ปฏิทินเป็ดราษฎร

อัปเดตล่าสุด: 03/04/2566

ผู้ต้องหา

“ต้นไม้”

สถานะคดี

ชั้นอัยการ

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ร.ต.อ.สุระเดช ก้านสัญชัญ พนักงานสอบสวน สน.หนองแขม กับพวก เป็นผู้กล่าวหา

สารบัญ

"ต้นไม้" และพิชญ์ ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดทำ และจัดจำหน่ายปฏิทินเสียดสีการเมือง “ปฏิทินพระราชทาน รุ่นพิเศษ รวมทุกคำสอนของเรา” โดยเจ้าหน้าที่เห็นว่าเนื้อหาของปฏิทินอาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

เจ้าหน้าที่สายสืบใช้วิธีล่อซื้อปฏิทินเพื่อหาตำแหน่งที่ตั้งของที่พักของ "ต้นไม้” เมื่อระบุตำแหน่งที่ตั้งได้พนักงานสอบสน.หนองแขมก็ขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญาตลิ่งชันเพื่อทำการตรวจค้นที่พักของ “ต้นไม้” ในวันที่ 31 ธันวาคม 2564
 
หลังทำการตรวจค้นเจ้าหน้าที่ทำการยึดปฏิทินเป็ดจำนวน 174 ชุด จากที่พักของ "ต้นไม้" และนำตัว "ต้นไม้" ไปควบคุมและสอบสวนที่สน.หนองแขม “ต้นไม้” ถูกควบคุมตัวที่สน.หนองแขมถึงวันที่ 2 มกราคม 2564 จึงถูกนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาตลิ่งชันฝากขัง

ศาลอนุญาตให้ฝากขังแต่ก็อนุญาตให้ “ต้นไม้” ประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลเป็นหลักประกัน

จากนั้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 พิชญ์ ผู้ต้องหาในคดีอีกคนหนึ่งถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม เขาไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 และได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันเนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้ส่งศาลเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

"ต้นไม้" ขอสงวนการให้ข้อมูล
 
พิชญ์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เคยทำกิจกรรมทางการเมืองมาก่อนและไม่ได้สังกัดกลุ่มกิจกรรมใด

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

พนักงานสอบสวน สน.หนองแขม บรรยายพฤติการณ์แห่งคดีในบันทึกการสอบสวน ซึ่งพอสรุปได้ว่า

จากการติดตามของเจ้าหน้าที่พบว่าเพจเฟซบุ๊ก “คณะราษฎร” 

มีประกาศขายปฏิทินประจำปี 2564 ซึ่งมีข้อความบนปฏิทินว่า “ปฏิทินพระราชทาน รุ่นพิเศษ รวมทุกคำสอนของเรา” จึงทำการสืบสวนติดตามโดยสั่งซื้อสินค้า และพบว่ามีการใช้บัญชีธนาคารของผู้ต้องหาทั้งสองสำหรับรับชำรนะเงินค่าสินค้าและมีชื่อของ "ต้นไม้" เป็นผู้ทำการจัดส่ง
 
เมื่อทำการตรวจสอบข้อความและภาพบนปฏิทินพบว่าเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 จึงทำการสั่งซื้อปฏิทินเพิ่มโดยให้จัดส่งทางแมสเซนเจอร์จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงพิสูจน์หาพิกัดที่ของถูกส่งมา 
 
ในวันที่ 31 ธันวาคม 2563  สายข่าวทำการสั่งซื้อปฏิทินอีกครั้งและให้ผู้ต้องหาจัดส่งสินค้าโดยใช้แมสเซนเจอร์เช่นเดิม พร้อมทั้งวางกําลังเฝ้าตามพิกัดที่ปฏิทินจะถูกจัดส่ง ในเวลา 11.50 น. มีแมสเซนเจอร์ขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาจอดตามพิกัดเฝ้าระวัง จากนั้น ”ต้นไม้” ซึ่งเป็นผู้ต้องหาถือลังพัสดุออกมาจากบ้านฝั่งตรงข้ามพิกัดและส่งของให้แมสเซนเจอร์ 
 
เจ้าหน้าที่จึงรวบรวมพยานหลักฐานขอให้ศาลอนุมัติหมายค้น ซึ่งศาลอาญาตลิ่งชันอนุมัติหมายค้นเลขที่ 295/2563 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ให้ เจ้าหน้าที่จึงนำหมายค้นเข้าทำการตรวจค้นที่พักของผู้ต้องหาในเวลา 17.30 น. จากนั้นจึงนำตัว “ต้นไม้” ผู้ต้องหาคดีนี้พร้อมด้วยปฏิทินของกลางไปที่ สน.หนองแขม
 
จากนั้นมีการตรวจสอบข้อความและภาพบนปฏิทินพบว่าภาพและข้อความทั้งหมดเมื่อประกอบกันแล้ว ทำให้เห็นได้ว่ามีภาพและเป็ดสีเหลืองในปฏิทินที่สามารถสื่อความหมายให้เข้าใจได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่เก้าและรัชกาลที่สิบ โดยมีภาพและข้อความที่น่าจะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายได้แก่
 
(1) ในหน้าแรกมีข้อความ “ปฏิทินพระราชทาน รุ่นพิเศษรวมทุกคำสอนของเรา” ซึ่งสื่อความหมายได้ว่าเป็นปฏิทินที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน
 
(2) ปฏิทินเดือนมกราคม 2564 มีข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ซึ่งเป็นคำที่รัชกาลที่สิบเคยตรัสไว้กับประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จ และในรูปภาพตามปฏิทินมีคำราชาศัพท์ว่า “ทรงพระเจริญ” ติดไว้ที่รูปสุนัข 2 ตัว
 
(3) ในปฏิทินเดือนกรกฎาคม 2564 มีข้อความว่า “เหงื่อเราจะเทไปให้ต้นไม้ของพ่อ ยังงดงาม” ประกอบกับภาพที่ปรากฏในปฏิทินทำให้เห็นได้ว่าสื่อความหมายถึงรัชกาลที่เก้า และเดือนธันวาคมมีภาพและข้อความที่สื่อความหมายว่าพระมหากษัตริย์มิได้อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองแต่อยู่เหนือระบอบการปกครองและกระบวนการยุติธรรม เปรียบเสมือนยอดพีระมิดและเป็นการใช้สัญลักษณ์รูปสัตว์แทนพระมหากษัตริย์
 
การกระทำของผู้ต้องหาจึงเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
 

พฤติการณ์การจับกุม

กรณีของ “ต้นไม้”

เจ้าหน้าที่ใช้วิธีล่อซื้อปฏิทินโดยให้จัดส่งด้วยแมสเซนเจอร์เพื่อให้สามารถระบุพิกัดที่อยู่ของผู้ต้องหาได้ง่าย เมื่อสืบสวนขยายผลจนทราบที่อยู่ของผู้ต้องหาเจ้าหน้าที่ก็ขออนุมัตหมายค้นจากศาลอาญาตลิ่งชันเข้าทำการตรวจค้นที่พักของ “ต้นไม้”

จากนั้นจึงเชิญตัวเขาไปสอบปากคำที่สน.หนองแขมและได้ทำการยึดปฏิทินของกลางไปด้วย 174 ชุด หลังควบคุมตัว “ต้นไม้” ไว้ที่สถานีตำรวจเพื่อทำการสอบสวนแล้วเจ้าหน้าที่นำตัว ”ต้นไม้” ไปขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขังแต่ก็อนุญาตให้ ”ต้นไม้” ประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งส.ส.เป็นหลักประกัน
 
 
กรณีของพิชญ์

พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกพิชญ์เข้ารายงานตัวเพิ่มเติมในภายหลัง เมื่อพิชญ์เข้ารายงานตัวตามนัดพนักงานสอบสวนก็ปล่อยตัวกลับบ้านในวันเดียวกัน
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญาตลิ่งชัน

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
31 ธันวาคม 2563
 
ในช่วงเวลากลางตำรวจ สน.หนองแขมทำการ ล่อซื้อปฏิทินจาก "ต้นไม้" เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานได้ตามสมควรและสามารถระบุตำแหน่งที่ตั้งของที่พักอาศัยของ "ต้นไม้" ได้ เจ้าหน้าที่ได้ขอให้ศาลอาญาตลิ่งชันอนุมัติหมายค้นเพื่อทำการตรวจค้นที่พักของ "ต้นไม้" เพื่อขยายพลการสืบสวน
  
ในเวลาประมาณ 17.30 น. ตำรวจ สน.หนองแขม นำหมายค้นเลขที่ 295/2563 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เข้าค้นที่พักของ "ต้นไม้" และนำตัว “ต้นไม้” พร้อมยึดปฏิทินจำนวน 174 ชุด ไปที่ สน.หนองแขม โดย "ต้นไม้" ถูกควบคุมตัวที่ สน.หนองแขมจนถึงวันที่ 2 มกราคม 2564
 
2 มกราคม 2564
 
พนักงานสอบสวนนำตัว "ต้นไม้" ไปที่ศาลอาญาตลิ่งชันเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขัง “ต้นไม้” ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน แต่ก็อนุญาตให้ "ต้นไม้" ประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นหลักประกัน "ต้นไม้" ได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน
 
9 กุมภาพันธ์ 2564 
 
พิชญ์ ได้รับหมายเรียกจาก สน.หนองแขม ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 โดยระบุว่าคดีมี ร.ต.อ.สุระเดช ก้านสัญชัญ กับพวก เป็นผู้กล่าวหา หมายเรียกกำหนดให้พิชญ์ไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 
 
15 กุมภาพันธ์ 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า พิชญ์ เข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน สน.หนองแขม ตามนัด หลังการสอบสวนเขาได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านเนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้ยื่นคำร้องฝากขังพิชญ์ต่อศาล
 
26 มีนาคม 2564 
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ

เวลาประมาณ 10.00 น.  "ต้นไม้" และพิชญ์ เดินทางไปที่สำนักงานอัยการพร้อมกับทนายความ โดยนัดนี้เป็นนัดแรกที่ทั้งสองมาพบอัยการหลังพนักงานสอบสวนสน.หนองแขมมีความเห็นให้ส่งตัวทั้งสองให้อัยการดำเนินคดี อย่างไรก็ตามอัยการเจ้าของสำนวนแจ้งว่ายังไม่มีคำสั่งคดีเนื่องจากยังพิจารณาสำนวนไม่แล้วเสร็จ และสำนวนคดีอยู่ระหว่างส่งไปให้อัยการสูงสุดพิจารณา จึงนัดให้ผู้ต้องหาทั้งสองมาพบเพื่อฟังคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 27 เมษายน 2564
 
27 เมษายน 2564
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
เวลาประมาณ 09.00 น.  พิชญ์และ "ต้นไม้" เดินทางมาถึงที่สำนักงานอัยการ โดยนัดนี้เป็นนัดที่สองที่ทั้งสองคนมาพบอัยการหลังพนักงานสอบสวนสน.หนองแขมมีความเห็นให้ส่งตัวทั้งสองฟ้องต่ออัยการ อย่างไรก็ตามอัยการเจ้าของสำนวนแจ้งว่ายังไม่มีคำสั่งในคดี เนื่องจากยังทำสำนวนไม่แล้วเสร็จ กำลังดำเนินการสอบสวนตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดีนี้เพิ่มเติม จึงนัดให้ผู้ต้องหาทั้งสองมาพบเพื่อฟังคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 2 มิถุนายน 2564
 
2 มิถุนายน 2564
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีเป็นวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่มีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด19 "ต้นไม้" และพิชญ์จึงไม่ได้พบอัยการในวันนี้ ทั้งสองเพียงแต่เซ็นชื่อรับทราบคำสั่งอัยการนอกอาคารและเดินทางกลับ
 
7 กรกฎาคม 2564
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
เวลาประมาณ 09.00 น. "ต้นไม้" และพิชญ์ เดินทางมาถึงที่สำนักงานอัยการ เนื่องจากในนัดนี้ผู้ต้องหาทั้งสองเพียงแต่ต้องเซ็นชื่อรับทราบคำสั่งเลื่อนนัด เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการจึงให้ทั้งสองเซ็นชื่อรับทราบนัดที่โต๊ะซึ่งนำมาตั้งด้านนอกอาคารโดยไม่ต้องเข้าไปในสำนักงานตามมาตรการป้องกันโควิด19
 
เจ้าหน้าที่แจ้งกับผู้ต้องหาทั้งสองว่าอัยการเจ้าของสำนวนคดีให้เลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เนื่องจากอัยการยังทำสำนวนคดีนี้ไม่แล้วเสร็จ หลังลงชื่อรับทราบคำสั่งผู้ต้องหาทั้งสองคนแยกย้ายกันกลับทันทีเนื่องจากต้องไปทำงานต่อ
 
การเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีครั้งนี้นับเป็นการเลื่อนครั้งที่สี่แล้ว
 
นัดสืบพยานโจกท์
18 – 21 ตุลาคม 2565 
 
จากบันทึกการสืบพยานฉบับเต็มของศูนย์ทนายฯ ศาลได้นัดสืบพยานคดีรวมทั้งหมดหกนัด แบ่งเป็นการสืบพยานโจทก์ 18 – 21 ตุลาคม 2565 รวมสิบปาก และสืบพยานจำเลย 2 – 3 พฤศจิกายน 2565 รวมสามปาก โดยมีเนื้อหาบางช่วงของพยานฝ่ายโจทก์  จากบันทึกสืบพยานที่น่าสนใจ ดังนี้
 
กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความแสดงความเห็นต่อภาพในหน้าเดือนพฤษภาคมตอนหนึ่งว่า
 
“ข้อความภาษาอังกฤษ ‘Army’ ที่หมายถึงทหาร และข้อความว่า ‘IO’ พยานเชื่อว่ามีความหมายมาจาก Information Operation ซึ่งมีความหมายว่าการใช้ข้อมูลเพื่อจุดประสงค์ในการสร้างความนิยม โดยส่วนตัวมองว่า ภาพดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 ใช้ทหารในการเผยแพร่ข่าวสารสร้างความนิยมให้แก่ประชาชน และยังมีข้อความปรากฏว่า ‘ไอโอนะ ยูโอไหม’ ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายถึงประชาชนยอมรับได้ไหมเกี่ยวกับการที่มีการสร้างค่านิยมปลูกฝังให้ทำความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์”
 
ไชยันต์ ไชยพร อาตารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความแสดงความเห็นต่อภาพในเดือนมีนาคมตอนหนึ่งว่า
 
“การที่เป็ดซึ่งหมายถึงรัชกาลที่10 มีถุงยางอนามัยอยู่บนศีรษะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 เป็นผู้ที่หมกมุ่นในกาม หรือมองว่ารัชกาลที่ 10 เป็นผู้รณรงค์ในการใช้ถุงยางอนามัยก็ได้ แต่จากประสบการณ์การทำงานและติดตามข่าวและสื่อต่างๆ ของพยาน ไม่พบว่ารัชกาลที่ 10 มีการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัย จึงเหลือความหมายเดียวของปฏิทินเดือนมีนาคมว่า เป็นผู้หมกมุ่นในกาม ถือเป็นการล้อเลียนและดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 อันเป็นความผิดตามมาตรา 112”
 
ตรีดาว อภัยวงศ์ อาจารย์พิเศษสาขาศิลปกรรมการแสดง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความแสดงความเห็นว่า
 
“หากดูภาพอื่นที่ไม่ได้ฟ้องมา อย่างเดือนกุมภาพันธ์และกันยายน จะมีการเสียดสีคำสอนของรัชกาลที่ 9 ว่า รัชกาลที่ 10 ไม่ได้ปฏิบัติตนตามคำสอนของพ่อ และจะให้ประชาชนเชื่อฟังคำสอนดังกล่าวได้อย่างไร ซึ่งเมื่อดูโดยรวมจะได้ความหมายว่า รัชกาลที่ 10 เป็นลูกอกตัญญู ผู้ผลิตมีเจตนาสร้างความเชื่อที่ผิดๆ และความเกลียดชังให้กษัตริย์”
 
นัดสืบพยานจำเลย
2 – 3 พฤศจิกายน 2565
 
“ต้นไม้” ขึ้นเบิกความฐานะพยานจำเลย ระบุยืนยันว่า เป็ดเหลืองในปฏิทินเป็นเพียงบทบาทสมมติ และมีชื่อว่า “กรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์” อีกทั้งยังไม่ได้เป็นผู้จำหน่าย เป็นเพียงผู้ส่งของเท่านั้น
 
ภายหลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ทนายความของ “ต้นไม้” ได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 อันมีการกำหนดเพิ่มโทษข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเดิมโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี เป็นจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี  ซึ่งจะบังคับใช้ลงโทษจำเลยในคดีนี้นั้น ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย หรือขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26 หรือไม่”
 
จากนั้น ศาลได้รับคำร้องไว้ ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาและคำวินิจฉัยอีกครั้งในวันที่ 30 มกราคม 2566 ก่อนจะเลื่อนไปวันที่ 7 มีนาคม 2566 เนื่องจากยังต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
 
นัดฟังคำพิพากษา 
7 มีนาคม 2566
 
ศาลอาญาตลิ่งชัน พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา พร้อมกับยกคำร้องที่ทนายได้ขอให้ศาลส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย 
 
ภายหลังอ่านคำพิพากษา “ต้นไม้” ได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดี

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
คำพิพากษาเมื่อ 7 มีนาคม 2566 ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่คำพิพากษาของศาลอาญาตลิ่งชันโดยสรุปไว้ดังนี้
 
เมื่อมองปฏิทินโดยรวมในแต่ละเดือน ตั้งแต่มีนาคม เมษายน และกันยายน จากคำเบิกความของพยานโจทก์มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันหมด โดยเฉพาะในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นรูปภาพเป็ดใส่ครอปท็อป สวมแว่นตาดำ ที่พยานโจทก์ได้กล่าวว่าเป็นการสื่อสารถึงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากเคยมีภาพรัชกาลที่ 10 แต่งกายในลักษณะดังกล่าวออกมา แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ซึ่งการผลิตและจำหน่ายปฏิทินฉบับนี้ จึงเป็นการตั้งใจสื่อสารว่าเป็ดตัวดังกล่าวเป็นรัชกาลที่ 10
 
และจากการเบิกความเชื่อมโยงจากเดือนมกราคม มีนาคม ตุลาคม ตลอดเดือนธันวาคม ที่มีปรากฏข้อความว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทำให้เชื่อได้ว่าเป็ดเหลืองในปฏิทินฉบับนี้ก็คือรัชกาลที่ 10
 
นอกจากนี้ การที่พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันในปฏิทินเดือนมีนาคมว่า การนำเป็ดสวมถุงยางอนามัยบนศีรษะ เป็นการด้อยค่า หมิ่นประมาท สร้างความเสื่อมเสียศรัทธาต่อรัชกาลที่ 10 การที่พยานโจทก์เบิกความในทำนองเดียวกันเช่นนี้ จึงพิเคราะห์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ความในมาตรา 2 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และความในมาตรา 6 องค์กษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 
ตลอดจนในมาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ คำเบิกความของพยานโจทก์ที่กล่าวว่าจำเลยสร้างความเสื่อมเสีย หมิ่นประมาท ล้อเลียนรัชกาลที่ 10 จึงเป็นคำที่มีน้ำหนักและรับฟังได้
 
ในส่วนที่จำเลยเบิกความว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดทำหรือจัดจำหน่ายโดยตรง เป็นเพียงผู้นำไปจัดส่งเท่านั้น ศาลเห็นว่า การที่จำเลยกับพวกร่วมกันจำหน่ายและจัดส่งปฏิทิน ก็ถือว่าได้มีส่วนในการกระทำความผิดร่วมกัน จำเลยย่อมรู้กฎหมาย และหากไม่เห็นเนื้อหาในปฏิทิน ก็ต้องเห็นหน้าปกที่มีข้อความว่า “ปฏิทินพระราชทาน” ซึ่งได้ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนจากพยานโจทก์แล้วว่าปฏิทินฉบับนี้ ไม่ใช่ของจริงและทำขึ้นมาเพื่อล้อเลียน หมิ่นประมาท รัชกาลที่ 10
 
พิเคราะห์แล้ว พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา พร้อมกับยกคำร้องที่ทนายได้ขอให้ศาลส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา