ณัฐชนน : หนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า”

อัปเดตล่าสุด: 22/11/2566

ผู้ต้องหา

ณัฐชนน ไพโรจน์

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

ณัฐชนน นักศึกษากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกตั้งข้อกล่าวหาตาม มาตรา 112 และพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มาตรา 8 เนื่องจากวันที่ 19 กันยายน 2563 ณัฐชนนนั่งอยู่ในรถบรรทุกหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” ที่จะนำไปแจกจ่ายแก่ผู้ชุมนุม ณ ท้องสนามหลวง และถูกตรวจค้นพร้อมยึดหนังสือไป
 
หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาตรงกับคำปราศรัยของสี่แกนนำ อันได้แก่ อานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และพริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งเนื้อหาของคำปราศรัยนั้นเข้าข่ายดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งการจัดพิมพ์หนังสือดังกล่าวไม่ได้ดำเนินกระบวนการการตีพิมพ์หนังสือตามที่พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์กำหนด

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ณัฐชนน ไพโรจน์ เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า 19 กันยายน 2563 อันเป็นวันนัดหมายชุมนุมโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พ.ต.ต.สิรภพ บัวหลวง ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 1 เข้าทำการตรวจยึดหนังสือปกสีแดง “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” จำนวน 45,080 เล่ม ภายในรถบรรทุก 6 ล้อ โดยณัฐชนนนั่งคู่มากับคนขับ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี
 
เมื่อเจ้าหน้าที่นำหนังสือไปตรวจสอบแล้ว พบว่า หนังสือดังกล่าว มีเนื้อหาเดียวกันกับการปราศรัยของอานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ 10 สิงหาคม 2563 และมีเนื้อหาเดียวกันกับการปราศรัยของพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ปราศรัยที่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ที่จะนำไปแจกจ่ายหรือเผยแพร่ให้กับผู้ชุมนุมที่สนามหลวง ในวันที่ 19 กันยายน 2563 และทราบว่ามีการแจกจ่ายให้กับผู้ชุมนุมไปบางส่วน
 
 
ในบันทึกข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ ได้ตัดตอนคำปราศรัยของสี่ผู้ปราศรัยที่ปรากฏในหนังสือเล่มดังกล่าวมาเป็นประโยค ซึ่งเนื้อหาที่ตัดตอนมานั้น มีทั้งการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ปราศรัยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อเรียกร้องส่วนตัวของผู้ปราศรัยที่เรียกร้องต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และได้รวมเนื้อหา 10 ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มาด้วย เจ้าหน้าที่ระบุว่าเนื้อหาดังกล่าว “เป็นการใส่ความหรือกล่าวหาพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 และที่ 10 ซึ่งไม่เป็นความจริง การใส่ความดังกล่าวเมื่อบุคคลทั่วไปได้ทราบหรือได้อ่านแล้ว ทำให้เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนไม่ดี อาจทำให้ผู้อื่น ประชาชนดูหมิ่นหรือเกลียดชัง พระมหากษัตริย์ได้” พ.ต.ต.สิรภพ บัวหลวง จึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ทั้งนี้ ในข้อกล่าวหามิได้ระบุว่า หนังสือดังกล่าวปรากฏคำปราศรัยของณัฐชนน เพียงแต่อ้างถึงคำปราศรัยของผู้อื่นและ 10 ข้อเรียกร้องเท่านั้น
 
 
ต่อมา พนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร ตรวจสอบหนังสือดังกล่าว เห็นว่าเป็นเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่เป็นหนังสือ ซึ่งมิได้ยื่นขอเลขมาตรฐานสากลการพิมพ์ต่อสำนักหอสมุดแห่งชาติ และภายในหนังสือ มิได้ปรากฏชื่อของผู้พิมพ์หรือที่ตั้งโรงพิมพ์ หรือชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณาแต่อย่างใด จึงได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550
 
พนักงานสอบสวนสภ.คลองหลวงได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อณัฐชนน สองข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มาตรา 8 จัดทำสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์และพิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักรโดยไม่แสดงข้อความ (1) ชื่อของผู้พิมพ์และที่ตั้งโรงพิมพ์, (2) ชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณา และ (3) เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติได้ออกให้

พฤติการณ์การจับกุม

คดีนี้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก จึงไม่มีการจับกุมตัว หลังผู้ต้องหาทั้งหมดเข้ารายงานตัวพนักงานสอบสวนไม่ได้ขออำนาจศาลฝากขังและปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลจังหวัดธัญบุรี

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
 
10 สิงหาคม 2563
 
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีผู้ปราศรัยหลายคนสับเปลี่ยนกันปราศรัย เหตุการณ์สำคัญของการชุมนุมดังกล่าว คือ การประกาศ 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์  โดยปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ตัวแทนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
 
 
19 สิงหาคม 2563
 
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า การชุมนุมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2563 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
 
 
1 กันยายน 2563
 
อานนท์ นำภา ได้โพสต์ภาพถ่ายปกหนังสือ ‘ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์’ ในเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมข้อความประกอบภาพว่า “วัดใจ พิมพ์ 100,000 เล่ม แจกวันที่ 19 กันยายน ที่ธรรมศาสตร์ คำปราศรัยของ 4 ผู้ปราศรัยว่าด้วยการขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ไม่พิมพ์เพิ่ม !!!”
 
 
9 กันยายน 2563
 
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดแถลงข่าว ประกาศชุมนุม 19 กันยายน 2563 พร้อมแจงรายละเอียดการชุมนุมว่าจะเข้ายึดพื้นที่สนามหลวง และจะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลในเช้าวันที่ 20 กันยายน 2563
 
 
18 กันยายน 2563
 
อานนท์ นำภา ได้โพสต์ภาพถ่ายปกหนังสือ "ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์" อีกครั้งหนึ่ง พร้อมข้อความประกอบภาพว่า “ออกจากโรงพิมพ์เรียบร้อย 50,000 เล่ม สำหรับ 50,000 คนแรกของพรุ่งนี้ 19 กันยายน ที่ธรรมศาสตร์ เข้าใจว่าจะขายเล่มละ 10 บาทเพื่อนำไปพิมพ์ล็อตต่อไปสำหรับเผยแพร่ทั่วประเทศ”
 
 
19 กันยายน 2563
 
เวลาประมาณ 10.00 น. ก่อนถึงเวลานัดหมายการชุมนุม ไทยพีบีเอสรายงานว่า ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบนำกำลังไปที่บ้านพักนักกิจกรรมในจังหวัดปทุมธานี เพื่อตรวจยึดหนังสือที่จะนำไปแจกในการชุมนุม โดยตำรวจไม่ได้แสดงหมายหรือเอกสารใดในการตรวจค้น ท้ายที่สุดหนังสือจำนวน 45,080 เล่มก็ถูกยึดไป โดยมีการทำบันทึกการตรวจยึด ระบุว่า หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาซึ่งถอดเทปคำปราศรัยปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในเวทีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมือ 10 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งอาจเข้าข่ายอาจพาดพิงหรือก้าวล่วงสถาบันกษัตริย์
 
 
11 มกราคม 2564
 
นัดรับทราบข้อกล่าวหา
 
ก่อนที่ณัฐชนนจะเดินทางมาถึงถึงสภ.คลองหลวง บริเวณหน้าประตูสภ. มีการติดตั้งป้ายไวนิลสองชุด ระบุข้อความประกาศสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง เรื่อง ข้อกำหนดสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง มาติดตั้งไว้หน้าสภ. โดยสาระสำคัญของประกาศดังกล่าว ได้กำหนดข้อห้ามสี่ข้อ
 
1) ห้ามสร้างความวุ่นวาย
 
2) ห้ามมิให้นำไมโครโฟน เครื่องขยายเสียง เข้ามาในพื้นที่สภ.
 
3) ห้ามเผยแพร่ภาพและเสียง ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยปรากฏข้อมูลอันเป็นเท็จและทำให้เกิดความเสียหายต่อราชการ
 
4) ห้ามมิให้นำอาวุธหรือสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาในสภ.
 
ราว 10.15 น. ณัฐชนนได้เดินทางมาถึงสภ. คลองหลวง และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ด้านรายละเอียดของคดีต้องทราบจากสำนวนก่อน ตอนนี้ตนก็ยังไม่ได้เข้าใจรายละเอียดคดีมากนัก แต่ทราบจากทนายความว่าการแจ้งข้อกล่าวหา สืบเนื่องมาจากการครอบครองหนังสือดังกล่าว
 
10.32 น. หลังจากให้สัมภาษณ์กับสื่อ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และทีมงาน ได้นำเครื่องเสียง ลำโพง จอโปรเจคเตอร์ เครื่องปั่นไฟ เข้ามาในพื้นที่ของสภ. เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาแจ้งผ่านโทรโข่งว่าเป็นการขัดต่อประกาศสภ. คลองหลวง และแจ้งว่าเมื่อขัดต่อประกาศ จึงต้องใช้กำลังนำสิ่งของดังกล่าวออกไป โดยมีเจ้าหน้าที่ราว 30 คน เตรียมพร้อมเพื่อการดังกล่าว ระหว่างการถกเถียงของพริษฐ์และณัฐชนน กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีตำรวจบางส่วนยกจอโปรเจคเตอร์ออกไปจากพื้นที่
 
ณัฐชนนและพริษฐ์ ได้ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เหตุผลที่ต้องนำอุปกรณ์ดังกล่าวเข้ามา เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมให้กำลังใจกับณัฐชนนซึ่งถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 และปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจชี้แจงว่า ในสถานที่ราชการย่อมมีกฎระเบียบ และมีการตั้งเต็นท์พื้นที่สำหรับผู้มาให้กำลังใจแล้ว
 
พริษฐ์ไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่นำอุปกรณ์ต่างๆ ออกไป และโต้แย้งการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แจ้งข้อกล่าวหา ทั้งที่การกระทำของณัฐชนนไม่ได้เป็นไปตามที่กฎหมายอาญาระบุว่ามีความผิด ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจชี้แจงว่า ผู้ถูกกล่าวหาก็ต้องสู้คดีด้วย พริษฐ์ถามว่า หนังสือที่เป็นเหตุในคดีนี้เข้าข่ายมาตรา 112 อย่างไร ตำรวจระบุว่า ให้เป็นไปตามขั้นตอน ให้ไปให้การกับร้อยเวรและปฏิเสธ
 
หลังใช้เวลาเจรจาร่วม 20 นาที ในเวลา 10.56 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาเจรจา แจ้งรายละเอียดตามหมายเรียก และเกลี้ยกล่อมให้ณัฐชนนเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา ภายหลังจากผู้ถูกกล่าวหาและทนายความเข้าไปยังภายในสภ. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 10 นาย ยืนเรียงแถวหน้ากระดานบริเวณหน้าประตูสภ. ไม่ให้คนอื่นตามเข้าไป
 
11.50 น. ณัฐชนนและนรเนษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ออกมาจากสภ. คลองหลวง และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ณัฐชนนท์ระบุว่า ตนได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และจะรวบรวมหลักฐานเพื่อต่อสู้คดี
 
ทนายความชี้แจงเพิ่มเติมว่า การแจ้งข้อกล่าวหา มีที่มาจากหนังสือปรากฏการณ์สะท้านฟ้า ที่รวมคำปราศรัยสี่แกนนำ ข้อกล่าวหาทั้งหมดไม่ได้มีคำปราศรัยของณัฐชนนแม้แต่นิดเดียว ทั้งนี้ เนื้อหาคำปราศรัยดังกล่าวเกี่ยวกับข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เกี่ยวพันกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 เป็นประเด็นที่ต้องดูว่าผิดหรือไม่อย่างไร แต่ประเด็นที่สำคัญคือ การแจ้งข้อกล่าวหาในครั้งนี้ ผู้ต้องหาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคำปราศรัยทั้งหมด และขอเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ในการต่อสู้คดี ซึ่งจะนำมายื่นต่อพนักงานสอบสวนในภายหลัง
 
ทนายความแจ้งว่า เดิมทีเจ้าหน้าที่ตำรวจนัดหมายครั้งต่อไป 11 กุมภาพันธ์ 2564 แต่ทางณัฐชนนเห็นว่าการกำหนดเวลานัดดังกล่าว กระชั้นชิด ทำให้เสียสิทธิในการต่อสู้คดี ไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้เต็มที่ จึงไม่เซ็นทราบนัด ขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 45 วัน
 
2 เมษายน 2564
 
พนักงานสอบสวนส่งตัวณัฐชนนฟ้องต่ออัยการจังหวัดธัญบุรี อัยการนัดณัฐชนนฟังคำสั่งคดีวันที่ 30 เมษายน 2564 
 
30 เมษายน 2564
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
อัยการเลื่อนนัดสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2564 โดยให้เหตุผลว่ายังพิจารณาสำนวนคดีไม่แล้วเสร็จ
 
19 มกราคม 2565
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ยื่นฟ้องณัฐชนน ไพโรจน์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพียงข้อหาเดียว และศาลจังหวัดธัญบุรีรับฟ้องไว้เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.212/2565
 
พนักงานอัยการ บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยและพวกอีกหนึ่งคนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยผลิตหนังสือ ชื่อ “ฟ้ามืดเมื่อมีได้ ก็ฟ้าใหม่ย่อมคงมี ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์” จำนวน 45,080 เล่ม
 
ในคำฟ้องระบุว่า เนื้อหาในหนังสือดังกล่าว มีถ้อยคำที่เป็นการใส่ความต่อองค์พระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนทั่วไปที่ได้ทราบหรืออ่านข้อความในหนังสือ เข้าใจว่ารัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 เป็นคนไม่ดี รับรองให้มีการรัฐประหาร เพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เกี่ยวข้องและแทรกแซงการเมืองและประเด็นเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในทางไม่ดี อีกทั้งยังมีเนื้อหามุ่งหมายเปลี่ยนแปลง ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศ อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนคนไทยมาอย่างยาวนาน ถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์
 
โจทก์ยังบรรยายอีกว่า ในหนังสือดังกล่าวมีข้อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ และยกข้อความที่ปรากฏในหนังสือดังกล่าวมาประกอบการบรรยายฟ้อง จำนวน 15 ข้อความ เช่น
 
“สิทธิเสรีภาพถูกทำลาย ผู้คนจํานวนมากต้องถูกจองจำ ลี้ภัย หรือไม่ก็สูญหาย ส่วนคนที่ยังอยู่ในประเทศต้องต่อสู้ด้วยข้อจำกัดเพราะคณะรัฐประหารมีตุลาการไว้รองรับอํานาจของตน” 
 
“เจตนาการพูดของผมในครั้งนี้ คือต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่ในที่ที่เหมาะสมและสามารถอยู่ร่วมกับประชาชนคนไทยได้และที่บอกว่าการอยู่เหนืออํานาจอธิปไตยคือการอยู่เหนืออํานาจของประชาชน โดยการที่ประชาชนไม่สามารถแตะต้องได้เพราะถ้าใครแตะต้องโดนมาตรา 112” 
 
“สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้พระมหากษัตริย์สามารถปรับตัวเข้ากับประชาชนได้และกลับมาอยู่ประเทศไทยเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับ ประชาชน …”
 
“ประเด็นสำคัญที่ผมจะมาพูดในวันนี้คือ ข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัดของพวกเรา ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นั้นหมายถึงกษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” 
 
 “พระมหากษัตริย์ถ้ายังเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องไม่เซ็นรับรองการรัฐประหาร หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น” 
 
“ในเหตุการณ์ของประเทศไทยนั้น ก็มีตัวอย่างกบฏยังเติร์ก ปี 2524 จะล้มยึดอำนาจรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นการก่อการยึดอำนาจที่ใช้กำลังคนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ทหาร 40 กว่ากองพัน คือเกินครึ่งของกองทัพบุกเข้ามาในกรุงเทพฯ สามารถยึดกรุงเทพฯ ได้ทั้งหมด ในปกติสมัยก่อนเวลาเขายึดอำนาจกัน ยึดทำเนียบ ยึดสภา ยึดสื่อมวลชน แค่นี้ก็สามารถที่จะชนะได้แล้ว แต่ในครั้งนี้ตัวคนเซ็นหนีไปอยู่กับนายกรัฐมนตรีที่โคราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงไม่ยอมอยู่เซ็นรัฐประหารให้กับคณะที่เขายึดอํานาจ แต่หนีไปปกป้องอยู่กับพลเอกเปรมที่ค่ายสุรนารี นี่ขนาดว่าเขายึดได้ทั้งกรุงเทพฯ แล้ว แต่ก็ไม่สามารถที่จะชนะได้เพราะไม่มีคนเซ็นคือหลักฐานว่าการเซ็นนั้นสำคัญไฉน”
 
ในท้ายฟ้อง โจทก์ขอศาลพิพากษาลงโทษจําเลยตามกฎหมาย และขอให้ศาลสั่งริบหนังสือดังกล่าวจำนวน 45,080 เล่ม ทั้งยังคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย อ้างเหตุว่าคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี
 
หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นประกันตัวและศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลระบุในคำสั่งว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่มีพฤติการณ์ก่อคดีอีก พร้อมกันนี้ศาลได้วางเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้สองข้อ 
 
1. ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร 
2. ห้ามหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี หรือรัชทายาท 
 
ศาลกำหนดนัดวันสอบคำให้การในวันที่ 25 มกราคม 2565
 
25 มกราคม 2565
นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ
 
15 มีนาคม 2565
นัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน
 
ศาลจังหวัดธัญบุรี นัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ศาลถามจำเลยว่า จะต่อสู้อย่างไรบ้าง นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจำเลยแจ้งว่า จำเลยสู้ว่า 1. ไม่ใช่ผู้ตีพิมพ์หนังสือ 2. ไม่ใช่ผู้แจกหนังสือ 3. เนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือ ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย
 
พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ ระบุว่ามีพยานทั้งสิ้น 11 ปาก ขอสืบพยานโจทก์สองนัด ทนายจำเลย แจ้งต่อศาลว่าพยานจำเลยมีทั้งสิ้น 31 ปาก หนึ่งปากคือจำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน สามปากคือประจักษ์พยานที่รับรู้ถึงเหตุการณ์บุกยึดหนังสือ สี่ปากคือเจ้าของคำปราศรัยที่ปรากฏในหนังสือ เก้าปากคือนักวิชาการด้านกฎหมาย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์ และอีก 14 ปากคือพยานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเนื้อหาปราศรัยที่ปรากฏในหนังสือ
 
ทนายจำเลย ขอสืบพยานจำเลยหกนัด แต่ศาลแจ้งแก่ทนายว่าให้ทนายไปบริหารหรือคัดมาว่าควรนำพยานปากไหนมาสืบ ท้ายที่สุดแล้วให้จำเลยสืบพยานห้านัด
 
กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 15-16 ธันวาคม 2565 และนัดสืบพยานจำเลย วันที่ 19-21 และ 26-27 กรกฎาคม 2566
 
15 ธันวาคม 2565
เลื่อนนัดสืบพยานโจทก์
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดธัญบุรี เลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ไปเป็นวันที่ 19-21 กรกฎาคม 2566 เนื่องจากคู่ความเป็นกลุ่มเสี่ยงติดโควิด
 
20 กรกฎาคม 2566
สืบพยานโจทก์ 
 
ศาลกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 12 โดยสืบพยานสามปาก
 
พยานโจทก์ปากแรก ผศ.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ พยานฝ่ายโจทก์คดี มาตรา 112 หลายคดี เบิกความมีใจความว่า
 
ขณะเกิดเหตุ ปี 2563 พยานเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สาขาสถิติประยุกต์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท บริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และปริญญาเอก จิตมิติและจิตวิทยาเชิงปริมาณ จากสหรัฐอเมริกา พยานยังเป็นผู้เขียนหนังสือ “สถาบันกษัตริย์ ความจริงที่ถูกบิดเบือน”
 
พยานเบิกความต่อไปว่า เนื้อหาในหนังสือ มีลักษณะใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นความจริงหลายประเด็น เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ การโอนทรัพย์สิน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ข้อกล่าวหาทั้งหมดจากเนื้อหาในหนังสือ เป็นการกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นความจริง ใส่ร้ายสถาบันฯ ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด เกลียดชังองค์พระมหากษัตริย์และมองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์โหดเหี้ยม ไม่น่าศรัทธา
 
เนื้อหาในหนังสือยังกล่าวถึง 10 เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า ข้อประกาศและข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อ เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการล้มล้างการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ขัดต่อรัฐธรรมนูญ  2560 การนำข้อความดังกล่าวมาแสดง จึงกลายเป็นการล้มล้างการปกครอง
 
สำหรับประเด็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์เสด็จไปประทับอยู่ที่ต่างประเทศ พยานเบิกความว่า ทราบว่ามีการเสด็จไปประทับที่ต่างประเทศ แต่ปฏิเสธว่าใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนในเรื่องส่วนพระองค์
 
ถัดมาทนายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความโดยสรุปได้ว่า ข้อความในหนังสือที่ระบุทำนองว่าพระมหากษัตริย์แก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นข้อความเข้าข่าความผิดตามมาตรา 112 เพราะเป็นการกล่าวหาว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือกฎหมาย ทำให้เกิดความเกลียดชัง สำหรับประเด็นที่มีรายงานข่าวว่า รัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติแล้วนั้น พยานตอบกลับมาว่าไม่ทราบเรื่องดังกล่าวและไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถตอบคำถามได้
 
พยานเบิกความต่อไปว่า การกล่าวหาว่าทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกโอนไปเป็นของพระมหากษัตริย์ไม่เป็นความจริง ตาม พ.ร.บ.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ส่วนที่เป็นของสถาบันพระมหากษัตริย์) กับทรัพย์สินส่วนพระองค์ (ทรัพย์สินส่วนตัวของรัชกาลที่ 10) แยกส่วนกัน เมื่อทนายจำเลยนำเอกสารโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ตามทะเบียนผู้ถือหุ้นลงวันที่ 8 มีนาคม 2563 แล้วถามพยานว่าในอนาคตทรัพย์สินดังกล่าวจะเป็นของใคร กษัตริย์พระองค์ต่อไปหรือของรัชกาลที่ 10 พยานไม่ตอบในประเด็นดังกล่าว
 
ทนายจำเลยได้ถามพยานเกี่ยวกับกรณีที่พยานโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่าสนับสนุนการรัฐประหาร พยานยอมรับและกล่าวว่า การทำรัฐประหารในบางครั้งเป็นการปกป้องประชาธิปไตย ทนายจำเลยถามต่อเกี่ยวกับการเซ็นรับรองการรัฐประหารของพระมหากษัตริย์ พยานตอบว่า การยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดของกบฏ จะทำให้สามารถบังคับพระมหากษัตริย์ได้โดยปริยาย ทนายจำเลยถามต่อว่าดังนั้นแปลว่าพยานสนับสนุนคนที่บังคับพระมหากษัตริย์หรือไม่ พยานไม่ตอบคำถาม
 
พยานโจทก์ปากที่สอง ศรัญญา วัลลิสุพรรณ ประชาชนทั่วไป อายุ 63 ปี มีอาชีพเป็นแม่บ้าน ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคู่ความ พยานพักอาศัยอยู่ไม่ไกลสภ. คลองหลวงมากนัก เบิกความใจความว่า ทราบข่าวเกี่ยวกับหนังสือดังกล่าวสืบเนื่องจากวันที่ 19 กันยายน 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสภ. คลองหลวง นำหนังสือมาให้พยานอ่าน แล้วจึงพบว่าเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวระบุถึงการแทรกแซงทางการเมืองของพระมหากษัตริย์และเรื่องอื่นๆ ที่พยานมองว่าเป็นการกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ พยานกล่าวต่ออีกว่า วัตถุประสงค์ของผู้ที่เขียนและพิมพ์หนังสือคือการ “ล้มล้างระบบการปกครองของพระมหากษัตริย์”
 
พยานยืนยันว่าเคยให้การไว้กับพนักงานสอบสวนสภ.คลองหลวงไว้ และเอกสารคำให้การจากชั้นตำรวจที่อัยการยื่นให้ดูขณะเบิกคำให้การต่อศาลเป็นของตนเอง 
 
ด้านทนายถามค้าน พยานเบิกความว่า จบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พักอยู่ไม่ห่างจากสภ.คลองหลวง ตำรวจจึงเชิญเธอมาเป็นพยานในคดีนี้ พยานเกิดในสมัยรัชกาลที่ 9 และมีความเห็นว่าการพูดเกี่ยวกับกษัตริย์รัชกาลที่ 9 อย่างไรก็ตามเป็นการดูหมิ่น
 
พยานไม่ได้เข้าใจว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 (ความผิดฐานหมิ่นประมาท) คืออะไร ซึ่งขัดกับคำให้การในชั้นตำรวจ แต่พยานก็แจงต่อว่า คำให้การในชั้นตำรวจ เจ้าหน้าที่ถามแล้วจึงตอบ เจ้าหน้าพิมพ์คำให้การตามที่พยานบอก ต่อมาพยานแก้ใหม่ว่า ที่ให้การในชั้นตำรวจไปนั้นตนอาจตอบไม่เป็นขั้นเป็นตอน เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียบเรียงเป็นคำใหม่ตามเอกสารที่อัยการส่งต่อศาล
 
ทนายฝ่ายจำเลยถามถึงเนื้อหาในหนังสือ พยานเบิกความว่า ไม่ทราบเลยว่าเนื้อหาในหนังสือเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรและจำเนื้อหาไม่ได้ ต่อมาในช่วงท้าย พยานระบุว่า หนังสือที่พยานอ่านขณะไปให้การในชั้นตำรวจมีการขีดย้ำข้อความ ส่วนตัวคิดว่าเป็นเนื้อหาที่สำคัญ
 
พยานโจทก์ปากที่สาม พนมบุตร จันทรโชติ อายุ 57 ปัจจุบันทำอาชีพรับราชการ ตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร เกี่ยวพันกับคู่ความโดยเป็นผู้กล่าวโทษคนหนึ่ง เข้ามาเป็นพยานฝ่ายโจทก์ในชั้นศาล เพื่อเบิกความในส่วนของข้อหาตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งกล่าวหาจำเลยว่า จัดทำสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์และพิมพ์ขึ้นมาในราชอาณาจักรโดยไม่แสดงข้อความ ชื่อของผู้พิมพ์และที่ตั้งโรงพิมพ์, ชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณา, เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (ISBN) ที่หอสมุดแห่งชาติได้ออกให้
 
พยานเบิกความใจความว่า ในขณะเกิดเหตุ พยานรับราชการ ตำแหน่งรองอธิบดีกรมศิลปากร จำไม่ได้แน่ชัดว่าวันเกิดเหตุเป็นวันที่เท่าไร เนื่องจากเวลาผ่านมานานมากแล้ว แต่จำได้ว่าเป็นวันเสาร์ มีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และตนเองอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
 
พยานอธิบายว่า โดยปกติแล้วหนังสือที่พิมพ์อย่างถูกต้อง ต้องมีเลขหนังสือที่ระบุ ISBN และมีเลขของหอสมุดแห่งชาติระบุไว้ ภายหลังจากวันเกิดเหตุ ตนรับหน้าที่ดูแลหอสมุดแห่งชาติและได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ว่าให้มาที่สภ.คลองหลวง เพื่อดูหนังสือที่ไม่มีเลข ISBN หากไม่มีการขออนุญาตมีเลข ISBN ก็ให้แจ้งความในส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อพบว่าหนังสือปรากฏการณ์สะท้านฟ้า ไม่มีเลข ISBN
 
พยานกล่าวต่อว่า แม้ว่าตนได้อ่านหนังสือดังกล่าวแล้วเห็นว่ามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเนื้อหาและดำเนินคดี ส่วนของตนเกี่ยวข้องกับการไม่ขออนุญาตการพิมพ์หนังสือเท่านั้น
 
พยานเบิกความอีกว่า ในหนังสืออาจไม่ได้ปรากฏชื่อของผู้เขียน โรงพิมพ์และที่ตั้งของผู้พิมพ์เอาไว้ แต่โดยปกติแล้วคำนำของหนังสือจะระบุชื่อผู้เขียนเป็นผู้ทำคำนำ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ในส่วนของคำนำ ระบุถึงกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จึงหมายความได้ถึงบุคคลเดียว
 
ต่อมาทนายจำเลยถามค้านแล้ว พยานเบิกความใจความว่า หนังสือที่ต้องห้ามตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ เอาผิดเฉพาะกับผู้ที่เผยแพร่เท่านั้น ไม่ได้เอาผิดกับผู้ที่ครอบครอบหนังสือ อีกทั้งหนังสือปรากฏการณ์สะท้านฟ้าไม่ได้เป็นหนังสือที่อยู่ในรายชื่อที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแจ้งห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร
 
21 กรกฎาคม 2566
สืบพยานโจทก์ 
 
นัดสืบพยานโจทก์ต่อจากวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 โดยเป็นพยานโจทก์ปากที่สี่ คือ ผศ.กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง พยานคดีมาตรา 112 หลายคดี และผู้เขียนหนังสือ “การคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา”
 
กิตติพงศ์ จบการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ สาขากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ารับราชการตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน
 
กิตติพงศ์ เบิกความใจความว่า เนื้อหาในหนังสือปรากฏการณ์สะท้านฟ้า ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง ทำให้กษัตริย์ได้รับความเสียหาย ในส่วนของประเด็นเรื่องการโยกย้ายกำลังพล แก้กฎหมายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติไปแล้วนั้น ไม่มีหลักฐานว่ากษัตริย์ทรงให้แก้กฎหมายดังกล่าวและการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปตามกระบวนการทั้งสิ้น การกล่าวว่ากษัตริย์เป็นรากเหง้าปัญหาทางการเมืองเป็นการใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ พยานอ้างการศึกษาจากคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยว่า ปัญหาการเมืองไทยอยู่ที่การทุจริต สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นจุดแข็งของประเทศไทยในการเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติและทำให้ประเทศฝ่าฟันวิกฤตทุกอย่างไปได้
 
อีกทั้งยังมีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญว่าการชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยมีลักษณะเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่ง 10 ข้อเรียกร้องที่กล่าวถึงอยู่ในเนื้อหาของหนังสือจึงเป็นเสรีภาพที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง
 
พยานคิดว่าวัตถุประสงค์ของผู้ที่จัดทำหนังสือปกแดงตั้งใจกล่าวร้ายให้กับรัชกาลที่ 10 ให้ทรงได้รับความเสียหาย จึงเข้าข่ายการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
 
ต่อมาทนายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความใจความว่า การครอบครองหนังสือปกแดง ไม่ได้เผยแพร่หรือไม่ได้ผลิตจะไม่มีความผิด ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้พิมพ์หรือผู้ผลิตหนังสือปกแดง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะคุ้มครองเฉพาะมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่และไม่คุ้มครองรวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
 
พยานทราบข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติว่ามีคำสั่งให้แก้ โดยภายหลังพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 มาตรา 44 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังประชามติและมีการเปลี่ยนเนื้อความในรัฐธรรมนูญจริง แต่ว่าไม่มีหลักฐานที่ออกข่าวว่ารัชกาลที่ 10 ทรงมีคำสั่งให้แก้โดยพระองค์เอง
 
สำหรับการเสด็จไปประทับที่ต่างประเทศ พยานตอบว่า ทราบข่าวว่ารัชกาลที่ 10 และบริวาร เดินทางจากประเทศไทยไปประทับที่ประเทศเยอรมนี แต่ไม่ทราบว่าค่าใช้จ่ายจะเป็นส่วนราชการหรือส่วนพระองค์ เนื่องจากไม่มีหลักฐานชัดเจน
 
22 กันยายน 2566
สืบพยานจำเลย
 
ศาลกำหนดนัดสืบพยานจำเลยตั้งแต่เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 12 จำเลยมาถึงห้องพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 09.10 น. เริ่มสืบพยานเวลาประมาณ 09.46 น. โดยในคดีนี้ พยานจำเลยมีเพียงปากเดียว คือ ตัวจำเลยเองอ้างตนเองเป็นพยาน
 
โดยส่วนแรกทนายจำเลยซักถามพยาน ณัฐชนนเบิกความโดยมีสาระสำคัญคือ ขณะเกิดเหตุ จำเลยเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหา ด้วยเหตุผล ประการแรก คือ จำเลยไม่ได้เป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือปรากฏการณ์สะท้านฟ้า และประการที่สอง คือ ข้อความที่ปรากฏในหนังสือ ไม่ได้เข้าข่ายผิดตามมาตรา 112
 
จำเลยไม่เคยต้องคำพิพากษาของศาลในคดีอื่นมาก่อน และเมื่อปี 2558 ขณะที่จำเลยศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำเลยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ จนต้องตัดขาข้างขวาตั้งแต่ใต้เข่าลงไป และใส่ขาเทียม ต่อมาขณะที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงศึกษาชั้นปีที่ 1 ถึงปี 3 จำเลยเคยเป็นสมาชิกพรรคโดมปฏิวัติ ซึ่งทำกิจกรรมคือลงสมัครรับเลือกตั้งสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ และตั้งแต่ช่วงที่ศึกษาชั้นปีที่ 3 เป็นต้นมา ก็เป็นสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยกิจกรรมที่ทำจากการสังกัดทั้งสองกลุ่ม คือการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย
 
เมื่อทนายถามว่า ในหนังสือปรากฏการณ์สะท้านฟ้า ที่มีคำถอดเทปปราศรัยการชุมนุม 10 สิงหาคม 2563 นั้น มีส่วนที่จำเลยปราศรัยด้วยหรือไม่ จำเลยระบุว่าไม่มีคำปราศรัยของตน และในคำฟ้องของโจทก์ก็ไม่ได้ระบุคำปราศรัยของจำเลย นอกจากนี้ ตนทราบมาว่า ผู้ที่ปราศรัยสี่ราย (อานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และพริษฐ์ ชิวารักษ์) ที่มีเนื้อหาถอดคำปราศรัยในหนังสือปรากฏการณ์สะท้านฟ้า ถูกฟ้องคดีด้วยความผิดฐานอื่น แต่ไม่ใช่ มาตรา 112
 
 [***หมายเหตุ สี่คนที่ถูกถอดเทปคำปราศรัยในหนังสือปรากฏการณ์สะท้านฟ้า รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล  เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก อานนท์ นำภา รวมถึงณัฐชนน ไพโรจน์ ถูกฟ้องอีกหนึ่งคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ https://tlhr2014.com/archives/47734]
 
จำเลยเบิกความต่อไปว่า วันที่ 19 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันนัดหมายชุมนุมที่สนามหลวง เพื่อนในกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมชวนไปทำกิจกรรม ในวันดังกล่าวตนอยู่ที่บ้านเช่าในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อจะเตรียมขนสิ่งของ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ไมค์โครโฟน ไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 
 
โดยจำเลยระบุว่า ตนไม่ได้มีส่วนช่วยในการขนสิ่งของขึ้นรถบรรทุกเนื่องจากขาเจ็บ ส่วนหนังสือที่เป็นมูลเหตุของคดีนี้ ถูกบรรจุในหีบห่อสีน้ำตาล ซึ่งตนไม่ทราบว่าภายในห่อนั้นคือหนังสือปรากฏการณ์สะท้านฟ้า
 
จำเลยนั่งรถบรรทุกที่ขนของ เพื่อบอกทางกับคนขับและบอกจุดที่รถจะต้องไปจอดปลายทาง โดยมีเพื่อนคนอื่นๆ รวมประมาณ 10 คนอยู่ในรถด้วย มีรถจำนวนสองคัน ระหว่างนั่งรถออกมาจากบ้านมาถึงปากซอย ก็พบเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดักไว้และแจ้งว่าภายในรถขนของมีสิ่งผิดกฎหมาย
 
หลังจากนั้น ตำรวจได้ยึดหนังสือไป และพาตัวชนินทร์ วงษ์ศรี ไปด้วย แต่ไม่ได้พาตัวณัฐชนนไป ส่วนสิ่งของอื่นๆ ไม่ได้ถูกยึดไป 
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า รู้หรือไม่ว่าใครเป็นผู้พิมพ์หนังสือ จำเลยตอบว่าไม่ทราบว่าใครพิมพ์หนังสือ และตนเองไม่ได้เป็นผู้พิมพ์ หลังจากได้อ่านเนื้อหาในหนังสือแล้ว คิดว่าเนื้อหาไม่ได้เข้าข่ายผิด มาตรา 112 เพราะเป็นการแสดงความเห็นเพื่อให้มีการพัฒนาตามระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งเจ้าของคำปราศรัยที่ถอดในหนังสือดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 
 
ต่อมาทนายจำเลยถามว่า พยานฝั่งโจทก์สองราย คือ ผศ. กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ และผศ. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ มีความคิดเห็นที่เป็นปฏิปักษ์กับจำเลยหรือไม่ ณัฐชนนระบุว่า แม้จะไม่ได้รู้จักกับทั้งสองคนเป็นการส่วนตัว แต่แนวคิดทางการเมืองของพยานโจทก์และจำเลยแตกต่างกัน พยานโจทก์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของตน โดยอานนท์ เคยแสดงความคิดเห็นสาธารณะ สนับสนุนการรัฐประหาร ซึ่งขัดต่อระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังทราบมาว่า พยานโจทก์ทั้งสองราย ก็เป็นพยานโจทก์ในคดี มาตรา 112 อีกหลายคดี และให้การยืนยันว่าจำเลยในคดีเหล่านั้น กระทำผิดมาตรา 112 และเท่าที่ทราบอีกประการ คือ หลังจากจำเลยให้การกับพนักงานสอบสวนโดยปฏิเสธข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้สอบถามนักวิชาการคนอื่นๆ นอกจากพยานโจทก์สองรายนี้
 
อัยการถามค้าน
 
พนักงานอัยการ (โจทก์) ถามค้าน ว่าในการชุมนุม 10 สิงหาคม 2563 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเป็นแกนนำหรือไม่ จำเลยขอให้อัยการขยายความเพิ่มเติมว่าเป็นแกนนำหมายความว่าอย่างไร อัยการระบุว่า เป็นผู้ริเริ่มชุมนุม รวบรวมผู้คนมาชุมนุม จำเลยตอบว่า ไม่แน่ใจ
 
ณัฐชนนเบิกความต่อไปว่า แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมไม่ได้เป็นผู้จัดพิมพ์ และไม่ทราบว่าใครจัดพิมพ์ ส่วนในหน้าคำนำของหนังสือที่ระบุข้อความลงท้ายเป็นชื่อแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จำเลยระบุว่าข้อความนั้นใช่ชื่อแนวร่วมธรรมศาสตร์ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้พิมพ์เช่นนั้น
 
จำเลยอยู่ในเหตุการณ์ขณะตรวจยึดหนังสือเมื่อ 19 กันยายน 2563 แต่ไม่แน่ใจว่าหนังสือที่ถูกยึดไป อยู่บนรถคันที่ตนเองนั่งมาหรือรถอีกคันที่ตามมาข้างหลัง
 
อัยการถามต่อไปว่า จำเลยเช่าบ้านอยู่กับเพื่อนในหมู่บ้านที่เกิดเหตุหรือไม่ จำเลยระบุว่าใช่ เมื่ออัยการถามว่าหนังสือถูกขนมาจากบ้านที่เช่าหรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่แน่ใจ และหนังสือที่ตำรวจยึดไปนั้น ตำรวจมาดักยึดจากหน้าหมู่บ้าน
 
หนังสือที่ตำรวจยึดไปนั้นถูกห่อหุ้มด้วยห่อสีน้ำตาล ซึ่งจำเลยมาทราบภายหลังว่าในหีบห่อดังกล่าวคือหนังสือ และเมื่ออัยการถามว่าภาพถ่ายตามเอกสารที่พนักงานสอบสวนถ่ายภาพไว้ ใช่ห่อบรรจุหนังสือในคดีนี้หรือไม่ ณัฐชนนระบุว่า ตนไม่ได้ถูกตำรวจนำตัวไปด้วยในขณะที่ตำรวจถ่ายภาพนี้ แต่คิดว่าน่าจะใช่
 
อัยการถามว่า จำเลยได้เข้าไปเจรจากับตำรวจไม่ให้ยึดหนังสือหรือไม่ จำเลยระบุว่าได้เจรจากับตำรวจ เพราะเห็นห่อสีน้ำตาลก็ไม่รู้ว่าข้างในคืออะไร คิดว่าเป็นของที่ได้มาจากประชาชนที่จะถูกนำไปแจก
 
ทนายจำเลยถามติง
 
ณัฐชนนเบิกความเมื่อทนายถามติง ใจความว่า ในหนังสือไม่ได้มีข้อความว่ากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเป็นผู้จัดพิมพ์ และคิดว่าใครก็สามารถพิมพ์ข้อความที่ระบุคำว่าแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมลงไปได้ ส่วนบ้านที่เช่านั้นตนไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาเช่า ในหมู่บ้านดังกล่าวมีบ้านหลังอื่นๆ อีกเยอะ ส่วนหนังสือนั้นท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ได้ถูกนำไปแจกเพราะถูกยึด จึงทำให้ตนไม่ได้อ่าน ไม่ได้ทราบเนื้อหาในหนังสือ
 
สืบพยานจำเลยเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 10.27 น. หลังจากนั้นศาลได้แจ้งกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษา วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 น. 
 
8 พฤศจิกายน 2566
นัดพิพากษา
 
บรรยากาศภายในห้องพิจารณาคดีที่ 12 จำเลยไปถึงเวลา 09.47 น. เวลา 10.00 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์พิจารณา อ่านคำพิพากษาใจว่า จากเนื้อหาตามบรรยายที่โจทก์ฟ้องและจากการสืบพยาน ถือได้ว่าข้อความที่โจทก์บรรยายมา เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างไรก็ดี การสืบของโจทก์ สืบให้แค่เห็นแค่ว่า จำเลยเป็นผู้นั่งมาในรถที่บรรทุกที่ขนหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” แต่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของหนังสือ หรือเป็นผู้จัดพิมพ์ จากพยานหลักฐานของโจทก์ ปรากฏให้เห็นว่าจำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ผลิตหนังสือดังกล่าวมาโดยตลอด ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผลิตหรือครอบหนังสือ จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 
 
อย่างไรก็ดี หนังสือดังกล่าว ไม่มีเลข ISBN และไม่มีเลขหอสมุดแห่งชาติ ไม่ได้แสดงโรงพิมพ์ อันเป็นหนังสือที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด จึงริบหนังสือไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 
 

คำพิพากษา

8 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์พิจารณา อ่านคำพิพากษาใจว่า จากเนื้อหาตามบรรยายที่โจทก์ฟ้องและจากการสืบพยาน ถือได้ว่าข้อความที่โจทก์บรรยายมา เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างไรก็ดี การสืบของโจทก์ สืบให้แค่เห็นแค่ว่า จำเลยเป็นผู้นั่งมาในรถที่บรรทุกที่ขนหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” แต่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของหนังสือ หรือเป็นผู้จัดพิมพ์ จากพยานหลักฐานของโจทก์ ปรากฏให้เห็นว่าจำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ผลิตหนังสือดังกล่าวมาโดยตลอด ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผลิตหรือครอบหนังสือ จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 
 
อย่างไรก็ดี หนังสือดังกล่าว ไม่มีเลข ISBN และไม่มีเลขหอสมุดแห่งชาติ ไม่ได้แสดงโรงพิมพ์ อันเป็นหนังสือที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด จึงริบหนังสือไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

เอกภพ ห.: น้องตั้งอาชีวะ

พรชัย : โพสต์กษัตริย์เกี่ยวข้องกับการปราบผู้ชุมนุม

พิพัทธ์: โพสต์ภาพรัชกาลที่สิบในรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส