุดไทยจากสื่อเพียงชุดเดียว เมื่อเห็นแล้วรู้สึกไม่ดีจึงเลิกดู เกี่ยวกับการแต่งชุดไทย วีระกรเบิกความว่าชุดไทยเป็นชุดที่คนทั่วไปสามารถสวมใส่ได้ จะใส่เพื่อเดินแบบก็ได้ แต่ต้องดูเจตนาว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งการกระทำในคดีนี้วีระกรเบิกความว่า ในความเห็นของเขาถือว่าไม่เหมาะสม วีระกรเบิกความด้วยว่า แม้ที่เขาเบิกความข้างต้นจะเป็นความเห็นส่วนตัวแต่เขาก็เชื่อว่า จตุพรมีเจตนาแต่งกายและแสดงท่าทางเลียนแบบ จากนั้นวีระกรเบิกความเพิ่มเติมว่า กิจกรรมเดินแฟชั่นที่เขาเบิกความถึงเขามาทราบจากการรายงานของสื่อหลังวันเกิดเหตุแต่จะเป็นเวลาหลังจากนั้นกี่วันเขาจำไม่ได้
 
สืบพยานโจทก์ปาก เชษฐา แก้วขาว เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตสาทร
 
เชษฐาเบิกความตอบอัยการโดยสรุปได้ว่า เขาเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนของสำนักงานเขตสาทรมาเบิกความเป็นพยานในประเด็นข้อห้ามในการตั้งชื่อตัวและชื่อสกุลตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวมาตรา 6 กำหนดห้ามไม่ให้ตั้งชื่อตัวหรือชื่อรอง ให้พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม และต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย ส่วนมาตรา 8 (1) กำหนดห้ามไม่ให้ตั้งชื่อสกุล (นามสกุล) พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธยหรือพระนามของพระราชินี การตั้งชื่อ วชิราลงกรณ์จึงไม่สามารถทำได้เพราะไปซ้ำกับพระปรมาภิไธย 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
เชษฐาเบิกความตอบทนายจำเลยโดยสรุปได้ว่า ตามภาพที่มีแผ่นหลังชายคนหนึ่งเขียนข้อความว่า "พ่อกูชื่อมานะ" และมีคำปฏิเสธตามด้วยพระนามของรัชกาลที่สิบก็เป็นการสื่อความหมายที่ถูกต้องแล้วเพราะการนำพระนามของพระมหากษัตริย์ไปตั้งเป็นชื่อบุคคลอื่นย่อมไม่สามารถทำได้
 
17 มิถุนายน 2565

นัดสืบพยานโจทก์

สืบพยานโจทก์ปาก ตรีดาว อภัยวงศ์ นักวิชาการด้านศิลปะการแสดง
 
ตรีดาวเบิกความตอบอัยการโดยสรุปได้ว่า เธอสำเร็จการศึกษาด้านศิลปะการแสดงในระดับปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการศึกษาระดับปริญญาโทจากประเทศอังกฤษ ในด้านศิลปะการแสดง ตรีดาวเบิกความเกี่ยวกับอาชีพของเธอว่า เธอเคยเป็นอาจารย์ประจำที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระหว่างปี 2541 – 2549 หลังจากนั้นจึงลาออกจากการเป็นอาจารย์ประจำที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่ยังรับสอนในฐานะอาจารย์พิเศษอยู่  นอกจากนั้นเธอก็ยังมีประสบการณ์ด้านศิลปะการแสดงด้านการเขียนบทมากกว่า 20 ปี
 
ในการแสดงจะมีนักแสดงและผู้ชม แต่หากเป็นละครนอกจากจะต้องมีนักแสดง และผู้ชมแล้วยังต้องมีการกำกับ มีฉาก มีคอสตูมด้วย เกี่ยวกับคดีนี้ตรีดาวเบิกความว่า พนักงานสอบสวนนำคลิปวิดีโอมาให้เธอดู และเข้าใจว่า เป็นคลิปการแสดงที่ถนนสีลม นอกจากให้ดูคลิปวิดีโอแล้วตำรวจยังให้เธอดูภาพนิ่งที่เป็นภาพบันทึกหน้าจอ (Screen capture) ด้วย ตรีดาวเบิกความต่อว่า พนักงานสอบสวนนำภาพมาให้เธอดูในปี 2564 แต่จำไม่ได้ว่าเป็นช่วงเดือนอะไร โดยพนักงานสอบสวนมาหาเธอที่บ้านเพื่อขอให้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการแสดงที่ถนนสีลม เท่าที่ดูเข้าใจว่าการแสดงดังกล่าวมีเจตนาสื่อให้เห็นว่า สถาบันฯ มีความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ไม่น่าเคารพยกย่อง การแสดงดังกล่าวมีการนำตัวละครแต่งตัวคล้ายพระราชินีและองค์ประกอบคล้ายพระองค์ คือแต่งกายด้วยผ้าไทย ถือกระเป๋า เกล้าผม และแสดงกิริยาท่าทางคล้ายสมเด็จพระราชินีเสด็จพระราชดำเนินพบปะประชาชน โดยมีองค์ประกอบคือมีคนถือร่มและถือพานเดินตาม ทำให้เธอมั่นใจว่าผู้แสดงหมายถึงบุคคลใด นอกจากนั้นในพื้นที่จัดงานก็มีการปูพรมแดงให้เดินด้วย ทำให้เธอเข้าใจว่าผู้จัดตั้งใจให้ผู้ชมเข้าใจว่าหมายถึงพระราชินี
 
ศาลถามตรีดาวว่าที่เธอเบิกความว่าเมื่อเห็นการแสดงแล้วเข้าใจว่าน่าจะหมายถึงพระราชินีเธอเทียบเคียงจากอะไร ตรีดาวเบิกความว่า เธอเทียบมาจากภาพข่าวในพระราชสำนัก  ตรีดาวเบิกความต่อว่าเธอเข้าใจว่าผู้จัดน่าจะมีวัตถุประสงค์ให้ผู้รับชมไม่เคารพพระมหากษัตริย์และพระราชินี ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์และพระราชินีกำหนดให้พระมหากษัตริย์และพระราชินีอยู่ในสถานะที่จะล่วงละเมิดไม่ได้ 
 
ตรีดาวเบิกความต่อว่าที่ฉากหลังของกิจกรรมที่ป้าย "ปฏิรูปสถาบัน" ชัดเจนว่าผู้จัดต้องการให้ปฏิรูปสถาบันฯนำพระจริยาวัตรมาใช้ล้อเลียน นอกจากนั้นก็ยังมีการแขวนป้ายงบกระทรวงพาณิชย์สนับสนุนแบรนด์สิริวัณณวรี (Sirivannavari) ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่มีการจัดกิจกรรมมีงานแสดงของแบรนด์ดังกล่าวในต่างประเทศ การขึ้นป้ายดังกล่าวผู้จัดจึงต้องการเสียดสีทำนองว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์จึงได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ทางกลุ่มผู้จัดไม่ได้มีการชี้แจงหลักฐานใดๆ นอกจากนั้นในกิจกรรมก็มีการใช้พรมแดง ซึ่งในวงการแฟชั่นต่างประเทศพรมแดงเป็นสิ่งที่ใช้กันโดยทั่วไปเพื่อแสดงให้เห็นว่าคนที่เดินบนพรมแดงมีความพิเศษกว่าคนทั่วไป ส่วนในกรณีของประเทศไทยมีการปูลาดพระบาทสีแดงเป็นทางเดินของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งลาดพระบาทแดงดังกล่าวอาจมีความแตกต่างจากพรมแดงทั่วไปในรายละเอียด 
 
ตรีดาวเบิกความเกี่ยวกับพฤติการณ์ในกิจกรรมพรมแดงต่อว่าเท่าที่ได้ดูภาพเคลื่อนไหวของการแสดง มีเสียงเพลงมาร์ชราชวัลลภ เสียงตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” เสียงกรีดร้องด้วยความสนุกสนาน เสียงปรบมือด้วยความสะใจ สำหรับเพลงมาร์ชราชวัลลภเป็นเพลงที่สื่อว่าภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นบนพรมแดงเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และการใช้เสียงตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” ทำให้เข้าใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่า หมายถึงบุคคลอื่นใด ตรีดาวเบิกความเพิ่มเติมในรายละเอียดเกี่ยวกับเพลงมาร์ราชวัลลภด้วยว่า เป็นเพลงที่จะเปิดเพื่อนำเข้าข่าวพระราชสำนัก  เป็นเพลงที่เป็นสัญลักษณ์เกี่ยวข้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ระหว่างที่มีการเปิดเพลงดังกล่าวยังมีการเปล่งเสียงว่า “ทรงพระเจริญ” ก็เป็นคำราชาศัพท์ที่ใช้กับพระมหากษัตริย์และพระราชินี  แต่ระหว่างที่มีการเปิดเพลงดังกล่าวก็มีเสียงผู้ชมโห่ร้องและปรบมือด้วยความสะใจ  ทำให้เห็นว่าการแสดงดังกล่าวแสดงให้ผู้ชมถูกใจ ตลกขบขัน ไม่เคารพต่อสถาบันฯ จึงไม่อาจเข้าใจเป็นอื่นได้ว่าบุคคลที่สวมชุดไทยสีชมพูเดินแฟชั่นต้องการแสดงออกในลักษณะล้อเลียน 
 
สำรับภาพชายที่แต่งชุดเสื้อกล้ามเปิดแผ่นหลัง เขียนข้อความว่า พ่อกูชื่อมานะและมีพระนามวชิราลงกรณ์ปรากฎอยู่ ตรีดาวเบิกความว่าประชาชนไทยใช้คำว่า พ่อ ลูก ในลักษณะที่ต้องการแสดงว่าในหลวงรัชกาลที่เก้าทรงเป็นเสมือนพ่อของคนไทย การที่นักแสดงคนดังกล่าวแต่งตัวและเขียนข้อความในลักษณะที่ปรากฎในภาพจึงแสดงให้เห็นถึงเจตนาปฏิเสธและดูหมิ่นความศรัทธาของประชาชน 
 
ตรีดาวเบิกความเพิ่มเติมด้วยว่า การแสดงทั้งสองชุดเป็นการแสดงในลักษณะด้อยค่า เสียดสี ไม่ให้ความเคารพต่อสถาบันหลักของชาติ  การแสดงดังกล่าวอาจจะถูกใจคนกลุ่มหนึ่งแต่ไปกระทบจิตใจของคนส่วนมาก และสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่คนที่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในสถานะที่ได้รับความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ตรีดาวเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยโดยสรุปได้ว่า ในการแสดงละครผู้แสดงจะเล่นไปตามบท สำหรับการเดินแฟชั่นที่เกิดขึ้นแม้จะไม่มีบท แต่ผู้จัดก็มีความต้องการสื่อสารว่าต้องการสื่อความหมายถึงอะไร และผู้แสดงก็ย่อมต้องรู้ว่าตัวเองแสดงเป็นใคร ในการแสดงที่เป็นการแสดงสด ผู้จัดจะไม่สามารถควบคุมอากัปกิริยาของผู้ชมได้ แต่ผู้จัดก็รู้ได้ว่า การแสดงที่เกิดขึ้นน่าจะนำไปสู่การตอบสนองในลักษณะใดบ้าง เพราะการใช้เสื้อผ้ากิริยาท่าทางก็สามารถช่วยทำให้ผู้ชมมีอากัปกิริยาไปทางใดทางหนึ่งได้ สำหรับการเดินแฟชั่นที่เกิดขึ้นเป็นการแสดงสดที่ผู้แสดงไม่สามารถควบคุมปฏิกิริยาของผู้ชมล่วงหน้าได้ แต่ผู้จัดก็พอจะคาดการปฏิกิริยาของผู้ชมล่วงหน้าได้จากธีมและเนื้อหาการแสดงว่าผู้ชมจะมีปฏิกิริยาไปทางใด
 
ตรีดาวเบิกความต่อว่าเท่าที่ทราบตามหลักวิชาชีพ การเดินแฟชั่น ทางผู้จัดจะไม่ปล่อยให้มีการเดินแฟชั่นโดยไม่กำหนดตัวผู้ร่วมเดิน แต่หากผู้จัดจัดงานในลักษณะเป็นงานเปิดที่ใครเข้าร่วมก็ได้ ผู้จัดก็จะต้องรับผิดชอบหากควบคุมปฏิกิริยาของผู้ชมไม่ได้
 
ตรีดาวเบิกความตอบคำถามรับกับทนายจำเลยว่า สมเด็จพระราชินีทรงไว้ผมยาว จำเลยไว้ผมสั้น โดยไม่ได้เกล้าผม ซึ่งแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามในมิติการแสดง ผู้แสดงไม่จำเป็นต้องทำให้ตัวเองเหมือนกับคนที่แสดงเป็นทุกกระเบียดนิ้ว เพียงแค่แสดงเทียบเคียงให้พอตีความได้ว่าแสดงเป็นใครก็ถือว่าใช้ได้แล้ว อย่างไรก็ตามตรีดาวก็ยอมรับว่าการตีความถือเป็นเรื่องของผู้ชมแต่ละคน
 
ทนายจำเลยถามตรีดาวว่าตามเอกสารบันทึกคำเให้การของตำรวจระบุว่าตรีดาวไปให้การที่สถานีตำรวจ ที่จริงแล้วตรีดาวให้การที่ใด ตรีดาวตอบว่าพนักงานสอบสวนมาพบเธอที่บ้าน ตรีดาวเบิกความต่อว่าก่อนที่จะให้การ พนักงานสอบสวนเล่าข้อเท็จจริงเบื้องต้นให้เธอฟังก่อนทำการสอบปากคำ โดยเธอเข้าใจว่า พนักงานสอบสวนน่าจะมาขอความเห็นตามหลักวิชาจากเธอ รวมทั้งถามความเห็นส่วนตัวว่าเมื่อได้ดูการแสดงแล้วเธอมีความเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ ตรีดาวเบิกด้วยความว่า การสวมชุดไทยไม่ถือว่าเป็นความผิด ถ้าไม่มีกิริยาท่าทางอื่นๆมาประกอบ และเบิกความรับว่า บนตัวของจำเลยไม่ได้มีการเขียนข้อความที่ระบุว่าตัวเองแสดงเป็นบุคคลใด
 
ตรีดาวเบิกความว่าพนักงานสอบสวนนำคลิปการแสดงมาให้ตัวเองดูจำนวนสองคลิป ส่วนจะมีการแสดงชุดอื่นๆหรือไม่เธอไม่ทราบ จากนั้นทนายความขออนุญาตศาลเปิดวิดีโอคลิปให้ตรีดาวดู ศาลอนุญาต จากนั้นตรีดาวเบิกความว่าในคลิปที่ทนายจำเลยให้ดูคล้ายกับที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดู เท่าที่ดูในคลิปที่ทนายนำมาเปิดพอมีคนตะโกนว่า “พระราชินีสวยมาก” และ “ทรงพระเจริญ” ไม่ปรากฏว่า จำเลยหันไปตอบโต้กับคนที่ตะโกน ตามคลิปที่ทนายนำมาให้ดูปฏิกิริยาของผู้ชมอยู่นอกเหนือความควบคุมของผู้จัดหรือผู้แสดง ตรีดาวเบิกความยอมรับด้วยว่าตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญมีเพียงคำว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในสถานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ในมาตราดังกล่าวไม่มีคำว่าพระราชินีปรากฎอยู่ด้วย ส่วนข้อความ "ปฏิรูปสถาบัน" เฉพาะข้อความตามตัวอักษรไม่ถือเป็นความผิด 
 
ตรีดาวเบิกความต่อว่าคำว่า “ทรงพระเจริญ” ไม่ได้ใช้เฉพาะกับพระมหากษัตริย์หรือพระราชินีเท่านั้นแต่ใช้กับพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นด้วย และเมื่อได้ดูคลิปวิดีโอดังกล่าวแล้วเธอยังคงเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดิม
 
ตอบอัยการถามติง
 
ตรีดาวตอบคำถามติงของอัยการโดยสรุปได้ว่า เธอไม่ทราบว่าทางกลุ่มผู้จัดกิจกรรมจะมีการซักซ้อมเตรียมการอะไรกับผู้ร่วมการชุมนุมหรือไม่ แต่ทราบว่ามีการประกาศเชิญชวน และการแสดงออกมีองค์ประกอบให้เข้าใจถึงพระมหากษัตริย์ นอกจากนั้นข่าวการจัดงานแฟชั่นของแบรนด์สิริวัณณวรี (Sirivannavari) การใช้พรมแดง ป้ายข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบัน” และป้ายที่มีพระนามสิริวัณณวรี ทำให้เข้าใจได้ว่าการแสดงแฟชั่นที่เกิดขึ้นสื่อถึงพระมหากษัตริย์ ตรีดาวเบิกความด้วยว่า เธอไม่เข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามคลิปจะมีการซักซ้อมหรือไม่ แต่ทราบว่า การกระทำของนักแสดงมีองค์ประกอบหลายอย่างทั้งข้อความบนป้าย การแต่งกาย ท่าทางของผู้เดินแฟชั่น ทำให้เข้าใจว่าผู้จัดต้องการสื่อถึงสถาบันฯ ขณะที่ผู้ชมซึ่งมีความคิดต่อต้านสถาบันฯก็แสดงอาการสะใจกับการดูหมิ่น และทำให้เข้าใจได้ว่าจัดต้องการเสียดสีสมเด็จพระราชินี อัยการแถลงหมดคำถามติง
 
หลังการสืบพยานปากนี้ อัยการแถลงว่าพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจติดภารกิจจึงขอให้ศาลเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปเป็นนัดถัดไป
 
24 มิถุนายน 2565

นัดสืบพยานโจทก์

สืบพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์ พิมพ์มานนท์ พนักงานสอบสวน   
 
พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์เบิกความตอบอัยการโดยสรุปว่า เขารับราชการอยู่ที่สน.ยานนาวาตั้งแต่ปี 2555 เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวน เกี่ยวกับคดีนี้ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 เข้าได้รับรายงานว่า มีการโฆษณาผ่านทางรายการของไทยรัฐทีวี ชักชวนให้คนมาร่วมชุมนุม ในวันเกิดเหตุตัวเขาไม่ได้ไปสถานที่เกิดเหตุด้วย เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในที่เกิดเหตุ เมื่อถึงวันเกิดเหตุ 29 ตุลาคม 2563 เขาได้รับทราบจากสายสืบมาว่าในเวลา 17.00 น. มีการปิดถนนสีลมทั้งทางขาเข้าและขาออก โดยนำเหล็กมากั้นถนน นอกจากนั้นก็มีรายงานว่า มีการจัดแสดงภาพเกี่ยวกับการเมือง เช่น ป้ายไวนิลข้อความว่า “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” และ “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์”  รวมทั้งป้ายเกี่ยวกับงบประมาณ ป้ายบางส่วนถูกนำไปติดที่รั้ววัดแขกและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งปรากฎตามสำนวนคดี ในเรื่องของการปิดถนนต้องได้รับการอนุญาตจากทางตำรวจเจ้าของท้องที่เสียก่อน แต่กรณีที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการขออนุญาต
 
ช่วงเวลาที่เกิดเหตุมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด19 เท่าที่ทราบในช่วงเกิดเหตุไม่มีการตั้งจุดแจกเจลแอลกอฮอล์ ผู้ชุมนุมบางส่วนสวมหน้ากาก ขณะเดียวกันก็มีบางส่วนที่ไม่สวมหน้ากาก ซึ่งคนที่ไม่ใส่หน้ากากก็มีมาก เวลาประมาณ 19.00 น. มีบุคคลซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครนำพรมแดงมาปูบนถนนสีลมทั้งขาเข้าและขาออก ต่อมามีการเดินแฟชั่น จตุพรจำเลยคดีนี้แต่งชุดไทยมาเดินและมีคนถือร่มเดินตามหลัง มีคนเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภระหว่างที่จตุพรเดิน ระหว่างนั้นมีผู้ชุมนุมคนหนึ่งเป็นใครไม่ทราบเอามือมาจับข้อเท้าของจตุพร พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์ระบุว่า สิ่งที่เขาเบิกความทั้งหมดเขาดูมาจากวิดีโอคลิป มีเสียงตะโกนเช่น “ทรงพระเจริญ” และ “พระราชินีสวยมาก” ต่อมาก็มีการแสดงอีกชุดที่มีชายคนที่แต่งชุดเสื้อกล้ามสีดำแบบเอวลอย และมีข้อความที่เขียนว่าพ่อกูชื่อมานะ มาเดินบนพรมแดงอีกครั้งหนึ่ง 
 
พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุผู้กำกับการสน.ยานนาวาให้รองผู้กำกับการสน.ยานนาวาไปประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามและดำเนินการชุมนุมต่อไป นอกจากนั้นทางผู้ชุมนุมก็มีการใช้เครื่องขยายเสียงแต่ก็ไม่ได้มีการขอใช้เครื่องขยายเสียง พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์เบิกความต่อด้วยว่าสภาพการชุมนุมในวันเกิดเหตุถือว่าแออัด 
 
วันที่ 2 ธันวาคม 2563 วริษนันท์มาพบกับพ.ต.ท.เกียรติศักดิ์และร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีมาตรา 112 กับจำเลยคดีนี้และเยาวชนชาย ซึ่งเป็นคนที่แต่งกายด้วยเสื้อกล้ามครอปท็อปและเขียนข้อความบนร่างกายตัวเอง ซึ่งเยาวชนรายนี้ถูกดำเนินคดีแยกที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ต่อมาคณะทำงานมีความเห็นให้เรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหา เขาเป็นผู้สอบปากคำจำเลยและแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 กับจำเลยจากการแสดงออกในลักษณะเสียดสีสมเด็จพระราชินีและข้อหาอื่น ซึ่งในการสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ  ส่วนจำเลยอีกคนหนึ่งที่ถูกแยกไปฟ้องเป็นคดีที่ศาลเยาวชนตัวเขาเองไม่ได้เป็นผู้สอบปากคำแต่เป็นเจ้าหน้าที่คนอื่นที่อยู่ในคณะทำงานเป็นผู้สอบปากคำ เขาทราบว่า จำเลยคนดังกล่าวถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 จากการแสดงออกในลักษณะล้อเลียนรัชกาลที่สิบ และทราบว่าจำเลยให้การปฏิเสธ โดยในความเห็นของเขาเห็นว่า ดูจากพยานหลักฐานการกระทำของจำเลยคดีนี้และจำเลยอีกคนหนึ่งในคดีที่ศาลเยาวชนมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์เบิกความโดยสรุปว่า ไม่มีพยานเอกสารหลักฐานใดในคดีนี้ที่ระบุว่าในการชุมนุมมีลักษณะเป็นการประชุมแบ่งงานกันทำ เขาไม่แน่ใจว่าขณะเกิดเหตุพ.ร.บ.ชุมนุมฯถูกบังคับใช้อยู่หรือไม่ เกี่ยวกับการแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยในคดีนี้ เป็นการแจ้งข้อกล่าวหาโดยมติของคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาซึ่งตัวเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการดังกล่าวด้วย ทนายจำเลยถามค้านว่าในขณะเกิดเหตุมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จึงมีการงดเว้นการใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯเป็นการชั่วคราว การออกประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมซึ่งเป็นการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงถือเป็นการออกประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่มีกฎหมายรองรับใช่หรือไม่ พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์ตอบว่าเท่าที่ทราบเป็นการประกาศโดยใช้กฎหมายควบคุมโรค พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์เบิกความด้วยว่าการจัดจุดคัดกรองโรคถือเป็นภาระหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุม
 
พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์เบิกความต่อว่า เขาไม่แน่ใจว่าพิธีกรจะประกาศหรือไม่ว่าผู้เดินแบบเป็นใครและไม่แน่ใจว่าจะมีการประกาศว่าให้ผู้ร่วมชุมนุมทำความเคารพหรือไม่  พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์เบิกความต่อว่าบนตัวของจำเลยไม่ได้มีการเขียนข้อความระบุว่าจำเลยแสดงเป็นบุคคลใด และไม่ได้ยินจำเลยพูดว่าตัวจำเลยแสดงเป็นบุคคลใด และไม่ได้ยินจำเลยพูดว่า ให้ใครทำความเคารพ ทนายจำเลยถามว่า ได้เคยนำภาพเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี หรือภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญามาให้จำเลยดูหรือไม่และได้ถามจำเลยว่าตั้งใจเลียนแบบบุคคลทั้งสองหรือไม่ พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์ตอบว่าไม่ได้นำมาให้ดู ทนายจำเลยขออนุญาตศาลส่งภาพทั้งสองต่อศาลเข้าสำนวน 
 
หลังเสร็จการสืบพยานปากนี้ อัยการแถลงว่า หมดพยาน ศาลสั่งให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยในวันถัดไป
 
25 มิถุนายน 2565

นัดสืบพยานจำเลย

จตุพร จำเลยเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง
 
จตุพรเบิกความโดยสรุปได้ว่า ปัจจุบันเธอช่วยที่บ้านทำธุรกิจครอบครัว  เกี่ยวกับคดีนี้ในชั้นสอบสวนเธอได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และในชั้นอัยการเธอยังเคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับอัยการด้วย การร่วมชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เกี่ยวกับการชุมนุมในวันเกิดเหตุ เธอไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม เท่าที่เธอเห็นจากโพสต์ผู้จัดการชุมนุมน่าจะเป็นแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมและกลุ่มราษฎร63 แต่เธอจำไม่ได้ว่าเห็นโพสต์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าวในวันใด
 
ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 16.00 น. เธอเดินทางมาถึงในพื้นที่ชุมนุม เธอเช่าชุดไทยจากร้านย่านพระรามสองในราคา 700 บาท เบื้องต้นเธอตั้งใจจะเช่าชุดสีเขียวมาใส่แต่เนื่องจากชุดดังกล่าวไม่พอดีตัวจึงต้องเช่าชุดสีชมพูมาแทน ผู้จัดกิจกรรมแค่ประกาศเชิญชวนให้มาร่วมเดินแฟชั่น เธอจึงอยากมาร่วมเดินด้วยเพราะที่ผ่านมาเธอก็มักเข้าร่วมการชุมนุมเท่าที่จะทำได้อยู่แล้ว ส่วนที่เลือกสวมชุดไทยจตุพรเบิกความว่า ชุดไทยเป็นชุดประจำชาติและใส่แล้วก็รู้สึกว่าดูดีจึงเลือกที่จะสวมใส่โดยไม่ได้ตั้งใจว่าจะแต่งตัวเพื่อล้อเลียนใคร เธอแค่ตั้งใจเป็นตัวของตัวเองเท่านั้น  ช่วงเวลาที่ร่วมเดินแฟชั่นเธอไม่ได้ประกาศว่าตัวเองแต่งตัวเลียนแบบใคร  และพิธีกรก็ไม่ได้แนะนำว่าเธอเป็นใคร ส่วนที่เธอต้องเริ่มเดินแฟชั่นเป็นคนแรกเป็นเพราะเธอบังเอิญอยู่ตรงนั้นพอดี 
 
จตุพรเบิกความต่อว่า เธอใช้เวลาร่วมเดินแฟชั่นเพียงสั้นๆไม่ถึง 30 วินาที และเธอก็ไม่ได้เดินจนสุดทาง ระหว่างที่เธอกำลังเดินมีผู้หญิงคนหนึ่งกวักมือเรียก  เธอเข้าใจว่าหญิงคนดังกล่าวจะถ่ายรูปจึงเดินเข้าไปหา ก่อนที่หญิงคนดังกล่าวจะจับข้อเท้าของเธอ ขณะนั้นเธอตกใจจนทำอะไรไม่ถูกจึงรีบเดินแฟชั่นให้เสร็จ ระหว่างนั้นก็มีคนตะโกนว่า เจ้าคุณพระบ้าง พระราชินีบ้าง  เธอได้แต่ตกใจและเดินออกมาโดยไม่ตอบรับอะไร 
 
จตุพรเบิกความต่อว่า การเดินแฟชั่นมีหลายชุด แต่เธอไม่ได้อยู่ดูจนจบ แต่ได้กลับมาดูทีหลัง จตุพรเบิกความต่อว่าเธอรู้จักคนที่ถือร่ม ถือพาน สำหรับร่มมีคนถือเดินตามเธอเป็นร่มของกลุ่ม We Volunteer ซึ่งเป็นกลุ่มที่เธอเป็นสมาชิกอยู่ในขณะนั้น ส่วนที่มีการนำร่มมาถือก็เป็นไปเพื่อการโฆษณาขายสินค้าเท่านั้น สำหรับชายคนที่สวมชุดเสื้อกล้ามสีดำที่ถูกดำเนินคดีเป็นอีกคดีหนึ่งเธอไม่เคยรู้จักมาก่อน 
 
หลังวันเกิดเหตุเธอเห็นคนที่เธอรู้จักบนเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความว่า มีคนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพราะแต่งตัวเลียนแบบเจ้าคุณพระสินีนาฏ จากนั้นเธอจึงได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวในคดีนี้ ทนายจำเลยถามเกี่ยวกับเพลงมาร์ชราชวัลลภว่าบุคคลใดเป็นผู้นำมาเปิด จตุพรเบิกความว่าเธอเพิ่งมาทราบว่ามีการเปิดเพลงดังกล่าวในภายหลัง จตุพรย้อนกลับไปเบิกความถึงวันเกิดเหตุว่า หลังร่วมกิจกรรมเดินแฟชั่นเธอก็ไปดูกิจกรรมอื่นๆในพื้นที่จัดงาน จากนั้นก็ไปขายร่มและของที่ระลึกของทางกลุ่มจากนั้นจึงเดินทางกลับ ตั้งแต่ในวันเกิดเหตุมีคนนำภาพขณะที่ตัวเองเดินไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์ มีคนมาแสดงความเห็นอย่างแพร่หลายจนทำให้เธอรู้สึกเครียด โดยคนที่แสดงความคิดเห็นบางคนก็บอกว่าเธอแต่งตัวเป็นเจ้าคุณพระบ้าง แต่งตัวเลียนแบบพระราชินีบ้าง ซึ่งทำให้เธอรู้สึกเครียด
 
เธอทราบว่า ขณะเกิดเหตุมีการประกาศสถานกาณ์ฉุกเฉินฯ ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีการงดเว้นไม่บังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯเป็นการชั่วคราว และเธอก็ทราบว่ามีกรณีที่ศาลยกฟ้องคดีที่มีการชุมนุม จตุพรเบิกความต่อว่าเท่าที่ทราบผู้ที่มากล่าวหาเธอในคดีนี้ยังเคยร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 คดีอื่นๆ อีกหลายคดี  จตุพรเบิกความด้วยว่าการถูกดำเนินคดีนี้ทำให้เธอถูกตีตราจากสื่อสังคมออนไลน์ ถูกตราหน้าว่าเป็นคนชังชาติ และเมื่อเธอไปสมัครงานก็เคยถูกปฏิเสธเนื่องจากการถูกดำเนินคดี นอกจากนั้นก็ยังเคยถูกตั้งค่าหัวบนโลกออนไลน์ด้วย โดยที่ผู้ที่ตั้งค่าหัวหรือด่าทอเธอก็ไม่เคยมาสอบถามข้อเท็จจริงใดๆจากเธอ 
 
หลังเสร็จการสืบพยานปากนี้ ทนายจำเลยแถลงว่า หมดพยานแต่เพียงเท่านี้ แต่จะขออนุญาตศาลส่งคำแถลงปิดคดี ศาลอนุญาตให้ทนายจำเลยส่งคำแถลงปิดคดีภายในเวลาหนึ่งเดือน
 
นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 12 กันยายน 2565 ศาลให้เหตุผลที่นัดห่างจากวันพิจารณาคดีวันสุดท้ายนานว่าเป็นเพราะศาลมีนัดคดีอื่นอีกหลายเรื่อง ในนัดการพิจารณาคดีนัดนี้ศาลมีพยานโจทก์บางปากที่ไม่มาศาลตามนัดและศาลได้ให้โอกาสฝ่ายโจทก์ในการติดตามพยานเหล่านั้นหลายครั้งแล้วแต่ไม่สามารถติดตามพยานเหล่านั้นมาได้และแม้ให้โอกาสต่อไปก็มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถติดตามพยานเหล่านั้นมาได้จึงให้งดการสืบพยานปากดังกล่าว
 
ภายหลังอ่านคำพิพากษา นิวถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 2 คืน ก่อนจะได้ประกันตัวในวันที่ 14 กันยายน 2565

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
12 กันยายน 2565
 
พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน และมีสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯเป็นสมเด็จพระราชินี คำว่าทรงพระเจริญ เป็นคำที่ใช้กับพระเจ้าอยู่หัว พระราชินี และพระราชวงศ์ชั้นสูง ขณะเกิดเหตุนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด19 มีการออกประกาศ ข้อกำหนด และมาตรการต่างๆภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
 
ในวันและเวลาเกิดเหตุจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันซึ่งจัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มคณะราษฎร โดยการชุมนุมดังกล่าวใช้ชื่อว่า "ศิลปะราษฎร" จำเลยแต่งกายด้วยชุดไทยสีชมพูร่วมเดินแฟชันบนพรมสีแดง ภาพเหตุการณ์ปรากฎตามแผ่นวีซีดีวัตถุพยานของโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
 
ความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมในสถานที่แออัดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคและก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ เห็นว่า แม้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯฉบับที่ 1 จะห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมหรือมั่วสุมในที่แออัด

แต่ขณะเกิดเหตุมีการออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯฉบับที่ 13 กำหนดให้การชุมนุมรวมตัวใดๆทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯและให้ผู้จัดการชุมนุมเป็นผู้รับผิดชอบให้ผู้ร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค

แสดงให้เห็นถึงการผ่อนคลายมาตรการที่ถูกกำหนดห้ามโดยข้อกำหนดและไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยการกระทำของจำเลยว่าเป็นความผิดตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯฉบับที่ 1 หรือไม่    
 
สำหรับปัญหาที่ว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคหรือไม่ เห็นว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯฉบับที่ 13 เพียงแต่กำหนดให้ผู้จัดกิจกรรมมีหน้าที่รับผิดชอบจัดให้ผู้ร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค หากมีการฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าวผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือผู้จัด
 
เมื่อฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุม แม้จะฟังได้ว่าจำเลยกับผู้ร่วมชุมนุมหลายคนไม่สวมหน้ากากอนามัยไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำดังกล่าว

อย่างไรก็ตามเมื่อการชุมนุมตามฟ้องอยู่ภายใต้บังคับของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้ชุมนุมมีหน้าที่ไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกกับประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินกว่าที่พึงคาดหมาย โดยโจทก์นำสืบได้ว่าจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมที่มีการปิดถนนสีลมทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก ตั้งแต่แยกสีลมตัดกับถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ไปถึงถนนสีลมตัดแยกประมวญ มีการนำแผงเหล็กมากั้นทำให้ประชาชนทั่วไปสัญจรไม่ได้ และวันเกิดเหตุก็เป็นวันทำงานกลางสัปดาห์รวมถึงเวลาที่ปิดถนนก็คาบเกี่ยวกับเวลาเลิกงานของประชาชน การชุมนุมดังกล่าวจึงก่อให้เกิดความไม่สะดวกหรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา