การชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร

อัปเดตล่าสุด: 01/04/2567

ผู้ต้องหา

อานนท์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 19 กันยายน 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดชุมนุมใหญ่เป็นครั้งที่สอง โดยใช้ชื่อการชุมนุมว่า 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร โดยเบื้องต้นทางกลุ่มประกาศว่าจะชุมนุมในพื้นที่มหาวิทยาลัยแต่หากคนมาร่วมชุมนุมมากก็อาจจะต้องเข้าใช้พื้นที่สนามหลวง 
 
ในวันนัดหมายผู้ชุมนุมพบว่ามหาวิทยาลัยปิดประตูฝั่งท่าพระจันทร์และพบว่ามีโซ่คล้องที่ประตูผู้ชุมนุมบางส่วนจึงพยายามนำคีมมาตัดโซ่ ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมอีกส่วนก็พยายามที่จะเข้าพื้นที่สนามหลวงซึ่งช่วงแรกก็มีการผลักดันกับเจ้าหน้าที่แต่ก็ไม่ได้มีเหตุรุนแรงใดๆก็ที่สุดท้ายเจ้าหน้าที่จะล่าถอยและผู้ชุมนุมสามารถยึดพื้นที่สนามหลวงได้สำเร็จ 
 
หลังยึดพื้นที่ก็มีการตั้งเวทีและมีแกนนำผู้ชุมนุมสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย โดยกลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักค้างคืนในสนามหลวงหนึ่งคืน จากนั้นในช่วงเช้าวันที่ 20 กันยายน ตัวแทนผู้ชุมนุมทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎรที่สองบนพื้นสนามหลวง จากนั้นผู้ชุมนุมมีความพยายามที่จะเคลื่อนขบวนไปทางพระบรมมหาราชวังเพื่อยื่นข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปสถาบันถึงประธานองคมนตรีที่ทำเนียบองคมนตรีซึ่งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง อย่างไรก็ตามกำลังเจ้าหน้าที่มีการตั้งแถวสกัดไม่ใช่ผู้ชุมนุมเดินไปถึงพระบรมมหาราชวังได้ สุดท้ายปนัสยาในฐานะตัวแทนผู้ชุมนุมได้ยื่นหนังสือถึงประธานองคมนตรีผ่านทางผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแทนและประกาศยุติการชุมนุมโดยไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 
 
ต่อมาในช่วงเดือนตุลาคม แกนนำผู้ชุมนุมที่ขึ้นปราศรัยรวมเจ็ดคนได้แก่ อานนท์, รุ้ง ปนัสยา, เพนกวิน-พริษฐ์, ไมค์-ภาณุพงศ์, หมอลำแบงค์-ปฏิวัฒน์, สมยศและไผ่-จตุภัทร์ทยอยถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยแกนนำหกในเจ็ดคนยกเว้นจตุภัทร์ต่างเคยถูกคุมขังในเรือนจำเพราะเป็นผู้ต้องหาคดีนี้ ส่วนจตุภัทร์ไม่ได้ถูกคุมขังด้วยหมายขังคดีนี้ แต่ถูกคุมขังในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันด้วยหมายขังจากคดีอื่น นอกจากผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนข้างต้นแล้วในเวลาต่อมาพนักงานสอบสวนยังออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีกอย่างน้อย 14 คน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติม 
 
หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศใช้กฎหมายถูกฉบับที่มีอยู่มาดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ผู้ต้องหาเจ็ดคนแรกที่ถูกตั้งข้อกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ได้แก่ อานนท์, ปนัสยา, พริษฐ์, ภาณุพงศ์, ปฏิวัฒน์, สมยศและจตุภัทร์ต่างถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติม แต่ในครั้งนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้นำผู้ต้องหาไปฝากขังที่ศาลแต่ปล่อยตัวกลับหลังแจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่ต้องวางหลักประกัน
 
ต่อมาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี อานนท์ พริษฐ์ สมยศ และปติวัฒน์ ทั้งสี่ยื่นคำร้องประกันตัวแต่ศาลสั่งยกคำร้องอ้างเป็นคดีร้ายแรงและเกรงจำเลยหลบหนี จากนั้นในวันที่ 8 มีนาคม 2564 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีจำเลยที่เหลืออีก 18 คน มีสามคนคือภาณุพงศ์ ปนัสยา และจตุภัทร์ที่ถูกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ร่วมกับข้อหาอื่น

จำเลยคนอื่นๆอีก 15 คน ถูกฟ้องข้อหาอื่นๆรวมทั้งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เช่นเดียวกับกับจำเลยทั้งสามคน แต่ไม่ถูกฟ้องด้วยข้อหาตามมาตรา 112 หลังจำเลยทั้งหมดยื่นขอประกันตัวจำเลยที่ถูกฟ้องด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้รับการประกันตัว ส่วนจำเลยที่เหลือได้รับการประกันตัวยกเว้นไชยอมรซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่น 

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

เพนกวิน พริษฐ์ เป็นชาวกรุงเทพโดยกำเนิดแต่ไปใช้ชีวิตสมัยเด็กอยู่ที่จังหวัดลำปาง พริษฐ์เป็นอดีตเลขาธิการของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาไทยให้มีความก้าวหน้า ขณะเกิดเหตุคดีนี้พริษฐ์ศึกษาระดับอุดมศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เช่น ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 พริษฐ์ไปทำกิจกรรมกินมาม่าซ้อมยากจนที่บริเวณสกายวอล์ก เพื่อประท้วงกรณีที่คสช.ยังไม่ยอมประกาศวันเลือกตั้งให้ัชัดเจนขณะที่เศรษฐกิจก็ไม่ดีขึ้น นอกจากนั้นพริษฐ์ยังเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนกลุ่มที่จะจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ด้วย แต่ขณะนั้นพริษฐ์ไม่ได้ร่วมจดจัดตั้งหรือเป็นสมาชิกพรรคเพราะขณะนั้นเขายังอายุไม่ถึง

สมยศ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยเป็นประธานสหภาพพันธมิตรแรงงานประชาธิปไตย มีประวัติเคลื่อนไหวด้านแรงงานเรื่อยมา โดยเป็นผู้นำแรงงานออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องกับรัฐบาลในหลายครั้ง ปี 2550 เขาเริ่มต้นเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin และเป็นแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ไม่กี่วันก่อนที่เขาจะถูกจับ เขาออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา
 
ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2553 จากการชุมนุมทางการเมือง รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในครั้งนั้นมีสื่อหลายแห่งถูกปิด และนักเคลื่อนไหวหลายคนถูกจับกุมตัวเข้าไปในค่ายทหาร ซึ่งรวมถึงนายสมยศที่ถูกจับกุมเป็นเวลา 19 วัน หลังจากได้รับการปล่อยตัว เขาเปลี่ยนชื่อนิตยสารจาก Voice of Taksin เป็น Red Power นอกจากนี้ ชื่อของสมยศ  ถูกจัดอยู่ในรายชื่อผังล้มเจ้าของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2553 ด้วย
 
ในปี 2556 สมยศถูกพิพากษาจำคุกในคดีมาตรา 112 จากกรณีที่เขาเป็นบรรณาธิการวารสาร Voice of Taksin แล้วเผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์สองบทความ ถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 10 ปี โดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาลดโทษให้เหลือจำคุกหกปี เนื่องจากสมยศเคยถูกรอลงอาญาโทษจำคุก 1 ปีในคดีหมิ่นประมาทพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร โทษดังกล่าวจึงถูกนำมาบวกด้วย เนื่องจากสมยศต่อสู้คดีถึงชั้นศาลฎีกาเขาจึงไม่ได้รับการลดหย่อนโทษใดๆและรับโทษจำคุกเต็ม 7 ปี โดยเขาได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561

อานนท์ นำภา จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา เมื่อประกอบอาชีพ ทนายอานนท์เคยว่าความคดีสิทธิให้ชาวบ้านหลายคดี เช่น คดีชาวบ้านชุมนุมค้านโรงถลุงเหล็ก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชาวบ้านค้านท่อแก๊สที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และคดีความจากการชุมนุมอีกหลายคดี
 
นอกจากนี้ เขายังเป็นทนายความให้กับจำเลยในคดีการเมืองและคดีมาตรา 112 เช่น คดีอากง เอสเอ็มเอส ด้วย หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อานนท์เป็นหนึ่งในทีมทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และว่าความให้กับจำเลยคดีการเมืองหลังรัฐประหารหลายคดี เช่น คดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. และ คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ของสิรภพและอานนท์เองตกเป็น 1 ใน 4 ของจำเลยข้อหาชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. หลังจัดกิจกรรม เลือกตั้งที่รัก (ลัก) ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558

ไมค์ ภาณุพงศ์ เป็นชาวจังหวัดระยอง ถูกดำเนินคดีครั้งแรกจากกรณีที่เขาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ชูป้ายในจังหวัดระยองเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่จังหวัดระยองหลังเกิดกรณีทหารเรืออียิปต์ที่ติดเชื้อโควิด19 เข้าไปเที่ยวในพื้นที่

หลังถูกดำเนินคดีภาณุพงศ์เริ่มเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองระดับประเทศบ่อยครั้งขึ่้นโดยเข้าร่วมปราศรัยในการชุมนุมครั้งสำคัญตลอดปี 2563 หลายครั้ง เช่น การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกในเดือนกรกฎาคม 2563 การชุมนุมธรรมศษสตร์จะไม่ทนในเดือนสิงหาคม 2564 และการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร โดยประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในประเด็นที่ภาณุพงศ์มักหยิบยกมาปราศรัยจนเป็นเหตุให้เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หลายคดี
 
ไผ่ จตุภัทร์ บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เคยร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมและเป็นสมาชิกกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือ กลุ่มดาวดิน ทั้งยังเคยร่วมกิจกรรมกับประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ จตุภัทร์ และกลุ่มดาวดินเคยได้รับรางวัล “เยาวชนต้นแบบ” ในงานประกาศผลรางวัล “คนค้นฅนอวอร์ด” ครั้งที่ 5  
 
ในเดือนธันวาคม 2559 จตุภัทร์แชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่สิบของเว็บไซต์บีบีซีไทย จนเป็นเหตุให้เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เบื้องต้นจตุภัทร์ได้รับการประกันตัวแต่ต่อมาเขาถูกถอนประกันเพราะโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในลักษณะ "เย้ยหยันอำนาจรัฐ" และหลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้รับการประกันตัวอีกเลย

เบื้องต้นจตุภัทร์ให้การปฏิเสธแต่ต่อมากลับคำให้การเป็นรับสารภาพ เขาถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน เขาพ้นโทษในเดือนพฤษภาคม 2562 รวมเวลารับโทษจำคุก 2 ปี 5 เดือน กับ 7 วัน ระหว่างที่จตุภัทร์อยู่ในเรือนจำเขาได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูในเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งครอบครัวของเขาต้องไปรับรางวัลแทนเพราะจตุภัทร์อยู่ในเรือนจำ

รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตโฆษกสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นหนึ่งในแกนนำการชุมนุม และแกนนำคณะราษฎร รวมถึงเป็นผู้ดันเพดานสูงสุดด้วยการอ่าน 10 ข้อเรียกร้อง ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 

ปฏิวัฒน์หรือหมอลำแบงค์ เคยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี 2557 เขาถูกจับกุมดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการร่วมแสดงละครเวทีเจ้าสาวหมาป่าเขาให้การรับสารภาพและศาลอาญาพิพากษาจำคุกเขาเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ปฏิวัฒน์ถูกคุมขังระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม 2557 จนถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2559 รวมเวลาถูกคุมขัง 2 ปี กับ 3 วัน  

ข้อหา / คำสั่ง

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

จำเลยทั้งสี่กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
 
1. นายกรัฐมนตรีออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563  เพื่อป้องกันการระบาดการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 และขยายเวลาต่อเนื่องมาและได้ออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5 ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และได้ออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนดห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใดๆทั่วราชอาณาจักร เว้นแต่เป็นการทำกิจกรรมภายในครอบครัวที่อยู่ในเคหสถานของตัวเอง หรือกิจกรรมของทางราชการ ต่อมานายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดฉบับที่ 5 ข้อ 2(2) ห้ามมิให้ผู้ใดจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย เว้นแต่เป็นการจัดโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่และต้องเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างผู้ร่วมกิจกรรมอย่างน้อย 1 เมตร และข้อกำหนดฉบับที่ 13 ข้อ1 การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตามหลักเกณฑ์กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และข้อ 5 ให้เจ้าของหรือผู้ดูแลรับผิดชอบกิจกรรมจัดให้มีมาตรการป้องกันโรคและให้ผู้ร่วมกิจกรรมสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามราชการกำหนด เข้าระบบแอพลิเคชั่นไทยชนะ และผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 35(1)ประกอบข้อกำหนด ข้อ 13 กำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคและจำเลยทั้งสี่ได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้ว
 
จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ซึ่งเป็นแกนนำหรือเป็นผู้จัดหรือผู้ดูแลรับผิดชอบให้มีกิจกรรมร่วมกลุ่มนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางเฟซบุ๊กที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้หลายบัญชีได้แก่ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasart Demonstration” “เพนกวิ้น พริษฐ์ ชีวารักษ์ Parit Chiwarak” ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำดูแล “อานนท์ นำภา” ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดทำดูแล ข้อความอันมีสาระสำคัญประกาศชักชวนให้ประชาชนโดยทั่วไปออกมาร่วมการชุมนุม “19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎรครั้งใหญ่” ในวันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2563 และโพสต์รูปภาพของจำเลยที่ 1, 2 และ 4 กับพวกจะขึ้นโฆษณาปราศรัยแก่ประชาชน จำเลยที่ 1 2 และ 4 กับพวกได้ร่วมกันให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนสำนักต่างๆ ประกาศชักชวนให้ประชาชนโดยทั่วไปออกมาร่วมชุมนุม
 
ครั้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 จำเลยที่ 1, 2 และ 4 กับพวกได้บังอาจเข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มซึ่งมีประชาชนทั่วไปประมาณ 20,000 คน เข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มอันเป็นการมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัดและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโดยจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ไม่ได้จำกัดทางเข้า-ออก ในการเข้าร่วมการรวมกลุ่มและไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าและไม่จัดให้มีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรเพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัสหรือแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลาย อันเป็นการจัดกิจกรรมโดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันไวรัสโคโรน่า2019 โดยจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ได้ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้ากล่าวปราศรัยบนเวทีแก่ประชาชนทั่วไป บริเวณถนนหน้าพระธาตุ บริเวณภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในท้องสนามหลวง บริเวณถนนราชดำเนินใน อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและไม่ได้กระทำภายในขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและไม่ได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามมาตรา 16 แห่งพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 
 
2. ก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ได้บังอาจร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยจัดงานใช้ชื่อว่า “19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎรครั้งใหญ่” และกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีลักษณะเป็นการชุมนุมเรียกร้องในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง 
 
3. ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศร บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 1 บัญญัติว่า “ประเทศไทยเป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้” มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 3 บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล” 
 
เมื่อถึงวันนัดชุมนุมจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ในฐานะผู้จัดการชุมนุมและจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ร่วมชุมนุม และผู้ร่วมชุมนุมอีกประมาณ 20,000 คน จะต้องดำเนินการชุมนุมสาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย การจัดชุมนุมภายในรัศมี 50 เมตรรอบรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทำมิได้ ต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้สถานที่ทำการของหน่วยงานรัฐไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่ใช้พื้นที่สาธารณะ ไม่บุกรุกหรือทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น และไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม และต้องขออนุญาตใช้เครื่องเสียงให้ถูกต้องและต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 และพ.ร.บ.ความสะอาดฯ 
 
พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐ์บรรณการ ผู้กำกับสน.ชนะสงครามได้แจ้งให้จำเลยทั้งสี่กับพวกชุมนุมอยู่ในกรอบของกฎหมายให้อยู่บนทางเท้าและรักษามาตรการโรคโควิดและให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับและยุติการชุมนุมเนื่องจากไม่ได้แจ้งการชุมนุม แต่จำเลยทั้งสี่กับพวกไม่ยุติการชุมนุมได้บังอาจร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยสำหรับการขุมนุม จำเลยได้ทราบแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปิดล็อคประตู โดยล็อคแม่กุญแจฝั่งถนนพระธาตุและปิดประตูฝั่งท่าพระจันทร์มีการปิดล็อคและคล้องโซ่ ตั้งแผงเหล็กจราจรกั้น แต่จำเลยและพวกใช้เครื่องขยายเสียงประกาศโฆษณาขู่เข็ญให้เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเปิดประตูและสั่งการให้ผู้ชุมนุมก่อความวุ่นวายขึ้น ผู้ร่วมชุมนุมใช้กำลังประทุษร้าย เขย่า ผลักดัน ทำลายประตูเข้าออกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งถนนพระธาตุจนแม่กุญแจที่คล้องประตูหลุดขาดออกได้รับความเสียหาย พวกของจำเลยร่วมกันพังเปิดประตูดังกล่าวและพากลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนหลายร้อยคนบุกรุกและกรูกันเข้าไปภายในสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อันเป็นการยุยง ปลุกปั่นให้ประชาชนเกิดความกระด้างกระเดื่อง 
 
กลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้คีมขนาดใหญ่ตัดทำลายแม่กุญแจและโซ่ซึ่งคล้องประตูรั้วฝั่งท่าพระจันทร์จนขาดหลุดออกได้รับความเสียหายเพื่อให้จำเลยที่ 1 พร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมบุกรุกและกรูกันเข้าไปภายในสนามฟุตบอล
 
จากนั้น พวกของจำเลยได้ชักชวนโดยใช้เครื่องขยายเสียงให้กลุ่มชุมนุมที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคลื่อนย้ายไปชุมนุมยังบริเวณท้องสนามหลวงแทน ในการเคลื่อนย้ายจำเลยทั้งสี่กับพวกเดินล้ำเข้าไปในช่องทางจราจร ซึ่งเป็นถนนสาธารณะที่ประชาชนใช้สัญจร ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ และทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม
 
เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงและปิดประกาศเป็นหนังสือเพื่อให้จำเลยทราบว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายจึงให้ยุติหรือเลิกการชุมนุมและจำเลยได้ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว บังอาจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่ยอมเลิกการชุมนุมและเลิกมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป 
 
ต่อมาผู้ร่วมชุมนุมได้ก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองด้วยการร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายทำลายทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร ใช้กำลังและของแข็งไม่ทราบชนิดพังรั้วเหล็ก จนเป็นเหตุให้รั้วเหล็กจำนวนหนึ่งอันได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 264 บาท และพวกของจำเลยร่วมกันใช้คีมตัดแม่กุญแจที่ปิดล็อครั้วเหล็กรอบสนามหลวงจนแม่กุญแจจำนวน 90 ตัว ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 13,500 บาท เพื่อเคลื่อนย้ายขบวนพากลุ่มผู้ชุมนุมไปยังท้องสนามหลวง 
 
จำเลยทั้งสี่และพวกได้บังอาจร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโฆษณากล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล เรียกร้องนายกรัฐมนตรีลาออก เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และกระทำจาบจ้วงหมิ่นประมาท ดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ มีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายพระมหากษัตริย์และบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นการทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังอันเป็นการปลุกปั่น ยุยง ส่งเสริมประชาชนเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องและเมื่อประชาชนได้รับฟังข้อความปราศรัยดังกล่าวก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถึงขนาดที่จะไปชุมนุม ประท้วง ขู่เข็ญ หรือบังคับ กดดันให้รัฐบาลและรัฐสภา และขู่เข็ญหรือบังคับให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้ประชาชนอันจะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร และทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ สักการะอันเป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์ อีกทั้งประชาชนได้รับฟังข้อความคำปราศรัยดังกล่าวได้มีการแสดงความคิดเห็นกับจำเลย ด้วยการตะโกน ตอบโต้ โห่ร้อง ปรบมือ สนับสนุน อันเป็นการทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน 
 
4.จำเลยที่ 4 ได้บังอาจหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์ด้วยการกล่าวปราศรัยแก่ประชาชน ถึงประเด็นว่า ประมุขของรัฐต้องได้รับคำวิจารณ์ เพราะมีเงินรายได้ประจำปีสามหมื่นล้านบาท และสนับสนุนข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ โดยกล่าวด้วยว่า “เราเพียงแต่อยากให้พระองค์ประทับอยู่ในเมืองไทยเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย (iLaw สรุป) อันเป็นความเท็จเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์โดยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 
5.จำเลยที่ 3 ได้บังอาจหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์ด้วยการกล่าวปราศรัยแก่ประชาชน 
 
กล่าวถึง การดำเนินคดีคุกคามประชาชน พูดถึงผลกระทบและความเจ็บปวดในฐานะนักโทษการเมืองที่รับโทษครบแล้ว โดยกล่าวด้วยว่า “ไม่มีประเทศไหนที่ประมุขของรัฐแจ้งความลากคนในรัฐใต้ปกครองตัวเองเข้าไปในคุก” “ลิ่วล้อของเค้านั้นได้สร้างความฉิบหายอย่างใหญ่หลวงครับท่าน มันไม่ได้เป็นผลดีต่อราชวงศ์ของท่าน ไม่ได้เป็นผลดีต่อครอบครัวของท่าน” โดยยังปราศรัยเสนอเรื่องพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมด้วย (iLaw สรุป) อันเป็นความเท็จเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์โดยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 
6.จำเลยที่ 2 ได้บังอาจหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์ด้วยการกล่าวปราศรัยแก่ประชาชนกล่าวถึงประวัติศาสตร์การเมือง เมื่อปี 2549 ประเด็นการพระราชทานข้อสังเกตให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 รวมถึงการจัดสรรงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ (iLaw สรุป) อันเป็นความเท็จเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์โดยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 
7.จำเลยที่ 1  ได้บังอาจหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์ด้วยการกล่าวปราศรัยแก่ประชาชน
 
รณรงค์ให้แบนธนาคารไทยพาณิชย์ และพูดถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในการลงพระประมาภิไธยแต่งตังหัวหน้าคณะรัฐประหาร รวมทั้งการที่รัฐบาลเผด็จการสยบยอมอยู่ใต้เงาของพระมหากษัตริย์และแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง (iLaw สรุป) อันเป็นความเท็จเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์โดยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ 
 
8. ตามมาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 อธิบดีกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานทุ่งพระเมรุ(สนามหลวง)ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา การใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงจึงถือเป็นสถานที่สำคัญและยังเป็นพื้นที่ซึ่งใช้จัดงานราชพิธี งานรัฐพิธี งานประเพณีสำคัญของชาติ และการขออนุญาตจัดงานจะต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองตามระเบียบกรุงเทพมหานคร
 
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 จำเลยที่ 1 และ 2 ร่วมกันแก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ทำลายโบราณสถานหรือส่วนต่างของโบราณสถานหรือขุดค้นสิ่งใดภายในบริเวณโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีโดยจำเลยที่ 1 และ 2 กับพวกร่วมกันใช้เครื่องมืออุปกรณ์ขุดเจาะพื้นคอนกรีตเป็นช่องสี่เหลี่ยมลึกประมาณ 2.5 เซนติเมตร กว้าง  40 เซนติเมตร ยาว 44 เซนติเมตร และร่วมกันวางแผ่นโลหะทรงกลมแบนสีเหลืองเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร หนาประมาณ 2.5 เซนติเมตร และร่วมกันเทปูซีเมนต์รอบๆ แผ่นโลหะดังกล่าวเป็นเหตุให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหาย เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ กรุงเทพมหานครต้องทำการซ่อมแซมพื้นที่กว้าง 5 เมตร ยาว 5 เมตร คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 25 ตารางเมตรและต้องขัดพื้นที่ด้วยน้ำยากันซึมเพื่อให้กลับมาเป็นสภาพเดิมประเมินราคาเป็นจำนวนเงิน 16,781.62 บาท 
 
9. จำเลยที่ 1 และ 2 กับพวก ร่วมกันวาง ตั้ง หรือกองวัตถุใดๆบนถนนอันมีลักษณะเป็นการกีดขวางทางจราจรสาธารณะ โดยการนำโครงรถถังจำลองสีเขียวจำนวนหนึ่งคัน และโครงรถยนต์แบบจำลองสีม่วงหนึ่งคันมาวางไว้บนถนนราชดำเนินใน จนเต็มพื้นที่ทางจราจรช่องทางเดินรถช่องที่สาม นับจากฝั่งสนามหลวงเป็นเหตุให้รถยนต์และประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ถนนสัญจรได้ตามปกติ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดสิ่งของโดยไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย
 
10.จำเลยกับพวกได้ร่วมกันโฆษณา ปราศรัย บอกกล่าว แสดงความคิดเห็นต่อประชาชน โดยการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
 
ภายหลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานจับกุมตัวจำเลยทั้งสี่ได้และได้รับการปล่อยตัวไป พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสี่แล้ว ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แผ่นโลหะทรงกลมสีเหลืองของกลางเจ้าพนักงานได้ทำการรักษาเก็บไว้ 
 
จำเลยที่ 3 เคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกตามมาตรา 112  และกระทำความผิดอีกภายในเวลา 5  ปีนับแต่พ้นโทษขอให้ศาลเพิ่มโทษแก่จำเลยที่สามหนึ่งในสาม จำเลยที่ 4  เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษตามมาตรา 112 ได้กลับมากระทำความผิดซ้ำภายในเวลา 3 ปี ขอให้ศาลเพิ่มโทษจำเลยที่ 4 กึ่งหนึ่งสำหรับความผิดตามฟ้องข้อ 4 และเพิ่มโทษหนึ่งในสามสำหรับความผิดตามฟ้องข้อ 1 และข้อ 3 
 
หากจำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล 
 

พฤติการณ์การจับกุม

กรณีของสมยศ ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 สมยศไปรับเอกชัย ผู้ต้องหาคดีประทุษร้ายต่อเสรีภาพของสมเด็จพระราชินี เพื่อไปส่งรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ดุสิต แต่ระหว่างทางเมื่อรถเคลื่อนมาถึงที่หน้าห้างบิ๊กซีลาดพร้าวปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ดักแสดงตัวจับกุมเอกชัยระหว่างทางโดยสมยศได้ติดตามไปอยู่เป็นเพื่อนเอกชัยที่สน.ลาดพร้าวด้วย

ระหว่างที่อยู่สน.ลาดพร้าว ตำรวจได้นำหมายจับมาแสดงต่อสมยศและได้ควบคุมตัวเขาไปที่สน.ชนะสงครามเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในวันเดียวกัน ในชั้นแรกเมื่อพนักงานสอบสวนนำตัวเขาไปฝากขังที่ศาลอาญาสมยศไม่ได้รับการประกันตัว เขาถูกคุมขังจนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 จึงได้รับการปล่อยตัวหลังศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ
 
กรณีของอานนท์ หลังเขาได้รับการประกันตัวจากคดีการชุมนุมที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 อานนท์ถูกอายัดตัวมาฝากขังที่กรุงเทพในคดีนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ในชั้นแรกเมื่อพนักงานสอบสวนนำตัวเขาไปฝากขังในคดีนี้ที่ศาลอาญา อานนท์ไม่ได้รับการประกันตัว เขาถูกคุมขังจนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 จึงได้รับการปล่อยตัวหลังศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ
 
กรณีของพริษฐ์และปนัสยา ผู้ต้องหาทั้งสองถูกฝากขังในคดีอื่นมาก่อนและได้รับการประกันตัวในวันที่ 20 ตุลาคม 2563 อย่างไรก็ตามพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามได้มาอายัดตัวทั้งสองไปแจ้งข้อกล่าวหาและนำทำสองไปฝากขังกับศาลอาญาในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ทั้งสองประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าทั้งสองอาจไปก่อความวุ่นวายซ้ำ ทั้งสองมาได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 30 ตุลาคม 2563 เมื่อศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ
 
กรณีของปฏิวัฒน์ เจ้าหน้าที่สน.ชนะสงครามนำหมายจับไปทำการจับกุมปฏิวัฒน์ถึงที่พักที่จังหวัดขอนแก่นในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 เขาถูกนำตัวไปทำบันทึกการจับกุมที่สภ.เมืองขอนแก่น จากนั้นจึงถูกนำตัวมาคุมขังที่กองบังคับการตชด.1 ปทุมธานีหนึ่งคืนและถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาในวันที่ 20 ตุลาคมซึ่งศาลไม่อนุญาตให้เขาประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าพฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรงกระทบความมั่นคงและส่วนรวม ปฏิวัฒน์มาได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 30 ตุลาคม 2563 เมื่อศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ
 
กรณีของภาณุพงศ์ ภาณุพงศ์ร่วมการชุมนุมที่จัดขึ้นใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ทลิงค์รามคำแหงในวันที่ 17 ตุลาคม 2563 หลังการชุมนุมยุติเจ้าหน้าที่ได้นำหมายจับคดีนี้ไปแสดงต่อภาณุพงศ์เพื่อทำการควบคุมตัว ภาณุพงศ์ถูกนำตัวไปที่สน.หัวหมากเพื่อทำบันทึกการจับกุมที่สน.หัวหมาก จากนั้นจึงนำตัวเขาไปควบคุมที่กองบังคับการตชด. ภาคหนึ่ง จากนั้นในวันที่ 19 ตุลาคม เขาถุกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขังและไม่อนุญาตให้ภาณุพงศ์ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรง กระทบต่อความมั่นคงและส่วนรวม ทั้งพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว จึงให้ยกคำร้องประกันตัวของผู้ต้องหา ภาณุพงศ์ถูกฝากขังจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2563 จึงได้รับการปล่อยตัวหลังศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ
 
กรณีของจตุภัทร์ จตุภัทร์ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 จากกรณีที่เขาไปชุมนุมร่วมกับกลุ่มคณะราษฎร์อีสานที่มาจับจองพื้นที่การชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยล่วงหน้าการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎรในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ระหว่างที่จตุภัทร์ถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามได้ไปแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ต่อเขาและได้ขออำนาจศาลอาญาฝากขังเขาในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ศาลอนุญาตให้ฝากขังและยกคำร้องประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หากปล่อยตัว อาจมีพฤติการณ์ในลักษณะเช่นเดียวกันอีก ประกอบกับพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกัน จตุภัทร์มาได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 23 ตุลาคม 2563 ซึ่งเขานับเป็นผู้ต้องหาคนแรกที่ถูกฝากขังในคดีนี้และเป็นคนแรกที่ได้รับการประกันตัว  
 
อย่างไรก็ตามเมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลอาญามาตรา 112 เพิ่มเติมกับผู้ต้องหาทั้งเจ็ดเพิ่มเติม 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
9 กันยายน 2563 
 
บีบีซีไทยรายงานว่า แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดแถลงข่าวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ประกาศจัดการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ในวันที่ 19 กันยายน 2563 โดยการชุมนุมครั้งดังกล่าวจะเป็นการชุมนุมแบบค้างคืน 

แกนนำผู้ชุมนุมที่จัดการแถลงข่าวยังระบุด้วยว่าหากมีประชาชนมาร่วมการชุมนุมมากก็อาจจะต้องไปปักหลักชุมนุมที่ท้องสนามหลวง แกนนำระบุระหว่างการแถลงข่าวด้วยว่าหลังชุมนุมค้างคืนแล้วในวันที่ 20 กันยายนผู้ชุมนุมจะเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล 
 
19 กันยายน 2563

ประชาไทรายงานว่า ผู้ชุมนุมทยอยเดินทางมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ตั้งแต่เช้า โดยมีกำลังตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจากหลายจังหวัดร่วมปฏิบัติการในพื้นที่โดยมีเจ้าหน้าที่บางส่วนออยู่ด้านในมหาวิทยาลัย โดยในขณะนั้นประตูของมหาวิทยาลัยฝั่งท่าพระจันทร์ถูกปิดไว้และมีโซ่ล่าม

แม้จะยังเข้าไปในมหาวิยาลัยไม่ได้แต่ผู้ชุมนุมก็เริ่มตั้งเวทีที่หน้ามหาวิทยาลัย ในเวลาประมาณ 12.00 น. ผู้ชุมนุมจึงสามารถเข้าไปในพื้นที่การชุมนุมได้ในที่สุด หลังจากนั้นในช่วงบ้ายผู้ชุมนุมจึงเข้ายึดพื้นที่ท้องสนามลวงและมีการตั้งเวทีใหญ่ขึ้นที่นั่น

จากนั้นก็มีแกนนำผู้ชุมนุมสลับสับเปลี่ยนขึ้นปราศรัยจนถึงประมาณ 3 นาฬิกาของวันที่ 20 กันยายน จากนั้นจึงพักเวทีก่อนที่กิจกรรมบนเวทีจะกลับมาอีกครั้งหลังเวลา 6.00 น. 
 
บีบีซีไทยในช่วงเช้าผู้ชุมนุมร่วมกันทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎร จากนั้นจึงตั้งขบวนเตรียมเดินไปพระบรมมหาราชวังเพื่อยื่นหนังสือถึงประธานองคมนตรี ที่ทำเนียบองคมนตรีซึ่งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง

แต่ท้ายที่สุดแกนนำผู้ชุมนุมยินยอมที่จะไม่เคลื่อนขบวนไปยังพระบรมมหาราชวังแต่ฝากให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้นำหนังสือไปยื่นแทนจากนั้นจึงประกาศยุติการชุมนุมโดยไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ     

14 ตุลาคม 2563
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมกับจตุภัทร์ ซึ่งเจ้าตัวอยู่ระหว่างถูกควบคุมตัวหลังถูกจับกุมตัวจากการชุมนุมคณะราษฎรอีสานในวันที่ 13 ตุลาคม  2563

จตุภัทร์ถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลอาญาซซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขังและไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หากปล่อยตัว อาจมีพฤติการณ์ในลักษณะเช่นเดียวกันอีก ประกอบกับพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกัน
 
16 ตุลาคม 2563

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ในเวลา 11.18 น. ระหว่างที่สมยศอยู่เป็นเพื่อนเอกชัยที่สน.ลาดพร้าว หลังเอกชัยถูกดักจับขณะกำลังเดินทางไปสน.ดุสิตเพื่อรายงานตัวรับทราบข้อกลล่าวหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีโดยมีสมยศเป็นคนขับรถมารับ เจ้าหน้าที่แสดงหมายจับสน.ชนะสงครามระบุข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ต่อสมยศ โดยปรากฎรายละเอียดในภายหลังว่าเป็นหมายจับในคดีนี้ 
 
พนักงานสอบสวนระบุพฤติการณ์แห่งคดีของสมยศว่า ผู้ต้องหาโพสต์ข้อความเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมชุมนุม และเข้าร่วมชุมนุม พร้อมทั้งกล่าวปราศรัยต่อหน้าผู้ชุมนุม โดยมีเนื้อหาพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน  สมยศให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
 
หลังเสร็จกระบวนการรับทราบข้อกล่าวหาในช่วงค่ำ สมยศถูกคุมขังในห้องขังของสน.ชนะสงครามหนึ่งคืน
 
17 ตุลาคม 2563
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า สมยศถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา ศาลอนุญาตให้ฝากขังสมยศตามคำร้องของพนักงานสอบสวนและไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยระบุเหตุผลว่า

คดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง กระทบต่อความมั่นคงและสังคมส่วนรวม ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านไว้ และมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรือไปมีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกันอีก
 
19 ตุลาคม 2563

ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า ภาณุพงศ์ถูกนำตัวมาฝากขังที่ศาลอาญา โดยพนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลในคำร้องฝากขัง คัดค้านการประกันตัวภาณุพงศ์ เนื่องจากผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองในลักษณะเดิมเหมือนที่ผ่านมา และผู้ต้องหาอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอยู่หลายคดีและหลายท้องที่ ซึ่งล้วนเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงหากให้ประกันตัวไป เกรงว่าผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี 

จากนั้นสยามรัฐออนไลน์รายงานว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาและยกคำร้องขอประกันตัวของผู้ต้องหาโดยให้เหตุผลว่า 
 
พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งยังกระทบต่อความมั่นคงและความสงบสุขของสังคมโดยรวม ประกอบกับพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัว จึงน่าเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาอาจไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองหรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองหรือก่อเหตุร้ายประการอื่นอีก ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้องของผู้ต้องหา

20 ตุลาคม 2563

ว๊อยซ์ทีวีออนไลน์รายงานว่า พริษฐ์และปนัสยาซึ่งได้รับอนุญาตจากศาลจังหวัดธัญบุรีให้ประกันตัวในคดีจัดการชุมนุมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตเมื่อ 10 สิงหาคม 2563 ถูกอายัดตัวโดยพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามเพื่อนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาและขออำนาจศาลอาญาฝากขังในคดีนี้ หลังถูกอายัดตัวผู้ต้องหาทั้งสองถูกพาตัวไปที่กองบังคับการตชด.ภาค 1 เพื่อสอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหา
 
ในวันเดียวกันไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่าทนายของจตุภัทร์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาต่อศาลอุทธรณ์ด้วย 
21 ตุลาคม 2563 
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามควบคุมตัวพริษฐ์และปนัสยาไปที่ศาลอาญาเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเอกสิทธิ์ หนุนภักดี อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นอาจารย์ของทั้งสองเดินทางมาที่ศาลอาญาด้วยเพื่อใช้ตำแหน่งวิชาการเป็นหลักทรัพย์ประกันให้ผู้ต้องหาทั้งสอง ต่อมาศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปนัสยาและพริษฐ์ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า 
 
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีนี้ ผู้ต้องหาถูกจับกุม ประกอบกับเห็นว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราว น่าเชื่อว่าจะไปกระทำการหรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองขึ้นอีก ในชั้นนี้จึงให้ยกคำร้อง อย่างไรก็ตามในชั้นนี้ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเพียง 7 วันคือระหว่างวันที่ 21 ถึง 27 ตุลาคมเท่านั้น ไม่ได้อนุญาตให้ฝากขังเต็มผัดคือ 12 วัน
 
22 ตุลาคม 2563
 
ทนายของพริษฐ์และปนัสยายื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์
 
23 ตุลาคม 2563
 
ไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า จตุภัทร์ได้รับการปล่อยตัว หลังศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัวจตุภัทร์ทั้งคดีนี้และคดีจากการชุมนุมวันที่ 13 ตุลาคม 2563 โดยตีราคาประกันคดีละ 70000 บาท โดยมี เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกันแทนเงินสด

ศาลอุทธรณ์ระบุเหตุผลที่ให้ประกันตัวว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี  ทั้งนี้หลังจตุภัทร์ได้รับการปล่อยตัวก็ได้มาร่วมชุมนุมกับกลุ่มประชาชนที่มีชุมนุมให้กำลังใจนักโทษการเมืองที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพด้วย
 
24 ตุลาคม 2563 
 
สยามรัฐออนไลน์รายงานว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องประกันตัวของพริษฐ์ ปนัสยา และภาณุพงศ์ โดยให้เหตุผลทำนองเดียวกันว่า
 
พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าการกระทำตามข้อกล่าวหา มีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลจำนวนมาก อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ชักนำให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน โดยการบุกรุกทำลายทรัพย์สินของทางราชการ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง

เมื่อพิจารณาคำคัดค้านของพนักงานสอบสวนแล้ว ยังปรากฏว่าผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีกหลายคดีในหลายท้องที่ กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาอาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่น และน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี กรณีสมควรรอฟังผลการสอบสวนก่อน คำสั่งศาลชั้นต้น ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
 
 
ในวันเดียวกันเดอะแสตนดาร์ดรายงานเพิ่มเติมด้วยว่าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกอุทธรณ์คำสั่งประกันตัวของสมยศ ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งด้วยโดยให้เหตุผลว่า หากให้ประกันอาจก่อความเสียหายประการอื่นในทำนองเดียวกันอีก สมควรรอฟังผลการสอบสวนก่อน 
 
26 ตุลาคม 2563
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวอานนท์ ผู้ต้องหาคดีนี้อีกคนหนึ่งที่ถูกฝากขังในคดีการชุมนุมที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ทางสน.ชนะสงครามได้ประสานให้อายัดตัวอานนท์มาดำเนินคดีนี้ต่อ อานนท์จึงถูกอายัดตัวทันทีที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำกลางเชียงใหม่และถูกนำตัวไปที่สนามบินเพื่อมารับทราบข้อกล่าวหาและดำเนินคดีนี้ต่อในทันที 
 
ในวันเดียวกันเดลินิวส์ออนไลน์รายงานด้วยว่าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวปฏิวัฒน์โดยให้เหตุผลว่า 
 
เห็นว่า การกระทำตามข้อกล่าวหามีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลจำนวนมาก อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ผู้ต้องหาขึ้นปราศรัยชักนำให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน โดยปรากฏว่ามีการบุกรุกทำลายทรัพย์สินของทางราชการโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ประกอบกับผู้ต้องหาถูกจับกุมตามหมายจับ

เมื่อพิจารณาคำคัดค้านของพนักงานสอบสวนแล้ว กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ในชั้นนี้หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาอาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่น และน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี กรณีสมควรรอฟังผลการสอบสวนก่อน คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
 
27 ตุลาคม 2563 
 
ไทยโพสต์ออนไลน์รายงานว่า พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามนำตัวอานนท์มาฝากขังที่ศาลอาญาโดยระบุพฤติการณ์แห่งคดีและเหตุผลประกอบการฝากขังสรุปได้ว่า ในเวลาประมาณ 22.53 น. ของวันที่ 19 กันยายน 2563 อานนท์ได้ขึ้นไปปราศรัยบนเวทีใหญ่สนามหลวงโดยใช้เครื่องขยายเสียงต่อหน้ากลุ่มผู้มาร่วมชุมนุม

เนื้อหาการปราศรัยพาดพิงและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน 
 
พนักงานสอบสวนยังคัดค้านกรณีที่อานนท์จะขอประกันตัวด้วยโดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองในลักษณะเดิมเหมือนที่ผ่านมา และผู้ต้องหาอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีหลายคดีและหลายท้องที่ ซึ่งล้วนเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง

หากผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวไปเกรงว่าผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี ในวันเดียวกันศาลอาญายกคำร้องประกันตัวของอานนท์โดยให้เหตุผลว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวอาจไปก่อให้เกิดเหตุวุ่นวายต่อบ้านเมืองขึ้นอีก ตลอดจนพนักงานสอบสวนคัดค้านไว้
 
30 ตุลาคม 2563
 
ไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า ปฏิวัฒน์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพหลังศาลอาญาไม่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาต่อเป็นผัดที่ 3 ขณะที่พริษฐ์ ภาณุพงศ์ และปนัสยาที่คาดว่าจะได้รับการปล่อยตัวเพราะศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ ถูกเจ้าหน้าที่อายัดตัวที่หน้าเรือนจำอ้างว่ามีหมายจับจากคดีอื่น

เบื้องต้นทั้งสามจะถูกคุมตัวไปที่สน.ประชาชื่น ประชาชนที่มารอรับผู้ต้องหาทั้งสามแสดงความไม่พอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจและได้ติดตามไปที่สน.ประชาชื่นด้วย ขณะที่ทนายความของผู้ต้องหาก็ชี้แจงกับตำรวจว่าหมายจับส.ภ.พระนครศรีอยุธยา สภ.เมืองอุบลราชธานี และ สภ.เมืองนนทบุรี ที่ใช้เป็นเหตุอายัดตัวทั้งสามสิ้นผลไปแล้วเพราะผู้ต้องหารับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธไปแล้ว  
 
มีรายงานด้วยว่าในเวลาประมาณ 21.20 น. เกิดเหตุชุลมุนขึ้นหลังตำรวจอายัดตัวพริษฐ์และภาณุพงศ์มาถึงที่สน.ประชาชื่น ผู้ต้องหาทั้งสองมีอาการอ่อนแรง และภาณุพงศ์มีอาการคล้ายจะเป็นลม ประชาชนที่มารอที่สน.ประชาชื่นบางส่วนพากันทุบกระจกรถควบคุมตัวผู้ต้องขังจนแตก และพยายามเปิดประตูรถ เพื่อให้ข้างในมีอากาศหายใจ และเรียกร้องให้เปิดประตูรถ จนตำรวจสายตรวจต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ 
 
เดอะแสตนดาร์ดรายงานเพิ่มเติมว่า หลังถูกควบคุมตัวมาที่สน.ประชาชื่น พริษฐ์ประกาศว่าจะไม่ยอมขึ้นไปทำบันทึกการจับกุมเพราะหมายจับไม่ชอบ ระหว่างนั้นเขามีอาการคล้ายจะเป็นลมจึงต้องถอดเสื้อและมีคนนำเก้าอี้มาให้นั่ง ขณะที่ภาณุพงศ์ซึ่งมีอาการคล้ายจะเป็นลมมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นได้ถูกนำตัวไปโรงพยาบาลในเวลาประมาณ 22.00 น. โดยมี นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ติดตามไปด้วย

ขณะที่สถานการณ์หน้าสน.ประชาชื่นก็มีประชาชนมารวมตัวเพิ่มเติมจนเต็มพื้นที่ 
 
เอ็มไทยรายงานว่า การชุมนุมที่หน้าสน.ประชาชื่นดำเนินไปถึงเวลาประมาณ 5.00 น. ของวันที่ 31 ตุลาคม จึงคลี่คลายเมื่อตำรวจสอบปากคำพริษฐ์และปนัสยาเกี่ยวกับคดีที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเสร็จสิ้นและจะส่งตัวทั้งสองไปรับการรักษาตามสิทธิทั้งจากอาการอ่อนเพลียและพริษฐ์ที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างเหตุชุลมุน โดยจะยังไม่ส่งตัวผู้ต้องหาไปศาล ประชาชนที่มารวมตัวหน้าสน.ประชาชื่นจึงสลายตัว
 
3 พฤศจิกายน 2563
 
บีบีซีไทยรายงานว่า อานนท์ และสมยศ ผู้ต้องหาอีกสองคนที่ยังถูกคุมขังได้รับการปล่อยตัวในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 หลังศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ โดยตามหมายขังเรือนจำจะต้องคุมขังผู้ต้องหาจนถึงเวลา 23.59 น.ของวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ทั้งหมดจึงได้รับการปล่อยตัวในเวลา เที่ยงคืนของวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งถือเป็นวันใหม่ 
19 พฤศจิกายน 2563 
 
ประชาไทรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ประกาศยกระดับการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ชุมนุมโดยจะใช้กฎหมายทุกฉบับเท่าที่มี
 
30 พฤศจิกายน 2563
 
ไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า อานนท์ ปนัสยา พริษฐ์ ภาณุพงศ์ และปฏิวัฒน์เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติมแล้ว โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันโดยไม่ต้องวางหลักประกัน 
 
8 ธันวาคม 2563 
 
บีบีซีไทยรายงานว่า จตุภัทร์และสมยศเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามเพื่อรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติม ทั้งสองให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนปล่อยตัวทั้งสองหลังเสร็จสิ้นกระบวนการโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัว 
 
9 กุมภาพันธ์ 2564
 
นัดฟังคำสั่งอัยการอัยการนัดผู้ต้องหาสี่คนได้แก่อานนท์ พริษฐ์ สมยศ และปติวัฒน์ รายงานตัวฟังคำสั่งคดี ผู้ต้องหาทั้งสี่ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจากอัยการ

ไทยโพสต์ออนไลน์รายงานว่า ผู้ต้องหาทั้งสี่ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจากอัยการสูงสุด ให้สอบปากคำพยานเพิ่มเติมได้แก่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ และสมชาย หอมลออ ในประเด็นว่าการดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นการขัดพระราชประสงค์ เป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 

ในเวลาประมาณ 14.00 น. ทวิตเตอร์ของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องทั้งสี่ ผู้สังเกตการณ์ของไอลอว์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อัยการให้เหตุผลในการไม่เลื่อนฟ้องคดีว่าแม้สอบปากคำพยานเพิ่มเติมก็ไม่เปลี่ยนแปลงผลในการสั่งคดี
 
ทวิตเตอร์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเพิ่มเติมในเวลา 15.45 น. หลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งสี่แล้ว ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดต่อศาลอาญา 
 
ในเวลา 17.51 น. ผู้สังเกตการณ์ไอลอว์รายงานจากศาลอาญาว่า ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งสี่คนโดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรงและการกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระ ในข้อกล่าวหาเดิมในหลายๆครั้ง เชื่อว่าหากจำเลยได้รับการปล่อยตัวจะไปกระทำการในลักษณะเดิมอีก จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว
 
11 กุมภาพันธ์ 2564 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่า ทนายของจำเลยทั้งสี่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่ให้จำเลยทั้งสี่คนประกันตัว ต่อศาลอุทธรณ์
 
15 กุมภาพันธ์ 2564
 
บีบีซีไทยรายงานว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสี่คนประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า
 
คดีนี้ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง

การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือวุ่นวายขี้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
 
พริษฐ์ อานนท์ และสมยศ ขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย
 
พริษฐ์และอานนท์ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในความผิดลักษณะเดียวกันกับคดีนี้ในคดีอื่นๆ ส่วนสมยศเคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้มาก่อน

หากปล่อยตัวไปเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปก่อภยันตรายอื่น ให้ยกคำร้อง
 
17 กุมภาพันธ์ 2564

อัยการเลื่อนการสั่งคดีในส่วนของภาณุพงศ์ ปนัสยา และจตุภัทร์ออกไปเป็นวันที่ 8 มีนาคม 2564 โดยให้เหตุผลว่าเพิ่งได้รับสำนวนคดีจากพนักงานสอบสวนจึงยังไม่สามารถสั่งคดีในวันนี้ได้ ในวันเดียวกันทนายจำเลยยื่นคำร้องประกันตัวจำเลยสี่คนที่ถูกคุมขังอยู่ได้แก่อานนท์ สมยศ พริษฐ์และปติวัฒน์

เพจเฟซบุ๊กกองทุนราษฎรประสงค์ซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านเงินประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลยคดีการเมืองรายงานว่า ศาลอาญาให้เหตุผลว่าศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยไม่ให้ประกันตัวจำเลยและยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม กองทุนราษฎรประสงค์ให้ข้อมูลว่าวงเงินรวมที่ใช้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งสี่คนคือ 1,200,000 บาท

22 กุมภาพันธ์ 2564 
 
บีบีซีไทยรายงานว่า ทนายจำเลยยื่นหลักทรัพย์ประจำกันตัวจำเลยทั้งสี่เพิ่มเป็นคนละ 4 แสนบาท และมี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี ร่วมเป็นนายประกัน แต่ศาลยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่า

คดีนี้ศาลชั้นต้นเเละศาลอุทธรณ์ แสดงเหตุผลไว้อย่างชัดเเจ้งเเล้ว หากปล่อยตัวไปอาจจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับกรณีที่ถูกฟ้องอยู่ จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนเปลี่ยนคำสั่งเดิม
 
26 กุมภาพันธ์ 2564

บีบีซีไทยรายงานว่า หลังมีรายงานว่าศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยคดีการชุมนุมของกลุ่มกปปส.ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ทนายจำเลยคดีนี้ยื่นขอประกันตัวจำเลยทั้งสี่อีกครั้งหนึ่ง แต่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัว 4 แกนนำราษฎร โดยให้เหตุผลว่า..
 
พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี
ศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสี่ในระหว่างพิจารณามาแล้ว
ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

26 กุมภาพันธ์ 2564

บีบีซีไทยรายงานว่า ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอประกันตัวจำเลยทั้งสี่คนโดยให้เหตุผลว่า การที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวและได้ให้เหตุผลไว้แล้ว ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืน ย่อมเป็นการยุติแล้วว่าคำสั่งนั้นถูกต้องแล้ว หากไม่มีข้อเท็จจริงทางคดีที่เปลี่ยนไป ย่อมไม่มีเหตุที่ศาลจะเปลี่ยนแปลงคำสั่ง 

8 มีนาคม 2564

นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
ในวันนี้มีผู้ต้องหามาฟังคำสั่งอัยการเพียง 17 คน เนื่องจากไชยอมร แอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์ ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งอยู่ระหว่างถูกคุมขังในชั้นสอบสวนจากคดีวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพจึงไม่ได้มาศาล
 
สำหรับบรรยากาศการเข้ารายงานตัวที่สำนักงานอัยการ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ซึ่งเป็นเวลานัดหมาย เจ้าหน้าที่วางกำลังรักษาความปลอดภัยทั้งที่ศาลอาญาและที่สำนักงานอัยการสูงสุดอย่างเข้มงวดโดยที่ด้านในสำนักงานอัยการมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนตั้งแถวอยู่ด้านในด้วย 
 
เวลาประมาณ 9.38 น. ผู้ต้องหาทั้ง 17 คนและผู้มาให้กำลังใจร่วมกันเดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าวไปถึงที่สำนักงานอัยการ เมื่อมาถึงพบว่าประตูรั้วสำนักงานอัยการบางส่วนถูกปิด รปภ.ขอให้ผู้ที่ประสงค์จะเข้าไปในพื้นที่ทุกคนแลกบัตรประจำตัวก่อน ระหว่างนั้นก็มีเสียงประกาศของเจ้าหน้าที่ว่า สำนักงานอัยการสูงสุดออกข้อกำหนดเพื่อความเรียบร้อย ขอให้ผู้ที่มาติดต่อผ่านจุดคัดกรองและเข้ามารอในพื้นที่พักคอยที่เตรียมไว้ 
 
เจ้าหน้าที่ยังประกาศด้วยว่าการที่รถเครื่องเสียงใช้เสียงดังหน้าสำนักงานอัยการเช่นนี้จะไม่เป็นผลดี ระหว่างนั้นตัวแทนผู้ชุมนุมประกาศผ่านเครื่องเสียงว่า เจ้าหน้าที่แจ้งมาว่าหากประสงค์จะเข้าไปในพื้นที่สำนักงานอัยการจะจะต้องเก็บธงและผ่านจุดคัดกรอง พวกเขาจึงจะไม่เข้าไปและตั้งเวทีที่ริมทางเท้าหน้าสำนักงานอัยการแทน 
 
เวลาประมาณ 11.20 น. อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 18 คน โดยจตุภัทร์, ภาณุพงศ์และปนัสยาถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ขณะที่ผู้ต้องหาอื่นๆอีก 14 คนที่ไม่ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 มีข้อหาหลักคือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 
 
หลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี ทนายความพร้อมด้วยผู้ต้องหาทั้งหมดเดินเท้าไปที่ศาลอาญาเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการฟ้องคดี ขณะที่ผู้มาให้กำลังใจก็เคลื่อนขบวนไปที่หน้าศาลอาญาเช่นกัน
 
บริเวณหน้าศาลอาญารายงานด้วยว่าในวันนี้ศาลอาญายังมีการแจกจ่ายข้อกำหนดศาลอาญา ซึ่งสรุปได้ว่าเพื่อการรักษาความสงบและความปลอดภัยในบริเวณศาล ห้ามไม่ให้ผู้ใดประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา เช่น ทำลายทรัพย์สิน ปีนเข้าไปในบริเวณศาลให้คำพูดหรือกริยาไม่เรียบร้อย ก่อความรำคาญ ส่งเสียงดัง ใช้เครื่องขยายเสียง บันทึกภาพ ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ต่างๆทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือกระทำการอื่นในลักษณะส่งเสริม ยั่วยุ หรือก่อให้เกิดความเรียบร้อยในศาลอาญา โดยผู้กระทำการดังกล่าวถือว่ามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ขณะที่การรักษาความปลอดภัยที่หน้าศาลก็เป็นไปอย่างเข้มงวด เจ้าหน้าที่มีการคัดกรองผู้ที่จะเข้าไปในพื้นที่ศาลว่ามาด้วยเหตุใด 
 
เวลาประมาณ 15.10 น. มีรายงานว่าที่ศาลอาญานอกจากจะมีกำลังเจ้าหน้าที่สวมอุปกรณ์ป้องกันประมาณ 30 นาย ประจำการแล้ว ยังมีรถฉีดน้ำแรงดันสูงหรือ "จีโน่" ประจำการอยู่หนึ่งคันด้วย
 
เวลา 15.22 น. เฟซบุ๊กของจตุภัทร์ปรากฏข้อความข้อความว่า “ศาลไม่ให้ประกัน ไผ่ ไมค์ รุ้ง สู้ๆนะทุกคน” โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากพริ้ม แม่ของไผ่ เธอระบุว่า ตำรวจเดินมาบอกเรื่องคำสั่งของศาลและจากนั้นจึงพาตัวทั้ง 3 คนออกไปเรือนจำแล้ว
ประจักษ์ ก้องกีรติ 1 ในคณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มาเป็นนายประกันแจ้งว่า เวลา 15.22 น. นายประกันยังไม่ได้รับแจ้งผลคำสั่งขอปล่อยตัวชั่วคราวของ 3 คนเลย และกระบวนการทางเอกสารยังไม่เสร็จสิ้น
 
เวลา 15.35 น. ตำรวจตระเวนชายตั้งแถวปิดถนนบริเวณประตู 9 ศาลอาญา(เยื้องกับปั๊มปตท.) หันหน้าเข้าไปทางประตู 8 ทางเข้าศาลอาญาที่ผู้ชุมนุมเดินทะลุฟ้าอยู่ ห่างประมาณ 50 เมตร โดยยังมีรถยนต์ถูกักบนถนนอยู่หน้าแนวของตำรวจด้วย
ต่อมาเวลา 15.37 น. ทางด้านหลังแนวตำรวจมีรถฉีดน้ำแรงดันสูงวิ่งออกไปจากประตู 9 จากนั้นรถตู้ตำรวจวิ่งออกไปจากประตูปตท. คาดว่า เป็นรถที่พาตัวจตุภัทร์, ภาณุพงศ์และปนัสยา ด้านตำรวจควบคุมฝูงชนทำท่าทีพร้อมราวกับจะเดินเข้าหาผู้ชุมนุมด้านหน้า แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีรถยนต์และมอเตอร์ไซด์จำนวนมากถูกกักอยู่หน้าแนวตำรวจ ทำให้ผู้ขับขี่บนถนนที่ถูกกักอยู่บีบแตรใส่ถามว่า กักทำไม ตำรวจตอบว่า แปบเดียวไม่นานๆ ผู้ขับขี่บอกว่า ก็เห็นพี่ดันโล่มาก็ตกใจ มอเตอร์ไซด์หลายคันบีบแตร
 
ยุกติ มุกดาวิจิตรอาจารย์จากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็น 1 ในนายประกัน โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในเวลาประมาณ 17.00 น. ว่าจตุภัทร์ ภาณุพงศ์ และปนัสยาไม่ได้รับการประกันตัว 
 
ยุกติตั้งข้อสงสัยในกระบวนการด้วยว่า ตัวเขาซึ่งเป็นนายประกันของปนัสยากับนักวิชาการอีกคนหนึ่งที่เป็นนายประกันของจตุภัทร์ปฏิเสธที่จะลงชื่อรับทราบคำสั่งศาลเนื่องจากเมื่อได้รับคำสั่งดังกล่าวมาไม่มีลายมือชื่อของจำเลยจึงน่าสงสัยว่าจำเลยทั้ง 3 คนอาจถูกนำตัวไปที่เรือนจำก่อนมีคำสั่งศาลออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือว่าไม่ปกติ
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเพิ่มเติมว่า จำเลยอีก 14 คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เป็นข้อหาหลัก ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวด้วยการใช้ตำแหน่งอาจารย์และส.ส.ประกัน โดยตีวงเงินประกันคนละ 35,000 บาท

11 มีนาคม 2564 

สำนักข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งเจ้ดคนโดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ทั้งนี้ในส่วนของปนัสยาและพริษฐ์ซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับจตุภัทร์ที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทที่สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีอาจารย์ของพวกเขามาเป็นนายประกันยื่นขอประกันตัวให้  

15 มีนาคม 2564 
 
นัดพร้อมประชุมคดี
 
คดีนี้มีการแยกฟ้องเป็นสองสำนวน สำนวนแรกเป็นคดีของจำเลยสี่คนได้แก่สมยศ อานนท์ พริษฐ์และปติวัฒน์ ส่วนอีกสำนวนหนึ่งเป็นสำนวนของปนัสยา จตุภัทร์และภาณุพงศ์ กับจำเลยคนอื่นอีก 15 คนซึ่งไม่ถูกฟ้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ในการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนจำเลยของทั้งสองคดีต่างอยู่ในห้องพิจารณาด้วยกันเนื่องจากจะมีการรวมสำนวนคดีทั้งสองคดีเข้าด้วยกันเพราะมีมูลเหตุแห่งคดีจากเหตุการณ์เดียวกัน 
 
ในนัดนี้มีจำเลยมาศาล 20 คน ยกเว้นอรรถพลซึ่งมาศาลไม่ได้เพราะติดการพิจารณาคดีอื่นที่จังหวัดขอนแก่นและจำเลยอีกคนหนึ่งซึ่งคุณพ่อเพิ่งเสียจึงขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีลับหลังไปก่อน  
 
สำหรับการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณศาลวันนี้ถือว่ามีความเข้มงวดเป็นพิเศษแม้จะไม่มีกลุ่มกิจกรรมใดประกาศไปชุมนุมหรือแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ศาลอาญาก็ตาม
 
มีการตั้งจุดคัดกรองเข้าพื้นที่ศาลสองจุด จุดแรกอยู่นอกอาคารศาล จะมีตำรวจศาลคอยสอบถามวัตถุประสงค์ที่มาศาลในวันนี้ จากนั้นจึงขอดูบัตรประชาชนเพื่อจดชื่อ-นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของผู้ที่มาศาล
 
ที่หน้าอาคารศาล ยังมีการกั้นแผงเหล็กและเปิดช่องทางให้มีพื้นที่พอเดินเข้าแค่หนึ่งคน มีการกั้นพื้นที่ตรงบันไดสำหรับสื่อมวลชน ที่หน้าประตูทางเข้าอาคารศาลมีเครื่องตรวจวัดอุณหภูแต่ขณะที่ผู้สังเกตการณ์เดินผ่านไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่คอยยืนดูเครื่องวัดอุณหภูมิแต่อย่างใด เมื่อเดินเข้าไปในอาคารศาลจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสัมภาระของผู้ที่มาศาล และตรวจบัตรประชาชนโดยเสียบเข้ากับ card reader ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ศาลดำเนินการตามปกติอยู่แล้ว ต่างจากการตั้งจุดคัดกรองนอกอาคารศาลซึ่งปกติจะไม่มี
 
เวลาประมาณ 09.10 น. ที่หน้าห้องพิจารณาคดี 701 มีเจ้าหน้าที่ศาลอาญา และตำรวจศาล 3 นายประจำการที่หน้าห้องพิจารณาคดี คอยคัดกรองให้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีเข้าไปในห้องพิจารณาคดี เช่น ทนายความ จำเลย ญาติ ทั้งนี้ผู้แทนจากสถานทูตต่างประเทศสามารถเข้าไปสังเกตการณ์ได้ และห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าไปในห้องพิจารณาคดี ประชาชนที่สนใจหรือมาให้กำลังใจจำเลยต้องรออยู่ที่นอกห้องพิจารณาคดีโดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าบริเวณดังกล่าวสามารถใช้โทรศัพท์ได้ แต่ห้ามถ่ายภาพ และห้ามถ่ายทอดสด (live)
 
เวลาประมาณ 09.26 น. ตำรวจศาลนำแผงเหล็กมาตั้งที่หน้าประตูห้องพิจารณาเพื่อกันไม่ให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในห้องพิจารณาคดี อย่างไรก็ตามนักการทูตอย่างน้อย 8 คน ที่ส่งหนังสือมาขอสังเกตการณ์คดีสามารถเข้าไปในห้องพิจารณาคดีได้
 
เวลาประมาณ 09.36 น. จำเลยในคดีได้แก่ ปนัสยา พริษฐ์ จตุภัทร์ ภาณุพงศ์และไชยอมร ถูกควบคุมตัวมาถึงหน้าห้องพิจารณาคดี จำเลยทั้งหมดมีโอกาสทักทายกับผู้มาให้กำลังใจที่รออยู่หน้าห้องครู่หนึ่ง ก่อนจะถูกนำตัวเข้าห้องพิจารณา 
 
จากนั้นในเวลา 09.51 น. อานนท์ สมยศและปติวัฒน์ก็ถูกนำตัวมาที่ห้องพิจารณา และได้ทักทายผู้มาให้กำลังใจก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีเช่นกัน ส่วนจำเลยอื่นๆที่ได้รับการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดีก็ทยอยมาถึงและเข้าไปในห้องพิจารณาคดี ในช่วงเช้าศาลนัดตรวจพยานหลักฐานสำนวนคดีที่ปนัสยาถูกฟ้องเป็นจำเลยที่หนึ่งร่วมกับจำเลยอีก 18 คน ก่อน จากนั้นจึงจะตวจพยานหลักฐานสำนวนคดีของอานนท์ พริษฐ์ ปติวัฒน์และสมยศในช่วงบ่าย
 
เวลาประมาณ 11.25 น. มีเสียงตะโกนของพริษฐ์ดังออกมาจากในห้องพิจารณา โดยพริษฐ์ได้ขึ้นไปยืนบนม้านั่งสำหรับบุคคลทั่วไป หันหลังไปกับบัลลังก์ผู้พิพากษา หันหน้าไปทางผู้บุคคลที่อยู่ในห้องพิจารณาคดี และอ่านข้อความที่ทำการจดบันทึกด้วยน้ำเสียงหนักแน่น มีใจความสำคัญ เป็นการตั้งคำถามต่อศาลทำนองว่า 
 
เหตุใดจึงต้องจองจำความจริงไว้ เหตุใดจึงปฏิเสธไม่ให้ประกันตัว แต่ไม่ว่าอย่างไร ความจริงย่อมเป็นความจริง ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม และจะขอทรมานตัวเองโดยการอดข้าว เพื่อประท้วงถึงความยุติธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จะอดข้าวไปจนกว่าศาลที่เคารพจะคืนสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวแก่ผู้ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 รวมไปถึงคดีทางการเมือง และขอให้ประชาชนลุกสู้เพื่อประเทศเราไม่ต้องมีมาตรา 112 ไม่ต้องมีนักโทษการเมือง ไม่มีเผด็จการ ขอให้สามข้อเรียกร้องบรรลุไปได้ ตอนท้ายพริษฐ์และมวลชนร่วมกันส่งเสียงตะโกนว่า "ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ"
โดยในขณะที่พริษฐ์กล่าวอยู่นั้น มีมวลชนบางส่วนยืนรายล้อม บ้างก็แสดงออกโดยการชูสามนิ้ว ในขณะที่บางส่วนยังคงนั่งอยู่ตามเก้าอี้เพื่อสังเกตการณ์สถานการณ์ดังกล่าว
 
ภายหลังจากพริษฐ์กล่าวถ้อยแถลงจบ เจ้าหน้าที่ในศาลได้ประสานงานกับฝ่ายรักษาความปลอดภัย จากนั้นประมาณ 10 นาทีต่อมา มีตำรวจนครบาลอย่างน้อยเจ็ดนายเข้าไปในห้องพิจารณาคดี และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลได้เชิญผู้ที่ไม่ใช่คู่ความรวมถึงนักการทูตที่มาสังเกตการณ์ที่ยังคงอยู่ในห้องพิจารณาออกไปจากห้อง จากนั้นในเวลาราว 11.48 น. เจ้าหน้าที่ศาลทยอยนำตัวจำเลยเจ็ดคนที่ถูกคุมระหว่างการพิจารณาคดีได้แก่ พริษฐ์ ปนัสยา ภาณุพงศ์ สมยศ ปติวัฒน์ จตุภัทร์ และทนายอานนท์ ออกจากห้องพิจารณาคดี รวมทั้งควบคุมตัวชัยอมรซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังในคดีนี้แต่ถูกคุมขังตามหมายคดีอื่นออกมาด้วย ขณะที่จำเลยคนอื่นๆที่ได้รับการประกันตัวก็ทยอยเดินออกจากห้องพิจารณาคดีมาด้วยเช่นกัน 
 
ในช่วงบ่ายศาลเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลาประมาณ 13.30 น. ซึ่งพบว่าศาลมีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยมีการกั้นแผงเหล็กที่ระเบียงทางเดินไปยังห้องพิจารณา 701 บริเวณข้างศูนย์หน้าบัลลังก์ชั้น 7 มีเจ้าหน้าที่ศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยคัดกรองผู้ที่สามารถเข้าไปในห้องพิจารณาคดีได้ เช่น ญาติ ทนายความและผู้ช่วยทนายความเท่านั้น ส่วนผู้ที่มาให้กำลังใจและผู้แทนจากสถานทูตที่สนใจมาสังเกตการณ์ให้รออยู่ด้านนอกแนวกั้น ในส่วนของผู้แทนสถานทูต มีเจ้าหน้าที่ศาลนำเอกสารมาเรียกให้เข้าห้องพิจารณาคดีได้ในเวลาต่อมา
 
13.34 น.  เจ้าหน้าที่ราชฑัณฑ์พาตัวปนัสยา พริษฐ์ ปติวัฒน์ สมยศ จตุภัทร์ ภาณุพงศ์ และอานนท์มาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 701 โดยระหว่างทางมีญาติและผู้มาให้กำลังใจและสวมกอดทักทาย ต่อมาเวลา 14.04 น. ตำรวจศาลเดินมาบอกคนให้กำลังใจที่ยืนยืนนอกแนวกั้นว่าให้ทยอยเดินเข้าไปนั่งที่เก้าอี้ด้านหน้าห้องพิจารณาคดี 701 ได้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ศาลอีกคนหนึ่งเดินมาถามตำรวจศาลทำนองว่า ห้องพักพยานที่อยู่อีกปีกหนึ่งว่างอยู่หรือไม่ เมื่อผู้มารอให้กำลังใจได้ยินแบบนั้นก็บอกกับเจ้าหน้าที่ศาลว่า จะขอนั่งรอที่ด้านหน้าห้องพิจารณาโดยสัญญาว่า จะนั่งด้วยความเรียบร้อยและไม่ใช้เสียง
 
ระหว่างนั้นชายคนหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของศาลอาญาเดินออกมาและถามผู้มาให้กำลังใจซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 คนว่า รับปากศาลก่อนว่า จะนั่งด้วยความสงบ ประชาชนที่มารับปากพร้อมชู 3 นิ้ว ชายคนดังกล่าวพูดด้วยน้ำเสียงที่เป็นกันเองว่า แบบนี้ไม่สงบแล้ว ขอให้ไม่เป็นเหมือนเมื่อเช้า  หลังจากนี้หากจะมาให้กำลังใจจะมากันกี่คนก็ได้แต่ขอให้แจ้งศาลและให้คัดตัวแทนที่จะเข้าไปนั่งฟังในห้องพิจารณา ส่วนคนที่ไม่ได้เข้าห้องพิจารณาศาลจะจัดที่นั่งให้ ส่วนตัวแทนจะได้เข้าห้องพิจารณาคดีกี่คนขึ้นอยู่กับขนาดของห้องพิจารณาคดี โดยในนัดต่อๆไปศาลอาจจัดหาทีวีถ่ายทอดการพิจารณาให้คนที่ไม่ได้เข้าห้องพิจารณาคดีได้สังเกตการณ์ หลังจากนั้นผู้มาให้กำลังใจต่างทยอยเข้าไปนั่งที่หน้าห้องพิจารณาคดีด้วยความสงบ
 
ระหว่างการพิจารณาคดี มีจำเลยบางส่วนเดินออกมาเข้าห้องน้ำเป็นระยะและมีการทักทายกับผู้มาให้กำลังใจที่หน้าห้องพิจารณาคดี ซึ่งมีจำเลยคนหนึ่งกล่าวกับผู้มาให้กำลังใจว่า “เอาลมหายใจไปได้ แต่หัวใจและอุดมการณ์เอาไปไม่ได้”
 
ทั้งนี้จากการสอบถาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขั้นตอนการพิจารณาคดีในวันนี้เป็นเพียงนัดรวมคดี เนื่องจากอัยการแถลงต่อศาลว่าคดีทั้งสองมีมูลเหตุเดียวกันและพยานหลักฐานชุดเดียวกัน จึงสมควรรวมคดีเข้าด้วยกันเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างกระชับรวดเร็ว ทนายจำเลยไม่คัดค้าน ศาลจึงให้รวมสำนวนคดีทั้งสองเข้าด้วยกันและนัดตรวจพยานหลักฐานใหม่เป็นวันที่ 29 มีนาคม 2564 
 
16 มีนาคม 2564
 

อานนท์ ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา แสดงความกังวลใจถึงความปลอดภัยในชีวิตโดยสรุปความได้ดังนี้
 
วันที่ 15 มีนาคม 2564 อานนท์และจำเลยคนอื่นๆที่ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมีกำหนดออกศาลมาเข้ารับการพิจารณาคดีร่วมกับจำเลยคนอื่นๆทั้งที่ได้รับการประกันตัวและที่ถูกคุมขังในเรือนจำอื่น หลังเสร็จการพิจารณาคดีอานนท์และจำเลยที่ถูกคุมขังถูกควบคุมตัวกลับเรือนจำพิเศษกรุงเทพ    
 
จากนั้นในเวลาประมาณ 21.30 น. ระหว่างที่จำเลยถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มีเจ้าหน้าที่เรือนจำพยายามนำตัวจตุภัทร์และภาณุพงศ์ออกไปนอกแดน ซึ่งทั้งสองและจำเลยคนอื่นๆในคดีนี้ที่อยู่ร่วมห้องขังไม่ยินยอมเพราะเป็นยามวิกาล เจ้าหน้าที่จึงกลับออกไป

หลังจากนั้นจึงกลับมาอีกด้วยกำลังที่มากขึ้นและมีการนำกระบองมาด้วยในเวลาประมาณ 23.45 น. 00.15 น. และ 02.30 น.ของวันที่ 16 มีนาคม โดยครั้งหลังสุดมีเจ้าหน้าที่สวมชุดน้ำเงินไม่ติดป้ายชื่อมาด้วยแจ้งว่าจะนำตัวพวกเขาไปตรวจโควิด19 ซึ่งพวกเขาไม่ยินยอมเพราะเห็นว่าเป็นเหตุผิดปกติ จึงขอให้ศาลได้โปรดช่วยชีวิตเขาและจำเลยคนอื่นๆด้วย 

มีข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลังจากเหตุการณ์เมื่อคืนว่าเมื่อผู้ต้องขังปฏิเสธที่จะออกจากห้องขังไม่ได้มีการใช้กำลังบังคับเอาตัวออกไปแต่อย่างใด หลังจากนั้นอานนท์และพวกจึงไปนั่งอยู่หน้ากล้องวงจรปิดทั้งคืน เหตุการณ์ดังกล่าวก็สร้างความกังวลในชีวิตให้ผู้ต้องขังคดีนี้เป็นเหตุให้อานนท์ยื่นคำร้องต่อศาล อย่างไรก็ตามในคำร้องไม่ได้ขอชัดเจนให้ศาลออกคำสั่งใด แต่จะเป็นหลักฐานติดอยู่ในสำนวนคดี คำร้องที่อานนท์ยื่นต่อศาลได้ถูกเผยแพร่บนเฟซบุ๊กส่วนตัวของอานนท์ด้วย
 
หลังมีการเผยแพร่ข้อความบนเฟซบุ๊กของอานนท์กรมราชทัณฑ์ออกหนังสือชี้แจงว่า
 
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นของเหตุการณ์คืนวันที่ 15 ถึงเช้ามืดวันที่ 16 มีนาคม 2564 พบว่า ภายหลังจากที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพรับย้ายตัวผู้ต้องขังได้แก่ภาณุพงศ์และจตุภัทร์  แกนนำราษฎร และ ปิยรัฐ  แกนนำกลุ่ม Wevo มาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี ในเวลาประมาณ 18.40 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจร่างกาย และนำตัวมาคุมขังพร้อมกับผู้ต้องขังคนอื่นอีก 9 ราย ในห้องควบคุมผู้ต้องขังภายในแดนแรกรับ เพื่อแยกกักโรคโควิด19 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของกรมราชทัณฑ์
 
ต่อมาในเวลา 23.00 น. วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ พร้อมด้วย คณะแพทย์และพยาบาลจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้เข้าดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มผู้ต้องขังภายในห้องดังกล่าว ซึ่งมีทั้งหมด 16 คน แต่มีผู้ต้องขังที่ให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อเพียง 9 คน และไม่ประสงค์ให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อ 7 คน คือ ภาณุพงศ์, จตุภัทร์, ปิยรัฐ, จงเทพ, พริษ,ฐ์ อานนท์ พร้อมพวก จึงต้องดำเนินการแยกกลุ่มผู้ต้องขังดังกล่าวรวม 7 คน ออกจากผู้ต้องขังที่ยินยอมรับการตรวจเชื้อ เพื่อเป็นการแยกกักกันโรคและสังเกตอาการเพิ่มเติมที่สถานพยาบาล ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
 
ผู้ต้องขังทั้ง 7 คนได้แก่อานนท์ พร้อมพวกปฏิเสธการย้ายที่คุมขังออกจากห้องกักกันโรคเดิมไปยังสถานพยาบาลโดยอ้างถึงความปลอดภัย เจ้าหน้าที่จึงต้องแยกกลุ่มผู้ต้องขังอีกกลุ่มที่ให้ความยินยอมในการตรวจหาเชื้อจำนวน 9 คนไปคุมขังที่ห้องกักกันโรคห้องอื่นแทน
 
หนังสือชี้แจงระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ทุกคนปฏิบัติหน้าที่โดยยึดกฎ ระเบียบ และ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด ไม่สามารถกระทำการใดโดยพลการได้ และการทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นการกระทำความผิดทางอาญา เจ้าหน้าที่ไม่สามารถกระทำได้อยู่แล้ว 
 
ในวันเดียวกันประชาไทอ้างอิงรายงานจากทวิตเตอร์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอประกันตัวจำเลยทั้งเจ็ดคนที่ถูกคุมขังในคดีนี้ รวมทั้งไชยอมร จำเลยคดีนี้อีกคนหนึ่งที่ถูกคุมขังด้วยหมายขังคดีอื่นต่อศาลแต่ศาลปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าเกรงว่าหากปล่อยตัวจำเลยจะไปกระทำการณ์ในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้หรือไปก่อภยันตรายประการอื่นจึงให้ยกคำร้อง
 
29 มีนาคม 2564 
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน 
 
ไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า ศาลเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปเป็นวันที่ 8 เมษายน 2564 โดยทนายจำเลยเป็นผู้แถลงขอเลื่อนนัดเพราะเพิ่งได้รับเอกสารในคดีในวันที่ 25 มีนาคม 2564 จึงต้องขอโอกาสในการพิจารณาเอกสารก่อน ศาลอนุญาตให้เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 8 เมษายน 2564 ในเวลา 9.00 น.
 
ในกระบวนพิจารณาคดีวันนี้ จตุภัทร์ สมยศและ ปติวัฒน์ แถลงต่อศาลว่า หากศาลอนุญาตให้ประกันตัว ทั้งสามจะยอมรับเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ศาลได้บันทึกคำแถลงดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2564
 
5 เมษายน 2564 

ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยื่นคำร้องประกันตัวจำเลยทั้งสาม ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนพร้อมกำหนดเงื่อนไขการประกันให้จำเลยทั้งสาม ซึ่งทั้งสามแถลงว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไข ศาลจึงนัดให้จำเลยทั้งสามมาฟังคำสั่งประกันในวันที่ 9 เมษายน 2564
 
8 เมษายน 2564
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ในพื้นที่ศาลอาญามีการบังคับใช้มาตรการคัดกรองบุคคลที่จะมาศาลอย่างเข้มงวด
 
จุดคัดกรองที่หนึ่งอยู่บริเวณลานจอดรถก่อนเข้าไปที่ด้านหน้าอาคารศาล
 
จุดคัดกรองที่สองอยู่บริเวณชานบันไดก่อนขึ้นอาคารศาลอาญา

จุดคัดกรองที่สามอยู่หน้าลิฟต์ ชั้นเจ็ดบริเวณทางเดินไปห้องพิจารณาคดีที่ 704 ซึ่งเป็นห้องพิจารณาคดีนี้ ญาติและประชาชนที่ให้ความสนใจคดีนี้สามารถผ่านได้เพียงจุดคัดกรองที่หนึ่ง
 
บริเวณจุดคัดกรองผู้มาศาลจะต้องแจ้งชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน และแจ้งเหตุผลว่ามาศาลด้วยเหตุใด เป็นคู่ความในคดีหรือไม่ ผู้ที่ประสงค์จะมาสังเกตการณ์การพิจารณาคดีนี้จะได้รับบัตรสำหรับเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ในห้องเวรชี้ 2 ที่ทางเจ้าหน้าที่จัดให้
 
เจ้าหน้าที่แจ้งว่าในวันนี้ไม่ให้ญาติพ่อแม่หรือสื่อมวลชนเข้าไปในห้องพิจารณาคดีที่ 704 แต่ให้ไปดูการถ่ายทอดทางวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่ห้องเวรชี้ 2 โดยก่อนเข้าห้องจะต้องฝากโทรศัพท์ไว้กับเจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้าห้อง ส่วนที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอนุญาตเพียงตัวแทนสถานทูตเข้าไปร่วมสังเกตการณ์การพิจารณานอกเหนือจากทนายความและคู่ความ
 
เวลาประมาณ 10.45 น. จำเลยที่ถูกเบิกตัวจากเรือนจำถูกพาตัวเข้ามาที่ห้องพิจารณาคดี เข้ามาที่ห้อง 704 โดยที่ในห้องพิจารณาคดีเจ้าหน้าที่จัดให้จำเลยที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณานั่งแยกกับจำเลยที่ได้รับการประกันตัว ที่นั่งของจำเลยที่ได้รับการประกันตัวมีการจัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่าง ส่วนฝั่งจำเลยที่ไม่ได้รับการประกันตัวจะมีผู้คุมสองคนนั่งประกับจำเลยหนึ่งคนทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา

จำเลยที่ถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีนี้ได้แก่ อานนท์ที่นั่งกอดลูกสาวไว้ตลอดเวลา ชูเกียรติ จตุภัทร์ และสมยศ นั่งอยู่ฝั่งเดียวกัน พริษฐ์ที่อยู่ระหว่างการอดอาหารและนั่งรถเข็นมาที่ศาลพร้อมกับสายน้ำเกลือมีเจ้าหน้าที่พยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะนับถึงวันนี้เขาอดอาหารเป็นวันที่ 24 แล้ว นอกจากจำเลยข้างต้นแล้วก็ยังมีภาณุพงศ์ ปติวัฒน์ ไชยอมรและปนัสยาซึ่งอดอาหารวันนี้เป็นวันที่ 9
 
สำหรับจำเลยที่ได้รับการประกันตัวได้แก่ ณัฐชนน ณวรรษ ณัทพัช ธนชัย ธนพ ธานี ภัทรพงศ์ สิทธิ์ทัศน์ สุวรรณา อดิศักดิ์ และอนุรักษ์
 
พะเยาว์ อัคฮาด หรือแม่ของพยาบาลกมนเกด อัคฮาด ที่ร่วมแสดง Performance Art “99 Dead” รำลึกครบรอบ 10 ปี ของเหตุการณ์พฤษภาปี 53 และต่อมาณัทพัช อัคฮาด ลูกชายของเธอผู้เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ เล่าเหตุการณ์ว่าตั้งแต่ช่วงเช้า

แม่ของจำเลย ได้แก่ แม่ของพริษฐ์ และแม่ของภาณุพงศ์ มานั่งรอที่หน้าอาคารศาลตั้งแต่เช้าแต่ขึ้นไปที่ชั้นเจ็ดซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องพิจารณาคดีไม่ได้ เจ้าหน้าที่ที่อยู่บริเวณจุดคัดกรองออกไป แม่ของจำเลยตัดสินใจขึ้นไปที่ชั้น 7 ของอาคารศาลแต่ก็ไม่สามารถเข้าไปที่หน้าห้องพิจารณาคดี 704 ได้ ต้องรออยู่ที่บริเวณหน้าลิฟท์ 
 
จากนั้นจึงนั่งรอกับพื้น โดยเจ้าหน้าที่เก็บเก้าอี้ไปหมดและเมื่อแม่ของเพนกวินขอเข้าห้องน้ำที่ชั้น 7 เจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้า

มติชนออนไลน์รายงานว่า จากการเปิดของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจำเลย 21 คนในคดี ยกเว้นปติวัฒน์ แถลงขอถอนทนาย โดยระบุเหตุผลว่า เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิในการปรึกษาหารือตามกฎหมายกับทนายความ 
 
อานนท์เขียนคำแถลงต่อศาลว่า เป็น “คำแถลงปฏิเสธกระบวนการอยุติธรรม” มีเนื้อหาโดยสรุปได้ว่า ตามที่ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันนี้ จำเลยประสงค์ที่จพขอถอนทนายความทั้งหมด เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี นับแต่จำเลยถูกฟ้อง จำเลยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวต่อสู้คดี ทั้งที่จำเลยยังถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย 
 
ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ในนามราษฎรต้องการความกล้าหาญของคนรุ่นเก่าที่จะยอมรับ เปิดใจ และพูดคุยอย่างอารยะ แต่จากที่ผ่านมา กลับมีการแจ้งความดำเนินคดี รวมถึงใช้กำลังเข้าปราบปรามด้วยความรุนแรง ในการดำเนินคดี จำเลยถูกตัดสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เมื่อจำเลยและทนายความได้ประชุมและเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า หากร่วมกระบวนพิจารณาต่อไปรังแต่จะสร้างบรรทัดฐานอันบิดเบี้ยว
 
9 เมษายน 2564
 
นัดฟังคำสั่งประกันสมยศ จตุภัทร์และปติวัฒน์
 
เบื้องต้นศาลนัดอ่านคำสั่งประกันตัวของจำเลยทั้งสามในเวลา 11.00 น. แต่ต่อมาได้เลื่อนเวลาอ่านคำสั่งอีกสองครั้ง คือเลื่อนไปเป็นเวลา 13.00 น. และ 15.00 น.

ในเวลา 15.45 น. ศาลอ่านคำสั่งให้ประกันตัวปติวัฒน์โดยกำหนดเงื่อนไข ห้ามไม่ให้กระทำการลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือไปร่วมกิจกรรมที่อาจทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล ส่วนสมยศและจตุภัทร์ศาลยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ประกันตัว

ข่าวแจกศาลอาญา 9 เมษายน 2564
 
ข่าวแจกสื่อมวลชนที่ออกโดยศาลอาญาระบุเหตุผลการยกคำร้องของจตุภัทร์กับสมยศโดยสรุปได้ว่า

แม้จตุภัทร์และสมยศจะเคยแถลงว่า หากศาลให้ประกันตัวโดยกำหนดเงื่อนไข ทั้งสองจะปฏิบัติตามเช่นเดียวกับปติวัฒน์ แต่ในวันที่ 8 เมษายน 2564 ระหว่างนัดสอบคำให้การ และตรวจพยานหลักฐาน รวมทั้งกำหนดวันนัดสืบพยานคดีนี้ จำเลยทั้งสองไม่ยอมลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาคดี ทนายของจำเลยทั้งสองยังนำรายงานกระบวนพิจารณาไปเขียนเพิ่มเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยว่า

ทนายความของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 2 และจำเลยที่ 4 ถึงจำเลยที่ 22 ไม่ขอลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาคดีเนื่องจากไม่ยอมรับกระบวนพิจารณา รวมทั้งมีพฤติการณ์ขอถอนการเป็นทนายความและไม่ยอมไปกำหนดวันนัดพิจารณาคดีที่ศูนย์นัดความ ทำให้กระบวนการนัดความเกิดยากลำบาก เป็นอุปสรรคและความเสียหายต่อการพิจารณาคดี

คำแถลงของจำเลยทั้งสองที่ว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลหากได้รับการประกันตัวจึงไม่น่าเชื่อถือ จึงให้ยกคำร้อง

23 เมษายน 2564 
 
นัดไต่สวนคำร้องประกันตัวกรณีสมยศและจตุภัทร์

การไต่สวนคำร้องประกันตัวของสมยศและจตุภัทร์ในวันนี้ มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องห้าคนได้แก่จำเลยทั้งสองคน อาจารย์ชลิตา บัณฑุวงศ์ ซึ่งมาเบิกความต่อศาลในฐานะผู้รับรองความประพฤติของสมยศ อาจารย์พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นอาจารย์ระดับปริญญาโทของไผ่จตุภัทร์มาเบิกความต่อศาลในฐานะผู้รับรองความประพฤติของไผ่จตุภัทร์ และเจ้าหน้าที่จากแดน 2 เรือนจำพิเศษกรุงเทพซึ่งเป็นแดนที่สมยศและไผ่จตุภัทร์ถูกคุมขังอยู่ ขึ้นเบิกความต่อศาล 
 
การไต่สวนเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 10.00 น. สมยศและไผ่จตุภัทร์ถูกนำตัวขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดีโดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 6 คน ควบคุมตัวมา เมื่อเริ่มกระบวนการศาลให้สมยศขึ้นไต่สวนเป็นเป็นคนแรก 
 
สมยศแถลงต่อศาลว่าหากได้รับการประกันตัว เขายินดีปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล โดยจะไม่แสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสียหาย และจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตัวเขาเองในขณะนี้มีปัญหาสุขภาพ เพราะเคยประสบอุบัติเหตุและหัวเข่าข้างซ้ายมีปัญหาจึงไม่สามารถใช้ชีวิตในเรือนจำได้อย่างปกติเพราะเรือนนอนอยู่ชั้นสอง ต้องเดินขึ้นลง ทั้งในห้องควบคุมตัวก็ไม่มีเก้าอี้เวลารับประทานอาหารก็จะต้องนั่งกับพื้นซึ่งส่งผลเสียต่อเขา และตัวเขาต้องกินยาแก้ปวดทุกวันต่อเนื่องกันมาแล้วเป็นเวลาเดือนครึ่ง 
 
นอกจากปัญหาเรื่องเข่าแล้วสมยศยังกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในเรือนจำด้วย เพราะขณะนี้ในแดนสองของเรือนจำซึ่งเป็นแดนกักโรคมีผู้ต้องขัง 3 คนที่มีเชื้อและถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลของราชทัณฑ์ ตัวเขาต้องออกศาลเป็นระยะหากถูกคุมขังต่อไปก็จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในแดนกักโรคก็ยิ่งมีความเสี่ยง นอกจากนั้นการอยู่ในแดนกักโรคก็ทำให้เขาต้องอยู่ในห้องขังตลอดเวลา ในส่วนของกระบวนการทางคดีสมยศยืนยันว่าหากได้รับการปล่อยตัวเขาจะมาต่อสู้คดีตามกระบวนการและมาศาลตามนัดทุกครั้ง รวมทั้งจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดอย่างเคร่งครัด 
 
อัยการถามสมยศว่าเงื่อนไขเรื่องการไม่แสดงออกและไม่ร่วมกิจกรรมที่จะสร้างความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สมยศแถลงเองด้วยความสมัครใจใช่หรือไม่ สมยศรับว่าใช่
 
หลังไต่สวนสมยศ ศาลเรียกจตุภัทร์มาไต่สวนต่อ จตุภัทรแถลงต่อศาลว่าขณะนี้เขากำลังศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และมีกำหนดการสอบกับการนำเสนอผลงานซึ่งใกล้เข้ามา หากไม่ได้รับการประกันตัวอาจกระทบต่อการศึกษา จตุภัทร์ยืนยันว่าหากได้รับการประกันตัวเขาจะปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลอย่างเคร่งครัด ไม่แสดงออกในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพระมหากษัตริย์ และจะมาศาลและเข้าต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม
 
อัยการถามจตุภัทร์ว่าข้อกำหนดเรื่องการไม่แสดงความคิดเห็นในทางเสียหายต่อพระมหากษัตริย์ จตุภัทร์แถลงด้วยความเต็มใจใช่หรือไม่ จตุภัทร์รับว่าใช่ อัยการย้อนถามถึงเหตุการณ์ในวันที่ 8 เมษายน ในนัดตรวจพยานหลักฐานที่จตุภัทร์แถลงถอนทนายความและแถลงไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม จตุภัทร์ตอบว่าเขาเห็นว่ากระบวนการพิจารณาคดีในวันที่ 8 เมษายน 2564 ไม่เป็นธรรมและมีบรรยากาศที่น่าอึดอัดเพราะเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้ามาประกอบเขาจนทำให้ไม่มีโอกาสปรึกษาคดีกับทนายความอย่างเป็นส่วนตัว ตัวเขาลงชื่อในคำแถลงถอนทนายความที่ทนายจัดเตรียมให้ 
 
อัยการถามว่าในเอกสารดังกล่าวปรากฎคำว่าไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่าเขาจำไม่ได้ แต่เบิกความว่าในวันที่ 8 มีแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งที่เขียนด้วยลายมือซึ่งเขาไม่ได้ลงลายมือชื่อในแถลงการณ์ฉบับนั้น อัยการถามว่าแล้วในวันที่แปดเขาแถลงถอนทนายเพราะอะไร จตุภัทร์ตอบว่าเป็นเพราะเขารู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีในวันนั้น 
 
จากนั้นทนายจำเลยขอสำนวนคดีจากศาลให้จตุภัทร์ดูคำร้องถอนทนายความซึ่งจตุภัทร์ยืนยันตามเอกสารว่า ข้อความตามเอกสารปรากฎคำว่ารู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ไม่มีคำว่าไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม ทนายจำเลยถามด้วยว่าการแถลงถอนทนายความเกิดขึ้นหลังกระบวนการพิจารณาในวันนั้นแล้วเสร็จแล้วใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่าใช่และแถลงยืนยันว่าหากได้รับการประกันตัวเขาจะปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลอย่างเคร่งครัดและจะมาเข้ากระบวนการยุติธรรมต่อสู้คดีตามนัดทุกครั้ง
 
ศาลถามจตุภัทร์ด้วยว่า หลังถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ในคดีนี้ เขาถุกตั้งข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 อีกหรือเปล่า จตุภัทร์ตอบว่าไม่มี มีเพียงข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือข้อกล่าวหาเกี่ยวกับพ.ร.บ.โรคติดต่อเท่านั้น 
 
หลังไต่สวนจตุภัทร์ ศาลเชิญพัทธ์ธีรา อาจารย์ของจตุภัทร์ขึ้นไต่สวนโดยเธอเบิกความว่าจตุภัทร์มีกำหนดสอบในวันที่ 25 เมษายน 1 กระบวนวิชา จากนั้นในวันที่ 2 พฤษภาคมจะมีกำหนดนำเสนองานเป็นการภายในอีกหนึ่งครั้ง ซึ่งหากจตุภัทร์ไม่ได้รับการประกันตัวทันเวลาเขาก็จะไม่ผ่านในรายวิชาดังกล่าวและจะต้องยกไปเรียนในเทอมต่อไปซึ่งการกระทบต่อการทำวิทยานิพนธ์ พัทธ์ธีราเบิกความยืนยันว่าเธอจะกำกับดูแลให้จตุภัทร์ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล 
 
อัยการถามพัทธ์ธีราว่าเธอจะดำเนินการให้จตุภัทร์ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้อย่างไร พัทธ์ธีราตอบว่าจตุภัทร์มีการบ้านและงานค้างจำนวนหาก หากได้รับการปล่อยตัวเขาก็จะต้องกลับมาสะสางงานเหล่านั้นซึ่งเชื่อว่าจตุภัทร์จะไม่สามารถไปทำอย่างอื่นได้ อัยการถามย้ำอีกครั้งว่าตัวอาจารย์จะดูแลให้จตุภัทร์ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้วยวิธีการใด พัทธ์ธีราตอบว่าในการเรียนจตุภัทร์จะต้องมาพบอาจารย์เพื่อรายงานความคืบหน้าและปรึกษษเรื่องการเรียนเป็นระยะอยู่แล้วจึงเชื่อว่าจะดูแลได้      
 
ศาลเชิญชลิตาขึ้นไต่สวนต่อ ชลิตาเบิกความว่าเธอรู้จักสมยศจากการทำกิจกรรมเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนร่วมกัน ซึ่งในคดีนี้เธอเคยเป็นผู้ยื่นประกันตัวให้สมยศ และจำเลยในคดีเดียวกันนี้อีกคนหนึ่งได้แก่ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้มหรือหมอลำแบงค์ ชลิตายืนยันว่าจะคอยดูแลให้สมยศปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล 
 
อัยการถามชลิตาว่าในวันที่ 8 ที่จำเลยในคดีนี้แถลงถอนทนายความและแถลงไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมชลิตาอยู่ที่ศาลหรือไม่ ชลิตาตอบว่าไม่อยู่แต่ทราบเรื่องจากการรายงานของสื่อว่าจำเลยแถลงถอนทนายความเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการในวันนั้น 
 
อัยการถามว่าแล้วชลิตาทราบหรือไม่ว่าจำเลยไม่ยอมไปกำหนดวันนัดพิจารณาที่ศูนย์นัดความ ชลิตาตอบว่าไม่ทราบเพราะเธอทราบเฉพาะรายละเอียดที่รายงานผ่านสื่อเท่านั้น อัยการถามว่าชลิตาจะใช้วิธีการใดที่จะดูแลให้สมยศและจตุภัทร์ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลโดยเคร่งครัด ชลิตาตอบว่าจะใช้วิธีพูดคุยด้วยเหตุผล 
 
หลังไต่สวนพยานทั้งสี่คนแล้วเสร็จ ศาลเรียกตัวแทนผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพขึ้นไต่สวน 
 
เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในแดนสองที่ผู้ต้องขังทั้งสองถูกควบคุมตัวอยู่เบิกความว่า ระหว่างถูกคุมขังผู้ต้องหาทั้งสองมีความประพฤติดี ไม่เคยทำผิดวินัยของทางราชทัณฑ์ 
 
ในส่วนของสถานการณ์โควิด19ในเรือนจำ ขณะนี้มีผู้ต้องขังในแดนสองซึ่งเป็นแดนกักโรคสามคนถูกตรวจพบเชื้อและได้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลของราชทัณฑ์แล้ว แดนสองเป็นแดนกักโรงจึงเป็นพื้นที่ที่มีความน่ากังวลเรื่องการแพร่ระบาด แต่ในปัจจุบันทางเรือนจำยังสามารถบริหารจัดการได้และยังสามารถรักษามาตราการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลได้ 
 
หลังศาลสอบถามพยานแล้วเสร็จ ศาลเปิดโอกาสให้ทนายจำเลยและอัยการถามพยานเพิ่มเติม อัยการไม่ถามส่วนทนายจำเลยถามว่าหากจำเลยทั้งสองได้รับการปล่อยตัวก็จะเป็นผลดีในการลดความแออัดและช่วยให้การบริหารจัดการของทางเรือนจำเป็นไปได้สะดวกขึ้นใช่หรือไม่ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รับว่าใช่ 
หลังจบการไต่สวน ศาลนัดฟังคำสั่งประกันในเวลา 15.00 น. 
ก่อนออกจากห้องพิจารณาคดีจตุภัทร์และสมยศมีโอกาสพูดคุยเรื่องชีวิตความเป็นอยู่กับอาจารย์ทั้งสองและทนายความอยู่ครู่หนึ่งส่วนจตุภัทร์ก็ได้คุยกับน้องสาวครู่หนึ่งก่อนทั้งสองจะถูกควบคุมตัวลงไปที่ห้องควบคุมของราชทัณฑ์ซึ่งอยู่ใต้ถุนศาลอาญาเพื่อรอฟังคำสั่ง 
 
ในเวลาประมาณ 15.10 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวสมยศและจตุภัทร์ โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเกี่ยวกับรายละเอียดเงื่อนไขการประกันตัวว่า

มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ได้อ่านคำสั่ง โดยท้าวความถึงคำเบิกความของจำเลยทั้งสอง ว่าสมยศมีอาการข้อเข่าเสื่อม ใช้ชีวิตในเรือนจำอย่างยากลำบาก ส่วนไผ่มีสถานะเป็นนักศึกษาที่หากไม่ได้รับการประกันตัวจะกระทบต่อการเรียน
 
ศาลพิเคราะห์เห็นว่าเหตุในการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจะต้องเป็นเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 คือ 1) จำเลยจะหลบหนี 2) จำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 3) จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น 4) หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ  5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีนี้ จำเลยเดินทางมาศาลตามนัดโดยตลอด จึงเชื่อว่าจะไม่หลบหนี ส่วนกรณีพยานหลักฐานนั้น ส่วนใหญ่เป็นเจ้าพนักงาน และส่วนใหญ่อยู่ในครอบครองของโจทก์ จึงเชื่อว่าจำเลยจะไปยุ่งเหยิงไม่ได้ สำหรับกรณีการก่อเหตุร้ายประการอื่นนั้น พนักงานสอบสวนและโจทก์ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงให้เห็นว่าจำเลยจะไปก่อเหตุร้ายหรือภยันตรายประการอื่นแต่อย่างใด 
 
หลักประกันในวันนี้ ผู้ขอประกันไม่เคยทำผิดสัญญาประกัน และมีเงินสดจำนวน 200,000 บาท จึงเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือ และในวันนี้จำเลยทั้ง 2 ได้แต่งทนายความเข้ามาร่วมต่อสู้คดีแล้ว การปล่อยชั่วคราวไปจะไม่ทำให้เสื่อมเสียต่อการพิจารณาคดี 

กรณีจึงไม่มีเหตุผลเพียงพอว่าจะเป็นเหตุไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 และ 4 โดยกำหนดเงื่อนไข ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองทำกิจกรรมที่จะกระทำความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ให้จำเลยมาศาลตามนัด หากผิดสัญญาปรับคนละ 200,000 บาท 


จากนั้นในเวลาประมาณ 17.30 สมยศและจตุภัทร์ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ

29 เมษายน 2564

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าได้ยื่นคำร้องประกันตัวให้กับจำเลยสี่คนได้แก่ อานนท์ พริษฐ์ ปนัสยา และภาณุพงศ์ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีด้วยหมายขังคดีนี้ โดยวางเงินประกันคนละ 200000 บาท ด้วยเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยทั้งสี่แถลงด้วยว่าหากศาลกำหนดเงื่อนไขในการประกันก็จะปฏิบัติตาม

ในช่วงบ่ายวันเดียวกันแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมยังได้เชิญชวนประชาชนมาชุมนุมที่หน้าศาลอาญาเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้กับจำเลยโโยผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเข้าไปชุมนุมในบริเวณหน้าทางเข้าศาลอาญา เบนจา จากแนวร่วมธรรมศษสตร์และการชุมนุมประกาศว่าจะปักหลักรอจนกว่าศาลจะมีคำสั่งให้ประกันตัวจำเลย 

ในเวลา 16.00 น. ศาลแจ้งว่าจะอ่านคำสั่งประกันตัวในวันที่ 30 เมษายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์แทนเนื่องจากมีผู็ชุมนุมมาชุมนุมในบริเวณศาล ซึ่งผู้ชุมนุมและญาติประกาศว่าจะปักหลักรอจนกว่าศาลจะมีคำสั่ง 

เวลา 18.00 น. ศาลอาญาอ่านคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจำเลยทั้งสี่คนโดยอ้างเหตุผลว่า ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง คำสั่งฉบับนี้ลงนามโดย เทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

30 เมษายน 2564 

เฟซบุ๊กเพจราษฎรแจ้งว่า แม่ของพริษฐ์จะเข้ายื่นคำร้องประกันตัวพริษฐ์อีกครั้งในเวลา 14.00 เพื่อให้พริษฐ์ได้ออกมาฟื้นฟูร่างกาย ระหว่างรอยื่นคำร้องประกันตัวแม่ของพริษฐ์ยังโกนหัวเพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรมกรณีศาลไม่ให้ประกันตัวพริษฐ์ในวันที่ 29 เมษายน 2564 แม้ว่าพริษฐ์จะแถลงว่าหากศาลจะกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวก็จะยอมรับและปฏิบัติตาม
 



ทั้งนี้หลังโกนหัวแม่ของพริษฐ์กล่าวกับสื่อมวลชนว่า

“กวินก็รับรู้ว่าแม่พยายามช่วยกวินให้มากที่สุดเท่าที่แม่คนนี้จะทำได้

ขอให้ทุกท่านจงเป็นประจักษ์พยานสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ขอให้ทั้งคนในประเทศไทยและคนต่างประเทศ คนทั่วโลก ดิฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นแม่ของคนคนหนึ่งที่รักลูกมาก ลูกดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด ลูกดิฉันแค่มีความเห็นต่าง ลูกดิฉันไม่มีอิสระภาพในการพูด ลูกดิฉันถูกจองจำอยู่ในเรือนจำโดยที่ยังไม่ได้รับการตัดสินว่าผิด ลูกดิฉันไม่ได้รับความยุติธรรมในการต่อสู้คดี ในขณะนี้ลูกดิฉันกำลังเจ็บป่วย นอกจากโควิทที่กำลังระบาดอย่างหนักมากฆ่าคนตายทุกวัน ด้วยความจบป่วยที่เนื่องจากการอดอาหาร ที่มีการขับถ่ายเป็นชิ้นเนื้อ ร่างกายอ่อนเพลียของลูก

ซึ่งวันนี้เพนกวินวันนี้อาจจะอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะน้ำเกลือไม่อาจสามารถจะเข้าถึงตัวเพนกวินได้แล้ว เพนกวินได้ให้น้ำเกลือเมื่อวานแต่เนื่องจากเส้นของเพนกวินอักเสป ไม่สามารถให้นำ้เกลือได้อีก จึงต้องมีการถอนน้ำเกลือจากตัวเพนกวิน ตอนนี้เพนกวินอยู่ได้ด้วยตัวเขาและกำลังใจของเขา เขาไม่มีน้ำเกลือที่จะช่วยชีวิตเขาเพราะร่างกายเขารับไม่ได้ รับไม่ได้แล้ว

ขอให้ทุกคนจงจดจำแล้วก็ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เราต้องขยัดความอยุติธรรมออกไปจากสังคมของเรา อย่าให้ต้องมีใครต้องสูญเสียหรือเจ็บปวดเหมือนครอบครัวเราอีก ขอบคุณมากค่ะ”

6 พฤษภาคม 2564 
 
เวลา 10.00 น. ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องประกันตัวของปนัสยา และพริษฐ์ โดยการไต่สวนครั้งนี้เกิดขึ้นหลังทนายจำเลยยื่นคำร้องประกันตัวในวันที่ 30 เมษายน 2564 
 
เมื่อถึงเวลานัดหมายปรากฏว่าปนัสยาถูกเบิกตัวมาศาลเพียงคนเดียว ศาลแจ้งว่า ต้องเลื่อนการไต่สวนพริษฐ์ออกไปก่อนเนื่องจากราชทัณฑ์แจ้งศาลในวันที่ 5 พฤษภาคมว่า ทั้งสองยังกักตัวไม่ครบ 14 วัน 
 
สำหรับบรรยากาศที่ศาล ตั้งแต่ก่อนเวลา 9.00 น. ศาลอาญามีการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดเนื่องจากในวันนี้มีกลุ่มคนอย่างน้อยสองกลุ่มได้แก่ ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่วนหนึ่ง ที่มีกำหนดเดินทางมายื่นแถลงการณ์เรียกร้องสิทธิการประกันตัวและแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่นัดชุมนุมติดตามการไต่สวนและรอฟังคำสั่งประกันตัว โดยจะยื่นจดหมายถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาพร้อมรายชื่อแนบท้ายจำนวนกว่า 80,000 รายชื่อ
 
รอบบริเวณมีการวางกำลังของตำรวจควบคุมฝูงชนและเตรียมรถฉีดน้ำไว้ในศาลอย่างน้อย 2 คัน นอกจากนี้บริเวณธนาคารกรุงไทยยังมีการตั้งจุดคัดกรองสำหรับผู้ที่จะเข้าไปในอาคารศาลอาญา
 
การพิจารณาคดีวันนี้นัดที่ห้อง 912 ศาลอนุญาตให้เฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการไต่สวนคืออัยการ จำเลย ทนายความและพยานเข้าห้องเท่านั้น ขณะที่ผู้สังเกตการณ์และสื่อมวลชนจะต้องไปสังเกตการณ์ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่ชั้นเจ็ด  
 
การไต่สวนนัดนี้มีตัวแทนสถานทูตต่างๆ เช่น ออสเตรีย ออสเตรเลีย และคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยและมีส.ส.พรรคก้าวไกล 4 คน นำโดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลพร้อมทีมงานเข้าร่วมสังเกตการณ์ เจ้าหน้าที่จำกัดโควตาผู้เข้าห้องสังเกตการณ์ไว้ 15 คน ระบุว่า จำเป็นต้องจัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล โดยผู้ที่จะเข้าห้องพิจารณานี้ได้จะต้องแขวนบัตรสีชมพูซึ่งแลกมาจากกจุดคัดกรอง
 
การไต่สวนเริ่มในเวลาประมาณ 10.25 น.  ศาลไต่สวนปนัสยาเป็นคนแรก 
 
ปนัสยาเบิกความว่าเธอเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สาม คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนเกิดเหตุเธอพักอาศัยอยู่ที่บ้านของครอบครัวร่วมกับคุณพ่อคุณแม่และพี่สาวคนโต พ่อและแม่ของเธอเป็นผู้ดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย และความเป็นอยู่ของเธอ รวมทั้งเป็นผู้อบรมสั่งสอนเธอ ในคดีนี้นับตั้งแต่ถูกออกหมายเรียกโดยพนักงานสอบสวนเธอก็ไปรายงานตัวตามนัดทุกครั้ง และหากศาลให้ประกันตัวเธอยินดีปฏิบัตตามข้อกำหนดไม่กระทำการใดๆที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ออกนอกประเทศ จะมาศาลทุกนัด และจะตั้งทนายความต่อสู้คดีตามกระบวนการ ซึ่งในวันนี้เธอก็ได้แต่งตั้งทนายความเข้าต่อสู้คดีแล้ว 
 
ทนายจำเลยถามว่าปนัสยารู้จักกับผศ.ดร.อดิศร หรือไม่ ปนัสยาตอบว่ารู้จักเพราะเป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยผศ.ดร. อดิศรเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลเรื่องกิจกรรมของนักศึกษาโดยตรง ทนายจำเลยถามย้ำอีกครั้งว่าปนัสยายอมรับเงื่อนไขซึ่งเธอได้แถลงต่อศาลในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) ลงวันที่ 30 เมษายน ใช่หรือไม่ ปนัสยาแถลงยืนยันว่ายอมรับ 
 
จากนั้นศาลให้อัยการถามค้าน อัยการถามปนัสยาว่า ปนัสยาจะปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ได้แถลงต่อศาลใช่หรือไม่ ปนัสยารับว่าใช่ หลังจากนั้นอัยการแถลงหมดคำถาม
 
พยานปากที่สอง ผศ.ดร. อดิศร จันทรสุขกล่าวว่า เขาทำงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเป็นเวลาเกือบ 7 ปี แล้ว มีตำแหน่งบริหารเป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มีหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลกิจกรรมของนักศึกษา ดูแลสุขภาวะของนักศึกษาและการประพฤติตัวของนักศึกษา 
 
สำหรับปนัสยาจำเลยคดีนี้เขารู้จักว่า เป็นนักศึกษาอยู่คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา เท่าที่รู้จักเธอเป็นนักศึกษาที่มีความประพฤติดี หากศาลอนุญาตให้ประกันตัวเขายินดีที่จะช่วยกำกับดูแลให้ปนัสยาปฏิบัติตามข้อกำหนดศาลอย่างเคร่งครัด และหากได้รับแจ้งว่าปนัสยามีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดเงื่อนไขเขาก็พร้อมที่จะดำเนินการกำชับและดูแลปนัสยาให้ปฏิบัติตามข้อกำหนด ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
อัยการถามว่าในทางรูปธรรมอดิศรจะดำเนินการอย่างไร อดิศรตอบว่าเขาจะสื่อสารพูดคุยกับปนัสยาอย่างสม่ำเสมอและจะทำงานร่วมกับคณาจารย์คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยาอย่างใกล้ชิด อัยการแถลงหมดคำถาม
 
พยานปากที่สามสุริยา สิทธิจิรวัฒนกุล คุณแม่ของปนัสยาเบิกความว่า เธอสมรสกับบิดาของปนัสยาประกอบอาชีพทำธุรกิจส่วนตัวและเป็นผู้ปกครองดูแลเลี้ยงดูปนัสยา โดยปนัสยาเป็นลูกของสุดท้องของครอบครัวจากจำนวนลูกสามคน  ตัวเธอเป็นผู้วางเงิน 200,000 บาทเพื่อขอปล่อยตัวปนัสยา 
 
สุริยาเบิกความว่า ที่ผ่านมาลูกสาวของเธอเป็นเด็กเรียบร้อย รักการเรียน และไม่เคยมีประวัติถูกพิพากษาเป็นที่สุดให้รับโทษจำคุกมาก่อน หากได้รับการปล่อยตัวสุริยาก็พร้อมดูแลให้ปนัสยาปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลและมั่นใจว่าตัวปนัสยาเองก็จะปฏิบัติตามเงื่อนไข ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
อัยการถามค้านโดยกล่าวทำนองว่า ตัวเขาเองก็มีลูกเรียนอยู่ชั้นปีที่สี่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเข้าใจหัวอกของแม่และเข้าใจความเดือดร้อน จึงขอให้คุณแม่ของปนัสยาควบคุมดูแลให้ปนัสยากลับไปทำการศึกษาและให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล
 
พยานปากที่สี่ เจ้าหน้าที่จากทัณฑสถานหญิงกลางเบิกความว่า เธอรับราชการที่กรมราชทัณฑ์ในตำแหน่งพนักงานราชทัณฑ์ชำนาญการที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เธอไม่ได้เป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุมปนัสยาโดยตรงแต่เท่าที่ทราบปนัสยาไม่มีประวัติทำความผิดวินัยระหว่างอยู่ในเรือนจำ และปนัสยาก็ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ด้วยดี
 
พยานปากที่ห้าคุณพ่อของปนัสยาเบิกความว่าตัวเขาประกอบอาชีพทำธุรกิจส่วนตัวและจดทะเบียนอย่างถูกต้องกับสุริยาซึ่งเป็นแม่ของปนัสยา ครอบครัวของเขามีลูกสามคน ปนัสยาเป็นคนสุดท้อง เขาและภรรยาเป็นผู้ส่งเสียให้ปนัสยาเรียนหนังสือและเป็นคนที่คอยดูแลอบรมปนัสยา สำหรับการประกันตัว หากศาลอนุญาตตัวเขาก็จะช่วยดูแลให้ปนัสยาปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้งหมดอย่างเต็มที่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
อัยการถามค้านโดยกล่าวทำนองว่า พ่อและแม่ย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายและศีลธรรมอันดีที่จะเลี้ยงดูอุปการะลูก  หากศาลอนุญาตให้ปนัสยาประกันตัวขอให้คุณพ่อและคุณแม่ของปนัสยารับประกันทั้งกับศาลและกับโจทก์ว่าจะกำกับดูแลให้ปนัสยาปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายทั้งกับโจทก์และกับการพิจารณาคดีในภาพรวม ขอให้ยอมรับในกระบวนการยุติธรรมแต่งทนายความเข้าต่อสู้คดีหรือจะว่าความเองก็ได้เพื่อให้กระบวนการพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสะดวก 
 
ในเวลาประมาณ 11.05 น. ระหว่างที่ผู้เข้ารับการไต่สวนทั้งหมดรอศาลอ่านทวนคำเบิกความเพื่อตรวจสอบความถูกต้องปนัสยาเดินมาที่คอกพยานพร้อมแถลงต่อศาลว่า หากศาลจำกำหนดให้เธอใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรือ EM ระหว่างการประกันตัวเธอก็ยินยอม จากนั้นเธอก็ลุกกลับไปนั่งที่เดิม 
 
ในเวลาประมาณ 12.03 น. ศาลอ่านทวนคำเบิกความของพยานทุกคนก่อนที่จะนัดฟังคำสั่งประกันตัวในเวลา 15.00 น. 
 
เวลา 15.25 น. ศาลยังไม่ขึ้นนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งตามนัดหมาย ต่อมามีรายงานว่า ศาลเลื่อนการอ่านคำสั่งไปเป็นเวลา 16.00 น. แต่ปรากฎว่ากว่าศาลจะกลับมาขึ้นบัลลังก์อีกครั้งก็เป็นเวลา 17.00 น. แล้ว

หลังศาลขึ้นบัลลังก์เตรียมอ่านคำสั่ง กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความแจ้งต่อศาลว่า ผลตรวจโควิด 19 ของเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์น่าจะออกในวันที่ 7 พฤษภาคม และเป็นไปได้ว่า จะไม่ติดโควิด 19 ขอให้ศาลเปิดการไต่สวนคำร้องขอประกันตัวของทั้งสองคนในวันดังกล่าวเลยเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ศาลตอบว่า เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานที่แจ้งผลการตรวจอย่างเป็นทางการ ศาลจึงยังไม่นัดวันไต่สวนแต่ขอนัดพร้อมเพื่อไต่สวนพริษฐ์ไว้ก่อนในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ หากมีเหตุเปลี่ยนแปลงหรือมีผลการตรวจออกมา ทนายความสามารถยื่นคำร้องขอไต่สวนได้ทันที
 
ในเวลา 17.06 น. ศาลอ่านคำสั่งโดยสรุปว่า การยื่นประกันตัวมารดาของปนัสยาได้ยื่นหลักทรัพย์ 200,000 บาทเป็นหลักประกันและเป็นนายประกันด้วยตนเอง จำเลยอยู่กับพ่อแม่และกำลังเรียนในชั้นปีที่สาม พ่อแม่ของจำเลยได้แถลงแล้วว่า จะดูแลจำเลยไม่ให้ไปกระทำการที่ผิดต่อเงื่อนไขการประกันตัว ทั้งในเรื่องการทำให้สถาบันกษัตริย์ฯเสื่อมเสีย, การเดินทางออกนอกประเทศและการมาศาลตามนัด ทั้งผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข ได้แถลงร่วมด้วยว่า จะกำกับดูแลจำเลย 
 
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาเบิกความให้เห็นว่า จำเลยปฏิบัติตัวเป็นอย่างดี ไม่เคยกระทำผิดกฎและยังได้มีการแต่งทนายเข้ามาสู้คดีแล้ว หากพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 แล้วไม่มีเงื่อนไขใดที่จะไม่ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ส่วนในเรื่องของพยานหลักฐาน ตำรวจได้ทำการสอบสวนเรียบร้อยแล้ว จำเลยเป็นเพียงนักศึกษาไม่มีความสามารถที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้  นอกจากนี้ศาลยังระบุว่า จำเลยแถลงด้วยความสมัครใจว่า จะปฏิบัติตามเงื่อนไข จึงไม่มีเหตุที่คุมขังต่อไป
 
เงื่อนไขของการประกันตัวคือ ห้ามกระทำในลักษณะเช่นเดียวกันตามฟ้องในคดีอันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันกษัตริย์, เข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาลและให้มาศาลตามนัดโดยเคร่งครัด ทั้งนี้เงื่อนไขข้อที่สองเรื่องเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองไม่ใช่เงื่อนไขที่ได้แถลงไว้เมื่อช่วงเช้า
 
11 พฤษภาคม 2564 
 
ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของพริษฐ์และภาณุพงศ์ . ตั้งแต่เวลา 8.30 น. บริเวณศาลอาญามีการวางมาตรการรักษาวามปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยมีการตั้งจุดคัดกรองที่ลานจอดรถใกล้ธนาคารกรุงไทยสาขาศาลอาญาลักษณะเดียวกับที่มีการตั้งจุดคัดกรองเวลาศาลอาญามีนัดพิจารณาคดีการเมืองสำคัญคดีอื่นๆรวมถึงนัดไต่สวนคำร้องประกันตัวปนัสยาเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 
 
ด้านหน้าห้องพิจารณาคดี 703 ซึ่งเป็นห้องที่ถ่ายทอดสัญญาณมาจากห้องพิจารณาหลัก เจ้าหน้าที่ยังเตรียมตระกร้าใส่อุปกรณ์สื่อสารมาเตรียมไว้พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีทราบว่าผู้ที่ประสงค์จะเข้าห้องพิจารณาคดีจะต้องฝากอุปกรณ์สื่อสารเสียก่อน ตัวแทนจากสถานทูตออสเตรเลียได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ศาลอาญาว่า ทางสถานทูตมีแนวปฏิบัติไม่ให้ฝากโทรศัพท์มือถือกับบุคคลอื่นจึงจะขอนำโทรศัพท์เข้าห้องพิจารณาแต่จะไม่หยิบขึ้นมาใช้ระหว่างการพิจารณา ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ไม่ได้เก็บโทรศัพท์ของบุคคลใด แต่กำชับผู้ประสงค์จะเข้าห้องพิจารณาคดีไม่ให้หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาใช้แทน
 
หลังเวลา 12.00 น. เล็กน้อย พริษฐ์ถูกนำตัวขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดีด้วยรถเข็น ระหว่างการไต่สวนเจ้าหน้าที่ไม่ได้เข็นรถเขาเข้ามาที่คอกพยานศาลไต่สวนเขาจากจุดที่รถเข็นของเขาจอดอยู่บริเวณที่นั่งประชาชนหลังแนวกั้นเลยเพื่อความสะดวกโดยทนายความเป็นผู้นำไมโครโฟนไปให้กับพริษฐ์ 
 
ก่อนเริ่มการไต่สวน ผู้พิพากษาบนบัลลังก์คนหนึ่งถามพริษฐ์ว่า จำเขาได้หรือไม่ ปีที่แล้วเขาเป็นผู้พิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ พริษฐ์ตอบว่า จำได้ จากนั้นศาลถามต่อว่า พริษฐ์ไหวหรือไม่ พริษฐ์ตอบศาลว่า ไหว จากนั้นผู้พิพากษาคนเดิมบอกพริษฐ์ด้วยว่ารู้หรือไม่ว่า แม่ของเขาเป็นห่วงเขา และตัวผู้พิพากษาก็รู้สึกสงสารแม่ของพริษฐ์เช่นกันพร้อมบอกว่า แม่ทำทุกอย่างเพื่อให้พริษฐ์ได้รับการประกันตัว ศาลกล่าวด้วยน้ำเสียงเรียบๆกับพริษฐ์ด้วยว่า "อย่าดื้อกับแม่" จากนั้นพริษฐ์สาบานตัวก่อนเบิกความพร้อมแสดงสัญลักษณ์สามนิ้วแต่ไม่ได้ชูแขนขึ้นระหว่างที่สาบานตัว
 
พริษฐ์เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้เขาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สี่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ก่อนหน้านี้ในชั้นมัธยมปลายเขาเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ระหว่างนั้นเขาเคยได้รับรางวัลเพชรยอดมงกุฎสาขาประวัติศาสตร์ รวมทั้งเคยชนะเลิศการตอบปัญหารัฐศาสตร์ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ก่อนถูกคุมขังเขาพักอยู่กับคุณพ่อและคุณแม่ คือสุรีย์รัตน์และไพรัตน์ ชิวารักษ์ ตั้งแต่ถุกคุมขังเขาเคยยื่นคำร้องประกันตัวหลายครั้งแต่ก็ถูกปฏิเสธมาทุกครั้ง 
 
ทนายจำเลยถามว่า หากศาลจะมีเงื่อนไขการประกันตัวในกรณีของพริษฐ์ดังเช่นกรณีของสมยศและจตุภัทร์ อันได้แก่การไม่กระทำการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พริษฐ์ตอบทนายจำเลยทันทีว่า กิจกรรมที่เขาทำไม่ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เขาจึงยินดีที่จะปฏิบัติตาม จากนั้นทนายจำเลยอ่านเงื่อนไขข้ออื่นๆได้แก่ ไม่ออกนอกประเทศหากศาลไม่อนุญาต และจะมาปรากฎตัวต่อศาลตามนัดทุกครั้ง พริษฐ์แถลงว่า เขายอมรับเงื่อนไขดังกล่าว จากนั้นพริษฐ์แถลงต่อศาลว่าหากเขาจะต้องสวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ม เขาเกรงว่าอาจจะกระทบต่อการเดินทางไปเรียนหนังสือ 
 
ทนายจำเลยถามว่า หากศาลจะกำหนดเงื่อนไขว่าไม่ให้ไปร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองจะยอมรับหรือไม่  ถึงตอนนี้พริษฐ์ยังไม่ตอบศาลแต่ปรึกษากับทนายความ ระหว่างนั้นศาลพูดขึ้นทำนองว่า การที่ประชาชนไปชุมนุมเรียกร้องก็ถือเป็นการใช้สิทธิตามปกติ แต่จำเลยก็น่าจะทราบว่าการรวมตัวลักษณะไหนที่เป็นการก่อความวุ่นวาย หลังปรึกษาทนายความพริษฐ์แถลงต่อศาลว่าตัวเขายืนยันว่า จะเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบสันติปราศจากอาวุธ และจะไม่เข้าร่วมกับการชุมนุมหรือกิจกรรมที่เป็นการก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง พร้อมทั้งยืนยันว่าที่ผ่านมาเขาก็ทำกิจกรรมที่สันติปราศจากอาวุธมาโดยตลอด
 
จากนั้นพริษฐ์แถลงว่า เขาจะไม่กระทำการที่เป็นการเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นการก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่เดินทางออกนอกประเทศหากไม่ได้รับอนุญาต และจะมาศาลทุกนัด 
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า เกี่ยวกับสุขภาพของเขามีปัญหาอะไรบ้าง พริษฐ์เบิกความว่าเขาเป็นโรคหอบหืด ต้องพบแพทย์เฉพาะทาง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ทนายจำเลยถามว่า เขารู้จักผศ.ดร.อดิศร จันทรสุขหรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า รู้จักเพราะผศ.ดร.อดิศรเป็นรองอธิการฝ่ายการนักศึกษา มีหน้าที่ดูแลการทำกิจกรรมของนักศึกษา และหากผศ.ดร.อดิศรจะมาช่วยศาลดูแลให้เขาปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล เขาก็ยินดีที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของทั้งอาจารย์และพ่อแม่ของเขา
 
อัยการถามค้านว่า เงื่อนไขไม่กระทำการใดที่อาจเป็นการเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หมายรวมถึงการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ด้วยใช่หรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า เขาไม่เคยใช้สื่อสังคมออนไลน์สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
 
พยานปากที่สอง  สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของพริษฐ์เบิกความว่า ปัจจุบันเธออายุ 50 ปี สมรสกับไพรัตน์ ชิวารักษ์ซึ่งเป็นพ่อของพริษฐ์ สุรีย์รัตน์เบิกความว่า พริษฐ์เป็นเด็กดี เคยช่วยครูทำกิจกรรมที่สร้างชื่อเสียงให้กับสถาบันการศึกษา เธอเชื่อว่า หากพริษฐ์ไม่ถูกกักขังเขาน่าจะเรียนจบมหาวิทยาลัยโดยได้เกียรตินิยม ทนายจำเลยถามสุรีย์รัตน์ว่า พริษฐ์เคยต้องโทษจำคุกในคดีถึงที่สุดแล้วหรือไม่ สุรีย์รัตน์ตอบว่า ไม่เคย ทนายจำเลยถามว่า สุรีย์รัตน์จะช่วยดูแลให้พริษฐ์ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลได้หรือไม่ สุรีย์รัตน์ตอบว่า เธอจะพูดคุยกับลูกด้วยเหตุผลให้เขาปฏิบัติตามเงื่อนไข
.
.
พยานปากที่สาม ไพรัตน์ ชิวารักษ์ พ่อของพริษฐ์เบิกความว่า เขาอายุ 51 ปี อยู่บ้านหลังเดียวกับสุรีย์รัตน์และพริษฐ์ เขาและภรรยาเป็นผู้ดูแลส่งเสียอบรมสั่งสอนพริษฐ์ ทนายจำเลยถามว่าไพรัตน์จะช่วยกำกับดูแลให้พริษฐ์ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลได้หรือไม่ ไพรัตน์ตอบว่าที่ผ่านมาพริษฐ์ก็น่าจะไม่เคยกระทำการณ์ในลักษณะที่เป็นการผิดเงื่อนไขของศาลมาอยู่แล้ว กล่าวทำนองว่า การชุมนุมที่เข้าร่วมก็เป็นการชุมนุมโดยสงบ อย่างไรก็ตามหากศาลเห็นว่า พริษฐ์กระทำการใดที่อาจเป็นการสุ่มเสี่ยง เขาก็จะช่วยศาลตักเตือนพริษฐ์ ซึ่งที่ผ่านมาลูกชายก็เชื่อฟังเขาตลอดจึงเชื่อและมั่นใจว่า จะปฏิบัติตามเงื่อนไขได้
 
พยานปากที่สี่ ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข เบิกความว่า ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มีหน้าที่ดูแลความประพฤติ วินัย และการจัดกิจกรรม เขาทราบว่า พริษฐ์เป็นนักศึกษาชั้นปีที่สี่ คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ที่ผ่านมาพริษฐ์เป็นผู้มีความประพฤติดี ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย โดยเขาน่าจะสำเร็จการศึกษาภายในสองเทอม อดิศรเบิกความด้วยว่า เขาเชื่อว่า พริษฐ์จะปฏิบัติตามเงื่อนไข หากศาลแจ้งมาว่า พริษฐ์มีพฤติการณ์ที่อาจเป็นการขัดต่อเงื่อนไขการประกันตัวเขาก็พร้อมที่จะดูแลตักเตือนพริษฐ์เนื่องจากตำแหน่งของเขามีหน้าที่ดูแลพฤติกรรมของนักศึกษาอยู่แล้ว
 
หลังไต่สวนแล้วเสร็จในเวลาประมาณ 13.00 น. ศาลขอพักการพิจารณาเพื่อฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในห้องพิจารณาคดีและนัดว่าไต่สวนต่อในเวลา 15.00 น.ในกรณีของภาณุพงศ์ แต่จนถึงเวลา 17.20 น. ศาลยังไม่ขึ้นบัลลังก์
 
ศาลกลับมาขึ้นบัลลังก์อีกครั้งในเวลาประมาณ 18.10 น. และอ่านคำสั่งให้เลื่อนการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวภาณุพงศ์ออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่า ได้รับแจ้งจากเรือนจำพิเสษกรุงเทพเกี่ยวกับการตรวจเชื้อโควิด 19 ของภาณุพงศ์และผลออกมาปรากฏว่า ไม่พบเชื้อ อย่างไรก็ตามผลการตรวจดังกล่าวเป็นการตรวจตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่ใช่ระยะอันใกล้ ทั้งภาณุพงศ์ยังเคยสัมผัสกับอานนท์ นำภา เพื่อความปลอดภัยจึงให้เลื่อนการไต่สวนออกไป ขอให้เรือนจำทำการตรวจหาเชื้อของภาณุพงศ์อีกครั้งและรายงานต่อศาลเพื่อกำหนดวันนัดต่อไป
 
จากนั้นศาลอ่านคำสั่งของพริษฐ์ ว่ากรณีมีประเด็นต้องวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่ามีเหตุตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 วรรค 1 ที่จะไม่ให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ 
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พริษฐ์ จำเลยที่หนึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สี่ กำลังจะจบการศึกษาและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่น่าเชื่อว่าจะหลบหนี พยานหลักฐานคดีนี้อยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวนทั้งหมดแล้ว จำเลยเป็นเพียงนักศึกษาไม่มีความสามารถที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่มาเบิกความรับรองว่าจำเลยที่หนึ่งมีความประพฤติดีอยู่ในกฎระเบียบ
 
จำเลยแถลงโดยความสมัครใจว่าจะไม่กระทำการให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และไม่ร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย จำเลยได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาในคดีนี้แล้วแสดงให้เห็นว่ายอมรับในกระบวนการพิจารณาคดีของศาล อีกทั้งพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว มารดาของจำเลยที่เป็นผู้ยื่นขอประกันตัวไม่เคยผิดสัญญาประกันตัวและไม่เคยมีพฤติการณ์อื่น หลักทรัพย์ที่ยื่นขอประกันตัวจำนวน 200,000 บาทถือว่าเพียงพอกับข้อกล่าวหา แม้ศาลจะเคยสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวมาก่อนแต่พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่ามีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
 
อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการเช่นเดียวกันกับที่เป็นเหตุในคดีนี้ คือกระทำการณ์ใดๆที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย, ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในราชอาณาจักร, ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรและให้มาศาลตามกำหนดนัด
 
19 พฤษภาคม 2564

สุวรรณา ตาลเหล็ก จำเลยที่ถูกดำเนินคดีร่วมกับจำเลยทั้งเจ็ดคนแต่ไม่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ให้ข้อมูลว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์โทรมาแจ้งจำเลยในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ว่าเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 ศาลจึงจะเลื่อนการพิจารณาคดีที่เดิมนัดไว้วันนี้เป็นวันที่ 8 กรกฎาคม 2564

จากนั้นในวัน18 พฤษภาคม 2564 เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์โทรมาประสานจำเลยในช่วงเย็นว่า ศาลไม่ให้เลื่อนนัดและให้จำเลยมาศาลตามนัดเดิม อย่างไรก็ตามจำเลยหลายๆไม่สามารถมาศาลตามนัดได้เพราะบางส่วนอยู่ระหว่างการกักตัว 14 วัน และบางส่วนเข้าใจว่าศาลเลื่อนนัดแล้วจึงไปทำภารกิจอื่น ทนายจำเลยจึงแถลงเหตุจำเป็นต่อศาลแทนจำเลยที่ไม่ได้มาศาล จากนั้นศาลนัดวันพิจารณาคดีใหม่เป็นวันที่ 22 มิถุนายน 2564

21 พฤษภาคม 2564

ศาลอาญามีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องประกันตัวของอานนท์และภาณุพงศ์ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564

1 มิถุนายน 2564
 
นัดไต่สวนคำร้องประกันตัวอานนท์และภาณุพงศ์
 
ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของของอานนท์เเละภาณุพงศ์ในเวลา 10.00 น. 
 
การไต่สวนนัดนี้จำเลยทั้งสองไม่ได้ถูกเบิกตัวมาที่ศาลเพราะยังอยู่ระหว่างเข้ารับการรักษาอาการติดเชื้อโควิด19 ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 
 
ตั้งเเต่ก่อนเวลา 10.00 น. บริเวณศาลอาญามีการวางมาตราการรักษาความปลอดภัยเเละมาตราการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19อย่างเข้มงวด โดยมีการวางกำลังดูเจ้าหน้าที่บริเวณทางเข้าศาลอาญาเเละมีการตั้งจุดคัดกรองที่ลานจอดรถใกล้ธนาคารกรุงไทยสาขาศาลอาญา เจ้าหน้าที่จะสอบถามผู้มาศาลทุกคนว่ามาติดต่อราชการคดีใดและมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดแบบชั่วคราวที่จุดคัดกรองด้วย
 
การพิจารณาคดีในช่วงเช้ามีการเปิดห้องพิจารณาคดีสองห้อง ห้องพิจารณาคดีหลักคือห้อง 912 และมีการถ่ายทอดสัญญาณมาที่ห้องพิจารณาคดี 703 ด้วย ช่วงเวลาประมาณ 10.30 น. เจ้าหน้าที่ศาลอาญาพยายามเชื่อมต่อสัญญาณจากห้องพิจารณาคดี 912 แต่สัญญาณยังมีปัญหา โดยมีภาพถ่ายทอดมาจากห้อง 912 แต่ไม่มีเสียง

ระหว่างนั้นแม่และพี่สาวของภาณุพงศ์ แม่ของอานนท์ รวมทั้งไชยอมรหรือแอมมีซึ่งเป็นจำเลยคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง ขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดี 912 แต่ทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าให้ลงมาที่ห้องพิจารณาคดี 703 เนื่องจากศาลจะดำเนินกระบวนการไต่สวนคำร้องประกันตัวของชูเกียรติหรือจัสติน ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่งก่อน

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการในเวลาประมาณ 11.20 น. ศาลจึงเริ่มกระบวนการไต่สวนอานนท์และภาณุพงศ์ โดยศาลเริ่มไต่สวนอานนท์ซึ่งอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเป็นคนแรก ตามด้วยสมชาย หอมลออ ซึ่งเป็นผู้ให้การรับรองอานนท์
 
อานนท์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า เขาเริ่มประกอบอาชีพทนายความตั้งเเต่ปี 2550 และทำอยู่จนถึงปัจจุบันเ โดยได้ร่วมงานกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่น โดยคดีส่วนใหญ่ที่เขาว่าความเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและคดีสิ่งแวดล้อม 
 
เกี่ยวกับคดีนี้ อานนท์เบิกความว่าเขาไม่ได้ถูกจับกุมหรือถูกออกหมายจับ แต่เขามารายงานตัวกับอัยการตามนัด พยานหลักฐานทั้งหมดในคดีที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์และอยู่ในชั้นพิจารณาตัวเขาไม่อาจเข้าไปยุ่งเหยิงได้ รวมทั้งคดีนี้ยังมีนัดตรวจพยานหลักฐานไปแล้ว 
 
ทนายจำเลยถามอานนท์เกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด19ของเขา อานนท์เบิกความว่าเขาติดเชื้อมาจากภายในเรือนจำช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ขณะเบิกความเขากำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติโดยเเพทย์รายงานผลวินิจฉัยว่าเขาหายจากอาการติดเชื้อโควิด19 เเล้ว และอยู่ในช่วงการกักตัวเพื่อสังเกตอาการ อานนท์เเถลงด้วยว่าภายในเรือนจำมีผู้ติดเชื้อโควิด19 เป็นจำนวนมาก หากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว และต้องกลับไปอยู่ในเรือนจำเขาก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้ออีกครั้ง
 
ทนายจำเลยถามอานนท์ว่าหากศาลจะกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ได้แก่ ห้ามกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลเเละให้มารายงานตัวตามนัดของศาลทุกครั้ง อานนท์จะยอมรับหรือไม่ อานนท์แถลงว่าเขายืนยันตามบันทึกถ้อยคำประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งเขาได้ลงลายมือชื่อก่อนให้ทนายยื่นต่อศาลด้วยความสมัครใจ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม 
 
อัยการถามทนายอานนท์ว่า หากได้รับการประกันตัว อานนท์ยืนยันว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกันตัวใช่หรือไม่ อานนท์รับว่าใช่ อัยการแถลงหมดคำถาม
 
สมชาย หอมลออ ทนายความอาวุโสและที่ปรึกษาสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เบิกความตอบทนายจำเลยว่า เขารู้จักกับอานนท์มาประมาณ 10 ปีเศษ อานนท์เป็นทนายความที่ว่าความในคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม เมื่อเขาก่อตั้งสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน อานนท์มาสมัครเป็นสมาชิก 
 
สมชายเบิกความต่อว่า เท่าที่ทราบ อานนท์มีนิสัยซื่อตรง เปิดเผย จึงเชื่อว่าอานนท์จะปฏิบัติตามข้อกำหนดตามที่ได้แถลงต่อศาลไว้ 

ทนายจำเลยถามว่า สมชายจะช่วยดูแลให้อานนท์ปฏิบัติติตามเงื่อนไขของศาลได้หรือไม่ สมชายตอบว่าเขาในฐานะที่ปรึกษาสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเเละสมาชิกคนอื่นๆของสมาคมจะช่วยกันดูเเลและเเนะนำให้อานนท์ปฎิบัติตามข้อกำหนดที่ได้เเถลงต่อศาลไว้ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการไม่ถามค้าน

หลังไต่สวนอานนท์และสมชาย ศาลไต่ภาณุพงศ์ต่อ โดยภาณุพงศ์อยู่ในห้องผู้ป่วยของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติห้องเดียวกับอานนท์ระหว่างที่ศาลทำการไต่สวนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

ก่อนที่ศาลจะทำการไต่สวนมีเจ้าหน้าที่ศาลลงมาที่ห้องพิจารณาคดี 703 เพื่อเชิญแม่ของภาณุพงษ์ขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดี 912 ซึ่งเป็นห้องพิจารณาคดีหลัก

ภาณุพงศ์เบิกความตอบศาลว่าระหว่างเบิกความเขาศึกษาอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงในชั้นปีที่สาม

ภาณุพงศ์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า นอกจากการเรียนแล้ว เขาก็ทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วย โดยเขาเคยดำรงตำแหน่งคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย

เกี่ยวกับคดีนี้ภาณุพงศ์เบิกความว่า เขามารายงานตามนัดของอัยการด้วยตัวเอง ไม่เคยถูกจับกุมหรือมีพฤติการณ์หลบหนี พยานหลักฐานในคดีทั้งหมดอยู่ในชั้นพิจารณาคดีของศาลแล้ว และเขาเป็นเพียงนักศึกษา ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้

ทนายจำเลยถามภาณุพงศ์เกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด19 ของเขา ภาณุพงศ์ตอบว่าเขาติดเชื้อโควิด19จากในเรือนจำ เขาเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ขณะนี้เขารับการรักษาจนหายเป็นปกติแล้วและอยู่ในขั้นตอนการกักตัวเฝ้าระวังอาการจากแพทย์ผู้ทำการรักษา

ภาณุพงศ์ต่อว่าเรือนจำมีสภาพความเป็นอยู่แออัดและมีผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด19 เป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ต้องขังยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หากไม่ได้รับการประกันตัวและต้องกลับไปอยู่ที่เรือนจำ เขาก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้ออีกครั้ง

ภาณุพงศ์เบิกความเขาว่าได้อ่านเอกสารบันทึกถ้อยคำประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและลงชื่อกำกับไว้แล้ว สำหรับข้อกำหนดศาลเรื่องห้ามกระทำการใดๆที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตและให้มาศาลตามนัดทุกครั้ง เขาเป็นผู้แถลงยอมรับด้วยความสมัครใจ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

อัยการถามค้าน โดยกำชับให้ภาณุพงศ์ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลอย่างเคร่งครัดและขอให้กลับไปเรียนหนังสือ
 

ธนินท์ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระเบิกความว่าเขาเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิสาหกิจชุมชน ตำบลบ้านเสม็ด จังหวัดชลบุรี 
ธนินท์เบิกความตอบทนายจำเลยว่าเขารู้จักกับภาณุพงศ์ตั้งแต่ปี 2559 และเคยทำกิจกรรมร่วมกันช่วงปี 2561จนถึงปี 2563 
 
ธนินทร์เบิกความว่า เขาทราบว่าภาณุพงศ์เป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดระยอง มีผลงานให้ความช่วยเหลือและบำบัดเยาวชนในพื้นที่ที่ติดยาเสพติด นอกจากนั้นภาณุพงศ์ก็ทำกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆเช่น เก็บขยะตามชายหาดที่อำเภอบ้านฉาง รวมถึงทำกิจกรรมช่วยเหลือชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19
 
ธนินท์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ภาณุพงศ์เป็นเด็กเรียบร้อย หากภาณุพงศ์ได้รับการประกันตัว เขาจะช่วยดูแลให้ภาณุพงศ์ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลและจะพาไปร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมในลักษณะที่ไม่ขัดต่อกับเงื่อนไขของศาล
 
หลังเสร็จการไต่สวน ศาลแจ้งกับอานนท์กับภาณุพงศ์ผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนว่าจะอ่านคำสั่งในเวลา 14.30 น. 

ในเวลา 14.30 น. ผู้สังเกตการณ์ไอลอว์และผู้สังเกตการณ์ภายนอกรวมหกคนมารอฟังคำสั่งศาลที่ห้องพิจารณาคดี 703 เจ้าหน้าที่ศาลซ฿งอยู่ในห้องพิจารณาคดีคุยโทรศัพท์ครู่หนึ่งก่อนจะเดินมาแจ้งว่าให้ผู้สังเกตการณ์ทั้งหมดขึ้นไปฟังคำสั่งศาลที่ห้องพิจารณาคดี 912 ซึ่งเป็นห้องพิจารณาคดีหลักได้เลย
 
ต่อมาในเวลา 14.50 น. ศาลขึ้นบัลลังก์และอ่านคำสั่งอนุญาตให้อานนท์และภาณุพงศ์ประกันตัว ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุปได้ว่า
 

ศาลอนุญาตใหั้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสอง ตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตเเละให้มาศาลตามนัดทุกครั้ง ให้ทนายสมชาย หอมลออ เป็นผู้กำกับดูเเลอานนท์เเละให้ ธนินท์ ศิริวรรณ เป็นผู้กำกับดูเเลภานุพงศ์ให้ปฎิบัติตามข้อกำหนดศาลโดยเคร่งครัด
 
ให้จำเลยทั้งสองเข้ารับการตรวจเชื้อโควิด-19อีกครั้งเเละให้กักตัวระหว่างรอผลการตรวจเเละให้รายงายผลการตรวจกับศาล 
 
หลังฟังคำสั่งศาล ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนดำเนินการวางเงินประกันตัวอานนท์เเละภานุพงษ์ก่อนที่ทั้งสองจะได้รับการปล่อยตัวจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติในเวลาประมาณ 21.35 น.
 
7 มิถุนายน 2564 
 
นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์
 
ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องขอถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของพริษฐ์ ในเวลา 13.30น. การไต่สวนครั้งนี้เป็นการไต่สวนผู้กำกับดูแลพริษฐ์ทั้งสามคนได้แก่ ไพรัชและสุรีรัตน์ ชิวารักษ์ บิดาและมาดราของพริษฐ์ และผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
 
ตั้งแต่ก่อนเวลา 13.30น. บริเวณศาลอาญามีการวางมาตราการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีเจ้าหน้าที่เครื่องแบบตำรวจยืนรักษาความปลอดภัยบริเวณหน้าลานจอดรถและหน้าศาลอาญา บริเวณลานจอดรถใกล้ธนาคารกรุงไทยสาขาศาลอาญา เจ้าหน้าที่ตั้งจุดตรวจคัดกรองและสอบถามผู้ประสงค์จะเดินผ่านไปทางอาคารศาลอาญาทุกคนว่ามาติดต่อราชการเรื่องอะไรและมีการตั้งกล้องวงจรปิดแบบชั่วคราวที่จุดคัดกรองดังกล่าวด้วย
 
ที่หน้าห้องพิจารณษคดี 914 เจ้าหน้าที่ศาลเตรียมตะกร้าและถุงซิปล็อคสำหรับใส่อุปกรณ์สื่อสารพร้อมกับแจ้งผู้ประสงค์เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีทุกคนว่าให้ฝากอุปกรณ์สื่อสารก่อนเข้าห้องพิจารณา
 
ศาลเริ่มการพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 13.35น. โดยมีผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์รวมสี่คน ศาลเริ่มการพิจารณาโดยอ่านชื่อผู้กำกับดูแลพริษฐ์ทีละคน

จากนั้นศาลสอบถามผู้ดูแลของพริษฐ์ทั้งสามคนว่าอ่านข้อความที่พริษฐ์โพสต์แล้วหรือยัง เมื่อทั้งสามตอบว่าอ่านแล้ว ศาลจึงอ่านคำร้องขอให้ศาลยกเลิกสัญญาประกันซึ่ง สนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรและอดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้ยื่น

สนธิญาร้องว่าการที่พริษฐ์โพสต์ข้อความเรื่อง “สาส์นแรกแห่งอิสรภาพ” บนเฟสบุ๊กส่วนตัวอาจเข้าข่ายเป็นการผิดสัญญาประกัน จึงขอให้ศาลไต่สวนว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ จากนั้นศาลจึงถามความเห็นของผู้แดแลพริษฐ์ทั้งสามคน
 
ผศ.ดร.อดิศร ตอบศาลว่า เนื้อหาที่พริษฐ์โพสต์โดยตัวเองไม่มีปัญหา แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล การแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสาธารณะเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และตัวเขาได้กำชับกับพริษฐ์เรื่องการเลือกใช้คำที่อาจมีปัญหาไปแล้ว 
 
สุรีรัตน์ตอบศาลว่า ตัวเธอเห็นว่าข้อความที่พริษฐ์โพสต์อยู่ในเงื่อนไขที่ศาลกำหนด และตัวเธอก็กำชับพริษฐ์เรื่องเงื่อนไขของศาลอยู่เสมอ
 
ไพรัชตอบศาลว่า เขามีความเห็นเช่นเดียวกับสุรีรัตน์ และเห็นว่าข้อความในโพสต์ของพริษฐ์ยังเป็นไปตามข้อกำหนดของศาล 
 
จากนั้นศาลกำชับผู้กำกับดูแลพริษฐ์ทั้งสามคน ให้กำชับพริษฐ์ให้ระวังการโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาล่อแหลมและอาจขัดต่อเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลยังได้กล่าวด้วยว่าไม่อยากพบกันในลักษณะนี้อีก ขอให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย
 
กฤษฎางค์ นุตจรัส  ทนายความแถลงต่อศาลด้วยว่า หลังรับทราบเรื่องที่มีคนร้องเรียนจากศาลเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ก็ได้พูดคุยกับพริษฐ์แล้วและหากไปดูที่เฟซบุ๊กของพริษฐ์จะพบว่าหลังวันที่ 27 พฤษภาคมก็ไม่ได้มีการโพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกันนั้นอีก
 
ศาลกล่าวเพิ่มเติมว่าอยากให้ผู้ดูแลช่วยเตือนและระมัดระวังในเงื่อนไขและถ้าไม่มีการโพสต์ในลักษณะเดียวกันนี้อีก ก็จะไม่มีบุคคลใดมาร้องเรียนหรือยื่นขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประกันอีก
 
ก่อนจบกระบวนการ ศาลยังสอบถามผศ.ดร.อดิศรเรื่องการเรียนของพริษฐ์ด้วยว่าเขาจะสำเร็จการศึกษาปีไหน และการเรียนเป็นอย่างไร ศาลยังฝากให้ผศ.ดร.อดิศรช่วยดูแลเรื่องการเรียนของพริษฐ์ด้วย
 
หลังเสร็จกระบวนการ ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาให้ผู้กำกับดูแลพริษฐ์ทั้งสามคนฟังโดยสรุปได้ว่า ผู้ดูแลพริษฐ์ทั้งสามคนเห็นข้อความบนเฟซบุ๊กของพริษฐ์อันเป็นเหตุให้ สนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรมาร้องขอให้ศาลยกเลิกสัญญาประกันของพริษฐ์แล้ว
 
ผู้ดูแลทั้งสามคนเห็นว่าข้อความที่พริษฐ์โพสต์โดยตัวเองไม่มีปัญหา แต่ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ซึ่งการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และผู้กำกับดูแลทั้งสามคนก็กำชับพริษฐ์ให้ระมัดระวังเรื่องเงื่อนไขของศาลอยู่แล้ว
 
ในชั้นนี้จึงกำชับให้ผู้กำกับทั้งสามคน ดูแลให้พริษฐ์ปฏิบัติตามข้อกำหนดศาลโดยเคร่งครัด หากในอนาคตมีการกระทำในลักษณะที่อาจเข้าข่ายเป็นการผิดสัญญาประกันศาลจะต้องเรียกไต่สวน และอาจพิจารณาให้เพิกถอนสัญญาประกันในกรณีที่พบว่าการกระทำของพริษฐ์ผิดสัญญาประกัน
 
8 มิถุนายน 2564
 
นัดไต่สวนเพิกถอนการประกันตัว ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
 
การไต่สวนนัดนี้เกิดขึ้นภายหลังจากชินวัตรเข้ารับการไต่สวนละเมิดอำนาจศาลจากการร่วมชุมนุมที่หน้าศาลอาญาในวันที่ 29 เมษายน 2564 เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันให้ผู้ต้องหาและจำเลยคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนั้น โดยการไต่สวนเพิกถอนสัญญาประกันในนัดนี้มีมูลเหตุเดียวกับคดีละเมิดอำนาจศาล
 
การไต่สวนเริ่มขึ้นในเวลา 15.25 น. ก่อนเริ่มกระบวนการ ศาลสอบถามชินวัตรถึงคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาล หลังชินวัตรตอบศาลว่าเขาถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 4 เดือนในคดีดังกล่าว ศาลจึงแจ้งว่าเมื่อคดีละเมิดอำนาจศาลมีความผิดจริง จะถือว่าข้อเท็จจริงในคดีนี้ยุติไม่ต้องทำการไต่สวน
 
ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ฝ่ายจำเลยขอให้การเพิ่มเติมเนื่องจากในคดีละเมิดอำนาจศาลยังอยู่ในกระบวนพิจารณาคดีที่ยังไม่ถึงที่สุด ยังสามารถอุทธรณ์ และฎีกาได้ จำเลยจึงขอให้การปฏิเสธในคดีนี้ และยังยืนยันการให้การปฏิเสธในคดีละเมิดอำนาจศาลและจะสู้คดีต่อไปโดยอยากให้ศาลแยกความผิดเป็นคดีไป
 
ทั้งในคดีละเมิดอำนาจศาลของจำเลยยังมีข้อพิพาททางกฎหมายว่าจะเป็นการดำเนินพิจารณาคดีซ้ำกันหรือไม่ เนื่องจากจำเลยถูกดำเนินคดีสองคดีจากมูลเหตุเดียวกันคือการชุมนุมในวันที่ 29 เมษายน 2564 ได้แก่

คดีละเมิดอำนาจศาล ที่ผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลอาญาเป็นผู้ร้อง

และอีกคดีหนึ่ง คือ คดีดูหมิ่นศาล และข่มขู่เจ้าพนักงาน ที่พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธินเป็นผู้ดำเนินคดี ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้อนุญาตให้ชินวัตรปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างต่อสู้คดี
 
คดีทั้งสองเกิดจากมูลเหตุเดียวกัน และชินวัตรถูกดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีซ้ำกันสองคดี ซึ่งในประเด็นนี้ทนายความจะยื่นคำร้องต่อไปในอนาคต
 
ศาลถามชินวัตรว่า จะให้การอย่างไร ทนายจำเลยแถลงว่าจำเลยเห็นว่าการกระทำในวันที่ 29 เมษายน 2564 ยังไม่ได้เป็นการกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว การที่ชินวัตรได้รับการประกันตัวในคดีนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆไว้เป็นพิเศษ ชินวัตรเพียงแต่วางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงิน 35,000 บาทเท่านั้น ซึ่งจนถึงวันที่เบิกความยังไม่ถูกยึดเงินประกัน  และยังไม่มีการกระทำที่เข้าข่ายผิดเงื่อนไขการประกันตามหลักกฎหมายทั่วไป จึงขอให้ศาลคงปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยต่อไป
 
จากนั้นเวลา 15.50 น. ศาลมีคำสั่งว่า แม้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นจะปรากฎว่า จำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่การจะสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวต้องอาศัยเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1

ที่จำเลยกระทำการละเมิดอำนาจศาลไม่ใช่การกระทำต่อกระบวนพิจารณาของศาลนี้ จึงถือไมได้ว่าจำเลยขัดขวางวิธีพิจารณาคดีของศาล และไม่ใช่การกระทำที่ถูกฟ้องร้อง อันมีลักษณะลักษณะเป็นการก่อเหตุร้ายอื่น กรณียังไม่มีเหตุให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยต่อไป

แต่เห็นสมควรให้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมโดยห้ามไม่ให้จำเลยเข้าร่วมชุมนุมในลักษณะที่เป็นการก่อความวุ่นวายและความไม่สงบในบ้านเมือง 
 
22 มิถุนายน 2564
 
นัดพร้อม

ทนายจำเลยแถลงต่อศาลขอให้เลื่อนนั

พ.ต.อ.วรศักดิ์ระบุว่า เมื่อเขาไปถึงเขาดพร้อมออกไปก่อน เนื่องจากในนัดนี้จำเลยบางส่วนไม่สามารถมาศาลได้ บางส่วนติดนัดพิจารณาคดีของศาลอื่นที่นัดไว้ก่อนแล้ว และมีจำเลยบางส่วนที่อยู่ระหว่างการกักตัวสังเกตอาการณ์โควิด19 ศาลอนุญาตให้เลื่อนนัดออกไปโดยกำหนดนัดใหม่วันที่ 23 กรกฎาคม 2564

ระหว่างกระบวนพิจารณาคดีในช่วงเช้าศาลเรียกณัฐชนนซึ่งถูกยื่นเพิกถอนสัญญาประกันจากกรณีที่เขาร่วมการชุมนุมที่หน้าศาลอาญาในวันที่ 29 และ 30 เมษายน 2564 ไปพูดคุยและแจ้งคำสั่งว่าเนื่องจากข้อเท็จจริงในกรณีของณัฐชนนเป็นข้อเท็จจริงเดียวกับกรณีของชินวัตรซึ่งมีการไต่สวนและศาลมีคำสั่งไปแล้ว จึงไม่ต้องไต่สวนอีก และศาลแจ้งคำสั่งกับณัฐชนนลักษณะเดียวกับชินวัตรคือไม่เพิกถอนสัญญาประกัน แต่กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเรื่องห้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

จากนั้นเวลา 13.00 น. ศาลดำเนินการไต่สวนคำร้องเพิกถอนสัญญาประกันของสมยศที่ห้องพิจารณาคดีที่ 704 ซึ่งเป็นห้องพิจารณาเดียวกับที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาในช่วงเช้า

ศาลอ่านคำร้องให้สมยศฟังซึ่งสรุปได้ว่า พ.ต.ท.พิษณุ เกิดทอง รองผู้กำกับการสอบสวน สน.ชนะสงคราม เป็นผู้ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประกันของสมยศ เนื่องจากในวันที่ 30 เมษายน 2564 เขาร่วมการชุนนุมและปราศรัยที่หน้าศาลอาญา โดยที่การชุมนุมดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำผิดต่อสัญญาประกันที่สมยศเคยทำไว้กับศาลอาญา 
 
ทนายจำเลยขอศาลถามค้าน พ.ต.ท.พิษณุ ผู้ร้อง ศาลอนุญาต  พ.ต.ท.พิษณุตอบคำถามทนายโดยสรุปได้ว่า เขาไม่ได้อยู่ที่เกิดเหตุ แต่ได้รับรายงานมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาอีกทีหนึ่ง และเห็นว่าการเข้าร่วมชุมนุมปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อาจเป็นการกระทำผิดต่อสัญญาประกัน
 
จากนั้นศาลไต่ส่วนสมยศถึงพฤติการณ์ตามคำร้องดัง สมยศแถลงต่อศาลว่าเขาร่วมชุมนุมในวันที่ 30 เมษายน 2564 บริเวณหน้าศาลอาญาจริง ส่วนการปราศรัยเขาได้รับเชิญจากผู้จัดการชุมนุมที่หน้าศาลหลังเดินทางมาถึง โดยที่ไม่ได้นัดหมายหรือเตรียมการมาก่อน
 
สำหรับเนื้อหาการปราศรัยสมยศตอบศาลว่าเขาไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่พูดถึงข้อเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวผู้ต้องหาและจำเลยคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังตามสิทธิในการประกันตัวของพวกเขาเท่านั้น 

กระบวนการไต่สวนแล้วเสร็จในเวลาประมาณ  13.30 น. จากนั้นศาลสังพักการพิจารณา ก่อนจะอ่านคำสั่งในเวลา 15.35 น. ซึ่งพอสรุปได้ว่า

แม้ทางข้อเท็จจริงสมยศ จะเข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 30 เมษายน 2564 จริง แต่การปราศรัยและร่วมชุมนุมครั้งดังกล่าว จำเลยไม่มีการกระทำที่เป็นการผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวทั้งทางทั่วไป และทั้งเงื่อนไขพิเศษตามที่ผู้ร้องได้ร้องเข้ามา จึงไม่มีเหตุเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว

อย่างไรก็ดีเห็นควรให้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกข้อหนึ่ง ห้ามจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมในลักษณะที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
 
2 ธันวาคม 2564
นัดสืบพยานโจทก์
 
เวลา 09.00 น. บริเวณลานจอดรถของศาลอาญามีการตั้งจุดคัดกรองพิเศษเพื่อให้คนแจ้งเหตุในการมาติดต่อศาลอาญา หากแจ้งว่า มาชมการพิจารณาคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร สามารถเข้าไปในตัวอาคารศาลอาญา และร่วมรับชมการพิจารณาคดีได้ โดยเจ้าหน้าที่ของศาลจะจดชื่อ, เลขบัตรประจำตัวประชาชน และห้องพิจารณาคดีที่จะไปร่วมไว้ บริเวณใกล้เคียงมีรถตู้ตำรวจจอดอยู่  1 คัน แต่ไม่มีการกระจายกำลังของตำรวจ เมื่อไปถึงหน้าห้องพิจารณาคดีที่ 704 ซึ่งเป็นห้องพิจารณาคดีขนาดใหญ่ มีการขอตรวจค้นกระเป๋าเป้ของผู้สังเกตการณ์ และค้นตัวก่อนเข้าห้องพิจารณาคดี
 
เวลา 09.30 น. ทีมทนายความ และจำเลยบางส่วน และผู้มาติดตามให้กำลังใจเริ่มทยอยเข้าห้องพิจารณาคดี และมีเจ้าหน้าที่สถานทูตจากประเทศสวีเดน และลักเซมเบิร์กมาร่วมสังเกตการณ์คดี แต่ยังไม่สามารถเริ่มพิจารณาคดีได้เนื่องจากจำเลยในคดียังมาไม่ครบ จากนั้นพริษฐ์, ภาณุพงศ์, อานนท์ และจตุภัทร์ ถูกเบิกตัวจากใต้ถุนศาลขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดี โดยไม่มีเครื่องพันธนาการใดๆและทักทายกับคนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีอยู่ก่อนแล้ว และสามารถพูดคุยกับคนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีได้ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างผ่อนคลาย และผู้คุมไม่ได้ตามติดตัวจำเลยที่ใส่ชุดนักโทษ ปล่อยให้ไปพูดคุยกับคนอื่นๆ แบบส่วนตัวได้ ซึ่งต่างจากในช่วงที่คดีเข้าสู่ศาลแรกๆ ที่ผู้คุมจะตามติดจำเลยที่ถูกคุมขังอยู่
 
เวลา 10.45 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี ทนายจำเลยนำโดยกฤษฎางค์ นุตจรัส แถลงต่อศาลว่า ขอยื่นคำร้องขอเลื่อนการสืบพยานออกไป เนื่องจากจำเลยบางคนเจ็บป่วยไม่สามารถมาศาลได้และจำเลยประสงค์จะเข้าร่วมการพิจารณาคดีด้วยตนเอง ไม่ประสงค์จะให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยเพราะพยานโจทก์ปากนี้เป็นพนักงานสอบสวนที่มีความเห็นฟ้องจำเลยอีกทั้งยังเป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ  ธานี จำเลยที่ 14 ต้องเดินทางไปฉีดยารักษาดวงตาจากโรคเบาหวานตามที่หมอนัด, อดิศักดิ์ จำเลยที่ 18 ถูกมีดฟันบริเวณลำคอก่อนหน้ามีวันนัดศาลกำลังรักษาตัวอยู่ และธนพ จำเลยที่ 21 มีอาการป่วยจากผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนในวันที่ 29 พฤศจิกายน
 
จากนั้นศาลมีคำสั่งว่าให้ยกคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาคดี และให้พิจารณาลับหลังจำเลยที่ขาดนัดโดยมีเหตุจำเป็นเพื่อให้กระบวนการพิจารณาคดีไปต่อได้
 
จากนั้นทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลถึงประเด็นที่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญจากบุคคลภายนอกเพื่อนำมาใช้ในการถามค้านพยานโจทก์ ซึ่งเป็นเอกสารที่จะสามารถหักล้างข้อกล่าวหาที่จำเลยถูกกล่าวหาว่า ปราศรัยข้อความที่เป็นเท็จเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสีย และจะล้างข้อกล่าวหาตามมาตรา 116
 
กฤษฎางค์ ทนายความจำเลยแถลงกับศาลอีกครั้งถึงรายละเอียดเอกสารที่ขอให้ศาลออกหมายเรียก เช่น ข้อมูลการเดินทางเข้าออกประเทศของในหลวงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากเมื่อไปขอแล้วหน่วยงานที่ถือครองข้อมูลอย่างบริษัทการบินไทยไม่ยอมให้มาใช้ในการพิจารณาคดี ทั้งที่จำเป็นในการพิสูจน์ว่าที่ผู้กล่าวหาระบุว่าจำเลยได้มีการปราศรัยเรื่องการอยู่ต่างประเทศของในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นเท็จนั้นต้องใช้พยานเอกสารดังกล่าวในการลบล้างข้อกล่าวหาดังกล่าวให้ยุติ และยังมีตัวอย่างเอกสารอีกชิ้นที่ไม่สามารถขอมาได้คือคำพิพากษาศาลแพ่งฉบับเต็มในคดีที่กระทรวงการคลังเคยฟ้องรัชกาลที่ 7 ให้ต้องชดใช้เงินคืนแก่กระทรวงการคลัง เมื่อไปขอต่อศาลแพ่งแล้วก็ไม่ได้มาเนื่องจากไม่ใช่คู่ความในคดี
 
ตามกฎหมายแล้วถ้ามีความจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานใดเมื่อมีการขอไปที่หน่วยงานแล้วไม่ให้ ก็สามารถขอให้ศาลออกหมายเรียกมาได้ 
 
ศาลตอบกฤษฎางค์ว่า ศาลเข้าไปขอเอกสารจากภายนอกไม่ได้ ศาลไม่ได้มีอำนาจมากมายขนาดนั้น และจะเป็นการก้าวล่วงเกินไป ศาลไม่คิดว่าสามารถทำตามที่ทนายขอได้ เป็นหน้าที่ของทนายจำเลยที่ต้องแสวงหาหลักฐานดังกล่าวเอง และจำเลยมีสิทธิของจำเลยในการขอหน่วยงานต่างๆ ได้ด้วยวิธีการของจำเลยเอง
 
กฤษฎางค์ แถลงตอบศาลว่า ในทางปฏิบัติของการว่าความแล้วเมื่อต้องการพยานหลักฐานที่บุคคลภายนอกครอบครองก็ต้องขอบารมีศาลเป็นที่พึ่งในการเรียกพยานหลักฐานมาให้
 
จากนั้นจำเลยในคดีขออนุญาตศาลแถลง ศาลก็อนุญาตให้จำเลยพูด ณัฐชนน ไพโรจน์แถลงว่า อย่างที่เขาเคยโดนกล่าวหาในคดีอื่นว่า การกล่าวว่าพระพันปีหลวงไปงานศพน้องโบว์เป็นการหมิ่นประมาทฯ แต่ในชั้นสืบพยานเมื่อใช้เอกสารยืนยันเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ก็ถูกอัยการถามค้านว่าเป็นเอกสารเท็จ หรือไม่ใช่เรื่องจริงอยู่ดี ดังนั้นทำไมศาลจึงไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารที่เป็นเอกสารทางการจากทางราชการให้กับจำเลยมาใช้ต่อสู้คดี
 
นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความของภาณุพงศ์ แถลงต่อศาลว่า ภาณุพงส์ถูกกล่าวหาในประเด็นที่ปราศรัยว่า รัชกาลที่ 10 บินไปต่างประเทศแล้วลงพระปรมาภิไธยเอกสารระหว่างประทับต่างประเทศ ข้อกล่าวหานี้ก็จะยุติได้ถ้ามีบันทึกการเดินทางเข้าออกประเทศ หากศาลเรียกพยานเอกสารนี้ให้จำเลยก็จะสามารถสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ลูกความของเขาถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยเช่นเดียวกัน ซึ่งฝ่ายโจทก์ฟ้องว่า เป็นความเท็จจึงต้องการให้ศาลออกหมายเรียกพยานหลักฐานมา มิเช่นนั้นจำเลยก็ไม่สามารถต่อสู้คดีได้เพราะหากไม่มีหลักฐานฝ่ายโจทก์ก็คงไม่ยอมรับ ถ้าเป็นเช่นนั้นศาลก็พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดไปเลยก็ได้
 
สมยศ พฤกษาเกษมสุขแถลงต่อศาลว่า เมื่อถูกดำเนินคดีก็ยังไม่เคยได้เห็นว่าฝ่ายโจทก์มีหลักฐานมายืนยันว่าที่เขาปราศรัยเป็นเท็จอย่างไร ต้องการให้ศาลเรียกพยานหลักฐานเหล่านี้ศาลควรจะให้พยานเอกสารเหล่านี้แก่ฝั่งจำเลยเนื่องจากจะได้สู้คดีกันอย่างเต็มที่ ทั้งที่การพิจารณาคดีเป็นระบบกล่าวหาก็ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยที่จะต้องหาพยานหลักฐานมาเองแต่ต้องเป็นฝ่ายโจทก์ที่หามายืนยันว่าจำเลยมีการกระทำความผิด แต่เมื่อโจทก์ไม่หามาจึงต้องให้ทนายความหามาให้จึงขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานหลักฐานด้วย
 
รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความจำเลยอีกคน กล่าวถึงประเด็นที่ลูกความของเขาถูกกล่าวหาว่าการปราศรัยในประเด็นการชักธงที่พระบรมมหาราชวังแสดงถึงการประทับของในหลวงว่าอยู่ในประเทศหรือไม่นั้นเป็นความเท็จ ก็ได้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะรับทำคดีพบว่าที่รัฐสภาเยอรมันก็มีการอภิปรายเรื่องการใช้อำนาจของรัชกาลที่ 10 ว่า มีการใช้อำนาจขณะพำนักอยู่ที่เยอรมันหรือไม่ เขาจึงเห็นด้วยในการที่ศาลจะออกหมายเรียกพยานหลักฐานตามที่จำเลยได้ยื่นคำร้องไป เพราะตามฟ้องของโจทก์เองก็เพียงแต่กล่าวหาว่าจำเลยได้ปราศรัยเป็นเท็จโดยที่ไม่ได้ระบุว่าความจริงนั้นเป็นอย่างไร
 
ในส่วนของอานนท์ นำภาแถลงว่า พยานเอกสารบันทึกการเดินทางนั้นเป็นตัวชี้ขาดคดีเลย อีกทั้งเห็นว่า ถ้าได้พยานเอกสารเกี่ยวกับบันทึกการเดินทาง และเอกสารอื่นๆที่ขอมา พยานโจทก์จะได้เบิกความอยู่กับร่องกับรอย ถ้าไม่มีเอกสารเหล่านั้นพยานฝั่งโจทก์ก็อาจจะเบิกความใส่ความจำเลยไปเรื่อย อีกทั้งพยานหลักฐานที่ให้ศาลออกหมายเรียกมานี้เกี่ยวข้องกับการสืบพยานปากแรกเพราะพยานเป็นพนักงานสอบสวนในคณะทำงานที่ทำความเห็นสั่งฟ้องในข้อหามาตรา 112 ของพวกเขาด้วย อีกทั้งยังเป็นพยานที่คุมกำลังตำรวจในการดูแลกิจกรรมในวันนั้นจึงถือเป็นประจักษ์พยานด้วย
 
และหากไม่มีการนำพยานหลักฐานตามที่ขอให้ศาลออกหมายเรียกไปนี้ ในอนาคตการพิจารณาพิพากษาคดีศาลก็อาจจะยกเหตุว่าพวกเขาปราศรัยกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานมาลงโทษได้
 
ปนัสยาแถลงต่อศาลว่า มี 2 ประเด็นที่จะพูด ประเด็นแรกขอให้ศาลรับฟังทนายความ หรือจำเลยอื่นแถลงให้จบก่อน อย่าตัดการพูดของคนอื่น และพูดแทรกการแถลง และประเด็นที่สอง เมื่อมีข้อขัดแย้งศาลเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ยุติข้อขัดแย้ง และอำนวยความยุติธรรม แต่ทำไมเมื่อจำเลยร้องขอให้ศาลเรียกพยาน เนื่องจากทนายเองไปขอจากหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ได้เอกสารเหล่านั้นมา แล้วทำไมศาลจึงไม่ช่วยในการทำความจริงให้ปรากฎ
 
ศาลตอบว่า ศาลมีอำนาจอยู่ในศาล แต่ศาลไม่ได้มีอำนาจมากอย่างที่ทุกคนเข้าใจ ศาลเรียกพยานให้ทั้งหมดไม่ได้เพราะจะทำให้บุคคลภายนอก และองค์กรภายนอกศาลได้รับผลกระทบเดือดร้อนกันหมด อีกทั้งรอบนี้เป็นการสืบพยานฝ่ายโจทก์ เป็นภาระการพิสูจน์ของโจทก์ เมื่อเขายังไม่ต้องการเอกสารเหล่านี้ศาลก็ยังเรียกให้ไม่ได้
 
จากนั้นจำเลยในห้องพิจารณาคดีจึงถัดกันแถลงกับศาลแสดงเจตนาให้ศาลรับคำร้องขอเอกสารสำคัญที่ทนายความฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเข้าไป เกิดการตอบโต้กันระหว่างจำเลย, ทนายความจำเลย และศาลอยู่อีกระยะหนึ่ง จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.50 น. ศาลแจ้งว่าจะขอพักการพิจารณาคดีเพื่อนำคำร้องขอให้ศาลเรียกพยานเอกสารดังกล่าวไปปรึกษาองค์คณะ แล้วจะมีคำสั่งออกมาในช่วงบ่าย และสั่งพักการพิจารณาคดี และนัดมาที่ห้องพิจารณาคดีอีกครั้งในเวลา 13.30 น.
 
เวลา 13.30 น. เริ่มการพิจารณาคดีในช่วงบ่าย ศาลอ่านคำสั่งในกรณีคำร้องขอเรียกพยานเอกสาร ศาลเห็นว่าให้ยกคำร้องเนื่องจากพยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานของบุคคลภายนอก ไม่เกี่ยวกับจำเลย ซึ่งจำเลยควรขวนขวายหามาด้วยตัวเองก่อน และศาลเห็นว่าเอกสารตามคำร้องนั้นยังไม่ใช่เป็นเอกสารสำคัญในประเด็นแห่งคดี จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องไปก่อน
 
จากนั้นจำเลยบางคนแสดงความไม่พอใจลุกขึ้นแถลงของจำเลยต่อศาลเพื่อแสดงเจตนาว่า ต้องการเอกสารดังกล่าวในการต่อสู้คดีจริงๆ เพื่อให้เป็นการเปิดโอกาสในการให้จำเลยมีสิทธิสู้คดีอย่างเต็มที่ และโต้แย้งศาลว่าพวกเขายังไม่ได้ถูกพิพากษาว่ามีความผิดในคดีใดเลยจึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่จำเลยบางคนกลับยังต้องอยู่ในเรือนจำเนื่องจากศาลไม่ให้ประกันตัวออกมาต่อสู้คดี และหากศาลจะยังไม่ออกหมายเรียกพยานหลักฐานให้ตามที่มีการร้องขอก็ขอให้ศาลให้สิทธิประกันตัวจำเลยที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำด้วย
 
ทั้งนี้กฤษฎางค์ ทนายจำเลยแถลงว่าให้ศาลมีการบันทึกว่า ทางฝ่ายจำเลยได้ยืนยันให้ศาลออกหมายเรียกแล้ว และได้ตั้งคำถามว่า หากมีการสืบพยานไปแล้วและมีพยานเอกสารที่ต้องการเพิ่มเติมศาลจะออกหมายเรียกให้หรือไม่
 
นรเศรษฐ์ ทนายของภาณุพงศ์ แถลงต่อศาลว่า ขอให้ศาลบันทึกว่าขอเลื่อนการสืบพยานเพื่อไปขอพยานหลักฐานกับสำนักพระราชวังด้วยตนเองเพื่อมาถามค้านต่อสู้คดีในพยานปากนี้ หากศาลไม่ให้เลื่อนการพิจารณาคดีจะไม่ขอถามค้านพยานปากนี้จนกว่าที่จะได้รับเอกสารที่ร้องขอ
 
ศาลตอบว่า ให้ดูที่อัยการจะสืบพยานไปก่อน และสิ่งที่มีการแถลงกันในวันนี้ศาลจะมีการบันทึกเอาไว้เพื่อให้นำไปยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งได้ต่อไปหากฝ่ายจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง 
 
ทั้งนี้องค์คณะศาล ผู้นำกระบวนการในช่วงบ่ายเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าองค์คณะ จากนั้นจึงเปลี่ยนมาเป็นผู้พิพากษาที่นำกระบวนพิจารณาคดีในช่วงเช้าตอนเริ่มสืบพยาน
 
พยานโจทก์ปากที่หนึ่ง  พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับการสน.ชนะสงครามขณะเกิดเหตุ
 
เวลา 14.30 น. ศาลให้เริ่มการสืบพยานโจทก์ปากแรก คือ  พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร รองผู้บังคับการกองกำกับการตำรวจนครบาล 1 ซึ่งในขณะเกิดเหตุคดีนี้เป็นผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม เป็นผู้กล่าวหาในคดี ขึ้นเบิกความในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติของพยานในวันเกิดเหตุเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 
 
พ.ต.อ.วรศักดิ์ ได้เบิกความถึงอำนาจหน้าที่ของเขาในการดูแลการชุมนุมครั้งดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ในฐานะผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม เจ้าของพื้นที่ในการชุมนุมดังกล่าว และได้เบิกความไล่เรียงถึงเหตุการณ์ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์การชุมนุม กฎหมายที่บังคับใช้ในขณะนั้น การแจ้งการชุมนุมของผู้จัดการชุมนุม อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจในการดูแลการชุมนุม การวางกำลังตำรวจ และการลงพื้นที่ปฏิบัติงานของพยานเอง
 
พ.ต.อ.วรศักดิ์ระบุว่า ได้รับทราบว่าจะมีการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์จากการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 โดยมีการชักชวนประชาชนให้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ เท่าที่เขาจำได้มีจำเลยบางคนรวมแถลงข่าวด้วย คือ พริษฐ์, ปนัสยาและภาณุพงศ์ และยังมีผู้ที่ร่วมแถลงข่าวคนอื่นๆ อีกแต่จำไม่ได้แล้วว่ามีใครบ้างและในเวลานั้นมีการเรียกชื่อกลุ่มว่าอย่างไร เมื่อทราบเรื่องจึงได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อวางแผนปฏิบัติการต่อไป
 
พ.ต.อ.วรศักดิ์เบิกความต่อว่า เท่าที่เขาจำได้การชุมนุมครั้งนั้นมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อคือขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
 
พ.ต.อ.วรศักดิ์กล่าวว่า ในตอนนั้นรัฐบาลมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแต่ก็สามารถชุมนุมได้เนื่องจากช่วงเวลานั้นแม้จะมีการใช้สถานการณ์ฉุกเฉินแต่ก็ให้ชุมนุมได้ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และให้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ การชุมนุมจะต้องมีมาตราการป้องกันการระบาดของโควิด19 อย่างไรก็ตามแม้จะเสรีภาพการชุมนุมจะถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแต่การใช้เสรีภาพดังกล่าวก็ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น และจะต้องขออนุญาตชุมนุม ซึ่งพยานจะมีหน้าที่ดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างปกติและไม่มีการละเมิดกฎหมาย
 
พ.ต.อ.วรศักดิ์กล่าวต่อว่า การชุมนุมครั้งนี้ยังเป็นการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งตรงข้ามเป็นศาลฎีกาและมีพระบรมมหาราชวังในบริเวณดังกล่าวซึ่งตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้กำหนดให้การชุมนุมต้องไม่อยู่ในระยะ 50 เมตรของศาลฎีกาและ 150 เมตรของพระบรมมหาราชวัง เขาจึงได้มีการเสนอรายงานไปตามสายบังคับบัญชาเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งกำหนดพื้นที่ห้ามเข้าและมีคำสั่งออกมาในวันที่ 18 กันยายน 2563 และมีการประสานไปตามหน่วยต่างๆ ทั้งฝ่ายสืบสวนของ บก.น.1 บช.น.และตำรวจสันติบาล
 
พ.ต.อ.วรศักดิ์กล่าวถึงขั้นตอนการจัดชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ว่า ผู้จัดจะต้องแจ้งจัดชุมนุมก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง และกำหนดพื้นที่ชุมนุม เวลาเริ่ม และเวลาสิ้นสุดของการชุมนุม ระบุหัวข้อและเนื้อหาของการชุมนุม และระบุว่าใครเป็นผุ้จัดชุมนุม รวมถึงหากจะใช้เครื่องขยายเสียงต้องขออนุญาตกับทางสำนักงานเขตที่ดูแลพื้นที่ที่จะจัดชุมนุม อย่างไรก็ตามเขาระบุว่า การชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้มีผู้จัดมาขออนุญาตกับตน
 
พ.ต.อ.วรศักดิ์เบิกความเกี่ยวกับวันเกิดเหตุว่า วันนั้นเขาเข้าไปที่ สน.ชนะสงครามตั้งแต่เช้าก่อนและได้เข้าพื้นที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามที่ทางแกนนำประกาศไว้ว่าจะเริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น. อย่างไรก็ตามทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แจ้งกับพ.ต.อ.วรศักดิ์ก่อนว่า จะล็อกประตูไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปและจะให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลไว้ ผู้ชุมนุมจึงเข้าไม่ได้ เขาจึงให้ชุดปราบปราม, ชุดสืบสวนและตำรวจจราจรเข้าพื้นที่
 
เมื่อผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าไปในบริเวณมหาวิทยาลัยได้ทำให้ผู้ชุมนุมที่เริ่มจากอยู่บนทางเท้าเมื่อมีจำนวนมากขึ้นก็ลงบนถนนหน้าพระธาตุ ซึ่งขณะนั้นมีอยู่ราว 1,000 คน จากนั้นผู้ชุมนุมก็พยายามดันเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในตอนนั้นขณะที่เขากำลังอ่านประกาศที่ออกตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ว่าการชุมนุมครั้งนี้ผิดกฎหมาย และประเด็นเรื่องมาตรการควบคุมโรครวมถึงอาจมีบุคคลที่สามเข้ามาก่อเหตุแทรกซ้อนได้แต่ผู้ชุมนุมไม่ฟัง
 
ทางด้านผู้ชุมนุมก็มีแกนนำที่ใช้เครื่องขยายเสียงบนรถบรรทุกประกาศให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ได้เพื่อทำกิจกรรม พยานจำได้ว่า มีภาณุพงศ์อยู่ในบริเวณดังกล่าว และมีมวลชนพยายามพังประตูเข้าไปโดยการเขย่าจนสุดท้ายประตูก็เปิดออกแล้วผู้ชุมนุมก็กรูกันเข้าไป
 
พ.ต.อ.วรศักดิ์ก็เบิกความว่า หลังจากผู้ชุมนุมเข้าไปแล้วก็มีการถ่ายทอดสดในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ตนก็ไม่ได้ตามเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่กลับไปที่ สน.ชนะสงคราม เพื่อติดตามสถานการณ์จากการถ่ายทอดสด จนกระทั่งมีการประกาศว่าการชุมนุมจะเคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่สนามหลวงแทน ตนจึงออกจาก สน.ชนะสงคราม มาเข้าพื้นที่การชุมนุมอีกครั้ง
 
เมื่อเขามาถึงพื้นที่ชุมนุมผู้ชุมนุมบางส่วนก็เข้าไปในสนามหลวงแล้วโดยเขาทราบว่าทางกรุงเทพมหานครได้มีการปิดประตูรั้วทุกด้าน หากจะเข้าต้องปีนเข้าไปแต่เขาได้รับแจ้งจากทางกรุงเทพมหานครว่ามีการพังประตูรั้วฝั่งใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย 1 ประตู
 
ได้ประกาศเตือนอีกครั้งว่าการชุมนุมผิดพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และในเวลา 15.30 น. เขาออกคำสั่งให้ยุติการชุมนุมภายในเวลา 16.30 น. ส่วนด้านในพื้นที่สนามหลวงทางตำรวจได้ตั้งแนวรั้วกั้น 2 ชั้นเอาไว้พร้อมแนวตำรวจโดยระบุว่าเป็นพื้นที่ในก่อนถึง 150 เมตร ของพระบรมมหาราชวังและอีกชั้นคือระยะ 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง และแนวกั้น 50 เมตรจากศาลฎีกา
 
พ.ต.อ.วรศักดิ์เบิกความต่อว่า เขาได้ยินเสียงจากทางเวทีประกาศให้ผู้ชุมนุมพังแนวรั้วชั้นก่อนถึงระยะ 150 เมตร จึงมีผู้ชุมนุมดันเข้ามาทำให้ตำรวจที่รักษาแนวอยู่ต้องถอยร่นไปที่แนวระยะ 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง
 
ทั้งนี้เมื่ออัยการโจทก์ถามพยานเบิกความถึงประเด็นนี้เป็นเวลาประมาณ 16.00 น. แล้วศาลได้ถามอัยการว่ายังมีประเด็นที่ต้องเบิกความอีกเยอะหรือไม่เนื่องจากว่าใกล้จะถึงเวลา 17.00 น. แล้วซึ่งศาลยังต้องอ่านคำเบิกความของพยานและกระบวนพิจารณาคดีวันนี้ซึ่งคาดว่ากว่าจะเสร็จก็เป็นเวลา 17.00 น. และเห็นควรให้พักการสืบพยานในวันนี้ไว้เท่านี้ก่อนจะได้ไม่เครียดกันมาก จึงได้ถามคู่ความว่าให้นัดพยานมาเบิกความในวันพรุ่งนี้ (3 ธันวาคม 2564) จะคัดค้านหรือไม่ ทั้งสองฝ่ายไม่คัดค้าน ศาลจึงสั่งให้พยานมาเบิกความต่อในวันที่ 3 ธันวาคม 2564
 
ภายหลังเสร็จกระบวนพิจารณาทางด้านทนายความได้ทำเรื่องขอศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ยังถูกคุมขัง 4 คนในคดีนี้ ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และพริษฐ์ ชิวารักษ์ โดยจะขอยื่นคำร้องขอประกันตัวในทุกคดีที่ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว หลังยื่นคำร้องศาลได้มีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัวของทั้ง 4 คน ในวันที่ 17 ธันวาคม 2564 เวลา 10.00 น.
 
——–
 
หมายเหตุ เอกสารที่ทนายความจำเลยร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานให้
 
1. เอกสารทางราชการแสดงรายละเอียดการเดินทางเข้าออกประเทศของรัชการที่ 10 นับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 จนถึง 20 กันยายน 2563
 
2. รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560-พ.ศ.2563
 
3. รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560-พ.ศ.2564
 
4. คำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 197/2482 หมายเลขแดงที่ 278/2482 ศาลแพ่ง ระหว่างกระทรวงการคลัง โจทก์ และ สมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชการที่ 7 จำเลยที่ 1 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี จำเลยที่ 2
 
5. คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำที่ 197/2482 หมายเลขแดงที่ 278/2482 ศาลแพ่ง ระหว่างกระทรวงการคลัง โจทก์ และ สมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชการที่ 7 จำเลยที่ 1 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี จำเลยที่ 2
 
6. คำเบิกความพยานโจทก์คดีหมายเลขดำที่ 197/2482 หมายเลขแดงที่ 278/2482 ศาลแพ่ง ระหว่างกระทรวงการคลัง โจทก์ และ สมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชการที่ 7 จำเลยที่ 1 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี จำเลยที่ 2
 
29 มีนาคม 2565
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เบื้องต้นในนัดนี้ทนายจำเลยมีกำหนดถามค้านพยานโจทก์ปากพ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร พยานโจทก์ปากแรกที่เป็นผู้กล่าวหาซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นผู้กำกับการสน.ชนะสงคราม อัยการถามความพยานปากนี้ในวันที่ 2 – 3 ธันวาคม 2564 จนเสร็จแล้ว

ก่อนเริ่มขั้นตอนการถามค้าน หนึ่งในทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ในการพิจารณาคดีนัดที่แล้วทนายจำเลยเคยยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญไปยังศาลแพ่ง รัชดา, ศาลอุทธรณ์, สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, บริษัทการบินไทย รวมถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แต่ศาลให้จำเลยไปหาหลักฐานมาก่อน

ทนายจำเลยจึงดำเนินการประสานงานเพื่อขอเอกสารจากหน่วยงานต่างๆ มีเพียงบางหน่วยงานที่ตอบกลับมาว่าต้องให้ทนายจำเลยนำหมายเรียกเอกสารจากศาลอาญามามอบให้ก่อนจึงจะส่งมอบเอกสารให้

อัยการแถลงชี้แจงทนายจำเลยว่าพยานปากนี้ไม่ได้เบิกความในประเด็นเกี่ยวกับการปราศรัยของจำเลย จึงยังไม่จำเป็นต้องใช้พยานเอกสารดังกล่าวมาถามความพยานปากนี้ แต่ทนายจำเลยโต้แย้งว่าพยานปากดังกล่าวเป็นผู้กำกับสน.ชนะสงคราม และเป็นคณะทำงานผู้พิจารณาแจ้งข้อหามาตรา 112 กับจำเลย พยานปากนี้จึงมีส่วนเกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องใช้พยานเอกสารดังกล่าวมาใช้ในการถามความพยานปากนี้
 
หลังอัยการและทนายจำเลยโต้เถียงกันในประเด็นดังกล่าวประมาณ 45 นาที ศาลจึงสั่งให้พักการพิจารณาคดีและออกจากห้องพิจารณาคดี เพื่อไปหารือเรื่องการออกหมายเรียกพยานเอกสารตามที่ทนายจำเลยร้องขอกับผู้บริหารศาลอาญา เมื่อกลับเข้ามาในห้องพิจารณาคดี ศาลแจ้งกับทนายจำเลยว่าคณะผู้บริหารศาลอาญายังคงมีความเห็นว่าให้ยกคำร้องขอออกหมายเรียกพยานเอกสารโดยให้เหตุผลว่าเอกสารที่ทนายจำเลยร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกไม่เกี่ยวข้องกับพยานปากนี้ ศาลยังแจ้งกับทนายจำเลยด้วยว่าให้ถามค้านพยานไปเลยเพื่อไม่ให้เสียเวลา 
 
หนึ่งในทนายจำเลยจึงแถลงต่อศาลว่า เขาไม่สามารถถามค้านพยานปากนี้ได้ เพราะจำเป็นจะต้องถามคำถามเกี่ยวกับการปราศรัยแต่ไม่มีเอกสารที่จะใช้ถาม 
 
สมยศ หนึ่งในจำเลยแถลงต่อศาลว่าเขาไม่ประสงค์จะให้ทนายจำเลยถามค้านเพราะเขากับพวกถูกกล่าวในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 แต่กลับไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ 
 
หลังการพิจารณาคดีต้องชะงักไปเพราะประเด็นการขอออกหมายเรียกพยานเอกสารครู่ใหญ่ ทนายจำเลยจึงแถลงต่อศาลขอพิจารณาคดีเป็นการชั่วคราวเพื่อที่ทนายความจะได้ปรึกษากับลูกความและปรึกษากันเองในประเด็นดังกล่าว  
 
หลังการหารือ ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส แถลงต่อศาลในฐานะตัวแทนคณะทนายความและจำเลยว่า เนื่องจากมีพยานเอกสารสำคัญที่ฝ่ายจำเลยต้องการจะนำมาใช้ในการถามถามพยานปากนี้และปากอื่นๆ ซึ่งศาลเคยให้ฝ่ายจำเลยแสวงหาเอกสารด้วยตัวเอง แต่หน่วยงานต่างๆไม่ให้เอกสารมา
 
ฝ่ายจำเลยจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าวอีกครั้งในนัดนี้ แต่เมื่อศาลปรึกษาผู้บริหารศาลแล้วยืนยันว่า จะไม่ออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวให้เพราะไม่เกี่ยวกับคดี ฝ่ายจำเลยจึงจำเป็นต้องขออนุญาตเลื่อนนัดการพิจารณาคดีออกไปก่อนเพื่อหารือกับผู้บริหารศาลในประเด็นดังกล่าว ซึ่งศาลอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานในวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่คู่ความกำหนดวันนัดไว้ก่อนแล้ว
 
24 พฤษภาคม 2565 
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลา 10.30 น. หลังศาลเริ่มกระบวนพิจารณา ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าในนัดนี้มีจำเลยสองคนคือพริษฐ์และอรรถพล พริษฐ์ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้เพราะติดนัดรายงานตัวต่อสัญญาประกันที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ส่วนอรรถพลมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด19 หลังทนายจำเลยแถลงต่อศาล ศาลอนุญาตพิจารณาคดีจำเลยทั้งสองลับหลังได้
 
จากนั้นทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ในนัดพิจารณาคดีที่เป็นนัดต่อเนื่องกับนัดนี้ในเดือนมิถุนายนจำเลยบางส่วนติดภารกิจคดีอื่น ได้แก่ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ปนัสยามีกำหนดเข้ารายงานตัวเพื่อต่อสัญญาประกันที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ส่วนในวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 อานนท์มีกำหนดต้องเข้ารายงานตัวเพื่อเข้ารับการพิจารณาว่าทำผิดสัญญาประกันหรือไม่ จึงมีความจำเป็นต้องขออนุญาตให้ศาลเลื่อนนัดการพิจารณาคดีออกไป 
 
ศาลหารือกับทนายจำเลยว่ามีแนวทางสองทาง ได้แก่ให้ฝ่ายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังเพื่อให้สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้เลย หรืออีกทางคือให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไป โดยข้อนี้ศาลแสดงความกังวลว่านัดพิจารณาคดีนี้มีการเลื่อนนัดทำให้เวลาล่วงเลยไปพอสมควรแล้ว ทนายจำเลยแถลงต่อศาลซึ่งเป็นองค์คณะใหม่ฝ่ายจำเลยได้เคยทำความตกลงกับผู้พิพากษาองค์คณะก่อนว่าจะเลยบางคนจะขออนุญาตให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีลับหลัง แต่จำเลยบางคน เช่น พริษฐ์ ประสงค์จะเข้าร่วมการพิจารณาคดีด้วยตัวเอง
 
ในนัดนี้ทนายจำเลยยังแถลงต่อศาลด้วยว่า ทนายความเคยแถลงต่อองค์คณะผู้พิพากษาชุดก่อน ขอให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญ อาทิ เอกสารบันทึกการเสด็จเข้าออกประเทศของรัชกาลที่สิบ มาเข้าสำนวนเพื่อใช้ประกอบการถามพยาน เพจำเลยถูกกล่าวหาว่าปราศรัยเรื่องที่เป็นเท็จ ศาลตอบทนายความในประเด็นนี้ว่า บางเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีอาจนำไปสู่เหตุอื่นที่ไม่เหมาะสม 
 
ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าได้เคยหารือกับผู้บริหารศาลเกี่ยวกับอำนาจในการออกหมายเรียกพยานเอกสารแล้ว ผู้บริหารศาลแจ้งว่าอำนาจการออกหมายเรียกพยานเอกสารเป็นอำนาจขององค์คณะที่พิจารณาคดี ไม่ใช่อำนาจของผู้บริหารศาล ศาลตอบทนายจำเลยในประเด็นนี้อีกครั้งว่าในการออกหมายเรียกพยานเอกสาร ศาลจำเป็นจะต้องดูภาพรวมด้วย เพราะนอกจากกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแล้วยังอาจมีกฎหมายอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
 
จากนั้นศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกนัดสืบพยานที่เดิมนัดไว้วันที่ 24 – 27 พฤษภาคมเพราะจำเลยบางส่วนมีเหตุขัดข้องและอัยการเองก็แถลงว่าพยานที่นัดให้มาศาลในวันที่ 25 พฤษภาคม ติดภารกิจสำคัญ ไม่สามารถมาศาลในวันดังกล่าวได้ และศาลให้เลื่อนไปสืบพยานในวันที่ 7 – 10 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่นัดไว้เดิมแล้ว
 
7 มิถุนายน 2565
 
นัดสืบพยานโจทก์ 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลเลื่อนนัดพิจารณาคดีออกไปเนื่องจากอัยการติดเชื้อโควิด19 และอยู่ระหว่างรักษาตัว ขณะที่ฝ่ายจำเลยก็แถลงขอเลื่อนนัดพิจารณาคดีออกไปเช่นกันเนื่องจากทนายจำเลยบางส่วนมีอาการป่วยจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ศาลจึงให้เลื่อนไปสืบพยานในวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่นัดไว้เดิมอยู่แล้ว
 
ในนัดนี้ศาลแจ้งกับทนายจำเลยว่า ตามที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารเข้ามาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ศาลมีคำสั่งให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีที่กระทรวงการคลังฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เจ็ด โดยระบุเหตุผลว่า
 
“เพื่อความสงบสุขของสังคมส่วนรวมเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายเป็นหลักประกันหรือคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา เห็นควรออกหมายเรียกคำฟ้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้"
 
แต่ในส่วนของเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่สิบศาลยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่า 
 
“รายละเอียดการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ และรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะเปิดเผยไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 14 ไม่อาจออกหมายเรียกให้ได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้ ให้ผู้ร้องรับหมายไปส่งได้”
 
โดยศาลกล่าวกับทนายจำเลยด้วยว่า เรื่องการเสด็จพระราชดำเนินของรัชกาลที่สิบเป็นหน้าที่ของโจทก์พิสูจน์ว่าจริงเท็จอย่างไร หากโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ก็ต้องยกประโยชน์ให้จำเลยในส่วนนี้ไป
 
8 กรกฎาคม 2565
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในนัดนี้ทนายจำเลยแถลงต่อศาลขอให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อน เพราะแม้ก่อนหน้านี้ศาลอาญาออกจะหมายเรียกพยานเอกสารเกี่ยวกับคดีที่กระทรวงการคลังเป็นโจทก์ฟ้องรัชกาลที่เจ็ดไปยังศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ แต่ศาลอาญามีคําสั่งแก้ไขคำร้องของทนายจำเลย จากให้ส่งหมายถึงประธานศาลอุทธรณ์ เป็นส่งหมายถึงผู้อํานวยการ สํานักอํานวยการประจําศาลอุทธรณ์ เพื่อขอเรียกพยานเอกสาร
 
แต่ผู้อํานวยการ สำนักอำนวยการศาลอุทธรณ์ตอบกลับมาว่า ผู้มีอำนาจสั่งคำร้องคำขอต่างๆคือประธานศาลอุทธรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจดังกล่าว  รองประธานศาลอุทธรณ์ หรือผู้พิพากษาตามที่ประธานศาลอุทธรณ์มอบหมาย ไม่สามารถส่งหมายมาศาลอาญาได้ นอกจากนี้ศาลอาญาได้มีคําสั่งให้ส่งเอกสารภายในวันที่ 7 มิ.ย. 2565 แต่ทางผู้อํานวยการเพิ่งได้รับหมาย เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2565 จึงเป็นเหตุขัดข้องทำให้ไม่อาจดําเนินการตามหมายเรียกได้ 
 
นอกจากส่งหมายเรียกเอกสารไปที่ศาลอุทธรณ์แล้ว ทนายจำเลยยังนำหมายเรียกเอกสารส่งถึงผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการประจำศาลแพ่งด้วย แต่ผู้อำนวยการปฏิเสธที่จะรับหมายเรียกเอกสารโดยอ้างว่า หมายเรียกฉบับดังกล่าวมีการแก้ไขและวันที่ที่ระบุให้ส่งเอกสารไปยังศาลแพ่งได้ล่วงเลยมาแล้ว จึงไม่อาจส่งหมายให้ได้ เนื่องจากเอกสารทั้งสองฉบับเป็นเอกสารสำคัญ เมื่อยังไม่ได้รับมาทนายจำเลยจึงยังไม่สามารถถามค้านพยานโจทก์ปากแรกซึ่งเป็นผู้กล่าวหาได้
 
ในนัดนี้ ปนัสยา พริษฐ์ อานนท์ สมยศ ภาณุพงศ์ และ จตุภัทร์ ยังยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารที่เหลือที่ศาลอาญายังไม่ออกหมายเรียกให้ได้แก่ ข้อมูลการเดินทางเข้าออกประเทศในการเดินทางไปประเทศเยอรมนีของรัชกาลที่สิบตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 – 20 กันยายน 2563 จากทั้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและการบินไทย รวม 2 รายการ ข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณส่วนพระองค์ประจำปีงบประมาณ 2563 และ ข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี 2560-2564 อีกครั้งหนึ่งด้วย
 
หลังทนายจำเลยแถลงขอเลื่อนนัดพิจารณาคดี ศาลอนุญาตให้เลื่อนนัดพิจารณาคดีออกไปเป็นวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ตามที่นัดไว้เดิม เพื่อให้โอกาสจําเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ โดยโจทก์แถลงไม่คัดค้าน ศาลยังสั่งให้ยกเลิกนัดสืบพยานที่เดิมนัดไว้วันที่ 22 และ 26 – 27 กรกฎาคม 2565 ด้วยเพราะเห็นว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีวันหยุดมาก อาจทำให้จำเลยดำเนินขอหมายเรียกพยานเอกสารไม่ทัน 

5 สิงหาคม 2565

นัดสืบพยานโจทก์

ศาลอาญานัดสืบพยานในเวลา 9.00 น. สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยในนัดนี้มีตำรวจศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประมาณหกถึงแปดนายประจำการอยู่ด้านในห้องพิจารณาคดีเพื่อดูแลความเรียบร้อยในนัดนี้จำเลยมาศาลไม่ครบทุกคน จำเลยบางส่วนที่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ดำเนินกระบวนพิจารณาลับหลังไม่ได้มาศาลขณะที่ชินวัตร จำเลยที่สิบในคดีนี้ซึ่งถูกฝากขังในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุมที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ก็ไม่ได้ถูกเบิกตัวมาศาลในนัดนี้

ศาลเริ่มการพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 10.30 น. 

ในนัดนี้ศาลแจ้งกับทนายจำเลยว่าจะไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ โดยให้เหตุผลว่า การเปิดเผยเอกสารที่ทนายร้องขออาจก่อให้ความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ศาลจึงมีอำนาจที่จะไม่ออกหมายเรียกให้ตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 15 (1) นอกจากนั้นศาลก็เห็นว่าการเอกสารเหล่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี ในนัดนี้จึงขอให้ทนายจำเลยเริ่มการซักถามค้านพยานโจทก์ไปเลย
 
ทนายจำเลยแถลงคัดค้านว่า โจกท์มีหน้าที่ในการนำสืบและทนายจำเลยมีหน้าที่ในการถามค้าน ทนายจำเลยจำเป็นต้องใช้หลักฐานเอกสารที่ขอให้ศาลออกหมายเรียกเพื่อหักล้างการนำสืบของโจกท์ เมื่อโจกท์ฟ้องว่าจำเลยบางส่วนกระทำความผิดด้วยการปราศรัยซึ่งข้อความอันเป็นเท็จ ฝ่ายจำเลยจึงต้องการเอกสารเหล่านั้นเพื่อพิสูจน์ว่าข้อความที่จำเลยปราศรัยเป็นความจริง
 
เอกสารที่ขอให้ศาลออกหมายเรียกจึงเป็นประเด็นแห่งคดี ทนายจำเลยยังเทียบเคียงกับกรณีคดีฆ่าคนตายว่า หากโจกท์ฟ้องว่าจำเลยฆ่าคนตาย แต่จำเลยไม่สามารถเรียกพยานหลักฐานเทปวิดีโอกล้องวงจรปิดเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยอยู่สถานที่อื่นในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ จำเลยก็ย่อมไม่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองได้
 
ที่ศาลยกประเด็นพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯขึ้นมา ทนายจำเลยแถลงว่าหากพิจารณาที่หลักการและเหตุผลของกฎหมายดังกล่าวจะพบว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯถูกบัญญัติขึ้นเนื่องจากมีกรณีที่ประชาชนขอข้อมูลจากหน่วยงานรัฐแต่ไม่ได้รับข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของรัฐ พ.ร.บ ข้อมูลข่าวสารฯจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีที่ศาลหรือหน่วยงานของรัฐจะดำเนินการขอเอกสารภายในกันเอง

การออกหมายเรียกพยานเอกสารของศาลจึงไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ หากจำเลยไม่ได้พยานเอกสารตามที่ทนายจำเลยขอให้ศาลออกหมายเรียก จำเลยก็ย่อมไม่ได้รับการโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
 
ทนายจำเลยแถลงต่อว่า หากศาลยืนยันว่าจะไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารตามที่ร้องขอ ทนายจำเลยจะยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบกระบวนการทำงานของศาลว่าเหตุใดจึงไม่สามารถออกหมายเรียกพยานเอกสารให้จำเลยได้

นอกจากนั้นก็จะยื่นคำร้องขอเอกสารทั้งสามฉบับจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินฯ ผ่านทางคณะกรรมธิการพิจารณางบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร จึงขอให้ศาลเลื่อนนัดสืบพยานโจกท์ออกไปก่อนเพื่อที่ทนายจำเลยจะได้ยื่นเรื่องขอพยานเอกสารต่างๆ ตามที่ได้แถลงไป
 
หลังทนายจำเลยแถลงต่อศาล ศาลตอบทนายจำเลยว่าศาลจะต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีต่อไปเพื่อให้สามารถอำนวยความยุติธรรมให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้องตามกระบวนการ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่ทนายจำเลยจะได้รับพยานเอกสารที่ต้องการ หากปล่อยให้มีการเลื่อนนัดสืบพยานต่อไปอาจทำให้กระบวนพิจารณาคดีล่าช้า

ศาลระบุด้วยว่า ดุลยพินิจในการพิจารณาประเด็นแห่งคดีเป็นของศาล และหากทนายจำเลยไม่ประสงค์จะถามค้านจนกว่าจะได้รับเอกสารมาก็จะขอให้อัยการถามความพยานโจทก์ไปก่อนจนแล้วเสร็จเพื่อที่ทนายจำเลยจะได้ดำเนินการแสวงหาเอกสารหลักฐานในระหว่างนั้น และหากทนายจำเลยสามารถแสวงหาเอกสารได้ก็สามารถนำมาใช้ถามค้านพยานโจทก์ได้ในภายหลัง

หรือไม่เช่นนั้นก็ให้ถามค้านพยานโจทก์ไปโดยไม่ต้องใช้พยานเอกสารเหล่านั้น หากในอนาคตทนายจำเลยสามารถแสวงหาพยานเอกสารมาได้ก็สามารถนำเอกสารเข้าสู่สำนวนในขั้นตอนของการสืบพยานฝ่ายจำเลยได้ซึ่งศาลก็ต้องรับฟังคำพยานทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยอย่างเท่าเทียมกันอยู่แล้ว 
 
ทนายจำเลยแถลงคัดค้านว่า หากให้โจกท์สืบพยานทั้งหมดไปก่อนอาจทำให้ฝ่ายจำเลยเสียเปรียบในการสืบพยาน เพราะหากพยานโจทก์ทราบว่าฝ่ายจำเลยมีเอกสารหลักฐานที่จะใช้โต้แย้งคำเบิกความของพยานโจทก์ พยานโจทก์ก็อาจเปลี่ยนแปลงคำเบิกความได้ ทนายจำเลยจึงขอให้ศาลพิจารณาเลื่อนนัดสืบพยานโจกท์ออกไปอีกครั้ง เพื่อให้มีฝ่ายจำเลยมีเวลาเตรียมพยานเอกสารตามขั้นตอนที่แถลงไป เพื่อให้ฝ่ายจำเลยได้มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ 
 
เวลา 11.05 น. ศาลขอพักการพิจารณาคดีชั่วคราวเพื่อออกไปปรึกษาหารือนอกห้องพิจารณาคดี จากนั้นเวลา 11.25 น. ศาลกลับเข้ามาในห้องพิจารณาคดีอีกครั้งและแจ้งคู่ความว่าศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีฝ่ายใดที่เสียเปรียบ ขั้นตอนทั้งหมดเป็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่แล้ว ศาลจึงจะไม่ให้การเลื่อนการพิจารณาคดีนัดนี้ออกไป 
 
พริษฐ์ขอแถลงต่อศาลว่า ประเด็นที่ศาลต้องการให้กระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่รบกวนเวลาเรียนหรือเวลาทำงานของจำเลย ฝ่ายจำเลยขอขอบคุณที่ศาลเห็นใจฝ่ายจำเลย แต่หากศาลเห็นใจจำเลยจริงก็ไม่ควรรับฟ้องคดีนี้แต่แรก การพูดความจริงไม่เป็นอาชญกรรม

สิ่งที่ฝ่ายจำเลยคาดหวังจากกระบวนการยุติธรรมคือความยุติธรรม ความยุติธรรมจะอำนวยได้ และเป็นที่ยอมรับได้จะต้องมีกระบวนการที่สง่างาม ซึ่งหมายถึงการที่หลักฐานของทั้งสองฝ่ายจะต้องได้รับการนำเสนอเข้าสู่ศาลอย่างเท่าเทียมกัน การสืบพยานโจกท์ต่อไปโดยไม่มีหลักฐานของฝ่ายจำเลยตั้งแต่แรก ย่อมเป็นเหมือนกับการมัดมือชกฝ่ายจำเลย
 
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยพูดโกหก โกหกประชาชน โกหกสังคม แต่สิ่งที่ฝ่ายจำเลยพูดเป็นไปด้วยความหวังดี ไม่มีเจตนาดูหมิ่น ไม่มีเจตนาอาฆาตมาดร้าย เพียงแต่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ดำรงอยู่คู่สังคมไทยอย่างสง่างาม จำเลยจึงต้องการใช้พยานเอกสารเพื่อพิสูจน์ความจริงในสิ่งที่จำเลยพูด ซึ่งหลักการที่ตัวเขาพูดไม่ควรถูกบังคับใช้เฉพาะกับจำเลยคดีนี้ แต่ใช้กับคนทุกคนทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน จะเป็นพริษฐ์ ชิวารักษ์, สุเทพ เทือกสุบรรณหรือประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเข้าสู่กระบวนการตรงนี้ก็ต้องปฏิบัติให้เหมือนกัน เพราะหากกระบวนการไม่มีความยุติธรรม ประชาชนก็จะเสื่อมศรัทธา ศาลควรออกหมายเรียกพยานเอกสารหรือเลื่อนัดการพิจารณาคดีให้จำเลยคดีนี้ อย่าเร่งรัดกระบวนการจนสูญเสียความยุติธรรม
 
หลังพริษฐ์แถลงจบศาลตอบพริษฐ์ว่า ศาลจะไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ และพยานเอกสารดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี ขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป
 
สมยศแถลงต่อศาลว่า ขอให้ศาลเลื่อนนัดสืบพยานโจกท์ออกไป เนื่องจากเขามีข้อโต้แย้งต่อกรณีที่ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ เขารู้สึกสับสนในอำนาจหน้าที่นี้ของศาล ที่ตั้งแต่การพิจารณาคดีครั้งแรกที่ทนายจำเลยขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารแต่ศาลไม่ออกหมายเรียกให้ ครั้งนั้นศาลตอบทนายจำเลยว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของศาลแต่เป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีศาลอาญา แต่เมื่อทนายจำเลยไปถามกับอธิบดีศาลอาญากลับได้คำตอบว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาที่พิจารณาคดี

ศาลตอบกลับคำแถลงของสมยศว่า ขอให้สมยศไปปรึกษาประเด็นนี้กับทนายความเพราะสมยศอาจไม่มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการกฎหมายอย่างเพียงพอ
 
ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ปัญหาของการพิจารณาคดีนี้อยู่ที่ศาลไม่ใช่จำเลยเพราะศาลไม่ยอมออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ฝ่ายจำเลย ทนายจำเลยจึงไม่สามารถถามค้านพยานโจทก์ได้  ศาลแย้งทนายจำเลยว่าการหาหลักฐานมาต่อสู้เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดเป็นหน้าที่ของจำเลยมาตั้งแต่ต้นแล้ว
 
ทนายความและจำเลยหลายคนพยายามขอแถลงต่อศาล แต่ศาลไม่อนุญาตให้แถลง อ้างว่า หากปล่อยให้มีการแถลงต่อไป การพิจารณาคดีย่อมไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ครั้งนี้ศาลจะยอมเลื่อนการพิจารณาคดีให้อีกครั้งหนึ่ง แม้จะเคยเลื่อนการพิจารณาคดีมาหลายครั้งแล้ว จากนั้นศาลแจ้งคู่ความว่าจะออกไปเขียนคำสั่งจากนั้นในเวลา 12.15 น. ศาลกลับเข้ามาในห้องพิจารณาคดีอีกครั้งและอ่านคำสั่งซึ่งพอสรุปได้ว่า 
 
พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้ ศาลได้เสนอแนวทางให้โอกาสจำเลยทุกปากได้ถามค้านพยาน แต่เนื่องจากยังไม่ได้เอกสารซึ่งทนายจำเลยทุกปากแถลงร่วมกันว่าเป็นหลักฐานสำคัญและคดีนี้มีอัตราโทษสูง จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีเต็มที่ ประกอบกับโจกท์ไม่คัดค้าน แต่เนื่องจากคดีได้มีกำหนดนัดวันไว้ล่วงหน้าแล้ว หากเลื่อนนานเพื่อติดตามเอกสาร จะทำให้กระบวนการพิจารณาคดีล่าช้า อีกทั้งไม่แน่นอนว่าจะได้เอกสารมาเมื่อใด 

จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยติดตามพยานอีกครั้งหนึ่ง หากครั้งนี้ไม่สามารถติดตามพยานเอกสารมาได้ จะดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป จากนั้นศาลนัดคู่ความสืบพยานนัดต่อไปวันที่ 20 กันยายน 2565 ศาลกำชับทนายจำเลยว่าให้เร่งรัดติดตามเอกสารหลักฐานให้มาพร้อมสืบในวันนัด และศาลจะไม่อนุญาตให้เลื่อนนัดพิจารณาคดีเพราะเหตุนี้อีก

 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา